Home Blog Page 5

“เปลี่ยนรัฐบาลเป็นประชาธิปไตยก็ไม่ต่างจากรัฐบาลเผด็จการ” 3 นักกิจกรรมเชียงใหม่รับทราบข้อกล่าวหา คดีร่วมกันดูหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญในกิจกรรมที่อ่างแก้ว มช. ปี 65 

9 ธันวาคม 2567 เวลา 10.00 น. 3 นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางมาที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อกล่าวหา “ร่วมกันดูหมิ่นศาล” หลังจากถูกตัวแทนของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งความกล่าวหา เหตุจากการจัดกิจกรรมแฟลชม๊อบเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดี 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริเวณ อ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดย 3 นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ (รามิล), คุณภัทร คะชะนา และ พึ่งบุญ ใจเย็น ทยอยได้รับหมายเรียก ที่ออกโดย พ.ต.ท.ณัฐวัฒน์ เขื่อนแก้ว สารวัตรสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ให้ไปข้อกล่าวหา “ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198

ด้าน คุณภัทร คะชะนา เผยว่า ตนรู้สึกเหนื่อยกับการถูกดำเนินคดี เนื่องจากชีวิตเหมือนมีภาระเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่การแสดงออกทางการเมืองควรจะเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถแสดงออกได้อย่างเสรีภาพ และยังสะท้อนถึงการที่รัฐไม่ได้มีพื้นที่ในการแสดงออกถึงแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลเป็นประชาธิปไตยก็ยังไม่ต่างจากรัฐบาลที่มาจากเผด็จการ

ทั้งนี้นักกิจกรรมทั้ง 3 คน ได้ปฎิเสธข้อกล่าวหา และมีการปล่อยตัวทั้ง 3 คนในเวลา 13.00 น. โดยจะมีการนัดหมายในวันที่ 14 มกราคม 2568 เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานอัยการ จังหวัดเชียงใหม่

จุดยืนหนึ่งเดียวคือ ‘ไม่ต้องการโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน’ 5 ปีแห่งการไม่ยอมจำนนของคนกะเบอะดิน-อมก๋อย

7 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังอมก๋อย จัดงาน ‘โลกเย็นที่เป็นธรรม: 5 ปีแห่งการต่อสู้ของคนอมก๋อย สู่ความท้าทายในวิกฤตโลกเดือด ณ คริสตจักรกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับชุมชนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองสะท้อนถึงความท้าทายอันซับซ้อนที่พวกเขากำลังเผชิญ ทั้งจาก ‘วาทกรรมตีตรา’ ในวิถีชีวิตและการกล่าวโทษว่าชนเผ่าพื้นเมืองเป็นต้นเหตุของวิกฤตสิ่งแวดล้อม ‘ความล้มเหลวของระบบธรรมาภิบาลโลก’ โดยเฉพาะการเจรจาพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในการปกป้องวิถีชีวิตของประชาชน ที่มองข้ามเสียงของกลุ่มเปราะบาง รวมทั้ง ‘การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน’ ทั้งจากอำนาจรัฐและทุนใหญ่ ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างผลกระทบต่อชุมชน รวมถึงประชาชนโดยตรง

ทั้งนี้ ภายในงานได้เปิดพื้นที่สำคัญผ่าน 2 วงเสวนา ได้แก่ วงเสวนาผ่านเสียงของชุมชน (Commun Talk) ‘5 ปีแห่งการต่อสู้ของคนอมก๋อย การเดินทาง จุดยืน และความหวัง’ ที่จะมาเล่าถึงเรื่องราวการเดินทาง จุดยืน และความหวังของชุมชนกะเบอะดิน รวมถึงผู้คนในอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ยืนหยัดต่อต้านโครงการเหมืองถ่านหินอย่างเด็ดเดี่ยว สร้างประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่เปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญ ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจากการรุกรานของทุน และวงเสวนา Public Talk ‘โลกเย็นที่เป็นธรรม การต่อสู้ของคนอมก๋อย สู่ความท้าทายในวิกฤตโลกเดือด’ อีกหนึ่งวงเสวนาสำคัญที่เปิดประเด็นเกี่ยวกับ ‘ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ’ อีกทั้งประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิทธิทางสิ่งแวดล้อม [1]

‘5 ปีแห่งการต่อสู้ของคนอมก๋อย’ การเดินทาง จุดยืน และความหวัง

เวลา 09.50 – 10.20 ภายในงานได้เปิดเวที Commun Talk ‘5 ปีแห่งการต่อสู้ของคนอมก๋อย การเดินทาง จุดยืน และความหวัง’ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเส้นทางการต่อสู้ 5 ปีของชุมชนกะเบอะดินและผู้คนในอมก๋อย ที่ยืนหยัดปกป้องบ้านเกิดจากโครงการเหมืองถ่านหิน พร้อมสะท้อนความหวังและจุดยืนที่ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจทุน ร่วมแลกเปลี่ยนโดย สวัสดิ์ติพล วงศ์เกษตรกร แกนนำชาวบ้านหนองกระทิง สุดารัตน์ พลทวิช เยาวชนบ้านกะเบอะดิน ดวงใจ วงศรง แกนนำสตรีบ้านกะเบอะดิน สมศักดิ์ แก้วศรีนวล เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย และ ศักดิ์ดา แสนมี่ สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) ดำเนินรายการโดย ธรธรร การมั่งมี และ อรพรรณ มุตติภัย

สวัสดิ์ติพล วงศ์เกษตรกร แกนนำชาวบ้านหนองกระทิงและตัวแทนจากชุมชนเส้นทางขนส่งเแร่ ได้สะท้อนถึงการต่อสู้ที่ยาวนานกว่า 5 ปี ของชาวกะเบอะดินและอมก๋อยในการปกป้องบ้านเกิดจากโครงการเหมืองถ่านหิน โดยกล่าวว่า วันนี้ขอขอบคุณเพื่อน ๆ เชียงใหม่และเพื่อนต่างถิ่นที่มาให้กำลังใจพี่น้องอมก๋อย เราต่อสู้กันมา 5 ปีแล้ว และยังคงไม่รู้ว่าต้องต่อสู้ไปอีกกี่ปี เพราะถ่านหินอยู่ที่นี่และอีกฝ่ายก็อยากได้ แต่บ้านเราก็ยืนยันไม่ให้ เราพร้อมที่จะต่อสู้และถ้ามีการเปลี่ยนเส้นทางเหมือนที่เคยได้ยินข่าว ก็ถือว่าเราได้ชัยชนะอีกขั้นหนึ่งแล้ว เพราะที่กะเบอะดินเรามีจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่ให้ใครเข้ามาทำเหมืองที่นี่ เราขอยืนยันให้รู้ไว้ว่าคนที่นี่ไม่ยอมให้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของเรา “ขอให้รู้ไว้ว่าคนที่นี่ไม่ให้มาทำเหมืองที่นี่” สวัสดิ์ติพลกล่าว

สุดารัตน์ พลทวิช (ซ้าย) ดวงใจ วงศรง (ขวา)

สุดารัตน์ พลทวิช ตัวแทนเยาวชนบ้านกะเบอะดิน เล่าเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของเยาวชนในการต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่บ้านกะเบอะดินมาเป็นเวลา 5 ปีว่า เยาวชนถือเป็นตัวแทนหลักในการลุกขึ้นต่อสู้ คัดค้านการทำเหมืองแร่ถ่านหิน โดยไม่เพียงแต่ทำงานสำรวจข้อมูลชุมชน แต่ยังร่วมในงานเคลื่อนไหวและสื่อสารเพื่อให้คนในชุมชนเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากการทำงานที่ผ่านมา เยาวชนกะเบอะดินถือเป็นที่รู้จักจากคนในหลายพื้นที่ สุดารัตน์ถือเป็นหนึ่งในเยาวชนที่เริ่มต้นการต่อสู้มาตั้งแต่ปี 2562 และจนถึงวันนี้เป็นระยะเวลา 5 ปี พื้นที่กะเบอะดินก็ยังคงปลอดจากการทำเหมืองแร่ สุดารัตน์เชื่อมั่นว่าการต่อสู้ของพวกเขาจะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับชุมชนอื่น ๆ และเป็นความหวังที่จะหยุดยั้งโครงการเหมืองแร่ในพื้นที่

เราหวังว่าการลุกขึ้นมาต่อสู้ครั้งนี้จะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับชุมชน และเป็นความหวัง ความฝันของชุมชนที่สามารถยุติเหมืองแร่ได้ และหวังอย่างยิ่งว่าเสียงของเราจะดังพอที่จะทำให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายได้เห็นและได้ยินความสำคัญของชุมชน จุดยืนหนึ่งเดียวคือ ไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน” สุดารัตน์กล่าว

ดวงใจ วงศรง แกนนำสตรีบ้านกะเบอะดิน แบ่งปันเรื่องราวของการต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดจากโครงการเหมืองแร่ถ่านหินที่คุกคามวิถีชีวิตของชุมชนว่า ที่นี่เป็นบ้านของชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่พูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ แต่เรามีป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำให้เราดื่มและนาให้เราปลูกข้าวกิน เรามีพืชผักต่าง ๆ ที่เราปลูกแล้วนำมาขาย เพื่อชีวิตประจำวัน ชุมชนของเรามีวัฒนธรรมและประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน รวมถึงชุดที่เราใส่ก็ทอเอง ทุกคนช่วยเหลือกันและไม่ทิ้งกัน เมื่อเรารู้ว่าเหมืองจะเกิดขึ้นที่บ้านเรา ชาวบ้านก็ร่วมมือกันช่วยเหลือ มีการยื่นหนังสือต่าง ๆ  และในวันนี้หลังจากผ่านมา 5 ปี ศาลได้คุ้มครองชั่วคราวให้พวกเรายืนหยัดอยู่ได้ จุดยืนของพวกเราคือ “ไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหินที่กะเบอะดิน แมแฮแบ” และเราหวังอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถยุติโครงการเหมืองแร่ถ่านหินได้

สมศักดิ์ แก้วศรีนวล ตัวแทนเครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย ถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในอมก๋อยของคนอมก๋อยที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มร้านค้าในอมก๋อยและกลุ่มรักยางเปา ที่นำประเด็นเหมืองถ่านหินเข้าสู่โลกโซเชียล จุดประกายให้ชาวบ้านตระหนักถึงภัยคุกคามที่กำลังจะเกิดขึ้นกับทรัพยากรในพื้นที่ ให้ชุมชนตื่นตัวและเริ่มรวมพลังกันขับเคลื่อน การรวมตัวของเครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อยประกอบด้วยคนหลากหลายภาคส่วน ทั้งข้าราชการ นักการเมือง พ่อค้า และประชาชนในพื้นที่ หลังจากประชุมกันในวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 เครือข่ายได้ระดมรายชื่อเพื่อยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการหยุดยั้งโครงการนี้จนถึงปัจจุบัน 

สมศักดิ์ยืนยันว่า เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อยจะยังคงต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของอมก๋อย ไม่ใช่แค่เรื่องเหมืองแร่ แต่รวมถึงโครงการอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน โดยกล่าวปิดท้ายว่า “เราจะต้องร่วมมือกัน ต้องเป็นหูเป็นตา ต้องช่วยกัน ในนามของตัวแทนเครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อยก็ต้องขอบคุณน้อง ๆ เยาวชน พี่ ๆ ที่ลุกขึ้นมาสู้เป็นตัวตั้งตัวตีและยืนหยัดว่าจะไม่ให้มีเหมืองแร่ที่อมก๋อย เราคงต้องเกาะเกี่ยวไปด้วยกัน เพื่อยุติการทำลายทรัพยากรของประเทศไทย

ศักดิ์ดา แสนมี่ จากสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) และผู้ขับเคลื่อนงานในสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ได้สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของชนเผ่าพื้นเมืองในการรักษาธรรมชาติและการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากร พร้อมย้ำถึงบทบาทสำคัญของชนเผ่าพื้นเมืองในเวทีระดับโลก เช่น การประชุมของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเสียงของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก

เสียงของชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการรับฟังจากประชาคมโลก ล่าสุดในที่ประชุมของสหประชาชาติได้มีการมีมติรับรองให้มีกลไกถาวรในการที่จะนำเรื่องขององค์ความรู้ภูมิปัญญามาสู่การปรับแก้ไขปัญหาของเรา แสดงว่ารัฐบาลไทยจำเป็นต้องฟังเสียงของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในบ้านตัวเอง

ชุมชนจำเป็นที่จะต้องยืนหยัด​ในการต่อสู้ ยืนหยัดอยู่บนฐานวิถีของเรา ยืนหยัดอยู่บนฐานคุณค่าวัฒนธรรมของเราที่จะเป็นตัวที่ทำให้เราสามารถดำรงอยู่ได้ ถ้าจะรับการเปลี่ยนแปลงหรือจะต้องปรับตัว ต้องปรับตัวอยู่บนฐานภูมิปัญญาของเราให้ได้ ก็จะเป็นตัวหลักประกันสำคัญที่ทำให้การต่อสู้ของเราไม่ใช่ต่อสู้เพื่อให้ชนะกรณีของเหมืองอย่างเดียว เพื่อจะปูพื้นฐานให้กับลูกหลานเราที่จะสามารถดำรงวิถีของเราอยู่ได้ในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ ณ ขณะนี้ต่อไปด้วย” ศักดิ์ดากล่าว 

โลกเย็นที่เป็นธรรม การต่อสู้ของคนอมก๋อย สู่ความท้าทายในวิกฤตโลกเดือด

มนูญ วงษ์มะเซาะห์ สุมิตรชัย หัตถสาร กฤษฎา บุญชัย อรรถพล พวงสกุล เลาฟั้ง  บัณฑิตเทอดสกุล เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล (ซ้ายไปขวา)

หลังจากเปิดเวทีวงเสวนาแรกไปอย่างเข้มข้นในช่วงเช้า บรรยากาศในงานยังคงคึกคักและต่อเนื่องไปที่เวที Public Talk ในหัวข้อ ‘โลกเย็นที่เป็นธรรม การต่อสู้ของคนอมก๋อย สู่ความท้าทายในวิกฤตโลกเดือด’ ที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญที่โลกกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการส่งเสียงในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิทธิทางสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอทางออกให้เกิดความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ ร่วมแลกเปลี่ยนโดย สุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กฤษฎา บุญชัย Thai Climate Justice For All เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล แอมเนสตี้ ประเทศไทย อรรถพล พวงสกุล นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่สะอาดและเป็นธรรม กรีนพีซ ประเทศไทย และ เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ดำเนินรายการโดย มนูญ วงษ์มะเซาะห์  กรีนพีซ ประเทศไทย

สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า  เราจะไม่เรียกร้องเฉพาะการยกเลิกการขอประทานบัตร แต่เราจะยกเลิกแหล่งถ่านหินเพื่อไม่ให้ใครขอประทานบัตรได้อีก รัฐไม่เคยรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อประชาชนและนานาชาติ จึงนำมาสู่การเรียกร้องสิทธิในวันนี้

เราค้นพบว่าความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมในคดีที่ชาวอมก๋อยยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง จ.เชียงใหม่กรณีโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย และสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญล้วนแล้วแต่ไม่มีความชอบธรรม เช่น กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้ากว่า 2 ปี และยังคลุมเคลือต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งมันยังเป็นความเสี่ยงต่อชุมชนเพราะถ่านหินมันยังคงอยู่ในพื้นที่ เราจึงอยากได้คำตัดสินที่สร้างความชัดเจนไปเลยว่าพื้นที่อมก๋อยนี้ต้องห้ามประทานบัตรทำโครงการเหมืองถ่านหินอีก เพราะรัฐต้องให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิในการพัฒนาตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิในการพัฒนาที่ได้ระบุถึงพื้นฐานการพัฒนาพื้นที่จะต้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นคนตัดสินใจและมีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมโดยในสิทธินี้ยังหมายถึงการบรรลุถึงสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองอย่างเต็มที่ด้วย

กฤษฎา บุญชัย Thai Climate Justice For All เสนอข้อเสนอที่มีความสำคัญเพื่อจัดการกับวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญ โดยย้ำถึงความจำเป็นในการยอมรับสถานการณ์ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา และการปรับตัวให้ทันกับความเป็นจริงที่กำลังจะเกิดขึ้น

ข้อเสนอแรกคือ การยอมรับสถานการณ์ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา อีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้าตามการพยากรณ์ กรุงเทพฯ พื้นที่ภาคกลาง และพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ทั้งหมดจะถูกน้ำท่วม ถ้าภาวะก๊าซเรือนกระจกยังเป็นแบบนี้ ผลผลิตการเกษตรทั่วประเทศจะตกต่ำไม่ต่ำกว่า 20% รวมทั้งราคาอาหารจะพุ่งขึ้นสูง วิกฤตเรื่องสุขภาพ ฝุ่นควัน ไฟป่า และอื่น ๆ จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นี่คือความเป็นจริงที่เราไม่ต้องขุดถ่านหินอะไรอีกแล้ว เราไม่ต้องมีพลังงานฟอสซิลที่จะทำร้ายโลกมากไปกว่านี้อีกแล้ว

ความจริงที่สองที่ควรยอมรับ ขณะนี้ก๊าซเรือนกระจกบนชั้นฟ้าเกินกว่าโลกจะรับได้ไป 5 แสนล้านตันคาร์บอน ไม่มีระบบนิเวศชนิดไหนดูดมันกลับมาได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ก็คือ เมื่อเราเห็นว่าชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น คนตัวเล็กตัวน้อยคือกำลังสำคัญ ในการทั้งสร้างระบบนิเวศที่จะซึมซับก๊าซเรือนกระจก นั่นหมายความว่า การยอมรับ คุ้มครอง ส่งเสริม ชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น คือด่านหน้าสำคัญที่จะต้องดำเนินการ แล้วสิ่งเหล่านี้ต้องทำอย่างตรงไปตรงมา พร้อมกับยุติกระบวนการฟอกเขียวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการอ้างเรื่องพลังงานสะอาดจากพลังงานฟอสซิล การฟอกเขียวจากตลาดคาร์บอน และอื่น ๆ ทั้งหมดจะต้องยุติเรื่องนี้โดยด่วน ไม่เช่นนั้นคือความเสียหายที่จะเผชิญร่วมกันทั้งหมด และคนเดือดร้อนที่สุดคือพวกเรา และพวกเราก็จะกลายเป็นคนจนในเมือง เพราะระบบนิเวศต่าง ๆ ล่มสลาย นี่คือฉากทัศน์ที่เกิดขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า หรืออาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้ แล้วเราทำอะไรหรือยัง ผมอยากให้เรายอมรับเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา แล้วเร่งปรับทั้งระบบโดยด่วนที่สุด” กฤษฎากล่าว

เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล แอมเนสตี้ ประเทศไทย เน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศ และการคุ้มครองสิทธิของผู้ที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเสี่ยงสูง โดยกล่าวว่า “การที่ภาครัฐได้ไปรับรองกฎหมายระหว่างประเทศต่าง ๆ ก็อยากให้นำกลับมาใช้จริง ๆ แล้วก็วิเคราะห์ข่าวว่าเรามีการพัฒนาอย่างไรบ้าง ฟังเสียงจากพี่น้อง ฟังเสียงจากรายงานคู่ขนานหรือว่ารายงานเงา อันที่สองก็คือ หยุดคุกคามข่มขู่นักปกป้องสิทธิ โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิที่มีความเสี่ยงมาก ๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบอาจจะมีความเสี่ยงมาก ๆ ทั้งชีวิตแล้วก็ร่างกาย ต่อไปพูดถึงเรื่องการทำงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ต้องวางแผนกลไกให้ละเอียดรอบคอบ แล้วก็มีการติดตามการพัฒนาให้มากกว่านี้ มีการเยียวยา

สุดท้ายอยากจะบอกว่า สิทธิในสิ่งแวดล้อม สิทธิในชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิในที่ดิน สิทธิผู้หญิง สิทธิในการปกป้องสิทธิ สิทธิในการตัดสินใจ ทั้งหมดเลยคือสิทธิมนุษยชน

อรรถพล พวงสกุล นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่สะอาดและเป็นธรรม กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ในประเด็นด้านการปลดระวางถ่านหิน ประเทศไทยถือว่าเป็นวาระที่ควรถูกยกระดับให้เป็นวาระเร่งด่วน เพราะไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสตั้งแต่ปี 2559 และได้ให้ข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับประชาคมโลก (National Determined Contribution: NDC) ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้ได้ร้อยละ 20 – 25 ภายในปี 2573

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจในประเทศยังคงมีการดำเนินกิจการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับถ่านหิน ซึ่งเป็นพลังงานที่ล้าหลังและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ การปนเปื้อนสารพิษในดิน ลำน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพ และในงานวิจัยของกรีนพีซ สากล และเครือข่าย Endcoal [2] ยังชี้ให้เห็นว่า ในแต่ละปี ผู้คนมากกว่า 350,000 คนทั่วโลกต้องเสียชีวิต จากมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานถ่านหิน โดยรวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยเช่นกัน

สุดท้าย เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ได้เสนอการดำเนินการที่จำเป็นในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบจากการใช้พลังงานถ่านหิน โดยเน้นย้ำถึงการยุติการใช้ถ่านหินเป็นพลังงานภายในปี 2570 พร้อมกับการหยุดอนุญาตให้ใช้ถ่านหินในกิจการต่าง ๆ เช่น การทำเหมืองแร่หรือการผลิตพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม โดยกล่าวว่า “มันถึงเวลาที่รัฐบาลไทยต้องประกาศอย่างชัดเจนว่า อย่างน้อยที่สุด 2570 ต้องยุติการใช้หรือยุติการอนุญาตให้ใช้ถ่านหินเป็นพลังงานในกิจการทุกอย่าง รัฐบาลต้องประกาศอย่างนี้ แล้วก็ต้องไม่มีการออกใบอนุญาต ไม่ว่าจะเป็นใบอนุญาตในการทำเหมืองแร่ หรือใบอนุญาตของโรงงานที่ต้องใช้ถ่านหินเป็นพลังงานในการผลิตของโรงงาน ต้องยุติการอนุญาตเหล่านี้

เลาฟั้งชี้ให้เห็นถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้ถ่านหิน ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ใกล้กับกิจการที่ใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน ท้ายที่สุดเขายังกล่าวเสริมว่า การยุติการใช้ถ่านหินจะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการที่มีทุนสูงหันไปพัฒนาพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาว

กะเบอะดิน-อมก๋อย รวมพลัง ประกาศจุดยืน ‘ไม่เอาถ่านหิน’ 

หลังจากการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเข้มข้น พี่น้องชุมชนกะเบอะดิน อมก๋อย และตัวแทนจากพื้นที่ต่าง ๆ ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ที่สะท้อนถึงเจตนารมณ์ในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขาดูแลรักษามาตั้งแต่บรรพบุรุษ เพื่อยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องวิถีชีวิตท่ามกลางการท้าทายจากโครงการเหมืองถ่านหินและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

“ทรัพยากรในโลกเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก แต่ไม่มีเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนโลภเพียงคนเดียว คำกล่าวข้างต้นเป็นของมหาตมะ คานธี ผู้ต่อสู้กับการกดขี่อย่างสันติ ท่านคือสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ เป็นแบบอย่างให้พวกเราในการต่อสู้ของการถูกรุกรานจากบริษัทเอกชนที่พยายามเข้ามาขุดเหมืองแร่ถ่านหิน ซึ่งจะกระทบกับวิถีชีวิตและทรัพยากรที่พวกเราดูแลรักษาตั้งแต่บรรพบุรุษอย่างต่อเนื่อง ดั่งคำกล่าวของผู้สูงอายุกะเหรี่ยงที่กล่าวว่า ‘ดื่มน้ำให้รักษาน้ำ ใช้ป่าเราต้องรักษาป่า’ เนื่องในงานโอกาสครบรอบ 5 ปี การต่อสู้ของชุมชนกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และชุมชนเส้นทางขนส่งแร่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ได้ร่วมกันต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน ซึ่งหลังจากที่ชุมชนได้ฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่เพื่อเพิกถอน EIA ไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ปัจจุบันศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้นำรายงาน EIA ไปออกประทานบัตรได้จนกว่าจะมีคำสั่งพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอื่น ในวันนี้พวกเราได้รวมกันจัดกิจกรรม ‘โลกเย็นที่เป็นธรรม: 5 ปีแห่งการต่อสู้ของคนอมก๋อย สู่ความท้าทายในวิกฤตโลกเดือด’ เพื่อตอกย้ำถึงวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ คนอยู่กับป่า ดูแลรักษาป่า รักษาสายน้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ ตอกย้ำถึงกระบวนการ EIA ที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงการส่งเสียงต่อรัฐบาลให้ทบทวนนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องและเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทมากกว่าชุมชนท้องถิ่นที่กำลังเผชิญกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเกิดจากการส่งเสริมพลังงานฟอสซิล โดยเฉพาะพลังงานถ่านหิน และชุมชนขอเสนอให้รัฐบาลยุติใช้พลังงานจากถ่านหินอย่างถาวรตามข้อเสนอของสหประชาชาติ พวกเราที่ได้มารวมตัวกันตอนนี้ ณ สถานที่แห่งนี้ ขอประกาศเจตนารมณ์ ขอประกาศแถลงการณ์ต่อจิตวิญญาณอันทรงเกียรติว่า พวกเราชาวบ้านกะเบอะดิน พร้อมภาคีเครือข่าย จะร่วมปกป้องบ้านเกิด วิถีชีวิต ที่ทำกินเลี้ยงชีพ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ให้บริษัทแย่งยึดไปเพื่อหาประโยชน์ให้ตนเอง โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และ 1 จุดยืน ดังนี้

1.  เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีเพิกถอน EIA ของศาลปกครองมีความล่าช้าอย่างมาก จึงขอให้ศาลปกครองเร่งดำเนินการพิพากษา 

2. ขอให้รัฐบาลเพิกถอนพื้นที่เหมืองถ่านหินของหมู่บ้านกะเบอะดินออกจากพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 ของอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อไม่ให้เอกชนรายใดสามารถยื่นขอสัมปทานได้อีก

3. ชุมชนต้องมีอำนาจในการจัดการในที่ดิน ที่อยู่อาศัย และทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง โดยกระจายอำนาจให้ชุมชนมีสิทธิจัดการพื้นที่ของตนเองได้อย่างแท้จริง เพื่อให้โอกาสในการเติบโตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น รวมถึงสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และการศึกษา และสาธารณสุขต่าง ๆ เช่น ถนน น้ำประปา ไฟฟ้าที่ดีได้

จุดยืนหนึ่งเดียวของพวกเราคือ ‘ไม่ต้องการโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน

ด้วยจิตคารวะ”

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล : และแล้ว..การเมืองภาคประชาชนก็ลงหลักปักฐาน ความสัมพันธ์ใหม่ ชนชั้นนำ-ชนชั้นกลาง-สามัญชน

เรียบเรียง : ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ชวนร่วมทบทวนภาพของพัฒนาการและพลวัตของระบบนิเวศทางการเมืองในภาพรวมที่เชื่อมผู้คนหลากหลายชนชั้นเข้าด้วยกัน 

โดยได้เสนอ 4 ส่วน เป็นแกนหลักคือส่วนที่ 1 เป็นการนำเสนอภาพความน่าผิดหวังของขบวนการภาคประชาชนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านการประเมินความสำเร็จในระยะสั้น ส่วนที่ 2 จะเป็นการทดลองนำเสนอการวิเคราะห์ผลกระทบ ผลสะเทือน และมรดกในระยะยาว ในแง่ของความพยายามที่ผ่านมาส่งผลอย่างไรต่อสังคมไทยในปัจจุบัน ส่วนที่ 3 การประเมินทิศทางการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำไทย และส่วนสุดท้าย เป็นการนำเสนอความเป็นไปได้ในอนาคตของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำ-ชนชั้นกลาง-สามัญชน กับการลงหลักประฐานของการเมืองภาคประชาชน

บทเรียนจากการเคลื่อนไหวในอดีตของสังคมไทย

ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของที่หนึ่งที่ประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำประสบความสำเร็จมากในการสร้างความมั่นคง รวมทั้งสถาปนาความคิดแบบอนุรักษ์นิยมให้กลายเป็นความคิดกระแสหลักในหมู่ชนชั้นกลางและสามัญชน 

หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีประวัติศาสตร์การปฏิวัติมาอย่างยาวนานทั้วโลก ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์และพัฒนาการ การเมืองภาคประชาชนที่ช้ามาก เชื่องช้า ไม่กว้างขวาง ไม่ถอนรากถอนโคน สำนึกทางชนชั้นค่อนค่างต่ำ ไม่ว่าจะเป็นสำนึกในชนชั้นกลาง สำนึกในความเป็นชนชั้นล่าง 

แม้งานวิชาการหลายชิ้นจะนำเสนอความเปลี่ยนแปลงของประชาธิปไตยในหลายช่วง แต่ถ้าหากประเมินผลกระทบผลสำเร็จในระยะสั้น ความพยายามพลักดันไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางหรือสามัญชนก็ตาม จะพบว่าความสามารถในการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากระบอบอำนาจนิยมไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ความสามารถในลุกฮือของประชาชนในวงต่างๆ มักประสบความสำเร็จในระยะสั้น ไม่สามารถสร้างการลงหลักปักฐานทางประชาธิปไตยได้ และประสบปัญหากับการขยายฐานมวลชนไปสู่กลุ่มอื่นๆ และการเรียกร้องในระยะสั้นก็จะถูกปราบปราม

“เราไม่เคยเห็นกบฏชาวนาที่กว้างขวาง ไม่มีขบวนการปฏิรูปที่ดินที่ทรงพลัง สิ่งที่เรียกว่า ‘ขบวนการปฏิวัติ’ ในประเทศไทย ก็ไม่ได้ได้กว้างขวางลึกซึ้ง เมื่อเปรียบเทียบกับการเมืองภาคประชาชนทั่วโลก”

การเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบราชาธิปไตย เวลาล่วงเลยมา 92 ปี หากมองถึงผลกระทบระยะสั้น สิ่งที่ถูกเรียกว่า “การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475” ของคณะราษฎรฯ มันช่างห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่า “ขบวนการมวลชนประชาธิปไตย”  การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของชนชั้นนำรุ่นใหม่กลุ่มเล็กๆ พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในการขบวนการมีส่วนร่วมหรือสร้างสำนึกทางการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยและสังคมนิยมประชาธิปไตย 

แม้แต่เป้าหมายระยะสั้นในการจำกัดหรือรื้อถอนอำนาจของชนชั้นนำจารีตเอง พวกเขาก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จ  และท้ายที่สุดพวกเขาก็ถูกยึดอำนาจกลับโดยชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมจารีต จนหลายคนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

พรรคคอมมินิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเหมือนกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างก็มีพรรคคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมที่เข้มแข้ง และเป็นพลังหลักที่สำคัญในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลายประเทศอย่าง ลาว เวียดนาม และกัมพูชา พรรคปฏิวัติประสบความสำเร็จในการล้มระบอบกษัตริย์พาประเทศไปสู่ระบอบสังคมนิยม หรือบางประเทศอย่าง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย พรรคฝ่ายซ้ายกลายเป็นขบวนการทางการเมืองที่ทรงพลังทั้งในการมีอิทธิพลกับรัฐบาล และการสร้างขบวนการมวลชนที่ตื่นตัวทางการเมืองอย่างกว้างขวาง

สำหรับประเทศไทยพรรคคอมมิวนิตส์แห่งประเทศไทยเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น และไม่สามารถขยายฐานมวลออกออกไปได้ แต่ยังมีการขยายฐานมวลชนในพื้นที่ชนบท และการสนับสนุนโดยขบวนการนักศึกษาในช่วงปลายทศวรรษ 2510 แต่อย่างไรก็ดีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็ไม่ประสบความสำเร็จในผลักดันการเปลี่ยนของรัฐไทย และล่มสลายไปในที่สุดในช่วงปลายทศวรรษ 2520 

แม้แต่ภาพแห่งความสำเร็จของขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาช่วง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ก็จำกัดวงอยู่แค่คนรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดก็มีไม่มาก และจบลงภายในเวลาเพียง 3 ปี ชนชั้นก็ได้นำรวมตัวกันและโต้กลับอย่างรุนแรง

ขบวนการชาวนาชาวไร่ กรรมกรแรงงานที่เติบโตขึ้นเมื่อ 2516-2519 แม้จะดูเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าตื่นเต้นในการปลุกสำนึกและการตื่นตัวของชนชั้นกรรมมาชีพในสังคมไทย ภาพของการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ชาวนาชาวไร่ที่เราเฉลิมฉลองกันในวันนี้ วันครบรอบ 50 ปี แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการเกิดขึ้นอย่างจำกัด และจบลงอย่างเจ็บปวดในหลายระลอกจากรัฐไทย ซึ่งยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าผู้ถูกลอบสังหารมีจำนวนกี่คน

ในช่วงร่วมสมัยมากกว่านั้นคือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 แม้หลายคนจะฮือฮากับภาพการเติบโตขึ้นของมวลชนชนชั้นกลางที่ลุกขึ้นมาชูประชาธิปไตยเพื่อขับไล่เผด็จการ เอาเข้าจริงพวกเขาคือคนกลุ่มแรกๆ ที่แสดงออกถึงการสนับสนุนการรัฐประหารในปีก่อนหน้านั้น (พ.ศ.2534) และเอาเข้าจริงแนวหน้าของการเคลื่อนไหวบนท้องถนน โดยเฉพาะกลุ่มที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นกลุ่มชนชั้นล่างในเมือง ซึ่งเป็นนักศึกษาอาชีวะด้วยซ้ำ

สมัชชาคนจน กนกรัตน์กล่าวว่าตัวเองเป็นคนรุ่นที่เติบโตมากับสมัชชาคนจน แม้ว่าในช่วงต้นจะดูเหมือนเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่เราเห็นการลุกขึ้นของสามัญชนในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและปกป้องสิทธิของพวกเขา แต่ในเชิงรูปธรรม การเคลื่อนไหวของพวกเขายังคงเป็นการผลักดันและส่วนใหญ่เติบโตภายใต้การนำของปัญญาชนชนชั้นกลาง ทั้ง เอ็นจีโอ นักวิชาการ สื่อมวลชน 

นอกจากนั้นพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในการขยายฐานการสนับสนุนไปสู่เครือข่ายหรือชนชั้นอื่นๆ ภายใต้รัฐบาลที่อ่อนแอในช่วงทศวรรษ 2530 ในช่วงของรัฐบาลของบรรหาร ศิลปอาชา, ชวลิต ยงใจยุทธ, และชวน หลีกภัย พวกเขาอาจประสบความสำเร็จบ้างในการต่อรองกับรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ แต่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับรัฐบาลที่เข้มแข็งหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ในสมัยรัฐบาลทักษิณ พวกเขากลับประสบความล้มเหลว 

ในการเกิดขึ้นของมวลชนคนชั้นกลางที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยคือขบวนการเสื้อเหลือง ช่วงเริ่มต้นเป็นการลุกขึ้นของฝากก้าวหน้าจากปีกต่างๆ เพื่อตรวจสอบและคานอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่การตัดสินใจเรียกร้องการสนับสนุนจากชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม และเลือกจัดตั้งมวลชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นฐานมวลชน ทำให้ในเวลาอันไม่ช้า 

ขบวนการดังกล่าวถูกยึดกุมโดยชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม และมวลชนฝ่ายกษัตริย์นิยม ศาสนานิยม และชาตินิยมสุดขั้ว จนกลายเป็นการเคลื่อนไหวมวลชนฝ่ายขวาครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

สำหรับขบวนการเสื้อแดง มวลชนถูกปราบ ถูกติดตาม ถูกคุกคาม ผู้นำทางการเมืองของพวกเขาถูกจับติดคุก และหลายคนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ จนในท้ายที่สุด พรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองของเขาต้องยอมเลือกเส้นทางการเมืองแบบประนีประนอมกับชนชั้นนำ 

ชัยชนะของของพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล และขวบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความหวังแห่งความเปลี่ยนแปลงก็ประสบความล้มเหลวในระยะสั้น ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ยังประสบความสำเร็จในการแบ่งแยกและปกครอง ดึงพันธมิตรฝั่งประชาธิปไตยให้ถอนตัวจนไม่สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ 

ในปี 2563 ขบวนเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ข้อเรียกร้องของพวกเขาท้าทายโครงสร้างอำนาจรัฐจนชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมตั้งตัวไม่ได้ แต่ในเวลาไม่ช้า ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมก็ค่อยๆ ปรับตัวในการกดดันทำให้ทั้งแกนนำและผู้สนับสนุนค่อยๆ ลดการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ท้าทายรัฐบาล

ผลกระเทือนจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่คาด (ไม่) ถึง

กนกรัตน์กล่าวต่อว่า สิ่งที่พูดมาทั้งหมดมันดูน่าหดหู่ แต่นี่คือสิ่งที่เราพบ การเคลื่อนไหวทั้งหมดประสบกับความล้มเหลวและเผชิญกับข้อจำกัดมากมาย 

แต่หากเราเปลี่ยนมุมมองการวิเคราะห์โดยเฉพาะความพยายามและจุดตัดทางการเมือง ผ่านการผลสะเทือนที่มีต่อประชาธิปไตยในระยะยาว โดยเฉพาะผลลัพท์ในเชิงทบทวี (Synergetic Effects) ความเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกครั้งมันเกิดผลระยะยาวที่คาดไม่ถึงตามมาอีกมากมายหลายมิติด้วยกัน

มิติที่ 1 การเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งได้สร้างบุคลากรทางการเมืองที่สำคัญ เช่น บทบาทของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท) ทำให้เกิดคนอย่าง บุญเลิศ วิเศษปรีชา, ชัยธวัช ตุลาธน, ธนาพล อิ๋วสกุล (บก. ฟ้าเดียวกัน) สุริยะใส กตะศิลา ฯลฯ

บุคคลเหล่านี้นอกจากจะทำงานรณรงค์ทางการเมืองในระยะยาวแล้ว จำนวนมากยังเข้าไปเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐ เอกชน และสถาบันทางสังคมอื่นๆ และสร้างแรงกระเพื้อมในการสร้างคนรุ่นใหม่ให้ตื่นตัวทางการเมือง 

