เรื่องและภาพ: ธันย์ชนก กันธิยาใจ

ภาพ: ธันย์ชนก กันธิยาใจ

ภาพของเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ที่คุ้นตาชาวแม่เมาะที่ถูกขุดอยู่ทุกวันเพื่อนำถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้คนทั้งประเทศใช้ พื้นที่เหมืองแม่เมาะยังถูกทำให้เป็นพื้นที่สวยงามที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชื่นชมความยิ่งใหญ่สวยงามของเหมืองแม่เมาะ

แต่เมื่อมองภาพให้ลึกลงไปในภาพสวยงามเหล่านี้มีอะไรที่เรามองผ่านเลยไปอยู่หรือเปล่า? 

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีกำลังผลิตตามสัญญารวม 2,220 เมกะวัตต์โรงไฟฟ้าพลังความร้อน เครื่องที่ 8-13 กำลังผลิตเครื่องละ 270 เมกะวัตต์ รวม 1,620 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนเครื่องที่ 14 (ทดแทนเครื่องที่ 4-7) กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ.บอกว่าเป็นเครื่องที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ

แม้จะฟังดูดีแต่น้ำเสียงของชาวบ้านในละแวกนั้นกลับสวนทางในทุกประโยคที่กฟผ. บอก

“เรื่องผลกระทบในปัจจุบันเรื่องกลิ่นเหม็นชาวบ้านก็ยังได้รับผลกระทบอยู่เป็นบางครั้ง เราไม่รู้ว่าเทคโนโลยีของเขาเนี่ยมันก้าวหน้าขนาดไหน แต่เราก็ไม่มั่นใจเพราะในอดีตมันเคยมีเรื่องเครื่องดักก๊าซซัลเฟอร์เสียในปี 2541ที่ได้รับผลกระทบหมดทั้งอำเภอแม่เมาะทำให้สัตว์ล้มตาย วัวควายสัตว์เลี้ยงล้มตาย คนก็ป่วย แต่คนยุคป้าเนี่ยก็ยังฝังใจและยังกังวลกับเรื่องนี้อยู่เครื่องจักรมันมีวันเสีย ถ้าเกิดวันหนึ่งมันเสียขึ้นมาอีกประวัติศาสตร์มันจะเกิดซ้ำรอยอีกรึเปล่า แต่ที่เขาบอกว่าเครื่องได้มาตรฐานก็ขอให้ทำให้ดีที่สุดก็แล้วกันอย่าให้ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอยอีก”

“สภาพอากาศในแม่เมาะ แม้จะมีการชี้แจงบอกกล่าวว่าไม่เกินมาตรฐาน แต่ขณะที่บอกว่าไม่เกินมาตรฐานในนามของโรงไฟฟ้า ก็คนละตัวชี้วัดกับคำว่าไม่เกินมาตรฐานที่จมูกของชาวบ้านในพื้นที่สูดหายใจเข้าไป คือร่างกายของมนุษย์ถามว่าไม่เกินมาตรฐานจริงแต่มันก็มีไม่ใช่มันไม่มีแม่นก่อ คุณต้องยอมรับว่าไม่เกินมาตรฐานแสดงว่ามันมีอยู่ แล้วมาตรฐานของคนแต่ละคนมันรับได้เท่าไหร่”

