Home Blog Page 6

ละลานล้านนา: โคโลเนียลสไตล์ มรดกทางสถาปัตยกรรมของไม้สักล้านนา ฝรั่งค้าไม้ และมิชชันนารี

เรื่อง: ปวีณา หมู่อุบล

หากพูดถึงงานสถาปัตยกรรมในล้านนา  หลายคนคงจะนึกถึงเรือนกาแล ไม่ก็หอคำหลวงที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ บางคนอาจจะนึกถึงหลองข้าว ไม่ก็ต๊อมอาบน้ำ จากคำเล่าขานของป้ออุ๊ยแม่อุ๊ย เป็นต้น แต่นอกจากสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นแล้ว ในล้านนายังมีสิ่งก่อสร้างอีกจำนวนหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ สิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมในแบบ ‘โคโลเนียลสไตล์’

สถาปัตยกรรมโคโลเนียลสไตล์ (Colonial Style) หรือสถาปัตยกรรมอาณานิคม คือสิ่งก่อสร้างที่ถูกออกแบบโดยการนำรูปแบบสถาปัตยกรรมจากประเทศแม่ หรือประเทศเจ้าอาณานิคม เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ไปก่อสร้างในดินแดนอาณานิคมต่าง ๆ หากแต่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบและลักษณะทางสถาปัตยกรรมบางอย่างให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นถิ่น ซึ่งลักษณะเด่นหรือไวยากรณ์สำคัญของอาคารแบบโคโลเนียลสไตล์ ได้แก่  การออกแบบทรงอาคารในลักษณะสี่เหลี่ยมแบบสมมาตร มีระเบียงโดยรอบ ประตูทางเข้าอยู่กึ่งกลาง ใช้เสาสูงตั้งรับแนวชายหลังคาที่กว้าง การทำซุ้มโค้ง (arch) ที่บริเวณชั้นล่างอาคาร หรือการตกแต่งอาคารด้วยลวดลายฉลุคล้ายบ้านขนมปังขิงของยุโรป เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของอาคารสถาปัตยกรรมโคโลเนียลสไตล์ในดินแดนล้านนาไม่ได้หมายความว่าล้านนาเคยตกเป็นเมืองขึ้นชาติมหาอำนาจจากตะวันตก หากแต่หมายถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างล้านนาและผู้ที่มาจากประเทศเจ้าอาณานิคม โดยเฉพาะฝรั่งค้าไม้และมิชชันนารี

ไม้สักล้านนากับฝรั่งค้าไม้

ไม้สักมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของล้านนามาตั้งแต่อดีต และได้ทวีความสำคัญมากในช่วงหลัง พ.ศ.2369 เมื่อกลุ่มพ่อค้าไม้สักในพม่าได้หันมาสนใจป่าไม้สักในเขตแดนล้านนา ขยับขยายเข้ามาดำเนินกิจการอย่างจริงจัง โดยมีการขอสัมปทานป่าไม้กับเจ้านายล้านนาในหัวเมืองต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ ตาก ลำปาง แต่เมื่อดำเนินกิจการไปได้ระยะหนึ่ง กลุ่มพ่อค้าไม้ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะพม่าและมอญที่เป็นคนในบังคับอังกฤษ ก็เกิดข้อพิพาทกับเจ้านายล้านนา เนื่องมาจาก 3 สาเหตุสำคัญ คือ

  1. ปัญหาเรื่องการให้สัมปทานที่ป่าไม้ทับซ้อน คือเจ้านายล้านนาคนหนึ่งให้สัมปทานป่าไม้แก่พ่อค้าไม้สัก แต่ขอบเขตของสัมปทานนั้นกลับไปทับซ้อนกับพื้นที่ป่าของเจ้านายล้านนาอีกคนหนึ่ง 
  2. ปัญหาการให้สัมปทานซ้ำซ้อน คือเจ้านายที่เป็นเจ้าของป่าไม้สักให้สัมปทานผู้ขอใหม่ทั้งที่สัญญาของผู้สัมปทานเดิมยังไม่สิ้นสุด
  3. ปัญหาการกดขี่ข่มเหงผู้ดำเนินกิจการค้าไม้ คือจากการให้สัมปทานสิทธิ์ที่ผิดพลาดมักก่อให้เกิดคดีความและการฟ้องร้องกันระหว่างเจ้านายล้านนาและพ่อค้าไม้ขึ้น ซึ่งในการชำระคดีความ ผู้ปกครองก็จะใช้รูปแบบการพิจารณาคดีตามจารีตล้านนา ทำให้ฝ่ายพ่อค้าไม้จำนวนมากไม่พอใจ เพราะมองว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่เจ้านายผู้ครอบครองป่าไม้สักมากกว่า

ปัญหาเหล่านี้เรื้อรังอยู่นาน กระทั่งมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง (พ.ศ.2398) ซึ่งมีข้อตกลงหนึ่งระบุว่าการชำระคดีความของคนอังกฤษหรือคนในบังคับอังกฤษต้องกระทำโดยใช้กฎหมายของอังกฤษ ดังนั้น ทำให้การฟ้องร้องและคดีความต่างๆ ระหว่างพ่อค้าไม้สักที่เป็นคนในบังคับอังกฤษกับเจ้านายล้านนาจึงถูกรายงานไปกงสุลอังกฤษ และกงสุลก็ได้ยกเรื่องไปกดดันรัฐบาลสยามในช่วงต้นสมัยรัชกาลที่ 5 ให้เข้ามาจัดการกับฝ่ายเจ้านายล้านนา และรัฐบาลสยามได้แก้ไขปัญหาโดยการจัดทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ จำนวน 2 ฉบับ (ในปี พ.ศ.2416 และ พ.ศ. 2426 ตามลำดับ) เป็นสนธิสัญญาระหว่างสยามและอังกฤษเกี่ยวกับกิจการต่างๆ รวมถึงการค้าไม้สักในล้านนา  ซึ่งเจ้านายล้านนาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำสนธิสัญญาดังกล่าวเลย

ข้อตกลงของสนธิสัญญากลับมีผลทำให้รัฐบาลสยามสามารถขยายอำนาจการเมืองการปกครองและตุลาการเข้ามามีอิทธิพลเหนือล้านนาได้อย่างเต็มที่, ข้าหลวงจากสยามเข้ามามีบทบาทในกิจการค้าไม้สักของล้านนากระทั่งสามารถเข้าควบคุมกิจการได้ทั้งหมด และทำให้บริษัทค้าไม้ต่างชาติเข้ามาดำเนินกิจการค้าไม้สักในล้านนามากขึ้น เช่น บริษัทบอมเบย์เบอร์มา, บริษัทบอร์เนียว, บริษัทแองโกล สยาม และบริษัทหลุยส์ ทีเลียวโนเวนส์

การเข้ามาของบริษัทค้าไม้ระลอกหลังสนธิสัญญาเชียงใหม่มีความเป็นธุรกิจที่มีระบบมากขึ้น มีการต่อตั้งอาคารสำนักงานบริษัท โดยแต่ละบริษัทต่างได้ส่งคนของตนเองมาประจำอยู่ที่สำนักงานนั้นๆ ในฐานะผู้จัดดการและผู้ช่วยผู้จัดการเพื่อทำหน้าที่ดูแลกิจการของบริษัท เช่น มาร์เรียน เอ ชีค (Marion Alonzo Cheek) หรือหมอชีค และ หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ (Louis Thomas Gunnis Leonowens) ตัวแทนของบริษัทบอร์เนียว เป็นต้น เมื่อมีฝรั่งค้าไม้เข้ามาอยู๋ในล้านนาเป็นจำนวนมากก็ได้เกิดสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากอาคารสำนักงานของบริษัท เพื่อตอบสนองต่อวิถีชีวิตของพวกเขา เป็นต้นว่า บ้านพัก และสถานที่นันทการ เช่นเดียวกันกับ ‘บ้านหลุยส์’ ในจังหวัดลำปาง ที่เป็นบ้านพักของ หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ทีถูกสร้างขึ้นภายหลังที่ออกจากบริษัทบริติชบอร์เนียวเพื่อเปิดบริษัทค้าขายในจังหวัดเชียงใหม่ และได้ย้ายบริษัทมาตั้งที่จังหวัดลำปางเมื่อ พ.ศ.2442 พร้อมทั้งได้รับสัมปทานทำป่าไม้ บ้านหลังนี้จึงสร้างขึ้นให้เป็นที่พักของนายหลุยส์และอาคารสำนักงานที่ลำปาง

บ้านหลุยส์ หรือบ้านพักของ หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียว ตั้งอยู่ใน จ.ลำปาง

ในปี พ.ศ. 2444 ฝรั่งค้าไม้กลุ่มหนึ่ง นำโดย เจมส์ เกรย์ (James Gray) และวิลเลี่ยม วิลลอฟบี วูด (William Willoughby Wood) ผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มา, เดวิด เฟลมมิ่ง แมคฟี (David Fleming Mcfie) ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียว, เฮช สเลด (H. Slade) เจ้ากรมป่าไม้คนแรก, หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ (Louis Thomas Gunnis Leonowens) พร้อมกับข้าราชการสยามคือ พระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ได้ร่วมกันสร้าง “สโมสรยิมคานา” ขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อให้เป็นสถานที่เล่นกีฬาและนันทการ 

อาคารสโมสรยิมคานา
ที่มา: เว็บไซต์ Bitish Heritage in Chaimgmai 
ห้องบิลเลียดภายในยิมคานา
ที่มา: เว็บไซต์ Bitish Heritage in Chaimgmai 

การเผยแผ่ที่มากไปกว่าศาสนาของมิชชันนารีโปรแตสแตนท์ คณะเพรสไบทีเรียน

ห้วงเวลาเดียวกันกับความเฟื่องฟูของกิจการค้าไม้สักที่มีผลทำให้ชาวตะวันตกจำนวนมากเข้ามาประจำอยู่ในดินแดนล้านนา ได้ปรากฏว่ามีชาวตะวันตกอีกกลุ่มหนึ่งที่เดินทางเข้ามายังดินแดนแถบนี้ นั่นคือ กลุ่มมิชชันนารี โดยจากข้อมูลพบว่ามีมิชชันนารี 3 กลุ่มที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในล้านนา ได้แก่ 

  1. คณะอเมริกันแบ็พติสต์มิชชัน (ระหว่าง พ.ศ. 2376 – 2436)
  2. คณะเพรสไบทีเรียนอเมริกันมิชชัน (พ.ศ. 2383 – 2500)
  3. สมาคมมิชชันนารีอเมริกัน (ดำเนินงานระหว่าง พ.ศ. 2393 – 2416) 

ทั้งนี้ มิชชันนารีนิกายโปรแตสแตนท์ คณะเพรสไบทีเรียนอเมริกันมิชชัน ถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อล้านนา ทั้งในด้านการเผยแผ่ศาสนา  การศึกษา และการแพทย์สมัยใหม่ และใน 2 ภารกิจอย่างหลังนี้เองที่ได้นำมาซึ่งการก่อสร้างอาคารที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์ขึ้นในดินแดนล้าน เป็นต้นว่าใน จ.เชียงใหม่ จ.ลำปาง และ จ.แพร่ โดยที่สิ่งก่อสร้างบางแห่งยังคงยืนเด่นให้พบเห็นได้กระทั่งในปัจจุบัน (แม้ส่วนมากจะกระจุกตัวอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ก็ตาม)

ศาสนาจารย์ ดร.แดเนียล แมคกิลวารี (Daniel McGilvary) มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน และภรรยา โซเฟีย รอยส์ บรัดเลย์ (Sophia Royee Bradley) 
ที่มา: เว็บไซต์ The Prince Royal’s Collage

ประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของกลุ่มมิชชันนารี คือในช่วงแรกที่เข้ามา มิชชันนารียังไม่ได้รับอนุญาตให้สร้างที่พักที่ถาวร เพราะขณะนั้นเป็นสมัยของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (พ.ศ.2397 – 2413) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 ที่ปกครองแบบจารีตล้านนา จึงมีธรรมเนียมเรื่องการสร้างที่อยู่ตามฐานานุศักดิ์ และตามธรรมเนียมจึงมีเพียงแต่เจ้านายที่สามารถสร้างที่พักถาวร กล่าวคือ สร้างบ้านด้วยไม้จริง หรือก่ออิฐถือปูนได้ ส่วนชาวบ้านทั่วไป (ซึ่งมิชชันนารีถูกรวมอยู่ในกลุ่มนี้) ต้องสร้างบ้านจากไม้ไผ่หรือวัสดุชั่วคราวเป็นหลัก กระทั่งในสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (พ.ศ.2416 – 2440) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ 7 บรรดามิชชันนารีจึงสามารถสร้างบ้านเรือนด้วยวัสดุถาวรได้

ในสมัยนี้งานเผยแผ่ด้านการศึกษาสมัยใหม่ของคณะมิชชันนารีเจริญเติบโตขึ้นมาก ทั้งเจ้านายและคหบดีล้านนาต่างพากันส่งลูกหลานเข้ามาเรียนหนังสือกับมิชชันนารี ทั้งที่โรงเรียนสตรีสันป่าข่อย (พ.ศ. 2419) และโรงเรียนชายวังสิงห์คำ (พ.ศ. 2430) ซึ่งในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสฯ นี้ กลุ่มมิชชันนารีได้รับสิทธิพิเศษในการก่อสร้าง คือสามารถก่อสร้างอาคารด้วยวัสดุถาวรได้ ประกอบกับการที่มีผู้ส่งลูกหลานมาเรียนหนัลสือด้วยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงได้มีการก่อสร้างอาคารโรงเรียนขึ้นใหม่ทั้งที่โรงเรียนสตรีสันป่าข่อยและโรงเรียนชายวังสิงห์คำ

ในเชิงสถาปัตยกรรม อาคารสร้างใหม่ของทั้ง 2 โรงเรียนมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือเป็นอาคาร 2 ชั้น ตัวอาคารเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมแบบสมมาตร ด้านบนสร้างจากไม้  มีระเบียงล้อมรอบ มีหลังคากว้างเพื่อกันแดดกันฝน ประตูทางเข้าตัวอาคารมักอยู่บริเวณกึ่งกลาง ด้านล่างก่ออิฐถือปูน และมีการตกแต่งที่เป็นตะวันตกมากขึ้น เช่น ไม้ระแนงขัด  ซึ่งจากลักษณะเหล่านี้อาจกล่าวได้ว่า อาคารใหม่ของทั้ง 2 โรงเรียนเป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์ที่ถูกดัดแปลงให้เข้ากับภูมิอากาศของประเทศในเขตร้อนนั่นเอง

อาคารโรงเรียนสตรีอเมริกัน (สันป่าข่อย)
ที่มา: slipa-mag.com
อาคารโรงเรียนชายวังสิงห์คำ
ที่มา: หนังสือ “ประวัติศาสตร์ล้านนา” โดยสรัสวดี อ๋องสกุล

อนึ่ง นอกจากงานด้านการศึกษา  กลุ่มมิชชันนารีคณะเพรสไบทีเรียนยังมีบทบาทในงานด้านการแพทย์ด้วย และบทบาทในด้านนี้ก็ได้นำมาซึ่งการก่อสร้างอาคารสาธารณะที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์  โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลอเมริกันมิชชัน (พ.ศ.2431) ที่ต่อมาคือโรงพยาบาลแมคคอร์มิค และโรงพยาบาลโรคเรื้อนแมคเคน (พ.ศ. 2342) 

อาคารโรงพยาลอเมริกันมิชชั่น (ต่อมาคือ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค)
ที่มา: เว็บไซต์ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

โรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่นมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่มิชชันนารี คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน ได้เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในล้านนาและได้นำยาแผนปัจจบุันที่ติดตัวมาได้แจกจ่ายให้แก่ชาวบ้าน จากนั้นก็ได้ตั้งเป็นสถานที่จำหน่ายยาขึ้นที่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง (ปัจจุบันคือสถานกาชาดที่ 3 จ.เชียงใหม่) และในปี พ.ศ. 2431 ก็ปรับปรุงสถานจำหน่ายยาให้กลายเป็นโรงพยาบาล ใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น เป็นสถานที่สำหรับให้บริการรักษาและทำการผ่าตัดผู้ป่วย 

ต่อมากิจการด้านการแพทย์และสาธารณสุขขยายตัวมากขึ้น จำต้องมีการขยายพื้นที่โรงพยาบาลเพื่อรองรับการให้บริการ จึงได้มีการสร้างโรงพยาบาลขึ้นใหม่ในบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ใช้ชื่อว่า “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” โดยการสร้างโรงพยาบาลใหม่นี้ คณะมิชชันนารีได้รับการสนับสนุนเงินทุนจำนวนหนึ่งจาก Mrs.Nettic Fowler McComick ภรรยาของ Mr.Cyrus Hall McCormick คู่สามีภรรยาจากเมืองชิคาโก้ สหรัฐอเมริกา และอีกส่วนหนึ่งมาจากการร่วมบริจาคของเจ้านายและคหบดีชาวเชียงใหม่ 

