Home Blog Page 4

เชียงใหม่เมืองยานยนต์ ถนนน้อย ไร้ขนส่งมวลชน

เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา

ภาพ: วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง


Summary

  • 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนรถในเชียงใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี จาก 2,228,387 คัน ในปี 2562 กลายเป็น 2,520,216 คัน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 291,829 คัน คิดเป็น 13.1% ภายใน 5 ปี หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 3.27% ต่อปี และจำนวนรถในแต่ละปีมีมากกว่าประชากรถึงเท่าตัว โดยรถมอเตอร์ไซค์ถือเป็นยานพาหนะที่มีจำนวนมากที่สุดของเชียงใหม่ในทุกปี
  • เมื่อแบ่งพื้นที่ออกเป็นกริดขนาด 1 ตร.กม. พบว่า สัดส่วนถนนเฉพาะในเขตเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่มีเพียง 5% ของพื้นที่เมืองทั้งหมด 40.22 ตร.กม. ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น (20 – 25%) ถึง 4 เท่า
  • ‘การขาดแคลนระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ’ ทำให้คนเชียงใหม่หันมาใช้รถส่วนตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหานี้ไม่ต่างอะไรจาก ‘ปมไก่กับไข่’ ที่หมุนวนเป็นเหตุและผลต่อกัน ตอกย้ำวงจรการพึ่งพารถส่วนตัวที่ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด
  • ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางในเชียงใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดยลดลงจาก 7,301 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 4,770 คัน ในปี 2566 คิดเป็นการลดลงถึงกว่า 34.7% ภายใน 5 ปี หรือลดลงเฉลี่ยปีละ 6.9% ซึ่งสวนทางกับจำนวนรถส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในจังหวัดเชียงใหม่
  • #ถ้าระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ดี หากเชียงใหม่มีระบบขนส่งสาธารณะครบวงจร พื้นที่ ‘เกินกว่าครึ่งหนึ่ง’ ของเมืองจะสามารถเข้าถึงการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะอย่างครอบคลุม

เชียงใหม่ เดี๋ยวนี้รถเยอะขนาดนี้แล้วเหรอครับ

จัดการผังเมืองไม่ได้รองรับการจราจรขนาดนี้ ตัวเมืองไม่ใหญ่แต่คนดันใช้รถเยอะ จบเลยการจราจรก็ติดขัดต่อแถว ถ้านับรถบนถนนที่เห็นยังไม่ได้ 1/4 ของรถจดทะเบียนในจังหวัดเลย รถจริง ๆ มีเยอะกว่านี้อีกมาก ๆ

ไปเที่ยวมาช่วงปี 60-62 ก็ว่าเยอะแล้วนะครับ ไปมาล่าสุดปี 66 เยอะกว่าเดิมอีก รถติดมาก ๆ

บทสนทนาจากกระทู้เว็บบอร์ดข้างต้น พร้อมคอมเมนต์ตอบกลับที่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า “เชียงใหม่รถเยอะ รถติด” นี้ถือเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี จากเมืองที่เคยเงียบสงบและมีเสน่ห์ด้วยความเรียบง่ายในความทรงจำของใครหลายคน บัดนี้กลับเต็มไปด้วยรถราที่ ‘แน่นขนัด’ และการจราจรที่ ‘ติดขัด’ จนกลายเป็นเรื่องปกติในทุกวัน ทุกแยก ทุกถนน กลายเป็น ‘ภาพจำใหม่’ ของเมือง ซึ่งทั้งคนพื้นที่และนักท่องเที่ยวต่างต้องเผชิญ จนอดที่จะสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมเชียงใหม่ถึงกลายเป็นเมืองที่รถเยอะ รถติด ขนาดนี้? แล้วเราจะหาทางออกของเรื่องนี้ได้ยังไง หรือสุดท้ายแล้ว ‘รถติด’ จะกลายเป็นวิถีชีวิตที่ทุกคนเลี่ยงไม่ได้?

เชียงใหม่เมืองรถเยอะ รถติด คิดไปเองหรือเปล่า?

“รถเชียงใหม่เยอะขึ้นจริงไหม หรือแค่คิดไปเอง?”

เชียงใหม่รถเยอะ รถติด อาจไม่ใช่แค่การ ‘คิดไปเอง’ คำตอบของคำถามนี้อาจไม่ได้อยู่แค่ในความรู้สึก เพราะถ้าหากเราลองดึงสถิติจำนวนรถจดทะเบียนสะสมของเชียงใหม่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566) จากสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ออกมาดูก็จะพบว่า จำนวนรถ ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ในเชียงใหม่นั้นเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างมีนัยสำคัญ

จำนวนรถจดทะเบียนสะสมของเชียงใหม่เทียบกับจำนวนประชากร ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566)
ปีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รย.1) รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รย.3)รถจักรยานยนต์ (รย.12)รวม (คัน)จำนวนประชากร (คน)
2562390,423295,7621,542,2022,228,3871,779,254
2563408,284304,2171,591,9832,304,4841,784,370
2564421,481312,4831,634,1382,368,1021,789,385
2565437,847320,4821,679,9932,438,3221,792,474
2566460,267327,6711,732,2782,520,2161,797,075
หมายเหตุ: ข้อมูลนี้ดึงเอาเฉพาะจำนวนรถประเภท รย.1 รย.3 และ รย.12 เท่านั้น
ที่มา: สถิติจำนวนรถจดทะเบียนสะสม สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

หากพิจารณาข้อมูลสถิติจำนวนรถจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (สะสม) ในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ตามตารางข้างต้น เราจะพบกับความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนรถในเชียงใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี จาก 2,228,387 คัน ในปี 2562 กลายเป็น 2,520,216 คัน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 291,829 คัน คิดเป็น 13.1% ภายใน 5 ปี หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 3.27% ต่อปี

และเมื่อลองนำตัวเลขนี้มาเทียบกับจำนวนประชากรเชียงใหม่ในช่วงปีเดียวกันก็จะพบว่า จำนวนรถในแต่ละปีมีมากกว่าประชากรถึงเท่าตัว และในปี 2566 ตัวเลขนี้ได้พุ่งขึ้นสูงสุดถึง 1.4 เท่า ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ หากแยกประเภทของรถออกมาดู ก็จะเห็นว่า รถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ถือเป็นยานพาหนะที่มีจำนวนมากที่สุดของเชียงใหม่ในทุกปี ด้วยจำนวนรวมมากกว่าล้านคันต่อปี คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยกว่า 69% ของรถทั้งหมดในแต่ละปี ขณะที่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล มีสัดส่วนเฉลี่ยเพียง 18% และ 13% ตามลำดับ

ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่ข้อมูลสถิติที่แสดงให้เห็นถึงจำนวนรถที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพียงอย่างเดียว แต่ยังตอกย้ำถึง ‘ความท้าทายด้านการจราจร’ ของเมืองที่เชียงใหม่กำลังเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้ในปัจจุบัน รถที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่ความรู้สึกของคนในเมืองหรือนักท่องเที่ยว ทว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ส่งผลโดยตรงต่อระบบการจราจรของเมือง ต่อทุกถนน ทุกแยก และทุกช่วงเวลาของชีวิตคนเชียงใหม่ จนอดที่จะหาคำตอบไม่ได้ว่า ทำไมรถในเชียงใหม่ถึงเพิ่มขึ้นมากมายขนาดนี้ อะไรคือปัจจัยที่ผลักดันให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่รถเยอะขึ้นทุกปีจนกลายเป็นปัญหารถติด?

เชียงใหม่ เมืองยานยนต์ ถนนน้อย

หนึ่งในปัจจัยสำคัญของปัญหารถติดในเมืองเชียงใหม่คือ ปริมาณการใช้รถส่วนบุคคล ทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่ง ‘สวนทาง’ กับสัดส่วนของถนนในพื้นที่เมืองอันน้อยนิด

จากการศึกษาของ UddC Urban Insights (2564) เมื่อแบ่งพื้นที่ออกเป็นกริดขนาด 1 ตร.กม. พบว่า สัดส่วนถนนเฉพาะในเขตเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่มีเพียง 5% ของพื้นที่เมืองทั้งหมด 40.22 ตร.กม. ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น (20 – 25%) ถึง 4 เท่า ต่ำกว่าเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ (7%) และเมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลก เช่น พอร์ทแลนด์ (47%) วอชิงตัน ดี.ซี. (43%) ชิคาโก (42%) นิวยอร์ก (28%) บาร์เซโลนา (27%) ปารีส (25%) เวียนนา (23%) และโตเกียว (20%) เป็นต้น

สัดส่วนของถนนที่น้อยเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ หากการสัญจรยังอยู่ในระดับที่ถนนสามารถรองรับได้ ทว่าในกรณีของเชียงใหม่ดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น ปัจจุบันปริมาณการสัญจรในเมืองเชียงใหม่คับคั่งเกินกว่าที่ระบบถนนจะสามารถกระจายการเดินทางได้ทัน แม้ถนนโดยมากจะเป็นประเภทหลายช่องจราจร (multilane) ที่มีจำนวนช่องจราจร 4 ช่อง ความกว้าง (รวมความกว้าง 2 ทิศทาง) เฉลี่ย 12 – 15 เมตรก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น โครงข่ายถนนที่มีความจุต่ำส่งผลให้การจราจรแออัดและติดขัดขึ้นทุกปี

หรือจะให้พูดก็คือ แม้ว่าจำนวนรถในเชียงใหม่จะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่สัดส่วนถนนซึ่งเป็นพื้นที่รองรับรถเหล่านั้นกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อย ปัจจุบัน (2566) ตัวเลขรถจดทะเบียนสะสมในเชียงใหม่พุ่งแตะ 2.5 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์ 787,938 คัน และรถมอเตอร์ไซค์ 1,732,278 คัน เมื่อเทียบกับปี 2562 ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นถึง 13.1% แต่ในทางกลับกัน สัดส่วนถนนในเมืองยังคงเท่าเดิม ซึ่งนี่ก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เมืองเชียงใหม่เผชิญปัญหารถติดในปัจจุบัน เมื่อถนนที่มีอยู่น้อยนิดต้องแบกรับรถจำนวนมหาศาลทุกวัน คำถามที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ แล้วอะไรทำให้คนเชียงใหม่หันมาใช้รถส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ?

เชียงใหม่เมืองไร้ขนส่งมวลชน (1)

หากถามว่า ‘อะไรทำให้คนเชียงใหม่หันมาใช้รถส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ?’ หนึ่งในคำตอบที่อาจหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ‘ระบบขนส่งมวลชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ และขาดความสามารถในการแข่งขันกับยานพาหนะส่วนบุคคล’ ปัญหานี้ไม่ต่างอะไรจาก ‘ปมไก่กับไข่’ ที่หมุนวนเป็นเหตุและผลต่อกัน ตอกย้ำวงจรการพึ่งพารถส่วนตัวที่ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด

แม้ใครหลายคนอยากจะใช้ขนส่งมวลชน (ขนส่งสาธารณะ) มากแค่ไหน แต่ปัญหาและความจริงที่ต้องพบเจอคือ ‘ไม่มีให้ใช้’ เชียงใหม่ยังไร้ระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและตอบโจทย์การเดินทางของคนในเมืองให้ใช้บริการ แถมยังเผชิญกับการขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี

หนึ่งในความ ‘ไม่ตอบโจทย์’ ของขนส่งมวลชนเชียงใหม่คือ ‘ระบบขนส่งในเขตเมืองไม่ได้เป็นขนส่งสาธารณะอย่างแท้จริง’ เพราะถ้าหากดูตามหลักการด้านขนส่งมวลชน คำว่า ‘การขนส่งมวลชน’ หมายถึง การขนส่งสาธารณะในเมืองที่ให้บริการขนย้ายผู้โดยสารครั้งละจำนวนมาก ๆ ไปในแนวทางที่กำหนดขึ้น ‘มีตารางการให้บริการที่แน่นอน มีเส้นทางที่แน่นอน’ ดังนั้นเมื่อเป็นแบบนี้ ‘รถแดง’ ซึ่งเป็นรถที่วิ่งรับผู้โดยสารทั่วเมืองเชียงใหม่จำนวนกว่า 2,500 คัน ก็ไม่อาจจัดว่าเป็นระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเต็มตัว เพราะรถแดงให้บริการในลักษณะ ‘ตามใจ’ ผู้ใช้บริการหรือบางครั้งตามใจผู้ขับ โดยไม่มีจุดจอดแน่นอนและไม่มีเส้นทางตายตัว เส้นทางถุกกำหนดตามความต้องการของผู้ใช้บริการแบบเดียวกันกับ ‘แท็กซี่’ ส่งผลให้การให้บริการรถแดงนั้นใกล้เคียงกับคำว่า ‘กึ่งสาธารณะ’ มากกว่าการเป็น ‘ระบบขนส่งสาธารณะ’ ที่ตอบสนองการเดินทางในเชิงโครงสร้างเมือง

ขณะเดียวกันความไม่ตอบโจทย์อีกเรื่องก็คือ ‘ราคา’ แม้ว่ามีค่าบริการเริ่มต้นจะอยู่ที่ 30 บาท ซึ่งดูเหมือนจะไม่แพงนัก แต่ด้วยต้นทุนของการประกอบการอันหลากหลาย ทั้งค่าป้าย ค่าทะเบียน ค่าภาษี ค่าคิวสัมปทาน ก็ส่งผลให้ค่าบริการแต่ละเที่ยวยังคงสูงเกินกว่าที่ผู้คนจะใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน ผลกระทบนี้ทำให้รถแดงกลายเป็นทางเลือกที่ไม่สามารถตอบสนองผู้ใช้บริการในแง่ความคุ้มค่า ผู้คนจึงยังคงหันไปพึ่งพารถส่วนตัวที่ดูเหมือนจะ ‘ถูก’ และ ‘สะดวกกว่า’ ในระยะยาว แม้จะแลกมาด้วยปัญหารถติดในเมืองก็ตาม

แล้ว ‘Chiang Mai RTC City Bus’ ล่ะ.. เป็นยังไง? หลังจากห่างหายไปกว่า 3 ปีเต็ม Chiang Mai RTC City Bus กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในช่วงปลายปี 2566 ท่ามกลางความหวังว่าจะช่วยเติมเต็มช่องว่างของระบบขนส่งมวลชนในเมืองเชียงใหม่ที่ขาดแคลนมายาวนาน แม้ว่าจะตรงตามนิยามของการขนส่งมวลชนที่แท้จริง แต่ก็ยังถือว่ายัง ‘แพง’ เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ

จากบทความ เข็นอย่างไร? ให้เชียงใหม่มีขนส่งสาธารณะเสียที โดย ปฐวี กันแก้ว ชี้ว่า แม้ RTC จะเคยถูกมองว่าเป็น ‘ความหวังใหม่’ แต่ด้วยปัญหาต้นทุนการดำเนินงานที่สูง โดยเฉพาะยุคหลัง Covid-19 ซึ่งจำนวนผู้โดยสารลดลงกว่า 2 ถึง 2.5 เท่า เหลือเพียง 102 คนต่อวัน บริษัทจึงต้องปรับค่าโดยสารจาก 30 เป็น 50 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการเดินรถที่เฉลี่ยอยู่ที่ 97.8 บาทต่อคน

เมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำที่ 350 บาทต่อวัน ค่าโดยสารนี้คิดเป็นราว 14% ของค่าแรงขั้นต่ำ* ซึ่งสูงกว่าความเหมาะสมตามการศึกษาของ TDRI ที่ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางควรอยู่ที่ไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ หรือประมาณ 35 บาท

การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ต้องเผชิญกับอุปสรรคที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ‘การรวมศูนย์อำนาจที่นโยบายถูกกำหนดจากส่วนกลางมาเป็นเวลานาน’ ก็ถือเป็นสาเหตุสำคัญซึ่งส่งผลให้การพัฒนาขนส่งสาธารณะในระดับท้องถิ่นถูกมองข้ามมานาน

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 – 7 แม้เชียงใหม่จะถูกกำหนดให้เป็นหัวเมืองภูมิภาค แต่แผนส่วนใหญ่กลับมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ เช่น ถนนและสาธารณูปโภค มากกว่าการลงทุนใน ‘ระบบขนส่ง’ แม้จะมีการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2536 แต่ความล่าช้าก็ยังเป็นอุปสรรค แม้ล่าสุดในปี 2559 สนข. ได้ศึกษาและนำเสนอโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit: LRT) แต่ปัจจุบันก็ยังรอมติคร.ในการอนุมัติก่อสร้าง

อีกหนึ่งปัญหาหลักยังเป็น ‘โครงสร้างรวมศูนย์อำนาจในการบริหารจัดการขนส่งสาธารณะเชียงใหม่’ โดยสำนักงานขนส่งจังหวัด ซึ่งเป็นศูนย์กลางในออกใบอนุญาตสัมปทานเส้นทางขนส่ง การบริหารแบบนี้ไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของการจราจรที่ขยายตัวตามแนวถนนตัดใหม่ได้ ผู้ประกอบการเอกชนมักเลือกให้บริการในเส้นทางที่มีผู้โดยสารมาก เช่น เส้นทางสถานที่ท่องเที่ยว ขณะที่พื้นที่อื่นกลับถูกละเลย ส่งผลให้ต้องใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง ซึ่งเป็นสาเหตุให้การจราจรติดขัดเพิ่มขึ้น

ท้ายที่สุด ปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ยังคงวนเวียนอยู่ใน ‘ปมโครงสร้าง’ แม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายการปรับปรุงระบบคมนาคมเชียงใหม่ แต่กลับมุ่งเน้นไปที่การสร้างถนนและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายสนามบินเชียงใหม่มากกว่าการลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้แผนพัฒนาในด้านนี้ยังคงถูกละเลย

เชียงใหม่เมืองไร้ขนส่งมวลชน (2)

หากจะสรุปปัญหาขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ให้เข้าใจง่าย คงหนีไม่พ้นคำว่า ‘ปล่อยให้แข่งขันกันเองและล้มหายตายจากไป’ จาก ‘ปมโครงสร้างทางนโยบาย’ ที่ขาดการจัดการอย่างเป็นระบบและการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังไม่มี ‘เจ้าภาพหลัก’ ในการดูแลและจัดการเรื่องขนส่งสาธารณะอย่างจริงจัง ยิ่งไปกว่านั้นยังเกิดความเหลื่อมล้ำเมื่อเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ และปริมณฑล

สถิติจำนวนรถจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก (สะสม) 2562 – 2566
ประเภทรถ25622563256425652566
รถโดยสารประจำทาง1,7651,7381,6601,5301,474
รถโดยสาไม่ประจำทาง5,5365,0604,1663,5233,296
รวม (คัน)7,3016,7985,8265,0534,770
หมายเหตุ: ข้อมูลนี้ไม่นับรวมรถโดยสารส่วนบุคคล
ที่มา: สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ และกรมการขนส่งทางบก

หากดูตามข้อมูลสถิติจำนวนรถจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก (สะสม) ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ตามตารางข้างต้น จะพบว่า ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางในเชียงใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดยลดลงจาก 7,301 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 4,770 คัน ในปี 2566 คิดเป็นการลดลงถึงกว่า 34.7% ภายใน 5 ปี หรือลดลงเฉลี่ยปีละ 6.9% ซึ่งสวนทางกับจำนวนรถส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ ถ้าสังเกตจากข้อมูลจะเห็นว่า จำนวนรถโดยสารประจำทางในเชียงใหม่มีจำนวนค่อนข้างน้อยมากเมื่อเทียบกับรถโดยสารไม่ประจำทาง น้อยกว่ารถโดยสารไม่ประจำทาง 2 – 3 เท่าในแต่ละปี ซึ่งสะท้อนถึงการขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ

ถ้าถามว่า ‘เคยมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มั้ย?’ คำตอบคือ ‘มี’ โดยในปี 2565 พรรคก้าวไกลเคยมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเรื่องการขนส่งสาธารณะ ผ่านการเสนอ ‘ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ขนส่งทางบก’ เพื่อปลดล็อกการบริการขนส่งสาธารณะในระดับท้องถิ่น โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด จากเดิมที่ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และกรรมการทั้งหมดมาจากราชการส่วนกลาง เปลี่ยนเป็น นายก อบจ. เป็นประธาน พร้อมทั้งเพิ่มตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน อบต. เทศบาล ฯลฯ อีกทั้งลดอำนาจส่วนกลางและเพิ่มอำนาจส่วนท้องถิ่น โดยให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการกำหนดค่าบริการ ออก/เพิกถอนใบอนุญาตฯ และระวางโทษผู้ได้รับใบอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ถูก ‘ปัดตก’ จากสภาฯ ไปเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ด้วยมติเห็นด้วย 151 เสียง ไม่เห็นด้วย 251 เสียง และงดออกเสียง 2 จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 404 เสียง ทำให้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวตกไปตามข้อบังคับ 134

#ถ้าระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ดี ‘ขนส่งสาธารณะ’ ทางออกปัญหารถติดและมลพิษของเมือง

ถ้าระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ดี เราคงจะได้เห็นภาพของเมืองที่ผู้คนเดินทางสะดวกและยั่งยืน ลดปัญหาการจราจรติดขัดและมลพิษทางอากาศไปได้มาก แต่คำถามคือ.. เราจะทำยังไงให้เชียงใหม่ไปถึงจุดนั้น?

