เรียบเรียง : ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ
แม้การเกิดขึ้นของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในภาคเหนือจะมีปัจจัยทางด้านการต่อสู้เรื่องที่ดิน และการเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 แต่เสียงจากชาวบ้านร่วมสมัยแสดงอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เห็นมุมมองของชาวบ้านต่อการเกิดขึ้นของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่คือ
“ ชาวไร่ชาวนาขโมยทั้งวัวควาย และที่หนักไปกว่าเก่าคือลักขโมยข้าวแช่ มันทุกข์ยากขนาดไหน ถ้าครอบครัวไหนข้าวไม่พอกิน ก็ต้องไปยืมข้าวเจ้าของนา ปัจจัยพวกนี้ผมคิดว่าเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่” สมศักดิ์ โยอินชัย ชาวนาภาคเหนือ เมื่อปี 2517 ช่วงการเกิดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ สมศักดิ์เรียนอยู่ชั้นประถม 7
เราจึงชวนมาทบทวนความทรงจำ ผ่านงานรำลึก 50 ปี ชาวนาชาวไร่เมื่อวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2567 ที่คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ จากบทบาทและการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ในพื้นที่ชนบท และนักเขียนบรรณาธิการและคนทำงานสร้างสรรค์ในพื้นที่เมืองทั้งรุ่นเก่าใหม่มาเล่าสู่กันฟังเพื่อส่งต่อการเคลื่อนไหวต่อไป
ความทรงจำของขบวนการชาวนาชาวไร่
รังสรรค์ แสนสองแคว สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า “การเคลื่อนไหวช่วง 14 ตุลาฯ เป็นเรื่องค่าเช่านา เหมืองแร่ มีอยู่สองที่ที่แม่วาง (เชียงใหม่) และแม่เลียง (ลำปาง) ช่วงนั้นผมไปเคลื่อนไหวหลายที่ ที่แม่สะปวด (ลำพูน) มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน และชนะจนสั่งเพิกถอนเขื่อนไป ผมก็ย้ายไปที่แม่เลียง ไปอยู่ประจำเป็นอาทิตย์ๆ มีการชุมนุมและมีการปะทะกันระหว่างชาวบ้านและคนในเหมือง จนมีคนเสียชีวิตเกือบ 10 คน หลังจากมีการเพิกถอนสัมปทาน ผู้นำเรา (ผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่) ก็ถูกยิงตาย”
รายงานข่าวลอบสังหารอินถา ศรีบุญเรือง ในหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ฉบับวันที่ 1-4 สิงหาคม 2518. อ้างอิงในบทความจากประชาไท https://prachatai.com .
ในยุคสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ประเด็นที่หมู่เฮาได้คือ กฏหมายค่าเช่านาปี 2517 และยังใช้กันอยู่จนถึงทุกวันนี้ซึ่งเป็นคุณูปการของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ แต่กฏหมายอีกฉบับหนึ่งคือกฏหมาย สปก. (กฏหมายปฏิรูปที่ดิน) ที่ออกมาเมื่อปี 2542 ไม่ได้ทำตามเจตนารมณ์ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ที่เสนอไว้ เจตนารมณ์ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่คือการเอาที่ของเอกชนมาปฏิรูปให้เป็นของเกษตรกร กลไกของการออกกฎหมายของสปก. ไม่ได้มีชาวบ้านไปมีส่วนร่วม คือเอาที่ป่าเสื่อมโทรมไปให้ชาวนาชาวไร่ และไม่ได้ส่งเสริมพัฒนาที่ดิน จนตอนนี้ที่สปก. ส่วนใหญ่ตกอยู่ที่กลุ่มทุน
