เรื่องและภาพ: อนันตญา ชาญเลิศไพศาล

‘Museum of Broken Relationships หรือ ‘พิพิธภัณฑ์แห่งการจากลา’ พื้นที่บอกเล่าเรื่องราวความรัก ความสัมพันธ์ และการสูญเสีย ร้อยเรียงผ่านการจัดแสดงวัตถุสิ่งของที่รวบรวมจากผู้คนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น กระจกมองข้าง, ไม้นวดแป้ง, ชุดแต่งงาน และสิ่งของอีกมากมาย ที่คุณเองก็สามารถส่งวัตถุและเรื่องเล่าเข้ามาร่วมจัดแสดงได้

ในปี พ.ศ. 2553 การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ถาวรแห่งแรกได้เริ่มต้นขึ้นที่กรุงซาเกร็บ ณ ประเทศโครเอเชีย และได้เดินทางไปจัดแสดงทั่วโลกอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 18 ปี จนปัจจุบันในปี พ.ศ. 2567 พวกเขาข้ามทวีปจากกรุงซาเกร็บ มาสู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย นำพาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาปักหลักที่เมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในอาคารเก่าแก่อย่าง ‘เตีย หย่ง เชียง’ ที่มีอายุราว 120 ปี ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447 เป็นอาคารที่โดดเด่นด้วยผนังสีขาวตัดกับไม้สีน้ำตาลเข้ม ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมริมถนนท่าแพและถนนวิชยานนท์

ภาพจาก Museum of Broken Relationships

Lanner Joy มีโอกาสพาทุกคนไปรู้จักกับ โอลินก้า วิสติก้า (Olinka Vištica) และ ดราเซ็น กรูบิซิค (Dražen Grubišić)‘ สองผู้ก่อตั้ง Museum of Broken Relationships แม้จะเดินทางจัดแสดงนิทรรศการมาแล้วทั่วโลก จนพวกเขาได้เลือกเชียงใหม่เป็นบ้านหลังที่สองให้เราได้เยี่ยมชม และเป็นหมุดหมายอันดีที่จะทำความเข้าใจบริบทของวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ที่แฝงเร้นอยู่ในวัตถุแต่ละชิ้น พิพิธภัณฑ์แห่งที่สองนี้ นำทีมโดยภัณฑารักษ์ Charlotte Fuentes และ อีฟ – ปิยธิดา อินตา ออกแบบภายในโดย STA Studio จากฝีมือของ Petra Tikulin และ อัศรินทร์ สงวนวงศ์วาน ด้านเอกลักษณ์ทางภาพและกราฟิกดีไซน์ ได้รับการออกแบบอย่างประณีตโดย นุภาพ อัญญานุภาพ ทาร์ จาก Graphic Design Unit Studio

ทำความรู้จักกับผู้ก่อตั้งทั้งสอง

โอลินก้า วิสติก้า โปรดิวเซอร์ และผู้กำกับงานเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติ และเทศกาลภาพยนตร์แอนิเมชันโลก ANIMAFEST ZAGREB ทำงานเกี่ยวกับโครงการทางวัฒนธรรมในโครเอเชียมานานกว่า 20 ปี ส่วน ดราเซ็น กรูบิซิค ศิลปินที่จบการศึกษาจาก Academy of Fine Arts ในซาเกร็บ เขาทำงานศิลปะหลากหลายแขนง รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบ, สื่อโทรทัศน์, ภาพยนตร์ จนถึงการละคร

เรื่องราวความสัมพันธ์ที่แม้จะสิ้นสุดลง แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ ‘Museum of Broken Relationships’ 

โอลินก้า: ตอนนั้นฉันมีโอกาสทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปะการแสดงร่วมสมัยร่วมกับ Kalina Cremona  ซึ่งเป็น Choreographer หรือนักออกแบบท่าเต้นชาวฝรั่งเศส และฉันต้องการ Set Designer ที่จะมาช่วยออกแบบฉากให้กับงานนี้ ฉันนึกถึงดราเซ็น เพราะรู้ว่าเขาเคยทำงานออกแบบมาหลายครั้ง จากการทำงานครั้งนั้น เราจึงสนิทกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ตัดสินใจคบกันและอยู่ด้วยกันเป็นเวลา 4 ปี 

