Home Blog Page 9

คนพิษณุโลกโวยขยะล้นเมือง เหตุปิดบ่อขยะบ้านปากโทก

เรื่อง: สุมาพร สารพินิจ

จากประเด็นร้อนสั่งปิดบ่อขยะฯ บ้านปากโทก ตามประกาศปิดปรับปรุงชั่วคราว 7 วัน ตั้งแต่วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567 ส่งผลให้บ่อฝังกลบขยะฯ บริษัท ไทมีดี เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด ถูกปิดปรับปรุงชั่วคราว ตามเสียงสะท้อนถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ร่วม 100 คน

(ชาวบ้านตำบลปากโทกรวมตัวกันคัดค้านการทำประขาพิจารณ์บ่อขยะฯ วันที่ 9 เมษายน 2567 ภาพ: ผู้จัดการออนไลน์ https://mgronline.com/local/detail/9670000031144)

ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ณ ลานอเนกประสงค์ หมู่ 5 ตำบลปากโทก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ได้มีเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล เพื่อประกอบการขอใบอนุญาตกำจัดขยะฯ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2561 โดยมีนายอำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลกร่วมเป็นประธานพบว่าระหว่างการรับฟังความคิดเห็นได้มีกลุ่มชาวบ้านจากหมู่ 2 หมู่ 6 หมู่ 7 ตำบลปากโทก ประมาณ 200 คน รวมกลุ่มกันชูป้ายคัดค้านไม่เอาบ่อขยะ เหตุเพราะเคยมีการนำขยะจากหลายอำเภอมาทิ้งในเขตตำบลหัวรอ 

ปัจจุบันบ่อขยะล้นเกินกว่าจะรับขยะมาทิ้งเพิ่มได้อีก ชาวบ้านต้องทนต่อกลิ่นเหม็นรบกวนตลอดทั้งวัน ทั้งน้ำเสียที่ถูกปล่อยจากบ่อขยะปนเปื้อนอยู่ในน้ำบาดาลที่ชาวบ้านใช้อุปโภค บริโภค สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านมาแล้วตั้ง 6 ปี เกิดความกังวลต่อการขยายบ่อขยะฯเพิ่ม เพราะไม่มั่นใจว่าทางบริษัทจะสามารถรักษามาตรฐานได้” เสียงของนางเอ (นามสมมุติ) ชาวบ้านในพื้นที่กล่าว

ภายหลังการคัดค้านของประชาชน ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 อัครโชค สุวรรณทอง จัดทำรายงานผลการประชุมคัดค้านการดำเนินกิจการบ่อฝังกลบขยะฯ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ระบุว่า หลังจากได้รับฟังเสียงเรียกร้องคัดค้านของประชาชนในตำบลปากโทก จึงได้จัดประชุมและมีมติร่วมกันคือ องค์การบริหารส่วนตำบลปากโทกจะดำเนินการปิดประกาศ ปิดปรับปรุงชั่วคราว 7 วัน ตังแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป รวมถึงห้ามการดำเนินกิจการต่อเนื่อง และให้ขนขยะออกจากพื้นที่ พร้อมเรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกและคณะทำงานฯ ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

(รายงานผลการประชุมคัดค้านการดำเนินกิจการบ่อฝังกลบขยะของบริษัท ไทมีดีเพื่อสิ่งแวดล้อมจำกัด ภาพ: คมชัดลึก https://www.komchadluek.net/news/general-news/584021

ด้าน พญา ธาราวุฒิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทมีดี จำกัด ชี้แจ้งว่า บริษัท ไทมีดี จำกัด รับกำจัดขยะตามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิษณุโลกจำนวน 35 แห่ง ยกเว้น อำเภอนครไทย และ อำเภอชาติตระการ ส่งผลให้บ่อขยะเต็มเร็วเกินกว่าที่คาดไว้ จึงต้องการขยายบ่อขยะเพื่อเพิ่มโรงงาน RDF สำหรับการคัดแยกขยะและส่งเสริมการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชนปากโทก พร้อมยืนยันว่าบริษัทของตนทำถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอย่างแน่นอน

ในเวลาต่อมา หลังจากการประชุมวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งได้ประกาศงดเก็บขยะชั่วคราว ทั้ง 32 พื้นที่ ได้แก่

1.เทศบาลเมืองอรัญญิก

2.เทศบาลตำบลบ้านคลอง

3.เทศบาลตำบลท่าทอง

4.เทศบาลตำบลหัวรอ

5.เทศบาลตำบลพลายชุมพล

6.เทศบาลตำบลบ้านใหม่

7.เทศบาลตำบลบางกระทุ่ม

8.เทศบาลตำบลห้วยแก้ว

9.เทศบาลตำบลเนินกุ่ม

10.เทศบาลตำบลบางระกำ

11.เทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่

12.เทศบาลตำบลวังทอง

13.เทศบาลตำบลพรหมพิราม

14.เทศบาลตำบลลวงฆ้อง

15.เทศบาลตำบลวัดโบสถ์

16.เทศบาลตำบลเนินมะปราง

17.องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง

18.องค์การบริหารส่วนตำบลสมอแข

19.องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์

20.องค์การบริหารส่วนตำบลบึงพระ

21.องค์การบริหารส่วนตำบลดอนทอง

22.องค์การบริหารส่วนตำบลวัดจันทร์

23.องค์การบริหารส่วนตำบลไผ่ขอดอน

24.องค์การบริหารส่วนตำบลวัดพริก

25.องค์การบริหารส่วนตำบลปากโทก

26.องค์การบริหารส่วนตำบลแก่งโสภา

27.องค์การบริหารส่วนตำบลวงพิกุล

28.องค์การบริหารส่วนตำบลวังทอง

29.องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแขม

30.องค์การบริหารส่วนตำบลพรหมพิราม

31.องค์การบริหารส่วนตำบลท่าตาล

32.องค์การบริหารส่วนตำบลหนงกุลา

ทั้งนี้ได้มีการยกเว้นเทศบาลนครพิษณุโลก เนื่องจากการจัดเก็บขยะเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง เทศบาลนครพิษณุโลกจึงไม่ประกาศงดเว้นการเก็บขยะและปฏิบัติการจัดเก็บขยะตามเดิม ตามที่ ณัฐทรัชต์ ชามพูนท ได้โพสต์เฟสบุ้คเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ว่า “เทศบาลนครพิษณุโลกยืนยันให้บริการจัดเก็บขยะตามปกติ” และข้อความ “ทำเต็มที่ พร้อมรับมือ” พร้อมรูปภาพลงพื้นที่กับนางเปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศบาลนครพิษณุโลก เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567

ภาพ:  https://www.facebook.com/share/p/guxTd3aQQqvdUgsU/

โดยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูล และมูลฝอยจังหวัดพิษณุโลก ได้เข้าร่วมฟังความเดือดร้อนของประชาชน และเน้นย้ำถึงการดำเนินการตามโครงการ “พิษณุโลก เมืองใช้ประโยชน์จากขยะ”

โครงการ “พิษณุโลก เมืองใช้ประโยชน์จากขยะ (Phitsanulok,the City of Recycling)” เป็นแผนการจัดการขยะของจังหวัดพิษณุโลกปี 2567 โดยขับเคลื่อนครอบคลุม 6 กลุ่มเป้าหมาย  ได้แก่ 1.ครัวเรือน 2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3.สถาบันการศึกษา 4.ศาสนสถาน  5.ส่วนราชการ และ 6.ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่  รวมไปถึงตลาดสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เพื่อให้การดำเนินการบริหารจัดการขยะของจังหวัดพิษณุโลก เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังได้เรียนนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง กำนันทุกตำบลและผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน เพื่อดำเนินแนวทางการจัดการขยะ 4 มาตรการ ได้แก่

1.มาตรการคัดแยกขยะของครัวเรือน

2.มาตรการการใช้ประโยชน์จากขยะของครัวเรือน

3.มาตรการกำจัดขยะให้ถูกวิธี

4.มาตรการสร้างการมีส่วนร่วมของครัวเรือนกับโครงการ “พิษณุโลก เมืองใช้ประโยชน์จากขยะ (Phitsanulok, the City of Recycling)” โดยทางจังหวัดได้สั่งการให้ทุกหมู่บ้านดำเนินการจัดตั้งธนาคารขยะ เพื่อให้เกิดการจัดการขยะต้นทางจากครัวเรือน

ในวันเดียวกัน เวลา 14.00 น. ที่ศาลาการเปรียญวัดบ่อทองคำ ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 32 แห่ง มหาวิทยาลัยนเรศวร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 2 หมู่ 7 ตำบลปากโทก และหมู่ 11 ตำบลหัวรอ รวมกว่า 200 คน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อปัญหาการจัดการขยะ

จนเกิดเป็นข้อสรุปมาตรการแก้ไข 5 ข้อ ดังนี้ 

1.ให้นำหลักการพิษณุโลกเมืองใช้ประโยชน์จากขยะ มาใช้อย่างเข้มข้น 

2.ให้ อปท. ที่มีบ่อขยะเก่าปรับปรุงบ่อขยะ ให้เป็นไปตามสุขาภิบาล และให้รายงานผลการปรับปรุงให้คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดพิษณุโลก ทราบภายใน 7 วัน 

3.ให้เทศบาลนครพิษณุโลก ขอความเห็นชอบในการนำขยะไปดำเนินการกำจัดขยะ ดังนี้ ใช้สถานที่ (ขนถ่าย) ที่ตำบลท่าทอง อำเภอเมืองเมืองพิษณุโลก ใช้แหล่งกำจัดขยะ ที่ตำบลบึงกอก อำเภอบางระกำ 

4.เห็นชอบให้ อปท. ทั้ง 33 แห่ง ที่ไม่สามารถทำการกำจัดขยะที่ตำบลปากโทกได้ ให้ขนขยะข้ามเขต เพื่อนำไปกำจัดที่สถานที่กำจัดขยะ ที่จังหวัดนครสวรรค์ 

5.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 33 แห่ง จัดทำแผนการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ต่อคณะกรรมการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดพิษณุโลก ภายใน 7 วัน และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน

6.ให้ อปท. ทุกแห่ง กวดขันการทิ้งขยะในที่สาธารณะ หากพบให้ดำเนินการฯ อย่างเข้มงวด เพื่อให้เกิดความสะอาดและเป็นระเบียบในพื้นที่

รัฐต้องจัดการ ‘ขยะล้นเมือง’ ปัญหาที่ประชาชนรับมือไม่ทัน

ขณะเดียวกัน หลายอำเภอและตำบลต่างก็ได้รับผลกระทบจากการหาวิธีกำจัดขยะมูลฝอย ในพื้นที่ตำบลท่าโพธิ์ อ.เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยนเรศวร มีจำนวนประชากรประมาณ 30,000 คน กำลังประสบปัญหาด้านพื้นที่ทิ้งขยะ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณรอบมหาวิทยาลัย ถนนเลียบคลองชลประทาน และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ต่างได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นเน่า เนื่องจากจุดทิ้งขยะมีขยะเต็มล้นแทบทุกที่ ทำให้ขาดแคลนพื้นที่ทิ้งขยะตามหลักสุขอนามัย บ้างก็ถูกทิ้งตามข้างทางถนน บ้างก็ถูกกองเรียงไว้อย่างกระจัดกระจาย

ภาพ: https://www.facebook.com/share/p/ag6yjqaVSvFYeqUu/?mibextid=oFDknk
(กองขยะหน้าหอพักนอกมหาวิทยาลัยนเรศวร ภาพ: สุมาพร สารพินิจ)

ภายหลังปัญหาขยะล้นจนสร้างกลิ่นเหม็นรอบมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีมาตรการในการขอความช่วยเหลือในการจัดการขยะ โดยได้ประกาศขอความร่วมมือเพื่อลดการใช้ขยะพลาสติก โฟม หรือกระดาษที่เป็นภาชนะบรรจุอาหาร และเริ่มการจัดสรรจุดทิ้งขยะและถังสำหรับคัดแยกขยะอย่างชัดเจน 

(ร้านอาหารในมหาวิทยาลัยเริ่มติดป้ายชักชวนให้นิสิตลดการใช้ภาชนะพลาสติกหรือโฟม ผ่านการลดราคา 2 บาท ภาพ: สุมาพร สารพินิจ)

ด้าน ดร.ศุภสิทธิ์ ต๊ะนา อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยาวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นต่อปัญหาการจัดการขยะขยะ ในพื้นที่ตำบลท่าโพธิ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ไว้ว่า สถานการณ์รอบมหาลัยนเรศวร หากเทียบกับจำนวนประชากรแทบจะเทียบเท่าประชากร 1 อำเภอ ส่งผลให้คนที่อาศัยโดยรอบมหาลัยจึงมีความหลากหลาย มีการค้าขาย มีร้านค้า ร้านสะดวกซื้อค่อนข้างเยอะ การทิ้งขยะไม่ว่าใครก็ตามทั้งรอบมหาลัยและพื้นที่อื่น รวมไปถึงที่ผ่านมาไม่ได้ตั้งรับมือกับประเด็นปัญหาการจัดการขยะมากพอ เนื่องจากเป็นประเด็นที่เร่งด่วนตามคำสั่งศาล เมื่อถูกสั่งปิดบ่อขยะ เลยไม่มีมาตรการที่จะรองรับเมื่อขยะเพิ่มมากขึ้น 

ศุภสิทธิ์ ได้ตั้งคำถามว่า ต่อไปในอนาคตท้องถิ่นในพื้นที่จะสามารถบริหารจัดการได้มากน้อยอย่างไร เพราะบ่อขยะหลายบ่อในจังหวัดพิษณุโลกที่ถูกปิดไปก็ไม่สามารถจะเปิดใช้บริการได้ สถานการณ์ขยะรอบมหาวิทยาลัยนเรศวรแทบที่จะรับมือได้น้อยเพราะมีจำนวนประชากรที่เยอะหากเทียบกับชุมชนอื่น แต่มหาลัยเป็นพื้นที่เปิด ส่งผลให้จำนวนปริมาณขยะมีจำนวนมาก เกรงว่าจะเกิดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและขยะเน่าเสียตามมา 

“การจัดการขยะควรที่จะให้ท้องถิ่นและพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ร่วมมือกัน โดยเริ่มจากการช่วยกันจัดหาพัสดุอุปกรณ์ก่อน เพราะสถานการณ์ค่อนข้างไว ต้องจัดการในครอบครัว ร้านค้า หรือพื้นที่ของตัวเองก่อน” ศุภสิทธิ์ กล่าว

องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์เริ่มทยอยจัดเก็บขยะในเวลาประมาณ 4 ทุ่ม ของวันที่ 2 กันยายน 2567 โดยมีผู้ใช้เฟสบุ้คโพสต์ข้อความระบุว่า “มาแว้วๆๆๆๆรถที่ชาวพิษณุโลกรอคอยมาหลายวัน”

ล่าสุด วันที่ 3 กันยายน 2567 ชาวบ้านตำบลบึงกอก อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก จำนวนกว่า 300 คน พร้อมด้วยกำนันตำบลบึงกอก สุนทร หิรัญทับทิม รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านถึงวันชัย ไกรเกตุ นายก อบต.บึงกอก หากมีการนำขยะจากเทศบาลนครพิษณุโลก และพื้นที่อื่น ๆ มาทิ้งที่บ่อขยะฯ เก่า ซึ่งเคยเปิดรับกำจัดขยะเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ชาวบ้านพร้อมทำประชาพิจารณ์คัดค้านการปรับปรุงและเปิดใช้บ่อขยะเพื่อแก้ปัญหาขยะในปัจจุบัน ทั้งนี้ การจัดการขยะมูลฝอยในจังหวัดพิษณุโลกยังคงยึดตามมติที่ประชุม คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดพิษณุโลก เรื่องเน้นย้ำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งดำเนินการตาม 6 มาตรการ ดังที่กล่าวข้างต้น เพื่อรับมือปัญหาการจัดการขยะต่อไป

อ้างอิงข้อมูล

  • ล่มก่อนเริ่ม! คนปากโทก พิษณุโลก ฮือต้านเต็มเวที ค้านเอกชนขยายบ่อขยะ 200 ไร่ ครวญทนมา 6 ปียังแก้ไม่ตก สืบค้นจาก https://mgronline.com/local/detail/9670000031144 วันที่ 30 สิงหาคม 2567
  • เช็กรายชื่อ อปท. 33 แห่ง เมืองพิษณุโลก หยุดเก็บขยะชั่วคราว สืบค้นจาก https://www.komchadluek.net/news/general-news/584021 วันที่ 30 สิงหาคม 2567
  • อัครโชค สุวรรณทอง, รายงานผลการประชุมคัดค้านการดำเนินกิจการบ่อฝั่งกลบขยะของบริษัท ไทมีดีเพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด, (พิษณุโลก: สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอเมืองพิษณุโลก,วันที่ 24 สิงหาคม 2567).
  • ณัฐทรัชต์ ชามพูนท, เทศบาลนครพิษณุโลกยืนยัน ให้บริการจัดเก็บขยะตามปกติ, สืบค้นจาก  https://www.facebook.com/share/p/xARXov9knT6NV5qh/, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567).
  • ณัฐทรัชต์ ชามพูนท, ทำเต็มที่ พร้อมรับมือ, สืบค้นจาก  https://www.facebook.com/share/p/guxTd3aQQqvdUgsU/, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567).
  • อัครโชค สุวรรณทอง, การจัดตั้งธนาคารขยะของหมู่บ้าน “ตามแผนการดำเนินงาน พิษณุโลก เมืองใช้ประโยชน์จากขยะ”, (พิษณุโลก: สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอเมืองพิษณุโลก,วันที่ 28 สิงหาคม 2567).
  • สื่อประชาสัมพันธ์จังหวัดพิษณุโลก, ผวจ.พิษณุโลก นำ 32 อปท. และ มน. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่บ่อขยะ เพื่อหาแนวทางยุติปัญหาสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย เสนอใช้หลักการ “พิษณุโลก เมืองใช้ประโยชน์จากขยะ” แก้ปัญหาในระยะยาว, สืบค้นจาก https://www.facebook.com/share/p/2pCSPxo7dBZ5Dwag/, เข้าถึงเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567. 
  • Padipat Suntiphada – ปดิพัทธ์ สันติภาดา, สืบค้นจาก  https://www.facebook.com/share/p/W1TXo2mY3GL8G82x/?mibextid=WC7FNe, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567).

“เหลือแค่ประชาชนเท่านั้นหล่ะที่ยังมีกระดูกสันหลัง” เผยความรู้สึก “เสื้อแดงเชียงใหม่” กรณีประชาธิปัตย์ได้ 2 โควตา ครม. แพทองธาร

เรื่อง: ปวีณา หมู่อุบล

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าว ThaiPBS รายงานข่าวความคืบหน้าโผ ครม. แพทองธาร ระบุโผลงตัวแล้ว มีการจัดสรรรายชื่อพรรคร่วมครบทั้ง 36 ตำแหน่ง คาดว่าสามารถทูลเกล้าฯ ได้ภายใน 15 ก.ย. หรือบวกลบไม่เกิน 3 วัน เป็นที่น่าสนใจว่าโผดังกล่าวปรากฏรายชื่อ 2 สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 และเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา เขต 5 โดยทั้งคู่จะมีตำแหน่งเป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรมช.สาธารณสุข ตามลำดับ

การจัดตั้งรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ที่ได้รวมเอาพรรคประชาธิปัตย์เข้าไว้ด้วย นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญของการเมืองไทยร่วมสมัย เพราะอาจถือได้ว่าเป็นการปิดฉากประวัติศาสตร์ความขัดแย้งพรรคเพื่อไทย (เมื่อครั้งเป็นพรรคไทยรักไทย) และพรรคประชาธิปัตย์ อันยาวนาน 2 ทศวรรษ  

การจับมือกันครั้งนี้เป็นที่น่าสนใจว่า “คนเสื้อแดง” คิดเห็นหรือรู้สึกกับเหตุการณ์นี้อย่างไร เพราะกลุ่มผู้บทบาทสำคัญยิ่งในสมการความขัดแย้งของทั้ง 2 พรรค นับตั้งแต่เริ่มมีการเคลื่อนไหวและชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐประหาร พ.ศ. 2549 กระทั่งเผชิญกับโศกนาฏกรรมที่กลางกรุงในเดือนเมษา – พฤษภา ปี พ.ศ. 2553

ที่จริงแล้ว มีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งได้ออกมาแสดงความเห็นและความรู้สึกเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวนี้ไว้บ้างแล้ว เป็นต้นว่า ก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อดีตแกนนำคนเสื้อแดง ได้ออกมาแสดงความเห็นโดยชี้ว่าผู้บริหารปัจจุบันของประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ช่วงปี 53 นอกจากนี้ ยังกล่าวอีกว่าจากที่ได้สัมผัสหัวหน้าและเลขาธิการพรรค พบว่ามีมุมมองต่อการเมืองที่ดี เป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในเชิงบวก ไม่ฝักใฝ่ทหาร ไม่ฝักใฝ่อำนาจนอกระบบ “ส่วนตัวผมไม่ติดใจเลย แต่ถ้าเป็นบุคคลที่เคยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปี 2553 และเข้ามาเป็นรัฐมนตรี อย่างนี้คงไม่เห็นด้วย” ก่อแก้วกล่าว

ขณะที่ วรชัย เหมะ ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี อดีตแกนนำ นปช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวนี้ไว้โดยตนมองว่าเป็นความจำเป็น ด้วยเงื่อนไขสถานการณ์และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนในประเด็นเรื่องพรรคประชาธิปัตย์ในยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำการสลายม็อบคนเสื้อแดง ตนมองว่าปัจจุบันอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็ไม่ได้อยู่ในพรรคแล้ว ในวันนี้ พรรคประชาธิปัตย์เป็นคนรุ่นใหม่ผลัดใบ อีกทั้งเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันก็ไม่มีส่วนร่วมในการสลายม็อบคนเสื้อแดง แม้จะมีความรู้สึกถึงการสลายม็อบ 99 ศพ รวมถึงความเจ็บปวดของคนเสื้อแดง แต่เราต้องแยกคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ และต้องเห็นใจรัฐบาล ที่ต้องเพิ่มเสียงเพื่อความมั่นคง 

อีกด้านหนึ่ง สมโภชน์ ประสาทไทย แกนนำเสื้อแดงโคราชได้แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า ส่วนตัวแล้วตนเองก็ไม่ได้อยากให้ดึงพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาล เพราะคนเสื้อแดงเคยต่อสู้กับพรรคนี้มาจนเกิดการสูญเสียชีวิตมากมาย คนเสื้อแดงทุกคนยังคงจำได้ดี แต่ในเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปนานแล้ว และคนในพรรคประชาธิปัตย์ก็เปลี่ยนถ่ายเป็นคนรุ่นใหม่แล้ว ถ้าเรามัวแต่ไปยึดติดอยู่กับความขัดแย้งในอดีต ก็จะทำให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

สำหรับพื้นที่เชียงใหม่ ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยประเด็นดังกล่าวนี้กับ 2 ตัวแทนคนเสื้อแดง คือดาบชิต กลุ่มแดงเชียงใหม่ และป้าวันดี โดยทั้งสองได้แบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึกของการเป็นคนเสื้อแดง รวมถึงได้แสดงความเห็นถึงกรณีการจับมือกันระหว่างพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์

ดาบชิต กลุ่มแดงเชียงใหม่, อายุ 51 ปี คนเสื้อแดงเชียงใหม่ที่เข้าร่วมขบวนการตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2549 คือตั้งแต่มีการรัฐประหารโดยการนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน และเข้ามาร่วมอย่างจริงจังมากขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2551 ดาบชิตกล่าวว่าตนเข้าร่วมขบวนการด้วยความสนใจประเด็นการเมือง และเมื่อเข้ามาแล้วก็รู้สึกประทับใจในน้ำจิตน้ำใจของคนเสื้อแดง 

สำหรับดาบชิตแล้ว คนเสื้อแดงคือประชาชน ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของทุกพรรคการเมือง และยืนยันว่าการเป็นคนเสื้อแดงในความคิดของตนเองไม่ได้หมายความว่าจะต้องอวยพรรคเพื่อไทยเมอไป “ช่วงก่อนหน้านี้ก็ได้มีการส่งเสียงเตือนนายกฯ เศรษฐา ในเรื่องเศรษฐกิจไปบ้าง” ดาบชิตกล่าว 

เกี่ยวกับการที่พรรคเพื่อไทยส่งเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ดาบชิตเปิดเผยว่าตนก็รู้สึกแย่แต่ก็ว่าทำใจได้ เพราะมองว่าเรื่องนี้เป็นองค์ประกอบการเมือง การหาพรรคมาเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นเรื่องของการสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจเนื่องจากบ้านเรายังจำเป็นต้องพึ่งพานักลงทุน และเสถียรภาพของรัฐบาลก็จะเป็นหลักประกันให้นักลงทุนเหล่านั้น 

 ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์เอง ดาบชิตกล่าวว่าตนมองพรรคเป็นสถาบันการเมือง เมื่อพรรคการเมืองทั้งสองจับมือกัน ตนก็ถือว่าเรื่องของสถาบันทางการเมือง และปัจจุบันองคาพยพของพรรคประชาธิปัตย์เองก็เปลี่ยนไปแล้ว บุคคลในพรรคตอนนี้ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนที่ออกคำสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี พ.ศ. 2553

แต่ถึงอย่างนั้น ดาบชิตยอมรับว่าในฐานะของคนเสื้อแดงแล้ว ตนก็มีความรู้สึกเจ็บ รู้สึกเสียใจ แต่ถ้าจะยึดติดกับความรู้สึกของคนเสื้อแดงเพียงกลุ่มเดียวเป็นที่ตั้ง ตนก็มองว่านี่อาจจะไม่ยุติธรรมกับคนทั้งแผ่นดิน

วันดี รัตน์ดวง อายุ 54 ปี คนเสื้อแดงที่เคยเคลื่อนไหวอยู่ในสมุทรปราการ กรุงเทพฯ และพิษณุโลก ก่อนจะย้ายมาอยู่เชียงใหม่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังเคยถูกทหารเรียกตัวไปปรับทัศนคติในช่วงการรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 

วันดีเล่าว่ามาเข้าร่วมชบวนการเสื้อแดงตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2549 ด้วยเหตุที่ว่าตนเองสัมผัสกับความเหลื่อมล้ำและการเมืองมาตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน และมีพ่อเป็นหัวคะแนนของนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์คือ เสธ.หนั่น หรือ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ และความสนใจในการเมืองของป้าวันดีดำเนินมาเรื่อยๆ แม้จะเอาเวลาไปทำมาหากินบ้างแต่ก็ยังติดตามและให้ความสนใจประเด็นการเมืองมาตลอด เกี่ยวกับการเข้าร่วมกับคนเสื้อแดง วันดีเล่าว่าตนเองและสามีชอบไปนั่งเล่นที่สนามหลวง เมื่อได้ไปแล้วก็ได้เจอกับคนที่หลากหลาย ทั้ง ดา ตอร์ปิโด และสุรชัย แซ่ด่าน รวมทั้งได้ซื้อหนังสือประเภทที่เรียกว่าได้อ่านแล้วก็ “ตาสว่าง”  กลับมาอ่านที่บ้าน

วันดี รัตน์ดวง

ในปี พ.ศ. 2548 ก่อนการรัฐประหารนั้น วันดีเผยว่าเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยคือประเทศในฝัน เพราะเศรษฐกิจดี เจ็บป่วยก็ไปรักษาที่โรงพยาบาลได้โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการดุด่าหรือดูถูกเหมือนแต่ก่อน และที่สำคัญคือมีการปราบปรามยาเสพติดที่มีประสทิธิภาพ “ตอนนั้นป้าชื่นชมทักษิณ เหมือนเป็นเทวดาของป้าเลย” วันดีกล่าว

แต่เมื่อมาถึงปี พ.ศ. 2549 สถานการณ์เปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม มีการรัฐประหาร ประกอบกับเริ่มมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง วันดีจึงมาเข้าร่วมด้วยความคิดและความหวังที่ว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2551 – 2553 วันดีก็เข้าร่วมขบวนการคนเสื้อแดงอย่างจริงจัง เรียกได้ว่าเป็นคนเสื้อแดงเต็มตัว ในตอนนั้นวันดีจะไปเข้าร่วมการชุมนุมกับพี่น้องเสื้อแดงอย่างสม่ำเสมอ และได้ไปปักหลักร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงอยู่ 1 เดือนเต็มช่วงก่อนเหตุการณ์สลายการชุมนุมอย่างโหดเหี้ยม ส่วนในวันที่มีการสลายการชุมนุมนั้น ป้าวันดีเปิดเผยว่าได้สูญเสียเพื่อนเสื้อแดงคนหนึ่งไปต่อหน้าต่อตาในวันที่มีการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ (19 พ.ค. 2553) เพื่อนคนดังกล่าวชื่อ “วสันต์ ภู่ทอง” เสียชีวิตจากการถูกระสุนปืนในพื้นที่สลายการชุมนุม 

งานฌาปนกิจศพ วสันต์ ภู่ทอง

ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงกรณีการจับมือกันของพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ วันดีจึงสะอื้นเล็กน้อยก่อนจะกล่าวว่า “ป้าไม่ได้ทำใจไว้ว่าพวกเค้าจะกล้าจับมือกัน ก็เสียใจนะแต่ช่างมันเถอะ เราจะไปทำอะไรได้ แค่ประชาชนคนหนึ่ง เจ็บใจไปแล้วเราก็ต้องไปต่อ มีดิ่งบ้างแต่ดิ่งแล้วก็ต้องไปต่อ เดินต่อ เพราะท้ายที่สุดแล้ว เหมือนจะเหลือแค่เราที่เป็นประชาชนเท่านั้นที่ยังมีกระดูกสันหลัง”

.

