เรื่อง: Dot easterners
ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 69.5% ของประชากรทั้งหมด หรือราว 49 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก (59.5%) จากการสำรวจโดย We Are Social ในรายงาน Digital 2021 Global Overview
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก ความเสี่ยงจากการใช้อินเทอร์เน็ตก็เป็นเงามากขึ้นตามตัว ไม่ว่าจะเป็น การถูกขโมยข้อมูลธุรกรรมผ่านการกรอกข้อมูลบนเว็บไซต์ปลอม หรือที่เรียกว่า Phishing ,การขายข้อมูลทางอัตลักษณ์โดยบริษัทต่างๆ ซึ่งไม่ผ่านการยินยอมจากเจ้าของอัตลักษณ์ ฯลฯ
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความเสี่ยงจากการที่ประชาชนจะถูกละเมิดสิทธิทาง Digital จากการใช้อินเทอร์เน็ตโดยรัฐเสียเอง โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานภาคประชาสังคม หรือนักกิจกรรมทางการเมือง เพราะบุคคลหรือองค์กรเหล่านี้ อาจมีการรายงานหรือนำเสนอชุดข้อมูลที่แตกต่างออกไปจากอุดมการณ์ของรัฐไทย
กฎหมายบางฉบับที่รัฐนำมาใช้กับผู้เห็นต่างแบบมีวาระซ่อนเร้น (Hidden agenda) เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ มีเป้าหมายคือ ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาเป็นหลัก ยังไม่รวมปฏิบัติการข่าวสาร หรือที่เรียกกันว่า IO (Operation Information) เป็นปฏิบัติการโดยรัฐบาล คสช. มาจนถึงรัฐบาลประยุทธ์ในสมัยที่ 2 ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อคุกคาม ด้อยค่า ไปจนถึงสร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มผู้มีชุดอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐไทย และเป็นที่มาของวาทกรรม ‘ชังชาติ’ หลักฐานที่ชัดเจน อ้างอิงจากข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย ส.ส. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ (ในขณะนั้น) เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คือ เอกสารทางราชการจำนวน 3 ฉบับของกระทรวงกลาโหม โดยมีเนื้อหาจากการอภิปรายความว่า
“ในเอกสารมีการซักซ้อมการปฏิบัติการข่าวสารที่หน่วยเหนือมอบให้แต่ละวัน มีการสอนการโพสต์ว่าไม่ต้องเรียงลำดับหัวข้อตามภารกิจที่มอบให้ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกจับได้ว่าเป็นบัญชีผู้ใช้ปลอมหรือเรียกว่าอวตาร และมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกองทัพจะทำเองโดยพลการไม่ได้ต้องมีคำสั่ง ดังนั้นภารกิจคุกคามจึงเป็นการปฏิบัติการคำสั่งโดยมิชอบ โดย พล.อ.ประยุทธ์ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย”
“กระบวนการไอโอทั้งหมดเราสืบทราบว่าจะมี 20 ภารกิจเศษ โดยมีกรุ๊ปไลน์ 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก ผู้บังคับบัญชา กลุ่มที่สองส่งมอบภารกิจให้กับหน่วยปฏิบัติการ และกลุ่มที่สาม รายงานผลและชี้วัดภารกิจในแต่ละวัน…”
ตัวอย่างที่ชัดเจนในการละเมิดสิทธิทาง Digital อีกเหตุการณ์หนึ่ง คือ เหตุการณ์ ‘เพกาซัส’ สปายแวร์ที่สนับสนุนโดยรัฐ เพื่อใช้สำหรับการเจาะข้อมูลของผู้ที่รัฐไทย เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งรัฐมีสมมติฐานว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะ ‘ท่อน้ำเลี้ยง’ ต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี ‘63
‘ยิ่งชีพ อัชชานนท์’ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw คือเคสตัวอย่างที่มีความสำคัญในเชิงการเผยแพร่สื่อสารให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า ปรากฎการณ์การที่ ‘รัฐ’ ใช้เทคโนโลยีเพื่อคุกคาม สอดแนมผู้เห็นต่างนั้น ‘มีอยู่จริง’
ในกรณีของยิ่งชีพ เริ่มต้นจากการได้รับการแจ้งเตือนทางอีเมลว่า ‘ถูกโจมตีโดยสปายแวร์ที่สนับสนุนโดยรัฐ’ ก่อนจะเป็นที่มาของการรณรงค์สื่อสารเรื่อง ‘เพกาซัส’ ยิ่งชีพ ได้ประสานไปยัง Citizen Lab หน่วยงานวิจัยด้านดิจิทัลและสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ประเทศแคนาดา เพื่อตรวจสอบการถูกเจาะข้อมูล ก่อนได้รับการยืนยันว่ามีการเจาะข้อมูลโดยสปายแวร์ ‘จริง’ ต่อมา จึงได้รวบรวมข้อมูลสำหรับการสื่อสารต่อสาธารณชน และดำเนินการ ‘ฟ้อง’ ศาลปกครองต่อกรณีที่เกิดขึ้น
