ว่าด้วยอุดมการณ์นั้น แม้บุญสนองจะทราบดีและเคยระบุไว้ในงานเขียนทางวิชาการของเขาด้วยว่าอุดมการณ์สังคมนิยมยังเป็นสิ่งที่ไม่สู้แพร่หลายนักในสังคมไทย หากแต่ตัวบุญสนองนั้นไม่เคยปกปิดความเป็นนักสังคมนิยมของตัวเองเลย ดังจะเห็นได้จากการตั้งชื่อพรรคการเมืองที่แสดงอุดมการณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า “พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย” ข้อเขียนและบทสัมภาษณ์ต่าง ๆ ของบุญสนองเต็มไปด้วยศัพท์แสงฝ่ายซ้ายต่าง ๆ เช่น การกดขี่ขูดรีด ชนชั้น กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ฯลฯ ตามประสานักวิชาการฝ่ายซ้าย ว่าด้วยเรื่องศัพท์แสงนี้ กล่าวกันว่าคำศัพท์ทางสังคมวิทยาว่า “ความแปลกแยก” ซึ่งแปลมาจาก alienation และเป็นคำสำคัญที่นิยมใช้ในงานวิชาการฝ่ายซ้ายปัจจุบันนั้น ก็คือบุญสนองนี่เองที่เป็นผู้ใช้จนเป็นที่นิยมขึ้นมา

บุญสนองพยายามแก้ไขความเข้าใจผิดของสังคมไทยต่ออุดมการณ์สังคมนิยมอยู่บ่อยครั้งตามบทสัมภาษณ์ต่าง ๆ ว่าสังคมนิยมเป็นหนทางที่จะก่อให้เกิดประชาธิปไตยทั้งในทางการเมืองและในทางเศรษฐกิจ อันจะก่อให้เกิดเสรีภาพอันจริงแท้ สังคมนิยมมิได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศ กระทั่งกับคำว่า “คอมมิวนิสต์” นั้น บุญสนองก็ได้อธิบายว่ามิได้มีความหมายตรงข้ามกับคำว่า “ประชาธิปไตย” ดังเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปในสมัยนั้น บุญสนองกล่าวกับหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ไว้ว่า

ระบบสังคมนิยมที่มีการพัฒนาขั้นสูงแล้ว โดยนัยนี้ย่อมหมายถึง ระบบที่มนุษย์มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ในด้านต่าง ๆ ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ และบีบคั้นซึ่งกันและกันในด้านใด ๆ  เพราะระบบสังคมกำหนดโครงสร้างป้องกันมิให้ความเลวร้ายเหล่านั้นเกิดขึ้น และบุคคลในระบบสังคมนั้นเองก็มีระดับความสำนึกต่อส่วนรวมและต่อสิทธิความเป็นมนุษย์ของคนแต่ละคนสูงมนุษย์ในระบบนี้จึงเป็นผู้ร่วมกันสร้างและพิทักษ์ความเป็นประชาธิปไตย ในทางการปฏิบัติมิใช่แต่ในทางเพ้อฝันเท่านั้น

โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของบุญสนอง  (ขอบคุณรูปจาก https://doctorboonsanong.blogspot.com/

บุญสนองยังมีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในหลายเรื่อง เขาได้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2517 อยู่หลายประการ เช่น ไม่เห็นด้วยที่จะต้องมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งไว้คานอำนาจกับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่เห็นด้วยกับการตัดสิทธิ์พระเณรและนักบวชศาสนาต่าง ๆ ไม่ให้มีสิทธิเลือกตั้ง และเรียกร้องให้มีการจัดประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ในจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งซ่อมจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ.2518 ท่ามกลางกระแสการคุกคามนักสังคมนิยมที่กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศ ในจดหมายฉบับนั้น บุญสนองเขียนถึงชาวเชียงใหม่ในฐานะ “คนเมืองแต่กำเนิด” และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอันเป็นองคาพยพของระบอบ “นายทุน ขุนศึก ศักดินา” ไว้อย่างเผ็ดร้อน ผู้เขียนจะขอตัดบางส่วนมาให้ได้อ่านกันพอสังเขปในบทความนี้

จดหมายจากบุญสนองถึงชาวเชียงใหม่  (ขอบคุณรูปจาก https://doctorboonsanong.blogspot.com/

“…รัฐบาลปัจจุบันเป็นนายทุนนักต่อต้านประชาธิปไตยผสมกับเชื้อสายเผด็จการ สิ่งใดที่ไม่กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของเขา เขาจะยินยอมอะลุ่มอล่วยเพื่อสร้างความพอใจให้กับประชาชน สิ่งใดที่กระเทือนผลประโยชน์ของเขา เขาจะไม่ยอมเป็นอันขาด….

