ปี 2568 นี้ ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งสำคัญ โดยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 จะมีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) พร้อมกับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งผู้บริหารและฝ่ายนิติบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยจะมีการเลือกตั้งนายก อบจ. ใน 47 จังหวัด และ ส.อบจ. ใน 76 จังหวัด
ในโอกาสนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ประชาชนควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท อำนาจหน้าที่ และความสำคัญขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกผู้บริหารและผู้แทนที่จะมาทำหน้าที่พัฒนาท้องถิ่น Lanner ได้รวบรวมข้อมูลพื้นฐานทั้งหมด 30 ข้อ ที่ประชาชนควรรู้เกี่ยวกับ อบจ. ในรูปแบบคำถาม-คำตอบที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ใช้สิทธิอย่างมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถติดตามตรวจสอบการทำงานของผู้ที่จะเข้ามาบริหาร อบจ. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
Q1: อบจ. คืออะไร?
A1: องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีจังหวัดละหนึ่งแห่ง (ยกเว้นกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาซึ่งเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ) มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัด
Q2: อบจ. มีโครงสร้างการบริหารอย่างไร?
A2: อบจ. มีโครงสร้างประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก
1. สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฝ่ายนิติบัญญัติ)
2. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฝ่ายบริหาร)
Q3: อบจ. มีอำนาจหน้าที่พื้นฐานอะไรบ้าง?
A3: อำนาจหน้าที่พื้นฐานของ อบจ. ประกอบด้วย
– ตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย
– จัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
– ประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด
– สนับสนุนสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น
– คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Q4: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ด้านการศึกษาอย่างไร?
A4: อบจ. มีอำนาจในการจัดการศึกษา รวมถึง
– จัดการศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบ
– สนับสนุนการศึกษาให้แก่สถานศึกษาในพื้นที่
– ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อการศึกษา
Q5: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ด้านสาธารณสุขอย่างไร?
A5: อบจ. มีอำนาจในด้านสาธารณสุข ดังนี้
– จัดให้มีโรงพยาบาลจังหวัด
– จัดการรักษาพยาบาล
– การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ
– ส่งเสริมการสาธารณสุขในพื้นที่
Q6: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร?
A6: อบจ. มีอำนาจด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้
– จัดตั้งและดูแลระบบบำบัดน้ำเสียรวม
– การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลรวม
– การจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่างๆ
– คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ
Q7: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ด้านการคมนาคมอย่างไร?
A7: อบจ. มีอำนาจด้านการคมนาคม ดังนี้
– จัดการและดูแลสถานีขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ
– สร้างและบำรุงรักษาทางบกและทางน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
– การขนส่งมวลชนและการวิศวกรรมจราจร
Q8: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมอย่างไร?
A8: อบจ. มีอำนาจด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ดังนี้
– ส่งเสริมการท่องเที่ยว
– ส่งเสริมการกีฬา
– อนุรักษ์จารีตประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น
– จัดให้มีพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ
Q9: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ด้านเศรษฐกิจอย่างไร?
A9: อบจ. มีอำนาจด้านเศรษฐกิจ ดังนี้
– การพาณิชย์และการส่งเสริมการลงทุน
– จัดตั้งและดูแลตลาดกลาง
– การทำกิจการพาณิชย์ทั้งดำเนินการเองหรือร่วมกับบุคคลอื่น
Q10. อบจ. มีอำนาจหน้าที่ด้านการรักษาความปลอดภัยอย่างไร?
A10: อบจ. มีอำนาจด้านความปลอดภัย ดังนี้
– การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
– จัดให้มีระบบรักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัด
– ประสานงานด้านความปลอดภัยกับหน่วยงานอื่น
Q11: อบจ. มีอำนาจในการออกข้อบัญญัติอย่างไร?
A11: อบจ. สามารถตราข้อบัญญัติได้ในกรณีต่อไปนี้
– เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่ของ อบจ.
– เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้ อบจ. ตราข้อบัญญัติ
– การดำเนินการพาณิชย์ของ อบจ.
Q12: ใครมีสิทธิเสนอร่างข้อบัญญัติ อบจ.?
A12: ผู้มีสิทธิเสนอร่างข้อบัญญัติ ได้แก่
– นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
– สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
– ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขต อบจ.
