08 กันยายน 2565
เหมืองแร่ฟลูออไรต์เมื่อ 30 ปีที่แล้วกำลังจะกลับมาเป็นฝันร้ายของพี่น้องชาวอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกครั้ง
“ก่อนที่จะมีการทำเหมืองแร่ทุกอย่างอุดมสมบูรณ์ ผู้คนอาศัยอยู่บนดอยด้วยกันอย่างสงบสุข พอมีเหมืองแร่เข้ามาทำได้สักพัก พวกเราเริ่มสังเกตว่าพืชผักของพวกเราเริ่มเหี่ยวเฉา ปลาที่เคยอาศัยอยู่ในแม่น้ำเริ่มหายไป น้ำในแม่น้ำเริ่มเหือดแห้ง ผู้คนที่ใช้น้ำจากลำห้วยเริ่มมีอาการปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ ป่าไม้เริ่มหายไป ภูเขาเริ่มโล้นทีละลูก”
ปัจจุบันขั้นตอนการขอสัมปทานเหมืองแร่ฟลูออไรต์ยังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำหนังสือ EIA ชาวบ้านอำเภอแม่ลาน้อยได้ออกมาแสดงพลังคัดค้านเพื่อขอให้มีการยกเลิกการขอสัมปทานเหมืองแร่และหวังว่าฝันร้ายในอดีตที่ตามหลอกหลอนพวกเขาจะไม่กลับมาหลอกหลอนพวกเขาซ้ำอีก
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2530 กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ออกใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ฟลูออไรต์ ให้แก่บริษัทฯ ในพื้นที่ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในเนื้อที่ 60 ไร่ 0 งาน 36 ตารางวา ประทานบัตรเลขที่ 18266/13985 และหมดอายุใบอนุญาตในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541
ต่อมาปี 2538 บริษัทฯ ได้เข้ามายื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ฟลูออไรต์ในพื้นที่หมู่ 4 ตำบลสันติคีรี อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ปกาเกอะญอ มีจำนวนกว่า 50 ครัวเรือน จำนวนพื้นที่ที่ขอประทานบัตร 123 ไร่ 3 งาน 0 ตารางวา ในเขตลุ่มน้ำชั้น 1A และ 1B (พื้นที่ดังกล่าวเคยมีทำการเหมืองแร่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว และได้ทำการปิดตัวลง)
ปี 2553 อุตสาหกรรมฯ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ปิดประกาศเรื่องการขอประทานบัตร เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสีย ได้ใช้สิทธิในการโต้แย้ง และในวันที่ 23 มกราคม ประชาชนได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ต่อมาอุตสาหกรรมจังหวัดได้แจ้งให้บริษัททราบว่า ไม่สามารถดำเนินการจัดเอกสารครบถ้วนได้เนื่องจากการขอใช้ประโยชน์ลุ่มน้ำชั้น 1A และ 1B นั้น 1.ต้องได้รับความเห็นชอบจากมติครม. 2.ต้องมีรายงาน EIA และ 3.ต้องได้รับความเห็นจาก อปท.
ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 ทางบริษัทฯ แจ้งว่ามีความประสงค์จะดำเนินการตามคำขอดังกล่าว ให้มีการรังวัดที่ดิน โดยตัดเนื้อที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ออก ซึ่งอุตสาหกรรมฯ ได้ดำเนินการ คงเหลือพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1B เนื้อที่ 114 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ในระยะรัศมี 500 เมตร คือหมู่บ้านห้วยมะกอก ม.4 ต.สันติคีรี (หย่อมบ้านห้วยตะพาบ) ,ระยะรัศมี 1 กิโลเมตร คือหมู่บ้านผาแดงหลวง ม.2 ต.บ้านแม่โถ (หย่อมบ้านโป่งน้ำร้อน) ,ระยะรัศมี 1.8 กิโลเมตร ม.4 บ้านห้วยมะกอก ต.สันติคีรี และระยะรัศมี 2 กิโลเมตร ม.5 บ้านหัวดอย ต.สันติคีรี (หย่อมบ้านห้วยมะกอกน้อย)
และล่าสุดในปี 2565 ววันที่ 26 มิถุนายน อุตสาหกรรมฯ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ชาวบ้านออกมารวมตัวคัดค้าน แสดงจุดยืนว่าไม่ต้องการเหมืองแร่ฟลูออไรต์ ตามจุดต่างๆ ที่เป็นทางผ่านของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยทางอุตสาหกรรมฯ ได้ปิดประกาศอีกครั้ง และประสานผู้นำชุมชนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดประชุมรับฟังความเห็นของชุมชน ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ณ โรงเรียนบ้านห้วยมะกอก อุตสาหกรรมฯ ได้แจ้งให้บริษัทฯ ว่ามีการคัดค้านคำขอดังกล่าว “ขอให้บริษัทฯ ชี้แจงทำความเข้าใจให้ราษฎรและผู้นำชุมชนในพื้นที่ เกี่ยวกับข้อร้องเรียน คัดค้านในประเด็นต่างๆ หากไม่ประสงค์ จะดำเนินการตามคำขอดังกล่าว ก็สามารถขอถอนคำขอดังกล่าวได้”
