เรื่อง: องอาจ เดชา

ที่มาภาพ : www.hinladnai.com

“บ้านห้วยหินลาดในที่ฉันรักและรู้จักมายี่สิบกว่าปี  เป็นชุมชนปกาเกอะญอ ที่มีประชากร 114 คน ผู้ดูแลป่าชุมชน 5,889 ไร่ และพื้นที่ทำกิน 1,632 ไร่ ในรูปวนเกษตร อาทิ ชา กาแฟ ผลไม้ ส่วนใหญ่ปลูกแซมกับไม้ป่า และนาดำอยู่บริเวณร่องห้วย ไร่หมุนเวียนกว่า 800 ไร่ แต่ใช้ประโยชน์ในรอบหมุนเวียนแต่ละปีเพียง 60 ไร่ และมีประชากรประชากรเพียงแค่ 114 คน 

เป็นหมู่บ้านที่มีพะตีซาเนาะ (ปรีชา ศิริ) ผู้นำทางความคิดรุ่นบุกเบิก เจ้าของรางวัล ‘วีรบุรุษผู้รักษาป่า’  (Forest Hero) จากการประชุมขององค์การสหประชาชาติเรื่องป่าไม้ ที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในปี 2556 และทุกคนทราบดีว่าชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน เคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่1 ปี 2542 ประเภทชุมชน และปี 2548 ได้รับรางวัลประเภท ‘รางวัล 5 ปีแห่งความยั่งยืน’ ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นรางวัล “สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน บ้านห้วยหินลาดใน ยังมีกลุ่มเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน มาช่วยสืบสานวิถีชีวิตให้เด็กๆ ทุกคืนวันพุธ ใต้ถุนบ้านของผู้อาวุโสจะดัดแปลงเป็นห้องเรียนภูมิปัญญา ทั้งด้านภาษา ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตคนอยู่กับป่าอย่างสมดุลยั่งยืน

และยังเป็นหมู่บ้านที่เชฟหลาย ๆ คน ได้แรงบันดาลใจ เพราะที่นี่เป็นเหมือนแหล่งความรู้จากคนทั่วทุกมุมโลกที่เคยมาห้วยหินลาดใน ด้วยเหตุผลมากมาย และเพื่อมาชิมน้ำผึ้งธรรมชาติ มีการจัดการหาน้ำผึ้งป่า น้ำผึ้งโพรง ชันโรง ชาอัสสัม และกาแฟใต้ร่มไม้โดยชุมชนเพื่อชุมชนมาตลอด” แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ เจ้าของสตูดิโอห่อจย่ามา (Studio Horjhama) และทำงานขับเคลื่อนเรื่องความมั่นคงทางอาหารกับพี่น้องชาติพันธุ์บ้านห้วยหินลาดในมายาวนาน ได้บันทึกเอาไว้ หลังเกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มหมู่บ้านห้วยหินลาดใน เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา

ที่มาภาพ : www.hinladnai.com

นั่นทำให้เรานึกไปถึงคำพูดพะตีปรีชา ศิริ ปราชญ์ปกาเกอะญอ ผู้นำธรรมชาติแห่งบ้านห้วยหินลาดใน ที่เอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงเปี่ยมสุข อารมณ์ดี เมื่อนานมาแล้ว

“ทุกวันนี้ เฮาถือว่าหมู่บ้านของเฮานั้นร่ำรวยแล้ว แต่ไม่ใช่ร่ำรวยเงินทอง แต่ร่ำรวยธรรมชาติ เฮามีทุกอย่าง มีดิน น้ำ ป่า มีอากาศ มีอาหาร ยาสมุนไพร เฮาอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไม่ต้องดิ้นรนเหมือนคนข้างนอก…” 

พะตีปรีชา ได้บอกเล่าที่มาชื่อหมู่บ้านห้วยหินลาดใน  ให้เราฟังอย่างน่าสนใจ 

“คือบริเวณนี้ เป็นต้นกำเนิดลำห้วยสำคัญ ๆ กว่า 14 ห้วย ที่ไหลมารวมกัน เราจึงเรียกบริเวณนี้ว่าแม่หินลาดโกล็ะ หรือ ห้วยหินลาดใน”

หมู่บ้านห้วยหินลาดใน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของ ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย  เป็นชุมชนชาติพันธุ์ ปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง เป็นชุมชนในหุบเขาที่แวดล้อมไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน อีกทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยน้อยใหญ่14 สาย และด้วยพลังของชุมชน จึงเกิดการอนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้ได้นับ 10,000 ไร่

“จริงๆ แล้ว กว่าเราจะดูแลป่า รักษาต้นน้ำเอาไว้ได้ แต่ก่อนนั้นเราต้องเจออุปสรรคปัญหามามากต่อมาก และยังได้ต่อสู้กันมายาวนานมาก” ชัยประเสริฐ พะโค ชาวบ้านห้วยหินลาดใน บอกกับเราในวันนั้น

ที่มาภาพ : www.hinladnai.com

ชุมชนแห่งนี้ ยังได้นำความเชื่อ พิธีกรรมและวัฒนธรรมชนเผ่ามาปรับใช้ในการดูแลป่าอีกทั้ง ชุมชนแห่งนี้ยังดำรงชีพด้วยวิถีเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีรูปแบบการผลิตของชาวบ้าน เป็นระบบเกษตรบนพื้นที่สูงที่ผสมผสานระหว่างความอุดมทรัพยากร และเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เข้าด้วยกัน อาชีพหลักของคนบ้านหินลาดใน ก็คือการทำนาขั้นบันได ทำไร่หมุนเวียน

“ในทุ่งนา ทุ่งไร่เราไม่ได้เพียงแค่ปลูกข้าวอย่างเดียวเท่านั้น แต่เรายังใช้พื้นที่นาปลูกพืชผัก เก็บกินได้ตลอดปี ไม่ว่า แตงกวา หัวเผือก หัวมัน ผักกาด งา ฟักทอง ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ จนเราพูดได้เต็มปากเลยว่า เราไม่ต้องพึ่งพาตลาดข้างนอก เพราะเราเอาทุ่งนาเอาไร่หมุนเวียนเป็นตลาดสด คนที่นี่จึงไม่เคยอดตาย…”

ที่มา www.hinladnai.com
ที่มา : www.tourismchiangrai.com

ครั้นว่างจากการทำนา ทำไร่ ชาวบ้านก็จะเก็บ “ชาป่า” ซึ่งเป็นชาที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงเป็นที่ต้องการของตลาด และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้านและเก็บได้ตลอดทั้งปี

การทำสวนชาของชุมชนแห่งนี้  จึงถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้แก่คนในหมู่บ้านอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และที่โดดเด่นมากก็คือ ชาที่เก็บกันนั้น เป็นชาที่ขึ้นเองตามธรรมชาติบริเวณเนินเขาสองฝากฝั่งลำห้วยมานานหลายชั่วเกิดอายุคนแล้ว ว่ากันว่า ชาเป็นชาพันธุ์พื้นเมือง ที่เหมาะสมสอดคล้องกับหุบห้วยแถบนี้เป็นอย่างมาก ปล่อยให้เติบโตขึ้นเอง ไม่จำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่มากนัก บางต้นใหญ่โตสูงท่วมหัว จนต้องแหงนมองดู

แต่เดิมนั้น ชาเป็นเพียงเครื่องดื่มรับรองแขกและดื่มกันภายในครอบครัว ต่อมาในสมัยพ่อทาดู เริ่มมีการเก็บเมี่ยงและทำเมี่ยงชาย แต่ประสบปัญหาเกี่ยวกับกรรมวิธีในการผลิตที่ยุ่งยาก ทำเมี่ยงขายได้เพียงสองปี จึงเริ่มหันมาเก็บชา ประกอบกับช่วงเวลานั้น ชาเริ่มเป็นที่นิยมของชาวเขาเผ่าม้ง คนจีนอพยพ และคนพื้นเมืองในละแวกใกล้เคียงในเขต อ.พร้าว ของ จ.เชียงใหม่

