Home Blog Page 3

‘แข่งกันเอง-ตายไปเอง’ ภาพสะท้อนขนส่งสาธารณะภาคเหนือ: 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนรถโดยสารใน 17 จังหวัดภาคเหนือลดลงแค่ไหน?

เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา


Summary

  • ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566) จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางในภาคเหนือมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยลดลงจาก 17,308 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 11,852 คัน ในปี 2566 ซึ่งคิดเป็นการลดลงถึง 5,456 คัน (31.5%) ภายใน 5 ปี หรือลดลงเฉลี่ยปีละกว่า 6.3%
  • หากมองภาพรวมของภาคเหนือในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทุกจังหวัดในภูมิภาคต่างก็กำลังประสบกับสถานการณ์การลดลงของจำนวนรถโดยสารอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดที่เคยมีรถโดยสารมาก หรือจังหวัดที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้วก็ตาม
  • ในบรรดา 17 จังหวัดภาคเหนือ ‘จังหวัดน่าน’ ครองอันดับหนึ่งด้วยตัวเลขของจำนวนรถโดยสารที่ ‘ลดลงเกินครึ่งหนึ่ง’ ของจำนวนเดิมเดิมที่เคยมีในปี 2562 ขณะที่แม่ฮ่องสอน พะเยา และเพชรบูรณ์ เป็นอีกกลุ่มที่ประสบปัญหาในระดับใกล้เคียงกัน โดยลดลงเกือบ 50% ของจำนวนรถที่เคยให้บริการ สำหรับจังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่ ตัวเลขแสดงให้เห็นว่า จำนวนรถโดยสารลดลงราว 1 ใน 4 ของจำนวนที่เคยมี
  • อีกด้านหนึ่ง ‘จังหวัดตาก’ ครองอันดับสุดท้ายในสถานการณ์นี้ แม้จะลดลงในสัดส่วนที่น้อยที่สุดเพียง 22.5% แต่ตัวเลขก็ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัด เช่นเดียวกันกับเชียงรายและพิษณุโลก ซึ่งเป็นกลุ่มเมืองหลักภายในภูมิภาค ก็ยังไม่รอดพ้นจากสถานการณ์นี้ โดยรถโดยสารในสองจังหวัดนี้ลดลงไปกว่า 30% ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา ส่วน ‘แม่ฮ่องสอน’ ซึ่งมีจำนวนรถโดยสารน้อยที่สุดในภาคเหนือมาตั้งแต่ต้น ก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จนตัวเลขที่น้อยอยู่แล้วลดน้อยลงไปอีก

“ปล่อยให้แข่งขันกันเอง และล้มหายตายจากไป”

ประโยคนี้ไม่ได้สะท้อนเพียงแค่ความเป็นจริงของ ‘ระบบขนส่งสาธารณะ’ และ ‘กึ่งสาธารณะ’ ในเชียงใหม่ แต่ยังสะท้อนถึงภาพรวมของทุกจังหวัดในภาคเหนือที่กำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกัน.. ผู้ประกอบการขนส่งที่ค่อยๆ ลดจำนวนลง ส่งผลให้ระบบขนส่งสาธารณะในภูมิภาคนี้ค่อยๆ เลือนหายไปจากชีวิตผู้คน การพึ่งพา ‘รถส่วนตัว’ จึงกลายเป็นทางเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับประชาชนในหลายพื้นที่

ต่อเนื่องจากรายงาน เชียงใหม่เมืองยานยนต์ ถนนน้อย ไร้ขนส่งมวลชน คำถามที่น่าสนใจถัดมาคือ “แล้วสถานการณ์จริงของจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือเป็นยังไง? จะเหมือนเชียงใหม่หรือเปล่า?” เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ในรายงานนี้จึงจะขอชวนทุกคนมาสำรวจข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับ ‘จำนวนรถโดยสาร’ ของอีก 17 จังหวัดภาคเหนือ ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566) จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางของจังหวัดเหล่านี้ลดลงมากน้อยแค่ไหน?

จำนวนรถโดยสารในภาคเหนือ 2562 – 2566
ประเภทรถ25622563256425652566
รถโดยสารประจำทาง8,1237,0787,7187,8596,921
รถโดยสาไม่ประจำทาง9,1857,5005,8505,4414,931
รวม (คัน)17,30814,57813,56813,30011,852
ที่มา: กรมการขนส่งทางบก

หากพิจารณาข้อมูลจำนวนรถโดยสารในภาคเหนือตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ตามตารางข้างต้น เราจะพบกับความจริงที่น่าตกใจว่า ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566) จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางในภาคเหนือมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยลดลงจาก 17,308 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 11,852 คัน ในปี 2566 ซึ่งคิดเป็นการลดลงถึง 5,456 คัน (31.5%) ภายใน 5 ปี หรือลดลงเฉลี่ยปีละกว่า 6.3%

เมื่อเจาะลึกลงมาดูรายจังหวัด ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางใน 17 จังหวัดภาคเหนือ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยจังหวัดที่ประสบกับการลดลงมากที่สุด คือ ‘น่าน’ ซึ่งตัวเลขรถโดยสารลดลงจาก 414 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 219 คัน ในปี 2566 คิดเป็นการลดลงถึง 195 คัน (47.1%) หรือเฉลี่ยปีละ 9.4%

แม่ฮ่องสอน ครองอันดับสอง แม้จะเริ่มต้นด้วยจำนวนรถที่ค่อนข้างน้อยเพียง 179 คันในปี 2562 แต่ในปี 2566 จำนวนรถลดลงเหลือ 104 คัน ลดลงถึง 75 คัน (41.9%) หรือเฉลี่ยปีละ 8.4% เช่นเดียวกับ พะเยา ที่จำนวนรถโดยสารลดลงจาก 423 คัน เหลือเพียง 247 คัน คิดเป็นการลดลง 176 คัน (41.6%) หรือเฉลี่ยปีละ 8.3%

เพชรบูรณ์ อยู่ในอันดับสี่ ด้วยจำนวนรถที่ลดลงจาก 670 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 399 คันในปี 2566 ลดลง 271 คัน (40.5%) หรือเฉลี่ยปีละ 8.1% ขณะที่ เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดเมืองหลักของภาคเหนือ ก็ไม่สามารถหลีกหนีปัญหานี้ได้ แม้จะมีระบบขนส่งหลากหลาย แต่จำนวนรถโดยสารลดลงจาก 1,773 คัน เหลือเพียง 1,129 คัน คิดเป็นการลดลง 644 คัน (36.3%) หรือเฉลี่ยปีละ 7.3%

ในจังหวัดอื่นๆ เช่น แพร่ จำนวนรถลดลงจาก 377 คัน เหลือ 244 คัน คิดเป็นการลดลง 133 คัน (35.3%) หรือเฉลี่ยปีละ 7.1% ส่วน พิจิตร ลดลงจาก 268 คัน เหลือ 175 คัน หรือลดลง 93 คัน (34.7%) เฉลี่ยปีละ 6.9% เช่นเดียวกับ เชียงใหม่ ที่ลดลงจาก 7,301 คัน เหลือเพียง 4,770 คัน คิดเป็นการลดลงถึงกว่า 2,531 คัน (34.7%) หรือลดลงเฉลี่ยปีละ 6.9% และ สุโขทัย ลดลงจาก 444 คัน เหลือ 295 คัน คิดเป็นการลดลง 149 คัน (33.5%) หรือเฉลี่ยปีละ 6.7%

นครสวรรค์ ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคเหนือ ก็ประสบปัญหาเช่นกัน โดยจำนวนรถลดลงจาก 1,183 คัน เหลือเพียง 801 คัน ลดลง 382 คัน (32.3%) หรือเฉลี่ยปีละ 6.5% ส่วน กำแพงเพชร ลดลงจาก 509 คัน เหลือ 345 คัน หรือลดลง 164 คัน (32.2%) เฉลี่ยปีละ 6.4%

แม้กระทั่ง พิษณุโลก ซึ่งถือเป็นเมืองหลักที่สำคัญในภูมิภาค ก็เผชิญกับการลดลงถึง 27.8% (จาก 713 คัน เหลือ 515 คัน ลดลง 198 คัน) หรือเฉลี่ยปีละ 5.6% เช่นเดียวกับ อุทัยธานี ที่ลดลงจาก 418 คัน เหลือ 302 คัน ลดลง 116 คัน (27.8%) หรือเฉลี่ย 5.6% ต่อปี และ อุตรดิตถ์ ที่ลดลงในสัดส่วนใกล้เคียงกันคือ จาก 357 คันเหลือ 258 คัน ลดลง 99 คัน (27.7%) หรือเฉลี่ย 5.5% ต่อปี

สำหรับ ลำพูน จังหวัดอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งในภาคเหนือ ตัวเลขรถโดยสารลดลงจาก 439 คัน เหลือ 319 คัน คิดเป็นการลดลงจำนวน 120 คัน (27.3%) หรือเฉลี่ยปีละ 5.4% ขณะที่ ลำปาง ลดลงจาก 1,022 คัน เหลือเพียง 753 คัน หรือลดลง 269 คัน (26.3%) เฉลี่ยปีละ 5.3%

สุดท้ายคือ ตาก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนไทย-เมียนมา แม้จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่จำนวนรถโดยสารยังคงลดลงจาก 818 คัน เหลือ 634 คัน หรือลดลง 184 คัน (22.5%) เฉลี่ยปีละ 4.5%

จากภาพรวมจะเห็นได้ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเมืองหลักอย่างเชียงรายและพิษณุโลก หรือจังหวัดที่มีจำนวนรถโดยสารน้อยอย่างแม่ฮ่องสอน ทุกพื้นที่ต่างประสบกับการลดลงอย่างต่อเนื่องชัดเจน

โดยในบรรดา 17 จังหวัด ‘จังหวัดน่าน’ ครองอันดับหนึ่งด้วยตัวเลขของจำนวนรถโดยสารที่ ‘ลดลงเกินครึ่งหนึ่ง’ ของจำนวนเดิมเดิมที่เคยมีในปี 2562 ขณะที่แม่ฮ่องสอน พะเยา และเพชรบูรณ์ เป็นอีกกลุ่มที่ประสบปัญหาในระดับใกล้เคียงกัน โดยลดลงเกือบ 50% ของจำนวนรถที่เคยให้บริการ สำหรับจังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่ ตัวเลขแสดงให้เห็นว่า จำนวนรถโดยสารลดลงราว 1 ใน 4 ของจำนวนที่เคยมี

ในอีกด้านหนึ่ง ‘จังหวัดตาก’ ครองอันดับสุดท้ายในสถานการณ์นี้ แม้จะลดลงในสัดส่วนที่น้อยที่สุดเพียง 22.5% แต่ตัวเลขก็ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัด เช่นเดียวกันกับเชียงรายและพิษณุโลก ซึ่งเป็นกลุ่มเมืองหลักภายในภูมิภาค ก็ยังไม่รอดพ้นจากสถานการณ์นี้ โดยรถโดยสารในสองจังหวัดนี้ลดลงไปกว่า 30% ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา ส่วน ‘แม่ฮ่องสอน’ ซึ่งมีจำนวนรถโดยสารน้อยที่สุดในภาคเหนือมาตั้งแต่ต้น ก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จนตัวเลขที่น้อยอยู่แล้วลดน้อยลงไปอีก

ทำไมขนส่งสาธารณะในหลายที่ติดหล่ม-ถดถอย? 

ศุภกร ศิริสุนทร ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจในบทความ ‘กับดักทางความคิด ที่ทำให้ขนส่งสาธารณะไทยติดหล่ม’ ว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญมาจากการที่รัฐมองขนส่งสาธารณะเป็นเพียงแค่ ‘ธุรกิจบริการ’ การจัดการระบบขนส่งสาธารณะจึงมักถูกดำเนินการผ่านระบบสัมปทาน ซึ่งเน้นให้เอกชนเข้ามาประมูลแข่งขันกัน โดยรัฐไม่ได้เข้ามาจัดการหรือกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลที่ตามมาคือ ระบบขนส่งสาธารณะในไทยติดอยู่ในวังวนของคุณภาพที่ไม่สมดุลกับราคา ระบบที่พอมีคุณภาพดีมักมีค่าโดยสารที่แพงจนคนทั่วไปเอื้อมไม่ถึง ขณะที่ระบบที่ค่าโดยสารถูก คุณภาพการให้บริการกลับต่ำจนน่าผิดหวัง เพื่อให้เอกชนยังคงทำกำไรได้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบสัมปทานที่ไม่สามารถควบคุมราคาและคุณภาพได้อย่างเหมาะสม

ยิ่งไปกว่านั้น การควบคุมคุณภาพในด้านอื่นๆ เช่น ความถี่ของการให้บริการ หรือแม้แต่การปรับปรุงเส้นทางให้สอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชน ก็ทำได้ยากเช่นกัน

เมื่อผู้ประกอบการขนส่งทั้งสาธารณะและกึ่งสาธารณะทยอยล้มหายตายจากไป สิ่งที่หายตามไปด้วยคือ จำนวนรถโดยสารที่ลดลงอย่างน่าใจหาย ข้อมูลข้างต้นสะท้อนภาพที่ชัดเจนว่า รถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางในหลายพื้นที่เหล่านี้ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งที่บางจังหวัดมีจำนวนประชากรไม่น้อย และบางจังหวัดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ การมีรถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้นควรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการในการเดินทางของประชาชน

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่บริการเหล่านี้กำลังค่อยๆ ทยอยหายไปอย่างเงียบๆ หากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินเช่นนี้ต่อไป ในอนาคตเมื่อไม่มีขนส่งสาธารณะที่เพียงพอรองรับในการเดินทางในตัวเมือง สิ่งที่เราต้องเผชิญอาจหนีไม่พ้นปัญหารถติดเต็มถนนและมลพิษทางอากาศที่จะกลายเป็นวิถีชีวิตที่ทุกคนเลี่ยงไม่ได้..


อ้างอิง

‘MMN’ เปิดเวทีฟังเสียงคนย้ายถิ่น ร้องรัฐไทยต้องคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ

เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ Mekong Migration Network (MMN) จัดงานเสวนา “Neighbours in Need : การย้ายถิ่นจากเมียนมา” และนิทรรศการภาพถ่ายและเรื่องราวของแรงงานข้ามชาติ เพื่อสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบของสงครามกลางเมืองในเมียนมา และแนวทางในการส่งเสริมความปลอดภัยให้กับผู้ย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นฐานสากล (18 ธ.ค. 2568) ณ ห้องประชุมธนี พหลโยธิน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แจ็คกี้ พอลล็อค, ดร.ศิรดา เขมานิฐทัย, บราห์ม เพรส, อีฟ และวา กุ ชิ (ซ้ายไปขวา)

ในวงเสวนาได้มีการพูดถึงสถานการณ์เกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานจากเมียนมาในปัจจุบัน โดยมี แจ็คกี้ พอลล็อค ตัวแทนจาก MMN เป็นผู้ดำเนินรายการ

บราห์ม เพรส ผู้อำนวยการมูลนิธิ MAP Foundation

บราห์ม เพรส ผู้อำนวยการมูลนิธิ MAP Foundation เล่าถึงประเด็นหัวข้อการย้ายถิ่นแบบผสม และงานที่ไม่มั่นคง โดยยกตัวอย่างในภาคการเกษตรว่า ในการทำเกษตรของประเทศไทยเราต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติค่อนข้างเยอะ แต่ด้วยปัญหาในแง่กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อแรงงานข้ามชาติ และปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบในการทำงานเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อความมั่นคงในงานของแรงงานข้ามชาติในไทย

อีฟ ตัวแทนจากสมาคมแรงงานยองจีอู (YCOWA)

ด้าน อีฟ ตัวแทนจากสมาคมแรงงานยองจีอู (YCOWA) ได้กล่าวถึงผลกระทบต่อสภาพการจ้างงานในอำเภอแม่สอดว่า มีแรงงานข้ามชาติในแม่สอดที่ถูกกดขี่ และเอาเปรียบโดยที่เขาไม่สามารถต่อสู้กับปัญหานี้ได้ เพราะการที่แรงงานข้ามชาติไม่มีเอกสารมายืนยันสถานะ ทําให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในสวัสดิการต่างๆ ได้และต้องติดอยู่ในกับดักของการเป็นทาสในโลกสมัยใหม่ จนนําไปสู่การละเมิดสิทธิแรงงาน วนไปอยู่ในวงจรความยากจนต่อไป และเธอยังมองว่า สิ่งที่เราจะช่วยเหลือพวกเขาได้ คือการช่วยเหลือเขาทั้งในด้านมนุษยธรรม แล้วก็ในเชิงกฎหมาย

นอกจากนั้นในวงสนทนายังมีการพูดคุยและนำเสนอประเด็นที่ผู้ย้ายถิ่นฐานชาวเมียนมาต้องพบเจอในไทยจากการที่ไม่มีสัญชาติ พร้อมทั้งผลักดันให้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหานี้

วัศพล ลุงปัน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตัวแทนผู้ย้ายถิ่นฐานชาวเมียนมา

