เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์
หลายปีมาแล้ว เมื่อจารุวรรณ ธรรมวัตร ได้ปริวรรตและสรุปเนื้อความเอกสารโบราณของลาวจำนวนหนึ่ง[1] แล้วได้ระบุในคำนำว่า “เป็นไม่ได้ที่จะศึกษาอีสาน โดยไม่ใส่ใจศึกษาลาว เวียดนาม ล้านนา พม่า” ในแง่เดียวกัน การศึกษาประวัติศาสตร์ลาว ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้เช่นกันที่จะไม่ใส่ใจประวัติศาสตร์ล้านนา พม่า และเวียดนาม
กรณีบทบาทล้านนาในศึกเจ้าอะนุวง[2] พ.ศ.2369-2371 มะยุรี และเผยพัน เหง้าสีวัทน์[3] ได้ชี้ให้เห็นว่าเจ้าอะนุวงเข้าใจสภาพการณ์ดีว่า หากทัพเวียงจันมุ่งสู่อีสานและภาคกลาง เป็นไปได้มากว่ากรุงเทพฯ จะมีคำสั่งให้หัวเมืองล้านนายกทัพลงมาช่วยเป็นศึกกระหนาบ แต่เจ้าอะนุวงก็เข้าใจอีกว่าหัวเมืองล้านนาก็อยู่ในสถานภาพเดียวกับล้านซ้างเวลานั้น คือต่างก็ตกเป็นประเทศราช หัวอกเดียวกัน เจ้าอะนุวงจึงร้องขอไปยังหัวเมืองล้านนาให้เคลื่อนทัพลงมาหยุดอยู่เพียงแดนเมืองระแหง (ตาก) ซึ่งดูเหมือนว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
กองทัพล้านนาอันประกอบด้วย เชียงใหม่ น่าน แพร่ ลำปาง ซึ่งสยามเรียกรวมกันว่า “ทัพพุงดำ” เมื่อได้รับคำสั่งจากกรุงเทพฯ ให้ยกไปช่วยปราบเจ้าอะนุวง กว่าจะเดินทัพไปถึงก็เป็นช่วงที่ทัพหลวงจากกรุงเทพฯ บุกถึงเวียงจันและเจ้าอะนุวงหลบหนีออกจากเมืองไปแล้ว คือไปถึงสมรภูมิในช่วงที่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าฝ่ายใดแพ้ฝ่ายใดชนะ
สุเนด โพทิสาน และคะนะ[4] ได้พิจารณาบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างล้านนากับเวียงจันยุคเจ้าอะนุวง โดยย้อนกลับไปเหตุการณ์ในพ.ศ.2348 (ค.ศ.1805) หลังกลับจากศึกเชียงแสนได้ไม่ถึง 1 ปี สยามก็มีศึกใหม่ให้เวียงจัน โดยได้มีคำสั่งให้เวียงจันไปตีเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง เมืองสิง และหัวเมืองรายทางข้างเคียง โดยในศึกนี้ให้เวียงจันยกไปสมทบกับทัพลำปาง เชียงใหม่ แพร่ และหลวงพระบาง เลยทำให้เจ้าอะนุวงในฐานะแม่ทัพเวียงจันมีความสนิทสนมและรู้จักมักคุ้นกันดีกับเหล่าแม่ทัพนายกองตลอดจนเจ้าฟ้าของหัวเมืองล้านนา เนื่องจากเคยร่วมในศึกเดียวกัน เป็น “มิตรร่วมรบ” กันมาก่อนนั่นเอง
ขณะที่สุวิทย์ ธีรศาศวัต เคยเปิดประเด็นตั้งคำถามว่า “ทำไมเจ้าอนุวงศ์จึงต้องปราชัย?”[5] แล้วได้ข้อสรุปว่าเพราะพันธมิตรของเจ้าอะนุวงไม่มาตามนัด พันธมิตรที่ว่านี้แม้ว่าสุวิทย์จะมุ่งเป้าไปที่อังกฤษ ซึ่งเคยสร้างความหวาดกลัวแก่ชนชั้นนำสยาม และเมื่อคราวเจ้าอะนุวงมาร่วมงานถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 2 ไพร่พลของเจ้าอะนุวงก็ได้รับการร้องขอให้ไปตัดต้นตาลที่เมืองสุพรรณบุรีลำเลียงไปปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสร้างแนวป้องกันภัย (ที่คาดว่าจะมา) รุกรานคืออังกฤษ
คำถามและการเปิดประเด็นข้างต้นของสุวิทย์ นำมาสู่แง่มุมใหม่ เจ้าอะนุวงไม่ได้พ่ายศึกเพียงเพราะประเด็นเรื่องของอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังไพร่พลที่มีน้อยกว่า อย่างที่เคยเข้าใจกัน หากแต่พ่ายศึกเพราะพันธมิตรไม่มาตามนัด มุมมองแบบสุวิทย์ยังขยายไปที่ตัวละครอื่นที่นอกเหนือจากอังกฤษอีก เช่น เวียดนาม และล้านนา เวียดนามก็ไม่มาตามนัด[6] ล้านนามาตามนัดแต่มาล่าช้า และเมื่อมาถึงล้านนากลับเปลี่ยนจากมิตรเป็นศัตรูไปเข้าร่วมกับสยาม ปราบเจ้าอะนุวง (ซะงั้น?)
อย่างไรก็ตาม คงเป็นการด่วนสรุปเกินไป หากกล่าวว่าล้านนาอยู่ฝั่งเดียวกับเจ้าอะนุวง แม้จะเพื่อนบ้านข้างเคียงที่รับรู้อยู่ก่อนใครอื่น (แม้แต่หลวงพระบางก็รู้ทีหลัง) ว่าเจ้าอะนุวงมีแผนการจะบุกสยาม การรั้งทัพรออยู่ที่ระแหง อาจเป็นเพียงการรอดูสถานการณ์ต่อไป เพราะเป็นช่วงที่สยามได้เปิดฉากตอบโต้เวียงจัน โดยยกทัพขึ้นไปทางนครราชสีมาและเพชรบูรณ์แล้ว จากระแหงจะสามารถเดินทัพไปทางตะวันออกเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำป่าสักตอนบนและต่อไปจนถึงหนองคายและเวียงจันได้ ซึ่งก็ปรากฏว่าทัพล้านนาได้ใช้เส้นทางนี้ไปบรรจบกับทัพกรุงเทพฯ จริงอยู่ด้วย
ตอนแรกที่ดูเหมือนจะมีใจให้กับฝ่ายเจ้าอะนุวง ตอนหลังกลับเปลี่ยนไปอยู่ข้างสยาม เป็นเรื่องน่าสนใจว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมล้านนาไม่ช่วยเวียงจันอย่างที่ควร ทั้งๆ ที่ต่างก็ตกอยู่ในสถานะเดียวกับที่เวียงจันต้องการจะปลดแอกจากสยาม พูดง่ายๆ คือล้านนากับล้านซ้างต่างก็มีศัตรูเดียวกันในเวลานั้น แต่ทำไมถึงไม่ช่วยเหลือกันในการจัดการกับศัตรูที่ว่านี้
เรื่องนี้ไม่ง่ายที่จะอธิบายว่าเพียงเพราะชนชั้นนำล้านนาเวลานั้นต้องการเข้าข้างฝ่ายชนะ จึงไปช่วยสยามแทนที่จะช่วยเวียงจัน ทำไมล้านนาปล่อยโอกาสที่จะได้ตั้งตัวเป็นอิสระให้หลุดลอยไปง่ายดายปานนั้น การจะตอบคำถามนี้ได้ จำเป็นต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างล้านนากับล้านซ้างเวียงจัน ตกลงแล้วเวียงจันกับล้านนาเป็นอะไรกัน มิตรหรือศัตรู หรือแค่ “อยู่เป็น”???
