เรียบเรียง : ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ
กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ชวนร่วมทบทวนภาพของพัฒนาการและพลวัตของระบบนิเวศทางการเมืองในภาพรวมที่เชื่อมผู้คนหลากหลายชนชั้นเข้าด้วยกัน
โดยได้เสนอ 4 ส่วน เป็นแกนหลักคือส่วนที่ 1 เป็นการนำเสนอภาพความน่าผิดหวังของขบวนการภาคประชาชนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านการประเมินความสำเร็จในระยะสั้น ส่วนที่ 2 จะเป็นการทดลองนำเสนอการวิเคราะห์ผลกระทบ ผลสะเทือน และมรดกในระยะยาว ในแง่ของความพยายามที่ผ่านมาส่งผลอย่างไรต่อสังคมไทยในปัจจุบัน ส่วนที่ 3 การประเมินทิศทางการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำไทย และส่วนสุดท้าย เป็นการนำเสนอความเป็นไปได้ในอนาคตของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำ-ชนชั้นกลาง-สามัญชน กับการลงหลักประฐานของการเมืองภาคประชาชน
บทเรียนจากการเคลื่อนไหวในอดีตของสังคมไทย
ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของที่หนึ่งที่ประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำประสบความสำเร็จมากในการสร้างความมั่นคง รวมทั้งสถาปนาความคิดแบบอนุรักษ์นิยมให้กลายเป็นความคิดกระแสหลักในหมู่ชนชั้นกลางและสามัญชน
หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีประวัติศาสตร์การปฏิวัติมาอย่างยาวนานทั้วโลก ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์และพัฒนาการ การเมืองภาคประชาชนที่ช้ามาก เชื่องช้า ไม่กว้างขวาง ไม่ถอนรากถอนโคน สำนึกทางชนชั้นค่อนค่างต่ำ ไม่ว่าจะเป็นสำนึกในชนชั้นกลาง สำนึกในความเป็นชนชั้นล่าง
แม้งานวิชาการหลายชิ้นจะนำเสนอความเปลี่ยนแปลงของประชาธิปไตยในหลายช่วง แต่ถ้าหากประเมินผลกระทบผลสำเร็จในระยะสั้น ความพยายามพลักดันไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางหรือสามัญชนก็ตาม จะพบว่าความสามารถในการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากระบอบอำนาจนิยมไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ความสามารถในลุกฮือของประชาชนในวงต่างๆ มักประสบความสำเร็จในระยะสั้น ไม่สามารถสร้างการลงหลักปักฐานทางประชาธิปไตยได้ และประสบปัญหากับการขยายฐานมวลชนไปสู่กลุ่มอื่นๆ และการเรียกร้องในระยะสั้นก็จะถูกปราบปราม
“เราไม่เคยเห็นกบฏชาวนาที่กว้างขวาง ไม่มีขบวนการปฏิรูปที่ดินที่ทรงพลัง สิ่งที่เรียกว่า ‘ขบวนการปฏิวัติ’ ในประเทศไทย ก็ไม่ได้ได้กว้างขวางลึกซึ้ง เมื่อเปรียบเทียบกับการเมืองภาคประชาชนทั่วโลก”
การเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบราชาธิปไตย เวลาล่วงเลยมา 92 ปี หากมองถึงผลกระทบระยะสั้น สิ่งที่ถูกเรียกว่า “การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475” ของคณะราษฎรฯ มันช่างห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่า “ขบวนการมวลชนประชาธิปไตย” การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของชนชั้นนำรุ่นใหม่กลุ่มเล็กๆ พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในการขบวนการมีส่วนร่วมหรือสร้างสำนึกทางการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยและสังคมนิยมประชาธิปไตย
แม้แต่เป้าหมายระยะสั้นในการจำกัดหรือรื้อถอนอำนาจของชนชั้นนำจารีตเอง พวกเขาก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จ และท้ายที่สุดพวกเขาก็ถูกยึดอำนาจกลับโดยชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมจารีต จนหลายคนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
พรรคคอมมินิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเหมือนกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างก็มีพรรคคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมที่เข้มแข้ง และเป็นพลังหลักที่สำคัญในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลายประเทศอย่าง ลาว เวียดนาม และกัมพูชา พรรคปฏิวัติประสบความสำเร็จในการล้มระบอบกษัตริย์พาประเทศไปสู่ระบอบสังคมนิยม หรือบางประเทศอย่าง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย พรรคฝ่ายซ้ายกลายเป็นขบวนการทางการเมืองที่ทรงพลังทั้งในการมีอิทธิพลกับรัฐบาล และการสร้างขบวนการมวลชนที่ตื่นตัวทางการเมืองอย่างกว้างขวาง
สำหรับประเทศไทยพรรคคอมมิวนิตส์แห่งประเทศไทยเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น และไม่สามารถขยายฐานมวลออกออกไปได้ แต่ยังมีการขยายฐานมวลชนในพื้นที่ชนบท และการสนับสนุนโดยขบวนการนักศึกษาในช่วงปลายทศวรรษ 2510 แต่อย่างไรก็ดีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็ไม่ประสบความสำเร็จในผลักดันการเปลี่ยนของรัฐไทย และล่มสลายไปในที่สุดในช่วงปลายทศวรรษ 2520
แม้แต่ภาพแห่งความสำเร็จของขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาช่วง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ก็จำกัดวงอยู่แค่คนรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดก็มีไม่มาก และจบลงภายในเวลาเพียง 3 ปี ชนชั้นก็ได้นำรวมตัวกันและโต้กลับอย่างรุนแรง
ขบวนการชาวนาชาวไร่ กรรมกรแรงงานที่เติบโตขึ้นเมื่อ 2516-2519 แม้จะดูเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าตื่นเต้นในการปลุกสำนึกและการตื่นตัวของชนชั้นกรรมมาชีพในสังคมไทย ภาพของการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ชาวนาชาวไร่ที่เราเฉลิมฉลองกันในวันนี้ วันครบรอบ 50 ปี แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการเกิดขึ้นอย่างจำกัด และจบลงอย่างเจ็บปวดในหลายระลอกจากรัฐไทย ซึ่งยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าผู้ถูกลอบสังหารมีจำนวนกี่คน
ในช่วงร่วมสมัยมากกว่านั้นคือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 แม้หลายคนจะฮือฮากับภาพการเติบโตขึ้นของมวลชนชนชั้นกลางที่ลุกขึ้นมาชูประชาธิปไตยเพื่อขับไล่เผด็จการ เอาเข้าจริงพวกเขาคือคนกลุ่มแรกๆ ที่แสดงออกถึงการสนับสนุนการรัฐประหารในปีก่อนหน้านั้น (พ.ศ.2534) และเอาเข้าจริงแนวหน้าของการเคลื่อนไหวบนท้องถนน โดยเฉพาะกลุ่มที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นกลุ่มชนชั้นล่างในเมือง ซึ่งเป็นนักศึกษาอาชีวะด้วยซ้ำ
สมัชชาคนจน กนกรัตน์กล่าวว่าตัวเองเป็นคนรุ่นที่เติบโตมากับสมัชชาคนจน แม้ว่าในช่วงต้นจะดูเหมือนเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่เราเห็นการลุกขึ้นของสามัญชนในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและปกป้องสิทธิของพวกเขา แต่ในเชิงรูปธรรม การเคลื่อนไหวของพวกเขายังคงเป็นการผลักดันและส่วนใหญ่เติบโตภายใต้การนำของปัญญาชนชนชั้นกลาง ทั้ง เอ็นจีโอ นักวิชาการ สื่อมวลชน
