เรื่อง: สุภาพบุรุษเมืองสองแคว
“ไปอยู่ที่ไหนแล้ว…สาวมอนอ
ไปอยู่กับใครหนอ…ไปอยู่หอไหน”
ประโยคดังกล่าวมาจากเพลง ‘สาวมอนอ’ จากอัลบั้มเข้หมาทอด ๆ ของศิลปิน ‘น้าส์อ้อยห์ จูปะจุฟ’ หรืออีกชื่อในปัจจุบันที่คนพิษณุโลกน่าจะรู้จักกันดีคือ ‘น้าอ้อยห์ สหายโฟล์ค’ เป็นบทเพลงที่มีอายุกว่า 14 ปี นับจากการอัพโหลดลง YouTube เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553 และมียอดคนดู 238,296 วิว เพลงสาวมอนอเป็นเพลงที่ผู้เขียนได้ยินมาตั้งแต่อายุได้ 10 ขวบ เพลงพูดถึงมุมมองความรักของชายหนุ่มที่อาศัยอยู่ในตัวอำเภอเมืองพิษณุโลกที่มีความรู้สึกดี ๆ ต่อหญิงสาวในรั้วมหาวิทยาลัยนเรศวร หรือเรียกกันอย่างรวบรัดตัดความว่า ‘สาวมอนอ’ เพลงนี้เป็นเพลงอกหักของหนุ่มพิษณุโลก ที่ขี่มอเตอร์ไซค์ไปรับไปส่งสาวมอนอ และพาสาวมอนอไปเที่ยวสถานที่สำคัญในจังหวัดพิษณุโลก แต่ก็ต้องแพ้ให้กับหนุ่มขับรถเก๋งป้ายแดงที่มาแย่งหัวใจจากหนุ่มมอเตอร์ไซค์คันเดิม โดยเพลงสาวมอนอไม่เพียงทำให้เห็นถึงความรักระหว่างหนุ่มพิดโลกกับสาวมอนอเพียงเท่านั้น แต่บทเพลงนี้ยังทำให้เห็นถึงความรักที่แพ้ภัยให้กับการคมนาคมที่ไม่เพียงแต่ทำให้หนุ่มพิดโลกต้องอกหัก เมื่อพามาพิษณุโลกก็ไม่ได้พามาใช้ชีวิตแต่พามาเที่ยว ความห่างไกลไม่ที่ไม่เพียงทำให้หัวใจห่างกันแต่เป็นการคมนาคมที่ทำให้อารมณ์ความรู้สึกของคนห่างกันด้วย ก่อนจะกล่าวถึงวิธีการแก้ไขหรือข้อเสนอ ผู้เขียนอยากชวนผู้อ่านไปดูพลวัตของบริหารสาธารณะที่ไม่ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามความสมัยของเทคโนโลยีแต่เกิดจากปัจจัยของแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบจนนำมาสู่ข้อเสนอการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
พลวัตของการเดินทางจังหวัดพิษณุโลก
จังหวัดพิษณุโลกเป็นเมืองที่มีสายน้ำผ่ากลางเมือง และมีเส้นทางรถไฟ เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ ได้แก่ พื้นที่ในบริเวณด้านทิศเหนือ และด้านทิศตะวันตกของพิษณุโลก ลักษณะเป็นที่ราบอันเกิดจากการทับถมตะกอนริมฝั่งแม่น้ำน่าน และแม่น้ำแควน้อย เริ่มจากด้านทิศเหนือ แล้วค่อยๆ ลดความสูงลงมาสู่ทางด้านทิศใต้ ย้อนวกไปทางด้านทิศตะวันตก ทอดตัวยาวต่อเนื่องกับที่ราบลุ่มแม่น้ำยม เขตที่ราบลุ่มเหล่านี้ ได้แก่ พื้นที่ในเขตอำเภอพรหมพิราม อำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอบางกระทุ่ม และอำเภอบางระกำ บริเวณดังกล่าวนี้ในฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างมาก เมื่อน้ำลดจะปรากฏห้วย หนอง คลอง บึง ซึ่งมีน้ำขังตลอดปี จึงเป็นพื้นที่ เพาะปลูก และประมงของจังหวัด
ปดิวลดา บวรศักดิ์ ได้กล่าวถึงชื่อจังหวัดพิษณุโลกในบทความชื่อ “ทำไมต้องเรียก “พิษณุโลก” ว่า “สองแคว” ? ” ของศิลปวัฒนธรรมว่า เหตุที่เรียกว่าสองแคว เนื่องจากสมัยก่อน บริเวณดังกล่าวมีแม่น้ำ 2 สายไหลผ่านเมือง นั่นคือ “แม่น้ำน่าน” และ “แม่น้ำแควน้อย” โดย แม่น้ำน่าน ไหลผ่านเข้าในตัวเมือง (จวบจนปัจจุบันก็ยังไหลในเส้นทางนี้อยู่) ส่วน แม่น้ำแควน้อย เปลี่ยนทิศในการไหลผ่าน จากเดิม ไหลลงใต้ขนานกับแม่น้ำน่าน ผ่าน เมืองสองแคว หรือ เมืองพิษณุโลก และไหลลงแม่น้ำน่านใต้
การเดินทางสาธารณะของจังหวัดพิษณุโลกยุคเริ่มแรก
การเดินทางสาธารณะของจังหวัดพิษณุโลกยุคแรกก็ต้องกล่าวถึงการเดินทางทางน้ำที่มีบทบาทต่อภูมิศาสตร์ที่มีแม่น้ำน่านเป็นเส้นทางที่ผ่านตัวเมืองพิษณุโลกและสามารถเดินทางไปยังกรุงเทพ การเดินทางสาธารณะทางบกด้วยรถไฟก็ที่มีเส้นทางผ่านตัวเมืองจังหวัดพิษณุโลกเช่นกัน
ข้อมูลการสาธารณะทางบกของรถไฟในจังหวัดพิษณุโลกจากวิทยาพิพนธ์เรื่อง การเปลี่ยนแปลงลักษณะและรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวเรือนแพในลำน้ำน่าน จังหวัดพิษณุโลก ของคุณนิธิกาญจน์ จีนใจตรง นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “จังหวัดพิษณุโลก และเทศบาลนครพิษณุโลก เมื่อเริ่มมีเส้นทางคมนาคมทางบก อันเป็น เส้นทางรถไฟสายเหนือที่เริ่มสร้างใน พ.ศ. 2442 การสร้างทางรถไฟนี้ได้เปิดทำการเมื่อ พ.