“ภูมินามพื้นบ้าน” เป็นระบบความคิดทางวัฒนธรรมของชาวบ้านทั่วไปที่สัมพันธ์และมีความหมายอย่างแนบแน่นกับการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยอันมีความเกี่ยวข้องอยู่กับความคิดด้านภูมิศาสตร์กายภาพ ประวัติศาสตร์และวรรณกรรมท้องถิ่น ตลอดจนสะท้อนถึงระบบอำนาจ อัตลักษณ์ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชุมชนในท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์ ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการต่อสู้เพื่อช่วงชิงความหมายและพื้นที่ทางสังคมของผู้คนในท้องถิ่นกับอิทธิพลที่ถูกครอบงำจากอำนาจรัฐส่วนกลางซึ่งดำเนินการผ่านผ่านกลไกด้านการปกครอง ศาสนา สื่อและการศึกษาแบบสมัยใหม่ สิ่งเหล่านี้ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำหรับลดทอนศักดิ์ศรี คุณค่า และความหมายทางสังคมของผู้คนในท้องถิ่นให้อ่อนด้อยลงไป จนกระทั่งชื่อหรือภูมินามของหมู่บ้านหลายแห่ง เกิดความผิดเพี้ยนจากความหมายดั้งเดิมไปอย่างมาก จนในที่สุดอาจทำให้ท้องถิ่นไม่มีที่ยืนทางประวัติศาสตร์ และไม่สามารถอธิบายความเป็นมาของตนเองให้คนรุ่นหลังรับทราบในเรื่องที่ถูกต้องและเป็นจริงได้

ชุมชนในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนตั้งชื่อหมู่บ้านตามบริบทต่าง ๆ เช่น ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ เช่น บ้านเด่น บ้านดอน บ้านสันป่าสัก บ้านห้วยเกี๋ยง ทุ่งข้าวเน่า ป่าไผ่ ตามอิทธิพลจากงานวรรณกรรม เช่น บ้านย่าพาย บ้านสะลวง (สรวงสวรรค์) บ้านพระนอน บ้านลังกา ตามความชำนาญในการผลิต เช่น บ้านช่างฆ้อง ช่างแต้ม วัวลาย ร้อยพ้อม ตามวีรบุรุษประจำถิ่น เช่น บ้านสันต๊ะผาบ ตามกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น บ้านมอญ ร้องเม็ง สันนาเม็ง ตามลักษณะเด่นของหมู่บ้าน เช่น บ้านบ่อส้าง บ้านน้ำบ่อหลวง บ้านบ่อค่าง เหล่านี้เป็นต้น แต่ด้วยอิทธิพลจากอำนาจรัฐส่วนกลาง อันเป็นกลไกเชิงอำนาจของระบบการปกครองจากกระทรวงมหาดไทย ครู กลไกและอำนาจเชิงความรู้จากการศึกษาสมัยใหม่ และเจ้าอาวาสวัด ของกลไกของความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนา กลไกเหล่านี้มักเข้ามาชี้นำและครอบงำความคิดของชาว บ้าน ให้ดูถูกตัวเองและท้องถิ่นว่าต่ำต้อย ล้าหลัง ไม่ทันสมัย ทำให้หมู่บ้านหลายแห่งที่มีชื่อเป็นภาษาท้องถิ่นดั้งเดิม เปลี่ยนเป็นชื่อที่ผิดเพี้ยนไปจากความหมายเดิม หาความหมายไม่ได้ หรือผิดเพี้ยนไปจากรากฐานของความหมายเดิมออกไป รวมถึงการสร้างเรื่องราวแบบใหม่ขึ้นแทนที่เรื่องราวแบบพื้นบ้านดั้งเดิม

เมื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประชาชนท้องถิ่นถูกครอบงำ ทำให้ศักดิ์ศรีและอำนาจของท้องถิ่นอ่อนด้อยลง ย่อมส่งผลให้ความเป็นรัฐชาติโดยรวมอ่อนด้อยลงไปด้วย การทำให้ท้องถิ่นเกิดจิตสำนึกและเชื่อมั่นในอำนาจและศักดิ์ศรีของตัวเอง ย่อมมีผลทำให้ความเป็นรัฐชาติโดยรวมเข้มแข็งและอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม เกิดความสันติสุขร่มเย็นในที่สุดได้

งานศึกษานี้จึงเป็นการพยายามผสมผสานแนวคิดทางทฤษฎีในลักษณะที่เป็นสหวิทยาการทั้งด้านคติชนวิทยาที่ปรากฏอยู่ในนิทาน ตำนานและเรื่องเล่าของชาวบ้านบนหน้าประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ที่ไม่ค่อยได้รับการบันทึกอยู่ในเอกสาร หลักฐาน หรือตำราใด ๆ ของรัฐชาติ ด้านสังคมวิทยากลุ่มหลังสมัยใหม่นิยม และแนวคิดด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและวัฒนธรรมชุมชน ดังรายละเอียดแนวคิด ในแต่ละด้าน ดังนี้

แนวคิด และทฤษฎีบทบาทหน้าที่และคุณค่าทางคติชนวิทยา

“คติชน” เป็นศัพท์ที่ใช้หมายถึง ความรู้ของกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่ง ซึ่งรู้เรื่องต่าง ๆ เหมือน ๆ กัน ทั้งทางด้านขนบธรรมเนียม ประเพณีโบราณ นิทาน พิธีกรรมทางไสยศาสตร์ สุภาษิต และเพลงพื้นบ้าน ซึ่งได้เพิ่มพูนสะสมและสืบทอดกันมานาน “คติชนวิทยา” จึงเป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาคติชนหรือผลผลิตทางวัฒนธรรมของกลุ่มชน และผลผลิตทางวัฒนธรรมนี้เป็นมรดกที่รับทอดกันมาทั้งภายในชนกลุ่มเดียวกัน และที่แพร่กระจายไปสู่ชนต่างกลุ่มด้วย ดังนั้นจึงประกอบด้วยประเด็นศึกษาสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ กลุ่มชน แหล่งกำเนิด  ตัวบท บทบาทหน้าที่ทางสังคม และกระบวนการถ่ายทอด

แนวคิดทางด้านคติชนวิทยาที่ใช้ในงานศึกษานี้ จึงเป็นแนวคิดทางทฤษฎีเกี่ยวกับการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นทั้งในด้านความเป็นมา คุณค่า และความหมายของภูมินามในท้องถิ่นต่าง ๆ โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือของไทย ทั้งในรูปแบบของมุขปาฐะ (Oral literature) หรือเรื่องเล่าชาวบ้าน และวรรณกรรมประเภทลายลักษณ์อักษร (Written literature) ที่ผ่านกระบวนการบันทึกและสืบทอด หรือการ “ผลิตซ้ำ” ทางประวัติศาสตร์ และทางวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น

ชื่อบ้านนามเมืองหลายแห่งมีที่มาจากนิทาน ตำนาน และเรื่องเล่าชาวบ้าน ที่ผูกพันอยู่กับคติความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างลัทธิบูชาผีสางเทวดา วิญญาณบรรพบุรุษ และความศรัทธาในพุทธศาสนา ตามพื้นฐานระบบโลกทัศน์ของชาวบ้าน นิทานและตำนานเป็นเครื่องแสดงถึงความเชื่อทางศาสนาของกลุ่มชนที่ต้องการอธิบายความเป็นมาของเรื่องราวในอดีตของตัวเอง  แนวคิดทฤษฎีทางสังคมวิทยากลุ่มหลังสมัยใหม่นิยม (Post Modernism) ที่ว่าด้วยเรื่องภาษา พื้นที่ อัตลักษณ์ (Identity) และวาทกรรม (Discourse) ทางสังคม เพื่อระบุถึงอิทธิพลของภาษา วาทกรรม ที่เกี่ยวข้องอยู่กับระบบอำนาจและการสร้าง “พื้นที่” ทางสังคม เพื่อต่อรองกับอำนาจรัฐหรืออำนาจอื่น ๆ จากภายนอก ได้แก่

แนวคิดเรื่องวาทกรรม ภาษา และการมืองเรื่องของพื้นที่

เป็นแนวคิดที่เสนอว่า วาทกรรมทางสังคม นั้น “แสดงถึงระบบและกระบวนการในการสร้าง/ผลิต (Constitute)  เอกลักษณ์  (Identity)  และความหมาย (Significance) ให้กับสรรพสิ่งต่าง ๆ ในสังคมที่ห่อหุ้มเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้  ความจริง  อำนาจหรือตัวตนของเราเอง นอกจากนี้     วาทกรรมยังทำหน้าที่ตรึงสิ่งที่สร้างขึ้นให้ดำรงอยู่และเป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้าง” (Foucault, 2515 b: 191-192 อ้างใน    ไชยรัตน์  เจริญสินโอฬาร, 2545: 19)   วาทกรรมจึงเป็นผู้สร้าง/ผลิตสรรพสิ่งขึ้นมาในสังคมภายใต้กฎเกณฑ์ที่ชัดเจนชุดหนึ่ง และกฎเกณฑ์นี้ก็จะเป็นตัวกำหนดการดำรงอยู่ การเปลี่ยนแปลง  หรือการเลือนหายไปของสรรพสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น  จึงกล่าวได้ว่า  ควบคู่ไปกับสรรพสิ่งที่วาทกรรมสร้างขึ้น การสร้างและการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ถูกกล่าวถึง โดยวาทกรรมก็เกิดขึ้นด้วยในขณะเดียวกัน การสร้างกระบวนการที่เรียกว่าวิธีคิด หรือ ‘ชุดความคิด’ เป็นวาทกรรมทางสังคมที่สำคัญอันหนึ่ง อาจเรียกได้ว่าเป็นโครงสร้างส่วนบนของสังคม หรือเป็นส่วนต้น ๆ ของกระบวนการสร้างวาทกรรมทางสังคมทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่อำนาจและการช่วงชิงคำอธิบาย เพื่อสร้าง ‘พื้นที่ทางภูมิสังคม’ (social landscape) อย่างหนึ่ง

พื้นที่เป็นเพียงผลผลิตของเทคนิควิทยาการของการสร้างพื้นที่ (Technologies of spaces) แบบหนึ่งที่เรียกว่า “การทำพื้นที่ให้บริสุทธิ์ผุดผ่องน่ายกย่องบูชา” (the purification of space) มากกว่าการเป็นพื้นที่ตามธรรมชาติ นั่นคือการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับพื้นที่ด้วยการระบุ/กำหนดบทบาท/หน้าที่ที่เฉพาะเจาะจงของพื้นที่นั้น ๆ เพื่อป้องกันมิให้มีการล่วงล้ำ/ล่วงละเมิดได้ เช่น พื้นที่ส่วนตัว/พื้นที่สาธารณะ เมือง/ชนบท เป็นต้น

สำหรับประเด็นการเมืองเรื่องของพื้นที่นั้น “ภาษา” เป็นผลผลิตของความคิดกับกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยมีการเสนอมุมมองเกี่ยวกับภาษาในหลาย ๆ ด้าน เช่น

1) ภาษามีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการเมือง (Politics) และความเป็นการเมือง (The Political) อย่างแนบแน่น 

2) ภาษาคือภาพแสดงหรือตัวแทนโลกแห่งความเป็นจริงเชิงประจักษ์ ผ่านปฏิบัติการจริงทางสังคมที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าถูกหรือผิด เป็นทั้งความจริงแท้เชิงตรรกะที่เป็นสากล กับความจริงเชิงประจักษ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการรับรู้ของสังคมมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลาหรือยุคสมัย

3) ภาษาคือการกระทำ (Speech act) เป็นตัวการกำหนดรูปแบบของชีวิตที่หลากหลาย ที่ไม่ใช่เป็นเพียงถ้อยคำโดด ๆ ที่ไร้เดียงสา ความหมายของภาษาไม่ได้อยู่ที่คำนิยามหรืออยู่ที่การใช้คำเพื่อแทนหรือระบุถึงวัตถุสิ่งของอย่างตายตัว แต่เปลี่ยนแปลงไปตามการกระทำและการใช้ในแต่ละบริบทในชีวิตประจำวันของคนในสังคมนั้น ๆ 