22 กรกฎาคม ตัวแทนชาวบ้านอำเภอแม่ลาน้อย ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการที่รัฐสภา กรุงเทพฯ และ 21 สิงหาคม 2565 ชาวบ้านอำเภอแม่ลาน้อยได้ร่วมกันจัดพิธีกรรม “หลือเกอะเจ่อ จิเปอะเตรอเกอจ่า” บวชภูเขา(บวชป่า) ร่วมกันสรรเสริญธรรมชาติ
นี่คือฝันร้ายที่กำลังกลับมาเยือนพี่น้องชาวอำเภอแม่ลาน้อยอีกครั้ง
เป็นฝันร้ายในชื่อของเหมืองแร่ฟลูออร์ไรต์
ฝันร้ายในนามของฟลูออไรต์
นายคะศุกร์ บุญสิงขร ชาวบ้าน บ้านห้วยมะกอก อายุ 53 ปี อดีตผู้ที่เคยไปทำงานที่เหมือง เล่าว่า เมื่อตอนเด็กจำได้ว่าตอนนั้นได้มีบริษัทเข้ามาขุดเจาะเหมืองแร่ มีคนงานเหมืองจากข้างนอกพากันเข้ามาทำงาน บางส่วนก็มาจากจังหวัดลำพูน บางส่วนมาจากดอยเต่า และบางส่วนเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในเหมือง การขุดเจาะในช่วงแรกนั้นยังไม่มีชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปทำสักคนเลย
หลังจากที่มีการขุดเจาะได้ประมาณ 3 ปี ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มอยู่กันไม่ได้เนื่องจากไม่สามารถทำการเพาะปลูกหรือทำการเกษตรได้ แม้แต่ต้นข้าวที่ว่าปลูกขึ้นง่ายแล้ว ก็ยังไม่สามารถเพาะปลูกได้ เนื่องจากเหมืองตั้งอยู่เหนือชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ ทำให้ไม่มีน้ำที่เพียงพอ ทุกอย่างแห้งแล้งไปหมด อีกทั้งน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากเหมืองเต็มไปด้วยสารเคมี
แม้แต่สิ่งมีชีวิตก็ไม่สามารถอาศัยอยู่ในแม่น้ำให้พวกเราได้เห็นอีก ป่าไม้ถูกตัดและทำลายโดยกลุ่มนายทุนเหมือง ภูเขาโล้นไปหมด เสียงนกกาถูกแทนที่ด้วยเสียงระเบิด ก้อนหินกระจัดกระจายไปทั่ว บ้างก็หล่นทับพื้นที่แหล่งน้ำ บ้างก็หล่นทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ส่วนหมู วัว และควายของชาวบ้านถูกขโมย ซึ่งพวกเรารู้ดีว่าใครเป็นคนขโมย แต่เราไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือต่อสู้ เพราะฝ่ายนั้นเขามีปืน มีระเบิด จึงทำได้เพียงแค่เงียบ
ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำมาหากินได้ เป็นช่วงที่พวกเราอดอยาก ดังนั้นเพื่อให้มีชีวิตรอด พวกเราหลายคนจึงพากันเข้าไปรับจ้างทำงานในเหมืองแร่ บางคนก็เป็นคนเข็นแร่ บางคนก็ทำหน้าที่ขุดเจาะ บางคนก็เป็นคนทุบแร่ และบางคนก็ทำหน้าที่ยกหินแร่ใส่ในรถ แต่ตอนที่เข้าไปทำ ลุงทำหน้าที่เป็นคนเข็นแร่ในเหมือง ตอนนั้นได้รับค่าแรงวันละ 15 บาท ซึ่งภาพที่เราเห็นคือ ก้อนหิน คน ระเบิด แต่สิ่งที่น่าเศร้ากว่าคือ มีหลายคนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุของการระเบิดเหมือง
หลังจากนั้นบริษัทก็ยกเลิกการทำเหมืองไป แต่ก็เข้ามาทำอีกเป็นครั้งที่ 2 ครั้งนี้ไม่นานนัก และก็ยกเลิกอีกครั้ง มีการขนย้ายอุปกรณ์ทำเหมืองออกไปทั้งหมด ตอนนั้นชาวบ้านต่างพากันดีใจ เพราะจะไม่มีใครมารบกวนพวกเราอีกแล้ว พวกเราสามารถกลับมาเพาะปลูกได้อีกครั้ง ทุกอย่างกลับมาเงียบสงบ ธรรมชาติกลับมาพื้นฟู แม่น้ำทุกสายมีน้ำไหล ป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ พวกเราก็ไม่อยากให้เขาเข้ามาทำอีกแล้ว อยากเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลาน แร่ก็อยากให้อยู่โดยธรรมชาติแบบนี้ ไม่อยากให้ใครมาทำลายมันอีก ไม่อยากให้ความทรงจำอันเลวร้ายนั้น ย้อนกลับมาหรือส่งต่อฝันร้ายให้ลูกหลาน ปล่อยให้ธรรมชาติ และพวกเรา ได้อยู่กันแบบสงบและสันติด้วยเถอะ”
