Home Blog Page 203

รวมพลังคัดค้าน พ.ร.บ. ควบคุมการรวมกลุ่ม หน้า UN ตั้งแต่ 23 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป​

22/05/2022

ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน เชิญชวนประชาชนร่วมคัดค้าน พ.ร.บ. ควบคุมการรวมกลุ่ม ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. โดยจะปักหลักรวมพลที่หน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ​

เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มประชาชนทุกฉบับกำลังจะผ่านเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนที่ประกอบไปด้วยประชาชนจากหลากหลายภาคส่วนจึงได้รวมตัวกันเพื่อคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวทุกฉบับ เหตุเพราะกฎหมายมุ่งเป้าควบคุมประชาชนที่รวมกลุ่มกันทํากิจกรรม และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกําไร ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง อาจตีความได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ​

นอกจากนั้น ในร่างกฎหมายฉบับนี้ยังให้อำนาจรัฐสามารถเข้าแทรกแซงกิจกรรมต่างๆ ด้วยการตรวจสอบบัญชี แหล่งทุน แหล่งที่มาของรายได้ การใช้จ่ายขององค์กร และอื่นๆ และที่น่าเป็นห่วงคือ การให้อํานาจแก่ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะ “นายทะเบียน” มีอํานาจระงับการจัดกิจกรรมของประชาชนได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาล ยิ่งในประเด็นการบริหารเงินทุน พ.ร.บ. นี้ ให้อํานาจปลัด พม. ในการรวบเอาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการดําเนินกิจกรรมของ ประชาชนมาไว้กับตัว และมีอํานาจอนุมัติหรือไม่อนุมัติได้ตามความเห็น โดยเงินส่วนนี้ไม่ต้องนําส่งคลังเป็นงบประมาณ แผ่นดินใดๆ ทั้งสิ้น ​

หาก พ.ร.บ. ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มทุกฉบับผ่านออกมา การรวมตัวของประชาชนจะเป็นไปอย่างยากลําบาก เต็มไปด้วยข้อห้ามที่คลุมเครือ เช่น การอ้าง “ศีลธรรมอันดีของสังคม”, “ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ” เป็นเหตุในการระงับกิจกรรม เป็นต้น​

เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน จึงเตรียมกลับมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบอีกครั้งในวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 เพื่อหยุดยั้ง ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มประชาชนทุกฉบับที่กำลังจะผ่านเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และในครั้งนี้เราต้องการแรงสนับสนุนจากทุกๆ คน ทุกๆ องค์กร ทุกประชาสังคม ให้เข้าร่วมชุมนุมร่วมกันกับเราและร่วมลงชื่อเพื่อแสดงพลังในการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยกเลิกกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มทุกฉบับทันที ​

ชาติชาย ธรรมโม เลขาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ แถลงถึงจุดยืนในเวทีแสดงความคิดเห็น (ร่าง) พ.ร.บ.การดำเนินกิจการขององค์กรไม่แสวงผลกำไร ​ “เราจะซวยกันหมด ถ้าหาก พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงผลกำไรบังคับใช้” ไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคมว่า “เราประชาชนทั้งหลายได้รวมตัวกันที่นี้ เพื่อแสดงเจตจำนงค์ว่าเราไม่เห็นด้วยกับกฎหมายอัปรีย์ กฎหมายที่บังคับขู่เข็ญให้ประชาชนขาดสิทธิและเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ขาดการกำหนดอนาคตของตนเอง เบียดขับให้ประชาชนเป็นผู้ร้องขอ และไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการกระจายความมั่งคั่งในประเทศ เราในนามเครือข่ายประชาชนคัดค้านพ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มขอคัดค้านกฎหมายนี้ และจะคัดค้านร่วมกับพี่น้องประชาชนทุกที่ที่มีการต่อสู้ จนกว่าจะได้รับชัยชนะ” ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะลงไปร่วมแสดงจุดยืนต่อต้านร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา โดยประกาศจุดยืนเตรียมเดินหน้าชุมนุมยืดเยื้อที่ทำเนียบรัฐบาลทันที หากกฎหมายผ่านเข้าสู่สภาฯ​

ในวันพรุ่งนี้ ​ 23 พฤษภาคม ขอเชิญชวนประชาชน ภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมชุมนุมที่หน้า UN 09.00 น. เป็นต้นไป และร่วมลงชื่อเพื่อแสดงพลังในการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยกเลิกกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มทุกฉบับทันที​

สำนักข่าว #Lanner จะรายงานข้อมูลข่าวสารตลอดช่วงของการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม เป็นต้นไป​

ลงชื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มประชาชนทุกฉบับได้ที่ https://no.npobill.org/23may-stop-npo/​
ขอขอบคุณข้อมูลจาก No NPO Bill https://no.npobill.org/​

#23พฤษภามาสู้ไปด้วยกัน​​
#คัดค้านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มประชาชนทุกฉบับ​
#ไม่เอากฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน​
#หยุดพรบควบคุมการรวมกลุ่ม​
#NoNPOBill​
#ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน​
#ร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน

การต่อต้านทหารที่อำเภอฝาง: บทบันทึก “ประชาชนต้านรัฐประหาร” ที่ยังไม่ถูกบันทึก​

22/05/2022

รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 นับได้ว่าเป็นการรัฐประหารที่มีการต่อต้านเข้มข้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งหนึ่ง แม้พลังการต่อต้านจะไม่มากพอทำให้การรัฐประหารครั้งนั้นไม่สำเร็จ ​

หลัง คสช. ยึดอำนาจ มีกลุ่มประชาชนที่ออกมาคัดค้านทั้งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองใหญ่ กองทัพได้ใช้วิธีเข้าควบคุมตัวแกนนำ โดยเฉพาะแกนนำคนเสื้อแดงในพื้นที่ต่างๆ ไปกักกันไว้ในค่ายทหารในจังหวัดต่างๆ ขณะที่ก็ออกประกาศเรียกตัวบุคคลไปรายงานตัว และควบคุมตัวไว้ระยะหนึ่งเช่นกัน ทำให้การต่อต้านเป็นไปได้ยาก​

ในพื้นที่ภาคเหนือเอง ก็มีรายงานการต่อต้านการรัฐประหารเกิดขึ้น อาทิ ในเมืองเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน หรือลำปาง ทั้งในรูปแบบการชุมนุม การไปชูป้ายในจุดสำคัญ หรือการจัดกิจกรรมกินแม็คโดนัลด์ต้านรัฐประหาร เป็นต้น ​

ขณะเดียวกัน ยังมีการต่อต้านอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งดูเหมือนยังไม่เคยถูกรายงานไม่ว่าในสื่อใดๆ และยังไม่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของการต่อต้านรัฐประหารครั้งนั้น ทีมงาน Lanner ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เคยบันทึกข้อมูลจากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งออกมารวมตัวต่อต้านทหารที่พยายามเข้ายึดสถานีวิทยุชุมชนในพื้นที่ ไว้ตั้งแต่ในช่วงที่ คสช. ยังดำรงอยู่​

ในโอกาสครบรอบ 8 ปี หลังการรัฐประหาร เราขอรายงานบันทึกเหตุการณ์การต่อต้านในอำเภอริมชายแดนนี้ไว้ ในฐานะหน้าหนึ่งที่ยังไม่ได้ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์การต่อต้านรัฐประหาร​

พื้นที่ฝางนั้น เป็นอำเภอใหญ่ติดชายแดนของจังหวัดเชียงใหม่ ที่นั่นเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มคนเสื้อแดงค่อนข้างเข้มแข็งมาตั้งแต่ช่วงปี 2552-53 โดยมีการรวมตัวของกลุ่มคนหลากหลาย ตั้งแต่ครู พ่อค้าแม่ขาย ชาวนาชาวไร่ แม่บ้าน ข้าราชการท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ไปจนถึงอดีตสหายเก่า เข้ามาร่วมการเคลื่อนไหวในพื้นที่ ​

นอกจากนั้น กลุ่มเสื้อแดงในพื้นที่นั้น ยังมีการขยายแนวร่วมไปอำเภอข้างเคียง จนเกิดเป็น “ชมรมคนรักฝาง แม่อาย ไชยปราการ” ซึ่งเป็นการรวมของกลุ่มเสื้อแดงในสามอำเภอชายแดนของเชียงใหม่ ทั้งมีการจัดตั้ง “หมู่บ้านประชาธิปไตย” ขึ้นในพื้นที่ด้วย​

ในช่วงที่การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเข้มข้นปี 2552-57 กลุ่มในพื้นที่นี้ยังได้มีการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชน โดยใช้วิธีการระดมทุนจากชาวบ้านในพื้นที่เอง ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งจัดผ้าป่า โต๊ะจีน และเวทีปราศรัยต่างๆ นำไปสู่การมีสถานีวิทยุชุมชน ที่มีการจัดรายการเรื่องการเมือง บอกเล่าข่าวสารชุมชน การแนะนำอาชีพในพื้นที่ หรือรายการบันเทิงต่างๆ​

ในช่วงนั้น สถานีวิทยุของชมรมคนรักฝาง แม่อาย ไชยปราการ กลายเป็นจุดศูนย์รวมทั้งกิจกรรม-ข่าวสารทางการเมือง และข่าวสารในท้องถิ่น ทำให้เคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐสั่งปิดช่วงระยะหนึ่งหลังการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2553 และเมื่อมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 พื้นที่สถานีวิทยุแห่งนี้จึงเป็น “เป้าหมาย” หนึ่งของทหารที่ต้องเข้าควบคุม​

ชาวบ้านในชมรมคนรักฝาง แม่อาย ไชยปราการ เล่าว่า ตั้งแต่ที่กองทัพประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2557 แกนนำและดีเจของสถานีวิทยุชุมชนที่นั่นได้ตัดสินใจจะงดออกอากาศสถานีวิทยุชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของสถานี เพราะมีบทเรียนจากการถูกเจ้าหน้าที่สั่งปิดสถานีเมื่อปี 2553​

วันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ก็ได้เดินทางไปที่สถานีวิทยุเช่นเดียวกัน พร้อมยินดีกับความร่วมมือในการงดออกอากาศนั้น โดยไม่ได้มีใครบังคับ