หนึ่งในวิธีสำคัญคือ ‘การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น’ ด้วยการ ‘ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบขนส่ง’ เปลี่ยนจากการที่ผู้ว่าฯ เป็นประธานคณะกรรมการขนส่งประจำจังหวัด มาเป็นนายกอบจ.แทน พร้อมเพิ่มตัวแทนจากท้องถิ่น เช่น ประธานสภาหอการค้า และประธานสภาอุตสาหกรรม เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการวางแผนและบริหารระบบขนส่งที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการในพื้นที่

ขณะเดียวกัน สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ TDRI ให้สัมภาษณ์กับ The 101.World ไว้ว่า “แน่นอนว่าระบบขนส่งในเขตเมืองใหญ่ ๆ เหล่านี้ มีรากปัญหาของมันอยู่ระดับหนึ่ง ในอดีตรถเมล์ขนาดใหญ่มีอยู่บ้างและค่อย ๆ ล้มหายตายจากไป เพราะส่วนใหญ่รัฐไปกำกับเรื่องราคา ซึ่งก็มีเหตุผลว่าไม่อยากให้ประชาชนใช้รถโดยสารประจำทางในราคาแพง แต่รัฐส่วนใหญ่ไม่ค่อยอุดหนุน ถ้าขาดทุน ผู้ประกอบการก็รับไป ถ้าอยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ลดคุณภาพ ถ้าลดคุณภาพไม่ไหวก็ลดจำนวนรถ จากนั้นก็เลิกกิจการ แล้วประชาชนก็ไม่มีรถประจำทางใช้ ตรงนี้เรายังไม่มีเครื่องมือด้านการอุดหนุน ไม่มีกฎหมาย ไม่มีแพลตฟอร์มและงบประมาณไปทำ ซึ่งจริง ๆ ควรจะต้องทำ

“เมืองหลายเมืองที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น มีคนเดินทางค่อนข้างเยอะ กลับกลายเป็นว่าเราไม่สามารถพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะได้ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี จังหวัดเหล่านี้ไม่มีรถเมล์ประจำทางดี ๆ เมืองท่องเที่ยวที่มีคนเดินทางเยอะมากอย่างภูเก็ต พัทยา หรือหัวหิน ก็ไม่มีรถโดยสารสาธารณะที่เหมาะสม และผมว่านี่แหละเป็นปัญหา มันจะต้องพัฒนาให้มีรถโดยสารสาธารณะประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลกำลังทำ เช่น รถไฟทางคู่ มีสถานีรถไฟตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ แต่ยังขาดเรื่องการเชื่อมโยงในตัวเมืองอยู่ ฉะนั้นนโยบายที่อยากเห็นคือ จะทำอย่างไรให้รถโดยสารประจำทางในเขตเมืองใหญ่ ๆ ที่ควรจะต้องมี” สุเมธ กล่าว

นอกเหนือจากปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะโดยตรงแล้ว การออกแบบพัฒนาเมืองตามแนวคิด ‘การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีระบบขนส่งมวลชน’ (Transit-oriented Development: TOD) เพื่อลดการเดินทางด้วยรถส่วนตัวและเพิ่มการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อย ในบทความ Policy Brief อนาคตการเดินทางในเมืองหลักภูมิภาค จาก Mass Transit สู่ Mass Customization โดย เปี่ยมสุข สนิท ได้เสนอ ‘ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองไร้รถยนต์’ (car-free town) ซึ่งสนับสนุนการออกแบบพื้นที่เมืองตามแนวคิด TOD ดังนี้

1. ออกแบบจุดเปลี่ยนถ่ายระบบขนส่งสาธารณะให้มีความสะดวก ผู้ให้บริการขนส่งควรออกแบบวางผังภายในสถานีขนส่งมวลชนร่วมโดยมีจุดประสงค์หลัก คือ ให้ทุกองค์ประกอบของสถานีแพลตฟอร์มของแต่ละรูปแบบการเดินทางอยู่ใกล้กันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดระยะการเดิน และเพิ่มประสิทธิภาพการโอนถ่ายการเดินทาง มีการออกแบบตามหลัก universal design มีสิ่งอํานวยความสะดวกสําหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ เพื่อให้เกิดการเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานสําหรับยานยนต์สมัยใหม่ เช่น ที่ชาร์จไฟสําหรับยานยนต์ที่ให้บริการขนส่งทุกประเภท และคํานึงถึงคุณภาพชีวิตในการทํางานของผู้ให้บริการขนส่ง เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง เป็นต้น

2. ออกแบบเมืองเพื่อส่งเสริมการเดินทางแบบไร้เครื่องยนต์ เพิ่มระดับการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนด้วยการออกแบบภายในย่านให้มีลักษณะทางกายภาพที่เอื้อต่อการเดินเท้า (walkability environment) เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเดินเท้า การใช้จักรยาน รวมถึง micro mobility เข้าสู่สถานี นอกจากนี้ ควรยกเลิกที่จอดรถริมถนน (on street parking) เนื่องจากยานยนต์อัตโนมัติร่วมโดยสารไม่ต้องการที่จอดรถ มีจุดจอดเฉพาะพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวก เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่มีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลาย เช่น สกูตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่า เป็นต้น พื้นที่จอดรถจํานวนมากในเมืองจะกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพสูงสําหรับคนเมือง นอกจากนี้ ยังสามารถออกเทศบัญญัติกําหนดช่วงเวลาการเดินทางของรถประเภทต่าง ๆ ในพื้นที่เมือง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับการเดินทางแบบไร้เครื่องยนต์ทุกประเภท ให้สามารถใช้พื้นที่แต่ละส่วนบนถนนร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้เมืองหลักภูมิภาคของประเทศไทยสามารถก้าวสู่สังคมที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่เอื้อต่อประชาชนอย่างแท้จริง

ที่มา: บทความ เมื่อเจียงใหม่เฮาต้องก๋านขนส่งสาธารณะ: “บ่ายเดือนพฤษภาที่ฝนตกหนักในวันเปิดภาคเรียน” โดย The Urbanis จาก The Urbanis

แล้วถ้าเชียงใหม่มีระบบขนส่งสาธารณะครบวงจรล่ะ.. จะเป็นยังไง? จากการจำลองข้อมูลของ The Urbanis โดยอิงจากแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ และวิเคราะห์ระดับศักยภาพการเข้าถึงและการให้บริการขนส่งสาธารณะในเมืองเชียงใหม่ พบว่า หากเชียงใหม่มีระบบขนส่งสาธารณะครบวงจร พื้นที่ ‘เกินกว่าครึ่งหนึ่ง’ ของเมืองจะสามารถเข้าถึงการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะอย่างครอบคลุม ไม่ใช่แค่เดินทางที่จะสะดวกขึ้น แต่เชียงใหม่จะกลายเป็นเมืองที่มิตรกับการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การเดินเท้า รวมถึงรูปแบบการเดินทางที่ไม่พึ่งพาเครื่องยนต์อื่น ๆ เช่น การขี่จักรยาน เป็นต้น นอกจากนี้ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะยังช่วยลดปัญหาความแออัดของการจราจรและมลพิษทางอากาศ สร้างโอกาสให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนเมือง

คำถามคือ ถ้าการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจะช่วยเปลี่ยนโฉมเมืองเชียงใหม่ ลดปัญหาการจราจร มลพิษ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ขนาดนี้.. ‘แล้วทำไมภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่เร่งทำให้มันเกิดขึ้นจริงเสียที?

‘สัญญาณแห่งความหวัง’ ขนส่งสาธารณะเชียงใหม่

12 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา อบจ.เชียงใหม่ ได้จัดประชุมสภา อบจ. สมัยสามัญสมัยที่ 4 ครั้งที่ 1 ปี 2567 ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายก่อนที่ พิชัย เลิศพงษ์อดิศร จะครบวาระในตำแหน่งนายก อบจ. ในวันที่ 19 ธันวาคมนี้

ญัตติสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพิจารณาในครั้งนี้คือ ‘การอนุมัติในหลักการยื่นขออนุญาตเดินรถและประกอบกิจการขนส่งโดยสารประจำทาง (เส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางในเขตเมือง) ตามพรบ.การขนส่งทางบก 2522 และกฎกระทรวงฉบับที่ 64 (2567) 2 เส้นทาง ดังนี้

1. หมวด 1 สายที่ 20 เส้นทางสถานีขนส่งผู้โดยสารเชียงใหม่แห่งที่ 2 – ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ – ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 33.8 กม. ถนนลาดยาง

2. หมวด 1 สายที่ 18 เส้นทางสถานีขนส่งผู้โดยสารเชียงใหม่แห่งที่ 2 – สถานีรถไฟเชียงใหม่ – อนุเสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย เชิงดอยสุเทพ ระยะทาง 30.4 กม. ถนนลาดยาง

ญัตติดังกล่าวได้รับการลงมติเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกสภา อบจ. ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุม 31 คนจากทั้งหมด 42 เขต

การประชุมครั้งนี้เป็นเหมือนการ ‘ทิ้งทวน’ ของพิชัย พร้อมกับการส่งต่อความหวังของการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ เส้นทางเดินรถใหม่ทั้ง 2 เส้นนี้อาจเป็นก้าวแรกที่ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่เริ่มขยับไปในทิศทางที่ดีขึ้น

หรือนี่จะเป็น ‘สัญญาณแห่งความหวัง’ ของขนส่งสาธารณะเชียงใหม่?


อ้างอิง

Lanner Joy: ‘Papacraft’ แกลเลอรี่งานคราฟต์ในโฮมคาเฟ่แห่งความสุขของ ช้าง-ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล ที่อยากแบ่งปันพื้นที่งานคราฟต์ให้เหล่าช่างฝีมือในลำปาง

เรื่องและภาพ: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

ถ้านึกถึงที่เที่ยวในเมืองลำปาง ส่วนใหญ่คงจะนึกถึง ‘กาดกองต้า’ เป็นอันดับแรกๆ เพราะเป็นถนนคนเดินยอดฮิตในหมู่นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมและดื่มด่ำกับบรรยากาศริมน้ำวัง บนถนนตลาดเก่าในตำบลสวนดอก อําเภอเมือง จังหวัดลำปาง  เป็นย่านที่เต็มไปด้วยร้านค้า ทั้งคาเฟ่ ร้านอาหารหลากสัญชาติ และที่โดดเด่นเลยนั่นก็คือเป็นแหล่งรวมสินค้าประเภทงานฝีมือหรือที่เราเรียกกันอย่างติดปากว่า ‘งานคราฟต์’

เราเคยมาเดินเที่ยวที่กาดกองต้ากับกลุ่มเพื่อนสนิทอยู่ครั้งหนึ่งตอนปิดเทอมฤดูร้อนปี 2565 เป็นการนัดมานั่งเม้าท์มอยถึงเรื่องราวที่แต่ละคนพบเจอมาในเทอมนั้น แน่นอนว่าสถานที่ที่เหมาะสำหรับเป็นพื้นที่สนทนาของพวกเราก็คือร้านกาแฟ ซึ่งร้านที่พวกเราเลือกคือ Papacraft โฮมคาเฟ่สไตล์อบอุ่น ที่มีพื้นที่หลังร้านติดแม่น้ำวัง

แก้วเซรามิกหลายรูปทรง หลายขนาด วางเรียงกันอยู่ตรงโต๊ะหน้าร้าน ถัดเข้าไปอีกนิดมองเห็นเป็นชั้นวางที่เต็มไปด้วยเครื่องหนัง ทั้งเข็มขัด กำไล เครื่องประดับ และยังมีงานคราฟต์อีกหลายชนิดถูกจัดแสดงเอาไว้ ให้ความรู้สึกเหมือนพื้นที่แห่งนี้เป็น ‘แกลลอรีงานคราฟต์’ ถือเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจมากสำหรับคนที่ชอบดูงานคราฟต์แบบเรา

ฤดูหนาวปีนี้ เรากลับมาเยี่ยมเยือนพื้นที่แห่งนี้อีกครั้ง ครั้งนี้เรานัดพูดคุยกับเจ้าของพื้นที่ดีๆ แบบนี้อย่าง ช้าง-ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล เกี่ยวกับเรื่องราวของเขาและ Papacraft แกลเลอรีในโฮมคาเฟ่ที่เป็นแหล่งรวมงานคราฟต์ของช่างฝีมือท้องถิ่นในเมืองลำปาง

บรรยากาศของร้านยังคงให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนที่เราเคยมาเมื่อ 2 ปีก่อน นักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติแวะเวียนมาเยี่ยมชมที่นี่ พนักงานในร้านต่างยิ้มต้อนรับอย่างเป็นมิตร เช่นเดียวกับเจ้าของร้านที่รอต้อนรับเราอย่างดี เรานั่งลงคุยกันกับช้างที่โต๊ะไม้ตัวประจำของเขา

ทำความรู้จักกับช้าง นักแปลดีเด่นพ่วงตำแหน่งคราฟต์แมนสุดเก๋า

ช้างเป็นนักแปลหนังสือที่มีผลงานโดดเด่นหลายเล่มและเคยได้รับรางวัลสุรินทราชา ประจำปี 2562 จากผลงานการแปลหนังสือของเขา ช้างเล่าว่าเขาเป็นคนชอบอ่านหนังสือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การได้เรียนวิชาแปลเมื่อครั้งที่เขายังเป็นนักศึกษาการสื่อสารมวลชน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานแปลเล่มแรกของเขา

“เราเคยเรียนวิศวะ แต่ไม่เห็นภาพตัวเองตอนทำงานประจำเลย กลับกันตอนเราได้เห็นรุ่นพี่ฮิปปี้ที่เขาทำงานฝีมือแล้วไปขายตามตลาดนัด เรากลับรู้สึกว่า เราเห็นภาพเราเป็นแบบนั้นมากกว่า”

ช้างเล่าให้เราฟังว่า เขาเคยเป็นอดีตนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ที่ผันตัวออกมาตามหาความฝันที่แท้จริงของตัวเอง การใช้ชีวิตแบบ ‘ฮิปปี้’ เป็นหนึ่งในความชอบของเขา เมื่อได้คลุกคลีกับความชอบนี้ทำให้ช้างเกิดทักษะในงานฝีมือมาตั้งแต่ตอนนั้น 

“เราอยากทำงานคราฟต์ แต่เราก็กังวลตลอดว่า เราจะอยู่รอดไปกับมันได้ยังไง แล้วเราจะช่วยให้คนทำงานคราฟต์เขาอยู่ได้ได้ยังไง”

นี่คือสิ่งที่ช้างตั้งคำถามกับตัวเอง ระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงแห่งความสับสนของชีวิต 

“งานและความสุข เป็นสองสิ่งที่มันต้องไปด้วยกันให้ได้ งานที่ทำแล้วมั่นคงแต่เราไม่ได้รักมัน ทำให้ตายยังไงก็เหนื่อยอยู่อย่างนั้น มันไม่มีความสุข งานมันก็จะออกมาได้ไม่ดี แต่การได้ทำงานที่เราชอบ เรารักมันจริงๆ เหนื่อยแค่ไหนเราก็มีความสุขไปกับมันได้ ทำให้มันออกมาดีได้ เหมือนที่เรามีความสุขกับการได้แปลหนังสือในมุมเงียบๆ ของเราตอนเช้า และได้สนุกกับการนั่งทำงานคราฟต์ในตอนบ่าย แบบนี้คืองานและความสุขมันไปด้วยกันได้จริงๆ”

นักแปลและคราฟต์แมน คือสองสิ่งที่เป็นเหมือนจิตวิญญาณของช้าง เขาเล่าว่าการทำงานด้วยความรัก และความสุข เป็นสิ่งที่เสริมให้การทำงานของเขานั้นออกมาดี แต่กว่าที่เขาจะรู้จักตัวเองจริงๆ ก็ต้องผ่านการลองผิดลองถูกมามากเหมือนกัน

กว่าจะมาเป็น Papacraft บ้านที่อบอุ่นของครอบครัวนักคราฟต์

“เริ่มจากลูกชายคนเล็กของเรา ขวัญ (ต้นฝน ตั้งมหาสถิตกุล) มาชวนเราทำแบรนด์หนัง ตอนนั้นเขาเพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยปีแรก ก็มาบอกเราว่า มาทำงานหนังไปขายกันเถอะ ให้ป๊าเป็นคนทำ แล้วเขาจะเป็นคนขาย เราก็เลยทำเข็มขัดหนังให้เขาไปขาย ทำไปประมาณ 20 เส้น มันก็ไม่ได้ขายได้ง่ายๆ หรอก ก็ลองผิดลองถูกอยู่อย่างนั้น  เราก็ทำอย่างจริงจังมากขึ้น จนกลายมาเป็น Papacraft ในที่สุด”

Papacraft เป็นแบรนด์เครื่องหนังที่สองพ่อลูกร่วมสร้างมาด้วยกัน ช้างเล่าว่าการทำงานคราฟต์เป็นอาชีพของเขา มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว จากการเย็บสมุดหุ้มปกจากเศษหนังไปขายให้กับร้านขายงานฝีมือแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ครั้งแรกที่ขายได้เขาดีใจมาก และได้พัฒนาผลงานส่งไปขายอยู่เรื่อยๆ เมื่อเห็นหนทางในการสร้างรายได้ ก็เลยอยากลองออกมาทำร้านเป็นของตัวเอง ประกอบกับช่วงที่ลูกชายของเขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แล้วเกิดความคิดที่อยากจะลองทำแบรนด์เครื่องหนังพอดี จึงได้เริ่มต้นอาชีพนี้อย่างจริงจังอีกครั้ง

“เราก็หอบของไปขายตามอีเว้นท์ต่างๆ ขายเรื่อยๆ ช่วงนั้นเราก็ไปขายที่เชียงใหม่แถวนิมมาน เดินทางจากอุตรดิตถ์ไปเชียงใหม่ทุกวันอาทิตย์ที่ 4 ของเดือน ทำอยู่อย่างนั้น จนเราไม่ไหวแล้ว เราอยากมีร้านของตัวเองด้วย เลยย้ายมาอยู่ที่ลำปาง ตอนปี 2561 เพราะเราเป็นเขยลำปาง เราชอบที่ตรงนี้มาก เลยตัดสินใจแล้วว่าอยากทำร้านตรงนี้ ก็เลยค่อยๆ มาปรับปรุง จากนั้น Papacraft เลยไม่ใช่แค่ความฝันของเรา แต่มันได้กลายเป็นความฝันของครอบครัวไปเลย”

ภาพจาก Papacraft

ช้างยังเล่าอีกว่าในช่วงแรกของการทำแบรนด์เครื่องหนัง เขาได้หอบผลงานไปขายตามอีเว้นท์ต่างๆ จนเริ่มเป็นที่รู้จักขึ้นมา แต่การเดินทางไปกลับ อุตรดิตถ์-เชียงใหม่ ทุกๆ วันอาทิตย์ที่ 4 ของเดือน เป็นเรื่องที่ทำให้เขาล้าเกินไป เลยย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ลำปาง เป็นจุดเปลี่ยนของ Papacraft จากธุรกิจที่เป็นความฝันของสองพ่อลูก กลายเป็นความฝันร่วมกันของครอบครัว

“หลังจากนั้นเราก็เติบโตมาเรื่อยๆ จากทำกันเองในครอบครัวก็เริ่มมีลูกจ้าง มีทีมของเรา จากเมื่อก่อนเรานั่งทำคนเดียวบนโต๊ะเล็กๆ ตอนนี้เราได้ขยายเป็นสตูดิโอ มันเติบโตมาเยอะมากจริงๆ ถ้าให้เรานิยามสถานที่แห่งนี้ สำหรับเรามันก็จะเป็นเพียงบ้าน Papacraft ส่วนคนที่มาเยี่ยมชมพื้นที่ตรงนี้เขาก็จะเป็นเหมือนเพื่อนที่มาเยี่ยมบ้านของเรา”

คาเฟ่เป็นสิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาเติมเต็มบ้านแห่งนี้ในตอนหลัง ช้างเล่าว่าจริงๆ ในตอนแรกร้านกาแฟไม่ได้อยู่ในความคิดของเขามาก่อน แต่ที่เลือกทำเพราะว่าเขาอยากให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่แห่งนี้มีเครื่องดื่มให้ได้เลือกชิม ได้พักผ่อนไปกับบ้านของเขา 

งานคราฟต์กับลำปางในมุมของช้าง

ช้างเป็นคนกรุงเทพฯ ที่มาเรียนต่อในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาเคยได้ไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ก่อนจะย้ายมาใช้ชีวิตในบ้าน Papacraft ที่จังหวัดลำปางและตั้งใจลงหลักปักฐานกับที่นี่ เราเลยอยากรู้ว่าสำหรับช้างแล้ว เขามีมุมมองเกี่ยวกับงานคราฟต์ในจังหวัดลำปางยังไงบ้าง