ศ.2450 โดยเส้นทางรถไฟสายเหนือได้ตัดผ่านเข้ามาในตัวเมืองพิษณุโลก และถือได้ว่า การสร้างเส้นทางรถไฟผ่านตัวเมืองพิษณุโลกแทบจะไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนชาวเมืองพิษณุโลกและชุมชนชาวเรือนแพ เนื่องจากแม่น้ำยังคงเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งที่สำคัญของเมือง ดังปรากฏในรายงานการตรวจราชการมณฑลพิษณุโลก พ.ศ.2471 ระบุว่า สาเหตุที่ประชาชนไม่นิยมใช้เส้นทางรถไฟในการขนส่ง เนื่องจากค่าระวางรถไฟที่มีราคาแพงพ่อค้าจึงเลือกที่จะส่งสินค้าทางรถไฟเฉพาะสิ่งที่พอจะขายเป็นกำไรได้บางอย่าง ทั้งนี้คนเมืองพิษณุโลกจะเริ่มได้รับประโยชน์จากทางรถไฟก็ต่อเมื่อสภาพความเป็นเมืองแม่น้ำขยายตัวกลายเป็นเมืองบก หรือเรียกได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่หันมาใช้บริการเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกแทน” โดยเส้นทางรถไฟที่ผ่านตัวเมืองพิษณุโลกเรียกว่า “สายเหนือ” ที่ผ่านสถานีหลักของพิษณุโลกได้แก่ขาเข้าจังหวัดพิษณุโลกจากทางใต้ คือ “สถานีรถไฟบางกระทุ่ม” และทางออกของสถานีทางเหนือ คือ “สถานีรถไฟพรมพิราม” ส่วนการเดินทางคมนาคมทางน้ำ
การเดินทางสาธารณะทางเรือผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์คนไทยเชื้อสายจีนไหหลำ อำเภอวัดโบสถ์ อย่างคุณวิภาพรรณ บำรุงพงษ์ หรือชื่อในอดีตส้วน แซ่เจียง อายุ 91 ปี เจ้าของกิจการ วัดโบสถ์ขนส่ง จำกัด วันเดือนปีที่จดทะเบียน วันที่ 24 เมษายน 2517 (50 ปี 7 เดือน 1 วัน) เป็นคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำที่อาศัยอยู่อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก มีประสบการณ์ต่อการเดินสาธารณะทางน้ำ เนื่องจากบิดา หรือแด (ภาษาไหหลำแปลว่า “พ่อ”) ของคุณวิภาพรรณ กล่าวว่า
“คุณยายเป็นคน ไหหลำ แดมาตั้งบ้านใกล้แม่น้ำ เพราะเมื่อก่อนเดินทางด้วยเรือ บ้านของคุณยายเป็นจุดโดยสารเรือเมล์ ขนส่งคน ขนส่งข้าว ไปกรุงเทพฯ หลังบ้านจะเป็นโรงเก็บข้าวที่มาจากโรงสี”
ในพื้นที่ที่รถไฟไม่ได้ผ่านเข้ามาในอำเภอวัดโบสถ์ คุณวิภาพรรณ ทำให้เห็นถึงพื้นที่ที่ติดกับริมน้ำ และการทำธุรกิจสะท้อนถึงการตั้งที่อยู่อาศัยของชาวจีนไหหลำที่สัมพันธ์แม่น้ำไม่เพียงสัมพันธ์ทั้งทางกับเศรษฐกิจช่วงหนึ่งในการจัดการเรื่องขนส่งสาธารณะทางน้ำไปยังกรุงเทพ โดยเส้นแม่น้ำแควน้อยที่ผ่านอำเภอวัดโบสถ์ก็จะไปประจบกับแม่น้ำน่านที่เป็นแม่น้ำที่สามารถเดินทางไปยังตัวเมืองพิษณุโลกได้ และจากในอดีตไม่มีการคมนาคมที่ถนนจากนอกอำเภอเมืองไปยังตัวอำเภอเมือง ส่วนใหญ่ใช้เรือเป็นพาหนะไปโดยทางน้ำอันเป็นแม่น้ำสายสำคัญของวัดโบสถ์
หนังสือสารนิพนธ์ “ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก” ของคุณนัยนา เนียมศรีจันทร์ บัณฑิตอาสา เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2516 กล่าวถึงการเดินทางเรือกับทางบกไว้ว่า ช่วงต้นพุทธศตวรรษ 26 การคมนาคมทางน้ำกับถนนควบคู่กับทางรถยนต์
โดยออกจากตัวจังหวัดไปตามถนนมิตรภาพพิษณุโลก-หล่มสัก ถึง ก.ม. ที่ 6 เรียกว่าบริเวณบ้านร้องโพธิ์ อยู่ในเขตอำเภอเมืองพิษณุโลก และแยกเข้าทางซ้ายมือเป็นถนนลูกรังและมูลดินระยะทางอีกประมาณ 21 ก.ม. จึงจะถึงอำเภอวัดโบสถ์ การเดินทางโดยรถยนต์ทางนี้ใช้ได้สะดวกเฉพาะฤดูแล้งเท่านั้น รถยนต์โดยสารขนาดเล็กวิ่งรับส่งโดยสาร มีอัตราค่าโดยสารคนละ 5 บาท ใช้เวลาวิ่งประมาณ 1 ชั่วโมง และทางน้ำ (ที่ หมายถึงฤดูน้ำ) การเดินทางระหว่างตัวจังหวัดกับอำเภอวัดโบสถ์สามารถเดินทางได้ด้วยทางเรือจากตัวเมืองพิษณุโลกขึ้นไปทางเหนือผ่านลำน้ำน่านและแยกไปลำน้ำแควน้อยที่บริเวณบ้านปากโพด ตำบลปากโพด อำเภอเมืองพิษณุโลก ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง
สิ่งที่ทำให้การคมนาคมทั้งสองทางนี้ควบคู่กันได้ คือการเดินทางที่ใช้เวลาไม่ต่างกันเนื่องจากบริการขนส่งสาธารณะเรือเป็นการเดินทางตามฤดู การเดินทางของบริการขนส่งทางบกก็ยังไม่ได้มีให้เลือกมาก และถนนก็ยังเป็นลูกรังอยู่ แต่เมื่อได้พูดคุยกับคุณวิภาพรรณ ทำให้ทราบว่า “พอมีการสร้างถนนขึ้น การขนส่งก็เปลี่ยนไป ขนส่งด้วยเรือก็น้อย”