กระทั่งสองวันถัดมา ไม่กี่นาทีหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 แกนนำเสื้อแดงในพื้นที่หลายคนได้ถูกทหารเข้าติดตามตัวถึงบ้าน มีการควบคุมตัวไปยังค่ายทหารในคืนนั้นทันที บางรายถูกนำตัวไปค่ายทหารที่อำเภอเชียงดาว บางรายถูกนำตัวไปที่ค่ายในอำเภอแม่ริม ทั้งแกนนำบางคนที่หลบออกจากบ้าน ยังถูกทหารควบคุมตัวญาติที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ไปเป็น “ตัวประกัน” ก่อน เพื่อให้เจ้าตัวมารายงานตัวกับทหาร​

ขณะเดียวกันในช่วงเย็นวันนั้นราว 17.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบอย่างน้อย 5-6 คันรถฮัมวี่ รวมๆ แล้วไม่น่าต่ำกว่า 60-70 นาย พร้อมอาวุธครบมือ ยังบุกไปถึงสถานีวิทยุชุมชน​

ชาวบ้านเล่ากันว่าไม่ถึงชั่วโมงหลังรัฐประหาร ขณะที่กลุ่มชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ สถานีวิทยุกำลังจะนำโซ่เหล็กไปคล้องประตูรั้วสถานีวิทยุไว้เพื่อป้องกันการบุกสถานี และเริ่มยกข้าวของอุปกรณ์เครื่องส่งส่วนหนึ่งออกจากสถานี กองทหารหลายคันรถนั้นก็มาถึงแล้ว และเข้าล้อมสถานีจากทุกทิศทางไว้อย่างรวดเร็ว​

เริ่มแรกเจ้าหน้าที่จะบุกพังประตูเข้าไปเพื่อจะยึดอุปกรณ์และเครื่องส่งสัญญาณสถานีวิทยุ แต่กลุ่มชาวบ้านได้เอากุญแจมาเปิดสถานีให้ก่อน โดยเจ้าหน้าที่หลายคนไม่เพียงแต่สะพานปืนมาเฉยๆ แต่ยังทำท่าลักษณะใช้อาวุธพร้อมยิง รวมทั้งยังใช้คอมแบทเตะข้าวของบนพื้นที่ไปให้พ้นทาง จนผู้อยู่ในเหตุการณ์บางคนเล่าว่า “เอาปืนมาจี้ ราวกับเราเป็นอาชญากร”​

ในภาวะเช่นนั้น แทนที่จะหลบๆ กันไป ชาวบ้านกลับตะโกนกันปากต่อปากว่า “ทหารมาๆๆๆ” บางคนก็โทรเรียกใครต่อใครว่า “ทหารมาแล้ว จะมายึดสถานีเราแล้ว” ทำให้ผู้คนในหมู่บ้านหรือพื้นที่ที่ใกล้เคียง ซึ่งบ้านเรือนอยู่ไม่ไกลกันนัก เดินทางมารวมตัวกันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมแล้วชาวบ้านประมาณว่ามีคนในพื้นที่มารวมตัวกันมากกว่า 100 คน ​

ชาวบ้านยังเล่ากันอีกว่าผู้หญิงหลายคน ทั้งสาวและแก่ ยังลุกขึ้นด่าทหารด้วยภาษาเมือง อย่างไม่เกรงกลัวปืนผาหน้าไม้ ​

“คิงจะยิงไผ จะมายึดของฮาก๊ะ ฆ่าฮาตายเสี้ยงหมด คิงก็บ่ได้ไป นี่มันของชาวบ้าน” ​ ​

“คิงมันวอก ไหนบอกจะไม่รัฐประหาร ยังทำอยู่” ​

นั่นคือบางประโยคที่เล่าว่ากันว่ามีชาวบ้านตะโกนด่าทหาร​

เล่ากันอีกว่าหญิงชาวบ้านมือเปล่าบางคน ยังยกผ้าซิ่นที่นุ่งอยู่ขึ้น แล้วหันบั้นท้ายให้ทหารดู พร้อมตะโกนด่าว่า “คิงเอาปืนมา จะยิงใคร ฮามีอะหยัง คิงใครหันก๊ะ มีจะอี้” ขณะที่อีกบางคนก็ถอดเสื้อของตัวเองออก เหลือแต่ยกทรงด้านใน พร้อมท้าทายทหารกล้าให้ยิงมานี่เลย ถ้าจะยิง ก็ยิงมาเลย​

แม้เจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าไม่ได้มาใช้ความรุนแรงต่อชาวบ้านแต่อย่างใด แต่ใครบางคนก็โต้ตอบกลับไปว่าเอาปืนมาแบบนี้ จะไม่รุนแรงได้อย่างไร ​

ระหว่างความชุลมุนวุ่นวายนั้นเอง กลุ่มผู้ชายและชาวบ้านอีกส่วนหนึ่ง ก็เข้าไปช่วยกันขนชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ในสถานีวิทยุ คนละชิ้นสองชิ้นหลบออกไป​

ท่ามกลางชาวบ้านที่ยืนด่าทอเจ้าหน้าที่ เล่ากันว่าทหารชั้นผู้น้อยยืนนิ่งไม่พูดอะไร ส่วนพวกผู้ใหญ่ที่นำปฏิบัติการมาก็เข้ามาเจรจากับแกนนำในกลุ่มชาวบ้าน โดยแกนนำที่อยู่ตรงนั้นยืนยันว่าจะไม่ออกอากาศวิทยุในสถานการณ์นี้ แต่ขอไม่ให้เจ้าหน้าที่ยึดเอาอุปกรณ์ต่างๆ ไป เพราะทั้งหมดเป็นข้าวของที่ชาวบ้านร่วมกันลงขันมา ​