ในระยะสั้น การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองทำให้ผู้คนทั้งที่มีประสบการณ์ตรงและสังเกตุการณ์เปิดโลกทัศน์ที่มีต่อสังคมที่เขาดำรงอยู่ ได้เรียนรู้ถึงโลกทัศน์ใหม่ๆ ที่ท้าทายโลกทัศน์เดิมของพวกเขา ผลที่ตามมาคือทำให้อนุรักษ์นิยมกลายเป็นเสรีนิยม ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่เปลี่ยนก็เริ่มเรียนรู้รายละเอียดและจุดยืนของอีกฝ่าย จนท้ายที่สุดยอมรับว่าอีกฝ่ายมีตัวตนอยู่จริง 

หลังป่าแตกเมื่อปลายทศวรรษที่ 2520 คนรุ่นหนุ่มสาวผิดหวังเป็นจำนวนมาก หลายคนแทบไม่รู้ว่าอุดมการณ์ของพวกเขาคืออะไร แต่สิ่งสำคัญที่พวกเขาได้เลยคือ ทักษะการทำงานการเมือง การระดมผู้คน การจัดทำนโยบาย ฯลฯ ทำให้คนรุ่นเดือนตุลาฯ กลายมาเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง เอ็นจีโอ นักวิชาการ นักธุรกิจ สื่อมวลชน และข้าราชการฝ่ายก้าวหน้า และในเวลาต่อมาทักษะเหล่านั้นก็กำลังถูกบ่มเพาะในนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ยังคงยืนหยัดเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมในรูปแบบที่หลากหลาย 

ความตื่นตัวทางการเมืองยังขยายตัวจากรุ่นสู่รุ่น งานวิจัยจำนวนมากพบว่าความตื่นตัวทางการเมืองและแนวคิดแบบเสรีนิยมมีแนวโน้มถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นในครอบครัวได้มากกว่าความคิดแบบอนุรักษ์นิยม 

ส่วนคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเติบโตมาในยุคเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง แต่การตื่นตัวและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองมันเป็นกระแสหลักในสังคม จนคนรุ่นใหม่เริ่มต้นด้วยความเชื่อที่ว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน

มิติที่ 2 ทางวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 แม้จะผ่านมา 92 ปีแล้ว การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอาจไม่สำเร็จ แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอด 92 ปี จนถึงปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป และแนวคิดแบบเสรีนิยมกลายเป็นความคิดกระแสหลักในสังคมไทย

มิติที่ 3 ผลกระเทือนทางการเมือง แม้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจะถูกยุบครั้งแล้วครั้งเล่า และปัจจุบันพรรคอันดับที่ 1 ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมานับตั้งแต่การมีพรรคไทยรักไทย จนถึงพรรคประชาชน ภาคประชาชนของไทยสามารถสร้างการยอมรับพรรคการเมืองเพื่อเข้าไปผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางกฏหมายและนโยบายได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ตัวแทนภาคประชาชนเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ของรัฐไทยอีกต่อไปทั้งการเสนอนโยบายและกฏหมาย

ผลที่ตามมาที่ไม่คาดฝันและไม่ได้ตั้งใจ (Unexpected and Unintended Consequences) ความพ่ายแพ้ในการพลักดันหรือล้มเหลวในความเปลี่ยนแปลง แต่มันสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงความคิดที่ผู้คนมีต่อการเมืองได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน มันได้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญในระยะต่อมา โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563-2564

ในทางตรงกันข้าม เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติของรัฐไทย ในบางด้านรัฐที่เคยเข้มแข็งกลับอ่อนแอ ในบางด้านรัฐที่เคยอ่อนแอกลับเข้มแข็ง ที่ผ่านมารัฐทั่วโลก พยายามทุกวิถีทางในการสถาปนาอำนาจผ่านกลไกใน 4 กลไกด้วยกันคือ

กลไกที่หนึ่ง การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันท่ามกลางความแตกแยกของชนชั้นนำ กลไกที่สอง การเพิ่มความสามารถของรัฐในการจัดการทรัพยากร กลไกที่สาม การสร้างอำนาจนำครอบงำความคิดของผู้คน และ กลไกสุดท้าย การทำให้ผู้คนไม่สนใจการเมือง (Depoliticizes)

รัฐไทยในอดีตประสบความล้มเหลวในกลไกที่ 1 และ 2 แต่ประสบความสำเร็จในกลไกที่ 3 และ 4 จากยุคศักดินาจนถึงรัฐชาติสมัยใหม่ของสยาม รัฐสยาม/ไทย พยายามทำทุกวิถีทางในการดุลอำนาจระหว่างชนชั้นนำและพันธมิตรกลุ่มต่างๆ อย่างระมัดระวัง 

แต่ท้ายที่สุดก็ประสบกับความล้มเหลวในการสร้างความจงรักภักดีในระยะยาว และความสัมพันธ์อันเปราะบางของชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ มักแตกแยกและถอนการสนับสนุนชนชั้นชั้นปกครองเป็นระยะๆ แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการเปลี่ยนรัชสมัย เราจะเห็นความเป็นปึกแผ่นของชนชั้นนำอนุรักษ์อย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งราชสำนัก ทุน รัฐราชการ ทหาร ตำรวจ 

ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต กลับเผชิญกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอำนาจนำทางความคิด (Hegemony) หรือ ความพยายามในการทำให้ประชาชนเลิกสนใจและเฉื่อยชาทางการเมือง (Depoliticizes) 

ในอดีตรัฐไทยสมัยใหม่ประสบความสำเร็จในการสร้างอำนาจผ่านความคิดเรื่องชาติ ศาสนา และพระมหากษัติริย์ โดยเฉพาะรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 แม้ถูกท้าทายบ้างในช่วงสั้น ๆ แต่ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ แต่ในช่วงหลังการรัฐประหาร 2 ครั้งหลัง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมของไทยกลับต้องเผชิญกับวิกฤติศรัทธา ทั้งสถาบันศาสนา กองทัพ ระบบตุลาการ และสถาบันหลักอื่นๆ ของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม

สำหรับการทำให้ผู้คนเฉยชาทางการเมือง (Depoliticize) รัฐสยาม/ไทย ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ทั้งการทำให้ผู้คนเชื่อว่าการเมืองไม่เกี่ยวข้องอะไรกับพวกเขา ผ่านสถาบันครอบครัว โรงเรียน สื่อ และสถาบันทางศาสนา 

การกบฏที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายขอบทั้ง กบฏผีบุญ กบฏเงี้ยว กบฏพญาผาบ กบฏแขก 7 หัวเมือง และการกบฏมักจะถูกปราบปรามอย่างรวดเร็ว

แต่ในระยะหลังกลับพบว่า รัฐไทยประสบกับความล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในทุกมิติ และความผลิกผันอีกมากมายที่กลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตและความคิดของผู้คน 

แทนที่จะพยายามปรับตัวเพื่อสามารถครองใจคนได้แบบในอดีต ในระยะสั้นรัฐไทยปรับตัวด้วยการเน้นการใช้ความรุนแรงที่มองไม่เห็น ทั้งการข่มขู่คุกคามและใช้กฎหมายปิดปาก 

จากประสบการณ์การเมืองทั่วโลกกลับพบว่า วิธีการดังกล่าวสามารถหยุดความต้องการการมีส่วนร่วมได้เพียงระยะสั้น แต่ในระยะยาวผู้คนที่ตื่นตัวทางการเมือง ยังคงสามารถรักษาความสนใจทางการเมืองและกลับมาแสดงออกและมีส่วนร่วมทางการเมืองต่อไป

จากการทบทวนในอดีต และสถานการณ์ปัจจุบัน เราเห็นอะไรบ้างในอนาคต?

เราจะเห็นได้ว่าพลังเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม มีอำนาจต่อรองระหว่างชนชั้นและแกนนำ ฐานมวลชน และพลังในระบบรัฐสภา มีอำนาจพอกัน ทั้งในแง่ของจำนวน ความชอบธรรม ในการเมืองทางการและไม่เป็นทางการ คำถามต่อมาคือ 

จากนี้ไปประชาธิปไตยจะลงหลักปักฐานโดยอัตโนมัติเลยหรือเปล่า เมื่อพลังของชนชั้นกลางและสามัญชนเพิ่มเติบโตขึ้นไม่น้อยไปกว่าพลังของชนชั้นนำและมวลชนฝ่ายอนุรักษ์นิยม ชนชั้นนำจะยอมรับว่าพลังของชนชั้นอื่นๆ มีมากพอๆ กับพวกเขา และพวกเขาต้องเคารพเสียงเหล่านี้ หรือไม่

คำตอบคือ “ไม่” 

ดังนั้นจึงเสนอส่วนสุดท้ายที่นำเสนอถึงความเป็นไปได้ แบบย่อๆ ว่ามีอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้น และต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ผ่านการอ้างอิงและถอดบทเรียนจากชุดประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในประเทศต้นแบบประชาธิปไตยอื่นๆ ที่ผ่านประสบการณ์หลายร้อยปี

เมื่อเปรียบเทียบกับยุโรปในศตวรรษที่ 19 เราจะพบว่าเป็นช่วงเวลาที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่เราเผชิญในปัจจุบัน 

เรารู้จักยุโรปในศตวรรษที่ 19 ในนาม ศตวรรษที่ 19 อันแสนยาวนาน ซึ่งเป็นเวลา 125 ปี นับตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 (พ.ศ.2332) ถึงการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ.1918-พ.ศ.2461) เป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายชนชั้นนำจารีต กับพลังชนชั้นกลาง ผู้ประกอบการ ชนชั้นสามัญชนกรรมาชีพที่เริ่มจัดตั้งองค์กรทางการเมือง และมีฐานมวลชนไม่น้อยไปกว่าฝ่ายที่สนับสนุนอำนาจนิยม

การต่อสู้กันนั้นชนชั้นนำยังไม่ยอมแพ้และเชื่อว่าพวกเขาจะยังสามารถกลับมาควบคุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทั้งความพยายามรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือเผด็จการโดยผู้นำสามัญชนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ผลทำให้เราเห็นปฏิวัติครั้งแล้วครั้งเล่าในยุโรปที่เกิดขึ้นตลอดในช่วง 100 ปี ของศตวรรษที่ 19 อันแสนยาวนาน

ถ้าเราโชคดี เราจะได้เห็นการลงหลักปักฐานของประชาธิปไตย นั่นคือการยอมรับระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยทุกชนชั้น หลักการเรียนรู้จากการแพ้ชนะในหลายระรอก และชนชั้นนำยอมรับความจริงในที่สุด ว่าการเอาชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ 

แต่ถ้าเราโชคร้าย ชนชั้นนำยอมรับความจริงช้า ไม่ยอมปรับตัว แต่กลับยกระดับการต่อสู้และการกดขี่มากขึ้น ก็จะผลักให้ชนชั้นอื่นๆ ต้องยกระดับการต่อสู้ในรูปแบบเดียว ในหลายกรณีพลังชั้นอื่น ๆ มักไม่สามารถทัดทานพลังของชนชั้นนำได้ในระยะสั้น แต่ในระยะต่อไปในหลายกรณี เราจะเห็นถึงชัยชนะของชนชั้นอื่นๆ ในระยะยาว

หมายเหตุ เรียบเรียงจาก ปาฐกถา อนาคตสังคมไทย อนาคตชนชั้นนำ-ชนชั้นกลาง-สามัญชน โดย รศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในงานเส้นทางชาวนาไทย: รำลึก 50 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย วันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2567 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Lanner Joy: Poy Festival เทศกาลปอยแผ่นเสียงและคอมมูนิตี้ดนตรีในเชียงใหม่ ที่อยากชวนทุกคนมาม่วนมามาจอย

เรื่องและภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

“เชียงใหม่มีร้านแผ่นเสียงเยอะ แล้วทำไมไม่มี Festival เป็นของตัวเองบ้าง”

นี่เป็นคำถามที่ติดค้างอยู่ในใจของ ซี-สิโมนา มีสายญาติ และ ไมลส์-ดนตรี ศิริบรรจงศักดิ์ ก่อนที่จะค่อยๆ พัฒนาไอเดียและชักชวนเพื่อนๆ มาร่วมลงแรง จนเกิดเป็น ‘Poy Festival’ หรือ ‘ปอยเฟสติวัล 2024’ เทศกาลแผ่นเสียงและดนตรีที่รวมเหล่าคนรักในเสียงเพลงและวัฒนธรรมแผ่นเสียงจากทั่วทุกมุมโลก ที่จะจัดขึ้น 14-15 ธันวาคมนี้แล้ว ณ บ้านฟ้าฮ่าม เชียงใหม่

Poy ในที่นี้มาจากคำว่า ‘ปอย’ ในคำเมืองเราจะรู้กันว่าคำนี้มีความหมายว่า ‘งานรื่นเริง’ (นอกเสียจากที่จังหวัดลำปางจะเป็นในอีกความหมาย) นอกจากแค่เป็นเทศกาลสำหรับให้คนรักแผ่นเสียงมาเจอกันแล้ว ยังมีการแสดงสดจากศิลปินมากหน้าหลายแนว รวมไปถึงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ทางดนตรี เพื่อสร้างความรื่นเริงหรรษาให้กับชุมชนคนรักเสียงเพลงไปด้วยกัน

ทั้งสองคนเริ่มเก็บแผ่นเสียงกันตั้งแต่ตอนไหน

ไมลส์ : เราคลุกคลีกับดีเจและแผ่นเสียงอยู่แล้ว เริ่มเก็บสะสมแผ่นเสียงจริงจังก็ช่วงโควิดนี่แหละ เห็นหลายๆ คนก็เริ่มเก็บแผ่นเสียงช่วงนั้นเหมือนกัน

ซี : วงการแผ่นเสียงเริ่มกลับมาช้าๆ แต่พอโควิดก็กลับมาค่อนข้างบูม

ไมลส์ : แต่ก็ถือว่ากราฟมันลงนิดหน่อยนะ แต่คนยังซื้ออยู่ วงใหม่ๆ ก็ยังสนใจที่จะผลิตแผ่นเสียงออกมา เหมือนว่าพอสมัยนี้ทุกอย่างมันเป็น Streaming คนก็ไม่รู้จะหยิบจับอะไร ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราชอบและอยากสนับสนุนวงนี้จัง

เราสะสมแผ่นเสียงมันก็เป็น Format ที่ Analog ที่สุด แล้วก็เสียงดีที่สุด และเก็บได้นานที่สุด ถือว่าเป็น Format ที่อยู่มานานมากๆ ของวงการดนตรี 

ซี : ส่วนเราเริ่มสะสมเพราะพ่อ สะสมมาตั้งแต่เรียนปี 1 แล้ว แผ่นเสียงสำหรับเรา ทุกแผ่นเราจำได้ว่าได้มาจากไหน เหมือนมันมีเรื่องราวอยู่ในนั้น พอเราฟังเพลงใน Streaming เราก็ชอบนะ แต่เราจำเรื่องราวไม่ค่อยได้เท่าไหร่ แต่พอเป็นแผ่นเสียงแต่ละแผ่นที่เราซื้อ มันบอกถึงเรื่องราวและยุคสมัยว่าแผ่นนี้ซื้อตอนไหน นอกจากจะได้สะสมนักดนตรีที่เราชอบแล้ว เรายังได้ Reminder ตัวเองด้วย

แล้วเรากับพี่ไมลส์ก็ชอบไปคอนเสิร์ต หรืองาน Festival มาก เวลามีวงอะไรมาเล่นที่เชียงใหม่หรือกรุงเทพฯ เรากับพี่ไมลส์ก็จะไปดูกัน อีกอย่างคือพี่ไมลส์มีเพื่อนเปิดร้านแผ่นเสียงในเชียงใหม่เยอะ เลยคุยกันว่าเชียงใหม่มีร้านแผ่นเสียงเยอะ แล้วทำไมไม่มี Festival เป็นของตัวเองบ้าง

ก็เลยมาจัดปอยเฟสกัน?

ไมลส์ : มันจะมีวัฒนธรรมหนึ่งคือ Record Store Day เป็นงานที่ร้านแผ่นเสียงจะมาเปิดขาย เอาแผ่นหายากมาโชว์ มีแผ่นพิเศษเฉพาะอีเว้นท์นี้ มันจะอยู่ในช่วงเมษายนของทุกปีทั่วโลก คือแล้วแต่ว่าใครจะจัดก็ได้ ร้านแผ่นเสียงก็จะขายแผ่นในวัน Record Store Day ส่วนศิลปิน กับค่ายเพลงก็จะทำแผ่นพิเศษออกมาในวันนั้นเหมือนกัน มันก็จะผลิตจำนวนน้อยๆ แล้วก็หายาก คนเล่นแผ่นเสียงก็จะเฝ้ารอวันนี้

เราก็คุยกับร้านหนุ่มเท้าไฟ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำ Record Store Day ที่เชียงใหม่ แล้วก็จะมีชาวแก๊งกรุงเทพฯ ที่มาจอยกันบ้าง

ซี : พอคุยกับแก๊งดีเจกับร้านแผ่นเสียงแล้ว ก็เลยคิดว่าเราอยากจัดเทสกาลอะไรแบบนั้นช่วงสิ้นปีบ้าง ที่เป็น High Season เพราะ Record Store Day มันเป็นช่วงเดือนเมษายน เพราะเราอยากให้คนมาแล้วได้มาเห็นว่า Culture ของวงการแผ่นเสียงในเชียงใหม่มันเป็นยังไง ประกอบกับมีคนที่มาสนับสนุนไอเดียของพวกเราปอยเฟสเลยเกิดขึ้น

ไมลส์ : แต่เราก็กังวลอยู่ดีว่าไหนๆ ก็จัดงานแล้ว ก็อยากให้มีดนตรีสดด้วย อยากชูวงดนตรีในเชียงใหม่ ซึ่งหลายวงก็เติบโตไปแล้ว และก็มีแผ่นเสียงของตัวเองซึ่งเราก็น่าจะเอามาเปิดกันได้

ซี : มันก็เลยเกิดมาเป็นเทศกาลแผ่นเสียงและดนตรี ที่ในงานก็จะมีทั้งดนตรีสด , ตลาดแผ่นเสียง, DJs รวมไปถึง workshop และ talk เกี่ยวกับดนตรีและแผ่นเสียงจากทั่วทุกมุมโลก

ซึ่งเราก็นำเสนอในรูปแบบที่คนมาร่วมงานสามารถมาเลือกซื้อแผ่นเสียงได้ ไม่ว่าจะเป็นมือ 1 หรือ มือ 2 โดยตรงจากร้านแผ่นเสียงเอง ค่ายเพลง หรือกับมือศิลปินเองด้วย

Line up ของศิลปินที่มาเล่นในงานก็จะมีทั้งเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ที่หลายคนน่าจะชอบกัน อย่าง Solitude Is Bliss, Common People Like You, KIKI, Folk9, Yonlapa, คณะสุเทพการบันเทิง, Migrate To The Ocean, Paradise Bangkok Molam International Band และ Nenashi จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลายศิลปินมีแผ่นเสียงเป็นของตัวเองด้วย