…ตัวแทนที่ประกอบขึ้นเป็นรัฐบาลนั้น ประกอบด้วยนายทุน นายธนาคารจากพรรคกิจสังคม นายทุนนายหน้าผู้มีผลประโยชน์ร่วมกับญี่ปุ่นและอเมริกาจากพรรคชาติไทย นายทุนผูกขาดจากภาคอีสานจากพรรคประชาชน และเหล่าบริวารถนอมประภาสแห่งพรรคสังคมนิยม และยังมีสมุนของเขาจากพรรคเล็กพรรคน้อยคือพรรคสันติชน พรรคไท พรรคสยามใหม่ และอื่นๆ คนเหล่านี้เองที่ประกอบขึ้นที่เป็นรัฐบาล ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้จึงไม่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐาน คือปัญหาปากท้องของประชาชน หากเป็นนโยบายฉาบฉวย และเป็นความฝัน … ขณะที่คนยากจนมีรายได้ถึงเดือนละหนึ่งเดือนละหนึ่งพันบาท ก็ปรากฏว่า พวกเศรษฐีนายทุนทั้งหลายเขามีรายได้เพิ่มขึ้นอีกนับแสนนับล้านบาท แล้วเขาก็ขายเสื้อผ้าเครื่องใช้ในราคาที่สูงขึ้นไปอีก รัฐบาลว่าจะให้คนมีรายได้น้อยขึ้นรถโดยสารฟรี เป็นการให้บริการเฉพาะคนเมืองหลวงและคนที่อยู่ในตัวเมืองเท่านั้น ชาวนาไม่ได้รับผลอะไรเลย แม้โครงการผันเงินสู่ชนบทก็ทำกันอย่างฉุกละหุก ไม่มีการวางแผนที่แน่นอน ยัดเยียดให้ชาวบ้านในสิ่งชาวบ้านไม่ต้องการก็มีมาก ดังเช่นที่ตำบลปูคา อำเภอสันกำแพง ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง และตำบลปาบง อำเภอสารภี เป็นตัวอย่าง …

… เมื่อการเลือกตั้งในวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๘ เสร็จสิ้นลงแล้ว ทั้งฝ่ายนายทุนประชาธิปไตย-เกษตร-สังคม และนายทุนกลุ่มสหพรรคต่างก็เรียกร้องให้พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยที่ผมสังกัดอยู่เข้าร่วมตั้งรัฐบาลของแต่ละฝ่ายแล้ว ล้วนประกอบด้วยขุนนาง ขุนศึก ศักดินา และนายทุนใหญ่ กับทั้งได้เห็นนโยบายถอยหลังเข้าคลองมุ่งแต่รักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนของทั้งสองฝ่ายแล้ว พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยจึงไม่อาจเข้าร่วมด้วย เมื่อรัฐบาลนี้เป็นตัวแทนของคนมั่งคนมี ไม่ใช่ตัวแทนของคนยากคนจน เมื่อรัฐบาลนี้รักษาผลประโยชน์ของพวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ชนชั้นผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนข้างมากของประเทศ เราจึงยืนหยัดเป็นฝ่ายค้านที่ยึดมั่นในแนวทางสังคมนิยมอย่างเหนียวแน่น…

…แท้จริงแล้ว ไม่มีเทวดาอินทร์พรหมไหน หรือบาปบุญคุณโทษอะไร ที่มากำหนดความยากจน ตัวการที่แท้จริงคือระบบทุนนิยม เราปลูกข้าวเหนื่อยจนตัวแทบขาด พอถึงเวลาขาย แทนที่เราจะเป็นผู้กำหนดราคาได้ พ่อค้ากลับกำหนดให้เราเสร็จ เราขายใบยาสูบเขาก็กดราคาโกงตราชั่งโกงเกรด เขาจะบอกว่าใบยาไม่ดีมีคุณภาพต่ำ ถ้าปีไหนเรามีขายน้อยอาจได้ราคาดีหน่อย แต่พอเรามีใบยาสูบมากราคากลับต่ำลงไปทันที นี่แสดงว่าพ่อค้าทั้งหลายที่รับซื้อใบยาสูบของเราเขารวมหัวกันกำหนดราคายังไงก็ได้ สุดแท้แต่เขาต้องการกำไร เมื่อเราไปซื้อหมูซื้อเนื้อ เรากำหนดราคาได้หรือ ไม่ ลองคิดดู เมื่อเราต้องการซื้อปุ๋ยเขากลับเอาทรายปนมาให้เราอย่างหน้าด้าน ๆ จะต่อรองราคาก็ไม่ได้ เราจึงถูกเอาเปรียบทั้งขึ้นทั้งล่องไม่ว่าจะเป็นผู้ขายหรือผู้ซื้อ…

…ผู้ใดแอบอ้างว่า “ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินไม่ได้ เพราะมหากษัตริย์ต้องทรงเป็นใหญ่” ผู้นั้นเป็นกาฝากราชบัลลังก์พยายามดึงเอาพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่เหนือการเมืองมาเป็นเครื่องมือหากิน และผู้เป็นศัตรูกับประชาชน….ผู้ใดโกหกหลอกลวงประชาชนว่าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยจะนำจีนแดง และญวนแดงเข้ามาครอบครองไทย แต่ตนเองกลับไม่ต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน ซึ่งครอบครองประเทศไทยอยู่ตั้งครึ่งแล้วผู้นั้นเป็นคนขายชาติ….”

พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยของบุญสนองลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2518 ทางพรรคส่งผู้สมัครลงแข่งขันรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งต่าง ๆ 82 เขตจากจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด 269 เขตทั่วประเทศ ชนะการเลือกตั้ง 15 เขต ตัวบุญสนองเองลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เมื่อเปิดประชุมสภาแล้ว พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยรวมกลุ่มกันกับพรรคการเมืองที่มีแนวทางคล้ายคลึงกัน ได้แก่ พรรคพลังใหม่ ซึ่งมีจำนวนที่นั่ง ส.ส. 10 ที่นั่ง และพรรคแนวร่วมสังคมนิยมซึ่งมีจำนวนที่นั่ง ส.ส. 10 ที่นั่ง รวมเป็นกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายสังคมนิยมขนาด 35 ที่นั่ง นับว่ามีอำนาจต่อรองพอสมควร กลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายสังคมนิยมได้รับการประสานงานจากพรรคประชาธิปัตย์ให้เข้าร่วมรัฐบาลแต่เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์มี “ความเป็นศักดินา” มากเกินไปจึงได้ปฏิเสธ และได้ปฏิเสธคำเชิญจากพรรคกิจสังคมด้วยเช่นกันเนื่องจากไม่ต้องการร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองฝ่ายขวา กลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายสังคมนิยมนี้จึงวางตัวเป็น “ฝ่ายค้านสังคมนิยม” ตลอดอายุของสภาชุดนั้น

ทว่า การดำเนินงานของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยของบุญสนองต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ในขั้นแรก เมื่อพรรคตัดสินใจวางตัวเป็นฝ่ายค้านสังคมนิยมแล้วนั้น ปรากฏว่ามี ส.ส. ของพรรค 3 คนกลายเป็น “งูเห่า” ฝ่าฝืนมติพรรคยกมือสนับสนุนคึกฤทธิ์ ปราโมชย์ แห่งพรรคกิจสังคมให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของพรรคพอสมควร นโยบายต่อต้านนายทุนของพรรคยังส่งผลให้พรรคขาดผู้สนับสนุนทางการเงิน และขัดสนทุนรอนสำหรับดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เป็นผลให้ไม่สามารถส่งผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตและไม่สามารถหาเสียงได้อย่างเต็มที่ ดังที่เมื่อคึกฤทธิ์ประกาศยุบสภาจนนำมาสู่การจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2519 บุญสนองก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งนั้นด้วย โดยให้เหตุผลว่า “แพงเกินไป” สะท้อนให้เห็นความขัดสนทุนทรัพย์ที่เกิดขึ้นในพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยที่ไม่อาจส่งเลขาธิการพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งได้

กระนั้น อุปสรรคสำคัญที่สุดที่พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยของบุญสนองต้องเผชิญคือกระแสความตื่นกลัวคอมมิวนิสต์อันเป็นผลจากความเพลี่ยงพล้ำของสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนามถึงขั้นต้องถอนทหารออกจากเวียดนามใต้ และเวียดนามเหนือซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์สามารถกำชัยชนะในสงครามเวียดนามได้ ส่งผลให้ชนชั้นนำและชนชั้นกลางในกรุงเทพ ฯ จำนวนมากเกิดความกังวลว่าเวียดนามจะบุกไทย หรือประเทศไทยจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ความกังวลทำนองนี้เป็นช่องจังหวะให้ภาครัฐ หน่วยความมั่นคง และกลุ่มเคลื่อนไหวฝ่ายขวาจัดร่วมกันอัดสุมไฟความกลัวภัยคอมมิวนิสต์ให้กับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกล่าวหาว่าขบวนการนักศึกษาและแนวร่วมเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมกันนั้น กลุ่มหัวรุนแรงขวาจัดก็เริ่มใช้กำลังประทุษร้ายนักเคลื่อนไหว นักวิชาการ และนักการเมืองฝ่ายซ้ายหลายคน รวมถึงผู้สมัครของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยด้วย 