กระทั่งในช่วงปี พ.ศ.2516  ชาวจีนได้เข้ามาตั้งโรงชาภายในหมู่บ้านและรับซื้อชาดิบจากชาวบ้านในราคากิโลกรัมละ 4 – 5 บาท แต่การรับซื้อชาดิบดังกล่าวได้ถูกเอารัดเอาเปรียบ โรงชาตั้งได้ประมาณ 7 – 8 ปี ก็ได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น ในช่วงดังกล่าวชาวบ้านไม่สามารถขายผลผลิตได้ พะตีปรีชา ศิริ จึงได้เดินทางไปติดต่อเพื่อขายชา ให้กับชาวไทยลื้อที่บ้านดินดำ อ.แม่สรวย จ.เชียงรายแทน  หลังจากนั้นก็เริ่มขยายตลาดไปยัง อ.แม่จัน อ.แม่ขะจาน จนในที่สุดกลายมาเป็นตลาดที่สำคัญในปัจจุบัน

ชาป่าบ้านหินลาดในจึงเป็นที่ต้องการของตลาดและเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้านและเก็บได้ตลอดทั้งปี

พะตีปรีชา ศิริ ผู้นำธรรมชาติ บอกเล่าให้ฟังว่า ในแต่ละปีจะมีชาดิบออกจากหมู่บ้านกว่า 60,000 กิโลกรัม โดยชาหนึ่งต้นสามารถเก็บได้กว่าสามครั้งต่อปี โดยครั้งแรกจะเก็บในเดือน เมษายน เรียกว่า “ชาหัวปี” เป็นชาที่มีคุณภาพดีที่สุด และราคาดีที่สุด โดยจะตกประมาณกิโลกรัมละ 8 บาท หลังจากนั้นก็จะเริ่มเก็บชากลาง ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นชาที่แตกหน่อจากชาต้นเดิมหลังการเก็บชาหัวปีหมดไปแล้ว ซึ่งราคาจะตกประมาณกิโลกรัม 6 บาท และในช่วงสุดท้ายจะเป็นการเก็บชาเหมย หรือชาหน้าหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน ซึ่งปริมาณชามีน้อย แต่ราคาดีเท่าชาหัวปี

ปัจจุบัน ยังมีการขยายพันธุ์ชา  ควบคู่กับปลูกพันธุ์ไม้พันธุ์พืชผสมผสาน เช่น ไผ่หก หวาย มะแขว่น มะนาว พลับ มะขามป้อม มะเขือ แตง บวบ  ลำไยป่า มะม่วงป่า ผักกูด มะแคว้ง มะก่อ มะขม มะไฟ และอีกหลากหลายนานาพันธุ์นานาชนิด ที่สามารถเก็บขายสร้างรายได้ให้อีกทางหนึ่งด้วย

จู่ๆ เกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มหมู่บ้านเสียหายยับ

เมื่อช่วงสายของวันที่ 23 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา ขณะที่ฝนกำลังตกหนักมาอย่างต่อเนื่องข้ามวันข้ามคืน ก็เกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ไหลทะลักลงจากช่องเขา ลำห้วย เอ่อเข้าท่วมพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย อย่างรวดเร็วและรุนแรง พัดเศษซากต้นไม้ ดินโคลน ถล่มโรงเรียน บ้านเรือนชาวบ้านพังเสียหาย รวมไปถึงมีแต่สัตว์เลี้ยงสูญหาย รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ถูกน้ำพัดไปหลายคัน ทางเข้าหมู่บ้านยังไม่สามารถเข้าได้ เพราะต้นไม้ล้มขวางทางเข้า แต่ยังดีที่ไม่ชาวบ้านเสียชีวิต ชาวบ้านทุกคนปลอดภัย แต่หมู่บ้านเสียหายหนักมาก

The Active รายงานว่า ทศ – ชัยธวัช จอมติ ผู้นำชุมชนห้วยหินลาดใน ได้เปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า หนักที่สุดในรอบ 100 ปี เพราะหมู่บ้านหินลานในไม่เคยเจอเห็นการณ์แบบนี้มาก่อน ก่อนหน้านี้ในพื้นที่มีฝนตกต่อเนื่องหลายวัน แม้ชาวบ้านจะมีการเฝ้าระวัง และไม่ให้ลูกหลานไปโรงเรียนในวันนี้ แต่ก็ไม่คาดคิดว่ามวลน้ำที่ลงมาจะรุนแรงขนาดนี้

ผู้นำชุมชน บอกอีกว่า พื้นที่บ้านห้วยหินลาดใน ได้รับผลกระทบทั้งหมู่บ้าน โดยจุดที่หนักที่สุดคือบริเวณโรงเรียน ทางสัญจรถูกตัดขาด ไฟฟ้า และสัญญาณโทรศัพท์ไม่สามารถใช้การได้ ขณะที่ระบบประปาก็ได้รับความเสียหาย ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำได้ ส่วนความช่วยเหลือที่ต้องการเร่งด่วน คือ อาหารและน้ำดื่ม

แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ ตัวแทน ‘เครือข่ายเชียงใหม่-เชียงราย’ เล่าว่า ก่อนหน้านั้นเราได้ระดมทุนและของบริจาคช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมเชียงราย กำลังเดินทางพร้อมเสบียงอาหารไปช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยที่เชียงรายกันทั้งหมด 14 คันรถ แต่ระหว่างทางได้เผชิญกับฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลาก จนสามารถวิ่งผ่านเวียงป่าเป้าไปได้ 2 คัน ที่เหลือไปต่อไม่ได้ แล้วมารู้ข่าวว่าพี่น้องปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดในประสบกับน้ำป่าไหลหลากรุนแรง ก็พยายามหาทางจะเข้าไปช่วยเหลือกันอยู่

“ในเบื้องต้น ทีมงานของเรา ได้เข้าไปช่วยเหลือเร่งด่วนก่อน คือเอาเครื่องปั่นไฟกับเสบียง น้ำดื่มเข้าไปช่วยเหลือกันก่อน หลังจากนี้ เราคงต้องหาทางระดมความช่วยเหลือเยียวยากันต่อไป เพราะถือว่าเหตุการณ์ครั้งนี้หนักรุนแรงมาก มันพัดเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดเลย ทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ สัตว์เลี้ยงวัวควาย เป็ดไก่ไปหมด ชาวบ้านไม่เหลืออะไรเลย”

ระดมขอความช่วยเหลือเร่งด่วนให้พี่น้องชุมชนปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดใน

จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในชุมชนสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้แก่ บ้านห้วยหินลาดใน ซึ่งเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ไก้รับผลกระทบอย่างหนัก พวกเรามูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) และ สกน. จึงขอเปิดระดมความช่วยเหลือชุมชนโดยเร่งด่วนตามความต้องการของชุมชน ดังนี้

1. สิ่งของจำเป็นเร่งด่วน ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง เสื้อผ้า,ชุดชั้นในชาย-หญิงผ้าอนามัย, อุปกรณ์การอาบน้ำ, ถังน้ำ, ขันน้ำ, อุปกรณ์ทำความสะอาดทุกชนิด, รองเท้าบูต, มุ้ง, ยากันยุง, เครื่องครัวสามารถจัดส่งได้ที่ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ 77/1 ม.5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200

2. สนับสนุนความช่วยเหลือเป็นเงินทุน ทางบัญชี ธนาคารกรุงไทย 7870429139 ชื่อบัญชี: โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้รายได้น้อยในชนบท สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ

3. ร่วมเป็นอาสาสมัครทำความสะอาดสถานที่ โดยผู้ที่มีจิตอาสาและผู้เชี่ยวชาญในการกู้ภัย สามารถติดต่อไปได้ที่ : 0616629338 (ช้าง) 0654365800 (หนิง)