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การขนส่งสาธารณะทางน้ำได้ทำให้บริการทางบกมีบทบาทสำคัญต่อผู้คนมากขึ้น คือการเกิดขึ้นของเขื่อนสิริกิติ์ ที่เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2511 และสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2515 กับเขื่อนนเรศวรที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2518 และสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2525 คุณนิธิกาญจน์ ได้กล่าวว่า
“ชุมชนชาวเรือนแพซึ่งถือส่วนเป็นหนึ่งของชุมชนเมืองพิษณุโลก จึงงเกิดการเปลี่ยนแปลงตามการวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดพิษณุโลกด้วยเช่นกัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงตามโครงการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนเรศวรเพื่อกักเก็บน้ำ กล่าวคือ สำหรับลำน้ำน่านถือว่า การไหลและระดับนั้นน้ำของลำน้ำน่านจะเป็นไปหารถดูกาล แต่ความจุของน้ำเมื่อไหลเข้ามาในเขตพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกจะลดลงครึ่งหนึ่งของปริมาณความจุของน้ำในจังหวัดอุตรดิตถ์ (กรมชลประทานได้เริ่มสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำสิริกิติ์) แต่ได้รับปริมาณน้ำจากแม่น้ำแควน้อยที่ไหลมาบรรจบทางด้านฝั่งข้าย และขนาบด้วยแม่น้ำยมทางฝั่งขวาปริมาณน้ำของลำน้ำน่านจะลดลงอีกเมื่อไหล่สู่จังหวัดพิจิตร” หน้า 92
จากการสัมภาษณ์ ‘ลุงเนี้ยว’ เจ้าของร้านชำ สุรเนตี ชาวจีนไหหลำ วัย 71 ปี ภายในอำเภอวัดโบสถ์ ได้กล่าวว่า
“อดีตก่อนมีเขื่อนก็ตามฤดูกาล ฤดูร้อนน้ำแห้ง ฤดูฝนน้ำล้น พอเกิดเขื่อนมันกลับกันฤดูร้อนน้ำมีบ้าง ฤดูฝนน้ำก็มีบ้าง ไหนจะเวลาของการเดินทางที่บนถนนใช้เวลาไวกว่า”
ดังนั้น การเกิดขึ้นของถนนทำให้บริการสาธารณะทางเรือเริ่มมีบทบาทน้อยลงแต่ไม่ได้หายไปทันที เนื่องจากยังคงมีการใช้งานบริการสาธารณะทั้งทางบกและทางน้ำควบคู่กัน แต่สิ่งที่สร้างผลกระทบต่อการคมนาคมทางเรือก็คือการสร้างเขื่อนสิริกิตดิ์กับเขื่อนนเรศวรทำให้การเดินทางด้วยเรือที่ต้องพึ่งฤดูกาลตามธรรมชาติได้เปลี่ยนไป เนื่องจากช่วงนั้นประจวบกับการมีตัวเลือกในการเดินทางทางบกที่มีความต่อเนื่องกว่าบริการสาธารณะทางน้ำที่น้ำตามฤดูกาลถูกควบคุมจากการเกิดขึ้นของเขื่อนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ
บริการสาธารณะทางบกนอกเหนือจากรถไฟก็มีรถสองแถวและรถเมล์ ที่มีส่วนสำคัญหลักจากที่การขนส่งสาธารณะทางน้ำถูกแทนที่ด้วยการขนส่งทางถนน และผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนนเรศวร ที่ทำให้การเดินทางทางเรือที่พึ่งเวลาตามฤดูกาลเปลี่ยนไป และนัยนา ได้กล่าวถึงผลราคาพืชพันธุ์ที่ขนส่งด้วยรถยนต์ไว้ว่า “ปัจจุบันมีทางถนนติดต่อถึงจังหวัด แม้ยังเป็นถนนลูกรัง แต่ก็ใช้การได้ดี การขนส่งส่วนใหญ่จึงใช้รถบรรทุก” ความหมายของรถบรรทุกสมัยก่อนไม่ใช่รถบรรทุกที่เป็นโครงเหล็กแต่เป็นรถเสริมด้วยโครงไม้
ข้อมูลเกี่ยวกับรถบรรทุกได้มีการกล่าวถึงจากผู้จัดจำหน่ายรถอีซูซุในประเทศไทยที่กล่าวว่า “บริษัทเริ่มจำหน่ายรถบรรทุกอีซูซุคันแรกในประเทศไทยก่อน พ.ศ. 2500” และนโยบายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติทั้ง 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 (ระยะที่ 1) พ.ศ. 2504-2506 กับ ฉบับ 1 (ระยะที่ 2) พ.ศ. 2507-2509 ที่ได้มีกล่าวว่า “การคมนาคมและขนส่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ หาก ปราศจากการคมนาคมและการขนส่งที่ดีแล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ก็ไม่อาจดาเนินไปได้ โดยสมบูรณ์ ฉะนั้น เพื่อที่จะให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศดาเนินไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสมความมุ่งหมายของรัฐบาล การพัฒนาด้านคมนาคมและการขนส่งจึงมีอันดับความสำคัญสูงมากในแผนพัฒนา” รวมถึงการชูนโยบายของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ว่า “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” รถบรรทุกในช่วงแรกก็ไม่ต่างกับการมีรถเมล์ที่สามารถขนส่งทั้งผู้คน และขนสินค้าทางการเกษตรเพื่อเข้ามายังเมือง
