Home Blog Page 2

ล้านนา World: ความหวังของคนท้องถิ่นในแม่ฮ่องสอน

เรื่อง: ภู เชียงดาว 

Summary

  • ผลสำรวจของเอแบคโพลล์ปี พ.ศ.2556 ชี้ว่าจังหวัดที่มีความสุขที่สุดในประเทศไทยคือ “แม่ฮ่องสอน” เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ยังอุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิตของชาวบ้านที่เรียบง่าย และความปลอดภัยในทรัพย์สิน โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกหนึ่งจังหวัดทางภาคเหนือที่มีความโดดเด่น ทั้งเรื่องสภาพภูมิประเทศ ความหลากหลายด้านวัฒนธรรม รวมถึงประชากรที่มาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนอุดมไปด้วยเสน่ห์ที่ใครๆ ก็อยากเดินทางไปสัมผัส
  • ช่วงปี 2546-2565 เป็นต้นมา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ติดอยู่อันดับ 5 จังหวัดแรกที่สัดส่วนคนจนมากที่สุดติดต่อกันเป็นเวลาเนิ่นนานถึง 19 ปีเต็มๆ! ยิ่งไปกว่านั้น “จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ยังเคยติดอันดับ 1 ของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดยาวนานถึง 9 ปีติดต่อกัน ระหว่างปี 2549-2557 โดยในปี 2550 เคยมีสัดส่วนคนจนมากที่สุดถึง 74.40% และในปี 2551-2553 หรือ 3 ปีต่อมาก็ยังคงมีสัดส่วนคนจนที่แทบไม่ต่างกันที่ 70.39% อีกด้วย 
  • “เราในฐานะคนแม่ฮ่องสอนคนหนึ่งที่มีความรักและผูกพันกับบ้านเกิด ก็อยากให้ทุกคนในบ้านเมืองนี้มีความสุข อยากให้ชาวบ้านมีรายได้ สามารถดูแลตัวเองได้  อยากให้การพัฒนาของแม่ฮ่องสอนเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ไม่อยากให้มันกระจุกที่ใดที่หนึ่ง มีการเฉลี่ยรายได้ให้ทั่วถึงทุกๆ คน รวมถึงเป็นจังหวัดที่มีการรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้ดี ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืนตลอดไป”

‘แม่ฮ่องสอน’ เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ผมหลงรักและมักเดินทางไปเยือนอยู่บ่อยครั้ง      เมื่อพูดถึงแม่ฮ่องสอน หลายคนจะนึกถึงสิ่งใดมาก่อนเป็นลำดับแรก เมืองสามหมอก เมืองแห่งชาติพันธุ์ เมืองชายแดน เมืองแห่งประวัติศาสตร์ เมืองแห่งความสุข แน่นอนเหล่านี้ ล้วนเป็นเสน่ห์ของแม่ฮ่องสอน ที่หลายคนชอบไปเยือนกันบ่อยๆ เนื่องจากในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละอำเภอนั้น มีจุดเด่น มีความหลากหลาย ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป

การท่องเที่ยว เป็นจุดแข็ง จุดขาย และแหล่งรายได้หลักของแม่ฮ่องสอน ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว: Center of Tourism Research and Development สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เห็นว่าครึ่งปีแรกของปี 2567 แม่ฮ่องสอนมีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ประมาณ 3,113.50 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยประมาณ 2,211.37 ล้านบาท และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประมาณ 904.15 ล้านบาท 

‘การค้าและการท่องเที่ยวชายแดน’ เสน่ห์อีกด้านของแม่ฮ่องสอน 

แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมา การค้าส่วนใหญ่ดำเนินผ่านด่านศุลกากรแม่ฮ่องสอน และด่านแม่สะเรียง สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้สรุปภาพรวมการค้าชายแดนว่า ในปี 2566 การค้าชายแดนมีมูลค่ารวมประมาณ 622.38 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 320.92 ล้านบาท และการนำเข้า 301.46 ล้านบาท โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ คือ น้ำมันเชื้อเพลิง, เบียร์, รถแทรกเตอร์, รถยนต์ใช้แล้ว, และสินค้าอุปโภคบริโภค ในขณะสินค้านำเข้าสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นแร่ดีบุก และสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและสินค้าปศุสัตว์ ทำให้เห็นว่า ‘การค้าชายแดน’ เป็นอีกแหล่งรายได้ที่สำคัญของแม่ฮ่องสอน 

แม่ค้ารับซื้อ เส่เนส่า หรือบ่าตื๋นยาง บริเวณท่าเรือแม่สามแลบ (ที่มาภาพ องอาจ เดชา)

เช่นเดียวกับ ‘การท่องเที่ยวชายแดน’ ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ของแม่ฮ่องสอนไม่แพ้กัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านจุดผ่านแดนถาวร เช่น ด่านบ้านน้ำเพียงดิน (ติดกับชายแดนเมียนมา) เน้นการเดินทางแบบไป-กลับและค้าขายชายแดน​ ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกจากการท่องเที่ยวชายแดน ได้แก่ การกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านการค้าชายแดนและการจ้างงานในภาคบริการ เช่น ร้านค้า โรงแรม และการขนส่ง

แม้ว่าการท่องเที่ยวจะสร้างมูลค่ามหาศาลให้จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนแม่ฮ่องสอนทุกคนจะมีรายได้เยอะตามไปด้วย เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจ และรายได้ส่วนใหญ่ของจังหวัด ยังคงเข้าทำนอง “รวยกระจุก จนกระจาย” อยู่เหมือนเดิม ทำให้เรามองเห็นเส้นแบ่งของความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างชัดเจน

ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีสัดส่วนคนจนสูงถึง 24.64% ระหว่างปี 2546-2565 เป็นต้นมา โดยแม่ฮ่องสอนถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับแรก ของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุด ติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 19 ปีเต็ม 

ยิ่งไปกว่านั้น แม่ฮ่องสอน ยังเคยถูกจัดอยู่ในอันดับ 1 ของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดนานถึง 9 ปีติดต่อกัน เมื่อช่วงปี 2549-2557 โดยในปี 2550 มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดถึง 74.40% และในปี 2551-2553 ก็ยังคงมีสัดส่วนคนจนอยู่ที่ 70.39% เรียกได้ว่าเป็นสัดส่วนที่แทบไม่แตกต่างกันเลย

สร้อยแก้ว คำมาลา นักเขียนและคนทำสื่อ คนแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 

สร้อยแก้ว คำมาลา นักเขียนและคนทำสื่อ เธอเป็นคนแม่ฮ่องสอน เกิดและเติบโตที่อำเภอแม่สะเรียง เล่าให้ผมฟังอย่างว่า พอได้กลับมาทำข่าวในพื้นที่แม่ฮ่องสอน ก็เห็นถึงปัญหาที่ใหญ่ที่สุด คือการที่แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ติดอันดับยากจนในระดับต้นๆ ของประเทศมาเป็นสิบๆ ปีเลย และยังคงติด Top 10 ของจังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศมาโดยตลอด 

“มันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเกิดเมืองนอนของเรา ทำไมมันถึงจนซ้ำซาก  มันดิ้นกันไม่หลุดแล้วหรือ ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนพุ่ง ทำให้แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ  เมื่อเทียบสัดส่วนประชากรนะ จนหลายคนอาจจะตกใจว่า ทำไมเมืองเล็กๆ แบบนี้ถึงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง”

สร้อยแก้ว บอกอีกว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด และสิ่งที่ตามมาจากปัญหานี้ คือการที่ ‘คนจน’ ถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ทำให้คนแม่ฮ่องสอนที่ต่อให้จะรักบ้านเกิดแค่ไหน ก็ไม่อยากอยู่ที่นี่ เพราะต้องการหาลู่ทางให้หลุดพ้นจากความจน ด้วยการออกไปอยู่พื้นที่อื่น ที่มีโอกาสมากกว่านี้

“แต่เราก็คิดว่าต้องทํายังไง ให้บ้านเมืองที่มีทั้งทรัพยากรธรรมชาติแล้วก็ทรัพยากรด้านวัฒนธรรมที่ดีมากขนาดนี้ มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ มันมีโอกาสที่จะทําได้นะ เพียงแต่ยังไม่มีใครขับเคลื่อนขนาดนั้น ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นบ้างแล้วว่ามีใครพยายามขับเคลื่อนอยู่  เราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมตรงนี้ เพราะเราทําสื่ออยู่ ก็เลย ได้ลงไปคลุกคลีในพื้นที่มากขึ้น”

‘ปาย’ เมืองสวรรค์ของนักท่องเที่ยว สร้างรายได้มหาศาล

ชัยวิชช์ สัมมาชีววัฒน์ อุปนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวของอำเภอปายตั้งแต่ปี 2565-2566 ถือว่าคึกคักมาก มีนักท่องเที่ยวโซนยุโรปและสหรัฐอเมริกาเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มาด้วยรถโดยสารประจำทาง เส้นทางปาย-เชียงใหม่ (ไป-กลับ) วันละไม่ต่ำกว่า 30 เที่ยว รวมถึงการเช่ารถทั้งมอเตอร์ไซค์และรถตู้ 

ภาพถนนคนเดินปาย (ที่มาภาพ ถนนคนเดินปาย)

ปัจจุบันอำเภอปายมีสถานพักแรมราว 250 แห่ง จำนวนห้องพัก 3,500 ห้อง มียอดจองต่อเนื่องเฉลี่ย 80-90% มีร้านอาหารไม่ต่ำกว่า 37 แห่ง ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น โดยในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1.5 ล้านคน เฉลี่ยเป็นวันละประมาณ 4,100 คน ทำให้ปายมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 4,200 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยเป็นวันละประมาณ 11.5 ล้านบาท  

ในมุมมองของคนทั่วไปนั้นมักจะมองว่า ปาย เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับจังหวัดและประเทศ แต่ในมุมมองของคนท้องถิ่น นั้นต้องแลกกับการสูญเสียบางอย่างไปอย่างเลี่ยงไม่ได้

“เมืองปายตอนนี้เปลี่ยนไปมาก ปกติคนปายพอทำสวนทำนากันมาเหนื่อยๆ  ต้องการพักผ่อน เขาก็เข้านอนกันแต่หัวค่ำแล้ว  แต่ตอนนี้มันนอนไม่ได้ เสียงมันดัง อึกทึก นักท่องเที่ยวเขาร้องรำทำเพลงกันจนดึกดื่น”

พ่อครูใจ อินยา อดีตครูประชาบาล และยังเป็นประธานสภาวัฒนธรรม กรรมการสภาวัฒนธรรมแม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน คนปายดั้งเดิมในพื้นที่เล่าว่า การใช้ชีวิตของคนปายในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตเยอะมาก จากเมืองที่สงบกลับกลายเป็นเมืองที่ถูกรบกวนจากการเข้ามาของแหล่งท่องเที่ยว จนคนในพื้นที่ก็ทยอยกันย้ายออกไปอยู่ที่อื่นแทน

“เมื่อฝรั่ง นักท่องเที่ยว นักลงทุนมาเห็นทำเลดี เขามาขอซื้อ ขอเช่า ให้ราคาดี จนตอนนี้คนปาย ต้องยอมขายที่ดินให้นายทุน คนเก่าแกต้องอพยพย้ายออกไปอยู่ข้างนอก บวกกับคนที่เขาทนเสียงดังไม่ไหว ก็พากันอพยพย้ายไปอยู่ตามเชิงเขาแทน” 

พ่อครูใจ ยังบอกอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับปายในตอนนี้ คือ การที่เด็กและเยาวชนในเมืองปายสามารถเข้าถึงสิ่งเย้ายวนได้ง่ายมากขึ้น เพราะการเข้ามาอย่างรวดเร็วของความเจริญ และสื่อต่างๆ ที่อาจจะไม่ได้ผ่านการกรองมากนัก ทำให้เด็กบางคนที่ยังไม่สามารถแยกแยะได้ อาจหลงไปกับสิ่งเย้ายวนเหล่านั้นได้ง่ายมากขึ้น

“ความเจริญเข้ามา ความเสื่อมก็ตาม ชาวบ้านปรับตัวกันไม่ทัน สู้กับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างพ่อครูตอนนี้ก็แก่แล้ว จะให้คนแก่ไปเรียกร้องต่อสู้อะไรก็ไม่ได้มาก เมืองปายกับการท่องเที่ยว มันต้องค่อยเป็นค่อยไป และต้องมานั่งพูดคุยวางแผนในการจัดการกันอย่างจริงๆ จังๆ”

ด้าน สมชาย บุษกร อิหม่ามมัสยิดอัล-อิสรออฺ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้นำทางศาสนาและประวัติศาสตร์ชุมชนมุสลิมในเมืองปาย ก็เห็นตรงกันว่าผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในปาย ส่วนใหญ่ตกอยู่กับคนนอกที่เข้ามาตักตวงหาประโยชน์จากปายมากกว่าคนท้องถิ่น เพราะฉะนั้นต้องประสานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาระดมความคิด เพื่อแก้ไขปัญหาก่อน แล้วค่อยพัฒนาต่อไป 

“ทุกวันนี้คนเข้ามาขุดทอง คิดแค่เรื่องเงิน คนหลงใหลไปกับระบบทุนนิยม ขายที่ดินทำกิน แล้วสุดท้ายทำได้อย่างเดียวคือเป็นลูกจ้าง ที่นี่ค่าแรงสูง แต่ค่าครองชีพก็สูงตามไปด้วย นี่ไม่ใช่วิถีชีวิตจริงๆ ของชาวบ้าน นานๆไป ปายเสื่อมโทรมไม่ดูแลรักษาทรัพยากร เพราะทุกคนต่างหาประโยชน์อย่างไร้ขอบเขต นักลงทุนเงินหนาก็จะย้ายไปลงทุนที่อื่น ท้องถิ่นก็ไม่เหลืออะไร” 

นั่นเป็นเสียงสะท้อนจากคนเมืองปาย ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิม ที่บอกเล่าความรู้สึกให้รับรู้ว่า ปายกำลังเปลี่ยนไปอย่างเร็วและแรง ในห้วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

คนท้องถิ่น เรียนรู้ปรับตัว มีส่วนร่วม เน้นรากเหง้า ต้นทุนวัฒนธรรม 

เมื่อชีวิตยังมีความหวัง คนแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นส่วนใหญ่ ก็พยายามเรียนรู้และปรับตัว เพื่อค้นหาทางรอด และทางออกของปัญหาให้กับตัวเอง ด้วยการหันกลับมามองหารากเหง้า และนำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นเดิมที่มีอยู่ มาพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ให้กับชุมชนของตนเอง

ครอบครัวของ แม่สว่าง- ศศิเขมณัฐ กันญณัฏฐิ์ เจ้าของร้าน ‘แม่สว่างขนมเป็งม้ง ขนมส่วยทมิน ขนมอาละหว่า อำเภอแม่สะเรียง’ ได้สืบทอดขนมพื้นบ้าน ‘เป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า’ ว่ากันว่า ขนมทั้งสามอย่างนี้มีต้นกำเนิดจากประเทศพม่า ต่อมามีการปรับปรุงสูตรเดิมจนทำให้ขนมมีลักษณะเฉพาะท้องถิ่น และแตกต่างจากขนมประเทศต้นทาง ที่สำคัญคือ ขนมทั้งสามอย่างนี้ ไม่ใช่ขนมที่หากินได้ง่ายๆ เพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะในวิธีการทำ และมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ทำเป็น ดังนั้น ถ้าอยากกินขนมสามอย่างนี้ ก็ต้องมาที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้น

ทุกวัน นอกจากแม่สว่างจะขายขนมเป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า อยู่หน้าร้านแล้ว แม่สว่างยังรับออเดอร์จากหน่วยงานของภาครัฐ ไม่ว่าโรงเรียน เทศบาล ที่ว่าการอำเภอ เพื่อจะนำไปเป็นอาหารว่างสำหรับการประชุมหรือหากมีแขกบ้านเมืองมาเยือน หรือบางครั้งก็มีออเดอร์มาจากเชียงใหม่กันด้วย หากใครมีโอกาสเดินทางไปเยือนอำเภอแม่สะเรียง สามารถแวะไปอุดหนุนลิ้มลองขนม เป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่ากันได้เลย ร้านตั้งอยู่ตรงสี่แยกเทศบาลเมืองแม่สะเรียง หรือติดตามได้ที่เพจ แม่สว่างขนมเป็งม้ง ขนมส่วยทมิน ขนมอาละหว่า

ล่องเรือสาละวิน ชมทะเลหมอกสองแผ่นดินที่กลอเซโล มิติใหม่ท่องเที่ยวชายแดน สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้ยั่งยืน

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน (ที่มา องอาจ เดชา)

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เล่าว่า หลายปีที่ผ่านมา รัฐได้ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และการท่องเที่ยวชายแดน เพราะมองว่าเป็นจุดเด่น และจุดแข็งของท้องถิ่น ไม่ว่าจะในเรื่องของการล่องเรือชมความสวยงามของแม่น้ำสาละวินที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทั้งสองฟากฝั่งของแม่น้ำไปจนถึงการค้าชายแดนที่แม่สามแลบ 

แม่น้ำสาละวิน (ที่มาภาพ องอาจ เดชา)

“‘แม่น้ำสาละวิน’ เป็นเหมือนตัวเชื่อมให้เกิดเศรษฐกิจฐานรากของคนสองฝั่งชายแดน เพราะผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งสาละวิน เขาก็จะมีเอกลักษณ์ของความเป็นอยู่ ก็จะเป็นจุดเด่นที่นำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และดึงดูดความสนใจของคนที่อยากมาเที่ยวชมบรรยากาศความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติกันมากขึ้น”

นอกจากนั้น แม่สามแลบ ยังเป็น ‘จุดผ่อนปรนการค้าชายแดน’ ด้วย ถ้าพูดถึงการเดินทางสัญจรจากในตัวเมืองมาถึงจุดท่าเรือแม่สามแลบ ถือว่าเป็นจุดที่ใกล้ที่สุดในของพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน การเดินทางก็สะดวก ปลอดภัย จึงทําให้การท่องเที่ยวในแถบนี้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

“กลอเซโล ถือว่าเป็นจุดชมวิวทะเลหมอกที่งดงามแห่งใหม่ของอำเภอสบเมย ที่ในแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวเดินมาพักกางเต็นท์ ชมความงามของทะเลหมอกเป็นจำนวนมาก ก็เกิดการให้บริการเช่ากางเต็นท์ จำหน่ายของที่ระลึก การรับจ้างขนส่งนักท่องเที่ยว จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน และชุมชนท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง”

‘กลอเซโล’ คืออีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของแม่ฮ่องสอน ที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติพากันไปเยือนไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว และพงษ์พิพัฒน์ ก็มองว่า มิติท่องเที่ยวชายแดนนี้จะช่วยหนุนเสริมในเรื่องการสร้างเศรษฐกิจชุมชนได้ เพราะทุกๆ ปี จะมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวที่นี่เยอะมาก ส่วนใหญ่จะอยากมาสัมผัสพื้นที่ใหม่ๆ ที่มีความอุดมเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ 

ห้วยปูแกง ท่องเที่ยวชายแดน ชาติพันธุ์กะยัน  เน้นวิถีชุมชน ประเพณี วัฒนธรรมและโฮมสเตย์

บ้านห้วยปูแกง (ที่มาภาพ สร้อยแก้ว คำมาลา)

บ้านห้วยปูแกง หมู่บ้านชาวกะยันหรือที่หลายคนเรียกกันในชื่อ กะเหรี่ยงคอยาว เป็นชุมชนที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ เป็นส่วนหนึ่งการท่องเที่ยวชายแดน ที่เน้นวิถีชุมชน ประเพณี และวัฒนธรรมชองชาติพันธุ์กะยัน

สร้อยแก้ว คำมาลา เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ชาวกะยันพัฒนาชุมชนจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เธอเล่าว่า ความน่าสนใจของชุมชนนี้ คือกะเหรี่ยงคอยาว ที่กลายเป็นภาพจำของพื้นที่แห่งนี้ จนคนเข้าใจไปว่าพี่น้องชาติพันธุ์กลุ่มนี้ มีรากเหง้าดั้งเดิมอยู่ที่นี่  แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตามประวัติศาสตร์  พี่น้องชาวกะยัน มีรากเหง้าอยู่ที่รัฐกะเรนนีของเมียนมา แต่อพยพมาอยู่แม่ฮ่องสอน เพราะปัญหาจากสงครามการเมือง

“พวกเราทุกคนล้วนแต่มีบรรพบุรุษที่ย้ายถิ่นฐานมาตลอดอยู่แล้ว พี่น้องห้วยปูแกงส่วนใหญ่ยังไม่มีบัตรประชาชน ที่ทํากินก็มีไม่เยอะ  แล้วพื้นฐานก็ยากจน เลยต้องอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว  ซึ่งมันก็ไม่พอ  จนมาเจอโครงการแผนสื่อศิลปะวัฒนธรรมของ สสส. เขาก็มาร่วมสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม ให้ชาวบ้านที่นี่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว  ก็คือทำควบคู่กันไปทั้งการท่องเที่ยวชุมชนด้วย  แล้วก็สร้างรายได้จากสินค้าผลิตภัณฑ์ของเขาไปด้วย”

สร้อยแก้ว เล่าอีกว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะจดจำชาวกะยันว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีผู้หญิงสวมห่วงทองเหลืองใส่คอยาวๆ  โดยที่ไม่ค่อยรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีหรือวัฒนธรรมของเขามากนัก เพราะจริงๆ แล้วชาวกระยันมีวัฒนธรรมด้านดนตรีที่ไพเราะมาก นอกจากนั้นยังมีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง น้ำพริกกะยัน ที่ใครได้ทานแล้วก็มักจะติดใจ

สร้อยแก้ว ย้ำว่า แม่ฮ่องสอนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมาก  แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะมีเอกลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม การแต่งกาย และอุปนิสัยที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกันไป แต่สิ่งสําคัญที่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์เหมือนกันหมดเลยก็คือ ทุกคนค่อนข้างจิตใจดี  มีอัธยาศัยไมตรีดี คนแม่ฮ่องสอนค่อนข้างยิ้มแย้มแล้วก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ 

“เราก็อยากเชิญชวนทุกคนมาเที่ยวแม่ฮ่องสอนกันเยอะๆ เพราะว่าแม่ฮ่องสอนนั้นน่าเที่ยวทุกฤดูเลย อยากให้ทุกคนได้ลองเที่ยวชมชุมชนต่างๆ ในแต่ละอำเภอของแม่ฮ่องสอน เพราะมันสามารถช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนได้ด้วย”

สินค้าผลิตภัณฑ์ ของฝากจากชาวกะยัน (ที่มาภาพ สร้อยแก้ว คำมาลา)

ทางออกของท้องถิ่น ถึงความหวังของคนแม่ฮ่องสอน

ที่มาภาพ เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน

ด้าน ชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ได้เน้นการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาอย่างต่อเนื่อง  และยังได้แสดงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีแนวทางสำคัญด้านการพัฒนาคนและสังคม โดยจะเน้นยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล เช่น โครงการ “ถนนดิจิทัล” ที่ช่วยให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการศึกษาออนไลน์ จัดตั้งเวทีสานฝันเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะ

ในด้านการสร้างรายได้และพัฒนาทางเศรษฐกิจ ก็จะสนับสนุนอาชีพและการสร้างรายได้ในชุมชน เช่น การเกษตรเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวชุมชน และงานหัตถกรรมท้องถิ่น จัดตั้งโครงการ “โคบาลคืนถิ่น” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยเน้นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น ปาย ปางอุ๋ง และแม่สะเรียง เป็นต้น

ในเรื่องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อวางแผนแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบ โดยใช้ฐานข้อมูล “TPMAP” (Thai People Map and Analytics Platform) เพื่อติดตามและวางแผนแก้ปัญหาความยากจนอย่างแม่นยำ

ที่มาภาพ เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน

รวมไปถึงส่งเสริมความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำ บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม รวมไปถึงการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้รับการสนับสนุนจากนโยบายระดับชาติ เช่น การเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการพื้นฐาน และเน้นการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจ สนับสนุนการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ด้วยแนวทางเหล่านี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เน้นย้ำว่า มีเป้าหมายในการลดอัตราความยากจนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว

ซึ่งเราก็หวังว่า ในอนาคตของแม่ฮ่องสอน จะเป็นไปเหมือนที่คนคาดหวัง 

เหมือนกับ สร้อยแก้ว คำมาลา ที่บอกย้ำเอาไว้อย่างหนักแน่นและจริงจัง…

เราในฐานะคนแม่ฮ่องสอนคนหนึ่งที่มีความรักและผูกพันกับบ้านเกิด ก็อยากให้ทุกคนในบ้านเมืองนี้มีความสุข อยากให้ชาวบ้านมีรายได้ สามารถดูแลตัวเองได้  อยากให้การพัฒนาของแม่ฮ่องสอนเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ไม่อยากให้มันกระจุกที่ใดที่หนึ่ง มีการเฉลี่ยรายได้ให้ทั่วถึงทุกๆ คน รวมถึงเป็นจังหวัดที่มีการรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้ดี ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืนตลอดไป”

 ที่มาภาพ เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน

ละลานล้านนา: ย้อนรอยงานฤดูหนาวและสุนทรียภาพแห่งความรื่นเริงยามค่ำคืนในหน้าหนาวของชาวเชียงใหม่

เรื่อง: ปวีณา หมู่อุบล

เพียงวูบหนึ่งของลมหนาวช่วงเดือนธันวา งานกิจกรรมหรืออีเว้นท์ต่างๆ ก็บานสะพรั่งไปทั่วเชียงใหม่ ชนิดที่ไม่ว่าจะหันไปทางใดก็สามารถพบเจองานกิจกรรมรื่นเริง ทั้งในตอนกลางวันและยามค่ำคืน โดยแต่ละงานก็จะมีรูปแบบและเนื้อหาแตกต่างกันออกไป แต่งานที่ดูเหมือนจะเป็นที่นิยมมากทั้งในหมู่ชาวเชียงใหม่และผู้มาเยือนก็จะคงเป็นงานคราฟท์

‘งานคราฟท์’ ในที่นี้หมายถึงงานแสดงผลงาน (สินค้า) ศิลปะที่ได้ผ่านการออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน โดยมักมีแรงบันดาลใจหรือเรื่องราวเป็นฉากหลังการออกแบบ ซึ่งงานคราฟท์นี้อาจจะมีรูปแบบเป็นเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ไอเทมกระจุกกระจิกต่างๆ ตลอดไปจนถึงอาหาร กาแฟ หรือเครื่องดื่มบางประเภท เช่น เบียร์ และโคล่า

ปัจจุบันงานคราฟท์ในหน้าหนาวกลายเป็นภาพจำอย่างหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ และอาจถึงขั้นกลายเป็น a must สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะต้องมาเยือนเชียงใหม่ในช่วงหน้าหนาว โดยเฉพาะในบริบทที่ความคราฟท์ได้ขยับขยายออกไปอย่างกว้างขวางมีการก่อตั้งพื้นที่ทางกายภาพแบบคราฟท์ๆ ตามย่านต่างๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ ทั้งพื้นที่ถาวรและแบบชั่วคราว หากแต่พื้นที่ที่นิยมกันมาก เห็นจะเป็นพื้นที่งานคราฟท์แบบชั่วคราวในลักษณะอย่างตลาดนัด งานมหกรรม หรืองานเทศกาล ที่จัดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ

แต่รู้หรือไม่ว่างานรื่นเริงหรือเทศกาลในหน้าหนาวที่มีบุคลิกภาพแบบคราฟท์ๆ จนได้ชื่อว่าเป็นสุนทรียภาพของเชียงใหม่อย่างเช่นในปัจจุบันนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากงานรื่นเริงหนึ่งที่ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะกว่า 90 ปี อย่าง ‘งานฤดูหนาว’ นั่นเอง

งานฤดูหนาวเชียงใหม่: งานคราฟท์ที่มาก่อนกาล

งานฤดูหนาวเป็นงานรื่นเริงประจำปีของเชียงใหม่ มักจัดขึ้นในช่วงระหว่างปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่เชียงใหม่มีอากาศเย็น โดยกิจกรรมหลักในงานฤดูหนาว ได้แก่ การออกร้านแสดงผลงานและปศุสัตว์ของหน่วยงานราชการและเอกชน การออกร้านขายอาหารและครื่องดื่มของบรรดาพ่อค้าแม่ขาย การแสดงมหรสพและดนตรี การละเล่นต่างๆ  เช่น ปาลูกโป่ง บ้านผีสิง รถไต่ถัง ชิงช้า และม้าหมุน และกิจกรรมสำคัญที่เป็นเอกลักษ์ของงานคือ การประกวดนางสาวเชียงใหม่

งานฤดูหนาวจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อราวปี 2473 – 2477 และยังคงมีจัดอยู่จนกระทั่งในปัจจุบัน เพียงแต่ความนิยมอาจลดลงจากที่เคย เพราะปัจจุบันมีงานรื่นเริงอื่นๆ ที่ดึงดูดใจผู้คนได้มากกว่า โดยเฉพาะงานรื่นเริงแบบคราฟท์ๆ แต่ถึงอย่างนั้น หากลองพิจารณารูปแบบกิจกรรมของงานฤดูหนาวดู จะเห็นได้ว่างานฤดูหนาวโดยตัวของมันเองก็มีลักษณะแบบคราฟท์ๆ ผสมอยู่ โดยเฉพาะในส่วนการจัดแสดงพืชผลการเกษตร ปศุสัตว์ และงานศิลปหัตถกรรม ซึ่งหากใครเคยไปงานฤดูหนาว ก็จะเห็นว่าทั้งหน่วยงานราชการและเอกชนต่างคัดสรรเอามาแต่ผลงานที่ผ่านการผลิตอย่างพิถีพิถัน ประณีต และสร้างสรรค์ มาจัดแสดงประชันกันอย่างไม่มีใครยอมใคร ดังนั้นจึงไม่ผิดนักถ้าจะถือว่า งานฤดูหนาว คือ งานคราฟท์ที่มาก่อนกาล

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะกลายเป็นงานรื่นเริงประจำปีที่จัดขึ้นในช่วงหน้าหนาว บริเวณด้านหลังศาลากลางจังหวัดอย่างทุกวันนี้ งานฤดูหนาวได้มีประวัติศาสตร์แล้วเรื่องราวในตัวของมันเอง ด้วยเพราะได้เดินทางผ่านความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นานัปประการในช่วงระยะเวลากว่า 90 ปี โดยที่ความเปลี่ยนแปลงสำคัญประการหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 

งานแสดงพืชผล: ต้นเก๊าความรื่นเริงในงานฤดูหนาวของชาวเชียงใหม่

จากการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับงานรื่นเริงในหน้าหนาวของชาวเชียงใหม่ พบว่าเมื่อราวปี 2473 มีงานรื่นเริงหนึ่งที่มักจัดขึ้นในช่วงหน้าหนาว คือ ‘งานแสดงพืชผล’ ซึ่งเป็นงานประกวดผลผลิตต่าง ๆ ของครูและนักเรียนจากโรงเรียนฝึกหัดครูช้างเผือก (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่) โดยกิจกรรมหลักในงานคือ การแสดงผลงานของครูและนักเรียนจากโรงเรียนดังกล่าว

ภายหลังงานแสดงพืชผลขยายใหญ่ขึ้น เนื่องจากมีการเชิญชวนชาวไร่ ชาวนาจากอำเภอต่างๆ ให้นำพืชผักผลไม้และปศุสัตว์มาเข้าร่วมประกวด พร้อมกันนั้นยังได้มีชุดการแสดงของนักเรียนหญิงจากโรงเรียนต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ เช่น โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย โรงเรียนดาราวิทยาลัย และโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ มาร่วมด้วย

กระทั่งในปี 2474 พระยาอนุบาลพายัพกิจ (ปุ่น อาสนจินดา) ปลัดมณฑลพายัพ ได้ปรับให้งานแสดงพืชผลกลายเป็นงานรื่นเริงประจำปีของชาวเชียงใหม่ โดยกำหนดให้จัดงานขึ้นในช่วงหน้าหนาวตามเดิมแต่เปลี่ยนชื่องานใหม่ โดยให้ชื่อว่า ‘งานฤดูหนาว’

พระยาอนุบาลพายัพกิจ (ปุ่น อาสนจินดา) ปลัดมณฑลพายัพช่วงก่อน 2475

งานฤดูหนาวในระยะแรกมีกิจกรรมหลักๆ ได้แก่ การออกร้านของหน่วยงานรัฐและเอกชน การแสดงผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ การประกวดศิลปหัตกรรมของนักเรียน ในบางปีก็จะมีการแสดงมหรสพ เช่น การแสดงละครญี่ปุ่น และการละเล่นต่างๆ อาทิ รถไต่ถัง  การฉายภาพยนตร์ และการชกมวย 

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้งานฤดูหนาวเป็นที่นิยมมาก คือ บัตรผ่านประตู ในยุคนั้นงานฤดูหนาวจะขายบัตรเข้างาน ซึ่งในบัตรจะมีหมายเลขกำกับเพื่อใช้ในการออกรางวัล ดังนั้นจึงมีผู้สนใจซื้อบัตรเข้างานฤดูหนาวเป็นจำนวนมาก แม้แต่กรรมการผู้จัดงานที่สามารถเข้าได้ฟรีต่างก็พากันซื้อบัตรผ่านเพื่อร่วมลุ้นของรางวัลด้วย ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าในปี 2480 มีการจำหน่ายบัตรผ่านประตูเข้างานฤดูหนาวใบละ 10 สตางค์ และด้วยความนิยมทำให้สามารถขายบัตรได้เป็นเงินจำนวนกว่า 80,000 บาท[1] 

ภาพหอแสดงสินค้าในงานฤดูหนาว ปี 2480 ที่มา บุญเสริม สาตราภัย
การออกร้านของโรงงานสุรา ในงานฤดูหนาว ปี 2480 ที่มา บุญเสริม สาตราภัย
การออกร้านของบริษัทรถยนต์ ในงานฤดูหนาว ปี 2480 ที่มา บุญเสริม สาตราภัย

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2477 เป็นต้นมา งานฤดูหนาวได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมอีกครั้ง โดยได้เพิ่มงานกิจกรรมสำคัญที่ทุกคนต่างเฝ้ารอและถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของงานฤดูหนาวมาจนปัจจุบัน นั่นคือ การประกวดสาวงามประจำร้านค้า ที่ต่อมารู้จักกันในนาม ‘การประกวดนางสาวเชียงใหม่’ 

และกิจกรรมการประกวดสาวงามนี้เองที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่างานฤดูหนาวของเชียงใหม่สัมพันธ์กับบริบททางการเมืองและสังคมช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยเฉพาะการที่รัฐบาลคณะราษฎรได้มีจัดให้งานรื่นเริงเพื่อการประชาสัมพันธ์และสื่อสารความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบการปกครองใหม่ขึ้น ในชื่อว่า ‘งานฉลองรัฐธรรมนูญ’ และการจัดให้มีการประกวดสาวงามในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2477 โดยใช้การประกวดชื่อว่า ‘นางสาวสยาม’ 

งานฉลองรัฐธรรมนูญและนางสาวสยาม กับ งานฤดูหนาวและนางสาวเชียงใหม่ 

งานฉลองรัฐธรรมนูญ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2475 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ นับเป็นงานรื่นเริงขนาดใหญ่ของราษฎรที่จัดต่อเนื่องกันเป็นเวลานานหลายปี กระทั่งลดบทบาทอย่างมากในช่วงทศวรรษปี 2490 เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงความหมายของงานให้กลับไปสัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ ดังจะเห็นได้จากชื่องานฉลองรัฐธรรมนูญในปี 2490 ที่มีชื่อว่า ‘โครงการงานสมโภชน์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและฉลองรัฐธรรมนูญ 2490’ และหลังจากนั้นเพียง 3 ปี ก็ไม่มีงานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ อีกต่อไป

 ภาพบรรยากาศงานรัฐธรรมนูญครั้งแรก 10 ธันวาคม 2475 ที่มา มูลนิธิพระยาพหลพลพยุหเสนา และท่านผู้หญิงบุญหลง
ภาพทางเข้าลานพระราชวังดุสิตในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2483 ที่มา เฟซบุ๊ก ภาพถ่าย “ศรีจามร”

งานฉลองรัฐธรรมนูญถือเป็นงานรื่นเริงแบบใหม่ในยุคนั้น และได้มีอิทธิพลต่อการจัดงานรื่นเริงตามจังหวัดต่าง ๆ ในแง่ของรูปแบบกิจกรรมภายในงาน โดยเฉพาะภายหลังจากที่รัฐบาลคณะราษฎรได้สร้างรัฐธรรมนูญฉบับจำลองขึ้น แล้วจัดส่งไปประจำไว้ตามแต่ละจังหวัด จำนวน 69 จังหวัด ตามที่ ‘จำรัส มหาวงศ์นันทน์’ ผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน เสนอว่าเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความมั่นคงอยู่ได้ รัฐบาลควรให้ผู้แทนราษฎรแต่ละคนอัญเชิญรัฐธรรมนูญไปสู่จังหวัดของตนเอง 

การส่งรัฐธรรมนูญฉบับจำลองไปให้แต่ละจังหวัด นำมาซึ่งงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นในพื้นที่นอกกรุงเทพฯ โดยเป็นการจัดงานที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับงานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ แต่ได้ประยุกต์เข้ากับความเป็นท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ เช่น ในพื้นที่ภาคอีสานใช้กิจกรรมประกวดกลอนลำด้วยภาษาถิ่นในการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ หรือในภาคใต้ใช้การแสดงละครมโนราห์ในการนำเสนอเนื้อหาดังกล่าว 

ในกรณีของเชียงใหม่ พบว่าไม่ค่อยปรากฎข้อมูลเกี่ยวกับการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญมากนัก หากแต่มีข้อมูลปรากฏว่าในช่วงปี 2477 ได้มีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมบางอย่างในงานฤดูหนาวให้สอดคล้องกับงานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ คือ มีการเปลี่ยนชื่อการประกวดสาวงามภายในงานฤดูหนาว จากเดิมคือ ‘สาวงามประจำร้าน’ เป็น ‘นางสาวเชียงใหม่’

การประกวดสาวงามในรื่นเริงช่วงฤดูหนาวของเชียงใหม่สามารถย้อนไปได้ไกลถึงช่วงปี 2473 ซึ่งในยุคนั้นเป็นการประกวดสาวงามประจำร้าน อันหมายถึงร้านขายสินค้าต่าง ๆ ภายในงาน ขณะที่การประกวดนางสาวเชียงใหม่มีขึ้นครั้งแรกในงานฤดูหนาว ปี 2477 เป็นการประกวดเพียงวันเดียว และผู้ชนะการประกวดในปีแรกๆ จะได้รับรางวัลเป็นเงินสด สายสะพายประจำตำแหน่ง ขันน้ำ และพานรอง ต่อมาในปี 2477 การประกวดดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อจาก ‘สาวงามประจำร้าน’ เป็น ‘นางสาวเชียงใหม่’ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการประกวดนางสาวสยามในการงานฉลองรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏเหตุผลที่แน่ชัดว่าเหตุใดจึงการเปลี่ยนชื่อการประกวดดังกล่าว หากแต่ก็สะท้อนได้ว่าเป็นอิทธิพลมาจากการประกวดนางสาวสยามในงานฉลองรัฐธรรมนูญนั่นเอง

การประกวดนางสาวเชียงใหม่ภายในงานฤดูหนาว ปี 2508  จากภาพนำโดย อาภัสรา หงสกุล นางสาวไทยปี 2508  และขบวนผู้ชนะการประกวดนางสาวเชียงใหม่ตามลำดับ  ที่มา บุญเสริม สาตราภัย
อาภัสรา หงสกุล นางสาวไทยปี 2508 สวมสายสะพายให้แก่สาวงามผู้ชนะการประกวด ในงานฤดูหนาว ปี 2508 ที่มา: บุญเสริม สาตราภัย

ปัจจุบันงานฤดูหนาวเชียงใหม่ลดความนิยมลงไปมากด้วยเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เนื่องจากมีงานรื่นเริงอื่นๆ ปรากฏขึ้นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเวทีประกวดนางงามก็คลายมนต์เสน่ห์ลงไป แต่ถึงอย่างนั้นก็เชื่อว่างานงานคราฟท์ที่มาก่อนกาลนี้ ยังจะคงเป็นหนึ่งในตัวเลือกของใครอีกหลายคนที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศงานรื่นเริงยามค่ำคืนท่ามกลางอากาศหนาวช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นมกราคมของเชียงใหม่

อ้างอิง

[1] วีระยุทธ ไตรสูงเนิน. งานฤดูหนาวเชียงใหม่ ดอกไม้ ลมหนาว สาวงาม. กรมศิลปากร. ออนไลน์. เข้าถึงได้ที่ https://www.finearts.go.th/chiangmaiarchives/view/ 

เกษราภรณ์ กุณรักษ์. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับจำลอง. กรมศิลปากร. ออนไลน์. เข้าถึงได้ที่  https://www.finearts.go.th/chiangmaiarchives/view/30194 

ศรัญญู เทพสงเคราะห์. งานรื่นเริงของพลเมืองในระบอบใหม่ เพื่อชาติและรัฐธรรมนูญ. สถาบันปรีดี พนมยงค์. ออนไลน. เข้าถึงได้ที่ https://pridi.or.th/th/content/2022/07/1164 

The Capital of Craft เสน่ห์ Art and Craft เมืองเชียงใหม่. Qoqoon. ออนไลน์. เข้าถึงได้ที่ https://qoqoon.media/art-lifestyle/the-capital-of-craft/  

‘ห้วยซ้อวิทยาคมฯ’ ห้องเรียน 2 ระบบ แก้เด็กหลุดจากระบบด้วยการศึกษาที่ยืดหยุ่น

เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ

โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก โรงเรียนประจำตำบล ตั้งอยู่ในอำเภอเชียงของ ห่างจากอำเภอเมืองเชียงราย 90 กิโลเมตร มีนักเรียนทั้งหมด 674 คน ที่มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมและความสนใจ แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่ซึ่งส่งผลกระทบกับนักเรียนด้วยเช่นกัน ความยากจนเรื้อรังของนักเรียนหลายครอบครัวต้องช่วยครอบครัวหารายได้มาจุนเจือ ทั้งการรับจ้างในภาคการเกษตร รวมถึงการรับจ้างทั่วไป

เงื่อนไขนี้เอง ทำให้นักเรียนหลายคนไม่สามารถเข้าเรียนในรูปแบบปกติได้ แต่ความสำคัญของการศึกษาที่ทำหน้าที่ขยับคุณภาพชีวิตที่ดียังคงจำเป็น โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ จึงพัฒนาหลักสูตร ‘ห้องเรียน 2 ระบบ’ เมื่อปี 2564 ซึ่งมีที่มาที่ไปจากการสังเกตของ ‘หทัยชนก ถาแหล่ง’ ครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ในเวลานั้น เธอเป็นที่ปรึกษานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เห็นว่านักเรียนในชั้นคนหนึ่งขาดเรียนบ่อย เมื่อสืบสาวจึงพบว่าที่หายไปคือต้องไปหารายได้มาจุนเจือครอบครัว

“เขาต้องไปช่วยพ่อกรีดยางตอนกลางคืน พอตอนเช้าก็ไม่สามารถเรียนได้”

หทัยชนก ถาแหล่ง ครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ

เหตุนี้เอง จึงได้มีนัดพูดคุยกับผู้ปกครองและตัวของนักเรียน เพื่อหาทางออกร่วมกันจนเกิดเป็นไอเดียให้นักเรียนคนดังกล่าวอัดคลิปวิดีโอในแต่ละวัน/แต่ละช่วง ที่ทำงาน เพื่อนำไปถอดบทเรียนด้วยวิธีการเล่ากระบวนการทำงานว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างในช่วงท้ายของเทอม เพื่อเทียบประสบการณ์ และตัดเกรดให้เด็กคนดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำห้องเรียน 2 ระบบ

ห้องเรียน 2 ระบบ คือ ห้องเรียนระบบที่ 1 คือ การเรียนการสอนตามปกติ ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ส่วนห้องเรียนระบบที่ 2 ที่โรงเรียนกำลังพัฒนาหลักสูตรอยู่นั้นเป็นการเรียนการสอนแบบเน้นกิจกรรม หาความรู้นอกห้องเรียน ไม่ต้องเข้าเรียนทุกวัน และนักเรียนที่อยู่ในหลักสูตรนี้สามารถทำงานไปด้วยระหว่างเรียน โดยสามารถนำการทำงานไปเทียบกับประสบการณ์และตัดเกรด ซึ่งใน 1 ภาคเรียนก็จะมีการประเมินผลโดยครูที่ปรึกษาในช่วง ต้นเทอม กลางเทอม และท้ายเทอม

ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ

ซึ่งพอเริ่มทดลองจากนักเรียนหนึ่งคน ภายหลังกลับพบว่านักเรียนหลายคนที่เริ่มหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งมีเหตุผลคล้ายคลึงกัน และยังค้นพบว่านอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ นักเรียนหลายคนก็มองว่าการเรียนระบบปกติไม่ตอบโจทย์ ทำให้ขาดแรงจูงใจ ส่งผลให้ไม่สามารถจดจ่อกับการเรียน จนต้องออกจากการเรียน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ได้นำข้อมูลนักเรียนรายบุคคลในช่วงอายุ 3-18 ปี ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในปีการศึกษา 2566 จำนวน 12,200,105 คน มาวิเคราะห์กับข้อมูลรายบุคคลซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่รวบรวมจากหน่วยงานผู้จัดการศึกษาทุกสังกัด รวม 21 สังกัด จำนวน 11,174,591 คน พบว่ามีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปี ที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,025,514 คน หรือร้อยละ 8.41 ในจำนวนนี้อยู่ในช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับจำนวนทั้งสิ้น 394,039 คน และมีเด็กและเยาวชนเลข 0 หรือ ไม่มีสถานะทางทะเบียน จำนวน 94,244 คน โดยในจังหวัดเชียงรายมีเด็กหลุดออกนอกระบบถึง 24,081 คน มากเป็นอันดับ 9 ของประเทศ

ด้วยปัญหาและปัจจัยอันหลากหลายและสลับซับซ้อนที่ทำให้เด็กหลุดออกนอกระบบจำนวนมากเช่นนี้ โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ จึงเริ่มพัฒนาหลักสูตรการเรียน 2 ระบบ ให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น มีการแต่งตั้งครูที่ปรึกษาในการติดตามการเรียน มีการออกแบบห้องเรียนออนไลน์ รวมไปถึงการออกแบบแบบการประเมินผลเป็น 3 ครั้ง แบ่งเป็นในช่วงต้นเทอมจะเป็นการชี้แจงแนวทางการประเมินผล ในช่วงกลางเทอมจะเป็นการติดตามภาระงานและชี้แจงงานที่จะต้องส่งในช่วงปลายภาคเรียน และในช่วงปลายภาคเรียนก็เป็นการนัดหมายเพื่อประเมินผลการเรียนรู้นอกห้องเรียน

ซิน สิทธา สุริยะคำ ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ นักเรียนชั้นปีที่ 5 โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ ในระบบที่ 2 ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ

“สามารถแบ่งเวลา ในการทำงานและการเรียนได้” เสียงของ ซิน สิทธา สุริยะคำ นักเรียนชั้นปีที่ 5 โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ ในห้องเรียน ระบบที่ 2  เขาเคยเรียนอยู่ในระบบ 1 ก่อนจะออกจากการเรียนเพื่อไปทำงานตอนอายุ 15 ปี และกลับมาเรียนอีกครั้งตอนอายุ 18 ในระบบ 2

ปัจจุบันห้องเรียน 2 ระบบ ยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลองพัฒนาและปรับปรุงอีกมากเพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของเด็กรวมไปถึงมาตรฐานของการศึกษา ด้วยเหตุนี้เอง ทางโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ จึงได้มีการทำงานร่วมกันกับโครงการห้องเรียนข้ามขอบ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เข้ามาทำงานในการพัฒนาศักยภาพของครูในห้องเรียน 2 ระบบ รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาอีกหนึ่งข้อท้าทายคือนักเรียนหลายคนมีปัญหาในการอ่านและการเขียนที่เป็นข้อจำกัดในการเรียนรูh ซึ่งปัจจุบันโครงการยังคงอยู่ขั้นตอนของการดำเนินโครงการ

นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการทดลองการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นในการพยายามที่จะแก้ไขปัญหาของเด็กที่หลุดออกนอกระบบภายใต้ข้อจำกัดที่มีเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำว่าห้องเรียนรูปแบบเดียวที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่ตอบโจทย์กับปัญหาที่หลากหลายของเด็ก เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และหาประสบการณ์ที่กว้างมากกว่าแค่ในห้องเรียน

ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ

ชายแดนโฟกัส – สรุปสถานการณ์ทางสังคมรอบชายแดน ธันวาคม 2567

เมียนมา

เมียนมาและไทยเตรียมเจรจาเกี่ยวกับฐานทัพกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ที่มีข้อพิพาทตามแนวชายแดน

ที่มาภาพ : RAF

ตามรายงานจากสื่อ RFA ระบุว่า กองทัพและรัฐบาลเมียนมาเตรียมเจรจากับรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการตั้งฐานทัพกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) หรือ กองทัพว้าแดง ที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนระหว่างเมียนมาและไทย ซึ่งไทยอ้างว่า 9 ฐานทัพของกลุ่มนี้ตั้งอยู่ในอาณาเขตของไทยและต้องการให้ยกเลิกการตั้งฐานดังกล่าว

กลุ่ม UWSA ซึ่งมีอำนาจควบคุมพื้นที่กึ่งปกครองตนเองในรัฐฉาน รวมถึงพื้นที่ชายแดนกับไทย ได้ปฏิเสธคำขาดของไทยให้ถอนตัวจากฐานทัพในวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเรื่องนี้ควรจะได้รับการเจรจาระดับรัฐบาลและยืนยันว่า กองทัพไทยไม่ใช่ศัตรูของพวกเขา

การเผชิญหน้าครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงระหว่าง UWSA ที่มีอำนาจมากที่สุดในเมียนมาและกองทัพไทย โดยเฉพาะในประเด็นการเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ซึ่งกองทัพสหรัฐว้าถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในธุรกิจยาเสพติดทั้งฝิ่นและเฮโรอีน รวมถึงการผลิตยาเมทแอมเฟตามีนจำนวนมากในช่วงหลังๆ

กลุ่ม UWSA มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนและได้ทำข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพเมียนมาในปี 1989 แลกกับการได้รับการปกครองพื้นที่ตนเองที่อยู่ใกล้กับชายแดนจีนและไทย แต่ยังไม่เคยเข้าร่วมในการต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาหลังการรัฐประหารในปี 2021 การเจรจาระหว่างฝ่ายเมียนมาและไทยจะมุ่งเน้นไปที่ปัญหาชายแดนและการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดข้ามชายแดน โดยยังไม่มีการประกาศวันที่แน่ชัดสำหรับการเจรจานี้

ที่มา : RFA,17/12/2024

ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเรียกร้องสันติภาพ หลังจากกองทัพเผชิญความล้มเหลว

ตามรายงานจากสื่อ RFA ระบุว่า พลเอกมิน ออง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารของเมียนมา ได้เรียกร้องให้กลุ่มกบฏที่ต่อสู้เพื่อยุติการปกครองของทหารเจรจาสันติภาพ โดยอ้างว่ารัฐบาลของเขากำลังเสริมสร้างประชาธิปไตยและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจาทางการเมือง ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง ในการกล่าวในงานเลี้ยงคริสต์มาสที่โบสถ์เซนต์แมรีในย่างกุ้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เขากล่าวว่า รัฐบาลจะกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยที่ถูกต้องและแก้ไขปัญหาผ่านการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ท่ามกลางคำเรียกร้องนี้ ทหารเมียนมากลับเผชิญกับความล้มเหลวในหลายพื้นที่ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กองทัพรัฐอาระกัน (AA) ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ สามารถยึดสำนักงานใหญ่ของทหารได้ โดยปัจจุบันกลุ่ม AA ควบคุมพื้นที่ 80% ของรัฐยะไข่ ทำให้กองทัพถูกกดดันและควบคุมในพื้นที่เล็กๆ เท่านั้น รวมถึงเขตเศรษฐกิจเจาะพยูที่จีนให้ความสำคัญ

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ต่อต้านทหารที่รวมถึงกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) และรัฐบาลพลเรือนแห่งชาติ (NUG) ได้ปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลทหารในการเจรจาสันติภาพ โดยระบุว่าไม่สามารถเชื่อถือทหารเมียนมาที่ปราบปรามความเห็นต่างมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ

ขณะเดียวกัน กลุ่มโรฮิงญาได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่ม AA เคารพสิทธิของพวกเขาและประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ โดยยืนยันว่าทหารเมียนมาคือศัตรูร่วมของพวกเขา แต่ได้กล่าวหากลุ่ม AA ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเผาทำลายและการฆาตกรรม กลุ่ม AA ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ผู้สืบสวนสิทธิมนุษยชนระบุว่ามีการละเมิดจริง โดยเฉพาะการเกณฑ์ทหารโรฮิงญาเข้าร่วมในการต่อสู้กับกลุ่ม AA 

กลุ่มโรฮิงญาเรียกร้องให้เปิดช่องทางช่วยเหลือฉุกเฉินจากบังกลาเทศเพื่อป้องกันภัยจากภาวะอดอยาก ซึ่งมีผู้ประสบภัยในรัฐยะไข่มากถึง 2 ล้านคนตามรายงานของสหประชาชาติ

ที่มา : RFA,23/12/2024

รัฐบาลไทยประกาศเตือนการระบาดของอหิวาตกโรคที่ชายแดนไทย-เมียนมาในจังหวัดตาก

ตามรายงานจาก Mizzima เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2024 รัฐบาลไทยได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับการระบาดของโรคอหิวาตกโรคบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาในจังหวัดตาก โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ในจังหวัดตากเพื่อติดตามและป้องกันการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรค ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในเมืองชเว โก๊กโก่  ในเมียนมาติดชายแดน

ดร.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จังหวัดตากโดยเฉพาะอำเภอแม่สอดและอำเภอแม่ระมาด เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากตั้งอยู่ตรงข้ามกับเมืองชเว โก๊กโก่  ที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคอหิวาตกโรคประมาณ 200 คนและมีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยพบผู้ติดเชื้ออหิวาตกโรคในอำเภอแม่สอด 2 ราย ทั้งสองรายได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่สอด

ทางการไทยได้ออกมาตรการติดตามคุณภาพน้ำดื่ม ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสุขอนามัย และตรวจสอบร้านอาหารและแผงขายอาหารเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันทหารไทยได้เพิ่มการลาดตระเวนตามแนวชายแดนเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย พร้อมทั้งส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับเจ้าหน้าที่เมียนมาที่เมืองชเว โก๊กโก่ เพื่อสนับสนุนการควบคุมโรค

ที่มา: Mizzima, 25/12/2024

ลาว

ที่มาภาพ : RFA

สามปีผ่านไป ครอบครัวที่ถูกโยกย้ายจากโครงการรถไฟลาว-จีน ยังคงรอการชดเชย 371 ครอบครัวปฏิเสธข้อเสนอที่ไม่เพียงพอจากรัฐบาลลาว

เมื่อต้นเดือนธันวาคม RFA LAO รายงานว่า ครอบครัว 371 ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟลาว-จีน ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ยังไม่ได้รับการชดเชยเต็มจำนวน หลังจากปฏิเสธข้อเสนอที่พวกเขามองว่าไม่เพียงพอจากรัฐบาลลาว

ครอบครัวเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ และถูกบังคับให้ย้ายออกจากที่ดินของตนเนื่องจากโครงการรถไฟลาว-จีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Belt and Road Initiative ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ที่มุ่งเชื่อมโยงจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน

คำพัน พมมะทัด ประธานสำนักงานตรวจสอบของรัฐลาว ได้ยืนยันว่า ครอบครัว 371 ครอบครัวยังไม่ได้รับการชดเชย โดยในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลาวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เขากล่าวว่ารัฐบาลได้ชำระเงิน 83 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับ 6,504 ครอบครัวจากทั้งหมด 6,875 ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้แล้ว

สาเหตุที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขคือการที่รัฐบาลและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องราคาต่อหน่วยสำหรับบ้าน ที่ดิน และต้นไม้ที่สูญเสียไปจากโครงการนี้ บางครอบครัวยังไม่ยอมรับราคาที่รัฐบาลเสนอ โดยในปีที่แล้ว มีรายงานว่า รัฐบาลได้เสนอราคาชดเชยที่ 80,000 กีบ (ประมาณ 4.10 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเมตร แต่ชาวบ้านต้องการ 150,000 กีบ (ประมาณ 7.70 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเมตร

โครงการรถไฟสายนี้ซึ่งมีมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เชื่อมโยงประเทศจีนกับลาว โดยรถไฟเริ่มเปิดใช้งานในเดือนธันวาคม 2021 และมีการคาดการณ์ว่าจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว การขนส่งสินค้า และการค้าการเกษตรในลาว

แม้จะมีประโยชน์ในแง่ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่โครงการนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องของการบังคับให้ชาวบ้านย้ายออกจากที่ดินของตน โดยหลายครอบครัวยังคงเผชิญกับการชดเชยที่ล่าช้า หรือไม่ได้รับเงินตามที่ควรจะได้

 ที่มา: RFA, 8/12/2024

สาวลาววัย 19 ปี ถูกบังคับทำงานในศูนย์หลอกลวงออนไลน์ที่เมียนมา ตอนนี้อยู่ที่สถานพักฟื้นเหยื่อการค้ามนุษย์ในไทย เธอถูกบังคับทำงานที่ศูนย์หลอกลวงออนไลน์ของจีนในเมียนมาเป็นเวลา 2 ปี

ตามรายงานจาก RFA ลาว วันที่ 20 ธันวาคม 2024 ระบุว่า หญิงสาวลาววัย 19 ปี ที่ถูกบังคับให้ทำงานในศูนย์หลอกลวงออนไลน์ที่ดำเนินการโดยจีนในเมียนมาเป็นเวลาสองปี ได้รับการช่วยเหลือและนำตัวไปยังศูนย์ฟื้นฟูผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2024 หลังจากที่เธอหลบหนีจากศูนย์หลอกลวงและข้ามพรมแดนไปยังสถานีตำรวจในอำเภอแม่สอดของไทย

ก่อนหน้านี้หญิงสาวคนดังกล่าวได้ส่งข้อความถึงสำนักข่าว RFA บอกว่าเธอได้หลบหนีออกจากศูนย์หลอกลวงแล้ว และเดินทางถึงสถานีตำรวจในไทย อย่างไรก็ตาม ตำรวจไทยไม่ได้พบหลักฐานการขอความช่วยเหลือจากเธอที่สถานีตำรวจแม่สอด แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ศูนย์ฟื้นฟูในจังหวัดพิษณุโลกยืนยันว่าเธอได้รับการส่งตัวมายังศูนย์ฟื้นฟูในวันที่ 13 ธันวาคม

เจ้าหน้าที่ศูนย์ฟื้นฟูกล่าวว่า หลังจากที่เธอมาถึงศูนย์แล้ว เธอจะได้รับการบำบัดทั้งด้านร่างกายและจิตใจตามขั้นตอนที่กำหนด โดยไทยมีข้อตกลงร่วมกับประเทศลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม ในการให้การช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ก่อนที่จะส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทาง

หญิงสาวกล่าวในสัมภาษณ์ว่า เธอได้บอกแม่ของเธอเกี่ยวกับการหลบหนีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม และได้ออกจากเมียนมาช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์ฟื้นฟูกล่าวว่า ขณะนี้กำลังสัมภาษณ์เธอเพื่อจัดทำรายงานที่จะส่งให้กับรัฐบาลไทยและลาว ก่อนที่จะมีการตรวจสอบความปลอดภัยของเธอเมื่อกลับไปยังประเทศลาว

ที่มา: RFA, 20/12/2024

เจ้าหน้าที่ในจังหวัดจำปาศักดิ์บังคับเก็บค่าธรรมเนียมการอยู่อาศัยจากแรงงานข้ามชาติ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ

ตามรายงานจาก RFA LAO รายงานว่า เจ้าหน้าที่ในจังหวัดจำปาศักดิ์ ทางตอนใต้ของลาวได้บังคับให้แรงงานข้ามชาติจากพื้นที่อื่นๆ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการอยู่อาศัย โดยมีจำนวนเงินสูงถึง 55,000 กีบ (ประมาณ 2.50 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูงในประเทศที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 1.6 ล้านกีบ (ประมาณ 73 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน

ชาวบ้านที่อพยพจากจังหวัดอื่นๆ บอกว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกำหนดค่าธรรมเนียมนี้โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลที่ชัดเจนและพวกเขามองว่าเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากประชาชน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องการเสริมรายได้จากเงินเดือนที่ต่ำ เจ้าหน้าที่จากจังหวัดจำปาศักดิ์ยอมรับว่าเงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มต้นที่ 1.85 ล้านกีบ (ประมาณ 84.50 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนขั้นต่ำเล็กน้อย จึงทำให้บางคนพยายามหาแหล่งรายได้เสริมจากการเก็บค่าธรรมเนียมนี้

กฎหมายระบุว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้เพียง 40,000 กีบ (ประมาณ 1.80 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน และสามารถเก็บได้ไม่เกิน 3 เดือนติดต่อกัน ซึ่งยังคงต้องออกเอกสารเพื่อยืนยันการอาศัยชั่วคราว แต่มีการรายงานว่าบางเจ้าหน้าที่ได้เก็บค่าธรรมเนียมสูงกว่าที่กฎหมายอนุญาต และกำลังได้รับการตรวจสอบจากตำรวจท้องถิ่น

ในอดีตเคยมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในบางพื้นที่พยายามเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ย้ายถิ่นในเขตเวียงจันทน์ โดยเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลกลางได้สั่งให้ยุติการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวทันทีหลังจากมีการร้องเรียนจากประชาชน

ที่มา : RFA 18/12/2024

บริษัทในลาวประสบปัญหาจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายใหม่

The Laotian Times รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ในลาวจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่หลายบริษัทยังคงจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ประกอบการบางรายอ้างว่า ค่าจ้างควรสะท้อนทักษะของพนักงาน และหลายคนยังขาดคุณสมบัติที่สามารถรองรับการจ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้น

กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจาก 1.6 ล้านกีบ (ประมาณ 75 ดอลลาร์สหรัฐ) เป็น 2.5 ล้านกีบ (ประมาณ 114 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน เพื่อช่วยให้พนักงานรับมือกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ หากพนักงานไม่มีวุฒิการศึกษา นายจ้างต้องจ่ายค่าครองชีพเพิ่มเติมอีก 900,000 กีบ (ประมาณ 41 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อให้รวมเป็นค่าจ้างตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม หลายโรงงานและธุรกิจในภาคเอกชนยังคงปฏิเสธที่จะปรับเพิ่มค่าแรงตามที่กำหนดไว้

นางใบคำ ขัตติยะ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ได้ยอมรับถึงความยากลำบากในการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของพนักงานและมาตรฐานการทำงาน โดยกล่าวว่าค่าจ้างที่ต่ำกำลังผลักดันให้คนงานจำนวนมากออกไปหางานที่มีค่าจ้างดีกว่าในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศไทย รัฐมนตรีได้เรียกร้องให้ธุรกิจต่างๆ ปฏิบัติตามกฎหมายค่าจ้างใหม่และเสนอสวัสดิการที่ดีกว่า เพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานไว้ แต่ภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นยังคงเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับรัฐบาล

ที่มา : The Laotian Times, 25/12/2024

Lanner Joy: ปลุกคอมมูนิตี้กาแฟให้แพร่เติบโตกว่าที่เป็น

เรื่องและภาพ: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

จังหวัดแพร่ เป็นจังหวัดเล็กๆ เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในภาคเหนือ แต่ในจังหวัดเล็กๆ นี้ กลับมีร้านกาแฟแทรกซึมอยู่ทุกๆ 100 เมตร บนถนนในเขตเมือง ทั้งสายหลักและสายรอง ข้อมูลจาก สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กล่าวมานี้ ทำให้เห็นว่าธุรกิจกาแฟในจังหวัดแพร่ ไม่ว่าจะในแง่ของ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้กาแฟในจังหวัดแพร่ เติบโตได้ขนาดนี้?

กาแฟเป็นสินค้าที่มีความต้องการบริโภคสูงขึ้นทุกปี มีมูลค่าตลาดที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจโดย Euromonitor International พบว่า ในช่วงปี 2564 – 2566 มูลค่าตลาดกาแฟไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย ร้อยละ 8.55 ต่อปี ซึ่งมีมูลค่าตลาดในปี 2566 สูงถึง 34,470.3 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.34 ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างผลักดันการปลูกกาแฟในไทย 

จังหวัดแพร่มีพื้นที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า 1,720 ไร่ คิดเป็น 61% และสายพันธุ์อาราบิก้า 1,105 ไร่ คิดเป็น 39% ความน่าสนใจคือ จังหวัดแพร่เป็นแหล่งปลูกกาแฟ ‘อาราบะซอลต์’ หรือ ‘กาแฟภูเขาไฟ’ ซึ่งเป็นกาแฟที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดแพร่ได้อย่างมาก โดยส่วนใหญ่จะรู้จักในชื่อ ‘กาแฟเด่นชัย’ แต่นอกจากกาแฟเด่นชัยแล้วก็ยังมีกาแฟแพร่ที่โดดเด่นอีกมากมาย เช่น กาแฟแม่ลัว กาแฟบ้านนาตอง 

ร้านกาแฟถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต ที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดแพร่ เนื่องจากร้านกาแฟเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการพักผ่อนหรือนัดพบปะพูดคุยกัน คนรุ่นใหม่เลยมักจะเที่ยวคาเฟ่กันเยอะขึ้น ร้านกาแฟหลายแห่งในจังหวัดแพร่ก็มีจุดขายที่แตกต่างกันออกไป และส่วนใหญ่ก็มักนำเข้ากาแฟจากดอยต่างๆ ที่มีชื่อเสียงในเมืองไทย และจากต่างประเทศในปริมาณที่มาก 

คุณภาพของกาแฟ คุณภาพของคน(แพร่)รุ่นใหม่

วิทยา ไพศาลศักดิ์ หรือ ‘ลุงโม่ง’ ผู้พัฒนาสายพันธุ์กาแฟไทย และเจ้าของร้านกาแฟ Balance cup Espresso & Slow bar ในจังหวัดแพร่  เรื่องการบริโภคกาแฟของคนแพร่ คำบอกเล่าของลุงโม่งทำให้เรารู้ว่าจังหวัดแพร่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมกาแฟมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนร้านกาแฟที่เพิ่มขึ้น และคนดื่มกาแฟส่วนใหญ่มักจะเลือกกาแฟที่คุณภาพ และรสชาติที่ดี แตกต่างจากเมื่อก่อนที่มีแบบไหนก็ดื่มแค่แบบนั้น

“เดี๋ยวนี้คนดื่มกาแฟเขารู้หมดว่ารสชาติกาแฟแบบไหนเป็นยังไง เขาก็จะเลือกกินร้านดีๆ เมล็ดดีๆ คนทำกาแฟก็ต้องเรียนรู้เรื่องกาแฟให้เยอะขึ้น เพื่อให้ทำกาแฟออกมาได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าเพราะคนดื่มเขาพัฒนาความรู้เรื่องการดื่มเรื่อยๆ”

คุณภาพของกาแฟ เป็นปัจจัยที่สำคัญอันดับต้นๆ ในการเลือกดื่มกาแฟของคนรุ่นใหม่ และกาแฟไทยในหลายที่โดยเฉพาะจังหวัดน่าน ก็เป็นกาแฟที่ได้รับการันตีว่ามีคุณภาพดี จากการได้รับรางวัลในการประกวดของหลายๆ รายการ อย่างล่าสุดในการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ‘Thai Specialty Coffee Awards 2024’ โดย SCATH (Specialty Coffee Association of Thailand) ก็จะเห็นได้เลยว่ามีกาแฟที่ปลูกในจังหวัดน่านที่ได้รับรางวัลในอันดับ Top 3 แทบทุกประเภทของการประกวด

แล้วกาแฟของจังหวัดแพร่ ถือว่าตอบโจทย์สำหรับผู้บริโภคยุคใหม่แล้วหรือยัง?

“กาแฟแพร่ถือว่าอยู่ในมาตรฐานที่ดีมากเลยนะ เราเคยส่งเมล็ดกาแฟที่ปลูกในแพร่ไปประเมินโดย CQI (Coffee Quality Institute) และพบว่าได้คะแนนจากการประเมินสูงถึง 80 คะแนน  แต่เพราะยังไม่มีเกษตรกรที่เขาอยากพัฒนาคุณภาพกาแฟแพร่อย่างจริงจังเลยทำให้กาแฟที่มีคุณภาพพวกนี้มันมีน้อย เราเลยต้องนำเข้ากาแฟจากที่อื่นมาเสริม”

ลุงโม่งเล่าต่ออีกว่า การปลูกกาแฟให้ได้ผลผลิตที่คุณภาพดีมีเงื่อนไขค่อนข้างเยอะ เพราะเกษตรกรต้องควบคุมปัจจัยในพื้นที่ปลูก ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น และความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ต้องเหมาะสมพอดี 

ลุงโม่งเล่าว่าความท้าทายของการปลูกกาแฟในจังหวัดแพร่ อย่างแรกคือเรื่องของพื้นที่ปลูก โดยจังหวัดแพร่มีพื้นที่ปลูกกาแฟเพียง 2,600 กว่าไร่เท่านั้น (ข้อมูลจาก สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ วันที่ 19 กันยายน 2566) ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยถ้าเทียบกับพื้นที่เกษตรทั้งหมดในจังหวัด เมื่อพื้นที่ปลูกมีน้อยก็ทำให้ผลผลิตที่ได้ในแต่ละปีมีน้อยตามไปด้วย นอกจากนั้นปัญหาของการที่เกษตรกรขาดความรู้ในเรื่องการดูแลต้นกาแฟแต่ละสายพันธุ์และการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟที่ถูกต้อง ทำให้จังหวัดแพร่ผลิตกาแฟที่มีคุณภาพได้น้อยมาก ร้านกาแฟในแพร่ส่วนใหญ่เลยเลือกใช้เมล็ดคุณภาพดีจากที่อื่นแทน

Specialty แบบแพร่ๆ

เมล็ดกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) เป็นเมล็ดกาแฟที่ผ่านกระบวนการคัด คั่ว บด กลั่น ชง จนได้กาแฟที่มีรสชาติดี มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และผ่านรับการรับรองคุณภาพจากนักชิมที่มีความเชี่ยวชาญ ด้วยคุณภาพที่ถูกคัดมาเป็นพิเศษนี้ ทำให้กาแฟ Specialty กลายเป็นจุดขายของร้านกาแฟหลายๆ ร้าน 

“กาแฟแต่ละตัวเขาก็จะมีรสชาติต่างกัน พอดื่มจากแก้วที่มีรูปทรงต่างกันรสชาติก็จะต่างกันไปด้วย สิ่งนี้มันคือความสนุกของการกินกาแฟ Specialty

รามอส-ชยากร วันทนียวงค์ เจ้าของร้าน  AM23 ร้านกาแฟ  Specialty ในจังหวัดแพร่ เล่าว่า เขาได้นำเข้าเมล็ดกาแฟ Specialty จากทั้งในและต่างประเทศ มาวางขายหลากหลายชนิด เพราะอยากให้ลูกค้าได้ลองชิมกาแฟหลายๆ แบบ โดยเขามองว่า เอกลักษณ์ที่แตกต่างกันของเมล็ดกาแฟพิเศษเหล่านี้ เป็นเหมือนสีสันที่ช่วยทำให้การดื่มกาแฟนั้นมีมิติมากขึ้น

“คนที่มาเพื่อดื่มกาแฟดำของร้านเราโดยเฉพาะเลยก็เยอะ ยิ่งช่วงหน้าหนาวกาแฟร้านเราจะขายดีมาก เพราะเวลาคนไปเที่ยวน่านหรือที่อื่น เขาก็จะแวะดื่มกาแฟกัน ด้วยคาแรคเตอร์ร้านเราคือ Specialty Coffee คนที่อยากกินกาแฟนอก หรือกาแฟ Specialty เขาก็จะมาลองกัน”

รามอสเล่าว่า ในช่วงหน้าหนาวที่ร้านของเขาจะคึกคักมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นฤดูการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวบางส่วนที่ตั้งใจไปเที่ยวจังหวัดน่านหรือจังหวัดใกล้เคียง ก็เลือกที่จะแวะดื่มกาแฟที่ร้าน เพราะมีกาแฟ Specialty ที่หลากหลายให้ได้มาเลือกลอง ถือเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้คอกาแฟในจังหวัดแพร่ที่ต้องการดื่มกาแฟคุณภาพ

ให้กาแฟเดินไปหาเมือง

เมื่อเป็นเมืองมีคนรักกาแฟกระจายอยู่เยอะมาก สิ่งที่ตามมาคือการเกิดคอมมูนิตี้คนรักกาแฟ ที่รวบรวมคอกาแฟมาทำกิจกรรมด้วยกัน

ภาพจาก Sunday Morning Cars & Coffee Phrae Thailand

“เราเคยทำ Coffee & Co คือการรวมกลุ่มร้านกาแฟที่เป็นเพื่อนกันมาเปิดร้านเล็กๆ ด้วยกันแล้วย้ายพื้นที่ขายไปเรื่อยๆ มันเริ่มมาจากการที่เรามีเครื่องมือ มีเมล็ดกาแฟ แล้วเราก็อยากเที่ยวด้วย แล้วคนเข้าร่วมเขาก็มากันเยอะมาก ผลตอบรับก็ดีมากเลย”

อาร์ต-ศักดิ์นรินทร์ ภู่จันทร์ เจ้าของร้าน Inwardly Cafe & Coffee Roaster จังหวัดแพร่ เล่าว่า เมื่อปีที่ผ่านมาเขาและเพื่อนๆ คนทำกาแฟได้รวมกลุ่มคนรักกาแฟมาทำกิจกรรม Coffee & Co ที่เป็นการเปิดร้านกาแฟเล็กๆ และย้ายพื้นที่ไปรอบตัวเมืองแพร่ เพื่อให้คนรักกาแฟได้มามีส่วนร่วมในการพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องกาแฟ และมาลองชิมกาแฟไปด้วยกัน โดยผลตอบรับของกิจกรรมนี้สำหรับอาร์ตแล้วเขามองว่ามีผลตอบรับค่อนข้างดี เพราะมีผู้ร่วมกิจกรรมเยอะขึ้นในทุกครั้งที่เขาจัด เขาเล่าอีกว่าหากมีโอกาสก็อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีกเยอะๆ 

“ร้านกาแฟที่แพร่มันก็ไปได้เรื่อยๆ เพราะว่าแพร่ไม่ค่อยมีที่เที่ยว คนก็จะเที่ยวคาเฟ่กัน ผมมองว่าธุรกิจนี้มันโตขึ้นได้อีก เพราะจำนวนผู้บริโภคตอนนี้มันเยอะกว่าจำนวนร้าน”

อาร์ตเล่ามุมมองเกี่ยวกับธุรกิจกาแฟในจังหวัดแพร่ว่ายังมีโอกาสเติบโตไปได้อีกเพราะว่าจำนวนผู้บริโภคกาแฟในแพร่ยังมีอยู่เยอะ และคาเฟ่ก็ยังเป็นอีกธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินให้กับจังหวัดแพร่อยู่พอสมควร

ทั้งที่มีศักยภาพขนาดนี้แล้วทำไมคนทำกาแฟถึงไม่รวมตัวกัน?

