เรื่อง: สมหมาย ควายธนู
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีโอกาสเดินทางมามณฑลพายัพ ใน พ.ศ. 2464 ได้อธิบายเรื่องราวการเดินทางในช่วงขากลับกรุงเทพฯ ว่าล่องเรือตามลำน้ำปิงจากเชียงใหม่ ผ่านลำพูน ตาก กำแพงเพชร ไปจนถึงปากน้ำโพ ตีพิมพ์เป็นหนังสือ อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง ตั้งแต่เมืองเชียงใหม่ถึงปากน้ำโพธิ์ รวมระยะเวลาการเดินทางเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม พ.ศ. 2464 (นับตามปฏิทินแบบที่มีเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี) ซึ่งเรื่องราวในแต่ละวัน ทั้งทัศนะต่อผู้คน สภาพทางภูมิศาสตร์ และหลักฐานประวัติศาสตร์ศิลปะ – โบราณคดี เผยให้เห็นนัยทางการเมืองอย่างน่าสนใจ
เหตุในการตีพิมพ์
หน้าคำนำของหนังสือ อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง ตั้งแต่เมืองเชียงใหม่ถึงปากน้ำโพธิ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก เขียนขึ้นใน พ.ศ. 2470 กรมฯ ดำรง เล่าไว้ว่าตั้งใจจะตีพิมพ์เป็นของถวายเจ้านายหลายพระองค์ ในการประพาสมณฑลพายัพ ซึ่งคาดการณ์ว่าคงจะมีผู้อื่นถวายของต่างๆ ที่เป็นปัจจัยในการเดินทางอยู่แล้ว แต่ทว่าขาดหนังสืออธิบายระยะทาง
กรมฯ ดำรง จึงเล่าต่อว่า สำหรับเส้นทางที่เป็นการเดินทางทางน้ำ ตนเองเคยทำต้นฉบับไว้ ในช่วงเวลาเดินทางไปมณฑลพายัพ เมื่อ พ.ศ. 2464 ได้ล่องเรือตามลำน้ำปิงเพื่อจะตรวจเมืองโบราณ ซึ่งสิ่งนี้อยู่ในความสนใจของเจ้าดารารัศมี จึงได้จดเป็นบันทึกรายวันและคัดไปถวาย หากแต่มีต้นฉบับที่เป็นพิมพ์ดีดค้างอยู่ ทั้งยังไม่เคยมีการตีพิมพ์ จึงได้จัดการส่งโรงพิมพ์ของพระโสภณอักษรกิจตีพิมพ์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2470
สิ่งหนึ่งที่แวดล้อมอยู่ในความสนใจของกรมฯดำรง ช่วงเวลาก่อนหน้าการตีพิมพ์บันทึกชิ้นนี้เพียง 1 เดือน กรมฯ ดำรงเคยแสดงปาฐกถาเรื่อง ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ ที่สามัคยาจารย์สมาคม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2470 ว่าเป็นประสบการณ์ที่ได้จากการรับราชการในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งสิ่งที่พูดในวันนั้น เป็นแม่บทสำคัญในการใช้ประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นรากฐานในการอธิบายการปกครองในอดีตที่มีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางนั่นเอง
นักเดินทางผู้ศิวิไลซ์
ขณะเดียวกัน ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านบันทึกการเดินทางนี้ สลับกับอ่านผลงานหลายชิ้นของธงชัย วินิจจะกูล ทำให้เข้าใจว่า การจัดการอำนาจในการผนวกรวมดินแดนของสยามเพื่อสร้างความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ พร้อมกับการต่อรองกับชาติตะวันตก
รัชกาลที่ 5 และชนชั้นนำสยาม เองตระหนักรู้ว่าพวกตนขาดความรู้เรื่องพื้นที่และผู้คนที่อยู่ภายใต้การปกครอง จึงจัดการเรียนการสอนเรื่องวิชาภูมิศาสตร์สมัยใหม่ รวมถึงมอบหมายงานให้เจ้านาย และข้าราชการที่ไว้วางใจไปปกครองพื้นที่ต่างๆ ในดินแดนของประเทศสยาม
พร้อมกันนั้นเมื่อต้องปรับรับในรสนิยมแบบตะวันตก เพื่อให้ตนเองทันสมัยขึ้นมา ชนชั้นนำสยามจึงได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อการเดินทางจากความน่ากลัวและเพื่อภารกิจทางการงาน เป็นเพื่อความรู้และการพักคลาย คล้ายกับความปรารถนาในการออกจากความคุ้นชินเดิมๆ มาสัมผัสโลกใหม่