Q13. อบจ. มีอำนาจในการจัดเก็บรายได้อย่างไร?
A13: อบจ. มีอำนาจจัดเก็บรายได้จาก
– การจัดเก็บภาษี เช่น น้ำมัน ยาสูบ รถยนต์
– ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และใบอนุญาต
– รายได้จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่าบริการ ดอกเบี้ย
– รายได้จากเบ็ดเตล็ด
– รายได้จากทุน เช่น การขายทอดตลาด
Q14: อบจ. สามารถกู้เงินได้หรือไม่?
A14: อบจ. สามารถกู้เงินได้ในรูปแบบ
– พันธบัตรหรือเงินกู้ตามที่มีกฎหมายบัญญัติ
– เงินกู้จากกระทรวง ทบวง กรม องค์การ หรือนิติบุคคลต่างๆ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี
Q15. อบจ. มีอำนาจในการให้บริการแก่เอกชนอย่างไร?
A15: อบจ. สามารถให้บริการแก่เอกชนได้โดย
– ให้บริการแก่เอกชน ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ
– เรียกเก็บค่าบริการได้โดยตราเป็นข้อบัญญัติ
– มอบให้เอกชนดำเนินกิจการแทนได้โดยความเห็นชอบของสภาและผู้ว่าราชการจังหวัด
Q16: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาสังคมอย่างไร?
A16: อบจ. มีอำนาจในการพัฒนาสังคม ดังนี้
– การสังคมสงเคราะห์
– การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส
– ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น
– ส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
Q17. อบจ. สามารถทำกิจการนอกเขตได้หรือไม่?
A17: อบจ. สามารถจัดทำกิจการนอกเขตได้ เมื่อ
– ได้รับความยินยอมจากราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่เกี่ยวข้อง
– เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
Q18: อบจ. มีอำนาจในการทำธุรกิจได้หรือไม่?
A18: อบจ. สามารถดำเนินกิจการที่มีลักษณะเป็นการพาณิชย์ได้ โดย
– ต้องตราเป็นข้อบัญญัติ
– ต้องเป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
– ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น
Q19: ใครเป็นผู้กำกับดูแล อบจ.?
A19: อบจ. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ
– รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ระดับกระทรวง)
– ผู้ว่าราชการจังหวัด (ระดับจังหวัด)
Q20: อบจ. มีข้อจำกัดในการออกข้อบัญญัติอย่างไร?
A20: ข้อจำกัดในการออกข้อบัญญัติของ อบจ. มีดังนี้
– ต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย
– การกำหนดโทษต้องไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท
– ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา อบจ. และผู้ว่าราชการจังหวัด
Q21: อบจ. สามารถเก็บภาษีอะไรได้บ้าง?
A21: อบจ. สามารถจัดเก็บภาษีได้หลายประเภท ได้แก่
– ภาษีบำรุง อบจ. จากน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล
– ภาษีบำรุง อบจ. จากยาสูบ
– ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บเพิ่มตามประมวลรัษฎากร
– ค่าธรรมเนียมบำรุง อบจ. จากผู้พักในโรงแรม
Q22: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างไร?
A22: อบจ. มีอำนาจในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนี้
– ส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพ
– ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น
– จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
– เปิดเผยข้อมูลและการดำเนินงานให้ประชาชนตรวจสอบได้
Q23: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการด้านตลาดอย่างไร?
A23: อบจ. มีอำนาจในการจัดการด้านตลาด ดังนี้
– จัดตั้งและดูแลตลาดกลาง
– กำกับดูแลการประกอบการค้าในตลาด
– จัดระเบียบการค้าและการจราจรบริเวณตลาด
– ดูแลด้านสุขอนามัยและความสะอาดของตลาด
Q24. อบจ. มีอำนาจหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยงานอื่นอย่างไร?
A24: อบจ. มีอำนาจในการประสานงาน ดังนี้
– ประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด
– ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
– สนับสนุนหรือช่วยเหลือส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
– ประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นเพื่อไม่ให้งานซ้ำซ้อน
Q25: อบจ. มีข้อจำกัดในการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไร?
A25: อบจ. มีข้อจำกัดในการใช้จ่ายงบประมาณ ดังนี้
– ต้องจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี
– ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา อบจ.