“งานคราฟต์มันคืออาชีพโบราณมากเลยนะ มันอยู่มาตั้งนานแล้ว เครื่องจักสาน งานปั้น งานแกะสลัก ต่างก็เป็นงานที่คนเราทำมากันตั้งแต่โบราณมาแล้ว เพียงแต่มันไม่ได้เติบโตเท่าที่ควร รายได้จากงานคราฟต์สำหรับหลายคนมันไม่ได้มากพอที่จะเลี้ยงชีพได้ขนาดนั้น”

“เรามองว่าลำปางมันเป็นเมืองที่โรแมนติกนะ ยิ่งที่กาดกองต้าตรงนี้ ที่ริมน้ำวัง ถ้าพัฒนาให้ดีๆ ทำการสื่อสารเชิญชวนคนมาเที่ยวดีๆ มันจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โรแมนติกมากเลย นักท่องเที่ยวเขาก็จะมาเยอะ เขาก็จะมาเห็นงานเราได้เยอะขึ้น 

ช้างเล่ามุมมองเกี่ยวกับงานคราฟต์ในลำปางว่าเป็นสาขางานที่มีมาตั้งนานแล้ว และเป็นเหมือนงานที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองลำปางเลย เขาเล่าอีกว่า คนลำปางมีฝีมือด้านการสร้างสรรค์งานคราฟต์กันเยอะ แต่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนอย่างตรงจุด นอกจากนั้น สำหรับช้างแล้วเขามองว่าลำปางเป็นเมืองที่โรแมนติก หากได้รับการพัฒนาที่ดีก็อาจทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับคราฟต์และการท่องเที่ยวเติบโตอย่างเข้มแข็งมากกว่าเดิม

Papacraft กับการแบ่งปันพื้นที่แสดงสินค้าให้เหล่าคราฟต์แมนในชุมชน

ช้างเล่าเสริมอีกว่างานคราฟต์ใน Papacraft ไม่ได้มีแค่ผลงานของช้างเท่านั้น เขาได้จัดสรรค์ที่แห่งนี้ไว้เพื่อให้คราฟต์แมนชาวลำปางคนอื่นๆ ได้มีพื้นที่สำหรับแสดงฝีมือของพวกเขา โดยช้างมองว่า ในเมืองลำปางยังมีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับคราฟต์แมนรุ่นใหม่มากนัก เขาจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยผลักดันให้คนรักงานฝีมือในลำปาง  ได้ทำงานที่รักอย่างมีความสุขเหมือนกับที่เขาได้สัมผัส

“นอกจากของเราเองเราก็เปิดพื้นที่ให้ช่างคนอื่นเขาได้มีพื้นที่ขายงานของเขา เราจัดพื้นที่ให้พวกเขา ให้ผลงานพวกเขาได้ตั้งโชว์ เพราะต้องยอมรับก่อนเลยว่ามันไม่ใช่ว่าคนทำงานฝีมือทุกคนจะมีโอกาสตรงนี้”

“งานคราฟต์มันต้องมีพื้นที่นะ แต่ว่าสำหรับพวกเราแล้วมันไม่ได้มีพื้นที่ขายให้คนที่เพิ่งเริ่มขนาดนั้น ถ้าไม่มีเครือข่ายก็เรียกว่าแทบไม่มีที่ให้ขายเลย เอาง่ายๆ ไทยเราเขายังไม่สามารถขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ในแขนงนี้ให้มันทำเงินได้มากไปกว่านี้ ไม่มีกลยุทธ์ ไม่มีวิธีในการทำให้งานนี้มันสามารถไปตีตลาดได้ขนาดนั้น งานฝีมือมันทำยากมากเลยนะ”

ก่อนแยกย้ายกันในวันนั้น เราได้พูดคุยกันต่ออีกเล็กน้อย เพราะอยากรู้ว่าสิ่งที่ช้างเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราจะอยู่รอดไปกับงานคราฟต์ได้ยังไง แล้วจะช่วยให้คนทำงานคราฟต์เขาอยู่รอดได้ยังไง” ในตอนนี้เขาได้คำตอบหรือยัง ช้างส่งยิ้มให้และบอกเราว่า 

“ก็แค่ทำในสิ่งที่เรารักและใช้ความพยายามกับมันให้เต็มที่ ทำด้วยหัวใจ สิ่งสำคัญคือการสร้างคุณค่าให้กับผลงานของเราให้มากๆ เพื่อสร้างพื้นฐานงานคราฟต์ให้มีมูลค่าที่ดี เมื่อตรงนี้มันดี งานคราฟต์ก็จะเติบโต”

Lanner Joy: ‘Anyway Book Cafe’ แหล่งรวมตัวของนักอ่าน พื้นที่ปลอดภัยที่เราได้เป็นตัวของตัวเอง

เรื่อง: กองบรรณาธิการ

ภาพ: วิชชากร นวลฝั้น

เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีคอมมูนิตี้ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนรักกาแฟ กลุ่มคนรักงานศิลปะ หรือกลุ่มคนชอบฟังเพลง เป็นต้น ซึ่งคอมมูนิตี้ต่างๆ เหล่านี้ก็มักจะมีพื้นที่ในการนัดพบปะพูดคุยและทำกิจกรรมไปด้วยกัน สำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในเชียงใหม่ก็เป็นอีกคอมมูนิตี้ที่ต้องการมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมรวมไปถึงการสนทนาในประเด็นสังคมร่วมกัน 

หลังผ่านพ้นช่วงเวลาที่แสนยากลำบากจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ของเชียงใหม่เมื่อช่วงตุลาคมที่ผ่านมา ในที่สุด Anyway Book Cafe คาเฟ่เล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนถนนราชวงศ์ในตัวเมืองเชียงใหม่ ก็ถึงคราวเปิดประตูต้อนรับอย่างเป็นทางการ สดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีการจัดกิจกรรมพิเศษๆ มากมาย ทั้งกิจกรรมอ่านไพ่ทาโร่ กิจกรรมศิลปะแกะยางลบ นอกจากนั้นยังมีวงเสวนาในหัวข้อ “AnyWeeee ท่ามกลางผู้คนที่ชั้นได้เป็นตัวเอง” ที่ชวนให้ทุกคนได้มาฟังเรื่องราวความสัมพันธ์ของหุ้นส่วนร้านทั้งสามคน ทั้งในแง่ของการเป็นคอมมูนิตี้แซฟฟิค และการรวมตัวกันเปิดธุรกิจคาเฟ่ในเมืองเชียงใหม่ที่เป็นเมืองปราบเซียน

Anyway Book Cafe ไม่ได้เป็นแค่ร้านกาแฟเท่านั้น เพราะพื้นที่แห่งนี้เป็นทั้งแหล่งรวบรวมหนังสือ และงานเขียนของนักเขียนอิสระทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่มีน้ำเสียงของผู้หญิงและเควียร์ รวมไปถึงเป็นร้านที่มุ่งมั่นในการเป็นพื้นที่ปลอดภัยของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยสิ่งที่ทำให้พื้นที่แห่งนี้แตกต่างจากร้านกาแฟทั่วไป ก็คือการเป็น ‘คอมมูนิตี้แซฟฟิค’ 

แซฟฟิค (Sapphic) คือร่มใหญ่ที่ใช้นิยามถึงผู้หญิงที่มีรสนิยมทางเพศที่ดึงดูดเข้ากับผู้หญิงด้วยกัน รวมไปถึงทรานส์เจนเดอร์ และนอนไบนารี่ ดังนั้น คอมมูนิตี้แซฟฟิค เลยหมายถึงแหล่งรวมของกลุ่มผู้หญิงที่ดึงดูดเข้ากับผู้หญิงนั่นเอง

Lanner Joy ขอพาทุกคนได้มารู้จักกับ Anyway Book Cafe พื้นที่ปลอดภัยของนักอ่านและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ร่วมสร้างโดยหุ้นส่วนชาวแซฟฟิคทั้ง 3 คนอย่าง กิ่ง-ปสุตา ชื้นขจร, มาย-มณีกาญจน์ อุปนันท์ และ  พลอย-กนกวรรณ สมศิริวรางกูล ผ่านการพูดคุยกันถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ ในเมืองปราบเซียน (ที่ปราบทุกคน) รวมไปถึงแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างพื้นที่แบบนี้ ในแบบที่เราเป็นตัวเองได้อย่างไม่มีอะไรมาขวาง

พลอย-กนกวรรณ สมศิริวรางกูล, มาย-มณีกาญจน์ อุปนันท์ และกิ่ง-ปสุตา ชื้นขจร (ซ้ายไปขวา)

เล่าให้ฟังหน่อยว่าทั้งสามคนมาเจอกันได้ยังไง

มาย: ตอนแรกมายกับกิ่งรู้จักกันมาก่อน เพราะทำกลุ่ม Sapphic Pride ด้วยกัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวด้านความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกับกลุ่มหญิงรักหญิง ทำให้เราสนิทกัน แถมเราสองคนยังชอบอะไรคล้ายๆ กันอีก พอเราพูดคุยกันมากขึ้นก็ทำให้เรามีไอเดียมากขึ้น จนมาเจอพลอยและได้ไปร่วมเวิร์กช็อปที่ House of Commons – BookCafe & Space เป็นเวิร์กช็อปเกี่ยวกับธุรกิจร้านหนังสืออิสระ 

กิ่ง: เรารู้จักกับพลอย เพราะก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสร่วมงานกัน พอมีไอเดียที่จะทำร้านกับมาย เราก็ได้คุยกันว่าสองคนมันยังไม่พอ เราต้องการหุ้นส่วนเพิ่ม เลยนึกถึงพลอยเป็นคนแรกที่เราอยากทำงานด้วย

พลอย: ครั้งแรกที่เจอกัน เรารู้สึกเห็นด้วยกับไอเดียที่อยากจะมีคอมมูนิตี้เลยนะ เราเลยอยากสนับสนุนความคิดของทั้งสองคน หลักๆ จะเป็นกิ่งกับมายที่ดูแลพื้นที่ตรงนี้ เพราะเราเป็นอาจารย์ สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ยังต้องทำหน้าที่นี้เป็นหลักอยู่ แต่ด้วยความที่เราอยากสนับสนุนและอยากจะทำให้พื้นที่นี้เกิดขึ้น เลยตัดสินใจเข้ามาร่วมกับกิ่งและมาย

ทำไมถึงต้องเป็นคาเฟ่กับร้านหนังสือ

กิ่ง: เชียงใหม่มันเป็นเมืองร้านกาแฟเมืองคาเฟ่ก็จริง ซึ่งถ้าเรามองในมุมมองนักท่องเที่ยวก็อาจจะคิดว่าทำไมเชียงใหม่มีแต่คาเฟ่เปิดเต็มไปหมด แต่ถ้ามองลึกเข้าไปจะเห็นว่ามันมีความแตกต่างกันอยู่ในแต่ละร้าน มันสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจในเชียงใหม่ต้องพึงพิงจากการท่องเที่ยว ซึ่งราคาก็ขยับขึ้นไปด้วย ทำให้เราคิดว่าจะทำยังไงให้ชาวเชียงใหม่มีตัวเลือกมากเพิ่มขึ้น และอีกสิ่งที่สำคัญของร้านเรา คือการดูแลพนักงานทุกคนในร้านอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะสิทธิแรงงาน ซึ่งเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ

มาย: เรามองว่าการเป็นคาเฟ่ไม่จำเป็นต้องขายกาแฟเพียงอย่างเดียวเสมอไป คำว่าคาเฟ่ ปัจจุบันมันเป็นคำกลางๆ ที่สามารถขยับไปโฟกัสในเรื่องของพื้นที่เสียมากกว่า ขณะเดียวกันร้านหนังสืออิสระอื่นๆ ถ้าสังเกตดูจะเห็นได้ว่าแต่ละร้านจะมีคาแรคเตอร์ไม่เหมือนกันเลย ซึ่งเราเชื่อว่ามันส่งผ่านจากตัวเจ้าของร้านเองที่ชอบสิ่งนั้นๆ จึงนำมาแชร์ให้ผู้คนที่เข้ามาใช้บริการร้านหนังสือ และสิ่งที่เราแตกต่างจากคาเฟ่หรือร้านหนังสืออื่นๆ คือการที่เราเป็น Sapphic ที่เราอยากจะดึงดูดคนที่คล้ายๆ กับเราให้เข้ามาพื้นที่นี้

แล้วในส่วนของร้านหนังสือ มีแนวคิดว่ายังไงบ้างที่จะทำให้อยู่รอดได้จริง

มาย: อีกแรงผลักดันของเราคือการที่ในปัจจุบันร้านขายหนังสือเหลือน้อยแล้ว อย่างที่จังหวัดเชียงรายเองก็แทบจะไม่มีร้านหนังสืออิสระแล้ว เหลือแต่ร้านการ์ตูนแค่ร้านเดียว การที่เราเห็นร้านหนังสือที่เคยวิ่งเข้าวิ่งออกตอนเด็กๆ ปิดไปเราก็ใจหาย เราเลยอยากฟื้นคืนชีพร้านหนังสือที่เคยเป็นพื้นที่ของเราในวัยเด็ก แต่ต้องทำให้อยู่รอดตามยุคสมัยปัจจุบันนี้ด้วย

มายเล่าว่าแรงผลักดันอีกอย่างในการเปิดร้านหนังสือคือความต้องการที่จะคืนชีพให้กับร้านหนังสือเพราะเธอเห็นว่าในปัจจุบันนี้มีร้านหนังสือที่ปิดตัวลงไปค่อนข้างเยอะ 

มาย: ส่วนตัวมายไม่เชื่อคำที่ว่า ‘คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง’ เพราะเรามองว่าสื่อมันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ถ้ามองแค่ว่าคนซื้อหนังสือกันน้อยลง ประโยคนี้มันก็อาจจะถูกแค่ในแง่ของยอดขายที่ลดลง แต่ผู้คนยังเสพการอ่านจากแพลตฟอร์มบนโลกออนไลน์อยู่เสมอ ทำให้นักเขียนหรือร้านหนังสือในปัจจุบันเลยมีหนังสือที่ผ่านสำนักพิมพ์มากขึ้น แต่ก็สามารถยืนในตลาดได้

มายเล่าอีกว่าตัวเธอเองเคยได้ทำงานในแวดวงหนังสือมาก่อน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นนักเขียนเต็มตัว แต่ก็ทำให้ได้รู้จักวงการหนังสือพอสมควร เธอมองว่าการจะทำร้านหนังสือให้อยู่รอดได้ ต้องอาศัยการปรับตัวให้สอดคล้องไปด้วยกันกับยุคสมัย และรูปแบบของสังคม

ช่วงเวลาที่ยากลำบากของ Anyway Book Cafe คืออะไร แล้วเราผ่านมาได้ยังไง

มาย: นํ้าท่วมค่ะ! เราเป็นคนเชียงรายซึ่งเป็นจังหวัดที่โดนนํ้าท่วมก่อน จนเชียงใหม่ประกาศภาวะเฝ้าระวังนํ้าท่วมครั้งที่ 1 ตอนนั้นเราก็เริ่มหวั่นใจละ เพราะฝั่งกาดเมืองใหม่มักจะโดนนํ้าท่วมเสมอ แต่ฝั่งของร้านเราจากประสบการณ์ของคนในพื้นที่ที่เราไปสอบถาม เขาก็บอกว่าไม่ท่วมแน่นอน มันไม่ท่วมมา 20 ปีแล้วนะ แต่พอระลอกที่ 2 ของน้ำท่วมเท่านั้นแหละ ร้านเราโดนเต็มๆ ซึ่งมันหายนะสุดๆ เชียงใหม่ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน 

เหตุการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ในปี 2567 เป็นเหมือนฝันร้ายของชาวเชียงใหม่แทบทุกพื้นที่ ผู้ประกอบการกิจการต่างๆ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ไม่น้อยไปกว่าใคร สำหรับ Anyway Book Cafe นี่จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของพวกเธอ

มาย: ยิ่งไปกว่านั้นคือการจัดการที่ยํ่าแย่ของรัฐบาล รวมไปถึงมาตรการการเยียวยาที่ล่าช้า ซึ่งเราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เขาจะทำดีกว่านี้ก็ได้นะ แต่ทำไมเขาถึงไม่ทำ” สุดท้ายแล้วเราก็ผ่านมันมาได้จากการช่วยเหลือของมิตรสหายในชุมชนของเรา ซึ่งมันทำให้เราได้เห็นความสัมพันธ์ในหลายแง่ ทั้งคนรอบตัวเรา เพื่อนเรา จนไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือเยียวยาเราอย่างภาครัฐ 

กิ่ง: เราเข้าไปดูขั้นตอนในการเยียวยาต่างๆ สิ่งแรกที่เราเห็นคือ เขาไม่ได้บอกว่าจะเยียวยากลุ่มไหนบ้าง พอเราไปติดต่อเจ้าหน้าที่กลับถูกถามว่าได้นอนที่ร้านหรือเปล่า ซึ่งเราก็สงสัยว่าทำไมถึงถามแบบนั้น และเราก็ได้คำตอบมาว่าถ้าไม่ได้นอนที่ร้านไม่สามารถเบิกเงินเยียวยาได้ อีกทั้งยังมีข่าวว่าจะเยียวยาเพียง 5,000 บาท ซึ่งสำหรับภาคธุรกิจ แม้เราจะเป็นธุรกิจเล็กๆ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นมันรุนแรงสำหรับเรา รวมไปถึงช่วงที่เกิดน้ำท่วม ยังมีการเก็บค่าน้ำค่าไฟเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่ร้านเราเพิ่งเสียหายและเรายังต้องมาเยียวยากันเอง มันไม่แฟร์เลย

พลอย: มองว่าเป็นปัญหาของการกระจายอำนาจ และระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติของบ้านเรา ในทางปฏิบัติมันไม่สอดคล้องกับระบบราชการในปัจจุบันเลย ซึ่งระบบราชการที่มันรวมศูนย์อำนาจ เลยทำให้การจะนำความรู้หรือเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้มันมีหลายขั้นตอน จนบางครั้งทำให้คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง และในอนาคตมันก็จะเกิดขึ้นอีก เพราะเราอยู่กับธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมก็เกิดขึ้นตลอด ทำให้เราต้องกลับมามองว่าถึงเวลาแล้วหรือยังสำหรับการกระจายอำนาจ

แล้วเรามีความคาดหวังของพื้นที่นี้ต่อจากนี้ยังไงกันบ้าง

กิ่ง: เราเติบโตมาเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเราอยากเปิดให้ Anyway Book Cafe เป็นพื้นที่สำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และกำลังตามหาคอมมูนิตี้ของตัวเอง คนที่ชอบอะไรเหมือนกันได้มาเจอกัน ซึ่งเราเองก็ดีใจทุกครั้งที่ได้เห็นคอมมูนิตี้ของเราเติบโต มากไปกว่านั้นคือการมาถกเถียงประเด็นทางสังคมกัน

พลอย: ความสัมพันธ์ก็คือการเมือง แล้วถ้าหากพื้นที่นี้สามารถส่งต่อหรือพูดในประเด็นทางสังคมได้ ไม่ว่าจะผ่านกิจกรรมต่างๆ ผ่านการตีพิมพ์หนังสือ หรือเวทีเสวนา มันก็จะเกิดการขับเคลื่อนทางความคิด การมีพื้นที่แบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมบ้านเรา แม้ว่าจะเป็นพื้นที่เล็กๆ ของคนที่มารวมตัวกัน แต่มันจะแปรเปลี่ยนเป็นพลังที่สำคัญต่อไป

มาย: พลังของการที่เราได้มาพบปะพูดคุยกัน ไม่ว่าการที่เรากำลังต่อสู้เรื่องคนตัวเล็กในวงการหนังสือ ด้านการเมือง หรือเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ การที่ได้มาเจอกันมารวมตัวกัน จะสามารถส่งพลังในการผลักดันประเด็นต่างๆ ในสังคมได้ เราก็คาดหวังว่าพื้นที่ของเราจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม

ทั้งสามคนทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้ Anyway Book Cafe เป็นพื้นปลอดภัยที่สำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หลากหลายทางความคิดได้มาเจอกัน ได้มาเป็นตัวของตัวเองผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน และอยากให้ในอนาคตพื้นที่แห่งนี้ได้มีการเติบโตไปเป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนสังคมผ่านกิจกรรมต่างๆ ของทางร้าน เพื่อให้เมืองเชียงใหม่ได้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายแบบนี้อีกหลายๆ ที่

ลีซูนาเลา โฮมสเตย์หลังดอยหลวงเชียงดาว เรียนรู้ ปรับตัว และปัญหาที่รอการแก้ไข

เรื่องและภาพ : องอาจ เดชา

หมู่บ้านนาเลาใหม่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนลีซู ตั้งถิ่นฐานอยู่รอบดอยหลวงเชียงดาว ประกอบด้วย 3 หย่อมบ้าน ได้แก่ บ้านนาเลาใหม่ บ้านนาเลาเก่า และบ้านฟ้าสวย