สร้างพื้นที่ให้คนมาจอยกันด้วยแบบนี้ใช่ไหม

ซี : เหมือนฟังเพลงใน Streaming เราก็ไม่ได้เจอคนที่เรารู้จัก คนที่ชอบฟังเพลงเหมือนกัน แต่ถ้ามาเจอร้านแผ่นเสียง เราจะได้พูดคุยกันถึงเพลง ศิลปินที่ชอบ แถมยังได้รับคำแนะนำจากร้านอีก 

ไมลส์ : เพราะร้านแผ่นเสียงบางร้านจะมีของสะสมแนวพิเศษของเขา บางร้านชอบ Reggae บางร้านชอบร็อคยุค 70s ผู้ฟังหลายคนก็จะรู้ในทันทีว่าถ้าอยากไปหาเพลงใหม่ๆ ศิลปินใหม่ๆ ในแนวทางแบบนี้ ต้องไปเข้าหาที่ร้านแผ่นเสียงที่เขาต้องการ

ซี : อีกอย่างคือเราก็เบื่อที่จะเดินทางไปดูคอนเสิร์ตที่กรุงเทพฯ หรือที่ไหนแล้ว เราคิดว่าเชียงใหม่มันเหมาะกับทั้งภูมิประเทศ สังคม Culture ทุกอย่าง เชียงใหม่มันมีเฟสติลวัลอยู่แล้ว แต่แบบที่เราอยากให้มันมียังไม่มี เดี๋ยวเราทำเองก็ได้

คนเชียงใหม่มีวัฒนธรรมการฟังแผ่นเสียงยังไง 

ไมลส์ : เอาจริงๆ สมัยก่อนยุคดิสโก้ ช่วง 80s-90s ก็คือดีเจทุกคน เปิดแผ่นเสียงล้วนนะ แต่พอ Format แผ่นเสียงเริ่มหายไป คนเริ่มฟัง CD ฟัง MP3 พฤติกรรมเปลี่ยน คนจะไปฟังเพลงผ่านแผ่นเสียงไม่มีละ ยากละ

แต่ว่าก็จะมีบ้าง ช่วง 4-5 ปีมานี้ Listening Bars ที่โตเกียวมันบูมมั้ง ที่ยุโรป อเมริกาก็บูม อารมณ์แบบในบาร์ญี่ปุ่น อยู่คนเดียว เปิดแผ่นเสียงแจ๊ซ System ดีๆ ให้คนมานั่งฟังเพลง คุยกันเบาๆ จิบค็อกเทล 

อันนี้เป็นการสร้างพื้นที่ขึ้นมาเหมือนกัน แล้วก็ได้สัมผัสบรรยากาศ แต่ในเชียงใหม่ก็มีหลายร้านนะแบบนี้ อาจจะเป็นคาเฟ่ หรือบาร์ ที่เริ่มเอาแผ่นเสียงมาจัด Listening

ซี : ถ้าพูดถึงดนตรีสด เชียงใหม่ก็มีร้านดนตรีสดเยอะมาก เวลาคนมาเที่ยวเชียงใหม่ก็คือเหมือนมาฟังดนตรีสดด้วยนะ ค่ายเพลงก็มี ศิลปินเก่งๆ ที่เชียงใหม่ก็เยอะมาก

เห็นว่ามีการจัด Poy Fest Listening party SIDE กันด้วย ผลตอบรับดีไหม

ไมลส์ : เราตระเวนไปตามร้านขายแผ่นเสียงต่างๆ เพื่อที่จะโปรโมทร้านด้วย แล้วก็ช่วยกระจายข่าวไปด้วย ว่าในแต่ละที่ที่เราไปเค้ามีการเปิดแผ่นเสียง อย่าง 1st Press ก็จะเป็น City Pop แต่ละที่จะมีคาแรคเตอร์และลูกค้าประจำของเขา แล้วก็จะมีคาเฟ่ อย่าง Brewginning, SELF แล้วก็หนุ่มเท้าไฟ

ในอนาคตเราก็จะจัดอะไรแบบนี้ไปเรื่อยๆ ระหว่างปีด้วย เพื่อที่จะให้แผ่นเสียงได้กลายเป็น Norm ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เรื่องที่เข้าถึงยาก 

ปีนี้เชียงใหม่มีงานดนตรีเยอะมาก เห็นโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ยังไง

ซี :  Economy ในเชียงใหม่มันค่อนข้างแย่ ที่ผ่านมาเราเห็นร้านปิด ร้านเซ้งไปเยอะ คนใช้จ่ายก็น้อยลง แต่เราก็คิดว่ามันก็มีช่องทางของมัน เพราะว่า Music and Culture ในเชียงใหม่มันก็ใหญ่มากๆ

ไมลส์ : มันมี Music Festival ที่เอาศิลปินที่คนรู้จักมาแน่นอน แบบว่าติดชาร์ต 10 อันดับ ยังไงคนทั่วไป 100 คน รู้จัก 70 คนแน่ๆ แต่ของเราก็อาจจะ Niech มากกว่านั้น

อันนี้ก็คือความท้าทายของเราด้วย เลือกวงที่ไม่ได้เป็น Headliner ใหญ่ๆ หรืออยู่ค่ายดัง เราเลือกที่มัน Niech เพื่อที่จะปูทางแนวดนตรีต่อ

ซี : แต่ก็มีพี่เมธ (สุเมธ ยอดแก้ว) Minimal Records มาช่วย 

ไมลส์ : เพราะเราไม่มีประสบการณ์ขนาดนั้น ในการดีลกับค่ายเพลง เพราะเราสองคนก็โนเนมมาก 

ซี : แล้วพี่เมธเขาก็มี insight ที่จะมองว่าวงนี้เหมาะกับงานเรา 

แสดงว่าปอยเฟสคนมาช่วยเยอะมาก

ซี : เยอะ พี่เมธก็จะดูเรื่องวงดนตรี ภูริญ (ภูริญ ไชยต๊ะ) และพี่หนวด (ชัยพร โสดาบรรลุ) จากร้านหนุ่มเท้าไฟ ก็ดูเรื่องร้านแผ่นเสียงกับดีเจแผ่นเสียงที่จะมาเปิด ร้าน Nuii และ Fung  record bar จะดูเรื่องร้านอาหาร ทีมโค้ก (ชลธิชา นาคะเกษียร) กับโด่ง (ศักดิ์รพี รินสาร) มาดู Workshop และอีกหลายคนในชุมชนดนตรีและแผ่นเสียงมาช่วยจัด

ปอยเฟสมันเป็นงานกลุ่ม ทำกันสองคนไม่ได้ ที่เราใช้คำว่างานปอย เพราะมันเหมือนกับปอยหลวง ทุกคนมาม่วนมาจอยกัน มีอะไรก็เอามารวมกัน

ความจริงเราก็เรียกว่า Indiependence Music Festival ก็ได้เพราะเราไม่ได้มีสปอนเซอร์หลัก ไม่ได้มี Agenda ในการขายของขนาดนั้น

แล้ว Poy Fest มีจุดเด่นหรือข้อแตกต่างกับเทศกาลดนตรีอื่นๆ ในเชียงใหม่ยังไง

ไมลส์ : สิ่งที่ต่างกันคือ เราอยากรวมวัฒนธรรมการฟังที่หลากหลาย ไม่ต้องเป็นแผ่นเสียงก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเสียง ซีดี หรือเทป ชอบฟังเพลงเฉยๆ ฟังผ่าน Streaming ก็ได้

เราเลือกวงดนตรีมาจากทั้งเชียงใหม่และกรุงเทพฯ แล้วก็มีร้านค้าขายซีดี แผ่นเสียง และจัด Talk เพื่อที่จะให้คนหน้าใหม่เข้ามาก็ได้ ซึ่งเขาอาจจะไม่รู้จักเครื่องเล่นแผ่นเสียงเลยว่ามันทำงานยังไง 

ซี : เรามี Workshop คุ้ยแผ่นเสียง โดยทีมดีเจที่เขาไปคุ้ยทั่วโลก วิธีการเลือกเครื่องเล่นแผ่นเสียงมือสอง เลือกกันยังไง

เหมือนเป็นทั้งพื้นที่ที่คนมาสนุกกัน แล้วก็เป็นพื้นที่ให้คนที่เริ่มต้นมาเรียนรู้ด้วยงี้

ซี/ไมลส์  : ใช่

ซี : เป็นการหว่านล้อมให้คนเข้ามา

ไมลส์ : ความจริงเราก็ x กับ TEMPO.wav ด้วยนะ เขาก็ดันไปในทาง Media ในเชียงใหม่ เราก็จัดไปทาง Radio และคอนเสิร์ต

ซี : ภาพใหญ่ที่มองของปอยเฟส ก็คือ อยากจะช่วยผลักดันให้ดนตรี Original Chiangmai  มี Platform ของมัน

ในอนาคตมีอะไรสนุกๆ ให้รอติดตามไหม

ซี : ปีหน้าจัดอีกรอบ 100 %

ไมลส์ : งานปอยมันมาพร้อมกับโปรเจกต์ทำแผ่นเสียงอีกโปรเจ็คนึง เป็นแผ่นเสียงที่รวมศิลปินในเชียงใหม่ ปีแรกเราทำได้ 12 วง มีทั้งเพลงเก่า เพลงใหม่ เป็นศิลปินในเชียงใหม่หมดเลย แล้วก็จับมารวมเพื่อที่จะขายในงานปอย หลังจากนั้นก็จะขายตามร้านแผ่นเสียง อันนี้เป็นโปรเจกต์ที่คิดว่าอยากทำต่อ

ซี : แผ่นเสียงชื่อว่า ‘เชียงใหม่ซาวด์’ เป็นแผ่นเสียงที่มีวง 12 วง เป็นวงเชียงใหม่ที่มีคุณภาพเยอะมาก แล้วก็ Iconic ซึ่งยังไม่เคยผลิตมาเป็นแผ่นเสียง พี่ไมลส์ก็เลยไป Curet แล้วก็รวบรวมขอซื้อลิขสิทธิ์มาเเพื่อรวบรวมเอามาเป็นแผ่นนี้ เราอยากทำให้มันเหมือนเป็นของฝากของคนเชียงใหม่

สมมติว่าฝรั่งมาหรือคนมาเที่ยวเชียงใหม่ แล้วไปร้านแผ่นเสียง เห็นอันนี้แล้ว เฮ้ย! มันต้องซื้อกลับไปว่ะ เพราะมันเป็นการแนะนำเชียงใหม่ในมุมมองของเสียงดนตรี

ไมลส์ : มีทั้ง Folk  Electronic ไปจนถึง Rock ซึ่งในปีหน้าก็อยากทำอีก 

แล้วก็อาจจะมีโปรเจกต์ที่ชวนวงดนตรีมาทำแผ่นเสียงด้วยกัน

ซี : ถ้าศิลปินเขาปล่อยแผ่นเสียงเมื่อไหร่ ก็จะไปทำ Listening Party ให้เขา บวกกับ Record Store Day สิ้นปีก็จะมีงานปอยต่อ

ไมลส์ : หรืออย่างเช่น มีวงเชียงใหม่ที่ทำแผ่นเสียงแต่ยังไม่ออก ก็ให้มาออกที่งานปอย มันก็จะทำให้งานปอยพิเศษขึ้น คนก็จะมาซื้อที่นี่ที่แรก ได้ลายเซนต์หรือราคาพิเศษด้วย นี่คือหมุดหมายที่เราอยากทำให้เกิด

งั้นฝาก Poy Festival ครั้งนี้หน่อย

ไมลส์ : ถ้าเป็นคนที่ฟังแผ่นเสียง ก็ถือว่าคุ้มมาก เชิยชวนเลย แล้วก็ได้ส่วนลดที่จะเอาไปซื้อในงานด้วย 

ซี : จัดที่บ้านฟ้าฮ่าม Ping River เป็นโลเคชั่นใหม่อยู่ริมแม่น้ำปิงเลย สวยมาก เป็น Outdoor ริมแม่น้ำ เย็นสบาย มีอาหารครบ อยู่ยาวๆ บ่ายสองถึงเที่ยงคืน 14-15 ธันวานี้

สามารถซื้อบัตร ทั้งในรูปแบบ 1 DAY Pass ในราคา 500 บาท และ 2 DAY Pass ในราคา 800 บาท ได้ที่เว็บไซต์ https://ticket.eventpass.co/en/t/poyfest

ชำแหละ ‘มติ ครม. 24 ก.ย. 67’ วิเคราะห์ผลกระทบแรงงานข้ามชาติ หวั่นขั้นตอน ล่าช้า-ยุ่งยาก-ซับซ้อน

เรื่อง: จตุพร สุสวดโม้

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ร่วมกับกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว (GEFW) จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ชำแหละมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 กันยายน 2567 การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ” โดยมี ผศ.ดร.จิราภร เหล่า เจริญวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ 

ในช่วงต้นของการเสวนา ด้าน ผศ.ดร.จิราภร เหล่า เจริญวงศ์ กล่าวเปิดงานถึงความสำคัญของประเด็นนี้ที่มีผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่พึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา และลาว ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนแรงงานข้ามชาติในระบบอยู่ประมาณ 2.4 ล้านคน หากกระบวนการขึ้นทะเบียนและต่ออายุใบอนุญาตทำงานไม่สำเร็จภายในกรอบเวลาที่กำหนด อาจส่งผลให้แรงงานกลุ่มนี้กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายและนำไปสู่การทำงานในระบบที่ไม่เป็นทางการ

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา มีการพิจารณา 4 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการจัดการแรงงานข้ามชาติ ได้แก่ การเปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างชาติใหม่จากพม่า กัมพูชา และเวียดนาม, การต่ออายุแรงงานที่อยู่ในระบบ, การขยายระยะเวลาการเปลี่ยนนายจ้าง และการยกเว้นการแจ้งเข้าในกรณีแรงงานที่ยื่นขออนุญาตทำงานครั้งแรก โดยเฉพาะประเด็นการต่ออายุซึ่งจะมีการขยายระยะเวลาถึงปี 2568 ทำให้มีการพูดถึงการขยายระยะเวลาและกระบวนการตรวจสอบต่างๆ อย่างละเอียด โดยในส่วนของการจดทะเบียนแรงงานใหม่และการต่ออายุแรงงานที่อยู่ในระบบนั้นยังมีปัญหาความล่าช้าและขั้นตอนที่ซับซ้อนจากประเทศต้นทางที่ต้องมีการประสานงานกับไทยอย่างใกล้ชิด

อดิศรกล่าวถึงความกังวลในการดำเนินการในช่วงเวลาจำกัด โดยระบุว่า การดำเนินการเพื่อให้แรงงาน 2 ล้านคน จากพม่าและประเทศอื่นๆ ได้รับการต่ออายุและจดทะเบียนภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 นั้นมีความท้าทายสูง เนื่องจากขั้นตอนต้องใช้เวลาในการอนุมัติจากทั้งภาครัฐไทยและประเทศต้นทาง” ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนด จะทำให้แรงงานกลุ่มนี้กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายทันที นอกจากนี้ นายอดิศรยังได้สะท้อนข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย ของแรงงานที่ต้องประสานงานกับประเทศต้นทางเพื่อจัดการเอกสารการทำงาน รวมถึงข้อจำกัดในเรื่องของการส่งกลับแรงงานที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกณฑ์ทหารในประเทศต้นทาง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับแรงงานที่หนีการเกณฑ์ทหารเข้ามาทำงานในไทย

ในส่วนของความเสี่ยงที่ไทยจะต้องรับผิดชอบนั้น อดิศรกล่าวว่า หากการดำเนินการไม่เป็นไปตามแผน จะส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ รวมถึงการเพิ่มจำนวนแรงงานผิดกฎหมาย และทิ้งท้ายว่า จำเป็นต้องมีการหารือเพิ่มเติมเพื่อหาทางออกที่ชัดเจน และเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดการแรงงานข้ามชาติในระยะยาว โดยสรุป นายอดิศรย้ำว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยยังคงต้องการการบริหารจัดการที่รัดกุมและระมัดระวัง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและไม่เกิดปัญหาผิดกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อทั้งแรงงานและความมั่นคงของประเทศในอนาคต

ด้าน จำนงค์ ทรงเคารพ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการต่ออายุใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานต่างด้าว พร้อมทั้งชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับกระบวนการดำเนินการในระบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์

จำนงค์กล่าวว่า การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยนั้นมีมานาน โดยการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสามารถทำได้ในหลายรูปแบบตามสถานการณ์ต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแล้ว ขั้นตอนถัดไปคือการขอใบอนุญาตทำงาน ซึ่งในบางกรณีได้มีการพิสูจน์สัญชาติและการต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้ต่อเนื่อง สำหรับการดำเนินการในปัจจุบัน กระบวนการต่ออายุใบอนุญาตทำงานนั้นไม่ใช่เพียงแค่การต่ออายุทั่วไป แต่จะเป็นการเริ่มต้นใหม่สำหรับแรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานมาหลายปี ซึ่งสามารถทำได้ตามหลักการของ MOU ที่ทำระหว่างประเทศไทยกับประเทศต้นทาง โดยจะมีการอนุญาตทำงานครั้งละ 2 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 2 ปี

ในส่วนของการต่ออายุใบอนุญาตทำงานนั้น จำนงค์ชี้แจงว่า การดำเนินการจะมีความสะดวกขึ้นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยให้สามารถยื่นข้อมูลและบันทึกรายชื่อผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยนายจ้างหรือบริษัทที่ได้รับมอบอำนาจสามารถดำเนินการแทนแรงงานต่างด้าวได้ โดยไม่จำเป็นต้องพาแรงงานไปที่สถานทูตหรือสถานที่ต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความแออัดและเพิ่มความสะดวกในการดำเนินการ

จำนงค์ยังเน้นย้ำว่า การดำเนินการในรูปแบบนี้จะช่วยให้การจ้างงานแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยดำเนินไปอย่างถูกกฎหมาย และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในการทำงานและธุรกิจของนายจ้าง ซึ่งจะไม่เกิดอุปสรรคหรือปัญหาจากกระบวนการที่ซับซ้อนอีกต่อไป การปรับปรุงระบบอิเล็กทรอนิกส์เริ่มต้นในวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และคาดว่ากระบวนการจะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยนายจำนงค์หวังว่าการดำเนินการในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการแรงงานต่างด้าวและทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น.