โอลินก้า: เมื่อตอนที่เราทั้งสองคนตัดสินใจเลิกรา แต่ก็ยังต้องอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ตอนนั้นเราพยายามแยกชีวิตออกจากกัน แต่รอบตัวเรายังมีของต่างๆ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำ อย่างเครื่องเล่นวิดีโอที่เคยใช้ดูหนังด้วยกัน หรือหนังสือทุกเล่มของเหล่านี้เป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้ระลึกถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งหมด 

ตอนนั้นเรามีสิ่งของอยู่หนึ่งชิ้น นั่นก็คือ “กระต่ายไขลาน” ที่เราเลี้ยงดูราวกับสัตว์เลี้ยงจริงๆ เพราะด้วยความที่ดราเซ็นแพ้แมว อีกทั้งยังเราก็เลี้ยงสุนัขไม่ได้เพราะเดินทางบ่อยมาก กระต่ายไขลานตัวนี้เลยกลายเป็นเหมือนมาสคอต เวลาที่ต้องเดินทางไปไหน เราก็พกมันไปด้วยทุกครั้งและถ่ายรูปเก็บไว้แทนกัน

จากนั้นเราก็เริ่มพูดคุยกันว่า สถานการณ์แบบนี้คงไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่เผชิญ หลายคนก็คงมีความรู้สึกคล้ายกัน เราทั้งสองเลยคิดว่า ถ้ามีสถานที่สักแห่งเหมือนพิพิธภัณฑ์ ที่ทุกคนสามารถนำสิ่งของที่บรรจุไปด้วยความทรงจำเหล่านั้นมาเก็บไว้ได้ ก็คงจะดีไม่น้อย เพื่อให้ผู้คนได้ปล่อยวางจากความทรงจำอันเจ็บปวด แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวความรัก และการระลึกถึงว่าครั้งหนึ่งความสัมพันธ์นั้นเคยมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม

ภาพจาก Museum of Broken Relationships

ทำไมต้อง Broken Relationships ? 

โอลินก้า: คำว่า “Museum of Broken Relationships” เป็นชื่อที่ป๊อปอัพขึ้นมาเอง และเมื่อได้ยิน เราทั้งคู่ก็รู้ทันทีว่า นี่แหละ! คือชื่อที่ใช่ จากนั้นเราก็ลองค้นหาในกูเกิ้ล เพราะคิดว่าชื่อง่ายๆ แบบนี้ต้องมีคนใช้แล้วแน่นอน แต่สุดท้ายก็ไม่เจอ

ฉันตระหนักได้ว่าเราไม่อาจบอกลากับคนที่เคยมีความสัมพันธ์กับเราได้ง่ายๆ เมื่อคนเหล่านั้นได้ทิ้งร่องรอยไว้ เปลี่ยนแปลงเรา จนเราไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป เราเลยอยากอยากสร้างพื้นที่ของความสัมพันธ์ที่สูญเสียแต่และไม่สูญหายไปจากโลกของความจริง เสมือนมรดกทางความทรงจำของมนุษย์ ที่ไม่ใช่การรวบรวมสิ่งของจากบุคคลสำคัญมาจัดแสดงอย่างในพิพิธภัณฑ์ทั่วไป แต่เป็นเรื่องราวของคนธรรมดา เช่นเดียวกับคุณและฉัน 

พิพิธภัณฑ์ของเราอาจฟังดูเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ล้มเหลว แต่มันกลับนำพาความสัมพันธ์ที่งดงามมากมายเข้ามาในชีวิต ฉันคิดว่านี่คือพันธกิจของพิพิธภัณฑ์ นั่นคือการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน แม้จะมีคำว่า “Broken Relationships” อยู่ก็ตาม

ภาพจาก Museum of Broken Relationships

จากจุดเริ่มต้นของโครงการศิลปะที่จัดแสดงวัตถุเพียง 46 ชิ้น ไปสู่คอลเลคชั่นที่มีมากกว่า 3,000 ชิ้น 

