เรื่อง: ปวีณา หมู่อุบล

หากพูดถึงงานสถาปัตยกรรมในล้านนา  หลายคนคงจะนึกถึงเรือนกาแล ไม่ก็หอคำหลวงที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ บางคนอาจจะนึกถึงหลองข้าว ไม่ก็ต๊อมอาบน้ำ จากคำเล่าขานของป้ออุ๊ยแม่อุ๊ย เป็นต้น แต่นอกจากสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นแล้ว ในล้านนายังมีสิ่งก่อสร้างอีกจำนวนหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ สิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมในแบบ ‘โคโลเนียลสไตล์’

สถาปัตยกรรมโคโลเนียลสไตล์ (Colonial Style) หรือสถาปัตยกรรมอาณานิคม คือสิ่งก่อสร้างที่ถูกออกแบบโดยการนำรูปแบบสถาปัตยกรรมจากประเทศแม่ หรือประเทศเจ้าอาณานิคม เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ไปก่อสร้างในดินแดนอาณานิคมต่าง ๆ หากแต่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบและลักษณะทางสถาปัตยกรรมบางอย่างให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นถิ่น ซึ่งลักษณะเด่นหรือไวยากรณ์สำคัญของอาคารแบบโคโลเนียลสไตล์ ได้แก่  การออกแบบทรงอาคารในลักษณะสี่เหลี่ยมแบบสมมาตร มีระเบียงโดยรอบ ประตูทางเข้าอยู่กึ่งกลาง ใช้เสาสูงตั้งรับแนวชายหลังคาที่กว้าง การทำซุ้มโค้ง (arch) ที่บริเวณชั้นล่างอาคาร หรือการตกแต่งอาคารด้วยลวดลายฉลุคล้ายบ้านขนมปังขิงของยุโรป เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของอาคารสถาปัตยกรรมโคโลเนียลสไตล์ในดินแดนล้านนาไม่ได้หมายความว่าล้านนาเคยตกเป็นเมืองขึ้นชาติมหาอำนาจจากตะวันตก หากแต่หมายถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างล้านนาและผู้ที่มาจากประเทศเจ้าอาณานิคม โดยเฉพาะฝรั่งค้าไม้และมิชชันนารี

ไม้สักล้านนากับฝรั่งค้าไม้

ไม้สักมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของล้านนามาตั้งแต่อดีต และได้ทวีความสำคัญมากในช่วงหลัง พ.ศ.2369 เมื่อกลุ่มพ่อค้าไม้สักในพม่าได้หันมาสนใจป่าไม้สักในเขตแดนล้านนา ขยับขยายเข้ามาดำเนินกิจการอย่างจริงจัง โดยมีการขอสัมปทานป่าไม้กับเจ้านายล้านนาในหัวเมืองต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ ตาก ลำปาง แต่เมื่อดำเนินกิจการไปได้ระยะหนึ่ง กลุ่มพ่อค้าไม้ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะพม่าและมอญที่เป็นคนในบังคับอังกฤษ ก็เกิดข้อพิพาทกับเจ้านายล้านนา เนื่องมาจาก 3 สาเหตุสำคัญ คือ

  1. ปัญหาเรื่องการให้สัมปทานที่ป่าไม้ทับซ้อน คือเจ้านายล้านนาคนหนึ่งให้สัมปทานป่าไม้แก่พ่อค้าไม้สัก แต่ขอบเขตของสัมปทานนั้นกลับไปทับซ้อนกับพื้นที่ป่าของเจ้านายล้านนาอีกคนหนึ่ง 
  2. ปัญหาการให้สัมปทานซ้ำซ้อน คือเจ้านายที่เป็นเจ้าของป่าไม้สักให้สัมปทานผู้ขอใหม่ทั้งที่สัญญาของผู้สัมปทานเดิมยังไม่สิ้นสุด
  3. ปัญหาการกดขี่ข่มเหงผู้ดำเนินกิจการค้าไม้ คือจากการให้สัมปทานสิทธิ์ที่ผิดพลาดมักก่อให้เกิดคดีความและการฟ้องร้องกันระหว่างเจ้านายล้านนาและพ่อค้าไม้ขึ้น ซึ่งในการชำระคดีความ ผู้ปกครองก็จะใช้รูปแบบการพิจารณาคดีตามจารีตล้านนา ทำให้ฝ่ายพ่อค้าไม้จำนวนมากไม่พอใจ เพราะมองว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่เจ้านายผู้ครอบครองป่าไม้สักมากกว่า