จากที่คุยกับผู้ประกอบการร้านกาแฟในจังหวัดแพร่ทั้งสามคน ทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วจังหวัดแพร่เป็นเมืองที่มีศักยภาพเรื่องกาแฟค่อนข้างสูง มีทั้งผู้พัฒนาสายพันธุ์กาแฟไทยที่ปลุกปั้นกาแฟน่านสู่เวทีระดับโลกหลายรายการ มีร้านกาแฟที่นำเข้ากาแฟพิเศษจากหลายพื้นที่ และยังมีคอมมูนิตี้นักดื่มที่หลากหลาย แล้วทำไมเราถึงยังไม่ค่อยเห็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนทำกาแฟในจังหวัดแพร่เลย ทั้งที่ในจังหวัดอื่นในพื้นที่ใกล้เคียงกันนี้ ก็มีงานกาแฟให้เราได้เห็นกันเยอะพอสมควร อย่างจังหวัดลำปาง ก็มีงาน Lampang Coffee Fest ที่จัดโดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง หรือที่อุตรดิตถ์ ก็ยังมีงาน  Uttaradit Coffee Craft แล้วทำไมแพร่ถึงยังไม่มีงานกาแฟเป็นของตัวเองบ้าง

“คนแพร่ค่อนข้างมีความเป็นปัจเจกสูง เราเคยชวนคนที่ปลูกกาแฟมาพัฒนาคุณภาพกาแฟด้วยกันแต่ก็ยังไม่ค่อยมีคนมาร่วมเท่าไหร่ แต่เราเชื่อว่าแพร่มีศักยภาพมากพอที่จะทำให้กาแฟมันไปต่อได้นะ อยู่ที่ว่าจะมีคนมาทำอย่างจริงจังไหม” 

ลุงโม่งมองว่ากาแฟแพร่มีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาต่อไปได้ ถ้าคนปลูกกาแฟตั้งใจร่วมมือกันพัฒนาการปลูกกาแฟในแพร่อย่างจริงจัง

“มันเคยมีคนทำนะ ทำด้วยกันอยู่สองสามร้าน งานมันก็จะเล็กๆ จนดูเป็นงานเฉพาะกลุ่ม แต่ถ้าหลายๆ ร้านร่วมจัดด้วยกัน ไปดึงเอาคอนเนคชันหลายๆ กลุ่ม มาทำด้วยกันมันก็อาจจะดี เพราะว่าแพร่งานกาแฟมันยังไม่ได้มีจริงจังมากขนาดนั้น”

รามอสเล่าว่าเคยมีการรวมตัวกันบ้างแล้วแต่ยังเป็นการรวมตัวกันแค่ในกลุ่มเล็กๆ โดยเขามองว่า ถ้าหลายๆ ร้านมีการร่วมมือกันอย่างจริงจัง ภาพที่เมืองแพร่มีงานกาแฟเหมือนที่จังหวัดอื่นๆ อาจเกิดขึ้นได้

“เพราะว่ามันยังไม่มีใครที่มาทำเป็นแกนหลัก แต่ละคนเขาก็จะมีงานหลักของตัวเอง อย่างผมก็เปิดร้าน พอทำเองมันก็เสียรายได้เยอะเพราะผมก็ต้องปิดร้านครึ่งวันเลย แต่ผมมองว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นได้นะ ถ้ามันมีคนเริ่มทำจริงๆ เราก็พร้อมเข้าร่วม” 

สำหรับอาร์ตแล้วแกนหลักในการรวมกลุ่มถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะสามารถทำให้คนทำกาแฟในแพร่เกิดการรวมตัวกันได้จริง และหากมีผู้เริ่ม เขาก็พร้อมที่จะเป็นผู้เข้าร่วมสร้างเมืองแพร่ให้เป็นเมืองกาแฟไปด้วยกัน

มาถึงตรงนี้ก็ทำให้เราเห็นแล้วว่า คนทำกาแฟในจังหวัดแพร่มีศักยภาพ มีความพร้อม และความต้องการที่จะพัฒนากาแฟแพร่ให้เติบโตได้มากขึ้น ขาดเพียงแค่ ‘การรวมกลุ่ม’ เพื่อสานพลังให้คอมมูนิตี้กาแฟแพร่มีความเข้มแข็งมากขึ้น 

ถึงเวลาแล้วที่เราจะลุกขึ้นมาผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มกันอย่างจริงจัง

คุณก็เป็นได้นะ! ‘ผู้เริ่มต้นปลุกแพร่ให้เป็นเมืองกาแฟ’ 

‘เครือข่ายนิรโทษกรรม’ ให้กำลังใจ ‘อานนท์ นำภา’ ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ชี้ ม.112 ขัดเสรีภาพ

24 ธันวาคม 2567 เวลา 09:00 น. ณ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ได้เดินทางมาให้กำลังใจอานนท์ นำภา สืบเนื่องจากศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีของ อานนท์ นำภา ผู้ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบ ๆ” ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมาในประเด็นงบประมาณของสถาบันกษัตริย์และการเปลี่ยนแปลงการจัดการทรัพย์สินของกษัตริย์ โดยตำรวจเห็นว่า มีเนื้อหาเข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

ภาพ: lawyersforlawyers.org

บรรยากาศห้องบริเวณหน้าห้องพิจารณาคดีมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนายคอยควบคุมบริเวณศาลและได้ตั้งรั้วเหล็กหน้าห้องพิจารณาและไม่ให้ประชาชนผู้มารับฟังคดีเข้าในห้องพิจารณาคดีแต่มีการจัดให้รับฟังถ่ายทอดสดการสืบพยานผ่านวิดิโอคอลเฟอเรนซ์ในห้องสมุดประจำศาลจังหวัดเชียงใหม่แทน

ขณะที่ ประชาชนผู้มาร่วมให้กำลังใจรายหนึ่งกล่าวว่า การที่ประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นทางเมืองตามสิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกดำเนินคดีทางการเมืองสะท้อนให้เห็นปัญหาของกฎหมายมาตรา 112 ที่ตีความอย่างกว้างขวาง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดและถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพในการความเห็นของประชาชนและส่งผลกระทบต่อเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เราจึงออกมาร่วมกันให้กำลังใจอานนท์ในวันนี้

ในการสืบพยานในวันนี้ ข้อมูลศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ศาลสืบพยานโจทก์ได้อีก 2 ปาก และให้ตัดพยานโจทก์ 1 ปาก ที่ไม่สามารถมาศาลได้ ก่อนเริ่มสืบพยานจำเลย โดยอานนท์อ้างตัวขึ้นเบิกความเป็นพยานจนเสร็จสิ้น ให้เลื่อนสืบพยานจำเลยอีก 2 ปาก ไปในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ที่ 25 ธันวาคม 2567

นอกจากนี้เครือข่าย We, The People ได้นัดรวมตัวกันทำกิจกรรมพิเศษยืนหยุดทรราชXนิรโทษกรรมประชาชน เพื่อให้กำลังใจผู้ต้องหาคดีทางการเมืองที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำและไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว ในวันนี้ ณ ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เวลา 17:00 น.เป็นต้นไป

เปิดอัพเดทค่าแรงขั้นต่ำ 17 จังหวัดภาคเหนือจังหวัด (2568) ‘อำเภอเมืองเชียงใหม่’ สูงสุด 380 บาท น่าน-พะเยา-แพร่ รั้งท้าย 345 บาท ไม่มีจังหวัดไหนในภาคเหนือแตะ 400 บาท

คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2568 โดยอัตราสูงสุดของประเทศอยู่ที่ 400 บาท และต่ำสุด 337 บาท เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป แม้รัฐบาลจะตั้งเป้าค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ภาคเหนือยังไม่มีจังหวัดใดที่ได้ค่าแรงถึงระดับนี้

วานนี้ (23 ธันวาคม 2567) คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 มีมติการประชุมครั้งที่ 11/2567 เมื่อ 23 ธันวาคม 2567 กำหนดให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่เพิ่มขึ้นระหว่าง 7-55 บาท (เฉลี่ย 2.9%) แบ่งเป็น 17 อัตรา ซึ่งเป็นการพิจารณาจากโครงสร้างเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด

บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ และประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า การปรับค่าแรงครั้งนี้มุ่งให้แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานสามารถดำรงชีพได้อย่างเหมาะสมตามมาตรฐานค่าครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น ซึ่งการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จะส่งผลส่งผลกระทบเชิงบวกกับแรงงานกว่า 3,760,679 คนทั่วประเทศ

สำหรับปี 2568 คณะกรรมการค่าจ้างได้ปรับแนวทางการพิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำ โดยกระจายอำนาจให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในระดับจังหวัด ทั้งหมด 77 คณะ เพื่อนำข้อเสนอจากแต่ละพื้นที่มาประกอบการตัดสินใจอย่างเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 มาตรา 87 แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 ด้านความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง
  • กลุ่มที่ 2 ด้านความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง
  • กลุ่มที่ 3 ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

โดยพิจารณาจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อให้ลูกจ้างมีค่าจ้างเพียงพอต่อการดำรงชีวิต และพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค รวมทั้งรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานจะนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลจะตั้งเป้าปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ยังไม่มีจังหวัดใดได้รับอัตราค่าแรงดังกล่าว ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำในภาคเหนือถูกกำหนดให้แบ่งออกเป็น 7 ระดับ โดยพิจารณาจากค่าครองชีพ และโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ ดังนี้

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 17 จังหวัดภาคเหนือจังหวัด ปี 2568
จังหวัดค่าจ้างขั้นต่ำปี (บาทต่อวัน)
เชียงใหม่ (เฉพาะอำเภอเมือง)380
เชียงใหม่ (ยกเว้นอำเภอเมือง)357
เชียงราย352
ตาก352
พิษณุโลก352
นครสวรรค์350
ลำพูน350
เพชรบูรณ์349
กำแพงเพชร347
พิจิตร347
แม่ฮ่องสอน347
ลำปาง347
สุโขทัย347
อุตรดิตถ์347
อุทัยธานี347
น่าน345
พะเยา345
แพร่345

ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท โจทย์ใหญ่ที่ต้องมองไกลกว่าแค่ตัวเลข

วรวิทย์ เจริญเลิศ คณาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดมุมมองถึงประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท กับ Lanner ไว้ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เป็นก้าวที่ควรผลักดัน แต่ต้องไม่ลืมมองลึกไปถึงปัญหาโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ วรวิทย์ เผยว่าไทยนั้นเติบโตจากการใช้แรงงานราคาถูก แต่กลับเผชิญหน้ากับการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งหากจะแก้ปัญทั้งหมด ต้องมองไปที่โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่ไม่สามารถยกระดับขึ้นได้ ซึ่งในปัจจุบันไทยไม่สามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการส่งออกที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เลย เนื่องจากการส่งออกในตลาดโลกนั้นซบเซาผลจากภาวะสงครามที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งเป็นข้อจำกัด

ส่งผลต่อผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับตัวได้จากภาวะดังกล่าว วรวิทย์ เผยว่าผู้ประกอบการยังใช้วิธีเก่าคือต้องการกำหนดให้ค่าแรงถูก และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่เป็นฐานอุตสาหกรรมไม่ใช้เทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งหากไทยจะเดินหน้าในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจต้องมีการฝึกทักษะใหม่ หากมาดูที่ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท วรวิทย์ เผยว่าไม่ถึงกับสูงมากหากเทียบกับภาวะเงินเฟ้อที่เป็นอยู่ รวมไปถึงหนี้ครัวเรือนที่มากในปัจจุบัน 

วรวิทย์ ยังมองไปเรื่องของการศึกษาที่เป็นการเพิ่มทักษะให้กับแรงงานให้สัมพันธ์กับค่าแรงที่สูงตาม ซึ่งต้องใช้การ Training และ Re-Training ที่การอบรมต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการถ่ายทอดความรู้ ในหลายประเทศใช้วิธีการให้นายจ้างและตัวแทนของลูกจ้างเป็นคณะกรรมการในการปรับทักษะภายในโรงงาน แต่หากมาย้อนมองดูในไทย การอบรมดังกล่าวอยู่ภายใต้การดำเนินงานของราชการทำให้ไม่ตอบโจทย์

วรวิทย์ ยังเสริมไปที่ระบบการศึกษาที่อาศัยแต่ความจำในเนื้อหาการเรียนการสอน แต่กลับขาดการวิเคราะห์และสังเคราะห์ ซึ่งเป็นการผลิตบัณฑิตที่เน้นแต่ปริมาตรและเป็นธุรกิจมากกว่าส่งเสริมการเรียนรู้ และขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยไม่เติบโตนั้นเป็นผลมาจากระบอบอำนาจนิยม เป็นการเมืองของชนชั้นนำ ที่เป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ อำนาจที่ทับซ้อนกันที่ยังเป็นปัญหาอยู่

วรวิทย์ เผยว่าการที่ไทยต้องการแรงงานราคาถูกแต่กลับขาดแคลนแรงงานจึงมีการเปิดพรมแดนให้แรงงานข้ามชาติเข้ามา ซึ่งประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ถึงแม้แรงงานข้ามชาติอาจจะได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว แต่ก็เป็นส่วนน้อย เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ครอบคลุม รวมไปถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาตินั้นไม่มีอำนาจต่อรอง รวมไปถึงไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้

การจะแก้ปัญหาได้ในปัจจุบันต้องมองการบริโภคและผลิตภายในให้มากขึ้น ซึ่งต้องแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมไปถึงการกระจายรายได้ และอำนาจในการใช้จ่าย ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง หากมามองที่รัฐบาลในปัจจุบันก็คล้ายกับว่าจะมีแนวความคิดดังกล่าว อย่างนโยบายเงินดิจิตอล แต่ก็ทำได้แค่แจกแต่ยังไม่เห็นในมุมของการกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวจากเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันของรัฐบาล วรวิทย์ มองว่าเป็นการมองแค่เป้าหมายแต่ไม่มองกระบวนการที่จะนำไปสู่การสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแรง ซึ่งต้องมีการปฏิรูปทางการเมือง

‘แม่ฮ่องสอน’ วิมานจนของคนซวย

เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย


Summary 

  • แม่ฮ่องสอนถูกจัดอันดับเป็นจังหวัดที่มีคนจนเรื้อรังมากที่สุดในปี 2565 และเป็นจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุดอันดับต้นๆ กว่า 19 ปี 
  • รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในแม่ฮ่องสอนอยู่ที่ 15,496 บาทต่อเดือน ขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 12,816 บาทต่อเดือน 
  • ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ระบุว่าคนในแม่ฮ่องสอนต้องเผชิญกับความจนทั้งในด้านความเป็นอยู่ สุขภาพ การศึกษา และรายได้ 
  • ความยากจนของคนแม่ฮ่องสอนมีสาเหตุมาจากสภาพภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่สูง ทำให้ยากต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าหรือถนน รวมถึงปัญหาการศึกษาและปัญหาที่ดินทำกินที่สะสมมาเป็นเวลานาน
  • การประกาศพื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 84.65 ยังเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในจังหวัดและการพัฒนาเศรษฐกิจในมิติอื่นๆ  
  • การแก้ปัญหาความยากจนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนควรเริ่มต้นด้วย 1) ปฏิรูปที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตร 2) ซ่อมแซมถนนที่ชำรุดและก่อสร้างถนนเพิ่มเติม เพื่อเชื่อมต่อเศรษฐกิจภายในจังหวัดและระหว่างจังหวัด และ 3) ยกระดับจุดผ่อนปรนทางการค้าให้เป็นด่านข้ามแดนถาวร เพื่อส่งเสริมศักยภาพการเป็นเมืองชายแดนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

“ทุเรียน ผลไม้ที่มีราคาแพงไปปลูกในจังหวัดที่ยากจน มันแบบ…มันโครตน่าแย่งชิงเลยอ่ะ”1 

ข้อความข้างต้นนี้มาจากบทสัมภาษณ์ของ นฤเบศ กูโน ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องวิมานหนาม ที่เพิ่งออกฉายไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาและได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงบวกอย่างท่วมท้น ฉากชีวิตเรื่องราวของทั้งหมดถูกเล่าว่าเกิดขึ้นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน หนึ่งในจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย ฉะนั้นเรื่องราวของวิมานนามจึงไม่ใช่เพียงการต่อสู้เพื่อแย่งชิงการครอบครองสวนทุเรียนของสองตัวละคร แต่ยังเป็นการต่อสู้กันระหว่างคนสองคนเพื่อแย่งชิงสรวงสวรรค์ในดินแดนแห่งความจนนี้ด้วยเช่นกัน 

คำถามที่เราอาจต้องถามต่อจากบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับและเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดในวิมานหนาม คือ แม่ฮ่องสอนเป็นดินแดนแห่งความยากจนตามที่ว่าหรือไม่? และหากเป็นเช่นนั้นจริง เหตุใดคนแม่ฮ่องสอนถึงตกอยู่ใต้เงาแห่งความจน? ผมอยากเริ่มต้นจากคำถามแรกเสียก่อน จากนั้นผมอยากจะลองพาผู้อ่านไปสำรวจคำถามที่สอง เพื่อหวังว่าเราจะพอได้คำตอบของคำถามที่ผมได้ตั้งทิ้งไว้ตั้งแต่ชมภาพยนตร์จบ

วิมานจน 

แม้จะเคยถูกจัดอันดับให้เป็นจังหวัดที่มีความสุขที่สุดในประเทศไทย แต่ชาวแม่ฮ่องสอนกลับต้องอยู่ในวังวนของความจนในวิมานความสุขแห่งนี้ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดอันดับให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีคนจนเรื้อรังมากที่สุดในประเทศเมื่อปี 25652 และเป็นจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุดอันดับต้นๆ ของประเทศมาต่อเนื่องกว่า 19 ปี

รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, ท้องฟ้า, เมฆ, ปลูก

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

รายงานจากการประเมินของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอนระบุว่าศักยภาพการสร้างรายได้ต่อหัว (GPP per capita) ของคนแม่ฮ่องสอนก็อยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับจังหวัดรอบข้าง โดยอยู่ที่ประมาณ 65,650 บาทต่อหัว3 เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดรอบข้างอย่างจังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่ 135,991 บาท หรือกว่า 2 เท่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขณะที่จังหวัดตากมีมูลค่า 99,026 บาทต่อหัว ซึ่งก็ยังสูงกว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ที่มา: สำนักงานสถิติจังหวัดแม่ฮ่องสอน มกราคม 2567 

ขณะที่มูลค่าผลผลิตมวลรวม (GDP) ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอยู่ที่ประมาณ 15,797.48 ล้านบาท โดยมูลค่าส่วนใหญ่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาจากสินค้าเกษตรทั้งสิ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ในปี 2565 ที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้สูงกว่า 2 แสนตัน ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปัจจุบันเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม4 และหากเป็นข้าวโพดที่มีความชื้นเกิน 30% หรือขายเป็นฝักข้าวโพดสดราคาจะลดลงเหลือประมาณ 8-9 บาทต่อกิโล ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าเกษตรที่ราคาถูกมากเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าเกษตรชนิดอื่น

ในส่วนของรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะอยู่ที่ 15,496 บาทต่อเดือน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนจะอยู่ที่ 12,816 บาทต่อเดือน และมีหนี้สินเฉลี่ย 123,698 บาทต่อครัวเรือน5 หากสมมติเอาว่าครอบครัวหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีรายได้และรายจ่ายต่อเดือนเท่ากับค่าเฉลี่ยของแม่ฮ่องสอน นั่นหมายความว่าครอบครัวนี้จะต้องใช้เวลากว่า 3 ปี 8 เดือนเพื่อจะปลดหนี้สิ้น โดยมีเงื่อนไขว่าครอบครัวนี้ต้องใช้จ่ายไม่เกินค่าเฉลี่ยของรายจ่ายของค่าเฉลี่ยจังหวัด ต้องไม่ก่อหนี้สิ้นเพิ่มเติมอีกเลย และห้ามออมเงินเลยแม้แต่บาทเดียว หากครอบครัวนี้หวังจะปลดหนี้ให้หมดภายในเวลาไม่เกิน 4 ปี 

“พี่คงไม่กลับไปอยู่ที่บ้านแล้วแหละ พ่อแม่ก็เสียไปตั้งนานแล้ว พี่ไม่เหลือเหตุผลที่ต้องกลับไปแม่ฮ่องสอนอีกแล้ว ลูกพี่ก็เรียนที่นี่ (กาญจบุรี) จะให้พาเข้ากลับขี่รถข้ามดอยเพื่อไปโรงเรียนมันก็คงไม่ใช่เรื่อง” 

ข้อความข้างบนนี้คือ คำตอบของพี่เนย (นามสมมติ) ที่กล่าวขึ้นหลังจากผมถามว่าคิดจะกลับไปอยู่ “บ้าน” หรือไม่ พี่เนยแต่เดิมเป็นคนอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่อำเภอสบเมย และพบรักกับสามีที่ทำงานอยู่ที่จังหวัดตาก หลังจากแต่งงานพี่เนยและสามีก็ย้ายมาลงหลักปักฐานกันที่จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งสองช่วยกันดูแลธุรกิจก่อสร้างที่สามีก่อตั้งขึ้น ก่อนจะมีลูกสาวตัวน้อยที่กำลังเรียนมัธยมต้นอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี ตอนนี้จังหวัดกาญจนบุรีได้กลายเป็น “บ้านใหม่” ของพี่เนยไปแล้ว 

รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, ท้องฟ้า, เมฆ, ต้นไม้

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

แต่สำหรับบ้าน “วิมานหลังเก่า” ที่แม่ฮ่องสอน พี่เนยยังคงผูกพันธ์และมีญาติพี่น้องบางส่วนอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียงและอำเภอสบเมย เธอยังคงเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องอยู่บ่อยๆ แม้จะต้องทนนั่งรถนานกว่า 12 ชั่วโมงในการเดินทางแต่ละครั้ง

พี่เนยเล่าให้ฟังถึงชีวิตที่บ้านเก่าอย่างแม่สะเรียงว่า แต่เดิมแล้วที่บ้านประกอบอาชีพเกษตรกรปลูกข้าวนาปีอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียง พี่เนยต้องเดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์เก่าๆ ของพ่อผ่านดอยแม่สะเรียงเพื่อไปโรงเรียน ก่อนจะเล่าต่อพี่เนยแวะแสดงกริยาส่ายหัวเบาๆ พร้อมกับพูดว่า 

“ชีวิตพี่ตอนอยู่แม่สะเรียงมันไม่มีอะไรใกล้เคียงคำว่าสบายเลย” 

ชีวิตวัยเด็กสำหรับพี่เนยไม่ใช่ความทรงจำที่หอมหวานเหมือนละครที่ฉายภาพชนบทอันแสนสุขแต่อย่างใด พี่เนยไม่เคยเห็นแสงไฟจากหลอดไฟเลยจนกระทั่งย้ายมาอยู่อำเภอสบเมย พี่เนยอาศัยเปลวตะเกียงน้ำมันก๊าซเป็นแสงสว่างในยามค่ำคืนและแสงนั่นจะดับลงในเวลาเพียงไม่นานหลังจากจุด เนื่องจากราคาน้ำมันก๊าดในช่วงเวลานั้นค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของครอบครัวพี่เนย ที่เธอระบุว่าอยู่ในระดับ “จน”

วิมานของพี่เนยในวัยเด็กเป็นบ้านขนาดเล็ก หลังคามุงด้วยสังกะสี และผนังทำมาจากไม้ บ้านถูกล้อมไปด้วยนาที่เป็นทั้งสนามเด็กเล่นและที่ทำงานของเธอไปในเวลาเดียวกัน น้ำประปาไม่ใช่สิ่งที่พี่เนยรู้จักในวัยเด็ก คลองต่างหากที่เป็นดั่งประปาหมู่บ้านให้พี่เนยและเพื่อนบ้านใช้อุปโภค

รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, ท้องฟ้า, กระท่อม, อาคาร

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

พี่เนยจำไม่ได้แน่ชัดว่าพ่อแม่มีที่นากี่ไร่ แต่พี่เนยกลับยืนยันว่าครอบครัวของเธอตอนนั้นอยู่ในจุดที่พูดได้เต็มปากเลยว่าจน แต่ที่นาของครอบครัวพี่เนยมีมากกว่าหลายคนในหมู่บ้านทำให้เธอได้รับรู้ว่าจริงๆ แล้วมีคนจนกว่าครอบครัวเธออีกมาก พี่เนยเล่าให้ฟังว่าเพื่อนๆ เธอหลายคนในละแวกไม่ได้เรียนในระดับมัธยมต้นด้วยซ้ำ หลายคนต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา บางคนเดินทางออกไปทำงานที่จังหวัดลำพูนบ้างเชียงใหม่บ้าง  

“ความจนที่พี่บอกนี่ มันคือจนจริงๆ นะ ไม่ใช่จนแบบพอมีกิน” 

พี่เนยยังคงเน้นย้ำถึงความจนที่ตนเองเคยพบเห็นมาในวัยเด็ก สำหรับพี่เนยแล้วแม้บ้านหรือวิมานเดิมที่เธอเคยอาศัยจะมีภาพความสุขปะปนมาบ้างเมื่อย้อนถึง แต่ภาพความจนก็ไม่หลุดหายไปจากความทรงจำของเธอเลย ความจนของครอบครัวที่พี่เนยเล่าถึง ยังมาพร้อมกับความรู้สึกลำบากที่คงค้างอยู่ในมวลความรู้สึกของพี่เนย ความรู้สึกที่พี่เนยไม่อยากให้ลูกสาวของเธอต้องมาประสบให้ขุ่นเคืองเช่นที่เธอเคยประสบ

หลังจากฟังปากคำจากอดีตคนในวิมานแห่งความจนที่ย้ายออกไปจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อมา ผมอยากชวนมาฟังปากคำของคนนอกวิมานที่ได้ย้ายมาทำงานอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน 

พี่ตัง เจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) แห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน พี่ตังแต่เดิมเป็นคนกรุงเทพฯ เรียนจบปริญญาโทและเริ่มทำงานที่กรุงเทพฯ ก่อนจะย้ายไปทำงานที่เชียงราย และปัจจุบันย้ายมาทำงานในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ฉะนั้น พี่ตังจึงเป็นหนึ่งในคนที่จะบอกเล่า “ความต่าง” ระหว่างวิมานความจนแห่งนี้กับวิมานหลังอื่น

“กรุงเทพถ้าเทียบเป็นสเกลเศรษฐกิจต่างกันมาก ถ้าดู GDP รายได้ต่อครัวเรือน แม่ฮ่องสอนแทบจะยากจนที่สุด แต่กรุงเทพคือสูงสุด กรุงเทพฯ GDP มากกว่าแม่ฮ่องสอนเกือบ 250 เท่า อันนี้เทียบได้ซ้ายไปขวาเลย แม่ฮ่องสอนใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ประมาณ 8 เท่า แม่ฮ่องสอนมี 3 แสนคน ในขณะที่กรุงเทพฯ มีคน 10-11 ล้านคน กรุงเทพฯ มีคนมากกว่าแม่ฮ่องสอนประมาณ 40 เท่า 

ส่วนเชียงรายเป็นเมืองรองที่เรารู้สึกว่าค่อนข้างสะดวกสบายเลย ถ้าเปรียบเทียบจำนวนขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร และความหนาแน่น คือโอเคเลย เป็นเมืองที่น่าอยู่ มีห้างสรรพสินค้า มีความสะดวกสบาย แต่แม่ฮ่องสอนไม่มีห้าง ไม่มีโรงหนัง ไม่มีพวกแฟรนไชส์”

แม้จะพี่ตังจะมองเห็นความแตกต่างในการใช้ชีวิตระหว่างทั้ง 2 จังหวัดที่ได้กล่าวไปกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่พี่ตังค์ยังตั้งข้อสังเกตลงไปที่ความเฉพาะของเศรษฐกิจจังหวัดแม่ฮ่องสอน นั่นคือ

“ชาวเขา ชาวไร่ ชาวนา คนกลุ่มนี้จะเข้าถึงบริการในตัวเมืองยากและห่างไกลมาก ๆ คิดว่าเป็นส่วนที่ทำให้ GDP ค่อนข้างต่ำ ที่เกษตร (จังหวัดแม่ฮ่องสอน) สู้จังหวัดอื่นไม่ได้เพราะมีเรื่องของการขนส่ง ไม่ค่อยมีใครเขาขนอะไรมาแม่ฮ่องสอนกัน แม่ฮ่องสอนค่าขนส่งจะสูงมาก มันเป็นเมืองในหุบเขา เราไม่มีสินค้าทางการเกษตรที่มันโดดเด่น ประชากรน้อยด้วย แม่ฮ่องสอนมี 3 แสนคน ใน 3 แสนคน เป็นเกษตรกรไปแล้ว 80% ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่จะย้ายไปอยู่เมืองอื่นกัน”

จากข้อมูลของระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP)6 ผู้คนในแม่ฮ่องสอนต้องเผชิญกับความจน 4 ด้านด้วยกันประกอบด้วย 1) ด้านความเป็นอยู่ 2) ด้านสุขภาพ 3) ด้านการศึกษา และ 4) ด้านรายได้ ในจำนวนคนจนทั้ง 4 ด้าน คนจนด้านรายได้และความเป็นอยู่มีจำนวนตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลของจังหวัดอื่นในภาคเหนือตอนบนทั้งหมด ที่จำนวนคนจนด้านรายได้จะสูงกว่าคนจนด้านความเป็นอยู่หลายเท่าตัว  

ดัชนีชี้วัดความจนด้านความเป็นอยู่ที่ TPMAP ใช้ในการเก็บข้อมูล ประกอบด้วย 1) สภาพที่อยู่อาศัยและการย้ายที่อยู่ 2) การจัดเก็บขยะ 3) การถูกรบกวนจากมลพิษ 4) ความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติและอุบัติเหตุ 5 ) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 6) การเข้าถึงน้ำสำหรับบริโภคและอุปโภค 7) การเข้าถึงไฟฟ้าและใช้บริการไฟฟ้า 8) การเข้าถึงบริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต และ 7) การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ การที่แม่ฮ่องสอนมีจำนวนคนจนด้านรายได้และคนจนด้านความเป็นอยู่ใกล้เคียงกัน อาจทำให้เราอนุมานได้ว่า คนแม่ฮ่องสอนไม่ใช่เพียงมีรายได้น้อย แต่ยังต้องทนอยู่กับชีวิตที่ยากลำบากไปพร้อมกัน ขณะที่คนเหนือในจังหวัดอื่นๆ แม้จะมีรายได้น้อยแต่ความเป็นอยู่ของพวกเขาก็มิได้ลำบากเท่ากับคนแม่ฮ่องสอน

รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, ต้นไม้, ท้องฟ้า, ภูเขา

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

หากเราย้อนกลับไปทำความเข้าใจคำให้สัมภาษณ์ของพี่เนย เราอาจจะเห็นว่านอกจากเรื่องรายได้อันน้อยนิดของครอบครัวพี่เนย เธอยังกล่าวถึงความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของเธอและครอบครัวตลอดคำให้สัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าหรือน้ำประปาที่เดินทางไปไม่ถึงบ้านของเธอ หรือโรงเรียนที่ต้องขี่รถข้ามดอยกว่าจะไปถึง ทั้งหมดประกอบสร้างรวมกันจนทำให้แม่ฮ่องสอนเป็น “วิมานความจน” ในความทรงจำของพี่เนยไปเสีย

คนจน คนซวย 

ผมคิดว่าการได้ฟังชีวิตของพี่เนยร่วมกับข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอาจทำให้เราทุกคนพอจะเห็นภาพความจนของคนแม่ฮ่องสอน แต่เพราะอะไรล่ะที่ทำให้แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่จนเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ หรือพูดอย่างตรงไปตรงมา สาเหตุอะไรกันล่ะที่ทำให้คนแม่ฮ่องสอนต้องกลายเป็นคนจนที่จนแบบแสนสาหัส

คำตอบของคำถามนี้คงไม่ใช่เพราะคนแม่ฮ่องสอนไม่รู้จักบริหารค่าใช้จ่าย ไม่รู้จักเก็บเงิน หรือไม่รู้จักการลงทุน แบบที่เศรษฐีหัวแหลมขายปลาหมอ หรือ CEO บริษัทฟรีแลนซ์แห่งหนึ่งชอบพูดวนซ้ำไปว่าทั้งสามสิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้คนๆ หนึ่งจนหรือรวยได้

“สาเหตุที่ทำให้คนจน มันพูดได้มากมายหลากหลายแหละ คุณเป็นนักเศรษฐศาสตร์คุณก็จะตอบแบบหนึ่ง คุณเป็นพวกสังคมศาสตร์คุณก็จะตอบอีกแบบหนึ่ง แต่ผมสรุปได้สั้นๆ เลยนะ สาเหตุคือพวกเขาซวย” เป็นคนคำตอบที่ผมได้จากนักวิจัยเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งในระหว่างสนทนากันบนโต๊ะอาหาร (ไม่แน่ใจว่าแกอยู่ในสภาวะกึ่มๆ หรือเปล่า) ผมจดจำคำพูดนี้ได้ขึ้นใจ เพราะปกติเวลาสนทนาประเด็นเรื่องสาเหตุความจนกับใคร ทุกคนรวมถึงผมมักจะตอบว่าพวกเขาจนเพราะ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ซึ่งทั้งสองคำตอบก็คือเรื่องเดียวกัน แต่ผมว่าคำว่าซวยมันจี้ใจดำกว่า

“ความซวย” หรือจะพูดว่าปัญหาเชิงโครงสร้างก็ตามที ทั้งสองวางอยู่ฐานทางความคิดเดียวกันคือ “มีมือที่มองไม่เห็นกดให้คนต้องจนอยู่แบบนั้น” ซึ่งมือดังกล่าวอาจหมายถึงการขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ การไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ บริการสาธารณะเข้าไม่ถึง หรือกระทั่งการอยู่ในพื้นที่ที่เดินทางลำบาก อาจเป็นเรื่องตลกร้าย แต่ความซวยทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นคือ ความซวยที่คนแม่ฮ่องสอนต้องเผชิญอยู่ทุกวัน!

หากเราลองย้อนกลับไปดูข้อมูลคนจนด้านความเป็นอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องของ TPMAP ที่ผมยกขึ้นมากล่าวถึงก่อนหน้านี้ นี่แหละคือข้อมูลที่บอกว่าคนแม่ฮ่องสอน ซวยเพราะหากเรามองข้อมูลดังกล่าวในด้านกลับกัน ดัชนีชี้วัดคนจนด้านความเป็นอยู่ทั้งหมดคือ การกล่าวถึงคนที่ซวยเกิดในจังหวัดที่โครงสร้างพื้นฐาน (ถนน, น้ำประปา, ไฟฟ้า, สัญญาณโทรศัพท์/อินเทอร์เน็ต ฯ) มีไม่เพียงพอให้พวกเขาสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นไปได้ยากลำบากมาก เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดอย (ภูเขา) และพื้นที่สูง แม้จะเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของภาคเหนือ มีเนื้อที่ประมาณ 7,987,808 ไร่ แต่พื้นที่กว่า 85% (6,821,808 ไร่) เป็นพื้นที่ “ป่า” และพื้นที่ป่าเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติ ส่งผลให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานติดปัญหาทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และเชิงกฎหมาย อาจจะรวมถึงติดปัญหาเชิงศีลธรรมด้วยซ้ำหากมีการพัฒนาพื้นที่โดยวิธีการถ่างป่าสร้างถนนและเสาไฟฟ้า 

จากนี้ ผมจะขอแบ่งหัวข้อย่อยลงไปอีก เพื่อพาทุกคนไปสำรวจความซวยของคนแม่ฮ่องสอน ผ่านเรื่องเล่าของพี่ตัง สมาชิกวิมานความจนหน้าใหม่ ที่เราได้ฟังปากคำของเธอไปก่อนหน้านี้ และ อาฉู่ คนแม่ฮ่องสนอแต่กำเนิดและยังเป็นเจ้าของร้านกาแฟ Lola gallery drip Coffee ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ที่ทั้ง “เห็น” และ “สัมผัส” กับความซวยของคนแม่ฮ่องสอน

1. ไฟฟ้า

“สถานการณ์ช่วงนี้ วันนึงไฟดับ 3-4 รอบ เพราะ space มันไกลการส่งไฟจากเชียงใหม่มาแม่ฮ่องสอน มันต้องผ่านหลายภูเขา พอมันเกิดภัยพิบัติ บางคนอาจจะคิดว่า ไม่เป็นไรหรอก แม่ฮ่องสอนอยู่บนเขา แต่ไฟฟ้าไม่มามันก็ส่งผลกระทบ ใครที่ทำพวกของสด ใครเลี้ยงปลาในออกซิเจนก็ตายยกบ่อ มันโดนผลกระทบหมด” (อาฉู่)

อาฉู่ ในฐานะคนแม่ฮ่องสอนและในฐานะผู้ประกอบการที่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าในการประกอบอาชีพ เริ่มเล่าให้ฟังถึงปัญหาความไม่มั่นคงของระบบไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน 

แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าต่ำที่สุด เหตุที่หลายหมู่บ้านยังไม่อาจเข้าถึงไฟฟ้าได้ก็เนื่องจากด้วยข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ที่ยากต่อการสร้างและการซ่อมเสาส่งไฟฟ้า ประกอบกับระยะทางระหว่างหมู่บ้านต่างๆ ทำให้สูญเสียกำลังส่งไฟฟ้า นอกจากนั้นยังมีเกิดเหตุการณ์ต้นไม้ล้มทับเสาไฟฟ้าอยู่บ่อยครั้ง แต่ด้วยถนนที่คดเคี้ยวทำให้ยากต่อการซ่อมแซ่มเสาไฟฟ้าที่เสียหายทำให้เหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นเวลานานเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ไฟฟ้าจึงเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ในแม่ฮ่องสอนได้ยากมาก7  

คงไม่ต้องอธิบายให้มากความว่าไฟฟ้าสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไรและคนแม่ฮ่องสอนสามารถใช้ไฟฟ้าเพื่อต่อยอดสร้างรายได้ยังไงบ้าง แต่สำหรับแม่ฮ่องสอนระบบไฟฟ้ากลับไม่ครอบคลุมในหลายพื้นที่ ในปี 2566 มีจำนวนหมู่บ้านในแม่ฮ่องสอนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้ามากถึง 94 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้มีกว่า 69 หมู่บ้านที่ยังไม่การดำเนินโครงการใดๆ เพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้าให้หมู่บ้านเหล่านี้8

เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา แม่ฮ่องสอนต้องเร่งดำเนินโครงการนำร่องการขยายเขตไฟฟ้า เนื่องจากยังมีหลายหมู่บ้านที่ยังเข้าไม่ถึงระบบไฟฟ้า ในการดำเนินโครงการดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 5 หมู่บ้าน โดยมีครัวเรือนที่ยังไม่เข้าถึงไฟฟ้าในทั้ง 5 หมู่บ้านรวมกันกว่า 300 ครัวเรือน9 ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นเพียงโครงการ “นำร่อง” เท่านั้น นั่นเท่ากับว่ายังมีอีกหลายหมู่บ้านและหลายครัวเรือนยังไม่อาจเข้าถึงไฟฟ้าได้

2. ถนน 

“เรื่องโลจิสติกส์ การขนส่ง การบริการต่าง ๆ ผมสงสารคนแม่ฮ่องสอนมากเลยมันไม่มีทางเลือก ไม่มีสิทธิ์เลือก การเดินทางจากแม่ฮ่องสอนไปจังหวัดอื่น ๆ มันยาก มันเปลืองค่าน้ำมัน ต้องเสียอะไรหลาย ๆ อย่าง อันนี้พูดแค่ในเมือง ถ้าเป็นรอบนอกลำบากคือทุกที่ สำหรับผมมันเลือกอะไรไม่ได้แล้ว มันก็ต้องอยู่กับสภาพแบบนี้ คนแม่ฮ่องสอนแทบไม่เห็นปัญหานี้กันแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่หรือคนที่ทำงานแล้วต้องเดินทางบ่อย” (อาฉู่)

ไม่ใช่เพียงไฟฟ้า แต่ถนนและระบบขนส่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเองก็แลดูจะมีปัญหา เพราะจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่สูง การก่อสร้างหรือซ่อมแซมถนนจึงทำได้ยาก อาฉู่และพี่ตังได้เล่าต่อถึงผลกระทบของการเดินทางด้วยถนนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนไว้ ดังนี้ 

“ถ้าเป็นเรื่องการเดินทาง ความเท่าเทียมเรื่องการขนส่งเรายังไม่ได้รับ เวลาจะส่งของเขาจะบวกค่าขนส่งพื้นที่ทุรกันดาร การทำมาค้าขายออนไลน์ก็ต้องเสียเยอะกว่าคนอื่น น้ำมันก็แพงกว่าที่อื่น 1 บาท ค่าครองชีพ ผมคิดว่าสูงกว่าอยู่เชียงใหม่ อย่างรถตู้วิ่งได้วันนึงแค่ 3 เที่ยว” (อาฉู่)

“ที่เกษตรสู้จังหวัดอื่นไม่ได้เพราะมีเรื่องของการขนส่ง ไม่ค่อยมีใครเขาขนอะไรมาแม่ฮ่องสอนกัน แม่ฮ่องสอนค่าขนส่งจะสูงมาก มันเป็นเมืองในหุบเขา” (พี่ตัง)

ถนนทางหลวงในจังหวัดแม่ฮ่องสอนปัจจุบันมีความยาวรวมกันเพียง 615 กิโลเมตร10 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงความยาวถนนทางหลวงในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 251711 (ประมาณ 601.670 กม. ณ เวลานั้น) สำหรับประเทศไทยการสร้างถนนทางหลวงถือว่าเป็นด่านแรกของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อเศรษฐกิจระหว่างพื้นที่ต่างๆ เข้าหากัน ตั้งแต่เริ่มบุกเบิกการพัฒนาประเทศในปี 2504 ถนนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญอันดับหนึ่งในการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ12และจังหวัดต่างๆ13  

แต่สำหรับแม่ฮ่องสอนด้วยภูมิศาสตร์ที่สลับซับซ้อนและหลายพื้นที่เป็นพื้นที่ป่า จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่จะก่อสร้างถนน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนเสนอว่าปัญหาการคมนาคมโดยเฉพาะการคมนาคมทางถนนเป็นปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานและไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งปัญหาการคมนายังส่งผลกระทบท่องเที่ยว การค้า การลงทุนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นวงกว้าง โดยถนนทางหลวง 1095 สายหนองโค้ง–แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นถนนทางเศรษฐกิจเส้นสำคัญที่เชื่อมต่อจังหวัดเชียงใหม่กับแม่ฮ่องสอน แต่รถขนาดใหญ่กลับไม่สามารถสัญจรผ่านได้สะดวกนัก เนื่องจากถนนมีความสูงชันและคดเคี้ยวเป็นอย่างมาก ซ้ำในฤดูฝนถนนเส้นดังกล่าวและเส้นอื่นๆ ก็ได้รับความเสียหายจากปัญหาดินถล่ม14 ปัญหานี้ทำให้ถนนไม่อาจจะทำหน้าที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อเศรษฐกิจระหว่างที่ต่างๆ เข้าหากันได้อย่างที่ควรจะเป็น 

3. การศึกษา

การศึกษาถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นๆ ของแม่ฮ่องสอน จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรจังหวัดแม่ฮ่องสอนในปี 256515 พบว่า จากจำนวนการสำรวจแรงงานจำนวน 205,620 คน แม่ฮ่องสอนมีประกรที่อายุสูงกว่า 15 ปีแต่ไม่มีการศึกษาหรือจบการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมกว่า 91,296 คน จบการศึกษาระดับประถม 37,135 คน ระดับมัธยมต้น 31,167 คน และมัธยมปลาย 25,092 คน กล่าวคือคนแม่ฮ่องสอนที่อยู่ในวัยแรงงานจำนวนกว่า 1.2 แสนคนหรือเกินกว่าครึ่งมีระดับการศึกษาสูงสุดเพียงประถมศึกษา  

จากข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปีการศึกษา 256616 พบว่าเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 15 ปีมีสัดส่วนการเข้าถึงการศึกษามากกว่าร้อยละ 90 จากจำนวนเยาวชนที่มีสิทธิ์เข้ารับการศึกษา ในขณะที่เยาวชนที่อายุมากกว่า 15 ปีกลับมีสัดส่วนการเข้าถึงการศึกษาลดลงเหลือเพียงร้อยละ 79.46 เท่านั้น นอกจากนั้นจากผลการสอบ O-Net นักเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนทุกระดับชั้นมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าทั้งคะแนนเฉลี่ยรวมของทั้งประเทศและคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในภาคเหนือ และบางปีจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีคะแนน O-Net เฉลี่ยต่ำที่สุดในประเทศไทย

ในส่วนของจำนวนสถานศึกษา (โรงเรียน, วิทยาลัยอาชีว, มหาวิทยาลัย และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ) ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีจำนวนเพียง 532 แห่งทั่วทั้งจังหวัด ซึ่งน้อยมากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดเพื่อนบ้านอย่างจังหวัดเชียงใหม่ที่มีจำนวนสถานศึกษามากถึง 1,633 แห่ง17   

ขณะเดียวหลายโรงเรียนในแม่ฮ่องสอนยังประสบกับปัญหาขาดแคลนบุคคลากรและสื่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่เผชิญปัญหารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียน ขาดแคลนอาหารและสถานที่สอน หรือจำนวนครูที่ไม่เพียงพอ อันเนื่องมาจากการได้รับงบประมาณจัดสรรน้อยมาก18 องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยได้เปิดเผยรายงานช่องว่างการเรียนรู้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเน้นย้ำให้เห็นถึงปัญหาด้านการศึกษาที่มีมาอย่างยาวนานในแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องว่างทางการศึกษาในเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์19

“เราเคยได้ยินมาว่าจังหวัดไหนที่มีความจำเป็นน้อย เขาจะให้งบน้อย เหมือนงบประมาณประเทศไทยจะจัดสรรให้จังหวัดต่าง ๆ ตามจำนวนประชากร เวลามีคนน้อย งบที่ถูกจัดสรรมาก็จะน้อยตาม เราจึงไม่เห็นความพัฒนาของอะไรหลาย ๆ อย่าง” (พี่ตัง)

พี่เนยตั้งคำถามกับการจัดสรรงบประมาณให้แก่จังหวัดต่าง ๆ โดยอาศัยจำนวนประชากรเป็นเกณฑ์ ซึ่งส่งผลให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีจำนวนประชากรเบาบางได้รับการจัดสรรงบประมาณในจำนวนที่น้อยมาก ทำให้ไม่สามารถนำงบประมาณไปแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้เลย โดยเฉพาะปัญหาการศึกษาที่แลดูจะต้องการงบประมาณในการพัฒนาอยู่มาก

ในขณะเดียวกัน จากจำนวนประชากรของแม่ฮ่องสอนอยู่ที่ประมาณ 284,549 คน มีจำนวนประชากรที่เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยจำนวน 43,638 คน  คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 15.3 จึงทำให้อาจมีความเป็นไปได้สูงที่เด็ก ๆ จากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยจะเป็นกลุ่มที่มีช่องว่างทางการศึกษาสูงที่สุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน 

4. ที่ดินและพื้นที่ป่า

ถึงจะเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในภาคเหนือ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 84.65 เป็นพื้นที่ป่า หรือกว่า 6 ล้านไร่ ในขณะที่ที่ดินทำกินและอยู่อาศัยกลับมีเพียง 1 ล้านไร่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการอยู่อาศัยและการทำเกษตรอันเป็นอาชีพหลักของคนแม่ฮ่องสอน นอกจากนั้น หลายพื้นที่ยังถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติ ส่งผลชาวแม่ฮ่องสอนหลายคนต้องอาศัยและทำการเกษตรอยู่ในพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าและพื้นที่อุทยาน  

รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, ภูเขา, เมฆ, ธรรมชาติ

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

การพัฒนาพื้นที่ป่าและการขยายที่ดินทำกินมิอาจทำได้โดยง่าย เนื่องจากติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่าและอุทยาน การก่อสร้างถนนหรือเสาส่งไฟฟ้าหลายพื้นที่มิอาจดำเนินการได้ เนื่องจากการดำเนินโครงการในหลายพื้นที่เป็นพื้นที่ป่าที่ต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ 

นอกจากนั้นยังส่งผลให้คนแม่ฮ่องสอนหลายคนถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่า ปัญหาว่าด้วยเรื่องที่ดินและคดีเกี่ยวกับป่ามีมาอย่างยาวนานไม่ต่ำกว่า 30 ปี20

แม้ข้าวโพดที่เป็นสินค้าที่ผลิตได้มากที่สุดในแม่ฮ่องสอน แต่พื้นที่ปลูกข้าวโพดกลับมีอยู่เพียง 41,330 ไร่ คิดเป็นการใช้พื้นที่ไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด21 ทั้งที่สินค้าเกษตรเป็นสินค้าหลักที่ช่วยผยุงตัวเลข GDP ของจังหวัดให้ไม่ตกต่ำไปกว่านี้ ประกอบกับอาชีพส่วนใหญ่ของคนแม่ฮ่องสอนก็คือการทำเกษตร แต่กลับมีพื้นที่ให้พวกเขาทำเกษตรเพียงน้อยนิด พี่ตังเองในฐานะสมาชิกหน้าใหม่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็มองเห็นข้อสังเกตต่อการทำการเกษตรในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเธอกล่าวว่า

“แม่ฮ่องสอนมี 3 แสนคน ใน 3 แสนคน เป็นเกษตรกรไปแล้ว 80% ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่จะย้ายไปอยู่เมืองอื่นกัน” (พี่ตัง)

แม้ปริมาณพื้นที่ทำการเกษตรที่มีน้อย จนอาจนำไปสู่การโยกย้ายเพื่อตามหาโอกาสในทางเศรษฐกิจของคนรุ่นใหม่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่แล้วในช่วงการยึดอำนาจของ คสช. รัฐบาลยังดำเนินโครงการทวงคืนพื้นที่ป่าและการไล่ “จับคน” ที่รัฐบาลมองว่า “บุกรุกพื้นที่ป่า” โดยในปี 2557 ได้มีประกาศใช้คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เพื่อเข้ายึดที่ดินและไล่จับคน อาทิ เหตุการณ์เมื่ออวันที่ 25 สิงหาคม 2557 มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังบุกเข้าไปทำลายข้าวโพดที่ปลูกอยู่ในที่ดินของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและเกษตรกรอีก 2 คน โดยเจ้าที่อ้างอำนาจตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ทำให้ไม่มีการเข้ามาเจรจาพูดคุยกับเจ้าของไร่แต่อย่างใด หรือในวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 มีการประกาศว่าจะดำเนินการยึดที่ดินกว่า 1,500 ไร่ ในพื้นที่บ้านเลาวู อำเภอเวียงแหง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีสันนิษฐานว่าเป็นที่ดินทำกินของครอบครัวคนแม่ฮ่องสอนกว่า 150 ครอบครัว ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์คือผลลัพธ์ของการประกาศพื้นที่ป่าทับพื้นที่คน

การประกาศพื้นที่ป่าโดยภาครัฐจึงเป็นเสมือนการเอา “ป่า” มากักขัง “คนแม่ฮ่องสอน” รวมถึงยังเป็นเหมือนการกีดกันโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่มุ่งหวังให้คนแม่ฮ่องสอนได้ลืมตาอ้าปาก ราวกับว่าจะกักขังคนแม่ฮ่องสอนไว้ในวิมานแห่งความจนแห่งนี้ไปตลอดกาล 

ถึงเวลาพรมน้ำมนต์ล้างซวย! 

ข้อสังเกตตลอดคำสัมภาษณ์ของพี่ตังและอาฉู่ คือความกังวลที่ผู้พวกเขาทั้งสองมีต่อคนรุ่นใหม่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากโอากาสสำหรับคนรุ่นใหม่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนดูจะหายากขึ้นเรื่อย ๆ ในทัศนะของพวกเขา แต่สำหรับผมคนรุ่นใหม่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนกำลังเผชิญกับความซวย เช่นนั้นเราจะแก้ปัญหาความซวยให้กับคนแม่ฮ่องสอนและคนรุ่นใหม่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้อย่างไร

หากความซวยเป็นเรื่องเดียวกับปัญหาเชิงโครงสร้าง การพรมน้ำมนล้างซวยก็คงคล้ายกับการถอดรื้อโครงสร้างที่เป็นเป็นปัญหา เพื่อเปิดทางให้คนแม่ฮ่องสอนเดินออกจากวิมานแห่งความจนแห่งเสียที 

ฉะนั้น ผมจึงใคร่ที่จะรวบรวมข้อเสนอการแก้ไขปัญหาความยากจนของคนแม่ฮ่องสอนที่กระจัดกระจายอยู่ ให้รวมกันเป็นน้ำมนล้างซวยความจนเสียหน่อย

1. ปฎิรูปที่คืนที่ดินให้กับคนแม่ฮ่องสอน

การผลิตในภาคเกษตรถือเป็นหนึ่งในเครื่องจักรทางเศรษฐกิจของจังหวัดแม่ฮ่องสอนและแรงงานส่วนใหญ่ของจังหวัดก็ยังทำงานอยู่ในภาคเกษตร แต่เกษตรกรกลับมีที่ดินในการเพาะปลูกเพียงน้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็น “ป่า” พูดอย่างตรงไปตรงมา เราควรตั้งคำถามว่าพื้นที่เหล่านี้ยังควรมีสถานะเป็นป่าอยู่หรือไม่?

แรกเริ่มภาครัฐควรเริ่มต้นทำการสำรวจพื้นที่ป่าภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน (รวมถึงพื้นที่ป่าทั้งประเทศ) เสียใหม่ เพื่อตรวจสอบว่าพื้นที่ใดมีสภาพเป็นป่าจริงและเห็นสมควรให้มีการคงสภาพความเป็นป่าในทางกฎหมายไว้ และพื้นที่ไหนที่สิ้นสภาพความเป็นป่าแล้วหรือเห็นควรว่าพื้นที่ดังกล่าวควรได้รับการปฏิรูปภาครัฐควรเร่งจัดสรรที่ดินให้เป็นที่ดินทำกินและอนุมัติให้สามารถถือครองเป็นโฉนดได้ เพื่อให้เกิดการขยายพื้นที่การเกษตรออกไปให้กว้างมากขึ้น 

นอกจาก การปฏิรูปที่ดินจะทำให้เกษตรกรมีพื้นที่ในการทำการเกษตรมากขึ้นแล้ว การได้ถือครองโฉนดยังส่งผลให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาการผลิต ขณะเดียวกันการถือครองที่ดินแบบโฉนดยังเป็นการสร้าง “ความปลอดภัย” ในการถือครองที่ดิน เนื่องจากการถือครองแบบ สปก. ที่ดินพื้นนั้นยังถือว่าเป็นของรัฐอยู่ หากมีการประกาศพื้นที่ป่าหรือพื้นที่โครงการต่าง ๆ เอกสาร สปก. จะกลายเป็นเศษกระดาษทันที 

ฉะนั้น การทำให้แม่ฮ่องสอนสามารถผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มและเกษตรกรมีที่ดินเป็นของตนเอง น่าจะเป็นก้าวแรกในการรื้อสร้างวิมานแห่งความจนของคนแม่ฮ่องสอน

2. ถึงเวลาเดินทาง: การคมมนาคม คือด่านแรกแห่งการพัฒนา 

แม่ฮ่องสอนเป็นหนึ่งในจังหวัดที่เดินไปยากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ความยากลำบากต่อการสร้างและติดปัญหาเรื่องพื้นที่ป่า อย่างไรก็ตาม หากหวังจะรื้อโครงสร้างของวิมานความจนแห่งนี้ การสร้างทางเดินให้พวกเขาสามารถเดินออกมาได้ก็ควรเป็นสิ่งที่ภาครัฐสมควรจะทำมิใช่หรือ? 

สุพจน์ กลิ่นปราณีต ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอนเคยเสนอให้กลับมาเปิดเส้นทางการบินระหว่างกรุงเทพและแม่ฮ่องสอน พร้อมกับอนุญาตให้สายการบิน Low Cost สามารถเข้ามาให้บริการได้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อกระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวในจังแม่ฮ่องสอน22 

แม้จะมีสนามบินอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่กลับมีเพียงสายการบินเดียวที่ได้รับอนุญาตให้บินมาแม่ฮ่องสอน ซึ่งสอดคล้องกับข้อสังเกตของพี่ตังที่ข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า ราคาตั๋วเครื่องบินมาแม่ฮ่องสอนที่แพงมาก ๆ ก็เนื่องจากการอนุญาตให้มีเพียงสายการบินเดียว (การบินไทย) ที่สามารถบินมาลงที่แม่ฮ่องสอนได้ และนักท่องเที่ยวจะเดินทางมาแม่ฮ่องสอนก็เฉพาะช่วงเทศกาล

สุพจน์ ยังเสนอให้ภาครัฐเร่งซ่อมแซมถนนที่เสียหายและเร่งพัฒนาถนนในจังหวัดฮ่องสอนให้มีมากขึ้นและเชื่อมต่อกันมากกว่านี้ ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมเคยทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงข่ายเชื่อมโยงสะเมิง-แม่ฮ่องสอน ในมิติทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางหลวง ตั้งแต่ปี 2547 โดยเสนอแนวทางการสร้างไว้ 3 เส้นทาง ดังนี้ เส้นทาง C1 จากแม่ฮ่องสอน-สะเมิง ระยะทาง 73 กิโลเมตร เส้นทาง C2 จากแม่ฮ่องสอน-สะเมิง ระยะทาง 62.9 กิโลเมตร และเส้นทาง  C3 จากแม่ฮ่องสอน-สะเมิง ระยะทาง 54 กิโลเมตร วันนี้อาจถึงเวลาที่ต้องนำโครงการดังกล่าวกลับปัดฝุ่นศึกษาและนำไปดำเนินนโยบายจริงได้แล้ว

ข้อค้นพบหนึ่งที่น่าสนใจจากการศึกษาของกระทรวงคมนาคม คือ การเสนอให้มีการขุดเจาะอุโมงค์ในบางที่ที่มีความสูงชัน เพื่อแก้ปัญหาความยากลำบากในการก่อสร้างถนน23

นอกจากนั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เสนอให้เร่งสร้างถนนทั้งภายในจังหวัดและระหว่างแม่ฮ่องสอนกับจังหวัดอื่นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนแม่ฮ่องสอน และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เตรียมรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในแม่ฮ่องสอน

เปิดด่าน เปิดทางให้เป็นเมืองชายแดนเต็มตัว 

ถนนสำหรับคนแม่ฮ่องสอนยังมีบทบาทในการพัฒนาที่ไกลไปกว่าการเชื่อมต่อเศรษฐกิจของจังหวัดแม่ฮ่องสอนกับจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย แต่ยังหมายถึงการเชื่อมต่อและพัฒนาเศรษฐกิจข้ามชาติอีกด้วย ในการศึกษาเรื่อง การยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าบ้านห้วยต้นนุ่น และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดแม่ฮ่องสอน24 โดย ผศ.ดร. บุศรินทร์ เลิศเชาวลิตสกุล ได้เผยให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นของการตัดถนน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะเศรษฐกิจบริเวณ “ชายแดน” ซึ่งแม่ฮ่องสอนเรียกได้เลยว่าเป็นจังหวัดชายแดน เนื่องจากทุกอำเภอยกเว้นอำเภอปลายในจังหวัดแม่ฮ่องสอนอยู่ติดกับเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา 

การพัฒนาโครงการยกระดับจุดผ่อนปรนทางการค้าให้เป็นด่านผ่านแดนถาวรในบริเวณจุดผ่อนปรนการค้าห้วยต้นนุ่น อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีแนวคิดริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากจุดผ่อนปรนการค้าห้วยต้นนุ่นมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของแม่ฮ่องสอนได้ เนื่องจากจุดผ่อนปรนฯห้วยต้นนุ่นสามารถเชื่อมต่อไปยังเมืองสำคัญต่างๆ ของประเทศเมียนมาได้ โดยเฉพาะเมืองสำคัญหลายเมืองในรัฐกะยา และยังสามารถเชื่อมต่อไปจนถึงเมืองเนปิดอว์เมืองหลวงของเมียร์มาได้เช่นกัน 

กระทรวงพาณิชย์ของประเทศเมียนมาได้รายงานถึงมูลค่าการค้าชายแดนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในบริเวณช่องทางแม่แจ๊ะหรือบ้านมางตรงซึ่งตั้งอยู่ติดกับจุดผ่อนปรนการค้าห้วยต้นนุ่น โดยในระหว่างปี 2559 ถึง 2561 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกต่างพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากรัฐกะยาในประเทศเมียนมาเริ่มให้ความสำคัญกับการค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ประกอบการประกาศก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกล ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่ามูลค่าการค้าจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก 

การยกระดับจุดผ่อนปรนให้กลายเป็นด่านข้ามแดนถาวรยังจะเป็นการใช้ศักยภาพความเป็นเมืองชายแดนของแม่ฮ่องสอน ฉะนั้น หากหวังจะรื้อสร้างวิมานแห่งความจนของคนแม่ฮ่องสอน การเปิดทางให้เศรษฐกิจบริเวณชายแดนเกิดขึ้นได้จริง จึงอาจจะเป็นเสมือนการติดตั้งเครื่องเร่งความเร็วในการพัฒนาเศรษฐกิจของแม่ฮ่องสอน เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับชายแดนในอำเภอแม่สอดจังหวัดตาก ที่มูลค่าการค้าโดยรวมในบริเวณชายแดนแม่สอดมีสูงกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี25  

นอกจากน้ำมนต์ทั้ง 4 ชนิดที่ผมได้เสนอไป ยังมีน้ำมนต์หรือแนวนโยบายอื่นๆ อีกมากที่รัฐบาลทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นควรเร่งแก้ไข อาทิ การแก้ปัญหาด้านการศึกษา หรือการเร่งมอบสัญชาติให้กับกลุ่มชาติพันธุ์โดยเร็ว เป็นต้น ซึ่งการดำเนินนโยบายเหล่านี้คงอาศัยเวลาและความพยายามเป็นอย่างมาก แต่เพื่อรื้อถอนวิมานแห่งความจนของคนแม่ฮ่องสอน ก็คงถึงเวลาที่ต้องเริ่มลงมือทำกันแล้วล่ะ  

เราจะปล่อยไปให้คนแม่ฮ่องสอนอยู่ในวิมานแห่งความจนแบบนี้ไปจนถึงเมื่อไหร่?


อ้างอิง

  • [1] คุยเบื้องหลังที่มาศึกชิง ‘วิมานหนาม’ กับ ‘บอส กูโน’ ผู้กำกับ. https://www.youtube.com/watch?v=j56jS9GhCXU&t=5s
  • [2] รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2565  https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=14557 
  • [3] https://maehongson.moc.go.th/th/file/get/file/202403294547c1b4df7539e29e378d32783ee893104249.pdf 
  • [4] ราคาเฉลี่ยจากเว็บไซด์สมาคมพ่อค้าข้าวโพดและพืชพันธุ์ไทย (https://www.thaimaizeandproduce.org) ข้อมูลอัพเดทล่าสุดวันที่ 13 ธันวาคม 2567
  • [5] ข้อมูลจากสำนักงานสถิติจังหวัดแม่ฮ่องสอน (https://maehson.nso.go.th/) 
  • [6] ข้อมูลภาพรวมคนจนเป้าหมายในปี 2565 แม่ฮ่องสอนจากเว็บไซด์ Thai People Map and Analytics Platform ภายใต้การดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (https://www.tpmap.in.th/2566/58?stateWelfareCard=all) 
  • [7] ดูเพิ่มเติมใน มัชฌิมาศ เขียวคำ. (2563). กรณีศึกษาการใช้ระบบกักเก็บพลังงานชนิดล้อตุนกำลังเพื่อรักษาความถี่ของระบบไฟฟ้าขนาดเล็กแบบแยกโดดของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน.  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • [8] สรุปรายงานประจำปีจังหวัดแม่ฮ่องสอน 2566. https://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER7/DRAWER061/GENERAL/DATA0000/00000263.PDF
  • [9] https://www.maehongson.go.th/new/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AE%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5-9/ 
  • [10] ข้อมูลการคมนาคมจากเว็บไซด์จังหวัดแม่ฮ่องสอน (https://www.maehongson.go.th/new/การคมนาคม/)
  • [11] ข้อมูลจากแขวงทางเหลวงเชียงใหม่ที่ 1 (http://chiangmai1.doh.go.th/chiangmai1/content/page/page/36368)
  • [12] ดูเพิ่มเติมใน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2566). ไฮเวยาธิปไตย : อำนาจของถนนกับพลวัติการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
  • [13] ดูการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกผ่านการตัดถนนสุขุมวิท ใน อำพิกา สวัสดิ์วงศ์. (2545). ถนนสุขุมวิทกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกของประเทศไทย พ.ศ. 2477-2539. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • [14] กกร.แม่ฮ่องสอนเสนอปัญหาเศรษฐกิจ แนะเร่งแก้ระบบคมนาคม. https://thecitizen.plus/node/9182
  • [15] สำรวจภาวะการทำงานของประชากรจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไตรมาส 4/2565. https://maehson.nso.go.th/statistical-information-service/infographic-interactive/infographic/mae-hong-son-province-labor-force-survey-quarter-4-2022.html 
  • [16] ข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปีการศึกษา 2566. https://anyflip.com/duaae/cafw/basic
  • [17] ข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา ปีการศึกษา 2567 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ ใน https://edustatistics.moe.go.th/school50
  • [18] ดูเพิ่มเติมใน พีระยุทธ์ สุขสมบูรณ์. (2557). สภาพปัญหา และการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กบนพื้นที่สูง ที่มีความขาดแคลน: กรณีศึกษาโรงเรียนบ้านอุบโละเหนือ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. Community and Social Development Journal, 15(1), 27–36.
  • [19] ขจัดช่องว่างการเรียนรู้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน กรณีศึกษาการจัดการเรียนรู้โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน. https://www.unicef.org/thailand/media/9766/file/Closing%20the%20learning%20gap%20in%20Mae%20Hong%20Son%20TH.pdf
  • [20] ปรีชา พวงสมบัติ. (2558). ปัญหาของบทบัญญัติกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ดินในจังหวัดแม่ฮ่องสอน. https://library.coj.go.th/th/media/43952/media-43952.html
  • [21] สรุปประเภทการใช้ที่ดิน  จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ปี พ.ศ. 2564. http://www1.ldd.go.th/web_OLP/Lu_64/Lu64_N/MSH2564.htm
  • [22] กกร.แม่ฮ่องสอนเสนอปัญหาเศรษฐกิจ แนะเร่งแก้ระบบคมนาคม. https://thecitizen.plus/node/9182
  • [23] อ้างแล้ว
  • [24] บุศรินทร์ เลิศเชาวลิตสกุล. (2567). ด่าน ถนน คนบนพรมแดน: โครงสร้างพื้นฐานชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน. พิษณุโลก
  • [25] นักธุรกิจจับตาชายแดน ‘แม่สอด’ ชี้ ‘การค้า’ เดินหน้าต่อท่ามกลางสงคราม. https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1121408

JustPow ชวนสำรวจปัญหาโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2565-2573 กลุ่มบริษัทไหนได้โควต้าผลิตไฟฟ้าไปเท่าไหร่ และข้อสังเกตต่อโครงการฯ ทั้งสองรอบ

จากปัญหาโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน ปี 2565 – 2573 ที่พรรคประชาชนออกมาเรียกร้องถึงความไม่โปร่งใส จนมาสู่การที่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีคำสั่งไปถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ระงับการรับซื้อรอบเพิ่มเติม แต่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา กกพ. ก็ได้ออกประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 72 ราย รวมปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขาย 2,145.4 เมกะวัตต์

JustPow ชวนสำรวจความเป็นมาของโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2565 – 2573 พร้อมคำนวณว่ากลุ่มบริษัทไหนได้โควต้าการผลิตไฟฟ้าไปเท่าไรบ้างตามสัดส่วนการถือหุ้นทางตรง และข้อสังเกตต่อโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2565 – 2573 ทั้งสองรอบนี้

ที่มาที่ไปโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2565 – 2573 

แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นแผนแม่บทในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ได้ตั้งเป้าหมายให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 24.5 ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมดภายในปี 2580 ซึ่งจะมาจากพลังงานชีวมวล พลังงานชีวภาพ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ (ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ร้อยละ 17.35 ข้อมูล ณ กันยายน 2567) 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นำโดย ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีมติในเดือนสิงหาคม 2564 มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาแนวทางเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในช่วงปี 2564 – 2573 โดยกำหนดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ พร้อมเงื่อนไขว่าสามารถปรับเปลี่ยนปริมาณและเงื่อนไขการรับซื้อได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนอัตราการรับซื้อได้ 

จากมติดังกล่าว คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศ ระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 รวม 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งจะใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกที่พิจารณาถึงความพร้อมทั้งด้านราคา คุณสมบัติ และเทคนิคร่วมกัน โดยไม่ใช้วิธีการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) แต่ใช้รูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่จะกำหนดอัตรารับซื้อคงที่ตลอดอายุโครงการ ซึ่งการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจะเปิดรับซื้อในคราวเดียว ผู้สนใจเสนอขายไฟฟ้าจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะเลือกผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแบบใดและต้องการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปีใด ทั้งนี้ การเปิดรับคำเสนอขายไฟฟ้าจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-25 พฤศจิกายน 2565 รวมระยะเวลาเพียง 22 วันเท่านั้น ในรอบแรกนี้ มีเอกชนยื่นเสนอโครงการถึง 670 โครงการ รวมกำลังการผลิตที่เสนอขาย 17,400 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าปริมาณที่กำหนดถึง 3.3 เท่า กกพ. ได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำออกมาในวันที่ 25 มกราคม 2566 แต่ก่อนที่การจัดหาไฟฟ้ารอบแรกจะประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกเสร็จสิ้นนั้น ในวันที่ 9 มีนาคม 2566 กพช. ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ ได้มีมติเห็นชอบขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบเพิ่มเติมอีกจำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ โดยใช้อัตรารับซื้อเดิม ถัดมาในวันที่ 5 เมษายน 2566 กกพ. ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของ การรับซื้อไฟฟ้าในรอบแรกจำนวน 175 โครงการ จำนวน 4,852.26 เมกะวัตต์

จากนั้นเกิดคดีพิพาทระหว่างบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กับสำนักงาน กกพ. และคณะกรรมการ กกพ. ระหว่างกันยายน 2566 ถึง กันยายน 2567 กลุ่ม EA ยื่นฟ้องว่า กกพ. ออกคำสั่งโดยอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความโปร่งใส และไม่ยุติธรรม เนื่องจากโครงการของกลุ่มบริษัท EA ซึ่งได้แก่ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด บริษัท วินด์ ขอนแก่น 2 และบริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด เป็นผู้ไม่ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่านตามประกาศ กกพ. ทั้งนี้ ในการคัดเลือก กกพ. ไม่ได้ประกาศเกณฑ์การให้คะแนน

โดย 29 กันยายน 2566 ศาลปกครองเพชรบุรีมีคำสั่งทุเลาโครงการเสนอขายไฟฟ้าของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 หลังจากบริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ต่อมา 7 ธันวาคม 2566 ศาลปกครองเพชรบุรียกฟ้อง กกพ.

10 ตุลาคม 2566 บริษัท วินด์ ขอนแก่น 2 ร้อง กกพ.ต่อศาลปกครองกลาง ต่อมา 15 ตุลาคม 2566 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งระงับรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานหมุนเวียน กลุ่มพลังงานลม ขนาด 1,500 เมกะวัตต์ เป็นการชั่วคราว จากนั้น 14 มีนาคม 2567 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ผลประมูลซื้อไฟพลังงานลม

5 มีนาคม 2567 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาโครงการเสนอขายไฟฟ้า จากการที่บริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด ร้อง กกพ. จนเมื่อ 3 กันยายน 2567 บริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 ถอนฟ้อง

ข้อพิพาททางปกครองและคำสั่งของศาลปกครองที่ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังงานลม ทำให้ กกพ. จะต้องชะลอโครงการเพื่อรอความชัดเจนจากผลของการอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับดังกล่าว จนเมื่อข้อพิพาทที่เกี่ยวกับ 3 โครงการนี้ยุติแล้ว กกพ.จึงเดินหน้ากระบวนการรับซื้อไฟฟ้ารอบใหม่

ในช่วงที่ข้อพิพาทยังไม่ยุติ 31 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติ ให้จัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 เพิ่มเติม

21 กันยายน 2567 กกพ. ออกระเบียบ กกพ.ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) รวม 2,180 เมกะวัตต์

27 กันยายน 2567 กกพ.กำหนดเงื่อนไขโดยจะให้สิทธิ์กับกลุ่มผู้ที่เคยยื่นข้อเสนอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 จำนวน 198 ราย ซึ่งได้ผ่านเกณฑ์พร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ภายใต้โครงการ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกในโครงการดังกล่าว เนื่องจากการจัดหาไฟฟ้าได้ครบตามเป้าหมายแล้ว

โดยในการรับซื้อไฟฟ้าในรอบเพิ่มเติมได้กำหนดประเภทเชื้อเพลิงไว้ ดังนี้

  • พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เปิดรับ 2,632 เมกะวัตต์ (แบ่งโควต้าให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก 1,580 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป 1,052 เมกะวัตต์) 
  • พลังงานลม เปิดรับ 1,000 เมกะวัตต์ (แบ่งโควต้าให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก 600 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป 400 เมกะวัตต์) 
  • ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) จำนวน 6.5 เมกะวัตต์
  • ขยะอุตสาหกรรม จำนวน 30 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีคำสั่งไปถึง กกพ. ให้ระงับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในโครงการรอบเพิ่มเติมจำนวนที่มีการล็อคโควต้า 2,180 เมกะวัตต์ไว้ชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าโครงการดังกล่าวดำเนินการก่อนที่พีระพันธุ์จะเข้ารับตำแหน่ง และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสอดคล้องกับข้อเรียกร้องจากบุคคลภายนอก จึงมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินการจนกว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จต่อไป

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา กกพ. ก็ได้ออกประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือก​จำนวน 72 ราย รวมปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขาย ​2,145​.4​ เมกะวัตต์

โครงการพลังงานหมุนเวียนรอบแรก: ประกาศ 5,203 เมกะวัตต์ vs รับซื้อจริง 4,852.26 เมกะวัตต์

ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2565 – 2573 รอบแรก 5,203 เมกะวัตต์ ไม่ใช้วิธีการแข่งขันทางด้านราคา แต่ใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ซึ่งกระทรวงพลังงาน เป็นผู้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าในอนาคตของพลังงานแต่ละประเภท แบ่งได้ดังนี้

  1. ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) เปิดรับซื้อ 335 เมกะวัตต์ อัตรา 2.0724 บาท/หน่วย ระยะเวลาสัญญา 20 ปี
  2. พลังงานลม เปิดรับซื้อ 1,500 เมกะวัตต์ อัตรา 3.1014 บาท/หน่วย ระยะเวลา 25 ปี 
  3. พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับแบตเตอรี่ (Solar+BESS) เปิดรับซื้อ 1,000 เมกะวัตต์ อัตรา 2.8331 บาท/หน่วย ระยะเวลา 25 ปี 
  4. พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เปิดรับซื้อ 2,368 เมกะวัตต์ อัตรา 2.1679 บาท/หน่วย ระยะเวลา 25 ปี 

โดยผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายต้องรับและปฏิบัติตามอัตราค่าไฟฟ้าที่กำหนดตลอดอายุสัญญา มีเอกชนยื่นเสนอโครงการถึง 670 โครงการ และมีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 175 โครงการ ปริมาณที่รับซื้อจริง 4,852.26 เมกะวัตต์ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 350.74 เมกะวัตต์ เมื่อนำมาเปรียบเทียบตามประเภทพลังงาน พบว่า พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ได้รับความสนใจสูงสุด โดยมีผู้เสนอขายเต็มจำนวน 2,368 เมกะวัตต์ที่เปิดรับ ขณะที่ก๊าซชีวภาพ ไม่มีผู้ผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้เลย

ใครได้โควต้าพลังงานหมุนเวียนรอบแรก 4,852.26 เมกะวัตต์?

โครงการรับซื้อไฟฟ้าฯ รอบแรกคัดเลือกด้วยเกณฑ์ที่ออกโดย กกพ. กำหนดคุณสมบัติและความพร้อมด้านเทคนิค และเปิดให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า ในการประกาศผลการคัดเลือก เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ระบุรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก 175 โครงการ จากที่เสนอทั้งหมด 670 โครงการ

จากการสืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูลบริษัทเจ้าของโครงการ พบว่า โครงการจำนวนมากที่ผ่านการคัดเลือก อยู่ใน 24 บริษัท โดยสามารถจำแนกตามกลุ่มบริษัทที่ถือหุ้นทางตรง ได้ดังนี้ 

  1. กลุ่ม บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ผ่านคัดเลือก 31 โครงการ และมีโครงการที่ GULF ถือหุ้นร่วมกับบริษัทที่ไม่ระบุชื่ออีก 3 โครงการ
  2. กลุ่ม บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ผ่านคัดเลือก 19 โครงการ และมีโครงการที่ SUPER ถือหุ้นร่วมกับบริษัทที่ไม่ระบุชื่ออีก 1 โครงการ
  3. กลุ่ม บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) ผ่านคัดเลือก 18 โครงการ 
  4. กลุ่ม บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ผ่านคัดเลือก 17 โครงการ
  5. กลุ่มมิตรผล ผ่านคัดเลือก 16 โครงการ
  6. กลุ่ม บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) ผ่านคัดเลือก 9 โครงการ
  7. กลุ่ม บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) ผ่านคัดเลือก 7 โครงการ
  8. กลุ่ม บมจ. บีซีพีจี (BCPG) ผ่านคัดเลือก 5 โครงการ รวม 11.97 เมกะวัตต์
  9. กลุ่ม Blue Circle ร่วมกับกลุ่ม บมจ. Acciona Energía ผ่านคัดเลือก 5 โครงการ
  10. กลุ่ม บมจ.ไพร์ม โรด เพาเวอร์ (PRIME) ผ่านคัดเลือก 4 โครงการ และมีโครงการที่ PRIME ถือหุ้นร่วมกับบริษัท วีนา เอ็นเนอร์ยี โซล่าร์ (VENA) อีก 2 โครงการ
  11. กลุ่ม บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ผ่านคัดเลือก 3 โครงการ และมีโครงการที่ BGRIM ถือหุ้นร่วมกับบมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) อีก 9 โครงการ และโครงการที่ BGRIM ถือหุ้นร่วมกับบริษัทที่ไม่ระบุชื่ออีก 3 โครงการ
  12. บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ผ่านคัดเลือก 3 โครงการ และมีโครงการที่ WHAUP ถือหุ้นร่วมกับบริษัทกุริน เอ็นเนอร์ยี (Gurīn) อีก 2 โครงการ
  13. กลุ่ม บจ. พิจิตรไบโอเพาเวอร์ ผ่านคัดเลือก 3 โครงการ
  14. กลุ่ม บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ร่วมกับกลุ่ม บจ. พี.ซี.เอส.เอสเตท (GPSC&PCS) ผ่านคัดเลือก 2 โครงการ
  15. กลุ่ม บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ผ่านคัดเลือก 2 โครงการ
  16. บจ. สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล (BCC) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  17. บมจ. ซีเค พาวเวอร์ (CKP) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  18. บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ และมีโครงการที่ EA ถือหุ้นร่วมกับบมจ. ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) อีก 2 โครงการ
  19. บมจ. สหโคเจน (ชลบุรี) ซึ่งมี 3 บริษัทย่อยประกอบด้วย บมจ.ราชกรุ๊ป, บมจ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง และบริษัทที่ไม่ระบุชื่อ ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  20. บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ และมีโครงการที่ SCG ถือหุ้นร่วมกับ BGRIM อีก 9 โครงการ
  21. บจ. ทีทีดี โซลาร์ (TTD) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  22. บมจ. ไทยออยล์ ร่วมกับบริษัท ทรัพย์ทิพย์ ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  23. บจ. ยอดอาหาร ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  24. บจ. เรเดียนท์ พาวเวอร์ ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ

เมื่อคำนวณปริมาณไฟฟ้าของโครงการที่ได้รับคัดเลือกทั้งหมด 4,852.26 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของของกลุ่มบริษัทที่ถือหุ้นทางตรงในโครงการนั้น สามารถเรียงลำดับได้ ดังนี้

  1. กลุ่ม บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) 1,891.89 เมกะวัตต์ (38.99%)
  2. กลุ่ม บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) 832.40 เมกะวัตต์ (17.15%)
  3. กลุ่ม Blue Circle 218.69 เมกะวัตต์ (4.51%)
  4. กลุ่ม บมจ. Acciona Energía 217.81 เมกะวัตต์ (4.49%)
  5. บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) 211.84 เมกะวัตต์ (4.37%)
  6. กลุ่ม บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) 188.08 เมกะวัตต์ (3.88%)
  7. กลุ่ม บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) 170.50 เมกะวัตต์ (3.51%)
  8. กลุ่ม บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) 134.89 เมกะวัตต์ (2.78%)
  9. กลุ่ม บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) 119.70 เมกะวัตต์ (2.47%)
  10. กลุ่ม บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) 112.73 เมกะวัตต์ (2.32%)
  11. กลุ่ม บมจ.ไพร์ม โรด เพาเวอร์ (PRIME) 107.46 เมกะวัตต์ (2.21%)
  12. บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) 94 เมกะวัตต์ (1.94%)
  13. กลุ่มมิตรผล 92.35 เมกะวัตต์ (1.9%)
  14. กลุ่ม บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) 88.66 เมกะวัตต์ (1.83%)
  15. บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) 81 เมกะวัตต์ (1.67%)

นอกจากนี้ยังมี บริษัทที่เป็นผู้ถือหุ้นทางตรงร่วมกับบริษัทข้างต้น ซึ่งไม่ปรากฏชื่อในข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะ รวม 96.68 เมกะวัตต์ (1.99%) และบริษัทอื่นๆ ที่ได้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 1% รวม 193.58 เมกะวัตต์ (3.99%) มีจำนวน 16 บริษัท ประกอบด้วย

  • บริษัทกุริน เอ็นเนอร์ยี (Gurīn) 48.04 เมกะวัตต์ (0.99%)
  • บจ. วีนา เอ็นเนอร์ยี โซล่าร์ (ประเทศไทย) (VENA) 45.5 เมกะวัตต์ (0.94%)
  • บจ. พิจิตรไบโอเพาเวอร์ 17 เมกะวัตต์ (0.35%)
  • บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH) 13.95 เมกะวัตต์ (0.29%)
  • กลุ่ม บมจ. บีซีพีจี (BCPG) 11.97 เมกะวัตต์ (0.25%)
  • บมจ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) 10.44 เมกะวัตต์ (0.22%)
  • กลุ่ม บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) 8 เมกะวัตต์ (0.16%)
  • กลุ่ม บจ. พี.ซี.เอส.เอสเตท (PCS) 8 เมกะวัตต์ (0.16%)
  • บมจ. ซีเค พาวเวอร์ (CKP) 6 เมกะวัตต์ (0.12%)
  • บมจ. ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) 6 เมกะวัตต์ (0.12%)
  • บจ. เรเดียนท์ พาวเวอร์ 5 เมกะวัตต์ (0.1%)
  • บจ. ทีทีดี โซลาร์ (TTD) 4 เมกะวัตต์ (0.08%)
  • บมจ. ไทยออยล์ 3.2 เมกะวัตต์ (0.07%)
  • บจ. ทรัพย์ทิพย์ 3.2 เมกะวัตต์ (0.07%)
  • บจ. สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล (BCC) 2 เมกะวัตต์ (0.04%)
  • บจ. ยอดอาหาร 1.28 เมกะวัตต์ (0.03%)

หากแยกตามประเภทพลังงานที่เปิดรับซื้อไฟฟ้า จะพบว่า พลังงานลม มีผู้ผ่านการคัดเลือก 22 โครงการ จำนวน 1,490.2 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เมื่อแบ่งตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นทางตรงในโครงการนั้นๆ พบว่ากลุ่ม GULF ได้ไปมากที่สุด จำนวน 538.78 เมกะวัตต์ (36.15%) รองลงมาคือกลุ่ม Blue Circle จำนวน 218.69 เมกะวัตต์ (14.67%) กลุ่ม Acciona Energía 217.81 เมกะวัตต์ (14.62%) กลุ่ม GUNKUL จำนวน 180 เมกะวัตต์ (12.08%) EA 90 เมกะวัตต์ (6.04%) กลุ่ม WEH 89.7 เมกะวัตต์ (6.02%) กลุ่ม SUPER 40 เมกะวัตต์ (2.68%) กลุ่ม BGRIM 16 เมกะวัตต์ (1.07%) และกลุ่ม SSP 16 เมกะวัตต์ (1.07%) ไม่ระบุชื่อบริษัท 83.22 เมกะวัตต์ (5.58%)

พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับแบตเตอรี่ มีผู้ผ่านการคัดเลือก 24 โครงการ จำนวน 994.06 เมกะวัตต์ โดยมากกว่าครึ่งเป็นโครงการในกลุ่ม GULF ได้ไป 700.2 เมกะวัตต์ (70.44%) รองลงมาคือกลุ่ม GUNKUL 83.6 เมกะวัตต์ (8.41%) กลุ่ม SUPER 78 เมกะวัตต์ (7.85%) กลุ่ม PRIME 72.26 เมกะวัตต์ (7.27%) กลุ่ม WEH 30 เมกะวัตต์ (3.02%) กลุ่ม TSE 15 เมกะวัตต์ (1.51%) และ WHAUP 15 เมกะวัตต์ (1.51%)

พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน มีผู้ผ่านการคัดเลือก 129 โครงการ จำนวน 2,368 เมกะวัตต์ กลุ่มที่ได้รับคัดเลือกมากที่สุด ยังคงเป็นของกลุ่ม GULF ที่ได้ไป 652.91 เมกะวัตต์ (27.57%) ตามมาด้วยกลุ่ม GUNKUL 568.8 เมกะวัตต์ (24.02%) SCG 211.84 เมกะวัตต์ (8.95%) กลุ่ม SSP 154.5 เมกะวัตต์ (6.52%) กลุ่ม BGRIM 118.88 เมกะวัตต์ (5.02%) กลุ่ม ACE 112.73 เมกะวัตต์ (4.76%) กลุ่มมิตรผล 92.35 เมกะวัตต์ (3.9%) กลุ่ม TSE 73.66 เมกะวัตต์ (3.11%) กลุ่ม SUPER 70.08 เมกะวัตต์ (2.96%) WHAUP 66 เมกะวัตต์ (2.79%) Gurīn 48.04 เมกะวัตต์ (2.03%) VENA 45.5 เมกะวัตต์ (1.92%) กลุ่ม PRIME 35.2 เมกะวัตต์ (1.49%) กลุ่ม พิจิตรไบโอ 17 เมกะวัตต์ (0.72%) RATCH 13.95 เมกะวัตต์ (0.59%) ไม่ระบุชื่อบริษัท 13.46 เมกะวัตต์ (0.57%) กลุ่ม BCPG 11.97 เมกะวัตต์ (0.51%) SPI 10.44 เมกะวัตต์ (0.44%) กลุ่ม GPSC 8 เมกะวัตต์ (0.34%) กลุ่ม PCS 8 เมกะวัตต์ (0.34%) CKP 6 เมกะวัตต์ (0.25%) TFG 6 เมกะวัตต์ (0.25%) เรเดียนท์ 5 เมกะวัตต์ (0.21%) EA 4 เมกะวัตต์ (0.17%) TTD 4 เมกะวัตต์ (0.17%) ไทยออยล์ 3.2 เมกะวัตต์ (0.14%) ทรัพย์ทิพย์ 3.2 เมกะวัตต์ (0.14%) BCC 2 เมกะวัตต์ (0.08%) และยอดอาหาร 1 โครงการ 1.28 เมกะวัตต์ (0.05%)

จากข้อมูลข้างต้น จะพบว่ากลุ่ม GULF ได้รับการคัดเลือกสูงสุดถึง 34 โครงการ (รวมโครงการที่ GULF ถือหุ้นทั้งหมด 31 โครงการ และและโครงการที่ถือหุ้นร่วมกับบริษัทที่ไม่ปรากฏชื่อต่อสาธารณะ 3 โครงการ) รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นได้ 1,891.89 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 38.99 ของกำลังผลิตที่ได้รับการอนุมัติทั้งหมด และเมื่อดูตามประเภทพลังงาน จะพบว่าโครงการภายใต้กลุ่ม GULF ได้รับคัดเลือกทั้ง 3 ประเภทและมีปริมาณไฟฟ้าสูงที่สุดในทุกประเภทพลังงานอีกด้วย

โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบเพิ่มเติม 3,668.5 เมกะวัตต์ หลักเกณฑ์ใหม่และข้อสังเกตที่ควรจับตา

การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบเพิ่มเติมจำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ ตามมติ กพช. ครั้งที่ 2/2566 (ครั้งที่ 165) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 แม้จะดูเหมือนเป็นการตอบสนองเชิงนโยบายต่อเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียน แต่กลับเผยให้เห็นปัญหาในเชิงโครงสร้างของระบบบริหารจัดการพลังงานที่ยังมีข้อจำกัดในด้านความโปร่งใส ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรอบแรกที่มีข้อวิจารณ์เรื่องเกณฑ์การพิจารณาที่ไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนที่ใช้ในการคำนวณผู้คัดเลือก ซึ่งถูกตั้งคำถามต่อการใช้ดุลพินิจได้กว้างขวางในการคัดเลือก ว่า กกพ.จะให้เอกชนรายใดผ่านเข้ารอบบ้าง จนกลายเป็นประเด็นที่ กกพ. ถูกเอกชนฟ้องร้อง

การเปิดรับซื้อไฟฟ้ารอบเพิ่มเติมนี้ มีคำถามและข้อสังเกตหลายประเด็น ได้แก่ 

  1. ไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนที่ใช้ในการคัดเลือก เช่นเดียวกับการรับซื้อรอบแรก เปิดช่องให้มีการใช้ดุลพินิจได้กว้างขวางในการคัดเลือกว่าเอกชนรายใดจะได้รับคัดเลือก
  2. การกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า โดยใช้ราคาที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2565 โดยไม่ใช้วิธีการแข่งขันทางด้านราคา ทั้งที่ต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มถูกลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น องค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency) ประมาณการว่า ระหว่างปี 2553–2565 ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงถึงร้อยละ 83
  3. การให้สิทธิพิจารณากับผู้ที่เคยเข้าร่วมประมูลในโครงการรอบก่อนหน้าแต่ไม่ได้รับการคัดเลือก 198 รายก่อน ถูกตั้งคำถาม ถึงความโปร่งใสและความเสมอภาคในการเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาโครงการรายใหม่ที่มีศักยภาพได้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม
  4. การกำหนดระยะเวลาสัญญายาวนานถึง 25 ปี นอกจากจะพลาดโอกาสในการซื้อไฟฟ้าที่อาจมีต้นทุนถูกลงจากเทคโนโลยีใหม่แล้ว ยังมีความเสี่ยงจากประสิทธิภาพและคุณภาพของอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าที่อาจเสื่อมสภาพ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงกับความต่อเนื่องของการผลิตไฟฟ้าในระบบได้
  5. และสุดท้ายยังน่าสังเกตว่า เหตุใดจึงมีการกำหนดเงื่อนไขที่กีดกันรัฐวิสาหกิจ การตัดส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ไม่ให้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าได้ ทั้งที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วยต้นทุนไฟฟ้าที่ถูกกว่า เช่น กฟผ. ทำโครงการโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ที่เขื่อนสิรินธรได้ในปี 2564 และมีต้นทุนไฟฟ้าอยู่ที่ 1.5 บาท

แม้กระทรวงพลังงานให้เหตุผลว่า การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนตามระเบียบเดิมของ กกพ. ดังกล่าวจะทำให้เกิดการรับซื้อไฟฟ้าได้ต่อเนื่องและรวดเร็วขึ้นเพื่อตอบสนองเป้าหมายรัฐบาลที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และยืนยันว่า ช่วยแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง และจะไม่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล 

แต่จากข้อสังเกตต่อการรับซื้อไฟฟ้ารอบใหม่ข้างต้นจะเห็นได้ว่า แทนที่จะมีการประมูลแข่งขันอย่างเท่าเทียมและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่อาจมีเทคโนโลยีใหม่ซึ่งคุ้มค่ากว่าเข้ามา กระบวนการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนที่ผ่านมาและกำลังจะเกิดขึ้นอาจไม่สามารถทำให้ประชาชนจ่ายค่าไฟถูกลงได้ 

ใครได้โควต้าพลังงานหมุนเวียนรอบเพิ่มเติม 2,145.4 เมกะวัตต์?