แกนนำต่อรองไปขนาดว่าให้เจ้าหน้าที่มาระเบิด หรือเผาสถานีวิทยุเลยก็ได้ จะได้ไม่มีใครได้อะไรไป และสถานีก็ไม่ได้ออกอากาศตามที่ทหารต้องการ ​ ระหว่างการเจรจา ชาวบ้านยังให้ข้าราชการท้องถิ่นมาช่วยรับรองและเป็นพยานว่าจะไม่ออกอากาศวิทยุ แล้วจะเอาอุปกรณ์ต่างๆ ออกไปจากสถานีให้หมด ไม่เอาเข้ามาอีก ​

หลังการเจรจา เจ้าหน้าที่ยินยอมไม่เอาข้าวของอุปกรณ์ที่ต้องการไป โดยขอเข้าไปถ่ายรูปว่าไม่มีอะไรเหลือแล้วในสถานีวิทยุ จากนั้นก็ยังไม่ได้เดินทางกลับ ชาวบ้านเล่าว่าทหารบางส่วนยังเฝ้าอยู่รอบๆ สถานี ทั้งเข้าไปซุ่มอยู่ตามป่า หรือเข้าไปในโรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆ ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนก็ยังเฝ้าอยู่ที่สถานีเช่นกัน​

จนมืดแล้ว ข้าราชการในท้องที่ต้องเข้าไปเจรจาพูดคุย ว่ามันเริ่มค่ำมากแล้ว อยากให้เจ้าหน้าที่กลับไปก่อน กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง หรือจะมีมือที่สามมาก่อกวน จากนั้นเจ้าหน้าที่บริเวณนั้นจึงเดินทางกลับไป ขณะที่ชาวบ้านก็เข้าล็อคกุญแจสถานีวิทยุไว้ ​ ​

หลังจากวันนั้น ชาวบ้านเล่าว่ามีทหารแวะเวียนมาดูสถานีวิทยุแทบทุกวัน มาดูว่ามีการออกอากาศหรือไม่ และดูว่ามีการติดป้ายอะไรหรือไม่ โดยป้าย “หมู่บ้านประชาธิปไตย” ก็ถูกให้นำออกทั้งหมด ​

ต่อมามีการนำป้าย “เพื่อความสงบเรียบร้อย ของดออกอากาศชั่วคราว” มาติดที่รั้วหน้าสถานี แต่ชาวบ้านไม่ทราบว่าเป็นใคร ก็ไปเขียนข้อความ “No Coup” จารึกไว้บนป้าย​

แม้สถานีวิทยุชุมชนจะไม่สามารถออกอากาศได้เป็นเวลานับปี และแกนนำหลายคนหลังถูกปล่อยตัวจากค่ายทหาร ก็ยังโดนทหารเยี่ยมบ้านติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดในช่วงแรกๆ แต่อุปกรณ์ของสถานีวิทยุหลายอย่างที่มาจากการลงขันกันของชาวบ้าน ก็ไม่ได้ถูกยึดไป และจากนั้น 2-3 ปี ก็กลับมาออกอากาศสถานีได้อีกครั้ง ภายใต้การควบคุมของ กสทช. ​
จนถึงปัจจุบันกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ฝาง ก็ยังไม่ได้หายไปไหน ยังมีการจัดกิจกรรมทางการเมืองอยู่เป็นระยะตามโอกาสและกระแสการเคลื่อนไหว อาทิ กิจกรรมวิ่งไล่ลุงในช่วงปี 2563 หรือกิจกรรมคาร์ม็อบไล่ประยุทธ์ในช่วงปี 2564 ก็มีขึ้นที่พื้นที่อำเภอฝางเช่นกัน​

แม้เรื่องราวในวันรัฐประหารเมื่อปี 8 ปีก่อนของชาวบ้านในอำเภอฝาง จะไม่ถูกบันทึกไว้ในทางสาธารณะอย่างกว้างขวางมากนัก แต่วีรกรรมนี้ไม่ว่าอย่างไร น่าจะยังถูกจดจำและบอกเล่าอยู่ในพื้นที่ชายแดนแห่งนั้นจนถึงปัจจุบัน​



เรื่องและภาพ: นพพล อาชามาส​

#8ปีรัฐประหาร57​
#Lanner

8 ปีแล้วนะไอ้เหี้ย​

22/05/2022

เนื่องในวันครบรอบ 8 ปี การรัฐประหาร 2557 โดย คสช.​

“คุณมีเพียงแค่ 2516​
คุณมีเพียงแค่ 2519​
คุณมีเพียงแค่ 2535​
คุณมีเพียงแค่ 2549​
เราเหลือเพียงแต่ 2553​

คุณมีเพียงแค่ 2557​
8 ปีที่ผ่านมา​
คุณเผาปฎิทิน​
นำขี้เถ้ามาละเลง​
กลายเป็นศิลปะแสดงสด​