ปัญหาเหล่านี้เรื้อรังอยู่นาน กระทั่งมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง (พ.ศ.2398) ซึ่งมีข้อตกลงหนึ่งระบุว่าการชำระคดีความของคนอังกฤษหรือคนในบังคับอังกฤษต้องกระทำโดยใช้กฎหมายของอังกฤษ ดังนั้น ทำให้การฟ้องร้องและคดีความต่างๆ ระหว่างพ่อค้าไม้สักที่เป็นคนในบังคับอังกฤษกับเจ้านายล้านนาจึงถูกรายงานไปกงสุลอังกฤษ และกงสุลก็ได้ยกเรื่องไปกดดันรัฐบาลสยามในช่วงต้นสมัยรัชกาลที่ 5 ให้เข้ามาจัดการกับฝ่ายเจ้านายล้านนา และรัฐบาลสยามได้แก้ไขปัญหาโดยการจัดทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ จำนวน 2 ฉบับ (ในปี พ.ศ.2416 และ พ.ศ. 2426 ตามลำดับ) เป็นสนธิสัญญาระหว่างสยามและอังกฤษเกี่ยวกับกิจการต่างๆ รวมถึงการค้าไม้สักในล้านนา  ซึ่งเจ้านายล้านนาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำสนธิสัญญาดังกล่าวเลย

ข้อตกลงของสนธิสัญญากลับมีผลทำให้รัฐบาลสยามสามารถขยายอำนาจการเมืองการปกครองและตุลาการเข้ามามีอิทธิพลเหนือล้านนาได้อย่างเต็มที่, ข้าหลวงจากสยามเข้ามามีบทบาทในกิจการค้าไม้สักของล้านนากระทั่งสามารถเข้าควบคุมกิจการได้ทั้งหมด และทำให้บริษัทค้าไม้ต่างชาติเข้ามาดำเนินกิจการค้าไม้สักในล้านนามากขึ้น เช่น บริษัทบอมเบย์เบอร์มา, บริษัทบอร์เนียว, บริษัทแองโกล สยาม และบริษัทหลุยส์ ทีเลียวโนเวนส์

การเข้ามาของบริษัทค้าไม้ระลอกหลังสนธิสัญญาเชียงใหม่มีความเป็นธุรกิจที่มีระบบมากขึ้น มีการต่อตั้งอาคารสำนักงานบริษัท โดยแต่ละบริษัทต่างได้ส่งคนของตนเองมาประจำอยู่ที่สำนักงานนั้นๆ ในฐานะผู้จัดดการและผู้ช่วยผู้จัดการเพื่อทำหน้าที่ดูแลกิจการของบริษัท เช่น มาร์เรียน เอ ชีค (Marion Alonzo Cheek) หรือหมอชีค และ หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ (Louis Thomas Gunnis Leonowens) ตัวแทนของบริษัทบอร์เนียว เป็นต้น เมื่อมีฝรั่งค้าไม้เข้ามาอยู๋ในล้านนาเป็นจำนวนมากก็ได้เกิดสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากอาคารสำนักงานของบริษัท เพื่อตอบสนองต่อวิถีชีวิตของพวกเขา เป็นต้นว่า บ้านพัก และสถานที่นันทการ เช่นเดียวกันกับ ‘บ้านหลุยส์’ ในจังหวัดลำปาง ที่เป็นบ้านพักของ หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ทีถูกสร้างขึ้นภายหลังที่ออกจากบริษัทบริติชบอร์เนียวเพื่อเปิดบริษัทค้าขายในจังหวัดเชียงใหม่ และได้ย้ายบริษัทมาตั้งที่จังหวัดลำปางเมื่อ พ.ศ.2442 พร้อมทั้งได้รับสัมปทานทำป่าไม้ บ้านหลังนี้จึงสร้างขึ้นให้เป็นที่พักของนายหลุยส์และอาคารสำนักงานที่ลำปาง