รังสรรค์ กล่าวถึงปัญหาของชาวนาที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงว่า หลัง 6 ตุลาฯ สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ส่วนหนึ่งขึ้นไปต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หลังออกจากป่า ขบวนการปฏิรูปที่ดินยังไม่ตาย เรารวมตัวกันเมื่อปี 2541 ปัญหาก็ไม่ต่างกับในอดีตเลย ยิ่งมีการหลุดมือของที่ดิน ปัญหาภาระหนี้สิน ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ ปัญหาการจัดการทรัพยากรถูกรวบอำนาจและตกอยู่ในมือของกลุ่มทุน
“หลังจากนั้นเฮาก็เลยตั้งกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรขึ้นมาใหม่คือ แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือในปี 2541 ในช่วงนี้เราเคลื่อนไหวใน 4 จังหวัดภาคเหนือ มีโครงสร้างองค์กร ในปี 2542 เกิดเครือข่ายหลายเคลือข่ายในภาคเหนือ อย่างเครือข่ายป่าชุมชน และเกิดเป็นขบวนการยึดที่ดินเกิดขึ้นเมื่อปี 2543 เพราะลำพูน เชียงใหม่ลุกเป็นไฟ” รังสรรค์ กล่าว
ด้าน รศ.รังสรรค์ จันต๊ะ เล่าเพิ่มในบทบาทของนักศึกษา พวกเราเป็นนักศึกษาก็ออกพื้นที่ชนบทเพราะช่วง 14 ตุลาฯ เกิดการเคลื่อนไหวของนักศึกษา พวกเราไปลงพื้นที่ในหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ที่แม่เลียงก็ไป และรัฐก็เริ่มจัดการกับผู้นำชาวนา ฝั่งพวกผมหลายคน ก่อนช่วง 6 ตุลาฯ เลยตัดสินใจเข้าป่ากันหมด เข้าไป 5 ปี พรรคมีปัญหาหลายอย่างเลยตัดสินใจออกมา
จีรวรรณ โสดาวัฒน์ อดีตกลุ่มนักเรียนที่เคลื่อนไหวในนามมังกรน้อย ช่วง 14 ตุลาฯ -6 ตุลาฯ กล่าวว่า “จากบทเรียนที่ผ่านมามันมีผลต่อชีวิตมาก ช่วง 14 ตุลาฯ อยู่ มศ.1 ที่บ้านเป็นชาวนายากจน พ่อเป็นตัวแทนชาวนายากจนที่ต่อสู้ และได้รับความกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ หลายอย่างเช่น ต้มเหล้าขายเพื่อส่งลูก ค่าเทอมเขาก็เอาไม้แหลมมาแทงโอ่ง มันก็แตกหมด พอมีนักศึกษามาเผยแพร่สิทธิเสรีภาพ พ่อเราก็ไปกับเขาเพราะโดนกดมาเยอะมาก ตั้งแต่นั้นก็ไปทุกที่ในภาคเหนือกับนักศึกษา เพื่อเรียกร้องกฎหมายค่าเช่านาจนได้สมาชิกกว่าหมื่นครอบครัวในภาคเหนือ”
ช่วงอายุ 14-15 มาเล่นกับพวกนักศึกษาบ่อย เขาเลยพาไปฟังเพลงเพื่อชีวิต ฟังไฮปาร์ค อ่านหนังสือกัน และตั้งกลุ่มมังกรน้อยที่มีกัน 9 คน อันนี้คือการส่งต่อจากพี่ ๆ ต่อลูกหลานชาวนา เป็นเบ้าหลอมจนถึงปัจจุบัน หลังจาก 6 ตุลาฯ ก็อยู่ไม่ได้เพราะพ่อเป็นผู้นำชาวนา เราเลยตัดสินใจเข้าใจเข้าป่า
จากซ้าย รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.รังสรรค์ จันต๊ะ มหาวิทยาลัยแม่โจ้,รังสรรค์ แสนสองแคว สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ,จีรวรรณ โสดาวัฒน์ องค์กรด้านการพัฒนาสังคม, วิไล รัตนเวียงผา ชาวนา อ.ไชยปราการ เชียงใหม่, สมศักดิ์ โยอินชัย อดีตผู้แทนเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