คุณพิสิฐ อาภัสระวิโรจน์ อายุ 71 สมาชิกสภาเทศบาลนครพิษณุโลก เขต 2 ได้กล่าวถึงรถโดยสารของจังหวัดพิษณุโลกในอดีตว่า “วิ่งรับส่งผู้โดยสารระหว่างอำเภอ ยังไม่เป็นรถกระบะ ผมเข้าใจว่า ซื้อเฉพาะโครงรถ Nissan อะไรอย่างนี้ แล้วก็มาจ้างช่างประกอบตีโครงไม้ขึ้นมา ซึ่งเป็นโครงรถ หลังคารถ เก้าอี้ไม้สองข้าง และอาจจะมีราวถ้าคนเยอะ ยืนก็มี พอมาอีกยุคหนึ่งมีรถปิ้กอัพเข้ามา รถปิ้กอัพมาใช้เพื่อขนส่งของ แล้วก็มีคนมาดัดแปลงให้เป็นรถสองแถวมารับคน” ต่อมาได้รถเมล์พิษณุโลกบ้านเรา ของบริษัทพิษณุโลกบริการ จำกัด วันเดือนปีที่จดทะเบียนวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2508 วันที่เลิก วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557 หากนับจากปัจจุบันปี 2567 ก็ผ่านมา 59 ปี
โดยคุณพิสิฐ ได้กล่าวว่า “คนริเริ่มเป็นเจ้าของอู่รถชื่อ อู่ปกรณ์ และตัวพ่อเขาเคยเป็นนายกเทศมนตรีฯ อยู่ระยะหนึ่งด้วย อรุณ ภักดิ์ประไพ ลูกชายเขาเคยเป็น สส. พิษณุโลกเขต 1 ชื่ออนัน ภักดิ์ประไพ”
รูปรถเมล์พิษณุโลกบ้านเราที่จอดเทียบท่าใกล้กับโรงแรมเอเซีย
คุณนายอรุณ ภักดิ์ประไพ อดีตผู้ร่วมพัฒนาเมือง พิษณุโลก ในคณะ 18 อาสา เป็นนายกเทศบาลคนแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2500-2510 ผู้ก่อตั้ง บริษัท พิษณุโลกบริการจำกัด และปัจจุบันได้ปิดตัวอย่างถาวร โดยนายนรินทร์ศักดิ์ บูรณะเขตต์ ผู้จัดการบริษัท พิษณุโลกบริการ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการรถเมล์รอบเมืองพิษณุโลก ระบุว่า ได้ยื่นเรื่องขอยกเลิกสัมปทานเดินรถและยุติบริการรถเมล์รอบเมืองพิษณุโลกกับสำนักงานขนส่งจังหวัดพิษณุโลกและได้รับการอนุมัติยกเลิกเดินรถแล้ว โดยกำหนดยกเลิกบริการรถเมล์รอบเมืองทุกสายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 นี้ โดยระยะนี้ ยังคงเปิดบริการรถเมล์ใน 6 เส้นทาง ตามเงื่อนไขที่ทำกับขนส่งจังหวัดไปจนถึงวันสุดท้าย ได้แก่ สายมหาวิทยาลัยนเรศวร สายบ้านกร่าง สายวัดอรัญญิก สายรอบเมือง สายบึงพระ-แม่ระกา และสายท่าตาล และได้ปิดตัวลงเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557
การขนส่งผู้คนภายในจังหวัดพิษณุโลกเป็นบริการสาธารณะที่เริ่มต้นขึ้นด้วยการเดินทางสาธารณะทางน้ำด้วยเรือเมล์ จนกระทั่งช่วงหลัง 2500 ในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร และได้มีการชูนโยบาย “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” และรัฐบาลก็ได้ดำเนินเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็นเพื่อทำให้เห็นถึงความเจริญของการดำเนินนโยบายตามอุดมการณ์เสรีนิยม เนื่องจากช่วงสงครามเย็นเป็นการปะทะระหว่างสองอุดมการณ์ คือ อุดมการณ์เสรีนิยมและอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ การจะทำให้เห็นถึงความเจริญของการเข้าร่วมอุดมการณ์เสรีนิยมเป็นการต่อสู้ต่ออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่ถูกให้ภาพของความด้อยพัฒนา แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติได้ทำให้เกิดการสร้างเขื่อนสิริกิติ์กับเขื่อนนเรศวร และมีการสร้างถนนเส้นทางหลวงเกิดความเจริญขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อบริการขนส่งสาธารณะทางน้ำได้หายไปอย่างถาวร เนื่องจากการเดินเรือต้องพึ่งฤดูกาลไม่ได้มีความรวดเร็วเทียบเท่ากับบริการสาธารณะทางบกที่มีตัวเลือกได้แก่ รถปิ้กอัพ รถบรรทุก และรถมล์ ที่เกิดขึ้นมาในรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่เวลาต่อมาผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะทางน้ำอย่างบิดาของคุณวิภาพรรณ ก็ได้มีการปรับตัวเช่นกัน
การเดินสาธารณะในปัจจุบันกับการเดินทางของนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร
รถม่วงถือเป็นรถขนส่งสาธารณะที่ทันสมัยที่สุดในจังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากเป็นรถขนส่งสองแถวที่มีการติดตั้งแอร์ รถม่วงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายเกรียงศักดิ์ บุญศิลป์ ผู้จัดการบริษัทคิงด้อม ออโต้คาร์พิษณุโลก จำกัด เปิดตัวรถม่วงเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 แต่ก่อนจะมาทำรถม่วงบริษัทคิงด้อม ออโต้คาร์พิษณุโลก จำกัด ก็ได้ทำ Taxi Kingdom มาก่อน โดยนายเรวัตร พนาอุดมสิน เจ้าของ หจก.