ความสัมพันธ์ล้านนากับเวียงจันสมัยเจ้าอะนุวง
จาก “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)”[7] ลาวพุงดำที่สระบุรีเป็นกลุ่มที่เข้าร่วมกับเจ้าอะนุวงอย่างแข็งขันที่สุดกลุ่มหนึ่ง คนล้านนาที่สระบุรีซึ่งในอดีตถูกกวาดต้อนลงไปสยามนั้น จะได้ติดต่อประสานกับเจ้าเมืองล้านนามากน้อยแค่ไหน ไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เป็นไปไม่ได้ที่แม่ทัพนายกองล้านนาและเจ้าเมืองล้านนาจะไม่ทราบว่าคนล้านนาที่สระบุรีเข้าร่วมกับเจ้าอะนุวง
น่าน แพร่ เชียงใหม่ ลำปาง เพิ่งเข้าร่วมฝ่ายปราบปรามจริงๆ ก็เมื่อทัพสยามยึดเวียงจันได้แล้ว แต่ทั้งนี้หัวเมืองล้านนาก็ได้มีการเกณฑ์ไพร่พลเตรียมทัพและยกออกจากเมืองมาในเวลาไล่เลี่ยกับที่เจ้าอะนุวงแบ่งทัพลงมากวาดต้อนอยู่ในอีสานแล้ว ซึ่งในเวลานั้นสยามยังไม่ล่วงรู้ ข่าวศึกยังไปไม่ถึงเมืองหลวง กรุงเทพฯ เพิ่งทราบว่ามีศึกก็เมื่อทัพเวียงจันคุมโดยเจ้าลาดซะวง (เจ้าเหง้า) ยกลงไปถึงปากเพรียว (สระบุรี) และกวาดต้อนครัวสระบุรีขึ้นไปแล้ว
นั่นคือหัวเมืองอย่างน่าน แพร่ เชียงใหม่ ลำปาง รับรู้อยู่ก่อนกรุงเทพฯ มาได้ระยะหนึ่งแล้วว่า เจ้าอะนุวงจะบุกสยาม แต่ไม่ได้แจ้งข่าวไปยังสยาม เมืองที่พยายามส่งข่าวศึกให้แก่กรุงเทพฯ คือหลวงพระบาง แต่ก็ล่าช้า เพราะคนนำสารต้องเดินทางผ่านหัวเมืองอีสานซึ่งฝ่ายเจ้าอะนุวงได้เข้ายึดและกวาดต้อนผู้คนอยู่[8] ขุนนางใกล้ชิดเจ้าอะนุวงที่ไม่เป็นใจด้วยกับการศึกครั้งนี้อย่างเจ้าอุปฮาดติสสะ กว่าจะติดต่อกับฝ่ายสยามได้ ก็เมื่อสยามส่งกองทัพตอบโต้ขึ้นไปถึงเมืองยโสธรแล้ว
แต่ทั้งหมดก็อาจไม่ใช่ช่องว่างที่เกิดจากอุปสรรคการสื่อสารและการคมนาคมในสมัยนั้นอย่างเดียว เพราะสถานการณ์ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าฝ่ายไหนจะชนะ และอันที่จริงแนวโน้มของสงครามในช่วงแรกก็ดูเหมือนฝ่ายเจ้าอะนุวงจะได้เปรียบอยู่ไม่น้อย ถึงแม้การกวาดต้อนครัวในอีสานจะประสบปัญหาและถูกต่อต้านที่บริเวณทุ่งสำริด แต่ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะเป็นไปในทางสมคะเนของเจ้าอะนุวง เพราะวางแผนและเตรียมการมาอย่างดี ในขณะที่ฝ่ายสยามไม่คาดคิดกันมาก่อนเลยว่า เวียงจันจะกล้าเปิดศึกกับตนเช่นนั้น
เมื่อเห็นเวียงจันกล้าทำเช่นนั้นแล้ว ชนชั้นนำสยามก็หวั่นเกรงว่าหัวเมืองอื่นจะเอาเยี่ยงอย่างลุกขึ้นสู้กับพวกตนบ้าง จากหลักฐานของฝ่ายสยาม แสดงให้เห็นทั้งความไม่มั่นใจในตอนแรก และท่าทีต่อหัวเมืองประเทศราชอื่นๆ โดยเฉพาะล้านนากับหลวงพระบางด้วยแล้ว เต็มไปด้วยความระแวดระวัง แม้จะเป็นช่วงที่สยามยึดเวียงจันได้แล้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)[9] ซึ่งเสด็จไปเป็นแม่ทัพหลวงตั้งค่ายอยู่ที่หนองคาย หลังจากแม่ทัพนายกองหัวเมืองล้านนามาถึงและเข้าเฝ้าแล้ว ก็ยังมีจดหมายไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 รายงานสถานการณ์ให้ทรงทราบว่า:
“ฝ่ายทัพพุงดำ 5 หัวเมือง และหัวเมืองหลวงพระบางนั้น ถ้าทัพหลวงไม่ได้เมืองเวียงจันท์ ก็หามีผู้ใดมาถึงเมืองเวียงจันท์ไม่ มีแต่จะคอยเก็บครอบครัวช้างม้าอยู่ริมเขตแดนคอยทีไหวพริบเป็น 2 เงื่อน แต่บัดนี้ใช้สอยได้เป็นปกติต้องขู่บ้าง ปลอบบ้าง แต่ยังดูน้ำใจทั้ง 6 หัวเมือง เมืองหลวงพระบางอ่อนนัก เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน 2 เมืองนี้ ก็สุดแต่เมืองละคร (ลำปาง-ผู้อ้าง) เมืองแพร่นั้นตามธรรมเนียม แต่เมืองน่านนั้นการเดิมไหวอยู่ พระยาลครคนนี้มีอัธยาศัยมาก สมควรที่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมชุบเลี้ยง เห็นเป็นราชการได้ยืนยาว”[10]
สิ่งที่สร้างความไม่พอใจให้แก่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์กับชนชั้นสยามเวลานั้นอย่างมาก นอกจากเดินทัพไปช่วยการศึกล่าช้าแล้ว “ครอบครัวเมืองเวียงจันท์ก็หลบหนีไปทางเมืองละคร เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองหลวงพระบางเป็นอันมาก”[11] จึงเหมือนว่าหัวเมืองล้านนาที่ไม่ยอมช่วยในสงครามกลับจะ “ชุบมือเปิบ” ได้สินสงครามโดยไม่ต้องลงมือลงแรงอะไร
ทั้งนี้หากมองในแง่ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและสถานการณ์การเมืองระหว่างแว่นแคว้นต่างๆ รอบข้างเวียงจันขณะนั้น หากไพร่บ้านพลเมืองของเวียงจันจะอพยพหลบหนีสงครามแล้ว ลงใต้ไปจำปาสักไม่ได้ ไม่พ้นสงคราม ตรงข้ามจำปาสักที่เจ้าลาดซะบุด (เจ้าโย้) ครองอยู่นั้นได้เข้าร่วมการศึกครั้งนี้ตั้งแต่แรก เวียดนามอยู่ไกลและต่างวัฒนธรรมกัน ที่วัฒนธรรมใกล้เคียงกันและปลอดพ้นสงครามเวลานั้นก็มีหลวงพระบางกับล้านนา แต่หลวงพระบางกับเวียงจันก็เป็นศัตรูคู่อริกันมาจนแยกตัวเป็นอิสระต่อกันมาได้พักใหญ่แล้ว จึงเหลือทางเลือกอยู่เพียงล้านนา โดยเฉพาะเมืองน่าน ซึ่งมีข้อมูลการอพยพลี้ภัยของชาวเวียงจันเป็นอันมาก