ดราเซ็น: จุดเริ่มต้นของเราไม่ได้คิดว่าจะทำพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่แรก เราเริ่มจากโปรเจกต์ที่ได้ทำร่วมกับ  Zagreb Salon of Visual Art ในปี 2006 ตอนนั้นผมได้รับเชิญไปร่วมส่งผลงานในฐานะศิลปิน ซึ่งธีมในปีนั้นคือ ‘Synergy’ หลังจากนั้นผมก็นึกถึงสิ่งที่เคยพูดคุยกับโอลินก้าและโทรไปว่า “เธอจำสิ่งที่เราคุยกันไว้ได้ไหม? มันเข้ากับธีมนี้ได้ดีเลย”

หลังจากนั้นโอลินก้าได้ตกลงที่จะทำ พร้อมเขียนคำอธิบายเป็นหนึ่งหน้ากระดาษ ส่งไป ทีมงานได้ตอบกลับมาว่า “มันดีมาก เรายินดีรับโปรเจกต์ของคุณ” เรามีเวลาเพียงแค่สองสัปดาห์ในการเตรียมงานนิทรรศการ จากนั้นเราก็โทรหาเพื่อนๆ และให้พวกเขาช่วยเผยแพร่และรวบรวมวัตถุ และในที่สุดเราก็ได้ของ 46 ชิ้นประกอบเรื่องราว สำหรับการจัดแสดงในครั้งแรก

มันเป็นสิ่งน่าสนใจและท้าทาย เมื่อคุณทำโปรเจกต์ที่มีส่วนร่วมจากคนหมู่มาก คุณไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะได้รับอะไรบ้าง หรือผู้คนจะมีปฏิกิริยาอย่างไร นั่นเป็นการจัดนิทรรศการครั้งแรก และเราคิดว่าโอเค คงจะได้ประมาณนี้แหละ แต่แล้วสื่อมวลชนก็เริ่มสนใจ งานได้ถูกนำเสนอในสื่อ BBC และ CNN รวมถึงที่อื่น จากนั้นเราก็เริ่มได้รับคำเชิญให้ไปจัดนิทรรศการเดินทางตามที่ต่างๆ ทั้งสิงคโปร์ เบอร์ลิน อิสตันบูล ซานฟรานซิสโก และเบลเกรด 

ภาพจาก Museum of Broken Relationships

โครงการนี้ได้ร่วมจัดนิทรรศการในหลายเมืองทั่วโลก จุดเปลี่ยนที่ทำให้พวกคุณทั้งสองสร้างพิพิธภัณฑ์คืออะไร?

ดราเซ็น: ตอนนั้นสตูดิโอของผมเริ่มเต็มไปด้วยกล่องและวัตถุสิ่งมากมาย จนแทบไม่มีที่ว่าง เหมือนมันกำลังบอกเราว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องจัดการให้เป็นระเบียบ เมื่อนั้นเราเดินทางจัดนิทรรศการกันมาถึงสี่ปี ทุกที่ที่ไปก็มีเรื่องราวและวัตถุใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาตลอด จนโปรเจกต์เล็กๆ นี้เริ่มเติบโตและขยายตัวขึ้นมาเอง

มันรู้สึกราวกับโครงการนี้มีชีวิตของมันเอง และเราต้องคอยหล่อเลี้ยง และดูแลมันไป เสมือนการปล่อยให้ผีเสื้อได้กระพือปีกบิน จากความตั้งใจในการทำงานศิลปะเล็กๆ แต่แล้วทุกอย่างก็ค่อยๆ เกิดขึ้น ทั้งผู้คน สิ่งของ เราจึงเริ่มคิดว่าคงถึงเวลาสร้างพื้นที่ในการเก็บรักษาวัตถุเหล่านี้อย่างจริงจัง

การนำวัตถุสะสมเดินทางไปจัดนิทรรศการในประเทศอื่นๆ ได้เห็นการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ยังไงบ้าง