แก๊งอาชญากรรมออนไลน์: เงาสีเทาบนชายแดนไทย กับการเมืองระหว่างประเทศและทุนจีน

เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย

ในรอบปีที่ผ่านมา แทบทุกคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่คงเคยถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหากันแล้วอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะแอบอ้างเป็นตำรวจจราจร, เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์, พนักงานธนาคาร หรือแม้แต่ฝ่ายขายจาก Tiktok สื่อต่าง ๆ นำเสนอภาพผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อ ถูกหลอกให้โอนเงินผ่านทางโทรศัพท์ หรือเมื่อประมาณ 1-2 ปีที่แล้ว เราอาจเคยได้ยินข่าวกลเม็ดในการดูดเงินแบบอื่น ๆ อาทิ การหลอกให้โหลดโปรแกรมดูดเงินผ่านมือถือบ้าง หรือการแอบอ้างเป็นตัวแทนจากธนาคารต่าง ๆ ให้เรากรอกข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการดูดเงินของเรา เป็นต้น ในปี 2566 ที่ผ่านมาความเสียหายจากอาชญากรรมเหล่านี้อาจสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบันอาชญากรรมประเภทนี้แทบจะกลายเป็นปัญหาระดับชาติหรือกระทั่งเป็นปัญหาข้ามชาติเลยก็ว่าได้ รัฐบาลไทยชุดที่มาสืบเนื่องถึงปัจจุบันต่างพยายามออกแนวนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่เนือง ๆ มาตลอด

ไม่ใช่เพียงหลอกลวงเงินคนไทยเท่านั้น แต่แก๊งอาชญากรรมจำพวกนี้ยังดำเนินการหลอกลวงเงินจากผู้คนในประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยการศึกษาของนักวิจัยทางการเงินของมหาวิทยาลัยเท็กซัสออสตินพบว่า จำนวนเงินจากการหลอกลวงให้ลงทุนทางออนไลน์อาจมีมูลค่าสูงถึง 75 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 2.5 พันล้านบาท โดยพื้นที่ตั้งของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ที่ดำเนินกิจการหลอกลวงเงินลงทุนนี้ตั้งอยู่บริเวณชายแดนของประเทศลาว เช่นเดียวกับแก๊งอาชญากรรมออนไลน์อื่น ๆ ที่มักมีแหล่งกบดานบริเวณชายแดนไทย-ลาว-เมียนมา  

ล่าสุดตำรวจไทยใช้วิธีการตัดน้ำ ตัดไฟฟ้า และบล็อคสัญญาอินเทอร์เน็ตบริเวณชายแดนของประเทศไทย เนื่องจากเป็นหนึ่งในแหล่งกบดานสำคัญของแก๊งอาชญากรทางการเงิน หรือที่สื่อไทยเรียกว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่พื้นที่ชายแดนของประเทศนี้ไม่ใช่เพียงแหล่งกบดานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งกบดานสำคัญของแก๊งต้มตุ๋นในรูปแบบอื่น ๆ ที่สื่อต่างประเทศเรียกว่าสแกมเมอร์ ประกอบธุรกิจหลอกลวงผู้คนในหลายรูปแบบ ทั้งการหลอกให้โอนเงิน หลอกให้ลงทุน หรือการหลอกรูปแบบอื่นที่มุ่งเป้าดึงเงินจากกระเป๋าคนไทยรวมถึงผู้คนหลากหลายชาติ

แต่ทำไมต้องชายแดน? เหตุใดแก๊งอาชญากรรมเหล่านี้จึงต้องกบดานอยู่ที่ชายแดนประเทศไทย บทความนี้จะพยายามพาทุกคนไปสำรวจเหตุผลดังกล่าวกัน

ชายแดนไทย: จุดอ่อนที่ถูกฉวยโอกาส

หากมองไปที่ชายแดนไทย มีบริเวณที่ติดกับลาวและเมียนมารวมกันมากกว่า 4 พันกิโลเมตร และติดกับกัมพูชาเกือบ 800 กิโลเมตร มีลักษณะภูมิประเทศที่ซับซ้อนและยากต่อการควบคุม บางพื้นที่เป็นพื้นที่ป่าขณะที่หลายพื้นที่มีความเป็นเมืองในระดับหนึ่ง หรือบางพื้นที่ก็เป็นพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างไทย ลาว และเมียนมาอย่างสามเหลี่ยมทองคำ ส่งผลให้เป็นช่องทางให้กลุ่มอาชญากรข้ามชาติใช้ในการลักลอบเข้ามาดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมายมากมาย รวมถึงการตั้งฐานปฏิบัติการของแก๊งอาชญากรรมอย่างคอลเซ็นเตอร์และอื่น ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดตากที่มีชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศเมียนมา และจังหวัดเชียงรายที่มีชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศลาว

อำเภอแม่สอด จังหวัดตากมีชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศเมียนมา มีเพียงแม่น้ำเมยคั่นกลางไว้ บริเวณชายแดนที่เชื่อมต่อกันนี้เป็นที่ตั้งของเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องอาชญากรรมออนไลน์อย่างเมืองชเวโก๊กโก่ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มทุนจีนสีเทา ยิ่งในสถานการณ์ที่ประเทศเมียนมามีการสู้รบกันระหว่างรัฐบาลกลางกับกลุ่มชาติพันธุ์ เมืองดังกล่าวถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในฐานะของเมืองที่มีข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับเมียนมา รวมถึงประเทศจีนเองก็มีความพยายามในการเข้ามามีบทบาทในข้อพิพาทดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ชายแดนไทย-เมียนมายังเป็นที่ตั้งกลุ่มกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF กลุ่มกองกำลังที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา-จีน และยังมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัฐบาลทหารเมียนมามาโดยตลอด โดย Justice for Myanmar ได้รายงานว่า กองกำลังดังกล่าวมีส่วนในการก่ออาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต การค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน และการก่ออาชญากรรมอื่น ๆ

บริเวณสามเหลี่ยมทองคำซึ่งครอบคลุมพื้นที่ที่เชื่อมต่อประเทยไทย ลาว และเมียนมาเข้าด้วยกัน ซึ่งในส่วนของประเทศไทยมีอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายเป็นชายแดนบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ โดยสามเหลี่ยมทองคำนี้เป็นพื้นที่เลื่องลือของธุรกิจสีเทาต่าง ๆ มากมาย รวมถึงยังอาจเป็นที่ตั้งของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ที่กำลังก่อความเสียหายแก่คนไทยและต่างชาติอยู่ในปัจจุบัน 

เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ตำรวจไทยร่วมประชุมกับทางการลาว เพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในแขวงบ่อผึ้งของประเทศลาว ซึ่งเชื่อมต่อกับอำเภอเชียงแสนของประเทศไทย โดยทางการลาวประกาศว่าพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำไม่อนุญาตให้มีดำเนินกิจการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการปราบปราบคอลเซ็นเตอร์ในแนวชายแดนระหว่างประเทศไทยกับลาว เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนชัดเจนถึงบทบาทของชายแดนกับการก่ออาชญากรรมออนไลน์ ในฐานะที่ชายแดนกลายเป็นพื้นที่กบดานของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์  

บริเวณชายแดนไทยกับเมียนมาก็มีการดำเนินการโดยทางการของประเทศไทย เพื่อปราบปรามแก๊งอาชญากรรมออนไลน์เช่นเดียว ระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของปี 2567 ทางการของประเทศไทยมีการดำเนินการตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาบริเวณอำเภอแม่สอดจังหวัดตาก เนื่องจากที่มาพบว่า มีการลักลอบใช้สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยโดยแก๊งอาชญากรรมบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา โดยทาง กสทช. สั่งการให้ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ลดความเข้มข้นของสัญญาณโทรศัพท์ลง ไม่ให้สัญญาครอบคลุมไปถึงฝั่งเมียนมาเพื่อตัดช่องทางการใช้สัญญาโทรศัพท์ของประเทศไทยในการก่ออาชญากรรมออนไลน์ลง

(เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ที่มา https://mgronline.com/indochina/detail/9650000109959)

นอกจากนั้น บริเวณชายแดนไทยกัมพูชาก็ยังพบการลักลอบพ่วงสายอินเทอร์เน็ตข้ามแดนจากประเทศไทยไปสู่พื้นที่ประเทศกัมพูชา ผ่านตึกร้างแห่งหนึ่งในอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วข้ามเส้นเขตแดนไปยังเขตแดนของประเทศกัมพูชา ยิ่งตอกย้ำบทบาทของชายแดนที่มีต่ออาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้เพิ่มขึ้นไปอีก พื้นที่ชายแดนเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการควบคุมโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงประเทศสองประเทศหรือมากกว่าเข้าด้วยกัน หลายพื้นที่ของชายแดนมีความซับซ้อนทางภูมิศาสตร์ และในอีกด้านหนึ่งชายแดนก็ตัดแบ่งประเทศทั้งสองให้แยกออกจากกัน ทำให้การบังคับใช้กฎหมายของแต่ละประเทศถูกจำกัดไว้เฉพาะภายในเส้นเขตแดนของประเทศหนึ่ง ๆ จึงนำไปสู่ช่องว่างของการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งเป็นช่องทางในการหลบเลี่ยงการถูกจับกุมตามมา ประเทศที่การบังคับใช้กฎหมายมีความเข้มข้นกว่าจึงเป็นพื้นที่ที่กลุ่มอาชญากรรมเลือกที่จะใช้เป็นแหล่งกบดาน

อำนาจรัฐที่อ่อนแอบริเวณชายแดนก็เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่แก๊งอาชญากรรมเลือกใช้พื้นที่ชายแดนเป็นแหล่งกบดานสำคัญ ทั้งการเข้าถึงพื้นที่ได้ยาก ความทับซ้อนของเขตแดน และสภาพที่สามารถปิด/เปิดได้ของพื้นที่ชายแดน เหล่านี้กลายเป็นเงื่อนไขที่สำคัญคือชายแดนเปรียบเสมือนพื้นที่ที่มี “ช่องว่าง” อยู่เสมอ การเคลื่อนย้ายทั้งคนและทรัพยากรสามารถจึงกระทำได้อย่างไม่ยากนัก แม้จะมีเส้นเขตแดนขวางกั้นอยู่แต่ก็มักจะมีช่องว่างบางอย่างเสมอ ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างทางกายภาพ ช่องว่างทางกฎหมาย หรือกระทั่งช่องว่างในมิติความมั่นคงระหว่างประเทศ

(ชายแดนไทย-เมียนมาบริเวณแม่น้ำเมย ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Myanmar%E2%80%93Thailand_border#/media/File:Moei_River.jpg

ชายแดนไทยเป็นพื้นที่มีช่องว่างมากมาย อันเนื่องมาจากความซับซ้อนของพื้นที่ทางกายภาพและยังมีข้อพิพาทของเส้นเขตแดนที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น โดยบริเวณชายแดนไทยที่ติดต่อกับประเทศลาว เมียนมา และกัมพูชา มีบางพื้นที่ที่ยังไม่มีการปักหมุดเส้นเขตแดนที่ชัดเจน หรือหมุดเขตแดนบางแห่งก็ถูกเคลื่อนย้าย ทำให้ข้อพิพาททางชายแดนระหว่างไทยกับประเทศทั้ง 3 ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  

นอกจากนี้ชายแดนยังไม่ใช่พื้นที่ที่ปิดอยู่ตลอดเวลา สภาวะที่ปิด/เปิดเป็นคุณสมบัติสำคัญของชายแดน พูดอย่างง่ายคือ ชายแดนต้องเป็นพื้นที่ที่มีการเคลื่อนย้ายของคนและทรัพยากรตลอดเวลา ส่งผลให้หลายครั้งการหลุดรอดของคนและทรัพยากรที่นำไปสู่การก่ออาชญากรรมข้ามประเทศเกิดขึ้นได้ง่ายในบริเวณชายแดน หลายครั้งที่ทรัพยากรของประเทศไทยถูกนำไปใช้โดยกลุ่มอาชญากรรมบริเวณชายแดน อาทิ สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต แรงงานก็เช่นกัน มีการตรวจพบแรงงานมากมายที่ถูกพาตัวไปใช้แรงงานโดยแก๊งอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ รายงานจากบางกอกโพสต์พบว่ามีแรงงานชาวโมร็อกโกที่ถูกหลอกลวงให้มาทำงานเป็นแรงงานของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ผ่านการเดินทางเข้าประเทศไทย และเดินทางต่อผ่านแม่น้ำเมยมาสู่ประเทศเมียนมา หลังจากนั้นจึงถูกบังคับใช้แรงงานเป็นสแกมเมอร์เพื่อหลอกลวงเงินผู้อื่น

เราจะเห็นได้ว่าบริเวณชายแดนเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทสูงมากในการก่ออาชญากรรมออนไลน์หลายรูปแบบ ตั้งแต่คอลเซ็นเตอร์ไปจนถึงการหลอกให้ลงทุน ทั้งการเป็นแหล่งกบดาน แหล่งทรัพยากร และช่องทางเคลื่อนย้ายของทั้งคนและทุน กลายเป็นพื้นที่สีเทาซึ่งล้วนอยู่ล้อมรอบบริเวณชายแดนไทยทั้งสิ้น ดังนั้นการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศจึงอาจกำลังถูกท้าทายอย่างมาก ทั้งการดำเนินนโยบายต่างประเทศทางตรงของไทยต่อประเทศเมียนมา และลาว รวมถึงจีน หรือนโยบายชายแดนของประเทศไทยที่ครอบคลุมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงภายในประเทศ

ความท้าทายจากการเมืองระหว่างประเทศ 

ปัญหาแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ที่กบดานอยู่บริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากเป็นผลมาจากเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์แล้ว ยังมีเงื่อนไขด้านการเมืองภายในประเทศของประเทศเพื่อนบ้าน และการเมืองระหว่างประเทศทั้งไทย ลาว เมียนมา และจีน เป็นช่องทางให้แก๊งอาชญากรรมเหล่านี้ก่อตัวขึ้นบริเวณชายแดน

การเมืองภายในประเทศเมียนมาเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่การขยายตัวของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา โดยทางบีบีซีไทย บางกอกโพสต์ และไทยพีบีเอส ต่างรายงานตรงกันว่าหลังเกิดความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองในประเทศเมียนมา แก๊งอาชญากรรมออนไลน์เติบโตขึ้นมากในบริเวณชายแดนเมียนมา-ไทย และชายแดนเมียนมา-จีน

เหตุที่แก๊งอาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้ขยายตัวหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองในเมียนมา เนื่องมาจากความขัดแย้งและสงครามดังกล่าวส่งผลให้อำนาจรัฐบาลกลางอ่อนแอลงมาก ความสามารถในการควบคุมชายแดนจึงลดลง พร้อมกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนประกาศตัวเป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง นำไปสู่การเปิดทางให้แก๊งอาชญากรรมเหล่านี้เข้าไปสร้างสัมพันธ์อันดีกับผู้นำกลุ่มชาติพันธ์ุในบริเวณชายแดน และเลือกจะกบดานอยู่ในบริเวณชายแดนของประเทศเมียนมา หมายรวมถึงการตั้งแหล่งกบดานบริเวณไทยเมียนมาด้วยเช่นกัน

(ความขัดแย้งในเมียนมาหลังการรัฐประหาร ที่มา https://www.cfr.org/backgrounder/myanmar-history-coup-military-rule-ethnic-conflict-rohingya)

บีบีซีไทยได้สัมภาษณ์หนึ่งในแรงงานชาวเมียนมาที่ทำงานอยู่กับแก๊งอาชญากรรมออนไลน์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา โดยแรงงานผู้นี้เปิดเผยว่าหลังการรัฐประหารในประเทศเมียนมา ตัวเขาในฐานะทหารของรัฐบาลเมียนมาไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร จึงเลือกที่จะลาออกจากกองทัพและเข้าร่วมกับกองกำลังอารยะขัดขืน (CDM) ต่อมาจึงเดินทางเข้าสู่พื้นที่บริเวณชายแดนเมียนมา-ไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) จากนั้นจึงได้เข้าทำงานกับแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ ได้รับค่าจ้างเป็นเงินบาทไทยและทำงานอยู่ที่ตึกในเมืองชเวโก๊กโก่ ตรงข้ามอำเภอแม่สอดจังหวัดตากของประเทศไทย 

Frontier Myanmar เปิดเผยชีวิตของแรงชาวเมียนมาที่ถูกใช้งานเยี่ยงทาสในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในชายแดนประเทศลาว-เมียนมา-ไทย โดยแรงงานคนหนึ่งเล่าถึงที่มาที่ไปของการเป็นแรงงานให้กับแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ว่า หลังการทำรัฐประหารในประเทศเมียนมา เขาและภรรยาเลือกที่จะลาออกจากการเป็นพนักงานของรัฐ โดยลาออกมาทำการเกษตร แต่ต่อมาด้วยรายได้ที่น้อยมากจึงเลือกจะมาเป็นแรงงานให้กับแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ที่รายได้มากกว่า ดังนั้นเราอาจอนุมานได้ว่าเหตุความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมาเป็นแรงผลักให้แรงงานเข้าสู่แก๊งอาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้   

ในช่วงที่ความขัดแย้งและสงครามการเมืองในประเทศเมียนมากำลังกลายเป็นวาระระดับนานาชาติ ประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้างต้องเผชิญกับความท้าทายในมิติการเมืองระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก หลายครั้งประเทศไทยเลือกดำเนินนโยบายแบบแบ่งรับแบ่งสู้ต่อสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงนโยบายเรื่องชายแดนก็ดำเนินการในรูปแบบแบ่งรับแบ่งสู้ บางครั้งดำเนินนโยบายชายแดนโดยใช้มนุษยธรรมเป็นนโยบายนำ แต่หลายครั้งก็ดำเนินนโยบายโดยใช้ความมั่นคงภายในนำ แต่ด้านนโยบายต่างประเทศทางตรงกับประเทศเมียนมาของไทยกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ทั้งการไม่ลงนามในการประณามเหตุการณ์รัฐประหารและความรุนแรงในประเทศเมียนมา การดำเนินนโยบายต่างประเทศเช่นนี้ทำทั้งข้อพิพากษ์จากนานาประเทศ รวมไปถึงการไม่สามารถแก้ปัญหาแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร

ประเทศลาวก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถูกเชื่อมโยงว่าเป็นแหล่งกบดานของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ของแรงงานชาวเมียนมาที่ต้องไปทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ พบว่ามีการดำเนินธุรกิจสีเทาอย่างเป็นระบบ โดยมีนายทุนจากประเทศจีนเป็นหัวเรือหลักในการดำเนินกิจการสีเทาเหล่านี้

แรงงานชาวเมียนมาหลายคนที่ต้องไปทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำได้รับการช่วยเหลือจากการกองกำลังว้า (UWSA) ซึ่งเป็นหนึ่งในกองกำลังติดอาวุธที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รัฐฉาน โดยมีชายแดนติดกับมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และติดกับเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในประเทศลาว ส่งผลให้กองกำลังว้าเป็นตัวกลางสำคัญที่อำนวยการไหลเวียนของทุนจีนสีเทาที่เคลื่อนตัวออกจากประเทศจีน และแรงงานจากเมียนมาเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในลาว

กองกำลังว้ายังมีบทบาทสำคัญในการอำนวยให้เกิดการหลอกลวงให้ลงทุนทางออนไลน์ โดยจากการวิจัยของ John M. Griffin และ Kevin Mei พบว่า พื้นที่ที่เป็นแหล่งกบดานของแก๊งหลอกลวงให้ลงทุนออนไลน์ หรือ Pig Butchering คือพื้นที่ภายใต้การดูแลของกองทัพว้า นอกจากนั้นกองทัพว้ายังมีส่วนเกี่ยวข้องในการบังคับใช้แรงงานชาวเมียนมาและชาวต่างชาติอื่น ๆ อีกกว่า 120,000 คน

(ที่มา https://commons.m.wikimedia.org/wiki/File:UWSA_soldiers_stand_at_attention_during_ceremonies.jpg)

เราจะเห็นว่าแก๊งอาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับตัวละครระหว่างประเทศมากมาย ทั้งในประเทศลาว เมียนมา รวมถึงจีน กลายเป็นความท้าทายของการดำเนินนโยบายต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงภายในประเทศของไทยเป็นอย่างมาก รวมถึงความท้าทายต่อการจัดการชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องเผชิญกับความท้าทายไปพร้อมกัน  

เงาของทุนจีนสีเทา 

อีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่ต้องพูดถึงในขบวนการหลอกลวงคือ ทุนจีนสีเทา หลายสำนักข่าวทั้งสำนักข่าวไทยและสำนักข่าวต่างประเทศต่างรายงานตรงกัน ในเรื่องบทบาทของกลุ่มทุนจีนที่เป็นผู้ดำเนินการก่ออาชญากรรมออนไลน์ รวมถึงการค้ามนุษย์เพื่อนำมาเป็นแรงงานในการก่ออาชญากรรม

กลุ่มทุนจีนสีเทาคือกลุ่มคนจีนที่ประกอบธุรกิจอาชญากรรมระหว่างประเทศในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการค้ามนุษย์ ยาเสพติด รวมถึงกิจการหลอกลวงทางออนไลน์ โดยมีการดำเนินธุรกิจอื่นบังหน้าเพื่อเป็นการฟอกเงิน โดยกลุ่มทุนจีนนี้เริ่มเคลื่อนตัวออกจากประเทศจีนมากบดานในพื้นที่ชายแดนระหว่างจีน เมียนมา และลาว ก่อนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่ชายแดนประเทศไทยในเวลาต่อมา

(ภาพจาก The Irrawaddy) 

กลุ่มทุนจีนสีเทาอาศัยนโยบาย One Belt One Road Initiative (BRI) หรือที่รู้จักกันในนามเส้นทางสายไหมใหม่ของรัฐบาลจีนที่เป็นการเปิดเส้นทางการค้าและเป็นช่องทางเคลื่อนย้ายทุนและขยายธุรกิจไปทั่วโลกรวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองชเวโก๊กโก่ในประเทศเมียนมาและเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในประเทศลาวเป็นพื้นที่ที่กลุ่มทุนจีนสีเทาเข้าไปใช้เป็นพื้นที่ดำเนินธุรกิจสีเทาของตน ซึ่งหมายรวมถึงการหลอกลวงเงินจากผู้คนในชาติต่าง ๆ อีกด้วย โดยมีการเปิดกิจการท่องเที่ยวและคาสิโนเป็นกิจการบังหน้า เพื่อทำการฟอกเงินที่ได้จากธุรกิจสีเทาของตน

แรงงานชาวเมียนมา ชาวโมร็อกโก และชาติอื่น ๆ ให้การไปในทิศทางเดียวกันว่ากลุ่มทุนจีนเป็นผู้ดำเนินการก่ออาชญากรรมออนไลน์ ทั้งการจัดหาแรงงานและการสนับทุนด้านการเงิน โดยกลุ่มทุนจีนสีเทาเหล่านี้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าที่รัฐในไทยและลาว รวมถึงยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำกองกำลังชาติพันธ์ุในเมียนมา จึงเปิดทางให้กลุ่มทุนจีนสีเทาเหล่านี้สามารถดำเนินการหลอกลวงออนไลน์ได้อย่างสะดวก และยังอาศัยการจัดตั้งธุรกิจที่อ้างว่าเป็นธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อใช้ในการฟอกเงินที่ได้มาจากการก่ออาชญากรรมออนไลน์  

แรกเริ่มกลุ่มทุนจีนเหล่านี้อาศัยรายได้จากการเปิดคาสิโนและการพนันออนไลน์ แต่เหตุที่กลุ่มทุนจีนเหล่านี้เลือกดำเนินกิจกรรมหลอกลวงออนไลน์ควบคู่ไปด้วย ศาสตราจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ให้เหตุผลว่า รายได้ของกลุ่มทุนจีนสีเทาจากคาสิโนและพนันออนไลน์ลดลง ส่งผลให้กลุ่มทุนจีนสีเทาหันมาดำเนินกิจการหลอกหลวงเงินแทน 

ทางด้านของรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งกระทู้ตั้งข้อสังเกตว่า แก๊งทุนจีนในเมืองชเวโก๊กโก่อาศัยช่องทางการลักลอบนำแรงงานผ่านเข้าทางประเทศไทยผ่านชายแดนอำเภอแม่สอดเข้าสู่เมืองชเวโก๊กโก่ และยังใช้ทรัพยากรจากประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา ไฟฟ้า และสัญญาโทรศัพท์/อินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์อย่างคอลเซ็นเตอร์ เพื่อเข้ามาหลอกลวงเงินจากคนไทยและต่างชาติ 

(ภาพเมืองชเวโก๊กโก่ ภาพจากสำนักข่าวชายขอบ)

‘เสอจื้อเจียง’ คือนายทุนจีนสีเทาที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ในฐานะเจ้าพ่ออาชญากรรมออนไลน์ เขาเริ่มต้นลงทุนเปิดคาสิโนในประเทศกัมพูชาก่อนจะย้ายมาตั้งธุรกิจสีเทาของตนในเมืองชเวโก๊กโก่ ผ่านการจัดตั้งบริษัท ย่าไท่ อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิ้ง กรุ๊ป (Yatai IHG)  โดยอ้างว่าเข้ามาพัฒนาพื้นที่ภายใต้ชื่อ KK Park

อาคารหลายแห่งในเมืองชเวโก๊กโก่ที่จดทะเบียนภายใต้บริษัทย่าไท่ถูกเรียกว่า ‘จ้าเพี่ยน’ ที่ภาษาจีนแปลว่าหลอกลวง แรงงานของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ให้สัมภาษณ์กับทางบีบีซีไทยว่า อาคารหลายแห่งมีเจ้าของเป็นคนจีน ชั้น 2-3 จะถูกเปิดเป็นคาสิโน ส่วนชั้นที่เหลือจะใช้เป็นพื้นที่ทำงานของแรงงานเพื่อก่ออาชญากรรมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ

เสอจื้อเจียงถูกจับตามองจากหลายประเทศจากชื่อเสียงจากการมีส่วนเกี่ยวข้องในการก่ออาชญากรรมออนไลน์และการค้ามนุษย์ กระทั่งทางการจีนได้ตั้งข้อกล่าวหาการหลอกหลวงทางอินเทอร์เน็ตและการค้ามนุษย์ จีนได้ประสานกับทางการไทยให้ส่งตัวนายเสอจื้อเจียงกลับให้ทางการจีน เนื่องจากเขาได้ถูกจับกุมในประเทศไทย มีความเป็นไปได้ว่านายเสอจื้อเจียงจะมีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจบางกลุ่มในประเทศไทย เนื่องจากเขาสามารถเข้านอกออกในประเทศไทยอย่างสะดวกมาโดยตลอด

กลุ่มทุนจีนสีเทามีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำประเทศและผู้นำกองกำลังชาติพันธุ์ในเมียนมา เห็นได้จากการที่กลุ่มทุนจีนสีเทายังคงก่ออาชญากรรมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง แม้พื้นที่เมืองเมียวดีและเมืองชเวโก๊กโก่อันเป็นที่ตั้งของการก่ออาชญากรรมจะกลายเป็นพื้นที่สู้รบระหว่างรัฐบาลกลางเมียนมากับกลุ่มกองกำลัง KNA หรือกลุ่ม BGF เดิมที่เปลี่ยนจุดยืนมาอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลกลาง โดยเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายเมียนมาจากสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา (USIP) ให้สัมภาษณ์กับทางบีบีซีไทยว่า ผลกระทบจากความขัดแย้งในเมียวดีต่อศูนย์กลางแก๊งอาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้มีน้อยมาก จนแทบไม่เห็นการหยุดชะงักลงของกิจกรรมอาชญากรรมภายในเมืองเหล่านี้

ผลประโยชน์ที่กลุ่มทุนจีนสีเทาแบ่งสรรให้กับทั้งผู้นำในรัฐบาลกลางเมียนมาและผู้นำกองกำลัง KNA (BGF เดิม) อาจสูงถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยทางสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกาประเมินว่ารัฐบาลกลางเมียนมาอาจได้เงินจากกลุ่มทุนจีนสีเทาสูงกว่า 6 พันล้านบาท และผู้นำกองกำลัง KNA อาจได้รับเงินกว่า 1 พันล้านบาทเช่นกัน ส่งผลกลุ่มทุนจีนสีเทาสามารถดำเนินการก่ออาชญากรรมออนไลน์ได้อย่างสะดวกภายใต้การสู้รบระหว่างรัฐบาลกลางเมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธในเมืองเมียวดี/ชเวโก๊กโก่

นอกจากนั้นยังมีกลุ่มกองกำลัง DKBA ที่แยกตัวออกมาจากกองกำลัง KNA กำลังเข้าร่วมกับนักลงทุนจีน ซึ่งย้ายฐานการลงทุนจากสีหนุวิลล์ ร่วมกันก่อตั้งเมืองใหม่ชื่อว่าไท่จาง ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามอำเภอพบพระ จังหวัดตากของประเทศไทย มีการสันนิษฐานว่าเมืองดังกล่าวได้กลายเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนของกลุ่มอาชญากรจีนเทาในช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา

ภาพเขตไท่จางซึ่งตั้งอยู่ในเขตอิทธิพลของ DKBA ภาพจาก Google Earth

แม้จะมีความพยายามในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศไทย จีน ลาว และเมียนมาในการปราบปรามแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ในพื้นที่ชายแดนระหว่างทั้ง 4 ประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการจับแรงงานระดับปฏิบัติการเท่านั้น สำนักข่าว  Khit Thit Media ของประเทศเมียนมารายงานว่า ยังมีการดำเนินกิจการผิดกฎหมายในเมียวดีและชเวโก๊กโก่อย่างต่อเนื่อง การปราบปรามแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ก็ดำเนินไปอย่างไม่จริงจังมากนัก 

รายงานจากสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกาและบีบีซีไทยสอดคล้องกับรายงานจากสำนักข่าว Khit Thit Media ว่าการก่ออาชญกรรมออนไลน์ในประเทศเมียนมายังดำเนินการอยู่ แม้อยู่ท่ามกลางสงครามการเมืองในเมียนมา และการปราบรามจากทั้งไทย จีน ลาว และเมียนมา 

ประเทศลาวก็เริ่มปรากฏการปราบปรามแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งการร่วมมือกับทางการไทยประกาศให้การหลอกลวงออนไลน์เป็นอาชญากรรมที่ต้องถูกปราบปราม แต่รายงานจาก Frontier Myanmar ได้เปิดเผยว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในลาวกลายเป็นแหล่งใช้แรงงานผู้อพยพชาวเมียนมา เพื่อก่ออาชญากรรมออนไลน์ไม่ต่างกับที่เกิดขึ้นในเมืองชเวโก๊กโก่

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงกลายเป็นพื้นที่ของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ในสายตาโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนซึ่งมีทั้งความซับซ้อนและช่องว่าง ประกอบกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับกลุ่มทุนจีนสีเทา ยิ่งตอกย้ำการเป็นพื้นที่ของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ให้แก่สายตาชาวโลกได้จับจ้อง 

ไทยจะเดินไปอย่างไร ภายใต้เงาอาชญากรรมและสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศเช่นนี้ 

หันกลับมามองที่ประเทศไทย ความพยายามในการแก้ไขปัญหาจากอาชญากรรมออนไลน์มีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ไม่โอนของภาครัฐ หรือการพยายามออกมาตรการต่าง ๆ โดยธนาคารทั้งการให้สแกนได้หรือใช้บัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตนในการโอนเงิน เพื่อป้องการโอนย้ายเงินจากการหลอกลวงออกสู่ต่างประเทศ  

ในส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ มีการแถลงการณ์ร่วมกับประเทศจีน ลาว และเมียนมาเพื่อให้มีการปราบปรามการก่ออาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้ แต่ทางปฏิบัติหลายครั้งเป็นการจับกุมแรงงานในระดับปฏิบัติการเป็นส่วนใหญ่ พร้อมกันนี้ประเทศไทยยังถูกตั้งคำถามจากทั้งจีนและนานาชาติ ถึงเหตุการณ์ที่ไทยล่าช้าในการส่งนายทุนจีนสีเทาที่ถูกจับกุมกลับไปรับโทษในประเทศจีน ซ้ำแหล่งข่าวหลายแหล่งต่างระบุว่านายทุนจีนสีเทาเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับผู้นำในหลายหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย  

ล่าสุดวันที่ 14-17 สิงหาคมที่ผ่านมา หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำเบอร์สองของประเทศจีน ร่วมประชุมกับตัวแทนของประเทศไทย ลาว และเมียนมา โดยหัวข้อหนึ่งของการพบประชุมคือการปราบปรามแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ อันถือว่าเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ แต่รองศาสตราจารย์วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ได้ให้ความเห็นในท่วงทำนองที่มีความกังวลต่อท่าทีของประเทศจีนต่อการต่างประเทศของจีนในประเด็นสถานการณ์การเมืองในเมียนมา โดยประเทศจีนอาจกดดันให้ประเทศสนับสนุนการเลือกตั้งที่จัดโดยรัฐบาลกลางของเมียนมา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นการสร้างความชอบธรรมในการจัดการเลือกตั้งที่อาจจัดอย่างไม่เป็นธรรม และยังอาจทำให้ผู้นำรัฐบาลเมียนมาไม่ต้องรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่ก่อขึ้นกับประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล การเดินทางเข้าร่วมประชุมกับของหวังอี้ในคราวนี้ จึงอาจไม่นำไปสู่การสร้างความร่วมมือเพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากแฝงมาด้วยการกดดันให้ประเทศไทยและลาวสนับสนุนความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลกลางเมียนมา ในการจัดการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรมและการใช้ความรุนแรงภายในประเทศ 

 การดำเนินนโยบายปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ของประเทศไทยจึงเผชิญกับความท้าทายอย่างสูง จากทั้งการก่ออาชญากรรมออนไลน์ที่เกิดขึ้นอย่างหนักหน่วง และบริบทของการเมืองระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ ณ ขณะนี้   แม้จะมีความท้าทายในด้านนโยบายต่างประเทศ แต่ความร่วมมือระหว่างประเทศยังถือเป็นเรื่องจำเป็น และประเทศจำเป็นต้องสร้างความร่วมมืออย่างจริงจังที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือกันในพื้นที่ชายแดน

ในฐานะผู้เขียน ผมไม่อาจนำเสนอคำตอบที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมได้ในทันที แต่อาจมีข้อเสนอแนะบางอย่างได้ อาทิ  

1.การจับกุมผู้ที่เปิดบัญชีม้าให้เป็นแหล่งถ่ายโอนเงินของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์อย่างจริงจัง  

2.การตัดท่อน้ำเลี้ยงและยึดทรัพย์ของกลุ่มทุนจีนในประเทศไทยเพื่อบีบให้แขนขาพวกเขาอ่อนแรงลง  

3.ตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มทุนจีนสีเทากับผู้นำในหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยอย่างจริงจัง เพื่อปิดช่องทางการใช้ความสัมพันธ์ที่อาจเอื้อให้เกิดการก่ออาชญากรรมต่อไปหรือเปิดช่องให้มีการหลบหนี

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งความท้าทายที่ผมมองว่าเป็นความท้าทายอันดับหนึ่งที่ประเทศไทยอาจต้องใช้ความรอบครอบในการพิจารณา คือท่าทีและความร่วมมือของประเทศไทยที่มีต่อจีน ซึ่งความร่วมมือเพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อาจต้องดำเนินไปอย่างระมัดวัง ไม่ให้ถูกกดดันหรือแฝงฝังเงื่อนไขอื่น ๆ อาทิ การสนับสนุนรัฐบาลกลางของเมียนมา เป็นต้น นอกจากนี้หลายพื้นที่ที่นักลงทุนชาวจีนเข้ามาลงทุนก็มาจากนโยบายของรัฐบาลจีนเสียเอง เราอาจต้องเรียกร้องความรับผิดชอบบางอย่างจากนโยบายที่ผลักดันให้ทุนจีนสีเทาเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงอาจเรียกร้องให้ทางการจีนมีการพิจารณานโยบายดังกล่าวด้วยซ้ำ  

การสร้างความร่วมมือกับชาติอื่น ๆ นอกเหนือจากจีนและประเทศในภูมิภาคอาเซียนก็อาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องที่สำคัญ เพื่อสร้างแรงกดดันในการก่ออาชญากรรม และเพิ่มแรงกดดันให้กับประเทศอันเป็นแหล่งกบดานของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้อีกทางหนึ่งด้วย

อ้างอิง 

“มันจะดีขึ้นได้มันต้องเกิดจากการสนทนา” เปิด Dialogue ให้เชียงรายเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูลกับ ‘เชียงรายสนทนา’

เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม

ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

“เคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล ผ่านเรื่องราวของผู้คน จากบทสนทนาเพื่อสร้างคลังความคิด”

แม้จะยังยืนระยะมาไม่นานมาก แต่ที่ผ่านมาก็สร้างความน่าสนใจได้อย่างน่าตื่นเต้นกับ “เชียงรายสนทนา” สื่อสาธารณะท้องถิ่นที่บอกกับเราว่าไม่เน้นเร็ว ถ้าจะเสพอะไรเร็ว ๆ ไปที่อื่นได้เลย เพราะเราเน้นข้อมูล นั่งอยู่บ้านวิเคราะห์ข้อมูลน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายสุด

ที่สำคัญเลยคือเชียงรายสนทนา เคลื่อนไปด้วยกำลังเพียงหนึ่งคนถ้วนโดย เป๊ก-ธวัชชัย ดวงนภา ผู้ที่ผ่านการทำสื่อ เป็นนักเล่าเรื่องมาแล้วหลายรูปแบบ ตั้งแต่รายการทีวี ภาพยนต์สารคดี และยังคงเชื่อมั่นในการทำงานสื่อสารอยู่เสมอ และเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่เป๊กตัดสินใจมาลงรากอยู่ที่จังหวัดเชียงราย แม้จะมาลงรากเปิด Chapter ใหม่ของชีวิต ด้วยความที่อยากจะทำความรู้จักเชียงรายให้มากขึ้นไปอีก ยิ่งอยากรู้จัก ก็ยิ่งต้องเปิดพื้นที่ บวกกับความสนใจที่อยากจะเคลื่อนเมืองนี้ด้วยงานข้อมูล เป๊กเลยยืนยันอย่างชัดเจนกับเราว่าเชียงรายสนทนาเป็น Data journalist และกำลังสนุกมาก

เราเลยถือโอกาสเปิดบทสนทนา สร้าง Dialogue กับเป๊กสักนิดเพื่อทำความรู้จักเชียงรายสนทนาให้มากยิ่งขึ้น เพราะในสถานการณ์น้ำท่วมเชียงราย เราเห็นความตั้งใจที่จะสื่อสารข้อมูลในแบบที่เป๊กเชื่อ และน่าสนใจอยู่ไม่น้อยว่าหลังจากนี้เราคงต้องกลับมาคุยเรื่องความสำคัญของข้อมูลอย่างจริงจังเสียที

ถ้าให้รวบรัดกันแบบเร็ว ๆ จะแนะนำตัวเองว่ายังไง

บอกแบบนี้แล้วกัน ไอ้สิ่งที่เด็ดเดี่ยวมาตั้งแต่ตอนเรียนจบของเราก็คือเป็นมนุษย์ที่ชอบทำสื่อแน่นอน ทำอย่างอื่นไม่เป็นทอดไข่เจียวยังไม่อร่อยเลย ไปทำงานวงการโฆษณาได้ทำงานวงการทีวี ในสมัยที่ทีวีมีแค่ไม่กี่ช่อง เรามีโอกาสได้ทำรายการเล็ก ๆ ให้ไทยทีบีเอส ชื่อรายการกล้าอาสา ทำอยู่ 3 ซีซั่น ซีซั่นละ 13 ตอน มันเป็นรายการที่พูดถึงการทำกิจกรรมอาสาเพื่อสังคม คือเอางบก้อนหนึ่งไปให้เด็กทำโปรเจกต์ เป็นรายการที่ทำเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว สิ่งนี้มันค่อนข้างใหม่ในสมัยนั้น แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือพอเวลาเราเห็นเด็ก ๆ ไปทำอะไรให้คนอื่นเยอะ ๆ เข้ามันก็ย้อนกลับมา Shape ตัวเราเองเหมือนกัน หลังจากนั้นเราก็เลยขอลาออกแล้วมาทำบริษัทเอง แต่สุดท้ายด้วยความที่อ่อนประสบการณ์ก็ทำให้บริษัทมันไปต่อไม่ได้ แต่ไอ้ความอยากที่จะทำอะไรเพื่อสังคมมันยังอยู่ ก็เลยเลือกไปทำงานสายวิจัย ก็ได้เจอะเจอกับคนทำงานสาย NGOs ก่อนที่จะเริ่มตั้งบริษัทของตัวเองชื่อห้องหุ้นสุข ซึ่งตอนนี้ดำเนินงานมาเป็นปีที่ 9 แล้ว เป็นบริษัทที่ทำสื่อที่เกี่ยวกับประเด็นทางสังคม 100% โดยไม่ทำเรื่องอื่นเลย ซึ่งประเด็นที่เราไปทำก็ต้องไปสร้างจุดคานงัดกับเรื่องต่าง ๆ

เราค้นพบว่าการทำบริษัทเองทำให้เรามีงานที่เราสามารถเดินทางได้อย่างอิสระ แล้วเรากับแฟน (สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ) ก็เชื่อเหมือนกันว่า เรื่องถิ่นที่อยู่ควรจะเป็นอิสระ เพราะพื้นฐานทางครอบครัวเรา พ่อแม่เราเป็นพนักงานเงินเดือน เต็มที่กับการทำงานมาก ไม่มีค่อยมีเวลาให้กันเท่าไหร่ ถ้าเกิดว่ามีบริษัทที่ให้เงินพ่อเราเยอะกว่าพ่อเราก็ย้าย  ย้ายไปสมุทรปราการบ้าง นนทบุรีบ้าง แล้วก็สุดท้ายก็มาซื้อบ้านอยู่ที่ปทุมธานี แต่พอเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ที่บ้านก็ล้ม เสร็จแล้วพ่อแม่ก็ต้องมาขายหมูปิ้ง แล้วพ่อแม่เราก็พบว่าการขายหมูปิ้งมันสบายแล้วได้เงินเยอะกว่า แล้วเราก็ได้พ่อแม่เรากลับมา เพราะพวกเขาไม่ต้องทำงานแบบเข้า 9 โมงเช้า ออก 5 โมงเย็น ด้วยความที่เป็นมนุษย์ที่อยู่ในสภาพครอบครัวแบบนี้ก็เลยทำให้เรามองอะไรได้ชัดเจนขึ้น มีคนเคยพูดไว้ว่าสายตาของความยากจนเป็นสายตาที่วิเศษมาก แต่พอเกิดวิกฤติปี 40 ตอนนั้นก็บ้านโดนยึดกลายเป็นคนไม่มีบ้าน ไม่มีราก เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่าแล้วเราควรอิสระหรือเปล่า

หลายปีที่ผ่านมาเราเลยคิดเรื่องการย้ายออกจากกรุงเทพฯ มันมีตัวเลขในใจอยู่สามตัวเลือก คือ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และเชียงราย แต่ด้วยความที่เราเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่ในจังหวัดใหญ่ ก็เลยลงใจมาอยู่ที่เชียงรายเพราะมันไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป มาอยู่ปี 64 ปรากฏว่าเจอโควิดเลย แล้วโควิดมันก็บังคับให้เราลงรากที่นี่เพราะมันเดินทางไม่ได้ แต่ตอนนั้นก็มีความคิดอยู่สองแบบก็คือเราจะกลับกรุงเทพฯ ดีไหม หรือว่าเราจะอยู่ที่นี่ต่อดี เพราะว่ามันก็เห็นความเป็นจริงว่าแม้จะอยู่เชียงรายก็จริงแต่บินไปกลับกรุงเทพฯ บ่อยมาก แต่สุดท้ายเราก็ตัดสินใจกันว่าจะอยู่เชียงรายนี่แหละ ทีนี้พออยู่เชียงรายปุ๊บก็ต้องมีทะเบียนบ้าน พอมีทะเบียนบ้านสิทธิในการเลือกตั้งมันก็ต้องมาอยู่ที่นี่ด้วย

ก็เลยต้องทำเชียงรายสนทนา ?

ก็หันไปมองรอบตัวก็ยังไม่รู้จักใครเลยก็เลยอ่ะ พอเข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง เราก็อยากรู้จักผู้สมัคร เชียงรายสนทนามันเลยเกิดขึ้น ตอนนั้นคือเราแท็กผู้สมัครทุกคนทุกเขตเลยนะ แบบว่ามาเปิดบทสนทนา มาทำความรู้จักกัน มาคลี่ความคิด สิ่งที่จะทำ และปัญหาที่เห็น เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ด้วยว่าคนนี้น่าสนใจที่จะเลือกมาเป็นผู้แทนของเรา แล้วก็ทำอินโฟกราฟฟิคขึ้นมาว่าเขตนั้นเป็นยังไง ข้อมูลอธิบายลักษณะเชิงประชากรเป็นยังไงแล้วลองคาดเดาผลการเลือกตั้ง สรุปว่ามีผู้สมัครเข้ามาคุยกับเรา 5-6 คนไม่เกินนี้

จนมันเกิดเรื่องขึ้นมาเพราะว่าทาง The North องศาเหนือ ประสานมาว่าทางไทยพีบีเอสอยากทำโหนดสื่อสาธารณะท้องถิ่น ก็เลยเสนอเชียงรายสนทนาเข้าไป ถือว่าก็เป็นเรื่องดีที่ขัดเกลาเราให้เห็นตัวตนที่ชัดเจนขึ้น เราชัดว่าสิ่งที่เราทำเรียกว่าเราเป็น Data Journalist เราไม่ได้ทำข่าวที่เน้นความเร็ว เราทำข่าวผ่านการเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ ทำเรื่องฝุ่น ทำเรื่องน้ำ แล้วเราก็ทำเรื่องการจัดการความรู้ในขณะเดียวกัน นี่คือสิ่งที่เชียงรายสนทนาทำ

เรามี Mottos ประจำใจว่าเราอยากสร้างเมืองนี้ด้วยข้อมูล โดยเรื่องราวของผู้คนและท้ายที่สุดคือสร้างองค์ความรู้ เพราะเราเชื่อว่าคุณจะเถียงกันอย่างมีวุฒิภาวะคุณต้องมีข้อมูล ให้ข้อมูลมันเคลื่อนเชียงราย

ย้อนกลับไปอีกนิด เห็นว่าทำ ‘พก’ ร้านหนังสือและโรงหนังขนาดเล็กด้วย

พกมันไม่เชียงรายเลย พกเป็นเหมือนผู้พเนจรมากกว่า  มันเป็นเหมือนคนเดินทาง ที่เดินทางไปพื้นที่ต่าง ๆ แล้วพกหนังสือ หนังสารคดี ภาพถ่ายไปดูด้วยมากกว่า ซึ่งมันเกี่ยวเนื่องกับเชียงรายในแง่ที่ว่าการที่เราเป็นผู้พเนจรแล้วต้องมาอยู่เชียงราย เรารู้สึกว่าเราอยากมีสารคดีที่เราอยากดูไว้ดู เราก็เลยพกมันมาด้วย แล้วโดย Concept ของมันตอนนั้นก็คือมันเหมือนเป็นการทำให้การดูหนังเป็นเรื่องปกติธรรมดา เราไม่จำเป็นจะต้องไปดูหนังในที่มืด ๆ ไม่ต้องทำเสมือนว่าโรงหนังเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ห้ามขยับตัว ห้ามเล่นโทรศัพท์ คนที่มาดูหนังกับพกสามารถทำอะไรก็ได้ เล่นโทรศัพท์ก็ได้ หรือจะเข้าห้องน้ำตอนไหนก็ได้เพียงแค่ไม่ได้รบกวนการดูหนังของคนอื่นก็พอ มันก็เลยทำให้คนมองเห็นว่าจริง ๆ แล้วการฉายหนังก็สามารถทำได้ง่ายแค่นี้เองเหมือนกัน ซึ่งสิ่งที่เราออกมาฉายมันมีบทบาทหน้าที่เป็นเพียงเครื่องมือในการชวนพูดคุยกันมากกว่า เช่น เราไปถ่ายสารคดีเรื่องแม่น้ำโขงหลังจากดูเสร็จเราก็เอาประเด็นจากในหนังในสารคดีมาชวนกันถกเถียงต่อ สร้างบทสนทนาต่อด้วยตัวมันเองแล้วมันก็มีฟังก์ชั่นของมัน เช่น เป็นการกระตุ้นเมือง เป็นการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยน

กลับมาต่อที่เชียงรายสนทนา ช่วงที่มีการเลือกตั้งใช้กระบวนการแบบไหนที่ทำให้เหล่าผู้สมัครเขารู้สึกว่าอยากเข้ามาร่วมสนทนากับเรา

ใช้วิธีโพสต์แล้วแท็กทุกคนเพื่อความแฟร์แบบที่บอกไปนั่นแหละ ส่วนที่เหลือคือเป็นหน้าที่ของเค้าที่จะเป็นคนติดต่อเรากลับมาเอง แล้วเราไม่ได้ส่งคำถามให้ดูก่อนด้วย คือชวนมาคุยกันเลย อยากรู้ว่านโยบายเป็นยังไงบ้าง แล้วจะทำให้มันเป็นจริงได้ยังไง เรื่องการศึกษาจะเป็นยังไง คือถามง่าย ๆ ด้วย  Sense ที่ประชาชนอยากรู้   เราถามด้วยความง่ายแค่นั้นเลยว่าเราก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง เราก็แค่อยากรู้เฉย ๆ ว่าเค้าจะทำอะไรให้เราได้บ้าง

ความตลกคือพอได้คุยกับผู้สมัครของบางพรรคที่เราคาดไม่ถึง ก็พบว่าจริง ๆ แล้ววิธีคิดเขาไม่ได้แย่ขนาดนั้น มันก็โอเค บางพรรคนี่ติดต่อตั้งเข้าไปหาตั้งแต่วันนั้น จนวันนี้ยังไม่ติดต่อกลับมาเลยก็มี

แล้วทำไมต้องชื่อเชียงรายสนทนา

เราเชื่อในกระบวนการ Dialogue มาก ๆ ก็คือคุยกันไปเรื่อย ๆ สนทนากับไปเรื่อย ๆ พูดคุยกันเชิงลึก แล้วส่วนตัวเป็นคนชอบเสพรายการประมาณนี้อยู่แล้ว อย่างเช่นพวก Podcast ก็ฟังเรื่อย ๆ หรือแม้กระทั่งในกระบวนการทำสารคดีมันก็ต้องใช้กระบวนการพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อมูลมา เราเชื่อว่ามันควรมีกระบวนการพูดคุยกันลึกลึกแบบนี้ เพราะฉะนั้นมันก็เลยต้องมีชื่อคำว่า “สนทนา” แล้วเราเชื่อว่าถ้าคนสองคนได้คุยกันจริง ๆ มันน่าจะดีขึ้นได้ เป็นกระบวนการที่เราให้คุณค่ากับมันมาก ๆ 

พอพูดถึง Dialogue มาก ๆ ผมมองย้อนมาดูที่เชียงรายสนทนา มันมีความเป็น Informative มากกว่า ในขณะที่จริง ๆ แล้วการสนทนามันน่าจะเป็น Narrative มากกว่าการเป็น Data journalist อ่ะครับ

คุณไม่มีทางคุยกับใครได้ถ้าคุณไม่มีข้อมูล และในความเป็นจริงข้อมูลที่ออกมาจากเชียงรายสนทนาจะเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการพูดคุยกับผู้คนเสมอ ถ้าเกิดว่าสังเกตุจะเห็นว่าเรามีฟอนต์ที่เป็นลายมือที่ควรเขียนมาซึ่งเราเอาอันเนี่ยเป็นตัวเปิดประเด็นและเริ่มบทสนทนากับคน เพราะว่าเราเชื่อว่าทุกคนไม่ได้ไม่มีความเข้าใจในข้อมูลนั้น ๆ แล้วเขียนข้อมูลลงมาในรูปแบบที่ธรรมดาที่สุดไม่ได้ใส่ความเป็นวิชาการเข้าไปจนมันฟังไม่รู้เรื่องจากนั้นก็ชวนคุยด้วยกันตั้งต้นจากข้อมูลที่เข้าใจง่ายเหล่านี้

หลังเลือกตั้งจนถึงตอนนี้ทำอะไรไปแล้วบ้าง

เราทำเรื่องงบประมาณของเชียงรายโดยมีเว็บให้คนเข้าไปใส่ความคิดเห็นว่าตรงนี้งบเยอะไปหรือเปล่า หรือว่าตรงนี้น้อยไปไหม เราพยายามทำเรื่องแม่น้ำโขง พยายามทำเรื่องชาติพันธุ์ในแง่ Archive แล้วถ้าถามว่าน้ำหนักที่เชียงรายสนทนาให้มากที่สุดคือเรื่องอะไร 60% คือเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้วยความที่เชียงรายเจอภัยพิบัติทุกรูปแบบและประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเราก็ค่อนข้างหนาแน่นในที่นี่

เห็นว่ามีการฝึก AI ให้เป็นกองบรรณาธิการด้วยทำยังไง

เราเอาข้อมูลจากการทำกระบวนการอย่างเป็นระบบมาป้อนให้กับ ai ให้เรียนรู้แล้วเราก็ทำกระบวนการเรื่อย ๆ และป้อนข้อมูลเข้าไปเรื่อย ๆ แล้วเราก็ลองถาม AI ว่าจากข้อมูลที่เราให้ไปทั้งหมดเนี่ยมีข้อมูลด้านไหนที่เราควรทำ หรือน่าทำต่อไปหรือเปล่า แต่สิ่งที่เราต้องการใช้งานจาก AI ก็คือเราต้องการใช้งานความจำ ไม่เพียงแค่นั้นเนื่องจากเราฝึกตรรกะพัฒนาเหตุผลให้กับ AI ด้วย ตอนนี้เรากำลังสนุกกับการปั้นกองบรรณาธิการ AI มาก โดยเฉพาะกับประเด็นแม่น้ำโขงนี่กำลังสนุก

ในช่วงที่เกิดวิกฤติน้ำท่วมในอำเภอแม่สาย และในเมืองเชียงรายที่ผ่านมา มันมีปัญหาเรื่องแหล่งข้อมูลที่ทับซ้อนกันไม่ตรงกัน ภายใต้สถานการณ์นี้เชียงรายสนทนาทำอะไร

ในช่วงที่น้ำท่วมระลอกแรกเราไม่ได้ทำอะไรเลยนะ ช่วงที่มันเริ่มท่วมที่อำเภอเทิง อำเภอเวียงแก่น เรายังไม่ได้มีบทบาทอะไร แล้วตอนนั้นเราเองก็เป็นผู้ประสบภัยด้วย แต่เราก็เริ่มเห็นช่องว่างแล้ว ไม่นานหลังากนั้นน้ำก็ท่วมแม่สาย เราเห็นความทุกข์ยากจากการหลั่งไหลของข้อมูลเป็นจำนวนมาก เราเลยลุกขึ้นมาทำไลฟ์สดตั้งแต่สองทุ่มจนถึงตีสองอัพเดทสถานการณ์ตลอด สิ่งที่เราเห็นก็คือมันมีรายงานเข้ามาตลอด เราก็เลยจัดเก็บข้อมูลเข้า Google Forms เสร็จแล้วเราก็เอาข้อมูลพวกนี้ขึ้น Dashboard เผื่อว่าคนที่ต้องการเข้าไปช่วยเติมข้อมูลตรงนี้ สามารถเอาไปใช้ได้เลยทันที

เรามีการบอกว่าเรามีไฟล์ข้อมูลไว้อยู่ตรงนี้นะตรง Description ตรงนี้นะ ก่อนที่ต่อมาเราปรับวิธีโดยการให้ทุกคนกรอกฟอร์มเข้ามา อย่างวันแรกที่เราได้ข้อมูลมาประมาณ 30 เคส ส่วนวันต่อมาที่แม่สายก็ไปจบที่ 100 เคสที่ทุกคนช่วยกันกรอกข้อมูลเข้ามาอย่างเป็นระบบว่ามีชุมชนไหนอะไรยังไงพิกัดอยู่ตรงไหนบ้างที่ประสบปัญหา สิ่งที่เราค้นพบจากเรื่องนี้ก็คือว่าคนที่กรอกข้อมูลไม่ใช่ผู้ประสบภัยแต่เป็นคนที่เห็นผู้ประสบภัยซึ่งน่าสนใจมาก

สิ่งที่เราทำก็คือเรา Clean Data คืออะไรก็ตามที่ถูกรายงานซ้ำเราเอาออก เพราะฉะนั้นมั่นใจได้เลยว่าข้อมูลที่คุณได้ไปจะไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกรายงานซ้ำเพราะเราจัดการนำข้อมูลซ้ำออกไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคุณสามารถนำไปใช้งานต่อได้ทันทีเลย แล้วหลังจากนั้นพอเริ่มมีอาสาสมัครจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามา เขาก็สามารถเอาข้อมูลตรงนี้ไปใช้ได้เลยทันที ซึ่งสิ่งที่เราทำเนี่ยจริง ๆ แล้วมันคือเป็นการจัดการข้อมูล แต่เราก็เห็นช่องโหว่อีกเรื่องหนึ่งก็คือไม่มีการปิดเคส หมายความว่าเมื่อมีการให้ความช่วยเหลือไปแล้วไม่มีระบบการปิดเคสก็จะทำให้เกิดการให้ความช่วยเหลือซ้ำซ้อน พอขยับเข้ามาเป็นน้ำท่วมในตัวเมืองสิ่งที่เราต้องต่อสู้ก็คือเราต้องต่อสู้กับ Fake News จำนวนมาก โดยการเอาข้อมูลมาให้เค้าดูก็เป็นการตบหน้าคนที่สร้างข่าวปลอมขึ้นมา อีกอันนึงที่เราทำก็คือมีเคสหนึ่งที่สะพานมันน้ำท่วมสูงมากจนรถผ่าไปไม่ได้เราก็ใช้วิธีเปลี่ยน Status บน Google Maps มันสำคัญมากสำหรับคนขับรถเพราะว่าเค้าต้องใช้ข้อมูลที่มันทันเวลา และสี่ทุ่มของวันนั้นปรากฏว่ามีคนถ่ายรูปส่งหลักฐานเข้ามาหาเราบอกว่าระดับน้ำลดลงแล้วสะพานนั้นสามารถใช้เดินทางสัญจรได้แล้วแล้วเราก็เปลี่ยน Status บน Google Maps ได้ซึ่งเป็นสิ่งที่เราดีใจมาก เราไม่แน่ใจว่าเชียงรายสนทนาเป็นสื่อสาธารณะได้หรือเปล่าเพราะว่าข้อมูลของเราผิดบ่อยมาก แต่ว่าก็มีคนมาคอยแก้ให้ตลอด และทุกครั้งที่มีคนมาแก้ให้ก็ไม่เคยมีใครด่าเลย เข้ามาแก้ด้วยความเป็นกัลยาณมิตร และอันนี้ทำให้เราคิดว่านี่คือสิ่งที่เราอยากให้สังคมเป็นหรือเปล่า ?