“พ่อแม่เราอพยพมาก่อนที่เขาจะมีเรา เราเกิดและโตมาในประเทศไทย เรียนหนังสือก็เรียนที่นี่ แต่เราเป็นคนที่ไม่มีสัญชาติ ไม่มีเลขบัตรประชาชน การทำธุรกรรมการเงินมันก็ยาก เราไม่สามารถเปิดบัญชีได้อย่างปกติ ถูกจำกัดให้เปิดได้แค่บัญชีออมทรัพย์ในโรงเรียนที่ฝากได้แต่ถอนออกมาใช้ไม่ได้ แล้วเรื่องการศึกษา ถ้าเราอยากกู้ยืมเพื่อการศึกษามันก็ทำไม่ได้ เพราะว่าเราไม่มีสัญชาติ เราอยากให้มีการแก้ไขกฎหมายตรงนี้ได้จริง อยากให้เราขอสัญชาติได้จริงโดยไม่ต้องใช้เงื่อนไขและเวลาเยอะขนาดนี้”

วัศพล ลุงปัน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตัวแทนผู้ย้ายถิ่นฐานชาวเมียนมาที่เข้าร่วมงานเล่าว่า เขาเกิดและโตในไทย มากว่า 22 ปี ปัจจุบันยังคงไร้สัญชาติ และถือบัตรผู้ไม่มีสัญชาติของไทย ด้วยเหตุผลนี้ทำให้การใช้ชีวิตในไทยของเขานั้นดำเนินไปด้วยความลำบาก ทั้งในแง่ของการที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานได้เท่าที่ควร ความยากลำบากในการทำธุรกรรมต่างๆ 

อาทิตย์ แผ่บุญ ผู้ย้ายถิ่นฐานชาวไทใหญ่ และผู้ประสานงานเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

“เข้ามาในเมืองไทยเกือบ 30 ปีแล้ว รู้สึกว่ามันยากมากกับการใช้ชีวิตในเมืองไทยโดยที่เราไม่มีสัญชาติ แม้เราจะมีบัตรที่ช่วยให้สามารถมีสิทธิเข้ารับสวัสดิการบางอย่าง เช่น การรักษาพยาบาล หรือการศึกษา แต่เรามองว่าความจำเป็นในการดำรงชีวิตของเรามันมีมากกว่านั้น”

อาทิตย์ แผ่บุญ ผู้ย้ายถิ่นฐานชาวไทใหญ่ และผู้ประสานงานเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เล่าคล้ายกันว่า ข้อจำกัดของผู้ย้ายถิ่นฐานในไทยส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการ ส่วนปัญหาที่เขามองว่าเป็นข้อจำกัดที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเขามากที่สุดคือการที่เขาต้องยืนยันตัวตนในเรื่องการเดินทาง เพราะว่ากฎหมายยังจำกัดสิทธิในการเดินทางของคนที่ไม่มีสัญชาติไทยอยู่ โดยเขาเล่าว่าในการเดินทางออกนอกจังหวัดที่อาศัยอยู่ เขาจะต้องยื่นขอใบอนุญาตเดินทางทุกครั้ง แม้จะไปแค่จังหวัดใกล้ๆ ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากเพราะต้องเสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปขอเอกสารค่อนข้างเยอะ

“สถานะของเราตอนนี้เราเป็นคนที่อยู่ในประเทศไทย ในราชอาณาจักร อย่างไม่ถูกกฎหมาย เราอยู่ได้ตามเงื่อนไขของ ครม. ซึ่งถ้าวันไหนที่เขายกเลิกขึ้นมา เราและกลุ่มคนไร้สัญชาติก็มีโอกาสที่จะถูกให้ออกจากประเทศได้ทุกเมื่อ ซึ่ง ถ้าถามว่าเราย้ายกลับประเทศต้นทางได้ไหม ตอนนี้เรากลับไปมันก็ไม่มีอะไรให้เราอีกแล้ว เราไม่เหลืออะไรเลย”

“ความคิดเห็นเกี่ยวกับมติครม. เมื่อ 29 ตุลาที่ผ่านมา เรามองว่ามันเป็นก้าวที่สำคัญ แล้วเราก็รู้สึกดีใจที่รัฐบาลมองเห็นและพยายามเร่งรัดแก้ไขปัญหานี้ เราก็รู้สึกว่ามีความหวังกับมัน แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันจะช้าแบบที่ผ่านมาหรือเปล่า เพราะเรารอมันมานานมากแล้วจริงๆ”

“ความหวังสูงสุดของเราคือการเป็นคนไทย เราอยู่ในสังคมนี้ เราเรียกที่นี่ว่าบ้าน เรามีครอบครัว มีทุกอย่างอยู่ที่นี่ แต่เรากลับไม่มีความมั่นคงอยู่ที่นี่เลย”   

ปากคำชาวนาชาวไร่ในความทรงจำ การต่อสู้ทางวัฒนธรรม ถึงราษฎรร่วมสมัย

เรียบเรียง : ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ

แม้การเกิดขึ้นของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในภาคเหนือจะมีปัจจัยทางด้านการต่อสู้เรื่องที่ดิน และการเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 แต่เสียงจากชาวบ้านร่วมสมัยแสดงอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เห็นมุมมองของชาวบ้านต่อการเกิดขึ้นของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่คือ 

ชาวไร่ชาวนาขโมยทั้งวัวควาย และที่หนักไปกว่าเก่าคือลักขโมยข้าวแช่ มันทุกข์ยากขนาดไหน ถ้าครอบครัวไหนข้าวไม่พอกิน ก็ต้องไปยืมข้าวเจ้าของนา ปัจจัยพวกนี้ผมคิดว่าเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่” สมศักดิ์ โยอินชัย ชาวนาภาคเหนือ เมื่อปี 2517 ช่วงการเกิดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ สมศักดิ์เรียนอยู่ชั้นประถม 7

เราจึงชวนมาทบทวนความทรงจำ ผ่านงานรำลึก 50 ปี ชาวนาชาวไร่เมื่อวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2567 ที่คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ จากบทบาทและการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ในพื้นที่ชนบท และนักเขียนบรรณาธิการและคนทำงานสร้างสรรค์ในพื้นที่เมืองทั้งรุ่นเก่าใหม่มาเล่าสู่กันฟังเพื่อส่งต่อการเคลื่อนไหวต่อไป

ความทรงจำของขบวนการชาวนาชาวไร่

รังสรรค์ แสนสองแคว สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า “การเคลื่อนไหวช่วง 14 ตุลาฯ เป็นเรื่องค่าเช่านา เหมืองแร่ มีอยู่สองที่ที่แม่วาง (เชียงใหม่) และแม่เลียง (ลำปาง) ช่วงนั้นผมไปเคลื่อนไหวหลายที่ ที่แม่สะปวด (ลำพูน) มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน และชนะจนสั่งเพิกถอนเขื่อนไป ผมก็ย้ายไปที่แม่เลียง ไปอยู่ประจำเป็นอาทิตย์ๆ มีการชุมนุมและมีการปะทะกันระหว่างชาวบ้านและคนในเหมือง จนมีคนเสียชีวิตเกือบ 10 คน หลังจากมีการเพิกถอนสัมปทาน ผู้นำเรา (ผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่) ก็ถูกยิงตาย”

รายงานข่าวลอบสังหารอินถา ศรีบุญเรือง ในหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ฉบับวันที่ 1-4 สิงหาคม 2518. อ้างอิงในบทความจากประชาไท https://prachatai.com

ในยุคสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ประเด็นที่หมู่เฮาได้คือ กฏหมายค่าเช่านาปี 2517 และยังใช้กันอยู่จนถึงทุกวันนี้ซึ่งเป็นคุณูปการของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ แต่กฏหมายอีกฉบับหนึ่งคือกฏหมาย สปก. (กฏหมายปฏิรูปที่ดิน) ที่ออกมาเมื่อปี 2542 ไม่ได้ทำตามเจตนารมณ์ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ที่เสนอไว้ เจตนารมณ์ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่คือการเอาที่ของเอกชนมาปฏิรูปให้เป็นของเกษตรกร กลไกของการออกกฎหมายของสปก. ไม่ได้มีชาวบ้านไปมีส่วนร่วม คือเอาที่ป่าเสื่อมโทรมไปให้ชาวนาชาวไร่ และไม่ได้ส่งเสริมพัฒนาที่ดิน จนตอนนี้ที่สปก. ส่วนใหญ่ตกอยู่ที่กลุ่มทุน

รังสรรค์ กล่าวถึงปัญหาของชาวนาที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงว่า หลัง 6 ตุลาฯ สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ส่วนหนึ่งขึ้นไปต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)  หลังออกจากป่า ขบวนการปฏิรูปที่ดินยังไม่ตาย เรารวมตัวกันเมื่อปี 2541 ปัญหาก็ไม่ต่างกับในอดีตเลย ยิ่งมีการหลุดมือของที่ดิน ปัญหาภาระหนี้สิน ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ ปัญหาการจัดการทรัพยากรถูกรวบอำนาจและตกอยู่ในมือของกลุ่มทุน 

“หลังจากนั้นเฮาก็เลยตั้งกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรขึ้นมาใหม่คือ แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือในปี 2541 ในช่วงนี้เราเคลื่อนไหวใน 4 จังหวัดภาคเหนือ มีโครงสร้างองค์กร ในปี 2542 เกิดเครือข่ายหลายเคลือข่ายในภาคเหนือ อย่างเครือข่ายป่าชุมชน และเกิดเป็นขบวนการยึดที่ดินเกิดขึ้นเมื่อปี 2543 เพราะลำพูน เชียงใหม่ลุกเป็นไฟ” รังสรรค์ กล่าว

ด้าน รศ.รังสรรค์ จันต๊ะ เล่าเพิ่มในบทบาทของนักศึกษา พวกเราเป็นนักศึกษาก็ออกพื้นที่ชนบทเพราะช่วง 14 ตุลาฯ เกิดการเคลื่อนไหวของนักศึกษา พวกเราไปลงพื้นที่ในหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ที่แม่เลียงก็ไป และรัฐก็เริ่มจัดการกับผู้นำชาวนา ฝั่งพวกผมหลายคน ก่อนช่วง 6 ตุลาฯ เลยตัดสินใจเข้าป่ากันหมด เข้าไป 5 ปี พรรคมีปัญหาหลายอย่างเลยตัดสินใจออกมา

จีรวรรณ โสดาวัฒน์ อดีตกลุ่มนักเรียนที่เคลื่อนไหวในนามมังกรน้อย ช่วง 14 ตุลาฯ -6 ตุลาฯ กล่าวว่า “จากบทเรียนที่ผ่านมามันมีผลต่อชีวิตมาก ช่วง 14 ตุลาฯ อยู่ มศ.1 ที่บ้านเป็นชาวนายากจน พ่อเป็นตัวแทนชาวนายากจนที่ต่อสู้ และได้รับความกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ หลายอย่างเช่น ต้มเหล้าขายเพื่อส่งลูก ค่าเทอมเขาก็เอาไม้แหลมมาแทงโอ่ง มันก็แตกหมด พอมีนักศึกษามาเผยแพร่สิทธิเสรีภาพ พ่อเราก็ไปกับเขาเพราะโดนกดมาเยอะมาก ตั้งแต่นั้นก็ไปทุกที่ในภาคเหนือกับนักศึกษา เพื่อเรียกร้องกฎหมายค่าเช่านาจนได้สมาชิกกว่าหมื่นครอบครัวในภาคเหนือ”

ช่วงอายุ 14-15 มาเล่นกับพวกนักศึกษาบ่อย เขาเลยพาไปฟังเพลงเพื่อชีวิต ฟังไฮปาร์ค อ่านหนังสือกัน และตั้งกลุ่มมังกรน้อยที่มีกัน 9 คน อันนี้คือการส่งต่อจากพี่ ๆ ต่อลูกหลานชาวนา เป็นเบ้าหลอมจนถึงปัจจุบัน หลังจาก 6 ตุลาฯ ก็อยู่ไม่ได้เพราะพ่อเป็นผู้นำชาวนา เราเลยตัดสินใจเข้าใจเข้าป่า

จากซ้าย รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.รังสรรค์ จันต๊ะ มหาวิทยาลัยแม่โจ้,รังสรรค์ แสนสองแคว สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ,จีรวรรณ โสดาวัฒน์ องค์กรด้านการพัฒนาสังคม, วิไล รัตนเวียงผา ชาวนา อ.ไชยปราการ เชียงใหม่, สมศักดิ์ โยอินชัย อดีตผู้แทนเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

สมศักดิ์ โยอินชัย อดีตผู้แทนเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าวอย่างแหลมคมว่า “ตอนนั้นอยู่ป.7 ปี 2517 และเข้ามศ.1 ตอนปี 2518 มองย้อนกลับไปตอนนั้นผมจำได้ว่าตอนนั้นนักศึกษาเข้าไปช่วยที่บ้านเยอะ คนตำบลตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ต จ.เชียงใหม่ อยากลองทบทวนดูว่าชาวนาชาวไร่มันเป็นยังไง มันมีเพลงจดหมายจากชาวนาที่มีความทุกข์ยาก สะท้อนหลายอย่างว่าชาวนาชาวไร่ยากลำยากมาก ชาวไร่ชาวนาขโมยทั้งวัวควาย และที่หนักไปกว่าเก่าคือลักขโมยข้าวแช่ มันทุกข์ยากขนาดไหน ถ้าครอบครัวไหนข้าวไม่พอกิน ก็ต้องไปยืมข้าวของเจ้าของนา ปัจจัยหนึ่งพวกนี้ผมคิดว่าเป็นปัจจัยหนึ่งในการเกิดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่”

สมศักดิ์ ยังกล่าวต่อว่า “อีกปัจจัยหนึ่งคือการเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มันเกิดสิทธิเสรีภาพมากขึ้น นักศึกษาเข้ามาช่วย โครงการชาวนาเห็นปัญหา เพราะกฏหมายค่าเช่านาอยู่แค่ภาคกลาง ยังไม่ขึ้นมาถึงภาคเหนือ จึงมีการเรียกร้อง และเกิดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่เกิดขึ้น ทำให้ชาวนามีข้าวกิน ชาวนาไม่ต้องลักข้าวแช่ ลูกเมียมีข้าวกิน และไม่ต้องไปยืมข้าวจากเจ้าที่ดิน เป็นคณูปการของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่”

วิไล รัตนเวียงผา ชาวนาจาก อ.ไชยปราการ เชียงใหม่ ยังเน้นย้ำถึงบทบาทของผู้หญิงในการต่อสู้ร่วมกับสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ “แต่ก่อนนี้พ่อเคยต่อสู้เรื่องชาวนา ข้าเจ้าอายุ 17 ปี แต่งงานแล้ว บ้านอยู่ใกล้เขตงาน เขต7/3 ข้าเจ้ามีหน้าที่ดูแลนักศึกษาที่ขึ้นไปอยู่บนดอย ส่งข้าว เอานักศึกษาหญิงเข้ามาซ่อนตัวในบ้าน จนถึงปัจจุบันนี้หลายคนมีความผูกพันซึ่งกันและกัน ในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการทำงานสิทธิในประชาธิปไตย สิทธิชุมชน สิทธิผู้หญิง เคยทำมากับมิตรสหาย เกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงผลประโยชน์ของผู้หญิง”

สมัยพรรคเพื่อไทยขึ้นมาหมู่เฮาก็มีบทบาทในการทำงาน แต่มีเวลาไม่มากในการทำได้ ทำให้เฮาสะท้อนว่า ผู้หญิงก็มีบทบาทมาก ข้าเจ้าก็ส่งข้าวขึ้นไปบนดอยและทำหลายๆ อย่างยากลำบากกันมาก เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนไปเยอะมากเพราะผู้หญิงก็เท่ากับผู้ชายมีความอบอุ่นใจ

การต่อสู้ทางวัฒนธรรม การต่อต้านระเบียบอำนาจจารีตจากชาวนาสู่ราษฎรร่วมสมัย

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งราษฎร์ กล่าวเริ่มนี้ในประเด็นการต่อสู้ทางวัฒนธรรม ว่ามีอยู่นานแล้ว ถ้าหากนำเอา ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ เป็นศูนย์กลางของเรื่อง ไล่ย้อนขึ้นไปว่ามีอะไรเกิดขึ้น ตั้งแต่อดีตจนถึงร่วมสมัย การต่อสู้ของสามัญชนมันเริ่มต้นมานานแล้วก่อน  14 ตุลาฯ จุดเริ่มต้นที่ให้ความสำคัญกับสามัญชนมีมาตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475  เพราะให้ความสำคัญกับเสรีภาพ ความเสมอภาพ และภราดรภาพ มันเป็นความฝันและหวังว่าจะเกิดขึ้น ในลักษณะที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่เป็นเช่นนั้น

หากย้อนขึ้นไปจาก 2475 ก็มีกบฏ 130, มีเทียนวรรณ, หมอบรัดเลย์ ที่สร้างวัฒนธรรมหนังสือ ซึ่งหากไม่มีวัฒนธรรมหนังสือก็ไม่มีการกระจายความเจริญ และความคิดเรื่องสามัญชน ฉะนั้น ถ้าดูความเป็นมาของสยาม คิดว่ามีความเป็นมาของมันในลักษณะที่น่าจะก้าวไปอย่างงอกงาม อย่างน้อยก็ใกล้เคียงกัน และขอให้มีเสรีภาพก่อน แต่ดูเหมือนว่าในประเทศนี้มีอยู่สองชนชั้น คือชนชั้นนำและชนชั้นตาม คนชนชั้นตามก็รวมอยู่กับคนผู้ใช้แรงงานและชาวไร่ชาวนา แต่ไม่อยากใช้คำว่าทาส เพราะมันก็ใช่

สมัยก่อนเท่าที่คุยกับสหายชาวนาชาวไร่เป็นเช่นไร สมัยนี้ก็เป็นเช่นนั้น และสมัยนี้ก็มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนมันยังไม่มีทุนผูกขาด ง่ายๆ ก็คือลักษณะของชาวนามันเปลี่ยนไป มันมีการใช้เกษตรพันธสัญญามันครอบงำและผูกขาด เมื่อก่อนเราต่อสู้กับนายทุน ขุนศึก ศักดินา แต่ในปัจจุบันนั้นมันเปลี่ยนไป นายทุนยังอยู่ มันจะเปลี่ยนไปก็ตรงที่นายทุนจะอยู่ข้างศักดินาหรือเปล่า แต่อยู่ข้างขุนศึกแน่ๆ  จิตร ภูมิศักดิ์เคยพูดในโฉมหน้าศักดินาไทยไว้ว่า

“ประวัติศาสตร์ของเรามันที่ผ่านมานั้นมันกล่าวถึงแต่ชนชั้นศักดินา”

ตอนนี้มันอาจจะเรียกว่าชนชั้นนำก็ได้..

