ภาพ: มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 สมัชชาองค์กรเอกชน ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากร และมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือร่วมกับเครือข่ายได้จัดเวทีประชุมสรุปสถานการณ์สิ่งแวดล้อมภาคเหนือตอนบน ‘กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม VS การละเมิดสิทธิมนุษยชน’ ณ โรงแรมไอบิส สไตล์ เชียงใหม่ โดยภายในงานมีการวิเคราะห์สถานการณ์ ฉายวิดิทัศน์ เสวนา นำเสนอวิจัย และจัดนิทรรศการ

ไพโรจน์ พลเพชร

กิจกรรมในช่วงเช่าเริ่มต้นด้วยการกล่าวบรรยายพิเศษ “แนวคิด และการขับเคลื่อนนโยบายสิทธิในสิ่งแวดล้อมฯ” โดย ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่พูดถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อผลกำไรที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม รัฐที่มีหน้าที่จัดสรรทรัพยากรดินน้ำป่ามีการ ‘แต่งงาน’ กับทุน จึงทำให้มีการยึดโยงทรัพยากรไว้ที่ทุนหรือคนที่มีอำนาจมากกว่า ไพโรจน์ ได้เสริมประเด็นสิทธิมนุษยชนที่รัฐต้องมีหน้าที่ ‘เคารพ’ และไม่ละเมิด-ปกป้อง-ทำให้เป็นจริงในสิทธิของประชาชน ซึ่งประชาชนต้องใช้สิทธิในการเรียกร้องให้รัฐทำตามหน้าที่  ไพโรจน์ ได้ย้อนไปช่วงปี 2515 ที่ทั่วโลกมีการทำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ที่กรุงสตอกโฮล์ม ที่สร้างความตระหนักและรับรองความเชื่อมโยงระหว่างสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่มีหลักการสำคัญคือต้องรักษาธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต ต่อมาในปี 2535 มีการร่างปฎิญญาสากลว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่กรุงริโอ ที่มีหลักการสำคัญคือการพัฒนานั้นต้องมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาที่ยั่งยืน สิทธิขั้นพื้นฐานของพื้นเมืองและชุมชนในการจัดการทรัพยากร 

“สิทธิในสิ่งแวดล้อมคือสิทธิมนุษยชน” ไพโรจน์ ย้ำ

มีการฉายวิดีทัศน์ “ไฟป่า ฝุ่นควัน ชาติพันธุ์ ไร่หมุนเวียน” โดย​ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ที่เล่าถึง อคติที่เกิดขึ้นต่อชาติพันธ์ุที่มีการทำไร่หมุนเวียนและถูกมองว่าเป็นสาเหตุของไฟป่าและฝุ่นควัน

ต่อมา ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประมวลสถานการณ์สิ่งแวดล้อมภาคเหนือ โดยได้ฉายภาพของประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากแผนแม่บทและนโยบายทวงคืนผืนป่าผลพวงจาก คสช. ที่ปรับรูปแบบมาเป็นนโยบายป่าไม้แห่งชาติและแผนแม่บทพัฒนาป่าไม้แห่งชาติในรัฐบาลปัจจุบัน ที่ทำให้การดำเนินนโยบายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมผสานเข้ากับมิติความมั่นคงของรัฐ ธนากร เล่าว่า ช่วงปี 2557-2567 เป็นช่วงทศวรรษที่กฎหมายและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมถูกเปลี่ยนครั้งใหญ่ ซึ่งเกิดความย้อนแย้งในการดำเนินนโยบาย อาทิ ความต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแต่ก็มีการให้อภิสิทธิ์ต่อกลุ่มทุน ธนากร ได้พูดถึงแผนในการพื้นที่ป่า ร้อยละ 40 ที่เป็นประเด็นให้ชุมชน ‘ต้อง’ ปลูกป่าในพื้นที่ชุมชนประมาณ 4 ล้านไร่ ส่งผลให้พื้นที่เกษตรของชุมชนกลายเป็นการบุกรุกป่า โดยมีชุมชนในภาคเหนือกว่า 10,000 กว่าชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากหลักเกณฑ์ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำและแนวเขตป่ารัฐประกาศทับ ธนากร เล่าว่า รัฐไม่เคยสร้างความเข้าใจใหม่ต่อประชาชน ส่งผลให้ชาติพันธุ์ที่มีการทำเกษตรและไร่หมุนเวียนกลายเป็น ‘แพะสิ่งแวดล้อม’ วิกฤต PM2.5 กลายเป็นศูนย์กลางของปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ระบบการจัดการไฟของไร่หมุนเวียนกลายเป็นสิ่งที่ผิด เนื่องจากนโยบายห้ามเผา 