อรรถพันธ์ มาศรังสรรค์ ที่ปรึกษาด้านแรงงาน สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาของการใช้แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมทูน่าของประเทศไทย โดยเฉพาะการพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเช่น พม่า ซึ่งขณะนี้มีจำนวนถึง 70,000 คนในอุตสาหกรรมนี้ อุตสาหกรรมทูน่าของไทยสร้างรายได้ถึง 73,500 ล้านบาทต่อปีและเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกทูน่ารายใหญ่ที่สุดของโลก โดยส่วนใหญ่แรงงานในอุตสาหกรรมนี้มาจากแรงงานต่างชาติ ซึ่งพบว่าแรงงานไทยไม่ค่อยให้ความสนใจในงาน 3D หรือ Difficult, Dirty, Dangerous อย่างเช่นในโรงงานผลิตทูน่า การใช้แรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องปกติที่สมาคมได้ชี้แจงว่าเริ่มมีปัญหามากขึ้นเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลแรงงาน และการตรวจสอบแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง

อรรถพันธ์ ยังพูดถึงความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 กันยายน ที่กำหนดให้ต้องมีการลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติในระบบของรัฐบาลภายในเวลา 46 วัน ซึ่งมีความท้าทายในการประมวลผลข้อมูลและการรับรองว่าเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนดโดยไม่มีปัญหาทางเทคนิคที่อาจเกิดจากการล่มของระบบคอมพิวเตอร์ และเสนอแนวทางการใช้ Big Data เพื่อการจัดการข้อมูลแรงงานข้ามชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลจากแต่ละจังหวัดและอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถคำนวณและจัดการจำนวนแรงงานที่ต้องการในแต่ละภาคอุตสาหกรรมได้อย่างแม่นยำและทันเวลา

“หากเรามี Big Data ที่แข็งแกร่ง เราจะสามารถบริหารจัดการแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคำนวณปริมาณแรงงานที่ต้องการในแต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแรงงานข้ามชาติในทุกๆ จังหวัด” อรรถพันธ์กล่าวในท้ายที่สุด.

นิลุบล พงษ์พยอม ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มนายจ้างแรงงานต่างด้าว ได้แสดงความกังวลต่อกระบวนการที่รัฐบาลกำหนดให้การขยายใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานต่างด้าวในครั้งนี้ต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 โดยระบุว่า ระยะเวลาและขั้นตอนต่างๆ เช่น การตรวจสุขภาพ การต่อวีซ่า การจ่ายภาษี รวมถึงการยื่นเอกสารต่อกรมการจัดหางานนั้นมีความยุ่งยาก และทำให้กลุ่มนายจ้างรายย่อยต้องเผชิญกับความล่าช้าและภาระที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากระบบออนไลน์ที่ไม่เสถียร และการขายคิวในกระบวนการที่หลายคนพบเจอ

ข้อเสนอจากกลุ่มนายจ้างคือการยกระดับการใช้ระบบออนไลน์ (E-Services) สำหรับขั้นตอนการยื่นเอกสารและการจ่ายเงิน เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่วิกฤตน้ำท่วมทำให้การเดินทางไปยังสำนักงานต่างๆ เป็นเรื่องยากลำบาก

ทั้งนี้ ข้อกำหนดที่เพิ่มขึ้น เช่น การบังคับให้ซื้อประกันสุขภาพเอกชน ยังเป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความไม่พอใจจากกลุ่มนายจ้างที่ส่วนใหญ่เป็น SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ที่เห็นว่าภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นนั้นไม่สอดคล้องกับภาระของธุรกิจ การขยายมติ ครม. ต่ออายุแรงงานต่างด้าวในครั้งนี้สะท้อนถึงความท้าทายในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 2 ล้านคน โดยในระยะเวลาที่เหลือไม่ถึง 2 เดือนนั้น ต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใต้เงื่อนไขที่ค่อนข้างเข้มงวดและไม่ยืดหยุ่น

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านแรงงานข้ามชาติ โดยระบุว่า การปรับเปลี่ยนระบบการจัดการแรงงานข้ามชาติผ่าน MOU เพื่อให้แรงงานต่างชาติสามารถเข้าและออกจากประเทศได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นความฝันที่ถูกวางไว้ตั้งแต่ปี 2533 และกำลังจะเกิดขึ้นในระยะใกล้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระบบนี้ได้สร้างความกังวลให้กับทั้งภาครัฐและเอกชน การเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบต่อทั้งกระทรวงแรงงานและภาคเอกชน โดยเฉพาะในเรื่องของค่าใช้จ่ายและขั้นตอนที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบในด้านเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบใหม่ ทั้งนี้ แม้ว่าระบบออนไลน์จะได้รับการพัฒนาเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว แต่การขาดการประชาสัมพันธ์ที่ชัดเจนยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำระบบใหม่ไปใช้

กระทรวงแรงงานกับความพร้อม แม้กระทรวงแรงงานจะยืนยันถึงความพร้อมในการปรับใช้ระบบออนไลน์ แต่ภาคเอกชนยังคงสงสัยในความสามารถของระบบในการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เหลือเพียง 40 วันก่อนการดำเนินการเต็มรูปแบบ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาในการดำเนินการ และอาจส่งผลให้เกิดการทุจริตหรือคอร์รัปชันตามมา

ข้อเสนอในการขยายเวลา รศ.ดร.กิริยาได้เสนอให้ขยายเวลาการปรับใช้ระบบ MOU ออกไปอีก เพื่อให้กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ครบถ้วน และช่วยให้เอกชนสามารถปรับตัวได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดหวังว่าจะสามารถสร้างระบบที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต การปรับระบบแรงงานข้ามชาตินี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการที่ดีและการรับมือกับข้อจำกัดของภาคเอกชนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การเปลี่ยนแปลงนี้สำเร็จไปด้วยดี

สหัสวัต คุ้มคง ส.ส. พรรคประชาชน ได้กล่าวถึงปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาทางระบบและการจัดการที่ซับซ้อน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่มีทั้งวิกฤตสงครามในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา รวมถึงปัญหาการขึ้นทะเบียนแรงงานที่เต็มไปด้วยความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูง โดยมองว่าการปฏิรูประบบดังกล่าวจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

สหัสวัตชี้ว่า กระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงานในปัจจุบันไม่เพียงแต่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ยังซับซ้อนและใช้เวลานาน ซึ่งขัดกับหลักการสากลที่มุ่งเน้นให้กระบวนการเป็น “ถูกต้อง รวดเร็ว และง่าย” เขายกตัวอย่างกระบวนการขึ้นทะเบียนที่มีอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน ว่าแทบไม่มีความสะดวกในการเข้าถึง เพราะผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจต้องพึ่งพาบริษัทจัดหางานเอกชน (บจ.) ซึ่งมักจะสร้างปัญหาด้านกฎระเบียบและอาจทำให้เกิดการละเมิดกฎหมาย

สหัสวัต เสนอว่า ควรมีการจัดตั้งระบบ “One Stop Service” เพื่อให้ผู้จ้างงานสามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติได้ในที่เดียวและทำให้กระบวนการทั้งหมดยืดหยุ่น รวดเร็ว และสะดวกยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทเอกชนหรือกระบวนการที่ซับซ้อนอีกต่อไป อีกทั้งควรนำเสนอแนวทางการกระจายอำนาจในการจัดการขึ้นทะเบียนไปยังหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งสามารถมีฐานข้อมูล (Big Data) ที่สามารถติดตามและดูแลแรงงานข้ามชาติในพื้นที่นั้น ๆ ได้โดยตรง

อีกหนึ่งประเด็นที่นายสหัสวัตเน้นย้ำคือการจัดการประกันสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งควรจะรวมเข้ากับระบบประกันสังคมของรัฐไทย โดยไม่ควรปล่อยให้ข้อมูลสุขภาพของแรงงานข้ามชาติอยู่ในมือของภาคเอกชน เพราะข้อมูลเหล่านี้มีมูลค่าสูงและเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น การให้แรงงานข้ามชาติทุกคนได้รับการคุ้มครองในระบบประกันสังคมจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ในส่วนของการทำ MOU ระหว่างรัฐบาลไทยและประเทศต้นทาง เช่น เมียนมาร์ นายสหัสวัตยอมรับว่าขณะนี้สถานการณ์ในเมียนมาร์ทำให้การเจรจาทำ MOU เป็นเรื่องยาก แต่เขามองว่าควรมีการดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างรวดเร็วภายในประเทศไทยก่อน และเมื่อสถานการณ์ในประเทศต้นทางดีขึ้น จึงสามารถกลับมาทำ MOU อย่างเป็นระบบได้

สหัสวัตได้กล่าวทิ้งท้ายว่า พรรคประชาชนเห็นควรให้การขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องง่าย รวดเร็ว และโปร่งใส โดยการปฏิรูปกระบวนการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐ พร้อมกับการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นเพื่อให้การจัดการแรงงานข้ามชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“การทำให้กระบวนการขึ้นทะเบียนง่ายและเร็ว จะทำให้แรงงานข้ามชาติได้รับการดูแลที่ดีขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อทั้งประเทศ” สหัสวัต กล่าว.

“พันธกิจของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาคือการไขแสดงมิติที่ซ้อนเร้นของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” ปาฐกถา สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เชียงใหม่ : ถึงไหน หรือไม่ถึงไหน?

เรื่อง : กองบรรณาธิการ

ภาพ : Department of Sociology and Anthropology, Chiangmai University

หมายเหตุ บทความนี้เรียบเรียบจากงานสัมมนาวิชาการ 60 ปี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “On All (อ่องออ) : สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ครบรส” ใน ปาฐกถา “สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เชียงใหม่ : ถึงไหน หรือไม่ถึงไหน ? เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 โดย ศาสตราจารย์ ดร. อานันท์ กาญจนพันธุ์ และ ศาสตราจารย์ ดร.ยศ สันตสมบัติ ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ

“เราจะคิดถึงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่ได้อย่างไร หากไม่มีอาจารย์ยศและอาจารย์อานันท์”

อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าวเริ่มต้น เธอกล่าวต่อว่า อาจารย์อานันท์คือผู้บุกเบิกผลงานด้านสิทธิชุมชนที่ใช้กันทั่วไปในระดับมหาวิทยาลัย และเป็นผู้พลักดันการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น ส่วนอาจารย์ยศคือผู้บุกเบิกนิเวศวิทยาแนววัฒนธรรม การอนุรักษ์ในมุมมองแบบชาวบ้าน และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ความทรงจำของอานันท์ กาญจนพันธุ์ ต่อภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่

อานันท์ กาญจนพันธุ์ กล่าวว่า ผมเป็นอาจารย์รุ่นที่ 2 เพราะภาควิชาเปิดเมื่อปี 2507 ผมเข้ามาเป็นอาจารย์เมื่อปี 2519 จบด้านประวัติศาตร์ล้านนาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล อาจารย์สุเทพ สุนทรเภสัชชวนมาสอบที่ภาควิชานี้จึงได้เข้ามาเป็นอาจารย์ในภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตอนมาปีแรกอาจารย์ยศยังเป็นนักศึกษาที่เข้ามาเรียนตั้งแต่ปี 2517 จำได้ว่าสอนอาจารย์เมื่อตอนปี 3 แต่จำไม่ได้ว่าสอน 1 หรือ 2 วิชา

ช่วงสิบปีแรกของการก่อตั้งภาควิชางานวิจัยในช่วงนั้นผมไม่รู้ แต่สิบปีที่สอง มันมีการวิจัยเกิดขึ้น ซึ่งงานวิจัยของเราช้ากว่าที่อื่นประมาณ 20 ปี ดังนั้นงานวิจัยของเราจึงสนใจเรื่องสถาบันต่างๆ อย่าง สถาบันครอบครัว และสนใจเรื่องปัญหาสังคม ซึ่งเป็นปัญหาว่าคนชั้นสูงมองว่าเป็นปัญหา และเราควรไปสงเคราะห์ เช่น ปัญหาโสเภณี ปัญหาวัยรุ่น ฯลฯ มันเป็นปัญหาที่รัฐสร้างขึ้นมาทั้งนั้น และตอนนั้นกำลังสนใจกันเรื่องประชากรศาสตร์ จึงมีการเก็บข้อมูลในเชิงสถิติเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี สิ่งที่ดีที่สุดคือเริ่มมีการวิจัยเป็นงานวิจัยขั้นพื้นฐาน สิ่งนี้ผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ

ผมวิจัยครั้งแรกช่วงเข้ามาเป็นอาจารย์หนึ่งปีหรือสองปี ได้ทุนจากมูลนิธิฟอร์ดไปทำวิจัยเรื่องเศรษฐกิจชาวเขา เป็นวิจัยแนวมานุษยวิทยาเศรษฐกิจ ตอนที่ผมเข้ามาช่วงแรกพวกเราสอนกันแต่เรื่องสถิติกับประชากรและประวัติแนวคิดทฤษฎี เรียนแต่อะไรที่เก่า แนวคิดใหม่ๆ ไม่ได้เรียน ผมจึงขออาจารย์สุเทพเปิดวิชาทฤษฎีสมัยใหม่ สอนกับอาจารย์สุเทพสองคนซึ่งอาจารย์ยศก็เรียน หากไม่มีแนวคิดทฤษฎีในทางสังคมศาสตร์มันไปได้ไม่ไกลมาก คือมันจะกลายเป็นการพรรณากับข้อมูล ผมอยากจะยกระดับขึ้นไปเพื่อเห็นอะไรที่มันกว้างไปกว่านั้น แต่ผมก็ทำอะไรได้ไม่มาก 

ตอนหลังมาผมพยายามพลักดันเปิดหลักสูตรบัณฑิตศึกษา เปิดได้ช่วง 2530 คือหลักสูตรพัฒนาสังคมที่ผลักดันก็เพราะหากมีมหาบัณฑิตมันก็จะมีงานวิจัย พวกอาจารย์ทำวิจัยกันกลุ่มเดียวไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเราก็ทำได้เพียงนำงานวิชาการของตะวันตกมาเล่า การทำงานวิจัยของนักศึกษาจึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิชาการที่ไม่ได้เพียงแค่อยู่ในตะวันตกเพียงฟากเดียว 

“เวลานี้ พอเป็นวิทยานิพนธ์ซึ่งเป็นงานวิจัย ในภาควิชาเล็กๆ ของเรา มันไม่ใช่สิ่งที่เล็กๆ อีกต่อไปคำศัพท์ทุกคำศัพท์ แนวคิดทุกแนวคิด มันกลายมาเป็นสิ่งที่พูดและใช้กันทั่วไปในสังคมแล้ว”

เมื่อความคิดในวงการวิชาการมันได้กลายเป็นศัพท์แสงที่ผู้คนทั้งสังคมได้นำไปใช้แล้ว โลกมันจึงเปลี่ยนไป ความคิดทางสังคมมันก็เปลี่ยนตามมา คุณจะไปกดทับมัน มันทำไม่ได้อีกแล้วในตอนนี้ คนที่มีอำนาจออกมาพูดอะไร ผู้คนก็เห็นลิ้นไก่กันหมดแล้ว มันเป็นผลมาจากการทำงานวิจัยของหลักสูตร ความคิดจากการทำวิทยานิพนธ์มันได้กระจายออกไป ได้ออกไปสอนหนังสือ ออกไปพูด 

อัจฉริยา กล่าวทวนว่า ช่วงเข้ามามาเรียนใหม่ อาจารย์อานันท์และอาจารย์ยศพูดว่า คุณูปการของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาคือการผลิตคำใหม่ๆ ตอนนั้นนเรายังไม่เข้าใจ แต่มาเข้าใจตอนหลังว่า แนวคิดใหม่ อุดมการณ์ใหม่ มันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้”

สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไปถึงไหนในมุมมองของยศ สันตสมบัติ

ยศ สันตสมบัติ กล่าวต่อว่า ผมสอนมา 42 ปี เห็นความเปลี่ยนแปลงมาค่อนข้างเยอะในสิ่งที่เราเรียกว่าสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รวมทั้งสังคมศาสตร์ทั่วไปด้วย เราหยิบยืมกันไปกันมาในสาขาวิชาต่างๆ มันมีความหลากหลายของประเด็นและมุมมองมากขึ้น แต่ท่ามกลางความหลากหลายของสาขาวิชา สิ่งที่เป็นแก่นแกนของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามันมีอยู่เรื่องเดียว คือเรา ศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมเรียนมาตั้งแต่ปี 2519 กับอาจารย์อานันท์

ความสัมพันธ์ทางสังคมทุกอย่าง คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เพราะฉะนั้นอำนาจคือหัวใจของการศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

เราจะเข้าใจความสัมพันธ์ทางสังคมได้ คือต้องเข้าใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจ “พันธกิจของสิ่งที่เราเรียกว่าสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มันเป็นการไขแสดงและมิติที่ซ้อนเร้นของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เพื่อรื้อสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ และการครอบงำทางวัฒนธรรม”

ประโยคเดียวมันครอบคลุมสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาทั้งหมด เมื่อพูดแบบนี้แล้ว ในแง่หนึ่งเราทำอะไรไปบ้าง ผมเลยพยายามจะบอกถึงตัวบ่งชี้ถึง 5 อย่าง ในงานวิจัยที่เราทำจากมุมมองของผมเองคือ 1) การสะท้อนย้อนคิด (Reflectivity) คือการคิดอย่างมีบริบท ระหว่างตัวเราเองกับสังคมภายนอก สามารถคิดเป็นเชื่อมโยงเป็น ไม่ใช่คิดแบบสามัญสำนึกแต่เป็นการคิดโดยผ่าน Concept ในระดับปริญญาตรีเข้าใจตรงนี้ได้ ผมก็พอใจแล้ว

ระดับปริญญาโทที่ทำกันเยอะมากคือระดับที่ 2) การทำลายมายาคติ คือการไปรื้อวาทกรรมที่รัฐสร้างขึ้น เช่น ชาวบ้านทำลายป่า การวิจัยจึงเป็นการทำลายมายาคติที่ว่าชาวบ้านเขามีวิธีคิดของตัวเอง งานวิทยานิพนธ์พัฒนาสังคมร้อยกว่าเล่มมากกว่าครึ่งคืองานวิจัยที่ไปทำลายมายาคติตรงนี้

บางเล่มที่ขึ้นไปอีกระดับหนึ่งคือระดับที่ 3) การเปิดพื้นที่ทางสังคม นอกจากการทำลายมายาคติแล้ว ก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนตัวเล็กตัวน้อย คนชายขอบ คนด้อยสิทธิ คนไร้อำนาจ ให้มีที่ยืนในสังคม วิทยานิพนธ์ทั้งหมดมันอยู่ในสามระดับนี้ แต่งานทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามันก็ยังมีระดับที่ 4) การสร้างนโยบายทางเลือก เป็นอีกขั้นหนึ่งมันคือการนำเสนอนโยบายใหม่ ภาควิชาเราก็ทำ เป็นการนำเสนอ concept ใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในทางสังคม

ระดับสูงสุดเลยก็คือระดับที่ 5) การนำเสนอหลักการใหม่ให้กับสังคม สังคมวิทยาและมานุษยาเชียงใหม่ก็ทำเหมือนกัน เราไปถึงทั้ง 5 ระดับมาหมดแล้ว การนำเสนอหลักการใหม่ทางสังคมนี้ไม่ใช่ตะวันตก แต่มันคือมานุษยวิทยาไทยด้วยซ้ำ โลกมี American-Anthropology, England- Anthropology Feance-Anthropology, ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมี Thai-Anthropology มันก็จะถึงระดับที่ 6) Maturity (การเป็นส่วนหนึ่งของบางอย่าง) ส่วนเรื่องสิทธิชุมชนเป็นตัวอย่างหนึ่งในการนำเสนอหลักการใหม่ในทางสังคม ชาวบ้านเขามีวิธีคิดในการจัดการชุมชนผ่านจารีตประเพณี ซึ่งทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่เรามายกระดับให้มันเป็นนามธรรม แล้วนำเสนอมาเป็นหลักการใหม่ให้กับสังคม