เราทำเชียงรายสนทนาเพราะเราอยากทำให้เชียงรายเป็นเมืองที่ดีขึ้น และการที่มันจะดีขึ้นได้มันต้องเกิดจากการสนทนา เราจึงไม่ทำเชียงรายรีพอร์ต ในช่วงน้ำท่วมสิ่งที่เราไม่ได้ทำเลยก็คือเราไม่ได้ถ่ายรูปผู้ประสบภัยชัด ๆ สักเท่าไหร่ เราเพิ่งลงพื้นที่แม่สายเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เรารู้สึกว่าเราหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายไม่ได้ ตอนที่เราเข้าไปแล้วเราเห็นคนที่บ้านมีโคลนสูงระดับหน้าอกแล้วก็พยายามเอาโคลนออกจากบ้านเขา ตอนนั้นเรารู้ว่าถ้าเกิดว่าเราหยิบกล้องถ่ายพวกเขา มันจะเป็นไวรัลทันทีเลยนะ แต่เรากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่านอกจากไวรัลแล้วมีใครได้อะไรบ้าง เราเลยเลือกไม่หยิบกล้องมาถ่ายผู้ประสบภัยเลย เราเลือกถ่ายเฉพาะทาง ที่มีโคลนเต็มไปหมด เน้นอธิบายภาพใหญ่ภาพกว้างมากกว่าที่จะเอาเรื่องราวชีวิตความทุกข์ยากของคนมาเป็นประเด็น เรารู้สึกว่าเรื่องนี้มันสอนเราว่าความลำบากของคนอื่นไม่ควรจะเป็นผลงานของเรา แล้วเราก็ไม่เลือกที่จะทำแบบนั้น ความคิดในใจของเราคือการถ่ายรูปแบบนั้นมันใช้ไม่ได้ถ่ายไปแล้วชีวิตพวกเขาไม่ได้ดีขึ้น

ถามแวะอีกสักนิด คิดว่าตอนนี้ Data journalist เพียงพอไหมในหน้าสื่อของไทย ?

เอาความเข้าใจเรื่อง Data journalist ก่อน คำถามคือ กรมอุตุฯรายงานสภาพอากาศทุกวันอันนี้เรียกว่าเป็น Data journalist ไหม? สำหรับเรานะ ไม่ใช่แน่ ๆ เขาไม่เป็น การเอาข้อมูลจาก excel มาเล่าให้ฟังโดยไม่มีระบบบรรณาธิการนี่เราว่าไม่ใช่เหมือนกัน คุณค่าของระบบบรรณาธิการมันไม่ควรถูกทำให้เลือนหายไปจากสังคม แต่ ณ วันนี้เหมือนคำว่า User-Generated Content มันทำให้คุณค่าตรงนี้มันถูกบดบังออกไป เราพูดเรื่องนี้มาตลอด อีกตัวอย่างคือสื่อเดิมในเชียงรายเอง บางสื่อก็อาจจะไม่ใช่ Journalist ด้วยซ้ำ แต่ประเด็นที่มันยากก็คือการที่เราจะทำ Data แล้วเป็น Journalist ไปด้วยเนี่ยมันดูเหมือนไปด้วยกันไม่ได้ เวลาคนพูดถึงคนทำสื่อแบบนี้ก็จะชอบมองว่าพวกนี้มันติสท์แตก แต่มันไปด้วยกันได้

ประเด็นเรื่อง Data journalist นี่เรื่องแรกที่ต้องถามคือรายการที่มันเป็น Data journalist นี่มันมีมากน้อยแค่ไหน แล้วต่อมาฐานคนดูรายการที่เป็น Data journalist มันมีอยู่เท่าไหร่ แล้วปัจจุบันก็เริ่มมีหัวข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเยอะขึ้น ทั้งไทยพีบีเอส, Spring News, TNN กำลังจะบอกว่าเรื่องแบบนี้มันเริ่มเข้ามาเป็นเวฟ แล้วพอคนเริ่มสนใจเรื่องพวกนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ อีกหน่อยคนก็จะต้องการเสพสื่อที่เป็น Data journalist ไปเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ถ้ามันไม่มีข้อมูล ถ้าไม่มีข้อมูลคุณทำข่าวสิ่งแวดล้อมกันไม่ได้หรอก แล้วเราก็เชื่อว่าคนไทยก็กำลังพัฒนาไปสู่จุดนั้น ลองไปดู YouTube พวกเนิร์ด ๆ อย่าง Myths Universe หรือพอดแคสต์ของแซลมอนที่พูดเรื่องความคิดความเชื่อ ของอาจารย์แทนไทที่พูดเรื่องวิทยาศาสตร์ ช่องพวกนี้มีคนดูหลักแสนเลยนะ คนเหล่านี้แหละคือความหวัง ประชาชนคือความหวังเสมอ

ความท้าทายสำคัญสำหรับคนที่อยากทำ Data journalist คือคุณพร้อมที่จะยอมรับความยากลำบากนั้นรึเปล่า ที่เวลาคุณนำเสนออ่ะ คุณต้องไม่ใช่แค่เอามาเสนอให้แค่ Layer เดียว ต่อให้มันไม่ได้จำเป็นต้องทำลึกมาก มันก็ต้องผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ชี้ประเด็นให้คนอ่านเห็นจนเค้าไปเสิร์ชต่อได้ เมื่อก่อนเราเคยถามพี่ที่รู้จักกันจะผลักดันทำไม Open Data อะไรเนี่ย แต่ทุกวันนี้สำหรับการเป็น Data journalist เราเองก็เพิ่งมาค้นพบว่า Open Data แม่งโคตรสำคัญ เราต้องการองค์กรที่ไม่ส่งไฟล์ PDF มาให้อ่ะ เอา Excel มาเลย จะได้เอาข้อมูลไปทำงานต่อได้ง่าย แล้วคนที่มาดูต่อจากเราเค้าจะเห็นว่าเรื่องนี้มันหนักจริง มันเป็นประเด็นจริง ๆ มันควรสนใจแล้วจริง ๆ ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นแล้วเค้าเป็นมนุษย์ที่ได้รับการติดตั้งความเป็น Data journalist เข้าไป เค้าจะเป็นคนที่ใช้ Logic มากขึ้น เค้าจะเห็นภาพ เชื่อมโยงเองได้ ติดตามข้อมูลเพื่อวิเคราะห์มากขึ้น ไม่ได้ใช้ Emotional แล้วคนทำสื่อก็ต้องปรับตัวมากขึ้น ท้ายที่สุดภาพที่เราต้องการเห็นก็คือ Data มันถูก Generate โดยประชาชนที่มีวุฒิภาวะ และมีวิธีคิดที่เหมือนคนที่ส่งพิกัดมาว่ารถมันวิ่งข้ามสะพานนี้ได้แล้ว ไม่ได้ใช้ความรู้สึกเอาเองว่ามันน่าจะทำได้ แล้วต่อไปเวลาผู้มีอำนาจเสนอร่างกฎหมายมันก็จะมีประชาชนเสนอร่างคู่ขนานกันเข้าไปเลย ละคนก็จะมองว่ามันคิดแบบนี้ก็ได้นะ ทำแบบนี้ก็ได้นะ แล้วพูดคุยถกเถียงกันบนฐานข้อมูล

คิดว่าหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมเชียงรายมันคลี่คลายลง คิดว่าบทเรียนสำคัญคือเรื่องอะไร?

ภาพ: รวมความคิดเห็นของประชาชนจากวง“ฟื้นฟูเชียงราย ช่วยกันเริ่มต้นใหม่ ให้แข็งแรงกว่าเดิม” 

เราคงไม่พูดในส่วนอื่นแล้วกัน ขอพูดเฉพาะในส่วนที่เชียงรายสนทนาเข้าไปเกี่ยวข้อง Step แรกคือเรื่องการจัดการความรู้ แต่ไม่ใช่การเอา Stakeholders มานั่งคุยกันออกรายการอะไรแบบนั้นเราจะไม่ทำเด็ดขาด เพราะมันไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาอย่างแน่นอน แต่เราเชื่อว่าเราต้องเอาคนที่สนใจปัญหาเดียวกันเข้ามาคุยกันก่อน เสร็จแล้วก็แยกย่อยที่รวมกลุ่มคนที่มีปัญหาคล้าย ๆ กัน พอได้ข้อสรุปก่อนเสร็จแล้วจึงเอาข้อสรุปเรานั้นมาเข้าสู่วงใหญ่โดยในวงใหญ่คราวนี้ถึงจะสามารถเป็น Stakeholders เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายก อบจ. หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆที่มีอำนาจในการตัดสินใจได้ อันนี้ถึงจะเป็นการจัดการองค์ความรู้ได้จริง ๆ

ส่วนอีกเรื่องที่เราจะต้องทำก็คือ เราจะต้องจัดการสร้างระบบหลังบ้าน ตอนนี้เราคุยกับ อบจ. แล้วนะ เรื่องการสร้างระบบหลังบ้าน ที่เราเลือกที่จะคุยกับ อบจ. เพราะว่า อบจ. มีทั้งคน มีทั้งอำนาจ แล้วก็มีงบประมาณ เราทำง่าย ๆ อย่างที่แม่สายคือเรามีระบบแล้วในระบบจะต้องสามารถบอกได้ว่าหน่วยงานไหนรับเรื่องไปแล้วบ้างจากนั้นก็ขึ้น Status ว่าตอนนี้ประเด็นนี้หรือปัญหานี้กำลังอยู่ในขั้นตอนไหนใครกำลังพิจารณาอยู่ไปติดเป็นคอขวดที่ตรงไหนกันแน่ให้เหมือนกับการสั่งอาหารผ่านแกร็บแล้วมันขึ้นว่าตอนนี้อาหารที่เราสั่งกำลังอยู่ในครัว ตอนนี้ไรเดอร์มาถึงแล้ว ไรเดอร์กำลังนำของมาส่งแล้ว ซึ่งสิ่งที่ทำให้เชียงรายมันเผชิญวิกฤตที่ผ่านมาก็เพราะว่ามันไม่มีข้อมูลที่เรียลไทม์มากพอ ประชาชนไม่รู้ว่าเรื่องร้องเรียนที่ตัวเองส่งไปนั้นตอนนี้อยู่ที่ไหนแล้ว และต้องมีระบบปิดเคสให้ได้ด้วยเพื่อว่าการให้ความช่วยเหลือจะไม่ซ้ำซ้อน เพราะเคสที่เชียงรายเราจะเห็นว่ามีข้าวกล่องที่เกินไปเยอะมาก แบบมากเกินไป ในขณะที่คนที่ไม่ได้ก็คือไม่ได้อะไรเลย 

แล้วสุดท้ายสิ่งที่จำเป็นต้องมีก็คือใครจะเป็น Key Speaker เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตขึ้น และสามารถสื่อสารในสภาวะวิกฤตอย่างมีกลยุทธ์ได้ นอกจากนี้เรายังต้องทำงานให้คนที่อยู่ในจังหวัดเชียงรายสามารถมอนิเตอร์ Data เป็นโดยการทำเป็นคู่มือคู่เมือง ต่อไปนี้เราจะไม่ให้คนเชียงรายรอประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างเดียวอีกต่อไปแล้วสิ่งที่คนเชียงรายควรจะถามหลังจากนี้คือฝนตกไปแล้วกี่มิลลิเมตร และเมื่อตกไปประมาณนี้แล้วดินจะเริ่มอิ่มน้ำ เมื่อดินอิ่มน้ำก็ต้องเตรียมตัวเพราะอาจจะเกิดน้ำป่าไหลหลากหรือดินโคลนถล่มได้

มาถึงคำถามสุดท้าย คิดว่าตัวเองเป็นคนเชียงรายแล้วหรือยัง ?

เป็นแล้วครับ เพื่อนเราเคยถามว่าความหมายของบ้านสำหรับมึงคืออะไร เราก็มานั่งตั้งคำถามกับตัวเองว่า เวลาเราไปอยู่ที่ไหนแล้วเราอยากทำให้ที่นั่นมันดีขึ้นเราเรียกที่นั่นว่าบ้านไหม ถ้าใช่  เชียงรายนี่แหละบ้าน คำตอบของเรามันเท่านี้เลย เราอยู่ปทุมธานีมาตั้งแต่เกิด แต่เราไม่เคยมีความคิดแบบนี้เลย แต่พอมาอยู่เชียงรายเราอยากทำโน่นนี่นั่นไปหมด ทำเชียงรายสนทนาทั้ง ๆ ที่ตัวเองเป็นอินโทรเวิร์ต แต่ยังต้องเอาตัวเองออกไปคุยกับคนนั้นคนนี้ ไปคุยกับนายก อบจ. เพื่อให้โปรเจกต์มันรันต่อไปได้ ใครจะลงสมัครนายกเราก็ต้องไปสืบมาว่าเค้าจะทำอะไร แม้แต่การที่เราอยากผลักดันพื้นที่สร้างสรรค์ของคนเชียงรายที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีพื้นที่ให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ทุกคน หรือการสร้างคานงัดในการปกป้องสิ่งแวดล้อมอีกเต็มไปหมด ละไม่มีใครให้ค่าน้ำมันค่าเดินทางเราเลยนะ เราจ่ายทุกอย่าง ขี่มอเตอร์ไซค์ไปแม่สาย มานั่งดูตาราง Excel เพื่อวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลแบบหนักหน่วง แล้วเราทำขนาดนี้เพื่อที่นี่ เราจะเรียกที่นี่ว่าบ้านมั้ย?

Lanner Joy “ไฮโฮะเชียงใหม่” ฤดูนี้บ่มีเหงา ดนตรีจะเปลี่ยนเมือง

เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม

ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

“เปลี่ยนหน้าโลว์ให้เป็นไฮ! ด้วยพลังดนตรี”

มีอะไรให้ได้ตื่นเต้นอีกแล้วกับ “ไฮโฮะ เชียงใหม่” High HO Chiang Mai เทศกาลดนตรีที่จะทำให้เชียงใหม่ “ไฮ” ตลอด 20 วันเต็มที่โฮะรวมกว่า 80 ศิลปิน ที่จะขนเพลง Original ไปเล่นใน Music venue ทั่วเมืองเชียงใหม่ 20 วันเต็ม ๆ แน่นอน แค่เห็นโพสต์ของงานนี้ก็ไม่พลาดที่จะไปร่วมแน่นอน ที่สำคัญมันก็เย้ายวนใจเหลือเกินที่จะขอเข้าไปคุยกับทีมจัดสักหน่อย

Lanner เลยขอ Joy ชวนคุยกับเหล่าผู้ก่อการสร้างสรรค์ที่ยกโขยงกันมา 5 คน ทั้ง ชา-สุพิชา เทศดรุณ จาก Chiang Mai Original หรือชาจากคณะสุเทพการบันเทิงที่หลายคนรู้จัก, เอิง-ศุภกานต์ วรินทร์ปราโมทย์ จาก TEMPO.wav และหลายคนก็คงคุ้น ๆ ว่าเอิงเคยเขียนคอลัมน์ Joy ใน Lanner วันนี้มาโดนสัมภาษณ์เองบ้าง (ฮา), มัท-เทอดพงศ์ พงษ์จินดา ศิลปินจากวง srwks. (Sorrow Weeks), แอล-ถลัชนันท์ วงค์ขันธ์ หรือ Lrie หนึ่งในสมาชิกจาก Chiang Mai Original Young Blood และ หมูใหญ่-คมสัน ไชยวงค์ ทีม Media ของไฮโฮะเชียงใหม่ ที่สนใจการขับเคลื่อนเมือง ที่จะมาเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้น ความท้าทาย และสิ่งที่หวังกับการเปลี่ยนฤดูที่เงียบเหงาของเมืองเชียงใหม่ ให้คึกคักไปด้วยเสียงเพลงและผู้คน

แนะนำว่าระหว่างอ่านบทสัมภาษณ์นี้ลองเปิดเพลย์ลิสต์จากศิลปินเชียงใหม่ไปด้วย เพิ่มอรรถรสและเตรียมไปสนุกด้วยกันระหว่างวันที่ 15 กันยายน – 14 ตุลาคม ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ High HO Chiang Mai หรือทาง https://cnxfest.com/highho

ทำไมต้อง ไฮโฮะ เชียงใหม่

ชา : ใน Chiangmai Original มันจะมีโปรเจ็คที่ชื่อว่า เชียงใหม่โฮะ เกิดขึ้นครั้งแรกตอนปี 2021 (2564) ช่วงโควิด ตอนนั้นศิลปิน วงดนตรีเชียงใหม่ไม่ได้เล่นดนตรีกันมานานหลายเดือน เราอาศัยช่วงคลายล็อคดาวน์ครั้งแรก ปี 2021 โพสต์ชวนเพื่อน ๆ ว่าใครอยากเล่นดนตรีกันบ้าง ตอนนั้นก็มารวมกันไปเล่น แล้วเราก็ทำต่อกันมาเรื่อย ๆ โดยใช้ชื่อว่าเชียงใหม่โฮะ

แต่ที่ผ่านมาให้หลัง ครั้งที่ 2 3 4 มันไปแปะงานเชียงใหม่ซีเคร็ทของวันนิมมาน ช่วงปลายปีเดือนธันวาคม ซึ่ง concept ของเชียงใหม่โฮะ คือการที่เอาดนตรี ศิลปินของเชียงใหม่ที่ทำเพลงของตัวเอง ไม่ว่าจะแนวอะไรก็ตามแต่ ที่อยากจะเอามานำเสนอให้คนดู มาเล่นด้วยกัน แล้วก็จัดไลน์อัพโดยเอาวันเวลาที่ศิลปินสะดวก เพราะงั้นในบางวัน แนวเพลงมันก็จะโฮะ ๆ โฮะกันหมด มันก็เลยชื่อนี้ 

ส่วน High HO เนี่ย ชื่อน่าจะมาทีหลัง ไม่รู้ใครตั้ง อาจจะตั้งด้วยกัน แต่ไอเดียที่จัดงานตอนช่วงเดือนกันยายน มันมีในหัวพี่มาซัก 2-3 ปีละ แต่ช่วงสงกรานต์ปีที่แล้วเพิ่งได้คุยกับ โบล่า Thapae East คุยกับปอ North Gate ว่า “เฮ้ย หน้า Low season เรามาจัดดนตรีกันเถอะ” 

คือพี่จะทำงานกับศิลปิน original ไม่ได้อยู่ในวงการวงดนตรีกลางคืนตามร้านเหล้า เราก็จะรู้จักกับน้อง ๆ เพื่อน ๆ ที่ทำดนตรีของตัวเอง แล้วเราก็รู้สึกว่าเราทำงานกับด้านนี้มาตลอด ก็เลยคิดว่าลองดูมั้ย หน้า Low season เพราะหลาย ๆ วงไม่ค่อยมีทัวร์ หน้าฝนเนี่ย Festival กลางแจ้งมันไม่ค่อยมี เราก็อยู่ในเชียงใหม่กันหมด แล้วเมืองมันก็เงียบ ๆ เราก็เลยมาลองทำให้เมืองมันคึกคักกันดู โดยใช้พวกเราสนุกกันเองก่อนมั้ย และไปกระจายเล่นตามร้านเพื่อน ๆ ให้ร้านมันคึกคักกันเอง แล้วเราก็ทำ Content ถ่ายคลิป ถ่ายรูป ถ่ายอะไรออกไป อันนี้เป็นไอเดียแรก ๆ ปีที่แล้วคุยกับโบล่ากับปอไว้แล้ว ต้นปีก็เลยมาคุยซ้ำอีกที แบบว่าเจอใครก็คุยหมด

มันน่าสนใจตรงที่ทุกคนก็เอาด้วยหมด สนุกกัน แต่เราก็ยังไม่ได้คิดชื่อ ก็เลยเสนอ ๆ กัน คุยกันตั้งแต่ประมาณต้นกรกฎาคมที่ผ่านมาว่าเราจะจัดมั้ย ซึ่งพี่อ่ะไม่ไหวแน่นอน อย่างตอนจัดเชียงใหม่โฮะก็เหนื่อยแล้วนะ เพราะว่าวงมันเยอะ แล้วก็หลายวัน เพียงแต่ว่ามันที่เดียว แต่ไอเดียของเรามันหลายที่ ก็เลยชวนกัน แต่พอดีว่าเราก็คุ้นหน้าคุ้นตากันมานาน ลุยกันหลายเหตุการณ์ ก็เลยรู้ว่าใครทำอะไรได้บ้าง ข้อดีของงานนี้ คือทีมมันเยอะขึ้น ใหญ่ขึ้น ทำให้พี่สบายมาก พี่แทบไม่ได้ทำอะไรเลย

เรามาคุยกับทีมว่าจะเอาชื่ออะไรดี พอมาถึง Low season ก็เอ้ยชื่ออะไรดี ก็คิดถึง High season งั้นก็เอา ‘โฮะ’ ละกัน เพราะ concept ก็ใกล้เคียงกัน วงก็เยอะ หลายแนว โฮะร้านเข้าไปด้วย ก็เลยออกมาเป็น ‘Highho’

เอิง : สิ่งที่น่าจะแตกต่างกับเทศกาลดนตรีอื่น ๆ ก็คือ มันนอกเหนือจากแค่ศิลปิน Original มาหลากหลายวง คือพื้นที่ดนตรีในเชียงใหม่ที่มันมีหลากหลาย เช่น Music venue ก็จะอยู่ในไลน์อัพด้วย ฉะนั้นการโฮะมันก็จะไม่ใช่แค่ว่าศิลปินเชียงใหม่มีหลากหลาย แต่อาจจะได้เห็นศิลปินนั้น ๆ ที่ปกติเล่นอยู่ที่ร้านเดิมในโซนของเขาเอง เขาอาจจะได้ไปโผล่ที่อื่นบ้าง เช่น เราอาจจะได้เห็นวงสุดสะแนน ไปเล่นที่ Minimal Bar ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่เคยเจอมาก่อน เราต้องการให้มันเกิด Networking การแลกเปลี่ยนกันในเมืองเองด้วย จากกลุ่มดนตรีที่มันมีหลากหลายในเชียงใหม่

ชา : ใช่ ๆ น่าสนใจมาก คือตัวเมืองเชียงใหม่มันประมาณนี้ แต่เราก็จะรู้ว่ามันจะมีกลุ่มแนวเพลง แนววงที่เล่นอยู่ประจำ ร้านนี้เป็นฟิวชั่น ร้านนี้แจ๊ซ ร้านนี้โซล แต่จริง ๆ นักดนตรีมันมองหน้ามันก็รู้จักกันหมด เพียงแต่ว่าคนดูที่เราไม่เคยเห็น คือ คนดูที่แตกต่าง สมมติเราเล่นร้านนี้ก็จะเห็นคนดูคนนี้ แต่บางทีเราก็อยากให้เพื่อนเรามาเล่นทางนี้ แล้วเราไปเล่นตรงนั้นบ้าง เพื่อให้มันเกิดการ Cross ข้ามกันไปมาของคนฟังด้วย ศิลปินก็ได้ไปเจอแฟนเพลงใหม่ ๆ มันก็ได้ประโยชน์กันหมดอ่ะ  ร้านเองก็ได้ประโยชน์ ได้เห็นคนหน้าใหม่ที่ไม่เคยมาร้านมาก่อน เห็นวงดนตรีที่ตัวเองไม่เคยเห็นอะไรงี้

เอิง : ช่วงก่อนปรากฎการณ์มันก็ต่อมาจาก My Hometown Project ด้วย พอเราได้สัมผัสการออกไปหลาย ๆ ร้าน ก็ได้เห็นว่าจากการที่ศิลปินคนเดิมย้ายไปทั้งหมด 10 กว่าร้าน มันก็ได้คนดูอีกแบบนึงด้วย แบบว่าเราส่งสัญญาณออกไปว่าเชียงใหม่มีดนตรีอยู่ทุกที่

“เปลี่ยนหน้าโลว์ให้เป็นไฮ! ด้วยพลังดนตรี” ที่บอกว่าจะเปลี่ยน low season ให้เป็น high season นี่หมายความว่ายังไง

มัท : ผมตอบในพาร์ทที่ผมไม่ได้ทำเพลง ในฐานะศิลปินที่เล่นตามร้านนะครับ มันจะเป็นช่วงเดือนประมาณกลางกรกฎาคม-ตุลาคม เค้าจะเรียกกันว่าหน้า Low ร้านเล่นกลางคืนบางร้านก็จะปรับเรทลง ลดรอบลง หรือแคนเซิลไปเลย เพราะลูกค้าน้อย คนมาเที่ยวน้อย เราอยากสร้างตรงนี้ว่า ไม่ว่าหน้าไหนฤดูอะไรเราก็มารวมตัว ทำอะไรสนุก ๆ กันได้ ไม่จำเป็นต้องไปรอแค่ตอนธันวา มกรา หรือช่วงเทศกาล 

เอิง : จริง ๆ แล้วการเสพวัฒนธรรมมันไม่มี Season มันทำได้ตลอดเวลา

ชา : มันไม่ใช่แค่เทศกาลด้วย อย่างศิลปะ หรืออะไรที่มันผูกด้วยเทศกาล ผูกกับเดือนหรือฤดู สุดท้ายมันก็จะมี Season ของมัน มาสงกรานต์ก็ต้องมาเมษา มางานยี่เป็ง เราจะมองเชียงใหม่เป็นอย่างงั้น เป็นเมืองท่องเที่ยว แต่พอเรามานั่งไล่ดู เดือน ประเพณี เทศกาลต่าง ๆ มันมาตกท้องช้างเอาช่วงนี้แหละ คือมันไม่มีงานอะไร มันเป็นหน้าฝน เราก็เลยมองกลับมาว่า ตอนนักท่องเที่ยวมันน้อย คนในเมืองมันทำอะไรอยู่ และมันก็ไม่ได้แปลว่า กรกฎาคม-กันยายน นักดนตรีจะไปเล่นที่อื่น ก็ยังอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ยังเป็นนักดนตรีอยู่ แต่งานน้อยลง เด็กเสิร์ฟก็ยังอยู่ในเมืองเชียง แต่งานลดลง คือโดนลดเรท ลดชั่วโมง ดนตรีสดในร้านลดลง แต่ตอนหน้าธันวานี่วิ่งกันให้ควั่กเลย กลายเป็นว่าเมืองต้องเปลี่ยนตามเทศกาล เพราะว่าคนมาตอนนั้นเยอะ ทำไมเราไม่มองกลับกันว่าในเมื่อเราก็อยู่เมืองนี้อยู่แล้ว ทำไมเราไม่ทำอะไรซักอย่าง ไม่ใช่ว่าเราต้องไปเปลี่ยนตามคนที่มันน้อย เราต้องพลิกวิกฤตนี้ให้ได้

ซึ่งโชคดีของเมืองเชียงใหม่คือ เมืองเชียงใหม่มีศิลปิน มีเพลง original หน้า Low ทุกจังหวัดอาจจะ Low เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าทุกจังหวัดจะสามารถเอาดนตรี original มาทำให้มัน High ได้ เพราะเราก็รู้อยู่แล้วว่าเชียงใหม่มีคนแต่งเพลง ทำเพลงมีเป็นหลายร้อยวง ทำไมเราต้องมารอให้หน้า High ที แล้วเค้าก็จะจ้างเราไปเล่นเฟสหรือทัวร์ แล้วช่วง Low อยู่ในเมืองเราทำอะไรได้บ้าง เราก็รวมกลุ่ม จัดอะไรของเราเองกัน แล้วก็ใช้ช่วงเวลานี้แหละ ในการดึงคนเข้ามา ใครจะรู้ว่าถ้าวันนึงเราทำแบบนี้ซ้ำ ๆ  คนก็อาจจะมาเที่ยวเชียงใหม่หน้าฝนได้ 

เอิง : Feedback ที่น่าสนใจคือ มันมีคนไปโพสต์ว่า “เตรียมตัวจองตั๋วมาเชียงใหม่ช่วงนี้ดีกว่า” หรือมีวงอินดี้จากกรุงเทพฯ ที่หลายคนค่อนข้างชื่นชอบก็ทักมาว่า “อยากมาจอยด้วย” ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เราคาดหวังว่าจะ Proof ให้ได้ว่า จริง ๆ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมันมี Demand นะ