กินและกลืนลงให้สุดคอหอย​
แล้วจึงขย้อนออกมา​
ทว่ามันไม่ยอมออกมา​
หน้าเขียว​
เหงื่อตก​

แล้วพึ่งรู้สึกถึงการค้นพบ​
ว่าตัวเองเป็นข้าทาสแห่งความโง่เขลา​
ความโง่แห่งชาติ​
ประชาธิปไตยอันมีคำสร้อยท้ายทุเรศทุรัง​
สร้างสรรค์กันมา​
และผ่าเหล่ากันไป”​

8 ปีแล้วนะไอ้เหี้ย​
บทกวีโดย รอนฝัน ตะวันเศร้า​
ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

Lanner เปิดพื้นที่สำหรับงานสื่อสารทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบทความ งานวิชาการ ความเรียง เรื่องสั้น บทกวี สารคดี photo essay ที่บอกเล่าเรื่องราวทางสังคมต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือและเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com ​ ร่วมสร้างพื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าไปด้วยกัน​

#lanner​
#กวีเน้อ

ยืนหยุดทรราชll สัปดาห์ที่ 4​

22/05/2022

วันนี้ 22 พฤษภาคม 2565 เวลา 17.00 – 18.12 น. กลุ่มพลเมืองเสมอกัน We, The People จัดกิจกรรม #ยืนหยุดทรราชll บริเวณ ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยการยืนหยุดทรราชในครั้งนี้เป็นการยืนในสัปดาห์ที่ 4 โดยวันนี้เป็นวันครบรอบ 8 ปี การรัฐประหารของคสช. ซึ่งปกติกิจกรรมยืนหยุดทรราชจะจัดในทุกวันเสาร์ แต่เนื่องจากเมื่อวาน(21 พฤษภาคม) เกิดพายุฝนและน้ำท่วมขังรอบเมืองเชียงใหม่ จึงทำให้ต้องยุติกิจกรรมและมาจัดกิจกรรมในวันนี้แทน โดยในวันนี้ที่ลานท่าแพมีกิจกรรมปักหมุดกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ โดยมีประชาชนที่มาร่วมยืนหยุดทรราชและมาร่วมงานเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง​

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่ามีผู้ต้องขังทางการเมืองในตอนนี้ ทั้งหมด 11 คน คือ 1. เวหา แสนชนชนะศึก ​ 2-3. คทาธรและคงเพชร สมาชิกกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 4. ปฏิมา ​ 5. “เพชร” พรพจน์ แจ้งกระจ่าง 6.เอกชัย หงส์กังวาน 7.“ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ 8. สมบัติ ทองย้อย 9. “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง 10-11. ใบปอ และ เนติพร กลุ่มทะลุงวัง​

กิจกรรม #ยืนหยุดทรราชll จะจัดอย่างต่อเนื่องในทุกๆ วันเสาร์ เวลา 17.00-18.12 น. ที่ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ อย่างต่อเนื่องจนกว่าประชาชนที่ถูกคุมขังจะได้รับการปล่อยตัว​



ภาพ: วรรณพร หุตะโกวิท​

#หยุดละเมิดสิทธิประกันตัว​
#ยกเลิก112​
#Lanner

🔴 LIVE – “ปักหมุดกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่”

22/05/2022

สดจาก ลานข่วงประตูท่าแพ จัดโดย : ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ และสภาพลเมืองเชียงใหม่ ——————————-

Facebook Live 🔴 “ปักหมุดกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่”

22/05/2022

วันอาทิตย์ ที่ 22 พฤษภาคม 2565 เวลา 16.00 น. ณ ลานประตูท่าแพ (เชียงใหม่) จัดโดย : ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่และสภาพลเมืองเชียงใหม่

ประมวลสถานการณ์น้ำจังหวัดเชียงใหม่​‘สวนอัญญา-คลองแม่ข่า-จอมทอง’ น้ำท่วมหนัก ชาวบ้านเร่งขนของหนีน้ำ หลังฝนตกตลอดวัน​

21/05/2022

21 พฤษภาคม 2565 ฝนตกหนักกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ช่วงเช้า ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ อาทิ อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด และในตัวเมืองเชียงใหม่ คาดเกิดจากฝนตกหนัก มีปัญหาการระบายน้ำ ​

เริ่มจากบริเวณสวนอัญญา เฮือนครูองุ่น มาลิก หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฝั่งคณะรัฐศาสตร์ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ น้ำเริ่มท่วมตั้งแต่ช่วงเช้า ส่งผลให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า หนังสือและอุปกรณ์อื่นๆ บางส่วนสูญหาย และต้องเร่งเก็บของขึ้นไปไว้ในที่สูง จึงทำให้มีเจ้าหน้าที่สวนอัญญาและอาสาสมัครที่มาช่วยขนของขึ้นที่สูงติดอยู่บนอาคาร ขณะเดียวกันบริเวณรอบๆ สวนอัญญาซึ่งเป็นชุมชนยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานล่าสุดว่าในเวลา 16.40 น. เริ่มมีการอพยพเจ้าหน้าที่สวนอัญญา อาสาสมัคร เด็ก คนสูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงออกจากพื้นที่แล้ว​

ส่วนในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่น้ำท่วมขังเอ่อล้นทั่วทั้งมหาวิทยาลัย ตลอดทั้งบริเวณซอยวัดอุโมงค์ บ้านใหม่หลังมอ ด้านชุมชนกำแพงงาม ริมคลองแม่ข่า ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องมาแล้ว 2 วัน​