ชาวบ้านและเครือข่าย เร่งฟื้นฟูและเยียวยาชาวบ้านห้วยหินลาดใน

เร่งเคลียร์ ดินสไลด์ทางเข้าหมู่บ้านหินลาดใน

อนุชา ตาดี อาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเหลือ รายงานว่า เมื่อช่วงสายๆ วันที่ 26 ที่ผ่านมา มีรถแบ็คโฮเข้าเคลียร์พื้นที่ดินสไลด์เพื่อเปิดเส้นทางเข้าส่งความช่วยเหลือไปยังบ้านห้วยหินลาดใน ช่วงเที่ยงๆ ที่ผ่านมาหลังจากที่รถแบ็คโฮเข้าทำการเคลียร์เส้นทางเข้าหมู่บ้านตอนนี้สามารถเอาดินที่สไลด์ปิดทับเส้นทางจุดใหญ่ๆ ได้จำนวน 2 จุดจาก 10 จุด ได้ระยะทางทางประมาณ 400 เมตรจากปากทางเข้าหมู่บ้านเนื่องจากเมื่อวานมีฝนตกต่อเนื่องตลอดทั้งวันทำให้มีดินสไลด์ลงมาทับเส้นทางเพิ่มเติมหลายจุดทำให้การเปิดเส้นทางล่าช้าลงไปยิ่งกว่าเดิม

ชาวบ้านคาดว่าวันนี้จะสามารถเคลียร์เส้นทางเข้าไปได้ประมาณครึ่งทางและจะสามารถย้ายสิ่งของบริจาคจากบริเวณบากทางเข้าหมู่บ้านไปยังพื้นที่ลานจอด ฮ.ซึ่งเป็นบริเวณจุดครึ่งทางเข้าหมู่บ้านและในตอนนี้ชาวบ้านสามารถเปิดเส้นทางมอเตอร์ไซจากทางฝั่งในหมู่บ้านมายังบริเวณลานจอด ฮ.ได้แล้วและน่าจะสามารถขนสิ่งของช่วยเหลือเข้าไปในหมู่บ้านได้ง่ายยิ่งขึ้นในเย็นวันนี้

การเปิดเส้นทางเข้าหมู่บ้านตลอดทั้งเส้นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 วันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและฝนที่ตกลงในพื้นที่

เกิดดราม่า เมื่อนักวิชาการคนหนึ่งออกมาโพสต์อ้างว่าเหนือหมู่บ้านห้วยหินลาดใน เป็นเขาหัวโล้น ปลูกข้าวโพดและพืชเชิงเดี่ยว จึงทำให้ดินโคลนถล่มลงมา 

โดยเจ้าของเฟซบุ๊ค Sonthi Kotchawat โพสต์ภาพประกอบเป็นภาพดอยหัวโล้น ภาพไร่ข้าวโพด ประกอบข้อความว่า เจาะลึกที่ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียง ป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าต้น น้ำอุดมสมบูรณ์ ทำไมน้ำป่าไหลแรงพาดินโคลนและท่อนไม้ลงมาถล่มชุมชนดังกล่าว…หากเข้าไปสำรวจจะพบว่าพื้นที่ใกล้ๆชุม ชนดังกล่าวที่เป็นป่าต้นน้ำบางส่วนกลายเป็นเขาหัวโล้นอย่างกว้างขวาง หลายแห่งปลูกข้าวโพดและพืชเชิงเดี่ยว…น้ำป่าดินโคลนและท่อนไม้มาจากพื้นที่เหล่านี้

จนนำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่านักวิชาการคนนี้ เอารูปประกอบดอยหัวโล้น ไร่ข้าวโพดจากที่อื่นมาบิดเบือน ทั้งๆ ที่รอบๆ พื้นที่ชุมชนบ้านห้วยหินลาดในนั้นปกคลุมไปด้วยผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์

บูท จ้า : บ้านห้วยหินลาดในที่เอารูปมาแปะนั้นไม่มีดอยหัวโล้นนะครับ หมู่บ้านอยู่ในหุบเขามีต้นไม้เต็มไปหมดด้วย แต่เป็นทางน้ำจริงๆ

Suton Webut : ต้นน้ำหินลาดอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ตั้งหมู่บ้านครับ ป่าอุดมสมบูรณ์ จากตาน้ำสามสายไหลสบพาดผ่านกลางหมู่บ้าน ส่วนฝั่งที่เป็นเขาหัวโล้นอยู่คนละฝั่งตั้งอยู่ต่ำกว่าบ้านหินลาดใน ใช้ต้นน้ำคนละสาย บางส่วนใช้ร่วมกับปลายน้ำหินลาด ผมไม่เข้าใจ น้ำไหลย้อนขึ้นดอยได้อย่างไร ชาวบ้านเวลานี้ก็ลำบากอยู่แล้วยังต้องมาโดนโจมตีอะไรแบบนี้อีก

Teerasak Poontawee : ผมเคยเป็นครูอยู่ในพื้นที่นี่มา 16 ปี เห็นคนลงความคิดเห็นต่างๆ แล้วผมสงสารหมู่บ้านหินลาดในจัง เป็นหมู่บ้านอนุรักษ์รักษาป่ามาตลอดเป็นระยะยาวนานสืบต่อรุ่นต่อรุ่น ได้รับรางวัลในเรื่องการอนุรักษ์ระดับประเทศระดับต่างประเทศ ตั้งแต่สมัยพ่อหลวงปรีชา ศิริ ลูกเขาสืบทอดต่อ(ลูกศิษย์ผม)จนมาถึงรุ่นหลานๆ ในปัจจุบัน..สังคมบางส่วนประณามว่าสมน้ำหน้าทำลายป่าจึงรับชะตากรรมแบบคลิปที่เห็น.ทั้งๆที่เขารักษาป่ามาตลอด..อยากให้สังคมได้ทราบความจริงว่ารัศมี 3-5 ก.มรอบๆ ป่าโล่งเตียนทำไร่ข้าวโพด ฝนตกน้ำมาผ่าหมู่บ้านหินลาดแม้มีต้นไม้ก็เอาไม่อยู่ อยากให้หน่วยงานราชการหรือเอกชนเข้าไปช่วยพื้นฟูหมู่บ้านนี้โดยเฉพาะด้านจิตใจที่กระทำดีปฏิบัติดีมาตลอดแต่ได้รับตำหนิ

ป่าค่า ชิตี้ : แต่ทิศทางการไหลของน้ำมันคนละด้านนะครับ ถ้าดูใน maps ชุมชนเขาตั้งอยู่ต้นน้ำเลย ต้องดูภูมิศาสตร์และทิศทางการไหลของน้ำ ไม่ใช่ดูแค่ในแผนที่แล้วซึ่งมันสรุปไม่ได้หรอก อีกอย่างทำให้คนอื่นเข้าใจผิดไปด้วย

Kom Panyawat : สาเหตุหลักเกิดเพราะปรากฏการณ์เรือนกระจกครับ ซึ่งทุกคนมีส่วนทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ อย่าโทษแต่คนดอยสิครับ

ที่มา ทีมโดรนอาสา

นักเขียน นักวิชาการหลายคนออกมาโต้ว่าเป็นมุมมองที่บิดเบือนข้อมูลความจริง

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปล คอลัมน์นิสต์ เผยว่า การเกิดน้ำป่าและดินโคลนถล่มที่หินลาดในไม่เกี่ยวอะไรทั้งสิ้นกับเขาหัวโล้น ไร่ข้าวโพด หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ผู้สื่อข่าวสำนักหนึ่งหนึ่งและนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวอ้าง เพราะอยู่กันคนละสันเขาและระดับอยู่ต่ำกว่าจุดเกิดเหตุ และรูปที่นักวิชาการไป copy จากที่ไหนไม่รู้มาโพสต์มาโพสต์ประกอบเพื่อให้คนคล้อยตามก็ไม่เกี่ยวกัน