ถามแอลบ้างดีกว่าเข้ามาโฮะงานนี้ได้ยังไง

เอิง : จริง ๆ แอลเป็นคนต้นคิดว่าอยากจะจัดด้วยซ้ำ

แอล : ตอนแรกที่เสนอไปคืออยากจัดเป็น Festival ใหญ่รวมวงดนตรี ช่วงปลายปีแบบ DEMO EXPO ที่กรุงเทพฯ แต่จะรวมนักดนตรีในเชียงใหม่ เลยคุยกับพี่ชา พี่ชาบอกอยากจัด ไฮโฮะ เชียงใหม่ คุยกันไปมาแล้วเราเห็นว่ามันน่าสนใจดี ก็เลยมาร่วมด้วยเลย ตอนแรก ๆ ประหม่า ด้วยความข้าม Gen กัน เราเด็กสุดไงและไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า แต่ได้รับคำปรึกษาที่ดี สงสัยก็ถาม ก็สนุกดีค่ะ ได้ร่วมงานกับพี่ ๆ

แล้วพี่หมูใหญ่อ่ะครับ มาร่วมโปรเจ็คนี้ได้ยังไง

หมูใหญ่ : โดนหลอกมา (ฮา) แต่จริง ๆ มีใจอยากช่วยแหละ จริง ๆ อยู่ในคอมมูนิตี้ดนตรีเชียงใหม่อยู่แล้ว สนใจเรื่องการขับเคลื่อนเมืองอยู่แล้วอ่ะ

เอิง : พี่หมูใหญ่ช่วยรันกลุ่ม music people chiang mai ชาวดนตรีเชียงใหม่ อย่างเว็บ chiangmaioriginal.com ก็เป็นพี่หมูใหญ่ทำ

หมูใหญ่ : น่าสนใจ ก็เลยมาช่วย ตามพาร์ทที่ตัวเองถนัด ในงานนี้ก็เป็นเรื่อง Media งานสื่อสารทั้งหมดเลย

เอิง : เรามีทีม AR อีก 4-5 คนช่วยล็อกคิวศิลปิน ทีม Content ทีม Tiktok ถ้าจะนับทีมออนไซต์ในแต่ละวันด้วยก็น่าจะถึง 20 นะ

ความยากหรือเรื่องที่ท้าทายของ ไฮโฮะ เชียงใหม่ คืออะไร

ทุกคน : เรื่องเงินทุน

ชา : ตอนแรกที่เราทำ เราตั้งทีมขึ้นมา ยังไม่รู้เลยจะไปเอาเงินที่ไหน แต่ตอนโปรเจ็คเสร็จ เราก็เริ่มหาทุน หาสปอนเซอร์ ตัวงานนี้เราไม่ได้ต้องการใช้เงินเยอะอะไรมากมาย เราให้น้อง ๆ ทีมงานแล้วก็เอาไปเติมให้นักดนตรี เป็นค่าแรงให้ศิลปินที่ไปเล่นเป็นหลัก ๆ เพราะไปเล่นในร้าน บางร้านก็มีเครื่องเสียงอยู่แล้ว และมีพี่ที่เคยคุยกันก็บอกเอาไปเสนอ ททท. สิ เลยมีโอกาสไปนำเสนอโปรเจ็คนี้ ตอนต้นกรกฎาคมที่ผ่านมาเลย เพราะเริ่มเซ็ตทีมตั้งแต่มิถุนาแล้วก็รู้แล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง วางตัวใครบ้าง แต่ยังไม่ assign งาน เพราะยังไม่รู้จะมีเงินจ้างเขาไหม 

แต่วันนั้นไม่ได้มีความหวังนะ เพราะไปนำเสนอง่าย ๆ ว่าเรามีไอเดียอะไร มีคนที่สนใจและเข้าใจไอเดียเราอยู่บ้าง บางคนก็จะมองด้วยวิธีการแบบ ททท. อ่ะว่า มีเงินก็ต้องทำอีเว้นท์สิ จ้างออแกไนซ์ จ้างวงดัง ๆ ทำใหญ่ ๆ ซึ่งมันคนละแบบกับวิธีคิดของเรา เพราะเรากำลังสร้างคอมมูนิตี้ มันไม่ใช่แค่ศิลปิน แต่มันคือร้าน ผู้ประกอบการ คนที่อยู่ในวงโคจรในนิเวศทั้งหมด ตอนนั้นก็เลยไม่ได้หวังอะไรมาก

พอเรื่องของทุน ความยากมันก็จะตามมาทุกอย่าง เพราะเราก็ไม่รู้จะรันกันยังไงต่อดี แต่เรื่องของศิลปิน กลับรู้สึกว่าทุกคนพร้อม เรื่องของสเปซ ผู้ประกอบการ ทุกคนก็อยากจะร่วมกันหมด

หมูใหญ่ : ซึ่งก็เซอร์ไพรส์เลยนะ เพราะคิดว่าอาจจะเจอปัญหา อาจจะคุยยาก แต่ทุกคนลงใจ กระตือรือร้น อยากให้งานนี้เกิดขึ้น

ชา : กลายเป็นว่าการทำงานนี้ทำให้เราได้พูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น คนที่เรารู้จักอยู่แล้วแต่ไม่เคยร่วมงานด้วย เช่น สเปซ แต่มันก็อาจจะมีบางที่ที่ไม่สะดวกก็ไม่เป็นไร เราลองกางชื่อ 20 ร้านมาดูก็ได้ มันเหมือนจะไม่เกี่ยวกันเลยซักร้าน ไม่น่าจะมาอยู่ในงานอีเว้นเดียวกันได้

เอิง : มันท้าทายหน่อย ๆ ตรงที่ว่า วงดนตรีเยอะ ร้านก็เยอะ ที่จะมาเข้าร่วม แต่ว่าศักยภาพทีมก็มีจำกัด ก็พยายามให้มันกว้างที่สุด เยอะที่สุด แต่ก็ยังอาจจะมีบางร้านที่ตกหล่นไปบ้าง ถ้าในเชิง Content ก็อาจจะเรียกว่าการเผื่อเวลาและพื้นที่ให้ทุกคนได้มีเวลาฉายแสงเท่า ๆ กัน คาดเดาว่าหลังจากนี้อาจจะเป็น Challenge นึง 

จริง ๆ คืออยากเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยส่งต่อเค้าไปอีกที่นึงมากขึ้น ก็อาจะมีการพูดถึงเรื่อง Music Landmark ในเมือง ก็ลองนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยนำเสนอมาบ้าง

ชา : แค่ฟังที่เราแพลนกันก็สนุกแล้ว เพราะมันไม่เคยเกิด เอาแค่ร้านเหล่านี้มาร่วมกัน กับ Content ที่เราจะทำ คือน้อง ๆ ที่ชวนมามันก็เหมาะกับอะไรแบบนี้พอดี เลยรู้สึกว่าเป็นภารกิจที่รวมตัวละครที่น่าสนใจ ที่ไม่เคยทำงานร่วมกัน มาทำอะไรด้วยกัน

มัท : ไม่นึกว่าจะได้มาทำ เพราะเหมือน townhall เราก็มาตลอด เรารู้สึกเหมือนเป็นตัวแทนศิลปิน อาจจะในมุมมองผู้จัดก็ได้ เจ้าเล็ก ๆ เจ้าหนึ่ง ตอนนั่งคุยกันเรื่องไฮโฮะเราก็รู้สึกว่ามันก็มีส่วนที่เราเข้าไปช่วยทำได้ ออกความเห็นหลายอย่างได้ 

เอิง : จริง ๆ มันเริ่มคุยกันมาตั้งแต่ townhall ละ

มัท : พอคุยมันก็ไหลเข้าไปได้เลย

ชา : พี่กับมัทเคยทำงานด้วยกันมาแล้วด้วย นานมาก ๆ ตั้งแต่ No Signal Input เลยมั้ง

เอิง : พี่มัทก็เคยชวนเราไปเล่นในงานที่มัทจัด Echoes From The Void

มัท : มันเหมือนมีคอนเนคชั่นกัน เจอกัน ชวนกันทำโน่นนี่ไปเรื่อย

ชา : มันเหมือนรู้จักกันอยู่แล้ว เนี่ยแหละมันคือความฝันของการทำ Chiang Mai Original ของพี่เลยนะ ตอนนี้ก็จะปีที่ 8 แล้วที่เราเริ่มมาคนเดียว เริ่มจากทำแล้วไม่ได้อะไรเลย มันมีแต่เสียด้วยซ้ำ พอมันมีคนที่ทำอันนี้ได้ดีกว่าเรา มันก็เบา กลายเป็นว่าในเมืองนี้มีคนที่ทำอะไรได้ดีกว่าเราหลายอย่างเต็มไปหมดเลย เราแค่ดึงเค้าคนนี้มาประกอบร่างกัน พลังมันยิ่งใหญ่กว่าเยอะเลย

ย้อนไปอีกนิด พี่เริ่มปี 2017 (2560) แต่เริ่มทำเพจก็ช่วง มกรา-กุมภา ปี 2018 (2561) แล้วก็ทำคณะสุเทพตอนสิงหา ณ วันนั้น การที่เป็นวงอะไรก็ไม่รู้ ถึงแม้จะอยู่ในเมืองนี้แต่เราก็เป็นวงใหม่ งานเล่นในเชียงใหม่ก็ยากนะ กว่าจะเริ่มออกไปต่างจังหวัด ใช้เวลาเป็น 4-5 ปี พอชุมชนอะไรหลายอย่างของเชียงใหม่มันแข็งแรง กลายเป็นว่า น้อง ๆ ที่เริ่มเอาเพลงมาตอนนี้แปปเดียวติดชาร์ต มีทัวร์ ยิ่งซีนหลังโควิด 2-3 ปีที่ผ่านมา เชียงใหม่แม่งโคตรคึกคักเลยว่ะ ซึ่งเราตื่นเต้นมาก ๆ แต่ทำไมผู้มีอำนาจหรือภาครัฐไม่ตื่นเต้นไปกับเราเลย มันยังตื่นเต้นกับอะไรเดิม ๆ อยู่ งานแบบพวกเรามันเลยเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำที่แม่งโคตรเจ๋งเลย

เอิง : Challenge อีกอย่างคือการสื่อสารให้ภาครัฐเข้าใจ มันเหมือนจะยังมีช่องว่าง ในเรื่อง Know-How ความรู้ในด้านวัฒนธรรมร่วมสมัย ประชาชนจะมีความเข้าใจมากกว่านิดนึง เรารู้สึกว่ามันมีความสำคัญที่ต้องสื่อสาร คุยกันให้เยอะขึ้น หรือเค้าควรจะเข้าหาเรามากกว่านี้ไหม

ชา : เรียกเราเข้าไปคุยก็ได้ ไม่รู้อะไรก็ให้ถามบ้างก็ได้ อะไรที่เค้าไม่เคยทำ เค้าก็ควรจะได้รู้ว่าในเมืองมีใครทำอะไรอยู่บ้าง ซึ่งเราพยายามจะบอกเค้าอยู่แล้ว เค้าก็รู้จักเราอยู่แล้ว แต่ทำไมเวลามีงาน มีงบอะไร ไม่เห็นเรียกพวกเราเข้าไปคุยเลย ทำไมทุกอย่างเป็นการคิดเองของเค้าหมดเลย มันเป็นเรื่องสำคัญมาก พอมันมีประเด็นดราม่า ก็กลายเป็นว่า นี่อาจจะเป็นจุดสำคัญก็ได้ คุยกันตรง ๆ ก็ได้ 

เอิง : น่าจะได้เปิดเวลาคุยกันจริงจังซักที

ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ภายหลังที่ทาง Lanner ได้เข้ามาสัมภาษณ์ทีมฯ ล่าสุดทางททท. เชียงใหม่ได้เดินทางมาเข้าพบทีม Chiang Mai Original เพื่อพูดคุยกันถึงปัญหาการสื่อสารที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว

หรือเขามองงานวัฒนธรรมเป็นงานอีเว้นท์ทำแล้วก็จบไป?

เอิง : ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่ไง เพราะกลไกมันต่อเนื่องกว่านั้นมาก แล้วบางทีตัวชี้วัดของรัฐมันจำกัด แค่จำนวนคน มันเป็น KPI เชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณภาพ มันเลยทำให้การทำงานของเขามีข้อจำกัด ทำแค่เพื่อให้ถึงตัวเลข ให้ได้ยอด ให้เข้าเป้า

ชา : มันก็เลยใช้วิธีเดิม ๆ เพลย์เซฟกันหมดทั้งตัวองค์กร ภาครัฐ ออแกไนซ์ ให้มันตรง ตาม KPI หรือจำนวน ว่าให้ปีหน้าเพิ่มขึ้น 5,000 ขึ้นไปอีก มันแค่นี้

แต่มิติของเมือง ๆ นึงมันไม่ใช่แค่ตัวเลข ทุกอย่างที่เราทำเราทำต่อเนื่อง พูดในแง่ของดนตรีเราก็เห็นแล้วว่าวิวัฒนาการใน 4-6 ปีที่ผ่านมามันเปลี่ยนแปลงไป เราอาจจะไม่เคยมานั่งนับมาอะไรเท่าไหร่ แต่เราก็เห็นละ ถ้าท้องถิ่น ชุมชนมีโอกาสในการเข้าไปร่วมตั้ง KPI หรือ TOR ด้วย มันน่าจะทำให้งบประมาณถูกเอามาใช้ได้มีประโยชน์จริงจัง

ชา : อย่างเรื่องเทศกาลล่าสุดที่รัฐทำเนี่ย จัดยิ่งใหญ่มาก ถ้าจะพูดมันมีดนตรีอยู่ในงานนั้นด้วยนะ แต่ TOR ในงานนั้นไม่เอื้อให้ศิลปินในเชียงใหม่ไปเล่นได้เลย

เพราะมันระบุว่าต้องเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง คำว่ามีชื่อเสียงคือต้องมีวงเล็บบางอย่างคือ ต้องผ่านเวทีประกวดระดับประเทศ และมันน่าตลกตรงที่สื่อ เพจ ลงข่าวนี้ตลอด แต่สุดท้ายดนตรีที่อยู่ในงานนั้น ไม่มีใครโพสอะไรเลย งานเสร็จไม่มีรูปแม้แต่เวทีคอนเสิร์ต ทั้ง ๆ ที่บอกว่าศิลปินที่ไปเล่นต้องมีชื่อเสียง ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวกับดนตรี ทั้ง ๆ ที่ดนตรีเป็น TOR ต้องเป็นส่วนหนึ่งในนั้น อย่างเราเสนอชื่อวงเราไป เขาบอก ไม่ได้ครับ เพราะเป็นวง Local แต่สุดท้ายเราก็ไม่เห็นวงที่ได้เข้าไปเล่นในงาน กลายเป็นว่าไปโฟกัสกับบ้านผีสิง อันนั้นก็เข้าใจได้เพราะไม่ใช่งานดนตรี

ชา : ถ้าเป็นงี้ เอางบที่ให้ส่วนดนตรีไปให้งานอื่นจัดไม่ดีกว่าเหรอ การจัดสรรงบ การเขียน TOR มันไม่สร้างประสิทธิภาพเลย

เอิง : วิธีคิดแบบนี้มันไม่ได้ คงต้องได้ Educate กันเรื่อง Taste และวัฒนธรรมการเสพดนตรีให้มากขึ้น ส่วนวิธีคิดมันไม่ได้ตั้งคำถามว่า การกระจายรายได้ กระจายผลประโยชน์ให้กับ Stakeholders ที่สร้าง Value ให้งาน มันคือคนกลุ่มไหนกันแน่

ถ้ามองอีกมุม ไอ้วิธีคิดแบบนี้หรือการจัดแบบนี้ มันก็ไปกำกับรสนิยมคนให้อยู่ได้แค่การรับรู้แบบนั้น?

เอิง : ถูก

ชา : ก็เป็นไปได้ มันก็เป็น Top down อ่ะ เราจัดสรรมาอย่างงี้ให้ คุณก็ดูไป แต่จริง ๆ ถ้าบอกว่าอยากให้มี Soft Power มีพลังจากตัวเมือง แปลว่าคุณต้องทำ Bottom Up เราก็ต้องมาคุยกับคนที่อยู่ข้างล่างว่าทำอะไรอยู่ เราจะเอาอะไรมาขาย เพื่อดึงคนข้างนอกมาเที่ยว ถ้าจะทำเรื่องท่องเที่ยวจริงก็ต้องทำให้เมืองมันเจ๋งเพื่อดึงนักท่องเที่ยวที่อื่นจริง ๆ เพื่อมาดูที่นี่ เพื่อดูว่าตรงนี้มันมีอะไรดีบ้าง ไม่ใช่เป็นไอเดียที่มาจากกรุงเทพ แล้วบอกเรามาทำบ้านผีสิงกันเถอะ มันอาจจะไม่ได้แย่ แต่ถามว่าจบปุ๊บแล้วยังไงต่อ โรงแรมรถไฟคนจะมาเที่ยวทั้งปีมั้ย บ้านผีสิงต้องรอสิงหาปีหน้าอีก มันคิดน้อยไปหน่อย

มัท : เรื่อง Challenge การสร้าง Culture ขึ้นมาใหม่ ให้คนฟัง ผู้จัด นักดนตรี ให้มันมา Connect กัน ให้ Culture มันเติบโต แข็งแรงขึ้น ในอนาคตในอีก 20-30 ปีอาจจะเหมือนญี่ปุ่น แบบว่าคนเลิกงานมาซื้อตั๋วดูวงดนตรีก็เป็นเรื่องปกติ ถือเป็นเป็นภาพฝันละกัน อย่างน้อยมาทำตรงนี้อาจเป็นเศษเสี้ยวเล็ก ๆ ที่เป็นรากฐานให้ดนตรีได้ 

ชา : ยิ่งการทำงานกับวง Original วงอินดี้ มันท้าทายมาก โดยเฉพาะในวัฒนธรรมการฟังเพลงของคนไทย ที่มองว่าดนตรีคือ Entertainment เท่านั้น คืออะไรที่ลอยอยู่ในอากาศที่เราได้ยิน คือของฟรี มันเลยกลายเป็นว่า “เฮ้ยเพลงอะไร ไม่รู้จัก” ซึ่งอันนี้มันยังอยู่ในความเป็นจริงของคนส่วนใหญ่ และเหล่าผู้ที่ทำงานในองค์กรภาครัฐ มันเลยกลายเป็นคนละเรื่องที่เค้าเข้าใจไม่ตรงกับเรา 

ทั้งที่พูดว่าดนตรีคือ 1 ในศิลปะ 1 ใน Soft Power แต่ปรากฎว่า แค่วิธีหรือสายตาที่เค้ามองเสียงดนตรียังไม่ได้ฟังแบบศิลปะเลย จะจำแต่เพลงที่ตัวเองได้ยินบ่อย ๆ ได้ แล้วรู้สึกว่าคือเพลงที่ติดหู เพลงที่ติดหูคือเพลงที่ดัง เพลงที่ดังคือเพลงที่ดี ต้องฟังกันเรื่อย ๆ ต้องสนับสนุน คนนี้ร้องเพลงนี้ ฉันรู้จักเพลงนี้ แต่ฉันไม่ต้องรู้หรอกว่าใครแต่งเพลงนี้ ใครบันทึกเสียงเพลงนี้ แล้วเพลงอื่นของคนนี้เป็นแบบไหน คือเราสนใจดนตรีแค่นั้น เพราะงั้นเวลาเราจะนำเสนออะไรเกี่ยวกับคนที่ทำงานเพลงในเมืองเชียงใหม่ที่มีอยู่เป็นร้อย ๆ วง พอเราพูดถึง เขาก็ไม่รู้จัก ที่เขาไม่รู้จักเพลง เขาต้องด่าตัวเอง ไม่ใช่ไปด่าวงหรือด่าเพลง เพลงก็มีของมันอยู่แล้ว แต่พอได้ยินแล้วเขาเดินหนี เพราะเขาเสพแต่อะไรเดิม ๆ ซึ่งพวกนี้ก็เป็นคนมีอำนาจที่ร่างนโยบายที่เกี่ยวกับดนตรีด้วย ก็เลยออกมาในลักษณะนี้

คาดหวังที่จะเห็นอะไรในไฮโฮะ เชียงใหม่ หรืออยากให้มันเดินไปแบบไหน

ชา : มันจะเป็นภาพที่ดีแน่นอน งานแบบนี้คือครั้งแรกจริง ๆ ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหน ส่วนจะไปยังไงต่อ คิดว่ากระแสของเพลง Original ในเมืองเชียงใหม่มันจะคึกคักขึ้นแน่นอน ขึ้นอีกเท่าตัวจากที่ทำมาครั้งก่อน เพื่อส่งต่อไปถึงงานโฮะปลายปี พี่ไม่รู้มันจะไปได้จริงหรือเปล่า แต่ในใจพี่ตั้งใจไว้

ที่ฝันอยากให้เป็นในเร็ววันนี้คือ เชียงใหม่โฮะปีนี้ อยากให้ทุกคนที่ได้มาเล่น ได้ค่าตัวสูงกว่าเชียงใหม่โฮะปีที่แล้วแน่ ๆ แล้วพี่ก็จะไล่ส่งคอนแทคไปหาวงต่างประเทศที่เรามีคอนแทค ว่าหน้าหนาวนี้มีโปรแกรมมาเชียงใหม่หรือไทยบ้างไหม ให้เขากรอกฟอร์มว่าสนใจจะเล่นงานโฮะไหม

ในอนาคตอยากให้วงอินเตอร์ วงเอเชีย สามารถมาแจมกับศิลปินที่เชียงใหม่ ที่เฟสของเชียงใหม่ ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่มีเวทีให้คุณเล่น หวังว่าจะมีที่ที่ศิลปินเชียงใหม่เล่นกับศิลปินต่างประเทศ จนโฮะกลายเป็นเฟสที่ใหญ่มากจนวงกรุงเทพฯ อยากมาเล่น 

Shows Around My Hometown ใน My Hometown Project

ต่อไปในอนาคตจะเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องพิเศษละ ที่เราจะสามารถเข้าถึงดนตรี Original ได้ง่าย ๆ

ชา : ทุกอย่างจะเป็นธรรมชาติ งานโฮะ ไฮโฮะ ก็จะเวิร์คของมัน และที่หวังที่สุดของปลายทางความฝัน คือ เชียงใหม่เป็นเมืองดนตรีจริง ๆ ศิลปินที่ทำเพลงที่เชียงใหม่ไม่ต้องคิดแล้ว ว่าเรียนจบจะไปกรุงเทพฯ ไปทำงานกับค่ายเพลง ที่นี่อาจจะมีค่ายเพลงเต็มไปหมด มีที่ให้เล่นเต็มไปหมดเลย แล้วก็หน้า Low season ของเชียงใหม่ไม่มีแล้ว กลายเป็นอาจจะต้องแย่งกันมาในช่วงกันยาด้วยซ้ำ เพราะช่วงนี้แหละ ดนตรีเชียงใหม่เข้มข้นมากเลย

มีสเปซ มีร้าน มีเฟสเล็ก ๆ เต็มไปเต็ม นักท่องเที่ยวมา โรงแรมขนาดเล็กใหญ่มีรายได้ ประชาชนในเมืองมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น พี่ไม่ทำแล้ว พี่ยกให้น้อง ๆ ยุคหลัง ๆ

แอล : เราอยากให้การจัดงานครั้งหน้า หาสปอนเซอร์ได้ง่ายขึ้น เพราะเราโดนที่ตั้งคำถามจากที่กรุงเทพฯ ว่าเค้าไม่รู้เลยว่าเราเป็นใคร ซึ่งถ้าเราจัดงานเล็ก ๆ แล้วให้เค้ามองเห็นก่อน ถ้าจะมีงานอื่น ๆ เกิดขึ้น มันอาจจะคุยและขอเขาได้ง่ายขึ้น พอเรามีโปรไฟล์แล้วก็อยากเห็นค่าแรงนักดนตรีที่เพิ่มขึ้น เรื่องมูลค่าของนักดนตรีกับคนงานของเรา อยากให้นักดนตรีเชียงใหม่ออกไปเฉิดฉายกับเพลงของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมานั่งกังวลถึงเรื่องเงินแล้ว

เราโชคดีที่อยู่เชียงใหม่แล้วมีสเปซให้เราได้เล่น แต่เวลาจะทำเพลง ขายอะไรซักอย่าง มันต้องคำนวณเรื่องเงิน ซึ่งมันเป็นจุดที่ชะลอความฝันของเราไว้

เอิง : การที่จะมีคนมาให้สปอนเราเพิ่ม แปลว่ามีคนเห็นมูลค่าตรงนั้น หรือการที่จะขึ้นค่าแรงนักดนตรีได้ มันเป็นเพราะว่าสังคมมวลรวมหรือระบบเศรษฐกิจมันเห็นในมูลค่านั้น เพราะงั้นความคาดหวังของเราก็ไม่ได้ต่างจากพี่ชาเท่าไหร่ อยากเสริมคือ อยากให้ตรงนี้เป็นหมุดหมายในการวัด Demand ของเมืองดนตรีเชียงใหม่ ให้มัน Proof ได้ว่ามีตลาด

เมื่อมีตลาดมันจะทำให้นิเวศมันไปต่อได้ มันจะมีเม็ดเงินเข้าที่ทำให้รันต่อไปได้อย่างยั่งยืนกว่านี้ อยากให้เป็นหมุดหมายเป็นรูปธรรม มี Data Support ว่า มาลงเงินที่เชียงใหม่เมืองดนตรีสิ

ชา : ที่พี่เห็นมาตลอดคือ เชียงใหม่มันมีศิลปินเยอะมาก ๆ มีเพลงใหม่ ๆ ให้ฟังกันตลอดเวลา แค่ในเขตอ.เมืองนี่ก็เยอะมากละ เราทำสิ่งนี้ที่เราเห็นค่า ต้องทำยังไงก็ได้ให้มันมีมูลค่าจริงๆ มี Value อย่างใครจะไปรู้ว่าวันนึงจะมีน้ำแดงคู่กับต้นโพธิ์ ศาลทุกต้น มันก็คือการสร้าง Demand

ตอนนี้เชียงใหม่ ศิลปินเยอะ เพลงเยอะ แต่ถ้ามองแค่ว่าคนฟังคือแค่คนเชียงใหม่ มันก็คือการจบปริมาณของตลาดไว้แค่นั้นแล้ว เราอาจต้องใช้ Value อันนี้ ผ่านกระบวนการ วิธีการจัดการแบบใหม่ เพื่อให้มันกลายเป็นมูลค่าเพิ่มที่สุดท้ายแล้วคนจะต้องเข้ามาจับจ่ายใช้สอย ซื้อออกไป ทั่วถึงกันด้วยนะ เช่น รุ่นเล็กก็จะมีตลาดของรุ่นเล็ก รุ่นกลาง หรือรุ่นใหญ่ แต่มันจะต้องเกิดตลาด ซึ่งตอนนี้เรามีสินค้า อาจต้องมาทำเชลฟ์สวยๆ ทำมาร์เก็ตติ้งให้เมือง ให้คนเข้ามาซื้อ

เอิง : ผู้ประกอบการร้านดนตรีก็บอกว่าไม่ใช่ว่าเค้าไม่อยากขึ้นค่าแรงนักดนตรีนะ แต่ Demand องค์รวมมันยังไม่ไหว ไม่เยอะพอที่จะ Justify ถึงเค้ามีใจอยากขึ้น แต่ขึ้นแล้วร้านแบกไม่ไหวมันก็ไม่ได้ ถ้ามันมีตัวเลขพวกนี้ มันมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกหน่อยมันก็จะไปต่อได้

มัท : ภาพในอนาคตคิดว่าอาจจะเป็น หลาย ๆ ประเทศเขามีเฟส ซึ่งอยากให้เป็น เฟสประจำปีอันนึงไปเรื่อย ๆ พัฒนาไปเรื่อย ๆ ส่งผลระยะยาวทางด้านโครงการ และ Culture ดนตรีให้มันโตจากรากฐาน ของคนฟัง คนทำ และสถานที่ด้วย ให้มันไปด้วยกัน อยากให้คนกรุงเทพฯ ต่างประเทศ อยากมาฟังเพลง Original ที่นี่ กลิ้งตั๋วจากญี่ปุ่นมางานโดยเฉพาะ ตั้งใจมาดูวงของเชียงใหม่

ชา : อย่างการเติบโตของหลาย ๆ เฟสติวัลในมันก็เกิดจากชุมชนก่อนที่จะขยับขยายออกไปจนใหญ่ขึ้น แล้วจริง ๆ อย่างตอนนี้ เชียงใหม่ออริจินัลก็เป็นแรงกระเพื่อมนิด ๆ นะที่ส่งออกไปในจังหวัดใกล้ ๆ มันอาจจะไม่ได้รุนแรงหรอก แต่เราจะเห็นว่าที่เชียงรายก็มี หรือครูหม่อม จากพะเยาหลังจากที่กลับจากที่เคยมาแจมกับเราก็มีไฟไปชวนเพื่อน ๆ น้อง ๆ ทำกลุ่ม Phayao Wave กลุ่มจากกำแพงเพชร ศิลปินวงใบเดี่ยว ก็ไปขับเคลื่อนวงการที่บ้านตัวเอง ตั้งชื่อกลุ่มว่า original Kamphaengphet

เหมือนเรื่องสุราชุมชน แต่ละที่มันจะมีของดีในบ้านตัวเอง ทั้งดนตรี ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องดื่ม มันจะดีซะอีก มันจะทำให้ทุกเมืองมีสเน่ห์ เราจะต้องไปหาเอกลักษณ์ของเมืองนั้น ๆ ผ่านวัฒนธรรม ผ่านดนตรีของเมืองนั้น ๆ