สุชาติ กล่าวถึงบทบาทของสังคมศาสตร์ปริทัศน์ต่อการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นเรื่องชาวนาชาวไร่ไว้ว่า “สมัยที่ผมจบการศึกษาที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเคยมาสมัครเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนั้นมีอีกคนมาสมัครด้วย เขารับอีกคนหนึ่งซึ่งเขาจบปริญญาโท คนนั้นคือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากนั้นเลยเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของผม แล้วก็หันมาทำหนังสือ”

มาทำหนังสือที่สังคมศาสตร์ปริทัศน์มันทำให้ผมได้เรียนรู้สีสันใหม่ๆ หลายอย่าง ผมเข้ามาทำงานที่สังคมศาสตร์ปริทัศน์ช่วงปี 2511 อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ไปทำงานที่อื่นในอีกปีถัดมา จึงให้ผมทำงานแทน Identity ของสังคมศาสตร์ปริทัศน์มันคืออาจารย์สุลักษณ์ การเขียนบทบรรณาธิการที่ดุเดือด ผมเป็นใครมาจากไหนไม่รู้ ไม่เคยเรียนวารสาร แต่เคยทำหนังสือเล่มละบาทอยู่ตอนที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย อาจารย์สุลักษณ์ให้ผมเป็นบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์รุ่นที่สอง สิ่งที่อาจารย์สุลักษณ์สอนในฐานะที่แกเป็นบรรณาธิการคือเรื่อง “เสรีภาพ”

ผมเคยเสนอในช่วงเป็นบรรณาธิการครั้งแรกๆ คือ ฉบับชาวนา ปรึกษาหลายคนซึ่งเป็นนักวิชาการ ปรึกษากับมูลนิธิบูรณะชนบทที่มีอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ดูแลอยู่ ที่เป็นเหมือน NGOs ยุคแรกๆ ตอนนั้นอยากให้เป็นงานวิชาการ และมอบเงินทั้งหมดให้มูลนิธินี้ และอยากทำฉบับต่อมาคือ ฉบับกรรมกร

ภาพปกวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับพิเศษ “ชาวนาไทย” 2513

ผมทำอยู่สองฉบับ ปีแรกผมทำฉบับชาวนาไทย เมื่อเดือนกันยายน 2513 และอีกฉบับช่วงหลัง 14 ตุลาฯ เมื่อปี 2517 ผมทำหนังสืออีกสองเล่ม ผมอยากลองดูอาจารย์สุลักษณ์ว่าจะมีปฏิกริยาต่องานชิ้นนี้อย่างไร เพราะผมคิดว่าในเมื่อมันคือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ มันก็ต้องมองสังคมทั้งหมด บรรณาธิการคนแรกจะมองผมยังไงให้เสรีภาพกับผมจริงหรือเปล่า ผมก็เลยทำฉบับชาวนาอีกฉบับขึ้น เมื่อปี 2517 และอีกฉบับเป็นฉบับกรรมกร ผมก็รู้สึกว่าอาจารย์สุลักษณ์ให้เสรีภาพกับผมจริงๆ แกไม่เคยปิดกั้นผมเลย แม้แกจะเรียกตัวเองว่าอนุรักษณ์นิยมหัวก้าวหน้าก็ตาม

สิ่งที่ผมอยากจะพูดคือการต่อสู้ทางวัฒนธรรมมันมีอยู่ทุกครั้งในตอนรัฐประหาร คนที่รับรู้เกี่ยวกับการต่อสู้ในเรื่องอะไรมามันก็จะถูกตัดตอน เช่น บรรณารักษ์ห้องสมุดก็จะไม่นำหนังสือที่ถูกรัฐกล่าวหาว่าผิดนั้นเข้าห้องสมุด ร้ายแรงที่สุดคือช่วง 6 ตุลาฯ ก็เผาหนังสือเลย

เราไม่เคยรับรู้เลยว่าคนรุ่นก่อนต่อสู้อะไรกันมาก่อน การเมืองวัฒนธรรมของการทำหนังสือตั้งแต่ 2475 แถลงการณ์คณะราษฎร เค้าโครงเศรษฐกิจที่เป็นสมุดปกเหลือง ทศวรรษ 2490 ก็มีอักษรสาน์ ของสุภา ศิริมานนท์ ทศวรรษ 2500 ก็มีสำนักพิมพ์เกวียนทอง ที่พิมพ์ ปีศาจ (ของเสนีย์ เสาวพงษ์), ฟ้าบ่กั้น (ของลาว คำหอม) ประเด็นของนักเขียน กวีต่างๆ ที่ถูกตัดต่อความทรงจำมันทำให้การรับรู้ข้อมูลนั้นไม่สมบูรณ์ มันทำให้เห็นภาพแค่บางส่วน สุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าวตอนท้าย

เวียง-วชิระ บัวสนธ์ กล่าวเริ่มต้นว่า ช่วงวัยมัธยมเรียนอยู่ที่โรงเรียนชายล้วนที่จังหวัดพิษณุโลก สมัยมศ. 1 พวกเราจะพกหนังสืออยู่ 2-3 เล่ม เล่มแรกคือสรรพนิพนธ์เหมา มันถูกส่งเข้ามาแล้ว เราแบ่งกันอ่านเพื่อทำให้รักหนังสือ หลัง 14 ตุลาฯ ด้านศิลปวัฒนธรรมมันถูกทลาย มันทำให้ผมอ่านหนังสือมหาศาล

เวียง กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าสนใจคือในปี 2517 มันเกิดวงดนตรีคาราวาน และวรรณกรรมเพื่อชีวิต มันทำให้จิตวิญาณเปิดมาก แต่อย่างไรก็ตาม มันน่าเบื่อ เวลาพูดถึงคนยากไร้ก็มักจะมีภาพในหัวที่แบกจอบแบกเสียมมองเห็นแสงแรกของรุ่งอรุณ ซึ่งมันเป็นสัญลักษณ์ว่าสู้รบ ชัยชนะมันอยู่ข้างหน้า ตอนนั้นผมเคลิ้มเลย ถึงขนาดมีความฝันกันเลยว่า อยากขึ้นรถไฟจากพิษณุโลกมาที่สนามหลวง ยืนรอรับและปรบมือให้รุ่นพี่ที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง มันเป็นภาพที่เพ้อฝันมากๆ 

กระทั่งไม่กี่ปีต่อมาความฝันนั้นมันพังทลายต่อหน้าต่อตาเพราะมันเกิดป่าแตก พอหลังป่าแตกเราพบว่ารุ่นพี่จำนวนมาก ลืมอุดมการณ์ตนเอง คนรุ่นผมรังเกียจรุ่นพี่ และยิ่งน่ารังเกียจเข้าไปอีกเพราะพวกเขาไม่เคยนึกถึงกำพืดของตนเอง แต่พวกเราจะทำกันต่อสักระยะหนึ่งช่วงปี 2522-2524 ทำนิตยสารชื่ออาณาจักรวรรณกรรมในการสร้างพื้นที่ของตนเอง 

ภาพจากเสวนาจากซ้าย ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ รายการสภาความคิด, อธิคม คุณาวุฒิ Way Magazine,  สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งราษฎร์, เวียง วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน, สินา วิทยวิโรจน์ TUNE & Co, พัชชา ชัยมงคลทรัพย์ iLaw

บทบาทวรรณกรรมไทยร่วมสมัยในทัศนะของเวียง คนรุ่นผมในยุคต่อมาบทบาทของวรรณกรรมมันก็ไม่ค่อยโดดเด่น และวรรณกรรมส่วนใหญ่ทุกวันนี้มันก็ละเลยคนยากคนจนซึ่งมันกลายเป็นเรื่องของปัจเจก ทุกวันนี้คนยากคนจนก็ไม่ได้หาย แต่ถูกทำให้หายไปจากหน้ากระดาษ ผมเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเพนกวิน (พริษฐ์ ชีวารักษ์), รุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ทำไมพวกเขาไม่อ่านวรรณกรรมเพราะมันเชื่อมโยงกับเขาเลย อย่างน้อยก็ในทางอุดมการณ์

“วรรณกรรมไทยสมัยนี้มันไม่ได้ทำหน้าที่ในการสนับสนุนหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้ด้อยโอกาสทั้งหลาย”

อธิคม คุณาวุฒิ จาก Way Magazine เสริมในประเด็นทางวัฒนธรรมและการจินตนาการถึงชาวนาว่า ช่วงปี 2517-2519 ผู้นำชาวนาถูกลอบสังหารมาก ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งแถบชายแดน ผมจำได้ว่าการปิดเทอมของโรงเรียนมีอยู่สามครั้ง เทอมแรก ฤดูร้อน เทอมสอง ทำนา เทอมสาม เกี่ยวข้าว ผมเคยเข้ามาทำธุระกับพ่อที่กรุงเทพฯ มีคนในกรุงเทพฯ เป็นห่วงว่าทำไมถึงไม่ไปโรงเรียน ผมบอกไปว่าปิดเทอม เขาตอบกลับมาว่า ปิดเทอมอะไรในช่วงนี้ ผมบอกว่าปิดเทอมเกี่ยวข้าว เขาก็ไม่เข้าใจ

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นการรับรู้เรื่องชาวนายังไง ช่วงต้นปี 2520 ชีวิตของชาวนามันผนวกกลมกลืนกับวิถีชีวิตของผู้คน ชาวนาที่ผมรู้จักไม่ได้มีหน้าตาเศร้าหมอง ชาวนาที่ผมรู้จักก็เป็นครูที่โรงเรียน เพื่อนบ้านที่เปิดร้านขายอาหาร เพื่อนร่วมชั้นเรียน ผมจึงไม่ค่อยรู้สึกว่าวิถีชีวิตของชาวนามันแปลกแยก แปลกประหลาด หรือน่าสงสาร 

ขณะเดียวกัน วิชาเขียนจดหมาย ครูสั่งให้เขียนจดหมายเพื่อไปในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งโรงเรียนผมอยู่ที่แถบชายแดน ครูเน้นย้ำว่าเนื้อหาในจดหมายให้โน้มน้าวให้คนกลับมาเป็นพลเมืองดีของประเทศ จดหมายที่พวกผมเขียนตอนนั้นจะถูกส่งไปในพื้นที่สีชมพู พื้นที่สีแดง ให้กับเพื่อนวัยเดียวกัน ซึ่งมีจุดประสงค์คือไม่ให้ครอบครัวไปเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ (พคท.) นั่นแปลว่ามีชาวนาอีกพวกที่ผมไม่รู้จัก ว่าเขาเผชิญกับความทุกข์อีกแบบหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่งคือ วันดีคืนดีมีตำรวจตระเวณชายแดนมาร้องเพลงให้เราฟัง เป็นโฟล์คซองธรรมดาแต่แฝงไปด้วยอุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ เรื่องเหล่านี้มันเกิดคู่ขนานกันตอนอยู่ที่จังหวัดริมชายแดน ผมฟังเพลงเกี่ยวกับชาวนาครั้งแรกเมื่อปี 2522 จากวงแฮมเมอร์ ชื่อเพลงชาวนา มันเปิดโลกให้ผมเห็นว่าทำไมเราถึงต้องสงสารเขา วงแฮมเมอร์ใช้วิธีการในการไปหยิบเพลงในป่า มาสร้างเนื้อร้อง 

มุมมองของอธิคมในวัฒนธรรมดนตรีที่พูดถึงชาวนาชาวไร่ “ขนบของการเล่าเรื่องชาวนาของวงดนตรีเหล่านี้ จะให้ภาพว่าชาวนานั้นน่าสงสาร ช่างถูกอ่อนด้อย ช่างถูกกดขี่ เผชิญโศกนาฏกรรมที่ซ้ำซาก แต่ช่วงปี 2520 เราจะถูกเรียนในโรงเรียนว่า พื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะชาวเขามีการทำไร่เลื่อนลอย แนวคิดเรื่องป่าต้องปลอดคนเริ่มทำงาน และยิ่งทำงานอย่างทรงอนุภาพมากขึ้นจากเงื่อนไขทางการเมือง เพราะต้องต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จึงเป็นแนวคิดป่าปลอดคน”

ช่วงสมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่าภาค 1 เมื่อปี 2534  และ ภาค 2 ในสมัยคสช. มีจำนวนคดีระหว่างรัฐที่กระทำต่อชาวบ้าน 46,000 กว่าคดี และถูกอุ้มหายอีกเป็นจำนวนมาก นี่คือแนวนโยบายที่รัฐกระทำต่อชาวไร่ชาวนา 

มันสัมพันธ์กับเวทีที่แล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ lannernews.com ) ในการนิยามความหมายของชาวนา อาจารย์อรรถจักร์นิยามอย่างทรงพลังว่า “ชาวนาคือผู้ประกอบการ ซึ่งหมายถึงว่าชาวนาเป็นคนเสมอกับพวกเรา ไม่ใช่เรื่องเล่าในเพลงเพื่อชีวิตที่พยายามกดข่มในดูสงสาร และจำเป็นต้องสงเคราะห์อยู่ร่ำไป” อธิคม กล่าว

อธิคม กล่าวต่อ อะไรยึดโยงชาวนาให้เหมือนกับบุคคลทั่วไปก็คือเรื่องที่ดิน ความเหลื่อมล้ำ เรื่องการเข้าไม่ถึงทรัพยากร เข้าไม่ถึงทุน โดยการถูกรังแกจากทุน ถูกรังแกโดยพันธสัญญา จนกระทั่งเป็นผู้ร้ายเมื่อเกิด PM2.5 เราจะเห็นว่าเราร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน มีความเสมอกันและไม่มีใครเหนือกว่าใคร

สินา วิทยวิโรจน์ จาก TUNE & Co “ผมเป็นลูกหลานชาวนาที่มาเป็นชนชั้นกลางในเมือง ผมเติบโตในทศวรรษที่ 2530 ที่ไม่รู้ตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง เพราะเป็นจีนฝั่งหนึ่ง และลูกชาวนาที่ทิ้งนามา มาเป็นภารโรงอยู่ใน กฟผ. พ่อแม่เรียนธรรมศาสตร์เลยพาไปงาน 6 ตุลาฯ ซ้ำๆ เพราะไปเจอเพื่อน ไปอยู่หลายปี สิ่งนั้นก็ปลูกฝังมาที่ตัวผมมาจนทศวรรษที่ 2540 ซึ่งกำลังจะกลายเป็นวัยรุ่นที่สนใจการเมือง ไม่รู้จักชาวนา ไม่รู้จักชาวประมง ใช้ชีวิตไปเฉยๆ ถ่ายรูป เล่นดนตรี เราคิดว่ามันเป็นชีวิตจริงซึ่งไม่มีความจริงเลย”

กว่าจะตื่นก็จนกระทั่งในปี 2553 คนเสื้อแดงตายและถูกล้างเลือด 20 ปีเราไม่รู้อะไรเลย หลังจากนั้นก็เริ่มเชื่อมโยงกับตนเองในงานละครเรื่อง 6 ตุลาฯ ผมจึงมาเข้าใจว่า ปู่ย่าตายายที่เขาทิ้งนามา พ่อแม่ที่ต่อสู้ในเดือนตุลาฯ พวกเขาเก่งมากจริงๆ เพราะพวกเขาต่อสู้ในสิ่งที่ประวัติศาสตร์ลบเลือนมาตลอด จนทศวรรษ 2560 ก็เปลี่ยนความคิดไปมาก มันทำให้ผมตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นเพราะมีการเคลื่อนไหวของเยาวชน เป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะ 2475 ขบวนการชาวนาชาวไร่ และการเคลื่อนไหวเมื่อปี 2563-2564 มันคือเรื่องเดียวกัน มันเป็นสายธารต่อกัน มันเป็นเรื่องเล่าที่จำเป็นต้องระเบิดออก แม้การต่อสู้ในปี 2563 ต้องยอมรับว่ามันจบลงแล้ว และเราก็ทำงานต่อไป