อุดร วงษ์ทับทิม นักเขียน นักแปล นักวิชาการอิสระ  เล่าว่า ปกาเกอะญอบ้านหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า มีแบบแผนการอนุรักษ์ป่าที่เยี่ยมยอดมาก ต้นไม้ใหญ่ยังเห็นได้ทั่วไป เป็นการอยู่กับป่า กินกับป่า รักษาดุลยภาพของระบบนิเวศไว้ได้เป็นอย่างดี ฝนที่ตกลงมาแบบ Rain bomb เช่นเดียวกับที่เมืองปาย น้ำป่าปริมาณมากจากภูเขาจะรุนแรงเชี่ยวกราก กวาดเอาสิ่งกีดขวางไปกับสายน้ำ

ในขณะที่ ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์  อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการภูมิวัฒนธรรม ประจำวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และรักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว.แม่แจ่ม ได้เปิดเผยว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นที่หินลาดในครั้งนี้ว่า ก่อนนั้น อาจารย์ชูพินิจ เกษมณี นักวิชาการอิสระ และที่ปรึกษาสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ได้เคยอธิบายเอาไว้ว่า “สิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าป่าที่อุดมสมบูรณ์จะไม่มีเหตุการณ์น้ำป่า  แต่นักวิชาการป่าไม้ต่างชาติเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า น้ำป่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากป่าดงดิบ หรือป่าที่อุดมสมบูรณ์ เหตุผลคือ ป่าดงดิบ/ป่าปฐมภูมิที่มีพรรณไม้หนาแน่น ปรกติผืนดินได้อุ้มน้ำไว้อย่างเต็มที่แล้ว เมื่อฝนตกในป่าประเภทนี้ ผืนดินไม่สามารถดูดซับน้ำได้มากนัก จึงไหลลงสู่พื้นที่ต่ำ ยิ่งฝนตกหนักต่อเนื่อง น้ำที่ไหลลงก็จะมีสภาพเป็นน้ำป่าที่รุนแรง ช่องทางน้ำธรรมชาติขนาดเล็กที่มีอยู่จึงระบายไม่ทัน น้ำป่าจึงใช้ถนนเป็นทางระบายโดยเร็ว”

จตุพร เทียรมา อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็ออกมาเตือนว่า อย่าเหมารวม กรณีมีข้อสังเกตจากนักวิชาการ ว่า ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้ลดลงจากปี 2565 เหลือเพียง 171,143.04 ไร่ เพราะการตัดไม้ทำลายป่า เปลี่ยนภูเขาเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ปีละเกือบ 200,000 ไร่ เป็นสาเหตุสำคัญของอุทกภัยและดินถล่มครั้งใหญ่ของ จ.เชียงราย, เชียงใหม่, ลำปาง, แพร่, น่าน และพะเยา

จตุพร เทียรมา ให้ข้อมูลในรายการ Flash Talk (24 ก.ย. 67) ว่า การทำเกษตรในแต่ละพื้นที่ ไม่เหมือนกัน บางจุดเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวบนพื้นที่สูง บางจุดเป็นพื้นที่เกษตร ที่ดูแลระบบนิเวศไปด้วย เช่น “ไร่หมุนเวียน” ซึ่งทำเกษตรและพักฟื้นพื้นที่ ให้ระบบนิเวศฟื้นฟู โครงสร้างการอุ้มน้ำใกล้เคียงกับระบบนิเวศในป่า ส่วนระบบ “ไร่เชิงเดี่ยว” จะต่างกัน เพราะเน้นปลูกพืชชนิดเดียว เช่น ปลูกข้าวโพดอย่างเดียว ทำซ้ำ ๆ การอุ้มน้ำหรือโครงสร้างของดินที่จะรับน้ำก็แตกต่างกัน อย่ามาเหมารวม ระบบไร่หมุนเวียน กับ ระบบพืชเชิงเดี่ยว คือความต่างของการใช้ที่ดินบนพื้นที่สูง 

ที่มา : the Active.net

จตุพร เชื่อว่า สาเหตุหลักของน้ำป่าไหลหลากที่เกิดขึ้น ไม่สามารถเหมารวมได้ว่า ชาวบ้านทุกพื้นที่ทำลายป่า เพราะชาวบ้านที่ห้วยหินลาดใน สร้างระบบจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างสมบูรณ์ แต่ที่เกินเงื่อนไขจะรับมือคือฝนที่ตกหนัก และแช่นานอยู่ในพื้นที่ คล้าย Rain Bomb ซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อนทำให้เมฆฝนไม่เคลื่อนตัวไปตกพื้นที่อื่น จนเกิดดินสไลด์ น้ำป่าไหลหลาก 

เช่นเดียวกัน สมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงา ก็สะท้อนความเห็นเอาไว้ว่า คืออันนี้งงว่าผู้คนแยกไม่ออกระหว่างน้ำป่าไหลหลากกับดินโคลนถล่ม  นี่เรายังต้องเถียงกันว่าการมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ย่อมเป็นการป้องกันหรือทุเลาปัญหาน้ำป่าไหลหลากหรือไม่กันอีกเหรอ ถ้าน้ำฝนปริมาณเท่ากันตกอยู่บนเขาที่หัวโล้นกับป่าที่สมบูรณ์มันจะเหมือนกันได้อย่างไร? ความสามารถในการดูดซับน้ำย่อมดีกว่าแน่นอนและยังทำให้ชะลอการไหลของน้ำได้อีกด้วย แต่แน่นอนว่าถ้าฝนหนักมากความสามารถเกินความสามารถของการอุ้มน้ำย่อมเกิดน้ำหลากได้เช่นกัน แต่เบากว่าแน่นอน  ส่วนดินโคลนถล่มนั้นเกิดขึ้นอยู่บนเงื่อนไขของความลาดชันและปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา เมื่อดินอิ่มน้ำเต็มที่จนถึงจุด Critical mass มันก็เกิดดินสไลด์ขึ้นที่ผู้คนจำนวนหนึ่งโต้แย้งกันอยู่ ไม่ทราบว่าเถียงกันเรื่องโคลนถล่มหรือน้ำป่า ไหลหลาก

สื่อสาธารณะโดนประชาสังคมยำเละ เมื่อนำเสนอข้อมูลด้านเดียว

กระแสประเด็นนี้ยังไม่หยุด เมื่อผู้สื่อข่าวสื่อโทรทัศน์สาธารณะช่องหนึ่ง ได้มีการทำสกู๊ปรายงานออกมานำเสนอ โดยระบุว่า ป่าต้นน้ำ เวียงป่าเป้า หาย ต้นเหตุน้ำป่ารุนแรง-ภูเขาหัวโล้น พื้นที่ปลูกเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว โดยมีการสัมภาษณ์นักวิชาการคนที่ออกมาโพสต์ข้อมูลผ่านสื่อโซเซียลมีเดียของตนเอง ซึ่งยังคงใช้ข้อมูลชุดเดิม ที่เหมารวม และมีอคติต่อชาติพันธุ์อยู่เหมือนเดิม จนทำให้ภาคประชาสังคม เครือข่ายชาติพันธุ์ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย 

จี้สื่อและนักวิชาการบางคนหยุดแปะป้าย ‘ไร่หมุนเวียน’ เป็นต้นตอน้ำป่าไหลหลาก และยุติผลิตซ้ำอคติต่อชาวชาติพันธุ์ 

26 ก.ย. 2567 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) ร่วมด้วยสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เรื่อง “จงหยุดพฤติกรรมแปะป้าย ‘ไร่หมุนเวียน’ เป็นสาเหตุน้ำป่าไหลหลากอย่างไร้สามัญสำนึก” เพื่อตอบโต้กรณีหลังจากมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ ปรากฏภาพน้ำท่วมชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน ม.7 ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เมื่อ 23 ก.ย. 2567 และมีผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนบางราย กล่าวหาว่าโดยโยงว่า ‘การทำไร่หมุนเวียน’ ที่เป็นวิถีวัฒนธรรมและการเกษตรดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ มีการตัดไม้ทำลายป่า และเป็นสาเหตุของน้ำป่าไหลหลาก และเกิดผลกระทบต่อคนเมือง