นอกจากนั้นพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในการขยายฐานการสนับสนุนไปสู่เครือข่ายหรือชนชั้นอื่นๆ ภายใต้รัฐบาลที่อ่อนแอในช่วงทศวรรษ 2530 ในช่วงของรัฐบาลของบรรหาร ศิลปอาชา, ชวลิต ยงใจยุทธ, และชวน หลีกภัย พวกเขาอาจประสบความสำเร็จบ้างในการต่อรองกับรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ แต่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับรัฐบาลที่เข้มแข็งหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ในสมัยรัฐบาลทักษิณ พวกเขากลับประสบความล้มเหลว
ในการเกิดขึ้นของมวลชนคนชั้นกลางที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยคือขบวนการเสื้อเหลือง ช่วงเริ่มต้นเป็นการลุกขึ้นของฝากก้าวหน้าจากปีกต่างๆ เพื่อตรวจสอบและคานอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่การตัดสินใจเรียกร้องการสนับสนุนจากชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม และเลือกจัดตั้งมวลชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นฐานมวลชน ทำให้ในเวลาอันไม่ช้า
ขบวนการดังกล่าวถูกยึดกุมโดยชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม และมวลชนฝ่ายกษัตริย์นิยม ศาสนานิยม และชาตินิยมสุดขั้ว จนกลายเป็นการเคลื่อนไหวมวลชนฝ่ายขวาครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
สำหรับขบวนการเสื้อแดง มวลชนถูกปราบ ถูกติดตาม ถูกคุกคาม ผู้นำทางการเมืองของพวกเขาถูกจับติดคุก และหลายคนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ จนในท้ายที่สุด พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองของเขาต้องยอมเลือกเส้นทางการเมืองแบบประนีประนอมกับชนชั้นนำ
ชัยชนะของของพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล และขวบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความหวังแห่งความเปลี่ยนแปลงก็ประสบความล้มเหลวในระยะสั้น ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ยังประสบความสำเร็จในการแบ่งแยกและปกครอง ดึงพันธมิตรฝั่งประชาธิปไตยให้ถอนตัวจนไม่สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้
ในปี 2563 ขบวนเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ข้อเรียกร้องของพวกเขาท้าทายโครงสร้างอำนาจรัฐจนชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมตั้งตัวไม่ได้ แต่ในเวลาไม่ช้า ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมก็ค่อยๆ ปรับตัวในการกดดันทำให้ทั้งแกนนำและผู้สนับสนุนค่อยๆ ลดการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ท้าทายรัฐบาล
ผลกระเทือนจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่คาด (ไม่) ถึง
กนกรัตน์กล่าวต่อว่า สิ่งที่พูดมาทั้งหมดมันดูน่าหดหู่ แต่นี่คือสิ่งที่เราพบ การเคลื่อนไหวทั้งหมดประสบกับความล้มเหลวและเผชิญกับข้อจำกัดมากมาย
แต่หากเราเปลี่ยนมุมมองการวิเคราะห์โดยเฉพาะความพยายามและจุดตัดทางการเมือง ผ่านการผลสะเทือนที่มีต่อประชาธิปไตยในระยะยาว โดยเฉพาะผลลัพท์ในเชิงทบทวี (Synergetic Effects) ความเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกครั้งมันเกิดผลระยะยาวที่คาดไม่ถึงตามมาอีกมากมายหลายมิติด้วยกัน
มิติที่ 1 การเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งได้สร้างบุคลากรทางการเมืองที่สำคัญ เช่น บทบาทของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท) ทำให้เกิดคนอย่าง บุญเลิศ วิเศษปรีชา, ชัยธวัช ตุลาธน, ธนาพล อิ๋วสกุล (บก. ฟ้าเดียวกัน) สุริยะใส กตะศิลา ฯลฯ