คิดว่าความการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุมันจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะเราตื่นตัวทางการเมืองแล้วเมื่อปี 2563

แม้การต่อสู้จะจบไปแล้ว แต่ในแง่นึงมันยังไม่จบ การต่อสู้ในปี 2563-2564 มันมีพลังกับผมมาก ผมยังสนใจชาวนาชาวไร่ที่รัฐมาทำโครงการเรื่องเกษตรพันธสัญญาผมจึงวาดรูป และทำงานรณรงค์เพื่อร่วมขับเคลื่อนของ TUNE & Co และทำงานร่วมกันองค์กรอื่นๆ เช่น We Fair และ P-Move เพื่อทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการทำงานรณรงค์ และการสื่อสารต่อไป

ภาพวาดของสินาที่สินากล่าวถึง

พัชชา ชัยมงคลทรัพย์ iLaw กล่าวถึงความสนใจในการเมืองว่า มาสนใจการเมืองช่วงรัฐประหาร 2557 เขาเห็นความไม่เป็นเหตุเป็นผลของมัน เรื่องอำนาจนิยมที่ใกล้ตัวกับเราสมัยเรียนมหาวิทยาลัย  เราได้อ่านเรื่องราวของชาวบ้านที่ถูกไล่รื้อออกจากป่า เราเรียนจบก็เคยทำงานบริษัทให้นายทุน ก็คิดว่ามันไม่ใช่ตัวเรา เลยออกมาทำงาน iLAW และช่วงปี 2563 มีข้อเสนอหนึ่งขึ้นมาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ  เพื่อลบล้างผลพวงรัฐประการ ทาง  iLAW ก็เข้ามาทำตรงนี้ และทำอีกหลายๆ อย่าง เพื่อให้สังคมดีขึ้น เรามีความหวังกับตรงนี้

การต่อสู้เมื่อ 2563-2564 เราไม่รู้ว่าการต่อสู้เราแพ้จริงๆ หรือเปล่า เพราะรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ได้นับหนึ่ง และความตั้งใจของชนชั้นนำมีความต้องการที่สอดไส้ลงไปในกฎหมายที่บังคับกุมอำนาจ ยังไม่กล้า เพราะเขาก็กลัวประชาชนที่ยังส่งเสียงอยู่ทุกวันนี้ การที่เรายังส่งเสียงกันอยู่ ส่งต่อกันอยู่ เราสู้อะไรกันมาบ้าง มันทำให้ชนชั้นนำเขาไม่กล้าทำอะไรตามที่ใจปรารถนา

*หมายเหตุบทความนี้เรียบเรียงจาก เสวนาบทเรียนของสหพันธ์ชาวนาฯ : จากปากคำผู้ปฏิบัติงานโครงงานชาวนาฯ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเสวนาโดย รศ.รังสรรค์ จันต๊ะ มหาวิทยาลัยแม่โจ้,รังสรรค์ แสนสองแคว สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ,จีรวรรณ โสดาวัฒน์ องค์กรด้านการพัฒนาสังคม, วิไล รัตนเวียงผา ชาวนา อ.ไชยปราการ เชียงใหม่, สมศักดิ์ โยอินชัย อดีตผู้แทนเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

การต่อสู้ทางวัฒนธรรม การต่อต้านระเบียบอำนาจจารีตจากชาวนาสู่ราษฎรร่วมสมัย,  ดำเนินรายการโดยชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ รายการสภาความคิด, วิทยากร อธิคม คุณาวุฒิ Way Magazine,  สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งราษฎร์, เวียง วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน, สินา วิทยวิโรจน์ TUNE & Co, พัชชา ชัยมงคลทรัพย์ iLaw

นักกิจกรรม 311 กลุ่มทั่วโลก กดดัน ‘Airbus SE’ ยุติการลงทุนในเมียนมา หยุดสนับสนุนเผด็จการทหารพม่าทุกรูปแบบ

ภาพ: Blood Money – သွေးစွန်းငွေ

10 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล องค์กรปฏิวัติและองค์กรภาคประชาสังคมจากทั้งเมียนมา ไทย และนานาประเทศรวมกว่า 311 องค์กร พร้อมกลุ่มที่ไม่ประสงค์ออกนามอีก 72 กลุ่ม ได้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึง ดิโยม ฟอรี่ CEO ของ Airbus SE เรียกร้องให้ยุติการลงทุนในเมียนมา และหยุดความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมสงครามที่ก่อโดยเผด็จการทหารพม่าผ่านการลงทุนและการค้าชิ้นส่วนเครื่องบินกับ Aviation Industry Corporation of China (AVIC)

โดยจดหมายดังกล่าวระบุว่า หลังจากความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐประหารเมียนมาได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรรมสงครามอย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าถึงอาวุธและการสนับสนุนด้านเทคนิคจาก AVIC ที่จัดหาเครื่องบินทหารและการบำรุงรักษาหลักให้กับคณะรัฐประหารพม่า ทำให้การโจมตีทางอากาศที่มีเป้าหมายต่อพลเรือนยังดำเนินต่อไป

Airbus SE ถูกระบุว่าเป็นพันธมิตรสำคัญและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ AviChina Industry & Technology Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ AVIC โดย AviChina ผลิตเครื่องบิน K-8 และ Y-12 ที่ถูกใช้งานโดยกองทัพพม่าในการโจมตีพลเรือนตั้งแต่รัฐประหาร

สอดคล้องกันกับเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่เครือข่ายติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition) ได้เผยแพร่จดหมายของกลุ่มรณรงค์หยุดเงินเปื้อนเลือดแห่งเมียนมา (Blood Money Campaign) ซึ่งระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2021 AVIC ได้ให้การเข้าถึงอาวุธแก่กองทัพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเครื่องบินรบ และความช่วยเหลือด้านการบำรุงรักษา ซ่อมแซม และยกเครื่องที่เกี่ยวข้อง แม้จะมีการคว่ำบาตรอาวุธของสหภาพยุโรปและมีหลักฐานชัดเจนว่ากองทัพได้ก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

กองทัพเมียนมาได้ใช้เครื่องบินของ AVIC ในการโจมตีทางอากาศที่เข้มข้นขึ้น มีการโจมตีทางอากาศมากกว่า 7,186 ครั้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 1,873 ราย รวมถึงสตรีมีครรภ์และทารก

ไม่เพียงเท่านั้น กองทัพยังคงทิ้งระเบิดทางอากาศโจมตีบ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา งานแต่งงาน และค่ายพักพิงสำหรับผู้พลัดถิ่น การโจมตีทางอากาศเกิดขึ้นเกือบทุกวันในเมียนมา

“Airbus มีอำนาจต่อรองเหนือ AVIC ผ่านการลงทุนและพันธมิตรทางธุรกิจ Airbus เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในระดับนานาชาติของบริษัท AVIC อย่าง AviChina ดังนั้น Airbus จึงได้รับประโยชน์จากธุรกิจของ AVIC กับกองทัพเมียนมา และมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจทางธุรกิจของ AviChina  แอร์บัสได้ประโยชน์จากการร่วมทุนกับเอวิคและการจัดหาเทคโนโลยี ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ต่อการผลิตทางทหารของ AVIC” จดหมายระบุ

ดังนั้น ในจดหมายเปิดผนึกครั้งนี้ 311 องค์กร และ 72 กลุ่มภาคประชาสังคมฯ จึงได้เรียกร้องให้ Airbus SE ดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ใช้ข้อได้เปรียบทางธุรกิจในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่กดดัน AVIC ให้หยุดการโอนอาวุธและเครื่องบินรบทั้งหมดแก่กองทัพเมียนมา

2. ดำเนินการตรวจสอบความร่วมมือกับ AVIC และบริษัทในเครืออย่างเข้มงวด และเปิดเผยผลการตรวจสอบต่อสาธารณะ

3. ยุติความสัมพันธ์กับ AVIC หากยังดำเนินธุรกิจกับกองทัพเมียนมา

โดยองค์กรทั้งหมด 311 องค์แห่ง และ 72 กลุ่มที่ไม่ประสงค์ออกนามที่ร่วมลงนามมีดังนี้

นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ชาวเมียนมาได้จัดแคมเปญ #Airbus2Airstrike เพื่อกดดัน Airbus SE ผ่านการเดินขบวน ชูป้าย และการรณรงค์บนโซเชียลมีเดีย โดยเรียกร้องให้บริษัทใช้ความได้เปรียบทางธุรกิจเพื่อกดดัน AVIC ให้ยุติการค้าขายยุทโธปกรณ์แก่กองทัพพม่าด้วยเช่นกัน

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก Blood Money – သွေးစွန်းငွေ

‘แรงงานภาคเหนือ’ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เรียกร้องสิทธิและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ย้ำต้อง ‘ดำเนินการเชิงรุก’

18 ธันวาคม 2567 เนื่องใน ‘วันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล’ (International Migrants Day) เครือข่ายแรงงานภาคเหนือจัดกิจกรรมยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องสิทธิและการคุ้มครองที่เท่าเทียมสำหรับแรงงานข้ามชาติและแรงงานหญิงในประเทศไทย

วันนี้ (18 ธ.ค. 67) เวลา 10.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วยแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติหลากหลายอาชีพ ได้ยื่นข้อเสนอสำคัญผ่านจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องสิทธิและการคุ้มครองที่เท่าเทียมสำหรับแรงงานข้ามชาติและแรงงานหญิงในประเทศไทย โดยข้อเรียกร้องดังกล่าวครอบคลุมหลายประเด็นสำคัญ ทั้งการคุ้มครองสิทธิแรงงาน การปรับปรุงกฎหมาย และการยุติการส่งกลับผู้อพยพไปยังพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง โดยมีเนื้อหาดังนี้

ข้อเสนอ เนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล

วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็น “วันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล” (International Migrants Day) ซึ่งเป็นวันที่อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990  ได้รับการรับรองโดยองค์สหประชาชาติ เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญและคุณูปการของแรงงานข้ามชาติต่อการพัฒนา ทั้งประเทศต้นทาง ประเทศระหว่างทาง และประเทศปลายทาง และเพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ด้วยหลักการที่ตระหนักถึงสิทธิ และการได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมปราศจากการเลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว และเพศสภาพใดๆ ต่อแรงงานข้ามชาติ จากรัฐบาล และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

การอพยพเคลื่อนย้ายของแรงงานจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งเพื่อทำงานหรืออยู่อาศัยเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทั่วโลกมานานแล้ว สาเหตุหลักๆ ของการเคลื่อนย้ายแรงงานคือ ปัญหาเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติหรือความขาดแคลน สงครามหรือความขัดแย้งในประเทศของตนเอง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกต้องเคลื่อนย้ายออกจากถิ่นฐานของตัวเอง เพื่อให้ตนเองมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม

ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติจากประเทศต่างๆ เดินทางย้ายถิ่นเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงาน 4 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม  ทั้งที่ทำงานโดยมีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายกว่า 3 ล้านคน และกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบการขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานตามกฎหมายอีกกว่า 1 ล้านคน  ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาและการเติบโตด้านเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทย แต่ทว่าแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่กลับยังไม่ได้รับสิทธิและเข้าไม่ถึงการปกป้องคุ้มครองตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับแรงงานกำหนด เช่น ไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุดและวันลาตามที่กฎหมายกำหนด ต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่สมัครใจ เข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน

ในโอกาสนี้ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จึงได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่แรงงานข้ามชาติกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันอย่างเป็นรูปธรรม โดยต้องดำเนินการเชิงรุกในการกำหนดความคุ้มครองทางกฎหมายและมุ่งเน้นให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติด้วย ดังนี้

1. รัฐบาลต้องปรับโครงสร้างค่าจ้างให้เป็นไปตามหลักการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และกำหนดให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างทุกปีในอัตราที่สอดคล้องกับระดับค่าครองชีพโดยคำนวณจากอัตราเงินเฟ้อ + 3 เปอร์เซ็นต์ของอัตราค่าจ้าง และต้องเป็นค่าจ้างแบบถ้วนหน้าเท่ากันทั่วประเทศ  

2. รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่เป็นระบบและเป็นนโยบายระยะยาว 5 – 10 ปี โดยต้องเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน การไม่เลือกปฏิบัติ เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานและการอนุญาตให้อยู่และทำงานในประเทศ

3. รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO และดำเนินการต่อเนื่องหลังรับรองอนุสัญญา ดังนี้

3.1 อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และดำเนินการปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยเร่งด่วนเพื่อให้แรงงานทุกภาคส่วนมีอิสระในการรวมตัว จัดตั้ง หรือเข้าร่วม และการต่อรองกับนายจ้างด้วยการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้โดยไม่กระทบต่อการจ้างงาน

3.2 อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อส่งเสริมสิทธิของแรงงานทำงานบ้านและดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบต่าง ๆ  เพื่อส่งเสริมสิทธิของแรงงานทำงานบ้านโดยเร็วที่สุด และต้องมีกลไกเพื่อคุ้มครองแรงงานทำงานบ้านให้ได้รับสิทธิ และสวัสดิการ โดยเฉพาะแรงงานทำงานบ้านที่ต้องทำงานในบริเวณที่พักอาศัยของนายจ้างจะต้องได้รับการจัดหาที่พักและอาหารที่สะอาด ถูกหลักสุขอนามัย เพื่อความปลอดภัยและทำให้แรงงานได้พักผ่อนเพียงพอและมีศักยภาพในการทำงาน

4. รัฐบาลต้องปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพ เข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และกำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากที่มีการเข้าสู่ระบบประกันสังคม  และให้แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมที่ต้องการกลับประเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไป สามารถยื่นรับเงินจากกองทุนบำเหน็จชราภาพได้ทันที

5. รัฐบาลต้องรับรองสถานภาพทางกฎหมายของแรงงานที่มีรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายภายใต้ระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน และสร้างความคุ้มครองแรงงานทุกคนอย่างแท้จริง เช่น แรงงานทำงานบ้าน แรงงานพนักงานบริการ แรงงานสร้างสรรค์ แรงงานแพลตฟอร์ม ไรเดอร์ แรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี เป็นต้น โดยต้องดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายประกันสังคม กฎหมายกองทุนเงินทดแทน และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเพื่อให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน

6. รัฐบาลต้องยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.​ 2539 

7. รัฐบาลต้องส่งเสริมและสร้างหลักประกันการเข้าถึงการจ้างงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และความคุ้มครองแรงงานผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยกำหนดมาตรการการจ้างงาน สภาพแวดล้อมการทำงาน ที่ไม่แบ่งแยก ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นมิตรต่อแรงงานผู้มีความหลากหลาย เช่น ห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศ และนำพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

8. รัฐบาลต้องส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานหญิง โดยกำหนดให้การลาหยุดเนื่องจากเป็นวันที่มีประจำเดือนเป็นวันลาที่ได้รับค่าจ้าง และกำหนดให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการที่ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงได้ฟรี

9. สืบเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศเมียนมา ส่งผลให้มีผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นเครือข่ายแรงงานภาคเหนือจึงขอให้รัฐบาลยุติการกักขังและบังคับส่งกลับ ทั้งแรงงานและผู้อพยพจากประเทศเมียนมา รวมถึงการอนุญาตให้อยู่อาศัย ทำงาน เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และการเดินทาง โดยเร่งด่วน

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ

18 ธันวาคม 2567

เปิด 3 เหตุผล เลือกตั้งนายกอบจ.เพชรบูรณ์ ทำไม ‘อัครเดช’  แชมป์เก่ากินขาด 7 สมัยซ้อน

วานนี้ (15 ธ.ค. 67) การเลือกตั้งนายกอบจ.เพชรบูรณ์ ปิดฉากลงด้วยชัยชนะของ ‘อัครเดช ทองใจสด’ ผู้สมัครหมายเลข 1 อดีตนายกอบจ.เพชรบูรณ์ 6 สมัย ซึ่งคว้าตำแหน่งสมัยที่ 7 มาได้ด้วยคะแนนอย่างท่วมท้น โดยมีคะแนนนำคู่แข่งอย่าง ธิปไตย แสงรัก ผู้สมัครหมายเลข 2 อดีตผู้สมัคร ส.ส.เพชรบูรณ์ เขต 4 พรรคภูมิใจไทย แต่ครั้งนี้ลงในนามอิสระ และ จิรวิทย์ แก้วกำพล ผู้สมัครหมายเลข 3 อดีตข้าราชการ ถึงกว่า 200,000 คะแนน

จากการรายงานผลคะแนนอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (16 ธ.ค. 67) ซึ่งนับครบทั้ง 1,703 หน่วยเลือกตั้งใน 11 อำเภอ อัครเดช ทองใจสด ได้รับคะแนน 263,545 คะแนน ขณะที่ ธิปไตย แสงรัก ได้อันดับ 2 ด้วยคะแนน 38,705 คะแนน และ จิรวิทย์ แก้วกำพล ได้อันดับ 3 ด้วยคะแนน 8,376 คะแนน

