“คงไม่ใช่ทุกคนจะมีกำลังมากพอในการซื้อยานพาหนะส่วนตัว เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายเวลาการเดินทาง” ความคิดที่วนเวียนอยู่ในหัวซ้ำไปซ้ำมาของผู้เขียนขณะมองเห็นผู้คนนั่งรอรถโดยสารขณะที่อากาศร้อนอบอ้าวในช่วงของวันในอำเภอสันกำแพง ทั้งอดคิดไม่ได้ว่าถ้าเชียงใหม่เข้าสู่ ‘ฤดูฝุ่น’ แล้วจะเป็นยังไง?

“ชีวิตประจำวันของผู้คนปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีความจำเป็นต้องใช้ยานพาหะนะเพื่อการเดินทางออกไปใช้ชีวิตตามจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันออกไป ไปทำงาน ศึกษาเล่าเรียน หรือธุระอื่น ๆ”

สำหรับคนที่ไม่มีกำลังมากพอคงจะไม่มีทางเลือกมากนัก และปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะ แต่ด้วยความไม่เอื้ออำนวยที่มากพอของการจัดบริการขนส่งสาธารณะ จึงทำให้ต่างคนต่างซื้อรถส่วนตัวมาใช้มากขึ้น จนกลายเป็นความปกติที่ใครต่อใครก็มีรถส่วนตัวกันทั้งนั้น นี่อาจจะเป็นวิธีคิดที่เหมารวมรวบรัดไปหน่อย ที่อาจจะทำให้ความไม่ปกติคือการใช้บริการขนส่งสาธารณะ

ปัจจุบันหมอกควันที่มีค่าฝุ่นละอองในอากาศหนาแน่น ซึ่งรุนแรงขึ้นทุกปี โดยมีสาเหตุมาจากมลภาวะทางอากาศจากยานพาหนะ เนื่องจากไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมและเพียงพอ  และการขยายตัวของเมือง ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญเช่นเดียวกัน

ร้านเล็กร้านน้อยเรียงราย ริมทางมีรถสองแถวสีขาว สลับวนเวียนกันเข้าออก ส่วนผู้คนต่างนั่งรอใช้บริการขนส่งสาธารณะ ที่แห่งนี้คือสถานบริการรถขาวอำเภอสันกำแพง เส้นทางมุ่งหน้าสู่เมืองเชียงใหม่ ผู้คนต่างนั่งรอใช้บริการขนส่งสาธารณะ ที่มีแห่งเดียวในอำเภอสันกำแพงที่มุ่งสู่อำเภอเมือง ย้ำว่ามีแห่งเดียวเท่านั้น บ้างใช้ไปโรงพยาบาล ไปซื้อของที่กาดหลวง หรือสถานที่ราชการที่สำคัญ ๆ ขนส่งสาธารณะล้วนสัมพันธ์กับชีวิต มันสามัญธรรมดา แต่ยากที่จะเข้าถึง?

ขณะที่มีผู้คนนั่งรอใช้บริการรถขาว ป้าสมพร (นามสมมุติ) ชาวอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ทำอาชีพค้าขายในเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ แต่วันนี้จำเป็นต้องหยุดการค้าขายเพื่อเข้าเมืองไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงใหม่ ป้าสมพรรอคอยรถขาวเป็นเวลานานหลายชั่วโมง เลือกไม่ได้ นี่คือความจำยอมบนความจำเป็นที่ไม่มีตัวเลือกในการเดินทางมากนัก

“รอรถมาอยู่นี่นานกว่าชั่วโมงครึ่งแล้ว ยังไปได้ไปไหนสักที” เสียงของป้าสมพรขณะที่รอคนมาใช้บริการให้เต็มรถจึงจะสามารถออกเดินทางได้ เวลาที่เผื่อไว้เพื่อรอรถและระหว่างเดินทาง  อาจจะไม่เพียงพอในการไปตามนัดให้ทันเวลา

“รถเข้าเมืองก่อมีก๊ะรถขาว ก่อต้องท่าแหละลูก ถ้าหื้อเหมารถส่วนตั๋ว เข้าเมือทุกวันก่อจ่ายบ่ไหว แค่ค้าขายก่อบ่พอกิ๋นแล้ว ” ป้าสมพรบอกเล่าด้วยภาษาเมืองพร้อมถอนหายใจ

ทั้งนี้ป้าสมพรแจกแจงให้ฟังว่า ค่าโดยสารสามารถเข้าถึงได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะไปถึงตัวเมือง เพราะกว่าจะรอรถออก ส่วนระยะเวลาระหว่างการเดินทาง ก็ต้องแวะรับส่งคนระหว่างทาง ทำให้ต้องเผื่อเวลาไว้เยอะพอสมควร

ขณะที่รถเต็มและเตรียมออกเดินทาง บนรถขาวมี ฟ้า (นามสมมติ) เด็กสาวอายุ 17 ปี ที่กำลังเดินทางเข้าเมืองเพื่อไปทำงานกลุ่มกับเพื่อนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองเชียงใหม่ แม้วันนี้จะเป็นวันอาทิตย์ก็ตาม

“หนูใช้รถขาวไปโรงเรียนทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลาไปโรงเรียนจะต้องตื่นเช้ามากเพื่อรอรถแถวแรกที่จะเข้าไปในเมือง” ฟ้าอธิบายชีวิตประจำวันของการเป็นเด็กต่างอำเภอที่ต้องใช้เวลายาวนานในการเดินทางไปศึกษาเล่าเรียน

