Home Blog Page 7

ภาคประชาชน ร่วมฉลองวันเกิด 69 ปี ‘ป้าอัญชัญ’ ย้ำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ยังจำเป็น

22 พฤศจิกายน 2567 ที่ ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ องค์กรภาคประชาสังคม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และทัมไรท์ จัดกิจกรรมวันเกิดเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ยืนหยัดเคียงข้างอัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการกรมสรรพากร ซึ่งถูกคุมขังด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการใช้เสรีภาพในการแชร์คลิปบนโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงผลกระทบของคดี ม.112 และความจำเป็นของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน รวมถึงส่งกำลังใจให้ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน

กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ครั้งนี้ ต้องการสร้างความตระหนักรู้ในสถานการณ์ของผู้ต้องขังทางการเมือง และสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับนักกิจกรรมที่อยู่ในเรือนจำ รวมถึงส่งกำลังใจให้ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน ภายในงานประกอบด้วยการกิจกรรมร้องเพลงวันเกิดให้กับอัญชัญ ปรีเลิศ ที่ด้านหน้าทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพ ฯ และแจกไอศกรีมรส “FREE ANCHAN” ให้กับผู้ร่วมงานและประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ ส่งเสียงเรียกร้องให้ปล่อยตัวอัญชัญและผู้ต้องหาคดีทางการเมืองทุกคน นอกจากนี้ ยังมีการอ่านจดหมายจากอัญชัญที่สะท้อนถึงความรู้สึกของเธอในเรือนจำ รวมถึงบอกเล่าความสำคัญของจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ ว่ามีคุณค่าต่อผู้ต้องขังทุกคนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันพิเศษ เพราะเป็นวันเกิดของป้าอัญชัญ เราไม่ได้มาที่นี่เพียงเพื่อเฉลิมฉลอง แต่เพื่อย้ำเตือนถึงคุณค่าของสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน กรณี นางอัญชัญ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมของไทย การที่ถูกตัดสินจำคุกกว่า 43 ปี ชี้ให้เห็นว่ากฎหมายที่ทางการไทยบังคับใช้ ยังคงจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ดังนั้น กิจกรรมนี้จึงมีขึ้นมาเพื่อส่งเสียงว่า ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกคน นอกจากนี้ แอมเนสตี้ ประเทศไทยขอให้รัฐบาลพิจารณาสิ่งที่เคยสัญญากับประชาชน โดยต้องทำตามอนุสัญญาต่างๆ เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนระดับสากลที่ลงนามไว้ โดยเฉพาะอนุสัญญากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและสถานะการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHRC

“ผลการเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตามวาระปี 2568 – 2570 เมื่อเป็นเช่นนี้ทางการไทยยิ่งต้องทบทวนคำสัญญาและบทบาทหน้าที่เรื่องสิทธิมนุษยชนให้ชัดเจน แอมเนสตี้เสนอว่าทางการไทยต้องปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนมาตรฐานสากล เพื่อให้ประเทศไทยได้ยืนอยู่ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เต็มภาคภูมิ” ปิยนุชกล่าว

ขณะที่ พูนสุข พูนสุขเจริญ ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ได้ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่มากกว่าครึ่งได้รับโทษภายใต้ประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 กำลังจะถูกละทิ้งจากทั้งกระแสสังคมและผู้มีอำนาจรัฐในการพิจารณากฏหมายนิรโทษกรรม โดยพูนสุข ยืนยันถึงจุดยืนของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ที่จะต้องผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยรวมมาตราดังกล่าว

ทางด้าน จิณห์วรา ช่วยโชติ และธันยชนก ชาลีเขียว ตัวแทนของแอมเนสตี้ ประเทศไทย และทัมไรท์ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเขียนจดหมายเพื่อให้กำลังใจแก่เพื่อนในเรือนจำ ไม่ว่าสิ่งที่เขียนไปจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน การได้ส่งผ่านความรู้สึกห่วงใย การระลึกถึง เป็นเรื่องสำคัญทั้งสำหรับผู้ที่ถูกคุมขังทุกคน

แอมเนสตี้ ประเทศไทย และเครือข่ายขอให้ทางการไทยสนับสนุนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยุติการดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 โดยเน้นการแก้ปัญหาแบบ “ไม่แบ่งสี ไม่แยกฝ่าย” ครอบคลุมทุกคดี ยกเว้นกรณีเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ

สำหรับอัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการพลเรือน ถูกตัดสินจําคุก 87 ปี เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ในข้อหา ม.112 จำนวน 29 กระทง จากคลิปเสียงที่อัปโหลดและเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย โดยโทษจําคุกของเธอลดลงเหลือ 43 ปี 6 เดือนเนื่องจากรับสารภาพ พิพากษาให้จำคุกที่ทัณฑสถานหญิงกลางในกรุงเทพ ซึ่งกรณีของอัญชัญ สะท้อนให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดต่อการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง แอมเนสตี้จึงใช้วันเกิดในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ที่จะมีอายุครบ 69 ปี จัดกิจกรรมขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของผู้ที่ถูกกดขี่จากกฎหมายดังกล่าว

โดยอัญชัญถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 และถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารเป็นเวลา 5 วัน ก่อนถูกพิพากษา โดยถูกฝากขังเป็นเวลาสามปีกับ 281 วัน ในตอนแรกคดีถูกพิพากษาโดยศาลทหาร ซึ่งอัญชัญปฏิเสธคําขอประกันตัวหลายรอบ กระทั่งได้รับการประกันตัวชั่วคราวเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2561 อย่างไรก็ดี คดี ม.112 ของอัญชัญ ยังอยู่ภายใต้เขตอํานาจศาลของศาลทหารกรุงเทพ จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2562 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งให้ส่งคดีของพลเรือนในศาลทหารไปยังศาลพลเรือน (อ้างอิงจาก: International Federation for Human Rights (FIDH)

นอกจากนี้ ในปี 2567 ยังคงมีผู้ถูกคุมขังจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และการกล่าวหาจากมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างน้อย 35 คน ประกอบด้วย ผู้ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีอย่างน้อย 22 คน เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวนอย่างน้อย 16 คน และผู้ต้องขังคดีการเมืองที่มีการพิจารณาโทษแล้วจำนวนอย่างน้อย 12 คน เป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จำนวนอย่างน้อย 9 คน

จาก ‘โรงลิเก/ยี่เกไทยใต้ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา’ สู่ ‘ผามอี่เก’ ล้านนาในลุ่มแม่ระมิงค์ 

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

ศิลปะการแสดงที่ดำรงอยู่และเป็นภาพจำสำคัญซึ่งอยู่คู่สังคมไทยอย่าง ‘ลิเก’ เป็นมหรสพที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ลิเกเป็นศิลปะการแสดงที่สามารถนำเสนอเรื่องราวได้หลายรูปแบบ รูปร่างหน้าตาของผู้แสดงที่มีทั้งพระเอก นางเอก นางร้าย ตัวโกง (ตัวโจ๊ก)  ตลอดจนลีลาการร่ายรำและนาฏกรรมดนตรีที่สร้างความคุ้นชินแก่ผู้คน ศิลปะการแสดงในแขนงนี้ยังสามารถเปลี่ยนรูปกลายร่างเพื่อขยับสู่การสร้างภาพลักษณ์ด้านเสื้อผ้าและการแต่งกายให้กับศิลปะการแสดงแขนงใกล้เคียง อย่างเช่น ศิลปะการแสดงหมอลำ มีการนำเอาชุดของลิเกภาคกลางไปใส่เป็น ‘ชุดเพชร’  ในการร้องเล่นเต้นโชว์ โดยเฉพาะช่วงลำเรื่องต่อกลอน หรือช่วงการร้องหมอลำเต้ย เป็นต้น

ต้นกำเนิดของศิลปะการแสดงแขนงนี้ว่ากันว่ามีที่มาจาก ‘พิธีสวดทางศาสนา’ และ ‘การสรรเสริญต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าของชาวมุสลิมในโลกอาหรับ’ ซึ่งมีวิธีออกเสียงเรียกชื่อที่แผกเพี้ยนสืบส่งต่อกันมา ตั้งแต่ต้นทางที่เรียกว่า ‘ดฮิกริ’ (Dhikri) มาสู่คำเรียกว่า ‘ดฮิกริ’ ของชาวอิหร่านเปอร์เชียร์ ขณะที่อินเดียช่วงสมัยราชวงศ์โมกุลเรียกว่า ‘ดฮิกร’ เมื่อเผยแพร่ต่อที่เกาะสุมาตราและแหลมมลายูนานมากเข้า คนพื้นเมืองก็เรียกเพี้ยนเป็น ‘ดจิกริ’ โดยที่การแสดงเหล่านี้ล้วนใช้กลองจำพวกรำมะนาตีเข้าจังหวะ และท้ายสุดก็เข้ามาทางใต้ของไทยแถบปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ก็มีการเปลี่ยนเสียงเรียกไปตามภาษามาเลย์ท้องถิ่นว่า ‘ดจิเก’ แน่นอนว่าจากนั้นก็เพี้ยนกลายมาเป็นทั้ง ‘ดิเกร์’ หรือ ‘ดจิเก’ หรือ ‘ดิเกลอ’ เมื่อถูกเรียกชื่อตามสำเนียงไทยก็กลายมาเป็น ‘ยี่เก’ นั่นก็คงเป็นเพราะเสียงในโลกมลายู อย่างเช่น ‘ดจิ’ คนไทยมักออกเสียงเป็น ‘ฮะยี’ อันเป็นเสียงที่ออกให้ถูกได้ยาก ด้วยเหตุนี้ ‘ดจิเก’ จึงออกเสียงเป็น ‘ละยิเก’ หรือ ‘ยี่เก’ ส่วนคำว่า ‘ลิเก’ นั้นก็เพิ่งมาเรียกกันในสมัย ร.6 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2454 – 2460 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเอาวิธีการเล่นละครมาใช้ประกอบเล่นด้วย

การแสดงลิเกนั้นถือได้ว่าเป็นการแสดงที่รวมศิลปะด้านต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน อันสะท้อนถึงภูมิปัญญาทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรีและนาฏศิลป์ และมีการพัฒนารูปแบบอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองและเทคโนโลยี ขณะเดียวกันลิเกยังสามารถสร้างการเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย รวมทั้งมีการสอดแทรกความรู้ไปสู่ผู้ชม ตลอดจนมีการนำเอาข่าวสารและเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงอันเป็นลักษณะพิเศษที่สำคัญของสื่อพื้นบ้าน (Folk Media) ที่อยู่ในเทรนด์ทางวิชาการ ที่นักนิเทศศาสตร์ไทยกลุ่มหนึ่งให้ความสนใจศึกษาต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ (ผู้สนใจสามารถสืบค้นงานเหล่านี้ได้จากงานวิชาการด้านสื่อพื้นบ้านหรือสื่อวัฒนธรรมจากงานวิจัยหลายเรื่องของ รศ.ดร.กาญจนา แก้วเทพ หรืองานเขียนจากนักวิชาการผู้ได้ชื่อว่า ‘ดร.ด้านลิเก’ อย่าง ดร.โอ๋ รศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ จากภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ที่มา: https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:314067

ขณะเดียวกันงานของ สุรพล วิรุฬห์รักษ์ (2522:69) ระบุว่า มีวิกลิเกหรือโรงลิเก ปรากฏขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ โดย ‘วิก’ ที่ว่านี้เป็นการเล่นลิเกที่เก็บเงินโดยตรงจากผู้เข้าชม นอกจากนั้นยังมีการจัดลิเกเร่หากินในพระนคร และกลายเป็นมหรสพประจำจังหวัดต่างๆ ของภาคกลางอีกหลายคณะ แน่นอนว่าศิลปะการแสดงลิเกมักถูกรับรู้ในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าเป็นเสมือน ‘ภาพแทนทางวัฒนธรรม’ ของไทยในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (ภาคกลาง) ทว่าข้อเขียนนี้มีความมุ่งหมายจะชี้ให้เห็นการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมจากพื้นที่ดังกล่าวให้เข้ามาสู่ภาคเหนือตอนบนของไทย แน่นอนว่าสังคมวัฒนธรรมแบบถิ่นบ้านล้านนาโดยเฉพาะหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนต่างก็ได้มีการยอมรับ ปรับใช้ และแปรสภาพศิลปะการแสดงจากต่างถิ่น ซึ่งมีวัฒนธรรมการกินข้าวเจ้า ให้เข้ามาสู่พื้นที่วัฒนธรรมการกินข้าวเหนียวได้อย่างลงตัว

จากแขกเปอร์เซียสู่แขกอินเดียและมลายู ตลอดจนชาวนายูหรือชาวสยาม นามเรียกที่หลากหลายของชาวลิเกจึงสัมพันธ์กับการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ‘แขก’ มาสู่วัฒนธรรม ‘ไทย’ ด้วยเหตุนี้ ‘ลิเก’ (ที่ถูกทำให้เป็นไทย หรือ Thai-ization) จึงต้องมีการ ‘ออกแขก’ ด้วยนั่นเอง ขณะเดียวกันชาวมุสลิมทางภาคใต้ของไทยยังมีชื่อเรียก ‘ดิเกรย์ฮูลู’ หรือ ‘ลิเกฮูลู’ คือบทเพลงในท่วงทำนองการขับร้องกลอนสวดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สงครามในหัวเมืองมลายูเป็นเหตุสำคัญอันก่อให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐาน ชาวมุสลิมบริเวณนี้ได้ถูกเทครัวเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ แน่นอนว่าคงมีส่วนทำให้ลิเกในโลกวัฒนธรรมแขกเดินทางไหลเข้ามาสู่ภาคกลางของไทย และได้รับการพัฒนาจนเป็นลิเกที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ชาวสยามจึงเรียกตามแบบภาษาไทย โดยในระยะแรกออกเสียงว่า ‘ยี่เก’ และต่อมา ได้กลายเสียงเป็น ‘ลิเก’ (Like) ชื่อเรียกดังกล่าวนี้ก็ยังได้ขยายตัวมาถึงเขตล้านนา ซึ่งทำให้ชาวล้านนาออกเสียงตามแบบภาษาล้านนา กลายเป็น ‘อี่เก’

ทั้งนี้ สังคมล้านนาก็ได้มีการเรียนรู้ศิลปะการแสดงลิเกจากครูที่เดินทางมาจากหลากหลายพื้นที่ในภาคกลาง และได้มีการจัดตั้งคณะลิเกขึ้นจนได้รับความนิยมในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ซึ่งการแสดงลิเกนั้นถือได้ว่าเป็นมหรสพที่มักถูกว่าจ้างให้มีควบคู่กับงานเฉลิมฉลองใหญ่ตามวัดวาอาราม อย่างเช่น งานปอยหลวง จนมีคำกล่าวจากคนเฒ่าคนแก่ว่า “ลิเกคู่กับปอยหลวง” หรือ “ปอยหลวงทั้งทีก็ต้องมีลิเกมันถึงจะเหมาะเปิง” แน่นอนว่าในแต่ละภาค การแสดงลิเกจะได้รับความนิยมมากหรือน้อยย่อมขึ้นกับความเข้มแข็งของวัฒนธรรมพื้นที่นั้น ลิเกในล้านนาจึงก่อร่างสร้างพื้นที่ให้มีตัวตนขึ้นมาภายใต้กระบวนการการปรับตัวของศิลปะการแสดงลิเกให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและบริบททางสังคมวัฒนธรรม การนำเสนอให้เห็นเรื่องราวลิเกในล้านนาจึงอาจชี้ให้เห็นว่า วัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านที่ไม่ได้ถือกำเนิดบนพื้นที่ของชาวล้านนามาแต่อดีต ทว่าได้รับวัฒนธรรมจากภาคอื่น มีการปรับประยุกต์ผสมผสานด้วยภูมิปัญญาของชาวล้านนาเองจนเกิดเอกลักษณ์ขึ้นนั้นเป็นอย่างไร

จากลุ่มน้ำเจ้าพระยาสู่ลุ่มน้ำแม่ปิง : เมื่อ ‘ยี่เกไธยใต้’ กลายมาเป็น ‘อี่เกคนเมืองล้านนา’ 

ภาพลิเกทรงเครื่อง https://ich-thailand.org/heritage/detail/6291e5b7978f238e61f77c28

หลักฐานที่พบคำว่า ‘ลิเก’ ปรากฏให้เห็นเป็นที่แน่ชัดในสังคมไทยนั้น เป็นเอกสารบันทึกที่มีความเก่าแก่ที่ย้อนกลับไปประมาณปี 2423 ซึ่งตรงกับรัชสมัย ร.5 โดยได้ระบุถึงการรวมตัวกันของชาวไทยมุสลิมในกรุงเทพฯ เพื่อทำการแสดงลิเกถวายหน้าพระที่นั่งในงานบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม) ทั้งยังได้มีอรรถาธิบายจากกรมพระยาดำรงฯ เพิ่มเติมให้ทราบว่า ผู้แสดงลิเกเป็นแขกซึ่งเกิดในเมืองไทย เป็นชาวเมืองนนทบุรี ทำให้เห็นเค้าลางและต้นทางว่า ลิเกที่เป็นพิธีสวดในศาสนาอิสลามเข้ากับจังหวะรำมะนานั้น เริ่มปรากฏเป็นที่แพร่หลายในหมู่ชาวมุสลิมในกรุงเทพฯ แล้วก่อนปี 2423 (สุรพล วิรุฬรักษ์, 2539:5-7) ต่อมาจึงได้พัฒนาการแสดงให้มีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น 

ขณะที่ มนตรี ตราโมท (2497:68-69) เสนอไว้ในการละเล่นของไทยว่า เริ่มมีการแสดงพลิกแพลงออกเป็นเป็น 2 สาขา สาขาหนึ่งเรียก ‘ฮันเดาเลาะ’ แสดงเป็นชุดต่างๆ  เช่น ชุดต่างภาษา เรื่องเบ็ดเตล็ด อันเป็นต้นทางให้เกิดลิเกอีกสาขาหนึ่งเรียก ‘ละกูเยา’ ซึ่งเป็นการว่ากลอนด้นแก้กันเป็นต้นเค้าของ ‘ลิเกลำตัด’ หรือ ‘ลำตัด’ ด้วยเหตุนี้ ‘ลำตัดลิเก-ลิเกลำตัด’ นั้นจึงถือว่าเป็นญาติใกล้กันในทางศิลปะการแสดงที่ในระยะแรกเริ่มนั้นยังคงมีการใช้เครื่องดนตรีอย่างรำมะนา มีเครื่องแต่งกาย และใช้สำเนียงเจรจาเลียนแบบชาวมุสลิม รวมทั้งมีการใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดง จนกระทั่งกลายมาเป็น ‘ลิเกลูกบท’ ซึ่งรับอิทธิพลมาจากปี่พาทย์ ที่ต่อมาก็มีพัฒนาการเพิ่มเติมอีกจากการรับแบบแผนการแสดงละครนอกมาใช้ ทั้งท้องเรื่องและวิธีการเล่นอันนำมาสู่ ‘ลิเกทรงเครื่อง’ ที่มีการขยายการเล่นให้มีแบบแผนคล้ายละครรำ ตลอดจนได้มีการปฏิรูปการแต่งกายใหม่ โดยให้มีการสวมใส่ชฎาเรียกว่า ‘ปันจุเหร็จยอด’ รวมทั้งการสวมเสื้อเยียรบับ นุ่งผ้ายก สวมถุงเท้าขาว ประดับนพรัตน์ราชวราภรณ์กำมะลอ (อัจฉราวดี ม่วงสนิท, 2534:92)

ภาพเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของลิเกคณะเพชรปาณี และตรอกพระยาเพชรฯ ตรงข้ามวัดราชนัดดาราม เคยเป็นที่ตั้งวิกลิเกพระยาเพชรปาณี https://www.matichonweekly.com/column/article_11126

รูปลักษณ์ของลิเกในยุคเริ่มแรกจึงแทรกด้วยท่าทีของการเลียนแบบขุนนางช่วงสมัยร.5 ผสมผสานกับพิธีสวดของชาวไทยมุสลิม จนนำมาสู่ศิลปะการแสดงและวัฒนธรรมดนตรีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ‘ลิเก’ จึงเป็นการศิลปะแสดงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และก่อเกิดประโยชน์ในทางพาณิชย์ เมื่อลิเกได้รับความนิยม ขุนนางสยามจำนวนหนึ่งจึงได้เปิดโรงลิเกหรือวิกลิเกเก็บเงินเข้าชม โดยโรงลิเกที่มีชื่อเสียงและเป็นแห่งแรกในช่วงปี 2439 – 2441 คือ โรงลิเกพระยาเพชรปาณี (ตรี) ตั้งอยู่ภายในบ้านของพระยาเพชรปาณี หน้าวัดราชนัดดาราม กรุงเทพฯ เริ่มแรกทำการแสดงยังไม่มีท่ารำ ต่อมาพระยาเพชรปาณีได้ไปขอตัวละครจากโรงละครของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล 2364 – 2437) ให้มาถ่ายทอดท่ารำและคิดค้นเครื่องแต่งตัวขึ้นมาใหม่ รวมทั้งการใช้ปี่พาทย์แทนกลองรำมะนาในการบรรเลง นอกจากนี้ยังได้มีการเริ่มใช้ผู้หญิงแสดง โดยปรับให้มีบทแสดงในรูปของละคร เรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ที่มีการนำเอาเค้าโครงเรื่องจากละครนอก เรื่องแรกที่ได้ทำการแสดงคือ ลักษณวงศ์ รวมไปถึง พระไชยเชษฐ์ แก้วหน้าม้า เกศสุริยง มณีพิชัย คาวี และอิเหนา เป็นต้น ภายหลังจากการเปิดโรงลิเกของพระยาเพชรปาณี ก็ได้ปรากฏชื่อโรงลิเกที่เหล่าบรรดาขุนนางจำนวนหนึ่งเป็นเจ้าของเปิดติดตามกันมาอีกหลายโรง เช่น โรงลิเกขุนวิจารณ์ โรงลิเกหม่อมสุภาพ กฤษดากร (หม่อมในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ตั้งขึ้นประมาณปี 2447) โรงลิเกหลวงสันทนาการกิจ และโรงลิเกบ้านข้าวหลาม เป็นต้น (สุริยา สมุทคุปติ์ พัฒนา กิติอาษาและศิลปกิจ ตี่ขันติกุล, 2541)

ความนิยมที่มีต่อคณะลิเกในพระนครมีมากขึ้นจนทำให้มีคณะลิเกที่ตั้งขึ้นตามมาอีกหลายคณะออกเร่เปิดวิกเพื่อทำการแสดงไปตามงานวัดหรือโรงบ่อนพนันในพื้นที่หัวเมืองต่างๆ ทั่วไปอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันช่วงเวลานี้ เจ้านายชั้นสูงในประเทศราชล้านนาที่ติดต่อกับกรุงเทพฯ ก็ได้มีการรับรู้ถึงการเกิดขึ้นของลิเก ถึงแม้ว่าขณะนั้นยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการเดินเร่ขึ้นมาเปิดวิกแสดงลิเกถึงในหัวเมืองประเทศราชล้านนา ทว่าข้อความที่ปรากฏในวรรณกรรมคร่าวธรรม เรื่องเจ้าหงส์หิน อันเป็นผลงานการรจนาโดยเจ้าสุริยวงศ์ (เจ้าน้อยคำตัน สิโรรส 2400 – 2478) แห่งนครเชียงใหม่ ซึ่งบทประพันธ์เรื่องดังกล่าวนี้มีขึ้นในปี 2444 ก็ได้มีการกล่าวถึงการแสดงลิเกไว้ในตอนที่หกกุมารพาเจ้าย่ากลับเมือง 

ถ้อยความดังกล่าวนำเสนอฉากงานมหรสพเพื่อสมโภชน์ตามท้องเรื่องที่ถอดความหมายได้ว่า                “เสนาออกไปป่าวประกาศ พวกนักดนตรีพาทย์ฆ้อง และนักดนตรีที่เล่นเครื่องดนตรีต่างๆ ก็ตั้งใจฝึกซ้อมไม่ว่างเว้น โนราห์ ละคร ฟ้อนรำ ช่างซอ ต่างเตรียมเรื่องที่จะเล่น ยี่เกนั้นก็โห่ร้อง มีครบทุกภาษา วงเล่นถั่วโป ลูกเต๋าก็ตั้งไว้เรียงราย มีทั้งฟ้อนพม่าและเงี้ยว เสียงกลองมองเซิงคราคร่ำ มีการแสดงการตีลังกา วิ่งฉวัดเฉวียน” และความตามท้องเรื่องนี้ก็ได้มีการจัดมหรสพสมโภชน์ที่ปรากฏเรียกชื่อว่า ‘ยี่เก’ ตามแบบสยามอีกด้วย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ความในคร่าวซอนี้บ่งชี้ว่า มีความรับรู้ถึงการแสดงยี่เกหรือลิเกของผู้คนที่อาศัยในดินแดนล้านนาแล้ว (ส่วนจะแค่รับรู้ว่ามียี่เกหรือมียี่เกแสดงให้เห็นจริง ก็คงสุดแล้วแต่การตีความ ทว่าคนรับรู้ว่ามีศิลปะการแสดงแขนงนี้อยู่อย่างแน่นอน และก็คงรู้จักกันมาตั้งแต่ปี 2444 แล้ว) ทว่าคงมิอาจทราบได้อย่างแน่ชัดว่า เขาแสดงยี่เกหรือลิเกกันแบบไหน ส่วนจะเป็นลิเกบันตนที่ใช้กลองรำมะนาตีประกอบ หรือเป็นลิเกลูกบทที่ใช้ปี่พาทย์บรรเลงประกอบนั้น ในเอกสารข้างต้นกลับไม่พบการอธิบายแต่อย่างใด

ราวช่วงทศวรรษ 2450 เจ้าดารารัศมี (2416 – 2476 ราชธิดาพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนและพระราชชายาในรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี) ได้ทรงโปรดให้มีการนำคณะลิเกไทยขึ้นมายังนครเชียงใหม่ เพื่อทำการแสดงในงานฉลองกู่พระอัฐิเจ้าหลวงเชียงใหม่ วัดสวนดอกเมื่อปี 2452 เป็นครั้งแรกจำนวน 2 โรง พร้อมกับการแสดงของจีนและสยามแบบอื่นๆ เช่น งิ้ว 2 โรง ลำตัด และเพลงฉ่อย โดยทำการแสดงเป็นระยะเวลา 15 วัน 15 คืน ระหว่างวันที่ 15 – 30 ตุลาคม 2452 โดยเมื่อคณะลิเกแสดงในงานฉลองกู่พระอัฐิเจ้าหลวงเชียงใหม่เสร็จแล้ว สันนิษฐานว่า ไม่ได้เดินทางกลับทันที แต่ยังคงเปิดโรงทำการแสดงตามเส้นทางที่กลับ ซึ่งคงจะทำให้ชาวจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนได้ชมการแสดงลิเกอย่างกว้างขวาง โดยหลังจากนี้จึงเริ่มมีคณะลิเกแบบสยามออกเร่ขึ้นมาเปิดวิกทำการแสดงในล้านนาเป็นระยะ จนกลายเป็นมหรสพชนิดใหม่ที่ได้รับความนิยมของชาวล้านนา โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จนกระทั่งอีก 5 ปีต่อมา ทรงเสด็จกลับมาประทับที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นการถาวร