แถลงการณ์ระบุว่า ยกตัวอย่าง เพจเฟซบุ๊กหนึ่งใช้ภาพมุมสูงชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน ผูกกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวจนภูเขาหัวโล้น นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมบางคนเปิดตัวเลขการสูญเสียพื้นที่ป่า เหมารวมรูปแบบการเกษตรทุกประเภท และอ้างว่าประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในป่าเป็นต้นเหตุ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางรายนำภาพพิธีหยอดข้าวไร่มาวิจารณ์อย่างรุนแรง สื่อสาธารณะบางช่องให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง  

แถลงการณ์ระบุต่อว่า การกระทำลักษณะนี้ถือเป็นการซ้ำเติมปัญหาของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่มีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนมนุษย์ นำเสนอข้อมูลไม่อยู่บนฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง และหลักวิชาการ รวมถึงนำภาพของชุมชนไปใช้และสร้างความเสื่อมเสีย โดยไม่มีการขออนุญาตจากชุมชน

นอกจากนี้ การปฏิบัติงานและการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน และสื่ออื่นๆ กำลังสร้างอคติเหมารวมคนชาติพันธุ์โดยไม่แสวงหาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านจากในพื้นที่ สร้างผลกระทบต่อผู้ที่ไม่มีอำนาจต่อรอง และขาดความกล้าหาญในการนำเสนอต้นตอสาเหตุของปัญหา นำเสนอข้อมูลลักษณะจับแพะชนแกะหาแพะรับบาปในปัญหาสิ่งแวดล้อม

ย้ำ ‘ไร่หมุนเวียน’ เป็นเกษตรยั่งยืนที่รัฐยอมรับ

ข้อมูลจากแถลงการณ์ของ มพน. และ สกน. ระบุด้วยว่า ชุมชนห้วยหินลาดใน ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่แต่เดิมเคยถูกรัฐไทยใช้ทรัพยากรป่าจนเสื่อมโทรม และเป็นประชาชนชาวปกาเกอะญอในพื้นที่ฟื้นฟูป่าจนกลับมาอุดมสมบูรณ์ ร่วมคัดค้านการให้สัมปทานป่าไม้โดยรัฐ จนมีนโยบายป่าการสัมปทานในที่สุด ทั้งนี้ พื้นที่จัดการทรัพยากรของชุมชนทั้ง 10,279.7 ไร่ มีพื้นที่ป่าที่อุมดมสมบูรณ์มากถึง 8,635.37 ไร่ นอกนั้นคือพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่เป็นระบบการเกษตรเพื่อการสมดุลนิเวศ พื้นที่สวนวนเกษตร และพื้นที่อยู่อาศัย

การจัดการของชุมชนได้รับการยอมรับจากหลายหน่วยงานทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ รวมถึงชุมชนได้เป็นพื้นที่นำร่องประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง รวมถึงยังมีหลายงานวิจัยที่ยืนยันว่า ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน ดูดซับฝุ่นและคาร์บอน และยังสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมจนได้เป็นหนึ่งในรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืนของชาติที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยอมรับ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติในปี 2556 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ

แถลงการณ์ระบุต่อว่า การจัดการรูปธรรมที่ชุมชนบ้านห้วยหินลาดในเกิดขึ้นท่ามกลางความเหลื่อมล้ำในด้านคุณภาพชีวิต และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เข้าไม่ถึงสิทธิบรรพชน และเกิดขึ้นท่ามกลางแรงเสียดทานจากมายาคติทางสังคมที่อยากรักษาป่าแต่ต่อต้านคนดูแลป่าโดยชาวชาติพันธุ์ อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ในเว็บไซต์ https://www.lannernews.com/25092567-04/ 

ประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ได้ออกมาย้ำว่า ไม่ได้ต้องการให้นำเสนอข่าวเข้าข้างเรา ไม่ได้ต้องการให้นำเสนอข่าว เอาใจชาวบ้าน ไม่ต้องมาแก้ต่างให้เรา…เราแค่ต้องการให้นำเสนอความจริงให้รอบด้านและไม่ปล่อยให้นักวิชาการมาพิพากษาทำร้ายชาวบ้านอยู่ฝ่ายเดียวก็พอ

เช่นเดียวกับ วศินธร แสนสิงห์ ที่สนใจติดตามและศึกษาในประเด็นทรัพยากรฯ มานานหลายสิบปี ก็ได้ออกมาตำหนิสื่อมวลชนและนักวิชาการคนดังกล่าว ที่นำข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมานำเสนอ ว่า โพสต์แรกๆ ของนักวิชาการคนนี้ เอาภาพต่างเวลา ต่างสถานที่ มาเขียนลงคอนเทนต์เดียวกัน แล้วเอาภาพดาวเทียมในพื้นที่ติดกันมาเขียนอีก แต่พิกัดตำแหน่งหมู่บ้าน เส้นทางและทิศทางน้ำไหล เหนือ ใต้ ออก ตก ผิดเพี้ยนไปหมด ทั้งๆ ที่บ้านห้วยหินลาดในอยู่ต้นน้ำ ในขณะที่บ้านป่าตึง ที่ไปกล่าวหาว่าเขาปลูกข้าวโพดทำลายป่านั้นอยู่ต่ำลงมา 6-7 กม. แล้วไปสรุปว่าบ้านห้วยหินลาดในถูกโคลนถล่ม เพราะมีการทำไร่ข้าวโพดบนต้นน้ำ มันจะเป็นไปได้ยังไง

“ส่วนนักข่าวก็ยิ่งมั่ว แล้วก็ไปทำสกู๊ปมั่ว สื่ออื่นๆ ก็นำไปเผยแพร่มั่วๆ คนดูก็เลยมั่วตาม ทีนี้เลยมั่วกันไปหมด จนภาคประชาสังคมต้องมาคัดค้าน ส่วนจะมีฟ้องเอาผิดผู้กล่าวหาหรือไม่นั้น ซึ่งจริงๆ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการฟ้องนะ เพราะในด้านกลับกัน อาจจะทำให้นักวิชาการที่อุทิศตัวให้ประชาชนที่มักจะมีกรณีถูกฟ้องจากบรรษัทหรือหน่วยงานรัฐถูกฟ้องปิดปากได้ง่ายขึ้น ผมเลยเห็นว่าควรใช้พลังทางสังคมกดดันให้เขาออกมารับผิดชอบ ทั้งลุงนักวิชาการคนนั้น ทั้งสื่อที่ทำสกู๊ปนี้ออกมา โดยขอให้ทั้งสองแถลงการณ์ขอโทษออกสื่อทุกประเภท หรือจะทำเป็นหนังสือแถลงการณ์ขอโทษผ่านสื่อ 7 วัน 10 วัน หรืออะไรแบบไหนก็ว่าไป แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ชุมชนและเครือข่ายประชาสังคมว่าจะตกลงกันยังไง”

ล่าสุด ผศ. ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ออกมาเผย พร้อมภาพพื้นที่ป่าที่อยู่ล้อมรอบชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน ที่ทีมโดรนจิตอาสา บ้านหินลาดใน ได้บินสำรวจ โดยระบุว่า ดูกันชัดๆ ครับ สภาพจุดเกิดเหตุน้ำป่าและดินโคลนถล่มที่บ้านหินลาดใน จังหวัดเชียงราย จะเห็นได้ว่าสภาพพื้นที่เป็นเขาสูงชัน มีป่าสมบูรณ์มาก ลักษณะแบบนี้เป็นมีความเสี่ยงดินโคลนถล่มหากเกิดฝนตกหนักอยู่แล้ว และนักธรณีวิทยาอาจจะไขคำตอบได้ว่า ทำไมจึงเกิดน้ำป่าและดินโคลนถล่มที่หินลาดใน เพื่อหาทางป้องกันต่อไป