“ได้แต่หวังว่าสันกำแพงจะมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีกว่า การเป็นคนต่างอำเภอก็ต้องการใช้บริการขนส่งที่ดีกว่านี้”

“เราต้องตากแดด ตากลม บางวันต้องตากฝน รอรถติดนาน ๆ แทนที่เราจะมีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่น แต่กลับใช้เวลาบนรถมากกว่า”

เธออธิบายต่ออีกว่าถ้าคนสันกำแพงได้มีรถเมล์ติดแอร์ที่สามารถนั่งได้ถึง 21 คน เปิดให้ใช้บริการก็คงจะสะดวกสบายต่อการเดินทางเข้าเมืองมากกว่านี้ ทั้งยังจะดีต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อย เพราะการเดินทางได้เยอะก็ช่วยลดการจราจรที่ติดขัด ลดการสร้างมลพิษไม่ให้เกิดฝุ่น PM2.5 ได้อีกด้วย ถ้ามีรถโดยสารสาธารณะที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริงจนทุกคนหันมาใช้รถโดยสารแทนรถยนต์ส่วนตัวถือเป็นการช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างตรงไปตรงมาที่สุด แทนที่จะนั่งรถยนต์ส่วนตัว 1 คน ต่อ 1 คัน เท่ากับเดินทางพร้อมกัน 20 คนต้องใช้รถมากถึง 20 คัน กลับกันถ้าใช้รถโดยสารสาธารณะ รถ 1 คัน นั่ง 20 คน ลดการปล่อยฝุ่น PM2.5 ตัวการที่ทำให้คนเชียงใหม่ประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ และสุขภาพมาอย่างยาวนาน

ปรากฎการณ์ขาดแคลนรถขนส่งสาธารณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในพื้นที่ของอำเภอสันกำแพง แต่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศไทย จะมีแค่เพียงกรุงเทพฯ ที่ขนส่งสาธารณะมีหลายประเภทให้ประชาชนได้ใช้บริการ เรียกได้ว่าระบบขนส่งมวลชนทิ้งคนต่างจังหวัดไว้ข้างทางของการพัฒนาได้อย่างเต็มปาก

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาคเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ https://think.moveforwardparty.org/article/welfare/2638/ โดยสามารถสรุปความได้ดังนี้

– การสนับสนุนพระราชบัญญัติกระจายอำนาจขนส่งสาธารณะ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะในท้องถิ่น สามารถพัฒนาและกำหนดเส้นทางเดินรถและราคาค่าโดยสารด้วยตนเอง รวมทั้งให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการวางผังเมืองและพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น 

– รัฐบาลควรเข้ามาร่วมลงทุนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ให้ครอบคลุมและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในแต่ละเมือง และในแต่ละจังหวัด เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่น/จังหวัด และการลดอุบัติเหตุทางถนนของแต่ละจังหวัดด้วย

– องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (โดยการสนับสนุนของรัฐบาล) ควรเพิ่มจำนวนรถโดยสารประจำทางในต่างจังหวัด โดยจัดสรรงบประมาณในการซื้อรถโดยสารประหยัดพลังงาน (EV) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย รวมทั้งสร้างแรงจูงใจในการทำให้ประชาชนหันมาใช้รถสาธารณะด้วยมาตรการทางภาษี หรือมาตรการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้ฉลากลดคาร์บอน

– รัฐบาลควรกำหนดตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ เพื่อใช้เป็นแนวทางการจัดสรรงบประมาณด้านขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค มิใช่กระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเช่นที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่กำหนดขึ้นอาจประกอบด้วย

  • การเพิ่มจำนวนเทศบาลที่มีระบบขนส่งสาธารณะแบบประจำทางให้มากขึ้น
  • การเพิ่มสัดส่วนผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะในเขตเทศบาลนคร และเทศบาลเมือง ตามลำดับ

– การลด/รักษาระดับอัตราค่าเดินทางให้อยู่ในระดับร้อยละ 10-15 ของรายได้ขั้นต่ำในจังหวัด/ท้องถิ่นนั้นๆ

ปัจจุบันมีการนำรถเมล์เชียงใหม่ RTC กลับมาเปิดบริการอีกครั้งหลังจากต้องปิดให้บริการเนื่องจากผลกระทบจาก Covid-19 ถึงแม้จะเป็นการนำขนส่งสาธารณะที่มีมาตรฐานเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการ และยังเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 แต่เส้นทางที่วิ่งให้บริการยังจำกัดแค่ในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ และยึดโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวเพียงเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ รวมไปถึงประชาชนในต่างอำเภอและประชาชนในอำเภอสันกำแพง ได้แต่หวังว่าในอนาคตจะมีการพัฒนารถเมล์เชียงใหม่ RTC ให้มีการเปิดบริการในเส้นทางใหม่ให้มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานครอบคลุมและไม่ทิ้งผู้คนในต่างอำเภอไว้ข้างถนน

เราไม่มีทางรู้เลยว่าการพัฒนาขนส่งสาธารณะในอำเภอสันกำแพงจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ในขณะที่ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือยังคงลุกลามจนกลายเป็นวาระน่ากังวลของประชาชนในภาคเหนือ ยิ่งถ้าเรามีขนส่งสาธารณะที่ดีและเข้าถึงทุกคน ปัจจัยที่ก่อให้เกิดฝุ่นอาจจะน้อยลง สิ่งแวดล้อมดีขึ้น คุณภาพชีวิตของประชาชนก็อาจจะดีขึ้น