ก.ศ.ร.กุหลาบ (กุหลาบ ตฤษณานนท์) ได้เคยนำเอาจดหมายใบบอกข้างต้นนี้ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์มาลงไว้ทั้งฉบับ ไม่ได้ตัดตอนมาแบบพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) โดยให้เหตุผลไว้ในวงเล็บท้ายบท ระบุว่า “จดหมายใบบอกกรมพระราชวังบวรฯ ฉบับนี้ ไม่ได้ตัดรอน กล่าวไว้เต็มตามต้นฉบับเดิม เพราะจะให้ท่านทั้งหลายฟังสำนวนท่านโบราณเป็นขนบธรรมเนียมราชการต่อไปภายหน้า”[12]
มีความตอนหนึ่ง (ซึ่งในพระราชพงศาวดารได้ตัดออก) ก็คือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ มีพระราชดำริจะลงโทษเหล่าแม่ทัพนายกองล้านนากับหลวงพระบางอย่างเด็ดขาด “หัวเมืองลาวพุงดำและหลวงพระบาง ที่ยกทัพมาล่าไม่ทันราชการทั้งหกเมืองนั้น ปรับโทษหัวเมืองทั้งหกว่า มาตีเวียงจันท์ไม่ทันทัพหลวงมีความผิดมาก ตกอยู่ในระหว่างเป็นกองทัพ มีโทษตามบทกฎหมายพระอัยการศึก”[13]
เมื่อเห็นภัยกำลังมาถึงตัว ฝ่ายล้านนากับหลวงพระบาง จึงได้รีบเข้าเฝ้าสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมมหาศักดิพลเสพย์ ขอพระราชทานอภัยโทษและขอทำคุณทดแทน “ฝ่ายพระยานครลำปาง พระยาน่าน พระยาแพร่ พระยาอุปราชเชียงใหม่ พระยาอุปราชลำพูน เจ้าอุปราชหลวงพระบาง และแสนท้าวพระยาลาวนายทัพนายกองทั้งหกเมือง เข้าชื่อกันทำเรื่องราวสารภาพรับผิดถวายแม่ทัพหลวง ขอพระราชทานทำการฉลองพระเดชพระคุณแก้ตัวต่อไป รับอาสาจะติดตามจับตัวเจ้าอนุ และเจ้าจำปาศักดิ์ เจ้าราชวงศ์ เจ้าสุทธิสาร เจ้าโถง เจ้าหน่อคำ และบุตรภรรยาญาติของเจ้าอนุ มาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้ได้ ถึงมาดว่าจะมิได้ตัวกบฏเหล่าร้ายเหล่านี้ก็ดี ก็คงจะคิดจัดการบ้านเมืองไม่ให้กบฏเหล่าร้ายเหล่านี้กลับมา ตั้งที่บ้านเมืองให้เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินต่อไปได้”[14]
แม้จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษ แต่ที่ขอตามจับตัวเจ้าอะนุวงและขอควบคุมดูแลการกวาดต้อนครัวนั้น ไม่ได้รับอนุญาต เพราะอย่างที่ระบุไว้แล้วว่า สิ่งที่สร้างความไม่พอใจต่อล้านนาเวลานั้น นอกจากส่งทัพมาช่วยล่าช้าไม่ทันการแล้ว ยัง “ชุบมือเปิบ” กวาดเก็บเอาสินสงครามที่ควรจะเป็นของสยามแต่เพียงผู้เดียวไปเป็นของตน
แน่นอนว่าตามมุมมองของสยาม ย่อมไม่มีประเด็นว่าชาวเวียงจันบางส่วนได้อพยพหลบลี้พวกตนไปอยู่ล้านนาเอง การแพร่หลายของวัฒนธรรมล้านซ้างในบางเมืองของล้านนาที่มีเขตแดนติดต่อกับล้านซ้าง ถึงกับทำให้เมืองอย่างน่านเกิดความสับสนในชั้นหลังมานี้ว่า ตกลงแล้ววัฒนธรรมน่านเป็นวัฒนธรรมล้านนาหรือล้านซ้างกันแน่?
นั่นเป็นปัญหาของคนยุคปัจจุบัน ซึ่งต้องการแสวงหาอัตลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น (และของชาติ) แต่ในอดีตสิ่งนี้ไม่ได้มีความจำเป็นมากเท่าไรนัก ตรงข้ามการแลกเปลี่ยนผสมผสานกันข้ามวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่พบเห็นได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั่วไป น่านกับล้านซ้าง (ทั้งหลวงพระบางและเวียงจัน) อยู่ใกล้ชิดติดกัน ผู้คนย่อมเดินทางไปมาค้าขายและแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ร่วมกันมาเป็นปกติ และอันที่จริงการเกิดอัตลักษณะเฉพาะที่ว่านั้นก็มีที่มาจากการแลกเปลี่ยนผสมผสานที่ว่านี้ด้วยซ้ำ
เจ้าอะนุวง (เมื่อครั้งยังจงรักภักดีต่อสยาม) กับ ศึกเชียงแสน
น่าสังเกตว่า หัวเมืองอย่างเชียงแสน เชียงราย พะเยา ไม่ได้เข้าร่วมในศึกนี้ เชียงแสนบอบช้ำจากที่เคยถูกกองทัพเจ้าอะนุวงเมื่อครั้งยังจงรักภักดีต่อสยามบุกตีสร้างความเสียหายมาก จึงเข้าใจได้ที่ไม่มีทัพจากแอ่งเชียงราย-ลุ่มน้ำกก เข้าร่วมศึกในครั้งนี้ เอกสาร “พื้นเมืองเชียงแสน” ได้เล่าถึงความเป็นอริต่อกันระหว่างเชียงแสนกับล้านซ้าง เชียงแสนเคยเผชิญการรุกรานจากหลวงพระบางหลายครั้ง ในทัพพม่าที่ไปตีเวียงจันสมัยพระเจ้าไซยะเซดถาทิลาด ก็มีทัพเชียงแสนร่วมไปกับทัพพม่าด้วย แต่ก็แพ้เวียงจันอย่างยับเยิน
จนกระทั่งถึงพ.ศ. 2345 (2 ปีก่อนเจ้าอะนุวงขึ้นครองราชย์) “เจ้าอิน เมืองจันทปุรีแล (หมายถึงเจ้าอินทะวง กษัตริย์เวียงจันขณะนั้น-ผู้อ้าง) เจ้าอุปราชอนุตนน้อง (คือเจ้าอะนุวง พระราชอนุชาของเจ้าอินทะวง สมัยยังเป็นเจ้าอุปฮาด-ผู้อ้าง) แลอโยธิยา (ในที่นี้หมายถึงกรุงเทพฯ-ผู้อ้าง) เจ้ากาวิละเชียงใหม่ ลคอร เมืองแพร่ เมืองน่าน ทั้งมวลกำลังมีแสน 2 หมื่น ขึ้นมารบเชียงแสน”[15]