กระแสตื่นกลัวคอมมิวนิสต์และการคุกคามจากฝ่ายขวาที่เกิดขึ้น ประกอบกับการเดินหมากผิดพลาดระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เช่น การนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาช่วยหาเสียงจนเกิดเป็นเรื่องอื้อฉาว ส่งผลให้พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งซ่อมครั้งต่าง ๆ ที่ทางพรรคพยายามส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง รวมถึงในการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดเชียงใหม่แทนที่นายทองดี อิสราชีวิน ซึ่งเสียชีวิตลงนั้น แม้บุญสนองซึ่งเป็นคนเมืองจะลงสมัครรับเลือกตั้งเอง และพรรคแนวร่วมทั้งหมดจะช่วยกันหาเสียงอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งในครั้งนั้น กล่าวกันว่าในการเลือกตั้งครั้งนั้น มีการปลุกระดมมวลชนฝ่ายขวามาล้อมโจมตีเวทีปราศรัยของบุญสนองด้วย และในการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ.2519 อันเป็นปีที่กระแสฝ่ายขวาขยายตัวถึงจุดสูงสุดนั้น พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยชนะการเลือกตั้งเพียง 2 ที่นั่งเท่านั้น

ขวาพิฆาตซ้าย ความตาย และรอยเลือดของนักสังคมนิยม

แม้ผลลัพธ์จากการเมืองเลือกตั้งจะไม่เป็นที่น่าพอใจ บุญสนองยังคงตั้งมั่นในแนวทางสังคมนิยมและตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางจากการมุ่งชนะการเลือกตั้งมาเป็นการมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมนิยมในสังคมไทยแทน บุญสนองยังคงปรากฏตัวตามงานสัมมนาและกิจกรรมต่าง ๆ ของพรรคเพื่ออธิบายหลักการและทฤษฎีสังคมนิยมให้เป็นที่เข้าใจในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม กระแสขวาพิฆาตซ้ายที่เดือดระอุในช่วงปี 2518-2519 ไม่อนุญาตให้ความตั้งใจของบุญสนองดำเนินสมเจตนาได้โดยง่าย ในช่วงเวลานั้น ผู้นำฝ่ายซ้ายหลายคนไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นิสิตนักศึกษา ชาวนา กรรมกรถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตทั่วประเทศจนปรากฏเป็นข่าวตลอดปี โดยเห็นได้ชัดว่าการทำร้ายและล่าสังหารนั้นทำกันเป็นขบวนการ 

ตัวบุญสนองและสมาชิกพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยนั้นก็ตกเป็นเป้าหมายปองร้ายด้วย ดังปรากฏว่าในช่วงปลายปี 2518 นั้น มีผู้สั่งโลงศพเปล่ามาส่งที่ที่ทำการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยสองครั้ง ครั้งแรกผู้ส่งระบุว่ามีคนสั่งให้มามอบให้กับธีรยุทธ บุญมี และอีกครั้งหนึ่งระบุว่าให้มามอบกับตัวบุญสนอง นับเป็นการขู่ขวัญนักสังคมนิยมอย่างอุกอาจ โดยยังไม่มีผู้ใดทราบว่าใครเป็นผู้สั่งโลงศพเปล่าสองหลังนั้น 

หนังสือพิมพ์ต่างประเทศรายงานข่าวการฆาตกรรมบุญสนอง  (ขอบคุณรูปจาก https://doctorboonsanong.blogspot.com/

การข่มขู่ทำนองนี้เกิดขึ้นกับพรรคสังคมนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีใครตอบได้ชัดเจนว่าใครอยู่เบื้องหลังการข่มขู่เช่นนี้ มีเพียงสมคิด ศรีสังคม หัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ที่ได้เล่าไว้ว่ามีผู้หวังดีมาเตือนไว้ว่า “หัวหน้าขบวนการล่าสังหารฝ่ายซ้ายไปบวชอยู่ ถ้าสึกออกมาเมื่อไหร่ จะตามฆ่าฝ่ายซ้ายทันที”

ตัวบุญสนองเองรู้ตัวดีว่าตนตกเป็นเป้าปองร้าย จรัล ดิษฐาอภิชัยเล่าให้ผู้เขียนว่าครั้งหนึ่งที่นั่งรถยนต์อยู่กับบุญสนองนั้น บุญสนองได้ขอให้จรัลพาบุญสนองหลบหนีเข้าป่าเพราะเห็นว่าการอยู่ในเมืองต่อไปนั้นอันตรายเกินไป ผ่านไปเพียงสามวันหลังจากนั้น ก็มีผู้ปองร้ายบุญสนองจริง ๆ ตามที่บุญสนองกล่าวกับจรัลไว้ อันที่จริง บุญสนองเองก็พกปืนไว้ป้องกันตัว แต่น่าเสียดายที่เขาไม่ได้มีทักษะการยิงปืนทีีดีนัก ปืนกระบอกที่ว่าจึงไม่อาจช่วยรักษาชีวิตเขาได้

กลางดึกวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2519 บุญสนองกำลังขับรถกลับบ้านมาจากงานเลี้ยงส่งเพื่อนชาวต่างชาติคนหนึ่งที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยกลับประเทศ เมื่อขับรถมาถึงถนนวิภาวดีรังสิตช่วงหน้าโรงแรมอะพอลโล บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านเกษมทรัพย์ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักของเขา ก็มีรถสิบล้อคนหนึ่งซึ่งขับรถตามบุญสนองมาห่าง ๆ เร่งเครื่องแซงเข้าประกอบรถของบุญสนอง จากนั้น มือปืนปริศนาซึ่งคาดว่าอยู่บนรถสิบล้อคนนั้นลั่นไกยิงบุญสนอง 3 นัด กระสุนนัดหนึ่งวิ่งตรงเข้าโหนกแก้มซ้ายทะลุกกหูขวา อีกนัดหนึ่งเข้าบริเวณซอกคอ รถของบุญสนองเสียหลักวิ่งลงคลองข้างถนนวิภาวดีรังสิต สร้างความงุนงงให้กับรถที่ขับตามกันมา แม้ว่าผู้ขับขี่รถที่ตามกันมาจะแวะให้ความช่วยเหลือและรีบนำตัวบุญสนองส่งโรงพยาบาลเปาโล แต่บุญสนองได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยที่มือทั้งสองยังคงกำพวงมาลัยรถไว้แน่น 

สภาพรถยนต์ของบุญสนอง ณ ที่เกิดเหตุ  (ขอบคุณรูปจาก https://doctorboonsanong.blogspot.com/

บุญสนอง บุณโยทยาน ดร. หนุ่มอนาคตไกลผู้เลื่อมใสในอุดมการณ์สังคมนิยม เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา ด้วยวัยเพียง 40 ปีเท่านั้น

แน่นอนว่ามือปืนที่ปลิดชีพบุญสนองนั้นหลบหนีไปได้ และยังไม่มีใครตามจับหรือทราบตัวตนฆาตกรที่สังหารบุญสนองจนถึงปัจจุบัน แต่เป็นที่สันนิษฐานกันว่าเหตุฆาตกรรมบุญสนองครั้งนั้น เป็นผลงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่ตามเด็ดหัวบุคคลที่กองทัพเห็นว่า “เป็นภัยความมั่นคง” นั่นเอง 

 คดีความของบุญสนองนั้น เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักสังคมนิยมว่าถูกทางการละเลยไม่สืบหาผู้กระทำผิด และข้อมูลทั้งหมดของแฟ้มคดีบุญสนองนั้น ก็สูญหายไป ราวกับว่าเป็นความลับของราชการ ทั้งที่เป็นเรื่องเหตุฆาตกรรมกลางเมืองหลวง ผิดกับคดีฆาตกรรมอื่น ๆ เพียงแต่ที่ผู้ตายเป็นผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเพียงเท่านั้น

แถลงการณ์ร่วมของคณาจารย์ 6 มหาวิทยาลัยต่อการสังหารบุญสนอง  (ขอบคุณรูปจาก https://doctorboonsanong.blogspot.com/

ความตายของบุญสนองเป็นที่กระทบกระเทือนจิตใจของสาธารณชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่คนหัวก้าวหน้าฝ่ายซ้าย พิธีรดน้ำศพของบุญสนองจัดขึ้นในวันที่ 1 มีนาคม ที่วัดตรีทศเทพวรวิหาร โดยระหว่างการเชิญร่างไร้วิญญาณของบุญสนองจากโรงพยาบาลตำรวจไปที่วัดนั้น พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยได้จัดขบวนรถติดตามรถบรรทุกศพกว่า 30 คัน นอกจากนี้ ศูนย์นิสิต ฯ ยังได้จัดการเดินขบวนไว้อาลัยแก่บุญสนอง มีประชาชนเข้าร่วมขบวนดังกล่าวกว่า 5,000 คน ขบวนไว้อาลัยบุญสนองเคลื่อนตัวออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ไปตามถนนราชดำเนิน แวะหยุดขบวนยืนสงบนิ่งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นเวลาหนึ่งนาทีเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา ฯ ก่อนจะเลี้ยวเข้าถนนประชาธิปไตยตรงเข้าวัดตรีทศเทพ ฯ เพื่อเข้าร่วมพิธีรดน้ำศพ บรรยากาศพิธีเต็มไปด้วยความโศกเศร้าแต่แฝงด้วยความหวาดระแวงการก่อกวนจากฝ่ายขวา ดังที่ปรากฏว่าฝ่ายซ้ายต้องจัดหน่วยอารักขาเพื่อคุ้มกันรักษาความปลอดภัยตลอดงาน

ขบวนไว้อาลัยบุญสนองหยุดยืนสงบนิ่งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  (ขอบคุณรูปจาก https://doctorboonsanong.blogspot.com/