ปี 2457 เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ได้เสด็จกลับมาประทับอยู่จังหวัดเชียงใหม่เป็นการถาวร ประกอบกับ ครูรอด อักษรทับ (2431 – 2517) พร้อมกับ ครูชั้น อักษรทับ (สุนทรวาทิน) ผู้เป็นภรรยาก็ได้เดินทางเสี่ยงโชคด้วยรถไฟสายเหนือถึงจังหวัดนครสวรรค์ หลังจากนั้นจึงต่อขบวนถึงสถานีรถไฟลำปาง ซึ่งในขณะนั้นก็ยังคงมีการดำเนินงานเจาะอุโมงค์รถไฟขุนตาน ครูชั้นจึงเดินเท้าและผลัดกันอุ้มธิดาคนแรก (ครูเฉิด อักษรทับ) อายุ 2 ขวบ โดยได้ใช้วัวต่างบรรทุกฆ้องวง ระนาด และเครื่องใช้ต่างๆ เดินทางมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2458 ซึ่งเริ่มแรกนั้นได้เช่าบ้านข้างวิกศรีเวียง เพื่อประกอบอาชีพรับจ้างตีระนาดลิเกเล่นตามวิกลิเก ช่วงเวลาดังกล่าวก็มีคณะลิเกไทยจากภาคกลางที่เดินทางขึ้นมาเปิดวิกแสดงลิเกในภาคเหนือเป็นระยะ (ซึ่งลิเกแบบสยามหรือลิเกไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า ‘ไทย’ ในที่นี้มีความหมายเชิงพื้นที่ ตั้งแต่ข้ามเลยเขตเขาพลึงเมืองแพร่ลงไป หรือไม่ก็เลยเขตทุ่งเสลี่ยม แม่พริก หรือบ้านตากลงไปทางทิศใต้) ช่วงเวลาต่อมาก็ได้มีเสียงร่ำลือถึงมือระนาดฝีมือดีที่เล่นตามวิกลิเกไปถึงคุ้มท่าเจดีย์กิ่ว เจ้าดารารัศมีจึงรับสั่งให้ครูรอดและครูชั้นเข้าเฝ้า และรับเป็นครูดนตรีและนาฏศิลป์ เพื่อสอนเจ้านายและข้าราชบริพารภายในคุ้มท่าเจดีย์กิ่วตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ภาพ: คุ้มท่าเจดีย์กิ่ว จากบทความวิชาการ ลิเกพื้นเมืองล้านนาคณะ ส.สันคะยอม 2 อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ ครูรอดและครูชั้นซึ่งได้เป็นครูดนตรีและนาฏศิลป์ในคุ้มท่าเจดีย์กิ่วแล้วก็จึงได้มีการถ่ายทอดความรู้ที่เป็นไปทั้งตามขนบที่มีมาแต่ดั้งเดิม และการประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ อันเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยการฟื้นฟูศิลปะล้านนา ทั้งคีตการและนาฏการ ตลอดจนการยอมรับปรับปรุงศิลปะไทยภาคกลางมาเข้ามาแพร่หลายในดินแดนล้านนาให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ทั้งดนตรีไทย ปี่พาทย์ โขน หุ่นกระบอก ละคร รวมถึงลิเกอีกด้วย การเรียนรู้ศิลปะการแสดงจากคุ้มเจดีย์กิ่วแห่งนี้ก็ยังได้มีการขยับขยายไปสอนในคุ้มหลวงของเจ้าหลวงแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย (2454 – 2482) นอกจากนี้ ทั้งครูรอดและครูชั้นก็ยังได้มีการชักชวนน้องชายทั้ง 2 คน คือ จ่าโทฉัตร สุนทรวาทิน (2436 – 2486) และ ครูช่อ สุนทรวาทิน (439 – 2500) ขึ้นมาร่วมช่วยสอนดนตรีไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี 2476 เพิ่มเติมอีกด้วย โดยหนึ่งในผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดลิเกจากครูรอดและครูชั้นคือ พ่อบุญมี ปัญญายศ (2447 – 2516) บ้านล่ามช้างซึ่งเป็นต้นเครื่อง (พ่อครัว) ในคุ้มท่าเจดีย์กิ่วโดยได้ติดตามมารดาที่ทำหน้าที่เป็นนางต้นเครื่องในคุ้มท่าเจดีย์กิ่วตั้งแต่วัยเยาว์ รวมไปถึงเจ้านายหลายท่าน อย่างเช่น เจ้าน้อยคำตัน ณ เชียงใหม่  เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ (2454–2546) ครูนวลฉวี เสนาคำ (2463 – 2552) ครูขจรกลิ่นและครูสำรวย เป็นต้น

ช่วงเริ่มแรกนั้น ครูรอดและครูชั้นดำเนินการสอนให้เจ้านายฝ่ายเหนือ และข้าราชบริพารได้จัดแสดงลิเกพื้นเมืองล้านนาให้เป็นการภายใน เพื่อพระสาราญส่วนพระองค์ที่คุ้มท่าเจดีย์กิ่ว โดยมีการนำเอาเนื้อเรื่องมาจากพระลักษณ์พระราม (รามเกียรติ์) พรหมจักร หงส์หิน เจ้าเงาะนางรจนา (สังข์ทอง) และบัวระวงศ์หงส์อามาตย์ เป็นต้น ทั้งนี้ ได้มีการใช้บทร้องและบทพูดจะเป็นภาษาล้านนา (คำเมือง) ผสมภาษาไทย ขณะที่ใช้การแต่งกายด้วยการนุ่งผ้าต้อย (โจงกระเบน) และห้อยลูกเดือยประดับที่คอ โดยภายหลังโปรดให้มีการนำลิเกมาจัดแสดงในงานประเพณีบูชาเสาอินทขีลที่วัดเจดีย์หลวง ตลอดระยะเวลา 7 วัน 7 คืน เมื่อมีการรื้อฟื้นบูชา เสาอินทขีลขึ้นอีกครั้งประมาณในปี 2467 โดย พ่อบุญมี ปัญญายศ อดีตต้นเครื่อง และผู้เล่นลิเกในคุ้มท่าเจดีย์กิ่วได้รับเป็นร่างทรงของเจ้าพ่อหลักเมืองเชียงใหม่ (เสาอินทขีล) นั้นได้รวบรวมผู้เล่นลิเกในกลุ่มที่เคยเล่นในคุ้มท่าเจดีย์กิ่ว บรรดามิตรสหายและลูกศิษย์ที่เป็นร่างทรงด้วยกันมาเล่นลิเกบูชาเสาอินทขีล เชื่อมาแต่โบราณว่า สรรพวิชาทุกศาสตร์ทุกแขนงมารวมกันอยู่ในเสาอินทขีล เมื่อมีงานประเพณีบูชาเสาอินทขีล ช่างและศิลปินทุกแขนงต้องมาขอพรขอสติปัญญาจากเสาอินทขีล โดยจะมีการตั้งโรงลิเกที่ใต้ต้นไม้ยางหลวง ทางด้านทิศใต้ของหออินทขีล ด้วยมีความเชื่อสืบทอดกันมาว่า พญากุมภัณฑ์ตนด้านทิศใต้เสาอินทขีลเป็นเค้าผีครูด้านศิลปะการแสดงค่าว จ๊อย ซอ ลิเก บรรดาประรำซอ ปี่พาทย์ล้านนา และโรงลิเกพื้นเมืองล้านนา จึงมีการทำการแสดงบูชาอยู่ใกล้กับพญากุมภัณฑ์ตนอยู่ด้านทิศใต้ ส่วนพญากุมภัณฑ์ตนทิศเหนือเป็นเค้าผีครูสล่างานช่างฝีมือ บรรดาช่างฝีมือทุกแขนงจึงจะมาไหว้พญากุมภัณฑ์ตนด้านทิศเหนือ โดยมี พ่อครูคำสุข คณะแห่ปี่พาทย์ล้านนาวงเชียงยืน บ้านเชียงยืน (ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่) เป็นผู้รับหน้าที่ตีระนาดลิเก แต่แล้วการแสดงดังกล่าวได้ว่างเว้นไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี 2483 – 2488

ขณะเดียวกัน ลิเกจากภาคกลางหลากหลายคณะก็ยังคงเดินทางออกเร่ขึ้นมาทำการแสดงและตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนเป็นระยะ โดยได้สร้างความนิยมเพิ่มมากขึ้นให้กับผู้คนในท้องถิ่นในช่วงระยะเวลา 2 – 3 ทศวรรษ หลังจากการเข้ามาของลิเก ซึ่งทำให้ก่อเกิดมีคนท้องถิ่นสนใจฝึกหัดเล่นลิเก จนสามารถตั้งคณะลิเกพื้นเมืองล้านนาของคนท้องถิ่นจำนวนหลายสิบคณะในเวลาต่อมา และจำนวนหลายคณะนั้นยังคงสามารถสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน งานวิจัยเรื่อง ค่านิยมทางสังคมและศาสนาต่อการแสดงลิเกในล้านนา ของ อรัญ ยูแบงค์ และ สมคิด ชัยวัฒน์ (2530) พบว่า ครูสะอิ้ง โสพิศ เดิมเป็นนายทหาร และเคยสังกัดกรมศิลปากร เป็นคนแรกที่นำเอาลิเกคณะศรีประเสริฐจากภาคกลางมาแสดงยังล้านนาประมาณปี 2470 – 2472 โดยวิกแห่งแรกที่ครูสะอิ้งได้ทำการแสดงคือ บ้านร่องเชี่ยว ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน จากนั้นจะมีคนที่ชื่นชอบลิเกไปขอเรียนรู้การเล่นลิเกจากครูสะอิ้ง ซึ่งภายหลังได้สมรสกับ นางพุด ธรรมเสนา และตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านร่องเชี่ยว ลำพูน โดยได้มีการถ่ายทอดการเล่นลิเกให้คนท้องถิ่นในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ ต่อจากนั้นลูกศิษย์ของเขายังออกไปสอนลิเกกับคนอื่นในชุมชน และก่อตั้งคณะลิเกขึ้นด้วย จนคนในท้องถิ่นสามารถตั้งคณะลิเกขึ้นเอง ทั้งนี้ ลิเกท้องถิ่นที่ตั้งขึ้นใหม่เมื่อทำการแสดงบางคณะยังคงใช้ภาษาไทยตามแบบครูลิเกภาคกลาง และบางคณะก็ปรับเป็นภาษาล้านนา กล่าวได้ว่า ลิเกพื้นเมืองล้านนามาจาก 2 สายธาร กล่าวคือ เป็นทั้งลิเกที่สืบทอดปรับมาจากคณะลิเกพื้นเมืองสยามที่ขึ้นมาเปิดวิกแสดง และสืบทอดมาจากคุ้มท่าเจดีย์กิ่วที่ปรับโดยครูดนตรีและนาฏศิลป์จากวังของเจ้านายล้านนา

การแสดงลิเกล้านนายุคแรกเริ่มนั้นไม่มีผู้หญิงแสดงลิเก เนื่องจากค่านิยมของชาวล้านนาเห็นว่า ลิเก รำวง เป็นสิ่งไม่ดี หากผู้หญิงคนไหนมาเล่นลิเกจะถูกคนรอบข้างดูถูกว่าทำตัวไม่เหมาะสม อาจเป็นเพราะการแสดงลิเกจะมีการรำเข้าพระเข้านาง ซึ่งขนบธรรมเนียมของชาวล้านนาในสมัยนั้น การที่ผู้ชายจับมือถือแขนหรือถูกเนื้อต้องตัวผู้หญิงนั้นถือว่า ผิดผี ต้องเสียผี ด้วยเหตุนี้ ลิเกล้านนาในระยะแรกเริ่มจึงจำเป็นต้องใช้ผู้ชายแสดงเป็นผู้หญิง (ตัวนาง) โดยใช้ผู้ชายที่มีลักษณะอ้อนแอ้น ตัวเล็ก หรือสาวประเภทสอง โดยเมื่อจะทำการแสดงก็จะใช้ผ้าสีดาโพกศีรษะแทนวิกผม ต่อมาเมื่อมีความนิยมลิเกมากขึ้นในเขตล้านนา ประกอบกับความเคร่งครัดเรื่องห้ามผู้หญิงแสดงลิเกคลี่คลายลงไป จึงทำให้มีผู้หญิงกล้าเข้ามาฝึกหัดแสดงลิเกลิเกล้านนาจึงพัฒนามาเป็นลิเกชายจริงหญิงแท้

เมื่อเกิดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวลิเกไม่สามารถทำมาหากินได้ แหล่งบันเทิงปิดตัวลง เศรษฐกิจฝืดเคือง ทำให้ชาวลิเกจากคณะต่างๆ จำต้องอพยพไปสู่จังหวัดอื่นของประเทศ เมืองเชียงใหม่จึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ชาวลิเกได้โยกย้ายมาตั้งหลักแหล่ง อดีตที่ผ่านมา ล้านนาเป็นภูมิภาคที่สื่อบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ยังไม่มีโอกาสเข้าถึง โดยเฉพาะสื่อบันเทิงที่มีรูปแบบนำเสนอเป็นเรื่องราวให้กับกลุ่มเกษตรกรได้ชม ดังนั้น เมื่อลิเกจากภาคกลางได้แพร่กระจายเข้ามาสู่ดินแดนล้านนา จึงได้มีการปรับรูปแบบการแสดงลิเก และประยุกต์ให้เข้ากับรสนิยมของคนล้านนา เพื่อให้ผู้ชมมีความสุขกับการชมเรื่องราวที่เป็นวรรณกรรมชาดก เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ลิเกเป็นศิลปะการแสดงที่มีรูปแบบการนำเสนอเรื่องราวที่เข้าถึงประชากรระดับเกษตรกรได้ดี และสามารถปรับตัวได้ทุกสถานที่ ทุกสถานการณ์ จึงได้รับความนิยมในฐานะสื่อบันเทิงที่ครองใจคนล้านนาได้อย่างดี

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ชาวบ้านชาวเมืองกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ การแสดงลิเกจึงเริ่มกลับมาได้รับความนิยมในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงอีกครั้ง มีการตื่นตัวของวงการแสดงลิเกในระยะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มีคณะลิเกจากสุโขทัยและหลายจังหวัดในภาคกลางได้เดินทางมาเปิดโรง เพื่อทำการแสดงในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนเป็นระยะ รวมทั้งมีสมาชิกคณะลิเกและวงดนตรีไทยจากภาคกลางหลายคน ทั้งจากพิจิตร สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ต่างก็ได้เสี่ยงโชคเดินทางขึ้นมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ชาวบ้านในเชียงใหม่และลำพูนจำนวนหนึ่งที่มีความสนใจจึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ร่วมเล่นลิเก หรือเรียนตีระนาดลิเกด้วย ภายหลังลูกศิษย์ที่เป็นคนในท้องถิ่นได้มาจัดตั้งคณะลิเกขึ้นเองอีกหลายคณะในช่วงทศวรรษ 2490 – 2500 หลังจากนั้น ผู้แสดงที่เป็นคนพื้นเมืองในล้านนา ซึ่งมีประสบการณ์ทางด้านการแสดงลิเก จึงได้ตั้งคณะขึ้นมา และแสดงตามสถานที่ต่างๆ จากการนำเสนอการแสดงรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมาก่อนดินแดนล้านนา อีกทั้งสื่อความบันเทิงของชาวล้านนามีเพียงละครซอ ซึ่งมีการดำเนินเรื่องคล้ายกับละครร้อง จึงทำให้ลิเกมีการผสมผสานกับละครซอของล้านนาเข้ามาเพิ่มเติมอรรถรสในการรับชมอีกด้วย

ภาพแผนผังสืบสายครูลิเกพื้นเมืองล้านนาของคณะ ส.สันคะยอม 2 จากบทความวิชาการ ลิเกพื้นเมืองล้านนาคณะ ส.สันคะยอม 2 อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

ขณะเดียวกัน งานวิจัยของมหาวิทยาลัยพายัพ พบว่า ในช่วงทศวรรษ 2500 ที่ลิเกได้รับความนิยมสูงสุดในล้านนา มีคณะลิเกที่ตั้งขึ้นใหม่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนมากถึงจำนวน 180 – 200 คณะ โดยบรรยากาศความนิยมชมการแสดงลิเกมีมากขึ้นในช่วงปี 2498 พ่อน้อยแสน เตจ๊ะ (ประมาณปี 2469 – 2538) บ้านสันคะยอม ตำบลมะขามหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ชักชวนเพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้องเริ่มฝึกเรียนลิเกที่วัดสันคะยอม โดยเชิญพ่อมอย (เกิดช่วงทศวรรษ 2410) บ้านหลังตลาดสันป่าตอง พ่อน้อยโม่ง (พ่อหนิ้วโม่ง) และ พ่อมา ลิเกรุ่นเก่าที่ใช้ภาษาล้านนาเป็นครูผู้ฝึกสอนลิเกโดยไม่มีค่าจ้างสอน เมื่อเริ่มเรียนพ่อมอยเป็นผู้ขึ้นขันตั้งครูลิเกให้ แล้วจึงสอนพื้นฐานการเล่นลิเก สอนร้องเพลงพื้น สอนค่าวจ๊อย และสอนฟ้อนรำ โดยเมื่อเรียนลิเกจนคล่องแล้ว และเป็นช่วงที่มีอายุ 21 ปี จึงได้ตั้งคณะลิเกพื้นเมืองล้านนาขึ้นในปี 2490 ชื่อว่า ‘คณะ ส.ประเสริฐศิลป์’ ซึ่งมีจุดเด่นและเอกลักษณ์อยู่ที่การใช้ภาษาและเพลงพื้นเมืองในการแสดง ตลอดจนใช้การขับขานล้านนาประเภทคร่าวจ๊อยประกอบการแสดง ซึ่ง คณะ ส.ประเสริฐศิลป์ ได้รับการแสดงอยู่ประมาณ 7 ปี จึงได้ยุบคณะเลิกทำการแสดงในปี 2497 แม้ภายหลังมีการก่อตั้งคณะลิเกจากเหล่าบรรดามิตรเพื่อนและเครือข่ายลูกศิษย์เกิดขึ้นตามมาอีกหลากหลายคณะด้วยกัน เช่น ‘ส.สามัคคีบันเทิงสันคะยอม 2’ ที่ภายหลังได้ลดชื่อให้สั้นลงเป็น ‘ส. สันคะยอม 2’ ทั้งยังได้วาดผ้าฉากลิเกขึ้นใหม่ซึ่งทำให้คณะลิเก ส.สันคะยอม 2 เป็นที่ประทับใจของผู้ชม ในยุคนั้นจนมีคำกล่าวว่า “ตั้งแต่ประตูเชียงใหม่ล่องลงมาถึงดอยหล่อ คณะลิเก ส.สันคะยอม 2 เป็นอันดับ 1” ซึ่งได้มีผลให้คณะลิเก ส.สันคะยอม 2 ขยายจำนวนสมาชิกร่วมแสดงให้มีมากขึ้น โดยแต่ละงานไม่ต่ำกว่า 50 คน ต่อมา พ่อทองสุข ชุมภูศรี อายุได้ 28 ปี ได้รู้จักกับ พ่อบุญมี ปัญญายศ ร่างทรงเจ้าพ่อหลักเมืองเชียงใหม่ (เสาอินทขีล) จึงได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์เพื่อเรียนลิเกตามแบบฉบับคุ้มท่าเจดีย์กิ่วที่พ่อบุญมีได้รับถ่ายทอดมาจากพ่อครูรอด – แม่ครูชั้น ครูสอนดนตรีและนาฏศิลป์ไทยประจำคุ้มท่าเจดีย์กิ่วของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา เมื่อครั้ง พ่อบุญมีปฏิบัติหน้าที่เป็นต้นเครื่อง และเล่นลิเกภายในคุ้ม (ลิเกล้านนา ลิเกพื้นเมืองประยุกต์ คณะ ส.สันคะยอม 2 https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=1508427169207279&id=100001200303068&rdid=oHiXJV7nJOHguW3M)

ภาพการแสดงของคณะลิเก ส.สันคะยอม ปี 2542 จากบทความวิชาการ ลิเกพื้นเมืองล้านนาคณะ ส.สันคะยอม 2 อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

ประมาณปี 2500 เป็นปีที่ลิเกรุ่งเรืองที่สุดในล้านนา มีคณะลิเกที่เกิดขึ้นถึง 18 – 20 คณะ ปรากฏตามงานวิก งานฉลองวัด งานฉลองโรงเรียน และอื่นๆ จะมีงานแสดงประจำปีละ 200 – 500 ครั้ง ในช่วงเดือนพฤษจิกายน – มิถุนายน ปัจจุบันไม่มีลิเกวิกอยู่แล้ว คงมีแต่เล่นลิเกในงานพิเศษเช่นงานประจำปี งานฉลองวัด งานฉลองโรงเรียน งานประเพณีประจำปีต่างๆ ซึ่งลิเกมีการแสดงลดจำนวนลงเหลือเพียงปีละ 30 – 40 ครั้ง สาเหตุที่ทำให้ลิเกลดลง เพราะอิทธิพลของโทรทัศน์ วีดีโอ ที่ใช้ เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา (อรัญ ยูแบงค์และสมคิด ชัยวัฒน์, 2530)

ด้วยการที่ลิเกเป็นความบันเทิงที่เข้าถึงทุกคน และได้รับความนิยมอย่างมากในเขตล้านนา ทำให้มีความต้องการคณะลิเกและผู้แสดงลิเกเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีคณะลิเกและผู้แสดงลิเกจากภาคเหนือตอนล่างคือ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เข้ามาแสดงในเขตล้านนา นักแสดงหรือคณะลิเกในล้านนาเรียกนักแสดงและคณะลิเกกลุ่มนี้ว่า ‘ลิเกใต้’ ซึ่งนักแสดงลิเกและคณะลิเกกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่บริเวณ ถนนช้างคลาน ถนนลอยเคราะห์ ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ เช่น คณะลิเกสมัยสามัคคี คณะลิเกพุทธชาติ คณะลิเกวิสุทธิศิลป์ คณะลิเกชาติชายศิลป์ ส่วนคณะลิเกมะลิวัลย์ฉายรัศมีตั้งอยู่ที่บ้านสันต๊กโต ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยสารพัดช่าง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก มีชัยนาฏศิลป์ Fc.

ส่วนคณะลิเกล้านนาหรือ ‘ลิเกเหนือ’ จะอยู่แถวอำเภอรอบนอก เช่น คณะลิเกมีชัยนาฏศิลป์ ซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อ คณะลิเกศรีประเสริฐ คณะลิเกแก้วเสียงทอง อยู่ที่อำเภอหางดง คณะลิเกสันคะยอม 2 (https://www.facebook.com/like.khna.s.san.kha.yxm.sxng) คณะลิเกสุทัศน์ศิลป์ คณะลิเกสมานนาฏศิลป์ อยู่ที่อำเภอสันป่าตอง คณะลิเกวันชัยบารมี คณะลิเกสมชายนาฏศิลป์ คณะลิเกสุดใจนาฏศิลป์ อยู่ที่อำเภอสารภี คณะลิเกขวัญชัยนาฏศิลป์ อยู่ที่อำเภอเมืองจังหวัดลำพูน โดยราวช่วงปี 2500 – 2520 เป็นช่วงเวลาที่ชาวล้านนานิยมดูลิเกมาก งานวัดหรืองานฉลองต่างๆ ต้องมีลิเกแสดงจึงทำให้เกิดคณะลิเกในเขตล้านนาเกิดขึ้นอีกหลายคณะ แม้ช่วงเวลาที่อิทธิพลของสื่อบันเทิงสมัยใหม่ได้มีผลทำให้ลิเกเสื่อมความนิยมลง ซึ่งนับเป็นสถานการณ์ที่ลิเกล้านนาและลิเกทั่วไปเผชิญอยู่เช่นกัน นอกจากอิทธิพลดังกล่าวแล้ว ในแง่ของเนื้อหา คุณภาพการแสดง และการแข่งขันในเชิงธุรกิจ เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสื่อมถอยให้แก่ลิเกเช่นกัน 

นอกจากลิเกล้านนาจะเล่นในงานฉลองงานวัด และตามที่เจ้าภาพว่าจ้าง รวมทั้งการแสดงลิเกปิดวิกเพื่อเก็บเงินค่าเข้าชมแล้ว ลิเกล้านนายังทำการแสดงออกอากาศทางวิทยุที่เรียกว่า ‘ลิเกวิทยุ’ อีกด้วย แม้สภาพเศรษฐกิจและสังคมล้านนาในปัจจุบันมีผลทำให้คณะลิเกในล้านนาลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ หากยังคงมีคณะลิเกใหม่ที่ยังคงยืนหยัดรับงานแสดงอยู่ เช่น คณะมีชัยนาฏศิลป์ ที่มีอายุการก่อตั้งมาอย่างยาวนาน โดยมีการขยายคณะออกไปเป็นทั้งคณะมีชัยประยงค์ศิลป์ คณะมีชัยนาฏศิลป์ ส่วนบางคณะก็มีการเปลี่ยนชื่อคณะจาก คณะสมานนาฏศิลป์ เป็น คณะอุดมนาฏศิลป์ ส่วนคณะที่ก่อตั้งมานานแล้ว 6 ทศวรรษอย่างคณะ ส.สันคะยอม 2 นั้น ก็ยังคงเลือกที่จะใช้ชื่อคณะดังเดิม นอกจากนี้ยังมีคณะลิเกน้องใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างคณะ ส.สำราญศิลป์ คณะวัยรุ่นประยุกต์ดอกรักสมบูรณ์ศิลป์ ตลอดจนคณะที่มีชื่อว่าบรรเลงเพชรรุ่งโดยคณะดังกล่าวนี้เปลี่ยนชื่อมาจากคณะบรรเลงเทวฤทธิ์

แม้ลิเกในล้านนาจะผ่านช่วงเวลาแห่งความเฟื่องฟู มีคนดูติดตามมากมาย เพราะเนื้อหาสาระ ที่ลิเกสื่อออกไปเป็นสิ่งที่ต้องรสนิยมกับคนดู เนื้อเรื่องที่ลิเกนิยมแสดง มักเป็นเรื่องวนเวียนกับปัญหาชีวิต อาทิ ปัญหาเมียน้อยเมียหลวง การอิจฉาริษยา เรื่องแม่ผัวลูกสะใภ้ เป็นปัญหาที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ทำให้เวลาที่ดูลิเกแล้วสามารถเข้าถึงลิเกได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน คนกลุ่มนี้ไม่นิยมดูลิเกเพื่อใช้เป็นเครื่องบันเทิงคลายเครียด นั่นอาจเป็นเพราะลิเกยืดยาด เนื้อเรื่องซ้ำซาก พวกเขาต้องการความบันเทิงที่รวดเร็ว มีความเป็นสากลเข้ายุคเข้าสมัย ซึ่งลิเกไม่สามารถตอบสนองตรงนี้ได้

บทส่งท้าย

ข้อเขียนข้างต้นเป็นการนำเสนอให้เห็นจุดเริ่มต้นและการก่อกำเนิดลิเกในล้านนาที่ย้อนเวลาให้เห็นว่า หลายคณะนั้นมีอายุอานามมากกว่าแปดทศวรรษ ขณะเดียวกันก็พบว่า มีการทยอยตั้งคณะลิเกมาเรื่อยๆ ทำให้พบว่า กระแสการแสดงลิเกในล้านนาได้รับความนิยมมาก จนกระทั่งผู้แสดงลิเกสามารถแยกตัวจากคณะที่ตนเคยสังกัดมาสร้างคณะของตนเอง ซึ่งทำให้ลิเกล้านนามีการดำรงอยู่กับชาวล้านนามาเป็นเวลานาน ถึงแม้ว่าลิเกจะไม่ได้เป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากชาวล้านนาเอง แต่ชาวล้านนาสามารถนำลิเกมาปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับสังคมได้เป็นอย่างดี ขณะที่ลักษณะการสืบทอดของคณะลิเกที่พบในปัจจุบันนี้มีแนวทางการสืบทอด 2 รูปแบบ กล่าวคือ ทั้งการสืบทอดจากลูกหลาน เครือญาติ แบบรุ่นสู่รุ่น ถึงแม้ว่าบางคณะมีการเปลี่ยนชื่อ หรือยังคงใช้ชื่อเดิม และสืบทอดจากบุคคลทั่วไป การสืบทอดลักษณะนี้ทำให้พบว่า บุคคลทั่วไปยังมีความสนใจในด้านการแสดงลิเก ลิเกล้านนายังคงมีการดำรงอยู่ได้ต่อไปอีก

ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก ลิเกคณะ ส.สันคะยอม สอง

ลิเกล้านนาถูกสืบทอดแบบครูพักลักจำ ครูที่แนะนำหรือครูที่คอยบอกกล่าว ครูสั่งครูสอน ครูที่สอนให้ร้องสอนให้รำในด้านการแสดง จึงทำให้ลิเกล้านนามีการดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งการสืบทอดยังมีสถาบันการศึกษาที่ยังให้การสนับสนุนการเปิดชมรมลิเกในสถาบัน เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้มีการสืบทอดภายในสถาบันอีกด้วย นอกจากนั้นการสืบทอดมีทั้งการเลียนแบบการแสดงลิเกแบบภาคกลาง และรูปแบบที่ปรับประยุกต์แบบชาวล้านนาเอง เช่น การใช้ภาษาพื้นเมืองในการเจรจา ประยุกต์การซอในเรื่องราวที่ใช้แสดง ขณะเดียวกันผู้เขียนเห็นว่าแนวทางการพัฒนาของคณะลิเกในล้านนานั้นยังควรต้องได้รับพัฒนาเกี่ยวกับด้านต่างๆ เช่น เครื่องแต่งกายของผู้แสดงเพื่อให้ทันสมัย พัฒนาฉากเวที แสง สี และระบบเสียง โดยที่หลายคณะพยายามพัฒนาคณะของตนเองให้ดีที่สุด เพื่อให้มีชื่อเสียงที่ยืนยาว และเพื่อให้คณะลิเกของตนเองสามารถดำรงอยู่ได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป  รวมทั้งการพัฒนาในด้านการร้อง และท่ารำ ที่ผู้แสดงไม่ให้ความสำคัญต่อสิ่งเหล่านี้ ทำให้การแสดงลิเกจึงไม่มีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของหัวหน้าคณะลิเกควรให้ความสำคัญ ควรมีการจัดการอบรมด้านการร้องกลอนลิเก เพลงสองชั้นที่ต้องใช้ในการร้องลิเก ท่ารำ เช่น รำเพลง หรือรำตีบท เพื่อให้การแสดงออกมาสวยงาม และควรมีการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้แสดงมีความเชี่ยวชาญด้านการแสดงมากขึ้น ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับคณะตนเอง

อ้างอิง

ข้อเขียนหรือความเรียงในประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับ “ลิเกในล้านนา” ไม่ได้เกิดแต่ความคิดของผู้เขียนทั้งหมดทั้งหมดทั้งมวลโดยสมบูรณ์         แต่อย่างใด ทว่าเป็นข้อเขียนนี้ได้ก่อร่างสร้างรูปขึ้นมาจากงานวิชาการเหล่านี้ ได้แก่

[1] ธนพชร นุตสาระ. (2558). ลิเกล้านนา. กรุงเทพฯ: โครงการวิจัยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.