บ้านหลุยส์ หรือบ้านพักของ หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียว ตั้งอยู่ใน จ.ลำปาง

ในปี พ.ศ. 2444 ฝรั่งค้าไม้กลุ่มหนึ่ง นำโดย เจมส์ เกรย์ (James Gray) และวิลเลี่ยม วิลลอฟบี วูด (William Willoughby Wood) ผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มา, เดวิด เฟลมมิ่ง แมคฟี (David Fleming Mcfie) ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียว, เฮช สเลด (H. Slade) เจ้ากรมป่าไม้คนแรก, หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ (Louis Thomas Gunnis Leonowens) พร้อมกับข้าราชการสยามคือ พระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ได้ร่วมกันสร้าง “สโมสรยิมคานา” ขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อให้เป็นสถานที่เล่นกีฬาและนันทการ 

อาคารสโมสรยิมคานา
ที่มา: เว็บไซต์ Bitish Heritage in Chaimgmai 
ห้องบิลเลียดภายในยิมคานา
ที่มา: เว็บไซต์ Bitish Heritage in Chaimgmai 

การเผยแผ่ที่มากไปกว่าศาสนาของมิชชันนารีโปรแตสแตนท์ คณะเพรสไบทีเรียน

ห้วงเวลาเดียวกันกับความเฟื่องฟูของกิจการค้าไม้สักที่มีผลทำให้ชาวตะวันตกจำนวนมากเข้ามาประจำอยู่ในดินแดนล้านนา ได้ปรากฏว่ามีชาวตะวันตกอีกกลุ่มหนึ่งที่เดินทางเข้ามายังดินแดนแถบนี้ นั่นคือ กลุ่มมิชชันนารี โดยจากข้อมูลพบว่ามีมิชชันนารี 3 กลุ่มที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในล้านนา ได้แก่ 

  1. คณะอเมริกันแบ็พติสต์มิชชัน (ระหว่าง พ.ศ. 2376 – 2436)
  2. คณะเพรสไบทีเรียนอเมริกันมิชชัน (พ.ศ. 2383 – 2500)
  3. สมาคมมิชชันนารีอเมริกัน (ดำเนินงานระหว่าง พ.ศ. 2393 – 2416) 

ทั้งนี้ มิชชันนารีนิกายโปรแตสแตนท์ คณะเพรสไบทีเรียนอเมริกันมิชชัน ถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อล้านนา ทั้งในด้านการเผยแผ่ศาสนา  การศึกษา และการแพทย์สมัยใหม่ และใน 2 ภารกิจอย่างหลังนี้เองที่ได้นำมาซึ่งการก่อสร้างอาคารที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์ขึ้นในดินแดนล้าน เป็นต้นว่าใน จ.เชียงใหม่ จ.ลำปาง และ จ.แพร่ โดยที่สิ่งก่อสร้างบางแห่งยังคงยืนเด่นให้พบเห็นได้กระทั่งในปัจจุบัน (แม้ส่วนมากจะกระจุกตัวอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ก็ตาม)

ศาสนาจารย์ ดร.แดเนียล แมคกิลวารี (Daniel McGilvary) มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน และภรรยา โซเฟีย รอยส์ บรัดเลย์ (Sophia Royee Bradley) 
ที่มา: เว็บไซต์ The Prince Royal’s Collage

ประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของกลุ่มมิชชันนารี คือในช่วงแรกที่เข้ามา มิชชันนารียังไม่ได้รับอนุญาตให้สร้างที่พักที่ถาวร เพราะขณะนั้นเป็นสมัยของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (พ.ศ.2397 – 2413) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 ที่ปกครองแบบจารีตล้านนา จึงมีธรรมเนียมเรื่องการสร้างที่อยู่ตามฐานานุศักดิ์ และตามธรรมเนียมจึงมีเพียงแต่เจ้านายที่สามารถสร้างที่พักถาวร กล่าวคือ สร้างบ้านด้วยไม้จริง หรือก่ออิฐถือปูนได้ ส่วนชาวบ้านทั่วไป (ซึ่งมิชชันนารีถูกรวมอยู่ในกลุ่มนี้) ต้องสร้างบ้านจากไม้ไผ่หรือวัสดุชั่วคราวเป็นหลัก กระทั่งในสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (พ.ศ.2416 – 2440) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ 7 บรรดามิชชันนารีจึงสามารถสร้างบ้านเรือนด้วยวัสดุถาวรได้

ในสมัยนี้งานเผยแผ่ด้านการศึกษาสมัยใหม่ของคณะมิชชันนารีเจริญเติบโตขึ้นมาก ทั้งเจ้านายและคหบดีล้านนาต่างพากันส่งลูกหลานเข้ามาเรียนหนังสือกับมิชชันนารี ทั้งที่โรงเรียนสตรีสันป่าข่อย (พ.ศ. 2419) และโรงเรียนชายวังสิงห์คำ (พ.ศ. 2430) ซึ่งในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสฯ นี้ กลุ่มมิชชันนารีได้รับสิทธิพิเศษในการก่อสร้าง คือสามารถก่อสร้างอาคารด้วยวัสดุถาวรได้ ประกอบกับการที่มีผู้ส่งลูกหลานมาเรียนหนัลสือด้วยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงได้มีการก่อสร้างอาคารโรงเรียนขึ้นใหม่ทั้งที่โรงเรียนสตรีสันป่าข่อยและโรงเรียนชายวังสิงห์คำ

ในเชิงสถาปัตยกรรม อาคารสร้างใหม่ของทั้ง 2 โรงเรียนมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือเป็นอาคาร 2 ชั้น ตัวอาคารเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมแบบสมมาตร ด้านบนสร้างจากไม้  มีระเบียงล้อมรอบ มีหลังคากว้างเพื่อกันแดดกันฝน ประตูทางเข้าตัวอาคารมักอยู่บริเวณกึ่งกลาง ด้านล่างก่ออิฐถือปูน และมีการตกแต่งที่เป็นตะวันตกมากขึ้น เช่น ไม้ระแนงขัด  ซึ่งจากลักษณะเหล่านี้อาจกล่าวได้ว่า อาคารใหม่ของทั้ง 2 โรงเรียนเป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์ที่ถูกดัดแปลงให้เข้ากับภูมิอากาศของประเทศในเขตร้อนนั่นเอง

อาคารโรงเรียนสตรีอเมริกัน (สันป่าข่อย)
ที่มา: slipa-mag.com
อาคารโรงเรียนชายวังสิงห์คำ
ที่มา: หนังสือ “ประวัติศาสตร์ล้านนา” โดยสรัสวดี อ๋องสกุล

อนึ่ง นอกจากงานด้านการศึกษา  กลุ่มมิชชันนารีคณะเพรสไบทีเรียนยังมีบทบาทในงานด้านการแพทย์ด้วย และบทบาทในด้านนี้ก็ได้นำมาซึ่งการก่อสร้างอาคารสาธารณะที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์  โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลอเมริกันมิชชัน (พ.ศ.2431) ที่ต่อมาคือโรงพยาบาลแมคคอร์มิค และโรงพยาบาลโรคเรื้อนแมคเคน (พ.ศ. 2342) 

อาคารโรงพยาลอเมริกันมิชชั่น (ต่อมาคือ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค)
ที่มา: เว็บไซต์ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

โรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่นมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่มิชชันนารี คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน ได้เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในล้านนาและได้นำยาแผนปัจจบุันที่ติดตัวมาได้แจกจ่ายให้แก่ชาวบ้าน จากนั้นก็ได้ตั้งเป็นสถานที่จำหน่ายยาขึ้นที่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง (ปัจจุบันคือสถานกาชาดที่ 3 จ.เชียงใหม่) และในปี พ.ศ. 2431 ก็ปรับปรุงสถานจำหน่ายยาให้กลายเป็นโรงพยาบาล ใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น เป็นสถานที่สำหรับให้บริการรักษาและทำการผ่าตัดผู้ป่วย 

ต่อมากิจการด้านการแพทย์และสาธารณสุขขยายตัวมากขึ้น จำต้องมีการขยายพื้นที่โรงพยาบาลเพื่อรองรับการให้บริการ จึงได้มีการสร้างโรงพยาบาลขึ้นใหม่ในบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ใช้ชื่อว่า “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” โดยการสร้างโรงพยาบาลใหม่นี้ คณะมิชชันนารีได้รับการสนับสนุนเงินทุนจำนวนหนึ่งจาก Mrs.Nettic Fowler McComick ภรรยาของ Mr.Cyrus Hall McCormick คู่สามีภรรยาจากเมืองชิคาโก้ สหรัฐอเมริกา และอีกส่วนหนึ่งมาจากการร่วมบริจาคของเจ้านายและคหบดีชาวเชียงใหม่ 

โรงพยาบาลแมคคอร์มิค พ.ศ. 2469
ที่มา: เว็บไซต์โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

ส่วนโรงพยาบาลแมคเคน ก่อตั้งขึ้นโดยนายแพทย์เจมส์ แมคเคน (James Mckean) ในปี พ.ศ. 2451 เพื่อเป็นศูนย์พักพิงสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ถูกขับไล่ออกจากชุมชน โดยได้รับการสนันสนุนด้านที่ดินและทุนทรัพย์จากคริสตจักรในต่างประเทศ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับที่ 8 ข้าราชการ คหบดี ตลอดจนคนทั่วไปในเมืองเชียใหม่ ถือเป็นจุดกำเนิดของศูนย์พักพิงสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อนแห่งแรกในประเทศไทย 

ในพื้นที่ของโรงพยาบาลได้แบ่งเป็นออกเป็นสัดส่วนต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล บ้านพักรับรอง ศูนย์ฝึกอาชีพ และคริสตจักร ซึ่งรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอาคารทั้งหมดก็ล้วนเป็นแบบโคโลเนียลสไตล์ทั้งสิ้น

อาคารต้อนรับโรงพยาบาลแมคเคน
ที่มา: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
อาคารทรงสี่เหลี่ยมสมมาตร ประดับด้วยเสาอย่างโรมันภายในพื้นที่โรงพยาบาลแมคเคน
ที่มา: UWM Libraries
หมู่บ้านพักผู้ป่วยโรคเรื้อนภายในโรงพยาบาลแมคเคน
ที่มา: หนังสือ “ฝรั่งในล้านนา” โดยพรพรรณ ทองตัน

จากภาพจะเห็นได้ว่าสิ่งก่อสร้างภายในทั้ง 2 โรงพยาบาล ล้วนแต่มีไวยากรณ์ของลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจน เป็นต้นว่า ซุ้มโค้งขนาดใหญ่ 2 บาน ด้านหน้าอาคารโรงพยาบาลอเมริกันมิชชัน ประตูทางเข้าตรงกึ่งกลางอาคารของโรงพยาบาลแมคเคน นอกจากนี้ ตัวอาคารทั้งสองแห่งยังมีการยกพื้น 2 ชั้น มีระเบียงรอบ ชายคากว้าง และมีเสาขนาดสูงรองรับชายคา เป็นต้น