ในพิธีศพนั้น นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ และนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นป๋วย อึ๊งภากรณ์ กระแส ชนะวงศ์ วีระ มุสิกพงศ์ ดำรง ลัทธพิพัฒน์ รวมถึงเพื่อนสมาชิกพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย เช่น สมคิด ศรีสังคม ธีรยุทธ บุญมี วิรัติ ศักดิ์จิรพาพงศ์ ล้วนเข้ามาร่วมงานเพื่อแสดงความเคารพบุญสนองเป็นครั้งสุดท้าย รวมถึงพร้อมใจกันประณามการสังหารบุญสนอง ซึ่ง (เห็น ๆ กันว่า) เป็นความรุนแรงทางการเมือง ป๋วยยังกล่าวประณามว่าการสังหารบุญสนองนั้นเป็นการแข่งขันบนวิถีทางที่ “ไม่เป็นลูกผู้ชาย” และหากตำรวจไม่อาจติดตามตัวฆาตกรที่ลงมือฆ่าบุญสนองมาลงโทษได้ ก็จะทำให้เมืองไทยกลายเป็นเมืองเถื่อน

บรรยากาศพิธีศพบุญสนอง  (ขอบคุณรูปจาก https://doctorboonsanong.blogspot.com/

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมพิธีที่น่าจดจำที่สุดเห็นจะเป็นบัวคลี่และทัศนีย์ บุณโยทยาน มารดาและภรรยาของบุญสนอง รวมถึงดุษฎีและวีรทัย ลูกทั้งสองคนของบุญสนอง แน่นอนว่า “ครูบัวคลี่” ในวัย 64 ปีย่อมโศกเศร้าเสียใจเกินพรรณนาที่ต้องมาร่วมงานศพของลูกชายคนโต กระนั้นก็ก็ภูมิใจกับตัวลูกชายเพราะได้ตายไปอันเนื่องด้วยอุดมการณ์เพื่อประชาชน 

ครอบครัวของบุญสนองเข้าร่วมพิธีรดน้ำศพ  (ขอบคุณรูปจาก https://doctorboonsanong.blogspot.com/

ส่วนทัศนีย์นั้น แม้จะเห็นได้ชัดเจนว่าโศกเศร้าแต่ก็มิได้ร้องไห้ ทัศนีย์กล่าวว่าเมื่อทราบข่าวว่าบุญสนองเสียชีวิต ก็ได้ปลอบลูกทั้งสองว่า “พ่อตายแล้ว แต่ไม่ต้องเสียใจ เพราะตายในหน้าที่ และตายเพื่ออุดมการณ์” กล่าวกันว่าลูกทั้งสองนั้นเข้าใจและไม่ร้องไห้เลย ตัวทัศนีย์เองมีบทบาทสนับสนุนการเคลื่อนไหวของบุญสนองตลอดมา เมื่อคราวที่มิตรสหายของบุญสนองต้องไปประชุมหารือเรื่องการตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยที่บ้านพักถนนวิภาวดีรังสิต ทัศนีย์ก็เป็นคนหนึ่งที่ช่วยต้อนรับขับสู้ดูแลผู้ร่วมประชุม เมื่อตั้งพรรคขึ้นมาแล้ว ทัศนีย์ผู้ซึ่งได้รับการทาบทามให้ลงมาร่วมต่อสู้ในสนามการเมืองอย่างเต็มตัวก็ได้ร่วมเป็นกรรมการพรรคกับบุญสนองด้วย ก่อนจะเข้าร่วมพิธีรดน้ำศพที่วัดตรีทศเทพนั้น ทัศนีย์ได้กล่าวสุนทรพจน์รำลึกถึงบุญสนองกลางที่ชุมนุมที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีประโยคขึ้นต้นว่า “เขาตายอย่างผู้เสียสละโดยแท้จริง…” ทัศนีย์ยังกล่าวถึงบุญสนองต่อไปอีกว่า 

ทัศนีย์และร่างของบุญสนอง  (ขอบคุณรูปจาก https://doctorboonsanong.blogspot.com/

ดร.บุญสนองเคยย้ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ข่มเหง และที่สำคัญที่สุด ดร.บุญสนองได้พูดอยู่เสมอว่า ผมเป็นคนของประชาชน คุณอย่าเอาผมไปครองคนเดียวนะ ฉะนั้น แม้ว่าการที่ ดร.บุศนองจะตายไป แต่ดวงวิญญาณของ ดร.บุญสนอง ยังอยู่กับประชาชนที่รักความเป็นธรรมและอยู่กับดิฉันต่อไป โดยดิฉันจะตามรอย ดร.บุญสนองอย่างถึงที่สุด

ครอบครัวของบุญสนองที่พิธีศพ  (ขอบคุณรูปจาก https://doctorboonsanong.blogspot.com/

อาจารย์บุญสนองไม่ใช่คนรักของดิฉันคนเดียว แต่เป็นลูกที่รักของพ่อแม่ เป็นอาจารย์ที่ดีของลูกศิษย์ เป็นนักสังคมนิยมที่ควรเอาอย่าง ขอให้ดวงวิญญาณของอาจารย์บุญสนองได้มาร่วมการต่อสู้กับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอให้ทุกคนในที่นี้ได้มาร้อยดวงใจร่วมกัน ดำเนินตามเจตนารมณ์และรอยเลือดของอาจารย์บุญสนองต่อไป เพื่อความกินดีอยู่ดีของคนในชาติที่รักของเรา