หมูใหญ่ : ยังไงก็ฝากไฮโฮะเชียงใหม่ด้วยละกัน ก็เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น โดยพลังของคนรุ่นใหม่ ผลงานก็เป็นของคนรุ่นใหม่ เราพยายามผลักดันคนรุ่นใหม่ เพราะอยากให้คอมมูนิตี้มันไปต่อเรื่อย ๆ แล้วก็เกิดจากนักดนตรีจริง ๆ ทุกคนก็คือตื่นเต้นกันหมด แล้วก็ฝั่งอีสานก็ดูแบบมาบอก ๆ ว่า เมืองนี้คูลจังเลย ทำไมทำแบบนี้ได้ ทุกคนดูตื่นเต้นว่างานใหญ่มาก

ชา : มันเหมือน Snowball effect อ่ะ ตอนนี้กลุ่มนักดนตรีได้มีโอกาสไปทัวร์ ไปทำกิจกรรม และอื่น ๆ แล้วก็มีสื่อด้วยที่ให้ความสนใจ

เอิง : เพราะที่ผ่านมาคือซีนดนตรีเชียงใหม่อยู่ในหน้าสื่อบ่อยขึ้น ต่อเนื่องมากขึ้น มันยิ่งตอกย้ำว่าเชียงใหม่มันมีดนตรีอยู่ในนี้นะ

มัท : ดู Chart ของ Cat radio ช่วงหลัง ๆ วงเชียงใหม่เยอะมาก ติดบ่อยมาก มันเป็นอะไรที่เป็น Snowball effect จริง

ชา : และหวังว่ามันจะไปเรื่อย ๆ มันกำลังจะติดลมบนแล้วล่ะ ไปเรื่อย ๆ

ศิลปินท้องถิ่นอยู่ตรงไหนใน 30 ล้าน กับมหกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบรวมศูนย์

จากกรณีที่เกิดขึ้นที่มีการพูดถึงเป็นวงกว้างในชุมชนดนตรีจังหวัดเชียงใหม่ในประเด็นที่มีการฉกฉวยไอเดียของงาน High HO Chiang Mai เทศกาลดนตรีต้องการให้เชียงใหม่เป็นไฮตลอดทั้งปีโดยมีการพูดถึงงานมหกรรม HOP Chiangmai Art and Music Festival ที่จัดขึ้นโดย ททท.สำนักงานเชียงใหม่ – TAT Chiang Mai ที่จะมีการจัดงานในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน 

ที่ล่าสุดมีการประกาศบอยคอตงาน HOP Chiangmai Art and Music Festival จากผู้คนแวดวงดนตรี อาทิ Paul Swann ผู้จัดการวง Solitude Is Bliss และผู้ก่อตั้ง Pollinate Records โดย Paul เผยว่า ททท. ขโมยแนวคิดของ ชา-สุพิชา เทศดรุณ จากกลุ่ม Chiang Mai Original ที่จัดเทศกาลดนตรีที่จะช่วยเหลือนักดนตรีและ Music venue รวมถึงผู้ประกอบการในท้องถิ่นในช่วงโลว์ซีซั่น 

รายชื่อศิลปินงาน High HO Chiangmai

ทั้งนี้ Paul ยังเผยอีกว่า สุพิชาได้ส่งใบสมัครขอรับการสนับสนุน 500,000 บาท แต่ไม่ได้รับการตอบรับ และยังทราบว่ามีทีมอื่นที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก ททท. ถึง 30,000,000 บาท ในการจัดมหกรรมดนตรีในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน รวมไปถึงมหกรรมดังกล่าวยังให้เงินแก่ศิลปินท้องถิ่นที่เข้าร่วมเล่นในงานเพียง วงละ 4,000 บาท แต่กลับจ่ายเรทราคาปกติแก่ศิลปินจากกรุงเทพฯ  ซึ่งตรงกับที่ สุเมธ ยอดแก้ว ผู้บริหารค่ายเพลง Minimal Record โพสต์ว่าศิลปินค่ายของตนได้รับค่าจ้างในงาน เพียง 4,000 บาท 

นอกจากนี้ Paul ยังเชิญชวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงดนตรีบอยคอตงานมหกรรมดังกล่าวพร้อมกันนี้ยังมีอีกหลายคนที่ออกมาโพสต์แสดงความคิดเห็น เช่น สิโมนา มีสายญาติ หุ้นส่วนร้าน Thapae East ที่แสดงจุดยืนไม่สนับสนุน รวมถึง เฟนเดอร์-ธนพล จูมคำมูล สมาชิกวง Solitude is Bliss และศิลปินเดี่ยวในนาม View From the Bus Tour กับจุดยืนบอยคอตเช่นกัน

การฉกฉวยไอเดียในกรณีนี้ ยังมีการตั้งคำถามกับงบประมาณกว่า 30 ล้านบาทที่ยังดูคลุมเครือ ในขณะที่งานดังกล่าวต้องการจะสนับสนุนดนตรีในท้องถิ่นแต่หากมาดูวิธีการจัดงานหรือรูปแบบการจัดงานนั้นคับคล้ายคับคลาว่าเป็นวิธีคิดจากส่วนกลาง

เปิดที่มา HOP มหกรรมดนตรีกระตุ้นการเดินท่องเที่ยวเชียงใหม่

งานมหกรรม HOP Chiangmai Art and Music Festival มีกำหนดจัดงานตั้งแต่วันที่ 20-29 กันยายน 2567 มีศิลปินเข้าร่วม 500 ชีวิต และ 70 วงที่ร่วมแสดงในทั้งหมด 3 เวที 3 สไตล์ ได้แก่ 1.Pop Stage ที่มีการแสดงดนตรีกระแสหลักระดับประเทศทุกแนวเพลง อาทิ บุรินทร์, ตู่ ภพธร, เจนนิเฟอร์ คิ้ม, คาราบาว, The Toys,  นุนิว, Season Five และ Mean 2.Classic Stage ศิลปินต้นตำรับเชียงใหม่ อาทิ  ลานนา คัมมินส์, Yented, ไม้เมือง 3.Hopping Stage เวทีรถบัสเคลื่อนที่ที่เดินทางไปหลายพื้นที่ อาทิ เขียนไขและวานิช, Whal and Dolph, สมปอง, และ Thanakon  โดยจัดแสดงทั้งหมด 3 ที่ ได้แก่ ลานท่าแพและไนท์บาซ่า, ขัวเหล็กและหอพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา

โดยมหกรรม HOP อยู่ภายใต้โครงการ ‘มหกรรมเสน่ห์ไทย’ เป็นโครงการของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ต้องการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเดือนกันยายน 2567 ผ่านการจัด Event Marketing ครอบคลุมทั้งด้านดนตรี กีฬา ศิลปะ และวัฒนธรรมของประเทศไทยหลากหลายรูปแบบนำเสนอผ่านนวัตกรรมความสร้างสรรค์ ใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ และสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติไปยังภูมิภาคต่าง ๆ นำไปสู่การขยายวันพักและเพิ่มค่าใช้จ่ายทางการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้แก่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยรวมถึง 2 โครงการของ ททท. วงเงินงบประมาณจำนวน 433 ล้านบาท เพื่อดำเนินมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวระยะเร่งด่วน (Quick Win) ส่งเสริมการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยโครงการ มหกรรมเสน่ห์ไทย ก็อยู่ในแผนดังกล่าว

ภาพ: กรมประชาสัมพันธ์

ทั้งนี้งานที่อยู่ภายใต้ ‘มหกรรมเสน่ห์ไทย’ มีทั้งหมด 5 งาน ได้แก่ 1.งาน HOP Chiangmai Art and Music Festival จังหวัดเชียงใหม่ 2.งานเสน่ห์เมืองนคร : Khanom Mindfulness Territory จังหวัดนครศรีธรรมราช 3.กิจกรรมมหกรรมสายน้ำแห่งกาญจน์เวลา (The River of Time) จังหวัดกาญจนบุรี 4.งานเสน่ห์อีสานม่วนซื่น ณ ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และ 5.เทศกาลดนตรี Chonburi International Music Festival in the Rain จังหวัดชลบุรี 

จากการสืบค้นจากประกาศการจัดซื้อจัดจ้างของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) งบประมาณในการจัด มหกรรมเสน่ห์ไทย ทั้งหมด 5 กิจกรรม จะใช้งบประมาณกว่า 177,980,000 บาท และหากมาดูที่งานมหกรรม HOP Chiangmai Art and Music Festival มีการประกาศแผนจัดซื้อจัดจ้างในวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ในราคา 31,199,300 บาท และมีการประกาศราคากลางแบบเฉพาะเจาะจง ในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ในราคา 31,000,000 บาท ก่อนจะมีการประกาศผู้ชนะการเสนอราคาจ้างจัดงาน ในวันที่ 4 กันยายน 2567 โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ บริษัท ม้อบสะเตอร์ จำกัด โดยเสนอราคา เป็นเงินทั้งสิ้น 30,980,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

ประเด็นดังกล่าวที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่ากลุ่มคนดนตรีและประชาชนในพื้นที่ที่เป็นผู้เสียภาษีรวมไปถึงเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียได้รับประโยชน์จากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มากน้อยเพียงใด และการเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบงบประมาณของรัฐ รวมไปถึงจะมีส่วนร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณางบประมาณท้องถิ่นได้จริงหรือไม่ เพราะสุดท้ายงบประมาณก็ตกไปยังองค์กรส่วนกลางอย่าง ททท.ในการจัดการอยู่ดี

หากย้อนดูมหกรรมเสน่ห์ไทยที่เน้นการ “กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว” ที่ส่อยห้อยอยู่ในวัตถุประสงค์นั้นอาจจะเป็นแค่คำที่มีไว้เพียงวัดจำนวนคนและฐานเศรษฐกิจของเชียงใหม่เพียงเท่านั้น หากมามองงบประมาณที่ถูกจัดสรรนั้นจะเห็นว่าไม่เคยตกถึงคนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่่นหรือหากตกก็ได้รับเพียงน้อยนิดเห็นได้จากที่มีศิลปินท้องถิ่นได้รับเงินเพียง 4,000 บาทต่อ 1 วง จากงบประมาณถึง 30 ล้านบาท 

***หากลองคิดดูเล่น ๆ 4,000 บาท ที่เป็นงบสำหรับศิลปินในท้องถิ่น หากนำมาหารกับ 30,000,000 บาท (30,000,000*4,000) จะพบว่าสามารถจ้างงานศิลปินท้องถิ่นได้ถึง 7,500 วง ซึ่งสามารถจัดงาน ซึ่งหากนับตามวงที่เล่นในงาน HOP สามารถนับคร่าว ๆ ได้วันละ 15 วง (เนื่องจากจำนวนวงที่เล่นต่อวันไม่เท่ากัน) จะสามารถเล่นวงท้องถิ่นในเรทราคา 4,000 วันละ 15 วง ได้ทั้งหมด 500 วัน (นี่เป็นการคำนวนที่ยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ)  

รายชื่อศิลปินตลอดทั้งงานของมหกรรม HOP

การที่มีศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ มี Engagement เยอะอาจจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้คนให้มารับชมได้ก็จริง แต่หากย้อนดูศิลปินท้องถิ่นที่ต้องดิ้นรนเพื่อหาพื้นที่ในการแสดงผลงานและเงินในการเลี้ยงชีพกลับไม่มีการสนับสนุนของรัฐเท่าที่ควร ต้องแสวงหาทรัพยากรในการพัฒนาไอเดียด้วยตนเอง อาทิ My Home Town Project ที่มุ่งให้เห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่มีการระดมทุนให้ศิลปินสามารถใช้ชีวิตในท้องถิ่นของตนได้อย่างมีคุณภาพ

คำตอบของปัญหานี้อาจจะต้องมองไปถึงการจัดการงบประมาณที่มาจากหน่วยงานส่วนกลาง การกระจายอำนาจในการจัดการอาจจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ เพื่อให้ท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดและเข้าใจถึงเงื่อนไขของมิติของเมือง ๆ หนึ่งในการจัดการปัญหารวมไปถึงการจัดกิจกรรมที่ยึดโยงกับศิลปินในท้องที่นั้นอาจจะเป็นส่วนช่วยให้รัฐกับประชาชนนั้นไม่ห่างกันไปมากกว่านี้

สุวิชา เทศดรุณ

“การทำงานของรัฐในปัจจุบันเป็นการทำงานแบบ Top down เราจัดสรรมาอย่างงี้ให้คุณก็ดูไป แต่จริง ๆ ถ้าบอกว่าอยากให้มี Soft Power มีพลังจากตัวเมือง แปลว่าคุณต้องทำ Bottom Up เราก็ต้องมาคุยกับคนที่อยู่ข้างล่างว่าทำอะไรอยู่ เราจะเอาอะไรมาขาย เพื่อดึงคนข้างนอกมาเที่ยว ถ้าจะทำเรื่องท่องเที่ยวจริงก็ต้องทำให้เมืองมันเจ๋งเพื่อดึงนักท่องเที่ยวที่อื่นจริง ๆ เพื่อมาดูที่นี่ เพื่อดูว่าตรงนี้มันมีอะไรดีบ้าง ไม่ใช่เป็นไอเดียที่มาจากกรุงเทพฯ” สุวิชา ให้สัมภาษณ์ใน Lanner Joy “ไฮโฮะเชียงใหม่” ฤดูนี้บ่มีเหงา ดนตรีจะเปลี่ยนเมือง

เปิด 5 เหตุผล ทำไมเราควรจับตามองการเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก เขต 1

เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย

หลังการยุบพรรคก้าวไกลเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา​ ส่งผล​ให้นายปดิพัทธ์ สันติภาดา หนึ่งในกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต 1 ต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งซ่อมขึ้นเพื่อหา สส. พิษณุโลก เขต 1 ​เสียใหม่

การเลือกตั้งซ่อมจะจัดขึ้น​ในวันอาทิตย์ที่ 15​ กันยายน​นี้​ เป็นการแข่งขันระหว่างผู้สมัคร​จาก​ 2​ พรรคการเมือง​ และ​ 2​ ขั้วการเมือง​ ​​ได้แก่​ เบอร์​ 1​ โฟล์ค​ ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ ตัวแทนจากพรรคประชาชน​ และเบอร์ 2​ บู้​ จเด็ศ จันทรา​ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งการเลือกตั้งซ่อม​ครั้งนี้​ได้รับการจับตามองจากสังคมอย่างมาก เพราะถือได้ว่าเป็นสนามประลองกำลังระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านอย่างตรงไปตงมาที่สุดครั้งหนึ่ง​ หลังเหตุการณ์ผลิกขั้วทางการเมืองหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา​

วันนี้ผมอยากพาผู้อ่านทุกคนมาสำรว​จ​ 5​ เหตุผลที่ทำไมเราถึงควรจับตามองการเลือกตั้งซ่อมที่พิษณุโลก​ เขต​ 1​ ที่กำลังจะมาถึงในวันพรุ่งนี้​

1.เป็นการแข่งขันระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลอย่างแท้จริง

เงื่อนไขหนึ่งที่สื่อมวลชนหลายสำนักให้ความสนใจการเลือกตั้งซ่อมในจังหวัดพิษณุโลกครั้งนี้คือ เป็นสนามการแข่งขันระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านอย่างแท้จริง เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาชนส่งตัวแทนอย่าง โฟล์ค​ ณฐชนน อดีตผู้ช่วยของนายปดิพัทธ์ลงสมัคร ขณะที่ฝ่ายพรรครัฐบาลที่ประกอบด้วยหลายพรรคเลือกส่ง​ บู้​ จเด็ศ ผู้มีสายสัมพันธ์อันดีกับสมศักดิ์ เทพสุทิน ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคเดียวจากขั้วรัฐบาลที่ส่งลงสมัครในครั้งนี้ ส่งผลการเลือกตั้งซ่อมในครั้งจะเป็นการวัดพลังทางการเมืองระหว่างพรรคแกนนำรัฐบาลและพรรคฝ่ายแกนนำค้านอย่างเลี่ยงไม่ได้

หากนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรายรอบการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ เราจะพบปัจจัยมากมายที่ทำให้การแข่งขั้นระหว่าง 2 พรรคมีความเป็นไปได้ที่อาจเป็นผลบวกแก่ทั้ง 2 ฝ่าย เหตุการณ์แรกคือการหยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งอาจเป็นแรงหนุนให้โฟล์คในนามพรรคประชาชนจะได้รับคะแนนจากความโกรธและความเห็นใจจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ขณะที่บู้อาจได้คะแนนเสริมจากการเป็นผู้สมัครที่มาจากพรรคแกนนำรัฐบาล พร้อมกับแรงสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะแรงสนับสนุนจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่เพิ่งมาเดินสายมาอ้อนขอคะแนนจากชาวพิษณุโลก เขต 1 ไปเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา

ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ แม้บู้จะมีข้อได้เปรียบจากการเป็นผู้สมัครของพรรคแกนนำรัฐบาล แต่โพลล่าสุดจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรชี้ว่า โฟล์คมีความเป็นไปได้ที่จะชนะเลือกตั้งมากกว่า พร้อมกับแรงสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ส่งมาให้บู้มากนัก สังเกตเห็นได้จากไม่มีแกนนำเบอร์ใหญ่ของพรรคเดินทางมาช่วยหาเสียงแต่อย่างใด แตกต่างจากกรณีเลือกตั้งนายก อบจ. ประทุม ที่พรรคส่งตระกูลชินวัตรครบทุกคนลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครของพรรคอย่างแข็งขัน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนก็ยังชี้ชวนให้เราจับตามองการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่ายังมีความไม่แน่นอนอยู่ ใช่ว่าโฟล์คจะลอยรำเข้าเส้นชัยอย่างง่ายแม้จะมีคะแนนนำก็ตาม

2.เป็นเขตยุทธศาสตร์ของภาคเหนือตอนล่าง

พิษณุโลกถือเป็นเขตยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งเขตสำคัญในภาคเหนือตอนล่าง เนื่องจากเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีเขตการเลือกตั้งถึง 5 เขต และยังเป็นจังหวัดที่เปลี่ยนหน้า สส. บ่อยมาก ไม่มีใคร ตระกูลไหน หรือพรรคใดสามารถกวาดคะแนนเบ็ดเสร็จได้เลย ขณะที่จังหวัดรอบข้างหลายจังหวัดมีความแน่นอนทางเมืองมากกว่า กล่าวคือ สส. หลายคนจากจังหวัดรอบข้างต่างมีสายสัมพันธ์กับบ้านใหญ่ประจำจังหวัดทั้งสิ้น แม้จะเปลี่ยนพรรคสังกัดแต่ยังเป็น สส. หน้าเดิม ทำให้มีความแน่นอนในระดับหนึ่งที่สามารถจะอนุมานได้ว่า ใครจะเป็น สส. ของจังหวัดเหล่านี้

เมื่อสำรวจการเลือกตั้ง 2 ครั้งล่าสุดจะพบว่า จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายของ สส. และพรรคการเมือง​สูงมาก โดยแบ่งเป็นพรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้ง 2 เขต ก้าวไกล 2 เขต รวมไทยสร้างชาติ 1 เขต และจำนวน 3 คนจาก สส. เขตทั้งหมดเป็น สส. หน้าใหม่ที่ล้มแชมป์เก่าได้ จึงถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่หากพรรคการเมืองต้องการชัยชนะในการเลือกตั้งก็จำเป็นต้องทุ่มทรัพยากรอย่างมากเพื่อเป็นผู้ชนะ

ฉะนั้น หากเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นในภาคเหนือตอนล่างแล้ว พิษณุโลกเป็นจังหวัดสำคัญที่พรรคการเมืองและผู้สมัครต้องทุ่มเททรัพยากรสูงมาก หากหวังว่าจะสามารถชนะการเลือกตั้งในจังหวัดนี้ได้ และหากสามารถกุ่มชัยชนะในจังหวัดนี้ได้ ยังอาจเป็นสมการสำคัญในการล่าคะแนนเสียงของพรรคการเมือง

3.เป็นเขตเลือกตั้งที่มีพลวัตรทางการเมืองสูง ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของ

พิษณุโลกเขต​ 1​ นับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีพลวัตรทางการเมืองที่สูงมากด้วยเช่นกัน พูดง่าย ๆ​ คือเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า​ “ใครเป็นเจ้าของ” หรือ “จังหวัดนี้ยังไงก็เลือกพรรคนี้” เพราะหากเราย้อนกลับไปประมาณ 20​ ปีที่ผ่านมายังไม่พรรคใดหรือตระกูลการเมืองตระกูลใดสามารถ​ปักธงชัยยึดตำแหน่ง สส.​ ประจำของพิษณุโลกเขต​ 1​ มาอย่างต่อเนื่องได้เลย​

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา นายวรงค์​ เดชกิจวิกรม จากพรรคประชาธิปปัตย์ เคยได้รับการรับเลือกต่อเนื่องถึง​ 3​ สมัย​ (พ.ศ.​2548,​​ 2550 และ 2554) แต่ต่อมาก็ต้องพ่ายให้กับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา จากพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2562 และนายปดิพัทธ์ได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อในปี 2566 แต่ทั้งนายวรงค์และนายปดิพัทธ์ต่างก็ไม่ใช่นักการเมืองที่จะกล่าวอ้างได้ว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ หรืออ้างตัวว่ามาจากตระกูลทางการเมืองใด ๆ เนื่องจากทั้งคู่ก็ต่างได้รับเลือกเป็น สส. ครั้งแรกในพื้นที่นี้ และทั้งคู่ต่างก็ไม่เคยผ่านตำแหน่งทางการเมืองอื่นเลยก่อนได้รับเลือกเป็น สส.

แม้รายรอบเขตเลือกตั้งนี้จะมีตระกูลการเมืองอยู่หลากหลายตระกูล ไม่ว่าจะเป็นตระกูลไกลฤกษ์จากพิษณุโลกเขต 2 หรือตระกูลเทพสุทินที่ยึดครองพื้นที่จังหวัดสุโขทัย กระทั่งตระกูลชามพูนทและตระกูลวิวัฒน์ 2 ตระกูลที่ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นนายกในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 2 ตระกูลแม้จะส่งตัวแทนจากตระกูลของตนลงเลือกตั้งในเขต 1 พิษณุโลกเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา แต่ทั้งคู่ก็ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา

ฉะนั้น เราอาจกล่าวได้ว่าพื้นที่พิษณุโลกเขต 1 เป็นพื้นที่ที่มีพลวัตรทางการเมืองที่สูงระดับหนึ่ง จนมิอาจมีใครสามารถกล่าวอ้างได้เลยว่าเป็น “เจ้าของพื้นที่” หรือสามารถผูกขาดตำแหน่ง สส. ในเขตนี้ได้

อย่างไรก็ตาม มีข้อหน้าสังเกตว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สส. จากพิษณุโลกเขต 1 จะเป็น สส. สังกัดพรรคที่เป็นฝ่ายค้านทั้งสิ้น เว้นเพียงปี 2551-2554 ที่นายวรงศ์ได้ขยับมาเป็น สส. ฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวพรรคประชาธิปปัตย์ต้นสังกัดของเขาอาศัยการจัดตั้งรัฐบาลหลังการยุบพรรคพลังประชาชน แต่หลังจากนั้น สส. จากเขตนี้ก็ไม่ได้สังกัดในพรรครัฐบาลอีกเลย

4.ผู้สมัครหน้าใหม่ทั้งคู่

ผู้สมัครจากทั้งพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยต่างเป็นสนามการเลือกตั้งของพิษณุโลกเขต 1 ครั้งแรกสำหรับพวกเขา ผู้สมัครเบอร์ 1 อย่างโฟล์คแม้เขาจะทำงานอยู่ในทีมงานของนายปดิพัทธ์มาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ก็ถือว่าในฐานะผู้สมัครมันเป็นครั้งแรกสำหรับเขา ขณะที่ผู้สมัครเบอร์ 2 บู้เคยเป็นผู้สมัคร สส. มาแล้ว แต่เขามิได้สมัครในเขต 1 พิษณุโลก ในครั้งนี้เขาได้เปลี่ยนสนามการแข่งขันมาเป็นผู้สมัครในสนามของเขต 1 แล้ว สำหรับผู้คนในพิษณโลก เขต 1 แล้วเขาก็ยังถือเป็นหน้าใหม่ในสนามนี้เช่นกัน

หากจะลองสำรวจประวัติของทั้งคู่เสียหน่อย สิ่งที่พวกเราจะได้พบอาจเป็นประวัติคร่าวของทั้งสอง ในส่วนประวัติของโฟล์คนั้นอาจไม่มีอะไรหวือหวามาก เขาเป็นลูกชายร้านขายยางรถยนต์ใหญ่ในตัวเมืองพิษณุโลก หลังจากการเลืองตั้งปี 2562 ก็เข้ามาทำงานร่วมกับนายปดิพัทธ์ในตำแหน่งผู้ชำนาญการประจำตัวและเป็นมาต่อเนื่อง จนกระทั่งวันที่ตัดสินดดียุบพรรคก้าวไกลใกล้มาถึง โฟล์คก็ได้ถูกส่งให้ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาชน เพื่อเตรียมเป็นผู้สมัครเลือกตั้งแทนนายปดิพัทธ์ที่อาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง หลังการยุบพรรคโฟล์คจึงได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของพิษณูโลกเขต 1 ในฐานะผู้สานต่ออุดมการณ์ของพรรคก้าวไกลในนามใหม่ว่าพรรคประชาชน

ในส่วนประวัติของบู้นั้นไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก เท่าที่เราพอจะรู้คือเขาเป็นอดีตผู้สมัครพิษณุโลก เขต 3 แต่เขาแพ้การเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามเขาเป็นผู้สมัครที่น่าจะมีความสัมพันธ์กับแกนนำในพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่เคยเดินทางมาช่วยบู้หาเสียงเมื่อปี 2566 และในการเลือกตั้งซ่อมที่กำลังจะมาถึงนายสมศักดิ์ก็ยังมาช่วยหาเสียงเช่นเดิม นอกจากนั้นเขายังเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดปัจจุบัน ทำให้เขาอาจมีพลังทางเมืองในระดับหนึ่ง จนอาจเป็นอีกหนึ่งข้อได้เปรียบของเขาในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้

5.ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างแนวทางแก้ปัญหาของชาวพิษณุโลก กับแนวทางอุดมการณ์ทางเมือง

การหาเสียงของทั้งโฟล์คและบู้ดำเนินไปบนแนวทางและความเชื่อที่แตกต่างกันไป พรรคประชาชนยังรักษาแนวทางการเมืองต่อจากพรรคก้าวไกล คือชูนโยบายและความตรงไปตรงมาทางการเมือง โฟล์คและผู้ช่วยหาเสียงต่างนำเสนอแนวนโยบายเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และย้ำเตือนจุดยืนที่ตรงไปตรงมาของพวกเขา

ในเวลาเดียวกันบู้เดินทางหาเสียงด้วยแนวทางที่แตกต่างออกไป เขาหาเสียงจากการนำเสนอการแก้ปัญหาที่มีเฉพาะของคนพิษณุโลก อาทิ ปัญหาขยะล้นเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้น บู้นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาขยะด้วยวิธีการให้ตัวเขาเข้าไปเป็น สส. ในขั้วรัฐบาล เพื่อที่จะได้สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาขยะได้ พร้อมทั้งยังอาสาเป็นคนประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาเช่นกัน

ทั้งสองคนและทั้งสองพรรคต่างอาศัยแนวทางการหาเสียงคนล่ะส้นทางกัน เสมือนแสดงจุดยืนที่แตกต่างกันของทั้งสองพรรค พรรคเพื่อไทยอาศัยการใช้ความสัมพันธ์กับผู้มีตำแหน่งในการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น เพื่อนำมาแก้ปัญหาให้แก่คนในเขตของตน พร้อมกับอาศัยความได้เปรียบจากการเป็นรัฐบาลเพื่อเป็นสะพานดึงความช่วยแหลือจากส่วนกลางมาแก้ปัญหาที่คนในเขตของตนกำลังเผชิญ

ในขณะที่พรรคก้าวไกล้เลือกที่จะหาเสียงในแนวทางตามแนวทางพรรคก้าวไกล คือการเสนอวิสัยทัศน์ในการทำงานในระบอบนิติบัญญัติ และการนำเสนอว่าเป็นพรรคการเมืองที่ตรงไปตรงมา พร้อมอาศัยเคลื่อนความโกรธหรือเห็นใจที่มีต่อพรรคประชาชนหลังจากคำตัดสินยุบพรรคก้าวไกลเป็นแรงหนุนเสริม

ดังนั้น การเลือกตั้งพิษณุโลก เขต 1 ครั้งนี้จึงเปรียบเสมือเวทีประลองแนวทางการทำงานในฐานะ สส. พร้อมกับเป็นเวทีที่จะเผยให้เห็นว่าชาวพิษณุโลก เขต 1 จะเลือกแนวทางการทำงานการเมืองแบบใด และเลือกนักการเมืองแบบใด นอกจากนั้นสนามการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ยังเป็นเสมือมวยเปิดเวทีสนามการเลือกตั้งใหญ่ในครั้งต่อไป

คุยกับ ‘สุวิชานนท์ รัตนภิมล’ กับ 31 ปี บทเพลง ‘สานใจคนรักป่า’ ถอดรหัสความห่วงใยเตือนภัยธรรมชาติที่เริ่มรุนแรง