ภาพ: ธันย์ชนก กันธิยาใจ

ควันที่ลอยออกมาจากปากปล่องโรงไฟฟ้า

“เปิ้นบอกว่ามันบ่อมีพิษอี้แหน่ มันเป็นไอน้ำ ถ้ามันไม่มีพิษคุณก็ออกประกาศมาสิว่าควันที่ลอยขึ้นไปบนฟ้าที่ไปจับเป็นก้อนเมฆแล้วเป็นฝนตกลงมาเนี่ย ถ้ามันสะอาดจริงคุณประกาศไปเลยให้ชาวบ้านมั่นใจ เอาน้ำฝนมาดื่มมาใช้ได้ให้ชาวบ้านดู แล้วตอนนี้คนแม่เมาะกินน้ำไหนล่ะน้ำฝนที่มันเป็นน้ำฟรีไม่ได้กินมันต้องซื้อน้ำกินทำไมถึงกินน้ำบนฟ้าไม่ได้ ต้องตอบมาสิว่ามันสะอาดยังไงถ้ามันสะอาดได้คุณก็ออกประกาศมาเลยว่าให้เอาน้ำนั้นมากิน แล้วชาวบ้านที่เขาไม่รู้เรื่องไม่รู้ราวที่เขากินน้ำฝนคุณก็ยังไม่ประกาศเลยว่ามันกินได้หรือไม่ได้ แล้วเหตุใดชาวบ้านถึงต้องมาเสียเงินซื้อน้ำกินถ้าว่ามันสะอาดไม่มีมลพิษ เขาต้องตอบคำถามตรงนี้กับเราให้ได้แต่เขาเลี่ยงที่จะตอบคำถาม ถ้าเราถามแบบนี้ไปเขาก็บอกว่ามันไม่เกินมาตรฐาน ไม่เกินมาตรฐานแสดงว่ามันมีใช่มั้ย ถ้ามันสะอาดจริงชาวบ้านก็ต้องกินน้ำได้โดยไม่ต้องเสียเงิน”

จุ๋ม-มะลิวรรณ นาควิโรจน์ เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ/ ภาพ: ธันย์ชนก กันธิยาใจ

เสียงจาก จุ๋ม-มะลิวรรณ นาควิโรจน์ เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ที่แม้จะย้ายจากพื้นที่รอบบ่อเหมืองออกมานานแล้วแต่ก็ยังคงมีความกังวลอยู่ เพราะจุ๋มก็เคยเป็นอีกคนหนึ่งที่เคยอยู่ในพื้นที่รอบบ่อเหมืองแม่เมาะมาก่อนและเป็นผู้ที่เคยได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแม่เมาะมาก่อน

“แต่ก่อนเฮาอยู่ขอบเหมืองอยู่ห้วยคิงน่อ แต่บ่าเดี่ยวนี้ย้ายออกมาได้ 16 ปีนี่ละ” จุ๋มกล่าวพร้อมกับพาเราย้อนนึกกลับไปยังอดีต

“บ้านเดิมอยู่ห้วยคิงมาอยู่ตั้งแต่ปี 2527 ตามสามีมาทำงานอยู่ในเหมืองและลงหลักปักฐานอยู่ที่ห้วยคิงตั้งแต่ปี 2533 และจนกระทั่งในปี 2544 ผลกระทบมันเกิดขึ้นเยอะมากไม่ว่าจะเป็น ฝุ่น กลิ่น เสียง แรงสั่นสะเทือนจากการเปิดหน้าดิน การขยายเหมือง การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขุดเหมืองขุดเอาดินออก พอเปิดหน้าดินมีรถขุดขนกลิ่นของฝุ่นกลิ่นถ่านก็เข้ามาพอถ่านกระทบอากาศไหม้ตัวเองก็เกิดกลิ่นกำมะถัน เสียงจากเครื่องจักรที่ทำงานทั้งวันทั้งคืน คนแถวนั้นก็ไม่ได้หลับไม่ได้นอนอย่างการระเบิดหน้าดินแล้วเกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนแตกร้าวเขาก็มาว่า บ้านเราสร้างไม่ถูกต้องตามมาตรฐานไม่มีวิศวกรสร้างรับรอง”

หลังจากนั้นจุดเดือดของจุ๋มก็ถึงคราวพอกันทีกันสิ่งที่ต้องเผชิญ จึงได้ออกมาต่อสู้ทั้งเรื่องสุขภาพและเรื่องผลกระทบ

“มันไม่เกินมาตรฐาน เอาคำว่ามาตรฐานมาสู้กับเรา ใช่มันไม่เกินมาตรฐานแต่มันรำคาญและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน”

จุ๋มกล่าวอีกว่าที่จริงปัญหามันมีนิดเดียว แค่ย้ายชาวบ้านออกมาจากพื้นที่ก่อน สร้างให้ปลอดภัยก่อน เพราะที่จริงมันก็มีประโยชน์ที่มีไฟฟ้าใช้ แต่คนอื่นได้ประโยชน์แล้วทำไมต้องทำให้ชุมชนที่อยู่รอบข้างได้รับผลกระทบ เหมือนว่าไม่จริงใจการแก้ปัญหา นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้จุ๋มออกมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิของตัวเองและชาวบ้านชุมชนรอบเหมือง