ซึ่งนักเดินทางชาวตะวันตก หรือเจ้าอาณานิคม ต่างก็บันทึกเรื่องราวต่อสิ่งที่พบเห็นทั้งสิ่งของผู้คน ทรัพยากร ในดินแดนอาณานิคม และสถานที่ต่างแดนซึ่งได้เดินทางไปเยี่ยมเยือน ชนชั้นนำสยามจึงได้ไขว่คว้าอิทธิพลนี้ของนักเดินทางผู้ล่าอาณานิคมมาเป็นของตน ผ่านการเขียนรายงาน บันทึกการเดินทาง และประสบการณ์สิ่งที่พบเห็น ตีพิมพ์ในวารสารที่นิยมกันในเหล่าชนชั้นนำและชาวต่างชาติในเวลานั้น
หากมองผ่านสถานการณ์ดังกล่าว การสำรวจเมืองโบราณตามลำน้ำปิงของ กรมฯ ดำรง จึงเป็นแผนการที่มีรอยต่อมาจากการปฏิรูปการปกครองเหนือหัวเมืองมารวมที่กรุงเทพฯ หรือที่รับรู้กันว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจในนามของมณฑลเทศาภิบาล และความพยายามในการสร้างความศิวิไลซ์นั้นเอง
พื้นที่เมืองและการจัดระเบียบความทรงจำ
อย่างไรก็ตาม บทบาทหน้าที่ของกรมฯ ดำรง ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการเรียนการปรับปรุงวิชาภูมิศาสตร์สมัยใหม่ให้แก่ชนชั้นนำ และเคยเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองโดยตรง คงจะเห็นความสนใจใคร่รู้ในบันทึกชิ้นนี้ที่บอกเล่าเรื่องพื้นที่เมืองในอดีต
จากการที่กรมฯ ดำรงได้ตรวจสอบลำน้ำ คูคลอง ป้อมค่าย และศิลปกรรมในสภาพความเป็นเมืองของอดีตที่เป็นศูนย์กลางของความเจริญ (เก่ากว่า ไกลพ้นไปจากปัจจุบันด้วยคำว่า โบราณ/ดึกดำบรรพ์) ที่ทับซ้อนกับเมืองหรือบ้านหรือตำบล
เพื่อกำหนดขอบเขตหรือหน่วยความเป็นพื้นที่ที่สัมพันธ์กับเรื่องราวต่างๆ ของกษัตริย์ ที่มีอำนาจจากศูนย์กลางการปกครองอยู่ในอาณาจักรลพบุรี สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ ที่อิงกับจารึกพ่อขุนรามคำแหง ตำนานพระนางจามเทวี และพงศาวดารต่างๆ เพื่อเชื่อมอำนาจในการปกครองและจัดสรรทรัพยากร พร้อมกับการจัดระเบียบความทรงจำที่มีต่ออดีต เพื่อยึดโยงเข้ากับกรุงเทพฯ เพื่อสร้างสำนึกในความเป็นไทยที่มีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของเรื่อง (เรื่องเล่าและข้อสันนิษฐานหลายๆ เรื่องของกรมฯ ดำรงยังทำงานอยู่ในสถานที่ทางประวัติศาสตร์หรือโบราณสถาน จนกลายเป็นชุดความรู้ที่ฝังอยู่ในความทรงจำของผู้คนถึงปัจจุบัน)
จะเห็นได้จากกรณีกรมฯ ดำรงเดินทางไปสำรวจศิลปกรรมบนดอยข่อยเขาแก้วและวัดพระนารายณ์ เมืองตาก ดังนี้
“… น่าสันนิษฐานว่าเดิมเห็นจะมีพระเจดีย์คู่สร้างไว้แต่ครั้งสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเมื่อได้เมืองเชียงใหม่ ชะรอยจะชำรุดทรุดโทรม สมเด็จพระนารายณ์ทรงบูรณะ ต่อนั้นไปอีกแห่ง ๑ มีพระเจดีย์ใหญ่ฐานสี่เหลี่ยมองค์ ๑ แต่พระเจดีย์พังเสียแล้ว น่าเดาว่าเดิมเป็นของสมเด็จพระชัยราชาธิราช สร้างครั้งได้เมืองเชียงใหม่ จึงเลยเป็นเยี่ยงอย่างสร้างกันในรัชกาลหลังต่อมา มีครบทุกรัชกาลที่ได้เมืองเชียงใหม่กลับมาเป็นของไทย …” (หน้า 46)
การขึ้นไปดูวัดจำนวน 2 วัดบนดอยเล็กของกรมฯ ดำรง ได้สันนิษฐานจากศิลปกรรมว่าเป็นฝีมือช่างกรุงเก่า ที่เกิดจากความตั้งใจของกษัตริย์หลายองค์ในสมัยอยุธยา และพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้มาที่นี่ก่อนไปตีเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจะแสดงอำนาจทางการเมืองเหนือเชียงใหม่ในสถานะที่เป็นดินแดนภายใต้อำนาจการปกครองของสยามด้วย
ชาวบ้าน/ชาวป่า/คนผมแดง
นอกเหนือจากการสำรวจเมืองโบราณแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่กรมฯ ดำรง ได้บันทึกมุมมองที่มีต่อผู้คนที่แตกต่างจากตนในสายตาแบบชนชั้นนำกรุงเทพฯ ผ่านพฤติกรรมบางอย่างของชาวบ้านที่อยู่ภายใต้การปกครอง เช่น ชายฉกรรจ์ในบ้านแม่กาที่รับจ้างถ่อเรือล่องแก่ง เมื่อพาเรือข้ามแก่งได้เรียบร้อย จะเดินทางกลับบ้านทางบก และทิ้งไม้ถ่อเรือไว้จนเกลื่อนสองข้างทาง