ถึงจะเป็นศึกตีเชียงแสนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แต่หลักฐานของเชียงแสนเอง ระบุว่าเป็นการรุกรานจากสยามและลาว โดยมีพม่าและเชียงของช่วยป้องกันเมือง กองทัพเหล่านี้ผลัดกันตีเชียงแสน เมืองอื่นไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ลคร (ลำปาง) แพร่ น่าน ต่างก็เข้าตีแบบ “พอเป็นพิธี” แล้วก็ถอยทัพกลับบ้านเมืองตนไป แต่ทัพสุดท้ายที่เข้าตีคือทัพเวียงจันนำโดยเจ้าอะนุวง กลับไม่ใช่อย่างนั้น “พื้นเมืองเชียงแสน” เล่าบรรยายฉากการสู้รบระหว่างเชียงแสน (ที่อยู่ใต้อำนาจพม่า) กับกองทัพลาวนำโดยเจ้าอะนุวง ไว้อย่างดุเดือด เป็นศึกที่หนักหนาสาหัสสำหรับชาวเชียงแสนมาก ดังจะเห็นได้จากตัวบทหลักฐานต่อไปนี้:
“เดือน 3 แรม 13 ฅ่ำ วันจันทร์ ลาวขึ้นมารอดเวียงแล้ว ก็รบทางน้ำทางบกทุกฝ่าย เสียงอมอกสินาดเหมือนดั่งฟ้าร้อง (ทั้ง) 2 ฝั่งน้ำของ (แม่น้ำโขง-ผู้อ้าง) แหน้นหนา เขาก็มาแปลงขัวพ่วงหว่ายมาหาเวียงแล เมื่อนั้นเจ้าฟ้าเมืองยองฅนทัพพายเรือข้ามแหกตัดหัวขัว เขาฝ่ายพุ้นก็ปุดตกน้ำของ ลาวก็ไหลน้ำแม่ของ ชาวเวียงเชียงแสนออกพายเรือออกข้า (ฆ่า) กับน้ำ ลาวตายมากนักแล ทางฝ่ายวันตกลาวออกรบแต่สบกกไปตราบเถิงเวียง แล้วมีในวัน 1 ลาวลู่เข้าปะตูท่าม่าน (เข้า) ไปได้ซาววาแล้ว เมื่อนั้นเจ้าพระญาเชียงรายก็ยกพลกับลูกน้อง 300 ฅน ก็ขี่ม้าออกไล่แทงลาว ลาวก็แตกหนีออกเวียงไป ก็ไล่ทวยแผวสบน้ำแม่ตำแล แทงลาวตายตกน้ำแม่ของเปนอันมากแล
เดือน 5 แรม 12 ฅ่ำ วัน 7 ลาวเอาเรือ (บรรทุก) อมอกหลวงเลียบริมน้ำของฝ่ายนี้ขึ้นมารอดสบซัน หั้นแล เจ้าพระญาเชียงของกับลูกน้อง 10 ฅน ไปหลอนยิงลาว ลาวแตกพ่ายหนีละเรืออมอกเสียแล้ว ท่านก็เอาลูกน้อง 10 ฅนนั้น เอาเรืออมอกนั้นเลียบขึ้นของ (โขง) มา ฅนบ่แพ้เรือมาช้าบ่โว้ยเสีย ลาวฅืนมายิงพระญาเชียงของตายเสีย ลาวฅืนได้อมอกไปแถมแล ถัดนั้นมาลาวก็เข้าล้อมเวียงด้านใต้ด้านวันตกข้างเหนือไฅว่ 3 ชั้นชุด้าน ฝ่ายทางวันออกก็ออกดอนแท่น ที่นั้นเต็มไปด้วยลาวแล
เดือน 6 ออก 9 ฅ่ำ วัน 5 เจ้าพระญาเทิงถูกสินาดลาวยิงตายแล ลาวก็ขุดดันพื้นกำแพงเข้าชุด้านชุพาย ทังพายในเวียงก็ต้มน้ำร้อนหล่อลง ลาวตายด้วยน้ำร้อนลวกมากนัก เขาทนบ่ได้ก็หยุดเสียแล เดือน 6 แรม 3 ฅ่ำ วัน 7 เจ้าใหม่เมืองไรยถูกสินาด (ของลาว) ก็ตายไปแล เมื่อนั้นลาวก็ขุดเปนร่องเหมือง แต่ไกลเข้ามาก็มาปลูกหอเลอขึ้นงำเวียงอยู่ชุแห่งแล
เดือน 7 แรม 2 ฅ่ำ วัน 7 เจ้าฟ้าเชียงรายยกริพลไปยั้งกินเข้างายอยู่เสีย ลูกสินาด (ลาว) ลวดยิงถูกหน้าผากเข้า ลวดจุติตายไปแล เมื่อนั้นเจ้าฟ้าโมยหงวร นาขวาแล โป่ซุก ก็เสียกีบเล็บฅนหานเสี้ยงแล ก็พร้อมกันปลงเมือง หื้อเจ้าฟ้าเมืองยองเล่าแล เมื่อนั้นก็พร้อมกันเก็บเอาทองได้ล้าน 1 มาหล่อได้อมอกบอก 1 แล้วก็ยิงหอเลอลาวแล แต่นั้นมาลาวเข้าแปลงหอเลอใกล้บ่ได้ เขาก็แวดอยู่ที่ไกลรบแล ลาวก็เอาอมอกขึ้นอยู่เขาจอมกิตติพุ้น ยิงมาตกกลางเวียงเล่าแล เมื่อนั้นในเวียงค็ขุดคะทูกอยู่แล
สักราชได้ 1165 ตัว ปีก่าใค้ (พ.ศ.2346/1803) เดือน 8 เพ็ง เม็งวัน 7 แล ไทยกัดเหม้า ครูบามหาสังฆราชาวัดสังกามีนามกรว่า กุลวงศ์ อนิจจะกัมม์ไป ยามรุ่งแจ้งแล้ว ก็สร้างใส่ปราสาทห้างรูปหัสดีลิงค์แล้วก็ทำเรือใส่สการเสียที่ท่าหลวงหั้น ในวันเดือน 9 ออก 3 ค่ำ วัน 3 ไทยรวายสัน ยามตาวันซ้ายแล เดือน 9 ออก 7 วันจันทร์ ยามนั้นหัวเสิก็ลาวผู้ชื่อว่า พระญาตับเหล็กนั้นกับลูกน้อง 20 ฅน ก็เปี่ยงกำแพงเวียงเข้ามา ยามนั้นท้าวใจเหล็กสีมือดี ยิงถูกหัวแก่มันไปสนามแล้ว ถามเชื้อใด ก็บ่ปาก ก็เอาไปข้า (ฆ่า) ที่ปะตูท่ากัมม์หั้น ฟันเชื้อใด ก็บ่เข้า ลวดเหลี้ยมไม้จดเข้ารูก้นผดออกซอกฅอแล้วมันก็ฅลายเพ็ก (เพชร) ยังปากมันออกมาแล้วก็ตายไป หั้นแล ก็ตัดเอาหัวมันแล้ว ก็เอาไปไหลน้ำของเสียแล้ว ก็เอาหัวมันเสียบไม้เหลี้ยมปักไว้หนทางหลวง หั้นแล เดือน 9 ออก 13 ฅ่ำ วัน 2 ไทยรวายสะง้า ยามรุ่งแจ้ง ลาวทังหลายก็ค้าน ถอยเรือล่องหนีไปวันนั้นแล”[16]
ทำไมเจ้าอะนุวงถึงทุ่มเทกับการตีเชียงแสนมากขนาดนั้น ไม่ตีแค่ “พอเป็นพิธี” เหมือนอย่างหัวเมืองอื่นๆ อาจเพราะต้องการครองเชียงแสน เพราะหากตีได้สำเร็จ เจ้าอินทะวงก็จะสามารถกราบทูลให้กษัตริย์สยาม (รัชกาลที่ 1) แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน ภายหลังยุทธศาสตร์นี้ได้ใช้กับจำปาสัก โดยตั้งเจ้าราชบุตร (เจ้าโย้) เป็นเจ้านครจำปาสัก ซึ่งเข้าทางเจ้าอะนุวงมากกว่าเชียงแสนอีก เพราะถือเป็นการรวมอาณาจักรลาวที่เคยแตกแยกเข้าด้วยกัน นอกจากนี้สมัยนั้นอาณาจักรจำปาสักนอกจากมีอำนาจคุมหัวเมืองลาวใต้ต่อแดนกัมพูชาแล้ว ยังคุมบางส่วนของหัวเมืองแถบอีสานใต้ตอนล่างของลุ่มแม่น้ำมูน (ใครเขาพาเขียน “มูล” ไม่ใช่… ภาษาไทยมันแปลว่า “อุนจิ” คำนี้จริงๆ คือ “มูนมัง” ที่ลาวอีสานแปลว่า “มรดก” ต่างหากล่ะ!!!)