สมศักดิ์ โยอินชัย อดีตผู้แทนเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าวอย่างแหลมคมว่า “ตอนนั้นอยู่ป.7 ปี 2517 และเข้ามศ.1 ตอนปี 2518 มองย้อนกลับไปตอนนั้นผมจำได้ว่าตอนนั้นนักศึกษาเข้าไปช่วยที่บ้านเยอะ คนตำบลตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ต จ.เชียงใหม่ อยากลองทบทวนดูว่าชาวนาชาวไร่มันเป็นยังไง มันมีเพลงจดหมายจากชาวนา ที่มีความทุกข์ยาก สะท้อนหลายอย่างว่าชาวนาชาวไร่ยากลำยากมาก ชาวไร่ชาวนาขโมยทั้งวัวควาย และที่หนักไปกว่าเก่าคือลักขโมยข้าวแช่ มันทุกข์ยากขนาดไหน ถ้าครอบครัวไหนข้าวไม่พอกิน ก็ต้องไปยืมข้าวของเจ้าของนา ปัจจัยหนึ่งพวกนี้ผมคิดว่าเป็นปัจจัยหนึ่งในการเกิดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่”
สมศักดิ์ ยังกล่าวต่อว่า “อีกปัจจัยหนึ่งคือการเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มันเกิดสิทธิเสรีภาพมากขึ้น นักศึกษาเข้ามาช่วย โครงการชาวนาเห็นปัญหา เพราะกฏหมายค่าเช่านาอยู่แค่ภาคกลาง ยังไม่ขึ้นมาถึงภาคเหนือ จึงมีการเรียกร้อง และเกิดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่เกิดขึ้น ทำให้ชาวนามีข้าวกิน ชาวนาไม่ต้องลักข้าวแช่ ลูกเมียมีข้าวกิน และไม่ต้องไปยืมข้าวจากเจ้าที่ดิน เป็นคณูปการของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่”
วิไล รัตนเวียงผา ชาวนาจาก อ.ไชยปราการ เชียงใหม่ ยังเน้นย้ำถึงบทบาทของผู้หญิงในการต่อสู้ร่วมกับสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ “แต่ก่อนนี้พ่อเคยต่อสู้เรื่องชาวนา ข้าเจ้าอายุ 17 ปี แต่งงานแล้ว บ้านอยู่ใกล้เขตงาน เขต7/3 ข้าเจ้ามีหน้าที่ดูแลนักศึกษาที่ขึ้นไปอยู่บนดอย ส่งข้าว เอานักศึกษาหญิงเข้ามาซ่อนตัวในบ้าน จนถึงปัจจุบันนี้หลายคนมีความผูกพันซึ่งกันและกัน ในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการทำงานสิทธิในประชาธิปไตย สิทธิชุมชน สิทธิผู้หญิง เคยทำมากับมิตรสหาย เกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงผลประโยชน์ของผู้หญิง”
สมัยพรรคเพื่อไทยขึ้นมาหมู่เฮาก็มีบทบาทในการทำงาน แต่มีเวลาไม่มากในการทำได้ ทำให้เฮาสะท้อนว่า ผู้หญิงก็มีบทบาทมาก ข้าเจ้าก็ส่งข้าวขึ้นไปบนดอยและทำหลายๆ อย่างยากลำบากกันมาก เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนไปเยอะมากเพราะผู้หญิงก็เท่ากับผู้ชายมีความอบอุ่นใจ
การต่อสู้ทางวัฒนธรรม การต่อต้านระเบียบอำนาจจารีตจากชาวนาสู่ราษฎรร่วมสมัย
สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งราษฎร์ กล่าวเริ่มนี้ในประเด็นการต่อสู้ทางวัฒนธรรม ว่ามีอยู่นานแล้ว ถ้าหากนำเอา ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ เป็นศูนย์กลางของเรื่อง ไล่ย้อนขึ้นไปว่ามีอะไรเกิดขึ้น ตั้งแต่อดีตจนถึงร่วมสมัย การต่อสู้ของสามัญชนมันเริ่มต้นมานานแล้วก่อน 14 ตุลาฯ จุดเริ่มต้นที่ให้ความสำคัญกับสามัญชนมีมาตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 เพราะให้ความสำคัญกับเสรีภาพ ความเสมอภาพ และภราดรภาพ มันเป็นความฝันและหวังว่าจะเกิดขึ้น ในลักษณะที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่เป็นเช่นนั้น