ชุมชนบ้านนาเลาใหม่ เริ่มปรับมาทำท่องเที่ยวชุมชน ไม่นานมานี้ ด้วยวิวทิวทัศน์ที่งดงาม มองเห็นฉากดอยหลวงเชียงดาวตั้งตระหง่านโดดเด่นเบื้องหน้า จึงเริ่มปรับเป็นโฮมสเตย์ที่พักเรียบง่ายด้วยไม่ไผ่และตั้งชื่อว่า ‘ระเบียงดาว’ ซึ่งหลังจากนั้น มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอเชียงดาว

หลายครอบครัว มองเห็นว่าน่าจะเป็นพื้นที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ จึงเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตร มาเน้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เปิดให้นักท่องเที่ยวได้มาเยือน ตั้งแต่เดือน พ.ย.-ก.พ. ของทุกปี นอกจากนั้น ชาวบ้านยังมีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวบ้านนาเลาใหม่อีกด้วย

อะลูมิ เลายี่ปา ที่มาภาพ : องอาจ เดชา

อะลูมิ เลายี่ปา เป็นอีกคนที่เริ่มลงมือทำโฮมสเตย์ ชื่อ ‘บ้านพักเฮือนสุข’ เธอเกิดและเติบโตที่บ้านฟ้าสวย เธอบอกว่า ตอนเด็กๆ ก็ใช้ชีวิตอยู่บนดอยนี้ตลอด เริ่มเรียนหนังสือในชุมชน ตอนนั้นมีศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านฟ้าสวย จากนั้นย้ายมาที่โรงเรียนบ้านถ้ำ จนจบ ป.6 เข้าเรียนต่อระดับชั้นมัธยมที่เชียงดาววิทยาคม ก่อนที่จะลงไปเรียนปริญญาตรี สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

“ที่ตัดสินใจเรียนการท่องเที่ยว ไม่คิดอะไรมาก รู้แต่ว่าชอบเที่ยว ชอบเดินทาง แต่เริ่มคิดและถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนก็คือ ช่วงที่เรียนอยู่ชั้นปีสองปีสาม พอกลับมาบ้านในช่วงปิดเทอม ตอนนั้นพี่สาวกับพี่เขยเริ่มทำที่พักโฮมสเตย์ชื่อ ‘ระเบียงดาว’ ก็ได้อยู่ช่วยงาน แล้วรับจ้างเป็นคนนำทาง พานักท่องเที่ยวเดินขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาว ก็จะมีรายได้ครั้งหนึ่งประมาณ 1,000-2,000 บาท ตามแต่ละทริป ก็ได้เงินมาเป็นค่าเทอม ส่งตัวเองเรียนจนจบปริญญาตรี ในปี 2558”

เธอเป็นลีซูคนแรกของหมู่บ้านฟ้าสวย-นาเลาใหม่ที่เรียนจบปริญญาตรี พอเรียนจบอะลูมิตัดสินใจนำความรู้กลับบ้าน ก่อนที่จะเก็บเงินก้อนหนึ่ง ทำโฮมสเตย์ อยู่ใกล้ๆ ที่ของพี่สาว ทำให้เธอมีรายได้ตลอดช่วงฤดูหนาว

นโยบายทวงคืนผืนป่าคืบคลานความฝันถูกรื้อถอน

ภายหลังการรัฐประหารในปี 2557 โดย คสช. ได้มีคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๔/๒๕๕๗ เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้ หรือที่รู้จักใน ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ ซึ่งส่งผลสะเทือนทันทีที่ประกาศใช้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ซึ่งมีชีวิตสัมพันธ์กับป่า ได้รับผลกระทบจากการยึดคืนพื้นที่ หลายรายนั้นถูกจับกุมดำเนินคดี 

ซึ่งภายหลังจากการประกาศใช้คำสั่งดังกล่าวในวันที่ 18-22 มกราคม 2562  ชุดหน่วยพญาเสือ หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานในเขตพื้นที่อำเภอเชียงดาว เข้าตรวจสอบบ้านพักนักท่องเที่ยว บริเวณบ้านนาเลาใหม่ แน่นอนว่าโฮมสเตย์ของอะลูมิก็ถูกรื้อไปด้วย ความฝันของเธอสูญสลาย แบบไม่ทันตั้งตัว โดยอ้างบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินบ้านนาเลาใหม่ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดเงื่อนไขการแจ้งครอบครองที่ดินในเขตป่าตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 การปลูกพืชเสพติด (ฝิ่น) และการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าซึ่งตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ให้คงเหลือบ้านพักนักท่องเที่ยว จำนวน 2 หลัง พื้นที่กางเต็นท์ 4 หลัง ระเบียงชมวิว 1 ระเบียง ส่งผลทำให้บ้านพักโฮมสเตย์ ระเบียงดาว ของพี่สาวอะลูมิถูกรื้อเหลือเพียง 2 หลัง

ภาพเหตุการณ์รื้อโฮมสเตย์บ้านนาเลาใหม่ ระหว่างวันที่ 18-22 มกราคม 2562 

อะลูมิ บอกว่า เธอรู้สึกไม่ดีกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำไมไม่คุยกันดีๆ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านก็ไม่ได้ทำลายป่า ทำเพียงห้องพักในโซนหมู่บ้านเท่านั้น ตอนนั้นเธอและชาวบ้านหลายคนไปร้องเรียนหลายหน่วยงาน แต่ไม่เป็นผล ทำให้เธอและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ รวมตัวประท้วงปิดถนนทางเข้าหมู่บ้าน รวมไปถึงการร้องเรียนไปที่หน่วยงานของรัฐ และองค์กรสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง

นอกจากผลกระทบโดยตรงของนโยบายดังกล่าวยังส่งผลกระทบทางอ้อมที่ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ขัดแย้งกันเอง จากการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ในขณะที่กลุ่มหนึ่งนั้นถูกรื้อ ไม่ให้เปิดกิจการ แต่อนุญาตให้ชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกันทำกิจการได้เพียง 17 ราย จนเกิดความขัดแย้ง เพราะชาวบ้านที่เหลือมองว่า เป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับความเป็นธรรม 

จนกระทั้งวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 มีการยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้มีตัวแทนจากบ้านนาเลาใหม่ จำนวน 22 คน โดยชาวบ้านระบุว่า ภายหลังคำสั่ง คสช. ได้มีการรื้อถอนบ้านพักโฮมสเตย์และให้เปิดโฮมสเตย์บ้านละ 2 หลัง และกางเต็นท์ได้ 4 หลังมีคำสั่งปิดหมู่บ้านนาเลาใหม่ ห้ามนักท่องเที่ยวเข้าพัก หรือแวะชม ซึ่งกำหนดให้ทำกิจการได้เพียง 17 ราย แต่ชาวบ้านที่เหลือทั้งหมด 24 รายกลับไม่ได้รับอนุญาติ ทำให้เกิดความแตกแยกในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้าน 24 รายเคยยื่นหนังสือหน่วยงานในพื้นที่คือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และนายอำเภอเชียงดาว แต่ต่างได้รับคำตอบว่าไม่มีสิทธิตัดสิน โดยการยื่นหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรมครั้งนี้ชาวบ้านต้องการความเป็นธรรมที่ชาวบ้านทั้งหมดควรจะได้รับสิทธ์ในการทำกิจการโฮมสเตย์ ให้ชาวบ้านจัดการบริหารกันเองตามเดิม เพื่อลดความขัดแย้งสร้างความสามัคคดีกันชุมชนอีกครั้งโดยไม่มีการแบ่งแยก

กรณีเจ้าหน้าที่รื้อโฮมสเตย์บางครอบครัวที่ถูกรื้อ ต้องอพยพลงมาอยู่ตัวอำเภอ ไปเปิดร้านคาราโอเกะแทน สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมล่มสลายหายไปด้วย

อาหมี่มะ เลายี่ปา เล่าว่า ก่อนหน้านั้น พ่อแม่และน้องสาว ทำโฮมสเตย์เล็กๆ โดยได้ทำการเช่าบ้านของชาวบ้านคนหนึ่งที่แต่เดิมเป็นบ้านเก่ามาปรับปรุงเป็นโฮมสเตย์

“แต่พอหลังจากเจ้าหน้าที่มีการเข้ามารื้อโฮมสเตย์กัน ชาวบ้านเริ่มมีปัญหาขัดแย้ง ทะเลาะกันเอง แตกกันเป็นสองกลุ่ม จนทำให้ครอบครัวของเรา เครียด ไม่อยากมีปัญหา จึงตัดสินใจพากันย้ายอพยพลงไปอยู่ในตัวอำเภอเชียงดาว แล้วไปทำร้านคาราโอเกะกันข้างล่าง แต่พอถึงฤดูทำไร่ ปลูกข้าว เราก็พากันขึ้นไปปลูกข้าวกันที่หมู่บ้านข้างบนกันอยู่ แต่หลักๆ ครอบครัวเราย้ายมาอยู่ข้างล่างกันหมดแล้ว”

เช่นเดียวกับ วุฒิชัย มงคลชัยวงศ์ ชาวบ้านฟ้าสวย เล่าว่า ตนมีพื้นที่อาศัยในบ้านนาเลาใหม่ด้วย ตอนแรกตั้งใจอยากจะทำโฮมสเตย์เหมือนกัน จำได้ว่า ตอนนั้น ผอ.สำนักบริหารที่ 16 ได้มาลงพื้นที่ออกสำรวจและประชุมชาวบ้าน ตนได้ลงชื่อขออนุญาตทำโฮมสเตย์ ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ของโครงการชีวมณฑลดอยเชียงดาว มาประชุมและบอกให้ระงับไว้ก่อน เพราะอยู่หย่อมบ้านฟ้าสวย ทั้งที่ตนก็มีพื้นที่ทำกินอยู่บ้านนี้เหมือนกัน

“ตอนนั้น ผมได้ซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เสาปูน หลังคา อะไรหมดไปเป็นแสนแล้ว จนถึงตอนนี้ ก็ยังรอลุ้นอยู่ว่าจะให้ผมทำโฮมสเตย์ได้เมื่อใด”

นโยบายทวงคืนผืนป่า ‘เพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน’

ดร.สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และคลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งศึกษาผลกระทบและเครื่องมือในการปฏิบัติตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบว่าในช่วงปี 2552-2556 กรมป่าไม้ดำเนินคดีกับชาวบ้านจำนวน 6,656 คดี แต่ในช่วงปี 2557-2558 มีจำนวนคดีถึง 9,231 คดี ส่วนการดำเนินคดีกับชาวบ้านของกรมอุทยานฯ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือในช่วงปี 2552-2556 ดำเนินคดีกับชาวบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตอนุรักษ์ประมาณ 5,000 คดี ขณะที่ในช่วงปี 2557-2559 มีประมาณ 6,000 คดี สรุปก็คือ การดำเนินคดีของกรมป่าไม้เพิ่มขึ้น 38 เปอร์เซ็นต์ และกรมอุทยานฯ เพิ่มขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์

สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จากการศึกษาพบว่า คสช. ผลักดันนโยบายทวงคืนผืนป่าโดยใช้ทั้งกฎหมายที่มีอยู่แล้วและคำสั่ง คสช. แต่สิ่งที่แตกต่างจากในอดีตคือ ประกาศสองฉบับกับแผนแม่บทหนึ่งแผน ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความรุนแรงมากขึ้น โดยคำสั่ง คสช. ได้เพิ่มตำรวจ ทหาร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และฝ่ายปกครอง เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย จากเดิมที่มีกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นสองหน่วยงานหลัก ขณะเดียวกัน คำสั่ง คสช. คาดโทษเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐบาลจากเลือกตั้ง เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีช่องทางในการปกป้องตัวเอง ทำให้การคาดโทษมีประสิทธิภาพ

“สิ่งที่ คสช.ทำ ถ้าเราดูเทียบกับงานศึกษากฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนในสมัยก่อน รูปแบบหลักๆ ของรัฐบาลเผด็จการในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนคือการตรากฎหมายโดยตรง จำกัดเสรีภาพโดยตรง ซึ่งมีในยุค คสช. เช่นกัน แต่สำหรับกฎหมายทวงคืนผืนป่า ไม่ได้ตรากฎหมายสารบัญญัติขึ้นมาเพิ่มโทษ หรือกำหนดสิทธิหน้าที่เพิ่มเติม สิ่งที่ทำคือ จัดโครงสร้างการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐใหม่ โดยเพิ่มอำนาจให้กับรัฐ และใช้กลไกและอำนาจที่มีอยู่ไปลดอำนาจประชาชน พอทำสองอันนี้ได้ ก็ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้น”

ดอยหลวง ไฟป่า ชีวมณฑล โฮมสเตย์ เด็กดื้อกับเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน

ต่อมา ในวันที่ 15 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ดอยเชียงดาว ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกจากยูเนสโก (UNESCO) โดยนับเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลลำดับที่ 5 ของไทย ทำให้ชาวบ้านนาเลาใหม่พยายามเรียนรู้และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลฐานทรัพยากรร่วมกันทุกหน่วยงานองค์กร โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการดูแลป่า การได้ขึ้นทะเบียนจัดตั้งให้ดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลครั้งนี้  ทุกคนต่างคาดหวังกันว่าจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ชาญพินิจ พันธุ์ยี่ปา ผู้ใหญ่บ้านนาเลาใหม่ บอกว่า การที่มีการประกาศให้ดอยหลวงเชียงดาว เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลนั้นเป็นสิ่งที่ดี

“แต่ปัญหาคือ ณ เวลานี้ ชาวบ้านยังไม่เข้าใจเลยว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑลนั้นคืออะไร ชาวบ้านจะตั้งรับอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่ทุกฝ่าย ต้องมาสร้างกระบวนการร่วมด้วยกัน ให้ป่าอยู่ได้ ดอยหลวงอยู่ได้ คนอยู่ได้ ไม่มีความขัดแย้งกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน”

อีกประเด็นสำคัญ พอเกิดปัญหาฝุ่นควันไฟป่าในพื้นที่ รัฐมักเหมารวมว่าชาวบ้านกลุ่มนี้ ทำลายป่า จนนำไปสู่การออกประกาศให้ปิดโฮมสเตย์ไม่มีกำหนดอีก ซึ่งกระทบต่อรายได้ โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ได้มีประกาศปิดดอยหลวงเชียงดาว ไม่มีกำหนด และจะกลับมาเปิดอีกครั้งจนกว่าจะแก้ไขปัญหาลักลอบเผาป่าบุกรุกล่าสัตว์จัดระเบียบโฮมสเตย์ เพื่อป้องกันความเสียหายพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่สำคัญของประเทศ

26 เมษายน 2567 อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ไฟป่าจนถึงปัจจุบัน (1 ตค. 66 – 25 เมย. 67) พบว่ามีจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์รวมทั้งสิ้น 43,290 จุด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งมีสถิติการเกิดไฟป่าสูงสุดขณะนี้อยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มีจุดความร้อนสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน พบจุดความร้อนสะสมแล้ว 197 จุด

โดยเมื่อ 25 เมษายน 2567 ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าบนพื้นที่ดอยนาง ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว ชุดดับไฟป่าสถานีดับไฟเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จำนวน 3 ชุดปฏิบัติการ พร้อมด้วย สมาชิกอส.อส.เชียงดาวที่ 6 ร่วมบูรณาการกับทีมงานฝ่ายปกครองท้องที่ ต.เมืองงาย ได้เข้าปฏิบัติการควบคุมไฟป่า เพื่อควบคุมไฟในพื้นที่ดอยนาง ตั้งแต่เวลา 21.00 น. โดยมีนายกฤตพล รชตเมธานนท์ นายอำเภอเชียงดาว ผอ.ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อำเภอเชียงดาว พร้อมด้วยปลัดอำเภอ ร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ต่อมา อรรถพล เจริญชันษา ได้ลงนามในประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงวันที่ 26 เมษายน 2567 ประกาศปิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อความสมบูรณ์และความหลากหลายด้านทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่สงวนชีวมณฑล โดยห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าไปในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวโดยมิได้รับอนุญาต ยกเว้นผู้ที่อยู่อาศัยหรือทำกิน ที่ได้มีการสำรวจการถือครองที่ดินไว้ตามมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการลักลอบเผาป่า การบุกรุกพื้นที่ป่า การล่าสัตว์ป่า ตลอดจนการจัดระเบียบที่พัก โฮมสเตย์ และการควบคุมการเข้าออกอย่างเหมาะสม เพื่อให้สภาพธรรมชาติได้ฟื้นฟูระบบนิเวศ และฟื้นตัวจากความเสียหาย โดยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สั่งการให้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยคณะทำงานด้านบังคับใช้กฎหมาย คณะทำงานด้านจัดที่ดินและการใช้ประโยชน์ คณะทำงานด้านฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางที่เหมาะสม สำหรับการบริหารจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวอย่างความเหมาะสม และยั่งยืนต่อไปในอนาคต 

ที่มาภาพ : องอาจ เดชา

บัณรส บัวคลี่  สื่อมวลชนอาวุโส และนักรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ วิเคราะห์ว่า ที่ผ่านมาในช่วงของการเกิดขึ้นของการทวงคืนผืนป่า เคยมีการจับกุมและรื้อถอนโฮมสเตย์ จากนั้นก็มีข่าวการเจรจาและจัดระเบียบหลายรอบ ล่าสุดหลังสงกรานต์ 2567 มีเหตุไฟป่าไหม้หลายจุดในเขตดอยหลวงเชียงดาว จนทำให้มีคำสั่งปิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการจัดระเบียบโฮมสเตย์

ปรัชญาแนวคิดของพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่มุ่งพัฒนาเขตอนุรักษ์อย่างยั่งยืนระหว่างนิเวศกับมนุษย์ มีพื้นที่ Core Zone อนุรักษ์อย่างเข้มข้น พื้นที่กันชน Buffer Zone ที่อนุญาตให้มีกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น รวมถึงพื้นที่เชื่อมโยง Transition Zone คล้ายๆ กับการจัดการมรดกโลก ซึ่งหากใช้กรอบที่ว่ามาสวมเข้ากับสิ่งที่เป็นอยู่จริง ชุมชนหมู่บ้านในเขตป่าน่าจะจัดอยู่ใน Buffer Zone ที่อนุญาตให้ทำกิจกรรมการท่องเที่ยว การพักแรมได้ ภายใต้แนวทางอนุรักษ์ ซึ่งเวลานี้แนวทางดังกล่าวก็ดำเนินอยู่ แต่ยังไม่สุด  กล่าวคือ กรมอุทยานฯ เองก็ยังไม่คลอดกฎหมายลูกระเบียบต่างๆ รองรับสิทธิทำกินหรือประกอบอาชีพตามมาตรา 121 (รับรองสิทธิ) รวมถึงระเบียบปฏิบัติการทำโฮมสเตย์กิจการท่องเที่ยวต่างๆ ที่ทยอยบังคับใช้ ไล่ตามหลังความเติบโตด้านการท่องเที่ยว

“มันจึงเกิดความขัดแย้งขึ้นมาเป็นระยะๆ ตอนที่เจ้าหน้าที่จับกุมไล่รื้อโฮมสเตย์เมื่อปี 2561-2562 ในปีนั้นเกิดไฟป่ามากมายที่ดอยหลวงเชียงดาว ขนาดลามขึ้นยอดดอยซึ่งมันเป็นการสูญเสียใหญ่ของชาติทีเดียว โชคดีที่ไฟไม่ไปทำลายพืชพรรณเปราะบางบนยอด ทำให้สามารถฟื้นคืนกลับมาได้ แต่หากโชคไม่ดี ไฟในครั้งนั้นจะกลายเป็นไฟหายนะที่ทำลายพืชพรรณเฉพาะถิ่นกึ่งหิมาลัยที่มีอยู่แค่แห่งเดียวของประเทศไทยให้หายไปตลอดกาล ไฟที่เชียงดาวมีหลายสาเหตุ ซึ่งก็รวมถึงเคยมีไฟที่แกล้งจุดจากความไม่พอใจ ไฟสะท้อนความโกรธแค้น แม้หลายชุมชนคนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ ก็ยังเกิดมีเด็กดื้อแอบจุดไฟลักษณะที่ว่าเป็นไฟที่ไม่ควรเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไฟที่จุดเพื่อต่อรองโดยใช้ดอยหลวงเชียงดาวเป็นตัวประกัน ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกต่อไป”

