Lanner เปิดพื้นที่ให้ทุกคนที่อยากสื่อสาร โดยความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ สามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com

เรื่อง: เบญจมาศ สังเกตุ,ปวีณา บุหร่า

การศึกษาเรื่องการเกิดและการปรับตัวของศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535-2566 มีจุดมุ่งหมายของการวิจัย 1) เพื่อศึกษาการก่อตัวของศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย 2) เพื่อศึกษาการปรับตัวของศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ตามบริบทการท่องเที่ยวของสุโขทัย 1) การเกิดของศูนย์การเรียนรู้บ้านพระพิมพ์ เกิดจากคนในชุมชนบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่มีความสนใจในประวัติศาสตร์ศิลปะสุโขทัย ประกอบกับนโยบายของภาครัฐ จนนำมาสู่การเกิดศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ 2) การปรับตัวของบ้านพระพิมพ์จะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทการท่องเที่ยวของสุโขทัยในช่วงเวลานั้น ๆ สามารถแบ่งบริบทได้เป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก การปรับตัวในปี พ.ศ. 2550 – 2555 เป็นช่วงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมให้เข้ากับนักท่องเที่ยว ช่วงที่สอง การปรับตัวในช่วงปี พ.ศ. 2556 – 2560 เป็นช่วงเวลาที่ต้องปรับตัวให้ตอบสนองนโยบายของสุโขทัยที่อยากจะยืดเวลาให้นักท่องเที่ยวอยู่ในจังหวัดสุโขทัยมากยิ่งขึ้น และช่วงที่สาม การปรับตัวในช่วงปี พ.ศ. 2561-2566 เป็นช่วงที่ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ต้องปรับตัวและแก้ไขปัญหาต่อผลกระทบหลังสถานการณ์โควิด 19

อาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักรที่เก่าแก่ ที่ตั้งอยู่ภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ตามหลักฐานทั้งทางโบราณวัตถุสถานหรือศิลาจารึก แสดงให้เห็นถึง ความรุ่งเรืองทางศาสนาของสุโขทัย ที่มีนับถือตั้งแต่  ผี พราหมณ์ฮินดู พุทธศาสนา โดยหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการนับถือศาสนาพุทธนั้น คือ การค้นพบพระพิมพ์ที่เมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ตามความเชื่อแล้วพระพิมพ์เป็นการต่ออายุของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีความเชื่อว่าพระพุทธศาสนาจะสิ้นสุดเมื่อมีอายุครบ 5,000 ปี ทำให้ผู้ที่นับถือคิดที่จะสร้างพระพิมพ์และนำไปฝังตามถ้ำหรือสถูปต่าง ๆ โดยหวังว่าในอนาคตจะมีผู้มาพบเห็นพระพิมพ์จนเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอีกครั้ง การสร้างพระพิมพ์ทำให้เกิดผลบุญเป็นอันมาก เพราะการสร้างพระพิมพ์ถือว่าเป็นการได้อานิสงค์ที่ได้บุญเท่ากับการสร้างพระพุทธรูปหนึ่งองค์ ส่งผลให้ผู้สร้างมีชีวิตที่สุขสบายในชาติหน้า นอกจากการสร้างพระพิมพ์เพื่อเป็นกุศลแก่ตนเองแล้ว ยังมีการสร้างพระพิมพ์เพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย

พระพิมพ์ส่วนใหญ่ที่ถูกค้นพบในสุโขทัย จะนำไปเก็บรวบรวมตามพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในจังหวัดสุโขทัย โดยปัจจุบันจังหวัดสุโขทัยถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่ได้รับประกาศจากยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลก ทำให้บางชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่มีวิถีชีวิตที่คลุกคลีกับงานศิลปะ หัตกรรม เช่น การทำพระพิมพ์ การทำผ้าตีนจก การทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งแหล่งหัตกรรมเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว จนกลายเป็นแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่เกิดจากอาชีพของคนในชุมชน อันได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐภายใต้การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ควบคู่ไปกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชน

ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกหนึ่งสถานที่ในจังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นการก่อตั้งจากคนในพื้นที่ในชุมชนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย คือ คุณณรงค์ โตอินทร์ (พรานกบ) ที่มีความสนใจประวัติศาสตร์ศิลปะ ชอบการสะสมพระพิมพ์ และมีความคิดที่จะจัดตั้งเป็นแหล่งการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเผยแพร่ประวัติศาสตร์ในด้านศิลปะสุโขทัย โดยมองผ่านรูปแบบของพระพิมพ์ และวิถีชีวิตที่อยู่คู่กับชาวสุโขทัยมาอย่างยาวนาน จึงนำมาสู่การสร้างศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ ประกอบกับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ เนื่องจากเป็นนโยบายที่เชื่อมโยงกับนโยบายภายใต้การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีความสอดคล้องกับสถานที่ท่องเที่ยวหลัก อาทิ อุตสาหกรรมจังหวัดสุโขทัย และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 (อพท.4) เป็นต้น ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์จึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสุโขทัยที่นักท่องเที่ยวสนใจที่จะเข้ามาท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เก็บรวบรวมพระพิมพ์ของเมืองสุโขทัยไว้มาก ซึ่งเป็นพระพิมพ์ที่ถูกค้นพบจากเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองเก่าสุโขทัย และยังมีกิจกรรมการทำพระพิมพ์ดินเผาสุโขทัย และมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสุโขทัยในอดีต เช่น การยิงธนู การเล่นทอยแก่น การจุดไฟแบบโบราณ เป็นต้น นอกจากนี้ตลอดระยะเวลาการเปิดศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์เมืองสุโขทัยนั้น ด้วยความเปลี่ยนแปลงตามบริบทของการท่องเที่ยวสุโขทัย ทำให้บ้านพระพิมพ์ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของนักท่องเที่ยวและบริบทการท่องเที่ยวสุโขทัย 