4) ภาษาคือระบบของสัญญะ (Signs) หรือสัญลักษณ์แทนความหมายและรูปธรรมของการปฏิบัติ ที่สามารถสื่อถึงความคิดและการกระทำอื่น ๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมของคู่ตรงข้ามกัน 

5) ภาษาคือเครื่องมือของอำนาจ หรือเป็นภาษาของอำนาจ (The Language of Power) คือภาษาที่ใช้แล้วให้อำนาจกับคนพูด ทำให้คนฟังรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนพูด เพราะไม่รู้ความหมาย ภาษาของหมอ ตำรวจ นักการเมือง หรือนักวิชาการมหาวิทยาลัย ทั้งที่อยู่ในรูปของคำสั่ง หรือศัพท์เฉพาะทางวิชาการ (Academic language) เช่น ภาษาทางสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ ภาษาสถิติ หรือภาษาทางการแพทย์ เป็นต้น

กลุ่มนักคิดสำนักหลังสมัยใหม่นิยม สรุปบทบาทของภาษาว่า ภาษาไม่ใช่เครื่องมือในการสื่อสารที่เป็นกลางเลย แต่ภาษาคือตัวตนของอำนาจจริง ๆ ที่สามารถสร้างหรือบงการให้เกิดสิ่งที่ “การเมือง” ทั้งหลายต้องการนั้นขึ้นมาได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ภาษากลายมาเป็นกำแพงหรือเป็นเพียงมายา ที่มาปิดกั้นสัจธรรมของสังคมในทั้งสองระดับ คือทั้งระดับธรรมดา ๆ กับระดับที่เรียกว่าเป็น “ปรมัตถ์สัจจะ” ทั้งนี้ก็เพื่อจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “จริยธรรมทางสังคม” ที่ถูกต้องดีงามในที่สุดนั่นเอง

ชื่อบ้านนามเมืองหรือ ภูมินาม เป็นเรื่องของการใช้ภาษาอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องอยู่กับลักษณะของการใช้อำนาจทางสังคมและการเมืองอย่างหนึ่ง ที่ผู้วิจัยคิดว่าสามารถนำมาอธิบายถึงอำนาจของวาทกรรมและโครงสร้างความสัมพันธ์ในสังคม ผ่านชื่อเรียกถิ่นฐานของคนในชุมชนต่าง ๆ เหล่านั้นได้

แนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ (Identity) และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์

เมื่อพิจารณาจากมุมมองแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์แล้ว ภูมินามในท้องถิ่นเป็นสิ่งที่สะท้อนแนวคิดเรื่อง อัตลักษณ์ได้เป็นอย่างดี เรื่องเล่าแบบชาวบ้านหลายเรื่องผูกติดอยู่กับการแสดงออกถึงความเป็นตัวตนและสำนึกที่คนในชุมชนรับรู้ และรู้ว่าตัวเขาคือใคร มีลักษณะเป็นอย่างไร มีวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ แบบแผนพฤติกรรมและลักษณะนิสัยอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างจากคนอื่น กลุ่มอื่น สิ่งอื่นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ได้แสดงออกผ่านสัญลักษณ์อะไรบางอย่างที่มีความหมายเป็นที่เข้าใจร่วมกัน และแสดงออกผ่านพิธีกรรม ประเพณี วัฒนธรรม ตำนาน เรื่องเล่า ประวัติศาสตร์และปรากฏการณ์ทางสังคม เป็นสิ่งที่เรียกว่า อัตลักษณ์ทางสังคม 

แนวคิดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและวัฒนธรรมชุมชน 

เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าชุมชนไทยโดยพื้นฐานแล้ว ยังคงเป็นชุมชนที่มีระบบเครือข่ายความสัมพันธ์บนฐานเศรษฐกิจและระบบวัฒนธรรมทางสังคมแบบดั้งเดิม ที่ยึดโยงกันอยู่ด้วยระบบการผลิตและเศรษฐกิจแบบชุมชนหรือแบบพอเพียง รวมถึงระบบความศรัทธาในพุทธศาสนาและความเชื่อถือในลัทธิผีสางเทวดาแบบสังคมเครือญาติ อันเป็นรากฐานให้ชุมชนในระดับหมู่บ้านยังคงผลิตซ้ำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น รวมถึงชื่อบ้านนามเมือง ผ่านเรื่องเล่าทั้งประเภทนิทาน และตำนานต่าง ๆ อันเป็นการสร้างพื้นที่อัตลักษณ์ทางสังคม เพื่อยืนยันถึงความมีตัวตนและศักดิ์ศรีของตัวเอง

ภูมินามและการวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนในเขตเมืองเชียงใหม่

1.ชุมชนหมื่นสารงัวลาย : จากครัวลายถึงงัวลาย และวัวลาย 

ชุมชนวัวลาย เป็นชุมชนของชาวไทขึน หรือไทขืน หรือไทเขิน ที่แต่เดิมอาศัยอยู่เขตลุ่มน้ำแม่ขึนในเชียงตุง และถูกกวาดต้อนมาในราวปี พ.ศ. 2347 ในสมัยพระยากาวิละ  ที่กวาดต้อนชาวเมืองเชียงใหม่ที่หลบหนีเข้าป่าให้กลับสู่เมือง รวมทั้งผู้คนจากเมืองเชียงตุง เมืองยอง เมืองสาด เมืองมาง กระทั่งคนในแคว้นสิบสองปันนา ให้มาตั้งรกรากในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีทั้งไทใหญ่ ไทลื้อ ไทขึ้น และไทยอง เป็นช่วงที่มีการรวบรวมคนมาบูรณะเมืองเชียงใหม่ เรียกกันว่าเป็นยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมา หากเป็นช่างฝีมือหรือไพร่เมืองชั้นดีจะให้ตั้งถิ่นฐานในตัวเมือง ระหว่างกำแพงเมืองชั้นในกับกำแพงเมืองชั้นนอก เช่น ช่างเหล็ก ช่างหล่อ ช่างแต้ม ช่างฆ้อง ฯลฯ ส่วนไพร่ที่ไม่เป็นช่างฝีมือจะไว้นอกเมือง เช่น ไทลื้อ ที่อำเภอ สันทราย สันกำแพง ดอยสะเก็ด ไทยอง ที่ลำพูนและสันกำแพงบางส่วน

ชุมชนวัวลาย เป็นชุมชนชาวไทขึน หรือไทเขิน ที่มีความชำนาญด้านการทำเครื่องเงิน มีวัดที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนคือ “วัดหมื่นสาร” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2069 ตามชื่อของผู้สร้างวัด ที่มียศเป็น “หมื่น” มีนามเต็มว่า “หมื่นหนังสือวิมลกิตติสิงหละราชมนตรี” เป็นสังฆการีเกี่ยวกับการรับรองราชทูต และแปลพระราชสาน จึงเรียกเป็นนามแบบสั้น ๆ ว่า “หมื่นสาร” แล้วนำมาตั้งเป็นชื่อวัด

สำหรับชาวไทขึนซึ่งสะสมความจัดเจนทางการผลิตเครื่องใช้ เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งภาษาล้านนาเรียกว่า “ครัว” อ่านว่า “คัว” แปลว่าสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในครัวเรือน ปกติชาวไทขึนจะออกเสียงสระอัว เป็นเสียงสระโอ คำว่า “ครัว” จึงออกเสียงเป็น “โค” ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีทั้งทำจากไม้ หรือไม้ไผ่จักสาน แล้วนำมาทาด้วยฮัก (รัก) หรือ หาง (ชาด) เรียกว่า โคฮัก โคหาง มีทั้งทำจากเงิน เรียกว่า โคงืน ถ้าทำด้วยทองเหลืองเรียกว่า โคตอง ถ้ามีลวดลายแต่งแต้มเรียกว่า โคลาย ชุมชนที่ผลิตเครื่องเงินจะมีการ “ต้อง” หรือสลักลวดลายต่าง ๆ เช่น ลาย ๑๒ ราศี ลายม่าน เป็นต้น

ชาวขึนดังกล่าวได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางทิศใต้ของประตูเชียงใหม่ เป็นชุมชนที่ทำเครื่องเงินที่มีลายหรือลวดลายหลากหลาย เป็นเหตุให้บริเวณนั้นถูกเรียกว่าบ้านครัวลาย (ออกเสียงแบบลื้อและขึนว่า โค – ลาย) หมายความว่าเป็นหมู่บ้านที่ผลิตของใช้ประเภทเครื่องเขินเครื่องเงินที่มีลวดลาย เมื่อเชียงใหม่ได้รวมเป็นสยาม มีผู้แทนจากส่วนกลางมาปกครองเชียงใหม่ ภาษาพื้นถิ่นถูกเปลี่ยนให้เป็นภาษาไทยกลาง โดยเฉพาะชื่อของชุมชน ชื่อท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกและความเข้าใจตรงกัน ภาษาที่ใช้กันมาแต่เดิมจึงค่อย ๆ เลือนหายไป

คำว่า โคฮัก โคหาง ถูกเปลี่ยนเป็น เครื่องเขิน ตามกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ผลิตชาวขึน หรือชาวเขิน โคเงิน เปลี่ยนเป็น เครื่องเงิน และที่เปลี่ยนไปจนไม่เหลือความหมายเดิมคือ บ้านโคลาย ที่ถูกเปลี่ยนไปเป็น บ้านงัวลาย หรือ วัวลาย ในปัจจุบัน เพราะคิดกันไปเองว่า “โค” หมายถึง “วัว” ในเมื่อคนรุ่นหลังไม่เข้าใจความเป็นมา ก็เลยปั้นเป็นรูปวัวด่างเอาไว้กลางชุมชน ก็เลยไปกันใหญ่

อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุชื่อชุมชนดังกล่าวว่า “บ้านงัวลาย” ดังความว่า

เถิงสกราช 1161 ตัว ปลีกัดเม็ด พระเปนเจ้าเกณฑ์เจ้าคำมูนเปนแม่ทับ กุมริพล 300 ชึ้นไพตีฟ้าฅำเครื่อง อันมาตั้งเมืองปุ ฟ้าฅำเครื่องถูกสีนาดตาย ได้เมืองปุแล้ว เจ้าคำมูนค็ลวดยกริพลข้ามน้ำแม่คงไพฟากตะวันตก เข้าตีเอาบ้านงัวลาย บ้านสะตอย ส้อยไร ท่าช้าง บ้านนา ท่งอ้อ ได้หมื่นขวางัวลายและเมียฟ้าเครื่อง กวาดเอาครอบครัวลูกบ่าวชาวไพร่ลงมาใส่บ้านเมือง

แต่เมื่อพิจารณาตามลำดับอายุของเอกสาร และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สมัยพระยากาวิละแล้ว จะเห็นได้ว่า ยุคที่พระยากาวิละกวาดต้อนผู้คนเข้ามาอยู่ในเวียงเชียงใหม่ อยู่ระหว่าง พ.ศ. 2325 – พ.ศ. 2339 (จ.ศ. 1144 – 1158) แต่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับที่เก่าที่สุดพบว่าคือฉบับวัดพระงาม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจารขึ้นเมื่อ จ.ศ.1216 หรือ พ.ศ.2397 ซึ่งห่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงถึงเกือบ 60 ปี ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่อาจได้รับอิทธิพลของภาษาไทยกลางจากรัฐสยามแล้ว จึงทำให้ “ครัวลาย” หรือ “โคลาย” กลายเป็น “งัวลาย” และจาก “งัวลาย” ก็กลายเป็น “วัวลาย” ไปในที่สุด

(รูปปั้นวัวลาย หน้าวัดหมื่นสารกลางแยกชุมชนบ้านหมื่นสารวัวลาย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2534)