[2] ภูเดช แสนสาและฐิตาภรณ์ ชุมภูศรี .(2565). ลิเกพื้นเมืองล้านนา คณะ ส.สันคะยอม 2 อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่.ข่วงผญา, 16 (2) ,เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม.

[3] สุจินดา ไชยากุลสรากร. (2560).องค์ความรู้ที่เข้มแข็งในการจัดการศิลปะการแสดงลิเกล้านนา ของคณะลิเกมีชัยนาฏศิลป์ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาการจัดการศิลปะและวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

[4] สุรพล วิรุฬห์รักษ์ .(2522). ลิเก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ห้องภาพสุวรรณ.

[5] สุริยา สมุทรคุปติ์ พัฒนา กิติอาษา และศิลปกิจ ตี่ขันติกุล. (2541). แต่องค์ทรงเครื่อง:ลิเกในวัฒนธรรมประชาไทย. นครราชสีมา:ห้องไทยศึกษานิทัศน์ สำนักเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.

[6] อรัญ ยูแบงค์ และสมคิด ชัยวัฒน์. (2532). ค่านิยมทางสังคมและศาสนาต่อการแสดงลิเกในล้านนา. (รายงานผลการวิจัย). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยพายัพ.

[7] อัจฉราวดี ม่วงสนิท. (2534). “ลิเก ศิลปะติดดิน ศิลปินชาวบ้าน”. สารคดี, 2(80), หน้า 91-101.

“จุดประทีปฝ้ายตีนกา รำลึกหาแม่กาเผือก” พุทธนาฏกรรมและตั้งธัมม์หลวงในค่ำคืนยี่เป็งล้านนา

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

เวลาเย็นย่ำค่ำคืนของวันที่ 15 พฤศจิกายน(2567) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เสียงประทัดกึกก้องดังมาประปราย และค่อนข้างมีท่าทีคลี่คลายน้อยลงไปกว่าเทศกาลเดียวกันนี้เมื่อปีก่อนๆ เสียงเพลงบรรเลงจังหวะและท่วมทำนองแจ๊ะๆ ก็ยังเวียนแวะเวี่ยไว้ในโสตประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง ‘ยายแล่ม’ ของวงคันไถที่ถูกนำมาขับร้องใหม่โดย ลำไย ไหทองคำ สลับสับเปลี่ยนกับเพลงสามพี่น้องไตและแม่รำวงที่ดังข้ามทุ่งมาจากโซนชุมชน คนไทใหญ่ที่ตั้งบ้านเรือนแทรกสลับกับเหล่าเจ้าถิ่นคนเมือง ตะวันลับฟ้าลงเหลี่ยมของสันเขาดอยนางนอนเป็นสัญญาณที่ส่งบอกให้คนในหมู่บ้านเริ่มต้นตั้งขบวนแห่ ‘ไม้แคร่หลวง’ ทยอยเข้าสู่เขตวัดประจำหมู่บ้าน

ผู้เขียนรู้สึกเฉยๆ กับประเพณีงานหรือเทศกาลในหมู่บ้านของตน ซึ่งดูมีบรรยากาศอันถดถอยกร่อยลงมาก ต่างออกไปจากความมีชีวิตชีวา และภาพจำที่มีต่อประเพณีหรือเทศกาลในค่ำคืนนี้เมื่อคราวสมัยช่วงวัยเด็ก เสียงประทัดที่เบาบางและโคมลอยที่จางหายไปจากท้องฟากฟ้าน่าจะเป็นสัญญาณดีที่บอกเราเป็นนัยยะว่า “บ้านเมืองเราคงวัฒนามาถึงอีกจุดหนึ่งแล้ว” นอกเสียจากจะลอยละล่องมาจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่ประปราย ผู้เขียนจึงจับมอเตอร์ไซต์ขี่ออกจากบ้าน ณ ห้วงโมงยามนั้น ใจหนึ่งก็จดจ่อถึงวัดวาอารามที่มีการจัดงาน ‘เทศน์มหาชาติ-เวสสันดร’ ตลอดจนประประดับประดาตกแต่งซุ้มประตูป่า และขัดซุ้มราชวัตรเป็นรูปเขาวงกต ที่ทำจากไม้ไผ่ของวัดในเขตพื้นที่ชุมชนแม่สายอันเป็นถิ่นฐานที่ผู้เขียนพำนักอาศัยในปัจจุบัน ทว่าสิ่งที่พบกลับไม่มีวัดใดมีงานหรือจัดงานตั้งธัมม์หลวงและการเทศมหาชาติเลยแม้แต่วัดเดียว! ทั้งที่ไม่กี่ปีก่อนหน้าประเพณีดังกล่าวยังพอที่จะหาได้ ด้านหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า แม่สายบ้านของผู้เขียนเองอาจเพิ่งพ้าผ่านการประสบอุทกภัยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาก็เป็นได้ แต่นั่นคงไม่อาจพอที่จะเป็นสาเหตุทั้งหมดทั้งมวลของการอนุรักษ์และสืบทอด ‘จารีตฮีตฮอย’ ของถิ่นบ้านล้านนา เพราะ ‘งานลอยกระทง’ พวกท่านๆ ยังจัดกันได้เลย

ผู้เขียนเคยนำเสนอประเด็นสำคัญในข้อเขียนฉบับก่อนหน้าว่า ทุกความเชื่อ วัฒนธรรมหรือประเพณี มักมี ‘นาฎกรรม’ เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนชูโรง เพื่อสร้างความหนักแน่นเป็นแก่นสารและธำรงการรับใช้ผู้คนและสังคม ดังนั้น ฉากต่างๆ ของนาฏกรรมทางสังคมวัฒนธรรมในงานประเพณียี่เป็งของคนล้านนาในภาคเหนือนั้นจึงเน้นการเล่าเรื่องหรือเรื่องเล่าว่า ‘แม่นางกาเผือก’ ที่มีวัตถุทางวัฒนธรรมอย่าง ‘ฝ้ายตี๋นก๋า’ อันเกิดขึ้นภายใต้บริบททางสังคมวัฒนธรรมซึ่งเกี่ยวโยงกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่อ้างอิงกับ ‘นิทานพระเจ้า 5 พระองค์’ ที่มีการตั้งธัมม์หลวงหรือการเทศน์มหาชาติเป็นโครงสร้างหลักในการเล่าเรื่องราวที่อาศัย ‘วัตถุทางวัฒนธรรม’ ที่เป็นรูปธรรมเป็นสัญญะหรือภาพแทนในการทำหน้าที่สร้างความจำได้หมายรู้ และเน้นย้ำความรับรู้ให้เกิดขึ้นกับผู้คน ข้อเสนอนี้จึงเป็นเพียงแค่จุดเริ่มของหนทางการสร้างความเข้าใจใหม่ เพื่อให้เกิดคำถามในทางวิชาการเล็กๆ น้อยๆ ภายใต้ประเด็นสำคัญในทางวิชาการใหญ่ๆ มากมายที่มีต่อประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัยในถิ่นบ้านล้านนา ที่สามารถมีที่ทางอย่างเท่าเทียมบนพื้นที่สาธารณะและนโยบายการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น

ข้อเขียนนี้จึงเป็นความตั้งใจการนำเสนอประเด็น ‘การตั้งธัมม์หลวงและการเทศน์มหาชาติ’  ในค่ำคืนยี่เป็ง ซึ่งประเพณีและเทศกาลดังกล่าวนี้มีความสัมพันธ์กับความเชื่อและศรัทธาของผู้คนในสังคมล้านนา ที่มีวัฒนธรรมในการเรียนรู้ รับรู้คุณค่าทางศาสนาที่ถูกเล่าผ่านพิธีกรรม วัตถุธรรมและวัฒนธรรมที่ผู้เขียนอยากยืมแนวคิด ‘รัฐนาฏกรรม’ (Theatrical state) ที่ นิธิ เอียวศรีวงค์ (2560) ได้อ้างอิงงานของ Clifford Geertz เพื่อมาอธิบายระบบสัญลักษณ์ในพิธีกรรมและการแสดงที่เกี่ยวข้องผ่านเรื่องเล่าทางพระพุทธศาสนาซึ่งทำให้เกิด ‘โลกภายนอก’ ที่เราสัมผัสได้ เพื่อมีผลกระทบต่อ ‘โลกภายใน’ ซึ่งเป็นโลกแห่งการรับรู้และรู้สึกของพุทธศาสนิกชนคนล้านนาที่ผู้เขียนอยากเรียกว่า ‘พุทธนาฏกรรม’ (Theatrical Buddha) ข้อเขียนนี้จึงมุ่งหวังให้การเล่าเรื่องหรือเรื่องเล่าในพุทธตำนานและนิทานทางศาสนาในล้านนา ทั้งเวสสันดรชาดกและแม่กาเผือกที่มีประเพณียี่เป็งล้านนาเป็นเสมือนโรงละคร ที่บริบทสังคมวัฒนธรรมพุทธแบบล้านนาสื่อสารบางอย่างให้แก่ ‘คณะศรัทธา-ศาสนิกชน’ นั้นอาจดูเหมือนว่า เป็นเพียงแค่เปลือกหรือกระพี้ หาใช่แกนแกนกลางของธรรมะในสายตาของพุทธเถรวาทแบบสยาม ทว่าในสายตาของผู้เขียนเองกลับมองว่า ทั้งเปลือกและกระพี้ที่มีการถ่ายทอดผ่านนิทานหรือพุทธตำนานท้องถิ่น ซึ่งอาศัยประเพณีหรือพิธีกรรมเป็นโรงละครนี่แหละ ที่เป็นธรรมในระดับโลกียะธรรม ที่สัมพันธ์กับปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของผู้คน เพื่อช่วยเป็นการธำรงรักษาและตอกย้ำความหลากหลายของความเชื่อความศรัทธาที่ผู้คนในสังคมร่วมกัน ตลอดจนสร้างสังคมตามอุดมคติที่หล่อหลอมจินตนาการของผู้คนที่นำไปสู่สังคมที่สงบสุขได้   

พุทธนาฏกรรมและตั้งธัมม์หลวงเทศน์มหาชาติในค่ำคืนยี่เป็งล้านนา

การตั้งธัมม์หลวงเทศน์มหาชาติ เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวชาดกในทางพุทธศาสนาเรื่องสำคัญอันชื่อว่า ‘พระเวสสันดรชาดก’ โดยเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาดกดังกล่าวนี้มีความเกี่ยวกับพระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ศาสดาของศาสนาพุทธ โดยกล่าวถึงเรื่องราวเมื่อครั้งทรงเสวยพระชาติเป็นมนุษย์ในฐานะพระโพธิสัตว์ ก่อนที่จะกลับชาติมาเกิดอีกเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้า ทั้งนี้ ชาวพุทธมีความเชื่อว่า พระชาติของพระเวสสันดรนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีธรรมสูงสุดยิ่งกว่าในพระชาติก่อนๆ กล่าวคือ ทรงบำเพ็ญบารมีครบทั้ง 10 ประการ พระชาตินี้จึงได้รับยกย่องว่า ‘เป็นพระชาติที่ยิ่งใหญ่’ เรียกว่า ‘มหาชาติ’ และเมื่อเอ่ยถึงคำว่า ‘มหาชาติ’ ชาวไทยพุทธก็จะเข้าใจว่าหมายถึง ‘มหาเวสสันดรชาดก’

ที่มา: TSS Library

หนังสือชื่อ ‘ประวัติวรรณคดีไทย’ ของ เปลื้อง ณ นคร (2515 : 48) กล่าวถึงคำว่า ‘มหาชาติ’ นี้เป็นชาติใหญ่ ชาติสำคัญ ซึ่งเป็นได้ว่าความหมายของคำว่า ‘ชาติ’ ในอดีตดั้งเดิมนั้นเกี่ยวพันกับการกำเนิด (Born) มากกว่า Nation ด้วยเหตุนี้ มหาเวสสันดรจึงเป็นการกำเนิดอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ก่อนกลับมาเป็นพระพุทธเจ้าผู้ซึ่ง ‘รู้ ตื่น เบิกบาน’ ผ่านการตรัสรู้พระธรรมวิเศษและบรรลุพระปรินิพพานนั่นเอง ฉะนั้นเวสสันดรชาดกเป็นเรื่องราวการบำเพ็ญทานบารมีอันยิ่งใหญ่ จึงเรียกว่า ‘มหาชาติ’ แปลว่า ‘ชาติใหญ่’ ทางล้านนาเรียกว่า ‘ตั้งธรรมหลวง’ ก็คือ ‘การฟังธรรมที่ยิ่งใหญ่’ และเนื้อเรื่องก็มีความน่าติดตามและมีอรรถรสอันไพเราะ มีคติสอนใจที่เกี่ยวโยงกับการให้ทาน ความสามัคคี การสงเคราะห์ผู้อื่น และการทำตนให้เป็นประโยชน์

การตั้งธรรมหลวงหรือการเทศน์มหาชาติทางล้านนาครั้งยิ่งใหญ่จึงมักจัดให้มีขึ้นในช่วงเทศกาลเดือนยี่เป็งล้านนากำหนดตามปฏิทินสุริยคติ คือประมาณเดือนพฤศจิกายน ในท่ามกลางค่ำคืนของเทศกาลดังกล่าว วัดวาอารามหลายแห่งจึงเป็นแหล่งมหกรรมการเทศน์ใส่ทำนอง คล้ายกับการเทศน์แหล่ของภาคกลาง ทว่าทางล้านนาเรียกกันว่าเป็นการเทศน์ใส่ ‘ระบำ’ เนื่องจากการตั้งธรรมหลวงจะต้องตระเตรียมพิธีหลายประการ เช่น แต่งสถานที่สำหรับเทศน์หรือสถานที่ฟังเทศน์ให้มีบรรยากาศคล้ายกับเรื่องราวในเรื่องเวสสันดรชาดก บางแห่งจัดทำยิ่งใหญ่ มีการสร้างเขาวงกตจำลองในเขตบริเวณพิธีกรรมเรียกว่า ‘ราชวัตร’ ซึ่งจะประดับประดาด้วยพืชพันธุ์ไม้ต่างๆ มีการจัดแต่งบรรยากาศป่าหิมพานต์ตามจินตนาการ เพื่อสร้างความรู้สึกประหนึ่งว่าผู้เข้าร่วมพิธีเข้าไปสัมผัสบรรยากาศจริง ด้านในจะตั้งธรรมมาสน์สำหรับพระภิกษุผู้เทศน์ไว้ เพื่อให้ประชาชนเข้าไปกราบไหว้บูชาและเข้าฟังเทศน์ การเข้าเขาวงกตนั้นมีความเชื่อว่า ตนเองจะได้ร่วมเหตุการณ์เข้าไปในสถานที่ ซึ่งครั้งหนึ่งพระเวสสันดรโพธิสัตว์เคยประกอบคุณความดีครั้งยิ่งใหญ่ คือ การให้ทานปรมัตถบารมี แม้จะเป็นการสมมุติ ก็เป็นการระลึกในด้านคุณความดีที่จะเป็นแบบอย่างให้มีการทำความดีต่อไป อีกทั้งเป็นการน้อมศรัทธาปสาทของพุทธบริษัทให้เชื่อมั่นในคุณงามความดี โดยเฉพาะการให้ทานและสร้างทานบารมีครั้งยิ่งใหญ่ ที่พระเวสสันดรกระทำไว้ด้วยการบริจาคทานด้วยยศสมบัติ ทรัพย์สมบัติ ข้าทาสบริวาร บุตรภริยา หรือแม้แต่เลือดเนื้อ ดวงตา และชีวิต เพื่อผลทานอันยิ่งใหญ่ คือการสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณ และเผยแผ่ธรรมแห่งการหลุดพ้นนั้นแก่มวลมนุษย์

เนื้อหาของการเทศน์มหาชาติเวสสันดรมีความยาวกำหนดเป็นคาถา 1,000 คาถา จึงนิยมเรียกว่า ‘คาถาพัน’ แต่ในส่วนวรรณคดีเรื่องมหาชาตินี้ได้รับอิทธิพลจากอรรถกถาชาดก ซึ่งแต่งขึ้นภายหลังเพื่อขยายเนื้อความให้พิสดารมากขึ้น มี 13 กัณฑ์ คือ กัณฑ์ทศพร กัณฑ์หิมพานต์ กัณฑ์ทานกัณฑ์ กัณฑ์วนประเวศน์ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์จุลพน กัณฑ์มหาพน กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี กัณฑ์สักบรรพ กัณฑ์มหาราช กัณฑ์ฉกษัตริย์ กัณฑ์นครกัณฑ์ 

ทางล้านนาหรือภาคเหนือของไทยมีความเชื่อกันว่า การตั้งธรรมหรือฟังเทศน์มหาชาติเกิดจากคัมภีร์ทางศาสนาเรียกว่า ‘มาลัยสูตร’ ซึ่งมีเรื่องราวกล่าวถึงครั้งพระมาลัยเถรเจ้า พระภิกษุที่ชาวล้านนาเชื่อว่า เป็นผู้มีทรงคุณอันวิเศษสามารถท่องไปในแดนสวรรค์และนรกได้ มาลัยสูตรฉบับล้านนาแบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ ‘ปฐมมาลัย’ และ ‘ทุติยมาลัย’ แต่ชาวล้านนานิยมเรียกว่า ‘มาลัยต้น’ และ ‘มาลัยปลาย’

ปฐมมาลัยและทุติยมาลัยนั้นมีเนื้อหาที่กล่าวถึงพระมาลัยเถรเจ้าไปไหว้พระเกตุแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และได้สนทนากับพระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ ตามคัมภีร์กล่าวถึงพระมาลัยเถรเจ้านั่งอยู่เหนือแท่นหินกำพลศิลาอาสน์ อันเป็นทิพย์อาสน์แห่งพระอินทร์ ใต้ต้นปริฉัตต์หรือไม้ทองหลางทิพย์ ล้านนาเรียกว่า ‘ดอกกาสะลอง’ มีสีขาวกลิ่นหอมเบ่งบานเต็มต้น ฉะนั้นเวลามีการเทศน์มหาชาติ ชาวล้านนาจึงนิยมนำดอกบัวและกาสะลองมาปักบูชาไว้รอบธรรมาสน์ หรือนำดอกกาสะลองมาตากแห้งแล้วใส่หีบไม้ไผ่สานขัดแตะเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร แขวนบูชารอบธรรมาสน์ หลังจากพระมาลัยเถรเจ้ากลับมาจากสวรรค์ ก็ได้นำเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าให้คนทั้งหลายฟัง คนทั้งหลายที่อยากเกิดร่วมศาสนาพระศรีอาริย์จึงได้พากันฟังเทศน์มหาชาติหรือตั้งธรรมหลวงสืบมา

ที่มา: TU Digital Collections

วรรณคดีเรื่องมหาชาติฉบับภาษาบาลีเข้ามาเผยแพร่ในล้านนาเป็นครั้งแรกเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏชัด เรื่องราวของพระเวสสันดรมีกล่าวถึงอย่างย่อๆ ในชินกาลมาลีปกรณ์แต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระ ซึ่งเป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2060 และจากการสำรวจนิทานในปัญญาสชาดก พบว่า หลายตอนในวรรณคดีนิทานของล้านนาชิ้นนี้ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีมหาชาติ ในด้านแนวความคิดและโครงเรื่องเท่าที่มีการค้นพบในขณะนี้ วรรณคดีมหาชาติของล้านนามีกว่า 122 สำนวน แต่งขึ้นหลายยุคสมัย มีมากมายหลายสำนวน แต่เนื้อความและสำนวนโวหารจะไม่แตกต่างกันทั้งหมด โดย ประคอง นิมมานเหมินทร์ พบว่า กัณฑ์ที่มีผู้นิยมเพิ่มเติมและแก้ไขสำนวนโวหารมากที่สุด ได้แก่ กัณฑ์ชูชกกัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี กัณฑ์มหาราช และกัณฑ์นครกัณฑ์ ซึ่งกัณฑ์ชูชกและกัณฑ์มหาราชนั้นมีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับชูชก เวลาเทศน์ต้องการความสนุกสนานตลกคะนอง จึงเพิ่มความและใช้ภาษาเพื่อให้ถึงอกถึงใจผู้ฟังยิ่งขึ้น ส่วนกัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี จุดสำคัญอยู่ที่การเร้าอารมณ์ให้เศร้าสลดคล้อยตามตัวละคร และนครกัณฑ์ก็มีฉากที่บรรยายให้สวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ เพราะเป็นตอนที่หกกษัตริย์เสด็จเข้าสู่นคร (ประคอง นิมมานเหมินทร์,2526 : 6-7) ขณะที่สำนวนที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมใช้เทศน์ ได้แก่ สำนวน “ไม้ไผ่แจ้เรียวแดง” “อินทร์ลงเหลา” “พระยาพื้น” รวมทั้งยังมีสำนวนที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยภาคกลางแล้ว ได้แก่ สำนวน “สร้อยสังกร” (เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เพราะสะดวกแก่พระสงฆ์ที่อ่านอักษรพื้นเมืองไม่ได้) นอกจากจะมีการแต่งเวสสันดรเป็นฉบับต่างๆ แล้ว การเทศน์มหาชาติยังมีการเทศน์ธรรมที่ไม่เหมือนการเทศน์แบบปกติทั่วไปที่เรียกว่า  ‘ทำนองธรรมวัตร’ ส่วนเทศน์มหาชาติจะมีอีกทำนองหนึ่ง ไม่เรียกว่าทำนอง แต่จะเรียกว่า ‘ระบำ’ ชื่อเรียกระบำนี้จะใช้ชื่อบ้านนามเมืองหรือลักษณะเรียกตามลักษณะของระบำ และเป็นที่นิยมเฉพาะในท้องถิ่นนั้นๆ เพราะแต่ละท้องถิ่นจะนิยมระบำไม่เหมือนกัน เช่น ‘ระบำเมืองเชียงแสน’ ทางเชียงรายนิยม ‘ระบำมะนาวล่องของ’ คือ มีลีลาคล้ายกับลูกมะนาวที่ไหวเอื่อยไปตามลำน้ำของ (แม่น้ำโขง) มีจังหวะช้า เสียงทุ้ม ต่ำๆ สูงๆ เหมือนมะนาวที่ลอยน้ำ บางครั้งโดนคลื่นผลักสูงหรือบางครั้งจมลงไปใต้น้ำ ระบำประจำเมืองลำพูน – เชียงใหม่ คือ ‘ระบำน้ำตกตาด’ และ ‘ระบำพร้าวไกว๋ใบ’ มีลักษณะเหมือนน้ำฝนตกจากชายคา หยดลงมาเป็นระยะ ถี่ห่างเสมอกัน หรือจะเทียบกับการเคาะไม้เป็นจังหวะก็ได้ ส่วนระบำพร้าวไกว๋ใบ มีอาการดุจใบมะพร้าวเวลาต้องลม แกว่งเอนไปมาช้าๆ ฉะนั้นนักเทศน์จึงนิยมเทศน์เมื่อบรรยายความและฉากตื่นเต้นเร้าใจด้วยระบำน้ำตกตาด และเทศน์ฉากโศก สลด รำพัน ด้วยระบำพร้าวไกว๋ใบ ระบำประจำเมืองลำปาง คือ ‘ระบำแมลงภู่จมดวง’ มีลีลาราวกับแมลงภู่ชมเกสรดอกไม้ คือการเทศน์พุ่งตรงไปหาอักษรตัวต่อไป เป็นจังหวะเหมือนแมลงภู่ที่ดูดน้ำหวานจากดอกไม้นั้นไปดอกนั้นๆ เรื่อยไปพร้อมมีการเล่นลิ้นอย่างน่าฟังมาก ระบำประจำเมืองแพร่ คือ ‘ระบำนกเขาเหิน’ มีลีลาคล้ายกับนกเขาบินไปช้าๆ แล้วเหินตัวขึ้นบนอากาศ เวลาเทศน์ไปช้าๆ แล้วพุ่งเสียงขึ้นสูงเหมือนนกเขาเหินไม่มีผิด ระบำประจำเมืองน่าน ได้แก่ ‘ระบำช้างข้ามทุ่ง’ ลีลาช้าเนิบนาบชัดถ้อยชัดคำเหมือนจังหวะเดินของช้าง คือสม่ำเสมอ ลีลาเหล่านี้เป็นระบำประจำเมืองแต่ปัจจุบันจะมีการผสมกลมกลืนกันระหว่างระบำต่างๆ ที่ไพเราะ เช่น เทศน์ระบำมะนาวล่องของ อาจจะมีพร้าวไกว๋ใบ น้ำตกตาด หรือนกเขาเหินแทรกเป็นบางตอน

ประเพณีเดือนยี่ทางล้านนา ถือเป็นฤดูกาลแห่งงานรื่นเริงสนุกสนาน ดังนั้นในช่วงเวลาท้ายฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาวชาวบ้านจะว่างเว้นจากทำงานในไร่นา เนื่องจากได้เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว และถือโอกาสนี้ถวายผลิตผลของตนแก่พระภิกษุสงฆ์และบำรุงพระพุทธศาสนา ประเพณีเดือนยี่จึงเป็นที่เชื่อมรวมของประเพณีสำคัญหลายอย่างในล้านนา เมื่อทางวัดกำหนดวันเวลาที่จะจัดเทศน์ตั้งธรรมมหาชาติขึ้น ก็จะประชุมศรัทธาชาวบ้าน เพื่อบอกให้ศรัทธาชาวบ้านทราบว่าผู้ใดจะรับเอากัณฑ์เทศน์ใด ซึ่งมี 13 กัณฑ์ เรียก ‘จบหนึ่ง’ หรือ ‘กัปหนึ่ง’ พร้อมธรรมพิเศษอีก 8 กัณฑ์คือ ‘คาถาพัน’ ‘ปฐมมาลัยเก๊า’ ‘ทุติยมาลัยปลาย’ ‘อานิสงส์เวสสันดร’ ‘อานิสงส์ผะตี๊ด’ ‘พุทธาภิเษก’ ‘ธรรมจักร’ และ ‘ปฐมสมโพธิ’ เรียกว่า ‘ตกธรรม’ พอตกธรรมทั้งศรัทธาและพระเทศน์เสร็จแล้วก็จะมีการจัดสถานที่ โดยจะมีการขัดราชวัตร ประดับฉัตรธง ช่อน้อย ตุงไชย และรูปสัตว์บูชา ‘ช้างร้อย’ ‘ม้าร้อย’ เพื่อเอาไว้ไถ่สองพระกุมาร ตอนเทศน์กัณฑ์มหาราช รอบๆ ธรรมาสน์บุษบกปราสาท ก็จัดให้คล้ายกับป่าเขาวงกต ฝังต้นกล้วย ต้นอ้อย กุ๊ก ข่า แขวนโคมไฟ รูปต่างๆ จัดที่ตั้งกัณฑ์เทศน์ และที่ตั้งเครื่องบูชาคาถา พระเวสสันดรประจำกัณฑ์ต่างๆ ซึ่งรวมกันมีถึงพันคาถา บางทีมีเครื่องสืบชะตาก็มีการตั้งบาตรน้ำมนต์วงด้ายสายสิญจน์เรียกว่า ‘ฝ้ายมงคล’ และมีเครื่องบูชาเฉพาะอีกคือ ข้าวตอกเต็มเกวียน เทียนเล่มหมื่น ผะตี๊ดพันผาง ดอกพันดวง ช่อพันผืน ข้าวพันก้อนครั้นตกแต่งเครื่องบูชา จัดสถานที่เสร็จ เมื่อถึงวันนัดหมาย รุ่งเช้าของวันที่จะเทศน์มหาชาติก็จะเริ่มเทศน์กัณฑ์อื่นๆ ก่อนเวลาประมาณ 5 โมงเย็น จะมีการตีกลองส่งสัญญาณเพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นการเตือนศรัทธาโดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วมีการพิธี ‘ขึ้นท้าวทั้งสี่’ พอศรัทธาชาวบ้านมาพร้อมกันก็จะมีพิธีไหว้พระรับศีลเริ่มเทศน์กัณฑ์ ‘ทศพร’ เรียกตามสำเนียงท้องถิ่นว่า ‘ตัสสะปอน’ ‘หิมมะปานต์ตานะขัณฑ์’ เทศน์กัณฑ์นี้เป็นเวลารับประทานอาหารเช้า ทั้งศรัทธาเจ้าของกัณฑ์และพระภิกษุผู้เทศน์ก็ยังไม่ได้รับประทานและฉันอาหาร จึงเรียกกัณฑ์นี้ว่า ‘ตานะขัณฑ์กั้นข้าว’ แล้วต่อด้วยกัณฑ์ ‘วนะประเวศ’ ‘ชูชก’ ซึ่งเรียกอีกอย่างตามสำเนียงว่า ‘ตุ๊จก’ เป็นกัณฑ์ตลกขบขัน ตอนบ่ายก็เทศน์ ‘จุลลพน’ ‘มหาพน’ กัณฑ์นี้ส่วนใหญ่เป็นเนื้อเรื่องพรรณนาธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ใบไม้ นกกา พระยาพรหมโวหาร กวีล้านนาได้แต่งกัณฑ์มหาพนฉบับใหม่เรียกว่า ‘มหาพนตำรายา’ กล่าวถึงสรรพคุณของสมุนไพรของต้นไม้นั้นๆ ว่า ราก ใบ หัว กิ่ง ลูก เปลือก ใช้ทำยารักษาโรคใด นับว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์เกิดภูมิปัญญาตอนยอดได้อย่างน่าสรรเสริญ ผู้ฟังก็เกิดความชอบใจและเกิดความรู้ไปด้วย ต่อจากนั้นก็เป็นกัณฑ์ ‘กุมาร’ เรียกว่า ‘กุมารบรรพ์’ เป็นเวลาใกล้ค่ำ ผู้เทศน์เสียงดี ฉากนี้จะกล่าวถึงสองกุมารคือ กัณหาและชาลี อำลาป่าไม้แสดงการปริเวทนาคร่ำครวญถึงพระนางมัทรี พอจบก็พลบค่ำพอดี บ้านเรือน ครั้นช่วงเวลากลางคืนก็จะเทศน์ ‘มัทรีสักกบรรพ์’ ‘มหาราช’ ‘ฉกษัตริย์’ เรียกตามภาษาเหนือว่า ‘สักกติ’ แล้วต่อด้วยกัณฑ์ ‘นคร’ เป็นฉากที่แสดงความสงบสุขร่มเย็นเพราะเวสสันดรกลับมาเสวยเมืองดังเดิม 