โอลินก้า: ทุกครั้งที่เราเดินทางไปประเทศไหน สิ่งที่จะต้องมีคือพาร์ทเนอร์ในท้องถิ่นที่เข้าใจวัฒนธรรมของพื้นที่เป็นอย่างดี เราจะต้องเปิดรับและสร้างการมีส่วนร่วมเพราะพิพิธภัณฑ์ของเราไม่ได้มุ่งเน้นแต่เพียงการเก็บสะสมวัตถุ แต่เป็นการสร้างความเชื่อมโยงกับชุมชน 

การร่วมมือเช่นนี้คือหัวใจสำคัญของนิทรรศการที่เดินทางไปจัดในหลากหลายประเทศ รวมถึงที่พิพิธภัณฑ์แห่งที่ 2 นี้ เราตื่นเต้นที่ได้มาเชียงใหม่ และได้รับโอกาสในการทำงานร่วมกับ อีฟ – ปิยธิดา และทีมงานที่ยอดเยี่ยม หากไม่มีพวกเขาโครงการนี้ก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้

อะไรที่ทำให้ตัดสินใจเลือกเชียงใหม่เป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรแห่งที่ 2

โอลินก้า: เราทำโปรเจกต์นี้มานานถึง 18 ปี เมื่อเริ่มเห็นว่าเรื่องราวที่เราเก็บรวบรวมสะท้อนถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมต่างๆ เราจึงฝันอยากมีพิพิธภัณฑ์แบบนี้ในทุกทวีป โดยเฉพาะในเอเชีย และที่เชียงใหม่ ซึ่งเราไม่เคยจัดนิทรรศการที่นี่มาก่อน เมื่อดราเซ็นได้เดินทางมาเที่ยวแล้ว ฉันคิดว่าเขาน่าจะหลงรักเชียงใหม่ เพราะที่นี่เป็นศูนย์รวมของงานศิลปะที่หลากหลายรวมถึงงานคราฟต์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

มีคนถามฉันมากมายว่า “ทำไมถึงไม่เป็นที่กรุงเทพฯ? ฉันคิดว่าพื้นที่บริเวณอาคารนี้มีพลังงานและบรรยากาศบางอย่างที่ให้ความรู้สึกสงบเงียบ เป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถหลีกหนีจากความวุ่นวาย ได้หยุดนิ่ง และเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่มีความหมายต่อพวกเขาได้

อีฟ:  สภาพแวดล้อมมันช่วยส่งเสริมตัวพิพิธภัณฑ์ด้วย

ถ้าเทียบกับที่ต้ังของตัวอาคาร ‘เตีย หย่ง เชียง’ ที่อยู่ระหว่างถนนสามเส้น เราจะเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้ได้เชื่อมต่อกับผู้คน เราคิดว่า เชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสผู้คนได้เรียนรู้ และได้ใช้เวลาละเมียดละไมในการอ่าน ทำความเข้าใจที่มาของวัตถุแต่ละชิ้นได้

การมีอยู่ของพิพิธภัณฑ์แห่งการจากลา ที่แม้จะเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ไร้ความคาดเดา แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าค้นหาเช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์

โอลินก้า: ฉันคิดว่าในปัจจุบันทุกอย่างเหมือนถูกวางแผน แม้แต่เรื่องของความสัมพันธ์ ผู้คนพบกันผ่านแอปพลิเคชัน แต่สำหรับฉัน ความไม่แน่นอน การได้ลองเสี่ยง สิ่งเหล่านี้แหละ ที่ทำให้หัวใจของเราเต้นแรง ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลเราตัดสินใจที่จะทำพิพิธภัณฑ์ที่นี่ เช่นเดียวกัน ฉันก็รู้สึกกลัวว่าผู้คนจะเข้าใจและยอมรับพิพิธภัณฑ์ของเราหรือเปล่า แต่ฉันก็อยากลองดูสักครั้ง

การเดินทางของพิพิธภัณฑ์ไปยังสถานที่ใหม่ๆ มักเต็มไปด้วยความเซอร์ไพรส์ เรามักเริ่มจากความสงสัยว่าเรื่องเล่าและวัฒนธรรมของคนในที่เราพบเจอในที่ต่างๆ เชียงใหม่เองก็เป็นจุดรวมผู้คนจากหลายประเทศ  มีทั้งคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติ และเราอยากรู้ว่าพิพิธภัณฑ์ของเรา จะสามารถสะท้อนเรื่องราวในเมืองนี้ออกมาได้อย่างไร 

ประสบการณ์การมีพิพิธภัณฑ์ที่ประเทศโครเอเชียส่งผลอย่างไรกับคนในเมืองบ้าง?