เมื่องานสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์เคลื่อนคลายออกจากบ้านฝรั่งค้าไม้และสิ่งก่อสร้างสาธารณะของมิชชันนารี

คงจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าบรรดาฝรั่งค้าไม้และมิชชันนารีทั้งหลายที่เข้ามาประจำและปฏิบัติภารกิจในดินแดนล้านนา คือ “ผู้นำเข้า” สถาปัตยกรรมโคโลเนียลสไตล์ทั้งหลายที่ได้กล่าวถึงไว้ในข้างต้น และเมื่อเวลาผ่านไปชั่วขณะหนึ่ง “ของนำเข้า” ดังกล่าวก็ถูกยอมรับและกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมล้านนา โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นสูงของสังคม เช่น เจ้าหลวง และคหบดี  ความนิยมนี้สะท้อนเห็นได้จากการก่อสร้างบ้านเรือนและห้างร้านโดยออกแบบให้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมรูปแบบโคโลเนียลสไตล์ เป็นต้นว่า

  • คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (น้อยมหาอินทร์)

คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ หรือ คุ้มกลางเวียง ได้รับการสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2432 – พ.ศ.2436 เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยของเจ้าน้อยมหาอินทร์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้าบุรีรัตน์ ผู้มีความสำคัญลำดับที่ 3 ในกลุ่มเจ้าขันธ์ห้าใบ หลังเจ้าน้อยมหาอินทร์เสียชีวิต ตัวคุ้มถูกทำให้กลายสภาพเป็นบ่อนคาสิโนโดยผู้สืบสายสกุลของเจ้าน้อยมหาอินทร์เอง ก่อนจะถูกขายต่อให้ตระกูลทิพยมณฑลและกิติบุตร ในปี พ.ศ. 2460 

ในทางสถาปัตยกรรม อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ถือได้ว่ามีไวยากรณ์ของสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์อย่างชัดเจน คือเป็นอาคาร 2 ชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ หลังคาทรงมะนิลา มีหน้าจั่ว มีระเบียงโดยรอบ มีการก่ออิฐและการแปรรูปไม้ ชั้นล่างก่ออิฐหนาเป็นรูปโค้ง (Arch) ฉาบปูนเป็นระเบียงโดยรอบ

ปัจจุบัน คุ้มเจ้าบุรีรัตน์อยู่ในการดูแลของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ให้แก่บรรพบุรุษของตระกูลทิพยมณฑลและกิติบุตร ซึ่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้จัดตั้งคุ้มให้เป็น “ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา” เพื่อให้ความรู้เรื่องงานสถาปัตยกรรมแบบล้านนาแก่ประชาชน และให้เป็นสถานที่ในการทำกิจกรรมของเมืองเชียงใหม่ในเรื่องของวัฒนธรรม 

อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (น้อย มหาอินทร์)
ที่มา: ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา
  • คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่

คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ถูกสร้างเมื่อราวปี พ.ศ. 2435 โดยเจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์แสนซ้าย เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย โดยตัวคุ้มเป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ไม่มีการตอกเสาเข็ม หากแต่ใช้ท่อนซุง 2 ท่อน คือไม้แก่นและไม้แดง รองรับตัวอาคารทั้งหลัง มีลักษณะผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่เรียกว่า “เรือนขนมปังขิง” ซึ่งมีลักษณะเด่นคือการประดับตกแต่งด้วยลวดลายไม้ฉลุด้านบนปั้นลมและที่ชายคารอบตัวอาคาร

ในปี พ.ศ. 2445 เกิดความไม่สงบขึ้นในเมืองแพร่ เจ้าพิริยเทพวงษ์ได้หลีภัยการเมืองไปอยู่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว กระทั่งถึงแก่พิราลัย ทางการสยามจึงได้ยึดราชสมบัติและคุ้มของเจ้าหลวง ทำให้ตัวคุ้มถูกใช้เป็นที่ตั้งของกองทหารม้าจากกรุงเทพฯ ที่ส่งมารักษาความสงบเรียบร้อยในเมืองแพร่อยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นก็ถูกใช้เป็นจวนผู้ว่าเมืองแพร่ และในปี พ.ศ. 2501 ก็ถูกใช้เป็นที่ประทับของในหลวง รัชกาลที่ 9 และพระราชินีสิริกิต์  กระทั่งในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2547 คุ้มได้ถูกมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ดูแล มีการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นจนถึงปัจจุบัน