บัณรส บอกอีกว่า ภาพอนาคตอำเภอเชียงดาว มีต้นทุนเดิมที่อุดมสมบูรณ์ ในแบบ Ecotourism destinations ระดับโลก แต่ต้องยอมรับว่ายังไปถึงขั้นนั้นไม่ได้เพราะยังติดปัญหาระเบียบขั้นตอนการบริหารจัดการภายใน ทั้ง ททท. ทั้งจังหวัดก็อยากพัฒนา ทั้งปรัชญาของพื้นที่สงวนชีวมณฑล ก็อยากเห็นการเชื่อมโยงแหล่งอนุรักษ์กับเศรษฐกิจยั่งยืนซึ่งก็ไม่หนีไปจาก Ecotourism และเศรษฐกิจสีเขียว จนบัดนี้ เป้าหมายร่วมกันของแต่ละฝ่ายยังไม่เกิดขึ้น สมควรที่จะต้องให้เกิดมี Master Plan ขึ้นมาสักแผนหนึ่ง ที่ฉายภาพร่วมกันให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในเขตพื้นที่มองเห็นด้วย ไหนๆ ก็ได้ตราของ UNESCO มาแล้ว ไปต่อให้ถึงเป้าหมายพื้นที่ท่องเที่ยวสีเขียวเชิงอนุรักษ์ระดับโลกเลยไหม?  ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจสังคมวิถีชีวิตโดยรวมเท่านั้น เศรษฐกิจชุมชนระดับชาวบ้านอาจจะแก้ความขัดแย้งดั้งเดิม รวมถึงปัญหาไฟเกษตร ไฟป่า ไฟลักลอบ ไฟขัดแย้ง ได้ด้วย

กรมอุทยานฯ ชุมชน – ท้องถิ่น ลงนามเสนอมาตรการป้องกันไฟป่า และจัดระเบียบที่พักผู้ศึกษาธรรมชาติ ก่อนอนุญาตให้เปิดโฮมสเตย์อีกครั้ง

ด้วยเหตุนี้เอง กรมอุทยานฯ ได้ใช้มาตรการเข้มงวดขั้นสูงสุดประกาศปิดพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เนื่องจากมีการลักลอบจุดไฟเผาป่า ปัญหาที่พักโฮมสเตย์ที่เรื้อรัง ปัญหาการบุกรุกป่าที่เกิดขึ้นหลังปี 2554 ส่งผลให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไข แต่ยังมีเพียงบางกลุ่มที่ยังมีพฤติกรรมกระทำความผิด จึงต้องมีมาตรการทางกฎหมาย 

เอนก อรุณโชติกาญจน์  ชาวบ้านนาเลาใหม่ และผู้ประกอบการโฮมสเตย์บ้านหมอกอรุณ อธิบายว่า เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ได้อนุญาตอย่างเป็นทางการ แต่ผ่อนผันให้เปิดชั่วคราว ซึ่งตอนที่ประชุมนั้น ตนไม่กล้าจะเสนอความเห็นอะไรมาก แต่ถ้าเป็นได้ตนอยากเรียกร้องให้เหมือนที่ผ่านมา เพราะปกติ ชาวบ้านที่ทำโฮมสเตย์จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปี หลังจากนั้น ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ก็จะเป็นช่วงเฝ้าระวังไฟป่าในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเป็นช่วงปรับปรุงซ่อมแซมโฮมสเตย์ไปด้วย หลังจากนั้น ก็จะเริ่มเปิดบริการที่พักตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีต่อไป แต่การประกาศห้ามเปิดโฮมสเตย์ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน

“เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านก็ไม่ได้ไปทำอะไรที่ผิดกฎระเบียบหรือบุกรุกป่าอะไรแล้ว พอเกิดไฟป่าไหม้รอบๆ ตีนดอย เราก็ไปช่วยกันจัดการดับไฟไม่ให้ลุกลามขึ้นไปบนดอย การทำโฮมสเตย์เราก็ทำกันในภายหมู่บ้าน ไม่ได้ไปกระทบอะไรกับพื้นที่ป่า ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งที่ดีเสียอีก ที่ชาวบ้านไม่ต้องไปทำไร่หรือบุกเบิกพื้นที่ทำกินกันเพิ่ม ถ้าสังเกตดูพื้นที่รอบๆ จะเห็นว่าตอนนี้ ชาวบ้านมีการลดพื้นที่ทำไร่ไปแล้วประมาณ 80%  เพื่อมาทำโฮมสเตย์ และมีรายได้ตรงนี้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อเจ้าหน้าที่ ทำให้พื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นสีเขียว ป่าฟื้นขึ้นมาเองตามธรรมชาติ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ชาวบ้านเปิดโฮมสเตย์ให้เป็นปกติต่อไป ไม่ต้องมาปิดๆ เปิดๆ แบบนี้อีก”

ด้าน อะลูมิ บอกเล่าเพิ่มเติมกับประเด็นนี้ว่า  ในที่ประชุมร่วมกันที่ผ่านมา ตนถือเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สมมติว่าเกิดเหตุการณ์ไฟป่าไหม้บนดอยอีก เจ้าหน้าที่เขาก็นำเป็นข้ออ้างและมีคำสั่งปิดโฮมสเตย์กันอีก การผ่อนผันให้เปิดโฮมสเตย์รอบนี้ ก็อนุญาตไปจนถึงกุมภาพันธ์เท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้น เราก็ไม่รู้สถานการณ์ว่ายังไงต่อไป 

“ประเด็นปัญหาตอนนี้คือ ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่มักเอาเรื่องไฟป่ามาเป็นข้ออ้าง ซึ่งที่ผ่านมา กรณีเกิดไฟป่าไหม้ส่วนใหญไฟมันไหม้ลามมาจากพื้นที่อื่น แต่ชาวบ้านก็ช่วยกันดับไฟป่ากันอยู่แล้ว อย่างปีทีแล้ว ไฟไหม้แถวดอยนาง พอไฟไหม้จากที่ไหนไม่รู้ แต่ก็มาโทษว่าชาวบ้านนาเลาใหม่ รวมไปถึงคนข้างล่างก็ชอบเหมารวมว่าเป็นเพราะคนบ้านเรา สุดท้ายก็ประกาศปิดโฮมสเตย์  ตอนนี้ พอเกิดเหตุกาณ์อะไรขึ้นมา ไม่ว่าไฟป่า หรือน้ำท่วม ทุกคนก็มักโทษแต่คนดอย อะไรๆ ก็กล่าวหาคนดอยว่าเป็นตัวการ พอน้ำท่วม ก็บอกคนดอยตัดไม้ทำลายป่า พอไฟไหม้ ก็บอกคนดอยเผาป่า คือยังคงมีอคติต่อพี่น้องชนเผ่ากันอยู่เหมือนเดิม” 

ส่งผลให้วันที่ 10 สิงหาคม 2567 กรมอุทยานฯ มีการจัดประชุมร่วมกับฝ่ายปกครอง และท้องถิ่นในอำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง รวมไปถคงคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ที่ทุกฝ่ายเห็นชอบตามข้อตกลงร่วมกันกำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติ ได้แก่ 1.การจัดการไฟป่า การจัดการพื้นที่บุกรุกใหม่หลังปี 2557 การจัดระเบียบที่พักผู้ศึกษาธรรมชาติ 2.การจัดการไฟป่า ขอให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการป้องกันไฟป่า โดยเฉพาะพื้นที่ทำกินที่ติดกับป่าให้ทำแนวกันไฟ หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามกฎระเบียบชุมชน 3.การจัดการพื้นที่บุกรุกหลังปี 2557 จะมีมาตรการแนวทางในการคืนพื้นที่ และฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม 4.การจัดระเบียบที่พักผู้ศึกษาธรรมชาติ ในระยะเร่งด่วนทุกฝ่ายเห็นชอบไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนรายของผู้จัดหาที่พักและจำนวนบ้านพัก จนกว่าจะมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งทุกฝ่ายได้ให้ความเห็นชอบและร่วมกันลงนามในบันทึกความร่วมมือดังกล่าว

เหตุการณ์คลี่คลาย โฮมสเตย์ฟื้นคืนมา ผ่านกลไกชาวบ้าน ตั้งกติกาชุมชนร่วมกัน

หลังการล็อคดาวน์โควิด-19 ถูกยกเลิก ทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน เริ่มผ่อนคลายลง ทำให้โฮมสเตย์ฟื้นตื่นขึ้นมาอีกครั้ง อะลูมิ  ยังบอกอีกว่า ปัญหาทุกอย่างกำลังคลี่คลายลง และชาวบ้าน ชุมชนเริ่มเข้มแข็งมากขึ้น 

“ตอนนี้ ความขัดแย้งของชาวบ้าน เริ่มลดลง ถกเถียงโต้แย้งกันในที่ประชุมแล้วก็จบ ไม่ชวนกันทะเลาะขัดแย้งกันข้างนอกอีกแล้ว ถือว่า ทุกคนได้บทเรียน เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เข้าใจกันแล้ว ไม่ต้องไปฟังเสียงยุแหย่จากคนข้างนอกเหมือนที่ผ่านมา ตอนนี้ชาวบ้านสามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหาภายในชุมชนกันได้แล้ว”

และ ชาญพินิจ ยังบอกต่อว่า เราต้องการให้ชาวบ้านทุกคน ทำมาหากินกันอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม จึงมีการประชุมหมู่บ้าน เพื่อร่วมกันสร้างกติกาชุมชนกันใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการทำโฮมสเตย์ของชุมชนลีซูบ้านนาเลาใหม่ 

“มติในที่ประชุมชาวบ้าน ให้ตั้งราคาค่าที่พักในอัตราเท่ากัน คือ ที่พักแบบบ้านหรือห้องพัก ให้คิดในราคาคนละ 650 บาท รวมอาหารเช้า และที่พักแบบเต็นท์นอน ให้คิดในราคาคนละ 550 บาท ถ้าเจ้าของโฮมสเตย์จะลดราคาต่ำกว่า ก็แล้วแต่ลูกค้ากับเจ้าของจะคุยกัน แต่ห้ามตั้งราคาเกินที่กำหนดไว้ ที่สำคัญคือให้มีการหัก 20 บาทต่อคน เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปเข้ากองทุนหมู่บ้าน เพื่อจะได้นำเงินก้อนนี้ไปช่วยกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน และสนับสนุนเรื่องการจัดการไฟในพื้นที่”

ภาพการประชุมหมู่บ้านเรื่องการบริหารกองทุนหมู่บ้าน ของกลุ่มผู้ประกอบการโฮมสเตย์ 

และล่าสุด เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2567  ในที่ประชุมหมู่บ้านเรื่องการบริหารกองทุนหมู่บ้าน ของกลุ่มผู้ประกอบการโฮมสเตย์ ซึ่งทุกคนเข้าใจและพร้อมให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี

“จากการเริ่มเปิดโฮมสเตย์ ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.-10 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา เราได้รับเงินจากการหักจากรายได้ 20 บาทต่อหัวต่อคน ก็ได้เงินประมาณ 50,000 บาท ซึ่งในที่ประชุมหมู่บ้าน มีมติกันครั้งนี้ว่า ให้นำเงินส่วนหนึ่งมาปรับปรุงซ่อมแซมถนนในหมู่บ้าน อีกส่วนหนึ่ง ก็จะเก็บไว้สำหรับกองทุนเฝ้าระวังไฟป่ารอบดอยหลวงกันต่อไป”

เรียนรู้ ปรับตัว กับโลกสมัยใหม่ ให้วิถีลีซูอยู่คู่กับการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน

ทุกวันนี้ อะลูมิ ตัดสินใจปรับลานหน้าบ้าน ให้กลายเป็นร้านอาหาร ของฝาก ร้านกาแฟ และจุดชมวิว เพื่อพยายามเรียนรู้และปรับตัว ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอด จึงได้ชวนพี่ๆ น้องๆ มาช่วยกันทำ ‘น้ำพริกลีซูนรก’ ขายในออนไลน์ สร้างรายได้ในระดับหนึ่ง

“เราใช้ล่าจวึ๊…เป็นพริกพันธุ์พื้นเมืองของลีซูดั้งเดิม จะมีเมล็ดอวบอ้วน เผ็ดไม่ธรรมดา ชาวบ้านจะปลูกไว้ตามบ้าน ตามไร่ ตามสันดอย เราเอามาทำ ‘ล่าจวึ๊ลูลู๊’ หรือน้ำพริกคั่วน้ำพริกนรกกินกันอยู่แล้ว ต่อมา เราทำน้ำพริกให้ลูกค้าที่มาพักโฮมสเตย์ แล้วลูกค้าชอบ ติดใจน้ำพริก ขอซื้อนำกลับไปบ้าน จากนั้น ก็จะมีลูกค้าประจำ สั่งซื้อจากเราทางออนไลน์ เราแพ็คใส่กระปุก จัดส่งให้ทางไปรษณีย์ได้ทั่วประเทศ”

‘ล่าจวึ๊ลูลู๊’ หรือน้ำพริกคั่วลีซู

อะลูมิ บอกย้ำว่า ตอนนี้ชาวบ้านมีความฝันร่วมกันว่า ถ้าเป็นไปได้ เราอยากให้ชุมชนของเราเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เพราะที่ผ่าน เราเจอกับวิกฤติปัญหามากมาย ทั้งปัญหาภายในชุมชนเอง และปัญหาจากคนภายนอก จากภาครัฐด้วย

เมล็ดถั่วลายเสือ

“มาถึงตรงนี้ เรามีกติกาชุมชนแล้ว ก็อยากให้พี่น้องชนเผ่าลีซูร่วมกันคิดเรื่องการท่องเที่ยวว่าทำอย่างไรให้มีความยั่งยืนจริงๆ ซึ่งในส่วนตัว อยากจะทำปฏิทินการท่องเที่ยวในชุมชนตลอดทั้งปี ว่าในแต่ละเดือน ชุมชนเรามีประเพณีวัฒนธรรมดีๆ อะไรบ้าง ที่จะนำเสนอให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเที่ยวชมกันตลอดทั้งปี”

ที่มาภาพ :องอาจ เดชา

อะลูมิ ยังบอกอีกว่า ในอนาคตอยากจะมี ‘ตลาดชุมชนคนลีซู’ โดยเปิดโอกาสให้พี่น้องลีซูทั้งหย่อมบ้านฟ้าสวย นาเลาเก่า นาเลาใหม่ นำผลผลิตการเกษตร พืชผัก ผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งทุกคนปลูกไว้กินในไร่กันอยู่แล้ว อย่างเช่น ข้าวไร่ข้าวดอย พริก ฟักเขียว ฟักทอง แตงกวา น้ำพริก รวมไปถึงเสื้อผ้า ถุงย่าม เครื่องดนตรีชนเผ่า ของดีๆ เหล่านี้เรามีอยู่แล้ว สามารถนำมาวางขายในตลาดชุมชนได้

ทั้งหมดคือทางออก หนทางความหวังของชาวบ้านลีซูนาเลาใหม่ ดอยหลวงเชียงดาว รวมไปถึงนโยบายรัฐ และความขัดแย้งที่รอการแก้ไขคลี่คลายไปในทางที่ดีและยั่งยืนต่อไป

มีความหวังแต่ยังหวั่น ชีวิตเหมือนอยู่บนเส้นด้าย เมื่อรัฐแอบดัน 2 พ.ร.ฎ.ให้ป่าปลอดคน! 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจาก “พ.ร.ฎ.ป่าอนุรักษ์” ได้มีการรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลแพทองธาร หยุดผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกาป่าอนุรักษ์เข้า ครม. เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจะทำให้มีประชาชนที่อยู่ในเขตป่าถูกไล่ออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก เพราะเนื้อในที่ซ่อนอยู่ของตัวบทกฎหมายสองตัวนี้คือให้ “ป่าปลอดคน”

อาลูมิ บอกเล่าด้วยสีหน้าวิตกกังวลว่า นี่เป็นกฎหมายลูกที่เขาต้องการบีบบังคับชนเผ่าทางอ้อม ให้เอาคนออกจากป่าเลย และบังคับให้คนอยู่กับป่าผิดตลอดเวลา 

“มันเหมือนกับกฎหมายตัวนี้มันคุ้มครองสัตว์ แต่ไม่ได้คุ้มครองคนที่อยู่ในป่าเลย ถ้าเอามาใช้จริง มันจะทำลายคนดอยหมดเลย ไม่มีผลดีสำหรับคนในป่าเลย ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว บ้านนาเลาใหม่ ปัญหาเรื่องโฮมสเตย์นี้ ก็จะเป็นเรื่องเล็กไปเลย เพราะกฎหมายตัวนี้มันจะทำลายวิถีชุมชนดั้งเดิมทั้งหมด ตอนนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้ข่าวนี้ แต่สำหรับเราพร้อมที่จะลงไปประท้วงคัดค้านอย่างแน่นอน”

ในขณะที่ชีวิตยังต้องสู้ต่อไป ยังมีความหวัง แต่ลึกๆ ข้างใน อาลูมิก็ยังรู้สึกหวั่นๆ ในความไม่แน่นอนของวิถีคนอยู่กับป่า 

“ชีวิตคนดอยของพวกเรานั้นเหมือนอยู่บนเส้นด้าย มันไม่มีอะไรแน่นอน ไม่รู้ว่าจะขาดเมื่อใด เพราะต้องขึ้นอยู่กับข้อระเบียบกฎหมายหรือนโยบายรัฐว่าจะออกคำสั่งมาอย่างไรอีก จะกระทบพี่น้องเราอย่างไรอีก”

ข้อมูลและอ้างอิง

‘คนแป๋งเมืองเชียงใหม่’ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ทวงถามความคืบหน้ากรณีที่ดินในจังหวัดเชียงใหม่

13 ธันวาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายคนแป๋งเมืองเชียงใหม่ ได้มีการยื่นหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง ติดตามความคืบหน้าที่เครือข่ายคนแป๋งเมืองตั้งแต่ปี 2562 เรื่องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย โดยมีเนื้อหาดังนี้

สืบเนื่องจากทางเครือข่ายคนแป้งเมืองเป็นเครือข่ายที่รวมตัวจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคงริมคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขาในเขตเมือง ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยมาระดับหนึ่งแล้ว ที่ผ่านมาทางเครือข่ายคนแป้งเมืองมีการประสานงานไปยังทางพัฒนาสังคมจังหวัดเชียงใหม่ในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งที่ดินใหม่และที่ดินเดิมมาระยะหนึ่ง แต่ทางเครือข่ายคนแป๋งเมืองไม่ทราบถึงความคืบหน้า 3 เรื่อง คือ

1.กรณีที่ดินใหม่ ทางเครือข่ายคนแป้งเมืองขอทราบความคืบหน้าการขอใช้ที่ดินหนองเขียว

2.กรณีพื้นที่รูปธรรมของชุมชนหลังแขวงเม็งราย ที่เริ่มจากการขับเคลื่อนงานบ้านมั่นคงที่จะขอเช่าในที่ดินเทศบาล ที่ปัจจุบันโครงการยังไม่ได้เริ่มดำเนินการเลย

3.กรณีชุมชนลอยเคราะห์ที่ไม่ได้ต่อสัญญาเช่าที่ดินจากเทศบาลโดยเฉพาะในส่วนของ 10 หลังที่ไม่ได้ถูกต่อสัญญาเช่า ซึ่งทางเครือข่ายฯ ได้ลงไปหารือกับหลังที่ไม่ได้ถูกต่อสัญญาเช่า จะขอขยับออกจากชุมชนเดิมและย้ายไปยังที่ดินใหม่ร่วมกับเครือข่ายฯ แต่ที่ดินใหม่ยังไม่เห็นความคืบหน้าทางชุมชนจึงขอให้ทางเครือข่ายฯประสานงานกับทางท่านเจรจากับทางเทศบาลฯ

จาก 3 ข้อนี้ ทางเครือข่ายคนแป๋งเมืองอยากทราบความคืบหน้าเพื่อที่จะได้แจ้งให้กับทางสมาชิกที่เข้าร่วมกับเครือข่ายคนเป็งแป๋งเมือง ได้เข้าใจและมีความหวังในเรื่องที่อยู่อาศัยของตนเองได้ จึงขอความอนุเคราะห์จากท่านมา ณ ที่นี่ด้วย

โดยการทวงถามความคืบหน้าในครั้งนี้มีสมาชิกเครือข่ายคนแป๋งเมืองเชียงใหม่เข้าร่วมประมาณ 30 ชีวิต และในเวลา 11.30 น. มีตัวแทนจาก ศูนย์ดำรงธรรม, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.), สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ ,สหกรณ์ออมทรัพย์กรมที่ดิน และ กรมธนารักษ์ เข้ามารับหนังสือจากเครือข่ายฯ เพื่อนำไปประสานงานกันต่อ

“เรามาตรงนี้ไม่ได้สร้างความวุ่นวาย เรารอท่านถึงสามปี ท่านได้อ่านได้ดูที่เราเสนอไปหรือยัง ท่านจะช่วยเหลือเรายังไงต่อ เราจะรอตรงนี้จนกว่าจะมีคนออกมารับหนังสือ เราอยากให้คนรับรู้เรื่องราวของเราเยอะๆ อยากได้ความชัดเจนที่ท่านรับหนังสือไปแล้วท่านทำยังไง แล้วที่บอกกับเราว่าติดขัด ติดเรื่องอะไรเราต้องการชี้แจง” หนึ่งในสมาชิกคนแป๋งเมือง กล่าว

“คงจะดีถ้าฟรีแลนซ์มีกฎหมายคุ้มครองบ้าง” จดหมายเปิดผนึกหนุนแรงงานสร้างสรรค์ ยันแรงงานไม่ใช่เครื่องมือผลิตสินค้า เหตุไม่ได้ค่าจ้างแถมโดนฟ้อง