เรื่อง: องอาจ เดชา

พี่นนท์-สุวิชานนท์ รัตนภิมล เป็นทั้งนักเขียน กวี และคนเขียนเพลง มายาวนานหลายสิบปี ทำงานและคลุกคลีอยู่ร่วมกับพี่น้องชาวบ้าน โดยเฉพาะพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือมายาวนาน เคยเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ‘เสียงภูเขา’ ผู้เปิดโลกชนเผ่าบนดอยและดนตรีชีวิตคนปกาเกอะญอ ให้คนทั่วไปได้ซึมซับประทับใจ และเขายังเป็นเจ้าของบทเพลง ‘สานใจคนรักป่า’ ที่ได้รับการขับขานต่อเนื่องในหมู่นักกิจกรรมรั้วมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน บทเพลง ‘สานใจคนรักป่า’ มีอายุได้ 31 ปีแล้ว แต่เมื่อเราได้หยิบมาฟังกันอีกครั้ง ในห้วงเวลาที่โลกกำลังวิกฤต ปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังเริ่มรุนแรงมากขึ้นในขณะนี้ ทำให้รู้สึกได้ว่า เพลงบทนี้ เหมือนได้ซ่อนถอดรหัสความห่วงใยเตือนภัยธรรมชาติมานานแล้วว่า ถ้าเราไม่ร่วมมือกันรักษา หายนะจะเกิดขึ้นให้เห็นในรุ่นลูกหลานอย่างแน่นอน

อยากทราบที่มาของบทเพลง ‘สานใจคนรักป่า’ ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ผมเขียนเพลง สานใจคนรักป่า ในช่วงปี 2536 โดยเขียนเนื้อก่อน  จำได้ว่าใช้เวลาช่วงประชุมงานคอนเสิร์ตสานใจคนรักป่า ผมนั่งเขียนเพลงจนจบมี 4 ตอน  ตั้งใจเขียนให้คอนเสิร์ตสานใจคนรักป่า ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีนั้น (2536)  เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักสำนึกหวงแหนต่อดินน้ำป่า ทั้งบนภูเขาและพื้นราบ ผมนึกถึงต้นไม้ใบไม้ใกล้ ๆ ตัว เห็นคุณค่าความสำคัญ  เชื่อมโยงถึงเรื่องใหญ่อื่น ๆ ตอนนั้นเรื่องการตัดป่าสนวัดจันทร์กำลังมาแรง  การต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น  เขื่อนแม่เงา เขื่อนแม่ลาน้อย เขื่อนสาละวิน  ทุกโครงการแรงฤทธิ์ทั้งนั้น  ผมประมวลภาพเหล่านั้น  เอามาซ่อนไว้ในเพลง  ถ้าไม่ช่วยกันวันนี้ หายนะจะตามมาแน่ ๆ ในวันข้างหน้า ก่อนจะสายเกินไป 

จำได้ว่า ผมกลับมาถึงห้องพัก หยิบกีตาร์มาใส่ทำนองทันที  เหมือนทำนองรอท่าอยู่แล้ว  รอเนื้อมายัดใส่ลงไปเท่านั้น เข้ากันได้ดีอย่างแทบไม่ต้องแก้ไข ผมนับคำนับเสียงให้ครบคำครบเสียง พอมาใส่ทำนอง จึงกลืนไปอย่างเร็วมาก แล้วผมก็เอาไปเล่นให้พี่ ให้เพื่อนฟัง  ตอนนั้น ผมยังทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือ เสียงภูเขา  พี่ ๆ เพื่อน ๆ ได้ฟังก็ชอบ  บอกเอาเป็นเพลงของคอนเสิร์ตสานใจคนรักป่าเลย  ผมบันทึกเสียงอยู่ร่วมอัลบั้ม ‘บันทึกคนต้นน้ำ’ กับลีซะ ชูชื่นจิตสกุล ศิลปินปกากะญอ ได้เพื่อนจากเมืองหลวงในใส่โซโล  เพื่อน ๆ ช่วยกันร้อง เอี้ยว (ชัยพร นำประทีป)  กุ้ง (วารุตม์ อุยสุย)  ลีซะ (ลีซะ ชูชื่นจิตสกุล) และผม ใช้ห้องบันทึกเสียง ซีซีไอสตูดิโอ มหาวิทยาลัยพายัพ  เปิดเพลงฟังในงานคอนเสิร์ตครั้งนั้น  มีพลังใจคืนกลับมาเหลือเกิน เพลงเปิดเล่นซ้ำ ๆ ในงานและบนเวที  คอนเสิร์ตสานใจคนรักป่า ดำเนินต่อเนื่องมาอีกครั้งสองครั้ง ในปีต่อ ๆ มา

รู้สึกอย่างไรที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่กำลังรุนแรงในครั้งนี้?  

ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นรุนแรงตอนนี้  ทั้งบ้านเราและทั่วโลก  ไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะ เป็นผลพวงสั่งสมกันมานาน  เราคิดว่าเรื่องที่เราเคยยกมาให้คิด ยกมาให้ห่วงนั้น ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้ว  กระทบถึงตัวจริง ๆ  น้ำป่าไหลรุนแรง เกิดโคลนดิน  ดินถล่ม หน้าแล้งก็ฝุ่นควัน เกิดขึ้นกับเราเรียบร้อยแล้ว เราอยู่ตรงปลายเหตุแล้ว  สายเกินแก้หรือเปล่า ไม่รู้  เรายังใช้ชีวิตกระทำกับผืนดิน แม่น้ำลำธาร ป่า อากาศเหมือนที่เคยทำมามากกว่าอย่างไร้ขีดจำกัดด้วยซ้ำ  สามสิบกว่าปีก่อน ธรรมชาติเริ่มถูกบ่อนเซาะแล้ว เราเห็นแม่น้ำเงาเป็นแอมะซอนน้อยแห่งล้านนาตะวันตก วันนี้เป็นไง ไปดูสิ ไม่อยากพูด เราเขียนถึง  เราร้องเพลงตะโกนออกไป ผมใช้ชีวิตหมดไปกับการเขียนถึงสิ่งเหล่านี้นะ  อยู่ในเพลงก็ด้วย  ปรารถนาของเราแม้ละลายหายไปในอากาศ  ตัวหนังสือเพ่นพ่านอยู่ตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง  เราได้ทำกับมันแล้ว  ทีนี้ผลของความต่อเนื่องที่เราต่างมีส่วนร่วมทำลายล้างทางใดทางหนึ่ง  ก็ย้อนกลับมาหาเราแล้ว  แม้เราจะเถียง เราไม่เห็นด้วย  แต่สิ่งที่เกิดขึ้น มันฟ้องเราอยู่แล้ว

เราต้องกลับมาให้คุณค่ากันใหม่ เห็นมันจริง ๆ มันเป็นไปสุดทางแล้วนั่นหรือ ผมตอบคนเดียวไม่ได้ แต่ผมเชื่อคนเดียวได้ ได้ผลเกิดขึ้นเมื่อไหร่ไม่รู้  โลกไม่ได้อยู่ในมือเราคนเดียว   เมื่อโลกกระโจนสวนทางไปอีกทางเรียบร้อยแล้ว  ทางใหม่ทางนั้นต้องขยายกว้างให้มากที่สุด  เพิ่มจำนวนให้มากที่สุด  ขุดโค่นถางถางด้วยเครื่องมือที่มีความเร็วรอบจัด  กระทำมันเข้าไปในดินน้ำอากาศ  ใครจะมาส่งเสียงปรามห้าม  ใครจะมาหยุดยั้ง  ใครจะส่องปัญญาให้เห็นความจริง ความงามและทำให้คนเชื่อได้  ศรัทธาได้  นาทีนี้ พื้นที่ไหนเกิดความรุนแรงธรรมชาติ  เชื่อเถอะว่า มันไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ

รู้สึกอย่างไร กับบทเพลง สานใจคนรักป่า ผ่านไป 31 ปี เมื่อเราย้อนกลับไปฟังอีกครั้ง มันเหมือนเป็นรหัสความห่วงใยเตือนภัยธรรมชาติว่าหายนะกำลังรุนแรงมากยิ่งขึ้น?

ช่วงเวลาที่เขียนเพลง  จะเห็นชัดเลยว่า ภาคเหนือเต็มไปด้วยโครงการเมกกะโปรเจ็ค ตะบี้ตะบันคิดสร้างใช้งบประมาณชาติ ไม่ว่าจะเป็น กระเช้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว  ป่าสนวัดจันทร์ สวนโลก สวนสัตว์ ถนนสารพัดถนน เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนสาละวิน เขื่อนกั้นแม่น้ำยวม เขื่อนกั้นแม่น้ำเงา ไม้ซุงเถื่อนสาละวิน นิคมโรงงานอุตสาหกรรมลำพูนปล่อยน้ำเสีย ฝนกรดแม่เมาะลำปาง จับคนชนเผ่าดาระอั้งเข้าคุก ไล่คนเผ่าลาหู่ (มูเซอแดง) ที่อพยพมาอยู่ใหม่ ฯลฯ เยอะแยะไปหมดเลย  รายละเอียดในแต่ละอย่างมีเยอะมาก เราไปรับรู้  ตั้งคำถามมันเกิดอะไรขึ้น เราต้องการอะไรจากทรัพยากรในธรรมชาติหรือ  เพลงสานใจคนรักป่า  จึงเกิดขึ้นมาโดยเก็บเอาคลื่นความคิดภายในเหล่านั้น  กลั่นออกมาเป็นถ้อยคำ เป็นเสียงเพลง  เป็นคำมีท่วงทำนอง  ว่าถ้าเราไม่ร่วมมือกันวันนี้  หายนะจะเกิดให้เห็นในรุ่นลูกหลานอย่างแน่นอน  ถ้าเราไม่หวงแหนรักษาให้คงอยู่ไว้หายนะจะรุนแรงแน่ ๆ  

จำได้ว่า ผมร้องเพลงนี้ทุกครั้ง ร้องด้วยอารมณ์สุดเสียงทุกครั้ง  เราเห็นความงามที่มีอยู่  เราเห็นโครงการมหึมาต่าง ๆ  จ้องจะลงทุน จ้องจะกอบโกย  จ้องเอาชาวบ้านไปเป็นพวก ขยายพื้นที่ทำลายล้างกัน  ด้วยค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มค่ากับการอยู่การกินเลย ผมเขียนผมร้องเพลงตะโกนอยู่หลายปีนะ  เราเห็นความงามที่มีอยู่ไง  แล้วเป็นไงล่ะ  37 ปีผ่านไปแล้ว  ผมเขียนเพลงนี้ตอนผมอายุ 29 ปีนะ ตอนนี้ผม 60 ปีแล้ว  ตอนนั้นยังห้าวไฟในใจแรงมาก เหมือนกับเพลงท่อนนี้

…อยากเห็นดอกไม้สวย ๆ เบ่งบาน  เสียงป่าคำรามทุก ๆ วันค่ำ  จะดูโดดเดี่ยว อ่อนไหวคล้าย ๆ ดั่งฝัน  แต่ฝันของฉันมีความหวังเธอเกื้อกูล… อย่างนั้นจริง ๆ นะ …สาน สานใจคนรักป่า  สานดวงตาทุกดวงใจ  ให้ใจเราห่วงใย  ดูแลใบไม้ริมรั้ว  แล้วมองทั่วดูใบไม้ทั้งป่า  เห็นชีวิตพึ่งพาใบไม้…ท้ายสุด ผมเขียนว่า …อย่าล้มใบไม้  ล้มป่าทุกป่า  อย่าพ่นท้องฟ้า  ให้มัวหม่นคล้ำ  อย่ากั้นสายน้ำ  ลบชื่อแม่น้ำบาปกรรม  ลูกหลานจะร้อง พ่อสุขสำราญลูกหลานรับกรรม…

คุณคิดว่าเหตุการณ์วิกฤตสิ่งแวดล้อม ภัยแล้ง ไฟป่าหมอกควัน น้ำท่วม น้ำหลาก ดินถล่มรุนแรง ในเวลานี้ ปัญหาหลัก ๆ มันเกิดจากอะไร?

เรื่องใหญ่มาก เรื่องเล็กมาก ใช่ทั้งนั้นนะ  เรื่องใหญ่ที่เราไม่มีแผนงานที่ดูแลธรรมชาติสิ่งแวดล้อมจริง ๆ อย่างต่อเนื่องแบบเห็นในคุณค่าจริง ๆ  ปล่อยปละละเลย  ไม่กระทำหรือกระทำในระดับปฏิบัติการอย่างขาดความเข้าใจ  ขาดภูมิปัญญาท้องถิ่นมาหลอมรวม  เห็นแต่ประโยชน์จะเพิ่มรายได้เพิ่มราคา  ไม่เห็นความงามโดยรวม  งานฟื้นฟูธรรมชาติ ผมว่าต้องใช้ศิลปะศิลปินร่วมด้วยนะ  จะตะบี้ตะวันใช้วิชาการที่ไม่มีความจริงในพื้นที่รองรับไม่ได้  ต้องร่วมงานกับคนในพื้นที่ได้จริง  คนในพื้นที่ก็ต้องตระหนักด้วย  ให้เป้าหมายเป็นความสุข  ไม่ใช่เพิ่มจำนวน เพิ่มราคา เพิ่มความเครียดให้ชีวิต  เพิ่มรายได้ให้ใครไม่รู้ กอบโกยเอาไปอย่างไม่สิ้นสุด  แผนงานพัฒนาที่ไม่ทำร้ายทำลายธรรมชาติมีด้วยหรือ  เรื่องเล็กมากหากเริ่มที่เราเอง  ตัวเรานั่นแหละ พูดกันยาวนะ สำนึกรับผิดชอบต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม  ต้องเป็นนิสัยในคนเลยนะ  ทำได้หรือ? ปัญหาที่ว่าใหญ่มาก บางเรื่องพื้นที่เพื่อนบ้านเข้าผสมด้วย ฝุ่นควันข้ามพรมแดน  น้ำก็ไหลเนื่องมาจากแผ่นดินอื่น  เรื่องใหญ่ก็ต้องมีสำนึกที่ใหญ่ด้วย

มองเห็นทางออกของวิกฤติในครั้งนี้อย่างไรบ้าง  เราจะมีส่วนช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง?

ผมไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้าหน้าที่รับผิดชอบนะ  ไม่ใช่ฝ่ายศรัทธาให้ใครด้วย  ผมแค่เป็นนักเขียนที่ไม่มีพื้นที่ให้เขียนแล้ว  เคยเขียนเพลงเรียกร้องต่าง ๆ นานานานหลายปี  ทั้งงานเขียนงานเพลง  เราทำด้วยความรัก ความศรัทธา อยากนำเสนอความจริง ความงาม ความดีงามให้คนรับรู้  กระตุ้นเตือน เป็นแรงบันดาลใจให้คนได้ตระหนัก  กลับมาเริ่มที่ตัวเอง  อย่างน้อย เริ่มที่ความสุขจะเกิดกับตัวเองก่อน  จึงส่งผ่านไปให้คนอื่นด้วย  เพลงหรือตัวหนังสือ เป็นงานศิลปะ  ยังพยุงใจ หนุนใจ กำลังใจ สร้างความสะเทือนใจ หวังในผลอันดีงามที่จะเกิดขึ้นนะ  เราทำมาแล้ว คิดแล้ว ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา  เราได้ร่วมได้ทำแล้วนะ  แม้แค่เฟืองเล็ก ๆ หนุนเร็วจี๋ก็ตาม แต่เมื่อเป็นวิกฤติตามมา  นั่นคือผลในสิ่งที่เรามองเห็นมาก่อน  ชะตากรรมนานาที่เกิดขึ้น  ล้วนเป็นผลพวงต่อเนื่องกันมา  ไม่ได้จู่ ๆ เกิดขึ้นมาแต่เมื่อไหร่  จะฝุ่นควัน น้ำท่วม ดินถล่ม  มีที่มาจากมือเราต่างมีส่วนทำลายกันทั้งนั้นนะ  ทางตรงหรือทางอ้อมก็แล้วแต่  สำคัญว่าสิ่งที่เหลืออยู่ ยังดีอยู่  อย่าให้ดีกว่านั้นเลย  ไม่มีหรอก  ประคองสิ่งที่มีอยู่ดีอยู่แล้ว  ให้คงอยู่นาน ๆ ถึงลูกถึงหลาน ถึงคนรุ่นต่อไปได้มีโอกาสสัมผัสด้วย  นั่นคือเราต้องมีสำนึกรับผิดชอบรวมหมู่ สร้างทำอย่างไม่ทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม  เรายังคิดกันอยู่หรือไม่นะ

กรีนพีชเปิดแคมเปญ ‘ฮักภาคเหนือบ่เอาถ่านหิน’ ถึงเวลา ‘SCG’ ต้องปลดระวางถ่านหินและเคารพสิทธิมนุษยชน

เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา

ภาพ: วิศรุต แสนคำ

18 กันยายน 2567 เวลา 16.30 – 20.00 น. กรีนพีซ ประเทศไทย จัดกิจกรรม ‘ฮักภาคเหนือ บ่เอาถ่านหิน’ ณ ลานประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรณรงค์และสื่อสารถึงผลกระทบของโครงการเหมืองถ่านหินที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรียกร้องให้บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG หยุดแผนการรับซื้อถ่านหินจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และยุติโครงการเหมืองถ่านหินที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปางเพื่อเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการที่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเอกชนในประเทศไทยต้องเริ่มปลดระวางการใช้ถ่านหิน  ซึ่งถือเป็นแหล่งพลังงานที่ล้าสมัยและส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม การคงเดินหน้ากับการใช้ถ่านหินและการขยายโครงการเหมืองถ่านหินในภาคเหนือจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อชุมชนในพื้นที่ พร้อมสื่อสารต่อสาธารณะและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข 

ภายในงานมีการจัดกิจกรรมที่เน้นสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้พลังงานถ่านหิน อาทิ Performance Arts และกิจกรรมฮ้องขวัญ (สู่ขวัญ) โดยมีมาสคอต ‘น้องฟาดฝุ่น’ ช้างเผือกที่เคยสวยงาม แต่กำลังปนเปื้อนถูกทำลายจากโครงการเหมืองถ่านหิน นอกจากนี้ยังมีเสวนาในหัวข้อ ‘ถ้าฮักบ้านเฮา : ต้องเริ่มปลดระวางถ่านหินและเคารพสิทธิมนุษยชน’ ที่มุ่งเน้นการรับรู้ถึงผลกระทบจากถ่านหินและการดำเนินงานของธุรกิจที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGP) เพื่อปกป้อง เคารพ และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในหลายมิติ ดำเนินรายการโดย พชร คำชำนาญ จากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move)

ถ้าฮักบ้านเฮา : ต้องเริ่มปลดระวางถ่านหินและเคารพสิทธิมนุษยชน

เสวนาเริ่มต้นที่ มะลิวรรณ นาควิโรจน์ นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม และตัวแทนจากพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจาก ‘โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน’ ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง หนึ่งในพื้นที่ที่มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่

มะลิวรรณ นาควิโรจน์

มะลิวรรณ เล่าถึงประสบการณ์การอาศัยอยู่ห่างจากเหมืองถ่านหินเพียง 300 เมตร ด้วยการขยายตัวของเหมือง ทำให้มะลิวรรณและชุมชนต้องเผชิญกับปัญหาผระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง ฝุ่นจากการขุดเหมืองเข้ามาปกคลุมภายในหมู่บ้าน ซึมลึกเข้าไปถึงห้องครัว ห้องนอน หรือแม้กระทั่งจานอาหาร การเปิดหน้าดินเพื่อหาถ่านหินไม่เพียงสร้างฝุ่น แต่ยังปล่อยกลิ่นเหม็นจากการสันดาปของถ่านหิน และเสียงดังจากเครื่องจักรที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง รวมไปถึงแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดเหมืองที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างบ้านเรือน ทำให้บ้านเรือนสั่นสะเทือนและแตกร้าว อันนี้คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม

ด้านสุขภาพ มะลิวรรณระบุว่า ชาวบ้านในแม่เมาะต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งในบางช่วงทำให้ชาวบ้านทั้งอำเภอเจ็บป่วย มลภาวะจากการเผาไหม้ถ่านหินทำให้เกิดภาวะอากาศกด ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จนเกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ แต่กลับต้องใช้เวลามากกว่า 20 ปีในการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ว่า การเจ็บป่วยนั้นมาจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจริง ๆ

ด้านความล้มเหลวในการเยียวยาและปัญหาสิทธิในที่ดิน แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่และจัดหาที่ดินใหม่ให้ แต่จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านยังไม่ได้รับโฉนดที่ดินตามสัญญา ทั้ง ๆ ที่ต้องละทิ้งบ้านเกิดและวิถีชีวิตดั้งเดิม สิ่งนี้สะท้อนถึงการขาดความรับผิดชอบและการละเลยปัญหาของรัฐ ทั้งในด้านการเยียวยาผลกระทบทางสุขภาพและการจัดหาที่ดินอย่างเป็นธรรม

มะลิวรรณเน้นย้ำว่า การใช้พลังงานถ่านหินทำให้ผู้ประกอบการและกลุ่มทุนได้ประโยชน์ แต่ชาวบ้านรอบเหมืองและโรงไฟฟ้ากลับต้องเสียสละชีวิตและสุขภาพไปโดยไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม แม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่า ชาวบ้านเป็น ‘คนกลุ่มน้อย’ ที่ต้องเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่คำถามสำคัญคือ “ในเมื่อมองว่าเราเป็นคนกลุ่มน้อย ในเมื่อมองว่าเราจะต้องเป็นผู้เสียสละให้คนส่วนใหญ่ แล้วเหตุไฉนถึงรังแกคนกลุ่มน้อยอย่างเรา แล้วเหตุไฉนถึงปล่อยให้คนกลุ่มน้อยอย่างเราต้องออกมาเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะจริงใจแก้ปัญหาให้กลุ่มน้อยอย่างเรา ทั้ง ๆ ที่มันเป็นนโยบายของรัฐบาล มันเป็นธรรมอย่างไรที่ให้เรามาเป็นเหยื่อ เป็นเหยื่อด้วยการใช้คำว่า ‘ชนกลุ่มน้อย’ ถ้าถ่านหินต้นทุนถูก ทำไมชนกลุ่มน้อยอย่างเราถึงไม่ได้ถูกละเว้นเรื่องการเก็บค่าไฟ ทำไมคนกลุ่มน้อยอย่างเราต้องเสียค่าไฟเทียบเท่ากับคนกลุ่มใหญ่ที่ได้รับประโยชน์เล่า” มลิวรรณกล่าว

มะลิวรรณปิดท้ายด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจยุติการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน เนื่องจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน โดยชี้ให้เห็นว่า คนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลกระทบควรได้รับการดูแลและเยียวยา ไม่ใช่ถูกละเลยในนามของ ‘การเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่’

ถัดมาที่ สนอง อุ่นเรือง นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและตัวแทนจากพื้นที่แม่ทะ ซึ่งได้เล่าถึงประสบการณ์ที่เคยอาศัยอยู่ที่แม่เมาะ ก่อนย้ายมาที่อำเภอแม่ทะเนื่องจากผลกระทบจากเหมืองถ่านหินที่แม่เมาะ แต่กลับพบว่าที่แม่ทะกำลังเผชิญกับสถานการณ์คล้ายกัน สนองเน้นถึงความสำคัญของการปกป้องชุมชนและทรัพยากรในพื้นที่แม่ทะ ซึ่งมี

ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ดอยพระฌานและดอยม่อนธาตุ ที่เป็นพื้นที่ ‘unseen’ ของประเทศไทย

สนอง อุ่นเรือง

ที่ผ่านมา ชุมชนบ้านกิ่วและบ้านบอม ในอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปางได้รับงบประมาณเพื่อมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน หากอำเภอแม่ทะมีโครงการเหมืองถ่านหินเกิดขึ้นในพื้นที่ ชุมชนมีความกังวลเป็นอย่างมากถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

สนองอธิบายถึงผลกระทบจากเหมืองถ่านหิน ทั้งการทำลายแหล่งน้ำที่ชุมชนใช้ทำการเกษตร และการสร้างมลภาวะ เช่น ฝุ่นและคลื่นสั่นสะเทือนจากการระเบิดหน้าดิน ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งปลูกสร้างและแหล่งท่องเที่ยว สนองยังกล่าวถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนที่ถูกคุกคามจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหิน โดยวิถีการเก็บเห็ด ผักหวาน และไข่มดแดง รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ที่อาจต้องสูญหายไป

สนองทิ้งท้ายว่า ผลกระทบเหล่านี้ไม่เพียงกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสังคมและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว การค้า และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ธนกฤต โต้งฟ้า ตัวแทนจาก R2S ซึ่งสื่อสารเกี่ยวกับประเด็นสิทธิชนเผ่ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธนกฤตเล่าถึงประสบการณ์ของตนเองที่เกิดในหมู่บ้านคลิตี้ (ล่าง) จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งถูกละเมิดสิทธิจากการทำเหมืองแร่ตะกั่ว ได้รับผลกระทบจากการที่สารตะกั่วได้ปนเปื้อนลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นประหนึ่ง ‘ลำห้วยแห่งชีวิตเพียงสายเดียวที่หล่อเลี้ยงชุมชน’ ทำให้ธนกฤตและชุมชนเผชิญกับปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เกิด 

ธนกฤต โต้งฟ้า

ธนกฤตเล่าถึงเรื่องราวการต่อสู้ของชุมชนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งชุมชนฟ้องร้องและชนะคดีในศาล แต่ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูและเยียวยาอย่างเต็มที่และจริงจัง สิ่งที่เกิดขึ้นยังคงเป็นปัญหาสำหรับชุมชน นอกจากนี้ การฟื้นฟูที่ดำเนินการอยู่กลับใช้เงินภาษีของประชาชนแทนที่จะเป็นความรับผิดชอบของบริษัทผู้ก่อมลพิษ

ธนกฤต ได้นำเสนอกรณีนี้เพื่อสะท้อนถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง โดยย้ำว่าปัญหาดังกล่าวมีอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการทำเหมืองแร่ในภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เปราะบาง และมีทรัพยากรธรรมชาติสำคัญในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการต่อสู้กับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า การละเมิดสิทธิชนเผ่า และการกล่าวโทษชนเผ่าว่าทำลายป่า โดยเน้นประเด็นที่รัฐและกลุ่มทุนละเลยสิทธิและส่วนร่วมของชุมชนในการตัดสินใจเกี่ยวกับทรัพยากรและอนาคตของพวกเขา

ทั้งนี้ ธนกฤตยังได้กล่าวถึงหลักการหลักการชี้แนะของสหประชาชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) ที่รัฐไทยรับรองว่าจะนำไปปฏิบัติ ซึ่งเน้นให้รัฐมีหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน ภาคธุรกิจต้องเคารพสิทธิ และประชาชนมีสิทธิเข้าถึงกลไกเยียวยา แต่ยังมีข้อท้าทายในการบังคับใช้และความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ อาทิ แผน NAP ที่ออกมานั้นยังไม่ได้รับการบังคับใช้อย่างจริงจัง ทำให้ธุรกิจเอกชนยังคงละเมิดสิทธิประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ในประเด็นของ สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายผู้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองถ่านหินที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา สุมิตรชัยได้พบกับปัญหามากมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA)  ในประเทศไทย

สุมิตรชัย หัตถสาร

สุมิตรชัยระบุว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ภาระในการพิสูจน์ผลกระทบตกอยู่ที่ประชาชน ซึ่งต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากมาย ในกรณีของอมก๋อย ทีมของเขาพบว่ารายงาน EIA มีปัญหาหลายประการ ทั้งในเรื่องของ กระบวนการมีส่วนร่วมที่ไม่โปร่งใส รายชื่อชาวบ้านที่ปรากฏในรายงาน EIA ไม่ถูกต้อง มีการปลอมแปลงลายมือชื่อและลายนิ้วมือ ชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการเหมือง และบางครั้งถูกเรียกมาเพื่อแจกของโดยไม่ได้อธิบายถึงผลกระทบของเหมือง หรือ ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยรายงาน EIA ระบุว่าพื้นที่ที่จะทำเหมืองเป็นป่าเสื่อมโทรม ทั้งที่จริงเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งทำกินของชาวบ้าน

สุมิตรชัยและทีมงานใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลและหลักฐานเพื่อนำมาโต้แย้งรายงาน EIA ที่มีข้อบกพร่อง นำไปสู่การฟ้องคดีในปี 2565 โดยชี้ให้เห็นถึงความไม่ถูกต้องและการละเมิดสิทธิของชุมชน สุมิตรชัยชี้ให้เห็นว่ากระบวนการทำ EIA ในประเทศไทยมีปัญหา เนื่องจากผู้ประกอบการเป็นผู้จ้างที่ปรึกษามาทำรายงานเอง โดยสถิติล่าสุดระบุว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ไม่มีรายงาน EIA ฉบับใดที่ไม่ผ่านการอนุมัติ เวลาในการพิจารณารายงานก็จำกัดเพียง 45 วันเท่านั้น ทำให้การตรวจสอบอย่างละเอียดเป็นไปได้ยาก