บุคคลเหล่านี้นอกจากจะทำงานรณรงค์ทางการเมืองในระยะยาวแล้ว จำนวนมากยังเข้าไปเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐ เอกชน และสถาบันทางสังคมอื่นๆ และสร้างแรงกระเพื้อมในการสร้างคนรุ่นใหม่ให้ตื่นตัวทางการเมือง
ในระยะสั้น การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองทำให้ผู้คนทั้งที่มีประสบการณ์ตรงและสังเกตุการณ์เปิดโลกทัศน์ที่มีต่อสังคมที่เขาดำรงอยู่ ได้เรียนรู้ถึงโลกทัศน์ใหม่ๆ ที่ท้าทายโลกทัศน์เดิมของพวกเขา ผลที่ตามมาคือทำให้อนุรักษ์นิยมกลายเป็นเสรีนิยม ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่เปลี่ยนก็เริ่มเรียนรู้รายละเอียดและจุดยืนของอีกฝ่าย จนท้ายที่สุดยอมรับว่าอีกฝ่ายมีตัวตนอยู่จริง
หลังป่าแตกเมื่อปลายทศวรรษที่ 2520 คนรุ่นหนุ่มสาวผิดหวังเป็นจำนวนมาก หลายคนแทบไม่รู้ว่าอุดมการณ์ของพวกเขาคืออะไร แต่สิ่งสำคัญที่พวกเขาได้เลยคือ ทักษะการทำงานการเมือง การระดมผู้คน การจัดทำนโยบาย ฯลฯ ทำให้คนรุ่นเดือนตุลาฯ กลายมาเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง เอ็นจีโอ นักวิชาการ นักธุรกิจ สื่อมวลชน และข้าราชการฝ่ายก้าวหน้า และในเวลาต่อมาทักษะเหล่านั้นก็กำลังถูกบ่มเพาะในนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ยังคงยืนหยัดเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมในรูปแบบที่หลากหลาย
ความตื่นตัวทางการเมืองยังขยายตัวจากรุ่นสู่รุ่น งานวิจัยจำนวนมากพบว่าความตื่นตัวทางการเมืองและแนวคิดแบบเสรีนิยมมีแนวโน้มถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นในครอบครัวได้มากกว่าความคิดแบบอนุรักษ์นิยม
ส่วนคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเติบโตมาในยุคเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง แต่การตื่นตัวและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองมันเป็นกระแสหลักในสังคม จนคนรุ่นใหม่เริ่มต้นด้วยความเชื่อที่ว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน
มิติที่ 2 ทางวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 แม้จะผ่านมา 92 ปีแล้ว การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอาจไม่สำเร็จ แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอด 92 ปี จนถึงปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป และแนวคิดแบบเสรีนิยมกลายเป็นความคิดกระแสหลักในสังคมไทย
มิติที่ 3 ผลกระเทือนทางการเมือง แม้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจะถูกยุบครั้งแล้วครั้งเล่า และปัจจุบันพรรคอันดับที่ 1 ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมานับตั้งแต่การมีพรรคไทยรักไทย จนถึงพรรคประชาชน ภาคประชาชนของไทยสามารถสร้างการยอมรับพรรคการเมืองเพื่อเข้าไปผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางกฏหมายและนโยบายได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ตัวแทนภาคประชาชนเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ของรัฐไทยอีกต่อไปทั้งการเสนอนโยบายและกฏหมาย
ผลที่ตามมาที่ไม่คาดฝันและไม่ได้ตั้งใจ (Unexpected and Unintended Consequences) ความพ่ายแพ้ในการพลักดันหรือล้มเหลวในความเปลี่ยนแปลง แต่มันสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงความคิดที่ผู้คนมีต่อการเมืองได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน มันได้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญในระยะต่อมา โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563-2564