ส่วนอำเภอจอมทอง สถานการณ์น้ำท่วมยังคงขยายวงกว้างมากขึ้น รวมถึงฝนยังคงตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนในตำบลข่วงเปาได้รับผลกระทบแล้วไม่ต่ำกว่า 900 หลังคาเรือน ในพื้นที่หมู่ 1 หมู่ 12 และหมู่ 13 เส้นทางการสัญจรบนถนนเส้นหลักบางจุดไม่สามารถสัญจรได้ทั้งรถเล็กและรถใหญ่ ​

วิทยา ศรีจอมแจ้ง ชาวบ้านน้ำดิบสามัคคี หมู่ที่ 12 ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวกับ Lanner ว่า น้ำเริ่มท่วมตั้งแต่เมื่อวาน แต่พอช่วงสายของวันนี้ประมาณ 08.00 น. น้ำมาทีเดียวโดยไม่ทันได้ตั้งตัว เนื่องจากฝนมันตกมาหลายวันแล้ว ท่วมไปทีหนึ่งเมื่อ 2-3 วันก่อน แต่ตนก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอีก ซึ่งเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี ผลกระทบที่น่ากังวลตอนนี้คือชาวบ้านไม่มีที่นอน​

“ผมคิดว่าจะหยุดแล้ว ไม่ท่วมแล้ว แต่เมื่อคืนฝนตกหนักมากจนอ่างน้ำข้างบนมันล้นเลยครับ เป็นน้ำห้วยที่ล้นสปริงเวย์มาประจบกัน ทั้งจากป่าชุมชน เหมืองใหม่ น้ำตกแม่กลาง น้ำมันมาหนุนกันแล้วล้นถนน ตอนนี้หมู่ 12 หมู่ 13 และหมู่ที่ 1 น้ำท่วมจะท่วมหนักมาก ท่วมมิดหลังคาเลย กำลังช่วยเหลือกันอยู่ครับ ขนเรือ ขนอาหาร เอาถุงยังชีพมาแจกชุมชน ตอนนี้ปัญหาคือที่นอนไม่มีเลย อาจต้องไปนอนกันที่วัด”​

วิทยายังเล่าอีกว่า ปัญหาอาจเกิดจากการสร้างถนนและระบบการระบายน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ สมัยแต่ก่อนไม่ท่วมขนาดนี้เพราะถนนไม่สูงขนาดนี้ น้ำมามันก็ข้ามถนนไปลงน้ำปิง ตอนนี้ชุมชนท่อเล็กนิดเดียว และมีน้อยด้วย ก็เลยไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ตอนนี้ถ้าจะระบายน้ำต้องสูบน้ำอย่างเดียวเลยครับ น้ำมันไหลย้อนเข้ามาในหมู่บ้าน ถ้าฝนยังตกแบบนี้คิดว่าน้ำจะมาเรื่อยๆ ​

ขณะเดียวกันอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ในขณะนี้มีปริมาณน้ำฝนที่ยอดดอยสูงถึง 200 มิลลิเมตร อยู่ในเกณฑ์ฝนตกหนักมาก จึงยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป


#น้ำท่วมเชียงใหม่
#Lanner

เมื่อศาลไม่คืนสิทธิในการประกันตัวให้แก่ผู้ต้องขังในคดีทางการเมือง ยืนหยุดทรราชจึงเป็นหน้าที่!​

21/05/2022

เข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 ของการ #ยืนหยุดทรราชll จุดประสงค์หลักของกิจกรรมยืนหยุดทรราชคือการเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องขังทางการเมือง ที่รัฐได้คุมขังประชาชนในระหว่างการสอบสวนและไม่มีสิทธิในการประกันตัว​

สำนักข่าว Lanner ขอหยิบยกเสียงของประชาชนที่มาร่วมยืนหยุดทรราชในสัปดาห์ที่ 3 ในประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องที่ศาลไม่ยอมคืนสิทธิในการประกันตัวผู้ต้องขังในคดีการเมือง เพื่อยืนยันว่าศาลต้องคืนสิทธิในการประกันตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข​

โดยกิจกรรม #ยืนหยุดทรราชll จะจัดต่อเนื่องในทุกๆ วันเสาร์ เวลา 17.00-18.12 น. ที่ลานท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ จนกว่าประชาชนที่ถูกคุมขังจะได้รับการปล่อยตัว โดยสามารถไปร่วมกันยืนแสดงออกร่วมกันได้ตามวันและเวลาดังกล่าว​

“เราคิดเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากจะบอกว่ามันไม่ถูกต้อง และมันไม่ถูกต้องเลยที่ศาลจะไม่คืนสิทธิในการประกันตัวให้แก่ผู้ต้องหาที่ยังไม่ถูกตัดสินเลย มันเป็นกระบวนการยุติธรรมที่มันบิดเบี้ยว ใช้ไม่ได้แล้ว เราไม่รู้เราจะพึ่งพาใครได้ในเรื่องแบบนี้”​