ที่มา: สถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ Institute Of Thai Studies, Chulalongkorn university

ในค่ำคืนเดือนยี่เป็นการเทศน์ ‘อานิสงส์ผะตี๊ด’ ก็เป็นอีกส่วนสำคัญของพิธีกรรมในค่ำคืนดังกล่าวที่ต่างมีเรื่องราวสัมพันธ์กับพระเจ้า 5 พระองค์แบบแม่กาเผือกอันนำมาสู่ความเชื่อและวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับการจุดผางปะตี๊ปตี๋นก๋า ปูจาแม่ก๋าเผือกซึ่งสืบทอดชื่อเทศกาลมาจากตำนานของพระพุทธศาสนาจากตำนานพระเจ้า 5 พระองค์ ที่แพร่หลายและเป็นที่รับรู้ในสังคมล้านนา ทั้งนี้ หนังสือธัมม์ใบลาน เรื่อง มูลผะติ้ดตีนกา (กาเผือก) ฉบับวัดดงนั่งคีรีชัย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง กล่าวว่า กาเผือกเป็นธรรมชาดกล้านนา เป็นมูลกำเนิดของพระพุทธเจ้าในภัททกัป ซึ่งเป็นกัปที่มีพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลกมากที่สุด จำนวน 5 พระองค์ คือ กกุสันธพุทธเจ้า โกนาคมนพุทธเจ้า กัสสปพุทธเจ้า โคตมพุทธเจ้า และอริยเมตไตรยพุทธเจ้า ซึ่งล้วนเคยมีอดีตชาติเป็นพี่น้องร่วมอุทรเดียวกันเมื่อคราวที่เคยเสวยพระชาติเป็นลูกกำพร้าของแม่กาเผือก (อนุชา พิมศักดิ์, 2550) ดังความในนิทานดังนี้

ในอดีตกาลข้ามล่วงพ้นไปนานแล้ว ยังมีแม่กาเผือกทำรังอาศัยอยู่บนต้นไม้มะเดื่อริมฝั่ง แม่น้ำคงคา นางได้ให้กำเนิดลูก (ไข่) จำนวน 5 ฟอง เลี้ยงดูฟูมฟักเป็นอย่างดี ไม่ยอมออกจากรังไปหากิน วันหนึ่งความหิวได้ครอบงำ ทำให้นางกาเผือกต้องทิ้งลูกไว้ในรัง นางบินไปหาเหยื่อกินเป็นอาหารในที่ไกล วันที่นางบินออกไปหากินทิ้งลูกน้อยไว้ในรัง เกิดฝนตกหนักและลมพายุพัดรุนแรง ทำให้รังของนางถูกลมพัดตกลงไปในแม่น้ำพร้อมทั้งลูกทั้ง 5 เมื่อลมพายุและฝนสงบลงแล้ว นางบินกลับมาที่รัง ไม่พบลูกน้อย ได้บินเที่ยวหาลูกน้อยทั้ง 5 บินไปตามลำดับแม่น้ำคงคา ตามหุบเหว หุบเขา และในน้ำก็ไม่พบลูก นางเศร้าโศกเสียใจ หมดแรงที่จะบินเสาะหาลูกน้อย  จึงขาดใจตาย และได้ไปเกิดเป็นพรหม ชั้นสุทธาวาส ปรากฏชื่อว่า ‘ฆติกาพรหม’ ส่วนลูก (ไข่) ทั้ง 5 หลังจากที่ลมพัดรังตกลงไปในแม่น้ำคงคาแล้ว ไข่ฟองที่ 1 ถูกน้ำพัดลอยไปค้างที่ดอนทราย แม่ไก่เผือกนำไปเลี้ยงดู ไข่ฟองที่ 2 ถูกน้ำพัด ลอยไปค้างที่ดอนทราย แม่วัวนำไปเลี้ยงดู ไข่ฟองที่ 3 ถูกน้ำพัดไปลอยค้างที่ดอนทราย แม่เต่านำไปเลี้ยงดู ไข่ฟองที่ 4 ถูกน้ำพัดลอยไปค้างที่ดอนทราย หญิงซักผ้านำไปเลี้ยงดู ไข่ฟองที่ 5 ถูกน้ำพัดลอยไปค้างที่ดอนทราย แม่งูใหญ่ (นาค) นำไปเลี้ยงดู 

หลังจากไข่ทั้ง 5 มีผู้นำไปเลี้ยงดูไม่นาน ก็แตกออกเป็นทารกเพศชาย ครั้นเจริญเติบโตอายุได้ 16 ปี ได้ขออนุญาตแม่ออกบวชเป็นฤาษี เพื่อสร้างบารมีให้ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคตจักได้นำสัตว์โลกข้ามห้วงโอฆะวัฏฏะสงสาร แม่เลี้ยงทั้ง 5 อนุญาตให้ออกบวช แต่ขอให้ลูกทุกคนถือคำสัตย์ปฏิญาณว่า หากลูกทั้ง 5 ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ขอให้ ‘ชื่อและนามโคตร’ แห่งแม่จงเป็นชื่อและโคตรของลูกทุกคนที่แม่ได้เลี้ยงดูมา ดังนั้นพระนามของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ ในภัทรกัปนี้ จึงมีชื่อของแม่เลี้ยงเป็นพระนามและโคตรของพระพุทธเจ้า คือ

1) กกุกสันธพุทธเจ้า นามแม่ไก่เผือก

2) โกนาคมนพุทธเจ้า นามงูใหญ่ (นาค)

3) กัสสปพุทธเจ้า นามแม่เต่า

4) โคตมพุทธเจ้า นามแม่วัว

5) อาริยเมตไตรยพุทธเจ้า นามหญิงซักผ้า

หลังจากฤาษีทั้ง 5 ออกบวชบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่า วันหนึ่งฤาษีทั้ง 5 ได้พบกัน ณ สถานที่แห่งหนึ่ง จึงสอบถามถึงชื่อและโคตร วัน เดือน ปี และสถานที่เกิด ฤาษีทั้ง 5 เล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ตนเองได้รับฟังจากแม่เลี้ยง (แม่ผู้อุปการะเลี้ยงดู) ว่า ตนเองเกิดจากไข่แม่กาเผือก ฤาษีทั้ง 5 รู้ว่าทุกคนเป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกันของแม่กาเผือก จึงทำการคารวะเคารพซึ่งกันและกัน โดยคนที่เกิดทางเหนือน้ำเป็นพี่ชายคนโต และคนที่เกิดท้ายน้ำเป็นน้องชายคนเล็ก ทั้ง 5 ปรึกษากันว่า พวกเราเป็นลูกกำพร้า ไม่เคยเห็นหน้ามารดาแม่กาเผือก เลยพากันตั้งจิตอธิษฐานขอให้แม่กาเผือกมาปรากฏต่อหน้า ด้วยแรงจิตอธิษฐานและความผูกพันเป็นแม่ลูกในอดีตชาติ ฆติกาพรหมจึงเนรมิตกายเป็นกาเผือกตัวใหญ่มีขนสีขาวทั้งตัว บินมาจากสวรรค์ชั้นสุทธาวาส ปรากฏต่อหน้าฤาษีทั้ง 5 พี่น้อง และให้โอวาทคำสอนแก่ลูกทั้ง 5 นางจากนั้น ฤาษีทั้ง 5 พี่น้องก็ขอเอารอยเท้าของแม่กาเผือกไว้เป็นที่กราบไหว้บูชา ฆติกาพรหมจึงนำเส้นฝ้ายมาฟั่นเป็นเกลียว 3 ขา ให้เสมอกันเสมือนรอยตีนกา ให้ฤาษีทั้ง 5 นำไปใส่ไว้ในถ้วยน้ำมันทำเป็นไส้ประทีปจุดไฟ เพื่อบูชาแม่กาเผือกจวบจนกระทั่งลูกทั้ง 5 ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในโลกนี้ต่อมาได้กลายเป็นประเพณีจุดประทีปตีนกาบูชาแม่กาเผือกในวันเพ็ญ เดือนยี่ (เหนือ) หรือยี่เป็งมาจนถึงปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่า ความเชื่อพระเจ้า 5 พระองค์ โดยผ่านวัฒนธรรมประเพณีนั้น เป็นการผูกเรื่องราวที่เชื่อมโยงจากวรรณกรรมแบบแม่กาเผือกไปสู่ประเพณีในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ การจุดประทีปตีนกาเพื่อบูชาแม่กาเผือกของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ที่กล่าวข้างต้นนี้ เป็นประเพณีที่เชื่อมโยงคุณธรรมในเรื่องของความกตัญญูรู้คุณผู้มีพระคุณอีกด้วย (อนุชา พิมศักดิ์, 2550)

คราวนี้ เราย้อนกลับมาต่อประเด็นที่เมื่อมาการจุดบูชาประทีปตีกา ภายหลังการเทศน์มหาชาติจบทั้ง 13 กัณฑ์แล้ว ชุมชนล้านนาในอดีตทั้งบ้านและวัดจะจุดเทียน จุดประทีปโคม ไฟสว่างไสวทุกตรอกซอกซอย ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับเหตุการณ์บริเวณการจัดงานเทศน์ที่เมื่อถึงกัณฑ์นคร เมื่อถึงฉากฝนห่าแก้ว 7 ประการ ตกลง เพื่ออุดหนุนบารมีในการตั้งความปรารถนาโพธิสมภารของพระเวสสันดร พอพระเทศน์ถึงฉากนี้ ศรัทธาประชาชนจะโปรยข้าวตอกดอกไม้ และเหรียญเงินบาทหรือสลึงเต็มทั่ววิหารฝูงชน และเด็กจะพากันแย่งนำเงินนี้ไปเป็นขวัญถุง เรียกว่า ‘เงินฝนห่าแก้ว’ ทำให้เกิดความชุ่มเย็น พอเทศน์กัณฑ์นครนี้เสร็จจะเป็นเวลาใกล้รุ่งเช้า จึงเรียกกัณฑ์นี้อีกอย่างว่า ‘นครข้อนแจ้ง’ จะเห็นได้ว่า เป็นการแสดงละครโรงใหญ่ ด้วยการเทศน์มหาชาตินั้นจะมีทั้งการขับร้องที่ไพเราะ เพื่อให้ผู้ฟังเกิดจินตนาการในการฟัง การสมมติเหตุการณ์ทั้งสถานที่และเรื่องราว และการเข้ามามีส่วนร่วมของศรัทธาประชาชนผู้รับฟัง นอกจากผู้ฟังจะได้รับความบันเทิงและดื่มด่ำซาบซึ้งกับเรื่องราวแล้ว ยังสืบโยงไปสู่บุญบารมีจากการรับฟังและการเข้าร่วมพิธีกรรมนั้นด้วย

ทิ้งท้ายแต่คงมิใช่ท้ายสุด

แม้จุดมุ่งหมายของการตั้งธรรมหลวง มีนัยสำคัญเกี่ยวข้องทั้งพระสงฆ์และชาวบ้านในชุมชน ในส่วนพระสงฆ์ คือการรวบรวมคัมภีร์ธรรมต่างๆ ไว้เป็นหมวดหมู่ การเจียนคัมภีร์ธรรมที่เป็นวิทยาการเพิ่มเติมให้มากขึ้น การฝึกหัดพระภิกษุสามเณร ให้ความรู้ด้านการอ่านคัมภีร์ให้คล่องแคล่วขึ้น การบำรุงพระภิกษุสามเณรในด้านจตุปัจจัย ส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนาหลายประการ เช่น การทำโคมไฟ และทำดวงประทีป การทำตุง และการตัดช่อ เป็นต้น เกิดการประสานสามัคคีกันระหว่างวัดกับชาวบ้านมากขึ้น ส่วนสำหรับชาวบ้านนั้นท้องถิ่น ทำให้เกิดความสามัคคีภายในชุมชน การเรียนรู้เกี่ยวกับจารีตประเพณี การเรียนรู้หลักธรรมทางศาสนาโดยสื่อผ่านเรื่องพระเวสสันดร และทำให้มีโอกาสได้ฟังคีตกวีสำเนียงเสียงขับร้องอันไพเราะ งานตั้งธรรมหลวงจึงเป็นงานที่ถือว่ามีความสำคัญต่อชุมชน เพราะประเพณีดังกล่าวสอดแทรกวัฒนธรรมพื้นบ้านและคติคำสอนไว้หลายสิ่งหลายประการ ซึ่งยากยิ่งที่จะหาประเพณีวัฒนธรรมใดที่สอดประสานวัฒนธรรมพื้นบ้านไว้ได้อย่างมากมาย เช่น การตั้งธรรมหลวง

ดังนั้น ถ้าพิจารณาบทบาทของการตั้งธรรมหลวง จะมีบทบาทสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ บทบาทในการแสดงธรรมสั่งสอนพุทธบริษัท หรือบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และบทบาทในการให้ความเพลิดเพลิน โดยเฉพาะการเทศน์มหาชาติในงานศพหรืองานฉลองต่างๆ ปกติในงานเช่นนี้มักมีการเทศน์มหาชาติกัณฑ์ที่สนุกเพลิดเพลิน ได้แก่ กัณฑ์ชูชกกุมารและมัทรี การเทศน์กัณฑ์ชูชกมักมุ่งความตลกคะนอง การเทศน์กัณฑ์กุมารและมัทรี ก็เน้นความซาบซึ้งในรสวรรณคดีและน้ำเสียงโอดครวญเศร้าสร้อยของพระผู้เทศน์ พระที่เทศน์เก่งๆ จะมีน้ำเสียงแหลมเล็ก สามารถเอื้อนเสียงโอดครวญได้อย่างจับใจ คร่ำครวญให้คนฟังเกิดอารมณ์ร่วมไปกับกัณหาชาลี และพระนางมัทรีเป็นการเปลี่ยนความสนใจของผู้ฟังแทนที่จะอาลัยเศร้าโศกในผู้ตายมากเกินไป ให้หันมาเพลิดเพลินซาบซึ้งกับเรื่องราวและรสของวรรณคดีมหาชาติแทน (ประคอง นิมมานเหมินทร์, 2526 : 4-5)

นอกจากนี้ การฟังเทศน์มหาชาติตามวัดวาอารมในล้านนาในสมัยอดีตนั้นคงมีการเทศน์มหาชาติทุกวัด เพราะความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา ประกอบกับเนื้อหาของเวสสันดรชาดกมีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดอรรถรสกินใจและสะเทือนอารมณ์ เนื้อเรื่องมีครบทุกรส การจัดเทศน์มหาชาติแต่ละครั้ง ผู้จัดจะตกแต่งสถานที่งดงามซึ่งจะดึงดูดความสนใจใคร่มาเห็น พระนักเทศน์ก็คัดแต่พระเสียงดี แต่การเทศน์มหาชาติก็ตกอยู่สภาพความไม่แน่นอน ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรือง แต่พอถึงยุคหนึ่งกลับซบเซาเลือนหาย ถึงจะมีการจัดเทศน์มหาชาติก็ทำกันในวงแคบ ในชุมชนของตนเอง เป็นการจัดสร้างรักษาประเพณีเท่านั้น แน่นอนว่าอดีตที่ผ่านมา ดินแดนล้านนาเคยมีอิสระปกครองตนเอง แต่เมื่อล้านนาถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสยาม วัฒนธรรมล้านนาที่เคยรุ่งเรืองกลับอยู่ในสภาพตกต่ำ กิจกรรมทางศาสนาที่เคยปฏิบัติกันมากลับถูกลดบทบาท เช่น ภาษาล้านนาที่เคยใช้สื่อสารระหว่างกันและกัน กลับถูกห้ามเรียนห้ามสอน พระสงฆ์ที่เคยอ่านเขียนภาษาล้านนาก็ไม่สามารถอ่านได้ เมื่อพระสงฆ์อ่านภาษาล้านนาไม่ได้ก็กระทบถึงการเทศน์มหาชาติ ซึ่งต้องใช้ภาษาล้านนา

พอว่ามาถึงประเด็นนี้แล้วก็ได้แต่เก็บไว้ในในอกในใจแล้วคิดหาอะไรต่อมิอะไรทำต่อไปดีว่า..

อ้างอิง

  • นิธิ เอียวศรีวงศ์ . (2555). “รัฐนาฏกรรมอีกที,” มติชนสุดสัปดาห์ (10-16 สิงหาคม): 30.  
  • ประคอง นิมมานเหมินทร์. (2526). มหาชาติลานนา : การศึกษาในฐานะที่เป็นวรรณคดีท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
  • เปลื้อง ณ นคร. (2515). ประวัติวรรณคดีไทย. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
  • อนุชา พิมศักดิ์. (2550). ตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ : โครงสร้างเนื้อหาและบทบาทในสังคมไทย.กรุงเทพฯ : วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ภาพปก สวท.เชียงใหม่

ล้านนา World จากแม่น้ำโขง ถึงแม่น้ำโคลัมเบีย การต่อสู้อันยาวนาน ‘รื้อเขื่อนในอเมริกา เพื่อชนพื้นเมืองและปลาแซลมอน’ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือการไม่ยอมแพ้

เรื่อง: ภู เชียงดาว


Summary

  • สารคดี “พันธสัญญาแห่งชาวปลาแซลมอน” (Convennant of the Salmon People) โดย สวิฟท์วอเตอร์ฟิล์ม (Swiftwater Films) เป็นเรื่องราวของชนพื้นเมืองในอเมริกาที่ออกมาต่อสู้ จนรัฐยอมให้มีการรื้อเขื่อนเพื่อให้แซลมอนได้วางไข่ได้เหมือนเดิม หลังจากมีการสร้างเขื่อนกั้นมานับร้อยปี
  • สหรัฐ ‘รื้อเขื่อน’ กว่า 2,000 แห่ง ฟื้นฟูธรรมชาติ คืนชีวิตให้ ‘ชนเผ่าพื้นเมืองปลาแซลมอน’
  • ชัยชนะครั้งสำคัญสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองชายแดนโอเรกอน-แคลิฟอร์เนีย ที่ต่อสู้มานานหลายทศวรรษ เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับคืนสู่สภาพธรรมชาติ
  • “เราไม่จะไม่ให้คนในลุ่มน้ำโขง เจ็บปวดเป็นร้อยๆ ปี เหมือนชนพื้นเมืองในลุ่มน้ำโคลัมเบีย  เพราะเราเห็นแล้วว่าแม่น้ำโคลัมเบียมันเกิดปัญหาอย่างไร แล้วพี่น้องชนพื้นเมืองอเมริกาเขาต่อสู้กันอย่างไร  นั่นคือบทเรียนอันล้ำค่าและคิดว่าสําคัญที่สุดที่เราไปเห็นมา” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว บอกย้ำ

ผมมีโอกาสไปร่วมงาน “เวทีสาธารณะแม่น้ำโขงและมินิเทศกาลหนังสารคดี” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23-26 ตุลาคม 2567 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในงานนี้ นอกจากมีเวทีเสวนาแล้ว ยังมีการพาเราลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนริมน้ำโขง ในพื้นที่ อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น และ อ.เชียงแสน ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงกันอีกด้วย 


ที่มาภาพ: องอาจ เดชา

นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น Mekong Film Workshop ที่ได้เชิญชวนผู้สนใจประเด็นแม่น้ำโขง และการทำภาพยนตร์สารคดีมาร่วมเวิร์คชอป ภายใต้โครงการการถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายด้านงานวิจัย Science and Policy Interface : Turning Knowledge into Action และ Mekong Youth Program โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้เทคนิคการเล่าเรื่องด้วยภาพ การเรียบเรียงประเด็น และผลิตสื่อออกมาในรูปแบบภาพยนตร์สารคดีสั้น ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย จนตลอดเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปได้รับชม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ และขยายการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนในการสื่อสารประเด็นแม่น้ำโขง

ครูตี๋ – นิวัฒน์ ร้อยแก้ว  ผู้ก่อตั้ง ‘โฮงเฮียนแม่น้ำของ’ ที่มาภาพ: องอาจ เดชา

‘นิวัฒน์ ร้อยแก้ว’ ที่หลายคนรู้จักในนาม ‘ครูตี๋’ ถือเป็นคนท้องถิ่นที่เป็นกำลังสำคัญที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขงมายาวนานกว่าสามสิบปี เขาเคยนั่งเรือไปประท้วงต่อต้านการรุกคืบของจีนที่พยายามจะมาระเบิดแก่งคอนผีหลงกลางแม่น้ำโขง จนต้องถอยกลับและระงับโครงการนี้ไป ต่อมาเขายังออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง มาอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนั้นจึงได้ร่วมกันก่อตั้ง ‘โฮงเฮียนแม่น้ำของ’ เพื่อเป็นพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเด็กๆ นักเรียน นักศึกษาในท้องถิ่น รวมไปถึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกด้วย

จากการทำงานเคลื่อนไหวปกป้องฐานทรัพยากรแม่น้ำโขงมายาวนาน ทำให้ครูตี๋ ได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize ประจำปี ค.ศ. 2022 ซึ่งเป็นรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก โดยมูลนิธิ Goldman Environmental Foundation ซึ่งเป็นเหมือนรางวัลโนเบลด้านสิ่งแวดล้อมกันเลยทีเดียว

การมาเยือน ‘โฮงเฮียนแม่น้ำของ’ ก็เหมือนกลับมาเยี่ยมบ้านอันอบอุ่นที่คุ้นเคย…ผมรู้สึกแบบนี้ทุกครั้ง พอถึงช่วงกลางคืน มีบทเพลงดนตรีจากวงนาคำ-นาคา สตูดิโอ มาบรรเลง  แทรกกับการอ่านบทกวี ผมลุกขึ้นอ่านบทกวี ‘โลกกำลังเปลี่ยนแปลง’ 

แม่น้ำสายนี้มีชีวิต แม่น้ำสายนี้มีลมหายใจ

แม่น้ำสายนี้มีตำนาน

แม่น้ำสายนี้ มีจิตวิญญาณและความจริง

เงี่ยหูฟังสิ แม่ธรรมชาติกำลังสนทนากับเรา

ในหน้าหนาว เรายินเสียงแม่น้ำอ่อนโยนต่อสรรพสิ่ง

และเฝ้าโอบกอดหัวใจผู้คนสองฟากฝั่ง

ทะนุถนอมเลี้ยงดูชีวิตวิถีชุมชน มายาวนาน

ในยามแล้ง- – เรายินเสียงแม่น้ำร้องไห้

ในฤดูน้ำหลาก- – เรายินเสียงแม่น้ำกราดเกรี้ยว

แม่นั้นเชี่ยวกราก รุนแรง ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปๆ

เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อว่า ‘เขื่อน’ มาคอยกั้นขวาง

ใช่แล้ว, โลกกำลังเปลี่ยนแปลง

ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

โลกกำลังเดือด โลกกำลังร้อน

โลกกำลังแล้ง โลกกำลังรวน และเลวร้ายไปทุกๆ นาที

โน่น,หิมะ ธารน้ำแข็งบนเทือกเขากำลังละลายหาย

แม่น้ำหลายสายนั้นเหือดแห้ง ระบบนิเวศของโลกถูกกระทบ

ทุกหนแห่งกำลังประสบ ดินถล่ม น้ำท่วมอย่างรุนแรง

สิ่งแวดล้อมกำลังพังทลาย ความหลากหลายทางชีวภาพจะลดลง

สัตว์ป่าจะล้มลง สัตว์น้ำเฉพาะถิ่นจะค่อยๆ สูญพันธุ์หายไป

มนุษย์จะล้มตาย ไฟป่าจะลุกลามไหม้หายนะมากขึ้น

ฝุ่นพิษจะคลี่คลุมเมือง พายุจะรุนแรง ฟ้าดำก่ำเศร้า

ที่โน่น แผ่นดินไหว, ที่นั่น น้ำท่วมใหญ่เกิดขึ้นซ้ำๆ

และอีกหลายประเทศ จะได้เห็นทะเลทรายเป็นครั้งแรก

ใช่, โลกกำลังเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

นี่คือสงครามครั้งใหญ่กำลังปะทุรุนแรงมากขึ้น

ปัญหาความมั่นคงทางอาหารกำลังก่อตัวไปทุกแห่งหน

เรากำลังเผชิญกับวิกฤติสงครามในรูปแบบใหม่

ไปพร้อมๆ กับวิกฤติโลกเดือด โลกรวน ไปพร้อมๆ กัน

โอ… โลกกำลังเปลี่ยนแปลง – – -ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

โลกกำลังเปลี่ยนแปลง… 

จากนั้น มีการฉายหนังสารคดีเกี่ยวกับแม่น้ำโขง และผลกระทบจากการสร้างเขื่อน หลายเรื่องที่หาดูได้ยากมาก เรื่องที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ “ให้ทุกเสียงฝากรอยร้าวแด่เขื่อน” (Every Voice is A crack in The Dam) สารคดีเรื่องนี้ เป็นฝีมือของชาติพันธุ์ดั้งเดิมนิมิอิปู กลุ่มชนพื้นเมือง Nez Perce หรือ Nimiipuu ทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ พวกเขาก่อตั้งขบวนการทางสังคมเพื่อรื้อเขื่อนสี่แห่งบนแม่น้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโคลัมเบียทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา

ชมสารคดีเรื่องนี้ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/watch/?v=521964182461370

และ “พันธสัญญาแห่งชาวปลาแซลมอน” (Convennant of the Salmon People) โดยสวิฟท์วอเตอร์ฟิล์ม (Swiftwater Films) เป็นผลงานสารคดีของชนพื้นเมืองในอเมริกา ที่ออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวจนกระทั่งรัฐยอมให้มีการรื้อเขื่อนเพื่อให้ปลาแซลมอนได้วางไข่ได้เหมือนเดิมอีกครั้ง หลังจากมีการสร้างเขื่อนกั้นมานับร้อยปี 

สามารถดูสารคดีเรื่องนี้ได้ที่ https://www.pbs.org/video/covenant-vcucck/

พอเราดูสารคดีเรื่องนี้เสร็จ ครูตี๋ได้บอกเล่าเรื่องราว เมื่อครั้งไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพี่น้องชนพื้นเมืองในอเมริกา ว่าประสบการณ์หรือสิ่งที่ตนได้มีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนได้ ไปรู้ไปเห็น ไปเข้าใจหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งการไปครั้งนั้น มันเป็นการไปเพื่อไปเรียนรู้เรื่องราวของเขื่อน คือเราอยากรู้ว่า ความคิดจริงๆ ของเขื่อนมันคืออย่างไร? ทําไมมันต้องสร้างเขื่อน? มันสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร? มันสร้างเพื่อใคร?