ลวดลายไม้ฉลุประดับรอบชายคาอาคารคุ้มเจ้าหลวงแพร่
ที่มา: พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ คุ้มเจ้าหลวง
  • อาคารโรงแรมศรีประกาศ

อาคารโรงแรมศรีประกาศถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2447 เดิมเป็นบ้านของ “สีโหม้ วิชัย” ชาวเชียงใหม่คนแรกที่ได้เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา โดยตัวอาคารมีลักษณะผสมผสานงานสถาปัตยกรรมแบบโคลโลเนียลสไตล์และล้านนาเข้าไว้ด้วยกัน กล่าวคือ เป็นอาคาร 2 ชั้น กึ่งไม้กึ่งปูน ตัวอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยม มีทางเข้าอยู่กึ่งกลาง ทั้งนี้ มีจุดเด่นอยู่ที่ “ฝาไหล” ซึ่งเป็นหน้าต่างที่ไม่มีวงกบและบานหน้าต่าง แต่จะแผ่นไม้ที่เลื่อนปิดเปิดได้เพื่อให้แสงเข้าหรือป้องกันแสง ทั้งนี้ ตัวอาคารผ่านการใช้ประโยชน์มาแล้วในหลายรูปแบบ ทั้งการเป็นที่อยู่อาศัย โรงเรียน สวนสัตว์เอกชนยุคแรก สำนักพิมพ์สหายชาวสวน  กระทั่งในปี พ.ศ. 2476 ตัวอาคารได้ถูกขายต่อให้หลวงศรีประกาศ ส.ส.รุ่นแรกของ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเมื่อเปลี่ยนเจ้าของแล้ว อาคารหลังนี้ได้กลายเป็นสถานพยาบาลอยู่ช่วงหนึ่งในระยะที่มีสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะถูกปรับปรุงใหม่ให้กลายโรงแรม

ปัจจุบัน ลูกหลานของหลวงศรีประกาศได้พยายามประคับประคองให้อาคารยังคงอยู่ต่อไปอย่างมีชีวิตชีวา โดยการใช้เป็นสถานที่จัดงานต่าง ๆ เช่น งานนิทรรศการ งานศรีประกาศ อิชิ หรืองานตลาดศรีประกาศ งานแสดงผลงานของนักศึกษาจากทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น

มุมด้านข้างของอาคารศรีประกาศ สามารถมองเห็นฝาไหลได้ที่ชั้นสองของตัวอาคาร
ที่มา: เว็บไซต์ The Momentum
ทางเข้าอาคารศรีประกาศที่บริเวณกึ่งกลางตัวอาคาร
ที่มา: เว็บไซต์ The Momentum
  • อาคารกิติพานิช

อาคารกิติพานิชก่อสร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2447 โดยเถ้าแก่เจี๊ยว กิติบุตร คหบดีชาวเชียงใหม่ และเปิดบริการเป็นห้างสรรพสินค้า ชื่อ “ย่งไท้เฮง” จำหน่ายสิ่งของต่าง ๆ อาทิ เครื่องแต่งกายบุรุษ – สตรี เครื่องออกกำลังกาย ของเล่นเด็ก เครื่องประดับบ้าน เครื่องภาชนะใช้สอย เครื่องแก้ว เครื่องหอม น้ำหอม สบู่ เครื่องเหล็ก และอื่น ๆ อีกมากมาย ต่อมาถูกปรับให้เป็นสถานที่ส่งเสริมความงามสตรีชื่อ “Maison Dara” ซึ่งถือเป็นร้านแรก ๆ ในเชียงใหม่ที่มีบริการตัดผมและนวดหน้าด้วยเครื่องไฟฟ้า 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กลายมาเป็นคลินิกให้บริการตรวจและรักษาโรคชื่อ “คลินิกดารา” กระทั่งปี พ.ศ. 2509 คลินิกได้ปิดกิจการลง เหลือไว้เพียงพื้นที่ด้านหน้าที่เปิดให้เช่าเป็นร้านขายหนังสือชื่อ “ซินกีง้วน” ปัจจุบัน อาคารกิติพานิชมีสถานะเป็น Lanna Cuisine ร้านอาหารล้านนาในบรรยากาศแบบโคโลเนียลสไตล์

อาคารกิติพานิชสมัยเป็นห้างร้าน
ที่มา: เว็บไซต์ สถาปนิก’67
บรรยากาศอาคารกิติพานิชในปัจจุบัน
ที่มาภาพ: Facebook: THEE Vijit Lanna by TH District 

จากทั้งหมดในข้างต้น กล่าวโดยสรุปได้ว่าสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์ได้เดินทางเข้าสู่ดินแดนล้านนา ผ่านทางกิจการค้าไม้สักที่นำพาเอาชาวตะวันตกจำนวนมากเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ ประกอบการเข้ามาดำเนินงานด้านการเผยแผ่ศาสนา การศึกษา และการแพทย์สมัยใหม่ ของคณะมิชชันนารีอเมริกัน คณะเพรสไบทีเรียน ที่ส่งผลทำให้เกิดการก่อสร้างอาคารสาธารณะ ขึ้น เช่น โรงเรียน และโรงพยาบาล 

จากนั้นงานสถาปัตยกรรมรูปแบบดังกล่าวก็ได้เคลื่อนคลายออกจากการเป็นสิ่งก่อสร้างเพื่อตอบสนองต่อวิถีชีวิตของฝรั่งค้าไม้และการปฏิบัติภารกิจรับใช้พระเจ้าของคณะมิชชันนารี และไปปรากฏอยู่ในวิถีชีวิตของคนล้านนาโดยมีสถานะเป็นบ้านเรือนและ/หรืออาคารห้างร้านต่าง ๆ 

สำหรับในบริบทปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์จำนวนหนึ่งได้ถูกบรรจุกิจการร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม หรือแม้แต่พิพิธภัณฑ์ลงไปในโครงสร้าง เพื่อปลุกให้อาคารเหล่านั้นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็มีการสร้างสรรค์สิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ขึ้น และออกแบบให้คล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์รุ่นเก่า เพื่อสะท้อนความเป็นท้องถิ่นออกมา เช่น กรณีร้านพิซซ่าแห่งหนึ่งใน จ.แพร่ ที่ออกแบบตัวอาคารร้านให้เป็นอย่างเรือนขนมปังขิง หรืออาคารแบบโคโลเนียลสไตล์ที่ประดับด้วยลวดวายไม้ฉลุที่ชายคา  เป็นต้น

ดังนั้นแล้ว อาจกล่าวได้อย่างถึงที่สุดว่าสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์ไม่มีทีท่าว่าเสื่อมอิทธิพลหรือเหือดหายไปจากสังคมล้านนาเลยแม้แต่น้อย แต่ทว่าได้กลับกลายเป็นส่วนหนึ่ง เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรมล้านนาไปแล้วอย่างสิ้นเชิง  

หมายเหตุ: เอาเข้าจริงแล้ว สิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์ในล้านนานั้นมีจำนวนมากกว่าที่ผู้เขียนได้ยกมาเป็นตัวอย่างประกอบของบทความนี้อีกมาก หากแต่ผู้เขียนไม่สามารถนำมาใส่ประกอบไว้ในบทความนี้ได้ทั้งหมด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

อาคารร้านพิซซ่าในเรือนขนมปังขิง จ.แพร่
ที่มา: ตะลอนตะหลอด (The Local Space)