สำหรับการชนะในการเลือกตั้งนายกอบจ.ครั้งนี้ของ อัครเดช ทองใจสด ที่เพชรบูรณ์ ถูกมองเช่นเดียวกันกับของชัยชนะอัจฉราที่ตาก ซึ่งถือว่า ‘ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเชิงการเมือง’ โดยหากวิเคราะห์ก็คงกล่าวได้ว่า อัครเดชเองก็ยังคงรักษาฐานเสียงเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งตากก็ยังคงเป็นขั้วเดิมที่ ‘อัจฉรา’ รองนายกอบจ.เก่าคว้าชัยชนะ ในเพชรบูรณ์ก็ยังคงเป็น ‘อัครเดช’ คนเดิมที่ครองตำแหน่งนายกอบจ.มาต่อเนื่องยาวนานถึง 6 สมัย และการได้รับชัยชนะในครั้งนี้จะทำให้เขากลายเป็นนายกอบจ. สมัยที่ 7

ขณะเดียวกัน อัครพงษ์ สิทธิ หนึ่งในประชาชนที่จับตาการเลือกตั้งนายกอบจ.จังหวัดเพชรบูรณ์มาโดยตลอด ได้ให้ความเห็นซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ Lanner เกี่ยวกับเหตุผลที่อัครเดชได้รับชัยชนะในศึกการเลือกตั้งอบจ. ครั้งนี้ไว้ด้วยชนะชนะขาดลอยกว่า 2 แสนคะแนน ดังนี้

1. การชิงลาออกจากตำแหน่งนายกอบจ.ก่อนครบกำหนดวาระเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเลือกตั้ง ทั้งทางด้านการเตรียมความพร้อมในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยอัครพงษ์มองว่า การทำแบบนี้จะทำให้ผู้ที่ลาออกก่อนมีเวลาเตรียมความพร้อมมากขึ้น มากกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นๆ

2.  การดำรงตำแหน่งนายกอบจ.มาอย่างยาวนานถึง 6 สมัยก่อนหน้านี้ การครองพื้นที่ทางการเมืองมาโดยตลอด ส่งผลให้อัครเดชมี ‘เครือข่าย’ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งกลุ่มประชาชนในพื้นที่ หรือแม้แต่องค์กรที่เคยได้เข้าไปดูแล อาทิ องค์กรส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่อาจจะมีผลประโยชน์เอื้อต่อกัน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะได้รับคะแนนนิยมในส่วนนี้เพิ่มเติม 

3. ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า ทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งอยู่นอกพื้นที่ เช่น ผู้ที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศไม่สามารถกลับมาเลือกตั้งในพื้นที่ได้ ปัญหานี้คาบเกี่ยวกับเรื่องเวลาการเลือกตั้งที่จัดในต้นปี หลังช่วงเทศกาลต่างๆ ได้ไม่นานนัก ทำให้หลายคนอาจมองว่าไม่คุ้มค่าแก่การเดินทางกลับมาเท่าไหร่นัก เนื่องจากหลังจากนั้นไม่นานก็จะมีการเลือกตั้ง ส.อบจ. อีกครั้งหนึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นสองขยักที่อาจเป็นภาระในแง่ค่าใช้จ่ายการเดินทางเพิ่มมากขึ้น เหตุผลนี้จึงไปสัมพันธ์กับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแท้จริงที่มีเพียงแค่ 2 – 3 แสนคน ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจริง 774,960 คน ด้วยซ้ำ

เปิด 3 เหตุผล ขั้วอำนาจเก่าตาก ชนะอบจ. ‘อัจฉรา ทวีเกื้อกูลกิจ’ สะใภ้สานต่ออดีตนายกฯ ‘ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ’

15 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ThaiPBS รายงานว่า วานนี้ (15 ธ.ค. 67) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก (นายกอบจ.ตาก) โดยมีผู้สมัครจำนวน 2 คน คือ ‘อัจฉรา ทวีเกื้อกุลกิจ’ อดีตรองนายกอบจ.ตาก หมายเลข 1 และ ‘พ.ต.ท.อนุรักษ์ จิรจิตร’ อดีตผู้ช่วยของ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและดิจิทัล (ดีอี)  หมายเลข 2

สำหรับในการเลือกตั้งฯ ครั้งนี้ พื้นที่จังหวัดตากมีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งสิ้น 404,695 คน กระจายอยู่ใน 684 หน่วยเลือกตั้ง

การเลือกตั้งฯ จบลงด้วยความดุเดือดและเข้มข้น หลังการนับคะแนนเสร็จสิ้น 100% ในช่วงเวลา 02.15 น. ของวันนี้ (16 ธ.ค. 67) ต่อมาช่วงบ่ายของวันเดียวกัน อบจ.ตาก ได้ประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการผ่านเฟซบุ๊ก องค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก ซึ่งผลปรากฏว่า อัจฉรา ทวีเกื้อกุลกิจ คว้าชัยด้วยคะแนน 98,601 คะแนน ทิ้งห่าง พ.ต.ท.อนุรักษ์ จิรจิตร ที่ได้รับ 88,327 คะแนน โดยคะแนนห่างกันกว่า 10,000 คะแนน

การเลือกตั้งฯ ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเลือกตั้งนายกอบจ.ทั่วไป แต่กลับถูกจับตามองว่าเป็น ‘สมรภูมิการเมือง’ ที่ท้าทายความมั่นคงของตระกูล ‘ทวีเกื้อกูลกิจ’ กับตำแหน่งทางการเมืองที่ยังเหลืออยู่ โดยมี อัจฉรา ทวีเกื้อกุลกิจ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘รองจอย’ อดีตรองนายกอบจ.ตาก เป็นผู้สมัครที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด

สำหรับเหตุผลที่อัจฉราได้รับชัยชนะในครั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าอาจมาจาก 3 เหตุผลหลักที่สำคัญ ดังนี้

1. การเป็น ‘บ้านใหญ่’ ขั้วอำนาจเดิม ‘อัจฉรา ทวีเกื้อกุลกิจ’ หรือ ‘รองจอย’ อดีตรองนายกอบจ.ตาก ผู้สมัครหมายเลข 1 ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นบุคคลที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากอัจฉราเป็นภรรยาของ ธนัสถ์ ทวีเกื้อกุลกิจ หรือ ‘ส.ส.เฟิร์ส’ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดตาก พรรคพลังประชารัฐ ที่เปลี่ยนสังกัดมาสู่พรรคภูมิใจไทย แต่ประสบความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง ปี 2566

การลงสมัครรับเลือกตั้งนายกอบจ.ตากของอัจฉราครั้งนี้จึงถือเป็น ‘ก้าวสำคัญ’ ในการรักษาฐานอำนาจของตระกูล ‘ทวีเกื้อกูลกิจ’ หลังจากที่ ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีตนายกอบจ.ตาก ผู้เป็นพ่อตา ประกาศลาออกจากตำแหน่งกะทันหัน ท่ามกลางข่าวลือเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ จึงถูกมองว่านี่คือการเปิดโอกาสให้ลูกสะใภ้ก้าวเข้ามาสานต่อเก้าอี้นายก อบจ. เพื่อรักษา ‘ปราการด่านสุดท้าย’ ในเวทีการเมืองของครอบครัว

สอดคล้องกับกับที่ อนุชา บุญถิ่น จากอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้งอบจ. WeWatch ให้สัมภาษณ์กับ Lanner ถึงเหตุผลที่อัจฉราสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งนายกอบจ.ครั้งนี้ต่อจาก ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ ไว้ว่า การเลือกที่จะ ‘ลาออกก่อนครบกำหนดวาระ’ ของณัฐวุฒินั้นถือเป็นหนึ่งใน ‘ยุทธวิธีการเมือง’ ที่จะถือโอกาสนี้ในการสานต่อเก้าอี้และตำแหน่งนายกอบจ.ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองเพียงไม่กี่ตำแหน่งที่เหลืออยู่นี้ให้แก่คนในครอบครัวต่อไป 

2. การมีฐานเสียงแข็งแกร่งจากหลายพื้นที่ ซึ่งมีเครือข่ายสนับสนุนที่เหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นจากฐานเสียงหลักในอำเภอวังเจ้าและอำเภอเมืองตาก โดยในอำเภอวังเจ้า ‘อัจฉรา’ ได้รับการสนับสนุนจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ประดาง, นาโบสถ์, และเชียงทอง รวมถึงการสนับสนุนจากกลุ่มท้องถิ่นอย่าง ‘ส.จ.แม่สุ่ม’ จันทรา อุดมโภชน์ ‘ส.จ.กิม’ กิติญา วงค์วาร รวมทั้ง ‘กำนันต้อง’ อนุรักษ์ นิลน้อย ซึ่งเป็นแนวรับที่แข็งแกร่งและยากที่จะฝ่าไปได้

ในส่วนของอำเภอเมืองตาก อัจฉรายังมีฐานเสียงสำคัญจากนายกอบต.วังประจบ, อบต.แม่ท้อ, อบต.โป่งแดง และ อบต.ป่ามะม่วง เป็นแนวร่วมสำคัญ โดยมีเครือข่ายพี่น้องในตำบลหนองบัวเหนือ ที่มั่นคงและพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่

ด้านอำเภอท่าสองยาง, อำเภอแม่ระมาด, และอำเภอบ้านตาก โดยเฉพาะฝั่งตากตะวันตก เป็นพื้นที่ที่ ส.ส.ภาคภูมิ บูลย์ประมุข หรือ ‘ส.ส.ปั้น’ ซึ่งเป็นผู้นำในพื้นที่จะมีบทบาทสำคัญในการชี้ทิศทางการเลือกตั้ง โดยจะเป็นตัวแปรที่สำคัญว่า ‘อัจฉรา’ จะได้เปรียบหรือไม่ ข้ามน้ำปิงมาซีกตากตะวันออก  มี เกรียงไกร แก้วแปง   หรือ ‘สจ.เกรียง’ ที่ขึ้นแท่นว่าที่รองนายกอบจ.ตาก ให้ทีมอัจฉรา ยิ่งควบแน่นและคราคล่ำไปด้วยแนวรับที่เหนียวหนึบ ยากที่จะเจาะผ่านไปได้

ในขณะที่อำเภอสามเงา กลุ่มท้องถิ่นในพื้นที่ได้ร่วมมือกับอบจ.ตาก ในการลงพื้นที่น้ำท่วม เพื่อมุ่งรักษาฐานเสียงของ ‘อัจฉรา’ ไว้ได้อย่างมั่นคง เรียกได้ว่า 4 อำเภอซีกตะวันออกของจังหวัดตากยากที่จะพ่ายแพ้

ทั้งนี้ ในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนตะวันตก อัจฉรายังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มต่าง ๆ เช่น ว่าที่ ร.ต.ประเสริฐ ปวงละคร นายกเทศมนตรีนครแม่สอด, อดีต ส.จ.อุ้มผาง จากสายฉัตรชัยลือนาม, และกลุ่มเก๊าใหม่ แซ่ย่าง อ.พบพระ พร้อมทั้ง ส.จ.ชัย นายจิรวัฒน์ มงคลจุฑาศรษฐ จากอำเภอแม่สอด ซึ่งทำให้ทีมของ ‘อัจฉรา’ ได้จัดตั้งแนวรับที่แข็งแกร่งในพื้นที่ตะวันตกของจังหวัดตาก

เช่นเดียวกันกับที่อนุชา กล่าวเพิ่มเติมไว้ว่า การมีเครือข่ายต่าง ๆ เช่น อสม. รวมทั้งการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้มากกว่านั้นก็เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้อัจฉราประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งฯ ครั้งนี้

ขณะเดียวกัน ฐานเสียงเองก็ถือว่ามีความสำคัญมากในการเลือกตั้งนายกอบจ. โดยอนุชามองว่า ระดับความเข้มข้นในการเลือกตั้งนายกอบจ.นั้นอาจมีไม่มากเท่ากับการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นระดับที่ใหญ่กว่า ดังนั้นการดึงผู้คนให้มารู้จักตัวผู้รับสมัครเลือกตั้งผ่านฐานเสียงซึ่งมาจากการสนับสนุนโดยเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันกับเหตุผลอื่นๆ ที่สนับสนุนให้อัจฉราชนะการเลือกตั้ง

3. จำนวนผู้ไปใช้สิทธิ์น้อยจากการไม่เห็นความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น และการไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญลำดับต้น ๆ เช่นเดียวกันกับการเลือกตั้งนายกอบจ.ในพื้นที่อื่นๆ โดยอนุชาได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ประเด็นนี้เกี่ยวข้องอย่างแน่นอนเนื่องจากหากมองในเรื่องของความคุ้มค่า การกลับไปเพื่อเลือกตั้งแค่อย่างเดียวอาจไม่คุ้มค่าเท่าไหร่นักสำหรับคนทำงานต่างจังหวัดหรือต่างอำเภอ

อย่างไรก็ดี แม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่การชนะในครั้งนี้ของอัจฉรา กลับถูกมองว่า ‘ไม่ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ’ โดยนักวิชาการให้ความเห็นว่า อัจฉรายังคงรักษาฐานเสียงเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทำให้ตากก็ยังคงเป็นขั้วเดิมที่ ‘อัจฉรา’ รองนายกอบจ.เก่าคว้าชัยชนะ

‘ภัทรพงษ์’ สส.พรรคประชาชน จี้รัฐบาลแพทองธาร หลังแถลง 90 วัน ไร้แผนรับมือฝุ่นพิษ

12 ธันวาคม 2567 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลงาน 90 วัน ในการทำงานของรัฐบาลแพทองธาร และมอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินในปีต่อไปภายใต้แคมเปญ “2568 โอกาสไทยทำได้จริง”

โดยผลงานที่แถลง ประกอบด้วย โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท, กฎหมายสมรสเท่าเทียม, แจกเงินชาวนา 1,000 บาท, พักหนี้เกษตรกร, ลดค่าน้ำ ค่าไฟ, รถไฟฟ้า 20 บาท, กระตุ้นท่องเที่ยวฟรีวีซา, แอ่วเหนือ 400 บาท, ตรึงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) อีก 1 ปี, บัตรประชาชนรักษาทุกที่

นอกจากนั้นยังระบุว่า นโยบายที่จะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในปี 2568 คือ การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว แก้ปัญหาอาชญากรรม-ปัญหายาเสพติด และเร่งนโยบายการแจกเงินดิจิทัล เฟส 2-3 จำนวน 10,000 บาท รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ การลดราคาพลังงาน และสาธารณูปโภค ไม่เพียงเท่านี้ รัฐบาลยังมุ่งยกระดับการทำเกษตรดั้งเดิมให้เป็นสมัยใหม่ และการขับเคลื่อนกองทุนหมู่บ้าน 

ภาพจาก Facebook Phattarapong Leelaphat – ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์

ด้าน ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ หรือ ‘สส.ตี๋’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เชียงใหม่เขต 8  พรรคประชาชน ได้ออกมาพูดถึง “แถลงผลงานที่ไม่มีผลงาน” 90 วันที่ไร้การเตรียมการรับมือ PM2.5 ของ รัฐบาลแพทองธาร ผ่าน Facebook Phattarapong Leelaphat – ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ในวันที่ 14 ธันวาคม 2567 โดยมองว่า รัฐบาลไม่มีมาตรการอย่างชัดเจน และนำเสนอมุมเดียวว่าลดพื้นที่เผาไหม้ในจังหวัดเชียงใหม่ได้ แต่กลับไม่พูดความจริงว่าพื้นที่เผาไหม้ทั้งประเทศนั้นเพิ่มขึ้น พร้อมยังบอกอีกว่าถ้ารัฐบาลมีเป้าหมายในการคืนสภาพอากาศที่ดีให้ประชาชนจริงๆ นายกฯ ควรต้องเปิดใจรับฟังมากกว่านี้ 

ในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 นั้น รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการและให้ความชัดเจนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้วางแผนล่วงหน้าตามมาตรการที่ชัดเจน แต่ผ่านมา 90 วัน รัฐบาลกลับไม่มีมาตรการใดๆ ที่ชัดเจนเลย และนายกฯ ยังเลือกที่จะนำเสนอข้อมูลในมุมเดียวที่ว่าสามารถลดพื้นที่เผาไหม้ในจังหวัดเชียงใหม่ลงได้ โดยไม่พูดประเด็นที่ว่า พื้นที่การเผาไหม้ในปี 2567 ของทั้งประเทศนั้นเพิ่มขึ้นจากปี 2566 และเป็นพื้นที่เผาไหม้การเกษตรกว่า 4 ล้านไร่