โดยยิ่งชีพได้แสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์ม Facebook ต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่า “ก่อนหน้านี้เรายื่นฟ้องคดีแพ่งต่อบริษัท NSO ผู้ผลิตเพกาซัสไปแล้ว โดยคดีนั้นมีความคาดหมายว่าจะเป็นคดีเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ตอนแรกเชื่อว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะไม่มาต่อสู้คดีเพราะเป็นบริษัทของอิสราเอล แล้วเราจะชนะได้โดยง่าย แต่ตอนนี้ได้ข่าวว่าจำเลยทำให้ตัวเองล้มละลายและปิดบริษัทหนีไปตั้งใหม่ กลายเป็นคดีที่ยากเรื่องกระบวนการระหว่างประเทศ แต่คดีนี้เป็นคดีปกครองที่ฟ้องรัฐไทย จะขอเน้นกระบวนการ พิสูจน์พยานหลักฐานตามกฎหมายและต้องชนะเท่านั้น คำขอข้อแรกคือขอให้เลิกใช้สปายแวร์นี้ ซึ่งจริงๆ ไม่อยากรอศาลสั่ง แต่อยากให้รัฐบาลใหม่ประกาศตัวยกเลิก และช่วยกันแสวงหาข้อมูลหลักฐานเปิดโปงกระบวนการที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลก่อนหน้านี้ให้ได้ ถ้าเราทำได้เค้าจะเป็นผู้นำของโลกในด้านความสำเร็จของการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์”
หรืออีกหนึ่งตัวอย่างเหตุการณ์ที่มีความเศร้าสลดเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ ‘ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต’ อาจมีส่วนช่วยให้รัฐไทย ‘บังคับสูญหาย’ ผู้เห็นต่างทางการเมือง จากการเปิดเผยข้อมูลที่ระบุอัตลักษณ์ของเจ้าของข้อมูลนั้นๆ แก่เจ้าพนักงาน เคสตัวอย่างในกรณีนี้ที่พอจะเห็นได้ชัดเจน คือเคส ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ นักกิจกรรมทางการเมืองผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐประหารไปจนถึงการทำงานของรัฐบาล คสช. และต้องลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านหลังจากถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน ‘พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์’ โดยวันเฉลิม เชื่อว่า บริษัทผู้ให้บริการทางโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย ได้เปิดเผยข้อมูลของผู้เห็นต่างจากรัฐบาลทหารหลายคน หลังจากการรัฐประหารในปี ‘57 ซึ่งท้ายที่สุดนั้น วันเฉลิม ได้หายสาบสูญไป หลังจากที่มีผู้ยืนยันว่า ได้พบเห็นชายกลุ่มหนึ่งลักพาตัววันเฉลิมขึ้นรถจากหน้าคอนโดมิเนียมในกรุงพนมเปญ และหลังจากนั้นก็ไม่มีผู้ใดสามารถติดต่อวันเฉลิมได้อีก
จะเห็นได้ว่า สถานการณ์เรื่องสิทธิและความปลอดภัยทาง Digital ของประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น นับว่ายังมีความไม่ปลอดภัยที่อยู่ในขั้นสูง อีกทั้งความตระหนักรู้เรื่องสิทธิทาง Digital ของผู้ที่ทำงานด้านภาคประชาสังคม หรือนักกิจกรรมทางการเมือง อาจยังจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มเล็กๆ และยังขยายวงการรับรู้ออกไปได้ไม่มากนัก สถานการณ์เหล่านี้สะท้อนความสำคัญของการที่ต้องขยายวงการรับรู้เรื่องสิทธิทาง Digital และการรับมือด้านความปลอดภัยทาง Digital ออกไปให้กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่ภาคประชาสังคมหรือนักกิจกรรมทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายรวมถึงประชาชนทั่วไป เพราะในวันข้างหน้า ไม่มีใครทราบได้ว่าผู้ที่จะถูกรัฐไทยคุกคาม สอดแนม หรือบังคับสูญหายรายต่อไป อาจเป็น ‘คุณ’ ที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ก็ได้
อ้างอิง
- THE BATTLE Internet User ในประเทศไทย 2564 ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไทยมากแค่ไหนเมื่อเทียบกับโลก
- พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2560: กฎหมายใหม่แต่ยังถูกใช้ปิดปากเหมือนเดิม
- “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” แฉปฏิบัติการไอโอ โยง “บิ๊กตู่” ฉะแรงสร้างแตกแยก
- https://www.facebook.com/pow.ilaw/posts/pfbid023N9MQ9NqUbPDDT4AFPDijm3p3cMAZeQnw76YWpfg3no2G3QKiSZJw5wQGhoccGXtl
- ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีส่วนช่วยรัฐไทยติดตามตัวผู้ที่เห็นต่าง