คิงด้อม ทัวร์ 2015 และผู้บริหารสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพิษณุโลกแห่งที่ 2 กล่าวว่า ได้ลงทุนเปิดบริการรถแท็กซี่รายใหม่ “แท็กซี่ คิงด้อมทัวร์ 2015” จำนวน 50 คัน หรือเมื่อปี 2558 บริษัทคิงด้อม ออโต้คาร์พิษณุโลก จำกัด ได้รับสัมปทานมาจากขนส่งจังหวัดพิษณุโลก ต่อจากรถเมล์บ้านเราที่เลิกกิจการไปเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา และได้บริการวิ่งรอบเมืองพิษณุโลก จนถึงปัจจุบัน บริษัทคิงด้อมเข้ามาแทนที่รถเมล์พิษณุโลกบ้านเรา ของบริษัทพิษณุโลกบริการ จำกัด ได้ปิดกิจการขนส่งสาธารณะไป เส้นทางที่รถม่วงเดินจึงเป็นเส้นทางที่บริษัทพิษณูโลกบริการได้ทำการเดินสายขนส่งมาก่อน
เส้นทางที่บริษัทขนส่งบริการเคยเดินมาก่อนจนกลายมาเป็นรถม่วงก็คือ มหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่ห่างจากเทศบาลนครเมืองพิษณุโลกประมาณ 15 กิโลเมตร และห่างจากเซนทรัลพิษณุโลกรวม 18 กิโลเมตร เมื่อนึกถึงการเดินทางระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวรไปยังตัวเมืองพิษณุโลกด้วยรถสาธารณะแล้ว นิสิตมอนอก็คงนึกถึงสถานีขนส่งรถโดยสารประจำทางสาย 12 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘รถม่วง’
สถานีขนส่งรถม่วงตั้งอยู่ใกล้กับหอพักภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยจะมี 2 เส้นทาง ได้แก่ รอบรถมหาวิทยาลัยนเรศวรไปยังสถานีรถไฟ มี 9 เที่ยว ตั้งแต่เวลา 06.40 – 17.30 น. รถม่วงรอบนี้เดินทางตั้งแต่จุดเริ่มต้นมหาวิทยาลัยนเรศวร ไปยัง โลตัส ท่าทอง – แม็คโคร (เก่า) – ตลาดใต้ – หอนาฬิกา – ตลาดร่วมใจ และปลายทางสถานีรถไฟ และรอบมหาวิทยาลัยนเรศวรไปยังสถานีขนส่งโดยสาร แห่งที่ 2 มี 8 เที่ยว ตั้งแต่เวลา 07.00 – 16.25 น. รถม่วงรอบนี้เดินทางตั้งแต่จุดเริ่มต้นมหาวิทยาลัยนเรศวร ไปยัง โลตัส ท่าทอง – บ้านคลอง – เซ็นทรัล – ท็อปแลนด์ – วัดใหญ่ – สถานีขนส่งฯ (เก่า) – บิ๊กซี – โลตัส โคกช้าง และปลายทางสถานีขนส่งผู้โดยสาร แห่งที่ 2 ทั้งสองเส้นทางราคาเริ่มต้นที่ 20 บาท จากนั้นคิดราคาตามระยะทาง และราคาตลอดทาง 35 บาท หากต้องการที่จะเดินทางมายังมหาวิทยาลัยนเรศวรก็ขึ้นตามจุดโดยสารของรถม่วง
เมื่อหมดรอบรถม่วงหลังจากนั้นก็ไม่มีรถสาธารณะในการให้บริการ หากต้องการเดินทางก็คงต้องพึ่งยานพาหนะส่วนตัว ไม่ก็ใช้บริการรถสาธารณะของบริษัทเอกชน เช่น รถ Taxi Kingdom บริษัทเดียวกับรถม่วง หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือ Grab ที่มีราคาแพงกว่า รถม่วง เนื่องจากคิดค่าบริการจากระยะทางไม่ได้คิดค่าบริการเป็นเที่ยวเหมือนรถม่วง เช่น หากปักหมุดด้วยแอพพิเคชั่น Grab จากมหาวิทยาลัยนเรศวรไปยังสถานีรถไฟราคาจะอยู่ที่ 130 บาท (ลดจากราคา 153 บาท) และกรณของ Taxi kingdom จากรูปที่แนบดังนี้
หากเดินทางจากมหาวิทยาลัยนเรศวรไปยังสถานีรถไฟ 14 กิโลเมตร ก็คือ 2 กิโลเมตร 40 บาท ต่อมา 2 กิโลเมตร ถึง 10 กิโลกเมตร เป็น 48 บาท ต่อ 10 โลขึ้นไปก็เหลืออีก 4 กิโลเมตร เป็น 40 บาท และค่าเรียกผ่านศูนย์ผ่านโทรศัพท์ หรือไลน์เพิ่มอีก 20 บาท รวมทั้งสิ้น 148 บาท ดังนั้น ถ้าอยากประหยัดเงินก็สามารถใช้รถม่วงในการเดินทางไปกลับโดยมีราคาอยู่ที่ 40 – 80 บาท แต่ก็จะใช้เวลาเดินทางที่นานกว่า หรือถ้าเดินทางด้วยบริการของเอกชนที่สะดวกรวดเร็วก็ต้องใช้บริการขนส่งด้วยรถยนต์ ค่าไปกลับอยู่ที่ 260-300 บาท แต่ถ้าใช้ควบคู่กับรถม่วงจะอยู่ที่ 170-180 บาท
การเข้าไปใช้ชีวิตในเมืองของนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงต้องใช้เวลานาน หรือหากต้องการประหยัดเวลาก็ต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น อีกตัวเลือกหนึ่งที่ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น ก็คือการใช้ ‘รถส่วนตัว’ แต่ก็จะตามมาด้วยความกังวลเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เป็นต้น ตัวเลือกที่ไม่มากนี้ทำให้การเข้าไปใช้ชีวิตจึงไม่ต่อเนื่อง ทำให้การเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองของนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรจึงไม่ได้รู้สึกเชื่อมโยงกับชุมชนในเมือง เนื่องจากไม่สามารถเดินทางมาอย่างต่อเนื่องได้การเข้ามาของนิสิตจึงเป็นการเข้ามาเที่ยวมากกว่ามาใช้ชีวิตประจำวันในเมืองพิษณุโลก