ทั้งนี้ สส.ภัทรพงษ์ มองว่า หากนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับสภาฯ และรับฟังมากกว่านี้ 90 วันที่ผ่านมาไม่มีทางสูญเปล่าแบบนี้ เพราะในวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลแพทองธาร ผมได้อภิปรายแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 อย่างชัดเจนทุกๆ ด้าน เป็นแผนปฏิบัติการอย่างชัดเจนว่าแต่ละเดือนต้องดำเนินการอะไรบ้าง นำเสนอภาพปัญหาการเผาไหม้ภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณในปี 2567 ของพืชที่มีการเผาไหม้หลักๆ 3 ชนิด คือ ข้าว อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ต้องมีการประกาศมาตรการล่วงหน้าเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการได้วางแผนปรับตัวได้ทัน แต่รัฐบาลกลับไม่ดำเนินการใดๆ เลย

(1) ข้าว รัฐบาลมีโครงการสนับสนุนชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ แต่กลับไม่มีการเพิ่มเงื่อนไขห้ามเผาเข้าไปในมาตรการนี้ ทั้งที่จะเป็นการเริ่มต้นเพิ่มแรงจูงใจ ลดการเผาไหม้ได้เป็นอย่างดี

(2) อ้อย ตอนนี้อ้อยเริ่มเปิดหีบแล้ว อ้อยเผาเข้าสู่โรงงานแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาบังคับใช้ นายกฯ กล่าวในการแถลงผลงานว่าต้องจริงจังมากขึ้นเรื่องการเผาอ้อย โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาลทราย แต่ถึงวันนี้ไม่มีการดำเนินการใดๆ สิ่งที่เห็นลางๆ มีเพียงสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่เสนอมาตรการสนับสนุนชาวสวนไร่อ้อยตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตันในการประชุม ครม.สัญจรเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน และขอให้รัฐบาลมีมติ ครม. ก่อนเปิดหีบอ้อยในฤดู 67/68 นี้ แต่รัฐบาลกลับนิ่งดูดาย และร่างระเบียบ กอน. ว่าด้วยการตัดและส่งอ้อยฯ ที่จะออกมาตรการปรับโรงงานที่รับอ้อยเผาต่อวันเกิน 25% 130 บาทต่อตัน ก็ยังอยู่ในชั้นรับฟังความคิดเห็น ทั้งๆที่อ้อยเปิดหีบกันไปแล้ว

(3) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นายกฯ ประกาศทุกครั้งว่าจะไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีที่มาจากการเผา แต่จนถึงวันนี้ยังเป็นเพียงคำพูดลอยๆ ไม่มีมาตรการใดออกมา ทั้งที่ตนชี้แนวทางชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรฐานบังคับข้าวโพดไม่เผาที่จะมีผลบังคับใช้ทั้งในประเทศและการนำเข้า ป้องกันปัญหาเรื่องการละเมิด National Treatment ปฏิบัติกับต่างประเทศอย่างไรก็ต้องปฏิบัติกับในประเทศอย่างนั้น แล้วออกหลักเกณฑ์การตรวจสอบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลอดห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิตอาหารสัตว์ หลังจากนั้นจึงออกประกาศนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบปลอดภาษีให้สอดคล้องกัน โดยให้มีการระบุ Geo-location ของแปลงเพาะปลูกเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ หรือการใช้ข้อยกเว้นการค้าเสรีของ WTO ข้อ B และ G ตนก็เคยเสนอไปแล้วในการอภิปรายทั่วไปเมื่อเดือนเมษายน 2567 เช่นกัน แต่ทั้งหมดนี้นายกฯ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร

ไม่ใช่เพียงภาคเกษตรเท่านั้นที่เราต้องเร่งดำเนินการ ภาคป่าไม้ก็ถูกเพิกเฉยไม่แพ้กัน โดยเฉพาะพื้นที่ป่าสงวนที่รัฐบาลตัดงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าภาพหลักในการดับไฟป่าในเขตป่าสงวน จาก อบต. ทั้งหมด 1,801 แห่ง ปัจจุบันได้งบประมาณเพียง 90 แห่งเท่านั้น ​

และสุดท้ายที่นายกฯ ได้พูดไว้ว่า จะคืนสุขภาพที่ดีให้ประชาชนคนไทยทุกคน แต่จนถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่มีมาตรการป้องกันหรือเฝ้าระวังโรคมะเร็งปอดจากปัญหา PM2.5 ทั้งที่ตนได้อภิปรายนำเสนอไปหลายต่อหลายครั้งว่าให้ทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยโรคที่ต้องเฝ้าระวังจาก PM2.5 ให้เพิ่มโรคมะเร็งปอดเข้าไปด้วย และเพิ่มสิทธิการตรวจมะเร็งปอดแบบ Low dose CT scan ให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบค่าฝุ่น PM2.5 มาเป็นเวลานาน

ทั้งหมดนี้หากรัฐบาลเปิดใจรับฟังและนำไปดำเนินการ วันนี้นายกฯ แพทองธารคงมีผลงานรัฐบาล 90 วันให้แถลงจริงๆ ไม่ใช่แค่จัดงานแถลงโดยไม่มีผลงาน เพื่อหนีการตอบกระทู้ในสภาแบบเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

เชียงใหม่เมืองยานยนต์ ถนนน้อย ไร้ขนส่งมวลชน

เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา

ภาพ: วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง


Summary

  • 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนรถในเชียงใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี จาก 2,228,387 คัน ในปี 2562 กลายเป็น 2,520,216 คัน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 291,829 คัน คิดเป็น 13.1% ภายใน 5 ปี หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 3.27% ต่อปี และจำนวนรถในแต่ละปีมีมากกว่าประชากรถึงเท่าตัว โดยรถมอเตอร์ไซค์ถือเป็นยานพาหนะที่มีจำนวนมากที่สุดของเชียงใหม่ในทุกปี
  • เมื่อแบ่งพื้นที่ออกเป็นกริดขนาด 1 ตร.กม. พบว่า สัดส่วนถนนเฉพาะในเขตเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่มีเพียง 5% ของพื้นที่เมืองทั้งหมด 40.22 ตร.กม. ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น (20 – 25%) ถึง 4 เท่า
  • ‘การขาดแคลนระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ’ ทำให้คนเชียงใหม่หันมาใช้รถส่วนตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหานี้ไม่ต่างอะไรจาก ‘ปมไก่กับไข่’ ที่หมุนวนเป็นเหตุและผลต่อกัน ตอกย้ำวงจรการพึ่งพารถส่วนตัวที่ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด
  • ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางในเชียงใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดยลดลงจาก 7,301 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 4,770 คัน ในปี 2566 คิดเป็นการลดลงถึงกว่า 34.7% ภายใน 5 ปี หรือลดลงเฉลี่ยปีละ 6.9% ซึ่งสวนทางกับจำนวนรถส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในจังหวัดเชียงใหม่
  • #ถ้าระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ดี หากเชียงใหม่มีระบบขนส่งสาธารณะครบวงจร พื้นที่ ‘เกินกว่าครึ่งหนึ่ง’ ของเมืองจะสามารถเข้าถึงการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะอย่างครอบคลุม

เชียงใหม่ เดี๋ยวนี้รถเยอะขนาดนี้แล้วเหรอครับ

จัดการผังเมืองไม่ได้รองรับการจราจรขนาดนี้ ตัวเมืองไม่ใหญ่แต่คนดันใช้รถเยอะ จบเลยการจราจรก็ติดขัดต่อแถว ถ้านับรถบนถนนที่เห็นยังไม่ได้ 1/4 ของรถจดทะเบียนในจังหวัดเลย รถจริง ๆ มีเยอะกว่านี้อีกมาก ๆ

ไปเที่ยวมาช่วงปี 60-62 ก็ว่าเยอะแล้วนะครับ ไปมาล่าสุดปี 66 เยอะกว่าเดิมอีก รถติดมาก ๆ

บทสนทนาจากกระทู้เว็บบอร์ดข้างต้น พร้อมคอมเมนต์ตอบกลับที่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า “เชียงใหม่รถเยอะ รถติด” นี้ถือเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี จากเมืองที่เคยเงียบสงบและมีเสน่ห์ด้วยความเรียบง่ายในความทรงจำของใครหลายคน บัดนี้กลับเต็มไปด้วยรถราที่ ‘แน่นขนัด’ และการจราจรที่ ‘ติดขัด’ จนกลายเป็นเรื่องปกติในทุกวัน ทุกแยก ทุกถนน กลายเป็น ‘ภาพจำใหม่’ ของเมือง ซึ่งทั้งคนพื้นที่และนักท่องเที่ยวต่างต้องเผชิญ จนอดที่จะสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมเชียงใหม่ถึงกลายเป็นเมืองที่รถเยอะ รถติด ขนาดนี้? แล้วเราจะหาทางออกของเรื่องนี้ได้ยังไง หรือสุดท้ายแล้ว ‘รถติด’ จะกลายเป็นวิถีชีวิตที่ทุกคนเลี่ยงไม่ได้?

เชียงใหม่เมืองรถเยอะ รถติด คิดไปเองหรือเปล่า?

“รถเชียงใหม่เยอะขึ้นจริงไหม หรือแค่คิดไปเอง?”

เชียงใหม่รถเยอะ รถติด อาจไม่ใช่แค่การ ‘คิดไปเอง’ คำตอบของคำถามนี้อาจไม่ได้อยู่แค่ในความรู้สึก เพราะถ้าหากเราลองดึงสถิติจำนวนรถจดทะเบียนสะสมของเชียงใหม่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566) จากสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ออกมาดูก็จะพบว่า จำนวนรถ ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ในเชียงใหม่นั้นเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างมีนัยสำคัญ

จำนวนรถจดทะเบียนสะสมของเชียงใหม่เทียบกับจำนวนประชากร ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566)
ปีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รย.1) รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รย.3)รถจักรยานยนต์ (รย.12)รวม (คัน)จำนวนประชากร (คน)
2562390,423295,7621,542,2022,228,3871,779,254
2563408,284304,2171,591,9832,304,4841,784,370
2564421,481312,4831,634,1382,368,1021,789,385
2565437,847320,4821,679,9932,438,3221,792,474
2566460,267327,6711,732,2782,520,2161,797,075
หมายเหตุ: ข้อมูลนี้ดึงเอาเฉพาะจำนวนรถประเภท รย.1 รย.3 และ รย.12 เท่านั้น
ที่มา: สถิติจำนวนรถจดทะเบียนสะสม สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

หากพิจารณาข้อมูลสถิติจำนวนรถจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (สะสม) ในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ตามตารางข้างต้น เราจะพบกับความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนรถในเชียงใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี จาก 2,228,387 คัน ในปี 2562 กลายเป็น 2,520,216 คัน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 291,829 คัน คิดเป็น 13.1% ภายใน 5 ปี หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 3.27% ต่อปี

และเมื่อลองนำตัวเลขนี้มาเทียบกับจำนวนประชากรเชียงใหม่ในช่วงปีเดียวกันก็จะพบว่า จำนวนรถในแต่ละปีมีมากกว่าประชากรถึงเท่าตัว และในปี 2566 ตัวเลขนี้ได้พุ่งขึ้นสูงสุดถึง 1.4 เท่า ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ หากแยกประเภทของรถออกมาดู ก็จะเห็นว่า รถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ถือเป็นยานพาหนะที่มีจำนวนมากที่สุดของเชียงใหม่ในทุกปี ด้วยจำนวนรวมมากกว่าล้านคันต่อปี คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยกว่า 69% ของรถทั้งหมดในแต่ละปี ขณะที่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล มีสัดส่วนเฉลี่ยเพียง 18% และ 13% ตามลำดับ

ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่ข้อมูลสถิติที่แสดงให้เห็นถึงจำนวนรถที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพียงอย่างเดียว แต่ยังตอกย้ำถึง ‘ความท้าทายด้านการจราจร’ ของเมืองที่เชียงใหม่กำลังเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้ในปัจจุบัน รถที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่ความรู้สึกของคนในเมืองหรือนักท่องเที่ยว ทว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ส่งผลโดยตรงต่อระบบการจราจรของเมือง ต่อทุกถนน ทุกแยก และทุกช่วงเวลาของชีวิตคนเชียงใหม่ จนอดที่จะหาคำตอบไม่ได้ว่า ทำไมรถในเชียงใหม่ถึงเพิ่มขึ้นมากมายขนาดนี้ อะไรคือปัจจัยที่ผลักดันให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่รถเยอะขึ้นทุกปีจนกลายเป็นปัญหารถติด?

เชียงใหม่ เมืองยานยนต์ ถนนน้อย

หนึ่งในปัจจัยสำคัญของปัญหารถติดในเมืองเชียงใหม่คือ ปริมาณการใช้รถส่วนบุคคล ทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่ง ‘สวนทาง’ กับสัดส่วนของถนนในพื้นที่เมืองอันน้อยนิด

จากการศึกษาของ UddC Urban Insights (2564) เมื่อแบ่งพื้นที่ออกเป็นกริดขนาด 1 ตร.กม. พบว่า สัดส่วนถนนเฉพาะในเขตเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่มีเพียง 5% ของพื้นที่เมืองทั้งหมด 40.22 ตร.กม. ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น (20 – 25%) ถึง 4 เท่า ต่ำกว่าเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ (7%) และเมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลก เช่น พอร์ทแลนด์ (47%) วอชิงตัน ดี.ซี. (43%) ชิคาโก (42%) นิวยอร์ก (28%) บาร์เซโลนา (27%) ปารีส (25%) เวียนนา (23%) และโตเกียว (20%) เป็นต้น

สัดส่วนของถนนที่น้อยเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ หากการสัญจรยังอยู่ในระดับที่ถนนสามารถรองรับได้ ทว่าในกรณีของเชียงใหม่ดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น ปัจจุบันปริมาณการสัญจรในเมืองเชียงใหม่คับคั่งเกินกว่าที่ระบบถนนจะสามารถกระจายการเดินทางได้ทัน แม้ถนนโดยมากจะเป็นประเภทหลายช่องจราจร (multilane) ที่มีจำนวนช่องจราจร 4 ช่อง ความกว้าง (รวมความกว้าง 2 ทิศทาง) เฉลี่ย 12 – 15 เมตรก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น โครงข่ายถนนที่มีความจุต่ำส่งผลให้การจราจรแออัดและติดขัดขึ้นทุกปี

หรือจะให้พูดก็คือ แม้ว่าจำนวนรถในเชียงใหม่จะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่สัดส่วนถนนซึ่งเป็นพื้นที่รองรับรถเหล่านั้นกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อย ปัจจุบัน (2566) ตัวเลขรถจดทะเบียนสะสมในเชียงใหม่พุ่งแตะ 2.5 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์ 787,938 คัน และรถมอเตอร์ไซค์ 1,732,278 คัน เมื่อเทียบกับปี 2562 ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นถึง 13.1% แต่ในทางกลับกัน สัดส่วนถนนในเมืองยังคงเท่าเดิม ซึ่งนี่ก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เมืองเชียงใหม่เผชิญปัญหารถติดในปัจจุบัน เมื่อถนนที่มีอยู่น้อยนิดต้องแบกรับรถจำนวนมหาศาลทุกวัน คำถามที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ แล้วอะไรทำให้คนเชียงใหม่หันมาใช้รถส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ?

