เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ที่ 6 จ.ลำปาง จำนวน 4 ราย ได้เข้ามาในพื้นที่ชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)  โดยไม่ได้แจ้งมายังทางชุมชนให้ทราบล่วงหน้า เมื่อมาถึงชุมชนแล้วจึงค่อยเข้าพบผู้ใหญ่บ้านและแจ้งวัตถุประสงค์ในการลงมาในชุมชนว่า เข้ามาตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าในชุมชนตามคำสั่งจากทางกรมป่าไม้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงหนังสือเอกสารคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนามีพื้นที่ที่จะต้องตรวจสอบอย่างน้อย 20 แปลง 

เมื่อเข้าพบผู้ใหญ่บ้านแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปยังบริเวณแปลงทำกินของชุมชนซึ่งเป็นแปลงไร่หมุนเวียนที่เตรียมไว้สำหรับทำกินในปีนี้ โดยที่ไม่ได้มีตัวแทนชุมชนลงพื้นที่ไปด้วย หลังจากนั้นตัวแทนชุมชนบางส่วนจึงได้ติดตามเจ้าหน้าที่ไปยังพื้นที่แปลงทำกิน เพื่อสอบถามถึงจุดประสงค์ที่เข้ามาในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ชี้แจงเพียงเบื้องต้นว่า เป็นภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกรมป่าไม้ที่มีคำสั่งให้ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่า และไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดในเชิงลึกได้ ส่วนพิกัดรายแปลงที่ต้องตรวจสอบนั้น มีการระบุพิกัดชัดเจนใน “ระบบพิทักษ์ไพร” แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเปิดแผนที่ให้ชาวบ้านดูได้ โดยอ้างว่าต้องใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตในการเข้าสู่ระบบ

หลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่ไปประมาณ 4-5 แปลง ทางชุมชนได้พูดคุยเจรจากับเจ้าหน้าที่เรื่องแปลงไร่หมุนเวียนที่เป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิม โดยได้ใช้แผนที่โฉนดชุมชนประกอบการชี้แจงให้เจ้าหน้าที่เกิดความเข้าใจในระบบการหมุนเวียนพื้นที่ของไร่หมุนเวียนที่ต้องมีการพักฟื้นแปลงทำกิน 7-10 ปี ก่อนจะเวียนมาใช้ประโยชน์อีกครั้งหลังการพักฟื้นครบตามจำนวนปีที่เหมาะสม หรือที่ทางชุมชนเรียกว่า “ไร่เหล่า” โดยระหว่างการพักฟื้นแปลงไร่หมุนเวียนนั้น ต้นไม้และพืชพันธุ์ในแปลงพักฟื้นจะเจริญเติบโตขึ้นตามระยะเวลา ซึ่งทางหน่วยงานจะตีความว่าไร่เหล่าที่กำลังพักฟื้นนั้นกลายเป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ เมื่อถึงปีที่ครบรอบการพักฟื้น แล้วทางชุมชนจะเตรียมพื้นที่ในการปลูกข้าว ทางหน่วยงานจึงเข้าใจว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่ ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นพื้นที่ทำกินเดิม

เธียรชัย สกุลกระวี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา กล่าวว่า ทางหน่วยงานเคยลงพื้นที่มาตรวจสอบแปลงทำกินเมื่อหลายปีก่อน ครั้งนี้จึงเป็นการลงพื้นที่มาตรวจสอบในรอบหลายปี ส่วนตัวเห็นว่าการดำเนินการในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไรนัก ทั้งการไม่ประสานงานเพื่อแจ้งให้ทางชุมชนทราบล่วงหน้า การเข้าไปตรวจสอบในแปลงทำกินโดยที่ไม่มีตัวแทนชุมชนไปด้วย รวมถึงท่าทีในการสื่อสารของเจ้าหน้าที่บางรายที่ไม่มีความเข้าใจเรื่องวิธีการใช้พื้นที่แบบไร่หมุนเวียนที่ต้องมีการพักฟื้น ซ้ำยังกล่าวกับชาวบ้านว่า ถึงไร่เหล่าจะเป็นพื้นที่ทำกินเดิม แต่เมื่อถูกพักฟื้นจนมีสภาพสมบูรณ์คล้ายป่า เมื่อกลับมาแผ้วถางเพื่อเตรียมทำกินอีกครั้ง ก็จะนับว่าเป็นการบุกรุกป่าใหม่อยู่ดี ส่วนพื้นที่ที่มีการทำกินอย่างต่อเนื่องทุกปี เช่น ไร่ข้าวโพด ไร่ขิง เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าไม่นับเป็นการบุกรุกหรือทำลายป่า เพราะเป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องทุกปี

“มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งพูดว่า ไร่หมุนเวียนที่พักฟื้นไว้แล้วต้นไม้มันโตขึ้น ก็จะถือว่าเป็นสภาพป่า ถ้าชาวบ้านจะแผ้วทางเพื่อทำกินก็จะถือว่าบุกรุก แล้วจะยึดพื้นที่คืนเพื่อนำไปปลูกป่า หากชาวบ้านยอมให้ยึดพื้นที่ก็จะไม่มีการดำเนินคดี พอเราพยายามใช้แผนที่โฉนดชุมชนในการยืนยัน เขาเลยบอกว่าจะรายงานหัวหน้าไปตามที่ชาวบ้านบอกก็แล้วกัน ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะรายงานแบบนั้นจริงไหม” เธียรชัยกล่าว

สมชาติ รักษ์สองพลู ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้ลงพื้นที่ไปยังชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา เพื่อร่วมตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว สมชาติกล่าวว่า สถานการณ์ค่อนข้างน่ากังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เจ้าหน้าที่มีการสื่อสารกับชาวบ้านในเชิงข่มขู่ว่าจะยึดแปลงไร่เหล่าที่เป็นพื้นที่ทำกินเดิมเพื่อนำไปปลูกป่าฟื้นฟู ยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่า นโยบายในการเพิ่มพื้นที่ป่า 40% ตามแผนแม่บทป่าไม้ยังคงอยู่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ปีพ.ศ.2507 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องสงวน รักษา และป้องกันป่าไว้ โดยให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ส่วนตัวเห็นว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ชุมชนชาติพันธุ์อาจต้องมีการรวมตัวเพื่อเคลื่อนไหวในระดับนโยบายต่อไป

“สถานการณ์ค่อนข้างเร่งด่วนและน่ากังวล อย่างบ้านขุนอ้อน เพิ่งหยอดข้าวในไร่หมุนเวียนไปแค่สองแปลง แล้วชาวบ้านที่เหลือจะเข้าไปทำกินอย่างปกติสุขได้ยังไง ถ้าเจ้าหน้าที่พูดมาขนาดนั้น และไม่ใช่มีแค่ขุนอ้อนบ้านเดียวที่กำลังเจอสถานการณ์แบบนี้ เมื่อวานทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่ามีแผนจะลงตรวจสอบบ้านอื่น ๆ ตามคำสั่งด้วยเหมือนกัน มันเลยเป็นสถานการณ์ใหญ่ระดับกฎหมายนโยบาย ซึ่งต้องมีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อให้ชาวบ้านยังทำกินแบบไม่ต้องกังวลใจแบบนี้” สมชาติกล่าว

โดยในวันที่ 14 มิถุนายน 2567 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือได้รับแจ้งจากทางชุมชนว่า หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ที่ 6 จ.ลำปาง จะลงพื้นที่เข้าไปในชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา หากมีความคืบหน้าทางมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือจะรายงานสถานการณ์เพิ่มเติม