เรื่อง: กองบรรณาธิการ

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา SYNC SPACE, สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (CUT) และเครือข่ายแรงงานสร้างสรรค์ ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก เรื่องการสนับสนุนแรงงานสร้างสรรค์ ที่ไม่ได้รับค่าจ้างและถูกฟ้องดำเนินคดีโดยนายจ้าง

จดหมายเปิดผนึก จากเครือข่ายแรงงานสร้างสรรค์ เรื่อง การสนับสนุนแรงงานสร้างสรรค์ ที่ไม่ได้รับค่าจ้างและถูกฟ้องดำเนินคดีโดยนายจ้าง

เรียน สาธารณชน ผู้สนับสนุนงานศิลปะวัฒนธรรม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทุกท่าน

ในนามของ SYNC SPACE, สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (CUT) และองคาพยพ ซึ่งล้วนแต่เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของแรงงานนักสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะ ค่าแรง สวัสดิการ และความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานในระหว่างการทำงาน รวมไปถึงกลุ่มเพื่อนในเครือข่ายนักสร้างสรรค์ และผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ครีเอทีฟสเปซในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และต้องการการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม

เรามีความกังวลอย่างยิ่งต่อกรณีของกลุ่มนักสร้างสรรค์ ที่ได้รับจัดทำนิทรรศการที่มีเนื้อหาจากภาพยนตร์ชื่อดังบนพื้นที่ครีเอทีฟสเปซแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งยังไม่ได้รับค่าจ้างจากการทำนิทรรศการดังกล่าว แม้ว่านิทรรศการนี้จะถูกเปิดสู่สาธารณะชนมามากกว่า 1 เดือนแล้วก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการดำเนินคดีทางกฎหมายกับบุคคลที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน

เราขอยืนยันในหลักการพื้นฐานของความยุติธรรม และสิทธิแรงงาน ดังนี้ 

1. การจ่ายค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม ผลงานสร้างสรรค์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่า ไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้แก่นายจ้างหรือผู้ว่าจ้างเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความทุ่มเทของแรงงานสร้างสรรค์ที่ควรได้รับการตอบแทนอย่างสมเหตุสมผล และตรงเวลา การค้างค่าจ้างหรือการเพิกเฉยต่อความรับผิดชอบในส่วนนี้เป็นการกระทำที่ไม่สมควร 

2. การใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม การใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อกลั่นแกล้ง หรือกดดันแรงงานสร้างสรรค์ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการริดรอนเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งขัดต่อหลักการจริยธรรมในสังคมที่ให้ความสำคัญกับความเป็นประชาธิปไตย

3. การส่งเสริมความยั่งยืนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หากผู้ว่าจ้างยังคงละเมิดสิทธิแรงงาน และยังไม่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตการทำงานของแรงงานอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของแรงงานและทำให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ทางเครือข่ายแรงงานสร้างสรรค์ ได้มีข้อเสนอดังนี้

1.ขอให้นายจ้างที่เกี่ยวข้องจ่ายค่าตอบแทนที่ค้างชำระโดยเร็วที่สุด และยุติการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน

2.เชิญชวนองค์กรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และประชาชนที่สนับสนุนงานศิลปะร่วมลงชื่อสนับสนุนกลุ่มแรงงานในกรณีนี้ เพื่อแสดงพลังสังคมในการเรียกร้องความยุติธรรม และร่วมกันไม่สนับสนุนนายจ้างที่กระทำการละเมิดสิทธิแรงงานเพื่อยกระดับวงการให้ดีขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่

เราขอยืนยันว่าแรงงานสร้างสรรค์ไม่ใช่เพียงเครื่องมือในการผลิตสินค้า แต่คือผู้สร้างคุณค่าและตัวตนของสังคมผ่านผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจและขับเคลื่อนวัฒนธรรม เราขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันผลักด้นให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เป็นธรรม และยั่งยืนสำหรับทุกคน

“คงจะดีถ้าฟรีแลนซ์มีกฎหมายคุ้มครองบ้าง” คุยกับแรงงานสร้างสรรค์หลังไม่ได้รับค่าจ้าง-ถูกดำเนินคดี

จากจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว Lanner ได้ติดต่อพูดคุยกับ มณฑิรา คำสอน ตัวแทนจาก SYNC SPACE และ มาริสา (นามสมมุติ) ตัวแทนจากทีมงานผู้จัดทำนิทรรศการในประเด็นดังกล่าว มาริสาเผยว่าในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เธอและเพื่อนอีก 3 คนถูกว่าจ้างให้ออกแบบและจัดทำนิทรรศการซึ่งมีเนื้อหามาจากภาพยนตร์ชื่อดัง บนพื้นที่สถานประกอบการแห่งหนึ่งในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยระหว่างการทำงานทางทีมของมาริสาได้มีปัญหาในการทำงานกับทีมผู้ว่าจ้างอยู่หลายครั้ง ซึ่งเธอมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาดรวมไปถึงวิธีการในการทำงานที่ต่างกัน ส่งผลให้การดำเนินงานไม่ราบรื่น อีกทั้งในช่วงการติดตั้งนิทรรศการเป็นช่วงที่เกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้การเดินทางยากลำบากมากขึ้น อย่าง น้ำท่วม และดินสไลด์ ด้วยสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมและระยะเวลาในการทำงานที่กระชั้นชิด ส่งผลให้การทำงานมีความลำบากมากขึ้น

แต่กระนั้นเอง มาริสา เล่าว่า เธอและทีมงานก็ได้ทำการส่งมอบนิทรรศการให้กับทางร้านทันตามกำหนดการโดยเธอได้ให้เงื่อนไขในการแก้ไขชิ้นงานให้ไวที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งหลังจากนั้นทางผู้ว่าจ้างก็ได้ให้แก้ไขชิ้นงาน ซึ่งเธอและทีมงานก็รีบแก้ไขงานไม่กี่วันหลังจากนั้น แต่เกิดปัญหาขัดข้องทางเทคนิคที่เกินความสามารถของทีม โดยทางทีมจึงได้ทำการขอโทษ ยอมรับในข้อผิดพลาด และเสนอให้มีการหักเปอร์เซ็นต์จากค่าจ้าง ซึ่งขณะนั้นทางร้านมีท่าทีบ่ายเบี่ยงค่าจ้างในส่วนที่ต้องชำระ โดยอ้างว่ารายละเอียดงานไม่เป็นไปตามตกลง แม้จะมีการส่งจดหมายทวงถามก็ไม่เป็นผล โดยทางร้านยังคงทำการเปิดนิทรรศการสู่สาธารณะ และโปรโมทนิทรรศการอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การส่งมอบครั้งแรก

กิจกรรมวันแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 

ในช่วงนั้นเองมีบุคคลที่รับรู้ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ถึงปัญหาที่มาริสา และทีมงานพบเจอในระหว่างการทำงาน ซึ่งหนึ่งในทีมงานก็ได้เข้าไปแสดงความเห็นเพิ่มเติม ทำให้บุคคลทั้งสองถูกทางทีมผู้ว่าจ้างฟ้องร้องดำเนินคดีในภายหลัง พร้อมเรียกค่าเสียหายกว่า 5 แสนบาท พ่วงด้วยคดีทางอาญาอีก 1 คดี และปัจจุบันระยะเวลาล่วงเลยมาเกือบ 2 เดือน ทางทีมของมาริสา ก็ยังไม่ได้รับค่าแรงจากการทำงานดังกล่าวในส่วนที่เหลือ และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าทนายความเพื่อสู้คดีที่ถูกทางทีมผู้ว่าจ้างฟ้องร้องอีกด้วย

“อยากชวนทุกคนมาสร้างนิเวศการทำงานในวงการสร้างสรรค์ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ อยากให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างด้วยความเป็นมนุษย์ ไม่มองว่าเป็นแค่เครื่องจักรผลิตสินค้าตามสั่ง”

ด้าน มณฑิรา คำสอน ตัวแทนจาก SYNC SPACE  ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่ควรจะเกิดเรื่องแบบนี้กับแรงงานคนใดก็ตาม โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ หรือฟรีแลนซ์ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนทำงานที่ต้องแบกรับความเสี่ยงสูง และไม่มีกฎหมายแรงงานคุ้มครอง การทำงานลักษณะดังกล่าวในทางกฎหมายจะถูกจัดอยู่ในลักษณะการจ้างทำของ หากเกิดเหตุการณ์ที่นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เช่นกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง สิ่งที่คุ้มครองแรงงานเหล่านี้มีเพียงสัญญาจ้างเท่านั้น ซึ่งถ้าหากสัญญาจ้างถูกเขียนอย่างไม่รัดกุมมากพอก็จะเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ถูกแรงงานนอกระบบถูกเอาเปรียบได้ 

มณฑิรา เสริมอีกว่าการได้มาซึ่งความเป็นธรรมของลูกจ้างที่ตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว ก็จะอยู่ในลักษณะการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย และแน่นอนว่าแรงงานเหล่านี้จะเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการด้านคดี เช่น ค่าทนาย ค่าเอกสาร ค่าเดินทาง และอื่นๆ ต่างจากแรงงานในระบบที่สามารถร้องเรียนได้ที่กรมสวัสดิการ คุ้มครองแรงงาน และศาลแรงงาน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการดำเนินการ 

นอกจากนี้ มณธิรา ยังเสริมในเรื่องของการฟ้องร้องอีกรูปแบบที่มักจะเกิดขึ้นควบคู่ กับการละเมิดสิทธิลูกจ้างนั่น คือการ SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘คดีปิดปาก’ มีวัตถุประสงค์กลั่นแกล้ง หรือสร้างภาระให้กับลูกจ้างที่ออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงาน หรือเปิดโปงความจริง โดยการฟ้องคดีไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รับความยุติธรรมตามกฎหมาย แต่เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ‘ปิดปาก’ ลูกจ้างที่แสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ ให้หยุดพูด อย่างในกรณีข้างต้น เธอมองว่ากระบวนที่ผู้ว่าจ้างทำนั้นเข้าข่ายของการ SLAPP เพราะมีการเรียกค่าเสียหายที่นับว่าสูงมาก พ่วงด้วยคดีอาญาซึ่งมีโทษสูงสุด คือการติดคุก 

“คงจะดีถ้าแรงงานฟรีแลนซ์มีชุดกฎหมายคุ้มครอง หรือมีหน่วยงานรัฐที่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมบ้าง”

ข้อเสนอต่อรัฐ-พรรคการเมืองจากแรงงานสร้างสรรค์

ปัจจุบันมีองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาในประเด็นสิทธิแรงงานนอกระบบอยู่หลายองค์กร อาทิ สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ แห่งประเทศไทย (CUT) และสหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่ ซึ่งล้วนเป็นองค์กรอิสระ หรือภาคประชาสังคมทั้งสิ้น แต่หากมองในแง่ของความยั่งยืน และความต่อเนื่องก็อาจไม่เท่ากับหน่วยงานที่ถูกจัดตั้งดูแลโดยรัฐ ที่มีทุน ทรัพยากรในการทำงานมาลงทุกปี

โดยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ ได้จัดกิจกรรม “CUT! ทุกปัญหา: เสียงจากแรงงานสร้างสรรค์ สู่นโยบายเพื่ออนาคต” เพื่อรวบรวมปัญหาและประสบการณ์ในการทำงานของ สมาชิกสหภาพฯ ในการรูปแบบข้อเสนอต่อนโยบายแก่พรรคการเมืองทั้งหมด 6 ข้อ (อ่านฉบับเต็ม) ดังนี้ 

1. 100 บาท ประกันสังคมถ้วนหน้า

ในปัจจุบัน ระบบประกันสังคมรายมาตรา 3 มาตรา (ม. 33 คนงานในระบบ, ม. 39 คนงานเคยอยู่ในระบบ, และ ม. 40 คนงานนอกระบบ) ให้สิทธิประโยชน์แตกต่างกันตามอัตราสมทบตามความเชื่อบรรษัทนิยม ดังนั้น CUT เสนอว่า มนุษย์ทุกคนในวัยทำงานที่ยื่นภาษีให้ได้รับการคุ้มครองโดยประกันสังคมถ้วนหน้านี้ โดยมีหลักการเหมือนสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

2. ค่าแรง 1,000 บาท

จากการศึกษาศึกษาและสำรวจค่าครองชีพเพื่อยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำและมาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีคุณค่า จากกลุ่มตัวอย่าง 1,225 คน โดยคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 พบว่ามีแรงงานร้อยละ 65 ที่ต้องทำงานถึง 41-48 ชม./สัปดาห์ มีการทำงานล่วงเวลา 10-19 ชม./สัปดาห์เป็นร้อยละ 49.7 และร้อยละ 36.3 ยังมีเวลานอนหลับพักผ่อนเพียง 6 ชั่วโมง ซึ่งการทำงานที่มากไปอาจกระทบต่อปัญหาสุขภาพ

เพื่อแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทางสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ (CUT) ขอเสนอนโยบายค่าแรง 1,000 บาทให้กับแรงงานในประเทศไทย

3. สร้างพื้นที่ สร้างโอกาสเข้าถึง ความสร้างสรรค์

ในประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่างานสร้างสรรค์มักถูกมองเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยและรายได้ต่ำ ทางแรงงานสร้างสรรค์มองเห็นความจำเป็นถึงการที่กระตุ้นโอกาสการเข้าถึงงานสร้างสรรค์ให้มากขึ้น และเสนอนโยบายที่มอบเงินอุดหนุนรายเดือนจำนวน “2,000 บาท” ให้กับแรงงานสร้างสรรค์ หรือเลือกรับครั้งเดียวเป็นเงินตั้งตัวตอนเรียนจบ “120,000 บาท” รวมถึงการสร้างพื้นที่งานสร้างสรรค์ทุกตำบล

4. รถไฟทุกอำเภอ รถเมล์ทุกตำบล

สร้างระบบขนส่งสาธารณะ สร้างรถไฟ “ทุกอำเภอ” รถเมล์ “ทุกตำบล” ท้องถิ่น บริหารระบบขนส่งสาธารณะ ราง ถนน ด้วยตัวเอง

5. สร้างอำนาจคนงาน ด้วยสหภาพแรงงาน

เพื่อให้แรงงานสร้างสรรค์ทุกคนได้รับสิทธิและการคุ้มครองสิทธิดังกล่าว ทางสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ขอเสนอนโยบาย เปลี่ยน “พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์” เป็น “พ.ร.บ. สหภาพแรงงาน” ให้การรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานเป็นสิทธิ คนงานทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน รวมถึงคนงานข้ามชาติมีสิทธิจัดตั้งและเป็นกรรมการสหภาพแรงงานได้ กรรมการและอนุกรรมการสหภาพแรงงานได้รับการคุ้มครอง

6. ทำงาน 4 วัน หรือ 32 ชั่วโมง/สัปดาห์

เปลี่ยนเวลาการทำงานปกติจาก “6 วัน หรือ 48 ชั่วโมง/สัปดาห์” มาเป็นทำงาน “4 วันหรือ 32 ชั่วโมง/สัปดาห์” โดยที่รายได้เท่าเดิมหรือมากขึ้น

หากดูเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นที่เหล่าแรงงานนอกระบบต้องเผชิญกับปัญหาที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงสิทธิของเหล่าแรงงานนอกระบบในประเทศไทยที่ยังไม่ครอบคลุม การตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการรวมกลุ่มในฐานะแรงงานสร้างสรรค์ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองในการเรียกร้องและผลักดันในด้านกฎหมาย และค่าแรงที่เป็นธรรมก็เป็นหนึ่งในเรื่องเร่งด่วนที่ควรจะได้รับการผลักดันจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสังคมของการทำงานให้เป็นสังคมที่ปลอดภัย และเป็นธรรมกับทุกคน 

เปลี่ยนถนนช้างม่อยให้เป็นมิตรกับคนเดินเท้า ไปกับ Chiang Mai Urban Cyclist เพราะถนนเป็นพื้นที่ของเราทุกคน

เรื่อง: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

กลุ่ม Chiang Mai Urban Cyclist และประชาชนชาวเชียงใหม่ จัดโครงการทดลองเปลี่ยนถนนช้างม่อยให้เป็นมิตรกับคนเดิน โดยการสนับสนุนจาก Chiang Mai City Lab ตั้งแต่วันที่ 7-15 ธันวาคม 2567 บนถนนช้างม่อยเก่า บริเวณชุมชนช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ในกิจกรรมมีการทาสีถนนและติดตั้งสวนหย่อม เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ถนนจากช่องสัญจรของรถยนต์ เป็นพื้นที่สาธารณะที่คนใช้ร่วมกันอย่างเท่าเทียม 

“เราอยากเปลี่ยนถนนช้างม่อยให้คนเดินง่ายขึ้น”

บอส-สิทธิชาติ สุขผลธรรม กลุ่ม Chiang Mai Urban Cyclist เล่าถึงเป้าหมายของการทำโครงการนี้ว่าอยากเปลี่ยนนิเวศถนนช้างม่อยเก่า จากเดิมที่เป็นเพียงทางลัดหรือทางผ่านของรถยนต์ให้กลายเป็นพื้นที่ปลายทางที่ผู้คนมาร่วมใช้เวลาไปด้วยกัน 

“ถ้าเราอยากทำให้คนเดินง่ายขึ้น เราต้องเริ่มจากการเปลี่ยนการรับรู้ของคนก่อน คือทุกคนยังมีความรู้สึกว่าถนนมันต้องเป็นพื้นที่ของรถ คนลงไปเดินยังไม่ได้เลย อย่างนักท่องเที่ยวเวลาเดินบนถนนคนก็จะถามละว่าทำไมไปเดินบนถนน ทำไมไม่เดินบนฟุตบาท แต่ก็ดูสภาพฟุตบาทเชียงใหม่เนอะ ไม่ใช่ว่าจะเดินได้ คือเราไม่ได้บอกว่ารถห้ามผ่านนะ มันผ่านได้ แต่เพราะพื้นที่ตรงนี้มันเป็นพื้นที่ชุมชน มันต้องให้คนเดินมีอภิสิทธิ์ก่อนแล้วรถยนต์ก็ค่อยๆ ผ่านไปได้เหมือนกัน”

บอสยังเล่าอีกว่าจุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากการที่คนในชุมชนช้างม่อยประสบปัญหาเรื่องการจราจรที่แออัดและปัญหาพื้นที่จอดรถที่ไม่เพียงพอต่อนักท่องเที่ยวในชุมชน โดยเขามองว่า ถนนเป็นพื้นที่ของทุกคน ไม่ใช่แค่เฉพาะรถเท่านั้น ถ้าอยากให้คนเดินบนถนนได้ง่ายขึ้น ก็ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนการรับรู้ของคนก่อน

ปัญหาพื้นที่บนท้องถนนไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในเมืองเชียงใหม่ ไม่ใช่แค่ในย่านช้างม่อยเท่านั้น ในยุคที่เชียงใหม่กลายเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้การจราจรหนาแน่นและแออัดมากกว่าเดิม จนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่ถือเป็นปัญหาที่ควรถูกแก้ไขอย่างจริงจัง 

“จริงๆ ปัญหานี้มันเป็นทุกที่ครับ มันเป็นย่านท่องเที่ยวที่เริ่มโต อย่างนิมมานนี่ก็เหมือนกัน เที่ยวในเมืองเชียงใหม่แล้วคนจะมีปัญหาเรื่องที่จอดรถเยอะมากเพราะว่าพื้นที่มันเล็ก มันเป็นเมืองเก่า ถนนมันเล็ก พื้นที่จอดมันก็ไม่ได้เยอะ กลายเป็นว่าที่เชียงใหม่มันมีปัญหาเรื่องการใช้พื้นที่ในเมืองที่ไปให้พื้นที่กับรถมากเกินไป ซึ่งมันไม่ได้ให้ผลประโยชน์กับธุรกิจท้องถิ่นที่ไม่ได้มีต้นทุนสูงมากเท่าไหร่ กับอีกอย่างคือเราไม่ได้มีพื้นที่มากพอขนาดนั้น”

บอส มองว่าการร่วมมือกันของคนในชุมชนเป็นส่วนสำคัญในการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งชาวบ้านในชุมชนช้างม่อยก็แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและมุ่งมั่นในการพัฒนาชุมชนของพวกเขาผ่านการร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาพื้นที่ชุมชนอย่างสามัคคีกัน

“ที่ต้องเริ่มจากขัวแดงเพราะว่าชุมชนเขาพัฒนาพื้นที่ตรงนี้มากขึ้น จากแต่ก่อนที่มันไม่มีใครใช้พื้นที่ตรงนี้ เพราะมันไม่มีอะไร คนไม่มาอยู่ มันไม่มีพื้นที่ให้นั่งกิน ไม่มีพื้นที่กิจกรรม ไม่ใช่แหล่งพบปะของผู้คน แต่ก่อนมันเคยเป็นทางลัดด้วยซ้ำนะ รถมอเตอร์ไซค์ รถตุ๊กๆ คือวิ่งผ่านกันระนาวเลย แต่ชุมชนที่นี่เขาค่อยๆ สร้าง เริ่มติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ เริ่มทาสีตกแต่งภูมิทัศน์ โดยที่ทำกันเองเลยนะ ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากใครเลย พอแล้วประสบความสำเร็จ หน่วยงานรัฐถึงได้เริ่มให้ความสนใจที่จะมาซัพพอร์ต”