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์

“วิกฤตสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถแยกขาดประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้ วิกฤติสิ่งแวดล้อมเป็นวิกฤตของความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้คนบนที่ดิน ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ คือความขัดแย้งของอุมการณ์ทางสังคมการเมือง” ธนากร กล่าว

ต่อมา เวทีเสวนา “ชาติพันธุ์อยู่ตรงไหน ในนโยบายแก้ฝุ่น+ไฟ ภาคเหนือ” โดย สมคิด ทิศตา ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน จ.ลำปาง, นิราภร จะพอ ตัวแทนเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย, บัญชา มุแฮ ตัวแทนชาวปกาเกอะญอบ้านดอยช้างป่าแป๋ จ.ลำพูน, นัทธมน คงเจริญ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่รณรงค์สื่อสาร มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ 

โดยการเสวนาในครั้งนี้พูดถึงวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อกลุมชาติพันธุ์ ที่มีการคุกคามในชุมชนที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาในชุมชนโดยไม่ได้บอกกล่าวจากนโยบายต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวในไทย มีการพูดถึงมาตรการห้ามเผาและปัญหาฝุ่นควันทำให้กลุ่มชาติพันธุ์โดนประณามเป็นกลุ่มแรก ๆ จากการทำไร่หมุนเวียน รวมไปถึงมาตรการห้ามเผาเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันที่มองปัญหาแค่คือกลุ่มชาติพันธุ์ แต่กลับไม่มองแหล่งที่มาของฝุ่นควันจากที่อื่น รวมไปถึงข้อจำกัดในการเผาที่ต้องอนุญาตเผาส่งผลให้กระบวนการทำไร่หมุนเวียนยากมากขึ้น มีการเล่าสถานการณ์ที่มีการทำข้อมูลของชุมชนในการไปเจรจากับรัฐทำให้ชุมชนได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น มีการพูดถึงการฟ้อง มีการกล่าวถึงนโยบายแก้ฝุ่นควันที่ส่งผลให้ชาติพันธุ์กลายเป็นกลุ่มที่ถูกกระทำมาตลอด มีการพูดถึงการฟ้องคดีฝุ่นต่อนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน รวมไปถึงแผนฝุ่นปี 2567 ที่ชี้ให้เห็นแปรอื่น ๆ ในวิกฤตฝุ่นของทุก ๆ ปี

จตุพร เทียรมา

มีการเสนอข้อคนพบจาก​วิจัย : ศักยภาพของการบริการของระบบนิเวศและการดูดซับ PM 2.5 ในระบบไร่หมุนเวียน โดย จตุพร เทียรมา อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จตุพร ได้เกริ่นถึง ‘การบริการของระบบนิเวศ’ ที่มีความหมายว่าประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่มนุษย์ได้รับจากการทำหน้าที่ของระบบนิเวศ ซึ่ง ‘ไร่หมุนเวียน’ คือหนึ่งการบริการของระบบนิเวศที่มีประสิทธิภาพ โดยจากการศึกษางานวิจัย เผยให้ถึง ความเข้มข้นของฝุ่นในพื้นที่บ้านแม่ส้านและพื้นที่ใกล้เคียงตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์-เมษายน 2566 ผ่านการใช้เครื่องดักจับฝุ่น​​ และวัดจากในพื้นที่มีการเผาไร่หมุนเวียนและพื้นที่ไม่มีการเผา ชี้ให้เห็นว่า ค่าฝุ่นของบ้านแม่ส้านต่ำกว่าพื้นที่อื่น ๆ เนื่องจากมีระบบการทำไร่หมุนเวียน

ในช่วงบ่ายได้มีเวทีระดมความเห็นผู้เข้าร่วมประชุม ในหัวข้อ “วิกฤตสิ่งแวดล้อมกับการละเมิด สิทธิมนุษยชน” นำพูดคุยโดย เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต, ชยา วรรธนะภูติ ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่, ลาหมึทอ ดั่งแดนวิมาน เยาวชนบ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน, จรัสศรี จันทร์อ้าย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.), ปราโมทย์ เวียงจอมทอง เยาวชนปกาเกอะญอบ้านแม่ปอคี จ.ตาก, ชาติชาย ธรรมโม เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ดำเนินรายการโดย เฉลิมชัย วัดจัง Land Watch Thai วงสนทนารายพื้นที่ อาทิ ที่ดิน-ป่าไม้, กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง, เยาวชน, สตรี, ผู้มีความหลากหลายทางเพศ, โครงการพัฒนาของรัฐ, นโยบายแก้ฝุ่นและไฟป่า และอื่นๆ พร้อมกับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล หน่วยงาน และขบวนการภาคประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมโดยไม่ซ้ำเติมปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เพียรพร ดีเทศน์