ประวัติความเป็นมาและความเชื่อของพระพิมพ์

พระพิมพ์ถูกสร้างขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขันธ์ปรินิพพาน โดยมีเหตุมาจากพระพุทธบริษัทอยากจะรำลึกถึงพระพุทธเจ้า จึงเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน 4 แห่งของพระพุทธเจ้า คือ เมืองกบิลพัสดุ์ (สถานที่ประสูติ) พุทธคยา (สถานที่ตรัสรู้) ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (สถานที่แสดงปฐมเทศนา) เมืองกุสินารา (สถานที่ดับขันธ์ปรินิพพาน) ทำให้เกิดการสร้างพระพิมพ์เพื่อเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการเดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง โดยพระพิมพ์มักจะมีลักษณะเป็นก้อนดินเผา มีการประทับเป็นรูปสัญลักษณ์ของสถานที่ต่าง ๆ ลงในพระพิมพ์ เช่น  พระพิมพ์ที่พบในเมืองพุทธคยา มีลักษณะเป็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ในท่าแสดงธรรมในยอดปราสาทที่เมืองพุทธคยา เป็นต้น ความนิยมในการสร้างพระพิมพ์นั้น แต่เดิมจะสร้างจากดินเผาแล้วฝังไว้ใต้สถูปไว้เป็นจำนวนมาก ต่อมาได้มีการสร้างรูปหล่อด้วยโลหะ ไม้ หรือสลักด้วยหิน โดยการสร้างรูปหล่อนั้นเป็นสิ่งที่ทำยากและทำกันไม่ได้ทั่วไป จะเป็นคนชนชั้นสูงเท่านั้นที่สามารถทำได้ ส่วนประชาชนหรือคนที่มีฐานะยากจนที่อยากสร้างบุญเพื่อให้ตนเองมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นในชาติหน้า ก็จะพากันสร้างพระพิมพ์ด้วยก้อนดินอันถือว่าเป็นหนทางแก่การได้บุญกุศล

ตามความเชื่อพุทธศาสนาจะสูญสิ้นไปเมื่อครบ 5,000 ปี ทำให้เกิดการสร้างพระพิมพ์เพื่อเป็นการต่ออายุของพระพุทธศาสนา ทำให้เห็นถึงความเลื่อมใสของผู้ที่นับถือ ถึงแม้ว่าพุทธศาสนาจะสิ้นไปแล้วก็ตาม ส่งผลให้ในสมัยโบราณจะนิยมนำพระพิมพ์จำนวนมากไปไว้ในถ้ำหรือบรรจุไว้ในสถูปต่าง ๆ เป็นวิธีที่ทำให้ผู้คนที่ค้นพบพระพิมพ์หลังจากพุทธศาสนาเสื่อมถอยลงไป ได้กลับมาเห็นรูปจำลองของพระพุทธเจ้า และหันกลับมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอีกครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้สัมภาษณ์คุณณรงชัย โตอินทร์ ที่ว่า พระพิมพ์ดินเผาที่สร้างขึ้นในสมัยโบราณของสุโขทัย เป็นการสร้างพระพิมพ์ด้วยความศรัทธา เลื่อมใสต่อพุทธศาสนา เป็นการสร้างขึ้นเพื่อสร้างบุญกุศลหรือสร้างบารมีให้แก่ผู้สร้าง เนื่องจาก ในพระพุทธศาสนามีความเชื่อเรื่อง เวียน ไหว้ ตาย เกิด ดังนั้น การสร้างพระพิมพ์ก็เปรียบเสมือนการสร้างบารมีให้ไปเกิดในพบภูมิที่ดีในชาติหน้า

ชาวสุโขทัยจะสร้างพระพิมพ์และนำพระพิมพ์กับพระอัฐิของพระมหากษัตริย์นำไปไว้รวมกันในองค์เจดีย์ เพื่อเป็นการอุทิศบุญให้กับผู้ตาย และมีความเชื่อเรื่องการต่ออายุพุทธศาสนาเหมือนกับที่อื่น ๆ โดยพระพิมพ์ที่ค้นพบในสุโขทัยนั้นมีประมาณ 1200 พิมพ์ เป็นการสร้างตามสี่อิริยาบถต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้า คือ นั่ง นอน ยืน เดิน โดยยุคต้นของอาณาจักรสุโขทัยจะสร้างพระพิมพ์แบบนั่งเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นการได้รับอิทธิพลมาจากขอมและมอญ และชาวสุโขทัยมีความเชื่อที่ว่ายิ่งสร้างพระพิมพ์ได้เป็นจำนวนมากยิ่งได้บุญมาก ทำให้พระนั่งเป็นสถาปัตยกรรมที่นิยมสร้างเป็นอย่างมากเพราะสามารถสร้างได้ง่ายและสร้างได้รวดเร็วกว่าแบบอื่น ๆ ต่อมาในยุคพญาลิไทจะนิยมสร้างพระเดินและยืน เพื่อเป็นการประกาศเอกราชทางสถาปัตยกรรมที่ได้เดินออกมาจากศิลปะแบบขอมและมอญแล้ว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความร่ำรวยทางศิลปะของสมัยพญาลิไท ส่วนการค้นพบพระนอนในสุโขทัยนั้นพบได้น้อยมาก เนื่องจาก เป็นปางที่ไม่นิยมสร้างนักในสมัยสุโขทัย