การเกิดน้ำป่าและดินโคลนถล่มที่หินลาดในไม่เกี่ยวอะไรทั้งสิ้นกับเขาหัวโล้น ไร่ข้าวโพด หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ผู้สื่อข่าวสำนักหนึ่งและนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวอ้าง เพราะอยู่กันคนละสันเขาและระดับอยู่ต่ำกว่าจุดเกิดเหตุ และรูปที่นักวิชาการไป copy จากที่ไหนไม่รู้มาโพสต์ประกอบเพื่อให้คนคล้อยตามก็ไม่เกี่ยวกัน

“ป่าที่บ้านหินลาดในสมบูรณ์มาก เพราะชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดในร่วมกันอนุรักษ์ตั้งแต่ยังไม่มีความคิดสีเขียวในสังคมไทย ทั้งนี้ก็เพราะวิถีชีวิตและโลกทัศน์ที่เคารพต่อธรรมชาติของชาวปกาเกอะญอ แม้ยุคสมัยเปลี่ยน แต่พวกเขาก็ไม่ได้เปลี่ยนตาม จนกระทั่งการอนุรักษ์ของชาวปกาเกอะญอบ้านหินลาดในเป็นที่ยอมรับทั้งระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับสากล”

ย้ำ ป่าบ้านห้วยหินลาดในที่ชาวบ้านรักษาเป็นป่าชุมชน ไม่ได้เหมือนผลไม้ที่ข้างในมีหนอนอย่างที่นักข่าวบรรยาย 

ผศ. ดร. ไชยณรงค์ บอกอีกว่า แม้นักข่าวและนักวิชาการจะไม่ได้กล่าวหาตรงๆ ว่าชาวปกาเกอะญอบ้านหินลาดในทำลายป่า ทำให้เกิดเขาหัวโล้นที่เป็นสาเหตุของภัยพิบัติ แต่ทั้งการเสนอข่าวของนักข่าวและการโพสต์ของนักวิขาการหลายโพสต์ส่อไปทางนั้น ซึ่งคนดูข่าวและคนอ่านโพสต์ก็เข้าใจอย่างนั้น เห็นได้จากข่าวของสำนักข่าวมีการนำไปอ้างอิงต่อ และโพสต์ของนักวิชาการมียอดไลค์ยอดแชร์จำนวนมาก รวมทั้งมีคอมเมนท์ที่ลามไปสู่การกล่าวหาคนบนพื้นที่สูงตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกข้าวโพดที่เป็นสาเหตุของอุทกภัยในภาคเหนือ ที่สมควรโดนผลกระทบ

“การรายงานข่าวและการโพสต์บิดเบือนข้อมูลจากจุดเล็กๆ ได้ผลิตซ้ำวาทกรรมชาวเขาทำลายป่าที่มีมานานในสังคมไทย ที่สร้างความเสียหายให้กับกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง และเป็นการป้ายสีให้คนบนพื้นที่สูงต้องตกเป็นแพะรับบาปสำหรับอุทกภัยในครั้งนี้ การเป็นผู้สื่อข่าวจำเป็นต้องไม่ทำงานเพราะความเชื่อบางประการ หรืออคติใดๆ จะละเลยการพิจารณาข้อเท็จจริงที่รอบด้านและไม่คำนึงผลที่จะตามมาไม่ได้ จึงต้องยึดจรรยาบรรณในการทำงาน ยิ่งเป็นสื่อสาธารณะ ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับเสียงของคนเล็กคนน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ คนชายขอบ ที่ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงและใช้สื่อ ซึ่งเป็นหลักการสื่อสาธารณะที่เป็นสากล

ส่วนการเป็นนักวิชาการ ก็ต้องใช้ความรู้ที่ตนมีอย่างสุดความสามารถเพื่อช่วยตอบปัญหาให้กับสังคม การจะโพสต์จะให้สัมภาษณ์ก็ต้องรู้จริง ถ้าไม่รู้จริง แต่เผยแพร่ขัอมูลหรือสัมภาษณ์โดยสรุปจากการดูแต่แผนที่กูเกิลแล้วมโน หรือเอารูปมาแปะเพื่อให้สังคมเข้าใจอีกแบบ ไม่แม้แต่จะศึกษาข้อมูลทั้งจากพื้นที่ หรืองานวิจัยที่ทำมากมายที่บ้านหินลาดใน รวมถึงการแยกแยะระหว่างไร่หมุนเวียนที่รัฐยังยอมรับว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมกับไร่จ้าวโพด ท่านก็ทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคม โดยเฉพาะการสร้างความแตกและความเกลียดชัง ซึ่งไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง”

Ae Korat ทีมอาสาสมัคร เครือข่ายเชียงใหม่-เชียงราย ได้บอกว่า ในฐานะอาสาสมัครผู้สังเกตการณ์และเรียนรู้ผ่านการพูดคุยกับพี่น้องชาวบ้าน  ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ขออนุญาตตั้งข้อสังเกตสั้นๆ ให้ช่วยกันคิดและศึกษาต่อในรายละเอียดเพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้าใจและแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไปดังนี้

– การเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตรซึ่งมีหลายระบบในชุมชนเขตนี้ที่มีทั้งไร่หมุนเวียน  นาข้าว โครงการหลวง พื้นที่ปลูกข้าวโพด (ทั้งในพื้นที่ประสบภัยพิบัติและพื้นที่ใกล้เคียงในระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำ) 

– ลักษณะการจัดการที่ดิน ป่าไม้ การเกษตรและระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ที่แตกต่างกันของแต่ละหมู่บ้าน

– ความแตกต่างทางชาติพันธุ์และความคิดความเชื่อในการจัดการทรัพยากร รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนผ่านในด้านต่างๆจากรุ่นสู่รุ่น (ปกาเกอะญอ ลาหู่ ลีซู คนเมืองพื้นราบ) 

– กฎหมายนโยบายที่มีผลกระทบกับการจัดการทรัพยากร ระบบการเกษตรและวิถีชีวิตของชุมชน

– ปริมาณน้ำฝนที่มากผิดปกติในปีนี้จากสภาวะโลกร้อน

– อากาศที่ชุ่มชื้นเนื่องจากความสมบูรณ์ของผืนป่าที่ทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่หินลาดในและหมู่บ้านใกล้เคียง (เฉพาะพื้นที่ป่าชุมชนบ้านหินลาดดูแลครอบคลุมเกือบ 2 หมื่นไร่) 

– สภาพดิน ภูมิประเทศและธรณีวิทยาที่เสี่ยงต่อดินสไลด์ 

– การปรับเส้นทางน้ำของบ้านหินลาดในเมื่อ 30 ปีก่อน (กรณีเฉพาะบ้านหินลาดใน)

ด้วยความรู้อันน้อยนิดของเราและได้เห็นนักต่างๆ ออกมาพูดมากมายหลายทิศทาง จึงอยากเสนอให้มีการศึกษาร่วมกันอย่างเป็นระบบของนักต่างๆ เหล่านั้นร่วมกับชุมชนในพื้นที่ เช่น นักวิชาการป่าไม้ นักวิชาการเกษตร นักธรณีวิทยา นักภูมิศาสตร์ นักอุทกวิทยา นักอุตุนิยมวิทยา นักพัฒนา นักมนุษยวิทยา นักชาติพันธุ์วิทยา นักสังคมวิทยา นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป มากกว่าจะชี้นิ้วว่าใครใดหนึ่งเป็นผู้ผิด โดยไม่มองว่าปัจจัยตัวแปรต่างๆ นั้นมีมากมายและมีความซับซ้อน และเราทุกคนควรรับผิดชอบโลกใบนี้ร่วมกัน

ร้อนยาว หนาวสั้น ฝนหนัก: แนวโน้มสภาพอากาศของไทยในสภาวะโลกรวน!!  