แล้วหนุ่มพิดโลกจะรักกับสาวมอนอได้หรือไม่?
“เคยพาซ้อนท้าย…ไปเที่ยวลานนม
เคยพาไปชมจันทร์สวนชมน่าน
ไปกินก๋วยเตี๋ยวห้อยขากันเมื่อวาน
แต่วันนี้ ต้องซมซาน เพราะไม่มีเธอ”
‘สาวมอนอ’ เป็นเพลงที่สะท้อนถึงจุดที่ตั้งอันห่างไกลของมหาวิทยาลัยนเรศวรกับตัวเมืองพิษณุโลกที่ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนมีความแตกต่างกันแม้จะอยู่ในจังหวัดเดียวกันที่ห่างกันเพียง 15 กิโลเมตร สิ่งที่ตอกย้ำถึงปัญหาที่ขัดขวางความรักของหนุ่มพิดโลกกับสาวมอนอก็คือ ‘ปัญหาของการคมนาคม’ ที่ควรจะเป็นส่วนสำคัญในการจัดการระยะห่างให้วิถีชีวิตของผู้คนมีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อการคมนาคมไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองพิษณุโลกกับนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรไม่ต่อเนื่อง บทเพลงสาวมอนอก็ทำให้เห็นว่าตัวเมืองพิษณุโลกไม่ใช่พื้นที่ที่จะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว หรือการเข้ามาตามอีเวนต์ที่มีในเมือง เช่น การไปเที่ยวเซนทรัล ไปเที่ยวผับ Picasso ไปเที่ยวตะวันแดง ไปเที่ยววัดใหญ่ ไปเที่ยวถนนคนเดิน เป็นต้น หากจะให้นิสิตมหาวิทยาลัยตื่นเช้าเพื่อไปเดินตลาดใต้เพื่อมีความสัมพันธ์กับคนในชุมชนก็คงไปไม่ได้บ่อยมากนัก ดังนั้น การคมนาคมที่ไม่มีประสิทธิภาพจึงทำให้นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรถูกจำกัดในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในเมือง การเข้ามาในเมืองจึงไม่ใช่การเข้าไปใช้ชีวิตประจำวันแต่เป็นการเข้าไปเที่ยวเพียงเท่านั้น
พิษณุโลกก็เคยมีความคิดจะเพิ่มรถไฟฟ้าเมื่อปี 2563 ที่นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ รฟม. เริ่มดำเนินโครงการทั้งศึกษา ออกแบบรายละเอียดและรูปแบบการลงทุน PPP รถไฟฟ้าจังหวัดพิษณุโลก สายสีแดงช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-เซ็นทรัลพิษณุโลก มีระยะทาง 12.6 กม.จำนวน 15 สถานี เงินลงทุน 1,666.78 ล้านบาทรูปแบบโครงสร้างเป็นระดับพื้นดิน ส่วนรถไฟฟ้าจะเป็นระบบออโต้แทรมหรือรถรางล้อยาง ตามแผนจะเสนอขออนุมัติรูปแบบการลงทุนในเดือน พ.ค.2564 คัดเลือกเอกชนในเดือน ก.ย.2565 ก่อสร้างเดือน ต.ค.2566 เปิดบริการเดือน ธ.ค.2569
แนวเส้นทางเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัยพิษณุโลก ผ่านสถานีขนส่งพิษณุโลกแห่งที่ 2 แนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศเหนือตามแนวทางหลวงหมายเลข 126 ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 12 ที่สี่แยกอินโดจีน จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งไปยังทิศตะวันตกตามแนวทางหลวงหมายเลข 12 และสิ้นสุดแนวเส้นทางที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่าพิษณุโลก และหากชวนคิดถึงอีกทางเลือกหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับจังหวัดพิษณุโลกด้วยบริการสาธารณะทางน้ำอย่าง “เรือเมล์” เนื่องจากหลายประเทศก็ยังคงนิยมใช้อยู่ รวมถึงประเทศไทย เช่น เรือไฟฟ้าคลองผดุง เป็นต้น ส่วนนี้ก็จะถูกโต้แย้งด้วยการที่เขื่อนมีบทบาทสำคัญในการทำให้เรือเมล์ในอดีตไม่สามารถเดินทางตามธรรมชาติ และพิษณุโลกก็คงจะมีเรือเมล์ไม่ได้ เพราะคนภายนอกอำเภอยังต้องการเขื่อนเพื่อไม่ให้น้ำท่วม ส่วนนี้ผู้เขียนอยากเสนอให้ตั้งคำถามต่อเขื่อนว่า ช่วงเวลาหนึ่งเขื่อนสร้างขึ้นมาด้วยปัจจัยอะไร เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หรือแก้ไขปัญหาทางการเมือง? ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า เขื่อนดีหรือไม่ดีแต่เรามีการแก้ปัญหานอกเหนือจากเขื่อนบ้างไหมในยุคปัจจุบัน เพื่อเพิ่มทางเลือกต่อการเดินทางของจังหวัดพิษณุโลก โดยข้อเสนอที่สำคัญก็คือ “การกระจายอำนาจ” มีอดีตพรรคการเมืองอย่างก้าวไกลได้เสนอการกระจ่ายอำนาจของบริการสาธารณะดังนี้
1. บริการสาธารณะถูก-เร็ว-ดี ท้องถิ่นจัดทำได้ทั้งหมด ยกเว้น ทหาร-ศาล-เงินตรา