“เรามองประหนึ่งว่างานวิจัยที่พวกเราทำมันไม่ความแปลกใหม่อะไร แต่เมื่อเกิดจังหวะในทางประวัติศาตร์ (Historical Moment) สิ่งที่เราทำมันจะมีจังหวะเวลา เมื่อหน้าต่างทางประวัติศาสตร์มันเปิดออก มันจะเป็นช่วงเวลาสำคัญในการเอาความรู้ทางวิชาการมาสร้างเป็นพลัง”

ตัวอย่างที่สำคัญคือเรื่องสิทธิชุมชน พวกเราทำช่วงทศวรรษที่ 2530 ทะเลาะกับหน่วยงานรัฐมาก็มากมาย แต่พอปี 2540 มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ Historical Moment มันเกิดขึ้น เราก็เอาสิทธิชุมชนไปใส่ในรัฐธรรมนูญ แปลง Concept มาเป็นมาตราในรัฐธรรมนูญ เดี่ยวนี้ คสช. อยากจะเอาออกจะแย่!!! แต่มันทำไม่ได้ เพราะชาวบ้านเขารับความคิดเรื่องนี้ไปแล้ว สิทธิชุมชนมันมีมากกว่านั้น มันมีมิติของการต่อต้านการรุกรานจากภายนอก ผมอยากกลับไปทำอีกครั้ง เพื่อดูว่าชาวบ้านเขาตีความเรื่องสิทธิชุมชนเขาไปกันถึงไหนแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มันต้องอาศัยพลังในทางวิชาการ มันจึงต้องรอช่วงจังหวะในทางประวัติศาสตร์ แต่ในทางกลับกัน นักมานุษยวิทยารุ่นอาจารย์อานันท์เขาไปถึงกันแล้ว นักมานุษยวิทยารุ่นใหม่ไปถึงไหน และกำลังทำอะไรกันอยู่

เปิดเทศกาล ‘เชียงดาวมา MELT 2024 มาเฮียนมาฮู้ มาดูมาม่วน’ จุดประกายผลักดันทุกพื้นสู่พื้นที่การเรียนรู้

2 ธันวาคม 2567 มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) จัดกิจกรรมเปิดเทศกาล ‘เชียงดาวมา MELT 2024 มาเฮียนมาฮู้ มาดูมาม่วน’ เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เยาวชนในพื้นที่ อ.เชียงดาว ได้มาร่วมทำกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน และสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้  ด้วยกัน ณ มะขามป้อมอาร์ตสเปซเชียงดาว ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยมีการแสดงวัฒนธรรมของเด็กๆ จากโรงเรียนชุมชนบ้านวังจ๊อม, โรงเรียนบ้านเชียงดาว และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงดาว เพื่อเป็นการเปิดกิจกรรม

โดยในการจัดเทศกาลครั้งนี้ มีนักเรียนจากโรงเรียนบ้านเชียงดาวและภาคีเครือข่ายเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในดำเนินงานและสร้างประสบการณ์การทำงานร่วมกัน ทั้งในการเป็นผู้ดำเนินรายการ หรือทีมงานที่คอยอำนวยความสะดวก ไปจนถึงช่วยดูแลซุ้มกิจกรรมการเรียนรู้ในฐานต่างๆ ที่มีถึง 17 ซุ้ม ประกอบด้วย

  1. ซุ้มแยกกลิ่นกาแฟ: Mountainnella
  2. ซุ้ม Design Your Own Cake: Mountainnella
  3. ซุ้มอักษรล้านนา (ตั๋วเมือง): หนานจิ เจียงดารา
  4. ซุ้มเล่นดิน: พี่ยา Musashi Pottery
  5. ซุ้มบอร์ดเกม: ชมรมบอร์ดเกมรร.เชียงดาววิทยาคม 
  6. ซุ้มของเล่นบะเก่า: ทีมงานเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้
  7. ซุ้มสกร.อำเภอเชียงดาว Learn To Earn, ห้องสมุดประชาชน เศรษฐกิจพอเพียง
  8. ซุ้มมรร.เชียงดาววิทยาคม: พักพิง
  9. ซุ้มเทศบาลตำบลเชียงดาว ตัดตุงพื้นเมือง
  10. ซุ้มเทศบาลตำบลแม่นะ: กิจกรรมระบายสี
  11. ซุ้มมองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงดาว: ตัดดอกสลาก, สื่อการสอนสำหรับเด็ก
  12. ซุ้มบ้านปางแดงนอก กลุ่มจิงดือแด
  13. ซุ้มหล่าเทอโพ: กำไลข้อมือจากด้ายสีธรรมชาติ สินค้าผ้าปกาเกอญอ
  14. ซุ้มสอยดาวนำโชค โดย ทีมคณะทำงานเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ อาสาสมัคร
  15. ซุ้ม Street Art “เชียงดาวที่รัก” โดย พี่เต้ ญาติกา
  16. ซุ้มเรื่องราวการเดินทางเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ โดย มะขามป้อม
  17. รถรางนำเที่ยว โดย กลุ่มท่องเที่ยวและของดีเชียงดาว

ต่อมาในเวลา 10.00 น. ได้มีการจัดเสวนา “สานเครือข่าย สร้างพลังพลเมืองแห่งการเรียนรู้อำเภอเชียงดาว” เพื่อเปิดให้ภาคีเครือข่ายเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งร่วมเสนอแนวทางการต่อยอดกิจกรรม โดยมี ประกายดาว คันธะวงศ์ ผู้ประสานงานและหัวหน้าโครงการเชียงดาว เมืองแห่งการเรียนรู้ เป็นผู้นำในการเสวนากันครั้งนี้ 

ตัวแทนภาคการศึกษาที่ได้เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้และโรงเรียนข้ามขอบ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเสริมการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้ทางโรงเรียนสามารถนำไปพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้กับเด็กในโรงเรียน 

ศิริกุล  พยางาย ตัวแทนบุคลากรจากศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอําเภอเชียงดาว (สกร.อำเภอเชียงดาว) เล่าว่า การนำบุคลากรและผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ช่วยให้เด็กๆ สามารถนำความรู้มาปรับใช้ได้จริง ทั้งในการทำงานและดำรงชีวิต 

เช่นเดียวกับ วันวิสา ศิริคงสุวรรณ รองผู้อํานวยการโรงเรียนบ้านเชียงดาว ที่มองว่า การเรียนรู้นอกห้องเรียนทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้รูปแบบใหม่นอกเหนือรูปแบบในห้องเรียนทั่วไป และอยากผลักดันให้เด็กในโรงเรียนมีโอกาสร่วมกิจกรรมแบบนี้มากขึ้น

หัสยารัตน์ ปัญไชยโชค ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งหลุก เล่าว่า การเข้าร่วมโครงการทำให้ได้รับมุมมองและแนวทางจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อนำมาขับเคลื่อนการเรียนรู้ รู้สิทธิ รู้รากเหง้า โดยมีเป้าหมายว่าจะสามารถต่อยอด และพัฒนาการเรียนรู้นี้ให้เป็นหลักสูตรของโรงเรียนต่อไปได้

ด้าน สุพินันท์ กันทะวงค์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาหวาย ได้เสนอให้โรงเรียนในพื้นที่ทดลองเพิ่มห้องเรียนข้ามขอบเป็นรายวิชาเพิ่มเติมเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เนื้อหาใหม่นอกจากวิชาการทั่วไป และได้เชิญชวนให้มีการจัดตั้ง “โมเดลภาคีเครือข่ายเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน” เพื่อเป็นต้นแบบให้กับการเรียนรู้ของชุมชนอื่นๆ ต่อไป

ธารินี ชลอร์ หรือ แม่จุ๋ม ตัวแทนผู้ปกครองที่จัดการเรียนรู้แบบบ้านเรียนโฮมสคูล เห็นตรงกันว่าควรส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้แบบโรงเรียนข้ามขอบในระบบการศึกษาต่อไป เพราะการได้พาลูกๆ มาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ทำให้เห็นว่าเด็กๆ ได้สนุกไปกับการเรียนและกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต ในแบบที่บางครั้งในห้องเรียนก็ให้ไม่ได้ และมองว่าเด็กๆ ควรได้มีโอกาสเรียนรู้ในหลายรูปแบบมากขึ้น

ว่าที่ร้อยตรีหญิงอรพรรณ จันตาเรือง สส.พรรคประชาชน เขต 6 จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า รู้สึกขอบคุณทางมูลนิธิที่มองเห็นความสำคัญเรื่องการเรียนรู้ว่าไม่ได้มีแค่ในห้องเรียน และบอกว่าจะเป็นผู้ที่ผลักดันและนำรูปแบบการเรียนรู้ในเชียงดาว ไปตีแผ่ในสภาให้เห็นว่าโครงการนี้สามารถส่งเสริมการศึกษาได้จริง เพื่อให้เป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาไทยให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ภายในเสวนาได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนบ้านเชียงดาว และ สกร.อำเภอเชียงดาว ร่วมบอกเล่าประสบการณ์การเรียนรู้ในโครงการโรงเรียนข้ามขอบที่ทำให้พวกเขาได้เห็นว่าการเรียนรู้ที่ได้จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ด้านนั้นโดยตรงทำให้พวกเขาสามารถเกิดความเข้าใจได้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากกว่าการนั่งเรียนในห้องเรียนที่มีการสอนแบบเดิมๆ และมองว่ากิจกรรมนี้เป็นอีกโอกาสที่พาให้พวกเขาได้มาเจอเพื่อนและสังคมใหม่ๆ จนอยากให้มีแบบนี้อีกในปีต่อๆ ไป

ทั้งนี้ พฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) กล่าวปิดท้ายว่า การเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันของทั้ง 5 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้, การเรียนรู้ภาคท้องถิ่น, หน่วยงานประชาสังคม และสส.ในพื้นที่ เป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถขับเคลื่อนการเรียนรู้ได้มากขึ้น

หลังจากนี้ จึงอยากให้ทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดันรูปแบบการเรียนรู้แบบโรงเรียนข้ามขอบให้สามารถเป็น ‘ต้นแบบการเรียนรู้’ ได้ในทุกพื้นที่ ไม่ใช่แค่เฉพาะที่เชียงดาวเท่านั้น เพื่อให้เด็กในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบหรือนอกระบบการศึกษา ได้มีโอกาสเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้สร้างเสริมทักษะและประสบการณ์จนสามารถนำไปต่อยอดในการดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย

‘ยังฮ่วมใจ๊ นวัตกรรมวัยยัง’ นวัตกรรมแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยบนท้องถนน และลดนักสูบหน้าใหม่

0

ภาพ : กนกพร จันทร์พลอย

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2567 เวลา 16.00 – 21.00 น. ณ ลานท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิโกมลคีมทอง ร่วมกับสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ได้จัดเทศกาล “ยังฮ่วมใจ๊ นวัตกรรมวัยยัง” รวมพลังเยาวชนภาคเหนือ สร้างสรรค์เพื่อสังคมที่ปลอดภัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตั้งคำถามและออกแบบนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยบนท้องถนน ทางสัญจรและลดนักสูบหน้าใหม่ จากยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า

มูลนิธิโกมลคีมทอง จัดตั้งขึ้นภายหลังจากการเสียชีวิตของนายโกมล คีมทอง บัณฑิตหนุ่มจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ หรือครูโกมลของเด็กน้อยแห่งโรงเรียนเหมืองห้วยในเขา ต.บ้านส้อง กิ่งอ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งแบบอย่างของเขาได้สร้างความศรัทธาให้กับผู้อยู่ข้างหลัง จึงร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิในนามของเขาขึ้นเมื่อปี 2514 โดยมูลนิธิโกมลคีมทองไม่ได้เป็นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ครูโกมลเท่านั้น แต่มีวัตถุประสงค์ที่จะสานต่อและสนับสนุนให้บุคคลมีความเสียสละเพื่อสังคม มีอุดมคติเป็นผู้นำในทางที่ถูกต้อง

นายโกมล คีมทอง

เทศกาล “ยังฮ่วมใจ๊ นวัตกรรมวัยยัง” รวมพลังเยาวชนภาคเหนือ สร้างสรรค์เพื่อสังคมที่ปลอดภัย ประกอบไปด้วยเยาวชนจากกลุ่ม Dumbledore , กลุ่ม BEAM Foundation , กลุ่ม SPSS UP มหาวิทยาลัยพะเยา , ELC CMU – คลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,กลุ่ม เยาวชนคนรักษาแผ่นดินไทย โรงเรียนสรรพวิทยาคม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก , กลุ่ม สภานักเรียน SBY โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จังหวัดลำพูน ฯลฯ โดยมี การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเชียงใหม่เขต 2 พรรคประชาชน และกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นผู้เปิดงานในครั้งนี้

ภายในงานนอกจากจะมีการแสดงสุดพิเศษจากเยาวชนมูลนิธิโกมลคีมทองแล้ว ยังมีเวทีเสวนาประเด็นปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนและปัญหาทางเท้า โดยมีชื่อเสวนาว่า ‘ความไม่ปกติ บน ความปกติ’ : ความชินชาของถนนหนทางในประเทศไทย ร่วมเสวนาโดย ณัฐภัทร จันทน์แดง จากกลุ่ม SPSS UP มหาวิทยาลัยพะเยา ธีระวีร์ คงแถวทอง และ ธนกฤต ศรีสมเพ็ชร จาก ELC CMU – คลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ธีระวีร์ คงแถวทอง คลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางทีมได้ทำประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง นั่นก็คือปัญหาตู้ไฟฟ้าจากโครงการ ‘เชียงใหม่ เมืองสวย ไร้สาย’ ที่ได้ตั้งกีดขวางการสัญจรบนทางเท้า ซึ่งทางเดินเท้าถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาเมือง ต้องมีความสะดวก ปลอดภัย และต้องไม่มีสิ่งกีดขวางคนเดินเท้า โดยเฉพาะกลลุ่มผู้พิการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ต้องพึ่งพารถเข็นวีลแชร์ และผู้พิการทางสายตาที่เดินทางลำบากอยู่แล้ว แต่ยังต้องมาเจออุปสรรคจากสิ่งกีดขวางบนทางเท้า ซึ่งถ้ามองจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วจะพบว่าโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินไม่จำเป็นต้องมีตู้ไฟฟ้าที่ติดตั้งกีดขวางการจราจร ทั้งบนถนนและบนทางเท้า จึงอยากจะฝากถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของโครงการให้มองเห็นถึงความสำคัญของทางเท้าในจังหวัดเชียงใหม่ด้วย

ณัฐภัทร จันทน์แดง กลุ่ม SPSS UP มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า ทางทีมได้ลงพื้นที่สำรวจการเกิดอุบัติเหตุภายในชุมชน และพบว่าส่วนใหญ่เกิดบริเวณใกล้กว๊านพะเยา เนื่องจากถนนไม่มีไหลทาง และมีจำนวนคนนอกพื้นที่เข้ามาเที่ยวเป็นจำนวนมาก จึงไม่คุ้นชินทางจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งยังมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่บดบังการใช้รถใช้ถนน ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้กีดขวางการจราจร ป้ายสัญญาณเตือนที่เก่าทรุดโทรม ทางทีมงานจึงได้ร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในการจัดกิจกรรม ‘สภากาแฟ’ ที่เป็นการรับฟังปัญหาของชาวบ้านที่ใช้รถใช้ถนนในบริเวณชุมชน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลแก้ไขปัญหาต่อไป

เสร็จจากเวทีเสวนาปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนและปัญหาทางเท้า ยังมีวงเสวนาปัญหายาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน โดยมีชื่อว่า เสวนา นวัตกรรม “วัยยัง” แก้ไขปัญหาบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชน ร่วมเสวนาโดย นฤทัย สายอินตา กลุ่ม สภานักเรียน SBY โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จังหวัดลำพูน , ชัชวาล โยชุ่ม กลุ่ม เยาวชนคนรักษาแผ่นดินไทย โรงเรียนสรรพวิทยาคม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก , ชมพูนุช แสงสว่าง กลุ่ม Dumbledore จังหวัดเชียงใหม่ , อภิชัย คล้ายสุรินทร์ แกนนำสุขภาพเด็กและเยาวชนตำบลสันนาเม็ง จังหวัดเชียงใหม่ , พรพรรณ ทับแสง ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ภาคเหนือตอนล่าง และ การณิก จันทดา คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ

นฤทัย สายอินตา กลุ่ม สภานักเรียน SBY โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ทางกลุ่มมีการใช้ทฤษฎี 21 วัน ให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการตั้งเป้าหมายที่จะลดการสูบบุหรี่ไฟฟ้าภายใน 21 วัน และมีการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างคณะทำงานและกลุ่มเป้าหมาย เช่นการพากลุ่มเป้าหมายไปพักผ่อนที่คาเฟ่แมว พาทำกิจกรรมงานฝีมือ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเบี่ยงเบนจากบุหรี่ไฟฟ้าหันมาทำกิจกรรมต่างๆ อีกทั้งยังมีการพาไปปลูกป่าและอยู่กับธรรมชาติเพื่อบำบัดความเครียด 

นฤทัย สายอินตา

อภิชัย คล้ายสุรินทร์ แกนนำสุขภาพเด็กและเยาวชนตำบลสันนาเม็ง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการที่ทีมงานลงไปสำรวจผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า พบว่ามีสาเหตุมาจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้รู้สึกมีความสุข รู้สึกผ่อนคลาย และเพลิดเพลินในการสูบ ทางทีมจึงได้จัดทำแผนเสนอผู้มีอำนาจให้จัดทำพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ เพื่อแยกไม่ให้ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ต้องสูดควันมือสองเหล่านี้ 

อภิชัย คล้ายสุรินทร์

ชมพูนุช แสงสว่าง กลุ่ม Dumbledore จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางกลุ่มขับเคลื่อนโดยการให้กลุ่มเป้าหมายได้มีโอกาสใช้เวลากับสิ่งรอบตัวในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรือครอบครัว เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง คิดได้ด้วยตัวเอง

ชมพูนุช แสงสว่าง

ชัชวาล โยชุ่ม กลุ่ม เยาวชนคนรักษาแผ่นดินไทย โรงเรียนสรรพวิทยาคม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า ทางทีมมีการจัดค่ายให้เยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงความคิดเห็นให้กับทีมงานได้รู้ อีกทั้งยังนำข้อมูลที่ได้มาทำเป็นสารคดี เพื่อเผยแพร่เบื้องลึกเบื้องหลังในการเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าว่าพวกเขาต้องเจออะไรมาบ้าง 

ชัชวาล โยชุ่ม

พรพรรณ ทับแสง ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ภาคเหนือตอนล่าง กล่าวว่า พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างมีการทำโครงการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า และได้มีการลงสำรวจพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และสุโขทัย พบว่าจังหวัดพิษณุโลก มีเยาวชนจำนวน 97 คน ที่มีประสบการณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งคิดเป็น 41.8 เปอร์เซ็นต์ และสิ่งที่น่ากังวลคือเยาวชนเห็นว่ากลิ่นของบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอัตราย ส่วนจังหวัดอุรดิตถ์ พบว่ามีเยาวชนอายุ 10-11 ปี ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าและนำไปโรงเรียน ส่วนจังหวัดสุโขทัย พบว่าเยาวชน 99 คน จาก 100 คน เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า

