เรื่อง อภิวัฒน์ สุวรรณพินิจ, ทิชานนท์ เจริญชนม์, ศุภณัฐ ไชยการ, วรปรัชญ์ เมืองยศ

ตอนที่ 3 ปิดทองหลังพระ(ยาผาบ)

เจ้านายฝ่ายเหนือกับการลุกฮือขึ้นมาต่อต้านของพญาผาบ

เจ้าหลวงหรือเจ้านายเมืองเชียงใหม่มีส่วนเห็นโดยในการก่อกบฏ  โดยสาเหตุของการเพราะอาจมาจากเหตุการปฏิรูปการปกครองแบบใหม่ของรัชกาลที่ 5 ทำให้เจ้าเมืองเชียงใหม่สูญเสียผลประโยชน์จากการสัมปทานป่าไม้ รวมทั้งทรัพยากรมีค่าต่างๆ เช่น นอแรด น้ำผึ้ง งา ช้างเป็นต้น ทรัพยากรเหล่านี้ถูกบริษัทต่างชาติโดยเฉพาะอังกฤษเข้ามาสัมปทาน เก็บผลประโยชน์ไปยังประเทศของตนเอง[1]

การเกิดกบฏครั้งนี้ถูกรัฐเรียกว่า “กบฏภาษี” แต่ชาวบ้านล้านนาเรียกว่า เศิก(ศึก)พญาผาบ ชาวบ้านไว้วางใจในตัวของผญาผาบ เป็นที่พึ่งได้ของตนเองได้ จึงเกิดการรวมตัวกัน มีหัวหน้าชุมชนจากหลากหลายพื้นที่เข้าร่วมต่อสู้กับพญาผาบ ส่วนเจ้าหลวงหรือเจ้านายเมืองเชียงใหม่ ก็มีส่วนรู้เป็นใจกับการกระทำที่พญาผาบกับพวกได้ลุกขึ้นมาต่อต้าน ยกเว้นเจ้าอินทวิชยานนท์ ทางกรุงเทพได้พุ่งเป่าสงสัยไปยังเจ้าอุปราชหรือเจ้าอิทวิโรรสมากกว่าคนอื่น แต่ก็ไม่ได้ลงโทษเจ้านายฝ่ายเหนือแต่อย่างใด แต่เหตุการณ์ก็มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกขณะ จนกระทั่งฝ่ายรัฐบาลได้ออกคำสั่งลงวันที่ 15 กันยายน 2432 โดยพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าโสณบัณฑิต ข้าหลวงพิเศษ ให้พญาผาบเข้ามอบตัวภายใน 5 วัน แต่พญาผาบปฏิเสธการมอบตัว และยกกำลังเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ เพื่อฆ่าคนไทยภาคกลางและพ่อค้าชาวจีน แต่แผนดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีอุปสรรคเกิดขึ้นจึงทำให้พวกพญาผาบไปไม่พร้อมเพรียงกัน จึงได้มีคำสั่งจากรัฐบาลอีกครั้งให้มีการปราบปรามพวกพญาผาบในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2432 นำโดยเจ้าอุปราชบุรีรัตน์และเจ้าบุตรหลาน โดยมีการนำอาวุธที่ทันสมัยไปต่อสู้ ส่งผลให้พวกพญาผาบพ่ายแพ้แก่รัฐบาลทหารลง ชาวบ้านบางส่วนถูกโทษประหาร บางส่วนก็ถูกจับไปเป็นทาส และบางส่วนก็ถูกจับเฆี่ยนตี ได้รับความทารุณจากเจ้าหน้าที่สยามอย่างเลือดเย็น ส่วนพญาผาบได้หลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่เมืองเชียงตุงและได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าเมืองเชียงตุง ส่วนเจ้าภาษีอากรก็ได้รับโทษประหารเช่นกัน เพราะเป็นเหตุให้ประชาชนก่อกบฏ[2]