ดราเซ็น: สิ่งที่เกิดขึ้นในโครเอเชียคือเราพยายามทำให้พิพิธภัณฑ์เข้าถึงง่ายขึ้น และสิ่งที่ผมชอบที่สุดคือเมื่อมีผู้มาเยี่ยมชมแล้วพวกเขารู้สึกว่าพิพิธภัณฑ์ได้เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในตัวเขา

ผมจำได้ว่ามีชายชราคนหนึ่ง อายุประมาณ 90 ปีที่มาจากอเมริกา หลังจากเขาออกจากพิพิธภัณฑ์ เขามาที่เคาน์เตอร์และพูดกับพนักงานที่นั่น ถึงสิ่งที่เค้ารู้สึกและเชื่อมโยงกับตัวเขา ซึ่งมันทำให้ผมรู้สึกว่า นี่แหละ คือเหตุผลในการมีอยู่ของพิพิธภัณฑ์นี้

เมื่อที่เชียงใหม่ไม่ได้เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะมากขนาดนั้น คิดว่าจะสร้างผู้ชมได้อย่างไร?

ดราเซ็น: ผมมองว่าหากคุณนำเสนอสิ่งที่มีคุณค่าและตอบโจทย์ความสนใจของผู้คน คุณก็สามารถสร้างวัฒนธรรมและฐานผู้ชมได้ ผู้คนอาจตั้งคำถามว่า “เราจะมีสิ่งนี้ไปทำไม?” แต่คำถามนั้นจะหมดไป ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้ลองสัมผัสสิ่งใหม่ที่คุณได้ลองนำเสนอ 

เมื่อคุณพูดถึงพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย คนทั่วไปอาจจะคิดว่าต้องมีความรู้เกี่ยวกับศิลปะมากพอที่จะเข้าใจงานศิลปะ แต่ที่นี่ฉันชอบเห็นคนมาเยี่ยมชมที่หลากหลาย เขาอาจจะไม่เคยไปพิพิธภัณฑ์เพื่อชมงานศิลปะมาก่อนก็ได้ แต่กับสิ่งของหรือวัตถุเหล่านี้กลับทำให้เขารู้สึกเชื่อมโยงได้ง่ายที่สุด

ภาพจาก Museum of Broken Relationships

ดราเซ็น: มีผู้เข้าชมถามเข้ามาหลายครั้งว่า “มีของจากคนที่มีชื่อเสียงบ้างไหม?” แน่นอนว่ามี แต่เรามองว่าหากเปิดเราเผยชื่อผู้คนที่ส่งวัตถุเข้ามาจัดแสดง  ผู้คนก็จะมาที่นี่เพื่อมาดูงานแต่กับคนที่พวกเขาสนใจเท่านั้น และเราเชื่อว่าไม่ว่าจะใครต่างก็มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจเสมอ

อีฟ: แม้ว่าในแบบฟอร์มการบริจาค ผู้ส่งจะต้องเขียนชื่อและนามสกุล เป็นการยินยอมให้เรานำไปจัดแสดง แต่ขณะที่เราจัดแสดง เราจะเปิดเผยเพียงแค่วันที่และระยะเวลาเท่านั้น เพราะเค้าคิดว่าเรื่องของทุกคนเท่าเทียม และมีค่าเท่ากัน ไม่ว่าจะมีชื่อเสียงหรือไม่ อยากให้ความสำคัญต่อคุณค่าของเรื่องราวและวัตถุเหล่านั้น ทั้งคุณค่าของการให้และคุณค่าของการรับชม 