เชียงใหม่เมืองไร้ขนส่งมวลชน (1)

หากถามว่า ‘อะไรทำให้คนเชียงใหม่หันมาใช้รถส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ?’ หนึ่งในคำตอบที่อาจหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ‘ระบบขนส่งมวลชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ และขาดความสามารถในการแข่งขันกับยานพาหนะส่วนบุคคล’ ปัญหานี้ไม่ต่างอะไรจาก ‘ปมไก่กับไข่’ ที่หมุนวนเป็นเหตุและผลต่อกัน ตอกย้ำวงจรการพึ่งพารถส่วนตัวที่ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด

แม้ใครหลายคนอยากจะใช้ขนส่งมวลชน (ขนส่งสาธารณะ) มากแค่ไหน แต่ปัญหาและความจริงที่ต้องพบเจอคือ ‘ไม่มีให้ใช้’ เชียงใหม่ยังไร้ระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและตอบโจทย์การเดินทางของคนในเมืองให้ใช้บริการ แถมยังเผชิญกับการขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี

หนึ่งในความ ‘ไม่ตอบโจทย์’ ของขนส่งมวลชนเชียงใหม่คือ ‘ระบบขนส่งในเขตเมืองไม่ได้เป็นขนส่งสาธารณะอย่างแท้จริง’ เพราะถ้าหากดูตามหลักการด้านขนส่งมวลชน คำว่า ‘การขนส่งมวลชน’ หมายถึง การขนส่งสาธารณะในเมืองที่ให้บริการขนย้ายผู้โดยสารครั้งละจำนวนมาก ๆ ไปในแนวทางที่กำหนดขึ้น ‘มีตารางการให้บริการที่แน่นอน มีเส้นทางที่แน่นอน’ ดังนั้นเมื่อเป็นแบบนี้ ‘รถแดง’ ซึ่งเป็นรถที่วิ่งรับผู้โดยสารทั่วเมืองเชียงใหม่จำนวนกว่า 2,500 คัน ก็ไม่อาจจัดว่าเป็นระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเต็มตัว เพราะรถแดงให้บริการในลักษณะ ‘ตามใจ’ ผู้ใช้บริการหรือบางครั้งตามใจผู้ขับ โดยไม่มีจุดจอดแน่นอนและไม่มีเส้นทางตายตัว เส้นทางถุกกำหนดตามความต้องการของผู้ใช้บริการแบบเดียวกันกับ ‘แท็กซี่’ ส่งผลให้การให้บริการรถแดงนั้นใกล้เคียงกับคำว่า ‘กึ่งสาธารณะ’ มากกว่าการเป็น ‘ระบบขนส่งสาธารณะ’ ที่ตอบสนองการเดินทางในเชิงโครงสร้างเมือง

ขณะเดียวกันความไม่ตอบโจทย์อีกเรื่องก็คือ ‘ราคา’ แม้ว่ามีค่าบริการเริ่มต้นจะอยู่ที่ 30 บาท ซึ่งดูเหมือนจะไม่แพงนัก แต่ด้วยต้นทุนของการประกอบการอันหลากหลาย ทั้งค่าป้าย ค่าทะเบียน ค่าภาษี ค่าคิวสัมปทาน ก็ส่งผลให้ค่าบริการแต่ละเที่ยวยังคงสูงเกินกว่าที่ผู้คนจะใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน ผลกระทบนี้ทำให้รถแดงกลายเป็นทางเลือกที่ไม่สามารถตอบสนองผู้ใช้บริการในแง่ความคุ้มค่า ผู้คนจึงยังคงหันไปพึ่งพารถส่วนตัวที่ดูเหมือนจะ ‘ถูก’ และ ‘สะดวกกว่า’ ในระยะยาว แม้จะแลกมาด้วยปัญหารถติดในเมืองก็ตาม

แล้ว ‘Chiang Mai RTC City Bus’ ล่ะ.. เป็นยังไง? หลังจากห่างหายไปกว่า 3 ปีเต็ม Chiang Mai RTC City Bus กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในช่วงปลายปี 2566 ท่ามกลางความหวังว่าจะช่วยเติมเต็มช่องว่างของระบบขนส่งมวลชนในเมืองเชียงใหม่ที่ขาดแคลนมายาวนาน แม้ว่าจะตรงตามนิยามของการขนส่งมวลชนที่แท้จริง แต่ก็ยังถือว่ายัง ‘แพง’ เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ

จากบทความ เข็นอย่างไร? ให้เชียงใหม่มีขนส่งสาธารณะเสียที โดย ปฐวี กันแก้ว ชี้ว่า แม้ RTC จะเคยถูกมองว่าเป็น ‘ความหวังใหม่’ แต่ด้วยปัญหาต้นทุนการดำเนินงานที่สูง โดยเฉพาะยุคหลัง Covid-19 ซึ่งจำนวนผู้โดยสารลดลงกว่า 2 ถึง 2.5 เท่า เหลือเพียง 102 คนต่อวัน บริษัทจึงต้องปรับค่าโดยสารจาก 30 เป็น 50 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการเดินรถที่เฉลี่ยอยู่ที่ 97.8 บาทต่อคน

เมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำที่ 350 บาทต่อวัน ค่าโดยสารนี้คิดเป็นราว 14% ของค่าแรงขั้นต่ำ* ซึ่งสูงกว่าความเหมาะสมตามการศึกษาของ TDRI ที่ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางควรอยู่ที่ไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ หรือประมาณ 35 บาท

การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ต้องเผชิญกับอุปสรรคที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ‘การรวมศูนย์อำนาจที่นโยบายถูกกำหนดจากส่วนกลางมาเป็นเวลานาน’ ก็ถือเป็นสาเหตุสำคัญซึ่งส่งผลให้การพัฒนาขนส่งสาธารณะในระดับท้องถิ่นถูกมองข้ามมานาน

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 – 7 แม้เชียงใหม่จะถูกกำหนดให้เป็นหัวเมืองภูมิภาค แต่แผนส่วนใหญ่กลับมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ เช่น ถนนและสาธารณูปโภค มากกว่าการลงทุนใน ‘ระบบขนส่ง’ แม้จะมีการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2536 แต่ความล่าช้าก็ยังเป็นอุปสรรค แม้ล่าสุดในปี 2559 สนข. ได้ศึกษาและนำเสนอโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit: LRT) แต่ปัจจุบันก็ยังรอมติคร.ในการอนุมัติก่อสร้าง

อีกหนึ่งปัญหาหลักยังเป็น ‘โครงสร้างรวมศูนย์อำนาจในการบริหารจัดการขนส่งสาธารณะเชียงใหม่’ โดยสำนักงานขนส่งจังหวัด ซึ่งเป็นศูนย์กลางในออกใบอนุญาตสัมปทานเส้นทางขนส่ง การบริหารแบบนี้ไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของการจราจรที่ขยายตัวตามแนวถนนตัดใหม่ได้ ผู้ประกอบการเอกชนมักเลือกให้บริการในเส้นทางที่มีผู้โดยสารมาก เช่น เส้นทางสถานที่ท่องเที่ยว ขณะที่พื้นที่อื่นกลับถูกละเลย ส่งผลให้ต้องใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง ซึ่งเป็นสาเหตุให้การจราจรติดขัดเพิ่มขึ้น

ท้ายที่สุด ปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ยังคงวนเวียนอยู่ใน ‘ปมโครงสร้าง’ แม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายการปรับปรุงระบบคมนาคมเชียงใหม่ แต่กลับมุ่งเน้นไปที่การสร้างถนนและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายสนามบินเชียงใหม่มากกว่าการลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้แผนพัฒนาในด้านนี้ยังคงถูกละเลย

เชียงใหม่เมืองไร้ขนส่งมวลชน (2)

หากจะสรุปปัญหาขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ให้เข้าใจง่าย คงหนีไม่พ้นคำว่า ‘ปล่อยให้แข่งขันกันเองและล้มหายตายจากไป’ จาก ‘ปมโครงสร้างทางนโยบาย’ ที่ขาดการจัดการอย่างเป็นระบบและการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังไม่มี ‘เจ้าภาพหลัก’ ในการดูแลและจัดการเรื่องขนส่งสาธารณะอย่างจริงจัง ยิ่งไปกว่านั้นยังเกิดความเหลื่อมล้ำเมื่อเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ และปริมณฑล

สถิติจำนวนรถจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก (สะสม) 2562 – 2566
ประเภทรถ25622563256425652566
รถโดยสารประจำทาง1,7651,7381,6601,5301,474
รถโดยสาไม่ประจำทาง5,5365,0604,1663,5233,296
รวม (คัน)7,3016,7985,8265,0534,770
หมายเหตุ: ข้อมูลนี้ไม่นับรวมรถโดยสารส่วนบุคคล
ที่มา: สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ และกรมการขนส่งทางบก

หากดูตามข้อมูลสถิติจำนวนรถจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก (สะสม) ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ตามตารางข้างต้น จะพบว่า ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางในเชียงใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดยลดลงจาก 7,301 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 4,770 คัน ในปี 2566 คิดเป็นการลดลงถึงกว่า 34.7% ภายใน 5 ปี หรือลดลงเฉลี่ยปีละ 6.9% ซึ่งสวนทางกับจำนวนรถส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ ถ้าสังเกตจากข้อมูลจะเห็นว่า จำนวนรถโดยสารประจำทางในเชียงใหม่มีจำนวนค่อนข้างน้อยมากเมื่อเทียบกับรถโดยสารไม่ประจำทาง น้อยกว่ารถโดยสารไม่ประจำทาง 2 – 3 เท่าในแต่ละปี ซึ่งสะท้อนถึงการขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ

ถ้าถามว่า ‘เคยมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มั้ย?’ คำตอบคือ ‘มี’ โดยในปี 2565 พรรคก้าวไกลเคยมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเรื่องการขนส่งสาธารณะ ผ่านการเสนอ ‘ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ขนส่งทางบก’ เพื่อปลดล็อกการบริการขนส่งสาธารณะในระดับท้องถิ่น โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด จากเดิมที่ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และกรรมการทั้งหมดมาจากราชการส่วนกลาง เปลี่ยนเป็น นายก อบจ. เป็นประธาน พร้อมทั้งเพิ่มตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน อบต. เทศบาล ฯลฯ อีกทั้งลดอำนาจส่วนกลางและเพิ่มอำนาจส่วนท้องถิ่น โดยให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการกำหนดค่าบริการ ออก/เพิกถอนใบอนุญาตฯ และระวางโทษผู้ได้รับใบอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ถูก ‘ปัดตก’ จากสภาฯ ไปเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ด้วยมติเห็นด้วย 151 เสียง ไม่เห็นด้วย 251 เสียง และงดออกเสียง 2 จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 404 เสียง ทำให้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวตกไปตามข้อบังคับ 134

#ถ้าระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ดี ‘ขนส่งสาธารณะ’ ทางออกปัญหารถติดและมลพิษของเมือง

ถ้าระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ดี เราคงจะได้เห็นภาพของเมืองที่ผู้คนเดินทางสะดวกและยั่งยืน ลดปัญหาการจราจรติดขัดและมลพิษทางอากาศไปได้มาก แต่คำถามคือ.. เราจะทำยังไงให้เชียงใหม่ไปถึงจุดนั้น?

หนึ่งในวิธีสำคัญคือ ‘การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น’ ด้วยการ ‘ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบขนส่ง’ เปลี่ยนจากการที่ผู้ว่าฯ เป็นประธานคณะกรรมการขนส่งประจำจังหวัด มาเป็นนายกอบจ.แทน พร้อมเพิ่มตัวแทนจากท้องถิ่น เช่น ประธานสภาหอการค้า และประธานสภาอุตสาหกรรม เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการวางแผนและบริหารระบบขนส่งที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการในพื้นที่

ขณะเดียวกัน สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ TDRI ให้สัมภาษณ์กับ The 101.World ไว้ว่า “แน่นอนว่าระบบขนส่งในเขตเมืองใหญ่ ๆ เหล่านี้ มีรากปัญหาของมันอยู่ระดับหนึ่ง ในอดีตรถเมล์ขนาดใหญ่มีอยู่บ้างและค่อย ๆ ล้มหายตายจากไป เพราะส่วนใหญ่รัฐไปกำกับเรื่องราคา ซึ่งก็มีเหตุผลว่าไม่อยากให้ประชาชนใช้รถโดยสารประจำทางในราคาแพง แต่รัฐส่วนใหญ่ไม่ค่อยอุดหนุน ถ้าขาดทุน ผู้ประกอบการก็รับไป ถ้าอยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ลดคุณภาพ ถ้าลดคุณภาพไม่ไหวก็ลดจำนวนรถ จากนั้นก็เลิกกิจการ แล้วประชาชนก็ไม่มีรถประจำทางใช้ ตรงนี้เรายังไม่มีเครื่องมือด้านการอุดหนุน ไม่มีกฎหมาย ไม่มีแพลตฟอร์มและงบประมาณไปทำ ซึ่งจริง ๆ ควรจะต้องทำ

“เมืองหลายเมืองที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น มีคนเดินทางค่อนข้างเยอะ กลับกลายเป็นว่าเราไม่สามารถพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะได้ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี จังหวัดเหล่านี้ไม่มีรถเมล์ประจำทางดี ๆ เมืองท่องเที่ยวที่มีคนเดินทางเยอะมากอย่างภูเก็ต พัทยา หรือหัวหิน ก็ไม่มีรถโดยสารสาธารณะที่เหมาะสม และผมว่านี่แหละเป็นปัญหา มันจะต้องพัฒนาให้มีรถโดยสารสาธารณะประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลกำลังทำ เช่น รถไฟทางคู่ มีสถานีรถไฟตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ แต่ยังขาดเรื่องการเชื่อมโยงในตัวเมืองอยู่ ฉะนั้นนโยบายที่อยากเห็นคือ จะทำอย่างไรให้รถโดยสารประจำทางในเขตเมืองใหญ่ ๆ ที่ควรจะต้องมี” สุเมธ กล่าว

นอกเหนือจากปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะโดยตรงแล้ว การออกแบบพัฒนาเมืองตามแนวคิด ‘การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีระบบขนส่งมวลชน’ (Transit-oriented Development: TOD) เพื่อลดการเดินทางด้วยรถส่วนตัวและเพิ่มการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อย ในบทความ Policy Brief อนาคตการเดินทางในเมืองหลักภูมิภาค จาก Mass Transit สู่ Mass Customization โดย เปี่ยมสุข สนิท ได้เสนอ ‘ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองไร้รถยนต์’ (car-free town) ซึ่งสนับสนุนการออกแบบพื้นที่เมืองตามแนวคิด TOD ดังนี้

1. ออกแบบจุดเปลี่ยนถ่ายระบบขนส่งสาธารณะให้มีความสะดวก ผู้ให้บริการขนส่งควรออกแบบวางผังภายในสถานีขนส่งมวลชนร่วมโดยมีจุดประสงค์หลัก คือ ให้ทุกองค์ประกอบของสถานีแพลตฟอร์มของแต่ละรูปแบบการเดินทางอยู่ใกล้กันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดระยะการเดิน และเพิ่มประสิทธิภาพการโอนถ่ายการเดินทาง มีการออกแบบตามหลัก universal design มีสิ่งอํานวยความสะดวกสําหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ เพื่อให้เกิดการเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานสําหรับยานยนต์สมัยใหม่ เช่น ที่ชาร์จไฟสําหรับยานยนต์ที่ให้บริการขนส่งทุกประเภท และคํานึงถึงคุณภาพชีวิตในการทํางานของผู้ให้บริการขนส่ง เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง เป็นต้น

2. ออกแบบเมืองเพื่อส่งเสริมการเดินทางแบบไร้เครื่องยนต์ เพิ่มระดับการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนด้วยการออกแบบภายในย่านให้มีลักษณะทางกายภาพที่เอื้อต่อการเดินเท้า (walkability environment) เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเดินเท้า การใช้จักรยาน รวมถึง micro mobility เข้าสู่สถานี นอกจากนี้ ควรยกเลิกที่จอดรถริมถนน (on street parking) เนื่องจากยานยนต์อัตโนมัติร่วมโดยสารไม่ต้องการที่จอดรถ มีจุดจอดเฉพาะพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวก เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่มีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลาย เช่น สกูตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่า เป็นต้น พื้นที่จอดรถจํานวนมากในเมืองจะกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพสูงสําหรับคนเมือง นอกจากนี้ ยังสามารถออกเทศบัญญัติกําหนดช่วงเวลาการเดินทางของรถประเภทต่าง ๆ ในพื้นที่เมือง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับการเดินทางแบบไร้เครื่องยนต์ทุกประเภท ให้สามารถใช้พื้นที่แต่ละส่วนบนถนนร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้เมืองหลักภูมิภาคของประเทศไทยสามารถก้าวสู่สังคมที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่เอื้อต่อประชาชนอย่างแท้จริง

ที่มา: บทความ เมื่อเจียงใหม่เฮาต้องก๋านขนส่งสาธารณะ: “บ่ายเดือนพฤษภาที่ฝนตกหนักในวันเปิดภาคเรียน” โดย The Urbanis จาก The Urbanis

แล้วถ้าเชียงใหม่มีระบบขนส่งสาธารณะครบวงจรล่ะ.. จะเป็นยังไง? จากการจำลองข้อมูลของ The Urbanis โดยอิงจากแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ และวิเคราะห์ระดับศักยภาพการเข้าถึงและการให้บริการขนส่งสาธารณะในเมืองเชียงใหม่ พบว่า หากเชียงใหม่มีระบบขนส่งสาธารณะครบวงจร พื้นที่ ‘เกินกว่าครึ่งหนึ่ง’ ของเมืองจะสามารถเข้าถึงการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะอย่างครอบคลุม ไม่ใช่แค่เดินทางที่จะสะดวกขึ้น แต่เชียงใหม่จะกลายเป็นเมืองที่มิตรกับการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การเดินเท้า รวมถึงรูปแบบการเดินทางที่ไม่พึ่งพาเครื่องยนต์อื่น ๆ เช่น การขี่จักรยาน เป็นต้น นอกจากนี้ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะยังช่วยลดปัญหาความแออัดของการจราจรและมลพิษทางอากาศ สร้างโอกาสให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนเมือง

คำถามคือ ถ้าการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจะช่วยเปลี่ยนโฉมเมืองเชียงใหม่ ลดปัญหาการจราจร มลพิษ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ขนาดนี้.. ‘แล้วทำไมภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่เร่งทำให้มันเกิดขึ้นจริงเสียที?