ในทางตรงกันข้าม เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติของรัฐไทย ในบางด้านรัฐที่เคยเข้มแข็งกลับอ่อนแอ ในบางด้านรัฐที่เคยอ่อนแอกลับเข้มแข็ง ที่ผ่านมารัฐทั่วโลก พยายามทุกวิถีทางในการสถาปนาอำนาจผ่านกลไกใน 4 กลไกด้วยกันคือ
กลไกที่หนึ่ง การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันท่ามกลางความแตกแยกของชนชั้นนำ กลไกที่สอง การเพิ่มความสามารถของรัฐในการจัดการทรัพยากร กลไกที่สาม การสร้างอำนาจนำครอบงำความคิดของผู้คน และ กลไกสุดท้าย การทำให้ผู้คนไม่สนใจการเมือง (Depoliticizes)
รัฐไทยในอดีตประสบความล้มเหลวในกลไกที่ 1 และ 2 แต่ประสบความสำเร็จในกลไกที่ 3 และ 4 จากยุคศักดินาจนถึงรัฐชาติสมัยใหม่ของสยาม รัฐสยาม/ไทย พยายามทำทุกวิถีทางในการดุลอำนาจระหว่างชนชั้นนำและพันธมิตรกลุ่มต่างๆ อย่างระมัดระวัง
แต่ท้ายที่สุดก็ประสบกับความล้มเหลวในการสร้างความจงรักภักดีในระยะยาว และความสัมพันธ์อันเปราะบางของชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ มักแตกแยกและถอนการสนับสนุนชนชั้นชั้นปกครองเป็นระยะๆ แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการเปลี่ยนรัชสมัย เราจะเห็นความเป็นปึกแผ่นของชนชั้นนำอนุรักษ์อย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งราชสำนัก ทุน รัฐราชการ ทหาร ตำรวจ
ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต กลับเผชิญกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอำนาจนำทางความคิด (Hegemony) หรือ ความพยายามในการทำให้ประชาชนเลิกสนใจและเฉื่อยชาทางการเมือง (Depoliticizes)
ในอดีตรัฐไทยสมัยใหม่ประสบความสำเร็จในการสร้างอำนาจผ่านความคิดเรื่องชาติ ศาสนา และพระมหากษัติริย์ โดยเฉพาะรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 แม้ถูกท้าทายบ้างในช่วงสั้น ๆ แต่ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ แต่ในช่วงหลังการรัฐประหาร 2 ครั้งหลัง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมของไทยกลับต้องเผชิญกับวิกฤติศรัทธา ทั้งสถาบันศาสนา กองทัพ ระบบตุลาการ และสถาบันหลักอื่นๆ ของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม
สำหรับการทำให้ผู้คนเฉยชาทางการเมือง (Depoliticize) รัฐสยาม/ไทย ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ทั้งการทำให้ผู้คนเชื่อว่าการเมืองไม่เกี่ยวข้องอะไรกับพวกเขา ผ่านสถาบันครอบครัว โรงเรียน สื่อ และสถาบันทางศาสนา
การกบฏที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายขอบทั้ง กบฏผีบุญ กบฏเงี้ยว กบฏพญาผาบ กบฏแขก 7 หัวเมือง และการกบฏมักจะถูกปราบปรามอย่างรวดเร็ว
แต่ในระยะหลังกลับพบว่า รัฐไทยประสบกับความล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในทุกมิติ และความผลิกผันอีกมากมายที่กลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตและความคิดของผู้คน
แทนที่จะพยายามปรับตัวเพื่อสามารถครองใจคนได้แบบในอดีต ในระยะสั้นรัฐไทยปรับตัวด้วยการเน้นการใช้ความรุนแรงที่มองไม่เห็น ทั้งการข่มขู่คุกคามและใช้กฎหมายปิดปาก
จากประสบการณ์การเมืองทั่วโลกกลับพบว่า วิธีการดังกล่าวสามารถหยุดความต้องการการมีส่วนร่วมได้เพียงระยะสั้น แต่ในระยะยาวผู้คนที่ตื่นตัวทางการเมือง ยังคงสามารถรักษาความสนใจทางการเมืองและกลับมาแสดงออกและมีส่วนร่วมทางการเมืองต่อไป
จากการทบทวนในอดีต และสถานการณ์ปัจจุบัน เราเห็นอะไรบ้างในอนาคต?