โรงพยาบาลแมคคอร์มิค พ.ศ. 2469
ที่มา: เว็บไซต์โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

ส่วนโรงพยาบาลแมคเคน ก่อตั้งขึ้นโดยนายแพทย์เจมส์ แมคเคน (James Mckean) ในปี พ.ศ. 2451 เพื่อเป็นศูนย์พักพิงสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ถูกขับไล่ออกจากชุมชน โดยได้รับการสนันสนุนด้านที่ดินและทุนทรัพย์จากคริสตจักรในต่างประเทศ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับที่ 8 ข้าราชการ คหบดี ตลอดจนคนทั่วไปในเมืองเชียใหม่ ถือเป็นจุดกำเนิดของศูนย์พักพิงสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อนแห่งแรกในประเทศไทย 

ในพื้นที่ของโรงพยาบาลได้แบ่งเป็นออกเป็นสัดส่วนต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล บ้านพักรับรอง ศูนย์ฝึกอาชีพ และคริสตจักร ซึ่งรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอาคารทั้งหมดก็ล้วนเป็นแบบโคโลเนียลสไตล์ทั้งสิ้น

อาคารต้อนรับโรงพยาบาลแมคเคน
ที่มา: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
อาคารทรงสี่เหลี่ยมสมมาตร ประดับด้วยเสาอย่างโรมันภายในพื้นที่โรงพยาบาลแมคเคน
ที่มา: UWM Libraries
หมู่บ้านพักผู้ป่วยโรคเรื้อนภายในโรงพยาบาลแมคเคน
ที่มา: หนังสือ “ฝรั่งในล้านนา” โดยพรพรรณ ทองตัน

จากภาพจะเห็นได้ว่าสิ่งก่อสร้างภายในทั้ง 2 โรงพยาบาล ล้วนแต่มีไวยากรณ์ของลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจน เป็นต้นว่า ซุ้มโค้งขนาดใหญ่ 2 บาน ด้านหน้าอาคารโรงพยาบาลอเมริกันมิชชัน ประตูทางเข้าตรงกึ่งกลางอาคารของโรงพยาบาลแมคเคน นอกจากนี้ ตัวอาคารทั้งสองแห่งยังมีการยกพื้น 2 ชั้น มีระเบียงรอบ ชายคากว้าง และมีเสาขนาดสูงรองรับชายคา เป็นต้น

เมื่องานสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์เคลื่อนคลายออกจากบ้านฝรั่งค้าไม้และสิ่งก่อสร้างสาธารณะของมิชชันนารี

คงจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าบรรดาฝรั่งค้าไม้และมิชชันนารีทั้งหลายที่เข้ามาประจำและปฏิบัติภารกิจในดินแดนล้านนา คือ “ผู้นำเข้า” สถาปัตยกรรมโคโลเนียลสไตล์ทั้งหลายที่ได้กล่าวถึงไว้ในข้างต้น และเมื่อเวลาผ่านไปชั่วขณะหนึ่ง “ของนำเข้า” ดังกล่าวก็ถูกยอมรับและกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมล้านนา โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นสูงของสังคม เช่น เจ้าหลวง และคหบดี  ความนิยมนี้สะท้อนเห็นได้จากการก่อสร้างบ้านเรือนและห้างร้านโดยออกแบบให้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมรูปแบบโคโลเนียลสไตล์ เป็นต้นว่า

  • คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (น้อยมหาอินทร์)

คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ หรือ คุ้มกลางเวียง ได้รับการสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2432 – พ.ศ.2436 เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยของเจ้าน้อยมหาอินทร์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้าบุรีรัตน์ ผู้มีความสำคัญลำดับที่ 3 ในกลุ่มเจ้าขันธ์ห้าใบ หลังเจ้าน้อยมหาอินทร์เสียชีวิต ตัวคุ้มถูกทำให้กลายสภาพเป็นบ่อนคาสิโนโดยผู้สืบสายสกุลของเจ้าน้อยมหาอินทร์เอง ก่อนจะถูกขายต่อให้ตระกูลทิพยมณฑลและกิติบุตร ในปี พ.ศ. 2460 

ในทางสถาปัตยกรรม อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ถือได้ว่ามีไวยากรณ์ของสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์อย่างชัดเจน คือเป็นอาคาร 2 ชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ หลังคาทรงมะนิลา มีหน้าจั่ว มีระเบียงโดยรอบ มีการก่ออิฐและการแปรรูปไม้ ชั้นล่างก่ออิฐหนาเป็นรูปโค้ง (Arch) ฉาบปูนเป็นระเบียงโดยรอบ

ปัจจุบัน คุ้มเจ้าบุรีรัตน์อยู่ในการดูแลของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ให้แก่บรรพบุรุษของตระกูลทิพยมณฑลและกิติบุตร ซึ่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้จัดตั้งคุ้มให้เป็น “ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา” เพื่อให้ความรู้เรื่องงานสถาปัตยกรรมแบบล้านนาแก่ประชาชน และให้เป็นสถานที่ในการทำกิจกรรมของเมืองเชียงใหม่ในเรื่องของวัฒนธรรม 

อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (น้อย มหาอินทร์)
ที่มา: ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา
  • คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่

คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ถูกสร้างเมื่อราวปี พ.ศ. 2435 โดยเจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์แสนซ้าย เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย โดยตัวคุ้มเป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ไม่มีการตอกเสาเข็ม หากแต่ใช้ท่อนซุง 2 ท่อน คือไม้แก่นและไม้แดง รองรับตัวอาคารทั้งหลัง มีลักษณะผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่เรียกว่า “เรือนขนมปังขิง” ซึ่งมีลักษณะเด่นคือการประดับตกแต่งด้วยลวดลายไม้ฉลุด้านบนปั้นลมและที่ชายคารอบตัวอาคาร

ในปี พ.ศ. 2445 เกิดความไม่สงบขึ้นในเมืองแพร่ เจ้าพิริยเทพวงษ์ได้หลีภัยการเมืองไปอยู่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว กระทั่งถึงแก่พิราลัย ทางการสยามจึงได้ยึดราชสมบัติและคุ้มของเจ้าหลวง ทำให้ตัวคุ้มถูกใช้เป็นที่ตั้งของกองทหารม้าจากกรุงเทพฯ ที่ส่งมารักษาความสงบเรียบร้อยในเมืองแพร่อยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นก็ถูกใช้เป็นจวนผู้ว่าเมืองแพร่ และในปี พ.ศ. 2501 ก็ถูกใช้เป็นที่ประทับของในหลวง รัชกาลที่ 9 และพระราชินีสิริกิต์  กระทั่งในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2547 คุ้มได้ถูกมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ดูแล มีการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นจนถึงปัจจุบัน

ลวดลายไม้ฉลุประดับรอบชายคาอาคารคุ้มเจ้าหลวงแพร่
ที่มา: พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ คุ้มเจ้าหลวง
  • อาคารโรงแรมศรีประกาศ

อาคารโรงแรมศรีประกาศถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2447 เดิมเป็นบ้านของ “สีโหม้ วิชัย” ชาวเชียงใหม่คนแรกที่ได้เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา โดยตัวอาคารมีลักษณะผสมผสานงานสถาปัตยกรรมแบบโคลโลเนียลสไตล์และล้านนาเข้าไว้ด้วยกัน กล่าวคือ เป็นอาคาร 2 ชั้น กึ่งไม้กึ่งปูน ตัวอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยม มีทางเข้าอยู่กึ่งกลาง ทั้งนี้ มีจุดเด่นอยู่ที่ “ฝาไหล” ซึ่งเป็นหน้าต่างที่ไม่มีวงกบและบานหน้าต่าง แต่จะแผ่นไม้ที่เลื่อนปิดเปิดได้เพื่อให้แสงเข้าหรือป้องกันแสง ทั้งนี้ ตัวอาคารผ่านการใช้ประโยชน์มาแล้วในหลายรูปแบบ ทั้งการเป็นที่อยู่อาศัย โรงเรียน สวนสัตว์เอกชนยุคแรก สำนักพิมพ์สหายชาวสวน  กระทั่งในปี พ.ศ. 2476 ตัวอาคารได้ถูกขายต่อให้หลวงศรีประกาศ ส.ส.รุ่นแรกของ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเมื่อเปลี่ยนเจ้าของแล้ว อาคารหลังนี้ได้กลายเป็นสถานพยาบาลอยู่ช่วงหนึ่งในระยะที่มีสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะถูกปรับปรุงใหม่ให้กลายโรงแรม

ปัจจุบัน ลูกหลานของหลวงศรีประกาศได้พยายามประคับประคองให้อาคารยังคงอยู่ต่อไปอย่างมีชีวิตชีวา โดยการใช้เป็นสถานที่จัดงานต่าง ๆ เช่น งานนิทรรศการ งานศรีประกาศ อิชิ หรืองานตลาดศรีประกาศ งานแสดงผลงานของนักศึกษาจากทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น

มุมด้านข้างของอาคารศรีประกาศ สามารถมองเห็นฝาไหลได้ที่ชั้นสองของตัวอาคาร
ที่มา: เว็บไซต์ The Momentum
ทางเข้าอาคารศรีประกาศที่บริเวณกึ่งกลางตัวอาคาร
ที่มา: เว็บไซต์ The Momentum
  • อาคารกิติพานิช

อาคารกิติพานิชก่อสร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2447 โดยเถ้าแก่เจี๊ยว กิติบุตร คหบดีชาวเชียงใหม่ และเปิดบริการเป็นห้างสรรพสินค้า ชื่อ “ย่งไท้เฮง” จำหน่ายสิ่งของต่าง ๆ อาทิ เครื่องแต่งกายบุรุษ – สตรี เครื่องออกกำลังกาย ของเล่นเด็ก เครื่องประดับบ้าน เครื่องภาชนะใช้สอย เครื่องแก้ว เครื่องหอม น้ำหอม สบู่ เครื่องเหล็ก และอื่น ๆ อีกมากมาย ต่อมาถูกปรับให้เป็นสถานที่ส่งเสริมความงามสตรีชื่อ “Maison Dara” ซึ่งถือเป็นร้านแรก ๆ ในเชียงใหม่ที่มีบริการตัดผมและนวดหน้าด้วยเครื่องไฟฟ้า 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กลายมาเป็นคลินิกให้บริการตรวจและรักษาโรคชื่อ “คลินิกดารา” กระทั่งปี พ.ศ. 2509 คลินิกได้ปิดกิจการลง เหลือไว้เพียงพื้นที่ด้านหน้าที่เปิดให้เช่าเป็นร้านขายหนังสือชื่อ “ซินกีง้วน” ปัจจุบัน อาคารกิติพานิชมีสถานะเป็น Lanna Cuisine ร้านอาหารล้านนาในบรรยากาศแบบโคโลเนียลสไตล์

อาคารกิติพานิชสมัยเป็นห้างร้าน
ที่มา: เว็บไซต์ สถาปนิก’67
บรรยากาศอาคารกิติพานิชในปัจจุบัน
ที่มาภาพ: Facebook: THEE Vijit Lanna by TH District 

จากทั้งหมดในข้างต้น กล่าวโดยสรุปได้ว่าสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์ได้เดินทางเข้าสู่ดินแดนล้านนา ผ่านทางกิจการค้าไม้สักที่นำพาเอาชาวตะวันตกจำนวนมากเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ ประกอบการเข้ามาดำเนินงานด้านการเผยแผ่ศาสนา การศึกษา และการแพทย์สมัยใหม่ ของคณะมิชชันนารีอเมริกัน คณะเพรสไบทีเรียน ที่ส่งผลทำให้เกิดการก่อสร้างอาคารสาธารณะ ขึ้น เช่น โรงเรียน และโรงพยาบาล 

จากนั้นงานสถาปัตยกรรมรูปแบบดังกล่าวก็ได้เคลื่อนคลายออกจากการเป็นสิ่งก่อสร้างเพื่อตอบสนองต่อวิถีชีวิตของฝรั่งค้าไม้และการปฏิบัติภารกิจรับใช้พระเจ้าของคณะมิชชันนารี และไปปรากฏอยู่ในวิถีชีวิตของคนล้านนาโดยมีสถานะเป็นบ้านเรือนและ/หรืออาคารห้างร้านต่าง ๆ 

สำหรับในบริบทปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์จำนวนหนึ่งได้ถูกบรรจุกิจการร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม หรือแม้แต่พิพิธภัณฑ์ลงไปในโครงสร้าง เพื่อปลุกให้อาคารเหล่านั้นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็มีการสร้างสรรค์สิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ขึ้น และออกแบบให้คล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์รุ่นเก่า เพื่อสะท้อนความเป็นท้องถิ่นออกมา เช่น กรณีร้านพิซซ่าแห่งหนึ่งใน จ.แพร่ ที่ออกแบบตัวอาคารร้านให้เป็นอย่างเรือนขนมปังขิง หรืออาคารแบบโคโลเนียลสไตล์ที่ประดับด้วยลวดวายไม้ฉลุที่ชายคา  เป็นต้น

ดังนั้นแล้ว อาจกล่าวได้อย่างถึงที่สุดว่าสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์ไม่มีทีท่าว่าเสื่อมอิทธิพลหรือเหือดหายไปจากสังคมล้านนาเลยแม้แต่น้อย แต่ทว่าได้กลับกลายเป็นส่วนหนึ่ง เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรมล้านนาไปแล้วอย่างสิ้นเชิง  

หมายเหตุ: เอาเข้าจริงแล้ว สิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์ในล้านนานั้นมีจำนวนมากกว่าที่ผู้เขียนได้ยกมาเป็นตัวอย่างประกอบของบทความนี้อีกมาก หากแต่ผู้เขียนไม่สามารถนำมาใส่ประกอบไว้ในบทความนี้ได้ทั้งหมด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

อาคารร้านพิซซ่าในเรือนขนมปังขิง จ.แพร่
ที่มา: ตะลอนตะหลอด (The Local Space)

‘สชป.’ ชุมนุมศาลากลางเชียงใหม่ เดินหน้าจี้รัฐแก้กม.ป่าอนุรักษ์ ชี้ละเมิดสิทธิประชาชน ด้านรัฐบาลรับหลักการเบื้องต้น พร้อมนำหารือต่อ

29 พฤศจิกายน 2567 ‘สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า’ (สปช.) รวมตัวกัน ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแสดงพลังและยืนยันเจตนารมณ์คัดค้านการออกพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พร้อมทั้งยื่นหนังสือแก่ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ผู้แทนนายกฯ เพื่อเรียกร้องให้เร่งพิจารณาแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 462,444 ครัวเรือน หรือคิดเป็นกว่า 1,849,792 คนที่อาศัยและทำกินในพื้นที่อนุรักษ์มาอย่างยาวนาน

หลังจากวานนี้ (28 พ.ย.) สชป. ได้เดินทางมายังศาลากลางฯ เพื่อปักหลักรอยื่นหนังสือถึง แพทองธาร ชินวัตร นากยกฯ และคณะรัฐมนตรี ในวันนี้ (29 พ.ย. 67) เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านกฎหมายดังกล่าวพร้อมด้วยชาวบ้านกว่า 5,000 คนเข้าร่วมการ

หลังจากยื่นหนังสือ ผู้แทนชุมนุมได้ร่วมเจรจากับรองนายกฯ และคณะผู้แทนรัฐบาล พร้อมจัดทำบันทึกการหารือฯ ร่วมกัน โดย วิชิต เมธาอนันต์กุล ผู้แทนสชป. ได้สะท้อนถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว  ซึ่งมีข้อบัญญัติที่ส่งผลเสียต่อสิทธิของประชาชนในชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์

วิชิต กล่าวถึง พ.ร.ฎ. ทั้ง 2 ฉบับนี้ว่า มีข้อบัญญัติหลายมาตราที่อาจส่งผลกระทบต่อ สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนท้องถิ่น และ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างเช่น มาตรา 5 ที่จำกัดระยะเวลาไว้ให้สามารถอยู่อาศัยและทำกินได้เพียง 20 ปี ข้อกำหนดนี้ขัดต่อความมั่นคงในวิถีชีวิต ของประชาชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยและทำกินในพื้นที่เหล่านี้มาเป็นเวลายาวนาน หรือมาตรา 10 ซึ่งจำกัดการใช้ประโยชน์ไว้ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 40 ไร่ ส่วนเกินจะต้องคืนให้เป็นพื้นที่อุทยานฯ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของครอบครัวชนเผ่าพื้นเมืองที่มีสมาชิกจำนวนมาก