2.ชุมชน หนองประทีป หนองป่าครั่ง หนองเส้ง ฟ้าฮ่าม และสันผีเสื้อ  

จากชุมชนของตำบลฟ้าฮ่าม เลียบสองฝั่งแม่น้ำปิงขึ้นไปทางเหนือ เป็นชุมชนของตำบลสันผีเสื้อ ประกอบด้วยชุมชน 9 หมู่บ้าน ได้แก่ ชุมชนหมู่บ้านป่าข่อยเหนือ ป่าข่อยใต้ ร้องขี้ควาย ร้องอ้อ ขัวโก ท่าเดื่อ ท่าหลุก (เดิมมี “หลุก” หรือระหัดวิดน้ำ เพื่อวิดน้ำปิงขึ้นหล่อเลี้ยงพืชสวนไร่นาชาวบ้านในชุมชน) สันทรายต้นกอก (บางส่วนสังกัดตำบลฟ้าฮ่าม) และชุมชนบ้านสันผีเสื้อสามัคคี ที่ปัจจุบันกลายเป็นชุมชนที่อยู่ในซอยเล็ก ๆ ซอยหนึ่ง เรียกว่า ซอยสันผีเสื้อ อยู่ทางฟากตะวันออกของถนน 

เป็นที่น่าสังเกตว่านามชุมชน “ขัวโก” ปรากฏอยู่ในพื้นที่หมู่ 4 ต.สันป่าเปา อ.สันทราย ด้วย ซึ่งน่าจะมาจากชื่อเดิมของชุมชนอพยพกลุ่มชาวไทเขิน เมืองโก ที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยพระเจ้ากาวิละด้วยเช่นกัน

ภาษาถิ่นล้านนาเรียกผีเสื้อว่า “ก่ำเบ้อ” นามของ “สันผีเสื้อ” มาจากข้อสันนิษฐาน 2 ทาง ได้แก่ มาจากต้นไม้สมุนไพรชนิดหนึ่ง ซึ่งอดีตชาวบ้านเล่าว่ามีอยู่มากมายในชุมชน เรียกว่าต้น “ผีเสื้อน้อย” อีกทางหนึ่งมาจากคำว่า “ผีเสื้อบ้าน” ซึ่งแบ่งเป็น 3 ตระกูลผี ปัจจุบันจึงมีศาลผีเสื้อบ้านอยู่ 3 แห่งในชุมชนเดียวกัน แต่ที่สังเกตคือ เทศบาลตำบลสันผีเสื้อในปัจจุบัน ได้ใช้รูปผีเสื้อ (Butterfly) มาเป็นสัญลักษณ์ของเทศบาล

ต้น “ผีเสื้อน้อย” ที่อดีตมีอยู่เต็มสันดอนในชุมชน กับหอผีเสื้อบ้านทั้ง 3 ตระกูล ใน บริเวณใกล้เคียงกัน
ต้น “ผีเสื้อน้อย” ที่อดีตมีอยู่เต็มสันดอนในชุมชน กับหอผีเสื้อบ้านทั้ง 3 ตระกูล ใน บริเวณใกล้เคียงกัน
ต้น “ผีเสื้อน้อย” ที่อดีตมีอยู่เต็มสันดอนในชุมชน กับหอผีเสื้อบ้านทั้ง 3 ตระกูล ใน บริเวณใกล้เคียงกัน
ต้น “ผีเสื้อน้อย” ที่อดีตมีอยู่เต็มสันดอนในชุมชน กับหอผีเสื้อบ้านทั้ง 3 ตระกูล ใน บริเวณใกล้เคียงกัน

หอผีเสื้อบ้านทั้ง 3 หอ อยู่ในบริเวณที่ใกล้ ๆ กัน ถัดกันขึ้นไปตามคันคลองส่งน้ำที่ไหลผ่านกลางชุมชน และมีหลักฐานการขุดพบอิฐก้อนใหญ่และกล้องยาสูบดินเผาแบบโบราณอยู่ในบริเวณหอผี ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวัดเก่าแก่ของชุมชน ที่ปัจจุบันได้ร้างไปแล้ว และบริเวณพื้นที่ส่วนใหญ่ถัดจากชุมชนขึ้นไปทางทิศตะวันออก และทิศเหนือเป็นหมู่บ้านจัดสรรไปหมดแล้ว

3.ชุมชนในเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเชียงใหม่: ดอยอ้อยช้าง –อุจชุปัพพตะกับ ดอย    สุเทพ ดอยบวกห้า ดอยปุย สู่ดอยภูพิงค์ กับพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศ

ดอยสุเทพ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า จึงถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีตำนานและเรื่องราวเกี่ยวกับการเผยแพร่พุทธศาสนา ผสมผสานกับนิมิตความฝันในระบบความเชื่อแบบพื้นบ้านดั้งเดิมมารองรับ  ในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ระบุว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา ราชวงศ์มังราย หลักฐานจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุนามของดอยสุเทพว่า ดอยอุจฉุปัพพตะ

ความหมายตามถ้อยคำประกอบด้วยคำว่า อุจฉุ หมายถึงอ้อย กับคำว่า ปัพพตะ คือ บรรพต ที่หมายถึง ภูเขา หรือ “ดอย” ในภาษาถิ่นล้านนา

อุจฉุ [อุด] น. อ้อย (ป.)  

อุจสุขันธ์  หมายถึง อ้อยเหล้ม 

ความในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุถึงดอยสุเทพในตำนานว่า

เจ้าฅืนมาอยู่กุมกามเสี้ยงรดูหนาวแล้ว เจ้ามังรายทรงช้างมังคละตัวประเสริฐ มีหมู่โยธาแวดล้อมเปน ปริวารไพแอ่วเลียบตีนดอยอุจฉุปัพพตะคือว่าดอยสุเทพ………….

เจ้าพระยาเมงรายครองราชย์สัมปตติในนครกุมกามโดยสุขสวัสดิภาพมาได้ ๕ ปี ลุศักราชได้ ๖๕๓ ปีเถาะตรีศก เจ้าพระยาเมงรายเสด็จประพาสข้างทิศหนเหนือ เถิงเขาอ้อยช้างคือดอยสุเทพ…… 

อาจกล่าวได้ว่า “ดอยอ้อยช้าง” เป็นชื่อเดิมที่ชาวบ้านใช้มาก่อน แล้วมาแปลตามความหมายในภาษาบาลีในภายหลัง แล้วต่อมาจึงเปลี่ยนมาเป็น “ดอยสุเทพ” ตามชื่อของฤาษีวาสุเทพ ที่ประจำอยู่ที่นั่นในยุคฤาษี ชีไพร ก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้ามาถึง ถ้าถิ่นเดิมบริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของชาวลัวะ ดอยนี้น่าจะมีชื่อที่เป็นภาษาลัวะอยู่บ้าง แต่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย ส่วนดอยภูพิงค์ เดิมชื่อว่า “ดอยบวกห้า” ภายหลังเปลี่ยนชื่อตามพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศ 

4.“ข่วงสิงห์กับชุมชนข่วงสิงห์

“ข่วงสิงห์” หรือ “คุ้มสิงห์” เป็นโบราณสถาน ก่อสร้างเป็นรูปสิงห์คู่ ตั้งอยู่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติไว้แล้ว สร้างขึ้นเมื่อจุลศักราช 1163 หรือปี พ.ศ. 2351 ปีระกา ตรีศกเดือน 4 เหนือขึ้น 12 ค่ำ พ่อเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระองค์แรก (พ.ศ.2325-2356) ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้โปรดให้สร้างสิงห์ปูนปั้นสีขาวยืนขึ้นไว้คู่หนึ่ง ตัวหนึ่งหันหน้าไปทางทิศเหนือ อีกตัวหนึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ณ ที่อันเป็นบริเวณโล่งเตียนกว้างขวางอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองเชียงใหม่ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว จึงทำพิธีอันเชิญเทพยดาอารักษ์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้มาสิงสถิต อยู่ ณ ที่นี้ ตาม คัมภีร์ลานทองของเมืองเชียงใหม่ เขียนไว้ว่า “พระยากาวิละสร้างรูปสิงห์คู่นี้ไว้เป็นสีหนาทแก่เมือง” (กองโบราณคดี มปป. : 55) คราวใดเมื่อจะยกทัพไปต่อสู้กับข้าศึกที่มารุกราน หรือเพื่อแผ่อานุภาพออกไป ก็ได้ยกทัพมาหยุด ณ สถานที่แห่งนี้ เพื่อกระทำอันเป็นมงคลต่างๆ แก่กองทัพเป็นประจำ ซึ่งต่อมาสถานที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “ข่วงสิงห์ชัยมงคล” และต่อมาได้เรียกชื่อให้สั้นลงว่า “ข่วงสิงห์” และในสมัยของเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับที่ ๗   (พ.ศ.2416-2439) ได้โปรดให้สร้างวัดขึ้นไว้บริเวณใกล้กันหนึ่งวัด คือ “วัดข่วงสิงห์ชัยมงคล” ปัจจุบัน คือ “วัดข่วงสิงห์

“คุ้มสิงห์” ในบริเวณข่วงสิงห์ ในใจกลางชุมชนข่วงสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

5.ชุมชนในเขตรอบนอกเมืองเชียงใหม่/ชุมชนในเขตอำเภอสันทราย

ชุมชนบ้าน “ท่าเกวียน” อ.สันทราย จาก “ท่าเกียน”  “ท่าเกว๋น” และ “ท่าล้อ” ถึง“ท่าเกวียน”

ตัวอักษรล้านนาที่ป้ายชื่อวัดเขียนว่า “วัดท่าเกียน”

ชื่อของชุมชนหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอสันทราย จากสามแยกถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ขึ้นไปตามถนนสาย เชียงใหม่ – แม่โจ้ ไปทางทิศเหนือ ราว 8 กิโลเมตร จะถึงทางเข้าชุมชนหมู่บ้านหนึ่ง เขียนป้ายชื่อหมู่บ้านว่าบ้าน “ท่าเกวียน” อยู่ในเขตปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลป่าไผ่ เขตอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านออกเสียงหมู่บ้านของเขาว่าบ้าน “ท่าเกียน” (ออกเสียงจัตวาว่า ต้า – เกี๋ยน) ในความหมายเดียวกันกับคำว่า “ท่าเกวียน” ในภาษาไทยกลาง ที่หมายถึงบ้านที่มีท่าน้ำ ที่มีทาง “เกวียน” ขึ้นลง ภาษาถิ่นล้านนาใช้อีกคำหนึ่งเรียกเกวียนว่า “ล้อ” หรือ “งัวล้อ” หมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดน่านชื่อว่าบ้าน “ท่าล้อ” ในความหมายเดียวกันกับคำว่า “ท่าเกียน” นั่นเอง บ้าน “ท่าเกี๋ยน” ของล้านนาจึงถูกเปลี่ยนไปเป็นบ้าน “ท่าเกวียน” ด้วยอิทธิพลของภาษาไทยกลางและศูนย์กลางอำนาจรัฐกรุงเทพฯ ไป

แต่อีกแง่หนึ่ง ก็อาจเป็นไปได้ว่า “บ้านท่าเกี๋ยน” อาจเพี้ยนมาจากคำที่ออกเสียงและมีความหมายใกล้เคียงกัน คือคำว่า “ท่าเกว๋น” (ออกเสียงว่า ต้า – เกว๋น) อันหมายถึงหมู่บ้านแห่งนี้ มี “ท่า” น้ำ ลงสู่ลำเหมืองที่ผ่านหมู่บ้าน และมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ต้นหนึ่ง ออกเสียงเป็นภาษาล้านนาว่า “ต้นมะเกว๋น” (ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Flacourtia indica ในวงศ์ Flacourtiaceae กิ่งก้านมีหนามแหลมยาวตลอดทั้งต้น ใบเรียวรูปไข่ ปลายใบแหลม) เช่นเดียวกันกับชื่อของบ้านและวัด “ต้นเกว๋น” ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังคงรักษารูปคำ เสียง และความหมายไว้ได้อย่างงดงามและลงตัวจนถึงปัจจุบัน

ต้นมะเกว๋น หรือตะขบป่า กับวัดต้นเกว๋น ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
ต้นมะเกว๋น หรือตะขบป่า กับวัดต้นเกว๋น ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

6.ชุมชนบ้าน “หลวง”  บ้าน “ทุ่ง”: ศูนย์กลางและภูมิศาสตร์ในระบบการผลิตของชุมชนจาก “ทุ่งหมูน้อย” ถึง “ทุ่งหมื่นน้อย” และ “ทุ่งข้าวเน่า” ถึง   “ทุ่งข้าวหอม” 

