“จะเดินไปดูโพรงมันจริง ๆ เหรอ ตัวโพรงนกชนหินก็ไม่อยู่แล้วนะ ถามจริง!” ก๊ะนะถามย้ำประมาณ 5 รอบพร้อมกับปรายตาดูสภาพที่สวมเพียงรองเท้าแตะของพวกเรา

“โอเค ไปก็ไป” ก๊ะนะยืนยันกับแบปา พรานผู้ดูแลโพรงนกชนหิน
“นกชนหินนี่มันจะน่าตาเหมือนนกเงือกที่พาพวกลูฟี่ขึ้นไปบน Skypier (เกาะแห่งท้องฟ้าในมังงะเรื่องวันพีช) มั้ยวะมึง” ชาวเหนือที่อาศัยอยู่ในภูมิศาสตร์และภูมิประเทศที่ต่างออกไปเกิดความมึนงงกับความหายากและไม่คุ้นหูของนกเงือกชนิดดังกล่าวเลยขอเรียกทริปสั้น ๆ นี้ว่า ‘ทริปลูกข้าวนึ่ง’ 

ลูกข้าวนึ่งเดินย่ำเท้าลงไปบนซากเฟิร์นที่ทับถมกันอยู่ตามทางเดิน ระดับความสูงจากน้ำทะเลจาก 600 เมตร กลิ่นดิน กลิ่นฝนชื้น ๆ อบอวลให้ได้กลิ่นเป็นระยะ อากาศครึ้มแดดครึ้มฝน เหงื่อที่ออกไม่สุด พืชตระกูลเฟิร์น และว่าน ชนิดต่าง ๆ เป็นเครื่องการันตีได้อย่างชัดเจนว่าเราได้ถึง..

“ทาก!!!” เสียงตะโกนเกือบลั่นป่าของเราบอกเพื่อนที่ร่วมลุยป่ามาด้วยกัน แน่ล่ะ มนุษย์เด๋อด๋าจากป่าดิบเขาจากภาคเหนือ มาเจอป่าดิบชื้นในดินแดนใต้เกือบสุดขอบเส้นภูมิศาสตร์ไทยอย่างฮาลาบาลาย่อมตื่นตระหนกเป็นธรรมดา ทากไม่น้อยกว่า 5 ตัวเบียดเสียดกันอยู่ตามรองเท้าบ้าง บางตัวดีดขึ้นมาอยู่ตามเสื้อบ้าง บางตัวยังผอมเพรียว บางตัวเริ่มอวบอ้วน โอเค ไม่ใช่แค่เฟิร์นแล้ว ที่การันตีในเรื่องพื้นที่ น้อง ๆ ลูก ๆ ทากพวกนี้ต่างหาก ลายเซ็นสำเนาถูกต้องของป่าดิบชื้นที่แท้ 

ฮาลาบาลา เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งประกอบด้วยป่าสองผืน ได้แก่ ป่าฮาลา ในพื้นที่อำเภอเบตง อำเภอจะแนะ จังหวัดยะลา และป่าบาลา ในพื้นที่อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ครอบคลุมแนวเขาสันกาลาคีรี ฮาลาบาลาเป็นป่าที่ติดอันดับเรื่องความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง มีตัวชี้วัดคือการพบนกเงือกมากถึง 10 ชนิด จาก 13 ชนิดในไทย ที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ และถือเป็นบ้านหลังใหญ่ของนกชนหินนกเงือกโบราณที่มีสายพันธุกรรมเก่าแก่ยาวนานถึง 45 ล้านปีที่ เป็นหนึ่งในนกเงือก 13 ชนิด

“ระวังลื่นนะ” แบปา ตะโกนบอกมาจากหน้าสุด เมื่อต้องเดินอ้อมต้นไม้ที่ล้มทับขวางทางเดิน ซึ่งมีมอสสภาพอุดมสมบูรณ์ขึ้นอยู่เต็มลำต้น ตอนนั้นคิดในใจ “ถ้าอยู่กาดคำเที่ยงเชียงใหม่นะ ขายได้ฉ่ำ”