“พื้นเมืองเชียงแสน” ให้ภาพเจ้าอะนุวงในฐานะผู้รุกรานล้านนา และไม่ได้มีแต่หลักฐานของเชียงแสนเท่านั้นที่กล่าวถึงบทบาทของเจ้าอะนุวงเช่นนี้ เอกสารประเภทตำนานของเชียงใหม่และเชียงราย ต่างก็ให้ภาพเจ้าอะนุวงไปในทางเดียวกัน เพราะช่วงเวลาห่างกันไม่มาก เป็นธรรมดาที่ศึกเชียงแสนครั้งนี้จะอยู่ในสายตาของชนชั้นนำล้านนาอยู่ด้วย ถึงแม้เชียงแสนช่วงนั้นจะอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แต่การศึกครั้งนี้ก็เห็นแล้วว่าเจ้าอะนุวงต้องการขยายอำนาจเข้ามาล้านนา หรือไม่ก็ต้องการครัวชาวล้านนากลับไปเวียงจัน
นัยยะของเอกสารล้านนาที่เล่าเรื่องนี้ดูจะสอดคล้องตรงกันในแง่ว่า กองทัพที่สร้างความเสียหายให้แก่เชียงแสนมากที่สุดในศึกนี้ก็คือทัพเจ้าอะนุวง ช่วงที่ยังจงรักภักดีต่อสยาม เจ้าอะนุวงเคย “เล่นใหญ่” มาก่อน ดังนั้นจึงเข้าใจได้ที่เมื่อเจ้าอะนุวงเปลี่ยนมาตีสยาม ชนชั้นนำล้านนาอาจจะไม่ไว้วางใจ เพราะเคยเห็นฝีมือมาแล้วในศึกเชียงแสนรวมทั้งศึกอื่นๆ (เช่น ศึกเชียงตุง) เจ้าอะนุวงก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี ยังแสดงท่าทีและทำการศึกแข็งขันในฐานะประเทศราชสยาม
ถ้าหากเป็นแผนลวง หัวเมืองที่เข้าร่วมกับเวียงจันครั้งนี้ก็ตกที่นั่งลำบาก ต้องถูกกองทัพสยามจัดการเสียเอง แต่ถึงอย่างนั้นแม่ทัพนายกองล้านนาก็ได้ลองเสี่ยง ทำตามที่เจ้าอะนุวงร้องขอคือการเดินทัพล่าช้า ซึ่งอาจเป็นเรื่องสมประสงค์กันทั้งสองฝ่าย ใครจะอยากพาตัวเองเข้าสู่สมรภูมิรบที่ไม่ใช่สมรภูมิของตนเอง
หากว่าเป็นแผนลวงก็รอด หากว่าต้องไปรบกับเวียงจันและไปช้า อย่างมากก็ถูกสยามลงโทษและเมื่อไปถึงจู่ๆ ก็เข้าชื่อขอพระราชทานอภัยโทษจากแม่ทัพหลวง (คือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์) กันอย่างทันท่วงที นั่นก็แสดงว่ามีการ “เตรี๊ยม” กันไว้แล้ว ทางที่รอดปลอดภัยดีที่สุดก็คือเดินทัพล่าช้ากว่ากำหนดแล้วค่อยไปแก้ตัวเอานั่นแหล่ะ ถ้ามองจากจุดของฝ่ายล้านนา ยังไงสูญเสียน้อยที่สุด ทางเลือกอื่นเสี่ยงเกินไป
หากว่าเลือกเข้าข้างฝ่ายเจ้าอะนุวงโจมตีสยาม ก็ยังไม่แน่ว่าจะชนะ หรือต่อให้ชนะก็เป็นปัญหาอีกว่าจะเอายังไงต่อ ล้านนาจะสามารถตั้งตัวเป็นอิสระได้จริงๆ หรือแค่เปลี่ยนเจ้านายใหม่ จากเจ้ากรุงเทพฯ เป็นเจ้าเวียงจัน สภาพการณ์เช่นนั้นเห็นได้ชัดว่าจะบุ่มบ่ามใจร้อนหุนหันพลันแล่นไม่ได้ เพราะพลาดนิดเดียว ไม่ได้หมายถึงแค่ชีวิตของเหล่าแม่ทัพนายกอง หากแต่ชะตากรรมของบ้านเมืองของตนในช่วงเวลาหลังจากนั้น ไม่ง่ายที่จะตัดสินไปแบบเด็ดขาดแต่อย่างใดเลย
น่านกับเวียงจัน: ความสัมพันธ์ในระดับไพร่ราษฎร
ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำด้วยกันก็เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องคือความสัมพันธ์ในระดับไพร่ราษฎร ล้านนากับล้านซ้างยังไงก็ต้องเคยปฏิสัมพันธ์กันเป็นธรรมดา โดยเฉพาะน่านกับหลวงพระบางที่มีพรมแดนติดต่อกัน กับเวียงจันก็มีเส้นทางติดต่อไปมาหาสู่ เมื่อเกิดสงครามเจ้าอะนุวง น่านเป็นเมืองที่ชาวเวียงจันเลือกที่จะอพยพลี้ภัยไปตั้งรกรากอยู่อาศัยด้วยมาก
ในทางกลับกัน เมื่อล้านนาเกิดมีศึกสงคราม เวียงจันก็เป็นจุดหมายปลายทางของผู้ที่ต้องการอพยพลี้ภัยเช่นกัน ดังปรากฏว่าเมื่อพ.ศ.2318 เจ้ามงคลวรยศ เมืองน่าน เคยลี้ภัยพม่าไปประทับอยู่ที่เวียงจัน เมื่อเวียงจันถูกกองทัพสยามโจมตีและกวาดต้อนเมื่อพ.ศ.2322 เจ้ามงคลวรยศกับสมัครพรรคพวกก็ถูกกวาดต้อนลงมาภาคกลางของสยามด้วย[17]
จารึกฐานพระพุทธรูปวัดศรีบุญเรือง อ.ภูเพียง จ.น่าน ระบุถึงปีจุลศักราช 1155 (พ.ศ.2336) ช่วงที่เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญเริ่มต้นฟื้นฟูเมืองน่าน ได้มีคำสั่งให้นำช่างทอง (ทองเหลือง) จากล้านช้างมาหล่อพระพุทธรูป[18] ซึ่งเป็นธรรมดาเพราะงานช่างทองช่างโลหะ ชาวล้านซ้างมีจุดเด่น เพราะเป็นกลุ่มชนแรกๆ ในภูมิภาคที่มีการทำเหมืองขุดแร่ทองนำออกสู่ตลาดการค้านานาชาติได้ช้านานแล้ว งานช่างทองและโลหกรรมจึงพัฒนามากในล้านซ้าง[19]
อิทธิพลวัฒนธรรมล้านซ้างกลมกลืนกับน่านในล้านนา เพราะใกล้เคียงกัน หลังพ.ศ.2369 ซึ่งเป็นปีที่เจ้าอะนุวงเริ่มเปิดศึกกับสยามนั้น ก็เป็นช่วงที่มีชาวเวียงจันอพยพไปยังเมืองน่านมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แน่นอนว่าส่วนใหญ่หลังจบสงครามชาวเวียงจันถูกกวาดต้อนไปยังสยามมากกว่าไปที่อื่น จาก “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ได้ระบุถึงตัวเลขผู้คนที่ถูกกวาดต้อนครัวจากเวียงจันไปสยามว่ามี “มากกว่า 3 แสนเสส” เป็นตัวเลขที่จัดว่ามหาศาลมากสำหรับสมัยนั้น[20]
ณ เวลาเมื่อทำศึกกับสยามอยู่นั้นความสัมพันธ์กับน่าน แม้จะแน่นแฟ้นในระดับไพร่ราษฎร แต่ในระดับชนชั้นนำด้วยกันแล้ว ยังคงมีความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันอยู่สูง เรื่องที่จะรวมกำลังกันต่อต้านสยาม ยิ่งเป็นเรื่องห่างไกล แม้จะมีศัตรูคนเดียวกันก็ตาม