มาตรา 11 ที่กำหนดคุณสมบัติว่า ผู้ที่จะได้รับสิทธิในโครงการจะต้องไม่มีที่ดินอื่นนอกเขตอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งส่งผลต่อผู้ที่มีที่ดินคาบเกี่ยวหลายพื้นที่ ทำให้ถูกตีกรอบให้เลือกเพียงที่เดียว เป็นการบังคับชุมชนให้ออกจากป่า นอกจากนี้ยังมี มาตรา 14 ที่กำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ขัดหรือแย้งต่อการดำรงชีพของประชาชนและเป็นการเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ดังนั้น สชป. จึงขอเรียกร้องให้นายกฯ และครม. ประชุมหาข้อยุติในการแก้ไขปัญหาใน 4 ประเด็น ดังนี้

1. ขอให้ยุติการนำ พ.ร.ฎ. ทั้ง 2 ฉบับ ไปประกาศใช้กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ จนกว่าจะมีการปรับแก้กฎหมาย 

2. ขอให้รัฐบาลจัดตั้งกลไกในรูปแบบที่เป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานจัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจาก พ.ร.บ.อุทยานฯ 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 เป็นรายอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า​ทุก ๆ พื้นที่ี เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ ภายในระยะเวลา 60 วัน

3. ขอให้รัฐบาลและครม.จะต้องเร่งเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งนี้ให้นำเสนอร่างสู่การพิจารณาของครม.ภายใน 90 วัน ก่อนเสนอเข้าสภา

4. ในระหว่างที่มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ รัฐบาลจะต้องชะลอยับยั้งการเตรียมประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 23 แห่ง จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับแล้วเสร็จ  เว้นแต่ในกรณีที่พื้นที่เตรียมการฯ นั้นดำเนินการกันขอบเขตชุมชน พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ป่าชุมชนแล้วเสร็จ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

หลังจากเสร็จสิ้นการเจรจา รองนายกฯ และผู้แทนรัฐบาลได้ชี้แจงผลการเจรจาต่อผู้ชุมนุม โดยมีมติ รับหลักการเบื้องต้น และ เห็นชอบให้มีแนวทางการแก้ไขปัญหา พร้อมจัดทำ บันทึกการหารือ เพื่อรับรองอย่างเป็นทางการ และเตรียมนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา จากนั้นรองนายกฯ และคณะผู้แทนรัฐบาลได้เดินทางต่อไปประชุมครม. และมีกำหนดให้ทีมรองเลขาธิการรัฐมนตรีมาแถลงรายละเอียดเพิ่มเติมในช่วงเวลา 12.00 น.

หลังจากมีการชี้แจงผลการเจรจาเบื้องต้น พี่น้องจากหลากหลายภาคส่วนได้เข้ามาชุมนุมที่หน้าศาลากลางฯ เพื่อรอฟังผลการลงนามในบันทึกการหารือฯ และการชี้แจงจากรัฐบาล ระหว่างการชุมนุม มีการยื่นข้อเสนอของผู้ชุมนุมต่อผู้แทนกรรมาธิการ สส. สว. และพรรคการเมือง โดยมี เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ในนามตัวแทนคณะกรรมาธิการที่ดิน มานพ คีรีภูวดล ในนามคณะกรรมาธิการเด็ก และอรพัน จันตาเรือง ในนามพรรคประชาชน เป็นผู้แทนรับหนังสือ พร้อมทั้งมีกิจกรรมแสดงศิลปะวัฒนธรรมและการแบ่งปันปัญหาของแต่ละพื้นที่

ในช่วงเที่ยงของวัน ผู้แทนรัฐบาล นำโดย สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ได้ขึ้นมาแถลงถึงผลการลงนามว่า รัฐบาลรับทราบปัญหาและยอมรับหลักการทั้ง 4 ข้อที่ประชาชนเสนอ หลังจากนี้จะนำเรียนต่อนายกฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาต่อไปตามข้อตกลง โดยบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีการลงนามโดย ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นิรันด์ น้ำภูดิน ผู้ประสานงานสชป. ประยงค์ ดอกลำใย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) และ วิชิต เมธาอนันต์กุล ผู้แทนสชป.

จากนั้น วิชิต ผู้แทนสชป. หนึ่งในตัวแทนเจรจา ได้มีการอ่านแถลงการณ์บันทึกการหารือฯ ให้พี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมอีกครั้งเพื่อยืนยันหลักการคัดค้าน และแกนนำกล่าวทิ้งท้ายว่า การเริ่มต้นครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ และสนับสนุนให้ประชาชนสู้ต่อไป พร้อมแจกจ่ายบันทึกข้อตกลงให้ตัวแทนนำไปเผยแพร่ต่อในชุมชน

“ดนตรีพาเรามาเจอกัน” คุยกับ ตูน-พนมกร พันธุ์ชนะ แห่ง All Area กับ ‘เชียงใหญ่เฟส’ เทศกาลดนตรีที่อาสาต่อเติมฝันให้คนเหนือ

เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม / ภาพ: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

5 ปีเต็มแล้วที่ เชียงใหญ่เฟส มาเสิร์ฟความม่วนให้กับชาวเหนือ ให้จังหวะหัวใจถูกเติมเต็มไปด้วยเสียงเพลง ต้อนรับลมหนาว ท่ามกลางภูเขา และดนตรีจากหลายศิลปินที่มาร่วมสร้างบรรยากาศของความสนุกไปด้วยกัน และในครั้งนี้ ‘เชียงใหญ่เฟส 5’ เทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ก็จะจัดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว (30 พ.ย. – 1 ธ.ค. 67) ณ Royal Train Garden Resort (บ้านสวนรถไฟรีสอร์ต) อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 2 วัน กับ 46 ศิลปิน ใน 3 เวที

แน่นอนว่านี้เป็นอีกหนึ่งงานใหญ่ที่คนชอบดนตรีไม่ควรพลาด ซึ่งพวกเราเองก็มีโอกาสคุยกับ ตูน–พนมกร พันธุ์ชนะ จากหน่วยงาน ‘All Area’ ภายใต้ร่ม GMM Show ที่เนรมิตเชียงใหญ่เฟสให้เข้ามาเติมเต็มความฝันของผู้คนที่อยู่ในภูมิภาค

เรานัดกับตูนในวันที่เธอและทีมงานหลายร้อยชีวิตกำลังตระเตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับงานที่จะเกิดขึ้น ตูนพาเรานั่งคุยกันในยามเย็นสบายๆ ไม่ได้ร้อนมากบนพื้นหญ้าหน้าเวทีรถแดง หันไปอีกมุมก็มองไปเห็นเวทีหมีสเตจที่ทีมงานต่างกำลังลงแรงกันอยู่ ทุกอย่างกำลังเตรียมพร้อม เพื่อต้อนรับผู้คนนับหมื่นที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันงานแล้ว พร้อมไหม?

พร้อมมากค่ะ (ยิ้ม) ปีนี้พร้อมมากๆ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากปีที่แล้ว จริงๆ ปัญหาในปีที่แล้วมันก็น้อยลงกว่าเดิมมาก แต่จะมีแค่เรื่องการจราจรนิดหน่อย ตอนนี้เราพยายามหาลานจอดเพิ่มมากขึ้น ที่ไม่ใช่แค่ในเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต รวมทั้งหมดแล้วก็จะจอดรถยนต์ได้ประมาณ 7,000 คัน แล้วก็มีพื้นที่จอดมอเตอร์ไซค์หน้างานอีกประมาณ 20,000 คัน

เราก็อำนวยความสะดวกในเรื่องการเดินทางให้กับผู้ชมมากขึ้น ก็คือเพิ่มรถแดงที่เซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต จากปีก่อน ที่มีประมาณ 20-30 คัน เป็น 50 คัน สำหรับนำส่งผู้คนขึ้นมาที่จัดงาน โดยไม่ต้องขับรถมาเอง คือถ้าจะมาดื่ม มาปาร์ตี้ มาม่วนมาจอย หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ต้องห่วงเลย นั่งรถแดงมาสะดวกที่สุด สำหรับคนที่มารถส่วนตัวเราก็หาลานจอดรถรอบนอกที่ใกล้กับพื้นที่จัดงานที่สุดไว้ให้ด้วย แล้วก็ยังมีวินมอเตอร์ไซค์คอยรับส่งที่งานเพื่อแก้ปัญหารถติด ก็คือพยายามแก้ปัญหามากขึ้น ตอนนี้ก็พร้อมมากๆ เหมือน ประมาณ 80% ละ

มี Challenge ไหนที่ไม่เหมือน 4 ครั้งที่ผ่านมาบ้าง

Challenge อันดับหนึ่งของเราก็คือ.. (ชี้ไปบนท้องฟ้า) นี่คือสิ่งที่ Uncontrol ที่สุดแล้ว เราก็พยายามทำทุกๆ อย่าง เรื่องพื้นที่ การ set up ต่างๆ คือมันควบคุมได้ตามแพลนของเราอยู่แล้วค่ะ

แต่สิ่งที่มันเหนือความคาดหมายตลอดเวลานั่นก็คือเรื่องฟ้าฝน แต่ว่าเราก็พยายามเตรียมการให้ได้มากที่สุด ท้าทายทุกปีเลย เพราะว่าปีนี้เราเจอปรากฏการณ์ลานีญาด้วย สภาพอากาศก็แปรปรวนกว่าปกติไปมาก อย่างวันนี้ที่เรามานั่งคุยกัน (25 พ.ย.) อยู่ๆ อากาศมันก็ร้อนขึ้นอย่างน่าตกใจ พออากาศมันร้อนขึ้นทีไรใจเรามันก็เริ่มหวิวแล้วนะ ไม่รู้ว่าฝนจะตกลงมาอีกหรือเปล่า อันนี้เป็นเรื่องท้าทายที่สุดแล้วที่เราต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ควบคุมไม่ได้ แต่ถึงจะควบคุมไม่ได้แต่เราก็มี Solution เตรียมตัวตั้งรับกันอยู่แล้ว เช่น ประกาศบนหน้าเพจเชียงใหญ่เฟสว่าให้เตรียมร่มกันฝนกับเสื้อกันหนาวมาเผื่อ เพราะจริงๆ อากาศที่เชียงใหม่ตอนกลางวันจะร้อน แต่ว่ากลางคืนก็มีน้ำค้าง และคือหนาวไปเลย ก็อยากให้คุณผู้ชมเตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีๆ ด้วย นี่คือความท้าทายที่สุดแล้ว

มีเรื่องอื่นอีกไหม

มีค่ะ อย่างที่บอกตอนต้นว่าเราพยายามแก้ปัญหาเรื่องการจราจรนั่นแหละ ด้านนอกอย่างที่เห็นก็คือถนนเส้นที่พามาที่งานนั้นเป็นถนนเลนเดียว เราต้องจัดการผู้ชมทั้งหมดทั้งมวลให้ขึ้นมาด้วยการจราจรเส้นเดียวถ้าผู้คนเดินทางด้วยรถสาธารณะ หรือมอเตอร์ไซค์ได้ มันก็จะเป็นเรื่องที่ดีทั้งกับเราแล้วก็ผู้ชมเองเพราะก็จะเดินทางมาได้เร็วมากขึ้น เรื่องความปลอดภัยในการเดินทางก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอยู่ทั้งเจ้าหน้าที่ของเราแล้วก็ตำรวจจราจรจาก 3 ตำบล ทั้งบ้านปง น้ำแพร่ และหนองควาย ก็คุยกันว่าจะมีการจัดงานเชียงใหญ่เฟสนะ  เราก็ถามกับทางหมู่บ้านด้วยว่าการจัดงานนี้มีปัญหาเรื่องไหนที่ทำให้พวกเขาเดือดร้อนไหมพยายามคุยกันให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ แล้วก็หาทางออกร่วมกัน อย่างเรื่องของการจราจรและเรื่องพื้นที่ เราก็ได้ไอเดียคือการจ้างวินมอเตอร์ไซค์ ก็เป็นพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบลนี่แหละที่มารับหน้าที่ตรงนี้ เขาก็ช่วยเราจัดการเรื่องการจราจรให้คล่องตัวขึ้นด้วย แล้วเราก็ช่วยให้เขามีรายได้จากตรงนี้ไปด้วย นี่ก็คือความท้าทายทั้งในการคุยกับผู้ชม และหน่วยงานท้องถิ่นด้วย

ภาพจาก เชียงใหญ่เฟส

แสดงว่าเชียงใหญ่เฟสเองไม่ได้มองแค่รายได้จากจำนวนของผู้ชมที่เข้าร่วม แต่คนในท้องถิ่นต้องได้ด้วย?

เชียงใหญ่เฟสเราจัด 2 วัน ก็มีคนจากภาคอื่นที่มาเที่ยวด้วย เดินทางมาทั้งรถแล้วก็เครื่องบิน เราไปเช็คมาว่าหลายโรงแรมที่พักก็เริ่มเต็ม  ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านรวงต่างๆ ในเมือง ก็มีคนมาเที่ยวเยอะขึ้น แถมเรายังชวนร้านอาหารชื่อดังของเชียงใหม่มาไว้ในงานเหมือนกัน อย่างสุกี้ช้างเผือกในปีนี้้ ก็ชวนเข้ามาด้วยแล้วก็จะมีอาหารเหนืออีกหลายอย่างที่อยากนำเสนอ มาสนุกด้วย อร่อยด้วย

เรื่องการจราจรก็เปิดให้บริการวินมอเตอร์ไซค์ที่เป็นคนในพื้นที่มารับจ้าง เพราะเราก็อยากให้คนในพื้นที่มีรายได้ด้วย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เขาได้อย่างจริงจัง ทั้งหมดทั้งมวลมันคือการทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดมันเติบโตขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะใน 3 ตำบลเท่านั้น

อย่างที่รู้มาว่าภารกิจสำคัญของ All Area คือการเติมเต็มความฝันของวัยรุ่นในแต่ละภูมิภาค ทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ

ขอกลับมาที่ตัวเราเองก่อนเลยนะ จริงๆ เราเป็นคนชอบดนตรีมากๆ ชอบมาตั้งแต่เด็กๆ เลย มันเป็นแรงผลักดันที่สำคัญกับชีวิตเราเลย เรียนจบก็มาทำงาน Creative ในคลื่นวิทยุ คอยคิดสปอต คิดเกมในคลื่น รวมถึงทำพวกโปรโมตคอนเสิร์ตให้กับศิลปิน จนมาถึงการที่ได้มาทำ Music Festival ใดๆ ก็ตามเรามองว่าดนตรีมันมีพลังที่นำพาพวกเราทุกคนมาเจอกัน ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนดู ผู้จัด และทุกคนที่ชอบดนตรีได้มาเจอกันที่นี่

เราก็รู้สึกว่าในดนตรีเนี่ยมันมีความฝันบางอย่างอยู่ในนั้นนะ ทีม All Area เราทำงานขึ้นมาหลายงานใน 3 ภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหญ่เฟส เฉียงเหนือเฟส และพุ่งใต้เฟส ซึ่งแต่ละภาคทุกคนมารวมตัวกันด้วยดนตรี อยากมาดูศิลปินที่ชอบ อยากมาสนุกกับเพื่อน มีความฝันว่าอยากมา Music Festival บางคนมาแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย! วันนึงฉันอยากอยู่บนเวทีรถแดงบ้างจังเลย

มันเป็นจุดเริ่มต้นของความฝันหลายๆ อย่าง บางคนก็ฝันอยากเป็นศิลปิน ทำเพลงในแบบที่เชื่อ บางคนฝันว่าอยากเป็นทีมงานที่ร่วมสร้างเชียงใหญ่เฟส เรารู้สึกว่าทุกคนมีแนวดนตรีที่ชอบต่างแตกกันนะ แต่ก็เป็นดนตรีอีกนั่นแหละ ที่พาให้หลายคนมาเจอกัน ทุกอย่างมันคือ All Area ที่เรามาส่งตรงมาเสิร์ฟความสนุกให้ทุกคนในแต่ละภูมิภาค เรารู้สึกว่ามันเติมเต็มความสนุกความฝัน ประสบการณ์ดนตรี มันทำให้เรามาเจอกันได้ด้วยดนตรี เราอาจจะพูดกันคนละภาษานะ แต่ก็มีดนตรีนี่แหละที่ทำให้เราคุยกันรู้เรื่อง ดนตรีทำให้เรามาเจอกัน นี่แหละที่ทำให้เราอิ่มใจสุดๆ (ยิ้ม)