ชุมชนเมืองเก่าสุโขทัยในฐานะเมืองมรดกโลก

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่นหรือชุมชน เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน มีการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมไปถึงการรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่มีมาตั้งแต่อดีต โดยปัจจัยที่ทำให้การท่องเที่ยวชุมชนประสบความสำเร็จ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนกับทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวในชุมชนให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนนั้น ต้องอาศัยภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ และสมาชิกในชุมชนต้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา เพื่อเป็นการยกระดับศักยภาพชุมชนให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่เหมาะสมกับบริบทของการท่องเที่ยวและ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน

สุโขทัยเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และได้รับการประกาศจากยูเนสโก (UNESCO) ว่าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรได้จดทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ซึ่งนอกจากความเป็นมรดกโลกที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวแล้ว วิถีชีวิตของผู้คนโดยรอบอุทยานประวัติศาสตร์ที่ยังคงเติบโตมาพร้อมกับงานศิลปะ หัตถกรรม ที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษ เช่น การทำพระพิมพ์ การทอผ้าตีนจก การทำเครื่องปั้นดินเผา ก็สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ทำให้นอกจากการเข้าชมร่องรอยโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิตที่เก่าแก่ของคนในท้องถิ่นที่ยังคงอนุรักษ์ไว้จนถึงปัจจุบัน

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาถือได้ว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนท้องถิ่นได้เป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ใกล้กับอุทยานประวัติศาสตร์ จึงทำให้ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนให้มีศักยภาพมากขึ้น เช่น นโยบายการดำเนินงานส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่นหรือสินค้าโอทอป โดยเป็นการส่งเสริมของภาครัฐที่นำสินค้าโอทอปมาผสมผสานกับการท่องเที่ยว ทำให้เกิดหมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตของคนท้องถิ่น รวมถึงมีนโยบายการศึกษาดูงานของชุมชนต่าง ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนของตนเอง เพื่อรองรับต่อการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโดยชุมชน เป็นการท่องเที่ยวที่นำเสนอวิถีชีวิต หัตถกรรมของชุมชน ที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง นอกจากนี้ในจังหวัดสุโขทัยยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 (อพท.4) เป็นองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ดูแลพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนประเภทของแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณสถาน มีนโยบายการส่งเสริมการกระจายรายได้เพื่อลดความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวชุมชน เป็นการพัฒนาการสืบสานวัฒนธรรม อัตลักษณ์พื้นถิ่น รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น และศิลปะพื้นบ้านอย่างสร้างสรรค์

ชีวิตของศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ กับชีวิตเมืองสุโขทัย

ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ เกิดจากคนในชุมชนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย คือ คุณณรงค์ชัย โตอินทร์ โดยคุณณรงค์ชัยมีชีวิตที่คลุกคลีอยู่กับประวัติศาสตร์สุโขทัยมาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้คุณณรงค์ชัยเกิดการซึมซับและสนใจประวัติศาสตร์ศิลปะของสุโขทัย โดยเฉพาะการทำพระพิมพ์ คุณณรงค์ชัยได้เริ่มทำพระพิมพ์และเก็บสะสมพระพิมพ์ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ โดยพระพิมพ์ส่วนใหญ่จะได้มาจากบรรพบุรุษ เมื่อเก็บสะสมพระพิมพ์ได้มากขึ้น จึงทำให้คุณณรงค์ชัยอยากที่จะประกอบอาชีพเกี่ยวกับพระพิมพ์ เพราะเป็นสิ่งที่ตนเองชอบ จึงอยากมีชีวิตที่อยู่กับการทำพระพิมพ์  ดังข้อมูลจากการสัมภาษณ์ดังนี้

“…ลุงมีพ่อเป็นยามในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย พ่อลุงเป็นคนที่กลัวผีมาก เลยจะพาลุงไปด้วยทุกครั้ง มันเลยทำให้ลุงอยู่กับโบราณสถานทุกวัน จนทำให้ลุงชอบประวัติศาสตร์ ลุงชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับศิลปะสุโขทัย ชอบการเก็บสะสมพระพิมพ์ โดยพระพิมพ์ก็จะได้มากจากบรรพบุรุษบ้าง ไปขอคนที่เขาขุดกรุเจดีย์บ้าง พอลุงมีพระพิมพ์เยอะ ๆ ลุงเลยคิดว่า นี้แหละคือสิ่งที่ลุงรัก ลุงสามารถอยู่กับมันได้ทั้งวัน จึงทำให้ลุงอยากจะทำอาชีพเกี่ยวกับสิ่งนี้ไปจนตาย…”

คุณณรงค์ชัยได้เริ่มทำพระพิมพ์ขายครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2535 เป็นการทำพระพิมพ์ขายในรูปแบบของที่ระลึก โดยคุณณรงค์ชัยได้นำไปฝากขายกับโรงแรม รีสอร์ท ต่าง ๆ ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย การขายพระพิมพ์ในตอนนั้นคุณณรงค์ชัยทำแค่เป็นอาชีพเสริมเท่านั้น เพราะมีธุรกิจส่วนตัวกับภรรยาอยู่แล้ว ซึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้การขายพระพิมพ์เป็นแค่อาชีพเสริมมาเป็นอาชีพหลักแบบเต็มตัวนั้น คุณณรงค์ชัยได้ให้สัมภาษณ์ว่า

“…ลุงกับภรรยามีอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวไก่มะระในตลาดเมืองเก่า จนสนิทกับน้องที่ขายไก่ในตลาด พอดีว่าตอนนั้นใกล้เทศกาลปีใหม่ น้องมันก็มาคุยเรื่องของขวัญปีใหม่ว่าอยากได้ของขวัญปีใหม่เป็นพระสุโขทัยใส่กรอบ แต่ในตอนนั้นสุโขทัยไม่มีคนทำเลย มีแต่ที่กำแพงเพรชที่เดียว ทำให้ลุงคว้าโอกาสนี้เอาไว้ เพราะว่าพิมพ์พระของสุโขทัยมีมากกว่ากำแพงเพชร ทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้ ตอนนั้นลุงคิดราคาแค่กรอบละ 150 บาท โดยเป็นพระพิมพ์ 5 องค์ใส่กรอบไม้ หลังจากนั้นลุงก็ทำทั้งพระพิมพ์เป็นองค์และพระพิมพ์ใส่กรอบไม้ นอกจากนี้ลุงก็ทำพวงกุญแจจากไม้สักแล้วก็ปั๊มลายปูนปั้นตามวัดต่าง ๆ ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย พอลุงได้รายได้จากส่วนนี้มากขึ้น ลุงเลยเลิกขายก๋วยเตี๋ยวมะระแล้วหันมาขายพระพิมพ์แบบเต็มตัว…”

เมืองประวัติศาสตร์กับสินค้าโอทอป (OTOP)

เมื่อปี พ.ศ. 2544 รัฐบาลยุคของนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้มีนโยบายโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เป็นการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มีความมั่นคง สนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นลักษณะเฉพาะที่จำหน่ายในท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และมีการจัดหาเวทีในประเทศไทยเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าเหล่านี้ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ได้ช่วยกระตุ้นให้ชุมชนพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นการการเลือกผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นมาหนึ่งชิ้นจากแต่ละตำบลมาประทับตราว่า “ผลิตภัณฑ์โอทอป” ซึ่งผลิตภัณฑ์โอทอป จะรวมตั้งแต่งานหัตถกรรม เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับ อาหาร ฯลฯ นอกจากโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์จะช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่กำลังจะสูญหายให้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง

โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ถือเป็นโครงการที่เข้ามาช่วยสนับสนุนชุมชนในจังหวัดสุโขทัยที่มีอาชีพเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ให้มีแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์และทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพตามมาตรฐานและตรงต่อความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ทางจังหวัดสุโขทัยก็ได้มีการส่งเสริมสินค้าโอทอป โดยมีการจัดตั้งประชาสัมพันธ์สินค้าตามเทศกาลต่าง ๆ ภายในจังหวัดสุโขทัย เช่น งานประเพณีลอยกระทงในจังหวัดสุโขทัย ซึ่งถือได้ว่า เป็นงานที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุโขทัย เป็นประเพณีที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ทำให้เป็นโอกาสที่จะทำให้สินค้าของสุโขทัยเป็นที่รู้จัก ในงานประพณีลอยกระทงจะมีการตั้งตลาดโอทอปขึ้นมา เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สินค้าได้แพร่หลายและชุมชนมีรายได้มากขึ้น

จากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้คุณณรงค์ชัยต้องการที่จะพัฒนาพระพิมพ์ให้กลายเป็นสินค้าโอทอปเพื่อจะได้นำสินค้าของตนเองไปเผยแพร่ให้กับนักท่องเที่ยว หรือคนรุ่นหลังที่มองข้ามศิลปะจากพระพิมพ์ให้กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจอีกครั้ง คุณณรงค์ชัยได้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดสุโขทัยและอุตสาหกรรมภาคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลกให้เข้ามาช่วยทำเตาโบราณเพื่อพัฒนาต่อยอดสินค้าที่มีอยู่ให้มีคุณภาพมากขึ้น จนนำไปสู่การเป็นสินค้าโอทอป 3 ดาว และได้เข้าไปตั้งบูธประชาสัมพันธ์ในงานประเพณีลอยกระทง แต่เนื่องด้วยพระพิมพ์จัดว่าเป็นสินค้าประเภทของที่ระลึก จึงถูกจัดให้อยู่นอกงานประเพณีลอยกระทงเพราะในงานลอยกระทงจะเป็นสินค้าประเภทอาหารเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้ทำให้คุณณรงค์ชัยมีความคิดที่จะจัดสถานที่ท่องเที่ยวศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ เนื่องจากพระพิมพ์สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ของสุโขทัยได้ ดังข้อมูลจากการสัมภาษณ์ที่ว่า