– กำหนดหลักการว่าอำนาจและหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ (เช่น ถนน ขนส่ง ขยะ ไฟฟ้า ประปา โรงเรียน โรงพยาบาล) เป็นของท้องถิ่น โดยรัฐส่วนกลางมีเพียงบทบาทในการกำหนดมาตรฐานระดับประเทศ และออกแบบตัวชี้วัดเพื่อประเมิน-วัดผลการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่น โดยไม่กระทบหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่น
– เปลี่ยนวิธีการเขียนกฎหมายแบบ “positive list” ที่ให้ท้องถิ่นมีอำนาจจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่เฉพาะในข้อที่ถูกระบุ มาเป็นการเขียนกฎหมายแบบ “negative list” ที่ให้ท้องถิ่นมีอำนาจจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ได้ทุกอย่าง ยกเว้นเพียงบางเรื่องที่เขียนห้าม (เช่น การทหาร ศาล ระบบเงินตรา)
– กำหนดให้รัฐส่วนกลาง มีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะเฉพาะ
- — (i) เรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- — (ii) เรื่องที่ท้องถิ่นไม่สามารถจัดทำได้จนทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบและเดือดร้อนเสียหาย
- — (iii) เรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร้องขอให้รัฐส่วนกลางจัดทำแทน
2. ถ่ายโอน ถนน-คูคลอง-แหล่งน้ำ-ขนส่ง-สิ่งแวดล้อม-พิสูจน์สิทธิที่ดิน-โรงงาน-โรงแรม-สถานบริการ
– เร่งรัดออกแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจฉบับที่ 3 เพื่อถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นมากขึ้น เช่น
- ถ่ายโอนการบริหารจัดการถนน-คูคลองแหล่งน้ำ-ชลประทาน เพื่อให้ทุกจังหวัดออกแบบวางแผนเมืองและแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ตรงจุดมากขึ้น
- ถ่ายโอนการบริหารจัดการขนส่งสาธารณะ-สิ่งแวดล้อม-พิสูจน์สิทธิที่ดิน เพื่อให้ทุกจังหวัดเพิ่มสายรถเมล์ได้ง่าย สั่งปิดโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียกลิ่นเหม็นได้เอง แก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินให้ประชาชนได้เร็ว
- ถ่ายโอนการออกใบอนุญาต โรงแรม-โรงงาน-สถานบริการ เพื่อให้ทุกจังหวัดดูแลเรื่องท่องเที่ยวได้เองทั้งระบบ แก้ปัญหาโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตได้ ให้ท้องถิ่นกำหนดเวลาปิดสถานบริการได้ และช่วยแก้ปัญหาส่วยที่สถานบริการโดนไถเงินมาตลอด
3. ยกเลิกกฎระเบียบและคำสั่ง คสช. ที่ล็อกคอ-ล้วงลูกท้องถิ่น ภายใน 100 วัน
– ยกเลิกระเบียบมหาดไทยและคำสั่ง คสช. ที่เป็นอุปสรรคและทำให้ท้องถิ่นขาดอิสระในการทำงานและการบริหารทรัพยากร ภายใน 100 วันแรก (เช่น คำสั่ง คสช. 8/2560 ที่เข้ามาแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของ อปท. ทำให้ท้องถิ่นขาดกำลังคน)”
ข้อเสนอเชิงโครงสร้างที่สำคัญก็ คือ “การกระจายอำนาจ” หากผู้เขียนฝันถึงการมีขนส่งเรือเมล์ที่ทันสมัยและจังหวัดพิษณุโลกก็เคยมีบริการสาธารณะทางน้ำมาอยู่แล้ว จึงไม่ใช่สิ่งใหม่ที่จะกลับมาศึกษาการบริการสาธารณะทางน้ำใหม่ และเป็นการเพิ่มเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพราะก่อนจะชื่อพิษณุโลกก็คือสองแคว แต่ปัจจุบันกลับไม่ได้เห็นวิถีชีวิตจากแม่น้ำน่าน แต่สิ่งเหล่านี้กลับต้องถูกเก็บเข้าในลิ้นชัก เนื่องจากติดปัญหาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติที่มีนโยบายให้มีการสร้างเขื่อนขึ้น เมื่ออำนาจกระจุกอยู่ที่ศูนย์กลางมากๆ ต่างจังหวัดก็จะอยู่ในวังวนที่ “ศูนย์กลางทำท้องถิ่นตาม” แล้วอย่างนี้จังหวัดพิษณุโลกเลือกอะไรได้บ้าง? หรือข่าวของการมีรถไฟฟ้าในต่างจังหวัดที่รวมถึงพิษณุโลก ทางส่วนกลางทำการศึกษาโดยถามความต้องการของคนในพื้นที่และศึกษาอย่างถี่ถ้วนจริงๆ ใช่ไหม? ทางภาครัฐคิดจะแก้ระบบขนส่งสาธารณะด้วยรถไฟฟ้าแบบกรุงเทพฯ ที่ประชาชนก็ทราบดีว่า รถไฟฟ้าไม่ได้แก้ปัญหาการขนส่งสาธารณะแต่เป็นการทิ้งการขนส่งสาธารณะอื่นๆ ที่ควรแก้ไขให้ดีขึ้น และควรได้รับการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ เมืองพิษณุโลกไม่จำเป็นต้องเดินตามเมืองกรุงเทพฯ ส่วนกลางได้โปรยความเจริญแต่ไม่ถึงสักที หรือคนพิษณุโลกจะปลูกเมืองด้วยมือของคนพิษณุโลกเองโดยที่ไม่ต้องรอส่วนกลาง
อ้างอิง
- จิรวัฒน์ พิระสันต์, วัฒนธรรมในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก”, (จังหวัดพิษณุโลก: พี อาร์ พริ้นติ้ง, 2556), หน้า 15.