หากย้อนขึ้นไปจาก 2475 ก็มีกบฏ 130, มีเทียนวรรณ, หมอบรัดเลย์ ที่สร้างวัฒนธรรมหนังสือ ซึ่งหากไม่มีวัฒนธรรมหนังสือก็ไม่มีการกระจายความเจริญ และความคิดเรื่องสามัญชน ฉะนั้น ถ้าดูความเป็นมาของสยาม คิดว่ามีความเป็นมาของมันในลักษณะที่น่าจะก้าวไปอย่างงอกงาม อย่างน้อยก็ใกล้เคียงกัน และขอให้มีเสรีภาพก่อน แต่ดูเหมือนว่าในประเทศนี้มีอยู่สองชนชั้น คือชนชั้นนำและชนชั้นตาม คนชนชั้นตามก็รวมอยู่กับคนผู้ใช้แรงงานและชาวไร่ชาวนา แต่ไม่อยากใช้คำว่าทาส เพราะมันก็ใช่
สมัยก่อนเท่าที่คุยกับสหายชาวนาชาวไร่เป็นเช่นไร สมัยนี้ก็เป็นเช่นนั้น และสมัยนี้ก็มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนมันยังไม่มีทุนผูกขาด ง่ายๆ ก็คือลักษณะของชาวนามันเปลี่ยนไป มันมีการใช้เกษตรพันธสัญญามันครอบงำและผูกขาด เมื่อก่อนเราต่อสู้กับนายทุน ขุนศึก ศักดินา แต่ในปัจจุบันนั้นมันเปลี่ยนไป นายทุนยังอยู่ มันจะเปลี่ยนไปก็ตรงที่นายทุนจะอยู่ข้างศักดินาหรือเปล่า แต่อยู่ข้างขุนศึกแน่ๆ จิตร ภูมิศักดิ์เคยพูดในโฉมหน้าศักดินาไทยไว้ว่า
“ประวัติศาสตร์ของเรามันที่ผ่านมานั้นมันกล่าวถึงแต่ชนชั้นศักดินา”
ตอนนี้มันอาจจะเรียกว่าชนชั้นนำก็ได้..
สุชาติ กล่าวถึงบทบาทของสังคมศาสตร์ปริทัศน์ต่อการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นเรื่องชาวนาชาวไร่ไว้ว่า “สมัยที่ผมจบการศึกษาที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเคยมาสมัครเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนั้นมีอีกคนมาสมัครด้วย เขารับอีกคนหนึ่งซึ่งเขาจบปริญญาโท คนนั้นคือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากนั้นเลยเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของผม แล้วก็หันมาทำหนังสือ”
มาทำหนังสือที่สังคมศาสตร์ปริทัศน์มันทำให้ผมได้เรียนรู้สีสันใหม่ๆ หลายอย่าง ผมเข้ามาทำงานที่สังคมศาสตร์ปริทัศน์ช่วงปี 2511 อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ไปทำงานที่อื่นในอีกปีถัดมา จึงให้ผมทำงานแทน Identity ของสังคมศาสตร์ปริทัศน์มันคืออาจารย์สุลักษณ์ การเขียนบทบรรณาธิการที่ดุเดือด ผมเป็นใครมาจากไหนไม่รู้ ไม่เคยเรียนวารสาร แต่เคยทำหนังสือเล่มละบาทอยู่ตอนที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย อาจารย์สุลักษณ์ให้ผมเป็นบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์รุ่นที่สอง สิ่งที่อาจารย์สุลักษณ์สอนในฐานะที่แกเป็นบรรณาธิการคือเรื่อง “เสรีภาพ”
ผมเคยเสนอในช่วงเป็นบรรณาธิการครั้งแรกๆ คือ ฉบับชาวนา ปรึกษาหลายคนซึ่งเป็นนักวิชาการ ปรึกษากับมูลนิธิบูรณะชนบทที่มีอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ดูแลอยู่ ที่เป็นเหมือน NGOs ยุคแรกๆ ตอนนั้นอยากให้เป็นงานวิชาการ และมอบเงินทั้งหมดให้มูลนิธินี้ และอยากทำฉบับต่อมาคือ ฉบับกรรมกร
ภาพปกวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับพิเศษ “ชาวนาไทย” 2513
ผมทำอยู่สองฉบับ ปีแรกผมทำฉบับชาวนาไทย เมื่อเดือนกันยายน 2513 และอีกฉบับช่วงหลัง 14 ตุลาฯ เมื่อปี 2517 ผมทำหนังสืออีกสองเล่ม ผมอยากลองดูอาจารย์สุลักษณ์ว่าจะมีปฏิกริยาต่องานชิ้นนี้อย่างไร เพราะผมคิดว่าในเมื่อมันคือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ มันก็ต้องมองสังคมทั้งหมด บรรณาธิการคนแรกจะมองผมยังไงให้เสรีภาพกับผมจริงหรือเปล่า ผมก็เลยทำฉบับชาวนา อีกฉบับขึ้น เมื่อปี 2517 และอีกฉบับเป็นฉบับกรรมกร ผมก็รู้สึกว่าอาจารย์สุลักษณ์ให้เสรีภาพกับผมจริงๆ แกไม่เคยปิดกั้นผมเลย แม้แกจะเรียกตัวเองว่าอนุรักษณ์นิยมหัวก้าวหน้าก็ตาม
สิ่งที่ผมอยากจะพูดคือการต่อสู้ทางวัฒนธรรมมันมีอยู่ทุกครั้งในตอนรัฐประหาร คนที่รับรู้เกี่ยวกับการต่อสู้ในเรื่องอะไรมามันก็จะถูกตัดตอน เช่น บรรณารักษ์ห้องสมุดก็จะไม่นำหนังสือที่ถูกรัฐกล่าวหาว่าผิดนั้นเข้าห้องสมุด ร้ายแรงที่สุดคือช่วง 6 ตุลาฯ ก็เผาหนังสือเลย
เราไม่เคยรับรู้เลยว่าคนรุ่นก่อนต่อสู้อะไรกันมาก่อน การเมืองวัฒนธรรมของการทำหนังสือตั้งแต่ 2475 แถลงการณ์คณะราษฎร เค้าโครงเศรษฐกิจที่เป็นสมุดปกเหลือง ทศวรรษ 2490 ก็มีอักษรสาน์ ของสุภา ศิริมานนท์ ทศวรรษ 2500 ก็มีสำนักพิมพ์เกวียนทอง ที่พิมพ์ ปีศาจ (ของเสนีย์ เสาวพงษ์), ฟ้าบ่กั้น (ของลาว คำหอม) ประเด็นของนักเขียน กวีต่างๆ ที่ถูกตัดต่อความทรงจำมันทำให้การรับรู้ข้อมูลนั้นไม่สมบูรณ์ มันทำให้เห็นภาพแค่บางส่วน สุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าวตอนท้าย
เวียง-วชิระ บัวสนธ์ กล่าวเริ่มต้นว่า ช่วงวัยมัธยมเรียนอยู่ที่โรงเรียนชายล้วนที่จังหวัดพิษณุโลก สมัยมศ. 1 พวกเราจะพกหนังสืออยู่ 2-3 เล่ม เล่มแรกคือสรรพนิพนธ์เหมา มันถูกส่งเข้ามาแล้ว เราแบ่งกันอ่านเพื่อทำให้รักหนังสือ หลัง 14 ตุลาฯ ด้านศิลปวัฒนธรรมมันถูกทลาย มันทำให้ผมอ่านหนังสือมหาศาล
เวียง กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าสนใจคือในปี 2517 มันเกิดวงดนตรีคาราวาน และวรรณกรรมเพื่อชีวิต มันทำให้จิตวิญาณเปิดมาก แต่อย่างไรก็ตาม มันน่าเบื่อ เวลาพูดถึงคนยากไร้ก็มักจะมีภาพในหัวที่แบกจอบแบกเสียมมองเห็นแสงแรกของรุ่งอรุณ ซึ่งมันเป็นสัญลักษณ์ว่าสู้รบ ชัยชนะมันอยู่ข้างหน้า ตอนนั้นผมเคลิ้มเลย ถึงขนาดมีความฝันกันเลยว่า อยากขึ้นรถไฟจากพิษณุโลกมาที่สนามหลวง ยืนรอรับและปรบมือให้รุ่นพี่ที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง มันเป็นภาพที่เพ้อฝันมากๆ
กระทั่งไม่กี่ปีต่อมาความฝันนั้นมันพังทลายต่อหน้าต่อตาเพราะมันเกิดป่าแตก พอหลังป่าแตกเราพบว่ารุ่นพี่จำนวนมาก ลืมอุดมการณ์ตนเอง คนรุ่นผมรังเกียจรุ่นพี่ และยิ่งน่ารังเกียจเข้าไปอีกเพราะพวกเขาไม่เคยนึกถึงกำพืดของตนเอง แต่พวกเราจะทำกันต่อสักระยะหนึ่งช่วงปี 2522-2524 ทำนิตยสารชื่ออาณาจักรวรรณกรรม ในการสร้างพื้นที่ของตนเอง