อย่างที่บอกว่ามันเป็นการเติมเต็มความฝัน การเลือกศิลปินมาอยู่ในพื้นที่ความฝันแบบนี้ มันคงจะเป็นอะไรที่น่าจะเหนื่อยอยู่พอตัวเลย

จริงๆ มันสนุกนะ สนุกมากด้วย ในเมื่อเราเลือกที่จะเปิดพื้นที่แบบนี้แล้ว การที่เราจะต้องเข้าใจว่าคนแต่ละภูมิภาคเขาชอบฟังอะไรกัน มันทำให้เราได้รู้จักเขา ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วย เราทำข้อมูลกันตลอด เก็บ Data กันเสมอว่าผู้ชมของเราแต่ละภาคฟังเพลงแบบไหนกัน แต่ละภาคก็จะมีกลิ่นอายมีมนต์เสน่ห์การฟังเพลงคนละแบบ เรารู้สึกว่าสนุกกับการเรียนรู้ผู้ชมของเรา ไม่มีความเหนื่อยเลย เรารู้สึกสนุกมากๆ อยากคุยกับผู้ชมให้มากขึ้นด้วยซ้ำ

แล้วคนเหนือเขาฟังเพลงแบบไหนกัน

คนเหนือก็น่ารัก (ฮา) ที่เราหาข้อมูล พบว่าคนเหนือฟังเพลงในกระแสนิยมนี่แหละ วงอินดี้หลายวงก็ถูกใจคนเหนือนะ มีเพลงจากศิลปินท้องถิ่นที่เป็นที่นิยม โจ๊ะๆ ม่วนๆ อย่างปีก่อนๆ เราชวน คณะสุเทพการบันเทิง ที่มีกลิ่นอายความสนุกมีสีสันมีคาแรคเตอร์ชัดเจน เป็นศิลปินในท้องถิ่นด้วย อย่างศิลปินในท้องถิ่นปีนี้ก็จะมีวงเบื๊อก ที่เพิ่มเข้ามาสร้างสีสัน

เราก็พยายามเอาศิลปินที่เป็นคนเหนือ เป็นศิลปินในท้องถิ่นเข้ามาผสมกับศิลปินที่คนเหนือชอบฟังด้วย จะได้ฟังกันสนุกๆ หลากหลาย คนฟังหลายคนอาจจะได้ทำความรู้จักศิลปินที่ไม่เคยรู้จักในงานนี้ก็ได้ งานจัด 2 วัน กว่า 46 ศิลปิน สามารถเลือกได้เลยว่าอยากมาดูโชว์สดของใคร เพราะมันมีความต้องการหลากหลายแบบในแต่ละกลุ่มเพื่อนด้วย เป็นเพื่อนกันแต่ฟังเพลงไม่เหมือนกันแน่ ฉันชอบ TIMETHAI ฉันชอบจ๊ะ นงผณี ฉันชอบ Bodyslam ชอบ Cocktial บางคนชอบแนวฮิปฮอป ก็สามารถมาอยู่จอยกันที่ตรงนี้ได้

เป็นแกงโฮะ

ใช่ๆ ก็น่ารักอ่ะเนอะ แต่เขาก็ต้องแบ่งเวลากันนิดนึงว่าใครจะไปดูวงไหนเวลาไหนแล้วมาเจอกันที่ไหน ก็แกงโฮะ สนุกดี อร่อยด้วย (ยิ้ม)

ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ใครๆ ก็สามารถลุกขึ้นมาทำเทศกาลดนตรีได้เองแล้ว มองเรื่องนี้ยังไงบ้าง

เรารู้สึกว่าการมีผู้เล่นมากขึ้น มันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ชม เป็นประโยชน์ต่อผู้ชม เพราะเขาสามารถเลือกได้ว่าอยากดูอะไรที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเขาได้ บางคนชอบฟังเพลงนอกกระแสไปเลย บางคนก็อยากฟังอีกแบบไปเลย เขาก็มีสิทธิเลือกในความหลากหลายนี้มากขึ้น มันเป็นเรื่องที่ดีนะ แล้วการมีผู้เล่นมากขึ้น มันก็ทำให้เราอยากพัฒนาตัวเองไปด้วย เพราะบางอย่างเราก็มองในมุมของเรามุมเดียวจริงๆ มันก็ทำให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เราก็มองว่ามันก็เป็นการ Support กันด้วย ได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน ช่วยให้วงการดนตรีมันดีขึ้น

มันช่วยทำให้วงการดนตรีคึกคักและพัฒนาขึ้นด้วยไหม?

พัฒนาขึ้นนะ แบบเห็นได้ชัด ช่วงที่ผ่านมาก็มีศิลปินเกิดเยอะขึ้น โดยที่บางคนเขาไม่ต้องมีสังกัดไม่ต้องมีค่ายก็ทำงานกันได้ แถมทำงานออกมาได้ดี และพอมี Music Festival มากขึ้นเขาก็มีโอกาสได้เข้ามาอยู่บนเวทีสักเวทีหนึ่ง อย่างปีนี้เราก็จะมีน้องๆ Commuan Trainee เข้ามาด้วยปีนี้ มันก็จะมีพื้นที่ให้เขาได้มาเล่นมากขึ้น แน่นอนว่าศิลปินก็อยากมีพื้นที่ปลดปล่อย ไม่ใช่แค่ในโซเชียลอย่างเดียว เขาก็อยากมาเจอผู้คน มาสัมผัส Vibe ที่มันส่งพลังถึงกัน อย่างปีที่แล้วเราชวน Howwhywhenyou ที่เป็นคนเกาหลีมาเล่น เขาบอกเลยว่าประทับใจมากที่เชียงใหญ่เฟสมีพื้นที่ให้เขาได้เล่น มันก็มีความอิ่มใจที่มันเป็นพื้นที่ให้เขาได้ เราก็อิ่มเอิ่มใจไปด้วย

แล้วเชียงใหม่หรือภาคเหนือ แข็งแรงพอไหมสำหรับการจัดเทศกาลดนตรี

บอกได้เลยว่า แข็งแรงทั้งอุปกรณ์และทรัพยากรบุคคลเลยนะ มันเหมือนในข้อแรกๆ ที่เราพูดเรื่องท้องถิ่นอ่ะค่ะ จริงๆ ทีมงานที่ทำฉาก ทำเวที ก็เป็นทีมของคนในท้องถิ่นนี่แหละ เป็นทีมของเชียงใหม่เกือบทั้งหมด ทั้งฝ่าย Sound engineer ของรถแดงสเตจ ทีม Nahtung Organize ที่มาทำรันโชว์ ทีม Minimal Record ที่ทำ Mapping Art อ้ายหมีที่เป็นจุดถ่ายรูปเช็คอิน ก็เป็นบุคลากรของเชียงใหม่ทั้งนั้นเลย แต่ก็จะมีทีมงานบางส่วนจากกรุงเทพฯ ที่เราพามาเองด้วย อย่างที่บอกไปว่าดนตรีอ่ะ มันพาทุกคนมาเจอกัน ทุกคนก็ฟังเพลงกันอยู่แล้ว วัฒนธรรมดนตรีก็หลากหลาย มีทั้งบาร์แจ๊ส หรือพวก EDM มันมีหลากหลายแนวเพลงอยู่ในนั้น คนเสพดนตรีเขาก็จะฟังแล้วก็มาเจอกันในนั้น เหมือนกลายเป็นว่าทุกความฝันของทุกคนมารวมกันอยู่ที่นี่  เชียงใหญ่เฟสมันเป็นงานที่มีคาแรคเตอร์ที่สนุก อย่างอ้ายหมีเนี่ยคาแรคเตอร์บนเพจเขาก็จะมีความเป็นเพื่อน ผู้ชมเชียงใหญ่บางคนเขาก็มาคนเดียว อาจจะเหงา ไม่มีเพื่อน พี่หมีก็จะคอยดูแล แล้วเราก็สามารถมาเจอเพื่อนใหม่ๆ ในงานได้ด้วย เราคอยช่วยเทคแคร์กัน ชวนนั่งรถแดงไปด้วยกัน ชวนเต้นไปด้วยกัน ไปดูเวทีนี้ด้วยกัน ที่นี่มันมีความสนุก มีความวาไรตี้อยู่หลายแบบ

จากนี้เป็นไปได้ไหมที่ GMM Show จะเปิดพื้นที่ใหม่ๆ กับจังหวัดที่เป็นเมืองรองมากกว่าหัวเมืองใหญ่

มีความเป็นไปได้ค่ะ เพราะเรามี Data มี Marketing Research อยู่แล้ว ในทุกงานที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ที่เชียงใหญ่เฟส แต่ทุกงานที่เราจัดเราจะทำข้อมูลเอาไว้หมด

เราเก็บข้อมูลตลอดว่าภาคไหนมี Potential ในการจัดเทศกาลดนตรีบ้าง อย่างเมื่อก่อนมีแค่เชียงใหญ่เฟสที่เดียว เราก็ดูว่าแล้วมีคนจากจังหวัดอื่นๆ รอบเชียงใหม่มาเที่ยวงานบ้างหรือเปล่านะ ซึ่งมีเยอะเลย เราก็ดูว่ามีจังหวัดไหนที่เดินทางไม่ไกลหรือมีการเดินทางที่ง่าย หัวเมืองไหนเข้าถึงง่าย เราก็พร้อมที่จะเลือกมาสำรวจอีกทีว่า Consumer ของเราเขาสนใจอะไร และเข้าถึงได้ไหม การเดินทางที่สะดวกเป็นเรื่องที่ดีของผู้ชม ถ้ามี Demand ถ้าเขาอยากให้เราไปสนุกไปจอยด้วยเราก็พร้อมจะไป ตอนนี้เราก็กำลังดูอยู่เหมือนกันว่าเมืองรองที่ต้องการเสพ Music Festival มันจะมีที่ไหนบ้าง ก็มีความเป็นไปได้อยู่

ตอนนี้มันก็มีพื้นที่เหลืออีกสองภาคที่ยังไม่ได้จัดสักที ก็คือภาคตะวันออกและภาคตะวันตก อันนี้ก็มีโอกาสที่พวกเราจะเดินทางไปเติมเต็มความสนุก

ฝากเชียงใหญ่เฟสครั้งนี้หน่อย

อยากให้มาเร็วๆ ค่ะ คือปีนี้เวที จะเริ่มโชว์ตั้งแต่ 15.30 น. ที่เวทีรถแดง

มันเร็วกว่าปีที่แล้ว ฉะนั้นอยากให้รีบมาเร็วๆ เพราะประตูเราเริ่มเปิดตั้งแต่เที่ยงเลย แล้วรถแดงเนี่ยมันมี Highlight อยู่ในวันเสาร์ แต่ก็ยังบอกไม่ได้ นั่นแหละก็รอมาดูกัน วันเสาร์ที่รถแดงมีเซอร์ไพรส์แน่ๆ ค่ะ อาจจะแบบดึกหน่อย เวทีดอยก็มี Highlight ตอนวงเปิดก็จะมีความสวยงามตระการตา Cocktail ก็เล่นเป็นปีสุดท้ายด้วย ก็อยากให้มาดูกัน อยากให้มาสัมผัสบรรยากาศที่ดีตั้งแต่ทางขึ้นมาจนถึงแต่ละโซน

ยังไงปีหน้าก็ฝากอีกหลายๆ งานจาก GMM Show และ All Area ด้วย ทั้งเชียงใหญ่เฟส  เฉียงเหนือเฟส พุ่งใต้เฟส เราก็จะขอส่งทั้งความสุข และความสนุก ให้กับทุกคนในแต่ละภาคได้มากขึ้น และจะทำให้ดีที่สุดค่ะ

‘เครือข่ายไม่เอาเหมืองแร่แม่เลียง’ ค้านเวทีความเห็นและยื่นหนังสือคัดค้านการทำเหมืองแร่แม่เลียง

28 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องถิ่นจังหวัดลำปาง ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ (แร่พลวง) ณ ศาลาอเนกประสงค์บ้านแม่ผึ้ง หมู่ 5 ตำบลเสริมขวา อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ตั้งแต่เวลา 09.00 – 12.00 น. โดย ‘เครือข่ายไม่เอาเหมืองแร่แม่เลียง’ ได้รวมตัวชุมนุมคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ และเมื่อเวลา 08.30 น. ผู้ชุมนุมได้ตั้งขบวนบริเวณสะพานน้ำแม่ผึ้ง กระทั่งได้เคลื่อนขบวนไปยังศาลาอเนกประสงค์บ้านแม่ผึ้ง พร้อมกับถือป้ายข้อความและส่งเสียงแสดงพลังว่า “ชาวแม่เลียงไม่เอาเหมืองแร่

ในส่วนของการประทานบัตรเหมืองแร่ในครั้งนี้ถูกตั้งข้อกังวลว่า จะส่งผลกระทบการทำเหมืองแร่พลวงในพื้นที่แม่เลียงกว่า 50 ไร่ ทับซ้อนกับพื้นที่ต้นน้ำแม่เลียง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำและทรัพยากรสำคัญในการอุปโภค และใช้ในการทำเกษตรกรรมถึง 12 ชุมชน และกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมโดยตรง เมื่อมีการทำเหมืองเปิดบริเวณพื้นที่ราบขนาดกว้างกว่า 50 ไร่ ในลักษณะขั้นบันได และมีการขุดเจาะในแนวดิ่งลงไปกว่า 25 เมตร สารปนเปื้อนที่เกิดจากการขุดเจาะพื้นที่ย่อมกระทบต่อน้ำที่อยู่ใต้ดินที่จะไหลซึมไปยังพื้นที่ข้างเคียงอย่างเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ที่ชุมชนดูแลรักษาถูกทำลายจากการขุดเจาะเหมืองแร่

การคัดค้านการทำเหมืองแร่แม่เลียงไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ย้อนกลับไปเมื่อราวทศวรรษที่ 2510 สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในพื้นที่แม่เลียง ตำบลเสริมขวา จังหวัดลำปาง ได้ทำการคัดค้านการทำเหมืองแร่แบบผิดกฎหมาย เพราะเป็นเหมืองฉีด แทนที่จะเป็นเหมืองหาบตามที่ได้รับอนุญาต ทำให้น้ำปนเปื้อนไหลเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านกว่า 7,000 ไร่ กระทบกว่า 600 ครอบครัว จนนำไปสู้การต่อสู้ที่ทำให้มีผู้นำการคัดค้านถูกลอบสังหารและมีชาวบ้านเสียชีวิต กระทั่งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางเคยจัดประชาคมเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นของชุมชน แต่เวทีดังกล่าวถูกยกเลิกไปเนื่องจากชาวบ้านแม่เลียงและชุมชนใกล้เคียงในพื้นที่ตำบลเสริมขวาได้รวมตัวประท้วงราว 200 – 300 คน ณ ศาลาอเนกประสงค์วัดแม่เลียง เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีมีการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ในพื้นที่บ้านแม่เลียง

และในครั้งนี้เป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่พลวง ของบริษัท ทรัพย์ธรณี ลานนา จำกัด โดยมีตัวแทนจากบริษัท ทรัพย์ธรณี ลานนา จำกัด นายประสิทธิ์ ศรีพรหม ผู้อำนวยการระดับสูงสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง  ว่าที่ร้อยตรี อดิศักดิ์ ดวงจินดา นายอำเภอเสริมงาม และ รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง เขต 4 พรรคประชาชน ร่วมรับฟังความคิดเห็นและรับหนังสือการคัดค้านการทำเหมืองแร่จากตัวแทนเครือข่ายไม่เอาเหมืองแร่แม่เลียง

รายละเอียดของข้อเรียกร้องในหนังสือคัดค้านการดำเนินโครงการเหมืองแร่พลวง ประกอบด้วย

1. ให้บรรจุวาระตรวจสอบและหามาตรการยุติการดำเนินการขอประทานบัตรเหมืองแร่แม่เลียง เข้าสู่ วาระการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วม ของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร โดยเชิญผู้เข้าร่วมชี้แจง ได้แก่ ผู้แทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจาก การขอประทานบัตรเหมืองแร่แม่เลียง, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และบริษัท ทรัพย์ ธรณี ล้านนา จำกัด

2. ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในคณะกรรมาธิการฯ ได้เร่งตั้งกระทู้ถามสดถึงนายกรัฐมนตรี (น.ส.แพ ทองธาร ชินวัตร) กรณีการเร่งรัดผลักดันโครงการพัฒนาของรัฐที่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ โดย ไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน รวมถึงช่วยสื่อสารทางสาธารณะ เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วไปว่า ขณะนี้การผลักดันให้เกิดโครงการพัฒนาของรัฐที่กระทบ ต่อทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ได้เกิดเฉพาะในพื้นที่แม่เลียงเท่านั้น แต่พบว่ามีความพยายามดำเนินการใน ลักษณะเดียวกันในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

3. ให้เร่งหามาตรการในการปกป้องชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการประทานบัตรเหมืองแร่แม่ เลียง โดยเบื้องต้นให้คณะกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยรับฟังความเห็นของ ประชาชนในพื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่แม่เรียงอย่างรอบด้าน เพื่อให้มีข้อมูลสถานการณ์ในระดับ พื้นที่ประกอบการตรวจสอบการละเมิดสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน และจัดทำรายงาน ข้อเสนอแนะถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อต่อไป

ในส่วนหนังสือที่ยื่นถึงสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง มีข้อเรียกร้องให้เร่งตรวจสอบและหามาตรการยุติการดำเนินการขอประทานบัตรเหมืองแร่แม่เลียงโดยทันที และให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ที่ปรึกษาบริษัทเหมืองแร่ และหน่วยงานอื่นใดที่ส่งเสริมการทำเหมืองแร่ ยุติการเข้ามาในพื้นที่ชุมชนเครือข่ายไม่เอาเหมืองแร่แม่เลียง

ด้านชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่พลวงกล่าวว่า การเข้ามาทำเหมืองแร่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษจากฝุ่นที่มีการขุดเจาะเหมือง แหล่งนำ้ในชุมชนจะปนเปื้อนไปด้วยตะกอนและสารพิษจากการทำเหมืองแร่ ป่าที่ชาวบ้านช่วยกันปกป้องดูแลจะถูกทำลาย อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการคมนาคมจากการขนแร่ธาตุผ่านถนนชุมชน การเข้ามาทำงานของคนต่างพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม โดยข้อเสนอของเครือข่ายผู้ชุมนุมคือการไม่เอาเหมืองแร่และยุติการสัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ชุมชนทุกรูปแบบ

แดดแรง ‘โซลาร์รูฟท็อป’ แผ่ว: ทำไมโซลาร์รูฟท็อปในไทยไม่ปัง ทั้งที่แดดดีและมีศักยภาพ แล้วต้องปลดล็อกอะไรถึงจะโต?

ประเทศไทยมีศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์อย่างล้นเหลือ โดยสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สูงถึงราว 4.06 ถึง 5 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อวัน  แต่ทำไมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในบ้านเราจึงยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร?

วานนี้ (26 พ.ย. 67)  เครือข่ายการเงินเพื่อรับมือกับภาวะโลกรวน (Climate Finance Network Thailand: CFNT) นำเสนองานวิจัยที่สำรวจความเป็นไปได้ในการใช้การระดมทุนจากมวลชนเพื่อสนับสนุนการติดตั้งแผงโซลาร์ของภาคครัวเรือน 6 รูปแบบที่จะช่วยทลายอุปสรรคต่างๆ พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐ นอกจากนี้ ในงานยังมีการเสวนา หัวข้อ “ปลดพันธนาการโซลาร์” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงจากผู้ประกอบการพลังงาน นักนโยบายสาธารณะ และผู้บริหารแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) เพื่อหารือเส้นทางสู่อนาคตพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ณ โรงแรมแมริออท กรุงเทพฯ สุขุมวิท

รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ หัวหน้าทีมวิจัย CFNT แถลงผลงานวิจัย หัวข้อ “ใช้พลังมวลชน: เพิ่มการเข้าถึงเงินทุนเพื่อติดตั้งโซลาร์ครัวเรือนด้วยโมเดลคราวน์ฟันดิงในไทย” โดยกล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แต่ปัจจุบันกลับมีสัดส่วนเพียง 1-2% เท่านั้น ซึ่งปัญหาของการเข้าถึงการติดตั้งโซลาร์ในภาคครัวเรือน คือ ราคา การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและความยุ่งยากในการขออนุญาต 

ในประเด็นเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน CFNT ได้สำรวจระบบ Crowdfunding ในต่างประเทศที่ใช้กับโครงการโซลาร์โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป คือ Lumo จากฝรั่งเศส, Trine จากสวีเดน, Zonhub จากเนเธอร์แลนด์ และ Ethex จากสหราชอาณาจักร พบว่าจุดร่วมของแพลตฟอร์มเหล่านี้คือ การให้แรงจูงใจทางการเงินจากรัฐบาลที่ต่อเนื่องยาวนาน โดยภาครัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนส่วนเพิ่มเพื่อให้ภาคพลังงานหมุนเวียนเติบโตอย่างก้าวกระโดดและเป็นสัญญาระยะยาว สอง คือความโปร่งใสกับ Due Diligence แพลตฟอร์มเหล่านี้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการอย่างละเอียด เพื่อให้นักลงทุนตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ สาม ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีความหลากหลาย และสี่ ทั้งสี่แพลตฟอร์มระบุเลยว่า การลงทุนนี้จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

ในส่วนของการนำเสนอทางเลือกระบบ Crowdfunding เพื่อการติดตั้งโซลาร์ครัวเรือนในประเทศไทย งานวิจัยชิ้นนี้ นำเสนอทางเลือกที่น่าสนใจไว้ 6 ทางเลือกด้วยกันคือ 

 1.  ผ่อนจ่ายตามเงินที่ประหยัดได้ (Pay-As-You-Save) คือการเปิดโอกาสให้ครัวเรือนติดตั้งแผงโซลาร์โดยไม่ต้องจ่ายเงินลงทุนตั้งต้น และผ่อนชำระค่าแผงโซลาร์ตามค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ในแต่ละเดือน

2. พอร์ตฟอร์ลิโอแผงโซลาร์บนหลังคา คือการรวบรวมแผงโซลาร์ที่ติดตั้งอยู่บนหลายหลังคาเรือนเป็นเสมือนพอร์ตฟอร์ลิโอที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ โดยจะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับตัวแทนผู้จัดจำหน่ายไฟฟ้าหรือภาคธุรกิจที่มีการใช้ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน

3.  ร่วมมือกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คือการที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดมเงินทุนผ่านคราวด์ฟันดิงเพื่อนำเงินไปลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์ในโครงการบ้านจัดสรรแห่งใหม่

4. ผ่อนชำระผ่านใบเรียกเก็บค่าสาธารณูปโภค (On-bill financing) คือการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคผ่อนชำระค่าแผงโซลาร์ผ่านใบเรียกเก็บค่าสาธารณูปโภค นับเป็นการอำนวยความสะดวกในการผ่อนชำระและลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้

5. ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไม่เชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าโดยจ่ายชำระเท่าที่ใช้งาน (Off-grid Pay-As-You-Go) คือหนึ่งในทางเลือกสำหรับชุมชนที่อยู่นอกกโครงข่ายไฟฟ้าให้สามารถเข้าถึงการจ่ายเงินซื้อไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง และยังเป็นการเพิ่มการเข้าถึงไฟฟ้าในพื้นที่ชนบทอีกด้วย

6. แผงโซลาร์บนหลังคาอาคารหน่วยงานภาครัฐ คือโครงสร้างทางการเงินที่ใช้อาคารหน่วยงานภาครัฐเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์ โครงสร้างดังกล่าวจะอยู่ในรูปแบบไม่แสวงหากำไรโดยแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้กลับคืนให้หน่วยงาน
ในขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้โซลาร์เติบโตอย่างก้าวกระโดด รพีพัฒน์ นำเสนอข้อเสนอต่อภาครัฐ ดังนี้ 

1. ควรจะเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน 

โดยการเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ เพิ่ม Feed-in tariff ทำให้อายุการสัญญารับซื้อไฟสอดคล้องกับอายุของโซลาร์ ปัจจุบันอายุสัญญารับซื้อไฟเพียงแค่ 10 ปี แต่แผงโซลาร์นั้นมีอายุการใช้งาน 20 – 25 ปี การเพิ่มอายุสัญญารับซื้อไฟจะเป็นการการันตีว่า โซลาร์จะสร้างรายได้ในระยาว นอกจากนี้ยังต้องมีนโยบายจูงใจ เช่น  Net Metering เพื่อให้คนที่ไม่อยู่บ้านตอนกลางวันสามารถขายไฟคืนระบบได้ในราคาที่สมเหตุสมผล และต้องไม่ใช่ระบบโควตาในแบบปัจจุบันที่รัฐบาลรับซื้อไฟฟ้าจากภาคครัวเรือนเพียง 90 เมกะวัตต์ และในตอนนี้โควตาก็เต็มแล้ว 

2. สนับสนุนทางด้านการเงิน 

ต้องมีมาตรการลดความเสี่ยง เช่น การรับประกันโดยภาครัฐบางส่วน มีการให้เครดิตการันตี มีการปล่อย Soft Loan แม้ปัจจุบันจะพอมีอยู่บ้าง แต่อาจจะต้องยกระดับหรือทำเงื่อนไขให้คล่องตัวกว่านี้ในอนาคต 

3. มีแพลตฟอร์มแบบ One Stop Service 

ควรมีแพลตฟอร์มที่ทำให้ประชาชนมาที่เดียวแล้วจบเลย ทั้งการเข้าไปหาความรู้เรื่องการติดตั้งโซลาร์ ข้อดีข้อเสีย ตลอดจนผลตอบแทน และถ้าประชาชนสนใจก็สามารถยื่นแบบฟอร์มเพื่อขอติดตั้งได้เลยโดยที่แพลตฟอร์มจะเป็น One stop service คือมีบริษัทรับติดตั้งโซลาร์ให้เราเลือก ทำสัญญาขายไฟคืนกับภาครัฐ การขอใบอนุญาตทุกอย่าง รวมไปถึงการขอสินเชื่อ ทุกอย่างจบในแพลตฟอร์มเดียว 

4. เพิ่มการแข่งขันในตลาดไฟฟ้า

เสนอให้มีระบบ Third Party Access เปิดให้ผู้อื่นเข้ามาใช้โครงข่ายไฟฟ้าได้ด้วย โดยภาครัฐก็จะสามารถเก็บค่าใช้โครงข่ายได้ รวมไปถึงการเปิดให้ผู้ที่สามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ซื้อขายไฟฟ้ากันเองได้เพื่อให้เกิดการแข่งขัน เพราะโครงสร้างในตอนนี้เราต้องซื้อไฟจากการไฟฟ้าเพียงรายเดียว

“โลกในปัจจุบัน การผลิตไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องรวมศูนย์อีกต่อไป เพราะโซลาร์ทำให้ทุกคนสามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ การผลิตไฟฟ้าควรกระจายให้ทุกคนมีส่วนร่วม Crowdfunding เครื่องมือระดมทุนจากมวลชนจะทำให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาติดโซลาร์ได้ ระบบนี้ยังสามารถใช้ระดมทุนได้คล่องตัวมากขึ้นกว่าการไปขอสินเชื่อธนาคาร ถ้าเราปิดช่องว่างตรงนี้ได้ บวกกับมีนโยบายมาสนับสนุน เราก็จะสามารถปลดล็อกศักยภาพของโซลาร์ในประเทศไทยได้” รพีพัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

เปิดทางออกโซลาร์รูฟท็อปในไทย ต้องปลดล็อกเรื่องอะไรถึงจะเติบโต

นักนโยบายสาธารณะ ผู้ประกอบการพลังงาน และผู้บริหารแพลตฟอร์ม Crowdfunding ร่วมวงถกปัญหาและทางออก ทำอย่างไรให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในไทยเติบโต

  • นักวิชาการ TDRI ชี้การติดโซลาร์มากขึ้นไม่ได้ทำให้คนไม่ติดโซลาร์ค่าไฟแพง แต่อาจจะทำให้ค่าไฟทั้งระบบถูกลงอีก
  • ผู้ประกอบการติดตั้งโซลาร์สะท้อนถึงไทยจะมีแดดและมีศักยภาพมากในผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ แต่การติดโซลาร์ในภาคครัวเรือนนั้นยังเต็มไปด้วยข้อจำกัด 
  • ชุมชนที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ยืนยันโซลาร์เป็นทางเลือกที่ดีกว่าและถูกกว่า ยิ่งเป็นระบบ off-grid ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องค่า Ft จะขึ้นด้วย 
  • ผู้บริหารแพลตฟอร์มระดมทุน เชื่อโปรเจ็กต์เพื่อชุมชนเป็นไปได้ แต่องค์กรกำกับดูแลอาจต้องปรับกฎเกณฑ์เพื่อให้เอื้อกับการทำโฆษณาหาลูกค้า 

26 พ.ย. 2567 ในการเสวนาหัวข้อ “ปลดพันธนาการโซลาร์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานแถลงผลการวิจัยของเครือข่ายการเงินเพื่อรับมือกับภาวะโลกรวน (Climate Finance Network Thailand: CFNT) ที่โรงแรมแมริออท กรุงเทพฯ สุขุมวิท

ไขปัญหาโซลาร์รูฟท็อป ทำให้ค่าไฟแพงขึ้นจริงหรือ?

อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงประเด็นที่หลายคนกังวลกันว่าหากยิ่งติดโซลาร์มากขึ้นจะยิ่งทำให้ค่าไฟของคนที่ไม่ได้ติดโซลาร์แพงขึ้นว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าการติดโซลาร์มากขึ้นอาจจะทำให้ค่าไฟทั้งระบบถูกลงอีกด้วย

อารีพร อธิบายว่า ต้นทุนค่าไฟแบ่งออกเป็น 3 ก้อนใหญ่ๆ คือค่า G คือ Generation คือต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 2.85 บาทต่อหน่วย ก้อนที่ 2 คือค่า T คือ Transmission ต้นทุนระบบสายส่ง อยู่ที่ 0.25 บาท D คือ Distribution ระบบสายจำหน่ายอยู่ที่ 0.55 บาท

“เวลาเราคิดค่าไฟเราจะใช้หลักการหารยาว คิดง่ายๆ ก็คือต้นทุนทั้งหมดหารด้วยจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ผ่านระบบไฟฟ้าหรือคิดง่ายๆ เป็นจำนวนคนที่ใช้ไฟฟ้าผ่านระบบการไฟฟ้า ดังนั้นเมื่อมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น นั่นหมายความว่าก็จะมีประชาชนที่ใช้ไฟตรงจากราคาบ้านใหม่ ไม่ผ่านระบบสายส่งของภาครัฐ ดังนั้นแล้วต้นทุนที่จะได้รับผลกระทบก็คือต้นทุนค่าสายส่งสายจำหน่าย T กับ D เนื่องจากว่าภาครัฐมีการลงทุนไปเรียบร้อยแล้วแต่เมื่อมีคนมาหารยาวน้อยลง นั่นแปลว่าคนที่ยังต้องร่วมกันหารยาวอยู่ หรือคนที่ไม่สามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ก็ต้องรับผิดชอบส่วนนั้นที่สูงขึ้น นั่นคือส่วนที่มีความเป็นจริงอยู่ แต่ตัวเลขไม่ได้เยอะ 

“แต่อย่าลืมว่าการที่เราติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น มีการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดมากขึ้น นั่นหมายความว่า ถ้าภาครัฐบริหารจัดการดีๆ จะสามารถนำเข้า LNG ในปริมาณที่น้อยลง นั่นคือช่วยลดส่วนที่เป็นตัว G ที่ใหญ่ที่สุดคือ 2.85 บาทต่อหน่วย และเมื่อหักลบกลบหนี้กันเรียบร้อยแล้ว ต้นทุนค่าไฟสุทธิก็จะไม่ได้สูงขึ้นอย่างที่กังวลกัน นั่นคือประโยชน์ของการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป” 

ดร. อารีพร กล่าวว่า อยากให้มองภาพกว้างกว่านี้ว่า นอกจากหลังคาบ้านเรือนประชาชน เราก็มีทั้งอาคารของหน่วยงานภาครัฐ อาคารพาณิชย์ โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปด้วย ในช่วงกลางวันจะมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ได้มากกว่าความต้องการใช้ ถ้าหน่วยงานเหล่านั้นไม่มีการติดตั้งระบบการกักเก็บพลังงาน หรือไม่สามารถเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนได้ ไฟที่เหลือจากตรงนี้ต้องปล่อยทิ้งไป ซึ่งน่าเสียดายมาก ในปี 2566 มีปริมาณไฟที่เหลือทิ้งประมาณ 2,187 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี

นักวิชาการ TDRI ชี้ว่า หากภาครัฐเอาไฟส่วนนี้กลับมาทำอย่างอื่นต่อจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างมาก เช่น นำมาให้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบางฟรี นอกจากจะช่วยในเรื่องของภาระค่าครองชีพของประชาชนแล้ว ภาครัฐก็สามารถลดการนำเข้า LNG ลงได้อีก ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ และสามารถนำมาเป็นส่วนลดค่าไฟให้กับประชาชนคนไทยทุกคนได้ถึงประมาณ 0.02 บาทต่อหน่วย 