ด้านป้าอัมพร ชาวบ้านจากแม่ลาหลวง อดีตผู้ซึ่งเคยทำงานที่เหมืองอีกคน เล่าว่า “ก่อนที่จะมีการทำเหมืองแร่ทุกอย่างอุดมสมบูรณ์ ผู้คนอาศัยอยู่บนดอยด้วยกันอย่างสงบสุข พอมีเหมืองแร่เข้ามาทำได้สักพัก พวกเราเริ่มสังเกตว่าพืชผักของพวกเราเริ่มเหี่ยวเฉา ปลาที่เคยอาศัยอยู่ในแม่น้ำเริ่มหายไป น้ำในแม่น้ำเริ่มเหือดแห้ง ผู้คนที่ใช้น้ำจากลำห้วยเริ่มมีอาการปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ ป่าไม้เริ่มหายไป ภูเขาเริ่มโล้นทีละลูก
พอพวกเราไม่สามารถทำมาหากินได้ พวกเราก็เลยเข้าไปทำงานในเหมือง ตอนนั้นป้าเข้าไปเป็นคนงานทุบหินแร่ ทุกอย่างแย่มาก ป้าไม่อยากให้มันเกิดขึ้นมาอีก ไม่อยากให้ลูกหลานคนรุ่นหลังต้องมาเจอแบบพวกเรา ป้าขอยืนยันว่าไม่ต้องการเหมืองแร่ และพวกเราชาวแม่ลาน้อยไม่ต้องการเหมืองแร่”
ด้านทนาย สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น อธิบายในมิติของกฎหมายว่า
“กฎหมายแร่ได้ให้อำนาจรัฐเป็นเจ้าของทรัพยากร กล่าวคือแร่ถูกกำหนดให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน และรัฐมีอำนาจในการให้สัมปทานกับเอกชนได้ รัฐสามารถนำทรัพย์สมบัติของชาติไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ ได้
เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายมองว่าอำนาจอยู่ที่รัฐ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะให้ใครหรือไม่ให้ใคร EIA จะเป็นตัวกลางที่จะทำให้รัฐไม่สามารถใช้อำนาจเกินขอบเขตได้ แต่อย่างไรก็ตาม EIA เองก็มีปัญหาเนื่องจากบริษัทที่จะทำเหมืองแร่ กลับไปจ้างให้บริษัทที่รับทำหนังสือ EIA แน่นอนว่า บริษัทที่รับทำหนังสือ EIA ต้องทำให้ผ่านอยู่แล้ว โดยพยายามดันให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ อนุมัติ EIA ให้ได้
และจุดอ่อนของชาวบ้านในหลายพื้นที่ คือ 1.ชาวบ้านไม่รู้กระบวนการ ไม่รู้ถึงสิทธิด้วยซ้ำว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง 2.อยากสู้แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรหรือไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง รัฐเองก็ไม่มีหน่วยงานที่รองรับหรือให้คำปรึกษากับชาวบ้าน ชาวบ้านเองก็ไม่รู้จะต้องวิ่งไปพึ่งใคร
ในสังคมไทยที่เป็นระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ เอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุน ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ และกลไกเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้เราแพ้ตั้งแต่ต้น แต่ไม่ได้แปลว่าชาวบ้านจะไม่ชนะเลย ถ้าชาวบ้านเข้มแข็งก็สามารถต่อกรได้ กฎหมายเองก็กำหนดให้ชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิที่จะได้รับรู้ในข้อมูลข่าวสาร สิทธิการมีส่วนร่วมในขั้นตอนต่างๆ
แนวทางแก้ไขปัญหาในระยะสั้น คือ ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมารวมตัวกันเพื่อประกาศว่า เราไม่ต้องการเหมืองแร่ หากเสียงที่ส่งไป ไม่มีพลังมากพอให้ใช้กระบวนการยุติธรรมเข้ามาช่วย กล่าวคือการยื่นฟ้องคดีต่อศาล
แนวทางระยะยาว คือ การออกมารวมตัวกันเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครอง ให้เป็นในรูปแบบประชาธิปไตย โดยการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการอย่างแท้จริง เนื่องจากประชาชนสามารถใช้อำนาจที่อยู่ในมือได้ เพราะที่มาของผู้นำท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน หากท้องถิ่นไม่รับฟังหรือไม่อยู่ข้างประชาชน ประชาชนก็สามารถออกมาร้องเรียน หรือไม่เลือกในภายภาคหน้าได้
ปัจจุบันขั้นตอนการขอสัมปทานเหมืองแร่ฟลูออไรต์ยังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำหนังสือ EIA ชาวบ้านอำเภอแม่ลาน้อยได้ออกมาแสดงพลังคัดค้านเพื่อขอให้มีการยกเลิกการขอสัมปทานเหมืองแร่และหวังว่าฝันร้ายในอดีตที่ตามหลอกหลอนพวกเขาจะไม่กลับมาหลอกหลอนพวกเขาซ้ำอีก
ขอฝันร้ายอย่าย้อนกลับมาอีกเลย
เรื่อง : จินตนา ประลองผล
ภาพโดย : วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร