เรื่อง: ธีรภัทร์ แก้วกัณหา และปวีณา บุหร่า*
ความนำ
บทความชิ้นนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อศึกษาความเชื่อการย่นข้าว พิธีกรรม และความเปลี่ยนแปลงของการย่นข้าวของชาวบ้าน บ้านหนองอุมลัว หมู่ 6 ตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
ผลการศึกษาพบว่า ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมการย่นข้าวสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านและเรื่องเหนือสิ่งธรรมชาติ โดยมีความเชื่อว่าการเจ็บป่วยบางอย่างเกิดจากผีหรือวิญญาณมารบกวน ความเชื่อพิธีกรรมย่นข้าวชาวบ้านหนองอุมลัวเชื่อว่า พิธีกรรมย่นข้าวจะช่วยหาสาเหตุการเจ็บป่วยได้
พิธีกรรมย่นข้าวเริ่มจากผู้ทำพิธีจะนำข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนกลมแล้วผูกด้วยสายสิญจน์ ผู้ป่วยจะตั้งคำถามว่า สาเหตุการป่วยเกิดจากอะไร ผีใช่ไหม หากใช่ข้าวที่ติดกับสายสิญจน์จะแกว่งไปมา หากไม่ใช่ข้าวที่ติดกับสายสิญจน์ก็จะไม่แกว่ง
ความเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรมย่นข้าว ข้อมูลจากการสัมภาษณ์หมอพิธีกรรม พบว่า เมื่อการแพทย์แผนปัจจุบันเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น ทำให้ผู้คนหันไปใช้การรักษาที่เป็นการแพทย์แผนปัจจุบันมากขึ้น การหาสาเหตุการเจ็บป่วยแบบแพทย์พื้นบ้านด้วยการย่นข้าวจึงลดลง ส่งผลให้บทบาทของหมอพิธีกรรม ความเชื่อและพิธีย่นข้าวของบ้านหนองอุมลัวจึงลดลงเช่นกัน
พิธีกรรมย่นข้าว บ้านหนองอุมลัว ตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นพิธีกรรมหาสาเหตุการเจ็บป่วยโดยใช้ข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนกลมและติดกับสายสิญจน์ ผู้ที่ไปให้พิธีกรรมย่นข้าวช่วยจะตั้งสมมติฐานขึ้นเพื่อถามผู้ทำพิธีกรรมย่นข้าว เช่น นาย/นางนี้ป่วยเพราะผีมาก่อกวนใช่ไหม ถึงทำให้ผู้ป่วยไม่สบาย หาก “ใช่” ข้าวก็จะแกว่งไปมา หาก “ไม่ใช่” ตามที่ตั้งคำถามไว้ ข้าวก็จะไม่แกว่ง แต่ถ้าผู้ทำพิธีกรรมย่นข้าวบอกว่าผีมาก่อกวนทำให้ไม่สบาย ผู้ทำพิธีกรรมย่นข้าวจะบอกผู้ที่ไปให้พิธีกรรมย่นข้าวช่วย ว่า “กลับไปบ้านให้จัดเตรียมหาพาข้าวน้อยไปให้ผีกิน ผู้ป่วยจะหาย” ส่วนมากแล้วผู้ป่วยจะหาย[2] ความเชื่อพิธีกรรมการย่นข้าว อาจทำให้เห็นถึงความเชื่อของชาวบ้านหนองอุมลัวต่อพิธีกรรมย่นข้าวและความเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรม ในการหาสาเหตุการเจ็บป่วย เนื่องจากการเข้ามาของเทคโนโลยีและการแพทย์สมัยใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงทั้งความเชื่อและการรักษาของพิธีกรรม ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาความเชื่อพิธีกรรมการย่นข้าวและความเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรมย่นข้าวบ้านหนองอุมลัว เนื่องจากพิธีกรรมดังกล่าวสามารถแสดงให้เห็นถึงการรักษาโรคของชาวบ้าน และทำให้เห็นถึงความเชื่อของชาวบ้านต่อพิธีกรรมย่นข้าวอีกด้วย
บทความนี้จะศึกษาเนื้อหาที่สำคัญดังนี้ 1.ประวัติบ้านหนองอุมลัว 2.ความเชื่อและพิธีกรรมย่นข้าว บ้านหนองอุมลัว อำเภอด่านซ้าย ตำบลโพนสูง จังหวัดเลย เป็นการศึกษาถึงขั้นตอนและรายละเอียดของพิธีกรรม เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมย่นข้าว ความเป็นมาของพิธีกรรม และ 3.การเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรมย่นข้าว เป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรมเมื่อการแพทย์แผนสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในชุมชนมากขึ้น ส่งผลให้พิธีกรรมย่นข้าวได้รับผลกระทบ
ประวัติและความเป็นมาของบ้านหนองอุมลัว
บ้านหนองอุมลัว ตั้งอยู่ในตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ไม่ได้มีการจดบันทึกของประวัติหมู่บ้านไว้อย่างแน่ชัด แต่เป็นการเล่าจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งแบ่งออกเป็น 3 แบบดังนี้ 1. เป็นนกกระยาง สีน้ำตาล คอยาว ปากยาว แหลมคม ซึ่งมีมากในหนองน้ำ ชื่อนก อัวลัว เสียงร้องดังก้องกังวาน ไปไกล ครั้งแรก คงเรียกว่าหนองนกอัวลัวนานเข้าคำว่านกหายไป เหลือแต่ หนองอุมลัว 2. ตั้งตามลักษณะของหนองน้ำ คำเดิมคงเป็นอุลลัว ภาษาถิ่นหมายถึง อุม แปลว่า ชุ่มชื้น ลัว แปลว่า กว้างใหญ่ นานเข้าเสียงวรรณยุกต์เอกหายไปคงเหลือเพียง หนองอุมลัว หมายถึงหนองกว้างชุ่มชื่น 3. คำว่า ลัว อาจมาจากที่ว่า อั้วลั้ว หมายความว่า ขุ่นข้น เหลวไม่มีน้ำ เหยียบผืนแหน จะสะเทือนไปทั่วหนองน้ำ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เฝี่ยน หรือ แปลว่า ดินดูด ซึ่งหมู่บ้านได้ตั้งอยู่ใกล้หนองน้ำจึงได้ชื่อว่า หนองอุมลัว[3]
ลักษณะของหมู่บ้านหนองอุมลัวนั้นทิศเหนือจะติดกับ ตำบลโคกงาม ทิศตะวันออกจะติดกับ บ้านหัวฝาย และบ้านหนองสนุ่น ทิศใต้จะติดกับ บ้านโพนสูง และบ้านหางนา ทิศตะวันตกจะนั้นติดกับบ้าน ห้วยตาด ภูมิอากาศบ้านหนองอุมลัว มีทั้งหมด 3 ฤดู ประกอบด้วย 1.ฤดูฝน 2. ฤดูร้อน 3. ฤดูหนาว ทั้ง 3 ฤดูนี้ทำให้ชาวบ้านหนองอุมลัวมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไป วิถีชีวิตและการสร้างอาชีพหรือการสร้างรายได้ของคนบ้านหนองอุมลัว จะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล เช่น เมื่อฤดูฝน ชาวบ้านจะออกไปหากบ (ภาษาถิ่นเรียกว่าไต่เขียด) เป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่งที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวบ้านช่วงฤดูฝน นอกจากจะนำมาบริโภคแล้วยังนำไปขายในตลาดหรือคลองถมอีกด้วย[4]
การประกอบอาชีพของชาวบ้านหนองอุมลัว อาชีพของชาวบ้านหนองอุมลัวนั้น หลากหลายอาชีพ ในอดีตบ้านหนองอุมลัวจะมีการทำเกษตร ชาวบ้านหนองอุมลัวมีอาชีพเกษตรกรปลูกข้าวเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันนี้พื้นที่ที่ปลูกข้าวในอดีตได้กลายมาเป็นการปลูกพืชชนิดอื่นแทนอย่างเช่น แก้วมังกร เสาวรส และมันสำปะหลัง นอกจากนี้พื้นที่ทางกลางเกษตรบางส่วนได้กลายเป็นที่สร้างบ้านเรือนของชาวบ้าน[5] และในปัจจุบันเกิดอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้การปลูกข้าวได้เรือนหายไปแต่ก็มีอยู่บ้าง เมื่อระบบการศึกษาเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทำให้การทำนานั้นลดลงทำให้คนรุ่นหลังหันเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างเช่น ภาคอุตสาหกรรม รับราชการ จึงไม่ได้ใส่ใจการทำนามากนัก
ความเชื่อพิธีกรรมย่นข้าว
ชาวบ้านหนองอุมลัว มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผี หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยเชื่อว่าผีจะอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเขา เช่น จะทำอะไรก็ต้องยกมือไหว้ขอก่อน เนื่องจากเชื่อว่าทุกที่มีเจ้าที่ ผีสาง เทวดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาศัยอยู่ ยกตัวอย่าง เมื่อเข้าป่าชาวบ้านก็จะยกมือไหว้บอกผีป่า ว่า “อย่าบังตา อย่ามาแกล้ง”[6] นอกจากผีป่าแล้วยังมีความเชื่อเกี่ยวกับผีบ้านอีกด้วย ยกตัวอย่าง เมื่อลูกหลานกลับมาบ้านในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาว แม่หรือคนเฒ่าคนแก่ที่อยู่ที่บ้านก็จะหาพาข้าวน้อยไหว้บอกผีบ้านผีเรือน ดังนั้นความเชื่อเรื่องผีถือว่าเป็นเครื่องยึดเหนียวจิตใจของชาวบ้านเลยก็ว่าได้ ทำให้ชาวบ้านเกิดความศรัทธา และความสบายอก สบายใจ[7] เช่น การรักษาหรือการหาสาเหตุผ่านพิธีกรรมความเชื่อ ซึ่งทำให้ชาวบ้านเกิดความศรัทธาและมีความเชื่อต่อพิธีกรรมในการรักษาสิ่งต่าง ๆ
พิธีกรรมย่นข้าวของชาวบ้านหนองอุมลัว ตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นพิธีกรรมหาสาเหตุการเจ็บป่วยที่เกิดจากผี ชาวบ้านเชื่อว่าการเจ็บป่วยหรือความไม่สบายเกิดจากการรบกวนของผีหรือวิญญาณทั้งดีไม่ดี ผีเหล่านี้อาจจะมาสิงมารบกวนทำให้ผู้คนไม่สบาย พิธีกรรมการย่นข้าวจึงจะหาสาเหตุการเจ็บป่วยโดยใช้ข้าวเหนียวที่ติดกับสายสิญจน์ช่วยในการสื่อสารกับผีโดยการแกว่งข้าวและใช้พิธีกรรมหาพาข้าวน้อยในการรักษา
การรักษาด้วยพิธีกรรมทั้งสองนี้สามารถเยี่ยวยาจิตใจของชาวบ้านหนองอุมลัวได้ โดยให้พิธีกรรมย่นข้าวหาสาเหตุการเจ็บป่วยและใช้พิธีกรรมหาพาข้าวน้อย ในการรักษาโดยการไปไหว้ ขอโทษ ขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งลี้ลับให้อภัยเราในสิ่งที่เราล่วงเกินไป หรือขอให้ผีไม่มาก่อกวนให้เราไม่สบาย ขอให้หายจากอาการป่วย การทำพิธีกรรมย่นข้าวและพิธีกรรมหาพาข้าวน้อยทำให้ชาวบ้านหนองอุมลัวรู้สึกปลอดภัยและมีความหวังในการหายป่วย นอกจากนี้พิธีกรรมที่กล่าวมาข้างต้นสามารถเยี่ยวยาสภาพจิตใจของผู้ป่วยและชาวบ้านได้อีกด้วย พิธีกรรมมีส่วนในการส่งเสริมสุขภาพทั้งด้านจิตใจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ[8]
พิธีกรรมหาพาข้าวน้อยในการรักษา คือ เป็นการจัดสำรับอาหารประกอบไปด้วย อาหารคาว ของหวาน ต่าง ๆ พร้อมกับน้ำ 1 แก้วเล็ก แต่การจัดสำรับอาหารจะจัดเป็นขนาดเล็ก คือ การจัดสำรับอาหารใส่ถ้วยเล็ก เหมือนการจัดสำรับอาหารที่เรากินกันแต่ พาข้าวน้อย เป็นการจัดสำรับอาหารที่มีขาดเล็กลงจากสำรับอาหารที่เราจัด พาข้าวน้อยช่วยรักษาอาการป่วยได้ เมื่อเราไปให้พิธีกรรมย่นข้าวช่วยหาสาเหตุการเจ็บป่วย เมื่อรู้แล้วว่าสาเหตุการป่วยเกิดจากผีเป็นผู้กระทำ ผู้ทำพิธีกรรมย่นข้าวจะให้ผู้ป่วย กลับบ้านไปหาข้าวน้อยให้ผีกิน เมื่อผีได้กินพาข้าวน้อยที่เราจัดเตรียมไปให้แล้ว ผีก็จะออกไป ไม่มารบกวน ไม่มาทำให้เราไม่สบาย ผู้ป่วยจากไม่สบายไม่หายป่วย เมื่อจัดเตรียมพาข้าวน้อยไปให้พาผีกินก็บอกชื่อผู้ป่วย เช่น “นาง/นายนี่หาพาข้าวมาให้กินละเด้อ อย่ามากวนอย่ามาเฮ็ดให้บ่สบายอีกเด้อ กินละกะไปเด้อ”[9] เมื่อหาพาข้าวให้ผีกินเสร็จแล้ว ส่วนใหญ่ 1 – 2 วันก็จะหายป่วย นางจิราภรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อให้พิธีกรรมย่นข้าวช่วยหาสาเหตุการป่วยละ พอกลับบ้าน หาพาข้าวน้อยให้ผีกินตามผู้ทำพิธีกรรมบอก ประมาณวัน สองวันก็หายป่วย”[10] การหาพาข้าวน้อยให้ผีกินจะจัดนอกบ้าน หน้าบ้านหรือหลังบ้านก็ได้ขอเพียงแค่อยู่นอกบ้านของเรา สาเหตุที่ต้องทำนอกบ้าน นางหวาน โสประดิษฐ ให้สัมภาษณ์ว่า “ครั้นหาในบ้านผีก็จะเข้ามาในบ้าน เลยต้องไปหานอกบ้าน จะหาข้างหลังบ้าน หน้าบ้านหรือข้างบ้านก็แล้วแต่เราเพียงไม่ให้หาพาข้าวน้อยในบ้าน”[11]
พิธีกรรมย่นข้าวเป็นรูปแบบหนึ่ง ในการหาสาเหตุการเจ็บป่วยโดยใช้ความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง ถึงแม้ว่าคนในปัจจุบันมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่มุมมองของคนในอดีตนั้นเชื่อว่าพิธีกรรมนี้ช่วยได้ ซึ่งในปัจจุบันก็มีชาวบ้านเข้ามาให้ย่นข้าวให้อยู่เป็นประจำ ควบคู่กับการรักษาทางการแพทย์สมัยใหม่และพิธีกรรมย่นข้าวเป็นการรักษาทางจิตใจของชาวบ้านหนองอุมลัว ในปัจจุบัน ก็มีคนเข้ามาให้ย่นข้าวให้ ครั้นอยู่ไกลก็โทรมาบอกว่า ให้ย่นข้าวให้ “บ่สบายมาหลายมื้อแล้ว ยายน้อยกะอิย่นข้าวให้ ครั้นได่คำตอบละว่าเกิดจากอิหยังยายน้อยกะอิโทรไปบอก เขาบ่หาพาข้าวน้อยคืออยู่บ้านเฮา เขากะไปทำบุญ พอมื้อสองมื้อกะหายดี”[12] พิธีกรรมย่นข้าวเป็นพิธีกรรมหาสาเหตุการเจ็บป่วย แต่พาข้าวน้อยเป็นการรักษา เหมือนกับการขอขมาผีให้หายป่วยโดยการจัดพาข้าวน้อยไปให้ผีกินข้าว
หมอพื้นบ้านในพิธีกรรมย่นข้าว
จากการลงพื้นที่ ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์ นางสุริน โสประดิษฐ ผู้ทำพิธีกรรมย่นข้าว นางสุรินเล่าว่า “พิธีกรรมย่นข้าวนั้นสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่รุ่นแม่ นางสุรินเริ่มทำพิธีกรรมย่นข้าวหลังจากแม่เสีย เมื่อประมาณ 23 ปีที่แล้ว(นับจากปีปัจจุบันพ.ศ. 2567) เมื่อพ.ศ. 2544 ตอนเริ่มทำพิธีกรรมนางสุรินมีอายุประมาณ 50 ปี”[13]
นางสุริน โสประดิษฐ เล่าว่า “เมื่อก่อนชาวบ้านหนองอุมลัวไม่มีหมออนามัยในการรักษา ก็ต้องใช้หมอสมุนไพร หมอพิธีกรรม หมอเป่า ช่วยในการรักษาอาการป่วย และอุบัติเหตุต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านเกิดความคิดกำเนิดพิธีกรรมย่นข้าวขึ้น เพื่อหาสาเหตุการป่วย”[14]
ขั้นตอนการทำพิธีกรรมย่นข้าว
1. ผู้ป่วยเกิดอาการป่วยโดยไม่รู้สาเหตุ ไปหาหมอมาแล้วยังไม่ดีขึ้น
2. ผู้ป่วยจะแต่งขันธ์ 5 เข้ามาหาผู้ทำพิธีกรรมย่นข้าว
3. เมื่อผู้ทำพิธีกรรมทราบแล้วว่าผู้ป่วยมาให้พิธีกรรมย่นข้าวช่วยเหลือ
4. ผู้ทำพิธีกรรมจะจัดเตรียมอุปกรณ์ดั้งนี้ คือ สายสิญจน์ และข้าวเหนียว ขนาดสายสิญจน์จะตัดให้ได้ขนาดความยาวประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร เมื่อขนาดสายสิญจน์ได้ขนาดได้แล้วก็นำข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนกลม ติดกับสายสิญจน์ เมื่อจัดเตรียมพร้อมแล้วก็เริ่มพิธีกรรม
5. ผู้ป่วยจะถามผู้ทำพิธีกรรม เช่น อาการป่วยเกิดจากผีตามมาก่อกวนทำให้ไม่สบายหรือไม่ หากใช่ ข้าวที่ติดกับสายสิญจน์ ก็จะแกว่ง แต่หากไม่ใช่ ข้าวที่ติดสายสิญจน์บนมือของผู้ทำพิธีกรรมก็จะไม่แกว่ง หากผู้ป่วยทราบว่าเกิดจากผี
6. เมื่อทราบแล้วว่าเกิดจากผี ผู้ป่วยกลับบ้านมาจะจัดเตรียมอาหาร ซึ่งเรียกว่า “พาข้าวน้อย” เพื่อไหว้ผี ไม่ให้มาก่อกวนทำเราไม่สบาย เพียงวัน สองวัน อาการป่วยก็จะดีขึ้น[15]
บทสัมภาษณ์ผู้ที่เคยใช้พิธีกรรมย่นข้าวในการหาสาเหตุโรค
นางหวาน โสประดิษฐ์ ให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อก่อนยายเลี้ยงหลาน หลานมักให้อยู่ซือ ๆ หลานยายก๋อไห้ บ่ฮู้เป็นหยัง ไห้หลายเทื่อ บ่ฮู้เกิดจากอิหยัง ยายกะเลยให้ยายน้อย ย่นข้าว ว่าหลานยายเป็นหยังถึงไห้จั่งสี้ พอยายให้ยายน้อยย่นข้าวไห้ละกะฮู้ว่า มีผีมากวน ยายน้อยกะให้ยาย หาข้าวน้อยละกะบอกผีเอา พอยายกลับมาบ้านยายกะจัดหาพาข้าวน้อยให้ผีได้กินแล้วละกะขอผีอย่ามากวนหลาน ให้หลานเซาไห้เด้อ พอยายเฮ็ดให้แล้ว มื้อ สองมื้อหลานยายกะเซาไห้”[16]
นางสาวชริญญา พรมโสภา ให้สัมภาษณ์ว่า “ตอนนั้นเฮ็ดของหายเป็นเหรียญพระ ตอนนั้นพอดีว่าอิเดินทางไกลไปเรียนปกติอิพกเหรียญพระตอนเดินทางนำ แต่ก่อนอิออกเดินทางเหรียญหาย บ่จักว่าจัวเองเอาไปไว้ได หาทั่วบ้านละก็บ่เห็น เลยไปหายายน้อยให้ย่นข้าวเบิ่ง ว่าเหรียญพระหายไปได ยายน้อยกะถามให้ว่าอยู่ม่งได คั้นแม่นข้าวก็อิแกว่ง คั้นบ่แม่นข้าวก็บ่แกว่ง ยายน้อยกะถามไปว่าอยู่หลังตู้บ่ข้าวก็แกว่ง อยู่ห้องนอนบ่ข้าวก็แกว่ง พอกลับไปหากะเจอ”[17]
นายไพวัลย์ โสประดิษฐ์ ให้สัมภาษณ์ว่า “ตอนนั้นลุงป่วยเจ็บเนื้อเจ็บตัว ลุกบ่ได๋เลย เวียนหัว ละกะอ้วกหลายเทื่อ ก่อนอิป่วยลุงกะไปสวนตามปกติ พอตกแลงดึก จู่ ๆ กะมีไข้ตัวฮ้อนเวียนหัว ลุกบ่ได๋ บ่ฮู้เป็นหยัง ลุงกะเลยให้หลานไปให้ยายน้อย ย่นข้าวเบิ่งว่าเป็นอิหยัง พอย่นข้าวเบิ่งละ ยายน้อยบอกว่า แม่ของลุงเข้าป่าไปหาของป่ามากิน เลยเฮ็ดให้ผีป่าตามแม่ลุงมา ละกะมาเฮ็ดให้ลุงป่วย ละพอมื้อเช้าแม่ลุงกะหาพาข้าวน้อย ไปขอขมาผี ละกะบอกว่า ได่กินข้าวละก๋อกลับไปที่เคยมา ละอย่ามาเฮ็ดลูกเฮ็ดหลานยายอีก มื้อสองมื้อกะดีขึ้น กลับมาแข็งแรงคือเก่า เข้าป่าเข้าสวนได่คือเก่า”[18]
นางสุริน โสประดิษฐ กำลังทำพิธีกรรมย่นข้าว
ข้าวหยุดนิ่ง หากคำถามของผู้ที่ให้ทำพิธีกรรมย่นข้าวแล้วคำตอบ ไม่ใช่ ข้าวก็จะหยุดนิ่ง
ข้าวกำลังแกว่งไปมา หากคำถามของผู้ที่ให้ทำพิธีกรรมย่นข้าวแล้วคำตอบเป็นว่าใช่ ข้าวก็จะแกว่งไปมา
ความเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรมย่นข้าว
การแพทย์สมัยใหม่เข้ามาในชุมชนบ้านหนองอุมลัว ส่งผลให้การแพทย์พื้นบ้านโดนลดบทบาทลง คนรุ่นหลังให้ความสนใจกับเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่มากขึ้น เมื่อสถานีอนามัยบ้านหนองอุมลัวได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2540[19] ส่งผลให้จำนวนผู้คนหันมาใช้พิธีกรรมย่นข้าวลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา เมื่อการแพทย์สมัยใหม่สามารถเข้าถึงผู้คนได้กว้างขวางและสะดวกมากขึ้น ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มไม่ได้สนใจในการใช้พิธีกรรมย่นข้าวหาสาเหตุการเจ็บป่วยแต่กลับเลือกพึ่งพาการแพทย์แผนสมัยใหม่เป็นหลักเมื่อผ่านไปอีก 10 ปี พ.ศ. 2560 กลุ่มผู้มาให้พิธีกรรมย่นข้าวช่วยหาสาเหตุการเจ็บป่วย จะเป็นกลุ่มผู้ที่ช่วงอายุราวประมาณ 40 ปี เป็นต้นไปมาให้พิธีกรรมย่นข้าวช่วยในหาสาเหตุการเจ็บป่วย[20]
การรักษาในทางการแพทย์สมัยใหม่นั้นจะเน้นไปที่การรักษาทางอาการและทางกายซึ่งสามารถวินิจฉัยได้ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ เช่น การตรวจร่างกาย การใช้ยา การผ่าตัด หรือการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ การรักษานี้มุ่งเน้นไปที่การหายจากอาการทางกายอย่างชัดเจน แต่ในบางครั้ง อาการทางจิตใจหรือความเครียดที่เป็นสาเหตุร่วมอาจไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร จึงทำให้ผู้ป่วยบางราย แม้จะได้รับการรักษาทางร่างกายแล้ว แต่อาการทางใจที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายใจได้[21]
ผู้วิจัยพบว่าการรักษาด้วยพิธีกรรมไม่ได้เน้นการรักษาเฉพาะการรักษาทางกาย แต่ยังให้ความสำคัญกับการดูแลจิตใจของผู้ป่วยอีกด้วย การทำพิธีกรรม เช่น การหาสาเหตุของการป่วยจากผีหรือวิญญาณ หรือการเซ่นไหว้เพื่อปลอบประโลมผีให้ปล่อยผู้ป่วยจากความทุกข์ อาจไม่ได้เป็นการรักษาโดยตรงทางร่างกาย แต่สร้างความสบายใจให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ความเชื่อในพิธีกรรมเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าได้รับการช่วยเหลือจากสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้จิตใจสงบและเกิดความมั่นใจว่าตนจะหายจากโรคได้[22]
ความสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจความเจ็บป่วยไม่ได้เกิดจากอาการทางกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงความไม่สมดุลของจิตใจ ความเครียด ความวิตกกังวล หรือความเชื่อที่ฝังแน่นในเรื่องเหนือธรรมชาติ การที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาทางจิตใจด้วยการสร้างความเชื่อมั่นว่าตนจะหายจากการเจ็บป่วย เช่น การได้รับการปลอบใจจากหมอพื้นบ้าน หรือการทำพิธีกรรมเพื่อขจัดสิ่งชั่วร้าย สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของร่างกายด้วยเช่นกัน ความเชื่อและความมั่นใจเหล่านี้ทำให้จิตใจของผู้ป่วยมีพลังบวก ซึ่งสามารถส่งผลต่อร่างกายได้โดยตรง ด้วยเหตุนี้เองพิธีกรรมจึงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาผู้ป่วยด้วยเช่นกัน แต่เป็นการรักษาผู้ป่วยทางสภาพจิตใจ พิธีกรรมถือเป็นการเยี่ยวยาผู้คนที่เข้ามาให้พิธีกรรมช่วย ถึงแม้ว่าพิธีกรรมจะไม่มียาใด ๆ แต่มีหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ ความศรัทธา และความเชื่อ[23]
การรักษากายและใจมีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยการรักษาทางกายด้วยแพทย์แผนปัจจุบันมุ่งเน้นการฟื้นฟูร่างกาย แต่การรักษาทางใจด้วยพิธีกรรมหรือการดูแลจากหมอพื้นบ้านช่วยสร้างความสบายใจและเสริมสร้างพลังทางจิตใจ ซึ่งสามารถมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของร่างกายได้เช่นกัน การประสานทั้งสองแนวทางเข้าด้วยกันจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์
นอกจากการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาแล้ว การไม่มีผู้สืบทอดพิธีกรรมย่นข้าวก็อาจทำให้พิธีกรรมย่นข้าวหายไปในอนาคต นางสุริน โสประดิษฐ ให้สัมภาษณ์ว่า “ปัจจุบันยังไม่มีผู้สืบทอดพิธีกรรมย่นข้าวต่อ ลูกหลานก็เฮ็ดบ่ได(ลูกหลานก็ทำไม่ได้)”
ผู้วิจัยถามนางสุริน ต่อไปว่า “ถ้าหมดรุ่นยายไปแล้วพิธีกรรมย่นข้าวก็จะหายไปใช่ไหม” นางสุริน ตอบว่า “ก็แม่นแน้วหว่า(ก็อาจจะใช่นั้นแหละ)”[24] ทำให้เห็นได้ว่านอกจากการแพทย์สมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยแล้ว เรื่องความรู้สมัยใหม่ก็มีส่วนในการทำให้พิธีกรรมย่นข้าวนั้นหายไป นอกจากนี้สื่อออนไลน์ เทคโนโลยี และคนรุ่นหลังได้รับการศึกษาที่เป็นสมัยใหม่มากขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่มีความเชื่อต่อพิธีกรรมย่นลดน้อยลง ดังนั้นเมื่อบริบททางด้านสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้พิธีกรรมย่นข้าวต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบททางสังคม เช่น การรักษาควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนปัจจุบันจะเข้าถึงผู้คนในชุมชนมากขึ้น ผู้คนบางส่วนยังคงเลือกที่จะทำพิธีกรรมย่นข้าวควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์ เช่น เมื่อรักษาทางการแพทย์แล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยหรือญาติอาจหันไปพึ่งพิธีกรรมย่นข้าวเพื่อหาสาเหตุการป่วย จากความเชื่อด้านจิตวิญญาณ
สรุป
ชาวบ้านหนองอุมลัวมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผี สิ่งเหนือธรรมชาติ ชาวบ้านหนองอุมลัวเชื่อผีอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้าน คือ จะทำอะไรก็ต้องไหว้ขอก่อน เนื่องจากมีความเชื่อที่ว่าทุกที่มีผีสาง เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์อาศัยอยู่ เช่น เมื่อเข้าป่าชาวบ้านก็จะยกมือไหว้บอกผีป่า ว่า อย่าบังตา อย่ามาแกล้ง หรือแม้แต่ในบ้าน เมื่อลูกหลานกลับมาบ้านช่วงเทศกาลหรือหยุดยาว แล้วลูกหลานกลับมานอนอยู่บ้าน เจ้าของบ้านก็จะหาพาข้าวน้อยไหว้บอกผีบ้านผีเรือน ความเชื่อเรื่องผีถือว่าเป็นเครื่องยึดเหนียวจิตใจของชาวบ้านหนองอุมลัวเลยก็ว่าได้ เมื่อมีการไหว้บอกกล่าวแก่ผี ชาวบ้านก็จะมีความมั่นใจในการทำสิ่งนั้น เช่น การรักษาด้วยพิธีกรรม ชาวบ้านก็จะได้มีความสบายอกสบายใจทำให้จิตใจของผู้ป่วยกลับมาแข็งแรงโดยเร็ว
พิธีกรรมย่นข้าวเป็นความเชื่อพื้นบ้านของชาวบ้านหนองอุมลัว มีรากฐานมาจากความเชื่อเกี่ยวกับผี และเรื่องเหนือสิ่งธรมมชาติ พิธีกรรมย่นข้าวเป็นการเสี่ยงทายและการหาสาเหตุของการเจ็บป่วย โดยเชื่อว่าอาการป่วยเกิดจากผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติเข้ามารบกวนทำให้เราป่วย
แต่เมื่อการแพทย์สมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในชุมชนทำให้คนรุ่นหลังหันไปเชื่อแบบวิทยาศาสตร์มากขึ้น ความเชื่อต่อพิธีกรรมการย่นข้าวน้อยลงไป การแพทย์สมัยใหม่มีการวินิจฉัยโรคมีเหตุมีผลมากกว่าพิธีกรรม และเครื่องมือทางการแพทย์มีความทันสมัย ทำให้ผู้คนต่างให้ความสนใจกับการแพทย์สมัยใหม่มากขึ้น นอกจากการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาแล้ว การไม่มีผู้สืบทอดพิธีกรรมย่นข้าวก็อาจทำให้พิธีกรรมย่นข้าวหายไปในอนาคต
[*] หมายเหตุ งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาตรีเรื่อง ความเชื่อพิธีกรรมการย่นข้าวและความเปลี่ยนแปลงบ้านหนองอุมลัว หมู่ 6 ตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2567.
* อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.
รายการอ้างอิง
[2] สัมภาษณ์ นางมาลิกา พรมโสภา, วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567.
[3] GoToเลย, บ้านหนองอุมลัว, gotoloei, สืบค้นจาก https://www.gotoloei.com/p/481431 , (เข้าถึงวันที่ 10 กรกฏาคม พ.ศ. 2567).
[4] ข้อมูลนี้ได้มาจากการที่ผู้วิจัยเป็นสมาชิกของบ้านหนองอุมลัวจึงเห็นวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านทั้ง 3 ฤดู มานับทศวรรษ 10 ปี.
[5] สัมภาษณ์ นายบุญจันทร์ โสประดิษฐ, 14 เมษายน 2567.
[6] สัมภาษณ์ นางหวาน โสประดิษฐ, วันที่ 9 กันยายน 2567.
[7] ชาญชัย คงเพียรธรรม, สิริวงษ์ หงส์สวรรค์และอภินันท์ สงเคราะห์, ผีอีสาน: ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว เขมร ส่วยและเวียดนาม ที่อาศัยอยู่ในบริเวณอีสานใต้ของประเทศไทย, (อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2556), หน้าที่ 46 – 85.
[8] เครือข่ายพุทธิกา, พิธีกรรมกับการเยี่ยวยา, อาทิตย์อัสดง 8, 27 (มกราคม – มีนาคม 2559): 7.
[9] สัมภาษณ์ นางหวาน โสประดิษฐ, วันที่ 14 กันยายน 2567.
[10] สัมภาษณ์ นางจิราภรณ์ โสประดิษฐ, วันที่ 25 กันยายน 2567.
[11] สัมภาษณ์ นางหวาน โสประดิษฐ, วันที่ 5 ตุลาคม 2567.
[12] สัมภาษณ์ นางสุริน โสประดิษฐ, วันที่ 10 กันยายน 2567.
[13] สัมภาษณ์ นางสุริน โสประดิษฐ, วันที่ 10 กันยายน 2567.
[14] สัมภาษณ์ นางสุริน โสประดิษฐ, วันที่ 10 กันยายน 2567.
[15] สัมภาษณ์ นางสุริน โสประดิษฐ, วันที่ 10 กันยายน 2567.
[16] สัมภาษณ์ นางหวาน โสประดิษฐ์, วันที่ 11 กันยายน 2567.
[17] สัมภาษณ์ นางสาวชริญญา พรมโสภา, วันที่ 11 กันยายน 2567.
[18] สัมภาษณ์ นายไพวัลย์ โสประดิษฐ์, วันที่ 9 กันยายน 2567.
[19] สัมภาษณ์ นายบุญจันทร์ โสประดิษฐ, 14 เมษายน 2567.
[20] ศรีศักร วัลลิโภดม, ประเพณีพิธีกรรมที่เปลี่ยนไป, มูลนิธิเล็ก ประไพ วิริยะพันธุ์, สืบค้นจาก https://n9.cl/9e0mw , (เข้าถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2567).
[21] พาณี ศิริสะอาด, ประโยชน์ทางการแพทย์แผนปัจจุบันจากตำรายาแผนโบราณ, คลังความรู้ล้านนา, สืบค้นจาก https://accl.cmu.ac.th/Knowledge/details/1336 , (เข้าถึงวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2567).
[22] สุรเชษฐ์ คูหาเลิศ, “ปรัชญาการรักษาโรคด้วยพิธีกรรมในวัฒนธรรมไทย,” (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาคติชนวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2565), หน้า 2.
[23] เครือข่ายพุทธิกา, พิธีกรรมกับการเยี่ยวยา, อาทิตย์อัสดง 8, 27 (มกราคม – มีนาคม 2559): 6–7.
[24] สัมภาษณ์ นางสุริน โสประดิษฐ, วันที่ 5 ตุลาคม 2567.