“…มีงานลอยกระทงอยู่ปีหนึ่ง ลุงอยากเอาสินค้าของตัวเองเข้าไปอยู่ในงานลอยกระทง แต่ในงานไม่มีที่นั่งขายเลย ลุงเลยนั่งขายอยู่นอกงาน เจ้าหน้าที่ก็มาไล่ไม่ให้ขายเพราะไม่ได้เป็นสินค้าโอทอป จนประมาณปี พ.ศ.2545-2456 ลุงได้ไปขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้มาช่วยทำเตาเผาพระพิมพ์ให้หน่อย จนลุงสามารถพัฒนาสินค้าของลุงให้กลายเป็นสินค้าโอทอปและเข้าไปในงานลอยกระทงได้ แต่ลุงก็โดนกันออกมาขายอยู่นอกงานอยู่ดีเพราะในงานเขาจะเน้นอาหารเป็นส่วนใหญ่ แต่ของลุงมันไม่ใช่ จึงทำให้ลุงคิดได้ว่าสุโขทัยมันเป็นเมืองท่องเที่ยว เรามาทำให้สินค้าของเรามาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวดีกว่า…”

ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์กับวิถีท่องเที่ยววัฒนธรรม

ในปีพ.ศ. 2549 ได้มีการเริ่มก่อตั้งบ้านพระพิมพ์ โดยการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุโขทัย เป็นการขอก้อนอิฐเพื่อเอามาสร้างอาคารหอศิลป์ เอาไว้จัดพระพิมพ์จำลอง วัตถุโบราณ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชุมชนในอดีต ข้างๆ อาคารก็จะเป็นกระท่อมเปิดโปร่ง 3 ด้าน หลังคาทำจากหญ้าแฝก เป็นพื้นที่สำหรับไว้ให้นักท่องเที่ยวนั่งทำพระพิมพ์ และระหว่างกระท่อมกับอาคารหอศิลป์จะเป็นพื้นที่กลางแจ้งไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน  ซึ่งสถานที่ทำกิจกรรมทั้งหมดนี้สร้างเสร็จและเกิดเป็นศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2550

ทั้งนี้ ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก เนื่องจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่และการเดินทางค่อนข้างลำบาก ตรงกันข้ามกับสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เช่น สุเทพสังคโลก ที่เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ทำให้คุณณรงค์ชัยมีแรงบันดาลใจที่จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดสุโขทัย ประกอบกับหน่วยงานของ อพท.4 ที่มีนโยบายพัฒนาและส่งเสริมต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยชุมชน อพท.4 จะทำหน้าที่เป็นส่วนกลางในการประสานงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานรัฐ ส่งเสริมและสนับสนุนพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยว ให้มีการบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ โดยสถานที่ท่องเที่ยวต้องมีเรื่องราวจากทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่สามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาจนเป็นกิจกรรมที่สามารถลงมือทำได้ โดย อพท.4 ได้เข้ามาช่วยเหลือศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ในด้านให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น การเข้าร่วมโครงการวิจัยเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เป็นการไปศึกษาสถานที่ท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนตนเอง อาทิ การพัฒนารูปแบบของการนำเสนอการทำพระพิมพ์ จากเดิมที่เป็นเพียงการวางก้อนดินใส่ถุงพลาสติกวางบนแผ่นฟิวเจอบอร์ด มีน้ำเปล่ากับขนมไทยกองใส่ถาดไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว ก็มีการปรับปรุงให้สวยงามและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากจะมีแก้วพันใบตอง มีดอกไม้ประดับดิน จัดขนมพื้นถิ่นจากชุมชนไว้มารองรับนักท่องเที่ยว อีกทั้งในเรื่องของกิจกรรมก็มีการพัฒนาจากการทำพระพิมพ์เพียงอย่างเดียว เป็นเพิ่มกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวสุโขทัยเข้าไปด้วย ซึ่งการพัฒนารูปแบบการทำกิจกรรมอยู่ตลอดเวลาของศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์นั้น ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

กิจกรรมของศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์

ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้เลือกทำ ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ก็ล้วนสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในอดีต การทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ได้เพียงแต่ความสนุกเท่านั้น แต่ยังได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่คุณณรงค์ชัยได้สอดแทรกเข้าไปในระหว่างทำกิจกรรม เช่น

การพิมพ์พระ เป็นการเลือกพระพิมพ์ 2 แบบมาใช้เป็นแม่พิมพ์พระ คือ พระปางลีลากับพระปางมารวิชัย ซึ่งสาเหตุที่เลือกพระพิมพ์สองปางนี้ คุณณรงค์ชัย โตอินทร์ได้ให้ข้อมูลว่า “…เนื่องจาก พระปางลีลามีพุทธลักษณะที่งดงาม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปะสกุลช่างสุโขทัยโดยแท้ ส่วนพระปางมารวิชัย ลุงคิดว่า เป็นพิมพ์พระนั่งที่สวยงามไม่แพ้กับพระปางลีลา ลุงเลยใช้สองพิมพ์นี้มาเป็นแม่พิมพ์ให้นักท่องเที่ยวได้พิมพ์พระกัน…”

กิจกรรมฟังเรื่องเล่าในหอศิลป์พระพิมพ์ เป็นการนั่งฟังประวัติของพระพิมพ์ที่ค้นพบในจังหวัดสุโขทัย ประวัติวัด ผู้สร้างวัด และยังมีเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนสุโขทัยในอดีต ผ่านโบราณวัตถุที่ได้จัดแสดงไว้รวมกับพระพิมพ์ เป็นของที่คุณณรงค์ชัยได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ

กิจกรรมยิงธนู เป็นกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวได้ฝึกสมาธิ และการยิงธนูถือว่าเป็นวิถีชีวิตของคนในอดีต จากคำสัมภาษณ์ของนายณรงค์ชัย โตอินทร์ “… แต่ก่อนตระกูลลุงเป็นนายพรานเก่า ทำให้ลุงสามารถเล่าเรื่องราวในด้านวิถีชีวิตที่ลุงถูกฝึกมาตั้งแต่เด็กไปพร้อม ๆ กับการสอนนักท่องเที่ยวฝึกสมาธิกับการยิงธนูได้ นอกจากนักท่องเที่ยวจะสนุกแล้ว ก็ยังได้ฝึกสมาธิแบบไม่รู้ตัว และยังได้ความรู้อีกด้วย…”

การเล่นทอยแก่น เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่คล้าย ๆ กับกีฬาเปตองในปัจจุบัน แต่จะต่างกันที่ขนาดของลูกทอยแก่นจะเล็กกว่ามาก  ซึ่งทางศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์มีการปรับเปลี่ยนวิธีการละเล่นให้นักท่องเที่ยวเล่นได้ไม่ยากเกินไป คือ การทำจุดเส้นชัยให้ใกล้ขึ้น นักท่องเที่ยวสามารถโยนโดนแก่นได้ทุกคน ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวสนุกไปกับกิจกรรมทอยแก่น

การปรับตัวของบ้านพระพิมพ์ตามบริบทการท่องเที่ยวของจังหวัดสุโขทัย

ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ล้วนมีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวตลอดเวลา โดยมีการปรับเปลี่ยนตามบริบทการท่องเที่ยวสุโขทัย ให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เหมาะสมต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวตามยุคสมัย โดยผู้วิจัยได้วิเคราะห์ตามลำดับช่วงเวลา ดังนี้

การปรับตัวของศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ในช่วงปี พ.ศ. 2550-2555

ในช่วงแรกของการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้บ้านพระพิมพ์ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมให้มีความสอดคล้องกับแหล่งท่องเที่ยวหลักอย่างอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและมีความสะดวกต่อนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น เช่น พิธีกรรมไหว้ครูก่อนทำพระพิมพ์ การเปลี่ยนรูปแบบของแม่พิมพ์

พิธีกรรมไหว้ครู ในอดีตก่อนที่จะเริ่มทำพระพิมพ์นั้น จะต้องมีพิธีกรรมสำหรับไหว้ครูก่อนทำพระพิมพ์เสียก่อน คือ ต้องเตรียม เงิน 12 บาท ดอกไม้ 3 สี และธูปเทียน แต่เนื่องด้วย นักท่องเที่ยวที่มาทำกิจกรรมในศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์มีหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา ทำให้นักท่องเที่ยวไม่เข้าใจและไม่สะดวกต่อการทำพิธีกรรมนี้ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยการทางศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์จะมีพิธีกรรมไหว้ครูประจำปีแทนการทำพิธีกรรมไหว้ครูทุกครั้งก่อนทำพระพิมพ์

การเปลี่ยนรูปแบบของแม่พิมพ์ ในช่วงแรกของการเปิดรับนักท่องเที่ยวในศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ ได้ดำเนินกิจกรรมทำพระพิมพ์ตามกระบวนการของการทำพระพิมพ์ที่ได้สืบต่อมาจากบรรพบุรุษ เป็นการใช้ดินเหนียวหรือหินสบู่มาทำเป็นแม่พิมพ์รูปพระตามที่ต้องการ แต่การใช้ดินเหนียวมาเป็นแม่พิมพ์จะทำให้แกะพระพิมพ์ออกมาได้ยาก ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถทำได้ทุกคน จึงเปลี่ยนมาใช้แม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ เนื่องจาก สามารถแกะพระพิมพ์ออกมาได้ง่าย นักท่องเที่ยวสามารถทำได้ทุกคน ดังข้อมูลจากคำสัมภาษณ์ที่ว่า

“…ลุงได้เปลี่ยนมาใช้แม่พิมพ์จากปูนปลาสเตอร์ เพราะตอนแรกลุงก็ใช้ดินเหนียวเป็นแม่พิมพ์ มันแกะออกมายาก และนักท่องเที่ยวที่มามันเยอะจนลุงไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงในบางขั้นตอน ทำให้นักท่องเที่ยวอาจจะเกิดอาการหงุดหงิดจนทำพิมพ์พระของลุงเสียหายได้ เมื่อพิมพ์พระเสียหาย นักท่องเที่ยวก็จะรู้สึกผิด ซึ่งเราจะทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกผิดหรือไม่สนุกระหว่างทำกิจกรรมไม่ได้ ลุงเลยเปลี่ยนมาใช้แม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ เพราะมันเอาดินออกได้ง่าย…”

การปรับตัวของศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ในช่วงปี พ.ศ. 2556-2560