“จะเห็นได้ว่าการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปประโยชน์ 3 ด้านด้วยกัน ด้านแรกก็คือทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพิงการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ช่วยในเรื่องของความมั่นคงทางด้านราคาและความมั่นคงทางด้านพลังงาน สองคือการลดค่าไฟประชาชน และสาม เป็นการช่วยให้ประเทศไทยของเราสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดได้มากขึ้น

ธีระพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ RE Generation Thailand สะท้อนให้เห็นว่าแม้ประะเทศไทยจะมีแดดและมีศักยภาพมากในผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ แต่การติดโซลาร์ในภาคครัวเรือนนั้นยังเต็มไปด้วยข้อจำกัดและอุปสรรคจำนวนมาก 

“ผมรู้สึกว่าข้อจำกัดหรืออุปสรรคของการติดตั้งโซลาร์ของภาคครัวเรือน น่าจะมีประมาณ 4 ด้านใหญ่ๆ คือด้านความรู้ ข้อจำกัดของสถานที่ติดตั้ง เงินทุนตั้งต้นและความคุ้มทุนตามรูปแบบการใช้ไฟฟ้า และสุดท้าย การขาดมาตรการสนับสนุน”

ปังหรือพัง? โซลาร์รูฟท็อป ‘พัง’ เพราะขั้นตอนยุ่งยาก-ไม่มีมาตรการหนุน

ธีระพงศ์ กล่าวต่อว่า ในประเด็นเรื่องความรู้ คือข้อมูลทั่วไป เช่น มีเทคโนโลยีแบบไหนบ้าง ทำงานอย่างไร ผลิตไฟฟ้าอย่างไร เป็นเรื่องความไว้วางใจในเทคโนโลยี และเรื่องความไว้วางใจในช่างผู้ติดตั้ง ต่อมาคือการขาดเครื่องมือที่ใช้ในการคำนวณความคุ้มค่าโซลาร์ ปัจจุบันยังไม่ค่อยเห็นเครื่องมือในการคำนวณสำหรับครัวเรือนแบบชัดเจนสักเท่าไร ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการลงทุน 

“อีกอย่างหนึ่งที่รู้สึกว่าเป็นอุปสรรคค่อนข้างใหญ่เลยก็คือเรื่องความซับซ้อนของการขออนุญาตติดตั้งโซลาร์ บ้านเรือนหลังหนึ่ง สมมติต้องการติดโซลาร์แค่ 3 กิโลวัตต์ จะต้องขออนุญาตถึง 3 หน่วยงานด้วยกัน ขั้นแรกต้องขออนุญาตหน่วยงานท้องถิ่นเรื่องโครงสร้างว่า โครงสร้างบ้านแข็งแรงพอจะติดตั้งโซลาร์ไหมทั้งที่ติดปริมาณน้อยมาก จริงๆ 3 กิโลวัตต์ถ้าช่างสามารถปีนขึ้นไปบนหลังคาเพื่อติดโซลาร์ได้ก็แปลว่าหลังคาสามารถรับน้ำหนักโซลาร์ได้อยู่แล้ว แต่ก็กลายเป็นว่าจะต้องมีวิศวกรเขียนแบบ แล้วถ้าเป็นบ้านเก่าที่ตอนสร้างไม่มีการเขียนแบบ ตรงนี้ก็จะเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นมาอีกเพราะต้องมีการเขียนแบบต้องมีการเซ็นแบบ 

“พอจบจากการขออนุญาตส่วนท้องถิ่นแล้วก็จะต้องมาขออนุญาต กกพ. ตรงนี้อาจจะขออนุญาตง่ายหน่อยเพราะ กกพ. มีให้ขออนุญาตออนไลน์ได้แล้ว สุดท้ายก็คือการขออนุญาตการไฟฟ้า ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าบ้านอยู่ที่พื้นที่ในการดูแลของการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในส่วนนี้ก็จะต้องมีการเขียนแบบไฟฟ้า มีการเซ็นแบบโดยวิศวกร แล้วก็มีการมีเจ้าหน้าที่มาตรวจที่บ้าน ทั้งหมดนี้ในส่วนของผู้ประกอบการที่ทำการติดโซลาร์ก็จะมองว่าเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างมาก”

ธีระพงศ์ กล่าวต่อว่า ข้อจำกัดสุดท้ายคือ การที่ยังไม่มีนโยบายสนับสนุน เพื่อทำให้สามารถเก็บไฟไว้ใช้กลางคืนได้อย่างเช่น Net Metering หรือนโยบายอื่นๆ ที่จะสร้างแรงจูงใจหรือทำให้การติดตั้งโซลาร์ง่ายกว่านี้ 

“ผมคิดว่าสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เรื่องแรกน่าจะเป็นมาตรการการเปิดให้ไฟจากบ้านเรือนเข้าสู่กิจการไฟฟ้า จะเป็น Net Metering หรือ Net Billing ก็ได้ เรื่องที่สองก็คือเรื่องเวลาการขออนุญาต บางทีเป็นปีกว่าจะได้ขายไฟจริง และอยากให้แก้ปัญหาทุนตั้งต้นด้วยทางเลือกทางการเงินต่างๆ ซึ่งควรจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือนวัตกรรมทางการเงินที่จะมาแก้ปัญหาทุนตั้งต้นไม่พอนี้ได้ Crowdfunding ก็อาจเป็นตัวเลือกทางการเงินที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้”

โซลาร์เป็นทางเลือกที่ ‘ดี’ และ ‘ถูกกว่า’ เมื่อไฟฟ้าเข้าไม่ถึงชุมชน

ขณะที่ ธนัย โพธิสัตย์ ผู้ก่อตั้ง เกาะจิกรีชาร์จ กล่าวถึงโซลาร์ในมุมของพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงว่า การใช้โซลาร์นอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนในพื้นที่ห่างไกลที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการต้องใช้ไฟจากการซื้อน้ำมันดีเซลราคาแพงมาปั่นไฟอีกด้วย

ธนัย ฉายภาพว่า เกาะจิกเป็นเกาะที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ก่อนที่เกาะจิกจะใช้ไฟจากโซลาร์ มีการใช้น้ำมันดีเซลมาปั่นเครื่องปั่นไฟ แล้วก็จ่ายไฟทั้งชุมชนมาก่อน เกาะจิกเป็นชุมชนแบบชาวประมง เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ได้มีเยอะ มีเพียงไฟส่องสว่าง ตู้เย็น พัดลม ไม่มีแอร์ เพราะเป็นเหมือนธรรมนูญหมู่บ้านของที่นี่ว่าจะไม่ใช้แอร์ตั้งแต่ต้น 

“สิ่งที่เราทำคือเราเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนเข้าไป เมื่อก่อนใช้ดีเซล 100% พอมีแผงโซลาร์เข้ามาส่วนหนึ่งก็ลดจาก 100% เหลือ 50% ส่วนตอนนี้ก็คือ 97% ของการใช้ไฟในเกาะจิกทั้งปีมาจากโซลาร์ และอีก 3% ยังต้องใช้น้ำมันดีเซลอยู่เพราะในฤดูฝน ฝนตกติดต่อกัน 3- 4 วัน ไม่มีแดดเลยเราก็ยังต้องหันไปใช้น้ำมันดีเซลบ้าง แต่ก็ต้องมีการใช้แบตเตอรี่ เพราะที่นี่เป็น off-grid (ระบบโซลาร์เซลล์ที่ไม่เชื่อมต่อกับการไฟฟ้า) ค่าไฟเมื่อก่อน 30 บาทต่อหน่วยใช่ไหมครับ ก็ตอนนี้ลงมาเหลือ 10 บาทแล้ว แม้จะยังแพงกว่าบนฝั่งอยู่บ้าง เพราะเมื่อต้องใช้แบตเตอรี่ร่วมด้วยก็จะมีต้นทุนเพิ่มเข้ามา แต่ก็ยังถูกกว่าการใช้น้ำมันดีเซลมาปั่นไฟอยู่ดี 

ธนัยเล่าถึงเกาะอีกแห่งที่รีชาร์จก็กำลังทำเรื่อง off-grid อยู่ก็คือเกาะบุโหลนดอน จังหวัดสตูล ซึ่งแต่ก่อนก็ใช้เครื่องปั่นไฟจากน้ำมันดีเซลเพื่อจ่ายไฟทั้งเกาะเช่นกัน

“บ้านหลังหนึ่งในเกาะที่ไฟเข้าไม่ถึงจ่ายค่าไฟ 3,000 บาทต่อเดือนซื้อน้ำมันมาปั่นไฟ อาจจะฟังดูไม่เยอะแต่ได้ใช้ไฟแค่ประมาณ 2- 3 ชั่วโมง มีแค่หลอดไฟส่องสว่าง อาจจะมีเครื่องซักผ้านิดหน่อย แต่พอมีโซลาร์มาเป็นทางเลือก เขาสามารถผลิตไฟด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องนำเข้าน้ำมันไม่ต้องไปซื้อเครื่องปั่นไฟมันก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าและถูกกว่าด้วย ตอนนี้เขาสามารถใช้โซลาร์อัปเกรดคุณภาพชีวิตของเขาได้ และเมื่อมันเป็นระบบ off-grid ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องค่า Ft จะขึ้นอีกด้วย”

‘Crowdfunding’ กับการสนับสนุนโซลาร์ภาคครัวเรือน เสริม SMEs เข้าถึงโซลาร์รูฟท็อป

ณัทสุดา พุกกะณะสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด ให้ภาพถึงระบบ Crowdfunding ที่เป็นอยู่ของประเทศไทยในตอนนี้ และความเป็นไปได้ที่ระบบ Crowdfunding จะช่วยเหลือโครงการโซลาร์ภาคครัวเรือนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบ Crowdfunding ได้

ณัทสุดา อธิบายว่า Crowdfunding ในเมืองไทย เป็นตัวกลางในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของเอสเอ็มอีเพื่อให้นักลงทุนมาลงทุน ซึ่งเอสเอ็มอีที่มาขอบริการแพลตฟอร์ม Crowdfunding คือ เอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดย Crowdfunding สามารถซัพพอร์ตได้เพียงนิติบุคคลเท่านั้น หากถามว่า Crowdfunding จะซัพพอร์ตเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมโซลาร์รูฟท็อปได้อย่างไร มองว่า สิ่งนี้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงในตัว เพราะฉะนั้น หน้าที่ของแพลตฟอร์มคือต้องวิเคราะห์ความเสี่ยง และจัดระดับความเสี่ยง ความเป็นไปได้ของโปรเจ็กต์ที่จะมาใช้ระบบ Crowdfunding และเมื่อเป็นการระดมทุน นักลงทุนก็ต้องการผลกำไร 

“แต่ถามว่าระบบ Crowdfunding จะช่วยในโปรเจ็กต์เพื่อชุมชน หรือมีจุดประสงค์ที่ไม่ได้ค้ากำไร เช่น การลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อให้มีการใช้ไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากขึ้นได้ไหม คิดว่าตัวแพลตฟอร์มเองทำให้ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะหานักลงทุนยากขึ้น เพราะเขาจะดูว่าผลตอบแทนคุ้มหรือเปล่า แต่ก็มีความเป็นไปได้ 

“แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง สมมติว่าเราต้องระดมทุนในโครงการโซลาร์ที่มันไม่ใช่ธุรกิจจ๋าที่ผู้ลงทุนมองเห็นถึงผลกำไร เราก็ต้องมีโอกาสไปโฆษณาว่าการออกระดมทุนในโปรเจ็กต์แบบนี้มันดีอย่างไร มันมีความเป็นไปได้อย่างไร ทั้งในแง่คุณประโยชน์ของโปรเจ็กต์และในแง่ผลตอบแทนการลงทุน แต่ถึงอย่างนั้น ก.ล.ต. เองก็ต้องอนุญาตให้เราโฆษณาได้ด้วย” 

อย่างไรก็ตาม ณัทสุดา กล่าวว่า ปัจจุบันนั้นห้ามโฆษณา จะโฆษณาให้กับนักลงทุนที่เป็นสมาชิกของแพลตฟอร์มได้เท่านั้น แต่นักลงทุนที่เป็นสมาชิกของแพลตฟอร์มก็จะเป็นนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทน ในขณะที่โปรเจ็กต์ลักษณะนี้อาจจะต้องการนักลงทุนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น ก็จะต้องโฆษณาไปให้ถึงนักลงทุนเหล่านั้นให้ได้ แต่เมื่อโฆษณาไม่ได้ เขาไม่เห็นสินค้าเรา ใครจะกล้ามาลงสมัครเพื่อลงทุน ก็ยากนิดหนึ่ง 

“ปัจจุบันทั้งตลาด Crowdfunding มีแค่ 5 ราย ถ้ารวมกันทั้งตลาดถือว่าเงินยังน้อยมากๆ แต่ด้วยความที่มันเป็นอะไรที่ใหม่ ผู้ที่กำกับดูแลก็อาจจะมีความกล้าๆ กลัวๆ อยู่ เขาอาจจะกลัวๆ ว่าให้ใบอนุญาตเธอไปแล้ว เธอเป็นโจร เธอไม่เก่ง เธออาจจะโฆษณาชวนเชื่อ อาจจะหลอกคนมาลงทุน ฯลฯ ซึ่งก็อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ 

“แต่ถามว่าระบบ Crowdfunding สามารถช่วยได้ไหม ปัจจุบันเราก็มีเอสเอ็มอีที่มาใช้บริการเราประมาณ 100 กว่าบริษัท นักลงทุนเราประมาณ 800 คน แอคทีฟจริงๆ ประมาณ 200 คนเท่านั้น แต่เราช่วยไปแล้วกว่า 100 บริษัทมีการออกหุ้นกู้ไปแล้วเกือบ 2,000 ใบ จำนวนเงินที่เราช่วยระดมทุนได้ตั้งแต่ได้ใบอนุญาตก็ประมาณ 3 – 4 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 11.6% เพราะฉะนั้นมันมีความเป็นไปได้ เพียงแค่กฎเกณฑ์บางอย่างอาจจะต้องเอื้อมากกว่านี้”

ชาวพะเด๊ะ ค้าน ‘อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตาว’ ชี้ขาดการมีส่วนร่วม-หวั่นกระทบชีวิต ด้าน ‘กรมชลฯ’ เพิกเฉยข้อกังวล อ้าง ‘ปชช.ต้องการอ่างเก็บน้ำ’

วันนี้ (27 พฤศจิกายน 2567) ชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนปกาเกอะญอพะเด๊ะ ตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้รวมตัวกันเดินขบวนประท้วง พร้อมชูป้ายแสดงจุดยืน คัดค้านต่อโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตาวขนาดกลาง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ความจุ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายใต้การดำเนินงานของกรมชลประทาน

การเดินขบวนเริ่มต้นที่หน้าสำนักงานอัยการแม่สอด และเคลื่อนไปยังที่ว่าการอำเภอแม่สอด เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านและข้อเสนอถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตาก โดยมีนายอำเภอแม่สอดเป็นตัวแทนรับเรื่อง นอกจากนี้ ชาวบ้านยังยื่นหนังถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย โดยข้อเสนอหลักประกอบด้วย 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. ให้ยุติโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตาว และ 2. ให้จัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการดังกล่าว

ลิขิต พิมานพนา เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ชาวบ้านพะเด๊ะคัดค้านโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตาว ลูกที่ 2 มาจากความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลายด้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อที่ดินทำกินและแหล่งน้ำในชุมชน เนื่องจากน้ำที่เคยไหลผ่านหมู่บ้านอาจถูกผันไปยังตำบลอื่น รวมถึงพื้นที่ในเขตเมือง ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านสูญเสียอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของพื้นที่ตนไป

นอกจากนี้ พื้นที่ป่าต้นน้ำซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำและสัตว์ป่า รวมถึงต้นไม้สำคัญในระบบนิเวศ ก็อาจได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ โครงการดังกล่าวยังสร้างความกังวลต่อวิถีชีวิตและการเกษตรของชุมชนที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรในพื้นที่อย่างมาก ชาวบ้านจึงมีข้อกังวลในเรื่องเหล่านี้

ในช่วงสายของวันเดียวกัน กรมชลประทานได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกของโครงการ ซึ่งเป็นเวทีปฐมนิเทศเพื่อชี้แจงรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับการพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตาว ลูกที่ 2 โดยมีที่ปรึกษาโครงการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ที่รับผิดชอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมชี้แจงต่อชาวบ้าน โดยมีมีผู้เข้าร่วมกว่า 100-200 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้นำ อบต. และหน่วยงานรัฐ รวมถึงตัวแทนจาก 6 หมู่บ้านที่อาจได้รับผลเชิงบวกจากโครงการ และชาวบ้านพะเด๊ะซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบหลัก มีประมาณ 50-70 คน