การเก็บภาษีผูกขาดจากทางส่วนกลางของสยามชาวล้านนามองว่านโยบายการปรับปรุงการปกครองล้านนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วง  พ.ศ. 2427 เป็นการก้าวก่ายและลิดรอนอำนาจที่ตนเคยมี ส่งผลให้เกิดการต่อต้านระบบการปกครองของรัฐบาลกลางสยามจนกลายเป็นการก่อกบฏ สอดคล้องกับบทความในหนังสือของ ชูสิทธิ์ ชูชาติ ปัจจัยการก่อเกิด กบฏพญาผาบ เกิดจากทางส่วนกลางสยามที่สร้างระบบการเก็บภาษีที่เปลี่ยนผันอย่างกะทันหัน ผนวกกับทางส่วนกลางสยามกลัวเสียผลประโยชน์อันต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ จากส่วนกลางสยาม หัวเมืองฝ่ายเหนือ และภายในหมู่บ้านหรือชุมชน ตามลำดับ ไม่มีตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่าย ทำการโดยทันทีจึงเกิดการรวมกองทหารจากส่วนกลางสยามเข้าปราบปราม ชาวนาผู้ถูกกล่าวหาว่า “กบฏ” ชาวนาผู้ซึ่งอดทนและอดกลั้นจากการ “ขูดเลือดขูดเนื้อ” จากเจ้าภาษีของนครเชียงใหม่ แม้ว่าทางส่วนกลางจะปรับเปลี่ยนการเป็นภาษีนอกจากเงินตรา เป็นสิ่งของมีค่า หรือผลผลิตแทน แต่เจ้าภาษีไม่ยอมปฏิบัติตามนโยบายใหม่ทั้งยังข่มขู่และกล่าวหาการก่อกบฏ จนทำให้กบฏพญาผาบ ถูกปราบปรามจนสิ้น และในสังคมและบริบทของชาวล้านนาถึง ภาพตัวแทนของผู้ชาย ผู้กล้าหาญ ไม่เกรงกลัวต่อความเป็นไม่เป็นธรรม เป็น “วีรชนเอก” หรือ “ตัวละครเอก” สำคัญในการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ล้านนา[3]

การร้องเรียนของเจ้าภาษีแก่ข้าหลวงใหญ่ที่มาจากส่วนกลางทำให้เกิดการเข้ามาของอำนาจที่เกิดให้การเปลี่ยนแปลงภายในนครเชียงใหม่ โดยไร้การสืบเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากเจ้าภาษี ที่ขูดเลือดขูดเนื้อ ทั้งยังเก็บภาษีที่เน้นเงินตราเท่านั้น ยังให้ความรุนแรงและทารุณชาวนาผู้ซึ่งไม่สามารถจ่ายภาษีเป็นเงินตราได้ เป็นการจุดชนวนทีทำให้กบฏพญาผาบเกิดขึ้น เพื่อต่อต้านและปราบอำนาจที่ที่กดขี่ ทั้งจาก ข้าหลวงใหญ่นครเชียงใหม่ เจ้าภาษี และส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) ผนวกกับการรวมมือทั้งสามฝ่ายก่อให้เกิดการปราบปรามกบฏพญาผาบโดยง่าย[4]

จากการต่อสู้ของพญาผาบนั้นแสดงให้ถึงความกล้าต่อสู้กับกลุ่มข้าหลวง ข้าราชการจากส่วนกลาง และพ่อค้าต่างชาติ ที่เขามากดขี่ข่มเหงชาวล้านนา ถึงแม้พญาผาบจะได้รับความพ่ายแพ้ แต่ผลของความกล้าหาญของพญาผาบนั้น ส่งผลให้รัฐบาลส่วนกลางหรือกรุงเทพผ่อนปรนการเก็บภาษี เปิดโอกาศให้เจ้าเมืองเชียงใหม่แต่งตั้งข้าราชการท้องถิ่นมามีบทบาทในการเก็บภาษี เพื่อให้ชาวบ้านและรัฐบาลกลางหรือกรุงเทพเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน และลดความตึงเครียดทางการเมืองลง