การทำ EIA ควรเป็นเครื่องมือในการประเมินความเหมาะสมของโครงการ โดยพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน หากผลกระทบมีมากเกินไป โครงการควรถูกยับยั้ง อย่างไรก็ตาม กระบวนการในปัจจุบันกลับไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลที่อาจขาดความเข้าใจในภาษาและข้อมูลที่ซับซ้อน ทั้งนี้ ในรายงาน EIA ของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ระบุว่า ถ่านหินที่ขุดขึ้นมาจะถูกส่งไปยังโรงงานของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ที่จังหวัดลำปาง สุมิตรชัยและชุมชนจึงได้ตั้งคำถามต่อ SCG ว่าจะรับซื้อถ่านหินจากโครงการที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิชุมชนหรือไม่

สุมิตรชัยเน้นย้ำว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ การมีโครงการเหมืองแร่ในพื้นที่เหล่านี้ขัดแย้งกับหลักการรักษาสิ่งแวดล้อมและอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งภูมิภาค จึงเรียกร้องให้รัฐและประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับการปกป้องป่าต้นน้ำและสิทธิของชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น

เจษฎา กล่อมลีลา เยาวชนจากหมู่บ้านกะเหรี่ยงสะกออำเภออมก๋อย ศิลปินที่ทำเพลงเกี่ยวกับการคัดค้านเหมืองแร่ เล่าถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่พึ่งพาป่าเพื่อการดำรงชีพ ทำเกษตรและใช้น้ำจากธรรมชาติ หากมีเหมืองแร่เกิดขึ้น มันจะกระทบต่อสิ่งเหล่านี้อย่างรุนแรง เจษฎาจึงลุกขึ้นมาต่อสู้และใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการทำเหมือง

เจษฎา กล่อมลีลา

ใช่ ฉันอยู่กับป่า กินกับป่า ฉันทำมาหากิน ใช่ ฉันเป็นคนป่า คนดอย ป่าคือชีวิน ใช่ ฉันมีหัวใจ แต่คนบางกลุ่มมองฉันแค่เศษดิน ฉันจึงลุกขึ้นสู้ให้คนได้รู้ แต่เหมือนเขาไม่ได้ยิน ฉันถูกเผาบ้าน ถูกทำลายแหล่งทำมาหากิน ไล่ให้ฉันห่าง ข่มเหง น้ำตาไหลริน โลกมันโหดร้าย หรือว่าหัวใจคนที่มือทมิฬ ฉันตะโกนเท่าไหร่ ทำไมพวกเขาทำเหมือนว่าไม่ได้ยิน

ในบทเพลงของเจษฎาได้สะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวดของชนเผ่าพื้นเมืองที่ถูกมองว่าเป็นผู้ทำลายป่าและถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม เขาตั้งคำถามถึงความโหดร้ายของสังคมที่ไม่รับฟังเสียงเรียกร้องของชนเผ่า ในขณะที่รัฐและกลุ่มทุนกลับใช้อำนาจทำลายทรัพยากรป่าที่เป็นชีวิตของพวกเขา

เจษฎาทิ้งท้ายว่า จริง ๆ แล้วชนเผ่าพื้นเมืองรักษาป่ายิ่งกว่าคนอื่น เพราะป่าเป็นแหล่งทำมาหากินและดำรงชีพตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เจษฎาไม่อยากให้คนในสังคมมองว่าชนเผ่าพื้นเมืองเป็นผู้ทำลาย แต่กลับเป็นผู้ที่รักษาและพึ่งพิงป่ามาโดยตลอด

ชนกนันทน์ นันตะวัน กลุ่มสมดุลเชียงใหม่ ได้แชร์มุมมองเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อจัดการปัญหานี้ ชนกนันทน์กล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากหลายสาเหตุ รวมถึงการทำเหมืองแร่ โดยแสดงความกังวลว่า ชาติพันธุ์บนดอยมักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อมลพิษ ขณะที่ผู้ก่อมลพิษจริงๆ มักไม่ต้องรับผิดชอบ

ชนกนันทน์ นันตะวัน

ชนกนันทน์ชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยสิ่งที่ห่วงคือ การที่ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมักจะมาถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบทีหลัง ทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสในการปกป้องสิทธิของตนอย่างมีประสิทธิภาพ

ในประเด็นฝุ่น PM2.5 และการทำเหมืองถ่านหิน ชนกนันทน์อธิบายว่า แม้จะมีการพูดถึงปัญหานี้มาเป็นเวลานาน แต่การปล่อยมลพิษจากการทำเหมืองถ่านหินและอุตสาหกรรมยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ ชนกนันทน์ได้เน้นถึงความไม่เป็นธรรมในโครงสร้างการจัดการสิ่งแวดล้อมและกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและนโยบายของรัฐ โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบมักไม่มีโอกาสในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและปกป้องสิทธิของตน

สุดท้าย ชนกนันทน์เรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น รวมถึงการทำให้กฎหมายเกี่ยวกับอากาศสะอาดมีความสำคัญต่อสิทธิของชุมชนและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

พีรณัฐ วัฒนเสน นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาที่ภาคเอกชนหลายแห่งที่ยังคงใช้ถ่านหิน แม้ว่าจะมีพลังงานทดแทนที่สะอาดกว่าให้เลือกใช้แล้ว

พีรณัฐ วัฒนเสน

พีรณัฐยกตัวอย่างบริษัท SCG ที่ยังคงมีการใช้ถ่านหิน โดยเล่าถึงการรณรงค์ของกรีนพีซที่ส่งจดหมายถึง SCG ให้หยุดทำเหมืองถ่านหินในพื้นที่แม่ทะและไม่รับซื้อถ่านหินจากโครงการเหมืองถ่านหินในอำเภออมก๋อย เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้น พื้นที่เหมืองเหล่านี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากชาวบ้าน และบริษัท SCG มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ถ่านหินในสองพื้นที่สำคัญคือแม่ทะและอมก๋อย

การที่ SCG ได้รับรางวัลบริษัทต้นแบบด้านความยั่งยืนและสิทธิมนุษยชน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่บ่งบอกให้บริษัทฯต้องมีความรับผิดรับชอบต่อสังคม SCG ต้องประกาศแผนปลดระวางถ่านหินต่อสาธารณะชนโดยทันที และจะต้องไม่ดำเนินการโครงการเหมืองถ่านหินที่อาจจะละเมิดต่อสิทธิที่ดิน ชุมชน สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนอีก หาก SCG ยังคงเดินหน้าในโครงการเหมืองถ่านหิน รางวัลทั้งหมดที่ได้รับมาถือเป็นเพียงการฟอกเขียวเท่านั้น” พีรณัฐ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้สามารถร่วมลงชื่อเพื่อหยุดโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ จังหวัดลำปาง และโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ให้เกิดขึ้นอีกกับ #น้องฟาดฝุ่น ที่จะเป็นผู้พิทักษ์ไม่ให้เกิดโครงการเหมืองถ่านหินทั้งสองแห่งในภาคเหนือ เพื่อนำข้อเรียกร้องไปมอบให้ต่อ SCG ได้ที่ https://act.gp/coal-scg

สืบสกุล กิจนุกร เปลี่ยนวิธีคิด ก้าวข้ามกับดักเขตแดนรัฐชาติและกระจายอำนาจ ปัญหา #น้ำท่วมเชียงราย

เรื่อง: ปุณญาพร รักเจริญ

ถึงแม้สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดเชียงรายที่ผ่านมาขณะนี้ได้คลี่คลายลงอย่างต่อเนื่อง ประชาชนและอาสาสมัครเร่งทำความสะอาดฟื้นฟูเมืองหลังน้ำลด ถือได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี และได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่ประชาชนทั้งร่างกายและทรัพย์สิน

เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM รายงานว่า จังหวัดเชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ทั้งหมด 2 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย และ อ.เมืองเชียงราย รวมทั้งหมด 7 ตำบล 43 หมู่บ้าน โดยมีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 8,968 ครัวเรือน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 14 ราย ได้รับบาดเจ็บ 2 คน 

หากมาดูที่งบประมาณสำหรับการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในปี 2567 ที่มีจำนวน 533.84 ล้านบาท โดยจังหวัดเชียงรายได้รับงบประมาณ 58.55 ล้านบาท และมีโครงการทั้งหมด 50 โครงการ ซึ่งโครงการส่วนใหญ่นั้นเน้นการก่อสร้างฝาย และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพน้ำ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ 38 โครงการ (11.74 ล้านบาท) โครงการก่อสร้างฝายน้ำล้น 4 โครงการ (2.00 ล้านบาท) โครงการขุดลอก 3 โครงการ (8.79 ล้านบาท) โครงการก่อสร้างและวางท่อระบายน้ำ 2 โครงการ (4.76 ล้านบาท) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ 2 โครงการ (25 ล้านบาท) และโครงการปรับปรุงตลิ่งลำน้ำแม่ห่าง 1 โครงการ (6.27 ล้านบาท)

สัมภาษณ์ สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ถึงสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่อำเภอแม่สายและอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยใจความสำคัญคือการเผยให้เห็นถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำท่วมของหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐ โดยเฉพาะบทบาทของภาคประชาสังคมที่มีรูปแบบการดำเนินงานที่รวดเร็วและยืดหยุ่นภายใต้รัฐรวมศูนย์แบบไทย อีกทั้งชวนปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่มีต่อแม่น้ำและชีวิตของน้ำท่วม รวมทั้งข้อเสนอต่อการกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่นในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาน้ำได้ด้วยตนเองมากขึ้น

น้ำท่วมกับความไม่รู้และกับดักเขตแดนรัฐชาติ (Unknown watershed: Nation-State territorial trap)

ในฐานะนักสังคมศาสตร์สืบสกุลมองว่าน้ำท่วมในครั้งนี้เป็น Unknown Watershed หรือ แหล่งน้ำที่ไม่ทราบที่มา กล่าวคือทั้งรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และประชาชนทั่วไปนั้นรู้เพียงจุดสิ้นสุดของแม่น้ำสายและแม่น้ำกกแต่ไม่รู้ถึงต้นน้ำว่ามาจากที่ไหน จึงทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณน้ำและปริมาณฝนตกสะสมได้และมารู้ในภายหลังหลังจากที่น้ำได้ท่วมไปแล้วจากข้อมูลแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์

“ถามว่าทำไมเราไม่รู้ เราไม่มีนักวิชาการที่เก่งหรือเปล่า? เทคโนโลยีเราไม่มีหรือเปล่า? ซึ่งคำตอบคือไม่ใช่  แต่เพราะว่าทั้งนักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย แม้กระทั่งประชาชนทั้งหมดตกอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า Nation state (รัฐชาติ) กับดักทางความคิดที่ยึดติดกับเส้นเขตแดนของรัฐชาติซึ่งวิธีคิดแบบนี้มันเป็นตัวกำหนดมุมมองการศึกษาและแผนนโยบายการจัดการน้ำท่วม-ไฟป่าบนพื้นฐานของขอบเขตประเทศรัฐชาติ”

และเมื่อเรามองไม่เห็นว่าต้นน้ำมีปริมาณน้ำเท่าไหร่หรือมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอย่างไร รวมทั้งการทำเหมืองทอง, เหมืองถ่านหินที่ต้นน้ำกก การปลูกข้าวโพดบนภูเขาในเขตรัฐฉานซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำกกและแม่น้ำสายทำให้ป่าไม่เหลือต้นไม้ไว้คอยซับน้ำ สุดท้ายแล้วทำให้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่หลากไหลมายังพื้นที่ของเราไม่ได้ซึ่งจะรู้ก็ต่อเมื่อน้ำท่วมมาถึงบริเวณหัวฝายซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำสายไหลผ่านอีกทั้งเป็นที่ตั้งชุมชนบริเวณท่าขี้เหล็กซึ่งเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างไทยกับเมียนมา  เพราะมีจุดวัดน้ำและมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคอยให้สัญญาณเตือนอยู่ แต่ถึงแม้จะมีจุดวัดน้ำก็สายไปเสียแล้วสุดท้ายน้ำก็ท่วมทั้งท่าขี้เหล็กของเมียนมาและอำเภอแม่สายของประเทศไทย ซึ่งยังไม่นับรวมว่าแม่น้ำกกมีจุดวัดน้ำกี่แห่ง หน่วยงานไหนรับผิดชอบและใครต้องเป็นฝ่ายมาเตือนภัย

“เมื่อตกอยู่ในกับดักทางความคิดเบนส้นเขตแดนของรัฐชาติแล้ว เลยทำให้เราไม่ได้ศึกษาที่นอกเหนือไปจากเส้นเขตแดน นโยบายของเราก็จะบอกแค่ว่าเพราะอำนาจอธิปไตยอำนาจรัฐสิ้นสุดแค่เส้นเขตแดนเราก็เลยไม่ทำ แต่เมื่อเทียบกับแม่น้ำอิงเรารู้หมดเลยว่าต้นน้ำอยู่ที่ไหนเพราะมันอยู่ในขอบเขตรัฐ  เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาเรื่องวิธีคิดและมุมมองที่ใหญ่สำหรับผม”

ปรับเปลี่ยนมุมมองทางความคิดเพราะแม่น้ำมีพรมแดนทางชีวกายภาพเป็นของตนเอง (River as biophysical boundary)

สืบสกุลมองว่าประเทศไทยต้องมีการปรับมุมมองทางความคิดเสียใหม่เพราะแม่น้ำเป็นพรมแดนที่สร้าง ขยาย และ ทำลายได้ด้วยตนเอง โดยทิศทางการไหลของน้ำไม่ได้สนใจถึงเขตแดนของประเทศใดประเทศหนึ่งหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เช่น พรมแดนของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง, ไต, คนเหนือ, พื้นที่ตลาดสายลมจอย, ตัวเมืองเชียงราย และ พื้นที่เศรษฐกิจเนื่องจากทิศทางการไหลของน้ำมีพรมแดน ดังนั้นการบริหารจัดการแม่น้ำ หรือ น้ำท่วม จึงไม่สามารถยึดตามเส้นเขตแดนประเทศและเส้นเขตปกครองได้

ศึกษาน้ำท่วมและเรียนรู้ชีวิตของน้ำท่วม (Floods as loving thing: flow, flash, and fierce) สืบสกุลเล่าย้อนถึงประวัติศาสตร์ของเมืองล้านนาที่อยู่คู่กับแม่น้ำและภูเขามายาวนานและจะเห็นว่ามีการสร้างเมือง, ตั้งบ้านเรือนและชุมชนที่ประกอบอาชีพอยู่คู่กับแม่น้ำมาโดยตลอด ซึ่งหากเข้าใจถึงพรมแดนของแม่น้ำแล้วจะพบว่าเราต้องเรียนรู้ชีวิตของน้ำท่วมเพื่อเข้าใจว่าจะอยู่ร่วมกับน้ำท่วมได้อย่างไรจึงต้องมองให้ลึกลงไปและเรียนรู้ถึงชีวิตของสายน้ำและการเดินทางของน้ำท่วม ถึงแม้ครั้งนี้จะเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปีแต่หากย้อนไปในประวัติศาสตร์แล้วอำเภอแม่สายและอำเภอเทิงก็เคยน้ำท่วมมาก่อน ซึ่งมันอาจจะเว้นระยะห่างเป็นหนึ่งช่วงอายุคนแต่หากมองเห็นถึงชีวิตของน้ำท่วมเป็นอย่างไรแล้วเพื่อที่เราจะได้เข้าใจว่าเราจะอยู่กับน้ำท่วมอย่างไร

การอยู่ร่วมกับน้ำท่วมได้โดยการคาดการณ์และมีความยืดหยุ่น (Living with floods: forecast and flexibility)

ในประเด็นนี้ไม่ใช่เพียงการบริหารจัดการเท่านั้นแต่ยังเป็นเรื่องของวิธีคิดและมุมมองที่มีต่อน้ำท่วม สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่คือที่ผ่านมาเราไม่ยืดหยุ่นและเราคิดว่าน้ำท่วมเป็นสิ่งแปลกและไม่อยากให้เกิดขึ้น

สืบสกุลได้ยกตัวอย่างถึงน้ำท่วมบริเวณหน้าศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติว่า น้ำท่วมได้ขยายพรมแดนไปทุกที่อย่างรวดเร็วที่ไหล-หลาก-ล้นไปตามท่อระบายน้ำ  ซึ่งน้ำจะเพิ่มขึ้นจะเวลาไหนเราไม่สามารถรู้ได้แต่ถ้าหากสามารถคาดการณ์สถานการณ์ได้ก็จะรู้ทิศทางการไหลของน้ำและประเมินความเสียหายได้

ท้องถิ่น-ประชาชน การจัดการน้ำท่วมแบบยืดหยุ่นและรวดเร็ว ตอกย้ำปัญหาการจัดการแบบแข็งตัวจากรัฐส่วนกลาง (Fast and Flexible organization in disaster management: decentralization  local government, civil society and social media)

“สิ่งที่เราเห็นคือการให้ความช่วยเหลือที่มัน FLow ไปพร้อมกับกระเเสน้ำและความเดือดร้อนกับผู้คนเพราะเรามีองค์กรที่ Fast เเละ Flexibility มี อปท. มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง มีหน่วยกู้ภัยฯ ที่มีประสบการณ์และมีแผนกการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยตรง”

สืบสกุลกล่าวถึงรูปแบบการจัดองค์กรที่รวดเร็วในสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงรายในครั้งนี้และทำงานอย่างรวดเร็วของทั้ง 3 องค์กร ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคประชาสังคม โซเชียลมีเดีย โดยยกตัวอย่างเสริมถึงกรณีประกาศเตือนว่า มวลน้ำจะถึงและท่วมในตัวเมืองเชียงรายในอีก 6 ชม. ที่มาจากมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติซึ่งไม่ใช่การเตือนที่มาจากหน่วยงานราชการ จากนั้นโซเชียลมีเดีย หรือ สื่อออนไลน์ต่าง ๆ ก็นำมาเผยแพร่ผ่านการไลฟ์สดและคลิปวิดีโอซึ่งสามารถเกาะติดสถานการณ์ได้ทันที (real-time) บทบาทของภาคประชาสังคม เช่น หน่วยกู้ภัยฯ, มูลนิธิกระจกเงาที่มีอาสาสมัครล้างบ้าน มีข้าว,น้ำแจกประชาชนที่เดือดร้อนได้ทันที ถัดมาคือการทำงานที่รวดเร็วขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่น เทศบาลนครเชียงรายที่มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงและหน่วยปฏิบัติการ ดังนั้นเมื่อมีสถานที่และมีอุปกรณ์ที่พร้อมประชาชนก็จะรับรู้และรับมือกับสถานการณ์ได้ แต่ในขณะเดียวกันการจัดองค์กรแบบราชการ เช่น การรายงานของกรมประชาสัมพันธ์ที่เป็นเพียงแค่กระจายข่าวที่ไม่อัปเดตและไม่เท่าทันสถานการณ์ อีกทั้งมีระเบียบกฎหมายเข้ามากำกับซ้ำไปมาต้องไปสำรวจความเสียหายเสียก่อนและรอยืนยันว่าประชาชนเดือดร้อนจริงจึงจะให้ความช่วยเหลือ

การจัดองค์กรที่ตายตัวไม่ตอบโจทย์กับสถานการณ์น้ำท่วมที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา (Fixed and Fast Bureaucratics Organization in Water and Disaster Governance)

ทั้งนี้สืบสกุลยังระบุอีกว่า ระบบราชการไทยเป็นปัญหาใหญ่ในการบริหารจัดการน้ำท่วมที่ต้องอาศัยความยืดหยุ่น เนื่องจากขณะนี้เราพยายามจัดการน้ำท่วมซึ่งมันเป็นไปไม่ได้หากยังเป็นระบบราชการแบบรัฐรวมศูนย์อยู่ เพราะถึงน้ำไม่ท่วมทุกปีแต่ในท้ายที่สุดแล้วก็จะท่วมอยู่ดีเพราะน้ำมีพรมแดนน้ำท่วมมีชีวิต ดังนั้นหากต้องการจัดการปัญหาและอยู่กับน้ำต้องเริ่มที่การจัดรูปแบบขององค์กรภาครัฐ การออกแผนนโยบายบริหารน้ำท่วม  แผนการฟื้นฟูเยียวยาที่ต้องมีความยืดหยุ่น สืบสกุลชี้ให้เห็นถึงความทับซ้อนในการทำงานขององค์กรราชการตั้งแต่หน่วยงานภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย พรรคการเมืองรวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

“คนตั้งคำถามว่าระบบเตือนภัยว่าทำไมเราถึงยังไม่มีแล้วหน่วยงานไหนคือผู้รับผิดชอบคอยบอกกับประชาชนว่าน้ำจะท่วมเชียงราย คือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเปล่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือเปล่า กรมอุตุนิยมวิทยาหรือเปล่า หรือจะเป็นสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา สรุปแท้จริงแล้วข้อมูลอยู่ที่ใคร เรามีแต่กรมอุตุฯที่บอกว่าจะมีฝนตก มีประกาศคำเตือนนิดหน่อยว่าระวังน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม มันก็ดีแต่มันจริงจังแค่มากน้อยแค่ไหน ” 

ซึ่งในทางปฏิบัติการทำงานองค์กรรัฐได้ฟังก์ชันตามแบบขององค์กรเองอยู่แล้ว กล่าวคือองค์กรราชการทำมากกว่านี้ไม่ได้เพราะจะเป็นการทำเกินหน้าที่ เขาพูดถึงกรณีที่ประชาชนตั้งคำถามว่าทำไมเชียงรายยังไม่ประกาศเขตภัยพิบัติแต่ในขณะเดียวกันทางเทศบาลได้มีธงแดงประกาศเตือนภัยแต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอเพราะขึ้นอยู่กับขอบเขตอำนาจของแต่ละพื้นที่   สุดท้ายแล้วการจัดองค์กรแบบนี้ก็ต้องมีคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการมาคอยตรวจสอบจัดประชุมและต้องยึดกับกฎเกณฑ์นโยบาย 

“ทำให้ท้ายที่สุดแล้วระบบแบบนี้มันไม่ยืดหยุ่นกับน้ำท่วมที่มันมีชีวิตของมัน คุณจัดองค์กรแบบ Fixed เพื่ออยู่กับน้ำไม่ได้ แผนฟื้นฟูเยียวยาก็ต้องรอ การเตือนภัยก็ต้องรอ กว่าประชาชนจะรู้ว่าน้ำจะท่วมก็สายไปแล้ว”

เมืองขยายขวางพรมแดนน้ำ พื้นที่รับน้ำถูกแปรเปลี่ยนเป็นเขตเมือง (Urbanized water barriers: infrastructure, airport, road , football stadium, modern trade, real estate)

สืบสกุลระบุว่าการขยายตัวของเมืองในปัจจุบันทำให้เราอยู่กับน้ำที่ไม่สามารถยืดหยุ่นได้ เพราะเมืองขยายไปทุกทิศทางและเป็นตัวขัดขวางพรมแดนของน้ำทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง รวมถึงมีการสร้างกำแพงกั้นการไหลของน้ำและตัดพรมแดนของแม่น้ำ ถนนที่ถูกยกให้สูงกว่าแม่น้ำ พื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่รับน้ำที่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น สนามบิน, บ้านจัดสรร, สนามฟุตบอล, ห้างสรรพสินค้า สุดท้ายแล้วจึงเป็นสิ่งที่เราต้องกลับมาคิดว่าจะมีการวางผังเมืองอย่างไรให้เมื่อเวลาน้ำมาอย่างรวดเร็วและต้องทำให้เมืองอยู่ควบคู่ไปกับน้ำได้ 

‘ยกเลิกผู้ว่าฯ แต่งตั้ง’ สร้างและสลายพรมแดนความช่วยเหลือ

สืบสกุลระบุถึงในวันที่น้ำเริ่มท่วมที่ชุมชนเกาะลอยและศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติจังหวัดเชียงรายที่ผ่านมาซึ่งบทบาทของความช่วยเหลือที่ไม่เพียงช่วยเหลือแค่คนงานข้ามชาติที่เดือดร้อนเเต่ในรายทางของความช่วยเหลือมีคนไทยที่เป็นกลุ่มเปราะบางและต้องให้ความช่วยเหลือและอพยพออกจากพื้นที่เช่นเดียวกัน ดังนั้นแล้วการระดมให้ความช่วยเหลือมีทั้งงานที่เฉพาะเจาะจงที่ต้องใช้ทั้ง ทักษะ ความรู้ ความสามาร เครือข่าย การสื่อสาร เครื่องมือและอุปกรณ์   เช่น การเข้าไปช่วยเหลือผู้ตกค้างในกระแสน้ำแรง และ การอพยพคนออกจากพื้นที่เสี่ยง ซึ่งองค์กรที่มีบทบาทสูงที่กล่าวไปข้างต้นคือหน่วยกู้ภัยฯจึงต้องการหน่วยงานแบบนี้มากขึ้น

ถัดมาคือการให้ความช่วยเหลือโดยการรวบรวมคนและเปิดกว้างคนให้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น การทำอาหารแจก, การแจกน้ำดื่ม การบริจาคสิ่งของ, เครื่องมือ, ระดมเงินทุน และที่เห็นได้ชัดคืออาสาล้างบ้านของมูลนิธิกระจกเงาที่อำเภอเทิงและตัวเมืองเชียงราย ดังนั้นต้องสร้างพรมแดนการอยู่ร่วมกันแบบใหม่ที่ Inclusive คนให้เข้ามามากขึ้น และที่สำคัญจะเห็นอย่างชัดเจนว่าสิ่งเหล่านี้ไหลรวมไปที่องค์กรที่มีรูปแบบการทำงานที่รวดเร็วและยืดหยุ่นมากกว่าองค์กรราชการ ซึ่งในทางปฎิบัติแล้วนั้นหน่วยงานราชการได้มีการเปิดระดมทุนเช่นเดียวกันแต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไหร่นัก  สืบสกุลจึงได้ตั้งคำถามไปยังหน่วยงานภาครัฐว่า “เมื่อไหร่หน่วยงานภาครัฐจะนำเงินตรงนี้ไปช่วยเหลือให้ถึงประชาชนซึ่งคำตอบคืออีกนานเพราะต้องรอประชุม ตรวจสอบ ยืนยันว่าได้หรือไมได้ก่อน”   

โดยสืบสกุลเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนมุมมองของสังคมใหม่ทั้งหมดให้มองว่าแม่น้ำไม่ได้วางอยู่บนวิธีคิดแบบกับดักเขตแดนรัฐชาติควรมองน้ำว่ามีพรมแดนและน้ำมีชีวิตเป็นของตนเอง  เพื่อนำมาสู่การสร้างความรู้และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ลุ่มน้ำเดียวกันกับประเทศไทยซึ่งจะทำไม่ได้หากยังไม่สามารถสลัดกับดักเขตแดนรัฐชาติออกเสียก่อน ถัดมาเสนอให้มีการกระจายอำนาจที่มากขึ้นซึ่งไม่เป็นเพียงแค่กระจายอำนาจแต่ต้องเป็นการกระจายอำนาจที่มาพร้อมกับการเพิ่มทรัพยากร งบประมาณ ความรู้ เทคโนโลยี เครื่องมือ ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผลมาจาก อปท.ยังมีข้อจำกัดในแง่ของความรับผิดชอบในเขตพื้นที่ตนเองแต่ในความเป็นจริงนั้นน้ำท่วมไม่สนใจขอบเขต อีกทั้งเสนอให้ อปท.ที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงกันมีแผนการทำงานร่วมกันมากกว่าแผนการทำงานที่แยกกันของหลาย ๆ องค์กรที่อยู่ลุ่มน้ำเดียวกันตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ และสุดท้ายเสนอให้มีการวางผังเมืองที่ต้องคำนึงถึงน้ำว่ามีพรมแดนเป็นของตนเองที่คำนึงถึงชีวิตของน้ำท่วมและการอยู่ร่วมกับน้ำอย่างยืดหยุ่น ดังนั้นการวางผังเมืองและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินต้องคิดคำนึงถึงน้ำท่วม รวมถึงต้องคำนึงถึงประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ว่าบางพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมอาจไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดขึ้น 

“ประชาชนอยู่กับระบบราชการมาเป็นเวลานานมากแล้วจนในบางครั้งลืมไปว่าหน่วยงานที่ดูแลประชาชนจริง ๆ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ว่าจะเป็น  อบต. และ เทศบาล”   

สืบสกุลส่งท้ายว่า ประชาชนจำภาพว่าต้องเป็นผู้ว่าฯ เท่านั้นในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งผู้ว่าฯ อาจจะเป็นหัวหน้าของหลาย ๆ องค์กร แต่ในทางปฏิบัติแล้วนั้นผู้ว่าฯ ทำได้อย่างเดียวคือเรียกประชุมและให้รายงานผลซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้เป็นพื้นที่กระจายตัว ดังนั้นแล้ว อปท.จึงมีบทบาทมากกว่าเพราะอยู่ใกล้ชิดกับปัญหามากกว่า ในขณะเดียวกันผู้ว่าฯ ก็ต้องถามข้อมูลจาก อปท.และได้ข้อมูลมือสองกลับไป สุดท้ายแล้วกลไกทางสถาบันและโครงสร้างในการบริหารที่ยึดติดกับระบบราชการและการปกครองส่วนภูมิภาคซึ่งไม่มีความหมายอะไร ไม่มีอำนาจ ไม่มีงบประมาณ ดังนั้นแล้วหากต้องการให้ผู้ว่าฯมีอำนาจและตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหามากขึ้นต้องร่วมกันผลักดันให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งและยกเลิกการแต่งตั้งผู้ว่าฯ