– ต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย
– ต้องมีการตรวจสอบการใช้จ่ายตามระบบการตรวจเงินแผ่นดิน
Q26: อบจ. สามารถออกข้อบัญญัติชั่วคราวได้หรือไม่?
A26: อบจ. สามารถออกข้อบัญญัติชั่วคราวได้ โดย
– ต้องเป็นกรณีฉุกเฉินที่ไม่สามารถเรียกประชุมสภาได้ทันท่วงที
– ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสามัญประจำสภา อบจ.
– ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของสภา อบจ. ในการประชุมคราวต่อไป
– หากสภาไม่อนุมัติ ข้อบัญญัติชั่วคราวนั้นเป็นอันตกไป
Q27: อบจ. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการด้านสาธารณูปโภคอย่างไร?
A27: อบจ. มีอำนาจในการจัดการสาธารณูปโภค ดังนี้
– จัดให้มีและบำรุงรักษาทางบกและทางน้ำ
– จัดระบบบำบัดน้ำเสียรวม
– จัดการขนส่งมวลชน
– พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เชื่อมต่อระหว่างท้องถิ่น
Q28: อบจ. มีอำนาจในการจัดการรายได้อื่นๆ อย่างไร?
A28: อบจ. สามารถมีรายได้จากแหล่งอื่นๆ ได้แก่
– รายได้จากทรัพย์สินของ อบจ.
– รายได้จากสาธารณูปโภคของ อบจ.
– เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
– เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
Q29: อบจ. มีข้อจำกัดในการดำเนินกิจการพาณิชย์อย่างไร?
A29: ข้อจำกัดในการดำเนินกิจการพาณิชย์ของ อบจ. มีดังนี้
– ต้องตราเป็นข้อบัญญัติ
– ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา อบจ.
– ต้องเป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
– ต้องไม่กระทบต่อการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน
Q30: หากรัฐมนตรีเห็นว่า อบจ. ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จะดำเนินการอย่างไร?
A30: ในกรณีที่ อบจ. ละเลยการปฏิบัติหน้าที่
– ผู้ว่าราชการจังหวัดจะดำเนินการสอบสวนได้
– ผู้ว่าราชการจังหวัดจะตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. หรือ สตง. ดำเนินการสอบสวน
– ถ้าหากผลการสอบสวนปรากฏว่า นายก อบจ. มีพฤติการณ์เช่นนั้นจริงให้ผู้ว่าฯ เสนอให้รัฐมนตรีสั่งให้นายก อบจ. พันจากตำแหน่ง
เริ่มแล้ว! ภาคประชาชนจับตาเลือกตั้งท้องถิ่น
โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมาถึงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ได้มีภาคประชาชนหลายส่วนได้เริ่มทำการเดินหน้ารณรงค์เกี่ยวกับการเลือกตั้งเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) พร้อมกับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ไม่ว่าจะเป็นการ เปิดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อบจ. รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ทราบถึงข้อมูลในการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้
Wevis กลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชนได้เปิดตัวแคมเปญ ‘Local Election ประชาธิปไตยใกล้มือ Road to เลือกตั้ง อบจ. 2568’ ที่เป็นการรวบรวมข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง อบจ. เพื่อให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจถึงความสำคัญและส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน รวมไปถึงการเตรียมพร้อมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ทำความเข้าใจในระบบเลือกตั้ง สามารถติดตามได้ที่ https://wevis.info/
นอกจากนี้ Your Priorities ได้เปิดตัวเว็บไซต์ CEO บ้านฉัน ที่เป็นข้อมูลพื้นฐานของ นายก อบจ. แต่ละจังหวัด ที่เผยถึง ผลการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด ,งบประมาณของแต่ละจังหวัด รวมไปถึงสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นในแต่ละจังหวัด
โดยตั้งแต่วันนี้จนถึงวันเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) พร้อมกับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 Lanner จะติดตามความเคลื่อนไหว ชำแหละข้อมูล และวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่ที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมด 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่ถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่ใกล้ชิดกับชีวิตประชาชนเป็นอย่างยิ่ง อย่าลืมร่วมกันติดตามไปพร้อมกันกับพวกเรา