นอกจากการทำงานกับคนในชุมชนแล้ว การร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เป็นอีกเรื่องที่มีบทบาทสำคัญในแง่ของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อรัฐอำนวยความสะดวกและมีบทบาทในการช่วยเหลือสนับสนุนชุมชนอย่างตรงจุด ก็จะทำให้ชุมชนนั้นเกิดการพัฒนาได้ง่ายและไวมากขึ้น

“ทำงานกับภาครัฐอะไรที่มันเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ ส่วนใหญ่มันก็จะผ่านเทศบาลเพราะทรัพย์สินมันอยู่ภายใต้ความดูแลของเขา ปัญหาคือ พวกกฎหมายที่หลักๆ มีไว้เพื่อรักษาความสงบ ในแง่หนึ่งมันก็ดีตรงที่ ไม่ใช่ใครจะมาทำอะไรก็ได้ที่มันกระทบคนวงกว้าง แต่ในอีกแง่มันก็ไปตัดความคิดริเริ่มของคนที่อยากทำให้ย่านมันดีขึ้น ซึ่งมันไม่มีช่องให้คน ไม่มีระเบียบให้คนที่อยากลุกขึ้นมาทำได้ กลายเป็นว่าพอคนจะลุกขึ้นมาทำอะไร ส่วนใหญ่คือต้องรู้จักคนใหญ่คนโตก่อน ไปคุยกันแล้วให้เขาสั่งลงมา กับอีกอย่างคือทำไปก่อนเลยแล้วก็ค่อยโดนปรับโดนอะไร พอเขาเห็นว่าทำแล้วมันดีค่อยมาทำตาม”

ปิติ เหลืองเจริญลาภ ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า การเข้าร่วมกิจกรรมเหมือนเป็นการช่วยพัฒนาชุมชน การได้มาเห็นเส้นทางที่มีรูปวาดเยอะๆ ทำให้เขารู้สึกอารมณ์ดี และอยากมีรูปวาดของตัวเองอยู่ในพื้นถนนแห่งนี้ด้วย ถือเป็นการเพิ่มสีสัน และเป็นการผลักดันให้พื้นที่นี้เกิดความสงบ ท่ามกลางความวุ่นวายของถนนข้างนอก

ด้าน ชนัดดา อินสุวรรณ ชาวบ้านในชุมชนช้างม่อย กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ชุมชนย่านช้างม่อย ช่วยทำให้ชุมชนมีความสวยงามมากขึ้น การมีกิจกรรมนี้ทำให้เด็กๆ และผู้ใหญ่ ได้มาร่วมใช้เวลาไปด้วยกัน ช่วยให้คนรักถนน และอยากใช้ถนนมากขึ้น มีคนรู้จักชุมชนนี้มากขึ้น

โดยบอสได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ชุมชนช้างม่อย นั้นเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการทำให้ถนนเป็นมิตรกับคนเดิน จึงอยากให้มีการผลักดันในรูปแบบนี้ในถนนเส้นอื่นๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ เพราะปัญหานี้ไม่ได้มีแค่คนในชุมชนช้างม่อยเพียงเท่านั้นที่ต้องเผชิญแต่เป็นปัญหาของคนทั้งจังหวัดและคนทั้งจังหวัดก็ต้องเห็นภาพร่วมกันว่าหน้าตาของถนนที่ทุกคนอยากให้เป็น จะออกมาหน้าตาแบบไหนภายใต้ข้อจำกัดของผังเมืองที่สวนทางกับประชากรเช่นนี้

ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วงแรกมันกระทบทุกคน เพราะเราก็เป็นเหยื่อของการขยายถนน คนตัดสินมันก็ไม่อยู่ละ แต่เราก็ยังอยู่กับมัน เราก็เป็นเหยื่อเหมือนกันหมด เพราะงั้นเราอาจจะต้องมีภาพของถนนในแบบเดียวกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Chiang Mai Urban Cyclist: ปั่นรถถีบในเชียงใหม่ 

เป็นยุทธวิธีทางการเมือง ‘ชำนาญ จันทร์เรือง’ เผย 2 กรณี หลังนายก อบจ.เชียงใหม่ ประกาศลาออกก่อนครบวาระ 2 วัน

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่าน พิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ ‘สว.ก๊อง’ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ โดยกำหนดให้มีผลในวันที่ 17 ธันวาคม 2567 หรือ 2 วันก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่ง

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พิชัย จะลงรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. สมัยที่ 2 ในนามกลุ่มเพื่อไทยเชียงใหม่ เพื่อสานต่อนโยบายในการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ รวมไปถึงการตอบสนองนโยบายรัฐบาลของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลในการลาออกก่อนครบวาระเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ในการเลือกตั้งนายกฯ และสมาชิก อบจ. 42 เขต ให้พร้อมกัน เนื่องจากหาลาออกก่อนหน้าจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง (เลือกนายกฯ และ เลือก ส.อบจ.) พิชัย ทิ้งท้ายว่าการลาออกก่อนครบวาระเพียง 2 วัน ไม่ได้เป็นการเอาเปรียบคู่แข่ง เนื่องจากไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง

ชำนาญ จันทร์เรือง 

ด้าน ชำนาญ จันทร์เรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านการกระจายอำนาจ ได้ให้ความเห็นกับ Lanner ว่า การยื่นลาก่อนครบวาระ ของ นายก อบจ. เชียงใหม่ และในจังหวัดอื่นๆ ที่บอกว่าเป็นการหลีกเลี่ยงภาระผูกพันที่ต้องชี้แจงค่าใช้จ่ายรวมไปถึงข้อห้ามต่างๆ ที่เข้าข่าย 180 วัน และ 90 วันหากอยู่ครบวาระ ชำนาญ มองเหตุผลดังกล่าวแบ่งได้ออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

กรณีแรก ในเรื่องของข้อกำหนดเรื่องข้อห้ามของการหาเสียงเลือกตั้งในระยะเวลา 180 วันก่อนเลือกตั้ง ที่นายกฯ มีฐานะต้องห้ามเช่นเดียวกับว่าที่ผู้สมัครคนอื่นๆ  กรณีนี้ไม่เกี่ยวกับการใช้งบประมาณของหน่วยงาน แต่เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้เข้าสู่ฤดูกาลหาเสียง และต้องอยู่ในบังคับเรื่องข้อห้ามหาเสียง รวมทั้งการนับเป็นค่าใช้จ่ายที่จะต้องแจ้ง ที่อาจจะเป็นข้อกำหนดในการทำงานของเหล่านายก อบจ. 

กรณีที่สอง การห้ามใช้งบประมาณของ อปท.ในการดำเนินโครงการภายใน 90 วันก่อนการครบวาระ กรณีนี้ ชำนาญมองว่าเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งนายกฯ โดยตรง โดยมีองค์ประกอบความผิดทั้งหมด 2 เงื่อนไข คือ

(1) เป็นโครงการใหม่ ซึ่่งก็คือ การตราข้อบัญญัติตั้งโครงการขึ้นใหม่ และ

(2) เป็นโครงการที่มีลักษณะเป็นการซื้อเสียง  เช่น  โครงการนำ อสม.ไปดูงาน,โครงการแจกของ

ชำนาญ เผยว่ากรณีการดำเนินงานของ นายกฯ ก่อนหมดวาระ 90 วัน จะต้องเข้าทั้ง 2 เงื่อนไขถึงเป็นการผิดกฎหมาย หากขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ยังดำเนินการได้ เช่น ริเริ่มโครงการใหม่ แต่โครงการดังกล่าวเป็นโครงการซ่อมถนน,ก่อสร้างไฟทาง อย่างนี้ก็ทำได้

นอกจากนี้ยังมีข้อยกเว้นที่ซ้อนยกเว้นอีกกรณีก็คือ เข้าเงื่อนไขที่ (2) แต่ยังทำได้ เช่น หากมีเหตุการณ์น้ำท่วมและต้องแจกถุงยังชีพ ก็จะไม่ผิดกฎหมาย

หากมองตัวบทกฎหมายทั้ง 180 วัน และ 90 วัน ก่อนครบวาระเป็นพันธะผูกพันที่เหนี่ยวรั้งการทำงานของเหล่านายก อบจ. ทำให้ต้องลาออกก่อนครบวาระ ชำนาญ ส่งท้ายว่า นายกฯ สามารถทำงานได้ทุกเรื่องตามปกติมีข้อยกเว้นน้อยมาก น้อยจนไม่อาจนำมาอ้างเพื่อการลาออกใกล้ครบวาระได้ ชำนาญมองว่าการกระทำเช่นนี้เป็นยุทธิวิธีทางการเมืองมากกว่า

นอกจากนี้ ในเรื่องการลาออกของ ส.อบจ. ชำนาญทิ้งท้ายว่า การพากันลาออกพร้อมกันโดยอ้างว่าจะให้เลือกตั้งพร้อมกันกับนายกฯ นั้นเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตามมันขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกต. ที่จะกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 60 วัน หลังจากการลาออก ซึ่งอาจจะพร้อมหรือไม่พร้อมกันก็ได้ แต่คาดว่าคงพร้อมกันเพื่อประหยัดงบประมาณและสะดวกในการจัดการ ส่วน ส.อบจ. ถ้าลาออกในระยะเวลาที่สภามีอายุเหลือไม่ถึง 180 วัน ไม่ต้องเลือกตั้งซ่อม ให้เหลือจำนวนเท่าที่มีอยู่ได้เลย

ชายแดนโฟกัส – สรุปสถานการณ์ทางสังคมรอบชายแดน พฤศจิกายน 2567

เมียนมา

การโจมตีทางอากาศของรัฐบาลทหารเมียนมา คร่าชีวิตพลเรือน 540 ราย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่

ที่มาภาพ : RAF

ตามรายงานของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ระบุว่า การโจมตีทางอากาศโดยกองทัพเมียนมาในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2024 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 540 คน โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างกองทัพเมียนมาและกองทัพชาติพันธุ์อาระกัน (AA) ผู้เสียชีวิตในรัฐยะไข่มีจำนวนถึง 159 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ

จากข้อมูลของ AAPP พบว่าอย่างน้อย 109 คน หรือประมาณ 1 ใน 5 ของผู้เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศในช่วงดังกล่าว เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้คนในรัฐยะไข่รายงานว่า การโจมตีทางอากาศจากกองทัพเมียนมาถูกกำหนดเป้าหมายไปที่หมู่บ้านที่มีประชาชนสนับสนุน AA โดยเฉพาะในพื้นที่ทวินดูและท้องอุบ

ทางด้านการประเมินของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เตือนว่า รัฐยะไข่กำลังเผชิญกับภัยพิบัติทางมนุษยธรรมที่ใกล้จะเกิดขึ้น เนื่องจากการจำกัดการนำเข้าสินค้าและการขัดขวางการค้าระหว่างประเทศทำให้ประชากรกว่า 2 ล้านคนในรัฐยะไข่ตกอยู่ในความเสี่ยงจากภาวะอดอยาก โดยคาดว่าในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2025 การผลิตอาหารในรัฐจะสามารถรองรับความต้องการของประชากรได้เพียง 20%

UNDP ระบุว่าเศรษฐกิจของรัฐยะไข่เกือบจะหยุดชะงัก โดยอุตสาหกรรมการเกษตรและการก่อสร้างถูกกระทบอย่างรุนแรง ขณะที่การผลิตข้าวตกต่ำเนื่องจากขาดเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย รวมถึงสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม

ที่มา: RFA, 7/11/2024

ศาลอาญาระหว่างประเทศเร่งออกหมายจับผู้นำทหารเมียนมา กรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา

ที่มาภาพ : RFA 

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ยื่นคำร้องขอหมายจับ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้นำทหารเมียนมา ในข้อหาอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ กรณีการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ปี 2017

อัยการ ICC นายการิม ข่าน เปิดเผยว่า มีหลักฐานน่าเชื่อว่าพล.อ.มิน อ่อง หล่าย มีความผิดในการเนรเทศและการกดขี่ชาวโรฮิงญาจา ระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2024

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ชาวโรฮิงญาจากว่า 740,000 คน ต้องอพยพหนีภัยไปยังประเทศบังคลาเทศ หลังกองทัพเมียนมาโจมตีและเผาทำลายชุมชนโรฮีนจา สหรัฐฯ และนานาประเทศระบุว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

กลุ่มสิทธิมนุษยชนต้อนรับการดำเนินคดีครั้งนี้ โดย โมฮัมหมัด จูไบร์ ประธานสมาคมสันติภาพและสิทธิมนุษยชนโรฮิงญา กล่าวว่า นี่คือข่าวดีสำหรับเรา และหวังว่าจะเปิดทางให้เราสามารถกลับมายังเมียนมาได้

กองทัพเมียนมาปฏิเสธการดำเนินคดี โดยระบุว่า เมียนมาไม่ได้เป็นรัฐสมาชิกของ ICC จึงไม่รับรองคำแถลงนี้

ที่มา: RFA, 27/11/2024

กองทัพไทยกดดัน UWSA ปลดค่ายชายแดน พร้อมเผชิญความท้าทายความมั่นคง

กองทัพไทยได้ออกคำเตือนให้กองทัพรัฐวะ (UWSA) รื้อถอนค่ายทหาร 9 แห่งตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาภายในวันที่ 18 ธันวาคม โดยการเคลื่อนไหวครั้งนี้สะท้อนความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงในภูมิภาค UWSA เป็นกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มีอำนาจมากที่สุดในเมียนมา มีกำลังพลประมาณ 30,000-80,000 นาย และควบคุมพื้นที่รัฐฉาน

พื้นที่ของ UWSA มีชื่อเสียงในด้านการผลิตและค้ายาเสพติด โดยรายงานของหน่วยงานต่อต้านยาเสพติดของไทยระบุว่า ยาเสพติดส่วนใหญ่ที่เข้าสู่ประเทศไทยมาจากพื้นที่ควบคุมของชาววะ ซึ่งสร้างความกังวลอย่างมากให้กับความมั่นคงตามแนวชายแดน

UWSA ต้องการความเป็นอิสระและการปกครองตนเอง โดยในปี 2560 ได้เสนอแบบจำลองสหพันธรัฐที่ให้กองกำลังชาติพันธุ์มีอำนาจควบคุมความปลอดภัยในเขตของตน แต่รัฐบาลเมียนมามองว่าข้อเรียกร้องนี้เป็นภัยคุกคามต่อเอกภาพของชาติ

สถานการณ์ในขณะนี้ค่อนข้างซับซ้อน ไทยพยายามรักษาความสัมพันธ์เชิงทูตกับเมียนมา ขณะเดียวกันก็ต้องจัดการกับปัญหายาเสพติดและความไม่มั่นคงตามชายแดน UWSA ยังคงมีอิทธิพลและยังไม่ยอมลดอาวุธ ทำให้การเจรจาสันติภาพเป็นไปอย่างยากลำบาก

ที่มา : NPNEWS, 02/12/2024

กบฏโกก้างประหารชีวิต 6 คน หลังการพิพากษาสาธารณะในรัฐฉาน

กองกำลังกู้ชาติเมียนมา (MNDAA) ในเขตโกก้างกังทางตอนเหนือของเมียนมา ได้ประหารชีวิตผู้ต้องหา 6 คน หลังการพิจารณาคดีสาธารณะต่อหน้าประชาชนหลายร้อยคน โดยบันทึกเหตุการณ์และเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์

ในวิดีโอที่ดูเหมือนจะผลิตอย่างมืออาชีพ ผู้ต้องหาใส่ชุดกระโดงสีฟ้าถูกอ่านข้อหาเป็นภาษาจีนกลาง ผู้ต้องหาถูกตัดสินในข้อหาต่างๆ อาทิ ฆาตกรรมสามี ฆาตกรรมคนขับรถ และวางแผนฆาตกรรมเจ้าของบริษัทก่อสร้างและก๊าซธรรมชาติ

ผู้ต้องหาอีก 8 คนถูกตัดสินจำคุก 10-20 ปี เหตุการณ์เกิดขึ้นในเขตเลากาย รัฐฉานตอนเหนือ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2024

นักกฎหมายแสดงความกังวลเกี่ยวกับการประหารชีวิตสาธารณะนี้ โดยระบุว่าไม่สอดคล้องกับระบบกฎหมายเมียนมาปัจจุบัน และขัดกับหลักการพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม

ที่มา: RFA, 6/12/2024

ลาว

บริษัทจีนเล็งขยายพื้นที่ทำเหมืองถ่านหินในลาว ชาวบ้านหวั่นไม่ได้รับค่าชดเชย

ที่มาภาพ: RFA

บริษัท Zhongya Yuxi Cement Lao Sole กำลังเจรจากับรัฐบาลลาวเพื่อขอสัมปทานที่ดิน 400 เฮกตาร์ในแขวงสาละวัน เพื่อทำเหมืองถ่านหิน โดยคาดว่าจะลงนามสัญญาในกลางเดือน พ.ย. 2024 นี้

ชาวบ้านในพื้นที่แสดงความกังวลว่าจะไม่ได้รับค่าชดเชยจากการสูญเสียที่ดินทำกิน หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทเคยได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองในพื้นที่ 200 เฮกตาร์ระหว่างปี 2017-2018 และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับค่าชดเชยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่แผนกพลังงานและบ่อแร่แขวงสาละวันระบุว่า ที่ดินดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ โดยรัฐบาลกลางเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในการให้สัมปทานเหมืองถ่านหิน

ที่มา: RFA, 6/11/2024 

IMF เตือนเศรษฐกิจลาววิกฤต หนี้สาธารณะพุ่ง-เงินเฟ้อสูง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานประเมินสถานะทางการเงินของลาว ชี้สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง โดยเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ที่ระดับสูงถึง 25% ขณะที่ค่าเงินกีบอ่อนค่าลงถึง 140% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ม.ค. 2021 ถึง ก.ย. 2024 

แม้หนี้สาธารณะจะลดลงจาก 131% ของ GDP ในปี 2022 เหลือ 116% ในปี 2566 แต่ IMF ระบุว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่ยั่งยืน อีกทั้งยังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานและเงินตราต่างประเทศ รวมถึงทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ

IMF คาดการณ์เศรษฐกิจลาวจะเติบโต 4.1% ในปี 2024 จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากจีนในการปรับโครงสร้างหนี้ และแผนการขายสินทรัพย์ให้บริษัทพลังงานของไทยที่อาจไม่เป็นไปตามแผน หลังผู้บริหารบริษัทถูกกล่าวหาว่าทุจริต ซึ่งอาจส่งผลให้ GDP ของลาวลดลง 2%

ที่มา: The Diplomat Magazine, 19/11/2024 

6 นักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตจากสุราปนเปื้อนที่หลวงพระบาง ผู้ประกอบการหวั่นกระทบท่องเที่ยวลาว

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2024 เกิดเหตุสลดเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6 ราย ประกอบด้วยหญิงสาวชาวออสเตรเลีย 2 ราย หญิงชาวอังกฤษ 1 ราย หญิงชาวเดนมาร์ก 2 ราย และชายชาวอเมริกัน 1 ราย เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คาดว่ามีเมทานอลปนเปื้อนที่เมืองวังเวียง ประเทศลาว ขณะที่อีกกว่า 12 รายได้รับผลกระทบและเจ็บป่วย

นายบุญจัน มาลาวง นายกเทศมนตรีเมืองวังเวียง กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้เร่งตรวจสอบร้านอาหารและสถานบันเทิงในพื้นที่ พร้อมสั่งปิดโรงแรม Nana Backpackers Hostel ชั่วคราว และควบคุมตัวผู้จัดการชาวเวียดนามไว้สอบสวน ด้านผู้ประกอบการในพื้นที่ระบุว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน นักท่องเที่ยวลดลงและระมัดระวังการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น

องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders ) เปิดเผยว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีเมทานอลปนเปื้อนทั่วโลกกว่า 1,200 ราย เสียชีวิต 394 ราย โดยส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย ล่าสุดสถานทูตหลายประเทศได้ออกคำเตือนให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลาว

ที่มา: RFA, 25/11/2024 

ลาวรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.3 ล้านคนช่วง 10 เดือนแรกปี 2024 ไทยยืนหนึ่ง

กระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวลาว เปิดเผยว่า ลาวต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.3 ล้านคนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2024 เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยนักท่องเที่ยวชาวไทย เวียดนาม และจีน เดินทางเยือนลาวมากที่สุดในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.