เพียรพร เผยว่าการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงในเขตแดนประเทศจีนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่มีการก่อสร้างอย่างไม่หยุดยั้งกว่า 12 โครงการ แต่กลับไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนที่ทำให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ในตอนล่างอย่าง ไทย ลาว เวียดนาม ได้รับผลกระทบ

“แม้ว่าจะการพูดว่าการสร้างเขื่อนเป็นการพัฒนาประเทศ แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันมันเป็นการพัฒนาเพื่อกะตังของคนที่มีปัญญาที่จะนำไปลงนามซื้อขายไฟฟ้าในระยะยาวของประเทศไทยรึป่าว?” เพียรพร กล่าว

จรัสศรี จันทร์อ้าย

จรัสศรี เผยว่ากรมป่าไม้พบว่าพื้นที่ป่าไม้ในไทยปัจจุบันหายไป 3 แสนไร่ ส่งผลให้มีการไปตรวจสอบชาวบ้านและชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานซึ่งเป็นการละเมิดชุมชน แต่กลับไม่ตรวจสอบพื้นที่ที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่อุทยาน อาทิ การสร้างเขื่อนในอุทยานฯ ออบหลวง 

“ความคิดและนโยบายแบบรวมศูนย์ มาตัดสินกับคนในพื้นที่ ตัดสินกับคนอยู่กับป่า การตัดสินใจอยู่ที่ผู้ว่าฯ แต่กระทบถึงชุมชน นี่ก็เป็นการละเมิดชุมชนแล้ว” จรัสศรี กล่าว

กฤษฎา บุญชัย

มีการกล่าวสรุปสถานการณ์ในพื้นที่และข้อเสนอภาคประชาชนสู่ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม โดย กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ที่พูดถึงหลักของสิทธิมนุษยชนที่ให้คุณค่าของทุกชีวิต ซึ่งเป็นวิธีคิดเดียวกับคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความเท่าเทียมและความหลากหลาย ปฏิเสธการครอบงำและการกดขี่ และเป็นหลักสากลที่ทุก ๆ คนได้รับเท่า ๆ กันซึ่งเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่ต้องให้การใส่ใจ

“ขอให้ยืนหลักในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นรากที่มีมาร่วมกัน และเป็นรากที่ทำให้มนุษย์และสรรพชีวิตแข็งแกร่ง” กฤษฎา ย้ำ

และปิดท้ายกิจกรรมโดยการกล่าวแถลงการณ์ภาคประชาชน เจตนารมณ์ปกป้องสิทธิมนุษยชนจากนโยบายแก้โลกร้อน โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ท่ามกลางความรุนแรงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงทศวรรษให้หลังนี้ที่กระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากลุ่มประชาชนคนชายขอบ เกษตรกรรายย่อย คนยากจน และกลุ่มชาติพันธุ์อย่างพวกเราคือผู้เดือดร้อนที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นกลุ่มประชาชนผู้ถูกทำให้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ ขาดทรัพยากรและทุนทรัพย์ในการปรับตัวสู้โลกรวนแล้ว ยังตกเป็นจำเลยในปัญหาสิ่งแวดล้อม และจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกสังคมชี้หน้าตีตรา ถูกรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐออกกฎหมายและนโยบายมาละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอในทุกฤดูกาล

รัฐไทยพยายามผลิตซ้ำอคติทางสังคมต่อประชาชนที่อยู่ในฐานทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้นว่าการมีอยู่ของเราเป็นการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำ ตัดไม้ทำลายป่า ระบบ ‘ไร่หมุนเวียน’ ของเราถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘ไร่เลื่อนลอย’ การใช้ไฟเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยสมดุลนิเวศถูกมองว่าเป็นการเผาป่า เป็นต้นเหตุของ PM 2.5 กระทบคนเมือง รัฐจึงออกมาตรการมาจำกัดควบคุมวิถีชีวิตอันปรกติสุขของเรา หนักเข้าก็แย่งยึดที่ดินทำกินโดยอ้างวาทกรรมการอนุรักษ์เพื่อคนทั้งประเทศ ดังเช่นเกิดปรากฏการที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าตรวจยึดแปลงไร่หมุนเวียนในขณะนี้