มองเห็นอะไรต่ออนาคตในการทำพิพิธภัณฑ์แห่งการจากลา ที่เชียงใหม่

โอลินก้า: ฉันหวังว่าพิพิธภัณฑ์จะเติบโตและเต็มไปด้วยเรื่องราวใหม่ๆ ไม่ใช่เพียงจากประเทศไทย แต่จากทั่วทั้งเอเชียและโลก ฉันหวังว่าการที่เราได้ทำงานร่วมกับอีฟที่เป็นคิวเรเตอร์ในเชียงใหม่ จะทำให้พิพิธภัณฑ์สามารถเชื่อมโยงกับผู้คนได้ และสร้างอารมณ์ความรู้สึกแบบเดียวกับที่เรามีในซาเกร็บ แต่ก็ยังมีเอกลักษณ์พิเศษในแบบของตัวเอง 

ภาพจาก Museum of Broken Relationships

โอลินก้า: แม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทาง แต่ฉันหวังว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาในอาคารประวัติศาสตร์ ที่เราสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมหรือเวิร์กช็อปที่หลากหลาย ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่จัดแสดงในรูปแบบ white cube (ห้องสี่เหลี่ยมผนังขาว) ทั่วไป แต่เป็นพื้นที่เปรียบเสมือน “วัด” ที่เต็มไปด้วยการแวะเวียนเข้ามาแบ่งปันเรื่องราวและสร้างปฎิสัมพันธ์ร่วมกันได้ 

อีฟ: แน่นอนว่าในเอเชียมีบริบทหลากหลายที่น่าสนใจให้พูดถึง แต่เรายังขาดพื้นที่หรือเซฟโซนที่สามารถสร้างบทสนทนาเหล่านี้ได้ พิพิธภัณฑ์จึงอาจเป็นช่องทางหนึ่งในการเปิดพื้นที่สำหรับพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ พิธีกรรม หรือแง่มุมอื่นๆ ที่ศิลปะสามารถเป็นตัวกลางเชื่อมโยง 

สำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เราจะไม่ตีความคำว่า “Broken” ที่แปลว่าการแตกสลายในรูปแบบเดิม แต่เราตั้งใจ “Farewell Ritual” ที่แปลว่า “พิธีแห่งการบอกลา” ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับบริบทที่หลากหลายมากขึ้นในการจัดนิทรรศการ ในตอนนี้เรากำลังเริ่มเปิดรับการบริจาควัตถุแห่งการจากลา ที่จะช่วยขยายแนวคิดร่วมกับผู้คนในพื้นที่ เพื่อสะท้อนบริบทของเอเชียให้ชัดเจนและแข็งแรงมากขึ้น 

ภาพจาก Museum of Broken Relationships

ผู้คนทั่วไปจะบริจาควัตถุเพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพิพิธภัณฑ์แห่งการจากลาได้อย่างไร?

โอลินก้า: ผู้คนมักจะรู้สึกว่าบางเรื่องราวของพวกเขานั้นเป็นเรื่องส่วนตัว และอาจจะดูไม่สมบูรณ์แบบตามที่คาดหวัง แม้บางเรื่องราวนั้นสามารถเล่าออกมาได้แค่บรรทัดเดียว แต่ฉันเชื่อว่าเรื่องเล่านั้นมีคุณค่า วัตถุทุกชิ้นจะได้รับการจัดแสดงด้วยความเคารพ หากคุณยังไม่มั่นใจ ฉันขอต้อนรับให้มาเยี่ยมชมที่พิพิธภัณฑ์แห่งการจากลานี้  คุณอาจจะได้รับแรงบันดาลใจ และอยากส่งวัตถุมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเรา 

Museum of Broken Relationships พิพิธภัณฑ์แห่งการจากลา สาขาเชียงใหม่ พร้อมเปิดให้บริการวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 – 22.00 น.  

สามารถอ่านรายละเอียดและร่วมส่งวัตถุบริจาคได้ผ่านทางเว็บไซต์ https://brokenships.com/th/share