สำนักข่าว Xinhua รายงานว่า รัฐบาลลาวได้ประกาศนโยบายฟรีวีซ่าและขยายระยะเวลาพำนักสำหรับนักท่องเที่ยวจากบางประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงแคมเปญปีท่องเที่ยวลาว “Visit Laos Year 2024” ภายใต้แคมเปญนี้ บรรดาหน่วยงานและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวได้ปรับปรุงบริการของโรงแรม เกสต์เฮาส์ และร้านอาหาร ตลอดจนเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้แก่ผู้มาเยือน

สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีลาว กล่าวในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 8 ของสภานิติบัญญัติชุดที่ 9 ของสภาแห่งชาติลาว โดยระบุว่า ในปี 2025 รัฐบาลลาวจะส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ตลอดจนร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับทุกภาคส่วนของสังคม โดยมุ่งเน้นเป็นพิเศษไปที่การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 28/11/2024

กัมพูชา

ศาลกัมพูชาตัดสินจำคุกชายพิการ 18 เดือน ข้อหาปลุกปั่น หลังโพสต์เฟซบุ๊กต้องการผู้นำคนใหม่

ที่มาภาพ: RFA

ศาลกัมพูชาพิพากษาจำคุก Phon Yuth วัย 40 ปี ชายพิการนั่งรถเข็น 18 เดือน ในข้อหาปลุกปั่น หลังโพสต์ข้อความวิจารณ์บนเฟซบุ๊กโดยเนื้อหาที่เขาโพสต์ประกอบด้วย การวิจารณ์กรณีชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในกัมพูชาโดยไม่มีเอกสาร, การกล่าวถึงนักธุรกิจชาวกัมพูชาที่ถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงประชาชน, การพาดพิงถึงประธานวุฒิสภาฮุน เซน หลังจากที่เขาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือน ส.ค. 2023 เพื่อส่งต่อตำแหน่งให้บุตรชายคือฮุน มาเนต และการเขียนข้อความว่า “ผมต้องการผู้นำคนใหม่” เมื่อต้นปีนี้

Phon Yuth ถูกจับกุมเมื่อเดือน มี.ค. 2024 และถูกคุมขังที่จังหวัดตาแก้วโดยไม่ได้รับการพิจารณาคดีจนถึงเดือน พ.ย. 2024 ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกจำคุก 5 เดือนในปี 2019 ด้วยข้อหาปลุกปั่นและดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ หลังวิจารณ์รัฐบาลและเรียกร้องให้อดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ลาออก

องค์กรสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลว่า การตัดสินลงโทษครั้งนี้จะยิ่งส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในกัมพูชา

ที่มา: RFA, 12/11/2024 

หญิงกัมพูชาเหยื่อค้ามนุษย์ถูกบังคับแต่งงานในจีน เผยชีวิต 7 ปีเยี่ยงทาส

หญิงชาวกัมพูชาวัย 35 ปี รายหนึ่ง เปิดเผยกับ RFA ว่าเธอถูกล่อลวงไปทำงานที่เซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2016 แต่กลับถูกบังคับให้แต่งงานกับชายจีนที่หูหนวก โดยแม่สามีบังคับให้เธอทำงานหนักวันละ 13-16 ชั่วโมง พร้อมทำงานบ้าน และถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ

แม้เธอจะมีบุตรชายกับสามี แต่แม่สามีก็กีดกันไม่ให้เธอเลี้ยงดูลูก จนกระทั่งเธอแอบเก็บเงินซื้อโทรศัพท์มือถือและขอความช่วยเหลือผ่านโซเชียลมีเดีย จนสถานกงสุลกัมพูชาเข้าช่วยเหลือ และสามารถเดินทางกลับบ้านได้เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2024 หลังตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์นาน 7 ปี

องค์กรสิทธิมนุษยชน Adhoc รายงานว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 มีหญิงกัมพูชาถูกค้ามนุษย์ไปจีนอย่างน้อย 29 ราย โดย 28 รายถูกบังคับแต่งงานกับชายจีน ขณะที่ในปี 2023 สามารถช่วยเหลือหญิงกัมพูชาจากการค้ามนุษย์ในจีนได้ 28 ราย

ทั้งนี้ แม้รัฐบาลกัมพูชาจะพยายามเจรจากับจีนเรื่องการสอบสวนคดีค้ามนุษย์ แต่ทางการจีนยืนยันว่าเป็นเพียงการแต่งงานโดยสมัครใจ และมองปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเพียง “ข้อพิพาทภายในครอบครัว” เท่านั้น

ที่มา: RFA, 23/11/2024 

ไทยส่งตัวนักเคลื่อนไหวกัมพูชา 6 ราย กลับประเทศ-ถูกตั้งข้อหากบฏ

ทางการกัมพูชาตั้งข้อหากบฏต่อนักเคลื่อนไหวทางการเมือง 6 ราย หลังถูกส่งตัวกลับจากประเทศไทย โดยทั้งหมดเป็นสมาชิกหรือผู้สนับสนุนพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ที่ถูกยุบไปเมื่อปี 2017

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กัมพูชาระบุว่า ผู้ต้องหาทั้ง 6 ราย ประกอบด้วย Pen Chan Sangkream, Hong An, Mean Chanthon, Yin Chanthou, Soeung Khunthea และ Vorn Chanratchana ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ 3 แห่ง ตามหมายจับของศาลกรุงพนมเปญ

ทั้งนี้ กลุ่มนักเคลื่อนไหวหลบหนีเข้าไทยตั้งแต่ปี 2022 ก่อนถูกจับกุมในจังหวัดปทุมธานีเมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2024 องค์กรสิทธิมนุษยชนวิจารณ์รัฐบาลไทยที่ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศ โดยระบุว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ขณะที่ทางการไทยยืนยันว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมายคนเข้าเมือง

ที่มา: RFA, 26/11/2024 

กัมพูชาเตรียมออกกฎหมายใหม่ จัดกลุ่มฝ่ายค้านเป็น “ผู้ก่อการร้าย”

โฆษกพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) เผยกฎหมายใหม่ที่จะกำหนดให้นักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านเป็น “ผู้ก่อการร้าย” อาจมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ หลังฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและประธานพรรค CPP ตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะมีกฎหมายดังกล่าว

การเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกิจกรรมต่อเนื่องของกลุ่มฝ่ายค้านในต่างประเทศ รวมถึงการยกประเด็นเรื่องอธิปไตยเหนือเกาะกูด ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาระหว่างกัมพูชาและไทย และรายงานความพยายามจัดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2024 โดยมีเป้าหมายล้มล้างรัฐบาล

ด้านผู้อำนวยการปฏิบัติการองค์กรสิทธิมนุษยชน LICADHO ระบุว่า กัมพูชามีกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายอยู่แล้ว และควรบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเน้นย้ำว่าการร่างกฎหมายใหม่ต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและมาตรฐานสากลที่กัมพูชายอมรับ

ที่มา: The Phnom Penh Post, 28/11/2024 

“การบันทึกประวัติศาสตร์ของชาวนาชาวไร่เพิ่งเริ่มต้น” การเปลี่ยนแปลงและประวัติศาสตร์ของชนชั้นชาวนาไทย

เรียบเรียง : ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ

“ประวัติศาสตร์ช่างโหดร้ายต่อชาวไร่ชาวนาอย่างเหลือเกินนั้น ช่างเป็นความจริงแม้ในปัจจุบัน เพราะพวกเขามักจะไม่ได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทในการสร้างสรรค์ทางประวัติศาสตร์เลย…”

ประโยคข้างต้นมาจากบทความเรื่อง อ่านอานันท์ ที่เขียนโดยอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ในวารสารสังคมศาสตร์ปีที่ 20 หน้า 126 ที่กำลังกล่าวถึงบทวิจารณ์หนังสือด้วยปัญญาแห่งความรัก ที่อานันท์เป็นผู้กล่าว โดยประเด็นข้างต้นสอดคล้องกับไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) ที่บรรยากาศของการทำวิทยานิพนธ์ของเธอที่ศึกษาขบวนการชาวนาชาวไร่ในภาคเหนือเมื่อ 21 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2546) ว่าอยู่ในบรรยากาศของความเงียบ 

วันหนึ่งต้องไปค้นเอกสารตามมหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งเคยเป็นวิทยาลัยครูในที่ต่างๆ ของเชียงใหม่ พยายามบรรยาย ให้บรรณารักษ์ฟังเกี่ยวกับข้อข้อการศึกษา แต่บรรณารักษ์กลับตอบว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้นที่เชียงใหม่

การที่กล่าวเช่นนี้ไม่ใช่จะกล่าวว่าบรรณารักษ์ไม่ดี แต่เป็นการจะชี้ให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ของชาวนาชาวไร่มันเป็นความเงียบจริงๆ  และเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกปิดโดยรัฐแต่ในปัจจุบัน มีความสนใจที่กว้างขวางมากขึ้น อีกทั้งมีการรำลึกในทุกปี และมีการทำสารคดีและหนังสือ สะท้อนถึงประวัติศาสตร์นิพนธ์กำลังเปลี่ยนและเปิดกว้างมากขึ้น ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 ที่ผ่านมานี้ เวทีเสวนาเส้นทางชาวนาไทย จากสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ถึงขบวนการทางสังคมร่วมสมัย : การเปลี่ยนแปลงและการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ชนชั้นชาวนา? ก็ยังชวนรำลึกถึงการต่อสู้และขยายมุมมองต่อประเด็นเรื่องชาวนาชาวไร่

รื้อความหมายของ “ชาวนา” และสร้างนิยามของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่

สมชัย ภัทรธนานันท์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ชวนอภิปรายถึงความหมายของคำว่า “ชาวนา” ในประวัติศาสตร์มีความหมายหลายแบบ ชาวนาในอังกฤษและฝรั่งเศสยุคก่อน หมายถึง คนทำงานในภาคเกษตร แรงงาน สามัญชนคนธรรมดาและยังหมายถึง โง่เขลา หยาบคาย และบัดสบ ในศวรรษที่ 13 ชาวนาในเยอรมันนอกจากหมายถึงเกษตรกร ยังหมายถึง ปีศาจ อาชญากร และขโมย/โจร ความหมายของชาวนาในอดีตของประเทศยุโรปจึงมักเป็นด้านลบ

ส่วนในสังคมไทย ความหมายของชาวนาในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ คนบ้านนอก โง่เขลา และมืดมน ชาวนายังถูกกล่าวหาว่าเป็นบ่อเกิดของปัญหาหลายอย่างในสังคม และความหมายของชาวนาที่ร่วมสมัยที่ในสังคมไทยคือ ควายแดง และที่ขยายออกไปกว้างกว่านั้นคือคนชนบท โง่ จน เจ็บ ชาวนาไทยจึงถูกนิยามไว้ 5 ด้านคือ ด้านที่หนึ่ง ขี้เกียจ ด้านที่สอง เป็นเจ้าของที่ดินแต่ทำให้ที่ดินไม่เกิดประโยชน์  ด้านที่สาม ควบคุมตัวเองไม่ได้มักมีลูกหลายคน ด้านที่สี่ ไม่สามารถเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบได้ ด้านสุดท้าย ขัดขวางการใช้ประโยชน์จากที่ดินของพวกนายทุนในด้านการพัฒนา

หลังจากรื้อความหมายของชาวนา ชาวนาชาวไร่ในอดีตก็มีการต่อสู้ในการถูกกดขี่ สิ่งที่การต่อสู้ของขบวนการชาวนาชาวไร่สะท้อนถึงคือ “ความสัมพันธ์ของกฎหมายในเชิงพื้นที่ของการต่อสู้ในประเทศไทย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ชนชั้นนำยังครองอยู่ และกฎหมายเองก็เป็นเครื่องมือของชนชั้นนำศักดินาอยู่”

ไทเรลล์ กล่าว แต่การต่อสู้ของชาวนาชาวไร่เองนั้นเป็นเรื่องที่ควรนิยามใหม่

นิยามใหม่ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่เสนอโดย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กล่าวว่า เราต้องกลับไปทบทวนความหมายทางประวัติศาสตร์ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ใหม่ เพราะความเป็นจริงแล้ว การเคลื่อนไหวในแต่ละภูมิภาคมันมีมิติที่ซ้อนกันอยู่ จุดร่วมกันคืออยู่บนฐานของทรัพยากร แต่ที่ซ้อนกันคือขบวนการชาวนาชาวไร่ทั้งหมดต่อสู้ในนามของสิทธิพลเมือง

ดังนั้นหากเราคิดถึงสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในสองด้านที่เชื่อมต่อกันแบบนี้ เราถึงขยับตัวได้ นอกจากจะต่อสู้ในเพื่อชีวิตของชาวไร่ชาวนาแล้ว พี่น้องชาวนาชาวไร่ของเราก็ได้สถาปนาสิทธิพลเมืองในรัฐที่ไม่เคยยอมรับสิทธิพลเมืองแก่ชาวนาชาวไร่ สิทธิพลเมืองของชาวไร่ชาวนาเป็นสิ่งที่สำคัญ การชุมนุมของพี่น้องชาวนาชาวไร่ไปร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐตกใจมากที่สุดก็คือการที่ชาวนาชาวไร่ประกาศเผาบัตรประชาชนเป็นเรื่องใหญ่มาก

การเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ในมิติที่ซ้อนทับกันนี้ บังเอิญรัฐไทยฉลาดเพราะเลือกการกำจัดโดยใช้กรอบคอมมิวนิสต์มิติเดียวที่จะกำจัดขบวนการชาวนาชาวไร่ และยังใช้แนวคิดแบบไทยๆ คือใช้ระบบอุปถัมภ์ที่เอื้อมตัวลงไปช่วยชาวบ้าน การจัดการของรัฐไทยลักษณะนี้มันจึงมีส่วนในการทำลายสิทธิพลเมืองไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่เกิดขึ้นช่วงนี้จึงนำมาสู่การเคลื่อนไหวในช่วงหลังต่อไป

หลังจากขบวนการชาวนาชาวไร่ก็มีการเกิดขึ้นของเคลื่อข่ายเกษตรกร ซึ่งเคลื่อนไหวตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 ในขณะเดียวกันถูกนำไปผูกติดกับวัฒนธรรมชุมชนที่กลายเป็นฐานของการเคลื่อนไหว จนตอนหลังในทศวรรษที่ 2530-2540 จึงเคลื่อนมาในระดับของการเมืองมากขึ้น อย่างในกลุ่มสมัชชาคนจน และเริ่มขยับเข้ามาเป็นสิทธิพลเมืองมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม เครือข่ายเกษตรกรและทุกกลุ่มเริ่มทำให้การเมืองกลับมา หากเราเริ่มคิดว่ามันเป็นการต่อสู้เรื่องสิทธิพลเมืองควบคู่กัน เราจะตอบปัญหาเรื่องของชาวนาชาวไร่ได้ ด้านหนึ่งชาวนาชาวไร่มีความเปลี่ยนแปลงเนื่องจากระบบเศรษฐกิจแบบตลาดขยายตัวมากขึ้น การขยายปลูกพืชพรรณมีมากขึ้น การผลิตเพื่อการบริโภคลดลง การทำงานนอกภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้น การเคลื่อนย้ายกลายเป็นเรื่องปกติ ระบบเศรษฐกิจเคลื่อนไปสู่การเป็นผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้น การแตกตัวทางชนชั้นสูงมากขึ้น ความเท่าเทียมลดลง 

จินตนาการในชุมชนมันไม่ได้สลายความเป็นชนชั้นในชุมชน สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมที่เคยไปกำกับการกระทำของผู้คนมันลดลงไป สำนึกแบบปัจเจกชนมีมากแต่มันไม่มีสำนึกที่เชื่อมต่อระหว่างปัจเจกชนกับชุมชน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ เราจำเป็นที่จะต้องนิยามกันใหม่เราจึงต้องคิดว่าชาวนาชาวไร่จึงต้องคำนึงถึงสองมิติที่กล่าวมา และในปัจจุบันอำนาจการต่อรองมันลดลง

พี่น้องถูกทำให้เป็นอณูที่ล่องลอยไปโดยที่ไม่มีสายใยยึดมั่น 

สิทธิพลเมืองกลายเป็นสิทธิของปัจเจกชนหากเป็นแบบนี้คุณจะถูกกดทับนี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การสนับสนุนของทุนจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นและจะดึงพี่น้องเข้าสู่ระบบตลาดแน่นกว่าเดิม ด้วยความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เราต้องคิดถึงการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่เป็นการต่อสู้เชิงสิทธิพลเมืองที่เป็นสิทธิพลเมืองรวมหมู่ ในปัจจุบันเราต้องทำให้สิทธิพลเมืองเข้าไปอยู่ในการเคลื่อนไหวทุกมิติและต้องเชื่อมต่อกันทุกเครือข่าย

ประวัติศาสตร์นิพนธ์การต่อสู้ที่ต้องช่วยกันสร้าง

“ความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์ ที่จริงคิดว่าสิ่งนี้เป็นแค่เพียงการเริ่มต้น ยังมีประวัติศาสตร์ของการต่อสู้อีกหลายบทหลายเล่มที่ยังไม่ได้เขียน” ไทเรลล์ กล่าว

เธอจึงเสนอประเด็นในศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้คือ บทบาทในการต่อสู้ของครูประชาบาลที่มีบทบาทสำคัญระหว่างภาคส่วนต่างๆ รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) บทบาทของกรรมกรในภาคเหนือ และบทบาทของฝ่ายซ้ายในกลุ่มต่างๆ เรื่องเหล่านี้ยังคงรอนักศึกษาให้ได้มาศึกษากัน

ประภาส ปิ่นตบแต่ง เสนอว่า หากเราพูดถึงขบวนการชาวนาชาวไร่หน่อเชื้อที่สำคัญที่นำมาสู่ผลสะเทือนในช่วงต่อมาคือการเคลื่อนไหวของคนเล็กคนน้อยในช่วงเริ่มต้น ช่วงทศวรรษที่ 2500 โดยเฉพาะภาคอีสาน การมีพื้นที่ที่ต่างกันการเคลื่อนไหวจะมีความคล้ายกัน แต่อยู่ประเด็นในเชิงพื้นที่เท่านั้นที่ต่างกัน

“ปัญหาของชาวนาชาวไร่ของภาคเหนือคือเรื่องที่ดิน ส่วนปัญหาของภาคอีสานนั้นคือเรื่องน้ำ ดังนั้นการต่อสู้ของภาคเหนือและภาคอีสานจึงมีความแตกต่างกัน ภาคเหนือต่อสู้กับกฎหมายส่วนภาคอีสานต่อสู้กับโครงการของรัฐ” มาลินี คุ้มสุภา กล่าว

สมชัย เสนอถึงประวัติศาสตร์ส่วนที่ยังไม่ค่อยมีการศึกษา นั่นคือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ในชีวิตประจำวัน (Politics Of Everyday life) ซึ่งเป็นการต่อสู้ของชาวนาในรูปแบบที่ไม่เห็นเด่นชัด ในชีวิตของชาวนาเผชิญกับปัญหาต่างๆ พวกเขาต่อรองกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร 

ตัวอย่างการต่อสู้ของไทบ้าน อย่างเรื่องที่ทำกินเขาไม่ได้มีการรวมตัว แต่เขามีการต่อสู้อย่างไรเพื่อให้พวกเขาอยู่ต่อไปได้ ประเด็นเหล่านี้คือน่าสนใจและน่าศึกษา หากคนไหนคนใจเรื่องการต่อสู้ของชาวนา มองผ่านประเด็นนี้จะเห็นมิติใหม่ ในการต่อสู้ในภาคอีสานของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่มีส่วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสหพันธ์นักศึกษาเสรี อย่างกรณีหนองบัวบาน จังหวัดอุดรธานีที่รัฐพยายามจะสร้างเขื่อนห้วยหลวง เพื่อเก็บน้ำให้กับค่ายรามสูรที่ทหารอเมริกันอาศัยอยู่ในช่วงเวลานั้น (ทศวรรษที่ 2510) จะส่งผลกระทบต่อนาชาวของชาวบ้านจากน้ำท่วม กรณีหนองบัวแดงก็มีการสร้างเขื่อนเหมือนกัน และกรณีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเงินผันของรัฐบาลคึกฤทธิ์ 

ไทเรลล์ เสริมว่า หากดูประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของชาวนาชาวไร่และการใช้ความรุนแรงของรัฐ ไม่ได้มองว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่มองว่าเป็นประวัติศาสตร์ของการต่อต้านอำนาจอยุติธรรม

การเขียนประวัติศาสตร์ของชาวนาชาวไร่เพิ่งเริ่มต้น เราควรพยายามค้นคว้าและหาหลักฐานการต่อสู้ของประชาชนให้กว้างขวางมากขึ้น และต้องทำให้เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ อันนี้คือสิ่งที่เราต้องทำอย่างจริงจัง

หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เรียบเรียงจาก เวทีเสวนาเส้นทางชาวนาไทย จากสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ถึงขบวนการทางสังคมร่วมสมัย : การเปลี่ยนแปลงและการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ชนชั้นชาวนา? โดย ศาสตราจารย์ ดร.ไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตกแต่ง สมาชิกวุฒิสภา รศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ประธานโครงการเส้นทางชาวนาไทย ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.มาลินี คุ้มสุภา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในงานเส้นทางชาวนาไทย: รำลึก 50 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย วันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2567 คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่

อ้างอิงหนังสือ

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. อ่านอานันท์. วารสารสังคมศาสตร์. ปีที่ 20 ฉบับที่ 2/2551.