ในทางกลับกัน รัฐกลับนำทรัพยากรที่คนในพื้นที่ร่วมกันดูแลไปแปรเป็นเงินเพื่อแสวงหาผลกำไรให้กลุ่มทุนน้อยใหญ่และเครือข่ายชนชั้นนำ ท่ามกลางการกดหัวประชาชนจนจมดิน ไม่มีแม้แต่สิทธิเสรีภาพพื้นฐานในการส่งเสียง เป็นต้นว่าการแย่งยึดทรัพยากรของเราไปสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ถลุงทำลายจนสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม และการนำป่าไม้ของเราไปแปรเป็นคาร์บอนเครดิต ฟอกเขียวให้กลุ่มทุนที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วให้ยังคงดำรงอยู่ได้และเติบโตมั่งคั่งขึ้นอย่างไม่รู้จักพอ

จะเห็นได้ว่า รัฐบาลมุ่งอนุมัติโครงการน้อยใหญ่ที่มีกลุ่มทุนและรัฐราชการเป็นศูนย์กลางบนข้ออ้างประโยชน์สาธารณะและความเจริญจอมปลอมของประเทศท่ามกลางการสูญเสียฐานทรัพยากรส่วนรวมอย่างถาวร โดยตัดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชนผู้รับผลกระทบที่แบกรับความสูญเสียซ้ำซากไม่ต่างจากยุคอดีต และขณะเดียวกันกลับไม่แยแสต่อการดำเนินนโยบาย กฎหมายที่ละเมิดสิทธิการอยู่อาศัยทำกิน แย่งชิง กีดกัน ขับไล่ประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์-ชนเผ่าพื้นเมืองออกจากที่ดิน ผืนป่า และท้องทะเล พร้อมจะตีตราให้ประชาชนที่ด้อยอำนาจเป็นดัง “แพะรับบาป” ในกระแสสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นธรรม เป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำพาประเทศไทยให้ขึ้นสู่อันดับต้นๆ ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำที่สุดในโลก

ณ วันนี้ ในเวทีสรุปสถานการณ์สิ่งแวดล้อมภาคเหนือตอนบน พวกเราจึงได้ร่วมกันส่งเสียงอีกครั้ง เพื่อให้เพื่อนร่วมสังคมเข้าใจวิถีชีวิตบนความหลากหลายวัฒนธรรมที่ยังสัมพันธ์กับผืนป่า ก็เพราะวิถีชีวิตที่ยังคงพึ่งพาป่าและดูแลป่าให้เหลือรอดเช่นนี้มิใช่หรือที่ทุกคนปรารถนาต้องการท่ามกลางวิกฤตการเปลี่ยนแปลวสภาพภูมิอากาศ หรือหลายคนต้องการเพียงผืนป่า สัตว์ป่า ทรัพยากร ที่ปราศจากผู้คนและชุมชนแบบเรา และแม้ว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศอย่างแสนสาหัส แต่ก็ไม่ควรมีเพียงคนบางกลุ่ม คนบางวัฒนธรรมที่ต้องถูกตราหน้า ติดป้ายให้ต้องกลายเป็นตัวการดั่งแพะรับบาปในเรื่องนี้อย่างไม่ธรรม ตอกย้ำอคติ มายาคติทางสังคม กดทับให้พวกเรากลายเป็นอื่นอยู่ทุกยุคสมัย

การต่อสู้ของพวกเราเดินทางมาถึงอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่เราได้ร่วมตระหนักถึงผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ท่ามกลางการเกิดขึ้นของร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด และร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เราหวังว่าทุกผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าทางสังคม โดยไม่ละทิ้งประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ถูกกระทำซ้ำเติมต่อไป ไม่เดินหน้าผลิตซ้ำอคติทางสังคมต่อกลุ่มคนชายขอบ และยังปล่อยให้ชนชั้นนำผู้ทำลายล้างโลกยังลอยนวล

เราหวังว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยอาศัยข้ออ้างด้านวิกฤตวิ่งแวดล้อมจะหมดไปจากสังคมนี้ เพราะหากเราต้องการผืนป่า ผืนน้ำ ต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี การร่วมกันหยุดสร้างมายาคติ สร้างแพะรับบาปด้านผืนป่าและสิ่งแวดล้อม การร่วมกันปกป้องชุมชนคนกับป่าบนความเป็นธรรมทางสังคมวัฒนธรรมมากกว่าการมุ่งใช้อำนาจการปกครองแบบรวมศูนย์ จะเป็นก้าวสำคัญ เป็นดั่งทางรอด มากกว่าทางเลือกของสังคม