วันที่ 16 ธันวาคม 2567 กกพ. ได้ออกประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือก โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบเพิ่มเติม 72 ราย ตามเงื่อนไขการล็อคโควต้า 2,168 เมกะวัตต์ให้ผู้ที่เคยเข้าร่วมประมูลในโครงการรอบก่อนหน้าแต่ไม่ได้รับการคัดเลือกมีสิทธิ์ยื่นก่อน โดยมีปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายรวม ​2,145​.4​ เมกะวัตต์ ต่ำกว่าโควต้าที่ล็อคไว้ 22.6 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลม​ จำนวน​ 8​ ราย​ รวม​ 565.40 เมกะวัตต์​ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน​ จำนวน​ 64​ ราย​ รวม ​1,580​ เมกะวัตต์

จากการสืบค้น และวิเคราะห์ข้อมูลบริษัทเจ้าของโครงการ พบว่า โครงการจำนวนมากที่ผ่านการคัดเลือกกระจุกตัวอยู่ใน 17 บริษัท โดยสามารถจำแนกตามกลุ่มบริษัทที่ถือหุ้นทางตรง ได้ดังนี้ 

  1. กลุ่ม บมจ. ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) ผ่านคัดเลือก 21 โครงการ 
  2. กลุ่ม บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ผ่านคัดเลือก 7 โครงการ
  3. กลุ่ม บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ผ่านคัดเลือก 5 โครงการ
  4. กลุ่ม บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ผ่านคัดเลือก 5 โครงการ และมีโครงการที่ EGCO ถือหุ้นร่วมกับ บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) อีก 6 โครงการ
  5. กลุ่ม บมจ. สหโคเจน (ชลบุรี) ซึ่งมี 3 บริษัทย่อยประกอบด้วย กลุ่ม บมจ.ราชกรุ๊ป, บมจ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง และบริษัทที่ไม่ระบุชื่อ ผ่านคัดเลือก 5 โครงการ
  6. บมจ. บางกอกกล๊าส ร่วมกับ บมจ. บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BG&BGC) ผ่านคัดเลือก 3 โครงการ
  7. กลุ่ม บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ร่วมกับบจ. พี.ซี.เอส.เอสเตท (GPSC&PCS) ผ่านคัดเลือก 3 โครงการ
  8. กลุ่มน้ำตาลราชบุรี ผ่านคัดเลือก 3 โครงการ
  9. บจ. พิจิตรไบโอเพาเวอร์ ผ่านคัดเลือก 3 โครงการ
  10. บจ. สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล (BCC) ผ่านคัดเลือก 2 โครงการ
  11. บมจ. อุบล ไบโอ เอทานอล (UBE) ผ่านคัดเลือก 2 โครงการ
  12. กลุ่ม บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ผ่านคัดเลือก 2 โครงการ
  13. บมจ. บ้านปู (BANPU) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  14. บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  15. บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ร่วมกับ บมจ. ไออาร์พีซี (GPSC&IRPC) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  16. บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  17. เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ

เมื่อคำนวณปริมาณไฟฟ้าของโครงการที่ได้รับคัดเลือกทั้งหมด 2,145.4 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของของกลุ่มบริษัทที่ถือหุ้นทางตรงในโครงการนั้น สามารถเรียงลำดับได้ ดังนี้

  1. กลุ่ม บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) 319 เมกะวัตต์ (14.87%)
  2. กลุ่ม บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) 307.85 เมกะวัตต์ (14.35%)
  3. กลุ่มอรุณานนท์ชัย ผู้ถือหุ้นหลักในกลุ่มน้ำตาลราชบุรี 197 เมกะวัตต์ (9.18%)
  4. กลุ่ม บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) 179.4 เมกะวัตต์ (8.36%)
  5. กลุ่ม บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH) 153.98 เมกะวัตต์ (7.18%)
  6. บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) 140.25 เมกะวัตต์ (6.54%)
  7. กลุ่ม บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) 136.1 เมกะวัตต์ (6.34%)
  8. กลุ่ม บมจ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) 115.21 เมกะวัตต์ (5.37%)
  9. กลุ่ม บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) 98.37 เมกะวัตต์ (4.59%)
  10. บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) 90 เมกะวัตต์ (4.2%)
  11. บมจ. อุบล ไบโอ เอทานอล (UBE) 90 เมกะวัตต์ (4.2%)
  12. เครือเจริญโภคภัณฑ์ 90 เมกะวัตต์ (4.2%)
  13. บจ. พี.ซี.เอส.เอสเตท (PCS) 57.82 เมกะวัตต์ (2.7%)
  14. กลุ่ม บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) 51.12 เมกะวัตต์ (2.38%)
  15. บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) 36.69 เมกะวัตต์ (1.71%)

นอกจากนี้ยังมี บริษัทที่เป็นผู้ถือหุ้นทางตรงร่วมกับบริษัทข้างต้น ซึ่งไม่ปรากฏชื่อในข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะ รวม 28.82 เมกะวัตต์ (1.34%) และบริษัทอื่นๆ ที่ได้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 1% รวม 53.8 เมกะวัตต์ (2.51%) มีจำนวน 6 บริษัท ประกอบด้วย

  • บจ. พิจิตรไบโอเพาเวอร์ 14 เมกะวัตต์ (0.65%)
  • บจ. สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล (BCC) 12 เมกะวัตต์ (0.56%)
  • บมจ. บางกอกกล๊าส (BG) 10.57 เมกะวัตต์ (0.49%)
  • บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) 8 เมกะวัตต์ (0.37%)
  • บมจ. บ้านปู (BANPU) 6.6 เมกะวัตต์ (0.31%)
  • บมจ. บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) 2.63 เมกะวัตต์ (0.12%)

หากแยกตามประเภทพลังงานที่เปิดรับซื้อไฟฟ้า จะพบว่า พลังงานลม มีผู้ผ่านการคัดเลือก 8 โครงการ จำนวน 565.4 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เมื่อแบ่งตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นทางตรงในโครงการนั้นๆ พบว่ากลุ่ม GUNKUL ได้ไปมากที่สุด จำนวน 284 เมกะวัตต์ (50.23%) รองลงมาคือกลุ่ม WEH จำนวน 179.4 เมกะวัตต์ (31.73%) EA 90 เมกะวัตต์ (15.92%) และกลุ่ม BGRIM จำนวน 12 เมกะวัตต์ (2.12%) 

พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน มีผู้ผ่านการคัดเลือก 64 โครงการ จำนวน 1,580 เมกะวัตต์ กลุ่มที่ได้รับคัดเลือกมากที่สุด เป็นของกลุ่ม EGCO ที่ได้ไป 307.85 เมกะวัตต์ (19.48%) ตามมาด้วยกลุ่มอรุณานนท์ชัย 197 เมกะวัตต์ (12.47%) กลุ่ม RATCH 153.98 เมกะวัตต์ (9.75%) TPIPP 140.25 เมกะวัตต์ (8.88%) กลุ่ม TSE 136.1 เมกะวัตต์ (8.61%) กลุ่ม SPI 115.21 เมกะวัตต์ (7.29%) กลุ่ม GPSC 98.37 เมกะวัตต์ (6.23%) กลุ่ม UBE 90 เมกะวัตต์ (5.7%) เครือเจริญโภคภัณฑ์ 90 เมกะวัตต์ (5.7%) กลุ่ม PCS 57.82 เมกะวัตต์ (3.66%) กลุ่ม TSE 136.1 เมกะวัตต์ (8.61%) กลุ่ม SPI 115.21 เมกะวัตต์ (7.29%) กลุ่ม GPSC 98.37 เมกะวัตต์ (6.23%) กลุ่ม BGRIM 39.12 เมกะวัตต์ (2.48%) IRPC 36.69 เมกะวัตต์ (2.32%) กลุ่ม GUNKUL 35 เมกะวัตต์ (2.22%) ไม่ระบุชื่อบริษัท 28.82 เมกะวัตต์ (1.82%) พิจิตรไบโอ 14 เมกะวัตต์ (0.89%) BCC 12 เมกะวัตต์ (0.76%) BG 10.57 เมกะวัตต์ (0.67%) WHAUP 8 เมกะวัตต์ (0.51%) BANPU 6.6 เมกะวัตต์ (0.42%) และ BGC 2.63 เมกะวัตต์ (0.17%)

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกทั้ง 2 รอบ พบว่า มี 12 บริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งสามารถวิเคราะห์ปริมาณไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นจากทั้งการรับซื้อทั้ง 2 รอบรวมกัน ได้ดังนี้

  • กลุ่ม บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ได้กำลังการผลิต รวม 1,151.4 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ได้กำลังการผลิต รวม 299.1 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) ได้กำลังการผลิต รวม 224.76 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ได้กำลังการผลิต รวม 186.01 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ได้กำลังการผลิต รวม 184 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH) ได้กำลังการผลิต รวม 167.93 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บมจ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) ได้กำลังการผลิต รวม 125.65 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ได้กำลังการผลิต รวม 106.37 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ได้กำลังการผลิต รวม 89 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บจ. พี.ซี.เอส.เอสเตท (PCS) ได้กำลังการผลิต รวม 65.82 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บจ. พิจิตรไบโอเพาเวอร์ ได้กำลังการผลิต รวม 31 เมกะวัตต์
  • บจ. สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล (BCC) ได้กำลังการผลิต รวม 14 เมกะวัตต์

โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบแรก และรอบเพิ่มเติมที่เพิ่งประกาศรายชื่อไป รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 2 รอบได้ 6,997.66 เมกะวัตต์ ในรอบแรก กลุ่ม GULF ได้กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นมากที่สุด และในรอบที่เพิ่มเติมนี้ กลุ่ม GUNKUL ก็ได้กำลังการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด เมื่อรวมกำลังการผลิตจากทั้ง 2 บริษัทจะพบว่ากลุ่ม GULF และกลุ่ม GUNKUL มีกำลังการผลิตที่ผ่านการคัดเลือก 3,043.29 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 43.49% ของกำลังการผลิตในโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้ง 2 รอบ ในขณะที่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ทั้ง 2 บริษัทก็ยังได้ประกาศจับมือร่วมในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียน โดยบริษัท กัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี จำกัด (Gulf Renewable Energy) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ GULF ได้เข้าร่วมทุนในบริษัทร่วมทุน Gulf Gunkul Corporation ในสัดส่วนเท่ากันที่ 50-50 อีกด้วย

ไม่เพียงแค่เรื่องหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก กำหนดอัตรารับซื้อคงที่ตลอดอายุโครงการ และระยะเวลาสัญญา เท่านั้นที่ทำให้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและยุติธรรม แต่การที่ภาครัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากเอกชนสูงถึง 6,997.66 เมกะวัตต์ ในขณะที่ภาคประชาชนที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และต้องการขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. จะต้องรอให้ กกพ.เปิดรับซื้อและเป็นผู้กำหนดปริมาณรับซื้อ ที่ผ่านมา กพช.กำหนดโควต้าเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป ในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน จำนวนรวม 90 เมกะวัตต์ ภายในเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2564-2573 ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณรับซื้อเต็ม 90 เมกะวัตต์แล้ว และต้องหยุดรับซื้อไฟฟ้าไปจนกว่าจะมีการเพิ่มโควต้าใหม่อีกครั้ง

จะเห็นได้ว่าแม้หลังคาจากภาคประชาชนจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ โดยจากการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปราว 4.06 ถึง 5 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อวันเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของตู้เย็นขนาดมาตรฐาน 1 เครื่องตลอดทั้งวัน แต่ปัจจุบันกลับพบว่า ภาครัฐนั้นกลับเอื้อให้แก่เอกชนมากกว่า ในขณะที่โซลาร์ภาคประชาชนกลับถูกล็อคไว้ด้วยกฎหมาย


เอกสารอ้างอิง

‘แข่งกันเอง-ตายไปเอง’ ภาพสะท้อนขนส่งสาธารณะภาคเหนือ: 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนรถโดยสารใน 17 จังหวัดภาคเหนือลดลงแค่ไหน?

เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา


Summary

  • ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566) จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางในภาคเหนือมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยลดลงจาก 17,308 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 11,852 คัน ในปี 2566 ซึ่งคิดเป็นการลดลงถึง 5,456 คัน (31.5%) ภายใน 5 ปี หรือลดลงเฉลี่ยปีละกว่า 6.3%
  • หากมองภาพรวมของภาคเหนือในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทุกจังหวัดในภูมิภาคต่างก็กำลังประสบกับสถานการณ์การลดลงของจำนวนรถโดยสารอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดที่เคยมีรถโดยสารมาก หรือจังหวัดที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้วก็ตาม
  • ในบรรดา 17 จังหวัดภาคเหนือ ‘จังหวัดน่าน’ ครองอันดับหนึ่งด้วยตัวเลขของจำนวนรถโดยสารที่ ‘ลดลงเกินครึ่งหนึ่ง’ ของจำนวนเดิมเดิมที่เคยมีในปี 2562 ขณะที่แม่ฮ่องสอน พะเยา และเพชรบูรณ์ เป็นอีกกลุ่มที่ประสบปัญหาในระดับใกล้เคียงกัน โดยลดลงเกือบ 50% ของจำนวนรถที่เคยให้บริการ สำหรับจังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่ ตัวเลขแสดงให้เห็นว่า จำนวนรถโดยสารลดลงราว 1 ใน 4 ของจำนวนที่เคยมี
  • อีกด้านหนึ่ง ‘จังหวัดตาก’ ครองอันดับสุดท้ายในสถานการณ์นี้ แม้จะลดลงในสัดส่วนที่น้อยที่สุดเพียง 22.5% แต่ตัวเลขก็ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัด เช่นเดียวกันกับเชียงรายและพิษณุโลก ซึ่งเป็นกลุ่มเมืองหลักภายในภูมิภาค ก็ยังไม่รอดพ้นจากสถานการณ์นี้ โดยรถโดยสารในสองจังหวัดนี้ลดลงไปกว่า 30% ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา ส่วน ‘แม่ฮ่องสอน’ ซึ่งมีจำนวนรถโดยสารน้อยที่สุดในภาคเหนือมาตั้งแต่ต้น ก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จนตัวเลขที่น้อยอยู่แล้วลดน้อยลงไปอีก

“ปล่อยให้แข่งขันกันเอง และล้มหายตายจากไป”

ประโยคนี้ไม่ได้สะท้อนเพียงแค่ความเป็นจริงของ ‘ระบบขนส่งสาธารณะ’ และ ‘กึ่งสาธารณะ’ ในเชียงใหม่ แต่ยังสะท้อนถึงภาพรวมของทุกจังหวัดในภาคเหนือที่กำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกัน.. ผู้ประกอบการขนส่งที่ค่อยๆ ลดจำนวนลง ส่งผลให้ระบบขนส่งสาธารณะในภูมิภาคนี้ค่อยๆ เลือนหายไปจากชีวิตผู้คน การพึ่งพา ‘รถส่วนตัว’ จึงกลายเป็นทางเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับประชาชนในหลายพื้นที่

ต่อเนื่องจากรายงาน เชียงใหม่เมืองยานยนต์ ถนนน้อย ไร้ขนส่งมวลชน คำถามที่น่าสนใจถัดมาคือ “แล้วสถานการณ์จริงของจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือเป็นยังไง? จะเหมือนเชียงใหม่หรือเปล่า?” เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ในรายงานนี้จึงจะขอชวนทุกคนมาสำรวจข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับ ‘จำนวนรถโดยสาร’ ของอีก 17 จังหวัดภาคเหนือ ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566) จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางของจังหวัดเหล่านี้ลดลงมากน้อยแค่ไหน?

จำนวนรถโดยสารในภาคเหนือ 2562 – 2566
ประเภทรถ25622563256425652566
รถโดยสารประจำทาง8,1237,0787,7187,8596,921
รถโดยสาไม่ประจำทาง9,1857,5005,8505,4414,931
รวม (คัน)17,30814,57813,56813,30011,852
ที่มา: กรมการขนส่งทางบก

หากพิจารณาข้อมูลจำนวนรถโดยสารในภาคเหนือตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ตามตารางข้างต้น เราจะพบกับความจริงที่น่าตกใจว่า ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566) จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางในภาคเหนือมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยลดลงจาก 17,308 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 11,852 คัน ในปี 2566 ซึ่งคิดเป็นการลดลงถึง 5,456 คัน (31.5%) ภายใน 5 ปี หรือลดลงเฉลี่ยปีละกว่า 6.3%

เมื่อเจาะลึกลงมาดูรายจังหวัด ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางใน 17 จังหวัดภาคเหนือ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยจังหวัดที่ประสบกับการลดลงมากที่สุด คือ ‘น่าน’ ซึ่งตัวเลขรถโดยสารลดลงจาก 414 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 219 คัน ในปี 2566 คิดเป็นการลดลงถึง 195 คัน (47.1%) หรือเฉลี่ยปีละ 9.4%

แม่ฮ่องสอน ครองอันดับสอง แม้จะเริ่มต้นด้วยจำนวนรถที่ค่อนข้างน้อยเพียง 179 คันในปี 2562 แต่ในปี 2566 จำนวนรถลดลงเหลือ 104 คัน ลดลงถึง 75 คัน (41.9%) หรือเฉลี่ยปีละ 8.4% เช่นเดียวกับ พะเยา ที่จำนวนรถโดยสารลดลงจาก 423 คัน เหลือเพียง 247 คัน คิดเป็นการลดลง 176 คัน (41.6%) หรือเฉลี่ยปีละ 8.3%

เพชรบูรณ์ อยู่ในอันดับสี่ ด้วยจำนวนรถที่ลดลงจาก 670 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 399 คันในปี 2566 ลดลง 271 คัน (40.5%) หรือเฉลี่ยปีละ 8.1% ขณะที่ เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดเมืองหลักของภาคเหนือ ก็ไม่สามารถหลีกหนีปัญหานี้ได้ แม้จะมีระบบขนส่งหลากหลาย แต่จำนวนรถโดยสารลดลงจาก 1,773 คัน เหลือเพียง 1,129 คัน คิดเป็นการลดลง 644 คัน (36.3%) หรือเฉลี่ยปีละ 7.3%

ในจังหวัดอื่นๆ เช่น แพร่ จำนวนรถลดลงจาก 377 คัน เหลือ 244 คัน คิดเป็นการลดลง 133 คัน (35.3%) หรือเฉลี่ยปีละ 7.1% ส่วน พิจิตร ลดลงจาก 268 คัน เหลือ 175 คัน หรือลดลง 93 คัน (34.7%) เฉลี่ยปีละ 6.9% เช่นเดียวกับ เชียงใหม่ ที่ลดลงจาก 7,301 คัน เหลือเพียง 4,770 คัน คิดเป็นการลดลงถึงกว่า 2,531 คัน (34.7%) หรือลดลงเฉลี่ยปีละ 6.9% และ สุโขทัย ลดลงจาก 444 คัน เหลือ 295 คัน คิดเป็นการลดลง 149 คัน (33.5%) หรือเฉลี่ยปีละ 6.7%

นครสวรรค์ ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคเหนือ ก็ประสบปัญหาเช่นกัน โดยจำนวนรถลดลงจาก 1,183 คัน เหลือเพียง 801 คัน ลดลง 382 คัน (32.3%) หรือเฉลี่ยปีละ 6.5% ส่วน กำแพงเพชร ลดลงจาก 509 คัน เหลือ 345 คัน หรือลดลง 164 คัน (32.2%) เฉลี่ยปีละ 6.4%

แม้กระทั่ง พิษณุโลก ซึ่งถือเป็นเมืองหลักที่สำคัญในภูมิภาค ก็เผชิญกับการลดลงถึง 27.8% (จาก 713 คัน เหลือ 515 คัน ลดลง 198 คัน) หรือเฉลี่ยปีละ 5.6% เช่นเดียวกับ อุทัยธานี ที่ลดลงจาก 418 คัน เหลือ 302 คัน ลดลง 116 คัน (27.8%) หรือเฉลี่ย 5.6% ต่อปี และ อุตรดิตถ์ ที่ลดลงในสัดส่วนใกล้เคียงกันคือ จาก 357 คันเหลือ 258 คัน ลดลง 99 คัน (27.7%) หรือเฉลี่ย 5.5% ต่อปี

สำหรับ ลำพูน จังหวัดอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งในภาคเหนือ ตัวเลขรถโดยสารลดลงจาก 439 คัน เหลือ 319 คัน คิดเป็นการลดลงจำนวน 120 คัน (27.3%) หรือเฉลี่ยปีละ 5.4% ขณะที่ ลำปาง ลดลงจาก 1,022 คัน เหลือเพียง 753 คัน หรือลดลง 269 คัน (26.3%) เฉลี่ยปีละ 5.3%

สุดท้ายคือ ตาก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนไทย-เมียนมา แม้จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่จำนวนรถโดยสารยังคงลดลงจาก 818 คัน เหลือ 634 คัน หรือลดลง 184 คัน (22.5%) เฉลี่ยปีละ 4.5%

จากภาพรวมจะเห็นได้ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเมืองหลักอย่างเชียงรายและพิษณุโลก หรือจังหวัดที่มีจำนวนรถโดยสารน้อยอย่างแม่ฮ่องสอน ทุกพื้นที่ต่างประสบกับการลดลงอย่างต่อเนื่องชัดเจน

โดยในบรรดา 17 จังหวัด ‘จังหวัดน่าน’ ครองอันดับหนึ่งด้วยตัวเลขของจำนวนรถโดยสารที่ ‘ลดลงเกินครึ่งหนึ่ง’ ของจำนวนเดิมเดิมที่เคยมีในปี 2562 ขณะที่แม่ฮ่องสอน พะเยา และเพชรบูรณ์ เป็นอีกกลุ่มที่ประสบปัญหาในระดับใกล้เคียงกัน โดยลดลงเกือบ 50% ของจำนวนรถที่เคยให้บริการ สำหรับจังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่ ตัวเลขแสดงให้เห็นว่า จำนวนรถโดยสารลดลงราว 1 ใน 4 ของจำนวนที่เคยมี

ในอีกด้านหนึ่ง ‘จังหวัดตาก’ ครองอันดับสุดท้ายในสถานการณ์นี้ แม้จะลดลงในสัดส่วนที่น้อยที่สุดเพียง 22.5% แต่ตัวเลขก็ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัด เช่นเดียวกันกับเชียงรายและพิษณุโลก ซึ่งเป็นกลุ่มเมืองหลักภายในภูมิภาค ก็ยังไม่รอดพ้นจากสถานการณ์นี้ โดยรถโดยสารในสองจังหวัดนี้ลดลงไปกว่า 30% ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา ส่วน ‘แม่ฮ่องสอน’ ซึ่งมีจำนวนรถโดยสารน้อยที่สุดในภาคเหนือมาตั้งแต่ต้น ก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จนตัวเลขที่น้อยอยู่แล้วลดน้อยลงไปอีก

ทำไมขนส่งสาธารณะในหลายที่ติดหล่ม-ถดถอย? 

ศุภกร ศิริสุนทร ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจในบทความ ‘กับดักทางความคิด ที่ทำให้ขนส่งสาธารณะไทยติดหล่ม’ ว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญมาจากการที่รัฐมองขนส่งสาธารณะเป็นเพียงแค่ ‘ธุรกิจบริการ’ การจัดการระบบขนส่งสาธารณะจึงมักถูกดำเนินการผ่านระบบสัมปทาน ซึ่งเน้นให้เอกชนเข้ามาประมูลแข่งขันกัน โดยรัฐไม่ได้เข้ามาจัดการหรือกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลที่ตามมาคือ ระบบขนส่งสาธารณะในไทยติดอยู่ในวังวนของคุณภาพที่ไม่สมดุลกับราคา ระบบที่พอมีคุณภาพดีมักมีค่าโดยสารที่แพงจนคนทั่วไปเอื้อมไม่ถึง ขณะที่ระบบที่ค่าโดยสารถูก คุณภาพการให้บริการกลับต่ำจนน่าผิดหวัง เพื่อให้เอกชนยังคงทำกำไรได้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบสัมปทานที่ไม่สามารถควบคุมราคาและคุณภาพได้อย่างเหมาะสม

ยิ่งไปกว่านั้น การควบคุมคุณภาพในด้านอื่นๆ เช่น ความถี่ของการให้บริการ หรือแม้แต่การปรับปรุงเส้นทางให้สอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชน ก็ทำได้ยากเช่นกัน

เมื่อผู้ประกอบการขนส่งทั้งสาธารณะและกึ่งสาธารณะทยอยล้มหายตายจากไป สิ่งที่หายตามไปด้วยคือ จำนวนรถโดยสารที่ลดลงอย่างน่าใจหาย ข้อมูลข้างต้นสะท้อนภาพที่ชัดเจนว่า รถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางในหลายพื้นที่เหล่านี้ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งที่บางจังหวัดมีจำนวนประชากรไม่น้อย และบางจังหวัดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ การมีรถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้นควรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการในการเดินทางของประชาชน

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่บริการเหล่านี้กำลังค่อยๆ ทยอยหายไปอย่างเงียบๆ หากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินเช่นนี้ต่อไป ในอนาคตเมื่อไม่มีขนส่งสาธารณะที่เพียงพอรองรับในการเดินทางในตัวเมือง สิ่งที่เราต้องเผชิญอาจหนีไม่พ้นปัญหารถติดเต็มถนนและมลพิษทางอากาศที่จะกลายเป็นวิถีชีวิตที่ทุกคนเลี่ยงไม่ได้..


อ้างอิง