‘สัญญาณแห่งความหวัง’ ขนส่งสาธารณะเชียงใหม่

12 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา อบจ.เชียงใหม่ ได้จัดประชุมสภา อบจ. สมัยสามัญสมัยที่ 4 ครั้งที่ 1 ปี 2567 ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายก่อนที่ พิชัย เลิศพงษ์อดิศร จะครบวาระในตำแหน่งนายก อบจ. ในวันที่ 19 ธันวาคมนี้

ญัตติสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพิจารณาในครั้งนี้คือ ‘การอนุมัติในหลักการยื่นขออนุญาตเดินรถและประกอบกิจการขนส่งโดยสารประจำทาง (เส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางในเขตเมือง) ตามพรบ.การขนส่งทางบก 2522 และกฎกระทรวงฉบับที่ 64 (2567) 2 เส้นทาง ดังนี้

1. หมวด 1 สายที่ 20 เส้นทางสถานีขนส่งผู้โดยสารเชียงใหม่แห่งที่ 2 – ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ – ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 33.8 กม. ถนนลาดยาง

2. หมวด 1 สายที่ 18 เส้นทางสถานีขนส่งผู้โดยสารเชียงใหม่แห่งที่ 2 – สถานีรถไฟเชียงใหม่ – อนุเสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย เชิงดอยสุเทพ ระยะทาง 30.4 กม. ถนนลาดยาง

ญัตติดังกล่าวได้รับการลงมติเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกสภา อบจ. ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุม 31 คนจากทั้งหมด 42 เขต

การประชุมครั้งนี้เป็นเหมือนการ ‘ทิ้งทวน’ ของพิชัย พร้อมกับการส่งต่อความหวังของการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ เส้นทางเดินรถใหม่ทั้ง 2 เส้นนี้อาจเป็นก้าวแรกที่ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่เริ่มขยับไปในทิศทางที่ดีขึ้น

หรือนี่จะเป็น ‘สัญญาณแห่งความหวัง’ ของขนส่งสาธารณะเชียงใหม่?


อ้างอิง

Lanner Joy: ‘Papacraft’ แกลเลอรี่งานคราฟต์ในโฮมคาเฟ่แห่งความสุขของ ช้าง-ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล ที่อยากแบ่งปันพื้นที่งานคราฟต์ให้เหล่าช่างฝีมือในลำปาง

เรื่องและภาพ: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

ถ้านึกถึงที่เที่ยวในเมืองลำปาง ส่วนใหญ่คงจะนึกถึง ‘กาดกองต้า’ เป็นอันดับแรกๆ เพราะเป็นถนนคนเดินยอดฮิตในหมู่นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมและดื่มด่ำกับบรรยากาศริมน้ำวัง บนถนนตลาดเก่าในตำบลสวนดอก อําเภอเมือง จังหวัดลำปาง  เป็นย่านที่เต็มไปด้วยร้านค้า ทั้งคาเฟ่ ร้านอาหารหลากสัญชาติ และที่โดดเด่นเลยนั่นก็คือเป็นแหล่งรวมสินค้าประเภทงานฝีมือหรือที่เราเรียกกันอย่างติดปากว่า ‘งานคราฟต์’

เราเคยมาเดินเที่ยวที่กาดกองต้ากับกลุ่มเพื่อนสนิทอยู่ครั้งหนึ่งตอนปิดเทอมฤดูร้อนปี 2565 เป็นการนัดมานั่งเม้าท์มอยถึงเรื่องราวที่แต่ละคนพบเจอมาในเทอมนั้น แน่นอนว่าสถานที่ที่เหมาะสำหรับเป็นพื้นที่สนทนาของพวกเราก็คือร้านกาแฟ ซึ่งร้านที่พวกเราเลือกคือ Papacraft โฮมคาเฟ่สไตล์อบอุ่น ที่มีพื้นที่หลังร้านติดแม่น้ำวัง

แก้วเซรามิกหลายรูปทรง หลายขนาด วางเรียงกันอยู่ตรงโต๊ะหน้าร้าน ถัดเข้าไปอีกนิดมองเห็นเป็นชั้นวางที่เต็มไปด้วยเครื่องหนัง ทั้งเข็มขัด กำไล เครื่องประดับ และยังมีงานคราฟต์อีกหลายชนิดถูกจัดแสดงเอาไว้ ให้ความรู้สึกเหมือนพื้นที่แห่งนี้เป็น ‘แกลลอรีงานคราฟต์’ ถือเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจมากสำหรับคนที่ชอบดูงานคราฟต์แบบเรา

ฤดูหนาวปีนี้ เรากลับมาเยี่ยมเยือนพื้นที่แห่งนี้อีกครั้ง ครั้งนี้เรานัดพูดคุยกับเจ้าของพื้นที่ดีๆ แบบนี้อย่าง ช้าง-ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล เกี่ยวกับเรื่องราวของเขาและ Papacraft แกลเลอรีในโฮมคาเฟ่ที่เป็นแหล่งรวมงานคราฟต์ของช่างฝีมือท้องถิ่นในเมืองลำปาง

บรรยากาศของร้านยังคงให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนที่เราเคยมาเมื่อ 2 ปีก่อน นักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติแวะเวียนมาเยี่ยมชมที่นี่ พนักงานในร้านต่างยิ้มต้อนรับอย่างเป็นมิตร เช่นเดียวกับเจ้าของร้านที่รอต้อนรับเราอย่างดี เรานั่งลงคุยกันกับช้างที่โต๊ะไม้ตัวประจำของเขา

ทำความรู้จักกับช้าง นักแปลดีเด่นพ่วงตำแหน่งคราฟต์แมนสุดเก๋า

ช้างเป็นนักแปลหนังสือที่มีผลงานโดดเด่นหลายเล่มและเคยได้รับรางวัลสุรินทราชา ประจำปี 2562 จากผลงานการแปลหนังสือของเขา ช้างเล่าว่าเขาเป็นคนชอบอ่านหนังสือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การได้เรียนวิชาแปลเมื่อครั้งที่เขายังเป็นนักศึกษาการสื่อสารมวลชน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานแปลเล่มแรกของเขา

“เราเคยเรียนวิศวะ แต่ไม่เห็นภาพตัวเองตอนทำงานประจำเลย กลับกันตอนเราได้เห็นรุ่นพี่ฮิปปี้ที่เขาทำงานฝีมือแล้วไปขายตามตลาดนัด เรากลับรู้สึกว่า เราเห็นภาพเราเป็นแบบนั้นมากกว่า”

ช้างเล่าให้เราฟังว่า เขาเคยเป็นอดีตนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ที่ผันตัวออกมาตามหาความฝันที่แท้จริงของตัวเอง การใช้ชีวิตแบบ ‘ฮิปปี้’ เป็นหนึ่งในความชอบของเขา เมื่อได้คลุกคลีกับความชอบนี้ทำให้ช้างเกิดทักษะในงานฝีมือมาตั้งแต่ตอนนั้น 

“เราอยากทำงานคราฟต์ แต่เราก็กังวลตลอดว่า เราจะอยู่รอดไปกับมันได้ยังไง แล้วเราจะช่วยให้คนทำงานคราฟต์เขาอยู่ได้ได้ยังไง”

นี่คือสิ่งที่ช้างตั้งคำถามกับตัวเอง ระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงแห่งความสับสนของชีวิต 

“งานและความสุข เป็นสองสิ่งที่มันต้องไปด้วยกันให้ได้ งานที่ทำแล้วมั่นคงแต่เราไม่ได้รักมัน ทำให้ตายยังไงก็เหนื่อยอยู่อย่างนั้น มันไม่มีความสุข งานมันก็จะออกมาได้ไม่ดี แต่การได้ทำงานที่เราชอบ เรารักมันจริงๆ เหนื่อยแค่ไหนเราก็มีความสุขไปกับมันได้ ทำให้มันออกมาดีได้ เหมือนที่เรามีความสุขกับการได้แปลหนังสือในมุมเงียบๆ ของเราตอนเช้า และได้สนุกกับการนั่งทำงานคราฟต์ในตอนบ่าย แบบนี้คืองานและความสุขมันไปด้วยกันได้จริงๆ”

นักแปลและคราฟต์แมน คือสองสิ่งที่เป็นเหมือนจิตวิญญาณของช้าง เขาเล่าว่าการทำงานด้วยความรัก และความสุข เป็นสิ่งที่เสริมให้การทำงานของเขานั้นออกมาดี แต่กว่าที่เขาจะรู้จักตัวเองจริงๆ ก็ต้องผ่านการลองผิดลองถูกมามากเหมือนกัน

กว่าจะมาเป็น Papacraft บ้านที่อบอุ่นของครอบครัวนักคราฟต์

“เริ่มจากลูกชายคนเล็กของเรา ขวัญ (ต้นฝน ตั้งมหาสถิตกุล) มาชวนเราทำแบรนด์หนัง ตอนนั้นเขาเพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยปีแรก ก็มาบอกเราว่า มาทำงานหนังไปขายกันเถอะ ให้ป๊าเป็นคนทำ แล้วเขาจะเป็นคนขาย เราก็เลยทำเข็มขัดหนังให้เขาไปขาย ทำไปประมาณ 20 เส้น มันก็ไม่ได้ขายได้ง่ายๆ หรอก ก็ลองผิดลองถูกอยู่อย่างนั้น  เราก็ทำอย่างจริงจังมากขึ้น จนกลายมาเป็น Papacraft ในที่สุด”

Papacraft เป็นแบรนด์เครื่องหนังที่สองพ่อลูกร่วมสร้างมาด้วยกัน ช้างเล่าว่าการทำงานคราฟต์เป็นอาชีพของเขา มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว จากการเย็บสมุดหุ้มปกจากเศษหนังไปขายให้กับร้านขายงานฝีมือแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ครั้งแรกที่ขายได้เขาดีใจมาก และได้พัฒนาผลงานส่งไปขายอยู่เรื่อยๆ เมื่อเห็นหนทางในการสร้างรายได้ ก็เลยอยากลองออกมาทำร้านเป็นของตัวเอง ประกอบกับช่วงที่ลูกชายของเขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แล้วเกิดความคิดที่อยากจะลองทำแบรนด์เครื่องหนังพอดี จึงได้เริ่มต้นอาชีพนี้อย่างจริงจังอีกครั้ง

“เราก็หอบของไปขายตามอีเว้นท์ต่างๆ ขายเรื่อยๆ ช่วงนั้นเราก็ไปขายที่เชียงใหม่แถวนิมมาน เดินทางจากอุตรดิตถ์ไปเชียงใหม่ทุกวันอาทิตย์ที่ 4 ของเดือน ทำอยู่อย่างนั้น จนเราไม่ไหวแล้ว เราอยากมีร้านของตัวเองด้วย เลยย้ายมาอยู่ที่ลำปาง ตอนปี 2561 เพราะเราเป็นเขยลำปาง เราชอบที่ตรงนี้มาก เลยตัดสินใจแล้วว่าอยากทำร้านตรงนี้ ก็เลยค่อยๆ มาปรับปรุง จากนั้น Papacraft เลยไม่ใช่แค่ความฝันของเรา แต่มันได้กลายเป็นความฝันของครอบครัวไปเลย”

ภาพจาก Papacraft

ช้างยังเล่าอีกว่าในช่วงแรกของการทำแบรนด์เครื่องหนัง เขาได้หอบผลงานไปขายตามอีเว้นท์ต่างๆ จนเริ่มเป็นที่รู้จักขึ้นมา แต่การเดินทางไปกลับ อุตรดิตถ์-เชียงใหม่ ทุกๆ วันอาทิตย์ที่ 4 ของเดือน เป็นเรื่องที่ทำให้เขาล้าเกินไป เลยย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ลำปาง เป็นจุดเปลี่ยนของ Papacraft จากธุรกิจที่เป็นความฝันของสองพ่อลูก กลายเป็นความฝันร่วมกันของครอบครัว

“หลังจากนั้นเราก็เติบโตมาเรื่อยๆ จากทำกันเองในครอบครัวก็เริ่มมีลูกจ้าง มีทีมของเรา จากเมื่อก่อนเรานั่งทำคนเดียวบนโต๊ะเล็กๆ ตอนนี้เราได้ขยายเป็นสตูดิโอ มันเติบโตมาเยอะมากจริงๆ ถ้าให้เรานิยามสถานที่แห่งนี้ สำหรับเรามันก็จะเป็นเพียงบ้าน Papacraft ส่วนคนที่มาเยี่ยมชมพื้นที่ตรงนี้เขาก็จะเป็นเหมือนเพื่อนที่มาเยี่ยมบ้านของเรา”

คาเฟ่เป็นสิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาเติมเต็มบ้านแห่งนี้ในตอนหลัง ช้างเล่าว่าจริงๆ ในตอนแรกร้านกาแฟไม่ได้อยู่ในความคิดของเขามาก่อน แต่ที่เลือกทำเพราะว่าเขาอยากให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่แห่งนี้มีเครื่องดื่มให้ได้เลือกชิม ได้พักผ่อนไปกับบ้านของเขา 

งานคราฟต์กับลำปางในมุมของช้าง

ช้างเป็นคนกรุงเทพฯ ที่มาเรียนต่อในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาเคยได้ไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ก่อนจะย้ายมาใช้ชีวิตในบ้าน Papacraft ที่จังหวัดลำปางและตั้งใจลงหลักปักฐานกับที่นี่ เราเลยอยากรู้ว่าสำหรับช้างแล้ว เขามีมุมมองเกี่ยวกับงานคราฟต์ในจังหวัดลำปางยังไงบ้าง

“งานคราฟต์มันคืออาชีพโบราณมากเลยนะ มันอยู่มาตั้งนานแล้ว เครื่องจักสาน งานปั้น งานแกะสลัก ต่างก็เป็นงานที่คนเราทำมากันตั้งแต่โบราณมาแล้ว เพียงแต่มันไม่ได้เติบโตเท่าที่ควร รายได้จากงานคราฟต์สำหรับหลายคนมันไม่ได้มากพอที่จะเลี้ยงชีพได้ขนาดนั้น”

“เรามองว่าลำปางมันเป็นเมืองที่โรแมนติกนะ ยิ่งที่กาดกองต้าตรงนี้ ที่ริมน้ำวัง ถ้าพัฒนาให้ดีๆ ทำการสื่อสารเชิญชวนคนมาเที่ยวดีๆ มันจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โรแมนติกมากเลย นักท่องเที่ยวเขาก็จะมาเยอะ เขาก็จะมาเห็นงานเราได้เยอะขึ้น 

ช้างเล่ามุมมองเกี่ยวกับงานคราฟต์ในลำปางว่าเป็นสาขางานที่มีมาตั้งนานแล้ว และเป็นเหมือนงานที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองลำปางเลย เขาเล่าอีกว่า คนลำปางมีฝีมือด้านการสร้างสรรค์งานคราฟต์กันเยอะ แต่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนอย่างตรงจุด นอกจากนั้น สำหรับช้างแล้วเขามองว่าลำปางเป็นเมืองที่โรแมนติก หากได้รับการพัฒนาที่ดีก็อาจทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับคราฟต์และการท่องเที่ยวเติบโตอย่างเข้มแข็งมากกว่าเดิม

Papacraft กับการแบ่งปันพื้นที่แสดงสินค้าให้เหล่าคราฟต์แมนในชุมชน

ช้างเล่าเสริมอีกว่างานคราฟต์ใน Papacraft ไม่ได้มีแค่ผลงานของช้างเท่านั้น เขาได้จัดสรรค์ที่แห่งนี้ไว้เพื่อให้คราฟต์แมนชาวลำปางคนอื่นๆ ได้มีพื้นที่สำหรับแสดงฝีมือของพวกเขา โดยช้างมองว่า ในเมืองลำปางยังมีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับคราฟต์แมนรุ่นใหม่มากนัก เขาจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยผลักดันให้คนรักงานฝีมือในลำปาง  ได้ทำงานที่รักอย่างมีความสุขเหมือนกับที่เขาได้สัมผัส

“นอกจากของเราเองเราก็เปิดพื้นที่ให้ช่างคนอื่นเขาได้มีพื้นที่ขายงานของเขา เราจัดพื้นที่ให้พวกเขา ให้ผลงานพวกเขาได้ตั้งโชว์ เพราะต้องยอมรับก่อนเลยว่ามันไม่ใช่ว่าคนทำงานฝีมือทุกคนจะมีโอกาสตรงนี้”

“งานคราฟต์มันต้องมีพื้นที่นะ แต่ว่าสำหรับพวกเราแล้วมันไม่ได้มีพื้นที่ขายให้คนที่เพิ่งเริ่มขนาดนั้น ถ้าไม่มีเครือข่ายก็เรียกว่าแทบไม่มีที่ให้ขายเลย เอาง่ายๆ ไทยเราเขายังไม่สามารถขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ในแขนงนี้ให้มันทำเงินได้มากไปกว่านี้ ไม่มีกลยุทธ์ ไม่มีวิธีในการทำให้งานนี้มันสามารถไปตีตลาดได้ขนาดนั้น งานฝีมือมันทำยากมากเลยนะ”

ก่อนแยกย้ายกันในวันนั้น เราได้พูดคุยกันต่ออีกเล็กน้อย เพราะอยากรู้ว่าสิ่งที่ช้างเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราจะอยู่รอดไปกับงานคราฟต์ได้ยังไง แล้วจะช่วยให้คนทำงานคราฟต์เขาอยู่รอดได้ยังไง” ในตอนนี้เขาได้คำตอบหรือยัง ช้างส่งยิ้มให้และบอกเราว่า 

“ก็แค่ทำในสิ่งที่เรารักและใช้ความพยายามกับมันให้เต็มที่ ทำด้วยหัวใจ สิ่งสำคัญคือการสร้างคุณค่าให้กับผลงานของเราให้มากๆ เพื่อสร้างพื้นฐานงานคราฟต์ให้มีมูลค่าที่ดี เมื่อตรงนี้มันดี งานคราฟต์ก็จะเติบโต”