พรพรรณ ทับแสง

การณิก จันทดา คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า ในประเทศไทยบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย นั่นหมายความว่าการที่จะสืบหาข้อมูลหรือแม้แต่การลงไปช่วยเหลือเยาวชนเหล่านี้เป็นไปได้ยากมาก ซึ่งต้องลองย้อนกลับมาตั้งคำถามว่าแล้วทำไมเราไม่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เพื่อที่ว่าเราจะได้ได้เก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้ให้มากขึ้น รวมถึงมีข้อมูลของผู้ค้าผู้จัดจำหน่าย ให้มีการควบคุมการขายให้กับเยาวชนได้ อีกทั้งยังต้องออกกฎหมายในการควบคุมการสูบที่เข้มงวด และยังสนับสนุนในเรื่องของการสร้างพื้นที่สูบบุหรี่ เพื่อป้องกันให้ผู้ที่ไม่สูบสามารถหลีกเลี่ยงจากควันมือสองเหล่านั้นได้ ซึ่งล่าสุดในขณะนี้ในสภามีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและพิจารณากฎหมายควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยส่วนตัวแล้วเราไม่ได้สนับสนุนให้คนสูบบุหรี่มากขึ้น เพียงแต่ต้องการกำกับ ควบคุม ดูแลการสูบ

การณิก จันทดา

ในช่วงท้ายก่อนจบกิจกรรม เยาวชนจากมูลนิธิโกมลคีมทองได้ประกาศเจตนารมณ์ ‘เสียงเด็ก เยาวชนถึงผู้ใหญ่’ โดยมีใจความว่า

“สภาพสังคมที่มีความเหลื่อมลํ้าในมิติต่างๆ ทั้งรายได้ โอกาสและทรัพยากรทำให้เส้นทาง ชีวิตของเด็กและเยาวชนถูกเรียกร้องและกดดันจากครอบครัวและระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และ ยังไม่มองไม่เห็นอนาคตของตนเอง”

“ในอีกด้านหนึ่ง ความคาดหวังและแรงกดดันที่เด็กและเยาวชนต้องแบกรับไว้ มาจาก สภาพแวดล้อมในชีวิตและสังคมที่ไม่เกื้อหนุนพวกเรา ระบบการเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสม และมีสิ่งจูงใจมากมายที่จะชักนำให้ใช้ชีวิตในทางที่เสี่ยง”

“รวมทั้งค่านิยมของสังคมที่มุ่งแสวงหาความสุขและความสำเร็จทางวัตถุ ยิ่งผลักเด็กและ เยาวชนต้องใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อสุขภาวะ ทั้งการดื่ม การสูบ การเสพ หรือการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย การขาดพื้นที่การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ขาดคนรับฟังและเข้าใจนำไปสู่ความสับสนในตัวเอง”

“พวกเราจึงอยากเรียกร้องให้ทุกชุมชนมีพื้นที่สีเขียว มีพื้นที่กิจกรรม มีพื้นที่สาธารณะที่ ได้รับการสนับสนุนนจากชุมชนและรัฐ รวมไปถึงโรงเรียนและครอบครัวที่จะกลายเป็นพื้นที่ ปลอดภัยให้กับพวกเราเพื่อให้พวกเราได้แสดงออกซึ่งความคิด ความรู้สึก และความสามารถ อย่างอิสระไม่ถูกตัดสิน ในโรงเรียนก็มีพื้นที่แสดงออกและคุณครูที่เข้าใจ เปิดใจพร้อมรับฟัง ในครอบครัวมีพ่อแม่และคนในครอบครัวที่เปิดโอกาส รับฟัง พูดคุย ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสนุกและมีความสุข มีกลุ่มเพื่อที่เข้าใจกันร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ไปด้วยกันอย่างเข้าใจ มีความใฝ่ฝน ร่วมกัน เพื่อให้พวกเราได้พัฒนาตตนเองและเติบโตอย่างมีคุณภาพตลอดไป”

ครม.สัญจรเชียงใหม่ รับปากอะไรคนเหนือบ้าง

0

เมื่อวันที่ 29-30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ครั้งที่ 1/2567 ภายใต้ธีม “From Flood to Flourish (ฟื้นคืนสู่ความเฟื่องฟู)” โดยการเดินทางมาประชุม ครม.สัญจรในครั้งนี้เป็นการพิจารณาหารือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย โดยเฉพาะการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากนำ้ท่วม แก้ไขปัญหาฝุ่นควันPM2.5 รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวในปลายปีและต้นปี 2568

เยียวยาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนำ้ท่วม

ภาพ : ไทยคู่ฟ้า

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้เห็นชอบในหลักการโครงการเร่งด่วนที่นำมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย วงเงินรวมกันจำนวนทั้งหมด 19,282 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่แก้ปัญหาอุทกภัย ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว เช่น จังหวัดเชียงใหม่ได้ของบประมาณในการแก้ไขปัญหาถนนที่พังหลังได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยน้ำท่วม ส่วนโครงการที่แก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ขออนุมัติจัดทำโครงการด้านการพัฒนาและปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัย ในจำนวนวงเงินประมาณ 5,200 ล้านบาท

ครม.สัญจรในครั้งนี้ ได้อนุมัติร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งจะเป็นมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมบ้านและมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมรถ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้ (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล) สำหรับค่าซ่อมแซม หรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอาคาร หรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งกับตัวอาคาร หรือในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคาร หรือในการซ่อมแซมห้องชุดในอาคารชุด หรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งกับห้องชุดในอาคารชุด ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 100,000 บาท และค่าซ่อมแซมรถตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งคาดว่าจังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (กรณีอุทกภัย) ประมาณ 40 กว่าจังหวัด จะมีผู้ใช้สิทธิตามมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมบ้าน 4 ล้านราย และผู้ใช้สิทธิตามมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมรถ 4 ล้านราย

ภาคเหนือพร้อมสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวปลายปี-ต้นปี 68

นางสาว​​แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการจัดงาน Winter festival ซึ่งจะจัดทุกจังหวัดรวมกัน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากนำ้ท่วมสามารถให้นักท่องเที่ยวกลับมาท่องเที่ยวได้ เพราะวิกฤตน้ำท่วมได้จบลงไปแล้วและเมืองได้ฟื้นฟูพร้อมสำหรับการท่องเที่ยว

“วันนี้จะมาตอกย้ำว่าภาคเหนือจะร่วมมือกับงานดังกล่าว และยังมีอีกหลายรายการที่จะรองรับนักท่องเที่ยวให้เป็นจุดสนใจทั้งคนไทย และต่างชาติมาทำกิจกรรมในปลายปีและต้นปี 2568” นายกรัฐมนตรีกล่าว

การแก้ไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5

ภาพ : รัฐบาลไทย

โครงการที่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ยื่นเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ล่าสุดได้ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว และจะมีการหารือถึงแนวทางปฏิบัติและการจัดสรรงบประมาณลงมาให้การช่วยเหลือในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดในเขตพื้นที่ภาคเหนือต่อไป ซึ่งมติการประชุม คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบมาตรการในช่วงที่เกิดวิกฤต PM2.5 ห้ามให้รถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าในเขตเมือง และตรวจจับรถที่ปล่อยควันดำอย่างเข้มงวด รวมถึงควบคุมพื้นที่ก่อสร้าง อีกทั้งยังมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฝ้าระวังหมอกควันเพื่อตรวจจับหมอกควันข้ามพรหมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน

นายกรัฐมนตรี ยังยำ้ว่า หลังจบครม.สัญจร รัฐมนตรีจะลงพื้นที่ไปพูดคุยกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือและหาทางใช้นวัตกรรมในการทำให้ปัญหาหมอกควันลดน้อยลงและดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก โดยปีนี้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาในหลายแนวทาง ซึ่งคาดว่าน่าจะช่วยบรรเทาฝุ่นPM 2.5 ได้เป็นอย่างมาก

ในวันเดียวกันนั้น เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้าร่วมประชุมและมอบนโยบายเรื่อง แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ณ ห้องประชุมสโมสรยอดทัพ กองพลทหารราบที่ 7 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้แบ่งเป็นการแก้ไขฝุ่นควันที่เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ และการแก้ไขฝุ่นควันที่เกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศ

ภาพ : ไทยคู่ฟ้า

การการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันที่เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ นายกรัฐมนตรีได้สั่ง  ให้กระทรวงมหาดไทย ใช้กลไกการทำงานของจังหวัดบูรณาการร่วมกับส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันออกแบบการทำงาน โดยไม่ยึดติดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน และขอให้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควันได้อย่างครอบคลุมและครบถ้วนทุกมิติ สำหรับการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และขอให้กรมวิชาการเกษตร ให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับทางเลือกอื่นของการเก็บเกี่ยวโดยไม่เผา พิจารณาการทำเกษตรแบบยั่งยืนในอนาคต อาทิ ข้าว ข้าวโพด หรือพืชอื่น ต้องเริ่มควบคู่กันไป ตั้งแต่การกำหนดพื้นที่ การทำเกษตรปลอดการเผา สร้างระบบการตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจ รวมถึงการปลูกข้าวแบบ low carbon เพื่อมุ่งไปสู่สังคมอย่างยั่งยืน (sustainability) พร้อมให้กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ดูแลรับผิดชอบในส่วนของการเผาไหม้ในพื้นที่อุทยาน ตลอดจนเฝ้าระวังไม่ให้มีการเผาป่า ถางป่า เพื่อนำพื้นที่ป่าไปใช้ในการทำเกษตรอย่างผิดกฎหมาย

ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศ นายกรัฐมนตรีสั่งการเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยเจอกับหมอกควันที่ข้ามแดน จากประเทศเพื่อนบ้าน ให้กระทรวงการต่างประเทศ รับหน้าที่เป็นผู้เจรจากับประเทศเพื่อนบ้านและการเร่งรัดในมาตรการ Clear sky strategy และให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง เร่งจัดทำมาตรการในการควบคุมการรับซื้อ แลถะนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศที่มีการเผาไร่ข้าวโพด รวมถึงให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพัฒนาระบบตรวจจับฝุ่นควัน และระบบแจ้งเตือนประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมการป้องกันตัวอย่างทันท่วงที รวมถึงให้กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่เสี่ยงด้วย

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 หากจังหวัดเชียงใหม่หรือเชียงรายต้องการอุปกรณ์เพิ่มเติม ขอให้ทำการประสานเข้ามา รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อลดปัญหาฝุ่นควันให้ลดลง” นายกรัฐมนตรี ย้ำ

ยื่นหนังสือคัดค้านการออก พ.ร.ฎ.ป่าอนุรักษ์

‘สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า’ (สชป.) ได้รวมตัวกัน ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแสดงพลังและยืนยันเจตนารมณ์คัดค้านการออกพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พร้อมทั้งยื่นหนังสือแก่ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ผู้แทนนายกฯ เพื่อเรียกร้องให้เร่งพิจารณาแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 462,444 ครัวเรือน หรือคิดเป็นกว่า 1,849,792 คนที่อาศัยและทำกินในพื้นที่อนุรักษ์มาอย่างยาวนาน

โดย สชป. เรียกร้องให้นายกฯ และครม. ประชุมหาข้อยุติในการแก้ไขปัญหาใน 4 ประเด็น ดังนี้

1. ขอให้ยุติการนำ พ.ร.ฎ. ทั้ง 2 ฉบับ ไปประกาศใช้กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ จนกว่าจะมีการปรับแก้กฎหมาย

2. ขอให้รัฐบาลจัดตั้งกลไกในรูปแบบที่เป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานจัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจาก พ.ร.บ.อุทยานฯ 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 เป็นรายอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า​ทุก ๆ พื้นที่ี เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ ภายในระยะเวลา 60 วัน

3. ขอให้รัฐบาลและครม.จะต้องเร่งเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งนี้ให้นำเสนอร่างสู่การพิจารณาของครม.ภายใน 90 วัน ก่อนเสนอเข้าสภา

4. ในระหว่างที่มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ รัฐบาลจะต้องชะลอยับยั้งการเตรียมประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 23 แห่ง จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับแล้วเสร็จ  เว้นแต่ในกรณีที่พื้นที่เตรียมการฯ นั้นดำเนินการกันขอบเขตชุมชน พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ป่าชุมชนแล้วเสร็จ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

หลังจากเสร็จสิ้นการเจรจา รองนายกฯ และผู้แทนรัฐบาลได้ชี้แจงผลการเจรจาต่อผู้ชุมนุม โดยมีมติ รับหลักการเบื้องต้น และ เห็นชอบให้มีแนวทางการแก้ไขปัญหา พร้อมจัดทำ บันทึกการหารือ เพื่อรับรองอย่างเป็นทางการ และเตรียมนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา จากนั้นรองนายกฯ และคณะผู้แทนรัฐบาลได้เดินทางต่อไปประชุมครม. และมีกำหนดให้ทีมรองเลขาธิการรัฐมนตรีมาแถลงรายละเอียดเพิ่มเติมในช่วงเวลา 12.00 น.

Lanner Joy: Little Lovely bookshop พื้นที่เล็กๆ ในคลินิกรักษาสัตว์ใจกลางลำปาง ที่อยากแบ่งปันพื้นที่การอ่านให้เป็นที่รักของทุกคน

เรื่องและภาพ: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

ร้านหนังสือ ธุรกิจที่หลายคนยกให้เป็น ‘ธุรกิจกัดกินฝัน’  เพราะมันกลืนกินทั้งความฝัน และเงินทุนของหลายคนไป ถ้าอยากทำให้อยู่รอดได้ ก็ต้องมั่นใจว่ามีกลยุทธ์มัดใจ เพราะถ้าไม่ได้ทำด้วยใจรักจริงๆ หรือไม่มีรายได้ทางอื่นเข้ามาเสริมเลย คงไปต่อได้ยาก ร้านหนังสือเลยเป็นอีกธุรกิจที่ปราบเซียนไม่น้อยไปกว่าใคร

ด้วยการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เดี๋ยวนี้อะไรก็หาได้ง่ายในออนไลน์ การเข้ามาของ E-book เองก็เปลี่ยนชั้นวางหนังสือจากหน้าร้านไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ไหนจะต้นทุนในการตีพิมพ์หนังสือที่สูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว ร้านหนังสือหลายร้านทั้งเชนสโตร์และร้านหนังสือเล็กๆ เลยทยอยล้มหายตายจากกันไป เหลืออยู่แค่ไม่กี่ร้านเท่านั้นที่ยังอยู่ต่อไปได้

Little Lovely bookshop ร้านหนังสืออิสระแห่งเดียวในลำปางที่อยู่บนชั้นสองของคลินิกบ้านรักษาสัตว์ ในซอยเล็กๆ ย่านท่าคราวน้อย อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นอีกร้านที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ แม้จะเปิดให้บริการมาจนถึงปีที่ 11 แล้ว แต่ร้านก็ยังต้องปรับตัวอยู่เสมอ เพื่อต่อสู้กับการเป็นธุรกิจกัดกินฝัน ในความคิดของใครหลายคน แต่เปลี่ยนมาเป็นธุรกิจเล็กๆ ที่รัก รักที่จะทำ รักที่จะเป็น

เจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้คือ น.สพ.พงษ์ประสิทธิ์ พงษ์พิจิตร หรือที่คนลำปางหลายคนรู้จักว่า ‘หมอมิ้น’ สัตวแพทย์ผู้มีใจรักในการอ่านมาตั้งแต่เด็ก ยืนต้อนรับเราอยู่หน้าคลินิกในช่วงบ่ายวันจันทร์ ต้องบอกก่อนว่าเรามาถึงร้านแบบงงๆ  เพราะความไม่คุ้นชินกับเส้นทางในเมืองลำปาง พอมาถึงร้านหมอมิ้นก็ชวนเราไปที่ชั้นสองซึ่งเป็นร้านหนังสือ เรากับหมอนั่งลงที่เก้าอี้ไม้กลางห้องเล็กที่รายล้อมไปด้วยหนังสือเด็กและวรรณกรรมหลายร้อยเล่ม บรรยากาศเงียบสงบชวนผ่อนคลาย เราเริ่มพูดคุยกันเกี่ยวกับร้านหนังสือในมุมมองของหมอมิ้นในระหว่างที่หมอกำลังรอเวลารักษาสัตว์ป่วย

คิดยังไงกับประโยคที่ว่า “ร้านหนังสือเป็นอาชีพที่กัดกินความฝัน”

“มีคำพูดที่เคยจำมาตั้งแต่จบมหาลัยใหม่ๆ เป็นคำพูดของ พี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) ที่เขาบอกว่า ถ้าเขาหาเงินได้สองบาท บาทนึงเขาก็จะซื้อข้าวกิน อีกบาทนึงเขาก็จะซื้อดอกไม้ อย่างข้าวก็ทำให้อิ่มท้องจะได้มีแรงใช้ชีวิตต่อไปได้ ส่วนดอกไม้มันก็ช่วยชุบชูจิตใจ ผมมองว่าร้านหนังสือมันก็อาจจะเป็นอย่างหลัง เราชอบแบบนี้ เรายังมีพลังที่จะทำสิ่งนี้ได้ แต่ถ้าเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ที่เราทำอยู่ เม็ดเงินเดียวกัน ลงเงินเท่ากัน การคืนต้นทุนกลับมามันเทียบกันไม่ได้อยู่แล้ว” 

การได้นั่งคุยกับหมอมิ้นทำให้เราเห็นมุมมองเกี่ยวกับธุรกิจกินฝันในฐานะคนขายหนังสือว่าจริงๆ แล้วสำหรับหมอมิ้นการได้เปิดร้านหนังสือที่แม้ผลตอบรับจะไม่ได้มากมายเท่าอาชีพอื่น ก็ยังเป็นถือว่าคุ้มค่า เพราะในฐานะคนขายหนังสือ แค่ได้มีพื้นที่เล็กๆ สำหรับให้คนที่รักในการอ่านหนังสือเหมือนกัน ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนหรือแนะนำหนังสือที่ชอบให้กัน แค่นั้นก็ถือเป็นความพอใจของคนขายหนังสือแล้ว

จุดเริ่มต้นของ Little Lovely bookshop #ร้านหนังสือเล็กๆ ที่รัก

พอได้ยินคำว่าเล็กๆ ก็ทำให้เรานึกถึงชื่อร้านหนังสือแห่งนี้ที่ชื่อว่า Little Lovely bookshop #ร้านหนังสือเล็กๆ ที่รัก และเกิดเป็นความสงสัยในที่มาของชื่อร้านเราเลยถามหมอมิ้นเพื่อไขข้อข้องใจนี้

“ชื่อร้านผมได้แรงบันดาลใจมาจากร้านโปรดที่ชื่อร้านหนังสือเล็กๆ ที่ถนนพระอาทิตย์ครับ ใช้บริการตั้งแต่สมัยเรียนมหาลัยแล้วชอบในทุกองค์ประกอบ ทั้งอัธยาศัยของเจ้าของร้านและบรรยากาศ พอตัดสินใจทำร้านหนังสือ ก็เลยเลือกตั้งชื่อนี้ แต่ก็ไม่อยากให้ซ้ำจนทำให้คนอ่านสับสน เลยใช้เป็นภาษาอังกฤษ แล้วเติมคำว่า Lovely เข้าไปเสริม เพราะอยากจะเป็นที่รักของนักอ่านครับ”

หมอมิ้นเล่าที่มาของชื่อร้านพร้อมกับบรรยายความเป็นมาของร้านย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วว่าเป็นช่วงที่หมอมิ้นได้กลับมาเปิดคลินิกรักษาสัตว์ในจังหวัดบ้านเกิดอย่างลำปาง หลังทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ได้เกือบ 2 ปี เพราะเล็งเห็นว่าในอนาคต คลินิกรักษาสัตว์ในเชียงใหม่น่าจะผุดขึ้นมาเต็มไปหมด และด้วยความที่โตมาในบ้านที่แม่เปิดร้านหนังสือเช่า ทำให้ได้อ่านหนังสือหลากหลายประเภทสั่งสมมาตั้งแต่ตอนนั้น หมอมิ้นเล่าว่าตอนเด็กๆ เขาชอบอ่านหนังสือการ์ตูนมากกว่าหนังสือเรียน แต่พอโตขึ้นมาหน่อยก็ได้อ่านวรรณกรรมมากขึ้นจนกลายเป็นหนังสืออีกประเภทที่ชอบ ความหลงใหลในหนังสือและการได้พบกับนักแปลในดวงใจ กลายเป็นแรงบันดาลใจในการเปิดร้านหนังสือของหมอมิ้นในที่สุด

ทำไมต้องเป็นจังหวัดลำปาง

“เพราะว่ามันเป็นบ้าน เป็นภูมิลำเนาของเรา แล้วเราก็มีเพื่อนฝูงญาติพี่น้องอยู่ทางนี้ การเริ่มต้นธุรกิจมันน่าจะเอื้อต่อการเติบโตมากกว่า และเราก็มองว่าร้านหนังสือเป็นกิจกรรมทางสังคมที่ยังควรจะมีอยู่ เวลาเราไปเดินห้าง ก็ยังเห็นคนเข้าร้านหนังสือมีอยู่ มันก็ยังต้องยังมีอยู่ เพราะคนอ่านก็ยังมีอยู่ มันก็ยังมีการเรียนรู้กันอยู่ตลอด”

สำหรับหมอมิ้นร้านหนังสืออิสระมีเสน่ห์ยังไง?