ในช่วงเวลานี้ทางจังหวัดสุโขทัยได้มีนโยบายให้นักท่องเที่ยวใช้ระยะเวลาอยู่ในจังหวัดสุโขทัยเพิ่มมากขึ้น  เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับจังหวัดสุโขทัย จึงส่งผลให้ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ต้องมีการปรับตัวในด้านการปรับเปลี่ยนกิจกรรมและขั้นตอนในการทำพระพิมพ์ คุณณรงค์ชัยจึงเลือกใช้ดินที่ต้องใช้เวลาเผาเป็นเวลานาน โดยเป็นการใช้ดิน 3 ส่วนกับทราย 1 ส่วน นำมาผสมกัน จะทำให้ใช้เวลาเผาพระพิมพ์เป็นเวลา 1 วัน จึงทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องรอที่จะเอาของที่ระลึกของตนเองกลับไปด้วย โดยระหว่างรอก็สามารถไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้ ส่วนทางศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์จะนำพระพิมพ์ที่เผาเสร็จแล้วไปฝากไว้กับทางโรงแรมที่นักนักท่องเที่ยวพักอาศัยในวันถัดมา นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มกิจกรรมให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวได้มากที่สุด เช่น การก่อไฟแบบโบราณ การยิงธนู การเล่นทอยแก่น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาท่องเที่ยวและพักอยู่นานขึ้น ตลอดจนดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางกลับมาเที่ยวซ้ำอีก เป็นการกระจายนักท่องเที่ยวให้กับสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ และเป็นการกระจายรายได้ให้กับจังหวัดสุโขทัยมากขึ้น

การปรับตัวของศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ในช่วงปี พ.ศ. 2561-2566

ในช่วงปีพ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา จังหวัดสุโขทัยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดระบาดโควิด 19 โดยเฉพาะการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองเก่าที่มีนักท่องเที่ยวลดลง เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยห้ามนักท่องเที่ยวเข้าชม การเดินทางมาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวหยุดชะงัก ส่งผลให้ชุมชนขาดรายได้ บางธุรกิจต้องปิดตัวลง ต่อมาเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 เริ่มคลี่คลาย นักท่องเที่ยวเปลี่ยนจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวจะต่างไปจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างชัดเจน โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่มีระยะเวลาการเที่ยวที่สั้นกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นการท่องเที่ยวช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์  แม้ว่าหลังจากทางการไทยและต่างประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างท่องเที่ยวแล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยกลับมาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด 19

จากที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ต้องปรับตัวในเรื่องของระยะเวลาในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ คือ กิจกรรมทั้งหมดต้องเสร็จสิ้นภายใน 1-2 ชั่วโมง  จากเดิมที่ใช้ดินที่หาได้ภายในพื้นที่เพื่อนำมาทำพระพิมพ์ ก็ต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นปูน เนื่องจากปูนใช้ระยะเวลาในการทำให้แห้งเพียง 1 ชั่วโมง และในระหว่างกรรมวิธีที่ทำให้พระพิมพ์แห้งนั้น ทางศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์จะมีกิจกรรมเสริมให้กับนักท่องเที่ยวได้ลงมือทำในระหว่างรอพระพิมพ์

ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้บ้านพระพิมพ์ได้มีกิจกรรมใหม่ที่กำลังจะเพิ่มเข้ามา คือ การทำอาหารพื้นถิ่น เป็นกิจกรรมที่คุณณรงค์ชัยอยากจะนำเสนอประสบการณ์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว เนื่องจาก ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวนิยมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เพราะการท่องเที่ยวเชิงอาหารเป็นการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงไปถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ผ่านการสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในชุมชน และกิจกรรมนี้ยังตอบสนองต่อนโยบายขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.4 ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญและแนวโน้มของการท่องเที่ยวเชิงอาหารว่าจะเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว และสามารถนำไปขายในตลาดท่องเที่ยวได้จริง ประกอบกับคุณณรงค์ชัยอยากอนุรักษ์อาหารพื้นบ้านที่มีวิธีทำแบบดั้งเดิมไว้ เช่น การใช้เตาอั้งโล่แทนการใช้เตาแก๊สแบบปัจจุบัน ดังคำสัมภาษณ์ที่ว่า

“… ลุงคิดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพราะว่า ลุงอยากจะอนุรักษ์วิธีทำอาหารแบบพื้นบ้านไว้ มันมีโอกาสน้อยที่เด็กรุ่นหลัง ๆ หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้มาก่อไฟด้วยเตาอังโล่แบบสมัยก่อน โดยระหว่างทำลุงก็เล่าถึงความเป็นมาของเตาอังโล่ ถึงอาหารที่ลุงให้นักท่องเที่ยวทำ โดยอาหารในแต่ละวันก็อาจจะไม่ซ้ำกัน ลุงจะเน้นไปที่อาหารจำพวก ปิ้ง ย่าง เป็นส่วนใหญ่ เพราะว่ามีวิถีทำที่ไม่ซับซ้อนเกินไป และอาหารจำพวกพวกแกง ลุงคิดว่าก็อาจจะไม่ถูกปากนักท่องเที่ยวสักเท่าไหร่…”

การปรับตัวของศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย มีจุดมุ่งหมายของการวิจัยคือ 1) เพื่อศึกษาการก่อตัวของศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย 2) เพื่อศึกษาการปรับตัวของศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ตามบริบทการท่องเที่ยวของสุโขทัย โดยในการสรุปผลการวิจัยครั้งนี้ได้เสนอข้อสรุปเพื่อตอบคำถามของวิจัย ซึ่งได้มาจากการวิเคราะห์ผลจากข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้มาจากการสัมภาษณ์ เจ้าของศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เกิดจากคนในชุมชนบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย คือ คุณณรงค์ชัย โตอินทร์ ที่สนใจประวัติศาสตร์ในด้านศิลปะสุโขทัย โดยเฉพาะพระพิมพ์ที่ได้มาจากบรรพบุรุษ และเมื่อเก็บสะสมได้มากขึ้น ทำให้เกิดความคิดที่จะทำพระพิมพ์ให้กลายเป็นของที่ระลึกและนำไปขายฝากตามโรงแรมและฝากขายตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต่อมาได้พัฒนาพระพิมพ์จากที่ขายเป็นองค์เดี่ยวเป็นการทำพระพิมพ์ในกรอบไม้ขายและนำสินค้ามาต่อยอดจนนำไปสู่การเป็นสินค้าโอทอป 3 ดาว ประกอบกับหน่วยงานของภาครัฐ คือ อุสาหกรรมจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดพิษณุโลกที่เข้ามาสนับสนุนในเรื่องให้ความรู้และทุนทรัพย์ในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้การที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้เป็นเมืองมรดกโลก ประกอบกับวิถีชีวิตของผู้คนที่คลุกคลีอยู่กับประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ส่งผลให้อพท.4 มีนโยบายพัฒนาวิถีชีวิต อาชีพ ของชุมชนที่อยู่บริเวณโดยรอบอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ที่เกิดการสนับสนุนจากนโยบายของภาครัฐและความตั้งใจของคุณณรงค์ชัยที่จะเปิดศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์เป็นสถานที่ท่องเที่ยว

ตลอดระยะเวลาการเปิดศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์นั้น ด้วยความเปลี่ยนแปลงตามบริบทของการท่องเที่ยวสุโขทัยอยู่ตลอดเวลา ได้นำไปสู่การปรับตัวของศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ตามช่วงเวลาต่าง ๆ อาทิ การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ กระบวนการเตรียมดิน และขั้นตอนในการทำพระพิมพ์ที่สะดวกต่อนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ และการปรับตัวตามนโยบายของทางจังหวัดสุโขทัยที่อยากจะดึงรายได้เข้าสู่จังหวัด ทำให้ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ต้องดำเนินกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวอยู่ท่องเที่ยวในจังหวัดสุโขทัยมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากโรคระบาดโควิด 19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดน้อยลง และพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวได้เปลี่ยนแปลงไป โดยในปัจจุบันนักท่องเที่ยวนิยมเที่ยวแบบระยะสั้น ส่งผลให้ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ต้องนำเสนอการท่องเที่ยวที่สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว จัดกิจกรรมที่สร้างความแตกต่าง เป็นเอกลักษณ์ โดยคำนึงถึงการให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วัฒนธรรมผ่านการลงมือทำเพื่อเป็นการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว


บรรณานุกรม

หนังสือ

  • ยอร์ช เซเดส์. ตำนานอักษรไทย ตำนานพระพิมพ์ การขุดค้นที่พงตึง และความสำคัญประวัติศาสตร์สมัยโบราณ   แห่งประเทศไทย ศิลปะสุโขทัย ราชธานีรุ่นแรกของไทย. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา,2507.

วารสาร

  • คัชพล จั่นเพรช. “การพัฒนาแนวทางการจัดการแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดสุโขทัย.” วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง 10, 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2564) : 13.
  • เฉลิมพล ศรีทอง และ ธีรพงษ์ เที่ยงสมพงษ์. “แนวทางการพัฒนาศักยภาพการตลาดและโปรแกรมการท่องเที่ยวชุมชนเมืองเก่า สุโขทัยในฐานะเมืองสร้างสรรค์โลกภายใต้ฐานวิถึชีวิตใหม่.” วารสารวิจัยราชภัฏเชียงใหม่ 22, 3 (กันยายน-ธันวาคม 2564) : 176-177.
  • อนุวัฒน์ และ ธนัสถา โรจนตระกูล. “การพัฒนาศักยภาพชุมชนแบบมีส่วนร่วมสู่ชุมชนท่องเที่ยวที่ยั่งยืน.” Journal of Modern Learning Development 7,8 (เดือนกันยายน 2565): 416.

วิทยานิพนธ์

  • ณธายุ ตีบจันทร์. แนวทางการเชื่อมโยงสินค้าโอทอปเพื่อการท่องเที่ยวชุมชนด่านเกวียน จังหวัดราชสีมา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557.
  • ยุทธภูมิ มั่นตรง. การศึกษาพระพิมพ์แผงไม้ในล้านนา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2558.

การสัมภาษณ์

  • ณรงค์ชัย โตอินทร์. ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย. สัมภาษณ์, 16 ธันวาคม 2565 ,18 มีนาคม 2566.

 เว็บไซต์

  • ชุติกา เกียรติเรืองไกรและณัฐอร เศรษฐกรอาวุโส. การเปลี่ยนแปลงภาคการท่องเที่ยวไทย กับก้าวต่อไปหลังเปิดประเทศ. ธนาคารแห่งประเทศไทย. สืบค้นจากhttps://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/25650392TheKnowledge_Travel.aspx. เข้าถึงวันที่ 28 เมษายน 2566.
  • พลอย จริยะเวท. พระทำ ถึงรสแท้สุโขทัย ณ แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์เล่าเรื่องตัวฉกาจที่ ‘บ้านพระพิมพ์ลักษมณศิลป์’. The Clou. สืบค้นจาก https://readthecloud.co/workshop-pimpradin/. เข้าถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566.
  • องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน). สืบค้นจาก https://www.dasta.or.th/th#. เข้าถึงวันที่ 9 มีนาคม 2566.
  • อพท. เดินหน้าสู่การเป็น “องค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างชุมขนแห่งความสุข”. องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน). สืบค้น จาก https://www.dasta.or.th/th/article/421. เข้าถึงวันที่ 10 เมษายน 2566.