รจเรข วัฒนพาณิชย์​

“สุดท้ายแล้วศาลจะต้องรับผิดชอบ คำถามนี้ไม่น่าจะต้องเป็นคำถามในศตวรรษที่ 21 ​ศตวรรษที่ 21 เราควรจะไปสร้างอาณานิคมในต่างดาว เราควรจะขับโมบิลสูทกันดั้ม อันนี้คือคำถามของชุดการต่อสู้ของยุคกลาง”​

วุฒิชัย พากดวงใจ​

“มันไม่ใช่เรื่องการคืนสิทธิ สิทธิการประกันตัวอยู่ในกฎหมาย ตามกฎหมายมีเหตุผลอยู่ 2 – 3 ข้อเท่านั้นเอง หนึ่งกลัวหลบหนี สองกลัวยุ่งกับพยานหลักฐาน ประเด็นจึงไม่ใช่เรื่องการคืนสิทธิ ประเด็นคือศาลต้องปฎิบัติตามกฎหมาย สิ่งที่ศาลทำอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นการปฎิบัติตามกฎหมาย เป็นการละเมิดกฎหมาย ศาลตีความกฎหมายและก็ออกกฎหมายเอง เป็นการบัญญัติกฎหมายโดยศาล อย่างกรณีเอกชัยโดนจำคุก 1 ปี โดยศาลอุทธรณ์และศาลไม่ให้ประกันตัว ประเด็นคือเอกชัยมีคดีกับศาล 30 กว่าคดี หลายคดีเป็นคดีที่เขาฟ้อง เขาเป็นโจทก์ที่ฟ้องรัฐ บางคดีเขาก็เป็นเสียหาย รถเขาถูกเผา เขาถูกทำร้ายตั้ง 7 – 8 รอบ เขาเป็นโจทก์ตั้งหลายคดี เขาจะหนีทำไม ​
ประเด็นคือศาลไม่ทำตามกฎหมาย”​

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์​

“ผมคิดว่าการกระทำของศาลหรือกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมามันเห็นได้ชัดว่าเขาไม่ได้เคารพสิทธิ และก็ไม่ได้ใช้หลักวิชาที่ตนเองเรียนมา มีอคติ และมีความเชื่อทางการเมือง เขาถึงถูกตั้งคำถามว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง ผมคิดว่าในกระบวนการทั้งหมดของศาล มันน่าจะมีคนที่ไม่เห็นด้วย แล้วทำไมเขายังไม่ออกมา”​

นิวัตร สุวรรณพัฒนา​

เรื่องและภาพ: วรรณา แต้มทอง​

#หยุดละเมิดสิทธิประกันตัว​
#ยกเลิก112​
#Lanner

ตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 33 แรงงานข้ามชาติแถลงเตรียมยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “ม.33 เรารักกัน”​

20/05/2022

วันนี้ 19 พฤษภาคม 2565 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา HRDF Anti-Labor Trafficking (HRDF) และตัวแทนผู้ประกันตน ได้แถลงเตรียมยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ณ ห้อง American Conner ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่​

โดยทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ได้แถลงถึงที่มาที่ไปในการยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องว่า สืบเนื่องจากกรณี โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชย ให้แก่ภาคประชาชนฯ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ.2563โดยการเสนอของกระทรวงแรงงาน ได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 มีข้อกำหนดให้ผู้มีสิทธิตามโครงการฯเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มี “สัญชาติไทย” เท่านั้น ส่งผลให้ผู้ประกันตนที่ “ไม่มีสัญชาติไทย” ไม่มีสิทธิรับการช่วยเหลือเยียวยา แม้เป็นผู้ประกันตน และได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดเช่นเดียวกับผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทย ตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติจึงดำเนินการร้องเรียนความไม่เป็นธรรมกรณีโครงการ ม.33 เรารักกัน เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติขัดต่อกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน​

ภายหลัง ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยว่าโครงการ “ม.33 เรารักกัน” มิได้ขัดต่อ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคสาม ได้บัญญัติห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะความแตกต่างในเรื่อง “เชื้อชาติ” เท่านั้น มิได้หมายรวมถึง “สัญชาติ” ดังนั้น การที่โครงการฯ กำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิไว้ว่าต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้นจึงมิได้มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะความแตกต่างในเชื้อชาติ แต่ทั้งนี้ ตัวแทนผู้ประกันตนฯ ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่าโครงการ ม.33 เรารักกัน ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564​

ต่อมา 10 มกราคม 2565 ตัวแทนผู้ประกันตนฯ ได้รับแจ้งคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา โดยแจ้งว่าโครงการ “ม.33 เรารักกัน” เป็นโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี กรณีความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอื่น ด้วยเหตุนี้ตัวแทนผู้ประกันตนฯ จึงจะดำเนินการต่อไปโดยการยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ที่มีส่วนร่วมในการกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิตามโครงการฯที่ต้องมี “สัญชาติไทย” เท่านั้น เพื่อขอให้ศาลปกครอง ที่มีอำนาจอิสระ ตามแบบแม่บทประชาธิปไตย ในการพิจารณาและมีคำพิพากษาเพิกถอนการกระทำที่มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และกฎหมายสิทธิมนุษยชนมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อให้สร้างบรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms) ที่ให้มีการเคารพหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และสร้างรากฐานหลักการแบ่งแยกอำนาจที่มิยอมให้มีองค์กรหนึ่งองค์กรใดใช้อำนาจของรัฐ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) เพียงองค์กรเดียว​