- นิธิกาญจน์ จีนใจตรง,การเปลี่ยนแปลงลักษณะและรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวเรือนแพในล้าน้้าน่าน จังหวัดพิษณุโลก, (การผังเมืองบัณฑิต สาขาวิชาการผังเมืองคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปีการศึกษา 2551),
- นัยนา เนียมศรีจันทร์, “ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก”, (สารนิพนธ์บัณฑิตอาสาสมัคร สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2516), หน้า 18.
- กองกิจการ นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร. ตารางเดินรถโดยสานประจำทาง สาย 12. สืบค้นจาก https://www.sa.nu.ac.th/?p=17069. เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567.
- เขื่อนนเรศวร (จ.พิษณุโลก), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, สืบค้นจากhttps://www.egat.co.th/home/naresuan-rohpp/, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567)
- เขื่อนสิริกิติ์ความเป็นมา, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, สืบค้นจากhttps://www.egat.co.th/home/sirikit-dm-about/, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567)
- นายกเทศมนตรีคนแรกอายุ 100 ปี,Phitsanulok Hotnews, สืบค้นจาก https://www.phitsanulokhotnews.com/2013/01/16/30571, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 พฤษจิกายน 2567).
- บริษัท พิษณุโลกบริการ จำกัด, Credendata, สืบค้นจาก https://data.creden.co/company/general/0655508000024?kc=3b21ff6cdbc44c1b898a6e336cbd9aa162674857c970c, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 พฤษจิกายน 2567).
- บริษัท วัดโบสถ์ขนส่ง จำกัด, Credendata, สืบค้นจาก https://data.creden.co/company/general/0655517000031, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 พฤษจิกายน 2567).
- รถไฟฟ้าพิษณุโลก: ราชกิจจาฯ ประกาศให้ “รฟม.” เริ่มโครงการแล้ว, ประชาชาติ ออนไลน์, สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/property/news-481654, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567).
- ปิดฉากตำนาน52ปีรถเมล์รอบเมืองพิษณุโลก, กรุงเทพธุรกิจ, สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/social/598728?fbclid=IwY2xjawGbAMNleHRuA2FlbQIxMAABHeUQoShCKl-OW6n6Up1r5QCyUB2oDAhsvlNLyrQ5HQ7xPqkOGfJzCfT7Fg_aem_FMgXVdJePMAVCXaXZfozUA, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 พฤษจิกายน 2567).
- ประวัติอีซูซุในประเทศไทย. อีซูซุ. ออนไลน์. สืบค้นจาก https://www.isuzu-tis.com/about-history/ เข้าถึงเมื่อ (8 พฤศจิกายน 2567)
- ปดิวลดา บวรศักดิ์, “ทำไมต้องเรียก “พิษณุโลก” ว่า “สองแคว” ? , ศิลปวัฒนธรรม, สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_122782, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 พฤษจิกายน 2567).
- เปิดตัว “สองแถวไฮโซ” แอร์เย็นฉ่ำ เบาะกำมะหยี่ เจ้าแรกในภาคเหนือ, ไทยรัฐ ออนไลน์, สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/society/1510491, เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567).
- วีรพงษ์ รามางกูร. “สฤษดิ์น้อย,” ใน มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน 2561. สืบค้นจากhttps://www.matichon.co.th/columnists/news_1015972 , เข้าถึงเมื่อ 17 กันยายน 2564.
- เสาหลักนโยบายที่ 3 “ต้องก้าวไกล ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า”, พรรคก้าวไกล, สืบค้นจาก
- https://www.moveforwardparty.org/article/15809/, (9 พฤศจิกายน 2567).
- หน้าใหม่ใจถึง! แท็กซี่คิงด้อมฯ ขนอัลติสใหม่เอี่ยมรับ-ส่งคนพิษณุโลกฟรีวันเปิดตัว, MGRonline, สืบค้นจากhttps://mgronline.com/local/detail/9580000074187?fbclid=IwY2xjawGb1VdleHRuA2FlbQIxMAABHYMpFKl3lI74-2YCd2AKmefqFVneIQf57e8_wU_T95VMMzHaWXdM_THUgQ_aem_lZJXmWLoHIrKSsCL7f_hWg, (เข้าถึงเมือวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567)