พร้อมกับอธิบายเรื่องของผู้คนที่เป็นชายขอบของอำนาจรัฐที่มีความเป็นอื่น โดยที่ว่าแตกต่างล้าหลัง เพราะไม่ได้นับถือพุทธศาสนา จากกรณีวัดแก่งสร้อยเป็นวัดอยู่บนภูเขา กรมฯ ดำรงเห็นว่ามีฝีมือประณีต แต่อยู่ในทำเลไม่เหมาะแก่การเป็นบ้านและเมือง จึงพยายามหาเหตุผลในการมีอยู่ของวัดแห่งนี้ โดยอ้างอิงจากพงศาวดารว่า ในสมัยพระนารายณ์ได้สั่งให้กองทัพมากวาดต้อนผู้คนกลุ่มละว้า ซึ่งกรมฯ ดำรงว่าเป็นกลุ่มลาวเดิม ในบ้านแก่งสร้อย “… เดิมคงมีพวกละว้าอาศัยอยู่ในหมู่ภูเขาแถวนี้มาก แต่ก็เป็นบ้านป่าทั้งนั้น พวกละว้าจะสร้างวัดเหล่านี้ก็ดูพ้นวิสัย …” (หน้า 28)
รวมถึงได้อธิบายลักษณะของคนที่มีผิวพรรณหรือลักษณะร่างกายแตกต่าง ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับชีววิทยาและมานุษยวิทยากายภาพที่นิยมบันทึกกันมาก ในเหล่านักล่าอาณานิคมในเรื่องความแปลกและผิดปกติ จะเห็นได้จากกรณีคนผมแดง ที่เมืองกำแพงเพชร
“… ถึงที่พักร้อนบ้านแม่ลาด เทศาพาคนผมแดง ซึ่งเรียกกันว่าพวกหัวแดงมาพบ ๖ คน (มาถึงเมืองขาณุทีไรได้เคยเรียกหัวแดงมาดูทุกคราว) คราวนี้ได้ถามนางคำผู้เป็นมารดาถึงพงศาวดารพวกหัวแดง ชี้แจงได้ทราบความว่าบิดามารดาว่า ปู่ทวดชื่อขุนไชย มาแต่เมืองเพ็ชบูรณ เป็นคนหัวแดงเดิมคนเดียว ขุนไชยมาได้ภรรยาที่บ้านแสนตอ มีลูกหัวแดงตามบิดาทั้งนั้น …” (หน้า 85)
ทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม บันทึกการเดินทางล่องเรือตามลำน้ำปิงของกรมฯ ดำรงในครั้งนี้ได้เผยให้เห็นมุมมอง และส่วนสำคัญในการจัดการความทรงจำในพื้นที่เมืองที่สัมพันธ์กับอำนาจในการปกครองของสยามที่มาจากการสร้างความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่
รวมถึงได้ฉายภาพสะท้อนของผู้คนที่อยู่ระนาบสายตาของกรมฯ ดำรง ในระหว่างเดินทาง ซึ่งในบทความชิ้นนี้ได้ยกมาเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีประเด็นอื่นๆ ทั้งเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สามารถนำมาวิเคราะห์ และให้รายละเอียดในพื้นที่ลำน้ำปิงก่อนการสร้างเขื่อนภูมิพลได้อีกมาก
แต่ที่สำคัญกว่านั้น ในเมื่อรู้ว่าอดีตใกล้ตัวถูกรวมศูนย์อำนาจ ก็ยิ่งต้องหาหนทางในการกระจายอำนาจ เพื่อจะได้จัดสรรทรัพยากรที่เป็นของพวกเราเอง
เอกสารที่ใช้ค้นคว้า
- หนังสืออธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง ตั้งแต่เมืองเชียงใหม่ถึงปากน้ำโพธิ์ ที่เขียนโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ในที่นี้ใช้ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2562 สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ในการสำรวจและตรวจทานอีกครั้งโดย นายชัยสิทธิ์ ปะนันวงค์ )
- หนังสือ คนไทย/คนอื่น : ว่าด้วยคนอื่นของความเป็นไทย ของธงชัย วินิจจะกูล (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2560) หน้า 9, 13 – 21, 25 – 29 และ 83 – 88
- หนังสือ กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ ของธงชัย วินิจจะกูล (สำนักพิมพ์คบไฟ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2556) หน้า 67 – 71
- หนังสือ ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ สร้างตลาดสำหรับเมือง สร้างเมือง พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายดาว บุปผเวส เมื่อ พ.ศ. 2511) หน้า 1 – 3