จุ๋มยังกล่าวอีกว่า ในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาใช้สิทธิของเราตามรัฐธรรมนูญปี 2540 มันเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน แต่พอมาการมาถึงของรัฐธรรมนูญปี  2550 ก็ลดลงไป จนถึงรัฐธรรมนูญ 2560 จุ๋มย้ำว่าแทบไม่เหลืออะไรเลย สิทธิหน้าที่ของพลเมืองมันถูกบั่นทอนอย่างไม่เป็นชิ้นดี แม้กระทั่งเรื่องขององค์กรอิสระก็ไม่อิสระจริง ซึ่งมันทำให้เห็นชัดว่าถูกกดขี่โดนบีบบังคับ ไม่ใช่แค่กับกฟผ. แต่มันคือรัฐทั้งระบบ

“เมื่อก่อนเราก็ไปประท้วงที่กรุงเทพฯ ไปกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ เขาก็ยินดีจะให้ไปคุย แต่เค้าจะทำตามข้อเรียกร้องหรือไม่ทำก็อีกเรื่อง ผู้รักษากฎหมาย ทนาย อัยการ ศาลควรจะเข้าถึงเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมนี่ถ้าเป็นเมืองนอกนะ ป่านนี้โรงไฟฟ้านี่ถูกปิดไปแล้วแต่ที่นี่มันไม่ใช่ ค่าเยียวยาก็ได้ไม่คุ้มกับที่เสียไป”

ภาพ: ธันย์ชนก กันธิยาใจ

อดีตที่ขมขื่น

เหตุการณ์มลพิษทางอากาศจากเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ เมื่อต้นฤดูหนาวปลายปี 2535 ซึ่งก่อผลกระทบต่อคน พืช และสัตว์เลี้ยง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ได้เปิดเผยจำนวนผู้ป่วยจากมลพิษเฉียบพลันในครั้งนั้นว่ามีผู้ป่วยนอก 1,222 ราย และต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 35 ราย และมีผู้ที่มารับการรักษากับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่อีก 1,120 ราย

หลังเหตุมลพิษ ผู้ได้รับผลกระทบได้ยื่นฟ้องคดีหลายคดีในชั้นศาลทั้งศาลแพ่ง และศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องให้ กฟผ. ทำตามกฎหมาย และขอให้เยียวยาความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีที่ฟ้องเมื่อปี 2547–2548 รวม 2 คดี 

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษา คดีที่ผู้ป่วยที่อาศัยอยู่รอบเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 131 ราย ร่วมกันฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่ปี 2546เรียกค่าเสียหายกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะกระทำละเมิดละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด จนทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 เป็นกระบวนการที่ใช้เวลาถึง 6 ปี นับแต่การยื่นฟ้อง อย่างไรก็ตามฝ่าย กฟผ. กลับ ยื่นอุทธรณ์โดยให้เหตุผลว่า “…การที่ศาลวินิจฉัยว่า กฟผ. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกระทำละเมิดต่อผู้อื่นนั้น หาก กฟผ. ไม่ยื่นอุทธรณ์จะส่งผลต่อชื่อเสียงและการดำเนินการของ กฟผ…” [2] อุทธรณ์นั้นกินเวลาอีกกว่า 6 ปี ที่ กฟผ. ยื้อไม่ยอมจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น 

10 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาคดีด้านสิ่งแวดล้อมอีกคดีหนึ่ง ซึ่งชาวแม่เมาะจำนวน 318 คน ได้ยื่นฟ้องเหมืองถ่านหินแม่เมาะไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยศาลได้มีคำพิพากษาให้ กฟผ. ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม

“กว่าเราจะได้ย้ายมาที่นี่เราต่อสู้กับรัฐบาลมาหลายรัฐบาลทุกรัฐบาล จนมาถึงปัจจุบันมาอยู่ตรงนี้ตั้งแต่ปี 2549 และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีเอกสารสิทธิ คุณจะขยายเหมืองคุณทำได้ทันที แต่การที่คุณจะแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทำไมไม่ทำ”

เสียงของจุ๋มที่พูดด้วยน้ำเสียงขุ่นเคืองปนคำถามว่า ทำไมชาวบ้านไม่สามารถได้รับสิทธิในที่ดินทำกินหรือสิทธิในพื้นที่ที่ตัวเองอยู่อาศัยที่ควรจะได้รับ ตรงกันข้ามกับการขยายพื้นที่เหมืองสามารถทำได้โดยง่ายดาย ทั้งที่มันกระทบต่อพื้นที่ต่อทรัพยากรตั้งมากมาย และมากกว่าการทำกินเพียงเล็กน้อยของชาวบ้านด้วยซ้ำ

“เพราะครม.มีมติให้อพยพมาอยู่บนพื้นที่ใหม่แล้วจะออกเอกสารสิทธิให้ แต่ปรากฏว่า ณ วันนี้ยังไม่ได้เอกสารสิทธิและพื้นที่นี้ก็กลายเป็นพื้นที่ป่า เพราะสัญญาเช่าของการไฟฟ้ามันหมด ซึ่งปัจจุบันเรามีฐานะอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น การออกจากที่เดิมมาอยู่ที่ใหม่เนี่ยมันควรจะดีกว่าเดิม แต่นี่มันกลับแย่กว่าเดิมเพราะว่าที่บ้านเก่าบางคนมีเอกสารสิทธิมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยอย่างมั่นคงแต่มาอยู่ตรงนี้มันไม่มั่นคงเพราะว่า ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอะไรต่าง ๆ น้ำประปาเสีย ของบประมาณไป อบต.ก็บอกว่าเป็นพื้นที่ป่าทำไม่ได้ ก็ตรงนี้มันโครงสร้างพื้นฐานชาวบ้านควรจะได้และรัฐจัดพื้นที่มาให้แล้วทำไมที่คุณจะออกเอกสารสิทธิให้คุณไม่ออกหอ ซึ่งมันเหมือนกับว่าหลอกลวงชาวบ้านมาทิ้งมาขว้างทั้ง ๆ ที่เป็นมติของรัฐบาลมติ ครม.เขาก็ยังไม่ทำตาม ทุกวันนี้ป้าก็ยังเดือดร้อนอยู่จนกระทั่งไปร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินไปร้องเรียนกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปร้องกรรมการสิทธิ ก็มีแค่ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตั้งแต่ เดือนสิงหาคม 2565 จนถึงตอนนี้ (2566) ยังไม่ได้เพิกถอนป่า ซึ่งมันตรงกันข้ามกับที่คุณจะขยายเหมืองคุณทำได้ทันที แต่การที่คุณจะแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทำไมไม่ทำ แล้วมันก็เป็นเหตุที่ว่าจาวบ้าน อบต. สู้โครงการรัฐ ก็โครงการรัฐมันไม่ได้จริงใจกับชาวบบ้าน”

มาถึงปัจจุบันชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ขอบเหมืองและได้รับการอพยพย้ายออกมาจากพื้นที่ตรงนั้น ยังไม่ได้รับเอกสารสิทธิในที่อยู่อาศัยที่ดินทำกินซึ่งตอนนี้จุ๋มก็ยังคงยืนหยัดต่อสู้เรื่องของเอกสารสิทธิของหมู่บ้านอยู่ เพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาที่ถูกต้องและเป็นสิ่งที่ชาวบ้านควรจะได้รับ

“คือข้ามทางรถไฟมานี่มันเป็นหมู่บ้านใหม่ทั้งหมด แต่ก่อนที่เคยเป็นพื้นที่ป่า ที่ย้ายมาอยู่ที่นี่ที่ยังไม่ได้เอกสารสิทธิ รวมถึงบ้านเวียงหงส์ล้านนาที่ก็ยังไม่ได้”

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ นำโดย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะประกาศให้โครงการแผนพัฒนาแม่เมาะเมืองน่าอยู่ จังหวัดลำปาง เป็น 1 ใน 5 ที่ได้รับมอบตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองการเป็นพื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศ เป็นระยะเวลาทั้งหมด 2 ปี

โครงการแผนพัฒนาแม่เมาะเมืองน่าอยู่คือ โครงการส่งเสริมผลักดันให้ชุมชนในอำเภอแม่เมาะมีการพัฒนา และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ตลอดจนมีสิ่งแวดล้อมที่ดีเหมาะแก่การอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ภายหลังจากการปิดเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าแม่เมาะในปี พ.ศ. 2594 โดยเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนด้วยชุมชนเอง ผ่านแนวทาง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) และด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)

แต่ชาวบ้านบางส่วนยังคงไม่ได้รับเอกสารสิทธิที่ดินทำกินหรือแม้แต่เอกสารสิทธิในที่อยู่อาศัยเลยแล้วชาวบ้านจะสามารถพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

ดังเสียงสะท้อนของป้าจุ๋มที่บอกว่า แล้วบอกว่าแม่เมาะเมืองน่าอยู่แล้วใครอยู่ พอหมดเงินเดือนคนที่ทำงานผู้บริหารก็ออกไป แต่คนที่เค้าอยู่คือชาวบบ้านเค้าเดือดร้อน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ กฟผ. ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 ซึ่งจะถูกปลดออกจากระบบไฟฟ้าในปี 2565 และปี 2568 โดยมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 600 เมกะวัตต์ พร้อมระบบส่งไฟฟ้า และมีวงเงินงบประมาณโครงการรวม 47,470 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้า ในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งนี้ วงเงินโครงการให้ใช้งบประมาณจากแหล่งรายได้ของ กฟผ. เป็นอันดับแรก หากจำเป็นต้องใช้เงินกู้ กระทรวงการคลังจะจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ตามความเหมาะสม โดยกระทรวงการคลังจะไม่ค้ำประกัน

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 มีระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 48 เดือน กำหนดจ่ายไฟฟ้า เชิงพาณิชย์ในปี 2569 และมีประสิทธิภาพเฉลี่ยตลอดอายุการเดินเครื่อง 25 ปี โดยจะตั้งอยู่ภายในพื้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเดิม ใช้พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 145 ไร่ อยู่ในขอบเขตพื้นที่ของ กฟผ. ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2593 อีกทั้งยังมีความพร้อมของระบบส่งไฟฟ้าจึงช่วยลดการลงทุนก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า ทำให้ไม่เพิ่มต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ช่วยรักษาเสถียรภาพระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ

โดยโครงการดังกล่าวจะไม่กระทบต่อเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 ของรัฐบาล เนื่องจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้งาน เช่น เครื่องผลิตไอน้ำแรงดันเหนือวิกฤต (Ultra-Supercritical) สามารถผลิตไอน้ำได้ดีขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้มากขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้ถ่านหินลดลง และมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าดีขึ้น นอกจากนี้ ยังได้มีการติดตั้งระบบควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าให้อยู่ ในค่ามาตรฐาน ได้แก่ ระบบดักจับฝุ่นและขี้เถ้าลอย (PM) ระบบกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และระบบควบคุมก๊าซออกไซด์ ของไนโตรเจน (NOX)

ความเคลื่อนไหวในนามของการพัฒนาแม่เมาะยังคงเดินทางเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง ในขณะที่ความเป็นความตายก็แขวนอยู่บนเส้นขนานที่ไม่อาจทราบชะตากรรมได้

ภาพ: ธันย์ชนก กันธิยาใจ

แม่เมาะเมืองน่าอยู่

“ที่บอกว่าจะมีการพัฒนาอบรมให้ชาวบ้านเรื่องการทำเกษตรเนี่ย ชาวบ้านแม่เมาะพื้นฐานดั้งเดิมเราเนี่ยคือ การทำเกษตรอยู่แล้วปลูกเองเป็น แค่เอาเอกสารสิทธิมาเดี๋ยวเค้าไปปลูกเอง แต่ตอนนี้เขาจะไปปลูกพืชปลูกผักบนพื้นที่แม่เมาะเนี่ย เขาก็โดนป่าไม้ไล่จับ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิสิ่งที่สำคัญที่แม่เมาะจะน่าอยู่คือเอกสารสิทฺธิมันต้องมีชาวบ้านไม่มีที่ทำกินแล้วชีวิตเขาจะดีขึ้นได้ยังไง หรือพื้นที่ดั้งเดิมที่เค้าทำมาก็กลายเป็นพื้นที่ป่าก็ไม่มีเอกสารสิทธิจะไปทำกิน ก็โดนป่าไม้ไล่จับจ่ายเงินเดือนให้พนักงานได้จ่ายเงินเดือนให้ชาวบ้านสิน่าอยู่แน่ ทุกวันนี้ชาวบ้านทำไมยังจนอยู่สิ่งที่อยู่ได้คือเหล้าขาว ไปทำงานมาทั้งวันเพื่อมาซื้อเหล้าขาว”

จากคำบอกเล่าของจุ๋ม ทำให้เราเห็นภาพสะท้องของคนแม่เมาะที่ยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ได้ดีขึ้นหรือสวยงามตามภาพฝันในโฆษณาแม่เมาะเมืองน่าอยู่เลย

“มีโรงไฟฟ้าจะทำให้มีงานทำมีเหมืองจะทำให้มีงานทำ แล้วคนแก่คนเฒ่าทำงานในเหมืองจะให้ไปทำอะไร ผู้หญิงไปทำอะไร ไปเป็นแคดดี้อยู่สนามกอล์ฟไปเป็นพนักงานทำความสะอาด แล้วลูกหลานที่เรียนจบจากเทคนิคไปทำงานขับรถ เป็นยาม จบป.ตรีมาไม่มีงานทำไปเป็นยามอยู่ในบ่อ มันมี 2 มุม คือคุณจะมองยังไงก็ได้แต่เราก็มองเห็นมาแบบนี้ ไหนล่ะน้ำฟรีไฟฟรีที่เคยโฆษณาเอาไว้ตอนที่แรก ๆ ที่จะขยายเหมืองที่ให้ชาวบ้านย้ายออกมา เค้าบอกว่าจะได้น้ำฟรีไฟฟรีตอนนี้คนพูดตายไปแล้วยังไม่ได้เลยน้ำฟรีไฟฟรี บ้านใหม่รัตนโกสินทร์ย้ายบ้านออกจากอ่างแม่จางย้ายหนีมาอยู่บ้านใหม่รัตนโกสินทร์ (ปัจจุบัน) เพื่อให้เค้าขุดอ่างแม่จางมาเป็นเขื่อนเอาน้ำไปผลิตกระแสไฟฟ้า แล้วได้มั้ยล่ะน้ำฟรีไฟฟรีถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้”

จุ๋มกล่าวถึงนโยบายรัฐบาลบอกให้เด็กรักชาติหาก แต่บ้านตัวเองยังไม่รักแล้วจะไปรักชาติได้ยังไง “เราต้องรักบ้านก่อนรักสิทธิในรั้วของตัวเองก่อน” เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ป้าจุ๋มอยากจะเห็น 

“อยากให้คนแม่เมาะเด็กรุ่นใหม่ ๆ ลุกขึ้นมาดูข้อมูลลุกขึ้นมาดูข้อเท็จจจริงเพื่อที่จะได้มาปกป้องบ้านตัวเองสิทธิที่ควรจะได้ถ้าเด็กที่แม่เมาะ กระตือรือร้นในเรื่องของความเป็นอยู่ที่ตัวเองอยู่ว่า สิ่งที่ได้รับมันดีพอรึยังเขาดูแลเราดีอย่างที่เขาโฆษณารึเปล่าเห็นโฆษณาเยอะแยะ ฟื้นฟูป่าปลูกป่าได้เงินมาตั้งกี่ร้อยล้านสิ่งที่ควรทำไอ้เหมืองที่ขุดหมดแล้วเนี่ยควรถมกลับแล้วปลูกบนนั้น ไม่ใช่ไปตัดต้นไม้ให้มันโล่งๆที่เผาเตียนแล้วไปปลูกตรงนั้นมันก็ละลายงบประมาณเปล่า ๆ ปลูกมาทุกปีไม่เห็นมีป่าเลยเนี่ย แม่เมาะให้งบประมาณปลูกป่าที่อยากเห็นคือ แม่เมาะถมดินกลับในเหมืองแล้วปลูกป่าทดแทนตรงนั้น แล้วนี่เมื่อไหร่ถึงจะถม”