ภาพจากเสวนาจากซ้าย ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ รายการสภาความคิด, อธิคม คุณาวุฒิ Way Magazine, สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งราษฎร์, เวียง วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน, สินา วิทยวิโรจน์ TUNE & Co, พัชชา ชัยมงคลทรัพย์ iLaw
บทบาทวรรณกรรมไทยร่วมสมัยในทัศนะของเวียง คนรุ่นผมในยุคต่อมาบทบาทของวรรณกรรมมันก็ไม่ค่อยโดดเด่น และวรรณกรรมส่วนใหญ่ทุกวันนี้มันก็ละเลยคนยากคนจนซึ่งมันกลายเป็นเรื่องของปัจเจก ทุกวันนี้คนยากคนจนก็ไม่ได้หาย แต่ถูกทำให้หายไปจากหน้ากระดาษ ผมเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเพนกวิน (พริษฐ์ ชีวารักษ์), รุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ทำไมพวกเขาไม่อ่านวรรณกรรมเพราะมันเชื่อมโยงกับเขาเลย อย่างน้อยก็ในทางอุดมการณ์
“วรรณกรรมไทยสมัยนี้มันไม่ได้ทำหน้าที่ในการสนับสนุนหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้ด้อยโอกาสทั้งหลาย”
อธิคม คุณาวุฒิ จาก Way Magazine เสริมในประเด็นทางวัฒนธรรมและการจินตนาการถึงชาวนาว่า ช่วงปี 2517-2519 ผู้นำชาวนาถูกลอบสังหารมาก ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งแถบชายแดน ผมจำได้ว่าการปิดเทอมของโรงเรียนมีอยู่สามครั้ง เทอมแรก ฤดูร้อน เทอมสอง ทำนา เทอมสาม เกี่ยวข้าว ผมเคยเข้ามาทำธุระกับพ่อที่กรุงเทพฯ มีคนในกรุงเทพฯ เป็นห่วงว่าทำไมถึงไม่ไปโรงเรียน ผมบอกไปว่าปิดเทอม เขาตอบกลับมาว่า ปิดเทอมอะไรในช่วงนี้ ผมบอกว่าปิดเทอมเกี่ยวข้าว เขาก็ไม่เข้าใจ
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นการรับรู้เรื่องชาวนายังไง ช่วงต้นปี 2520 ชีวิตของชาวนามันผนวกกลมกลืนกับวิถีชีวิตของผู้คน ชาวนาที่ผมรู้จักไม่ได้มีหน้าตาเศร้าหมอง ชาวนาที่ผมรู้จักก็เป็นครูที่โรงเรียน เพื่อนบ้านที่เปิดร้านขายอาหาร เพื่อนร่วมชั้นเรียน ผมจึงไม่ค่อยรู้สึกว่าวิถีชีวิตของชาวนามันแปลกแยก แปลกประหลาด หรือน่าสงสาร
ขณะเดียวกัน วิชาเขียนจดหมาย ครูสั่งให้เขียนจดหมายเพื่อไปในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งโรงเรียนผมอยู่ที่แถบชายแดน ครูเน้นย้ำว่าเนื้อหาในจดหมายให้โน้มน้าวให้คนกลับมาเป็นพลเมืองดีของประเทศ จดหมายที่พวกผมเขียนตอนนั้นจะถูกส่งไปในพื้นที่สีชมพู พื้นที่สีแดง ให้กับเพื่อนวัยเดียวกัน ซึ่งมีจุดประสงค์คือไม่ให้ครอบครัวไปเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ (พคท.) นั่นแปลว่ามีชาวนาอีกพวกที่ผมไม่รู้จัก ว่าเขาเผชิญกับความทุกข์อีกแบบหนึ่ง
อีกเรื่องหนึ่งคือ วันดีคืนดีมีตำรวจตระเวณชายแดนมาร้องเพลงให้เราฟัง เป็นโฟล์คซองธรรมดาแต่แฝงไปด้วยอุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ เรื่องเหล่านี้มันเกิดคู่ขนานกันตอนอยู่ที่จังหวัดริมชายแดน ผมฟังเพลงเกี่ยวกับชาวนาครั้งแรกเมื่อปี 2522 จากวงแฮมเมอร์ ชื่อเพลงชาวนา มันเปิดโลกให้ผมเห็นว่าทำไมเราถึงต้องสงสารเขา วงแฮมเมอร์ใช้วิธีการในการไปหยิบเพลงในป่า มาสร้างเนื้อร้อง
มุมมองของอธิคมในวัฒนธรรมดนตรีที่พูดถึงชาวนาชาวไร่ “ขนบของการเล่าเรื่องชาวนาของวงดนตรีเหล่านี้ จะให้ภาพว่าชาวนานั้นน่าสงสาร ช่างถูกอ่อนด้อย ช่างถูกกดขี่ เผชิญโศกนาฏกรรมที่ซ้ำซาก แต่ช่วงปี 2520 เราจะถูกเรียนในโรงเรียนว่า พื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะชาวเขามีการทำไร่เลื่อนลอย แนวคิดเรื่องป่าต้องปลอดคนเริ่มทำงาน และยิ่งทำงานอย่างทรงอนุภาพมากขึ้นจากเงื่อนไขทางการเมือง เพราะต้องต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จึงเป็นแนวคิดป่าปลอดคน”
ช่วงสมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่าภาค 1 เมื่อปี 2534 และ ภาค 2 ในสมัยคสช. มีจำนวนคดีระหว่างรัฐที่กระทำต่อชาวบ้าน 46,000 กว่าคดี และถูกอุ้มหายอีกเป็นจำนวนมาก นี่คือแนวนโยบายที่รัฐกระทำต่อชาวไร่ชาวนา
มันสัมพันธ์กับเวทีที่แล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ lannernews.com ) ในการนิยามความหมายของชาวนา อาจารย์อรรถจักร์นิยามอย่างทรงพลังว่า “ชาวนาคือผู้ประกอบการ ซึ่งหมายถึงว่าชาวนาเป็นคนเสมอกับพวกเรา ไม่ใช่เรื่องเล่าในเพลงเพื่อชีวิตที่พยายามกดข่มในดูสงสาร และจำเป็นต้องสงเคราะห์อยู่ร่ำไป” อธิคม กล่าว
อธิคม กล่าวต่อ อะไรยึดโยงชาวนาให้เหมือนกับบุคคลทั่วไปก็คือเรื่องที่ดิน ความเหลื่อมล้ำ เรื่องการเข้าไม่ถึงทรัพยากร เข้าไม่ถึงทุน โดยการถูกรังแกจากทุน ถูกรังแกโดยพันธสัญญา จนกระทั่งเป็นผู้ร้ายเมื่อเกิด PM2.5 เราจะเห็นว่าเราร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน มีความเสมอกันและไม่มีใครเหนือกว่าใคร
สินา วิทยวิโรจน์ จาก TUNE & Co “ผมเป็นลูกหลานชาวนาที่มาเป็นชนชั้นกลางในเมือง ผมเติบโตในทศวรรษที่ 2530 ที่ไม่รู้ตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง เพราะเป็นจีนฝั่งหนึ่ง และลูกชาวนาที่ทิ้งนามา มาเป็นภารโรงอยู่ใน กฟผ. พ่อแม่เรียนธรรมศาสตร์เลยพาไปงาน 6 ตุลาฯ ซ้ำๆ เพราะไปเจอเพื่อน ไปอยู่หลายปี สิ่งนั้นก็ปลูกฝังมาที่ตัวผมมาจนทศวรรษที่ 2540 ซึ่งกำลังจะกลายเป็นวัยรุ่นที่สนใจการเมือง ไม่รู้จักชาวนา ไม่รู้จักชาวประมง ใช้ชีวิตไปเฉยๆ ถ่ายรูป เล่นดนตรี เราคิดว่ามันเป็นชีวิตจริงซึ่งไม่มีความจริงเลย”
กว่าจะตื่นก็จนกระทั่งในปี 2553 คนเสื้อแดงตายและถูกล้างเลือด 20 ปีเราไม่รู้อะไรเลย หลังจากนั้นก็เริ่มเชื่อมโยงกับตนเองในงานละครเรื่อง 6 ตุลาฯ ผมจึงมาเข้าใจว่า ปู่ย่าตายายที่เขาทิ้งนามา พ่อแม่ที่ต่อสู้ในเดือนตุลาฯ พวกเขาเก่งมากจริงๆ เพราะพวกเขาต่อสู้ในสิ่งที่ประวัติศาสตร์ลบเลือนมาตลอด จนทศวรรษ 2560 ก็เปลี่ยนความคิดไปมาก มันทำให้ผมตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นเพราะมีการเคลื่อนไหวของเยาวชน เป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะ 2475 ขบวนการชาวนาชาวไร่ และการเคลื่อนไหวเมื่อปี 2563-2564 มันคือเรื่องเดียวกัน มันเป็นสายธารต่อกัน มันเป็นเรื่องเล่าที่จำเป็นต้องระเบิดออก แม้การต่อสู้ในปี 2563 ต้องยอมรับว่ามันจบลงแล้ว และเราก็ทำงานต่อไป