วิธีการจัดการปกครองที่สยามใช้กับหัวเมืองประเทศราช ก็มีส่วนทำให้เกิดความแตกแยกไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ดังที่ “ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน”[21] ได้เล่าว่ารัชกาลที่ 3 เป็นผู้รับรองอำนาจเป็นทางการแก่เจ้ามหายศ ให้เป็นเจ้านครน่าน และส่งเสริมให้เจ้ามหายศมีอำนาจวาสนามากขึ้นจากการให้ไปเป็นผู้ช่วยรั้งราชการเมืองหลวงพระบาง ทั้งนี้เพราะตั้งแต่ก่อนเกิดศึกเจ้าอะนุวงแล้วที่สยามไม่ไว้วางใจ กลัวว่าล้านนากับล้านซ้างจะรวมตัวกันได้แล้วพุ่งเป้ามาหากรุงเทพฯ จึงคอยยุยงส่งเสริมให้เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันเรื่อยมา
นครราชสีมาก็ได้รับการส่งเสริมให้มีอำนาจควบคุมอีสานมากเสียจนไปกระทบผลประโยชน์ของเวียงจันและจำปาสักอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยน “กองส่วยอีสาน” ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่นครราชสีมา ให้เป็น “กองสักเลข” และให้มีอำนาจเดินทัพไปล่าจับคนมาสักเลขเป็นทาสเข้ากรมกองจากบริเวณอีกฝั่งฟากแม่น้ำโขง โดยไม่คำนึงว่าจะล้ำแดนล่วงเข้าไปในถิ่นของเวียงจัน จำปาสัก หรือหลวงพระบาง
ภาพ ชาวอีสาน พิธีเผาศพตามประเพณีแบบพื้นเมืองสองฝั่งโขง ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรป เขียนสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงต้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม)
กองสักเลขที่เที่ยวออกไปล่าจับคนในเขตล้านซ้างมาเป็นทาส และเป็นกองที่ถูกส่งไปโดยเจ้าเมืองนครราชสีมาซึ่งได้รับการสนับสนุนรับรองอำนาจนี้โดยชนชั้นนำกรุงเทพฯ นี้เอง จากเอกสาร “พื้นเวียง”[22] ได้เล่าว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เวียงจันกับจำปาสักรู้สึกหมดความอดทนอดกลั้น และเมื่อทัพเวียงจันลงมายึดนครราชสีมาไว้ได้แล้ว กวาดต้อนผู้คนไปเสร็จ จึงได้ทำการ “ล้างแค้น” โดยเจ้าอะนุวงให้เผาเมืองนครราชสีมาเสีย อีกทั้งยังเป็นการทำลายฐานที่มั่นและแหล่งเสบียงอาหารสำคัญสำหรับกองทัพสยามที่จะยกขึ้นมาตีเวียงจันอีกด้วย
ตามความในจดหมายกราบบังคมทูลฯ ถวายรายงานแด่พระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ ได้ระบุถึงข้อผิดพลาดของฝ่ายเจ้าอะนุวงที่ทำให้ฝ่ายสยามได้เปรียบ ก็คือทำลายหัวเมืองที่อยู่ที่เส้นทางเดินทัพแค่เมืองนครราชสีมา เมืองอื่นไม่ได้ทำ ทำให้เมื่อกองทัพสยามไปถึงก็หาเสบียงอาหารและตั้งค่ายมั่นได้
แต่หากมองในแง่สภาพหัวเมืองอีสานเวลานั้น ที่จริงหัวเมืองที่อยู่ข้างฝ่ายสยามจริงมีเพียงนครราชสีมา ชัยภูมิ และกาฬสินธุ์ นอกนั้นส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายเวียงจันหมด เจ้าอะนุวงต้องการเพียงกวาดต้อนครัวขึ้นไปเวียงจัน การทำลายหัวเมืองที่มิตรเป็นพรรคพวกของตนอยู่แล้ว นอกจากจะไม่มีความจำเป็นแล้ว ยังจะสร้างความเสียหายให้แก่ฝ่ายตน เมืองที่อยู่ข้างตนแล้วยังไปทำลาย ก็อาจทำให้มิตรกลายเป็นศัตรูไปอยู่ข้างฝ่ายสยามได้ง่าย
ตรงข้ามการทำลายเมืองที่เป็นอริกันมาแต่เดิม ก็เป็นตัวอย่างว่าถ้ายังอยู่กับสยามจะมีชะตากรรมเป็นอย่างไร อันที่จริงชนชั้นนำท้องถิ่นในอีสานเวลานั้นต่างก็มีความไม่พอใจต่อเจ้าเมืองนครราชสีมาอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะเป็นหัวเมืองใหญ่ที่อาศัยการยึดโยงกับอำนาจสยามไปกดขี่ข่มเหงบ้านเล็กเมืองน้อยอื่นๆ แถมเมื่อเปลี่ยน “กองส่วย” เป็น “กองสักเลข” เที่ยวล่าจับไพร่บ้านพลเมืองไปเป็นทาสเชลย ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชนชั้นนำท้องถิ่นทั้งในหัวเมืองอีสานและล้านซ้าง
นัยยะของคำว่า “ฟื้นพระมหากระสัตรเจ้า” ในหลักฐานล้านนา
ในเอกสารหลักฐานของล้านนา มักจะมีคำหนึ่งปรากฏอย่างสม่ำเสมอในการอธิบายให้ความหมายต่อการกระทำของเจ้าอะนุวง คือคำว่า “ฟื้นมหากระสัตรเจ้า” เช่นใน “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ระบุถึงเจ้าอะนุวงและสาเหตุที่ทำสงครามกับสยามว่า “ในขณะนั้น เจ้าอนุเวียงจันคึดกบถฟื้นพระมหากระสัตรเจ้า”[23]
นัยความหมายของคำว่า “พระมหากระสัตรเจ้า” ที่เจ้าอะนุวงจะ “ฟื้น” ขึ้นใหม่นี้คืออะไร? เข้าใจได้จากการอธิบายในเชิงคู่ตรงข้าม เมื่อผู้บันทึกหลักฐานก็ระบุถึงสถานะของกษัตริย์กรุงเทพฯ ด้วยคำเดียวกันนี้ เช่นว่า เมื่อทัพเชียงใหม่มารวมกับทัพลำพูนแล้ว “ก็ยกริพลโยธาไปด้วยระยะมัคคาตรายเถิงเวียงจันบรรจบกองทัพหลวงพระมหากระสัตรเจ้าแล้วเข้ายุทธกัมม์เอาเวียงจัน”[24]
“ทัพหลวงพระมหากระสัตรเจ้า” ที่ “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” กล่าวถึงในที่นั้นคือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ กษัตริย์วังหน้าของสยามสมัยนั้น คำนี้ต้องใช้สำหรับกษัตริย์วังหลวง (พระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3) ด้วยเป็นแน่
นอกจากนี้ ตาม “พื้นเมืองเชียงแสน” ก็ยังเคยระบุถึงพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่า ด้วยคำเดียวกันนี้ว่า “ตั้งแต่มหากระสัตรมกโชนั่งแท่นแก้วอังวะแล”[25] (คำว่า “มกโช” นี้หมายถึง “มุกโชโบ” ตำบลบ้านของอองไจยะ (พระเจ้าอลองพญา) ก่อนจะสถาปนากรุงอังวะ) หรืออย่างอีกแห่งหนึ่ง เอกสารเดียวกันนี้ก็กล่าวว่า “บัณณาการ ช้างร้อย ม้าร้อย งัวร้อย ควายร้อย ซุอันได้มาแล้วเอาลงไปถวายมหากระสัตรเจ้าอังวะ หั้นแล”[26]