อับดุลรอยิ มามะ หรือ แบปา 

“ช่วงการดูนกเงือกเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี รับสองร้อยกว่ากลุ่ม วันละสามสี่คนนี่แหละ ขึ้นตั้งแต่ตีสี่ ลงอีกทีตอนบ่ายสอง เพื่อขึ้นไปดูการป้อนอาหารมื้อแรกของแม่นก แต่ระยะที่เราส่องนกต้องอยู่ในบังไพร หรือ ที่กำบัง ห่างจากโพรงอย่างน้อย 55 เมตร ไม่งั้นมันจะตกใจเรา ซึ่งส่วนใหญ่นกชนหินจะกินลูกไทรเป็นอาหาร” อับดุลรอยิ มามะ หรือ แบปา ชายวัยกลางคนแขนขาเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อตามแบบฉบับพรานที่เชี่ยวชาญกับป่าผืนนี้ เสมือนสวนหลังบ้าน เดินไปพลาง เล่าไปพลาง ถึงกิจวัตรประจำวันในฤดูกาลแห่งการดูนกของนักท่องเที่ยว และนักถ่ายภาพที่เดินทางมาจากหลายที่ หลายประเทศเพื่อมาดูนก ณ ป่าฮาลาบาลา

ความรู้คืออำนาจของชุมชน

“เวลาที่ทำงานเป็นผู้ส่งเสียงกับชาวบ้านในชุมชนละแวกป่าฮาลาบาลา ชาวบ้านมักจะบอกอยู่เสมอว่าผลิตภัณฑ์จากชุมชน (ยาหม่อง ยาดม) นั้นขายไม่ได้หรอก คือเราต้องใช้เวลา ต้องอยู่กับมัน พอเราทำแล้วมันจะเห็นผล เราก็ต้องค่อย ๆ ทำ ชาวบ้านก็จะเห็นแล้วว่า เออ มันขายได้ เพราะเราพยายามบอกเสมอในสิ่งที่เราทำ เราบอกให้ชาวบ้านรู้คุณค่าของป่าที่เขามี และต้องดูแล เพราะถ้าจะเกิดอะไรขึ้นเกี่ยวกับป่า คนที่อยู่ใกล้ป่านี่แหละจะโดนก่อน แต่จะมีข้อดีคือเราสามารถใช้ประโยชน์จากป่าอย่างเกื้อกูลกัน ใช้ไม้ยังไง ไม้ไม่เคยหมดจากป่า สิ่งไหนกินได้ไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้เฒ่าผู้แก่จะบอกเราได้ มันเรียนรู้ผ่านวิถีชีวิต อย่างเรื่องการดูนกก็ทำเป็นระบบมากขึ้น เรื่องขยะก็ต้องจัดการ ไม่เอาเปรียบกันและกัน และความยั่งยืนชุมชนก็ต้องได้ประโยชน์ด้วย คนก็อยู่กับป่าได้”

สาปีนะห์ แมงสาโมง หรือ ก๊ะนะ พูดขึ้นมาพร้อมเสียงเหนื่อยหอบจากการเดินป่าฮาลาบาลาด้วยคัทชูสีเหลืองคู่โปรด(เพราะไม่ได้เตรียมรองเท้าเดินป่ามา) เหงื่อเริ่มผุดซึมออกมาตามใบหน้าส่วนที่โผล่พ้นจากฮิญาบสีชมพูของเธอซึ่งตอนนี้ดูชุ่มเหงื่อได้ที่

สาปีนะห์ แมงสาโมง หรือ ก๊ะนะ

ก๊ะนะเชื่อว่าความรู้คืออำนาจ เธอจึงได้ศึกษาเรื่องพันธุ์พืช พันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ ผ่านประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้สั่งสมมาจากโรงพยาบาลอภัยภูเบศรที่เชี่ยวชาญเรื่องสมุนไพร นอกจากนี้ในฐานะที่ทำงานข้อมูลและการทำงานวิจัยก็ยังมีโอกาสติดตามหัวหน้าของเธอไปลงพื้นที่เดินป่ามาทั่วประเทศ เพื่อให้เห็นถึงการเชื่อมโยงของพืชแต่ละชนิดในแต่ละภูมิภาคว่ามีสรรพคุณอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะปักหลักฐานทำงานกับชุมชนรอบป่าฮาลาบาลามาร่วม 15 ปีแล้ว มีประสบการณ์ด้านการทำงานเกี่ยวกับสมุนไพรพื้นบ้านที่เชื่อมโยงกับชุมชนอย่าง โครงการธนาคารต้นไม้เพื่อการอนุรักษ์พืชสมุนไพรพื้นบ้านสาขาชุมชนวังกระบือ ต.โล๊ะจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส ที่จะสามารถส่งต่อความรู้ในเรื่องสมุนไพรให้กับชุมชนใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมผสานกับพืชท้องถิ่นที่สามารถต่อยอดเป็นเกราะกำบังสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน คนอยู่ได้ ธรรมชาติก็อยู่ได้

“ทำยังไงก็ได้ ให้คนอยู่ได้ สัตว์อยู่ได้” แบปาพูดด้วยเสียงใจเย็น
“แต่ทุกวันนี้รายได้เราอยู่ได้มั้ย” ก๊ะนะพูดต่อทันทีแบบไม่มีช่องไฟ
“ไม่ได้” แบปาตอบพร้อมกับยิ้มแห้ง ๆ 

“เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด แต่ทุกวันนี้ชุมชนรอบป่าไม่ได้ตัดไม้ขายนะ ไม่ได้เอานายทุนเข้ามา แต่นี่คือสิ่งที่เราอยู่ได้ แต่ถ้าถามว่าลูกหลานเรามาเดินป่าแบบนี้มั้ย ก็ไม่ คือมันเหนื่อยลูก จะมีใครจะมาเดินแบบนี้มั้ย แบปาเดินแบบนี้มาตั้งแต่อายุ 15 ตอนนี้ใกล้จะ 50 แล้ว

คนรุ่นใหม่ก็ทำงานอยู่ในเมืองแหละ วันหยุดเขาจะไปคาเฟ่กัน คาเฟ่คือเซฟโซน เขาว่าไม่มีเสียงพ่อแม่บ่น ก็มีเงินไม่เยอะหรอก ไม่มีใครมาเห็นค่าว่านกชนหินที่มาดูกันเนี่ยมันหายากมากเลยนะ ไม่มีใครทำอะไรแบบนี้หรอกมันเหนื่อย” ก๊ะนะเสริม

“บอกเขาไปเลย นี่ วันนี้มีคนมาดูแค่โพรง ขนาดมีแค่โพรงนะ ยังมาดู”

สื่อความหมายธรรมชาติ ..ยังยิ้มอยู่

ด้าน นูรฮีซาม บินมามุ หรือ ซัม จากกลุ่มยังยิ้ม กลุ่มเยาวชนเล็ก ๆ ที่ทำกิจกรรมสื่อความหมายธรรมชาติ ค่าเดินป่า สำรวจนก ร่วมกับเยาวชนในพื้นที่อำเภอแว้งและละแวกใกล้เคียง เล่าว่านกชนหินนั้นราคาแพงมาก เนื่องจากนกชนหินมีลักษณะที่โหนกสั้นชั้นเดียว ซัมบอกให้ลองนึกภาพกระบอกไม้ไผ่ เวลาเราตัดแล้วเราจะเห็นว่ามันเป็นทรงกระบอกกลวงอยู่ด้านใน ซึ่งนกเงือกชนิดอื่น ๆ เป็นแบบนั้น แต่หัวของนกชนหินคือตันเลย มันจึงมีน้ำหนักมาก ขายได้ราคาสูง เนื่องจากคนจะล่าเอาโหนก หรือ งาสีเลือดไปขาย จนทำให้เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์

ภาพ: Sum Nara Nara

“คนปกติอย่างพวกเราจะไม่มีโอกาสได้รู้หรอกว่าโพรงนกอยู่ตรงไหน ยกเว้นพรานที่อาศัยอย่างเกื้อกูลอยู่กับป่าที่บูโดก็เหมือนกัน ทีนี้มีโครงการของมูลนิธิวิจัยนกเงือก โดยคนเริ่มโครงการคือศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ซึ่งแกทำที่เขาใหญ่มาก่อน แต่ว่ามีชาวบ้านไปรายงานว่ามีที่ใต้เยอะมาก ซึ่งคนที่เจอก็คือพรานป่า โจทย์สำคัญคือการเปลี่ยนพรานในฐานะของผู้ค้าเป็นผู้ดูแลโดยใช้กลยุทธ์ จ้างพรานที่เจอโพรงมาทำงานด้วยกันไปเลย โดยการสำรวจโพรงนกทุกวัน บันทึกว่าวันนี้นกป้อนอาหารกี่รอบ มื้อแรกตอนไหน หรือมีลูกกี่ตัว แล้วก็บันทึกข้อมูลทุกวันเลยนะ สมมติวันละสองร้อยบาท คูณไปว่าสามสี่เดือนได้เท่าไหร่ อย่างนกเงือกจะอยู่ในรังสี่เดือน แต่นกชนหินจะพิเศษกว่าเพื่อนคืออยู่ห้าเดือน ถ้าเทียบกับการล้วงลูกนกไปขายได้มาแค่สามสี่พันบาท ขายก็จบไป แต่ถ้าทำงานวิจัยร่วมกันได้เยอะกว่าเดิมอีก อย่างแบปาเอง ก็เป็นหนึ่งในพรานที่เราทำงานด้วย”

นูรฮีซาม บินมามุ หรือ ซัม (ภาพ: halal life)

ถ้านับจากปีนี้ 2567 กลุ่มยังยิ้มก็เดินทางมาร่วม 11 ปี แม้จะผ่านมาหลายฤดู แต่ซัมก็ยังบอกกับเราว่า “ยังยิ้มอยู่”

“ผมโชคดีอย่างหนึ่งคือการมีเครือข่าย มีกลุ่มคนที่ช่วยสนับสนุน ยังมีคนรุ่นใหม่ มีเยาวชนวนเวียนเข้ามาสนใจเรื่อย ๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่อำเภอแว้ง เท่าที่เราถอดบทเรียนว่าเด็กที่มาร่วมกิจกรรมกับยังยิ้ม จะมีอยู่สามขั้นการเรียนรู้ ขั้นที่หนึ่งคือ จากไม่รู้เรื่องอะไรเลย ตามเพื่อนมา ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนในแว้งนี่แหละ 90% เข้ามาปุ๊บ ถ้าเขาเข้าใจ อินกับเนื้อหา เขาก็เก็บไว้ในใจ และแคร์มัน ขั้นที่สองเขาจะเริ่มมาร่วมกิจกรรมบ่อยขึ้น หรือมาเป็นอาสาสมัคร และขั้นตอนที่สาม เขาสามารถเป็นนักสื่อสารธรรมชาติได้ อันนี้เป็นวัตถุประสงค์สูงสุดของเรา นานเข้ารู้สึกชอบ พอรู้สึกชอบก็พัฒนาตัวเองมาตลอด ถ้าพูดภาษาง่าย ๆ ก็คือ จากที่ไม่รู้กลายเป็นรู้ พอรู้แล้วสานต่อ สื่อสารได้ 11 ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งนกชนหินถูกประกาศเป็นสัตว์สงวน เรื่องนี้ก็เป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของเรา(ยังยิ้ม)เหมือนกัน”

นกชนหินถูกประกาศเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของประเทศ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 จากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องผ่านแคมเปญ “ขอให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนอันดับที่ 20 ของไทย”​ ตั้งแต่ปี 2562 โดย องค์กรสิ่งแวดล้อมและเหล่านักอนุรักษ์ ผ่านแพลตฟอร์ม change.org ที่มีประชาชนเข้าชื่อสนับสนุนกว่า 26,000 รายชื่อ มีการเรียกร้องให้มีการเร่งประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ นกชนหิน เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย และมีแผนปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรนกชนหินในระยะยาวได้ เนื่องจากลักษณะที่หายาก เป็นที่ต้องการของตลาดมืดและมีราคาสูงจึงทำให้ถูกล่าและเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ (Critically endangered species) ซึ่งในปัจจุบันคาดการณ์ว่าเหลืออยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 100 ตัว

แวดล้อม-แวดเรา

“ถ้าพูดถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ถ้าถามว่ายากไหม ตอบเลยว่ายาก ในความหมายที่ว่าทำให้มันบรรจบกันแบบไม่มีปัญหาเลยน่ะยาก ผมว่ามันเกี่ยวข้องกับความจริงใจด้วยนะ ทั้งรัฐ และประชาชน แต่บางพื้นที่ก็หนักอย่างกรณีพี่น้องบางกลอย ที่แก่งกระจาน พื้นที่ไม่เหมือนกัน จะมีสิ่งที่รับรอง หรือรองรับอะไรก็ต้องว่ากันไปตามแต่ละกรณี ต้องหาจุดร่วมกันให้ได้” ซัม กล่าว

แม้ทริปสั้น ๆ ปุ๊บปั๊บในครั้งนี้ลูกข้าวนึ่งอย่างเรา ๆ จะเห็นโพรงนกอย่างที่คาดไว้ แม้ลึก ๆ จะอยากเจอนกชนหินก็เหอะ แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้น คือการที่ได้เห็นวิถีที่เชื่อมโยงคนเข้ากับป่าได้อย่างกลมเกลียวผ่านการดูแลนกเงือกสายพันธุ์นี้ เห็นกลุ่มคนที่ยังมีความฝันว่าซักวันนกชนหินจะสยายปีกบินทั่วผืนป่าฮาลาบาลา

ซึ่งหากย้อนกลับมาที่ถิ่นข้าวนึ่งภาคเหนือของประเทศ วิถีเกื้อกูลระหว่างคนกับผืนป่าก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก ใต้สุดรักษาป่ายังไงเหนือสุดก็รักษาป่ายังอย่างนั้น เฉกเช่น คนปกาเกอะญอรักษาสมดุลของระบบนิเวศด้วยการทำไร่หมุนเวียน ผูกโยงชีวิตไว้กับธรรมชาติ ในขณะเดียวกันแผนและการพัฒนาจากรัฐส่วนกลางที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันนั้นขาดความเข้าใจบริบทพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด อย่างการออก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อให้การอนุรักษ์พื้นที่อุทยานแห่งชาติเกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน การจำกัดเสรีภาพ เช่น เรื่องการจับกุมคุมขังที่กระทบต่อเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย, การเข้าค้นสถานที่ที่กระทบต่อเสรีภาพในเคหสถานหรือเรื่องการเวนคืนที่ดินที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สิน หรือการยุคฟอกเขียว BCG / neutral carbon policy คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ ที่กำหนดให้บริษัทสามารถปล่อยได้ต่อปี หากปล่อยมลภาวะน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็สามารถนำส่วนต่างไปจำหน่ายให้กับบริษัทอื่นๆ ในภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งสิ่งนี้นี่เองที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตถูกนำมาใช้เป็นแรงจูงใจและเป็นส่วนหนึ่งของกลไกของตลาดเพื่อโน้มน้าวให้โรงงานอุตสาหกรรมและผู้ผลิตรายใหญ่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ

สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำว่าคนที่อยู่กับป่าและผู้มีอำนาจที่คอยออกนโยบายที่ส่งผลแก่คนในพื้นที่นั้นเปรียบได้เหมือนทางสองแพร่งที่ไม่มีวันบรรจบกัน เพราะฉะนั้นเรื่องของป่าที่เกิดในพื้นที่ภาคใต้นั้นก็เป็นเรื่องเดียวกับป่าที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ ภายใต้ฟ้าเดียวกัน