คิดว่าความการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุมันจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะเราตื่นตัวทางการเมืองแล้วเมื่อปี 2563
แม้การต่อสู้จะจบไปแล้ว แต่ในแง่นึงมันยังไม่จบ การต่อสู้ในปี 2563-2564 มันมีพลังกับผมมาก ผมยังสนใจชาวนาชาวไร่ที่รัฐมาทำโครงการเรื่องเกษตรพันธสัญญาผมจึงวาดรูป และทำงานรณรงค์เพื่อร่วมขับเคลื่อนของ TUNE & Co และทำงานร่วมกันองค์กรอื่นๆ เช่น We Fair และ P-Move เพื่อทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการทำงานรณรงค์ และการสื่อสารต่อไป
ภาพวาดของสินาที่สินากล่าวถึง
พัชชา ชัยมงคลทรัพย์ iLaw กล่าวถึงความสนใจในการเมืองว่า มาสนใจการเมืองช่วงรัฐประหาร 2557 เขาเห็นความไม่เป็นเหตุเป็นผลของมัน เรื่องอำนาจนิยมที่ใกล้ตัวกับเราสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เราได้อ่านเรื่องราวของชาวบ้านที่ถูกไล่รื้อออกจากป่า เราเรียนจบก็เคยทำงานบริษัทให้นายทุน ก็คิดว่ามันไม่ใช่ตัวเรา เลยออกมาทำงาน iLAW และช่วงปี 2563 มีข้อเสนอหนึ่งขึ้นมาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อลบล้างผลพวงรัฐประการ ทาง iLAW ก็เข้ามาทำตรงนี้ และทำอีกหลายๆ อย่าง เพื่อให้สังคมดีขึ้น เรามีความหวังกับตรงนี้
การต่อสู้เมื่อ 2563-2564 เราไม่รู้ว่าการต่อสู้เราแพ้จริงๆ หรือเปล่า เพราะรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ได้นับหนึ่ง และความตั้งใจของชนชั้นนำมีความต้องการที่สอดไส้ลงไปในกฎหมายที่บังคับกุมอำนาจ ยังไม่กล้า เพราะเขาก็กลัวประชาชนที่ยังส่งเสียงอยู่ทุกวันนี้ การที่เรายังส่งเสียงกันอยู่ ส่งต่อกันอยู่ เราสู้อะไรกันมาบ้าง มันทำให้ชนชั้นนำเขาไม่กล้าทำอะไรตามที่ใจปรารถนา
*หมายเหตุบทความนี้เรียบเรียงจาก เสวนาบทเรียนของสหพันธ์ชาวนาฯ : จากปากคำผู้ปฏิบัติงานโครงงานชาวนาฯ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเสวนาโดย รศ.รังสรรค์ จันต๊ะ มหาวิทยาลัยแม่โจ้,รังสรรค์ แสนสองแคว สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ,จีรวรรณ โสดาวัฒน์ องค์กรด้านการพัฒนาสังคม, วิไล รัตนเวียงผา ชาวนา อ.ไชยปราการ เชียงใหม่, สมศักดิ์ โยอินชัย อดีตผู้แทนเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
การต่อสู้ทางวัฒนธรรม การต่อต้านระเบียบอำนาจจารีตจากชาวนาสู่ราษฎรร่วมสมัย, ดำเนินรายการโดยชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ รายการสภาความคิด, วิทยากร อธิคม คุณาวุฒิ Way Magazine, สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งราษฎร์, เวียง วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน, สินา วิทยวิโรจน์ TUNE & Co, พัชชา ชัยมงคลทรัพย์ iLaw