www.the101.world รายงานว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เกิดจากการที่ก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมากเกินขีดความสามารถที่ธรรมชาติจะดูดซับได้ทั้งหมด หมุดหมายสำคัญคือยุคอุตสาหกรรม ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ก๊าซเรือนกระจกสำคัญๆ ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก๊าซเหล่านี้ดูดซับและสะท้อนความร้อนสู่พื้นผิวโลก ทำให้อุณหภูมิร้อนกว่าปกติ หรือที่เรียกว่า‘ปรากฏการณ์เรือนกระจก’

กิจกรรมของมนุษย์ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกพุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว จากเคยคงระดับที่ 280 ppm (parts per million) เป็นเวลายาวนานหลายล้านปี ก็ทะลุเป็นระดับ 410 ppm ในปี 2019 ก่อนจะทุบสถิติใหม่ของมนุษยชาติในปี 2022 ด้วยระดับความเข้มข้นที่ 421 ppm หรือสูงกว่าระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 50%[1] ส่งผลให้ปรากฏการณ์เรือนกระจกทวีความรุนแรง โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนเกิดภาวะโลกร้อนและกระตุ้นให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนจากเดิม ไม่เพียงแค่อากาศร้อนผิดปกติ แต่ยังเกิดปรากฏการณ์และภัยพิบัติต่างๆ ในหลายพื้นที่บนโลกที่ทั้งผันผวน รุนแรง และคาดเดาได้ยาก

แน่นอนว่า ประเทศไทย ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยร้อนขึ้นอย่างชัดเจน โดยอุณหภูมิสูงสุด อุณหภูมิเฉลี่ย และอุณหภูมิต่ำสุดรายปีของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 0.96 0.92 และ 1.04 ตามลำดับ[2] และอุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกราว 2 องศาในปี 2050 หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยยังมีปริมาณมากเท่าในปัจจุบันและไม่มีนโยบายรับมือที่ดีพอ

นอกจากนี้ ปริมาณฝนของประเทศไทยก็มีความแปรปรวนมากขึ้นทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา โดยปริมาณฝนสะสมรายปีเพิ่มขึ้นในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย แต่ลดลงในภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งอันดามัน หากพิจารณาช่วงเวลาที่ฝนตกพบว่า ปริมาณฝนสะสมรายเดือนช่วงพฤศจิกายนถึงเมษายนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอัตรา 10.8 มิลลิเมตรต่อทศวรรษ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของมรสุมฤดูหนาวเอเชียในเวลาเดียวกัน ทำให้ไทยมีแนวโน้มเผชิญกับเหตุการณ์ฝนตกหนักถี่ขึ้นและบางพื้นที่ก็มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมฉับพลันมากขึ้นอีกด้วย

เพื่อคาดการณ์ระดับอุณหภูมิในอนาคต คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel of Climate Change: IPCC) ได้สร้างแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนำเสนอสมมติฐานหลากหลายรูปแบบใน ‘4 ฉากทัศน์’ แต่ละฉากทัศน์มีเส้นตัวแทนความเข้มข้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ RCP (Representative Concentration Pathways) ที่สะท้อนระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวโน้มอุณหภูมิ และความพยายามดำเนินนโยบายเพื่อรับมือวิกฤตของประชาคมโลก ตั้งแต่ปี 2000 จนถึง 2100 ดังนี้

ในฉากทัศน์ที่ถือว่าเป็นอุดมคติที่สุด (RCP2.6) ทุกประเทศร่วมมือผลักดันนโยบายภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) คาดการณ์ได้ว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิจะลดลงเหลือศูนย์ในปี 2080 และอุณหภูมิของประเทศไทยในปี 2100 จะสามารถควบคุมให้ไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.07 องศาเซลเซียสได้ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากที่สุด

ในฉากทัศน์ระดับกลาง (RCP4.5) การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จะถึงจุดพีคในปี 2050 อุณหภูมิประเทศไทยสูงขึ้น 2.05 องศาเซลเซียสในปี 2100

ในฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด (RCP8.5) เมื่อโลกไม่สามารถสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงปี 2050 จนความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 950 ppm ในปี 2100 พร้อมกับอุณหภูมิประเทศไทยที่ทะยานขึ้น 4.29 องศาเซลเซียส

ไทยเปราะบางต่อโลกรวน สูญเสียทั้งชีวิตคนและเศรษฐกิจ

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอีกเกือบ 100 ปี อาจดูเป็นเรื่องไกลตัวที่ยังไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมจนกลายเป็นวาระหลักของสังคมได้มากนัก แต่ในความเป็นจริงความเสียหายจากวิกฤตดังกล่าวได้ปรากฏให้เห็นแล้วตั้งแต่วันนี้และจะลุกลามขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยเป็นประเทศที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกตลอด 20 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะกระทบหนักขึ้นในอนาคต

เช่นเดียวกับ ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้โพสต์ในเพจ Thon Thamrongnawasawat ว่า ช่วงนี้ผมพูดเรื่องโลกร้อนหลายแห่ง คำถามจะคล้ายกัน ทำไม 5-6 ปีที่ผ่านมา เหมือนกับว่าภัยพิบัติเกิดขึ้นรัวๆ ถี่กว่าสมัยก่อน จึงทำภาพนี้มาอธิบายเพื่อนธรณ์ครับ

เริ่มจากช่องบบนซ้าย เป็นกราฟอุณหภูมิโลกจาก NASA จะเห็นว่าก่อนหน้านั้นโลกก็ร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่หลังปี 2000 ความร้อนชักเพิ่มเร็ว แล้วกลายเป็นพุ่งชันในช่วง 4-5 ปีจนถึงตอนนี้

มาดูภาพล่าง นั่นคือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในโลก นับเฉพาะที่สร้างความเสียหายเกิน 1 พันล้านเหรียญ (34,000 ล้านบาท) จะเห็นว่าจำนวนภัยพิบัติเพิ่มขึ้นเห็นได้ชัด โดยเฉพาะช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา 

เทียบให้ชัดๆ ปี93 มีภัยพิบัติ 5 ครั้ง 

ปี 2023 มีภัยพิบัติ 23 ครั้ง

สามสิบปี ภัยพิบัติเพิ่มขึ้น 4 เท่าเศษ !

มาถึงภาพสุดท้าย แผนที่ความเสี่ยงภัยพิบัติ ผมเอามาให้ดูเฉพาะแถวเมืองไทย เฮอริเคนคือไต้ฝุ่นและพายุหมุนทั้งหลาย เมืองไทยอยู่ด้านใน ไม่ได้รับผลกระทบจากไต้ฝุ่นเข้าโดยตรง แต่เราคือประเทศเสี่ยงมาก ๆ เรื่องน้ำท่วมจากฝนที่มาพร้อมพายุ 

จากทั้ง 3 ภาพ คงตอบได้ว่าภายในช่วงไม่กี่ปี ทำไมถึงมีภัยพิบัติมาถี่ๆ ปัญหาคือต่อไปมันจะถี่กว่านี้ เพราะนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกล้วนฟันธงตรงกันว่าโลกจะร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เกี่ยวกับว่าจะ net zero ปีไหน ? เพราะไม่ว่าจะทำยังไง ในช่วง 10-20 ปีต่อจากนี้ มีแต่โลกร้อนเป็นจรวด

การรับมือระยะสั้นเป็นเรื่องจำเป็น แต่การมองไปข้างหน้า เราต้องรับมือน้ำท่วมตรงนี้แบบนี้อีกกี่ครั้งในอนาคต ต้องเสียเงินอีกเท่าไหร่ในการซ่อมแซมฟื้นฟู มันอาจทำให้เราคิดได้ว่า หากอยากอยู่ตรงนี้ต่อไป มันคุ้มหรือไม่ที่จะสู้แบบไปตายเอาดาบหน้า 

มันคุ้มหรือไม่ในการกู้เงิน 20-30 ปีเพื่อมีบ้านสักหลัง มีกิจการสักอย่างในพื้นที่เสี่ยง ในยุคที่ภัยพิบัติมาถี่ขึ้นเรื่อยๆ การลงทุนที่รอบคอบ อาจต้องพิจารณาภัยพิบัติเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เช่นนั้น world economic forum คงไม่ยกให้ extreme weather เป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งของโลก

“จึงนำเรื่องนี้มาบอกเพื่อนธรณ์ให้ลองคิด มันอาจยากต่อความเข้าใจเนื่องจากไม่มีใครเคยอยู่ในยุคโลกเดือด คำสั่งสอนบางเรื่องของคุณปู่คุณตาในยุคก่อน อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในยุคนี้ แต่นี่แหละคือเรื่องที่ผมอยากเล่า เพื่อตอกย้ำว่า นอกจากเราต้องช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก ปลูกต้นไม้รักษาธรรมชาติ ฯลฯ สิ่งสำคัญคือเราต้องหาทางเอาตัวรอดให้ได้ ด้วยความเข้าใจโลกเดือดและวางแผนระยะยาวไว้ล่วงหน้าเพื่อรับมือ รับมือไม่จำเป็นต้องสู้เสมอไป รับมืออาจหมายถึงถอยได้เมื่อรู้ว่าภัยจะมาแน่และจะมามากขึ้น หรือแม้กระทั่งไม่ไปอยู่ในพื้นที่ซึ่งไงๆ ก็คงโดน เราคงไม่อยากพึ่งพี่ๆ กู้ภัยหรือน้ำใจจากการบริจาคตลอดไป ในยามที่โลกกำลังใกล้ลุกเป็นไฟครับ”

ในขณะที่เวบไซต์ ห้วยหินลาดใน www.hinladnai.com ก็รายงาน ทำไมถึงเกิดน้ำป่าไหลหลากที่หินลาดใน เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ต้นน้ำหินลาดในเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านที่นี่ป้องกันไฟป่าไม่ให้ไฟลามเข้ามาเป็นเวลาเกือบ 40 ปีติดต่อกัน ป่าจึงมีสภาพที่คล้ายๆฟองน้ำที่สามารถดูดซับปริมาณน้ำได้จำนวนมาก ประกอบกับต้นไม้ต้นใหญ่ๆมีเป็นจำนวนมากจึงสามารถคงเป็นสภาพที่เอื้อต่อการดูดซับน้ำได้อย่างดีตลอดหลายสิบปี

เนื่องจากปีนี้ปริมาณน้ำฝนมีจำนวนมากขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อนหน้านี้ ประมาณเที่ยงคืนวันที่ 22 กันยายน 2567 ฝนได้ตกลงมาอย่างหนักและตกติดต่อกันยาวนานไปจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2567 และยังตกต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ (วันที่ 26 กันยายน 2567) จากเหตุที่ฝนตกหนักและนานทำให้ปริมาณน้ำฝนมหาศาลลงมากยังป่าต้นน้ำบ้านหินลาดใน เดิมทีที่แห่งนี้ก็เก็บซับน้ำไว้อยู่แล้วก่อนหน้านี้ประกอบกับฝนได้ตกต่อเนื่องอีกจึงทำให้ปริมาณน้ำเกินมากเกินกว่าที่ป่าแห่งนี้จะรับไหว จึงทำให้ต้นไม้ซึ่งมีน้ำหนักมาก ดินที่อุ้มน้ำจำนวนมาก และอยู่บนลักษณะลาดเอียง ในที่สุดจึงไหลลงมาทั้งดิน น้ำ และต้นไม้ เท่านี้ยังไม่พอยังไหลลงมากั้นทางน้ำอีกพอน้ำถูกกั้นก็สะสมปริมาณมากขึ้นจนทะลักออกมาในลักษณะคล้ายกับเขื่อนที่แตกลงมาจึงปรากฏภาพอย่างที่เห็นกันในสื่อ

ที่มาภาพ : ทีมโดรนจิตอาสา

เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ยังเกิดขึ้นทั้งโลกด้วย ทั้งประเทศทางยุโรปและประเทศญี่ปุ่น สาเหตุหลักเนื่องจากภาวะโลกร้อน ตอนนี้อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงขึ้นประมาณ 1.1-1.5 องศา ทำให้การระเหยของน้ำมีปริมาณมากขึ้นควบแน่นเป็นก้อนเมฆที่ใหญ่ขึ้นจึงทำให้ฝนตกลงมาหนักขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน มากเกินกว่าที่กลไกธรรมชาติจะรองรับได้เป็นเหตุทำให้เกิดเหตุการณ์ที่บ้านหินลาดในขึ้นมา หลังจากนี้เป็นต้นไปคาดการว่าปริมาณฝนน่าจะมีมากขึ้นทุกปีเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจากการใช้ทรัพยากรด้วยความโลภของมนุษย์ในการตอบสนองความต้องการที่เกินกว่าความจำเป็น 

เพราะฉะนั้น เรื่องของสิ่งแวดล้อมจำเป็นที่ต้องทำเป็นลักษณะทุกที่ในวงกว้าง และเป็นเรื่องของคนทุกคน เพราะโลกใบนี้เป็นโลกของเราทุกคน และเป็นทั้งของสิ่งมีชีวิตอื่นๆนอกเหนือจากมนุษย์ด้วย

บทความของเวบไซต์ห้วยหินลาดใน คงเหมือนต้องการจะตอบคำถามของสื่อ ของสังคม รวมไปถึงนักวิชาการบางคนที่ชอบเหมารวมและแฝงไปด้วยอคติทางชาติพันธุ์ที่มักกล่าวอ้างลอยๆ ว่า เหตุน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่มในครั้งนี้นั้น มาจากการตัดไม้ทำลายป่า การถางไร่ เหนือหมู่บ้าน ซึ่งหลายคนมองว่า นี่เป็นการวิพากษ์ที่ให้ข้อมูลบิดเบือนผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ส่งผลทำให้ชุมชนแห่งนี้เสื่อมเสีย และไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยไม่ได้ดูบริบทภาพรวมของปัญหาหรือปรากฎการณ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นไปทั่วโลกในขณะนี้ 

ข้อมูลและอ้างอิง

  • ภาพประกอบ : *โจ้ หนังแลกลาบ,โพควา โปรดักชั่น นักสื่อสารชาติพันธุ์,ทีมอาสาสมัคร,ทีมโดรน จิตอาสา
  • ไทยต้องสูญเสียอะไรบ้าง หากการแก้ปัญหาโลกรวนยังไปไม่ถึงไหน?, www.the101.world, 3 Dec 2022
  • ทำไมถึงเกิดน้ำป่าไหลหลากที่หินลาดใน,www.hinladnai.com
  • ภาคประชาสังคมร้องสื่อหยุดแปะป้าย ‘ไร่หมุนเวียน’ เป็นต้นตอน้ำป่าไหลหลาก,ประชาไท, 26 กันยายน 2567
  • “ชีวิตพอเพียง” รวมเรื่องราว “นวัตกรรมการสร้างสุขภาพ” ที่ดำเนินชีวิตด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง : สำนักงานปฏิรูปสุขภาพแห่งชาติ(สปรส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขกระทรวงสาธารณสุข,ตุลาคม 2549                                         
  • “ห้วยหินลาดใน” หมู่บ้านของความสุข-ความพอเพียงแท้จริง มิใช่เสแสร้งแกล้งทำ, ประชาไท,องอาจ เดชา, 28 พฤศจิกายน 2549
  • IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change):https://www.ipcc.ch
  • NASA Climate Change:https://climate.nasa.gov
  • NOAA Global Climate Change Indicators:https://www.ncdc.noaa.gov/monitoring-references/faq/global-warming.php
  • https://www.mlit.go.jp:8088/river/pamphlet_jirei/kasen/gaiyou/panf/pdf/2024/kasengaiyou2024_1.pdf