“ซึ่งมันทำให้เราเข้าใจว่า อ๋อ..จริงๆ เรื่องพวกนี้มันเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจนี่แหละ เกิดจากการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ โดยเอาพลังงานเป็นเป็นตัวที่สําคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมันเป็นวิธีคิดร้อยกว่าปีแล้ว เราไปเห็นปุ๊บ มันชัดเจนเลยว่า โดยวิธีคิดอย่างนี้นี่เอง ทําให้เกิดโครงการสร้างเขื่อนขึ้นมา มันเห็นชัดเจนเลย ว่าวิธีคิดอย่างนี้มันร้อยปีมาแล้ว และการสร้างเขื่อนมาเป็นร้อยปีในแม่น้ำสายสําคัญในอเมริกา มันสร้างความเจ็บปวด สร้างความผลกระทบมากมายกับกลุ่มคนในท้องถิ่นมาอย่างยาวนานแล้ว ซึ่งทำให้เรารู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโคลัมเบีย และในแม่น้ำสาขาต่างๆมันเกิดผลกระทบมากมายกับชนพื้นเมืองที่นั่น” 

Native American หรือชนพื้นเมืองอเมริกัน เป็นกลุ่มแรกๆ ที่อาศัยอยู่ในแอ่งโคลัมเบีย พื้นที่แห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องการตกปลาแซลมอนที่ยอดเยี่ยม ชนเผ่าวานาปัมเป็นชนเผ่าเดียวที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ฮันฟอร์ด ในขณะที่ชนเผ่าเนซเพอร์ซ ยาคามา และอูมาทิลลาอาศัยแอ่งโคลัมเบียในการล่าสัตว์ ตกปลา และประกอบพิธีกรรม ปัจจุบันโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ตั้งแคมป์หรือสุสานสามารถพบได้ในพื้นที่ฮันฟอร์ด    

ครูตี๋ เล่าว่า เมื่อได้ไปแลกเปลี่ยนกับกลุ่มคนท้องถิ่นที่เขาหาอยู่หากินกับธรรมชาติ ทำให้เรารู้ถึงวิธีการขับเคลื่อนต่อสู้ คือพวกเขาใช้สัญลักษณ์ รู้วิธีการต่อสู้ โดยเขาใช้คําว่า ‘People Salmon’ หรือที่แปลว่า ‘ประชาชนแซลมอน’ ที่เห็นถึงความสําคัญว่า ‘แซลมอน เป็นสิ่งสําคัญที่สุด’ เขาพาไปร่วมพิธีในโบสถ์ ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งเราก็ได้เห็นว่า สิ่งที่เขาขับเคลื่อนนั้น มันเป็นความเจ็บปวดตั้งแต่ในอดีต ซึ่งเขาเคยอุดมสมบูรณ์ด้วยปลาแซลมอน แซลมอนที่เขาเรียกร้อง ในนามประชาชนแซลมอน มันไม่ใช่แซลมอนที่พวกเขากินเท่านั้น แต่สิ่งที่เราไปเห็นนั่นคือ ปลาแซลมอน มันเชื่อมโยงไปสู่เรื่องของพิธีกรรมความเชื่อ เรื่องการเคารพธรรมชาติ 

“ซึ่งในพิธีกรรมที่เราเข้าไปร่วมกับพี่น้องยาคามาในโบสถ์ มันเห็นชัดเจนว่า แซลมอนคือสัญลักษณ์ที่ใช้บูชาในพิธีกรรมนั้น หมายความว่า ปลาแซลมอน ไม่ใช่อาหารอย่างเดียว แต่มันคือวัฒนธรรม มันคือวิถีความเชื่อ นี่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นการยกระดับของจิตวิญญาณไปแล้ว ซึ่งทําให้เห็นว่า เมื่อสิ่งที่เขาได้พึ่งพามาตลอดตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว พอเกิดการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโคลัมเบีย แม่น้ำสาขาเกิดขึ้น ทำให้ปลาแซลมอนจํานวนมากมายมันหายไป มันหายไปขนาดไหน หายไปขนาดปลาที่เคยใช้ประกอบพิธีกรรมไม่มี ต้องไปยืมปลาจากหมู่บ้านอื่นมาทำพิธี ทำให้เราเห็นชัดเจนว่า เขาได้ประสบเรื่องความเจ็บปวดจากเขื่อน เขาเจอมานานนับร้อยปีแล้ว  ปลาแซลมอนหายไป วัฒนธรรมหายไป เราไปแลกเปลี่ยนความเจ็บปวดกับสิ่งที่มันเกิดผลกระทบมากมาย ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโคลัมเบีย กลุ่มคนท้องถิ่นเขาเห็นชัดเจนว่า ปัญหาทั้งหมดนั้นมันถูกกระทําจากเขื่อน วิกฤตมันเกิดจากเขื่อน”

ที่มาภาพ: wildlifefilms.org

ครูตี๋ เล่าอีกว่า ในขณะที่รัฐบาลอเมริกาในสมัยนั้น ก็ตั้งข้อหากล่าวหาชนพื้นเมืองกลุ่มนี้ว่า เพราะการทํามาหากินตามวิถีชีวิตของพี่น้องชาวบ้านนี่แหละ ทําให้ปลามันลดลง

“ผมได้นั่งคุยกันแลกเปลี่ยนกับผู้เฒ่าชนพื้นเมืองอเมริกา ซึ่งต่อสู้เรื่องนี้มาตั้งแต่เป็นเด็ก เขาเล่าว่าเคยไปตกปลากับพ่อแต่ถูกรัฐบาลจับ ไม่ให้ตกปลา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนท้องถิ่น ก็เหมือนกับบ้านเรา ที่กำลังเกิดขึ้นกับกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์หรือกลุ่มคนท้องถิ่นบ้านเราในขณะนี้นั่นแหละ เพราะฉะนั้น เราจะต้องทํายังไงให้คนบ้านเรา ได้เข้าใจเรื่องนี้  มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันความเจ็บปวดเป็นร้อยปี แล้วเขาทําอย่างไร เขาให้ความหวังกับเยาวชนของเขาอย่างไร  ใช่ เขาทําทุกอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ทั้งนั้น นี่คือสิ่งสําคัญที่ผมไปเห็น และผมคิดว่าเป็นสิ่งสําคัญมาก ว่าการทํางานหรือว่าการขับเคลื่อนเพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลง  มันต้องให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน มันเป็นประสบการณ์ซึ่งผมพูดตลอดเวลาว่า เราไม่จะไม่ให้คนในลุ่มน้ำโขง เจ็บปวดเป็นร้อยๆ ปี เหมือนชนพื้นเมืองในลุ่มน้ำโคลัมเบีย  เพราะเราเห็นแล้วว่าแม่น้ำโคลัมเบียมันเกิดปัญหาอย่างไร แล้วพี่น้องชนพื้นเมืองอเมริกาเขาต่อสู้กันอย่างไร  นั่นคือบทเรียนอันล้ำค่า ที่ผมคิดว่าสําคัญที่สุดที่เราไปเห็นมา”

หันมาทบทวนบทเรียนของคนลุ่มน้ำโขง ต่อสู้เรื่องการระเบิดแก่ง-เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง มาร่วม 30 ปี

ครูตี๋ บอกว่า นี่คือบทเรียนที่เราจะต้องทําอย่างไร ให้คนบ้านเรา ให้พี่น้องเราได้ขับเคลื่อนได้เข้าใจรวดเร็วให้มากยิ่งกว่านี้  เพื่อดับทุกข์ดับโศก ดับสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับพี่น้อง กับแม่น้ำโขงของเรา ให้มีระยะเวลาที่มันสั้นกว่าพี่น้องชนพื้นเมืองอเมริกัน ซึ่งเขาโดนกระทํามาเป็นร้อยปี แล้วก็สิ่งสําคัญคือ การกระทํากับแม่น้ำ โดยเฉพาะเรื่องเขื่อนนั้น มันแก้ปัญหาไม่ได้หรอก ในเรื่องของการอพยพของปลา ซึ่งบทเรียนอันหนึ่งที่ผมไปเห็นว่า การแก้ปัญหาโดยการทําสถานที่เพาะพันธุ์ปลา เพื่อนำไปปล่อยในแม่น้ำธรรมชาติ มันไม่ใช่การแก้ปัญหา บางครั้งมันกลับไปสร้างปัญหาให้ใหญ่กว่านั้น

“เพราะปลามันเป็นสิ่งมีชีวิต มันเหมือนคน แล้วก็มันมีข้อจํากัดมากกว่าคน ปลามันต้องมีธรรมชาติของมัน แล้วธรรมชาตินั้นสําคัญมาก แต่คุณไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติหมด แล้วมันจะกลับคืนมาได้ยังไง ผมว่านี่คือบทเรียนที่เขาได้เห็น เพราะฉะนั้น เรื่องราวที่ผมไปเจอ ทางรอดก็คือเอาเขื่อนออก พอรื้อเขื่อน เอาเขื่อนออก 11 ปีที่ผ่านมา แล้วผมไปล่องแก่งกับชาวบ้านกับแอนดี้ ไปล่องแพกัน ทำให้เราเห็นแล้วว่าปลาแซลมอนกลับมา ธรรมชาติมันกลับมาแล้ว เราเห็นด้วยตาของเรา แล้วนั่นคือปลาแซลมอนธรรมชาติมันกลับคืนมา มีคําตอบ มีความชัดเจนหมดแล้ว เพราะฉะนั้น การขับเคลื่อนเรื่องต้องเอาเขื่อนออก มันจึงเป็นเรื่องที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Swiftwater Films

ครูตี๋ พูดให้ทุกคนคิดกันว่า ในขณะที่ประเทศที่เขาผ่านประสบการณ์เรื่องราวพวกนี้มาแล้ว เขารื้อเอาเขื่อนออกไปแล้ว  แต่บ้านเรายังไม่มีการรื้อ พวกคุณยังจะเอาเขื่อนไปกั้นแม่น้ำโขงเพิ่มอีก?

กระนั้น สิ่งหนึ่งที่ครูตี๋ พยายามย้ำก็คือ สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด

“อันนี้แหละที่ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่สําคัญที่สุด  เพราะว่ามันเป็นสิทธิของคนรุ่นใหม่ มันเป็นสิทธิของเขาที่จะต้องพูด เพราะว่าเป็นอนาคตของเขา นั่นคือสิทธิ์ของเขา ว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชีวิตของเขา ไม่ใช่เหมือนคนรุ่นเก่าที่กระทําสิ่งนั้นแล้วกลับมาทําร้ายทําลายตนเองอยู่ในขณะนี้”

สหรัฐ ‘รื้อเขื่อน’ กว่า 2,000 แห่ง ฟื้นฟูธรรมชาติ คืนชีวิตให้ ‘ชนเผ่าพื้นเมืองและปลาแซลมอน’

เป็นข่าวที่น่ายินดีไปทั่วโลก เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา สหรัฐได้ทำการรื้อ ‘เขื่อน’ ทั้งหมด 4 แห่งที่อยู่บนแม่น้ำคลาแมธ นับเป็นโครงการรื้อถอนเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ และเป็นชัยชนะครั้งสำคัญสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองชายแดนโอเรกอน-แคลิฟอร์เนีย ที่ต่อสู้มานานหลายทศวรรษ เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับคืนสู่สภาพธรรมชาติ

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Klamath River Renewal Corporation

เมื่อสิ่งกีดขวางทางน้ำชิ้นสุดท้ายได้ถูกกำจัดออกไป แม่น้ำคลาแมธก็กลับมาไหลอย่างอิสระอีกครั้ง ‘ปลาแซลมอน’ สัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของภูมิภาคนี้ สามารถว่ายน้ำทั่วแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา และเปิดแหล่งวางไข่และอนุบาลปลาแซลมอนได้ไกลถึง 804 กิโลเมตร หลังจากที่แซลมอนไม่สามารถว่ายน้ำไปวางไข่ได้มากกว่าร้อยปีนับตั้งแต่สร้างเขื่อนขึ้น

หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลกลางอนุมัติแผนการรื้อถอนเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนไอรอนเกต เขื่อนเจซีบอยล์ เขื่อนโคปโก 1 และ 2 ในปี 2565 ถัดมาในปี 2566 ได้เริ่มทำการรื้อถอนเขื่อนโคปโก 2 เขื่อนที่เล็กที่สุด และค่อย ๆ ทยอยรื้อถอนเรื่อยมา จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Klamath River Renewal Corporation

แม่น้ำคลาแมธเคยเป็นที่รู้จักในฐานะแม่น้ำที่ส่งออกปลาแซลมอนทใหญ่เป็นอันดับสามของฝั่งตะวันตก แต่หลังจากที่บริษัทผลิตไฟฟ้า PacifiCorp เข้ามาสร้างเขื่อนระหว่างปี 1918-1962 (พ.ศ.2461-2505) เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ทางตะวันตกที่กำลังเติบโต แต่ไม่ได้รับความยินยอมจากชนเผ่า

เขื่อนเหล่านี้ได้หยุดการไหลของแม่น้ำตามธรรมชาติ และรบกวนวงจรชีวิตของปลาแซลมอนและปลาอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ และเมื่อจำนวนปลาแซลมอนลดลง จิตวิญญาณของชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในคลาแมธมาเป็นเวลาหลายศตวรรษก็ลดลงตามไปด้วย

ชนเผ่ายูร็อก (Yurok) ในแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ เป็นที่รู้จักในชื่อ “ชาวปลาแซลมอน” เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว ปลาแซลมอนถือเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญต่อวัฒนธรรม อาหาร และพิธีกรรมของพวกเขา ตามความเชื่อของชนเผ่าระบุว่า จิตวิญญาณได้สร้างปลาแซลมอนและสร้างมนุษย์ขึ้นมาด้วย ดังนั้นถ้าไม่มีปลา ก็ไม่มีพวกเขาด้วยเช่นกัน

ที่มาภาพ: mekongschool.org

ในปี 2545 เกิดการระบาดแพร่ระบาดของสาหร่ายเซลล์เดียวจากการรั่วไหลของสารเคมีในเขื่อนลงสู่แม่น้ำ ทำให้ปลาไปกว่า 34,000 สายพันธุ์ตายลง เฉพาะปลาแซลมอนอย่างเดียวตายไปกว่า 70,000 ตัว นับเป็นเหตุการณ์ปลาตายครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชาวยูร็อกและชนเผ่าอื่นๆ ในลุ่มน้ำ รวมกันผลักดันให้เกิดการรื้อเขื่อนทั้งหมด

ที่มาภาพ wildlifefilms.org

บทส่งท้าย…

“ผมเป็นลูกแม่น้ำ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกของแม่น้ำไหน เราก็คือลูกแม่น้ำเหมือนกัน”

ผมนึกไปถึงถ้อยคำของครูตี๋ ที่ได้ไปพูดในวงเสวนาระหว่างประเทศเรื่องแม่น้ำและประชาชน ณ มหาวิทยาลัยรัฐพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน กับ วิลเบอร์ สลอคคิช Wilbur Slockish (คลิกคิทัต, ยากามะ), จูเลียน เอฟ. แมทธิวส์ (JULIAN F. MATTHEWS Board Member and Coordinator, Nimiipuu, Nez Perce) และ เดวิด โซแฮปปี้ David Sohappy, Jr. ยากามะ, ซึ่งเป็นลูกหลานปลาแซลมอน อเมริกันพื้นเมืองดั้งเดิม เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เยือนอเมริกาเพื่อเข้ารับรางวัล Chang-Lin Tien Distinguished Leadership Award ประจำปี 2023 จาก The Asia Foundation และเข้าร่วมการเสวนาระหว่างประเทศเรื่องแม่น้ำและประชาชน ณ มหาวิทยาลัยรัฐพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ที่มาภาพ: mekongschool.org/

ครูตี๋ ยังได้บอกเล่าเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวริมโขง ที่มีการพึ่งพาน้ำโขงในการดำเนินชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน น้ำโขงเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งรายได้ เป็นแหล่งวัฒนธรรม แต่ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโคลัมเบียก็กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง โดยสิ่งนี้เรียกว่า ‘เขื่อน’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง และเขื่อนได้ทำลายปลาแซลมอนในแม่น้ำโคลัมเบียของชนพื้นเมือง และตอนนี้น้ำโขงก็ถูกทำลายโดยเขื่อน ซึ่งสิ่งสำคัญเหล่านี้ที่ธรรมชาติให้มากำลังจะถูกทำลาย

“การสร้างเขื่อน เป็นการทำลายระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ดังเช่นแม่น้ำโคลัมเบีย ชาวแม่น้ำโคลัมเบียพึ่งพาแม่น้ำโคลัมเบียในการดำเนินวิถีชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พวกเขาเคารพในสิ่งที่ธรรมชาติสร้างให้  และมีความรู้สึกภูมิใจที่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำ แต่การสร้างเขื่อนได้สร้างผลกระทบ สร้างความเดือนร้อนให้กับบรรพบุรุษและพวกเขามาอย่างยาวนาน ความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน แต่รัฐบาลไม่มาชดใช้ช่วยเหลือและพวกเขาต้องอพยพเพราะน้ำท่วม ชาวแม่น้ำโคลัมเบียต้องสูญเสียที่อยู่ สูญเสียสุสานของพวกเขา แม่น้ำมีความร้อนมากขึ้น เกิดปัญหาการลดลงของพันธุ์ปลา และสูญเสียปลาแซลมอน ปลาแซลมอนเป็นปลาที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานร่วมกับชาวแม่น้ำโคลัมเบีย เป็นอาหารโปรตีนที่สำคัญ แต่การสร้างเขื่อนได้ทำให้เกิดการปิดกั้นเส้นทางของปลา ตัวแทนจากชาวโคลัมเบียได้เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำของพวกเขา โดยพวกเขาเรียกตัวเองว่าคนของปลาแซลมอน ตัวแทนของชาวโคลัมเบียยังได้กล่าวว่าพวกเขาจะไม่ยอมแพ้ หากพระอาทิตย์ยังขึ้น พวกเขาต้องสู้ แม้รัฐบาลจะมีการอ้างสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้ชาวโคลัมเบียอยู่ต่อไปและไม่ต่อสู้ แต่พวกเขามองว่า  สิ่งเหล่านี้ที่รัฐบาลจะให้เป็นสัญญาลมๆ แล้งๆเท่านั้น  และพวกเขายังคงต้องสู้ต่อไป แม้ในรุ่นของพวกเขาจะไม่สามารถหยุดเรื่องการสร้างเขื่อนได้  แต่สิ่งที่ได้จากชาวพี่น้องโคลัมเบียคือการไม่ยอมแพ้

เปิดเทศกาลศิลปะการแสดงเชียงใหม่ ‘CMPAF’ และ ‘AYTF 2567’ ดันความหมาย ‘สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปเราทำอะไรได้บ้าง’

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. ได้มีพิธีเปิดเทศกาลศิลปะการแสดงเชียงใหม่ (CMPAF) และเทศกาลศิลปะการแสดงเยาวชนเอเชีย (AYTF) 2567 ณ โรงละครวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ มีการกล่าวเปิดงานโดย ประภัสสร คอนเมือง ผู้อำนวยการเทศกาลศิลปะการแสดงเชียงใหม่ และ Claire Devine ผู้ก่อตั้งเทศกาลศิลปะการแสดงเยาวชนเอเชีย และมีการแสดงจาก ALaLa Dace Fest ในชุด ME/WE BITTERSWEET จากนั้น ผศ.ดร.จุติณัฏฐ์ วงศ์ชวลิต ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติและผู้เข้าร่วมงาน  พร้อมทั้ง นลธวัช มะชัย ตัวแทนจาก Glom และผู้ก่อตั้งเทศกาลศิลปะการแสดงเชียงใหม่ (CMPAF) กล่าวขอบคุณ และปิดท้ายด้วยการแสดง “อุ่นเมืองพิงค์ นครา” โดยนักศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่

ภาพ: COZOMIA Performing Arts Archive

เทศกาลศิลปะการแสดงเชียงใหม่ (CMPAF) จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยมีเป้าหมายสําคัญในการผลักดันให้เชียงใหม่กลายเป็นจุดหมายปลายทางใหม่สําหรับศิลปะการแสดงในระดับนานาชาติเช่นเดียวกับเมืองศิลปะสําคัญอื่น ๆ ของโลก เมื่อพูดถึง “ศิลปะการแสดง” ส่วนเทศกาลศิลปะการแสดงเยาวชนเอเชีย (AYTF) ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 9 โดยมีพันธกิจในการสร้างพื้นที่ให้เยาวชนจากหลากหลายประเทศได้ร่วมงานศิลปะการแสดง เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และส่งเสริมศักยภาพเยาวชนผ่านพลังของศิลปะ 

ภาพ: COZOMIA Performing Arts Archive

งานเทศกาลในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ” Changing Climates” หรือ “การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ” โดยใช้ศิลปะการแสดงเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดประเด็นสําคัญที่โลกกําลังเผชิญ และสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสังคม เป็นการหันกลับมามองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่สิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม และมุมมองต่อโลกใบนี้ ศิลปะการแสดงในเทศกาลนี้คือภาพสะท้อนที่ทรงพลัง ชวนตั้งคําถาม สํารวจ และร่วมมือกัน สร้างอนาคตที่ดีขึ้น

กิจกรรมทั้งหมดจะจัดขึ้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแก่ผู้เข้าร่วม และขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมศิลปะการแสดงอันหลากหลาย จาก 14 ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 19-24 พฤศจิกายน 2567 ที่ โรงละครวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ สามารถสำรองบัตรการแสดงได้ที่ https://aytf24.odoo.com/th 

รายละเอียดเพิ่มเติม

https://www.facebook.com/CMPerformingArts.Festival

https://www.facebook.com/AYTFest

วันที่หายไปในปฏิทิน 19 พฤศจิกายน 2517 ครบรอบ 50 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย

เรื่อง: กองบรรณาธิการ

19 พฤศจิกายน 2517 ครบรอบ 50 ปีที่กลุ่มชาวนาได้ก่อตั้ง “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.)” ขึ้น พร้อมคำขวัญ “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ” เพื่อต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวนาไทย รวมถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ร่วมกับนิสิตนักศึกษา ปัญญาชน และกรรมกร หรือที่เรียกกันว่า “ขบวนการสามประสาน”

ย้อนกลับไปในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 การต่อสู้ของกลุ่มนักศึกษาที่ดุเดือดและชัยชนะของประชาชนในครั้งนั้น ส่งผลกระทบให้กับชนชั้นชาวนา ที่ ณ ตอนนั้นถือเป็นจำนวนร่วม 80% ของประชากร กำลังได้รับความยากลำบากจากการ “ไม่มีที่นาทำกิน” เพราะถูกเจ้าที่ดินและนายทุนเงินกู้ขูดรีดและฉ้อโกงเอาไป ได้มีความหวังแก่ชัยชนะของพวกเขาขึ้นมาบ้าง จนเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มคนที่เป็น “สันหลังของชาติ” ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงในแง่นี้เอง ศาสตราจารย์ ดร.ไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) อาจารย์ภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาชาวไร่ในประเทศไทย ระบุว่า ความสำคัญอย่างหนึ่งของขบวนการชาวนาชาวไร่นี้คือ “วัฒนธรรมการเมือง” เนื่องจากทำให้ชาวนาชาวไร่มีสิทธิมีเสียงขึ้นมา ซึ่งก่อนหน้านั้นถูกทำให้ไม่มีเสียง เพื่อได้ความเป็นธรรมในชีวิตของตนเอง การได้ใช้กฎหมายนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงสำหรับชาวนาชาวไร่มหาศาลและทำให้ผู้มีอำนาจรู้สึกกลัวขึ้นมา

การชุมนุมในกรุงเทพฯ ของกลุ่มชาวนาเกิดขึ้นครั้งแรกช่วงเดือนมีนาคม 2517 เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในตอนนั้นอย่าง สัญญา ธรรมศักดิ์ จัดการให้ชาวนาขายข้าวได้ในตลาดโลก ให้ประกันราคาข้าวแก่ชาวนา ควบคุมการส่งออก ลดค่าพรีเมียมข้าว ควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและปุ๋ยให้ถูกลง และอัตราค่าเช่านาที่ว่ากันว่ามีนัยสำคัญมากที่สุดที่ส่งผลให้ชาวนารวมตัวกันเพื่อให้เกิดการแก้ไข

ภาพจากบันทึก 6 ตุลาฯ การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของกรรมกร ชาวนา และประชาชนกลุ่มต่างๆ https://doct6.com/learn-about/how/chapter-2/2-2

แต่ท้ายที่สุด ข้อเรียกร้องต่างๆ ของชาวนาก็ไม่ถูกทำให้เกิดขึ้น และแม้รัฐบาลจะประกาศใช้มาตรา 17 ช่วยเหลือชาวนา และตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามคำร้องขอต่อความเป็นธรรมในเรื่องหนี้สิน (ก.ส.ส.) แต่ที่สุดก็ยังไม่อาจแก้ปัญหาได้ การรวมตัวชุมนุมในกรุงเทพฯ ยังคงเกิดขึ้นอีกหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในเดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายน และเดือนสิงหาคมที่มีความดุเดือดมากที่สุด

9 สิงหาคม 2517 กลุ่มชาวนาจากหลายจังหวัดเข้ามารวมตัวจัดการชุมนุมอีกครั้งในกรุงเทพฯ พร้อมประกาศว่านี่จะ “เป็นครั้งสุดท้าย” ของการชุมนุมของพวกเขา มิเช่นนั้น พวกเขาจะทำการคืนบัตรประชาชน ลาออกจากการเป็นคนไทย และประกาศตั้งเขตปลดปล่อยตนเองโดยไม่ให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง และแม้ว่าการกระทำตามที่ประกาศจะทำให้มีความผิดฐานกบฏ ถึงอย่างนั้นตัวแทนชาวนาจาก 8 จังหวัดก็รวบรวมบัตรประชาชนได้กว่า 2,000 ใบในช่วงเดือนกันยายน

และเพื่อให้การรวมตัวดูทรงพลัง 19 พฤศจิกายน 2517 กลุ่มชาวนาได้ก่อตั้ง “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.)” ขึ้น พร้อมคำขวัญ “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ” โดยมี “ใช่ วังตะกู” ชาวนาจากจังหวัดพิษณุโลกเป็นประธานคนแรก นำไปสู่การต่อสู้ร่วมกันกับนิสิตนักศึกษา ปัญญาชน และกรรมกร ในนาม “ขบวนการสามประสาน” 

ในวันเดียวกัน ที่จังหวัดเชียงใหม่ก็มีการชุมนุมประท้วงซึ่งมีชาวนามาร่วมกันประมาณ 2000 คนที่ศาลากลางจังหวัดหวัด อีกสามวันต่อมาคือวันที่ 22 พฤศจิกายน 2517 ชาวนาหลายพันคนจากหลายอำเภอพากันเข้ามาที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วยรถบรรทุกและรสบัส ชาวนากว่า 3000 คนชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดและประกาศปักหลักจนกว่ารัฐบาลจะตอบกลับข้อเรียกร้อง (ไทเรล, 2546, หน้า 123)

ภาพคณะกรรมการประสานงานกำลังรักชาติประชาธิปไตย (กป.ชป.) ซึ่งเกิดขึ้นในฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยมีพ่อหลวงสีธน ยอดกันทา ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ เป็นหนึ่งในกรรมการ (อ้างใน the 101. World) ภาพต้นฉบับจาก Abb.: Führende Mitglieder des Committee for Coordinating Patriotic and Democratic Forces (CCPDF) [Bildquelle: The Road to victory : documents from the Communist Party of Thailand, 1978]

ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาชาวไร่และกลุ่มกรรมกรมาประท้วงกลางเมืองหลวงที่ถือว่าใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2517 ชาวนาและอาชีพคนจาก 23 จังหวัด มีจำนวนถึง 80000 คนมารวมตัวกันที่สนามหลวงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลการสนับบสนุนข้อเรียกของชาวนาและประเด็นย่อยอื่นๆ (ไทเรล, 2546, หน้า 111-112.)

นอกจากนี้ การลุกขึ้นสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่มีความเชื่อมโยงกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สหพันธ์นักศึกษาเสรี พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้สร้างแรงกดดันและความหวาดกลัวต่ออำนาจรัฐและทุน เนื่องจากสหพันธ์ชาวนาได้ก่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่กดขี่ขูดรีดชาวนาชาวไร่ และการรวมศูนย์อำนาจในที่ดิน จากการผลักดันพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ 2517 และพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 อันเป็นชนวนแห่งการเผชิญหน้ากับกลุ่มเจ้าที่ดินรายใหญ่ กลุ่มอิทธิพลทางการเมืองและนายทุนท้องถิ่น

“หากพูดถึงขบวนการชาวนาชาวไร่มักเป็นเรื่องของผู้ชาย ผู้หญิงกลับไม่ค่อยมีบทบาทในเรื่องเล่าของขบวนการเคลื่อนไหวเท่าที่ควร ทั้งที่ผู้หญิงก็มีบทบาทมาก  พลังของผู้หญิงเองก็เป็นพลังในการเคลื่อนไหว หากไม่มีพลังเหล่านี้ขบวนการเคลื่อนไหวคงไม่มีทางเป็นไปได้”

ประโยคเกริ่นนำของ รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง ที่ร้อยเรียงมาจากการวงพูดคุยของ ‘กลุ่มผู้หญิง’ ที่กลั่นมาจากประสบการณ์ตรงภายใต้การเคลื่อนไหวของขบวนการชาวนาชาวไร่เมื่อปี 2517-2519 ในวาระของการรำลึก 50 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือและประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสามัญชน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ที่คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในงานประกอบไปด้วยการพูดคุยถึงขบวนการชาวนาชาวไร่ในหลายแง่มุม ซึ่งวงคุยสุดท้ายนั้นถือเป็นบทสนทนาที่กลั่นจากความทรงจำผ่านผู้หญิงถึงผู้หญิง ก่อนที่เรื่องเล่าของขบวนชาวนาในวันนั้นจะหายสาบสูญในสักวัน 

แม่แจ่มจันทร์ เดชคุณมาก จากบ้านแม่จ้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ย้อนความเมื่อคราวยังเป็นเด็กสาวตัวน้อย “ตอนนั้นอายุ 13-14 ปีเป็นครั้งแรกที่เข้ามายุ่งกับการเมือง ช่วงปี 2517-2518 พี่ ๆ โครงงานชาวนาที่เป็นนักศึกษา  หลังจากพ่อหลวงอินถากับ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน (เลขาธิการพรรคสังคมนิยม) ถูกลอบสังหาร เมื่อปี 2518 นักศึกษาจึงเข้ามาช่วยเหลือในหมู่บ้านนี้การเข้ามาของนักศึกษาทำให้พวกเราได้รับความรู้จากพี่ ๆ ในโครงงานชาวนาเป็นจำนวนมาก จนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาไม่สามารถทำงานต่อได้เนื่องจากถูกคุกคามอย่างหนัก ตนและพวกจึงตั้งกลุ่มมังกรน้อยซี่งได้ทำงานแทนพี่ ๆ ในการสื่อสาร แต่ถึงอย่างนั้น ช่วงปลายปี 2518 ตนเองอยากเข้าไปในป่าซึ่งอยากไปเรียนรู้ในป่า แต่หลัง 6 ตุลา ก็เข้าป่ายาวเลย

แม่วิไล รัตนเวียงผา บ้านป่าเมี่ยง เวียงผาพัฒนา อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่สนับสนุนหนุนช่วยการต่อสู้ในขบวนการชาวนาชาวไร่ เธอเล่าประสบการณ์ของเธอว่า“พ่อเป็นหนึ่งในการเข้าร่วมสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ และเข้าป่า ตนมีหน้าที่ดูแลสหายหญิง หลังจากนั้นในปี 2520 แต่ละคนก็พูดกันว่าจะเอายังไงต่อ ป้าหมดกำลังใจ ขึ้นป่าไปช่วยกิจกรรมบนดอยเพราะเอ็นดูนักศึกษาเนื่องจากช่วยเหลือหมู่บ้าน และมีความเป็นธรรมและความยุติธรรมในใจ

จากหนังสือ รำลึก 47 นิสิต จิรโสภณ เล่าถึงกรณีการต่อสู้ของชาวบ้านในหลายกรณี ระหว่างปี 2517 ต่อเนื่องถึงปี 2518 ซึ่งดำเนินไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวกฏหมายค่าเช่านาในเขตที่ราบทั้งในกรณีห้างฉัตร และกรณีแม่เลียง การเคลื่อนไหวดำเนินไปจนกลายเป็นการเดินขบวนไปเรียกร้องที่ศาลากลางจังหวัดลำปาง จนทางการรับคำเรียงร้องจึงยุติลง

กรณีที่จะกล่าวถึงคือการเคลื่อนไหวเรื่องเหมืองแร่บ้านแม่เลียง ในจังหวัดลำปาง ในมุมของนักศึกษาช่วงเวลานั้นที่เข้าไปช่วยเหลือเล่าว่า “ปี 2518 โครงงานชาวนาขยายตัวสูงมาก ชาวนาชาวไร่ต้องการที่ปรึกษา ป้าวิได้เข้ามาเข้าร่วมการต่อสู้เหมืองแร่ในครั้งนี้ ป้าจึงตัดสินใจดรอปเรียนในช่วงปี 2518 เนื่องจากการเคลื่อนไหวในพื้นที่ตรงนี้ไม่มีใครไปทำอย่างจริงจัง ตนจึงได้ไปสำรวจปัญหา ชาวบ้านก็สุกงอมทางความคิดจึงเดินขบวนประท้วง ในที่สุดที่เกิดผลสำเร็จเพราะรัฐสั่งยุติโครงการ การประท้วงใหญ่เพื่อเรียกร้องจากการยุติการสร้างเหมืองช่วงปี 2518 การเคลื่อนไหวในครั้งนี้จึงเป็นผลงานชิ้นเอกของนักศึกษา”

‘ป้าวิ’ ชญาณิฐ สุนทรพิธ อดีตนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2517-2519 กล่าวถึงบทบาทที่นักศึกษาได้เข้าไปทำงานสนับสนุนชาวนาในพื้นที่แม่เรียง เนื่องจากมีปัญหาจากการสร้างเหมืองแร่ หากดำเนินการเหมืองสำเร็จจะส่งผลกระทบต่อการทำนาของชาวบ้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบชลประทาน

ส่วนการต่อสู้ของผู้หญิงเกี่ยวกับสิทธิของตนเองในขบวนการเคลื่อนไหว “หากยุคก่อนของการเป็นชาวบ้าน เราได้เรียกร้องตลอดสมัยที่อยู่ในป่าก็มีการรณรงค์เรื่องสิทธิ์ความเสมอภาคของผู้หญิง ในบริบทของชาวบ้านเอง มีสามีเป็นนักประชาธิปไตยมีอะไรเราก็คุยกันตลอด เราต้องช่วยกันต่อสู้” ความคิดเห็นของแม่แจ่มจันทร์ ป้าวิในฐานะผู้หญิงที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในป่า เล่าต่อว่า “เธอไม่คิดว่าตนเองเป็นผู้หญิงอยู่แล้ว ใครให้ทำอะไรก็ทำ ซึ่งโดยภารกิจไม่คิดว่าหญิงหรือชาย ขบวนการภาคประชาชนสอนให้เราทำได้หมด จะต่างกันแค่ภาระกำลังเท่านั้นเอง”

การต่อสู้ก็มิได้หยุดอยู่เพียงแค่ช่วงทศวรรษที่ 2510 – 2520 แต่เพียงเท่านั้น การต่อสู้ของชาวนาชาวไร่ก็ยังคงสืบเนื่องและมีอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่ตลอดเวลา ประภาส ปิ่นตบแต่ง เขียนบทความเรื่อง ขบวนการชาวนาชาวไร่ในสังคมไทย : จากอดีตสู่ปัจจุบััน ได้ชี้ให้เห็นว่า ในทศวรรษที่ 2520 เกิดสมัชชาเกษตรกรรายย่อยต่างๆ และก็ยังมีการรวมตัวกันสืบเนื่อง อย่างกรณีสมัชชาคนจนที่มีลักษณะของชุมชนท้องถิ่น ที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายย่อยๆ เช่น เครือข่ายป่าไม้-ที่ดิน เครือข่ายเขื่อน เครือข่ายเขื่อน เครือข่ายเกษตรกรทางเลือก เครือข่ายสลัม ซึ่งรวมตัวกันในภายหลังเป็นสมัชชาคนจน

เรื่องเล่าเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหว ทั้งการต่อสู้ในเรื่องสิทธิของตนเองจึงมีความสำคัญมากเนื่องจากจะช่วยเป็นบทเรียนในการต่อสู้ได้แล้ว บทบาทของการเคลื่อนไหวจึงควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ประชาชน เพื่อขยายพื้นที่ในประวัติศาสตร์ให้กว้างขวางขึ้น เนื่องจากประวัติศาสตร์กระแสหลักแทบไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาเลย

ในท้ายที่สุดนี้ ขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน และน้ำเสียงจากผู้คนที่ผ่านการต่อสู้อันเป็นหลักฐานจากคำบอกเล่าจากประสบการตรง ในวันที่ 23-24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 นี้ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสดุดีความกล้าหาญในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม รายละเอียดตามโปสเตอร์ด้านล่าง

รายการอ้างอิง

  • ประภาส ปิ่นตบแต่ง. ขบวนการชาวนาชาวไร่ในสังคมไทย : จากอดีตสู่ปัจจุบัน. วารสารวิจัยสังคม ปีที่ 41 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มิ.ย. 61) หน้า 1-50.
  • ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น. การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน : ชาวนา นักศึกษา กฎหมาย และความรุนแรงในภาคเหนือของไทย. นนทบรี : ฟ้าเดียวกัน. 2560.
  • ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ. เรียบเรียง. “แม่ไม่เคยเสียใจที่เข้าป่า” เรื่องไม่ปิดลับของผู้หญิงในขบวนการชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ.lanner. https://www.lannernews.com/28082567-01/. (เข้าถึงเมื่อ 11/19/2567).
  • ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ. เรียบเรียง. “เรื่องอะไรอีกที่ประวัติศาสตร์เดือนตุลาในภาคเหนือยังไม่ถูกเขียน?” ประวัติศาสตร์ขบวนการชาวนาชาวไร่ภาคเหนือของไทยและช่องว่างของประวัติศาสตร์นิพนธ์คนสามัญ. lanner. https://www.lannernews.com/07082567-01/. (เข้าถึงเมื่อ 11/19/2567).

[ชุดข้อมูล] 50 ปีค่าจ้างขั้นต่ำภาคเหนือ (2517-2567) ย้อนรอยจากอดีตถึงปัจจุบัน เป็นยังไง ปรับขึ้นช่วงไหนบ้าง?

เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา

ภาพ: วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง


Summary

  • ปี 2517 ภาคเหนือเริ่มต้นมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 3 โดยกำหนดอัตราเริ่มต้นเพียง 16 บาทต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นค่าจ้างขั้นต่ำที่น้อยที่สุดในประเทศ
  • ปี 2524 จนถึงปัจจุบัน (2567) ‘เชียงใหม่’ ครองตำแหน่งจังหวัดที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดในภาคเหนือมาโดยตลอด แต่แม้จะมีค่าจ้างขั้นต่ำและ GPP รวมสูงที่สุด แต่ GPP Per Capita กลับต่ำกว่าลำพูนและกำแพงเพชร ซึ่งมี GPP รวมต่ำกว่า
  • ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา พะเยา น่าน และแพร่ มักถูกกำหนดให้มีค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุดในภาคเหนือ โดยพะเยาเป็นจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุดอยู่บ่อยครั้ง (10 ครั้ง) แม้ GPP Per Capita ของทั้ง 3 จังหวัดเติบโตเฉลี่ยถึง 201.36% (2546-2565) แต่ค่าจ้างขั้นต่ำกลับเพิ่มขึ้นเพียง 149.37%
  • อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในภาคเหนือ ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 333.12 บาทต่อวัน แม้จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายตามอัตภาพได้ (315.79 บาทต่อวัน) แต่ยังต่ำกว่าค่าใช้จ่ายตามคุณภาพ (334.84 ต่อวัน) ซึ่ง สะท้อนว่าค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่เพียงพอต่อการสร้างคุณภาพชีวิต ‘ที่ดี’ ให้กับแรงงานในภาคเหนือ
  • ไม่มีรูปแบบ ‘สำเร็จรูป’ ใดที่เหมาะสมสำหรับทุกประเทศ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำต้องอาศัยปัจจัยเฉพาะ เช่น โครงสร้างตลาดแรงงาน ระดับผลิตภาพ และสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละรูปแบบต่างมี ข้อดีและข้อเสีย ที่แตกต่างกันไป

จึงมีความจำเป็นต้องเลื่อนการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ย. 67) ออกไปโดยไม่มีกำหนด และต้องขอโทษที่ไม่สามารถทำตามที่สัญญาได้ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ วันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้..

จากคำพูดของ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อ 23 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ทำให้แรงงานทั่วประเทศต้องพบกับความผิดหวังอีกครั้ง หลังเฝ้ารอคอยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท มานานหลายเดือน ความหวังที่เคยสูงลิบดูจะสะดุดลงกลางคัน เมื่อการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างที่หลายคนตั้งตารอถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นเพียงการเลื่อนประชุม แต่ยังเป็นภาพสะท้อนถึงปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทย

การถกเถียงเรื่อง ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ ไม่ใช่ประเด็นใหม่ หากแต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยืดเยื้อยาวนาน หลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะในภาคเหนือ ที่แม้จะสร้างรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยว แต่ค่าจ้างขั้นต่ำกลับไม่กระเตื้องตาม ย้อนกลับไปในปี 2517 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำและการบังคับใช้ ฉบับที่ 3 ระบุอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไว้ต่ำสุดที่ 16 บาท ขณะที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงได้รับสูงสุดที่ 20 บาท 

หากมองถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2567 ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้น (ฉบับที่ 12) ปรากฏว่า ภาคเหนือยังคงมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่น้อยหากเทียบกับทั้งประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดน่าน พะเยา และแพร่ ซึ่งมีค่าจ้างขั้นต่ำน้อยสุดเป็นลำดับท้าย ๆ ของประเทศ รองจากเพียงจังหวัดในภาคใต้ตอนล่างอย่างนราธิวาส ปัตตานี และยะลาเท่านั้น

การที่ค่าจ้างขั้นต่ำของภาคเหนือแทบไม่เคยขยับอย่างเต็มที่ตลอดหลายสิบปี ทำให้เกิดคำถามว่า ‘ค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดไว้นั้นเพียงพอต่อการครองชีพจริงหรือ?’ ขณะเดียวกันก็ยังชวนให้คิดต่อว่า ‘แล้วตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงค่าจ้างขั้นต่ำของภาคเหนือเป็นยังไงบ้าง?’

ดาวน์โหลด [196.00 KB]

อ่านรายงาน 50 ปีค่าจ้างขั้นต่ำภาคเหนือ (2517-2567) ย้อนรอยจากอดีตถึงปัจจุบัน เป็นยังไง ปรับขึ้นช่วงไหนบ้าง? ได้ที่ https://www.lannernews.com/19112567-01/

ชุดข้อมูลนี้สามารถนำไปต่อยอดในทางสาธารณะที่ไม่แสวงหาผลกำไรได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องขออนุญาต ขอเพียงการอ้างอิงแหล่งที่ม

อ้างอิง

50 ปีค่าจ้างขั้นต่ำภาคเหนือ (2517-2567) ย้อนรอยจากอดีตถึงปัจจุบัน เป็นยังไง ปรับขึ้นช่วงไหนบ้าง?

เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา

ภาพ: วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง


Summary

  • ปี 2517 ภาคเหนือเริ่มต้นมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 3 โดยกำหนดอัตราเริ่มต้นเพียง 16 บาทต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นค่าจ้างขั้นต่ำที่น้อยที่สุดในประเทศ
  • ปี 2524 จนถึงปัจจุบัน (2567) ‘เชียงใหม่’ ครองตำแหน่งจังหวัดที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดในภาคเหนือมาโดยตลอด แต่แม้จะมีค่าจ้างขั้นต่ำและ GPP รวมสูงที่สุด แต่ GPP Per Capita กลับต่ำกว่าลำพูนและกำแพงเพชร ซึ่งมี GPP รวมต่ำกว่า
  • ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา พะเยา น่าน และแพร่ มักถูกกำหนดให้มีค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุดในภาคเหนือ โดยพะเยาเป็นจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุดอยู่บ่อยครั้ง (10 ครั้ง) แม้ GPP Per Capita ของทั้ง 3 จังหวัดเติบโตเฉลี่ยถึง 201.36% (2546-2565) แต่ค่าจ้างขั้นต่ำกลับเพิ่มขึ้นเพียง 149.37%
  • อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในภาคเหนือ ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 333.12 บาทต่อวัน แม้จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายตามอัตภาพได้ (315.79 บาทต่อวัน) แต่ยังต่ำกว่าค่าใช้จ่ายตามคุณภาพ (334.84 ต่อวัน) ซึ่ง สะท้อนว่าค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่เพียงพอต่อการสร้างคุณภาพชีวิต ‘ที่ดี’ ให้กับแรงงานในภาคเหนือ
  • ไม่มีรูปแบบ ‘สำเร็จรูป’ ใดที่เหมาะสมสำหรับทุกประเทศ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำต้องอาศัยปัจจัยเฉพาะ เช่น โครงสร้างตลาดแรงงาน ระดับผลิตภาพ และสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละรูปแบบต่างมี ข้อดีและข้อเสีย ที่แตกต่างกันไป

จึงมีความจำเป็นต้องเลื่อนการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ย. 67) ออกไปโดยไม่มีกำหนด และต้องขอโทษที่ไม่สามารถทำตามที่สัญญาได้ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ วันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้..

จากคำพูดของ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อ 23 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ทำให้แรงงานทั่วประเทศต้องพบกับความผิดหวังอีกครั้ง หลังเฝ้ารอคอยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท มานานหลายเดือน ความหวังที่เคยสูงลิบดูจะสะดุดลงกลางคัน เมื่อการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างที่หลายคนตั้งตารอถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นเพียงการเลื่อนประชุม แต่ยังเป็นภาพสะท้อนถึงปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทย

การถกเถียงเรื่อง ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ ไม่ใช่ประเด็นใหม่ หากแต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยืดเยื้อยาวนาน หลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะในภาคเหนือ ที่แม้จะสร้างรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยว แต่ค่าจ้างขั้นต่ำกลับไม่กระเตื้องตาม ย้อนกลับไปในปี 2517 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำและการบังคับใช้ ฉบับที่ 3 ระบุอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไว้ต่ำสุดที่ 16 บาท ขณะที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงได้รับสูงสุดที่ 20 บาท 

หากมองถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2567 ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้น (ฉบับที่ 12) ปรากฏว่า ภาคเหนือยังคงมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่น้อยหากเทียบกับทั้งประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดน่าน พะเยา และแพร่ ซึ่งมีค่าจ้างขั้นต่ำน้อยสุดเป็นลำดับท้าย ๆ ของประเทศ รองจากเพียงจังหวัดในภาคใต้ตอนล่างอย่างนราธิวาส ปัตตานี และยะลาเท่านั้น

การที่ค่าจ้างขั้นต่ำของภาคเหนือแทบไม่เคยขยับอย่างเต็มที่ตลอดหลายสิบปี ทำให้เกิดคำถามว่า ‘ค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดไว้นั้นเพียงพอต่อการครองชีพจริงหรือ?’ ขณะเดียวกันก็ยังชวนให้คิดต่อว่า ‘แล้วตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงค่าจ้างขั้นต่ำของภาคเหนือเป็นยังไงบ้าง?’

50 ปีค่าจ้างขั้นต่ำภาคเหนือ (2517-2567) ย้อนรอยจากอดีตถึงปัจจุบัน

จากข้อมูลค่าจ้างขั้นต่ำ 2516-2567 โดย Rocket Media Lab ภาคเหนือเริ่มมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกในปี 2517 ภายใต้รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำและการบังคับใช้ ฉบับที่ 3 ซึ่งกำหนดให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดที่ 20 บาท ขณะที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มต้นเพียง 16 บาท ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำสุดในประเทศ

ปี 2520 ภายใต้รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร เกิดการปรับขึ้นค่าจ้างพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยในภาคเหนือ จังหวัดตากได้รับอัตราค่าจ้างสูงสุดที่ 21 บาท ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ ได้รับ 19 บาท เป็นครั้งแรกที่มีการปรับขึ้นทั่วประเทศพร้อมกันทุกจังหวัด จากนั้นในช่วงปี 2521-2523 ค่าจ้างขั้นต่ำในภาคเหนือขยับขึ้นต่อเนื่องเป็น 25, 35 และ 44 บาทตามลำดับ 

และนับตั้งแต่ปี 2524 ภายใต้รัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ (1) จนถึงปัจจุบัน ‘เชียงใหม่’ กลายเป็นจังหวัดเดียวในภาคเหนือที่มีอัตราค่าจ้างสูงกว่าจังหวัดอื่นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเกือบทุกประกาศ ยกเว้นบางครั้ง เช่น ประกาศฉบับที่ 2 (22 พฤศจิกายน 2551) และฉบับที่ 4 (10 เมษายน 2553) ที่เป็นการปรับแยกรายจังหวัด และประกาศฉบับที่ 7 (1 มกราคม 2556) ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศที่ 300 บาท

ในปี 2544 มีการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัด ส่งผลให้อัตราค่าจ้างในแต่ละพื้นที่เริ่มมีความแตกต่างกัน ต่อมาในปี 2545 มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยได้มีการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นใหม่ในหลายอัตราตามกลุ่มจังหวัดต่าง ๆ ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันมากขึ้น จากนั้นในปี 2546 ภายใต้รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ความแตกต่างด้านค่าจ้างขั้นต่ำยิ่งชัดเจนขึ้น โดยจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราค่าจ้างสูงสุดในภาคเหนืออยู่ที่ 143 บาท รองลงมาคือ ลำพูนและสุโขทัยที่ 137 บาท ขณะที่อัตราต่ำสุดอยู่ที่ 133 บาท ในจังหวัดเชียงราย ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และอุตรดิตถ์

ปี 2556 ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากันทั่วประเทศ รวมถึงภาคเหนือด้วย การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำในทุกจังหวัดของภาคเหนือขยับขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยที่ 230.5 บาทต่อวัน ในปี 2555 เพิ่มขึ้นมาเป็น 300 บาทเท่ากันในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นถึง 69.5 บาท 

หลังจากปี 2556 ที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งปี 2560 ในยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดย เชียงใหม่ ได้อัตราค่าจ้างสูงสุดในภาคเหนือที่ 308 บาท ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ อยู่ที่ 305 บาท แม้ในช่วงปี 2562 – 2565 จะมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่มากนัก

ล่าสุดในปี 2567 ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้รับการกำหนดใหม่ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง (ฉบับที่ 12) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 โดยมีความแตกต่างกันในแต่ละจังหวัดอย่างชัดเจน จังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดในภาคเหนือคือ ‘เชียงใหม่’ อยู่ที่ ‘350 บาทต่อวัน’ ตามมาด้วย นครสวรรค์ และลำพูน ที่ 345 บาทต่อวัน ส่วน เชียงราย ตาก และพิษณุโลก มีอัตรา 343 บาทต่อวัน ในกลุ่มถัดมาเป็น เพชรบูรณ์ อยู่ที่ 342 บาท ขณะที่ กำแพงเพชร พิจิตร แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี อยู่ที่ 340 บาทต่อวัน ด้านจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำต่ำสุดในภาคเหนือคือ ‘น่าน พะเยา และแพร่’ ซึ่งมีอัตราเพียง 338 บาทต่อวัน แตกต่างกันกับเชียงใหม่ถึง 28 บาท และแตกต่างกันกับภูเก็ตซึ่งเป็นจังหวัดที่มีค่าแรงสูงสุดในประเทศ 370 บาทถึง 32 บาท

เชียงใหม่ค่าจ้างสูง แต่ GPP Per Capita ไม่ขยับตาม – พะเยา น่าน แพร่ GPP Per Capita สูง ค่าจ้างต่ำ

เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ ‘เชียงใหม่’ จะเป็นจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำและผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) สูงที่สุดในภาคเหนือมาโดยตลอด ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นภาคบริการเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เมื่อมาดูที่ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP Per Capita) ซึ่งเป็นรายได้คาดการณ์ที่ประชากร 1 คน สามารถสร้างให้จังหวัด ไม่ใช่ตัวเลขที่แสดงระดับรายได้ที่ประชาชนได้รับ กลับพบว่า GPP Per Capita ของเชียงใหม่กลับต่ำกว่า ‘ลำพูน’ และ ‘กำแพงเพชร’ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีมูลค่า GPP ต่ำกว่าเชียงใหม่

GPP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product) คือ การคิดผลรวมรายได้ที่มาจากกิจกรรมการผลิตทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดนั้น ๆ ส่วน GPP per capita หรือ ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว คือ ความสามารถในการสร้างมูลค่าการผลิตสินค้าและบริการต่อประชากร 1 คน
ตารางเปรียบเทียบ GPP Per Capita 3 จังหวัด (2016-2022)
ปีเชียงใหม่ (บาท)กำแพงเพชร (บาท)ลำพูน (บาท)
2559127,126.26137,288.61174,994.09
2560130,829.98141,603.12187,529.29
2561138,513.49151,801.78207,647.65
2562146,433.10153,044.14207,697.38
2563134,401.87135,075.21207,970.53
2564131,629.42143,448.41221,765.61
2565136,042.92164,013.86232,558.92
ที่มา: สำนักบัญชีประชาชาติ สศช. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลำพูนและกำแพงเพชรมีมูลค่า GPP Per Capita สูงกว่า เชียงใหม่คือ การที่ทั้งสองจังหวัดเน้น ‘ภาคอุตสาหกรรม’ เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ในระดับสูง ทำให้ศักยภาพในการสร้างรายได้ให้กับจังหวัดอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากแม้ประชากรในพื้นที่จะมีจำนวนไม่มากก็ตาม

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาข้อมูลตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา จะพบว่า ‘จังหวัดพะเยา’ ‘น่าน’ และ ‘แพร่’ จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามจังหวะเดียวกันกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ แต่กลับเป็นจังหวัดที่ถูกกำหนดให้มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุดกว่าจังหวัดอื่น ๆ ในภูมิภาคอยู่บ่อยครั้ง 

แม้ว่าจังหวัดอื่นในภาคเหนืออาจมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุดในบางครั้ง แต่พะเยากลับมีความถี่สูงที่สุดถึง 10 ครั้ง จากการปรับขึ้นทั้งหมด 15 ครั้ง (นับตั้งแต่ปี 2546 โดยไม่นับปี 2556 ซึ่งกำหนดค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศที่ 300 บาท และการปรับขึ้นค่าจ้างรายจังหวัด) รองลงมาคือ น่านและแพร่ 9 ครั้ง แม้กระทั่งในปี 2567 ค่าจ้างขั้นต่ำของ 3 จังหวัดนี้ก็ยังคงต่ำที่สุดในภาคเหนืออยู่ที่ 338 บาทต่อวัน ข้อมูลนี้ชวนให้เราขบคิดต่อว่า ‘ทำไมจังหวัดพะเยา น่าน และแพร่ ถึงมีค่าจ้างขั้นต่ำน้อยกว่าจังหวัดอื่นในภาคเหนือ?’

อย่างไรก็ตาม แม้ค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดพะเยา น่าน แพร่ มักจะถูกกำหนดให้อยู่ในกลุ่มต่ำสุดของภาคเหนือมาโดยตลอด แต่เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของ GPP Per Capita กับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ พบว่า ตัวเลขทั้งสองกลับสวนทางกันอย่างชัดเจน

ตารางเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต่ำและ GPP Per Capita 3 จังหวัด (2546-2565)
จังหวัดGPP Per Capita (2546)GPP Per Capita (2565)อัตราการเติบโต (%)ค่าจ้างขั้นต่ำ (2546)ค่าจ้างขั้นต่ำ (2565)อัตราการเติบโต (%)
พะเยา29,163100,588.22244.91133335151.88
น่าน30,76286,057.19179.74133328146.62
แพร่30,83586,169.99179.43133332149.62
ที่มา: ข้อมูล GPP Per Capita โดยสำนักบัญชีประชาชาติ สศช. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และค่าจ้างขั้นต่ำโดย Rocket Media Lab

ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2546 แม้ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำของทั้ง 3 จังหวัด จะเติบโตเฉลี่ยเพียง 149.37% (จาก 133 เป็น 328 – 335 บาท) แต่ในทางกลับกัน GPP Per Capita ของทั้ง 3 จังหวัด กลับมีอัตราเติบโตที่สูงถึงเฉลี่ย 201.36%

สิ่งนี้กำลังบอกอะไรกับเรา? แม้ศักยภาพในการสร้างรายได้ของประชากรในจังหวัดพะเยา น่าน และแพร่จะพัฒนาไปไกล ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งควรจะสะท้อนคุณภาพชีวิตของแรงงาน กลับยังคงไม่เคยไล่ตามทันศักยภาพนั้น รายได้ของแรงงานยังคงต่ำกว่าอัตราที่ควรจะเป็น และไม่ได้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจในพื้นที่ นี่ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลข แต่สะท้อนถึงความไม่สมดุลที่ซ่อนอยู่ในระบบ และความเหลื่อมล้ำที่แรงงานในพื้นที่ต้องเผชิญ..

นี่คือประเด็นสำคัญ ที่บ่งบอกถึงความจำเป็นในการพิจารณาการปรับปรุงค่าจ้างขั้นต่ำให้ทันกับการเติบโตของพื้นที่ เพื่อให้แรงงานได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรม และสามารถ ‘ใช้ชีวิต’ อย่างมีคุณภาพในพื้นที่ที่พวกเขาทำงานและสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น

ค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดไว้เพียงพอต่อการครองชีพจริงหรือ?

หากดูข้อมูลจากประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 จะเห็นได้ว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของ 17 จังหวัดในภาคเหนือมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราสูงสุดที่ 340 บาทต่อวัน รองลงมาคือ พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และพะเยา 335 บาท เชียงราย ตาก ลำพูน พิจิตร แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย อุทัยธานี และแพร่ 332 บาท ขณะที่จังหวัดน่านมีอัตราต่ำสุดอยู่ที่ 328 บาท

เมื่อคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยของภาคเหนือจากข้อมูลนี้ เฉลี่ยจะอยู่ที่ 333.12 บาทต่อวัน หากเปรียบเทียบกับรายจ่ายตามอัตภาพ คิดจากรายจ่ายพื้นฐานของแรงงาน เช่น ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าสาธารณูปโภค ค่ารักษาพยาบาลและยา (นอกเหนือจากประกันสังคม) ค่าใช้จ่ายส่วนตัว และค่ายานพาหนะ ตามข้อมูลจากรายงานผลการสำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมปี 2566 โดยสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักปลัดกระทรวงแรงงาน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสำหรับการดำรงชีพตามอัตภาพจังหวัดภาคเหนืออยู่ที่ราว 315.79 บาทต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยเพียง 17.33 บาทต่อวัน แสดงให้เห็นว่า ค่าจ้างขั้นต่ำสามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายพื้นฐานได้เพียงพอแบบ ‘จำกัด’ เท่านั้น

แต่หากคำนึงถึงค่าใช้จ่ายตามคุณภาพ ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายตามอัตภาพที่บวกเพิ่มด้วยค่าผ่อนชำระที่อยู่อาศัย ค่าทำบุญ เช่น ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า และค่าใช้จ่ายเพื่อการบันเทิงและพักผ่อน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 334.84 ต่อวัน สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยในภาคเหนือ 1.72 บาท ซึ่งหมายความว่า หากแรงงานในภาคเหนือต้องการใช้จ่ายตามมาตรฐานคุณภาพชีวิตดังกล่าว รายได้จากค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่เพียงพอและอาจติดลบทุกเดือน

แม้ค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันจะสามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายพื้นฐานได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้แรงงานสามารถ ‘ใช้ชีวิต’ ได้อย่างมีคุณภาพ..

แล้วเราจะหาทางออกยังไงกับเรื่องนี้?

ก่อนที่เราจะหาคำตอบว่า “จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไรให้เป็นธรรม?” หลายคนอาจสงสัยว่า “ทำไมเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำถึงสำคัญ” และ “ทำไมเราต้องสนใจเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ?” ในบทความ ‘บทเรียนจากต่างประเทศของการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ: เพื่อทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย’ โดย เสาวณี จันทะพงษ์ และ ธันยพร สิมะสันติ ได้สรุปเหตุผลสำคัญไว้ใน 3 ด้าน ดังนี้

1. ด้านลูกจ้าง การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำช่วยให้แรงงานสามารถหลุดพ้นจากความยากจน (Poverty Safety Net) และสร้างความเป็นธรรมทางรายได้ (Fair Wage) ให้แก่แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานระดับล่าง ให้ได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

2. ด้านนายจ้าง การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลกระทบทางตรงต่อต้นทุนค่าแรงงานของผู้ประกอบการ ซึ่งผลกระทบนี้จะมากหรือน้อยขึ้นกับจำนวน ‘แรงงานแรกเข้าทำงาน’ หรือ ‘แรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ’ ที่นายจ้างว่าจ้าง และผลกระทบทางอ้อมจากการที่ค่าจ้างขั้นต่ำมักถูกใช้อ้างอิงในการปรับค่าจ้างอื่น ๆ

3. ด้านเศรษฐกิจมหภาค การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลเฉพาะระดับบุคคลหรือธุรกิจ แต่ยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้แก่แรงงานในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้จ่ายภายในประเทศ สร้างความสมดุล และความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพแก่ระบบเศรษฐกิจ

ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำจึงไม่ใช่แค่เพียงตัวเลข แต่เป็น ‘หัวใจสำคัญ’ ในการสร้างสมดุลระหว่างแรงงาน นายจ้าง และเศรษฐกิจ เพื่อให้ทุกฝ่ายเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

จากการศึกษา Global Wage Report ปี 2009 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) เผยว่า 60% ของประเทศที่ศึกษาใช้ระบบ ‘อัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ’ รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ขณะที่ในอีก 40% ใช้ ‘อัตราค่าจ้างขั้นต่ำหลายอัตรา’ ซึ่งแยกตามสาขาการผลิตและอาชีพ รูปแบบนี้ได้รับความนิยมในประเทศแถบเอเชียและละตินอเมริกา เนื่องจากช่วยลดปัญหาการยึดติดกับอัตราค่าจ้างเดียว และสามารถคุ้มครองแรงงานในสาขาที่มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ระบบนี้มักมีการแทรกแซงจากภาครัฐสูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่ยืดหยุ่นในระยะยาว

ตัวอย่างการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของต่างประเทศ
ประเทศรูปแบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำการบังคับใช้
ฟินแลนด์แบบบริหารจัดการ (Managed Wage-setting) อัตราเดียวในทุกสาขาการผลิต บังคับใช้ทั่วประเทศ
เอสโตเนียแบบลอยตัว (Free Wage-setting) หลายอัตราแตกต่างกันตามสาขาการผลิตบังคับใช้ทั่วประเทศ
ฟิลิปปินส์หลายอัตราแตกต่างกันตามระดับค่าครองชีพของแต่ละภูมิภาคไม่บังคับใช้ทั่วประเทศ
เวียดนามหลายอัตราแตกต่างกันตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคบังคับใช้ทั่วประเทศ
ที่มา: บทความ บทเรียนจากต่างประเทศของการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ: เพื่อทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ธนาคารแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ เว็บไซต์ Nomad Capitalist ระบุว่า 90% ของประเทศทั่วโลก มีกฎหมายกำหนดค่าแรงขั้นต่ำในรูปแบบต่าง ๆ แต่ที่น่าสนใจคือ ในอีก 10% ที่เหลือ กลับ ‘ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ’ โดยรัฐบาล ข้อมูลจาก Investopedia และ Nomad Capitalist เผยว่า มี 6 ประเทศพัฒนาแล้ว ที่เลือกไม่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ได้แก่ สวีเดน เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์ ดังนี้

ตัวอย่างประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำโดยรัฐบาล
ประเทศรูปแบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
สวีเดนเป็นประเทศต้นแบบในการยกเลิกการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ และหันมาใช้ ‘โมเดลนอร์ดิก’ (Nordic Model) โดยกำหนดค่าแรงผ่านกระบวนการ ‘การร่วมเจรจาต่อรอง’ ระหว่างสหภาพแรงงานและองค์กรนายจ้าง โดยสวีเดน มีสหภาพแรงงานกว่า 110 แห่ง ทำหน้าที่เจรจาต่อรองกับตัวแทนองค์กร ถึงค่าแรงที่สมาชิกในสหภาพควรจะได้ต่อชั่วโมง รวมถึงค่าล่วงเวลาโดยยึดตาม กฎหมายพื้นฐานแรงงาน ที่ระบุว่าพนักงานต้องทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีวันลาพักร้อน 25 วัน และวันหยุดนักขัตฤกษ์ 13 วันต่อปี
เดนมาร์กลักษณะเดียวกับสวีเดน
ไอซ์แลนด์เมื่อมีสถานะเป็นพนักงาน ทุกคนจะถูกบรรจุเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานโดยอัตโนมัติ โดยสหภาพแรงงานเหล่านี้จะเจรจาต่อรองค่าแรง ที่พนักงานควรได้รับโดยตรงกับผู้แทนองค์กรเอง
นอร์เวย์ใช้หลักการเจรจาต่อรองร่วมคล้ายกับเดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ โดยค่าแรงในประเทศเหล่านี้อยู่ในระดับสูง แม้แต่แรงงานทักษะต่ำ เช่น ภาคการเกษตร ก่อสร้าง และทำความสะอาด ก็ยังได้รับรายได้ขั้นต่ำซึ่งอยู่ระหว่าง 556-730 บาทต่อชั่วโมง
สวิตเซอร์แลนด์ให้ ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง เป็นผู้ตัดสินใจ ผ่านกระบวนการประชามติ เมื่อปี 2020 มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่ 855 บาทต่อชั่วโมง ครอบคลุม ทุกอุตสาหกรรม
สิงคโปร์ดำเนินระบบ ตลาดแรงงานที่ปราศจากการแทรกแซงโดยรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง โดยเปิดโอกาสให้ ผู้แทนแรงงานและนายจ้าง เจรจาต่อรองค่าตอบแทนกันโดยตรง บนพื้นฐานของ ประสบการณ์ ทักษะ การศึกษา และความสามารถ
ที่มา: บทความ ประเทศที่ไร้ “ค่าแรงขั้นต่ำ” แต่แรงงานได้ค่าจ้างสูงกว่าไทย 12 เท่า BBC Thai

จากกรณีศึกษาของ 10 ประเทศที่ใช้โครงสร้างอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแตกต่างกัน ชี้ให้เห็นถึงบทเรียนสำคัญว่า ไม่มีรูปแบบ ‘สำเร็จรูป’ ใดที่เหมาะสมสำหรับทุกประเทศ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำต้องอาศัยปัจจัยเฉพาะ เช่น โครงสร้างตลาดแรงงาน ระดับผลิตภาพ และสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละรูปแบบต่างมี ข้อดีและข้อเสีย ที่แตกต่างกันไป ในขณะที่หลายประเทศพึ่งพาระบบค่าแรงขั้นต่ำ บางประเทศกลับเลือกแนวทางอื่น ที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง สิ่งนี้สะท้อนว่า การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำไม่จำเป็นต้องเป็น ‘กฎเกณฑ์ตายตัว’ เสมอไป หากแต่ควรเป็น ‘ทางเลือกที่หลากหลาย’ ซึ่งตอบโจทย์ของแต่ละประเทศได้อย่างแท้จริง

อ่าน [ชุดข้อมูล] 50 ปีค่าจ้างขั้นต่ำภาคเหนือ (2517-2567) ย้อนรอยจากอดีตถึงปัจจุบัน เป็นยังไง ปรับขึ้นช่วงไหนบ้าง? ได้ที่ https://www.lannernews.com/19112567-02/

อ้างอิง

Lanner JOY: Museum of Broken Relationships บันทึกความทรงจำผ่านวัตถุแห่งการจากลา จากโครเอเชียสู่พิพิธภัณฑ์ถาวรแห่งที่สอง ณ เชียงใหม่ 

เรื่องและภาพ: อนันตญา ชาญเลิศไพศาล

‘Museum of Broken Relationships หรือ ‘พิพิธภัณฑ์แห่งการจากลา’ พื้นที่บอกเล่าเรื่องราวความรัก ความสัมพันธ์ และการสูญเสีย ร้อยเรียงผ่านการจัดแสดงวัตถุสิ่งของที่รวบรวมจากผู้คนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น กระจกมองข้าง, ไม้นวดแป้ง, ชุดแต่งงาน และสิ่งของอีกมากมาย ที่คุณเองก็สามารถส่งวัตถุและเรื่องเล่าเข้ามาร่วมจัดแสดงได้

ในปี พ.ศ. 2553 การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ถาวรแห่งแรกได้เริ่มต้นขึ้นที่กรุงซาเกร็บ ณ ประเทศโครเอเชีย และได้เดินทางไปจัดแสดงทั่วโลกอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 18 ปี จนปัจจุบันในปี พ.ศ. 2567 พวกเขาข้ามทวีปจากกรุงซาเกร็บ มาสู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย นำพาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาปักหลักที่เมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในอาคารเก่าแก่อย่าง ‘เตีย หย่ง เชียง’ ที่มีอายุราว 120 ปี ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447 เป็นอาคารที่โดดเด่นด้วยผนังสีขาวตัดกับไม้สีน้ำตาลเข้ม ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมริมถนนท่าแพและถนนวิชยานนท์

ภาพจาก Museum of Broken Relationships

Lanner Joy มีโอกาสพาทุกคนไปรู้จักกับ โอลินก้า วิสติก้า (Olinka Vištica) และ ดราเซ็น กรูบิซิค (Dražen Grubišić)‘ สองผู้ก่อตั้ง Museum of Broken Relationships แม้จะเดินทางจัดแสดงนิทรรศการมาแล้วทั่วโลก จนพวกเขาได้เลือกเชียงใหม่เป็นบ้านหลังที่สองให้เราได้เยี่ยมชม และเป็นหมุดหมายอันดีที่จะทำความเข้าใจบริบทของวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ที่แฝงเร้นอยู่ในวัตถุแต่ละชิ้น พิพิธภัณฑ์แห่งที่สองนี้ นำทีมโดยภัณฑารักษ์ Charlotte Fuentes และ อีฟ – ปิยธิดา อินตา ออกแบบภายในโดย STA Studio จากฝีมือของ Petra Tikulin และ อัศรินทร์ สงวนวงศ์วาน ด้านเอกลักษณ์ทางภาพและกราฟิกดีไซน์ ได้รับการออกแบบอย่างประณีตโดย นุภาพ อัญญานุภาพ ทาร์ จาก Graphic Design Unit Studio

ทำความรู้จักกับผู้ก่อตั้งทั้งสอง

โอลินก้า วิสติก้า โปรดิวเซอร์ และผู้กำกับงานเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติ และเทศกาลภาพยนตร์แอนิเมชันโลก ANIMAFEST ZAGREB ทำงานเกี่ยวกับโครงการทางวัฒนธรรมในโครเอเชียมานานกว่า 20 ปี ส่วน ดราเซ็น กรูบิซิค ศิลปินที่จบการศึกษาจาก Academy of Fine Arts ในซาเกร็บ เขาทำงานศิลปะหลากหลายแขนง รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบ, สื่อโทรทัศน์, ภาพยนตร์ จนถึงการละคร

เรื่องราวความสัมพันธ์ที่แม้จะสิ้นสุดลง แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ ‘Museum of Broken Relationships’ 

โอลินก้า: ตอนนั้นฉันมีโอกาสทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปะการแสดงร่วมสมัยร่วมกับ Kalina Cremona  ซึ่งเป็น Choreographer หรือนักออกแบบท่าเต้นชาวฝรั่งเศส และฉันต้องการ Set Designer ที่จะมาช่วยออกแบบฉากให้กับงานนี้ ฉันนึกถึงดราเซ็น เพราะรู้ว่าเขาเคยทำงานออกแบบมาหลายครั้ง จากการทำงานครั้งนั้น เราจึงสนิทกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ตัดสินใจคบกันและอยู่ด้วยกันเป็นเวลา 4 ปี 

โอลินก้า: เมื่อตอนที่เราทั้งสองคนตัดสินใจเลิกรา แต่ก็ยังต้องอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ตอนนั้นเราพยายามแยกชีวิตออกจากกัน แต่รอบตัวเรายังมีของต่างๆ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำ อย่างเครื่องเล่นวิดีโอที่เคยใช้ดูหนังด้วยกัน หรือหนังสือทุกเล่มของเหล่านี้เป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้ระลึกถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งหมด 

ตอนนั้นเรามีสิ่งของอยู่หนึ่งชิ้น นั่นก็คือ “กระต่ายไขลาน” ที่เราเลี้ยงดูราวกับสัตว์เลี้ยงจริงๆ เพราะด้วยความที่ดราเซ็นแพ้แมว อีกทั้งยังเราก็เลี้ยงสุนัขไม่ได้เพราะเดินทางบ่อยมาก กระต่ายไขลานตัวนี้เลยกลายเป็นเหมือนมาสคอต เวลาที่ต้องเดินทางไปไหน เราก็พกมันไปด้วยทุกครั้งและถ่ายรูปเก็บไว้แทนกัน

จากนั้นเราก็เริ่มพูดคุยกันว่า สถานการณ์แบบนี้คงไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่เผชิญ หลายคนก็คงมีความรู้สึกคล้ายกัน เราทั้งสองเลยคิดว่า ถ้ามีสถานที่สักแห่งเหมือนพิพิธภัณฑ์ ที่ทุกคนสามารถนำสิ่งของที่บรรจุไปด้วยความทรงจำเหล่านั้นมาเก็บไว้ได้ ก็คงจะดีไม่น้อย เพื่อให้ผู้คนได้ปล่อยวางจากความทรงจำอันเจ็บปวด แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวความรัก และการระลึกถึงว่าครั้งหนึ่งความสัมพันธ์นั้นเคยมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม

ภาพจาก Museum of Broken Relationships

ทำไมต้อง Broken Relationships ? 

โอลินก้า: คำว่า “Museum of Broken Relationships” เป็นชื่อที่ป๊อปอัพขึ้นมาเอง และเมื่อได้ยิน เราทั้งคู่ก็รู้ทันทีว่า นี่แหละ! คือชื่อที่ใช่ จากนั้นเราก็ลองค้นหาในกูเกิ้ล เพราะคิดว่าชื่อง่ายๆ แบบนี้ต้องมีคนใช้แล้วแน่นอน แต่สุดท้ายก็ไม่เจอ

ฉันตระหนักได้ว่าเราไม่อาจบอกลากับคนที่เคยมีความสัมพันธ์กับเราได้ง่ายๆ เมื่อคนเหล่านั้นได้ทิ้งร่องรอยไว้ เปลี่ยนแปลงเรา จนเราไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป เราเลยอยากอยากสร้างพื้นที่ของความสัมพันธ์ที่สูญเสียแต่และไม่สูญหายไปจากโลกของความจริง เสมือนมรดกทางความทรงจำของมนุษย์ ที่ไม่ใช่การรวบรวมสิ่งของจากบุคคลสำคัญมาจัดแสดงอย่างในพิพิธภัณฑ์ทั่วไป แต่เป็นเรื่องราวของคนธรรมดา เช่นเดียวกับคุณและฉัน 

พิพิธภัณฑ์ของเราอาจฟังดูเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ล้มเหลว แต่มันกลับนำพาความสัมพันธ์ที่งดงามมากมายเข้ามาในชีวิต ฉันคิดว่านี่คือพันธกิจของพิพิธภัณฑ์ นั่นคือการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน แม้จะมีคำว่า “Broken Relationships” อยู่ก็ตาม

ภาพจาก Museum of Broken Relationships

จากจุดเริ่มต้นของโครงการศิลปะที่จัดแสดงวัตถุเพียง 46 ชิ้น ไปสู่คอลเลคชั่นที่มีมากกว่า 3,000 ชิ้น 

ดราเซ็น: จุดเริ่มต้นของเราไม่ได้คิดว่าจะทำพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่แรก เราเริ่มจากโปรเจกต์ที่ได้ทำร่วมกับ  Zagreb Salon of Visual Art ในปี 2006 ตอนนั้นผมได้รับเชิญไปร่วมส่งผลงานในฐานะศิลปิน ซึ่งธีมในปีนั้นคือ ‘Synergy’ หลังจากนั้นผมก็นึกถึงสิ่งที่เคยพูดคุยกับโอลินก้าและโทรไปว่า “เธอจำสิ่งที่เราคุยกันไว้ได้ไหม? มันเข้ากับธีมนี้ได้ดีเลย”

หลังจากนั้นโอลินก้าได้ตกลงที่จะทำ พร้อมเขียนคำอธิบายเป็นหนึ่งหน้ากระดาษ ส่งไป ทีมงานได้ตอบกลับมาว่า “มันดีมาก เรายินดีรับโปรเจกต์ของคุณ” เรามีเวลาเพียงแค่สองสัปดาห์ในการเตรียมงานนิทรรศการ จากนั้นเราก็โทรหาเพื่อนๆ และให้พวกเขาช่วยเผยแพร่และรวบรวมวัตถุ และในที่สุดเราก็ได้ของ 46 ชิ้นประกอบเรื่องราว สำหรับการจัดแสดงในครั้งแรก

มันเป็นสิ่งน่าสนใจและท้าทาย เมื่อคุณทำโปรเจกต์ที่มีส่วนร่วมจากคนหมู่มาก คุณไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะได้รับอะไรบ้าง หรือผู้คนจะมีปฏิกิริยาอย่างไร นั่นเป็นการจัดนิทรรศการครั้งแรก และเราคิดว่าโอเค คงจะได้ประมาณนี้แหละ แต่แล้วสื่อมวลชนก็เริ่มสนใจ งานได้ถูกนำเสนอในสื่อ BBC และ CNN รวมถึงที่อื่น จากนั้นเราก็เริ่มได้รับคำเชิญให้ไปจัดนิทรรศการเดินทางตามที่ต่างๆ ทั้งสิงคโปร์ เบอร์ลิน อิสตันบูล ซานฟรานซิสโก และเบลเกรด 

ภาพจาก Museum of Broken Relationships

โครงการนี้ได้ร่วมจัดนิทรรศการในหลายเมืองทั่วโลก จุดเปลี่ยนที่ทำให้พวกคุณทั้งสองสร้างพิพิธภัณฑ์คืออะไร?

ดราเซ็น: ตอนนั้นสตูดิโอของผมเริ่มเต็มไปด้วยกล่องและวัตถุสิ่งมากมาย จนแทบไม่มีที่ว่าง เหมือนมันกำลังบอกเราว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องจัดการให้เป็นระเบียบ เมื่อนั้นเราเดินทางจัดนิทรรศการกันมาถึงสี่ปี ทุกที่ที่ไปก็มีเรื่องราวและวัตถุใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาตลอด จนโปรเจกต์เล็กๆ นี้เริ่มเติบโตและขยายตัวขึ้นมาเอง

มันรู้สึกราวกับโครงการนี้มีชีวิตของมันเอง และเราต้องคอยหล่อเลี้ยง และดูแลมันไป เสมือนการปล่อยให้ผีเสื้อได้กระพือปีกบิน จากความตั้งใจในการทำงานศิลปะเล็กๆ แต่แล้วทุกอย่างก็ค่อยๆ เกิดขึ้น ทั้งผู้คน สิ่งของ เราจึงเริ่มคิดว่าคงถึงเวลาสร้างพื้นที่ในการเก็บรักษาวัตถุเหล่านี้อย่างจริงจัง

การนำวัตถุสะสมเดินทางไปจัดนิทรรศการในประเทศอื่นๆ ได้เห็นการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ยังไงบ้าง

โอลินก้า: ทุกครั้งที่เราเดินทางไปประเทศไหน สิ่งที่จะต้องมีคือพาร์ทเนอร์ในท้องถิ่นที่เข้าใจวัฒนธรรมของพื้นที่เป็นอย่างดี เราจะต้องเปิดรับและสร้างการมีส่วนร่วมเพราะพิพิธภัณฑ์ของเราไม่ได้มุ่งเน้นแต่เพียงการเก็บสะสมวัตถุ แต่เป็นการสร้างความเชื่อมโยงกับชุมชน 

การร่วมมือเช่นนี้คือหัวใจสำคัญของนิทรรศการที่เดินทางไปจัดในหลากหลายประเทศ รวมถึงที่พิพิธภัณฑ์แห่งที่ 2 นี้ เราตื่นเต้นที่ได้มาเชียงใหม่ และได้รับโอกาสในการทำงานร่วมกับ อีฟ – ปิยธิดา และทีมงานที่ยอดเยี่ยม หากไม่มีพวกเขาโครงการนี้ก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้

อะไรที่ทำให้ตัดสินใจเลือกเชียงใหม่เป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรแห่งที่ 2

โอลินก้า: เราทำโปรเจกต์นี้มานานถึง 18 ปี เมื่อเริ่มเห็นว่าเรื่องราวที่เราเก็บรวบรวมสะท้อนถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมต่างๆ เราจึงฝันอยากมีพิพิธภัณฑ์แบบนี้ในทุกทวีป โดยเฉพาะในเอเชีย และที่เชียงใหม่ ซึ่งเราไม่เคยจัดนิทรรศการที่นี่มาก่อน เมื่อดราเซ็นได้เดินทางมาเที่ยวแล้ว ฉันคิดว่าเขาน่าจะหลงรักเชียงใหม่ เพราะที่นี่เป็นศูนย์รวมของงานศิลปะที่หลากหลายรวมถึงงานคราฟต์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

มีคนถามฉันมากมายว่า “ทำไมถึงไม่เป็นที่กรุงเทพฯ? ฉันคิดว่าพื้นที่บริเวณอาคารนี้มีพลังงานและบรรยากาศบางอย่างที่ให้ความรู้สึกสงบเงียบ เป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถหลีกหนีจากความวุ่นวาย ได้หยุดนิ่ง และเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่มีความหมายต่อพวกเขาได้

อีฟ:  สภาพแวดล้อมมันช่วยส่งเสริมตัวพิพิธภัณฑ์ด้วย

ถ้าเทียบกับที่ต้ังของตัวอาคาร ‘เตีย หย่ง เชียง’ ที่อยู่ระหว่างถนนสามเส้น เราจะเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้ได้เชื่อมต่อกับผู้คน เราคิดว่า เชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสผู้คนได้เรียนรู้ และได้ใช้เวลาละเมียดละไมในการอ่าน ทำความเข้าใจที่มาของวัตถุแต่ละชิ้นได้

การมีอยู่ของพิพิธภัณฑ์แห่งการจากลา ที่แม้จะเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ไร้ความคาดเดา แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าค้นหาเช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์

โอลินก้า: ฉันคิดว่าในปัจจุบันทุกอย่างเหมือนถูกวางแผน แม้แต่เรื่องของความสัมพันธ์ ผู้คนพบกันผ่านแอปพลิเคชัน แต่สำหรับฉัน ความไม่แน่นอน การได้ลองเสี่ยง สิ่งเหล่านี้แหละ ที่ทำให้หัวใจของเราเต้นแรง ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลเราตัดสินใจที่จะทำพิพิธภัณฑ์ที่นี่ เช่นเดียวกัน ฉันก็รู้สึกกลัวว่าผู้คนจะเข้าใจและยอมรับพิพิธภัณฑ์ของเราหรือเปล่า แต่ฉันก็อยากลองดูสักครั้ง

การเดินทางของพิพิธภัณฑ์ไปยังสถานที่ใหม่ๆ มักเต็มไปด้วยความเซอร์ไพรส์ เรามักเริ่มจากความสงสัยว่าเรื่องเล่าและวัฒนธรรมของคนในที่เราพบเจอในที่ต่างๆ เชียงใหม่เองก็เป็นจุดรวมผู้คนจากหลายประเทศ  มีทั้งคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติ และเราอยากรู้ว่าพิพิธภัณฑ์ของเรา จะสามารถสะท้อนเรื่องราวในเมืองนี้ออกมาได้อย่างไร 

ประสบการณ์การมีพิพิธภัณฑ์ที่ประเทศโครเอเชียส่งผลอย่างไรกับคนในเมืองบ้าง?

ดราเซ็น: สิ่งที่เกิดขึ้นในโครเอเชียคือเราพยายามทำให้พิพิธภัณฑ์เข้าถึงง่ายขึ้น และสิ่งที่ผมชอบที่สุดคือเมื่อมีผู้มาเยี่ยมชมแล้วพวกเขารู้สึกว่าพิพิธภัณฑ์ได้เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในตัวเขา

ผมจำได้ว่ามีชายชราคนหนึ่ง อายุประมาณ 90 ปีที่มาจากอเมริกา หลังจากเขาออกจากพิพิธภัณฑ์ เขามาที่เคาน์เตอร์และพูดกับพนักงานที่นั่น ถึงสิ่งที่เค้ารู้สึกและเชื่อมโยงกับตัวเขา ซึ่งมันทำให้ผมรู้สึกว่า นี่แหละ คือเหตุผลในการมีอยู่ของพิพิธภัณฑ์นี้

เมื่อที่เชียงใหม่ไม่ได้เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะมากขนาดนั้น คิดว่าจะสร้างผู้ชมได้อย่างไร?