การที่พญาผาบและชาวบ้านได้จับอาวุธเพื่อต่อสู้กับสยามจนก่อให้เกิดเหตุการณ์ “กบฏพญาผาบ” ขึ้นนั้น เป็นเพราะการไม่ได้รับการตอบสนองต่อการร้องเรียนเรื่องภาษีจากเจ้าเชียงใหม่ สะท้อนให้เห็นว่าการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลสยามทำให้ความน่าเชื่อถือของราษฎรหรือไพร่ที่มีต่อบรรดาเจ้านายได้ลดลง หันมาพึ่งตนเองและระดมคนที่เดือดร้อนจากปัญหาเดียวกันมาเข้าร่วมจนกลายเป็นกบฏที่ต่อต้านอำนาจของรัฐ นอกจากนี้พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าบรรดากลุ่มเจ้านายและบุตรหลานในเมืองเชียงใหม่ เป็นผู้ที่มีส่วนรู้เห็นกับกบฏของพญาผาบ แม้จะไม่มีหลักฐานที่เชื่อมโยงถึงกลุ่มเจ้านายและบุตรหลานในเมืองเชียงใหม่ก็ตาม

กล่าวโดยสรุป การปฏิรูประบบราชการในรัชกาลที่ 5 เพื่อทัดเทียมกับต่างชาติ โดยการปรับปรุงระบบราชการนั้นปรับเปลี่ยนเป็นทอด ๆ อันต่อเนื่องในระบบราชการ ได้แก่ ส่วนกลาง หัวเมืองฝ่ายเหนือ และหมู่บ้านหรือชุมชนตามลำดับ การเปลี่ยนผันของระบบที่รวดเร็วนั้นทำให้เกิดช่องว่างของระบบราชการ ซึ่งช่องว่างนั้นมีผู้เห็นช่องทางในการแสวงผลประโยชน์มากมาย ในกรณีนี้คือการเก็บภาษีที่สูง ทั้งยังกระทำการรุนแรงแก่ประชาชน เป็นการจุดชนวนความโกรธแค้นจากการถูกกดขี่และอดทนมาเกินพอแล้ว จึงต้องการแสวงหาทางหลุดพ้นจากอำนาจที่กดขี่ตน ก่อเกิดเป็น “กบฏ”หรือ เรียกว่า “กบฏพยาผาบ” ตามที่ชาวบ้านเรียกกัน แต่ทางรัฐจะเรียกว่า “กบฏภาษี” การต่อสู้จากการเรียกร้องการเก็บภาษีที่สูง กลายเป็นการต่อสู้เพื่อทำลายระบบราชการทั้งหมดในนครเชียงใหม่ จนกระทั่งส่วนกลางหรือภาครัฐสยาม มองเห็นถึงการเสียผลประโยชน์ที่จะตามมา และส่งทหารเข้าไปปรามปราบจนสิ้น จนภายหลังทางรัฐยินยอมให้มีการรับราชการที่มาจากฝ่ายเหนือหรือนครเชียงใหม่ เพื่อปกครองกันเอง ส่งผลให้ “พญาผาบ แห่งล้านนา” กลายเป็นภาพลักษณ์ของ “วีรชนล้านนา” ผู้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อสู้กับรัฐสยาม และอำนาจที่กดขี่ไว้ สะท้อนถึงการไม่ยอมตกภายใต้อำนาจที่กดขี่และเอารัดเอาเปรียบ และสร้างบุคคลผู้ดำเนินการทางประวัติศาสตร์และการขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องความถูกต้องเป็นธรรม 


[1] เรื่องเดียวกัน.

[2] วรยุทธ มูลเสริฐ , การเมืองวัฒนธรรมล้านนา : การตอบโต้การครองอำนาจนำของสยามในล้านนาภายใต้วาทกรรมว่าด้วยความศิวิไลซ์และความเป็นสยาม (ม.ท.ป : ม.ป.ป) หน้า 14-18.

[3] สุภาวดี เพชรเกตุ และกาญจนาวิชญาปกรณ, “กบฏล้านนา : การประกอบสร้างภาพแทนผู้ชายล้านนา ในนวนิยายไทยระหว่าง พ.ศ. 2490-2560,” พิฆเนศวร์สาร 15, 1 (มกราคม – มิถุนายน 2562): 71-72,75.

[4] ชูสิทธิ์ ชูชาติ, “กบฏพยาผาบ (ปราบสงคราม) กบฏชาวนาในภาคเหนือ,” ใน สังคมศักดินาในอาณาจักรล้านนาหรือในภาคเหนือ (เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2522), หน้า 53-63.