ภาพ: ธันย์ชนก กันธิยาใจ

อนาคตที่ยังมาไม่ถึงแต่เราจินตนาการและวาดหวังไว้

“ก็เคยคิดว่าถ้าเหมืองหมดไปแล้วเนี่ย แล้วแม่เมาะมันก็จะเป็นเมืองร้างใช่มั้ย ก็จะไม่มีอะไรแล้วเงินกองทุนต่าง ๆ ก็ไม่มีแล้ว แล้วเราจะเอาอะไรมาเป็นตัวดึงดูดเหมืองเก่าก็จะกลายเป็นเหมืองร้างทำเป็นอ่าง เขาบอกว่าตรงที่เป็นอ่างจะทำบ่อปลาแล้วสารโลหะหนักจากการทำถ่านหินที่มันสะสมอยู่ในอ่างนั่นล่ะปลามันจะอยู่ได้มั้ย แล้วแม่เมาะพื้นที่ตรงนั้นมันก็จะไม่มีความเจริญ ก็เลยเสนอว่าทำไมเราไม่ทำมหาวิทยาลัย มาตั้งที่แม่เมาะคนบ้านเราจะได้มาศึกษา คนข้างนอกก็จะเข้ามาทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยาอะไรไป ก็คิดว่านั่นคือเป็นการพัฒนาให้มันดีขึ้นได้มันเหมือนรอยแผลเก่าทำยังไงมันถึงหายไปได้ ที่ไม่อายที่จะบอกว่าแม่เมาะมันเคยมีปัญหา อย่าอายที่จะบอกว่าในอดีตมันมีผลกระทบ แม่เมาะที่ดีมันจะต้องไม่มีการคอรัปชั่นมันจะต้องมีการพัฒนาที่เป็นจริง แต่ทุกวันนี้สร้างอาคารตึกร้างสร้างอาคารให้จิ้งจกไปอยู่ อาคารผู้สูงอายุ อาคาร อสม. มันเป็นเงินที่ละลายไปโดยที่ไม่ได้ประโยน์ ไอ้พวกมลพิษที่เคยสะสมอยู่ข้างในร่างกายเรามาล่ะ 10 ปี 20 ปีมันจะไม่มีเลยหรอ เคยเรียกร้องให้มีโรงพยาบาลที่มาตรฐานมีหมอด้านทางเดินหายใจ ก็เป็นกลุ่มเครือข่ายที่ไปเรียกร้องกันมา”

ภาพฝันที่จุ๋มและคนแม่เมาะหลายคนคิดเอาไว้ในอนาคต คงจะไม่ใช่เมืองอัจฉริยะหรืออะไรที่มันล้ำเลิศมากมายไปมากกว่าภาพฝันที่จะเห็นคนแม่เมาะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชาวบ้านได้รับการแก้ไขปัญหาได้มีสิทธิโครงสร้างพื้นฐานที่ควรจะได้รับและไม่ลืมเลือนบาดแผลความเจ็บปวดที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ที่มีคนล้มตายจากผลกระทบของโรงงานเหมืองถ่านหินแห่งนี้และการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ควรจะได้ของคนแม่เมาะ จะยังคงเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นและเป็นวิทยาทานต่อไปได้

“เราเป็นวิทยาทานอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนแม่เมาะถ้ามารู้เรื่องนี้ ก็คิดว่ามันจะสืบต่อไปไม่ให้เรื่องนี้มันจบแค่รุ่นนี้แล้วไม่มีใครมาทำต่อมาสู้ต่อ แต่เรื่องแม่เมาะมันเงียบเพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเนี่ยหุบปาก”


อ้างอิง

23 ปีมลพิษที่แม่เมาะ: ความยุติธรรมที่มิอาจยุติความตาย


เกี่ยวกับผู้เขียน  

ธันย์ชนก กันธิยาใจ โดยผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม (Journer) ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 5 สำนักข่าว คือ Prachatai, The Isaan Record, Lanner, Wartani และ Louder เพื่อร่วมผลิตเนื้อหาข้ามพื้นที่ และสื่อสารประเด็นข้ามพรมแดน สนับสนุนโดยสถานทูตของเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ รวมถึงยูเนสโกและโครงการร่วมที่นำโดย United Nations Development Programme (UNDP) ดูโครงการเพิ่มเติมได้ที่ https://journalismbridges.com