ชุมชนเกษตรกรรมในเขตภาคเหนือ มักตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่การผลิตทางการเกษตร พื้นที่ส่วนใดเป็นพื้นที่ราบลุ่มกว้าง อันเป็นที่ตั้งของชุมชนดั้งเดิม ก็จะเรียกชุมชนนั้นว่า “บ้านหลวง” อันหมายถึงบ้านหลักที่เป็นศูนย์กลางของหย่อมบ้านอื่น ๆ หรือเป็นชุมชนหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีที่ราบในการทำนากว้างขวาง จึงเรียกว่า “หลวง” หมายถึงกว้างใหญ่ ถัดจากบ้าน “หลวง” ก็จะเป็นบ้าน “ทุ่ง” แสดงความหมายถึงขนาดของหย่อมบ้านที่เล็กลงไป และตั้งอยู่บริเวณหัวทุ่ง หางทุ่ง หรือชายทุ่ง ตัวอย่างชื่อหมู่บ้านและความเปลี่ยนแปลงจากอิทธิพลภาษาไทยกลาง หลาย ๆ หมู่บ้าน ดังต่อไปนี้

ชุมชนบ้านทุ่งหมูน้อย เดิมเป็นชุมชนขนาดเล็ก อยู่ในซอยลึกเข้าไปจากถนนสายหลักที่เชื่อมจังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอพร้าว ด้านหน้าปากซอยเป็นชุมชนขนาดใหญ่ของบ้านแม่โจ้ อันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประถมกสิกรรมแม่โจ้ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 จนมาเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในปัจจุบัน ซึ่งชาวบ้านเล่าว่า ในอดีตทุกวันพ่อค้าลูกหมู จะนำลูกหมูหรือที่เรียกว่า “หมูน้อย” มาแลกเปลี่ยนค้าขายกันที่หัวทุ่งของชุมชนแห่งนี้ ชาวบ้านจึงเรียกชุมชนนี้ว่าบ้าน “ทุ่งหมูน้อย” ออกเสียงแบบล้านนาว่า “ทุ่งหมูหน้อย” อันแสดงรากฐานหรือบทบาทหน้าที่ของชุมชนแห่งนี้ว่าเป็นที่แลกเปลี่ยนสินค้าท้องถิ่นคือลูกหมู โดยเฉพาะ “หมูดำหลังแอ่น” พันธุ์พื้นเมืองขนานแท้ดั้งเดิมที่ชาวบ้านนิยมเลี้ยงไว้ใต้ถุนบ้านแทบทุกหลังคาเรือน  ต่อมาทางอำเภอและกำนันผู้ใหญ่บ้านเห็นว่าชื่อบ้านฟังดูไม่เหมาะสม จึงเปลี่ยนเป็นบ้าน “ทุ่งหมื่นน้อย” แล้วสร้างเรื่องขึ้นมาประกอบว่าเดิม นายหมื่นและนางน้อยมาอยู่ก่อนเป็นคนแรก บางสำนวนเล่าว่าเป็นผู้มีศรัทธาสร้างวัดขึ้นก่อน จากนั้นจึงเรียกว่าบ้านทุ่งหมื่นน้อย

ถัดจากชุมชนบ้านทุ่งหมูน้อยลึกจากถนนใหญ่เข้าไปอีก ก็จะเป็นชุมชนบ้านทุ่งข้าวเน่า ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม เป็นชุมชนเกษตรกรรม ก่อตั้งมากว่า 100 ปีแล้ว พื้นที่เป็นที่ราบลุ่มต่ำ ทำให้น้ำท่วมขังอยู่เสมอ เป็นเหตุให้ข้าวเน่า ทำให้ชาวบ้านเรียกขานหมู่บ้านของตัวเองนี้ว่า “บ้านทุ่งข้าวเน่า” มาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2550 ทางการมาแนะนำว่าชื่อหมู่บ้านไม่เหมาะสม ชาวบ้านจึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า บ้านทุ่งข้าวหอม โดยมีนายอำเภอมาเป็นประธานเปิดป้ายชื่อหมู่บ้านใหม่ ปัจจุบันยังเหลือป้ายชื่อเก่าให้เห็นเป็นป้ายซีเมนต์ที่ค่อนข้างถาวร ที่เหลืออื่น ๆ ได้ถูกเปลี่ยนเป็นชื่อใหม่หมดแล้ว และหากใครเรียกชื่อเดิมว่าบ้านทุ่งข้าวเน่าอีก ชาวบ้านก็จะแสดงความไม่พอใจและบอกชื่อใหม่ให้ทราบ

ชุมชนบ้าน “ทุ่งหมูหน้อย” (ทุ่งหมื่นน้อย) อ.สันทราย เขตเชื่อมต่อกับชุมชน บ้าน “ทุ่งข้าวเน่า” (ทุ่งข้าวหอม) อ.แม่ริม

7.ชุมชนบ้านท้ายทุ่ง จากแม่หญ้อยถึงแม่ย่อย

“หญ้อย” ออกเสียงวรรณยุกต์ครึ่งโทครึ่งตรี เป็นเสียงนาสิก ซึ่งปรากฏเฉพาะในภาษาถิ่นล้านนาและอีสานเท่านั้น ไม่ปรากฏในภาษาไทยถิ่นกลางหรือไทยกรุงเทพฯ คำนี้น่าจะแผลงมาจากคำว่า “ญอย” (เสียงนาสิก) ที่หมายถึงสิ่งที่อยู่ในตอนท้าย หมายถึงเป็นหมู่บ้านที่อยู่ท้ายทุ่ง หรือปลายสุดของกลุ่มบ้าน แต่สำเนียงภาษาไทยกลางไม่มีเสียงครึ่งโทครึ่งตรี จึงออกเสียงว่า “ย่อย” แล้วสะกดตามเสียงอ่าน จึงทำให้ความหมายผิดไปเป็นคนละเรื่อง เพราะคำว่า “ย่อย” หมายถึงละเอียด และในทางสังคมจะมีความหมายในเชิงลบ เช่น เป็นคน “ย่อย” หมายถึงคนตระหนี่ถี่เหนียว  หรือเป็นคนที่เรื่องมาก ส่วนคน “ปากย่อย” หมายถึงคนปากมาก เช่น เวลาคนเมาเหล้ามักจะเป็นคน “ปากย่อย” คนแก่ก็เช่นเดียวกัน มักขี้บ่นกับลูกหลาน หรือเรียกว่า “ปากย่อย” จนลูกหลานมักรำคาญเอาได้ จากบ้าน “แม่หญ้อย” เป็นบ้าน “แม่ย่อย” ที่รูปคำและความหมายได้เปลี่ยนไปแล้ว

8.ชุมชนพยากน้อย: ชุมชนเสือน้อยแห่งอำเภอสันทราย

“พยาก” มาจากคำว่า “พยัคฆ์” ที่แปลว่า “เสือ” ในภาษาถิ่นล้านนาเขียนสะกดว่า พยัคฆ์ หรือ พยัคโฆ เวลาอ่าน จะอ่านแบบรวบเสียงว่า “เพี๊ยก” หรือ “เพี๊ยกโค” ความหมายคือ พยัคฆ์ หรือ พยัคโฆ ดังนั้นบ้าน “พยากน้อย” ความหมายก็คือบ้าน “พยัคฆ์น้อย” หรือบ้าน “เสือน้อย” นั่นเอง

ชุมชนในจังหวัดท่าขี้เหล็ก เขตปกครองของพม่า เลยจากเขตติดต่ออำเภอแม่สายเข้าไปทางทิศเหนือราว ๖๐ กิโลเมตร มีชื่อหมู่บ้าน “พยาก” ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชุมชนคนไท – ยวน ลื้อ เขิน และยอง เมื่ออังกฤษเข้ามายึดครองพม่า ทำให้ชาวบ้านในเขตเหล่านี้อพยพเข้ามาในเมืองไทย ผ่านเชียงราย น่าน ลงมาถึงเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน จึงนำเอาชื่อหมู่บ้านติดมาด้วย มาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านของตัวเองหลายชุมชน เช่น ชุมชนบ้านปูคา นาหนุน หนองบัว บ้านดอน เมืองล่าหรือเมืองหล้า ในเขตอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ชุมชนบ้านเมืองออน – ออนหลวย – เปาสามขา – ออนกลาง – หัวทุ่ง – สันก้างปลา – บวกค้าง ในเขตอำเภอสันกำแพง ชุมชนบ้านห้วยหยาบ ห้วยไซ และชุมชนอื่น ๆ อีกหลายชุมชนที่เป็นส่วนข้างมากของจังหวัดลำพูน เหล่านี้ ล้วนเป็นคนไทลื้อ ไทเขิน ไทยอง ที่อพยพมาในเวลานั้นทั้งสิ้น ซึ่งได้นำชื่อหมู่บ้านดั้งเดิมของตัวเองติดมาด้วย รวมทั้งผีประจำตระกูล เช่น ผีเมืองหล้า ผีมดผีเม็ง มาไว้ในชุมชนของตัวเองด้วย

บ้านพยัคฆ์น้อย หรือบ้านเสือน้อย

9.ชุมชนในเขตอำเภอดอยสะเก็ด จากเส้นเกศ” “สะเกร็ด”  “สะเกิ๊ดถึงดอยสะเก็ด” 

นามของอำเภอ “ดอยสะเก็ด” มีตำนานเล่าถึงที่มาว่าในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงสถานที่แห่งหนึ่ง ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีเจิดจ้า พญานาคคู่หนึ่งเกิดความศรัทธาเลื่อมใส จึงแปลงกายเป็นชายหนุ่มหญิงสาวนำดอกบัวมาถวาย พระองค์จึงประทานเส้นผมให้ไว้เป็นที่บูชา นาคทั้งสองจึงได้สร้างเจดีย์บรรจุไว้บนดอยที่หนึ่ง แล้วเรียกดอยนั้นว่า “ดอยเส้นเกศ”

ตำนานอีกสำนวนหนึ่งเล่าว่า พญานาคทั้งสองได้ “สะเกร็ด” อันมีความหมายว่าได้ทำความสะอาดเกร็ดของตัวเอง จึงเป็นที่มาของนาม “ดอยสะเกร็ด” ต่อมาทั้งสองนามจึงเรียกเพี้ยนเป็น “ดอยสะเก็ด” มาจนถึงทุกวันนี้

อีกสำนวนหนึ่ง ชาวบ้านเล่าว่า เดิมบ้านนี้เป็นบ้านที่ถูกดอยลูกใหญ่ขวางกั้นอยู่ ภาษาล้านนาเรียกว่า “เกิ๊ด” แปลว่าขวางกั้นไว้ (เทือกเขาผีปันน้ำดอยนางแก้ว สันปันเขตเชียงใหม่กับเชียงราย) จึงเรียกดอยนี้ว่า “ดอยสะเกิ๊ด” แปลว่าดอยลูกใหญ่ขวางกั้นหรือบังไว้ ต่อมาเพี๊ยนเป็น “ดอยสะเก็ด” จนปัจจุบัน

10.ชุมชนในเขตอำเภอแม่ริม จาก สรรวง –  สรลวง – สลวง – สระหลวง – สรวย  และสรวง (สวรรค์)  ถึง “บ้านสะลวง”

อำเภอแม่ริม มีชื่อหมู่บ้านหนึ่งอยู่ถัดจากตัวอำเภอขึ้นไปทางทิศเหนือราว 3 กิโลเมตร ชื่อว่าหมู่บ้าน “สะลวง” แยกเป็น ๒ กลุ่มบ้าน คือบ้านสะลวงนอก กับสะลวงใน ทั้งสองหมู่บ้านสังกัดอยู่ในตำบลสะลวง คนบ้านสะลวงเป็นคนเมือง หรือที่เรียกว่าเป็น “คนไท – ยวน” (โยนหรือโยนก)   

ที่น่าแปลกก็คือชื่อของหมู่บ้านไม่ได้ตั้งตามสภาพทางภูมิศาสตร์ หรือแสดงความหมายที่เป็นพื้นบ้าน หรือเป็นคำแบบไทย ๆ ทำให้นึกถึงศัพท์สันนิษฐานคำว่า “สรวง – สาง” ของจิตร ภูมิศักดิ์   ที่ปรากฏในลิลิตโองการแช่งน้ำพิพัฒน์สัตยาโคลงห้า (มณฑกคติ) เป็นคำสรรเสริญพระวิษณุ (พระนารายณ์) ในตอนต้นว่า

“โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเป็นแท่น แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน บินเอาครุฑมาขี่ สี่มือถือสังขะ จักรคธาธรณี ภีรุอวตาร อสุรแลงลาญทัค ททัคนีจรนาฯ” 

จิตร พบข้อสังเกตว่า นามของพระวิษณุที่ปรากฏในร่ายนั้น ปรากฏในนามที่เป็นภาษาไทยโบราณ ที่มีการเลือนความหมายไปแล้ว นามที่ว่านั้นคือคำว่า “สรวง” นั่นเอง จิตร แปลความหมายของศัพท์ดังกล่าวตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่าน่าจะหมายถึง “เทวดา” มากกว่าที่จะแปลว่าสวรรค์ เพราะจากบทที่ว่า “โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว” โดยใช้ความหมายตามพจนานุกรม ก็ต้องแปลว่า “โอมขอความสำเร็จแด่เทวดาผู้เป็นศรีแห่งความแกล้วกล้า” จะแปลสรวงในที่นี้ว่า “สวรรค์” ไม่ได้เลย และที่เรียกท้าววิษณุว่า “พระสรวง” ก็เรียกตามชื่อเมืองที่สถิตอยู่ คือ “ไวกูณสวรรค์” หรือ “สรวงสวรรค์” และก็คือคำ ๆ เดียวกับชื่อเมือง “พิษณุโลก” (เมืองของพระวิษณุ) ในภาษาสันสกฤตว่า “เมืองสรวง” ที่เดิมเรียกว่าเมือง “สระหลวง” เพราะออกเสียงคำว่า “สรวง” แบบแยกเสียงเป็น “สะ – หลวง” แล้วเขียนตามเสียงอ่านโดยโยงกับคำว่า “สระ” ที่แปลว่าหนองน้ำ ซึ่งความจริงก็คือ “เมืองสรวง” ที่ไม่ได้เกี่ยวกับสระน้ำเลยนั่นเอง โดยยืนยันจากหลักฐานจารึกสุโขทัยซึ่งจะเขียนว่า “สรลวง” ทุกหลัก ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับนามพระชนกของพระลอ (ในลิลิตพระลอ) คือ ท้าวแมนสรวง อันหมายถึง เทวดาหรือผีฟ้าในสรวงสวรรค์ เพราะคนไทยโบราณเรียกเทวดาที่เป็นเทวดาโดยกำเนิด ว่า “แมน” (ถ้าคนทำดีตายแล้วไปเป็นเทวดา ก็จะเรียกว่า “ผีฟ้า”)

ดังนั้นจิตรจึงสรุปว่า เมือง สรลวง หรือ สลวง ก็มาจาก สรวง นั่นเอง เพราะถ้าสรวงจะแผลงเป็น “สรรวง” เวลาอ่านก็ออกเสียงยากและทำให้งง จึงแปรรูปเป็น “สรลวง” นอกจากนี้ ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล ยังอ้างไปถึงชื่อตำบล “แม่สรวย” ในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ในปัจจุบันว่า น่าจะแผลงมาจากรูปคำว่า “สรวง” คือเมืองสรวง ของพระลอ เช่นเดียวกัน

ที่มาของคำตามความหมายเดิมดังกล่าว เมื่อมาถึงตำบล “สะลวง” ของอำเภอแม่ริม ทำให้เป็นไปได้ว่าคนท้องถิ่นโดยเฉพาะปราชญ์ท้องถิ่น เช่น พระสงฆ์ผู้มีความรู้ด้านบาลี สันสกฤต ได้รับอิทธิพลจากงานวรรณกรรม ทั้งที่เป็นมุขปาฐะและลายลักษณ์อักษรจากเอกสารพับสาหรือใบลาน ที่ปรากฏอยู่ตามวัดต่าง ๆ ที่พระนำมาใช้เทศนาในวันสำคัญทางศาสนา จึงนำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านตามการออกเสียงและรูปเขียนที่แผกกันออกไปดังกล่าว

11.ชุมชนในเขตอำเภอสันกำแพง – แม่ออน

ชุมชนในเขตพื้นที่ปกครองอำเภอสันกำแพง และแม่ออน (แยกจากสันกำแพงเมื่อปี พ.ศ.2537) เป็นชุมชนเก่าแก่ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ลุ่มแม่น้ำแม่ออนต่อมายุคพระเจ้ากาวิละ ได้อพยพคนไทลื้อ ไทยอง ไทเขิน และไทยองจากเชียงตุง เมืองยอง และสิบสองพันนามาอยู่ที่ บ้านออนหลวย หัวทุ่ง สันก้างปลา บวกค้าง ป่าตาล ต้นดู่ ร้อยพร้อม ย่าพาย ไปจนถึงบ้านท่าวังตาลในเขตอำเภอสารภี อิทธิพลจากรัฐส่วนกลางและการศึกษาสมัยใหม่ ทำให้ชื่อบ้านนามเมืองในเขตพื้นที่สันกำแพงเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าสนใจ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ชุมชนชาวไทลื้อ ไทยอง จากบ้านบ่อค่างถึงบวกค้างจากร้อยพ้อมถึงร้อยพร้อม”  “ย่าพาย” “ร้องก่องข้าวและช่างเพี้ยน

ชาวบ้านในชุมชน เล่าถึงตำนานและความเป็นมาของชื่อหมู่บ้านในชุมชนว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จมายังที่แห่งนี้ อันเป็นที่อยู่อาศัยของพญาค่างเผือกและบริวารจำนวนมาก พระพุทธองค์ประทับอยู่ใต้ต้นตะโกและกำลังเสวยขนุนอยู่ พวกพญาค่างเผือกเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ จึงได้ให้บริวารช่วยกันขุดหนองน้ำขึ้น แล้วนำน้ำมาถวาย พระพุทธองค์จึงได้ตรัสทำนายว่าต่อไปสถานที่แห่งนี้จะเจริญรุ่งเรือง และมีชื่อว่า บ้านบ่อค่าง มาตั้งแต่นั้น ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นบ้านบวกค้างมาจนถึงทุกวันนี้ ชุมชนบ้านบวกค้าง มีวัดบวกค้างเป็นศูนย์กลางของชุมชน สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา (พ.ศ. 1912 – 1914) จนถึง พ.ศ. 2356 หลังจากที่พระเจ้ากาวิละกอบกู้เอกราชจากพม่า ได้กวาดต้อนเอาผู้คนจากเมืองยองมา โดยมีเจ้ากระหม่อมสุริยวงศา (หม่อมกะลิก) เจ้าเมืองยององค์ที่ 34 นำชาวเมืองมาตั้งถิ่นฐานในชุมชนแห่งนี้ แล้วได้อาราธนาครูบาเจ้าญาณสิริ จากวัดบ้านแซมหลวงเมืองยองมาเป็นเจ้าอาวาส

อนึ่งคำว่า “บวก” เป็นหน่วยการปกครองในสมัยราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนา หน่วยการปกครองของบ้านบวกค่างในสมัยนั้นเป็นหมู่บ้านใหญ่ที่มีฐานะรองจากเมือง เรียก ว่า “บวก” ซึ่งมักพบหลักฐานลักษณะการปกครองดังกล่าว ปรากฏในกฎหมายลักษณะการปกครองโบราณ และตำนานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น ตำนานเชียงแสนกล่าวว่า

พระราชเจ้าแสนพูได้ไปเลิกสร้างเวียงเงินยางเชียงแสนฅืนเป็นเมืองดั่งเก่าแล้วท่านก็ตั้งไว้หื้อเป็นเขต เป็นแดน เป็นบวก เป็นตอ ฉันนี้ ดังนี้แล

ดังนั้นบวกในที่นี้ มาจากหน่วยการปกครองดังกล่าวถูกใช้เป็นแบบแผนอย่างแพร่หลายและยาวนานในอาณาจักรล้านนา ตราบจนถึงสมัยราชวงค์กาวิละ และถูกยกเลิกเป็นมลฑลเทศาภิบาลในพ.ศ. 2427 และก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ใน พ.ศ. 2475 เช่นในปัจจุบัน

บ้านบวกค่าง จึงเป็นหน่วยการปกครองหนึ่งที่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่พันนาแช่ช้างเชียงเลิอ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยืนยาว ตั้งแต่ยุคพระญามังรายสร้างเวียงกุมกาม แช่ช้างจึงเป็นชุมชนใหญ่ชุมชนหนึ่งที่อยู่ในเขตปกครองของเมือง “เชียงเลิอ” ซึ่งเป็นเมืองขนาดเล็กที่ควบคุมพันนาหนึ่งของเวียงกุมกาม

คนไทยองในชุมชนวัดบวกค้าง จึงเป็นคนไทยองที่ได้อพยพเทครัวลงมาจากเมืองยองครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2356มาพร้อมกับเจ้าเมืองยองที่ชื่อว่า “เจ้าสุริยวงศา หรือ เจ้ากระหม่อมสุริยวงศาเมืองยอง หรือเจ้าขิแยง” ได้นำเอาผู้คนส่วนหนึ่ง มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านบวกค่าง แฅ่วนแช่ช้างเชียงเลิอ ปัจจุบันคือ บ้านบวกค้าง ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

พ่ออุ๊ยเทพ พลหาญ อายุ 85 ปี ผู้บอกข้อมูล และแผ่นป้ายจารึกประวัติวัดบวกค้าง

ถัดจากชุมชนบวกค้างลงไปทางทิศตะวันตก เป็นชุมชนชาวยองบ้านป่าตาล ร้อยพร้อม และย่าพาย ชาวบ้านในชุมชนเล่าว่า บ้านร้อยพร้อม เดิมชื่อบ้านร้อยพ้อม อันมีความหมายถึง “พ้อม” (ออกเสียงภาษาถิ่นว่า /ป๊อม/) อันหมายถึงภาชนะใส่ของแบบโบราณ (ในระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเอง) ที่สานด้วยไม้ไผ่แล้วเคลือบด้วย “ขี้ย้า” หรือ ชัน ทำเป็นภาชนะคล้ายกระบุง เพื่อใส่สิ่งของต่าง ๆ แล้วใช้ไม้คานหาบไปทำบุญที่วัด ถ้าใช้สำหรับตักน้ำจากบ่อน้ำลึก จะเรียกว่า “น้ำคุ” เมื่อทำไว้มาก ๆ ชาวบ้านมักนำมาร้อยเรียงไว้เป็นสาย เก็บไว้ในบ้าน จึงเรียกว่า  “ร้อยพ้อม” (ออกเสียงว่า /ฮ้อย/ – /ป๊อม/ อันหมายถึง “พ้อม” ที่ถูกนำมาร้อยไว้ ต่อมา  ตุ๊เจ้าปั๋น (เจ้าอาวาส) ในสมัยนายอำเภอสวัสดิ์ วรพงษ์ ประมาณปี พ.ศ.2510-2515 อยากให้ทันสมัย จึงเปลี่ยนตามภาษาไทยกลางว่า “บ้านร้อยพร้อม” มาจนทุกวันนี้ แต่ไม่ได้สื่อความหมายว่า “พร้อม” ทำอะไร

เสาใจบ้าน ประจำชุมชนบ้านร้อยพร้อม
การทอผ้า อาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านในชุมชน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องตามตำนานเล่าต่อไปว่า วันหนึ่งมีพระสงฆ์ได้ออกบิณฑบาตมาถึงบ้านอีกแห่งหนึ่งถัดจากบ้านร้อยพ้อมไป ขณะนั้นมีหญิง “ย่า” แม่หม้ายคนหนึ่ง (ชาวบ้านมักเรียกหญิงสูงอายุพื้นบ้านที่ต่ำต้อย เป็นเชิงปรามาสว่า “ย่า”) มารอตักบาตรพระสงฆ์ แต่พระสงฆ์ไม่ได้ผ่านมาทางนั้น นางจึงเอาพ้อมนั้นสะพายไว้ที่ต้นไม้ จึงเรียกบ้านนั้นว่า “ย่าปาย” ส่วนอีกสำนวนหนึ่งเล่าว่า เมื่อพระสงฆ์เหล่านั้น เห็นว่าเป็นหญิงอาจทำให้เป็นมลทินแก่ศาสนาได้ จึงเดินพ่ายหนีไปอีกทางหนึ่ง จึงเรียกว่าบ้าน พระพ่าย แล้วเรียกเพี้ยนต่อมาว่าบ้าน ย่าปาย

พ้อม น. ภาชนะสานขนาดใหญ่สำหรับบรรจุข้าวเปลือก เป็นต้น, กระพ้อม ก็ว่า  กับชุมชนบ้านร้อยพ้อม และวัดร้อยพ้อม วัดประจำชุมชน
พ้อม น. ภาชนะสานขนาดใหญ่สำหรับบรรจุข้าวเปลือก เป็นต้น, กระพ้อม ก็ว่า  กับชุมชนบ้านร้อยพ้อม และวัดร้อยพ้อม วัดประจำชุมชน
พ้อม น. ภาชนะสานขนาดใหญ่สำหรับบรรจุข้าวเปลือก เป็นต้น, กระพ้อม ก็ว่า  กับชุมชนบ้านร้อยพ้อม และวัดร้อยพ้อม วัดประจำชุมชน
พ้อม น. ภาชนะสานขนาดใหญ่สำหรับบรรจุข้าวเปลือก เป็นต้น, กระพ้อม ก็ว่า  กับชุมชนบ้านร้อยพ้อม และวัดร้อยพ้อม วัดประจำชุมชน

ถัดจากชุมชนร้อยพร้อมลงไปทางทิศตะวันตก ก็จะเข้าสู่ชุมชน “ร้องก่องข้าว”  และชุมชน “ช่างเพี้ยน” ชุมชนร้องก่องข้าว เดิมเรียกกันว่าบ้าน “ร้องกั้นเข้า” อันมีความหมายตามสภาพของหนองน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำที่เรียกว่า “ร้อง” และมีเรื่องตามตำนานที่เล่ากันมาว่า เดิมที่บริเวณนี้เป็นหนองน้ำใหญ่อุดมไปด้วยปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ ชาวบ้านต่างพากันมาหาปลาจนเพลินลืมกินข้าว จึงเรียกว่าเป็น “หนองกั้นเข้า” แปลว่า หนองอดข้าว ต่อมาเรียกตามสภาพภูมิศาสตร์และเพี้ยนไปเป็น “ร้องก่องข้าว” และเรียกตามชื่อวัดที่ตั้งขึ้นใหม่ด้วย ตำนานของชุมชนหมู่บ้านยังเล่าถึงเรื่อง “ช้างพู้ก่ำงาเขียว” ของพระนางจามเทวี ในขบวนแห่งจากเมืองเชียงใหม่ไปหริภุญไชย ลำพูน แล้วเดินทางมาถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งช้างได้สลัดปลอกเท้า (คะแชะ) ให้หลุดออกจึงเรียกหมู่บ้านนั้นว่า “บ้านคะแชะช้าง” คือ บ้านแช่ช้างในปัจจุบัน  เมื่อมาถึงอีกหมู่บ้านหนึ่งช้าง เดินเว้นเลี่ยงไป ก็เรียกบ้านนั้นว่าบ้านช้างเว้นหรือช้างเพี้ยน ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น “บ้านช่างเพี้ยน” จนถึงปัจจุบันช้างเดินทางต่อมาถึงบริเวณที่เป็นดินโป่ง ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์จึงหยุดใช้งวงคดกินดินโป่งเป็นอาหาร หมู่บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่า บ้านโป่งช้างคด

12. ชุมชนช่างฝีมือทำร่มกระดาษสา : จากบ่อส้าง ถึง บ่อสร้าง 

“บ่อส้าง” บ่อน้ำแบบโบราณขนาดใหญ่ ภายในวัดบ่อสร้าง อ.สันกำแพง ที่ขุดไว้สำหรับน้ำกินน้ำใช้ในชีวิตประจำวันของคนพื้นบ้านมาแต่ดั้งเดิม เป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างมาพร้อมกับการตั้งหมู่บ้าน เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว จนนำมาเป็นชื่อของหมู่บ้าน สะกดตามอิทธิพลของภาษาไทยกลางเป็น “บ่อสร้าง” มาจนถึงทุกวันนี้
“บ่อส้าง” บ่อน้ำแบบโบราณขนาดใหญ่ ภายในวัดบ่อสร้าง อ.สันกำแพง ที่ขุดไว้สำหรับน้ำกินน้ำใช้ในชีวิตประจำวันของคนพื้นบ้านมาแต่ดั้งเดิม เป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างมาพร้อมกับการตั้งหมู่บ้าน เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว จนนำมาเป็นชื่อของหมู่บ้าน สะกดตามอิทธิพลของภาษาไทยกลางเป็น “บ่อสร้าง” มาจนถึงทุกวันนี้
“บ่อส้าง” บ่อน้ำแบบโบราณขนาดใหญ่ ภายในวัดบ่อสร้าง อ.สันกำแพง ที่ขุดไว้สำหรับน้ำกินน้ำใช้ในชีวิตประจำวันของคนพื้นบ้านมาแต่ดั้งเดิม เป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างมาพร้อมกับการตั้งหมู่บ้าน เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว จนนำมาเป็นชื่อของหมู่บ้าน สะกดตามอิทธิพลของภาษาไทยกลางเป็น “บ่อสร้าง” มาจนถึงทุกวันนี้
“บ่อส้าง” บ่อน้ำแบบโบราณขนาดใหญ่ ภายในวัดบ่อสร้าง อ.สันกำแพง ที่ขุดไว้สำหรับน้ำกินน้ำใช้ในชีวิตประจำวันของคนพื้นบ้านมาแต่ดั้งเดิม เป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างมาพร้อมกับการตั้งหมู่บ้าน เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว จนนำมาเป็นชื่อของหมู่บ้าน สะกดตามอิทธิพลของภาษาไทยกลางเป็น “บ่อสร้าง” มาจนถึงทุกวันนี้

13.ส้าง น. บ่อ, บ่อน้ำ เช่น บ้านบ่อส้าง – หมู่บ้านบ่อสร้าง อ.สันกำแพง ชม.  

ส่าง  [ส่าง] (n ) บ่อน้ำใต้ดิน ขุดไว้เพื่อตักน้ำไว้ดื่ม หรือใช้  (ภาษาไทยอีสานตอนเหนือ)        ภาษาไทยโบราณ ทั้งไทยล้านนา และไทยอีสาน ให้ความหมายของคำว่า “ส้าง” ตรงกัน คือหมายถึงบ่อน้ำ บ้านบ่อสร้าง (กางจ้อง) ในอำเภอสันกำแพง ของจังหวัดเชียงใหม่ จึงมีความหมายว่าเป็นบ้านที่มีบ่อน้ำใหญ่อยู่ในวัดของหมู่บ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเล่ากันต่อ ๆ มาว่าประมาณกว่า 100 ปีมาแล้ว พระธุดงค์องค์หนึ่งชื่อว่า พระอินถา มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านบ่อสร้าง ได้เดินธุดงค์ไปยังประเทศพม่า มีชาวพม่าคนหนึ่งได้นำกลดมาถวาย เมื่อพระอินถาได้เห็นลักษณะของร่มที่แปลกตาก็เกิดความสนใจ ท่านจึงไถ่ถามถึงที่มาของร่มดังกล่าวจากผู้ถวาย ได้ความว่าที่พม่าทำร่มแบบนี้ใช้กันทั่วไป ท่านจึงไปศึกษาวิธีการทำร่มและจดจำวิธีการทำอย่างละเอียด เพื่อนำมาเผยแพร่ในหมู่บ้านบ่อสร้างในเวลาต่อมา โดยเริ่มจากสอนให้ผู้หญิงทำเป็นก่อนโดยให้ผู้ชายทำโครงร่มจากไม้ไผ่บง และทำหัวร่มจากไม้ส้มเห็ดหรือไม่ม่วงมัน คันร่มใช้ไม้รวก ไม้ซี่ค้ำร่มใช้กระดาษสาปะตรงหัวเพื่อกันไม่ให้แตกโดยง่าย โดยใช้ผลตะโกหรือผลมะคับทองนำมาหมักดองจะได้ยางกาวเหนียวใช้ปะไม้ซี่ค้ำร่มได้ ส่วนฝ่ายหญิงเป็นผู้นำกระดาษสามาหุ้มตัวร่ม นำไปตากให้แห้งแล้วทาทับด้วยน้ำมันตังอิ๊ว ที่ทำจากผลมะเยาหิน นำส่งขายทั่วประเทศและต่างประเทศ นำชื่อเสียงมาสู่บ้านบ่อสร้างจนได้ชื่อว่าบ้าน “บ่อสร้างกางจ้อง” มาจนทุกวันนี้ 

14. ชุมชนชาวไทเขิน “บ้านมอญ” อำเภอสันกำแพง กับ “บ้านเม็ง”  “สันนาเม็ง”  และ “ร้องเม็ง”  อำเภอสันทราย: บ้านของคนไทเขิน หรือคนมอญ ?

วัดบ้านมอญ อ.สันกำแพง และงานฟ้อนผีมดผีเม็งของชาวชุมชน อ.สันทราย เดือนเมษายน 2556
วัดบ้านมอญ อ.สันกำแพง และงานฟ้อนผีมดผีเม็งของชาวชุมชน อ.สันทราย เดือนเมษายน 2556

“บ้านมอญ” ต.สันกลาง อ.สันกำแพง สะกดด้วยตัว ญ ทำให้เข้าใจว่าคนมอญมาอยู่ในพื้นที่นี้ แต่ชาวบ้านยืนยันว่า คนในหมู่บ้านเป็นคนไทเขิน ที่อพยพมาจากเขตเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า อันเป็นถิ่นเดิมของชาวไทเขิน หรือ “ไทขึน” ตามชื่อ “แม่น้ำขึน” 

อีกสำนวนหนึ่ง ชาวบ้านเล่าว่าที่ได้ชื่อว่าบ้านมอญ นั้น มาจากแต่เดิมที่ใจกลางหมู่บ้านมีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งคือ “ต้นหม่อน” แล้วเพี้ยนเสียงไปเป็นบ้านมอญตามชื่อต้นไม้ใหญ่นั้น ซึ่งความจริงควรเขียนสะกดว่า “บ้านมอน” จึงจะตรงความหมายกว่า และอีกความหมายหนึ่ง คำว่า “มอน” ยังหมายถึงใจกลาง เช่น มอนไข่ หมายถึงไข่แดงที่อยู่ในใจกลาง บ้านมอนจึงอาจเป็นบ้านที่อยู่ในใจกลางของชุมชนมาแต่ดั้งเดิมก็เป็นได้

ส่วนคำว่า “เมง” หรือ “เม็ง” นอกจากจะเป็นชื่อผีบรรพบุรุษคู่กับผีมด ซึ่งมักเรียกคู่กันว่าผีมดผีเม็งแล้ว ยังเป็นชื่อกลุ่มชนเผ่าหนึ่งซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมอญ ดังปรากฏในวรรณกรรมล้านนาหลาย ๆ เรื่อง  ชาวบ้านเล่าว่าคนในพื้นที่บ้านมอญ หรือบางหมู่บ้าน เช่นบ้านหัวทุ่งในเขตสันกำแพง และบ้านที่มีชื่อเม็ง เช่น สันนาเม็ง บ้านเม็ง บ้านร้องเม็ง รวมทั้งบ้านร้องแหย่ง ชุมชนบ้านลวงเหนือ ลวงใต้ เมืองขอน เมืองวะ เมืองเลน บวกเปา สันต้นเปา ร้องขี้เหล็ก หัวโก ในเขตอำเภอสันทรายนั้น ล้วนเป็นคนไทเขิน หรือไทลื้อ ที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยพระเจ้ากาวิละ

ท่านพระครูโกวิทธรรมโสภณ เจ้าอาวาสวัดร้องเม็ง (อายุ 70 ปี พรรษา 68 พรรษา) ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นชุมชนบ้านร้องเม็งแต่ดั้งเดิม กล่าวยืนยันว่า คนในชุมชนร้องเม็ง บ้านเม็ง และบ้านสันนาเม็ง รวมถึงบ้านอื่น ๆ ในเขตเชียงใหม่และลำพูน ที่มีชื่อว่า “เม็ง” หรือ “มอญ” (ในลำพูนเช่นบ้านเม็ง และบ้านอุเม็ง/อุโมงค์) เป็นคนไทเขิน ซึ่งแต่ดั้งเดิมนั้นอาจเป็นชุมชนของคนมอญเชื้อสายพม่า ในสมัยที่พม่าครอบครองอยู่จริง แต่เมื่อหมดอิทธิพลของพม่า คนมอญเดิมก็อพยพย้ายออกไป คนไทเขินจึงถูกอพยพเข้ามาแทนที่ เหลือเพียงชื่อของชุมชนยังเป็นชื่อเดิมอยู่ ข้อสังเกตสำเนียงภาษาของไทเขินนั้น เสียงสระ /เอีย/ จะออกเสียงเป็น   /เอ/ และ สระ /อัว/ จะออกเสียงเป็น /โอ/ ซึ่งน่าจะเป็นคนละตระกูลกับภาษามอญ (พม่า) ซึ่งจากการสำรวจ ไม่พบว่ามีคนมอญเชื้อสายพม่าหลงเหลืออยู่ในพื้นที่อีกแล้ว มีแต่คนไทเขินไทลื้อ เท่านั้น

15.ชุมชนบ้านเมืองก๊ะ กับประวัติศาสตร์ขุนหลวงวิรังคะ ผู้นำกลุ่มชนพื้นเมือง ชาติพันธุ์ลัวะ

                     สถูปขุนหลวงวิรังคะตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดเมืองก๊ะ หมู่ที่ ๕ บ้านเมืองก๊ะ  
สถูปขุนหลวงวิรังคะตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดเมืองก๊ะ หมู่ที่ ๕ บ้านเมืองก๊ะ  

ชุมชนบ้านเมืองก๊ะ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลสะลวง อำเภอแม่แตง ตั้งชื่อตามตำนานวีรบุรุษท้องถิ่น คือขุนหลวง “วิรังคะ” (ภาษาถิ่นออกเสียงว่า บ่า-ลัง-ก๊ะ) เชื้อสายลั๊วะ ซึ่งหลังจากแพ้สงครามต่อพระนางจามเทวีแล้ว คงจะกระจัดกระจายไปตามป่าเขาและตามที่ต่าง ๆ จนปัจจุบันได้กลายเป็นคนเมือง (ไท – ยวน) ไปเกือบหมดแล้ว ชาวบ้านในชุมชนจะทำพิธีเซ่นสรวงดวงวิญญาณขุนหลวงและทหารปีละครั้ง ชาวบ้านเชื่อว่าดวงวิญญาณของขุนหลวงจะสถิตอยู่ 3 แห่งได้แก่ บนดอยคว่ำหล้อง ศาลที่บ้านเมืองก๊ะ อำเภอแม่ริม และบริเวณดอยคำ อำเภอเมือง ซึ่งตั้งอยู่ทิศใต้ของดอยสุเทพ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุดอยคำ บนวัดแห่งนี้มีอนุสาวรีย์ขุนหลวงวิรังคะประดิษฐานที่ลานวัดใกล้เจดีย์ และที่ดอยคำแห่งนี้เป็นที่สถิตดวงวิญญาณของหัวหน้าลัวะซึ่งเป็นบรรพบุรุษของขุนหลวงวิรังคะ ชื่อว่า ปู่แสะ ย่าแสะ ซึ่ง จะมีการเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ ด้วยควายทุกปี หรือ 3 ปีครั้ง.

ตำนานเกี่ยวกับขุนหลวงวิรังผู้นำชนเผ่าลัวะ เล่ากันต่อมาว่า ในยุคสมัยของพระนางจามเทวี เทวีแห่งชนชาติมอญหรือเม็ง ปกครองเมืองหริภุญไชยราว พ.ศ. 1300 ขณะเดียวกันบริเวณเชิงดอยสุเทพเป็นที่ตั้งบ้านเมืองของชาวลัวะ มีขุนหลวงวิรังคะเป็นหัวหน้าปกครองเมือง ขุนหลวงวิรังคะมีความรักในพระนางจามเทวี มีความประสงค์จะอภิเษกกับพระนาง แต่พระนางไม่ปรารถนาจะสมัครรักใคร่กับขุนหลวงลัวะ เพราะเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมต่ำกว่ามอญในสมัยนั้น ขุนหลวงได้ส่งทูตมาเจริญไมตรีขอนางอภิเษกด้วย พระนางก็ผัดผ่อนหลายครั้ง โดยมีเงื่อนไขต่าง ๆ ได้แก่ ขอให้ขุนหลวงสร้างเจดีย์ที่มีขนาดและลักษณะคล้ายกับเจดีย์พระธาตุ  หริภุญไชย ให้ขุนหลวงพุ่งเสน้ามาตกที่ในเมือง พระนางจึงจะอภิเษกสมรสด้วย

ขุนหลวงวิรังคะ เป็นผู้ทรงพลังและชำนาญในการพุ่งเสน้า (เสน้า หมายถึง หอกด้ามยาวมีสองคม) ขุนหลวงพุ่งเสน้าครั้งแรกตกที่นอกกำแพงเมืองหริภุญไชยด้านตะวันตกเฉียงเหนือปัจจุบันเรียกว่า หนองเสน้าพระนางจามเทวีเห็นว่าจะเป็นอันตรายยิ่ง ถ้าขุนหลวงวิรังคะพุ่งเสน้ามาตกในกำแพงเมืองตามสัญญา พระนางจึงใช้วิชาคุณไสยกับขุนหลวงวิรังคะ โดยการนำเอาเศษพระภูษาของพระนางมาทำเป็นหมวกสำหรับผู้ชาย นำเอาใบพลูมาทำหมากสำหรับเคี้ยวโดยเอาปลายใบพลูมาจิ้มเลือดประจำเดือนของพระนาง แล้วให้ทูตนำของสองสิ่งนี้ไปถวายแด่ขุนหลวง ขุนหลวงได้รับของฝากจากพระนางเป็นที่ปลาบปลื้มอย่างยิ่ง นำหมวกใบนั้นมาสวมลงบนศีรษะ และกินหมากที่พระนางทำมาถวาย ซึ่งของทั้งสองสิ่งนี้ชาวล้านนาถือว่าเป็นของต่ำ ทำให้อำนาจและพลังของขุนหลวงเสื่อมลง เมื่อพุ่งเสน้าอีกครั้งต่อมาแรงพุ่งลดลงเสน้ามาตกที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ชาวบ้านเรียกว่า หนองสะเหน้า เช่นเดียวกัน ขุนหลวงเมื่อเสื่อมวิทยาคุณเช่นนั้น ก็หนีออกจากบ้านเมืองไป

ก่อนสิ้นชีวิต ขุนหลวงวิรังคะได้ขอให้เสนาอำมาตย์นำศพของท่านไปฝังไว้ ณ สถานที่ที่ขุนหลวงจะสามารถมองเห็นเมืองหริภุญไชยได้ตลอดเวลา ทหารได้จัดขบวนศพของขุนหลวงจากเชิงดอยสุเทพขึ้นสู่บนดอยสุเทพเพื่อหาสถานที่ฝังตามคำสั่ง ขบวนแห่ศพได้ลอดใต้เถาไม้เลื้อยชนิดหนึ่งเรียกว่า เครือเขาหลง ซึ่งเชื่อว่าถ้าผู้ใดลอดผ่านจะทำให้พลัดหลงทางกันได้ ขบวนแห่ศพขุนหลวงได้พากันพลัดหลงกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง นักดนตรีบางคนพลัดหลงไปพร้อมกับเครื่องดนตรีของตน ภูเขาที่นักดนตรีผู้นั้นหลงจะปรากฏมีรูปร่างคล้ายเครื่องดนตรีนั้น ๆ บนยอดเขาสุเทพ-ปุย จะมีภูเขาชื่อต่าง ๆ ดังนี้ ดอยฆ้อง ดอยกลอง ดอยฉิ่ง ดอยสว่า บางแห่งเป็นที่แคบและฝาครอบโลงศพปลิวตก บริเวณนั้นเรียกว่า กิ่วแมวปลิว (คำว่า แมว หมายถึง ฝาครอบโลงศพที่ทำด้วยโครงไม้ไผ่ใช้ตกแต่งด้านบนของฝาโลงศพ)

เหล่าเสนาอามาตย์ที่หามโลงศพของขุนหลวงได้เดินทางไต่ตีนเขาไปทางทิศเหนือ ถึงบริเวณแห่งหนึ่ง โลงศพได้คว่ำตกลงจากที่หาม เสนาอามาตย์จึงได้ฝังศพของขุนหลวงไว้ ณ สถานที่บนภูเขาแห่งนี้ ซึ่งจะสามารถมองเห็นเมืองหริภุญไชยได้ตลอดเวลา ยอดภูเขานี้ชาวบ้านเรียกว่า ดอยคว่ำหล้อง (หล้อง หมายถึง โลงศพ) ปัจจุบันชาวบ้านยังเรียกชื่อภูเขาลูกนี้ว่า ดอยคว่ำหล้อง ตั้งอยู่บนภูเขาบริเวณเหนือน้ำตกแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ยอดเขาเป็นรูปสี่เหลี่ยมตัดลักษณะคล้ายโลงศพ บนยอดเขามีศาลของขุนหลวงวิรังคะตั้งอยู่ ชาวบ้านบริเวณเชิงเขาเล่าว่า กลางคืนเดือนเพ็ญบางครั้งจะได้ยินเสียงดนตรีบรรเลงบนยอดเขา เชื่อกันว่าวิญญาณของขุนหลวงสถิตอยู่บนดอยคว่ำหล้อง ปัจจุบันมีป้ายอยู่บนยอดดอยเขียนว่า “ม่อนล่อง” ไม่รู้ว่าจะล่องไปไหน

16. ภูมิศาสตร์ กับชื่อชุมชนบ้านล้อง” “ร้อง” “กุด” “ก้อดและน้ำหลง

วัดล้องอ้อ ในชุมชนล้องอ้อ กับ “หนองก้อดหอธรรม” อ.ฝาง และ “ร้องขี้ทูด” อ.สันทราย
วัดล้องอ้อ ในชุมชนล้องอ้อ กับ “หนองก้อดหอธรรม” อ.ฝาง และ “ร้องขี้ทูด” อ.สันทราย

คำว่า “ล้อง” ในภาษาถิ่นล้านนามีความหมายได้หลายอย่าง ดังนี้

1.ขุดลอก เล่น ล้องน้ำเหมือง ขุดลอกลำเหมืองส่งน้ำเข้านา

2.ร่องที่ใช้ระบายน้ำทิ้งจากการทำนา

3.ที่ลุ่มมีน้ำขัง เช่นที่ล้องที่หนอง ที่ซึ่งมีสภาพเป็นหนองบึงแต่ไม่ลึก มักเรียกเป็น “ร้อง”

“ล้อง” อาจตรงกับภาษาถิ่นอีสานว่า “กุด” ตรงกับภาษาใต้ว่า”คลองด้วน” ภาษาอังกฤษว่า Oxbow lake, cutoff lake, horseshoe lake ,moat, crescentric lake, loop lake เป็นแอ่งน้ำรูปโค้ง เหมือนลำห้วยที่ด้วน อยู่ในบริเวณทาม หรือที่ราบน้ำท่วมถึงflood plain ของลำน้ำโค้งตวัด เกิดจากลำน้ำที่โค้งเป็นรูปตัว เอส จนเกิดการลัดที่คอคอด neck cutoff ปลายของส่วนที่ถูกตัดขาดถูกอุดด้วยการตกตะกอนในลำน้ำนั่นเอง

17.ชุมชนบ้านร้องวัวแดง”  อ.สันกำแพง

ภูมิศาสตร์ของชุมชนร้องวัวแดง อ.สันกำแพง เป็นชุมชนที่อยู่ในที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ริมแม่น้ำแม่ออน ที่เรียกว่าเป็นลักษณะของ “ล้อง” เขียนตามภาษาไทยกลางว่า “ร้อง” ในอดีตเป็นที่เลี้ยงวัวแดงของชาวบ้านจำนวนมาก สืบต่อจนสมัยที่มีการชนวัวราวปี พ.ศ. 2505 – 2515 วัวชนจากชุมชนร้องวัวแดงเป็นวัวที่มีชื่อเสียงมาก เช่น วัว “สุกโพธิ์ทอง” วัว “แซวดง” เป็นต้น
ภูมิศาสตร์ของชุมชนร้องวัวแดง อ.สันกำแพง เป็นชุมชนที่อยู่ในที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ริมแม่น้ำแม่ออน ที่เรียกว่าเป็นลักษณะของ “ล้อง” เขียนตามภาษาไทยกลางว่า “ร้อง” ในอดีตเป็นที่เลี้ยงวัวแดงของชาวบ้านจำนวนมาก สืบต่อจนสมัยที่มีการชนวัวราวปี พ.ศ. 2505 – 2515 วัวชนจากชุมชนร้องวัวแดงเป็นวัวที่มีชื่อเสียงมาก เช่น วัว “สุกโพธิ์ทอง” วัว “แซวดง” เป็นต้น

18.จากชุมชนบ้านปางควายสู่วัดมหิงสาวาส

ชุมชนหนึ่งในเขตอำเภอไชยปราการ เรียกว่าชุมชน “บ้านปางควาย” ชาวบ้านเล่าว่า เนื่องจากผู้นำคนแรก ๆ ที่เข้ามาอยู่ชื่อลุงปั๋น จากบ้านดงหลักหมื่นได้เริ่มมาตั้งปางเลี้ยงควาย จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านปางควาย” ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2500 เจ้าอาวาสและศรัทธาได้ร่วมกันเปลี่ยนชื่อมาเป็นวัด “มหิงสาวาส” ตามความหมายเดิม ที่แปลว่า “ปางควาย” หรือเอาควายมาพักแรมไว้

วัดประจำชุมชน “บ้านปางควาย” เปลี่ยนจากปางควาย เป็น “วัดมหิงสาวาส” ชื่อเป็นภาษาบาลีสันสกฤต ที่ทันสมัย แต่ยังคงความหมายเดิมเอาไว้

19.ชุมชน/วัดควรค่าม้าหรือจะเป็นชุมชนข่วงฆ่าม้า

สมัยโบราณ ม้า เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว ก็จะถูกฆ่าเป็นอาหารทั่วไป คำว่า “ควรค่าม้า” สื่อความหมายได้ไม่ชัดเจนว่าควรค่ากันอย่างไร จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าจะเป็น “ข่วงฆ่าม้า” เสียมากกว่า แต่ความหมายสื่อไปในทางไม่เป็นมงคลนัก จึงถูกเปลี่ยนไปให้สวยงามขึ้น

20. จากเสื้อเมืองถึงเส้อเมิงและสะเมิง

อำเภอสะเมิง เป็นอำเภอหนึ่งที่อยู่หลังดอยสุเทพ ทางทิศตะวันตกของจังหวัดเชียงใหม่ สันนิษฐานกันว่าชื่อสะเมิง มาจากตำนานการอพยพโยกย้ายคนลื้อ คนยอง มาจากสิบสองปันนา ในสมัยพระเจ้ากาวิละ มาถึงในตอนฟ้ารุ่งสาง จึงเรียกบ้านนั้นว่า สะเมิง มาจากฟ้า “เมิง” ที่แปลว่า ฟ้าสาง แต่ก็มีอีกคำหนี่ง คือ ฟ้าฮ่าม ที่แปลว่า ฟ้าสางเหมือนกัน ข้อสันนิษฐานนี้จึงดูไม่ค่อยมีน้ำหนัก เพราะบ้านฟ้าฮ่าม ที่แปลว่า ฟ้าสาง เหมือนกัน ทำไมไม่เรียกว่า ฟ้าเมิง หรือฟ้าสะเมิง

จึงมาถึงข้อสันนิษฐานอีกข้อหนึ่ง คือ คนลื้อหรือคนยอง ออกเสียงสระ เอือ เป็นเสียงสระ เออ เมื่อมาถึงก็สร้างหอผีเสื้อเมืองก่อน เรียกหอผีเสื้อเมืองตามสำเนียงคนลื้อว่า “เส้อ-เมิง” เมื่อพูดเร็ว ๆ เข้า จาก “เส้อเมิง” ก็กลายมาเป็น “สะเมิง” จนถึงปัจจุบัน ดังนี้แล

21. ภูมินามลำปาง จากห้างสัตว์ถึงห้างฉัตรและสันห้างเสือใครเอาฉัตรที่ไหนมาห้าง ?

อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง น่าสงสัยว่าใครจะเอา “ฉัตร” ที่ไหนมาห้างไว้ คนล้านนาไม่มีเสียง “ฉ” แต่จะออกเป็นเสียง “ส” ทั้งหมด จึงน่าสันนิษฐานว่า คำว่า “ห้างฉัตร” น่าจะมาจาก “ห้างสัตว์” ที่หมายถึงห้างที่ชาวบ้านใช้ดักยิงสัตว์ป่าในสมัยโบราณ ตามที่ชาวบ้านในลำปางเล่าว่า เดิมเรียกว่าบ้าน “หางสัตว์” แต่ก็กลายเป็นนิทานอิงธรรมะชาดก คือความเชื่อทางศาสนาไป ทั้งนี้หากเทียบความหมายกับบ้าน “สันห้างเสือ” (ห้างดักยิงเสือ) อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูนแล้ว ก็น่าเป็นไปได้มากกว่าว่า เป็นห้างสำหรับยิงสัตว์ คำว่า “ห้างสัตว์” จึงมีความเป็นไปได้มากกว่า

บทสรุป 

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า อิทธิพลของวาทกรรมจากอำนาจรัฐกลาง ได้กดทับคนในท้องถิ่นให้รู้สึกว่าด้อยทั้งชื่อ หรือภูมินามต่าง ๆ ในท้องถิ่น ทั้งชื่อคน ชื่อหมู่บ้าน ชื่อวัด หรือ แม่น้ำลำห้วยต่าง ๆ ทั้งนี้โดยผ่านระบบการศึกษาสมัยใหม่และกลไกของอำนาจรัฐ เช่น ข้าราชการ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือพระภิกษุสงฆ์ ผู้รู้บาลีแตกฉาน

หากกล่าวในแง่อิทธิพลของภาษา ตามแนวคิดนักทฤษฎีกลุ่มหลังสมัยใหม่นิยม ที่กล่าวถึงลักษณะอันแท้จริงของภาษาว่า ภาษามีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการเมือง (Politics) และความเป็นการเมือง (The Political) อย่างแนบแน่น ต่างขยายความซึ่งกันและกันจนสามารถกล่าวแทนกันได้ว่าภาษาคือการเมือง โดยมองว่าภาษาไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือในการพูดถึงโลกหรือเป็นตัวแทนโลก วัตถุ ความคิด ความเชื่อเท่านั้น แต่ภาษาคือตัวสร้างโลก สร้างความคิด และสร้างเอกลักษณ์ต่าง ๆ ที่เป็นตัวตนของสิ่งที่ภาษาพูดขึ้นมา ๆ ภาษาเป็นตัวยึดโยงของชุมชน ถ้าไม่มีภาษาร่วมกัน ชุมชนก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ ดังตัวอย่างการใช้ภาษาในการเรียกชื่อชุมชน วัด และภูมินามอื่น ๆ โดยเฉพาะนามที่เปลี่ยนจากชื่อชุมชนในท้องถิ่นดั้งเดิมไปเป็นชื่อแบบสันสกฤตสมัยใหม่ ย่อมแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลทางการเมืองของรัฐชาติ ที่ต้องการครอบงำท้องถิ่นอย่างชัดเจน

ภาษาคือการกระทำ (Speech act) เป็นตัวการกำหนดรูปแบบของชีวิตที่หลากหลาย ที่ไม่ใช่เป็นเพียงถ้อยคำโดด ๆ ที่ไร้เดียงสา ความหมายของภาษาไม่ได้อยู่ที่คำนิยามหรืออยู่ที่การใช้คำเพื่อแทนหรือระบุถึงวัตถุสิ่งของอย่างตายตัว แต่เปลี่ยนแปลงไปตามการกระทำและการใช้ในแต่ละบริบทในชีวิตประจำวันของคนในสังคมนั้น ๆ เช่น สามารถทำให้ความจริงของประวัติความเป็นมาในชุมชน ภายใต้สถานการณ์ทางสังคมแบบทุนสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไปได้ ภาษาจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและระบบวัฒนธรรม

ภาษาคือระบบของสัญญะ (Signs) หรือสัญลักษณ์แทนความหมายและรูปธรรมของการปฏิบัติ ที่สามารถสื่อถึงความคิดและการกระทำอื่น ๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมของคู่ตรงข้ามกัน เช่น สัญญะของคำว่า “สุวรรณนาวา” ย่อมสื่อความหมายต่างออกไปจากคำว่า “นาหืก” สัญญะของคำว่า “หอม” ในโลกของสังคมสมัยใหม่ ย่อมสื่อความหมายไปในทางที่ดีกว่าคำว่า “เน่า” ในแบบพื้นบ้านโบราณ สัญญะของคำว่า “มหิงสา” ย่อมสื่อความหมายไปในทางสุภาพ หรือความเป็น “ชั้นสูง” กว่าคำว่า “ควาย” ในบริบทแบบท้องถิ่นที่มีความเป็น “บ้านนอก” เหล่านี้เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ได้พิสูจน์แนวคิดที่ว่า การใช้ภาษาคือมายาคติ (Mythologies) ทางสังคมอันหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่บริสุทธิ์หรือโดด ๆ แต่เป็นเพียงวิธีการใช้ภาษาที่ผ่านการกำหนดตามคติค่านิยม หรือการกลั่นกรองมาให้เป็นไปตามเจตนาของผู้ใช้แต่ละคน กล่าวอีกแง่หนึ่ง มายาคติก็คือการพูด การใช้ภาษาชนิดหนึ่งที่กระทำผ่านวาทกรรมที่มีระบบระเบียบและรูปแบบวิธีการสร้างความหมายแบบหนึ่ง ที่นิยมใช้กันทั่วไปในเชิงทฤษฎีหรือแนวคิดทางมานุษยวิทยาที่เกี่ยวกับรูปแบบชนิดหนี่ง (a mode of signification, a form) ที่ขึ้นกับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์เฉพาะชุดหนึ่ง มีขีดจำกัดของการใช้และมีกระบวนการทำให้เกิดการยอมรับในสังคมวงกว้าง  โดยสื่อให้เห็นทั้งภาพพจน์ (Figurative) และความหมายแฝงต่าง ๆ ที่แสดงออกมาในรูปของวัฒนธรรมมวลชน จารีตปฏิบัติและอุดมการณ์หลักในสังคม 

ภาษาคือเครื่องมือของอำนาจ หรือเป็นภาษาของอำนาจ (The Language of Power) คือภาษาที่ใช้แล้วให้อำนาจกับคนพูด ทำให้คนฟังรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนพูด เพราะไม่รู้ความหมาย จึงมีอิทธิพลถึงชาวบ้านให้รู้สึกถึง “ความเป็นอื่น” จากวัฒนธรรมกระแสหลักของรัฐชาติ ทำให้รากเหง้าและระบบภูมินามผิดเพี้ยนไปจากเดิม แม้จะดูมีความสวยงามด้านภาษา แต่การที่ความหมายดั้งเดิมได้หายไปนั้น นับเป็นเรื่องที่รัฐชาติควรมีการทบทวน เพื่อให้ท้องถิ่นมีพื้นที่ทางสังคมและศักดิ์ศรีในตัวเองอย่างสง่างามต่อไป

บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ประชุมสัมมนาวิชาการล้านนาศึกษา Lanna Symposium: Lanna Decolonized “ล้านนาทะลุกรอบอาณานิคม” วันที่ 4 มีนาคม 2567