พิธีฌาปนกิจศพของบุญสนอง  (ขอบคุณรูปจาก https://doctorboonsanong.blogspot.com/

บุญสนองถือเป็นเหยื่อรายที่ 28 ที่สังเวยชีวิตให้กับขบวนการ “ขวาพิฆาตซ้าย” ในช่วงปี 2517-2519 และอาจเป็นหนึ่งในเหตุฆาตกรรมทางการเมืองที่เป็นที่จดจำมากที่สุดครั้งนั้น การเสียชีวิตของบุญสนองมิได้เป็นเพียงความสูญเสียของบุญสนองและครอบครัว แต่เป็นการเสียโอกาสของประเทศชาติที่ได้สูญเสียนักวิชาการคุณภาพที่เพิ่งกลับจากการศึกษาต่างประเทศมาเพียง 4 ปี และยังเป็นการสูญเสียความเป็นคนของสังคมไทย เนื่องจากหลังเหตุฆาตกรรมบุญสนองผ่านไปนั้น กระแสขวาพิฆาตซ้ายก็รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนนำมาสู่เหตุล้อมสังหารกลุ่มนักศึกษาและประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อันจะเป็นเหตุสังหารหมู่กลางเมืองที่ป่าเถื่อนที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

ผู้เขียนเรียบเรียงประวัติของบุญสนองไว้ในที่นี้ ไม่เพียงเพื่อรำลึกถึงบุญสนองในโอกาสครบรอบ 48 ปี การจากไปของบุญสนอง แต่เพื่อให้เรื่องราวของบุญสนองเป็นคติเตือนใจของสังคมไทย 

ทั้งสำหรับฝ่ายซ้ายว่าอย่าประมาทความบ้าคลั่งและความพร้อมใช้ความรุนแรงของฝ่ายขวา มิฉะนั้นอาจต้องตกเป็นเหยื่อเหมือนบุญสนองและคนอื่น ๆ

ทั้งสำหรับฝ่ายขวาว่าอย่าใช้ความรุนแรงเป็นทางออกเพื่อไม่ให้เกิดเหตุอันจะเป็นตราบาปแปดเปื้อนสถาบันต่าง ๆ ที่ฝ่ายตนอ้างว่ารักและเทิดทูน 

และสำหรับสังคมทั่วไปทุกฝ่ายว่าไม่ว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะตึงเครียดปานใด อย่าหลงลืมความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคน ไม่ว่าจะยืนอยู่ฝั่งฝ่ายใดทางการเมือง ล้วนแต่มีเท่าเทียมกัน

หากหลงลืมความเป็นมนุษย์ของเราและเขาไปเสียแล้ว คนเราก็จะพร้อมประหัตประหารกันด้วยเหตุใด ๆ ก็ตามได้ทุกเมื่อ ก็คือกลายเป็นสัตว์เดรัจฉานดี ๆ นั่นเอง