“รู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่เงียบๆ สำหรับให้คนชอบอ่านหนังสือได้มาใช้เวลา ค่อยๆ ตามหาหนังสือที่เข้ากับตัวเขา ไม่ต้องอิงกระแส เพราะหนังสือเดี๋ยวนี้มักจะออกวันละหลายปก มาเร็วขายเร็ว แล้วพอหมดกระแสก็กลายเป็นหนังสือตกยุค แต่ที่ร้านเราไม่ใช่แบบนั้นเพราะส่วนใหญ่จะคัดสรรให้เหมาะกับร้านมากกว่า”

หมอมิ้นเสริมอีกว่าเสน่ห์อีกอย่างของร้านหนังสืออิสระคือการที่แต่ละร้านจะมีสไตล์เป็นของตัวเอง เราสามารถรู้จักตัวตนของเจ้าของร้านได้ผ่านหนังสือที่วางขายในร้านได้เลย อย่างร้านของหมอเองส่วนใหญ่ก็จะมีหนังสือของ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ เยอะมาก เพราะเป็นสำนักพิมพ์ที่ผูกพันมาตั้งแต่เด็ก และอีกสำนักพิมพ์ที่จะเห็นได้เยอะในร้านหนังสือแห่งนี้ก็คือ สำนักพิมพ์กำมะหยี่ ที่ซื้อลิขสิทธิ์ผลงานของ ฮารูกิ มูราคามิ ที่หมอชื่นชอบมาพิมพ์จนครบ ความประทับใจนี้ทำให้หมอมิ้นอยากสนับสนุน และได้ดีลหนังสือจากสำนักพิมพ์นี้เข้ามาขาย นอกจากนั้นหนังสือเล่มอื่นในร้านหมอมิ้นก็จะคัดสรรอีกทีแต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงเน้นเป็นวรรณกรรม วรรณกรรมเยาวชน หนังสือเด็ก ตามที่คุณหมอชื่นชอบ

การเดินทาง 11 ปี ของร้านหนังสือเล็กๆ ที่รัก 

“ช่วงแรกที่เปิดค่อนข้างคึกคัก เพราะว่าลูกผมก็ยังเล็ก หนังสือในร้านเกินครึ่งจะเป็นนิทานเด็ก เวลาจัดกิจกรรมมันก็จะเชื่อมโยงง่ายเพราะผู้ปกครองเองก็อยากจะพาเด็กๆ มาฟังนิทาน มานั่งอ่านหนังสือในร้าน เราก็จัดทั้งเสวนา เชิญนักเขียนมา ฉายหนังแล้วก็พูดคุยกัน แล้วมันก็ค่อยๆ เขยิบไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ยุคแรกหนังสือก็ขายดี ตอนนั้นคนก็ยังสะดวกเข้าร้านหนังสือ”

หมอมิ้นเล่าว่าในช่วงแรกของการเปิดร้านหนังสือ บรรยากาศของร้านเรียกได้ว่าคึกคักมากเลยทีเดียว ส่วนใหญ่แล้วผู้ปกครองมักพาเด็กๆ มาทำกิจกรรมกันที่ร้าน เพราะหนังสือในร้านส่วนใหญ่จะเป็นนิทานเด็ก และกิจกรรมที่ทางร้านจัดก็เป็นกิจกรรมที่เด็กๆ สามารถเข้าร่วมได้ง่าย ทำให้ในช่วงแรกกลุ่มลูกค้าหลักก็มักจะเป็นนักเรียนนักศึกษา และกลุ่มผู้ปกครองในลำปาง แต่ก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่นักท่องเที่ยวมาใช้บริการเยอะ เพราะโครงการ Book Passport

“แรกๆ ก็จะเป็นประชาชนในจังหวัด หลังๆ ก็เริ่มเป็นนักท่องเที่ยว เพราะช่วงนั้นมีโครงการ Book Passport ของกระทรวงวัฒนธรรมกับมูลนิธิวิชาหนังสือ มีการสะสมตรายาง มีรางวัลมาส่งเสริมการใช้บริการร้านหนังสือเพิ่มขึ้น มันเลยกระตุ้นให้คนมาเที่ยวร้านหนังสือมากขึ้น นักท่องเที่ยวก็จะเยอะมาก”

ฟังจากที่หมอเล่าก็รู้สึกว่าร้านดูจะไปได้ดี แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะในการทำธุรกิจก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าอุปสรรคมาเป็นบททดสอบกันอยู่บ้าง และอุปสรรคก้อนใหญ่ที่หมอมิ้นเจอก็คล้ายกันกับหลายคน นั่นคือ การระบาดของโควิด-19 ที่พาให้ธุรกิจร้านหนังสือเปลี่ยนรูปแบบไป Little Lovely bookshop ที่จากเดิมที่เปิดขายเฉพาะหน้าร้านก็ต้องใช้การขายบนช่องทางออนไลน์มาช่วย และต้องหากิจกรรมใหม่มาเสริมเพื่อไม่ให้ร้านเงียบเหงาจนเกินไป ซึ่งกิจกรรมที่หมอมิ้นได้เลือกมาเสริมนั่นคือ ‘การฉายหนัง’ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรุ่นพี่ในมหาลัยมาช่วยดึงดูดลูกค้า ส่วนใหญ่แล้วจะฉายเป็นหนังสารคดีสำหรับเด็กเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กที่มาร่วมกิจกรรม

“ในส่วนนี้เราพึ่งค่ายหนังของรุ่นพี่ที่จุฬาฯ อีกเหมือนเคยครับ เป็นหนังของค่าย Documentary Club ของพี่ธิดา (ธิดา ผลิตผลการพิมพ์) ก็จะเป็นหนังสารคดี 70-90% ส่วนอีก 10% ก็ขึ้นอยู่กับว่าทางค่ายซื้อแนวไหนมา แต่ว่าเราก็จะเลือกเรื่องที่มันเชื่อมโยงกับทางร้านเช่นเรื่องแรกที่ชื่อว่า โลกนี้ดีจังที่มีการ์ตูน เป็นเรื่องราวของเด็กออทิสติกที่ใช้ไดอะล็อกหรือบทสนทนาของการ์ตูน Walt Disney มาเป็นสื่อในการเรียนรู้ เพื่อการสื่อสารกับครอบครัวว่าตอนนี้เขารู้สึกแบบไหน และทาง Walt Disney ก็อนุญาตให้เอาไปใช้ได้โดยไม่เก็บค่าลิขสิทธิ์ เราก็เปิดให้จองทางออนไลน์ รอบนึงก็จะฉายได้ 4-8 ที่ เราก็ทำอยู่ 8 รอบ พอเราเริ่มเห็นว่ามันมีกลุ่มที่อยากดูแนวนี้เราก็ทำมาเรื่อยๆ”

พื้นที่การอ่านกับคนรุ่นใหม่

คนไทยมักโดนแซวอยู่บ่อยๆ ว่าอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัด แต่ในช่วงหลังๆ มานี้ เราจะเห็นว่าพฤติกรรมการอ่านของคนไทยนั้นเปลี่ยนไป เห็นได้จากผลสำรวจของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ที่ระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นและตลาดหนังสือมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เราเองก็ได้คุยกันกับหมอมิ้นในประเด็นนี้อยู่เหมือนกัน

“ก็อ่านเยอะจริงแหละครับ เพียงแต่ว่าพื้นที่การอ่านมันเปลี่ยนไป อย่างตอนนี้ในชุมชนคนอ่านหนังสือมันก็จะมีชุมชนย่อยเป็นชุมชนคนอ่าน E-book เขาก็จะใช้พวก E-reader ช่วยอ่านให้ฟัง สัดส่วนตรงนั้นก็เยอะนะ หนังสือแบบเล่มถ้าคนจะอ่านได้มันต้องหาซื้อมาอ่านง่าย จับต้องได้ ราคาเอื้อมถึง มันเป็นธรรมชาติของการซื้อ หนังสือหลังๆ มานี้ ด้วยกลไกธุรกิจมันทำให้ราคาสูงขึ้นนะ สมมติว่าเมื่อก่อนเรามีเงินอยู่ 500 ก็อาจจะซื้อหนังสือได้ 2 เล่ม แต่ตอนนี้ 500 เราอาจจะซื้อได้เล่มครึ่ง หรืออาจจะเล่มเดียวเลย คนรุ่นใหม่ๆ เขาก็จะเข้าถึงหนังสือยากขึ้น”

แล้วหมอมิ้นคิดว่ามีวิธีแก้ไขหรือส่งเสริมการอ่านให้คนรุ่นใหม่ได้ยังไงบ้าง

“ผมมองว่าทางออกที่ดีคือ ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย โรงเรียนต่างๆ มันก็ต้องเอื้อกัน เช่น ห้องสมุดต้องอัพเดตลงหนังสือใหม่เพื่อเป็นการสร้างฐานนักอ่าน มันก็จะช่วยทำให้จำนวนพิมพ์หนังสืออยู่ในสัดส่วนที่มากขึ้น ก็จะทำให้คนเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น อาจจะให้เขาได้ลองอ่านในห้องสมุดก่อน พอถูกใจและชอบก็ค่อยไปซื้อจากร้านหนังสือก็ได้ มันก็จะวนกัน เรารู้สึกว่า ทำยังไงก็ได้ให้การอ่านมันเป็นธรรมชาติที่สุด มีอยู่ทุกที่ ราคาจับต้องได้”

อย่างที่รู้กันดีว่า Little Lovely bookshop เป็นร้านหนังสืออิสระแห่งเดียวที่มีอยู่ในจังหวัดลำปาง แล้วแบบนี้คุณหมอมิ้นในฐานะเจ้าของร้านรู้สึกอย่างไรบ้าง

“มันก็รู้สึกว้าเหว่เหมือนกันนะ เพราะใจเราก็อยากจะให้มันมีความหลากหลาย ด้วยข้อจำกัดของร้านเราที่อยู่ในซอย อยู่บนชั้นลอย พื้นที่มันก็มีเท่านี้ มันก็ไม่สามารถลงหนังสือได้ครบทุกประเภทตามความต้องการของนักอ่าน อย่างเวลาไปเชียงใหม่แต่ละร้านเขาก็จะมีสไตล์ที่ต่างกัน เรามองว่าแต่ละจังหวัดมันควรจะมีหลายๆ ร้านเพื่อจะได้มาช่วยรองรับความต้องการของนักอ่านได้มากขึ้น ทำให้นักอ่านเขามีตัวเลือกมากขึ้น ผมว่ามันจะเอื้อต่อชุมชนด้วย”

พอได้คุยกันมาสักพัก เราก็ได้ขอให้คุณหมอแนะนำหนังสือเล่มที่ชอบเพื่อให้เราได้รู้จักหมอมิ้นมากขึ้นผ่านการบอกเล่าด้วยหนังสือเล่มที่ชอบอ่าน

แนะนำหนังสือที่ชอบมาสัก 3 เล่มได้ไหม

1. โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ เขียน, ผุสดี นาวาวิจิต แปล

“เล่มนี้ก็เป็นเล่มที่ชอบตั้งแต่เด็กแล้วครับ อ่านซ้ำบ่อยมาก ก็จะเป็นเรื่องของเด็กซนเด็กแก่น ที่โรงเรียนไม่เข้าใจเลยต้องย้ายโรงเรียนไปเรื่อยๆ พอได้ไปเจอโรงเรียนที่เข้าใจ ก็เลยได้เรียนตรงนั้น ความประทับใจอีกอย่างคือ ครั้งหนึ่งเราไปร้านเล่าที่เชียงใหม่แล้วเขาเชิญคนแปลเล่มนี้ (ผุสดี นาวาวิจิต) มาพอดี เราได้ไปเจอเขาแล้วเราก็ขอลายเซ็นเขา เคยเขียนจดหมายไปหาเขาแล้วก็ได้รับการตอบกลับมาด้วย ก็เป็นแรงบันดาลใจในการทำร้านหนังสือของเราส่วนหนึ่ง แล้วเราเป็นแฟนของสำนักพิมพ์ผีเสื้อด้วย ก็เป็นสำนักพิมพ์ที่เราผูกพันมาตั้งแต่เด็กจนเหมือนกับว่า ถ้าเป็นสำนักพิมพ์นี้นะ ไม่ว่าปกไหนเราจะก็มั่นใจได้เลยว่าอ่านแล้วมันจะต้องมีอะไรดีๆ สักอย่างแน่”

2. Journey of a Little Elephant การเดินทางของคชสาร คชสาร ตั้งยามอรุณ เขียน

“เซ็ตนี้เป็นเล่มที่เราชอบเพราะสำนวนภาษาเขาดีมาก แล้วยุคก่อนมันก็เป็นยุคของนิตยสารเนาะ มันก็จะมีคอลัมน์ 5 ชอบ 5 ไม่ชอบ ในนิตยสารสีสัน ตอนนั้นนักวิจารณ์ทุกคนเขาเทใจชอบเล่มนี้หมดเลย ผมก็เลยไปซื้อมาอ่านตามนักวิจารณ์ ผมชอบที่ในหนังสือมีวรรคตอนที่พูดเกี่ยวกับว่า นักเขียนเขาได้ไปเจอเพื่อนเขาเปิดร้านขายของเล่นที่ทำจากไม้ในสแกนดิเนเวีย แล้วเขาก็ไปถามเพื่อนว่า ทำของเล่นนี่มันอยู่ได้เหรอ เลี้ยงครอบครัวได้ไหม เลี้ยงชีพได้ไหม แล้วมันเป็นยังไง เพื่อนเขาก็บอกว่า คนเขียนถามเขาเหมือนเด็กเลย จริงๆ โลกนี้มันมีความเป็นไปได้หลายแบบที่รอเราอยู่ มันไม่จำเป็นว่าต้องทำเหมือนกันไปหมด ในเมื่อเขาค้นพบแล้วว่าจักรวาลของเขา การขายของเล่นไม้ตรงนี้มันมีความสุขแล้ว เขาก็คิดว่าความรักในงานที่เขาทำมันจะหล่อเลี้ยงเขาไปได้ มันก็เป็นแนวคิดที่เราชอบ เวลาเราทำอะไรแล้วรู้สึกว่าบางทีเราท้อหรือเบื่อ”

3. Bookstore Style เสน่ห์ของร้านหนังสือที่ซีกโลกใต้ หนุ่ม ร้านหนังสือเดินทาง เขียน

“เล่มนี้เป็นบันทึกการเดินทาง คนเขียนคือพี่หนุ่ม ร้านหนังสือเดินทาง (อำนาจ รัตนมณี) แต่ก่อนผมอ่านเป็นคอลัมน์ในนิตยสารสารคดี แล้วพี่หนุ่มเขาก็เอามารวมเล่ม นี่ก็เป็นเล่มแรกๆ ที่เราสั่งมาขายแล้วเขาก็เซ็นต์ลายเซ็นต์ให้ด้วย แต่ที่ชอบเล่มนี้เพราะช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่พี่หนุ่มพักร้านหนังสือไปเป็นปี แล้วก็ไปทำงานอยู่นิวซีแลนด์ พอวันหยุดเขาก็ตระเวนไปทั่วนิวซีแลนด์เพื่อไปเที่ยวร้านหนังสือ แล้วเราก็ได้เห็นว่าในต่างประเทศมันมีร้านหนังสือหลายๆ แบบ มันไม่ได้มีร้านหนังสือแบบเดียวกับที่เราคุ้นเคยในไทย เราก็จะเห็นว่าโลกมันไม่ได้มีแต่แบบนี้นะ พออ่านแล้วเราก็ชอบ อยากไปดู อยากไปเห็น อยากทำแบบนี้บ้าง”

ก่อนจะแยกย้ายกันไปเพื่อให้หมอมิ้นที่ในตอนนี้สวมบทบาทนักอ่านได้กลับไปทำหน้าที่สัตวแพทย์ในช่วงเย็นของวันจันทร์ เราก็ได้ถามคำถามสุดท้ายกับหมอมิ้นไปว่า ‘อยากเห็นวงการหนังสือไปในทิศทางไหน’ คุณหมอตอบมาว่า อยากเห็นปฏิสัมพันธ์ของวงการหนังสือที่มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น เพื่อที่วงการนี้จะได้เติบโตไปโดยไม่ต้องเงียบเหงา ให้เมืองได้มี #ร้านหนังสือเล็กๆ ที่เป็นจุดเชื่อมกลุ่มคนรักหนังสือเข้าด้วยกันต่อไป

“อยากเห็นการเชื่อมโยงของ นักเขียน หนังสือ ร้านหนังสือ แล้วก็นักอ่าน เพราะเหมือนสังคมตอนนี้ทุกอย่างมันค่อนข้างกระจัดกระจาย คนต่างคนต่างอยู่มากขึ้น ปฏิสัมพันธ์ของวงการหนังสือไม่ว่าจะเป็นนักเขียน หรือธุรกิจสิ่งพิมพ์ต่างๆ มันไม่ค่อยมีให้เห็น เหมือนต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองไป มันไม่ได้เอื้อกันขนาดนั้นในธรรมชาติของธุรกิจหนังสือเท่าไหร่ ก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงตรงนี้”