ดังนั้น เนื่องจากเดือนพฤษภาคมนี้เป็นเดือนที่มีความหมายต่อการเรียกร้องของขบวนการแรงงานเพื่อให้ได้ซึ่งสิทธิ และสวัสดิการ ของแรงงานดังนั้นมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและตัวแทนผู้ประกันตน จึงมีกำหนดการไปยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้เพิกถอนฟ้องเพิกถอนการกำหนดคุณสมบัติสัญชาติไทย ในการเยียวยาผลกระทบจากโรคโควิด – 19 ตามโครงการม.33 เรารักกันในวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 นี้​

ด้านตัวแทนผู้ประกันตน จาม่อง ลุงมู กล่าวว่า ”ถ้าการเมืองดีประชาชนไม่ต้องแสวงหาในสิ่งที่มันดี แต่ในตอนนี้ ทุกชนชั้นในสังคมล้วนได้รับผลกระทบ รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติและบุคคลไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติต้องถือเอกสารมากมาย ในขณะที่คนไทยถือเพียงบัตรประชาชน มีขั้นตอนการดำเนินการเงื่อนไขต่างๆเยอะแยะมากมายเพื่อให้ได้มาซึ่งการทำงานและเข้าถึงประกันสังคม แต่ในวันนึงคุณได้ตั้งเงื่อนไขการให้ ม.33 มาเพื่อจะตัดคนกลุ่มนี้ออกไป พวกเราเป็นแรงงานหลักแต่ในวันที่วิกฤตกลุ่มเรากลับไม่ได้รับการเยียวยา ​ ผมสร้างสังคมผมขับเคลื่อนประเทศ คุณจะไม่มีวันเข้าใจความรู้สึกพวกเราเลยถ้าคุณยังถือบัตรประชาชนเพียงใบเดียว นี่เป็นสาเหตุที่ผมต้องออกมาเรียกร้องในส่วนของตรงนี้”​

ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ คุณไซ ควม วิน อธิบายว่าตนมีโอกาสได้เห็นกลุ่มคนที่ทำงานแรงงานตามแคมป์ก่อสร้างสถานที่ต่างๆ การที่ไม่ได้รับการเยียวยามันเหมือนคนเหล่านี้ถูกลืม วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ไม่มีงานไม่มีรายได้ และเห็นว่าไม่มีใครควรถูกลืมและควรได้รับ ม.33 ​

วรีภรณ์ จากทีมนักกฎหมายแม่สอด อธิบายเพิ่มว่า ตัวคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานสร้างผลกระทบต่อแรงงานเป็นวงกว้าง ม.33 จะสามารถช่วยลดช่องว่างชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานไร้สัญชาติในช่วงวิกฤตโควิดได้ การจ้างงานชายแดนภายในระยะเวลาสามเดือนถือเป็นอีกหนึ่งการเข้าถึงประกันสังคมแต่ในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมาแรงงานได้ผลกระทบแต่กลับไม่ได้รับการเยียวยา พอหมดสัญญาสามเดือนจากการปิดด่านพรมแดนทำให้เเรงงานไม่สามารถเดินทางได้ ทำให้ปัญหาเกิดความชัดขึ้น ม.33 สามารถลดช่องว่างการใช้ชีวิตของแรงงานได้ เพราะแรงงานเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ​

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย​

#lanner​
#ม33เรารักกันแต่ฉันถูกลืม​
#section33weneverbeenloved

ราษฎรเชียงราย รำลึกวีรชน 19 พฤษภา 53 คนยิงยังลอยหน้า คนสั่งฆ่ายังลอยนวล​

20/05/2022

วันที่ 19 พฤษภาคม เวลา 20.00 น. บริเวณแยกหอนาฬิกาฯ ถนนบรรพปราการ เทศบาลนครเชียงราย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย กลุ่ม ราษฎรเชียงราย จัดกิจกรรมร่วมรำลึก 12 ปี 19 พฤษภาอำมหิต ราษฎรเชียงราย ร่วมจุดเทียนรำลึกถึงวีรชนผู้เสียชีวิต โดยกิจกรรมมีการรวมตัวกันกล่าวคำปราศรัยช่วงสั้นๆ เพื่อรำลึกถึงผู้สูญเสียในเหตุการณ์กระชับพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ต่อการชุมนุมของกลุ่มประชาชนชาวเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่ แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ โดยหลังจากนั้นมีการผูกริบบิ้นสีแดง ซึ่งกิจกรรมเป็นด้วยความสงบ ​

โดยนายสราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์ แกนนำกลุ่มราษฎรเชียงราย กล่าวว่า “กิจกรรมในวันนี้เป็นการรำลึกถึงวันที่ 19 พฤษภาคมที่เป็นเหตุทำให้มีเสียชีวิตและได้รับผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมากโดยส่วนหนึ่งเป็นชาวเชียงรายด้วย ทั้งนี้เรารำลึกเพื่อไม่ให้เกิดการลืมเพราะการลืมคนตายเป็นการฆ่าเขาเป็นรอบที่ 2”​

ภาพ:ท้องถิ่นนิวส์​

#Lanner​
#รำลึก12ปีพฤษภา53