บรรณานุกรม

  • Lowery, George, A campus takeover that symbolized an era of change. April 16, 2009. https://news.cornell.edu/stories/2009/04/campus-takeover-symbolized-era-change (Retrieved 10 Feb 2024)
  • Punyodyana, Boonsanong, “Socialism and Social Change in Thailand,” Paper presented to the Symposium on Sociology and Social Development in Asia, Tokyo, Japan, October 16-22, 1973. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/02/socialism-and-social-change-in-thailand.html (Retrieved 10 Feb 2024) 
  • Strout, Cushing, “Sixties Protest Culture and What Happened at Cornell” New England Reviews. Vol.19 No.2 (Spring 1998). pp. 110-136 https://www.jstor.org/stable/40243337 (Retrieved 10 Feb 2024)
  • The Vietnam War on Campus, Revisited. http://static.as.cornell.edu/150/vietnam.html (Retrieved 10 Feb 2024) 
  • Trocki, Carl A., “Boonsanong Punyodyana: Thai Socialist and Scholar, 1936-1976”, Bulletin of Concerned Asian Scholars. 9: 3 (July-September 1977), pp.52-54. อ้างใน Carl A. Trocki เขียนถึงบุญสนอง บุณโยทยาน. 16 กุมภาพันธ์ 2556. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/02/carl-trocki.html (Retrieved 10 Feb 2024)
  • คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รายนามคณบดี. ม.ป.ป. https://socanth.tu.ac.th/about-us/past-deans/ (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • “ความรุนแรงและการลอบสังหาร” บันทึก 6 ตุลา. https://doct6.com/learn-about/how/chapter-3/3-4 (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • “ต้องเริ่มสู้ด้วยพรรคการเมือง” ประชาชาติรายสัปดาห์. ปีที่ 1 ฉบับที่ 45.  26 กันยายน 2517. อ้างใน บทสัมภาษณ์: ต้องเริ่มสู้ด้วยพรรคการเมือง. 12 กุมภาพันธ์ 2556. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/02/blog-post_12.html  (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • ทำเนียบผู้บริหาร. https://www.rd.go.th/region/08/chiangmai1/79.html  (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • ทรัพย์สิน บุณโยทยาน, บางเรื่องของเมืองเชียงรายในอดีต. พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2562.
  • ทรัพย์สิน บุณโยทยาน, ผมเป็นคนไม่ (ค่อย) ดี อย่าเอาเยี่ยงอย่าง. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2544.
  • ธวัช วิชัยดิษฐ์, สรุปคำให้สัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เรื่องนโยบายของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย. 15 กุมภาพันธ์ 2556. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/02/blog-post_4909.html  (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567) 
  • บุญสนอง บุณโญทยาน, บทความ: คิดถึงเมืองไทย. 14 กุมภาพันธ์ 2556. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/02/blog-post_14.html  (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567) 
  • บุญสนอง บุณโยทยาน, “จากบุญสนองถึงพี่น้องชาวเชียงใหม่.” เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์ สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์. พิมพ์ครั้งที่สอง. (กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาการเมือง, 2544) อ้างใน บทความ: จากบุญสนองถึงพี่น้องชาวเชียงใหม่. 14 กุมภาพันธ์ 2556. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/02/blog-post_6896.html (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • “เยือนที่เกิดเหตุลอบสังหาร ‘บุญสนอง บุณโยทยาน’ เมื่อปี 2519” ประชาไท. 28 กุมภาพันธ์ 2562. https://prachatai.com/journal/2019/02/81272 (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • “เป็นกลางทางวิชาการพอได้ แต่เป็นกลางทางการเมืองไม่ได้” ประชาชาติรายสัปดาห์. ปีที่ 2 ฉบับที่ 59. 2 มหราคม 2518. อ้างใน “บทสัมภาษณ์: เป็นกลางทางวิชาการพอได้ แต่เป็นกลางทางการเมืองไม่ได้https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/02/blog-post_8028.html  (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดจัดตั้งพรรคการเมือง” ใน ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 92 ตอนที่ 193 ฉบับพิเศษ หน้า 1. 18 กันยายน 2518.
  • ปราโมทย์ นาครทรรพ, “คิดถึงบ้าน” ผู้จัดการออนไลน์. 23 กรกฎาคม 2553. https://mgronline.com/daily/detail/9520000083466 (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • ปราโมทย์ นาครทรรพ, “ปราโมทย์ นาครทรรพ” เขียนถึง “บุญสนอง บุณโยทยาน”. 15 กุมภาพันธ์ 2556. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/02/blog-post_1427.html (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • ประมวลภาพข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน. 11 กันยายน 2555. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2012/09/blog-post_3736.html (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • “เผานาทราย: ชนวนเหตุที่ถูกหลงลืมก่อนเกิดเหตุ 6 ตุลา 19” The Isaander. 16 ตุลาคม 2563. https://www.theisaander.com/post/nasai160920 (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • ไพบูลย์ สำราญภูติ, ประสบการณ์ชีวิต. กรุงเทพฯ: สามเกลอ, 2530.
  • พยุง ย. รัตนารมย์, ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทยในจังหวัดตาก. 24 สิงหาคม 2567. https://pridi.or.th/th/content/2021/08/809 (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • รำลึก 40 ปีที่จากไป “ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน” 28 กุมภาพันธ์ 2559. https://thaienews.blogspot.com/2016/02/40_28.html (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • “วารสารรายปักษ์ “ศูนย์” สัมภาษณ์ ดร.บุญสนอง” ศูนย์. ปักษ์หลัง. ฉบับที่ 3 กุมภาพันธ์ 2556 บทสัมภาษณ์: วารสารรายปักษ์ “ศูนย์” สัมภาษณ์ ดร.บุญสนอง. 15 กุมภาพันธ์ 2556. https://doctorboonsanong.blogspot.com/2013/03/blog-post.html (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • สุชาติ สวัสดิ์ศรี, สัมภาษณ์โดยผู้เขียนเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567.
  • สุรชาติ บำรุงสุข, “40 ปีแห่งการล้อมปราบ (13) สงคราม ความกลัว ความตาย!” ใน มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับวันที่ 16-22 ธันวาคม 2559. https://www.matichonweekly.com/column/article_18697 (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)
  • “เหตุการณ์ 14 ตุลา” ใน จดหมายเหตุดิจิทัล มหาวิทยาลัยรามคำแหง. https://archives.lib.ru.ac.th/s/RU-Archives/page/October14 (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, “บุญสนอง บุณโยทยาน” ใน ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%87_%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99 (สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567)