เราจะเห็นได้ว่าพลังเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม มีอำนาจต่อรองระหว่างชนชั้นและแกนนำ ฐานมวลชน และพลังในระบบรัฐสภา มีอำนาจพอกัน ทั้งในแง่ของจำนวน ความชอบธรรม ในการเมืองทางการและไม่เป็นทางการ คำถามต่อมาคือ
จากนี้ไปประชาธิปไตยจะลงหลักปักฐานโดยอัตโนมัติเลยหรือเปล่า เมื่อพลังของชนชั้นกลางและสามัญชนเพิ่มเติบโตขึ้นไม่น้อยไปกว่าพลังของชนชั้นนำและมวลชนฝ่ายอนุรักษ์นิยม ชนชั้นนำจะยอมรับว่าพลังของชนชั้นอื่นๆ มีมากพอๆ กับพวกเขา และพวกเขาต้องเคารพเสียงเหล่านี้ หรือไม่
คำตอบคือ “ไม่”
ดังนั้นจึงเสนอส่วนสุดท้ายที่นำเสนอถึงความเป็นไปได้ แบบย่อๆ ว่ามีอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้น และต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ผ่านการอ้างอิงและถอดบทเรียนจากชุดประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในประเทศต้นแบบประชาธิปไตยอื่นๆ ที่ผ่านประสบการณ์หลายร้อยปี
เมื่อเปรียบเทียบกับยุโรปในศตวรรษที่ 19 เราจะพบว่าเป็นช่วงเวลาที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่เราเผชิญในปัจจุบัน
เรารู้จักยุโรปในศตวรรษที่ 19 ในนาม ศตวรรษที่ 19 อันแสนยาวนาน ซึ่งเป็นเวลา 125 ปี นับตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 (พ.ศ.2332) ถึงการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ.1918-พ.ศ.2461) เป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายชนชั้นนำจารีต กับพลังชนชั้นกลาง ผู้ประกอบการ ชนชั้นสามัญชนกรรมาชีพที่เริ่มจัดตั้งองค์กรทางการเมือง และมีฐานมวลชนไม่น้อยไปกว่าฝ่ายที่สนับสนุนอำนาจนิยม
การต่อสู้กันนั้นชนชั้นนำยังไม่ยอมแพ้และเชื่อว่าพวกเขาจะยังสามารถกลับมาควบคุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทั้งความพยายามรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือเผด็จการโดยผู้นำสามัญชนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ผลทำให้เราเห็นปฏิวัติครั้งแล้วครั้งเล่าในยุโรปที่เกิดขึ้นตลอดในช่วง 100 ปี ของศตวรรษที่ 19 อันแสนยาวนาน
ถ้าเราโชคดี เราจะได้เห็นการลงหลักปักฐานของประชาธิปไตย นั่นคือการยอมรับระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยทุกชนชั้น หลักการเรียนรู้จากการแพ้ชนะในหลายระรอก และชนชั้นนำยอมรับความจริงในที่สุด ว่าการเอาชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
แต่ถ้าเราโชคร้าย ชนชั้นนำยอมรับความจริงช้า ไม่ยอมปรับตัว แต่กลับยกระดับการต่อสู้และการกดขี่มากขึ้น ก็จะผลักให้ชนชั้นอื่นๆ ต้องยกระดับการต่อสู้ในรูปแบบเดียว ในหลายกรณีพลังชั้นอื่น ๆ มักไม่สามารถทัดทานพลังของชนชั้นนำได้ในระยะสั้น แต่ในระยะต่อไปในหลายกรณี เราจะเห็นถึงชัยชนะของชนชั้นอื่นๆ ในระยะยาว
หมายเหตุ เรียบเรียงจาก ปาฐกถา อนาคตสังคมไทย อนาคตชนชั้นนำ-ชนชั้นกลาง-สามัญชน โดย รศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในงานเส้นทางชาวนาไทย: รำลึก 50 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย วันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2567 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่