สถานะของกษัตริย์กรุงเทพฯ กับกษัตริย์อังวะเหมือนกันอยู่อย่างคือความเป็นราชาเหนือราชาองค์อื่น หรือก็คือ “พญาจักรพรรดิราช” คำว่า “มหากระสัตรเจ้า” ก็คือคำเรียกกษัตริย์ผู้เปรียบเสมือนเป็นพญาจักรพรรดิราชนั่นเอง
การปรากฏคำนี้อธิบายการกระทำของเจ้าอะนุวง จึงสะท้อนความรับรู้และเข้าใจสาเหตุเบื้องหลังของสงครามเจ้าอะนุวงว่าเป็นสงครามเพื่อฟื้นฟูสถานภาพจักรพรรดิราชของกษัตริย์ล้านซ้าง สมัยนั้นคำว่า “เอกราช” จะหมายถึง “เอกราชา” คือราชาผู้เป็นที่หนึ่งในท่ามกลางราชาองค์อื่นๆ ยังไม่ได้มีความหมายเท่ากับเอกราชของชาติบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม ก็เป็นธรรมดาที่นักประวัติศาสตร์ลาวในชั้นหลังจะนิยมอธิบายให้ความหมายต่อศึกเจ้าอะนุวงว่าเป็นการลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้อง “เอกราช” ในลักษณะเดียวกับที่ขบวนการชาตินิยมในอุษาคเนย์กำลังต่อสู้เรียกร้องกันอยู่ในยุคหลัง ทั้งนี้เพราะเจ้าอะนุวงได้รับการยกย่องเป็น “วีรบุรุษแห่งชาติ” ของลาว[27]
แต่ในหลักฐานประวัติศาสตร์ล้านนา ผู้บันทึกต่างมองว่า เจ้าอะนุวงทำสงครามเพื่อฟื้นฟูสถานะของตนเองให้กลับมาเป็นใหญ่เหมือนเช่นกษัตริย์ล้านซ้างในอดีต เป็นเรื่องผลประโยชน์ของราชวงศ์เจ้าอะนุวงเอง ดังนั้นหากเจ้าอะนุวงชนะศึกนี้จึงอาจจะยังไม่นำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ล้านนา เพราะแค่จะเปลี่ยน “พระมหากระสัตรเจ้า” องค์ใหม่เท่านั้น
เมื่อคิดเห็นไปในทางนั้น จึงส่งผลให้เกิดความลังเลและยังไม่อาจไว้วางใจได้ ผลประโยชน์ยังไม่ลงตัวและอันที่จริงก็ไม่ปรากฏว่ามีการติดต่อเจรจาเพื่อตกลงร่วมกันมาก่อนเลยว่า หากชนะศึกนี้แล้วล้านนาจะได้อะไรเป็นการตอบแทนบ้าง ต่างจากฝ่ายสยามที่เรื่องนี้จะมาก่อนเป็นอันดับแรก แต่อย่างไรก็ตาม หากมองจากจุดของฝ่ายเจ้าอะนุวง ขณะนั้นเวียงจันอาจจะต้องการความช่วยเหลือจากล้านนามากกว่าแค่เดินทัพล่าช้า เพราะต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ เรื่องพวกนั้นอาจตกลงกันทีหลังก็ได้
บทสรุปและส่งท้าย
จะเห็นได้ว่า ศึกเจ้าอะนุวง พ.ศ.2369-2371 นี้เป็นศึกใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เพราะมีตัวละครที่ไม่ใช่แค่สยามกับเวียงจัน หากแต่มีตัวละครอื่นๆ อีก พัวพัน “อิรุงตุงนัง” กันไปหมด จนไม่รู้ใครมิตร-ใครศัตรู (ไม่มีมิตรแท้-ศัตรูเทียม)
ไม่เหมือนสงครามที่ไทยรบกับพม่า ตีพม่าพ่ายไปก็จบ แต่ศึกเจ้าอะนุวงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเมื่อเจ้าประเทศราชหนึ่งลุกขึ้นมาประกาศตนเป็นอิสระและแถมยกทัพลงมากวาดต้อน ก็สะเทือนในระดับภูมิภาค ในเมื่อล้านซ้างเวียงจันไม่ใช่ประเทศราชเพียงเมืองเดียวในเวลานั้น นอกจากเวียงจัน อีสาน และลาวใต้จำปาสักแล้ว สยามจึงต้อง “เหลือบตามองบน” ไปที่ล้านนาและหลวงพระบางด้วยว่าจะอยู่ข้างไหน ในเมื่อล้านนากับหลวงพระบางดุจะมีผลประโยชน์ร่วมกับเวียงจันอยู่
จากที่เอกสารล้านนาให้นัยความหมายการกระทำของเจ้าอะนุวงด้วยคำว่า “ฟื้นพระมหากระสัตรเจ้า” ทำให้ทราบว่าแท้ที่จริงล้านนาไม่ใช่ไม่อยากเข้าร่วมฝ่ายเจ้าอะนุวง แต่เพราะเข้าใจไปว่ายังไม่อาจร่วมผลประโยชน์กันได้เต็มที่ แต่ไม่ถึงกับต้องเป็นศัตรูกันตั้งแต่ต้น เพราะก็หัวอกเดียวกัน อยู่ใต้อำนาจกดขี่เดียวกัน และลึกๆ ก็ต้องการปลดแอกเหมือนกัน
แต่ไม่อาจไว้วางใจเจ้าอะนุวงได้เต็มที่ เพราะเคยมีประสบการณ์มาแล้วว่าเมื่อครั้งยังจงรักภักดีต่อสยามนั้น เจ้าอะนุวงได้ “เล่นใหญ่” อย่างไรในศึกที่สยามสั่งให้ตีเชียงแสน นอกจากนี้ คำนี้ (ฟื้นพระมหากระสัตรเจ้า) ยังใช้อธิบายการกระทำของฝ่ายล้านนาได้ด้วยว่า เพราะเหตุใด ทำไมจึงต้องรอเลือกข้างเอาก็เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้ ไม่ถึงกับเป็นพฤติกรรมแบบ “อยู่เป็น” แค่รอจังหวะ
หากทัพเวียงจันที่ค่ายส้มป่อยยื้อเวลาต่อต้านกองทัพสยามไว้ได้นานกว่านั้น หรือหากกองทัพเวียงจันไม่หยุดอยู่แค่สระบุรี ยกลงไปประชิดกรุงเทพฯ ฝ่ายล้านนาจะมีตัวเลือกอยู่เพียง 2 ทาง คือ ยกลงตีทัพเวียงจัน สร้างความดีความชอบต่อสยาม แล้วกลับบ้านเมืองตนไปเป็นอย่างเดิม กับอีกทางเลือกคือช่วยทัพเวียงจันรุมกรุงเทพฯ เสีย แล้วกลับบ้านเมืองไปตั้งตัวเป็นอิสระ
ต้องขอบอกว่าแนวโน้มของการเลือกในแบบที่ผู้บันทึกเอกสารล้านนากล่าวเป็นนัยๆ ไว้นั้น คือทางเลือกที่สอง แต่ก็นั่นแหล่ะ ใครจะไปรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะในโลกที่คนพร้อมจะเอนไหวไปตามแรงจูงใจในผลประโยชน์ (ที่คาดว่าจะได้รับ) นั้นไม่มีอะไรแน่นอนตายตัวหรอก
อย่างไรก็ตาม การพยายามยืนยันสิทธิที่จะเป็นอิสระของคนลาวล้านซ้าง จะถูกพูดถึงอีกครั้งในปลายศตวรรษเดียวกัน เมื่อชาติตะวันตกแผ่อิทธิพลเนื่องในลัทธิล่าอาณานิคมเข้ามาเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้วเจ้าอะนุวงกับชาวเวียงจันก็สมหวังทางอ้อมเมื่อปลดแอกจากฝรั่งเศสได้ ก็ตั้งตัวเป็นประเทศอิสระ ขณะที่ล้านนายังคงถูกยึดครองโดยสยามมาจนทุกวันนี้…
เชิงอรรถ
[1] จารุวรรณ ธรรมวัตร (บก.ปริวรรตและเรียบเรียง). พงศาวดารแห่งประเทศลาวคือ หลวงพระบาง, เวียงจันท์, เมืองพวน และจำปาสัก. มหาสารคาม: สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม, ไม่ระบุปีที่พิมพ์.