ดราเซ็น: ผมมองว่าหากคุณนำเสนอสิ่งที่มีคุณค่าและตอบโจทย์ความสนใจของผู้คน คุณก็สามารถสร้างวัฒนธรรมและฐานผู้ชมได้ ผู้คนอาจตั้งคำถามว่า “เราจะมีสิ่งนี้ไปทำไม?” แต่คำถามนั้นจะหมดไป ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้ลองสัมผัสสิ่งใหม่ที่คุณได้ลองนำเสนอ 

เมื่อคุณพูดถึงพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย คนทั่วไปอาจจะคิดว่าต้องมีความรู้เกี่ยวกับศิลปะมากพอที่จะเข้าใจงานศิลปะ แต่ที่นี่ฉันชอบเห็นคนมาเยี่ยมชมที่หลากหลาย เขาอาจจะไม่เคยไปพิพิธภัณฑ์เพื่อชมงานศิลปะมาก่อนก็ได้ แต่กับสิ่งของหรือวัตถุเหล่านี้กลับทำให้เขารู้สึกเชื่อมโยงได้ง่ายที่สุด

ภาพจาก Museum of Broken Relationships

ดราเซ็น: มีผู้เข้าชมถามเข้ามาหลายครั้งว่า “มีของจากคนที่มีชื่อเสียงบ้างไหม?” แน่นอนว่ามี แต่เรามองว่าหากเปิดเราเผยชื่อผู้คนที่ส่งวัตถุเข้ามาจัดแสดง  ผู้คนก็จะมาที่นี่เพื่อมาดูงานแต่กับคนที่พวกเขาสนใจเท่านั้น และเราเชื่อว่าไม่ว่าจะใครต่างก็มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจเสมอ

อีฟ: แม้ว่าในแบบฟอร์มการบริจาค ผู้ส่งจะต้องเขียนชื่อและนามสกุล เป็นการยินยอมให้เรานำไปจัดแสดง แต่ขณะที่เราจัดแสดง เราจะเปิดเผยเพียงแค่วันที่และระยะเวลาเท่านั้น เพราะเค้าคิดว่าเรื่องของทุกคนเท่าเทียม และมีค่าเท่ากัน ไม่ว่าจะมีชื่อเสียงหรือไม่ อยากให้ความสำคัญต่อคุณค่าของเรื่องราวและวัตถุเหล่านั้น ทั้งคุณค่าของการให้และคุณค่าของการรับชม 

มองเห็นอะไรต่ออนาคตในการทำพิพิธภัณฑ์แห่งการจากลา ที่เชียงใหม่

โอลินก้า: ฉันหวังว่าพิพิธภัณฑ์จะเติบโตและเต็มไปด้วยเรื่องราวใหม่ๆ ไม่ใช่เพียงจากประเทศไทย แต่จากทั่วทั้งเอเชียและโลก ฉันหวังว่าการที่เราได้ทำงานร่วมกับอีฟที่เป็นคิวเรเตอร์ในเชียงใหม่ จะทำให้พิพิธภัณฑ์สามารถเชื่อมโยงกับผู้คนได้ และสร้างอารมณ์ความรู้สึกแบบเดียวกับที่เรามีในซาเกร็บ แต่ก็ยังมีเอกลักษณ์พิเศษในแบบของตัวเอง 

ภาพจาก Museum of Broken Relationships

โอลินก้า: แม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทาง แต่ฉันหวังว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาในอาคารประวัติศาสตร์ ที่เราสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมหรือเวิร์กช็อปที่หลากหลาย ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่จัดแสดงในรูปแบบ white cube (ห้องสี่เหลี่ยมผนังขาว) ทั่วไป แต่เป็นพื้นที่เปรียบเสมือน “วัด” ที่เต็มไปด้วยการแวะเวียนเข้ามาแบ่งปันเรื่องราวและสร้างปฎิสัมพันธ์ร่วมกันได้ 

อีฟ: แน่นอนว่าในเอเชียมีบริบทหลากหลายที่น่าสนใจให้พูดถึง แต่เรายังขาดพื้นที่หรือเซฟโซนที่สามารถสร้างบทสนทนาเหล่านี้ได้ พิพิธภัณฑ์จึงอาจเป็นช่องทางหนึ่งในการเปิดพื้นที่สำหรับพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ พิธีกรรม หรือแง่มุมอื่นๆ ที่ศิลปะสามารถเป็นตัวกลางเชื่อมโยง 

สำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เราจะไม่ตีความคำว่า “Broken” ที่แปลว่าการแตกสลายในรูปแบบเดิม แต่เราตั้งใจ “Farewell Ritual” ที่แปลว่า “พิธีแห่งการบอกลา” ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับบริบทที่หลากหลายมากขึ้นในการจัดนิทรรศการ ในตอนนี้เรากำลังเริ่มเปิดรับการบริจาควัตถุแห่งการจากลา ที่จะช่วยขยายแนวคิดร่วมกับผู้คนในพื้นที่ เพื่อสะท้อนบริบทของเอเชียให้ชัดเจนและแข็งแรงมากขึ้น 

ภาพจาก Museum of Broken Relationships

ผู้คนทั่วไปจะบริจาควัตถุเพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพิพิธภัณฑ์แห่งการจากลาได้อย่างไร?

โอลินก้า: ผู้คนมักจะรู้สึกว่าบางเรื่องราวของพวกเขานั้นเป็นเรื่องส่วนตัว และอาจจะดูไม่สมบูรณ์แบบตามที่คาดหวัง แม้บางเรื่องราวนั้นสามารถเล่าออกมาได้แค่บรรทัดเดียว แต่ฉันเชื่อว่าเรื่องเล่านั้นมีคุณค่า วัตถุทุกชิ้นจะได้รับการจัดแสดงด้วยความเคารพ หากคุณยังไม่มั่นใจ ฉันขอต้อนรับให้มาเยี่ยมชมที่พิพิธภัณฑ์แห่งการจากลานี้  คุณอาจจะได้รับแรงบันดาลใจ และอยากส่งวัตถุมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเรา 

Museum of Broken Relationships พิพิธภัณฑ์แห่งการจากลา สาขาเชียงใหม่ พร้อมเปิดให้บริการวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 – 22.00 น.  

สามารถอ่านรายละเอียดและร่วมส่งวัตถุบริจาคได้ผ่านทางเว็บไซต์ https://brokenships.com/th/share  

แรงงานข้ามชาติในไร่กุหลาบ เบื้องหลังความรักที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เรื่องและภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว


Summary

  • อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งปลูกไม้ดอกเพื่อการค้าที่สำคัญ มีพื้นที่ปลูกดอกไม้ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 1,061 ไร่ เกษตรกร 304 ราย ทั้งในพื้นที่ตำบลโป่งแยงและตำบลเหมืองแก้ว
  • แรงงานส่วนใหญ่ในไร่ดอกกุหลาบเป็นแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 5,000 บาท ทำงานวันละประมาณ 12 ชั่วโมงต่อวัน
  • ซึ่งแรงงานในไร่กุหลาบส่วนใหญ่เป็น ‘แรงงานขัดหนี้’ ที่รายได้ไม่เพียงพอต้องกู้หนี้และรับงานนอกเพื่อหารายได้เพิ่ม ไม่สามารถออกจากไร่ได้ 
  • กฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 6/1 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ เป็นเรื่องยากที่จะนำมาปรับใช้เนื่องจากในความเป็นจริงแรงงานไม่รู้สึกว่าตนถูกบังคับใช้แรงงาน แต่ตามความผิดมาตรา 6/1 นั้น ระบุว่า ลูกจ้างจะต้องไม่สมัครใจหรือยินยอมที่จะทำงานกฎหมายก็ไม่คุ้มครอง
  • Business and Human Rights หนึ่งกลไกที่ช่วยเข้ามาทำให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงสิทธิแรงงาน ทั้งค่าตอบแทน ที่อยู่อาศัย สุขภาพและความปลอดภัย ระบบประกันสังคม สิทธิการรักษา การอบรมทักษะอาชีพ ภาษา และกลไกจัดตั้งร้องเรียนของแรงงาน

กุหลาบ ดอกไม้แทนความรักที่หลายคนส่งต่อให้กับคนรักในหลายโอกาส แม้แต่เพลงที่ว่าด้วยรักที่มากล้นกว่า 9,999 ดอก มากมายสุดแสนจะพรรณนา ใครจะรู้ว่าหนึ่งในหลายพันดอกกว่าจะได้มา ต้องผ่านความเหนื่อยยากและหยาดเหงื่อของแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ กลุ่มคนผู้เป็นเบื้องหลังความรักของใครหลายคนไม่มากก็น้อย

ช่วงสายของปลายฤดูฝนท้องฟ้ามืดครึ่มบนภูเขาสลับซับซ้อนอากาศเย็นสบายมาพร้อมกับความชื้นของฝน พื้นที่ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ร่วม 50 กิโลเมตร สองข้างทางเรียงรายไปด้วยไร่ดอกไม้หลายชนิด ไร่ดอกกุหลาบเป็นหนึ่งในไร่ดอกไม้ที่เห็นผ่านตามากกว่าดอกไหนๆ ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่าในอำเภอแม่ริม เป็นแหล่งปลูกไม้ดอกเพื่อการค้าที่สำคัญ มีพื้นที่ปลูกดอกไม้ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 1,061 ไร่ ทั้งในพื้นที่ตำบลโป่งแยงและตำบลเหมืองแก้ว เช่น ดอกกุหลาบ ดอกมากาเร็ตพีค็อก ดอกเบญจมาศ ถือว่าพื้นที่นี้เป็นโรงงานส่งออกความสวยงามและความรักชั้นดี

เราจอดรถริมถนนเพื่อเดินเข้าไปอีกประมาณ 300 เมตร จะพบกับไร่กุหลาบขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งระหว่างทางที่เดินมาด้านซ้ายมือมีกระท่อม 1 หลัง สร้างด้วยแผ่นไม้และมุงด้วยหลังคากระเบื้อง และสุดทางเดินก็จะพบกระท่อมอีก 1 หลังที่สร้างด้วยหลังคาสังกะสี ทั้งหลังปกคลุมไปด้วยกระสอบ มีห้องน้ำอยู่นอกตัวบ้าน กระท่อมทั้ง 2 หลังอยู่ติดกับไร่กุหลาบ เป็นที่อยู่ กิน นอน ของ 2 ครอบครัวที่ช่วยกันดูแลไร่กุหลาบแห่งนี้ให้พร้อมในการส่งต่อความรักตลอดทั้งปี

คำ

‘คำ’ เป็นคนไทใหญ่ วัย 30 เธอเป็นแรงงานในไร่ดอกกุหลาบแห่งหนึ่งในตําบลโป่งแยง คำและครอบครัวได้เข้ามาเป็นทำงานที่นี่ได้ 2 ปีเต็ม ก่อนหน้านี้คำก็เคยทำงานในภาคเกษตรมาหลายที่ แต่เนื่องจากภาระครอบครัวที่ต้องแบกรับ เพราะต้องดูแลลูก 2 คน และแม่ของเธอ การหางานที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องยาก การเป็นแรงงานในไร่กุหลาบจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่มีไม่มากนัก

“นายจ้างสร้างบ้านและปล่อยไร่ให้เราและครอบครัวดูแล” งานนี้จึงตอบโจทย์ของคำที่ครอบครัวสามารถอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า

ลู่

เช่นเดียวกับ ‘ลู่’ พ่อลูก 2 ชาวไทใหญ่ วัย 56 ปี ที่ทำงานและอาศัยอยู่ในไร่กุหลาบติดกับไร่ที่คำอยู่ ลู่มาทำงานโดยการชักชวนของเพื่อนเมื่อ 2 ปีก่อน ลู่บอกว่าการทำงานที่นี่ถือว่าดีกว่าตอนที่ตนอาศัยอยู่ในเมียนมาเนื่องจากไฟสงครามที่คุกรุ่นและความไม่แน่นอนต่างๆ ผลักไสให้ลู่และครอบครัวโยกย้ายมาอาศัยอยู่ในไทยได้ 8 ปีแล้ว

“เขารบกันสู้กัน ยิงกันไปมา ชาวบ้านอยู่ไม่ได้ อายุ 60 ยังต้องเกณฑ์ทหารอยู่เลย ลำบากมาก”

บางครั้งเราไม่มีเงินซื้อน้ำมันมาทำกับข้าว

“ไม่รู้ทำยังไงแล้ว เราทำงานที่นี่แล้ว ก็ทำให้มันพ้นไปปีต่อปี” 

รูปแบบค่าจ้างงานในไร่กุหลาบที่ทั้งสองทำอยู่นั้น จะจ้างตามผลผลิตที่ได้คือมัดละ 10 บาท โดย 1 มัด แบ่งเป็น 10 ดอก โดยต่อ 1 คนนั้นสามารถขนได้ครั้งละประมาณ 50 มัด (หนักประมาณ 50 กิโลกรัม) ต่อคนนั้นสามารถขนได้ประมาณ 2-3 รอบต่อวัน ซึ่งรายได้นั้นมีความไม่แน่นอนเพราะบางครั้งดอกไม้ที่ไม่สวยก็จะถูกคัดออก รายได้ที่ควรจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ลดหลั่นไปตามคุณภาพ ด้วยสภาพภูมิอากาศแปรปรวนทำให้ปีนี้อากาศเย็นช้ากว่าปกติดอกกุหลาบในไร่ของคำและลู่จึงมีผลผลิตที่ตรงตามคุณภาพไม่มากนักทำให้รายได้ลดลง โดยรายได้เฉลี่ยจะอยู่ที่เดือนละ 5,000 บาท บางเดือนได้ 4,000 บาท ซึ่งไม่พอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน บางเดือนต้องออกไปรับจ้างรายวันเพื่อหารายได้เสริมวันละ 250-300 บาท

ตะกร้าและมอเตอร์ไซต์คู่ใจของลู่ในการขนส่งกุหลาบ

“ช่วงที่รายได้น้อยมากกว่าช่วงที่รายได้เยอะ บางครั้งเราไม่มีเงินซื้อน้ำมันมาทำกับข้าว”

คำ เล่าว่าเธอกับสามี ทำทั้งไร่พร้อมกัน 2 คน ตั้งแต่ปลูก รดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน ตัดแต่งกิ่ง กำจัดวัชพืช เก็บ ทำงานทุกวัน วันละ 12 ชั่วโมง โดยต้องตื่นมาตอนตี 4 เพื่อเตรียมตัว และเริ่มตัดดอกไม้ในเวลาตี 5 ถึง 10 โมงเช้า ก่อนนำไปส่งให้นายจ้าง ก่อนจะขึ้นมาที่ไร่อีกครั้งและให้น้ำ พ่นยาในช่วงเที่ยงถึง 5 โมงเย็นทุกวัน

บ้านของ ลู่ และครอบครัวตั้งอยู่ติดกับไร่กุหลาบ บ้างครั้งช่วงไหนที่อากาศชื้นลู่เล่าว่าในตัวบ้านมักเกิดไฟฟ้าลัดวงจรบ่อยครั้ง

ขณะเดียวกัน ลู่ เล่าว่าหากช่วงไหนเป็นช่วงที่ต้องพ่นยาเพื่อป้องกันแมลงมากๆ  เนื่องจากดอกกุหลาบมีความบอบช้ำง่าย หากตนได้รับสารเคมีเข้าไปมากๆ จะมีอาการมือเท้าชาและปวดหัว ต้องกินยาและนอนพัก 3-4 ชั่วโมง และต้องตื่นมาทำงานต่อ เนื่องจากยังมีงานอีกหลายงานที่ค้างไว้และยังไม่ได้ทำในช่วงที่ตนนอนพัก หรือหากช่วงไหนที่ป่วยหนักหากจะเข้าไปในโรงพยาบาลหรือคลินิกก็ต้องควักเงินมาจ่าย หากช่วงไหนไม่มีเงินก็จะต้องกู้ยืมญาติเอามาจ่ายค่ารักษา

“ทำงานหนัก ช่วงที่พ่นยาลำบากมาก เหม็นมาก”

#whomademyflower แรงงานขัดหนี้ในไร่ดอกกุหลาบ

การมอบดอกกุหลาบให้กับคนที่เรารักในวันวาเลนไทน์ถือว่าเป็นการแสดงออกที่โรแมนติกอยู่ไม่น้อย แต่การรู้ที่มาที่ไปของความสวยงามนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องรับรู้ เหตุนี้เองแรงงานปลูกดอกกุหลาบและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ได้รวมตัวกันเพื่อส่งเสียงผ่านการทำโพลสำรวจความเห็นทั่วเมืองเชียงใหม่ ในคำถาม “รู้ไหมว่าคนปลูกดอกกุหลาบ คือ “แรงงานข้ามชาติ” ในแคมเปญ #whomademyflower ตั้งแต่วันที่ 12-14 กุมภาพันธ์ 2566 

โดยให้ประชาชนที่ผ่านไปมาได้ร่วมกันลงความเห็นทั้งหมด 2 ข้อ คือ “รู้ไหมว่าคนปลูกดอกกุหลาบ คือ “แรงงานข้ามชาติ” และต้องการสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิแรงงารรนอย่างเป็นธรรมและมีความปลอดภัยในสถานที่ทำงานหรือไม่? โดยมีคนที่สนใจทำโพลกว่า 276 คน ทั้งหมดสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้าถึงสิทธิแรงงาน สวัสดิการที่เป็นธรรม การทำงานที่ปลอดภัย 

วีรวัศ ขำคม เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) หนึ่งในผู้ริเริ่มรณรงค์แคมเปญนี้ มีโอกาสเข้าไปทำงานกับแรงงานในไร่กุหลาบในอำเภอแม่ริมหลายแห่ง พบว่าแรงงานที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมในภาคเหนือนั้นส่วนใหญ่เพิ่งเข้ามาอยู่ในไทยได้ไม่นานและไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ซึ่งสภาพการจ้างงานเป็นรูปแบบการรับเหมาภายใต้การดูแลและจัดการของนายจ้างดอกไม้ ซึ่งแรงงานมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับค่าจ้างอย่างเป็นธรรม ซึ่งส่วนใหญ่ได้ค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

สภาพดอกไม้ที่ไม่ได้มาตรฐานที่จะถูกนำไปทิ้ง

หากดอกไม้ไม่ได้มาตรฐานที่นายจ้างกำหนด หรือดอกไม่สวย ก็จะถูกหักเงินหรือไม่รับดอกไม้ เป็นการบีบบังคับให้แรงงานต้องกู้หนี้ และต้องรับงานนอกเพื่อหารายได้เพิ่ม หรือที่เรียกว่า ‘แรงงานขัดหนี้’ ไม่สามารถออกจากไร่ได้ หากแรงงานต้องการออกจากพื้นที่ก็จะไม่ได้รับค่าแรงก่อนหน้า แรงงานบางคนทำงานตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ พักผ่อนไม่เพียงพอ และแรงงานหลายคนก็ไม่ได้ถูกอบรมด้านความปลอดภัย

นอกจากเรื่องค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม วีรวัศ ยังเพิ่มเติมถึงเรื่องของการใช้สารเคมีมีความน่ากังวลเป็นอย่างมาก แรงงานหลายคนไม่ทราบว่าสารเคมีที่ใช้อยู่นั้นเป็นสารเคมีอันตราย เนื่องจากดอกไม้มีความบอบช้ำง่ายและถูกแมลงกินได้ง่าย จึงต้องมีการพ่นยาทุกวัน วันละ 3 เวลา ซึ่งรูปแบบการพ่นยาก็เป็นการเปิดสปริงทำให้ละอองของสารเคมีฟุ่งกระจาย แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีชุดป้องกันที่แน่นหนา และการที่แรงงานต้องอาศัยอยู่ในไรสถานที่พักอาศัยหรือบ้านของแรงงานก็ไม่ปลอดภัยไม่ถูกหลักสุขอนามัย หลายครั้งแรงงานนำอุปกรณ์หรือชุดที่ใส่ที่ปนเปื้อนสารเคมีเข้ามาเก็บไว้ในตัวบ้านหรือห้องนอน และหลายครั้งไฟฟ้าก็ลัดวงจรในตัวบ้านเนื่องจากตัวบ้านนั้นมีความชื่น

“แรงงานส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าถูกกดขี่ ซึ่งการต่อรองกับนายจ้างเป็นเรื่องยาก เนื่องจากนายจ้างในภาคเกษตรกรรมรู้จักกันเป็นอย่างดี การต่อรองหมายถึงการปิดเส้นทางการหารายได้ของแรงงาน รวมไปถึงที่พักอาศัยของแรงงานนั้นไม่มีหลักแหล่งที่ชัดเจนเนื่องจากต้องพักอาศัยอยู่ในไร่ หากโดนเลิกจ้างจะทำให้ไม่มีที่พักอาศัยรวมไปถึงเรื่องของบัตรและเอกสารที่นายจ้างต้องเป็นคุ้มครองและรับรองแรงงานเหล่านี้”

ในเรื่องของสวัสดิการและประกันสังคม จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่า เกือบทุกไร่ไม่มีสวัสดิการและประกันสังคมรวมไปสิทธิการรักษาให้แก่แรงงาน แรงงานหลายคนต้องอาศัยคลินิกในการรักษา ไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลรัฐได้ เพราะหลายคนไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ซึ่งการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐไม่ทั่วถึงเนื่องจากพื้นที่การทำเกษตรค่อนข้างกว้าง ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายแรงงานไม่ชัดเจน ความช่วยเหลือยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การทำงานของภาครัฐส่วนใหญ่เป็นการทำงานเชิงรับ เช่น การรับเรื่องร้องเรียน แต่การทำงานเชิงรุกยังไม่ค่อยมีหากเราไม่ไปร้องเรียนในพื้นที่ที่มีปัญหา

“ดอกไม้มันสวยงามได้เพราะมันผ่านมือของแรงงาน แต่ระหว่างทางแรงงานมันถูกขูดรีด ถูกสารเคมี ถูกเอาเปรียบ ต้องกู้หนี้ยืมสิน”

กรอบกฎหมายอันคับแคบกับฝันแสนธรรมดาที่ไม่กล้าฝัน

การเข้ามาลงหลักปักฐานในไทยของคำและลู่ รวมถึงแรงงานอีกหลายคนนั้นมีความฝันเรียบง่าย ขอเพียงมีเงินเก็บ มีรายได้เยอะๆ มีที่อยู่อาศัยที่ดี มีสิทธิรักษาพยาบาล มีน้ำสะอาดและไฟฟ้าให้ใช้ สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้โดยไม่เดือดร้อน

“อยากแก่ไปแล้วไม่เป็นภาระให้ลูกหลาน เพราะเราไม่ไปไหนแล้วจะอยู่ในไทยและตายในไทยนี่ล่ะ” ลู่ กล่าวทิ้งท้าย 

แต่ความฝันแสนเรียบง่ายนี้อาจจะไม่ถึงทางฝันหากภาครัฐและเอกชนที่เป็นตัวแปรหลักในการสร้างคุณภาพชีวิตของแรงงานเหล่านี้ให้ดีได้ไม่เหลียวแล หากมาดูที่ข้อกฎหมายของไทยที่กำหนดหากดูตามตัวบทกฎหมายอาจจะยังไม่ครอบคลุมในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในภาคเกษตรเท่าที่ควร ในรายงาน แรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรกรรม: ลักษณะการจ้างงานสภาพการทำงาน ความเสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงานและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เผยว่า มาตรา 6/1 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ ที่เป็นกฎหมายคุ้มครองการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งหากจะนำมาปรับใช้ให้แรงงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนั้นเป็นเรื่องยาก 

เนื่องจากในทางปฎิบัติแรงงานไม่รู้สึกว่าตนถูกบังคับใช้แรงงาน แต่เป็นการทำงานโดยยอมรับสภาพการทำงานที่เลวร้าย แต่ตามความผิดมาตรา 6/1 นั้น ระบุว่า ลูกจ้างหรือผู้เสียหายจะต้องไม่สมัครใจหรือยินยอมที่จะทำงาน หากแต่การทำงานนั้นเกิดขึ้นจากการถูกบังคับข่มขืนใจ และผู้ถูกข่มขืนใจอยู่ในภาวะหรือสถานการณ์ที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า ถ้ายินยอมก็ไม่เข้ากรอบกฎหมายคุ้มครอง ซึ่งเป็นกรอบการพิจารณาที่มองสภาวะการบังคับแรงงานอย่างคับแคบเกินไป และไม่คำนึงถึงความเป็นจริง

ทั้งนี้ วีรวัศ มีข้อเสนอ คือต้องการร่วมมือกับทางภาครัฐและภาคธุรกิจในการบูรณาการให้ทุกคนใช้หลักการคือ Business and Human Rights หรือธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชน ในการทำงาน ซึ่งหากได้มีโอกาสทำงานกับภาครัฐจะทำให้การทำงานเกี่ยวกับสิทธิแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีงบประมาณแต่ยังขาดการประสานงานกับแรงงาน

รู้จักธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชน
Business and Human Rights หรือ ‘ธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชน’ คือการกำหนดแนวทางการดําเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างครอบคลุมตามกฎหมายและหลักการสากล ในการกำหนดกลยุทธ์และแผนในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีกลไกการคุ้มครองและเยียวยาเมื่อเกิดเหตุ รวมถึงเปิดโอกาสให้ลูกจ้าง ชุมชนโดยรอบและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมหารือในความร่วมมือและสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นพร้อมกัน 

เพื่อเป็นการป้องกันและรับมือกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากกิจกรรมทางธุรกิจ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554 องค์การสหประชาชาติได้ให้ความเห็นชอบในหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGP) เพื่อใช้เป็นแนวทางให้รัฐและองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติบนฐานของความสมัครใจ โดยเนื้อหาสำคัญของหลักการชี้แนะมีดังนี้ 1.รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 2.องค์กรภาคธุรกิจมีหน้าที่เคารพสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับ และ 3.ในกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีที่มาจากองค์กรภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มธุรกิจ ควรจัดให้มีช่องทางการเยียวยาเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากองค์กรภาคเอกชน

ในประเทศไทยได้มีการกำหนด National Action Plan on Business and Human Rights หรือ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เป็นแผนที่พัฒนาขึ้นโดยรัฐเพื่อคุ้มครองไม่ให้ภาคธุรกิจดําเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิทธิมนุษยชนรวมถึงประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยมุ่งหวังให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งนี้แผน NAP ในประเทศไทยยังเป็นเพียงแผนยังไม่มีการบังคับใช้เป็นกฎหมายเป็นเพียงแนวทางในการปฏิบัติ

ซึ่งอีกหนึ่งตัวแปรหลักคือภาคธุรกิจที่ต้องการให้คำนึงถึงสิทธิแรงงาน ค่าตอบแทนความปลอดภัยของแรงงาน ที่อยู่อาศัยของแรงงาน การตรวจสุขภาพประจำปี การอบรมความปลอดภัย ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ปลอดภัย แรงงานสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมรวมไปถึงสิทธิการรักษา การอบรมทักษะอาชีพ ภาษา และกลไกจัดตั้งร้องเรียนของแรงงาน เนื่องจากนายจ้างส่วนใหญ่จะคำนึงถึงผลผลิตแต่ไม่ได้มองความเป็นอยู่ของแรงงาน

วีรวัศ ส่งท้ายว่า เรื่องของแรงงานในภาคเกษตรกรรมไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดของคนทุกคนที่บริโภคผลผลิตจากการเกษตร ซึ่งกลุ่มคนที่เป็นกำลังในการผลิตสิ่งเหล่านี้คือแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ยั่งยืนได้ก็ไม่พ้นมือของผู้บริโภคทุกคนที่จะช่วยสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติได้รับสวัสดิการที่ดี และธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชน เพราะแรงงานข้ามชาติเป็นคนช่วยผยุงเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน เป็นรากฐานของการเกษตรในไทย

“ดอกไม้สวยงามกว่าจะเป็นหนึ่งดอก ต้องคำนึงว่ามันเกิดจากการขูดรีดหรือเปล่า มันผ่านกระบวนการที่ถูกต้องมาหรือเปล่า หากต้องการให้ดอกไม้นั้นสวยงามจริงๆ มันต้องสวยงามตั้งแต่ต้นทางที่เป็นเมล็ดจนถึงปลายทางที่เป็นดอกไม้”