[2] กรณีที่เป็นชื่อบุคคลและสถานที่ของลาว ผู้เขียนขออนุญาตเขียนตามอักขรวิธีของลาว รวมทั้งการระบุตัวสะกดและพยัญชนะต่างๆ ที่โควตมาจากหลักฐานล้านนา ก็ขออนุญาตคงไว้ตามเอกสารเดิมด้วย ทั้งนี้เพื่อรักษาตัวบทหลักฐานไว้คงเดิม แต่หากคำไหนเป็นคำเฉพาะ เข้าใจยากในภาษาไทย ก็จะวงเล็บภาษาไทยไว้ให้
[3] มะยุรี และ เผยพัน เหง้าสีวัทน์. เจ้าอะนุ 1767-1829: ปะซาซนลาวและอาซีอาคะเน (เลื่องเก่า, บันหาใหม่). (เวียงจัน: โรงพิมแห่งลัด, 1988), หน้า 35.
[4] สุเนด โพทิสาน และคะนะ. ปะหวัดสาดลาว (ดึกดำบัน-ปะจุบัน). (เวียงจัน: กะซวงถะแหลงข่าวและวัดทะนะทำ, 2000), หน้า 380-381.
[5] สุวิทย์ ธีรศาศวัต. “ทำไมเจ้าอนุวงศ์จึงต้องปราชัย?” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 27 ฉบับที่ 11 (กันยายน 2549), หน้า 76-90.
[6] กรณีบทบาทเวียดนามในศึกเจ้าอะนุวง ผู้เขียนอธิบายไว้แล้วใน กำพล จำปาพันธ์. “ศึกเจ้าอะนุวงในเอกสารหลักฐานเวียดนาม” ทางอีศาน. ปีที่ 13 ฉบับที่ 152 (ธันวาคม 2567), หน้า 41-47.
[7] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2538.
[8] “ศุภอักษรเมืองหลวงพระบาง” ใน ประชุมจดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันท์. (พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนกร, 2473), หน้า 137-138.
[9] คนมักจะเข้าใจผิดไปว่า แม่ทัพหลวงคือพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) หรือต่อมาเมื่อเสร็จศึกเจ้าอะนุวงได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “เจ้าพระยาบดินทรเดชา” แต่ที่จริงจากหลักฐานชั้นต้น แม่ทัพหลวงในศึกนี้คือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ต่างหาก ดังนั้นที่มีเอกสารจดหมายเหตุในหมวดชื่อ “ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินกองทัพหลวง ตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงเมืองเวียงจันท์ ปีจออัฐศก 1188” นั้น คำว่า “กองทัพหลวง” หรืออย่างคำว่า “เสด็จพระราชดำเนิน” ไม่ได้หมายถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ทรงเป็นแม่ทัพหลวงเสด็จยกทัพไปเวียงจันด้วยพระองค์เอง หากแต่เป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์เป็นแม่ทัพหลวง เพราะสถานะของเจ้านายวังหน้าสมัยนั้นเป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง กองทัพที่ทรงบัญชาการรบนั้นจึงใช้ชื่อ “กองทัพหลวง” ได้ไม่ผิดแผกอันใด ดูเอกสารนี้ได้ใน จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 2. (กรุงเทพฯ: กองจดหมายเหตุ หอสมุดแห่งชาติ, 2530), หน้า 77-84.
[10] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3, หน้า 25.
[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 26.
[12] ก.ศ.ร.กุหลาบ (กุหลาบ ตฤษณานนท์). อานามสยามยุทธ. (นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2564), หน้า 109.
[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า 105.
[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 105-106.
[15] ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์: พื้นเมืองเชียงแสน. ปริวรรตโดย สรัสวดี อ๋องสกุล, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2546), หน้า 252.
[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า 252-254.
[17] บริพัตร อินปาต๊ะ. “ล้านช้างในน่าน: ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับชาวล้านช้างในน่านยุคพุทธศตวรรษที่ 24-25” วารสารวิชาการมนุษย์และสังคม. ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2565), หน้า 292.
[18] เรื่องเดียวกัน, หน้า 293.
[19] ดูรายละเอียดใน กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่. Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2566), หน้า 65-66.
[20] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. (เชียงใหม่: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538), หน้า 167.
[21] “ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 7. (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2545), หน้า 309.
[22] จารุบุตร เรืองสุวรรณ (บก.). พื้นเวียง (กลอน 7) พงศาวดารเวียงจันทน์ สมัยพระเจ้าอนุรุทธาธิราช (พระเจ้าอนุวงศ์). กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์, 2525; ดูการศึกษาความสำคัญของเอกสารนี้ใน ธวัช ปุณโณทก. พื้นเวียง: การศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณกรรมอีสาน. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.
[23] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. ปริวรรตโดย อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค. วัยอาจ, (เชียงใหม่: ตรัสวิน, 2543), หน้า 211.
[24] เรื่องเดียวกัน, หน้า 212.
[25] ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์: พื้นเมืองเชียงแสน. ปริวรรตโดย สรัสวดี อ๋องสกุล, หน้า 232.
[26] เรื่องเดียวกัน, หน้า 238.
[27] ตัวอย่างการอธิบายให้ความหมายต่อบทบาทของเจ้าอะนุวงเช่นนี้ก็อย่างเช่น อู่คำ พมวงสา. ความเปนมาของลาว หรือเล่าเลื่องซาดลาว. เวียงจัน: ยุวะสะมาคมแห่งปะเทดลาว, 1958; พูทอง แสงอาคม. ซาดลาว คนลาว อะดีดและปะจุบัน. เวียงจัน: โรงพิมนะคอนหลวง, 2006; ดวงไซ หลวงพะสี. วีละบุลุดแห่งแผ่นดินลาวล้านซ้าง. เวียงจัน: โรงพิมแห่งลัด, 2000.