ในเวทีดังกล่าวได้มีการอธิบายภาพรวมของโครงการ และแผนการดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE) ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของโครงการ โดยระบุว่ากระบวนการจัดทำรายงาน IEE นี้จะใช้เวลาประมาณ 420 วัน หลังจากนั้นจึงจะได้ข้อสรุปว่าจำเป็นต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) หรือรายงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment: CHIA) เพิ่มเติมหรือไม่

หลังจากนั้นจึงมีการแลกเปลี่ยนข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการที่จะเกิดขึ้น ชาวบ้านได้แสดงข้อกังวลและยืนยันจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยต่อโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตาว ลูกที่ 2 อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีกลับไม่สามารถนำไปสู่ความเข้าใจที่ตรงกัน เมื่อที่ปรึกษาของบริษัทที่รับหน้าที่ทำ IEE ได้ตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ชาวบ้านรู้สึกถูกกดดัน เช่น การถามย้ำว่าชาวบ้านจะอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่หรือไม่ ซึ่งยิ่งเพิ่มความสับสนในที่ประชุม

เมื่อสถานการณ์ดูเหมือนจะไม่ได้ข้อยุติ ชาวบ้านจึงตัดสินใจเดินออกจากเวที และรวมตัวกันอ่านแถลงการณ์คัดค้านหน้าอำเภอแม่สอด เพื่อย้ำถึงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อโครงการดังกล่าวอีกครั้ง

ในพื้นที่บ้านพะเด๊ะชาวบ้านก็สะท้อนว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบเรื่องการพัฒนาของรัฐมาเยอะมาก โดยเฉพาะก่อนหน้านี้มีการสร้างเหมืองแคดเมียมด้วย ตอนนี้ปิดไปแล้ว อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมยังไม่แล้วเสร็จ รวมไปถึงอ่างเก็บน้ําห้วยแม่สอดที่เคยมาสร้าง แล้วว่าจะสร้างถนนให้ชาวบ้าน ตอนนี้ถนนก็ยังไม่ได้สร้าง ชาวบ้านก็เลยบอกว่า ตัวเองได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐมากพอแล้ว รอบนี้ยังจะมีมาอีกหรือ” ลิขิตกล่าว

สำหรับจังหวะหลังจากนี้ ชาวบ้านพะเด๊ะซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ที่เป็นส่วนหนึ่งของ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) จะยังคงเดินหน้าคัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตาว ลูกที่ 2 ต่อไปโดยใช้ช่องทางทั้งในระดับนโยบายและพื้นที่

ในระดับนโยบาย P-Move จะเร่งผลักดันให้มีการประชุมของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐอย่างเร่งด่วนโดยเร็วที่สุด โดยจะนำประเด็นการคัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตาว ลูกที่ 2 ของชาวบ้านพะเด๊ะเข้าสู่ที่ประชุม เพื่อพิจารณาเสนอให้มีการจัดตั้ง ‘คณะทำงานระดับพื้นที่’ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบปัญหานี้

ส่วนในระดับพื้นที่ ชาวบ้านพะเด๊ะได้วางแผนการเคลื่อนไหวหลายประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. ยืนยันการคัดค้าน ป้องกันไม่ให้คณะทำงานจากกรมชลประทานและมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ซึ่งมีหน้าที่ทำรายงาน IEE เข้ามาดำเนินการในพื้นที่หรือเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในชุมชน

2. ขยายข้อมูลไปยังพื้นที่อื่น แจ้งข้อมูลให้พื้นที่อื่น ๆ ทราบถึงผลกระทบของโครงการ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ

3. เตรียมยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อธิบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำงานของคณะทำงานที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับชาวบ้าน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ร้องรัฐยุติกฎหมายแยกคนจากป่า ‘สชป.’  เตรียมยื่น 3 ข้อเรียกร้องถึงนายกฯ ใน ครม. สัญจรเชียงใหม่ 29 พ.ย.

ภาพ:  IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง

วันนี้ (26  พฤศจิกายน 2567) ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่ม ‘สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า’ หรือ สปช. แถลงการณ์เรียกร้องต่อ ครม.สัญจร ของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ยกเลิก ‘พ.ร.ฎ.ป่าอนุรักษ์’ หรือ พระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562  และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562  โดยระบุว่า กฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิชุมชนและอาจสร้างความขัดแย้งในการจัดการป่า พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอุทยานและจัดตั้งคณะทำงานร่วม

สำหรับจุดเริ่มต้นของ พ.ร.ฎ. ป่าอนุรักษ์ กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับป่าอนุรักษ์นี้มีต้นกำเนิดจากช่วงการเมืองไม่ปกติหลังการรัฐประหารในปี 2557 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ถูกแต่งตั้งในยุคนั้น ได้ผลักดันกฎหมายหลายฉบับ รวมถึงพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม 2562

ตัวกฎหมายมีเป้าหมายแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนที่อยู่ในเขตป่าซ้อนทับกับพื้นที่อนุรักษ์ แต่กระบวนการสำรวจและรวบรวมข้อมูลที่ดินทำกินกลับล่าช้าและซับซ้อน แม้กำหนดกรอบเวลาไว้ 240 วัน แต่จนถึงปัจจุบันปี 2567 ยังไม่แล้วเสร็จ และเกิดปัญหาการขยายเวลาหลายครั้ง

คณะกรรมาธิการ การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเนื้อหาของร่าง พ.ร.ฎ. ว่าอาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่อนุรักษ์เดิม โดยร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ต้องเปลี่ยนสถานะเป็นโครงการอนุรักษ์ตามกฎหมาย และจำกัดพื้นที่การครอบครอง เช่น ต้องจำกัดพื้นที่การครอบครองไม่เกิน 20 ไร่ต่อครอบครัว และไม่เกิน 40 ไร่ต่อครัวเรือน นอกจากนี้ ชุมชนยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิและความเป็นอยู่ของประชาชนที่เคยอาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่มาก่อน

ในแถลงการณ์ สชป. ชี้ว่า พ.ร.ฎ. ทั้ง 2 ฉบับนี้ จะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนกว่า 462,444 ครัวเรือน หรือ 1,849,792 คน ที่อาศัยและทำกินในพื้นที่อนุรักษ์ โดย ระบุว่า กฎหมายนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนท้องถิ่น ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และอาจเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ยังระบุเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 29 พ.ย. นี้ ซึ่งเป็นวันประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดเชียงใหม่ สชป. จะเตรียมเข้าพบ แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เพื่อยื่นข้อเสนอ 3 ประการสำคัญ ได้แก่

1. ขอให้ยุติการนำพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562  และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไปประกาศใช้กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์อื่นๆ จนกว่าจะมีการปรับแก้กฎหมาย ในส่วนที่มีการประกาศใช้ไปแล้ว 6 แห่งนั้น ให้มีกระบวนการติดตามผลการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วม เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับภาครัฐ

2. ให้รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีเร่งปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน  และใช้กลไกรัฐสภาที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนมีหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติตามระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว

3. ให้รัฐบาลจัดตั้งกลไกในรูปแบบที่เป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานจัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับได้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

สำหรับความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ สปช. คาดว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวจะเริ่มเดินทางมารวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เย็นวันที่ 28 พ.ย. ก่อนจะเคลื่อนขบวนในวันรุ่งขึ้น เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ในการประชุม ครม.สัญจร วันที่ 29 พ.ย. นี้ และในช่วงท้ายของการแถลงข่าว ทางแกนนำย้ำว่า การชุมชนเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้น จะเป็นการรวมพลังอย่างสันติวิธี เพื่อแสดงความกังวลต่อผลการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

35 ปี แก่งเสือเต้น จากการต่อสู้ต้านเขื่อน สู่การแก้ปัญหาด้วย ‘สะเอียบโมเดล’

วันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา พี่น้องชาวสะเอียบได้จัดเวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และถอดบทเรียนในวาระครบรอบ 35 ปี ของการต่อสู้เพื่อคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ณ โรงเรียนบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ โดยในการจัดงานครั้งนี้ประกอบไปด้วยกิจกรรมดูนกในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยมเพื่อศึกษาระบบนิเวศน์ และยังมีพิธีบวชป่าที่ดงสักทองเพื่อการอนุรักษ์ป่าสักทองผืนสุดท้ายของชุมชน

ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เล่าถึงการต่อสู้เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนของชุมชนสะเอียบที่ยาวนานกว่า 35 ปี พร้อมทั้งใช้โอกาสนี้เพื่อสื่อสารไปยังรัฐบาลว่าควรรับฟังการเสนอแนวทางให้มากขึ้น พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อโครงการจัดการน้ำสะเอียบโมเดล ที่เป็นข้อเสนอของชาวบ้าน

ในการจัดงานครั้งนี้มีเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในพื้นที่อื่น และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ ทั้งจากภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และถอดบทเรียนไปด้วยกัน โดยตัวแทนเครือข่ายต่างกล่าวชื่นชมในความเข้มแข็งของพี่น้องชาวสะเอียบ ที่สามารถยืนหยัดต่อสู้กับภาครัฐมาอย่างยาวนานตลอด 35 ปี 

ภายในงานยังมีการจัดเวทีเสวนา “35 ปี แก่งเสือเต้น มองไปข้างหน้า การจัดการน้ำในอนาคต” โดยมีการเชิญนักวิชาการทั้ง 4 ท่าน เพื่อมาแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการน้ำของชุมชนสะเอียบในอนาคต

ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ มองว่าการที่นักการเมืองยังคงยึดติดกับคติ ‘น้ำท่วมให้สร้างเขื่อน’ คือปัญหาที่ทำให้การจัดการน้ำในประเทศไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ และมองว่าการจัดการน้ำให้ดีมีหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนเสมอไป   

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการน้ำว่าควรเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น และมองว่าเขื่อนเป็นสิ่งที่ทำได้แต่ก็ต้องดูความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ด้วย ส่วนการบริหารน้ำก็ต้องมองให้ครบทุกปัญหา รวมไปถึงปัญหาของคุณภาพน้ำด้วย ซึ่ง ‘สะเอียบโมเดล’ ถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ช่วยแก้ไขเรื่องการการจัดการน้ำในชุมชนสะเอียบได้

ด้าน รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ได้เล่าถึงการเติบโตของกลุ่มสมัชชาคนจนพร้อมได้ให้ข้อเสนอกับทางชุมชนว่า ควรทบทวนการร่างและยื่นหนังสือต่อกรรมสิทธิ์เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนสะเอียบ และเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ที่อาจเจอปัญหาคล้ายกัน

ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี มีมุมมองว่าการสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ของตนเองให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจพื้นฐานของชุมชนมากขึ้นจะช่วยให้ชุมชนนั้นเกิดความเข้มแข็ง 

สะเอียบโมเดล’ เป็นโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำยม แทนการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ที่เสนอโดยพี่น้องชาวสะเอียบ เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับการเกษตร การอุปโภค-บริโภค บรรเทาอุทกภัย และกิจกรรมการใช้น้ำอื่น ๆ ในพื้นที่ โดยในปัจจุบันได้ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น และ อ่างเก็บน้ำห้วยเป้า จนเสร็จสิ้นแล้ว โดยชุมชนสะเอียบยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าผลักดันโครงการต่อไปเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในพื้นที่ชุมชนให้กับลูกหลานสืบไป

ภาคประชาชนจัดงาน ‘50 ปี รำลึกสหพันธ์ชาวนาฯ’ ย้อนรอยอดีตการต่อสู้สามัญชน ทบทวนปัจจุบัน ถักสานสัมพันธ์ใหม่สู่อนาคตที่เท่าเทียม

ภาพ: อนุชา ตาดี

23 – 24 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ภาคประชาชนร่วมจัดงาน ‘เส้นทางชาวนาไทย: รำลึก 50 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย’ ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อน้อมรำลึกถึงการต่อสู้ของสามัญชน เรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยบาดแผลและความสูญเสีย และสดุดีวีรชนของสหพันธ์ชาวนาฯ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ ‘ชาวนาและอนาคตสังคมไทย’ ท่ามกลางการมีส่วนร่วมของขบวนการประชาชน นักศึกษา คณาจารย์ ญาติวีรชน และผู้แทนองค์กรจากหลากหลายภาคส่วน เช่น องค์กรทางการเมือง องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มูลนิธิ สหภาพ และสื่อมวลชน ฯลฯ

สำหรับบรรยากาศในช่วงเช้าของวันที่ 24 พ.ย. 67 เวลา 08.00 – 10.00 น. กิจกรรมเริ่มต้นขึ้นด้วยการรำลึกวีรชนสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ผ่านการกล่าวสดุดี พร้อมด้วยพิธีวางพวงมาลาเพื่อเชิดชูเกียรติวีรชน โดย ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ตัวแทนผู้นำฝ่ายค้าน กัลยา ใหญ่ประสาน สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดลำพูน พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ผู้แทนองค์กรเกษตรกรและสิทธิชุมชน กิติศักดิ์ จันทร์ใหม่ ผู้แทนองค์กรประชาธิปไตย ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ ผู้แทนองค์กรแรงงาน คุณานนต์ คุณานุวัฒน์ ผู้แทนองค์กรเยาวชนนักเรียนนิสิตนักศึกษา จีราวรรณ โสดาวัฒน์ ผู้แทนญาติวีรชนสหพันธ์ชาวนาฯ

ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวรำลึกถึงคุณูปการของวีรชนผู้เสียสละเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยย้ำถึงวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ คือ การไว้อาลัยและเชิดชูเกียรติวีรชนผู้ล่วงลับและสูญเสีย การให้กำลังใจสมาพันธ์ชาวนาชาวไร่ และการเรียนรู้จากอดีต เพื่อวางรากฐานอนาคต รวมถึงการเยียวยาและฟื้นฟูอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้แน่ใจว่าเหตุการณ์ในอดีตที่สร้างความสูญเสียจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก พร้อมทั้งแสดงความยินดีที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในฐานะตัวแทนรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ตัวแทนผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวรำลึกถึงการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยชี้ว่าแม้โครงสร้างเศรษฐกิจชนบทจะเปลี่ยนไป แต่โครงสร้างอำนาจยังคงถูกครอบงำโดยนายทุนและรัฐที่ปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา ปัญหาที่ดินทำกินและหนี้สินยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ของชาวนาชาวไร่ สะท้อนถึงการเมืองที่ไม่เป็นธรรม ทั้งกฎหมายและนโยบายที่เอื้อให้นายทุนแต่ขัดขวางการพัฒนาชาวนา ในนามของพรรคประชาชน ยืนยันจะตรวจสอบการกดขี่ขูดรีด พร้อมผลักดันกฎหมายที่เพิ่มสิทธิและความเป็นธรรมให้แก่ชาวนาไร่ชาวนาซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารของประเทศต่อไป

ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร เราตระหนักถึงคุณูปการการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ รวมทั้งกลุ่มองค์กรภาคประชาชนในยุคหลังที่ทําให้เกิดกฎหมายที่สําคัญหลายฉบับ เราพร้อมที่จะร่วมต่อสู้ฝ่าฟันเพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ผลิตอาหารสําหรับหล่อเลี้ยงคนในประเทศนี้ ทั้งตรวจสอบการกดขี่ขูดรีดชาวนาชาวไร่ และผลักดันกฎหมายที่เพิ่มสิทธิและโอกาศใหม่ ๆ ให้แก่ชาวนาชาวไร่ต่อไป

กัลยา ใหญ่ประสาน สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดลำพูน กล่าวถึงความสำคัญของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเสมอภาคในสังคม โดยย้ำว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดที่อำนาจรัฐจะยื่นให้โดยง่าย แต่ต้องมาจากการยืนหยัดต่อสู้ของประชาชน ขอให้ทุกคนมองข้ามความแตกต่าง ผนึกกำลังในแนวราบเพื่อสร้างพลังร่วมกันจากพลังเล็ก ๆ  รวมตัวเป็นกระแสใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม การรวมพลังในวันนี้จะเป็นพันธะสัญญาทางจิตวิญญาณของทุกคน ที่จะสร้างสังคมที่อยู่ดีกินดีและปราศจากการเอารัดเอาเปรียบ พร้อมทิ้งท้ายด้วยบทกวีที่แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ความว่า

เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์ สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์ แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน

พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ผู้แทนองค์กรเกษตรกรและสิทธิชุมชน กล่าวในโอกาสครบรอบ 50 ปีการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ว่า วันนี้เป็นวันที่ดีที่สุดที่ได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมรำลึกถึงผู้ที่เสียสละในอดีต โดยย้ำว่าแม้การต่อสู้จะเหนื่อยยาก แต่ไม่ควรท้อถอย ทั้งยังเน้นถึงความสำคัญของการปลูกฝังจิตวิญญาณการต่อสู้ให้กับคนรุ่นถัดไป เพื่อสืบทอดความมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับชุมชนและประเทศชาติ พร้อมแสดงความดีใจที่วันนี้มีทั้งตัวแทนภาครัฐและประชาชนมาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง

อนาคตประเทศกับเราก็จะดีขึ้นสักวันหนึ่ง เพราะเรายืนหยัดต่อสู้

กิติศักดิ์ จันทร์ใหม่ ผู้แทนองค์กรประชาธิปไตย กล่าวรำลึกถึงจิตวิญญาณของการต่อสู้ในอดีต พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสานต่อเจตนารมณ์เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า สร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในสังคม โดยมีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นแกนหลัก พร้อมเสนอว่ารัฐต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ละเมิดสิทธิประชาชน และสร้างสภาพแวดล้อมทางกฎหมายในการอยู่ร่วมกัน สร้างขอตกลงร่วมกัน จะต้องทำให้มันเข้มแข็ง พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า 

เราต้องร่วมมือกันเขียนรัฐธรรมนูญประชาชน แม้จะยากเพียงใดก็ตาม เพื่อให้อำนาจกลับมาอยู่ในมือประชาชน เพื่อกำหนดอนาคตและชะตาชีวิตของตนเอง

ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ ผู้แทนองค์กรแรงงาน รำลึกถึงจิตวิญญาณการต่อสู้ของ สามประสาน ระหว่างสมาพันธ์ชาวนาชาวไร่ กรรมกร และนักศึกษา ที่เคยสร้างความเปลี่ยนแปลงในอดีต โดยเน้นว่า การต่อสู้ของชาวนาชาวไร่ไม่ได้เริ่มต้นเมื่อปี 2517 แต่มีรากฐานยาวนาน เช่น เหตุการณ์ปี 2445 ที่ชาวนาลุ่มน้ำแม่งัด จ.เชียงใหม่ รวมตัวกันประท้วงภาษีที่ดินอย่างกล้าหาญ แม้ต้องเผชิญการปราบปรามด้วยอาวุธ และย้ำว่า ‘ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติคือการต่อสู้ทางชนชั้น’ และเรียกร้องให้มีการปลดแอกชาวนาและกรรมกรจากโซ่ตรวนแห่งการกดขี่ ด้วยการแจกจ่ายปัจจัยการผลิตและที่ดินให้แก่ผู้ทำการผลิตและชาวนาชาวไร่ ตามคำขวัญดั้งเดิมของสมาพันธ์ชาวนาชาวไร่ที่ว่า ‘ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ’ พร้อมทิ้งท้ายว่า

ในนามชนชั้นกรรมอาชีพผมขอแสดงความสมานฉันท์กับพี่น้องสมาพันธ์ชาวนาชาวไร่ผู้เป็นชนชั้นผู้ถูกกดขี่เช่นเดียวกัน

คุณานนต์ คุณานุวัฒน์ ผู้แทนองค์กรเยาวชนนักเรียนนิสิตนักศึกษา กล่าวสดุดีในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการต่อสู้ของชาวนา โดยย้ำถึงความสำคัญของวีรชนผู้เสียสละในอดีตว่า เราทุกคนที่อยู่ในวันนี้ คือผู้ได้รับผลจากการต่อสู้อันกล้าหาญในอดีต ทั้งในแง่ของกฎหมายและบรรทัดฐานทางสังคม พร้อมกล่าวคำสดุดีทิ้งท้ายความว่า

จากปี 2517 จนถึงปี 2567 50 ปีที่ผ่านมา ครึ่งศตวรรษ ขอสดุดีวีรชนชาวนาทุกท่าน ขอสดุดีแด่ผู้เสียสละทุกคน ผมในฐานะนักศึกษา ในฐานะคนรุ่นหลัง คนรุ่นใหม่ เราจะไม่มีทางมีวันนี้ได้เลยถ้าเกิดว่าไม่เกิดการต่อสู้เมื่อครั้งอดีต เมื่อครั้งก่อนหน้า พวกเราทุกคนที่อยู่ตรงนี้เป็นผู้ได้รับผลของการต่อสู้ เป็นผู้ได้รับผลตอบแทนของการต่อสู้เมื่อครั้งอดีตทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย หรือแม้กระทั่งบรรทัดฐานทางสังคม เรายืนพูดอยู่ในทุกวันนี้ได้ เรามีสิทธิเสรีภาพได้ เป็นเพราะการต่อสู้ก่อนหน้าทั้งสิ้น ในฐานะคนรุ่นใหม่ผมขอสดุดีจากใจจริง

ในช่วงท้าย จีราวรรณ โสดาวัฒน์ ผู้แทนญาติวีรชนสหพันธ์ชาวนาฯ ได้กล่าวคำสดุดีที่สะท้อนถึงความกล้าหาญและการเสียสละของเหล่าวีรชน ผู้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในนามของผู้ไร้เสียง

ณ ท้องทุ่งที่อาบไปด้วยหยาดเหงื่อและความทุกข์ทน ผู้นำชาวนาชาวไร่ได้ลุกขึ้นยืนเพื่อต่อกรกับความอยุติธรรมในนามของผู้คนที่ไร้เสียง พวกเขาไม่เพียงแต่ทวงคืนสิทธิในผืนนาที่บรรพชนก่นสร้างไว้ แต่ยังต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีและชีวิตที่ดีกว่า เลือดเนื้อและชีวิตของพวกเขาคือรากฐานแห่งเสรีภาพ ในวันที่ดวงตะวันที่ลับขอบฟ้าไปพร้อมกับความสิ้นหวัง พวกเขากลับหยัดยืนและเปล่งเสียงแห่งความกล้าหาญ แม้นต้องเผชิญกับอำนาจที่คุกคาม พวกเขายังเดินหน้าด้วยจิตใจที่เข้มแข็งไม่หวาดหวั่น เพื่อปลดแอดชาวนาชาวไร่ จากพันธนาการแห่งความเหลื่อมล้ำ จารึกชื่อไว้ในแผ่นดิน ผู้นำเหล่านี้มิได้ทิ้งไว้เพียงเรื่องเล่า หากแต่เป็นแรงบันดาลใจที่ก้องกังวานผ่านรุ่นสู่รุ่น การเสียสละของพวกเขาได้ประกาศให้โลกรู้ว่า การต่อสู้เพื่อความยุติธีีมต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวด การเสียสละเลือดเนื้อและชีวิต แต่มันคุ้มค่า เพื่อมอบอนาคตที่ดีกว่าให้คนรุ่นหลัง ขอให้เลือดเนื้อของพวกท่านเป็นพลังให้เมล็ดพันธุ์แห่งเสรีภาพงอกงาม ขอให้ชีวิตที่พลีเพื่อสิทธิ์และศักดิ์ศรีของชาวนาชาวไร่ เป็นแสงสว่างที่ไม่มีวันมอดดับ โลกจะไม่ลืมความกล้าหาญที่ท่านฝากไว้ในแผ่นดิน ในนามของลูกหลานชาวนาชาวไร่ ขอสดุดีแด่ดวงวิญญาณของ พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง พ่อหลวงศรีทน ยอดกันธา และเหล่าผู้นำชาวนา ผู้ไม่เคยยอมก้มหัวให้กับโชคชะตา และได้ต่อสู้จนลมหายใจสุดท้าย แม้โลกนี้จะเปลี่ยนไปเพียงใด วีรกรรมของพวกท่านจะอยู่ในหัวใจของพวกเราเสมอ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน..”

เหลียวหลังแลหน้า ภารกิจแห่งอนาคตของ ‘ขบวนการประชาชน’ การต่อสู้ทางชนชั้น การเมืองมวลชน การเมืองรัฐสภา

ถัดจากกิจกรรมรำลึกในช่วงเช้า ต่อมาเวลา 10.15 – 12.15 น. งานดำเนินต่อด้วยเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘เหลียวหลังแลหน้า ภารกิจแห่งอนาคตของขบวนการประชาชน การต่อสู้ทางชนชั้น การเมืองมวลชน การเมืองรัฐสภา’ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายขบวนการประชาชนได้ร่วมกันทบทวนบทบาทในปัจจุบัน และกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวในอนาคต โดยเฉพาะในบริบทของการรวมกลุ่มและผลักดันเชิงนโยบาย อีกทั้งการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพ โดยตัวแทนจากขบวนการประชาชนหลายภาคส่วน ได้แก่ สุนี ไชยรส เครือข่ายเด็กเท่ากัน ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย สุรพล สงฆรักษ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ บุญยืน สุขใหม่ สมัชชาคนจน จรัสศรี จันทร์อ้าย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ นันทชาติ หนูศรีแก้ว เครือข่ายสลัม 4 ภาค ธีรเนตร ไชยสุวรรณ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม พรชิตา ฟ้าประทานไพร เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ สหภาพแรงงานบาริสต้า และ คุณานนต์ คุณานุวัฒน์ นักศึกษาภาคเหนือ ดำเนินรายการโดย นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ จากเครือข่ายรัฐสวัสดิการ We Fair และ วิศรุต ศรีจันทร์ จากมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ (ซ้าย) สุนี ไชยรส (กลาง) ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ (ขวา)

สุนี ไชยรส จากเครือข่ายเด็กเท่ากัน กล่าวถึงประเด็นสําคัญในความเชื่อมโยงของ ขบวนการ ‘สามประสาน’ ซึ่งประกอบด้วย นักศึกษา ชาวนา และกรรมกร โดยระบุว่า แม้ขบวนการสามประสานจะเป็นกระดูกสันหลังของการเคลื่อนไหวทางสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สุนีย้ำว่า การต่อสู้ในปัจจุบันต้องก้าวไปไกลกว่าสามประสาน ต้องขยายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อครอบคลุมมิติใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละกลุ่ม การเคลื่อนไหวในปัจจุบันจำเป็นต้องเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต และสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มต่าง ๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ตราบใดที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์ การต่อสู้ก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป

เราคือการเมืองภาคประชาชน ที่จะเป็นตัวทั้งต่อรอง ทั้งตรวจสอบ ทั้งกระบวนการผลักดันอื่น ๆ ถ้าเราคิดอย่างนี้เราก็จะเดินไปได้ ฐานใหญ่ที่สุดก็คือเราต้องเข้มแข็ง เพราะว่าการต่อรองมันต้องอาศัยกระบวนการที่เข้มแข็งมาก ๆ โจทย์ของมันคือว่า ไม่ว่ายุคไหนก็ตาม ไม่มีวันที่ประชาชนจํานวนแสน จำนวนล้าน ลุกขึ้นมาพร้อมกับเรา ไม่มี 14 ตุลาก็เริ่มจากหัวหอกไม่มาก อันนี้คือความหวังที่เราต้องมั่นใจ

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ (ซ้าย) สุรพล สงฆรักษ์ (กลาง) บุญยืน สุขใหม่ (ขวา)

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ จากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยเชื่อมั่นในการบูรณาการ พลังของ ‘สามประสาน’ และการขยายความร่วมมือไปสู่ ‘หลากหลายประสาน’ เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มคนที่หลากหลายในยุคปัจจุบัน การประสานพลังและสร้างความร่วมมือถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การเคลื่อนไหวมีพลังและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในประเด็นสำคัญของปัจจุบัน ลัดดาวัลย์ชี้ว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ คือหัวข้อที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ โดยระบุว่าการจัดทำ ‘ประชามติ’ คือหัวใจของประชาธิปไตยโดยตรง หากกระบวนการประชามติได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจะมีสิทธิแสดงความคิดเห็นในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่นเดียวกับในหลายประเทศที่ประชามติเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจเชิงนโยบาย

อย่าคิดว่าเราเขียนรัฐธรรมนูญไม่ได้ ไม่ใช่นักกฎหมายเท่านั้นที่จะเขียนรัฐธรรมนูญ ทุก ๆ คนมีสิทธิ์ที่จะมีเสียง มีส่วนร่วมในการเขียน ทุกคนจะต้องทำ ไม่ใช่แค่ ครป. หรือภาคี แต่ทุกคนต้องลุกขึ้นมาทำ ต้องช่วยกันออกมาแก้ไข ช่วยกันการกระจายอำนาจให้เป็นจริง ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง แก้ปัญหาด้วยตนเอง เพื่อพิสูจน์ให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจรู้ว่า คุณอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีประชาชน

สุรพล สงฆรักษ์ จากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ชี้ให้เห็นถึง ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ที่ยังคงมีปัญหาหนักหน่วงในสังคมไทย เช่น โครงสร้างที่อยุติธรรม การใช้อำนาจความรุนแรง และอิทธิพลดำมืดในระดับท้องถิ่นที่ยังคงตามหลอกหลอนเหมือนเมื่อ 50 ปีก่อน ยังคงฝังรากลึกและครอบงำระบบการเมืองไทยมาตลอด ส่งผลให้ทุนผูกขาดสามารถมีอำนาจเหนือรัฐและประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง

เป้าหมายสำคัญของการต่อสู้ในยุคปัจจุบันคือ การทำลายทุนผูกขาดที่มีอำนาจเหนือรัฐ และสร้างประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง การลดทอนรัฐธรรมนูญให้เป็นเพียงเครื่องมือแก้ปัญหาปากท้องนั้นไม่เพียงพอสำหรับการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน รัฐธรรมนูญควรเป็นเครื่องมือในการสะท้อนสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และอำนาจอธิปไตยของประชาชน การต่อสู้ควรเชื่อมโยงกันระหว่างเศรษฐกิจและการเมือง เช่น การจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ ควบคู่กับการผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชน 100% และการยกระดับการศึกษาทางการเมือง ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการจัดตั้งและการต่อสู้ของขบวนการประชาชน

ไม่ว่าปัญหาเฉพาะหน้าหรือปัญหาระยะยาว จะต่อสู้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ได้รับผลชัยชนะตามที่คาดหวัง ก็ต้องมีขบวนการต่อสู้ที่เข้มแข็ง มียุทธศาสตร์การต่อสู้ร่วมกัน ไม่ใช่กระจัดกระจายอย่างที่เป็นอยู่ทุกทุกวันนี้

บุญยืน สุขใหม่ จากสมัชชาคนจน ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ประชาชนต้องเผชิญ โดยเฉพาะการที่รัฐพยายามควบคุมการรวมตัวของขบวนการประชาชนผ่านการออกกฎหมายและกติกาต่าง ๆ ที่กลายเป็นเครื่องมือกดดัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกรรมกร ชาวนา หรือขบวนการภาคประชาชน โดยเน้นว่าปัญหาหลักของคนจนมักหมุนเวียนอยู่ที่ ‘อำนาจในการต่อรองกับรัฐ’ ซึ่งถูกลดทอนด้วยโครงสร้างทางกฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพ

บุญยืนชี้ว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ เป็นกลไกสำคัญในการกำหนดอนาคตของขบวนการประชาชน การใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดเจนว่ากลไกนี้สามารถทำให้การขับเคลื่อนของภาคประชาชนเป็นไปได้หรือถูกหยุดยั้งได้ อย่างไรก็ตาม ขบวนการต่าง ๆ ในปัจจุบันมักทำงานแบบแยกส่วน นักศึกษามุ่งแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม กรรมกรสู้ในโรงงาน และเกษตรกรต่อสู้กับปัญหาที่ดินหรือปากท้องของตนเอง แต่การต่อสู้แบบแยกส่วนเช่นนี้ทำให้พลังในการต่อรองกับรัฐอ่อนแอลง ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ ‘ขบวนการประชาชน’ ต้องกลับมาสร้างความร่วมมือสามประสาน ระหว่างนักศึกษา กรรมกร และเกษตรกร ซึ่งในอดีตเคยเป็นรากฐานสำคัญของการต่อสู้

นอกจากขบวนการภาคประชาชนบนท้องถนนที่เราต้องต้องขับเคลื่อนกันต่อไป ขณะเดียวกันการเมืองในระดับประเทศ การเมืองในระดับรัฐสภา เราก็ต้องช่วยกันผลักดัน และช่วยกันขับเคลื่อนให้เป็นอย่างที่เราคาดหวัง

จรัสศรี จันทร์อ้าย จากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ได้สะท้อนถึงภาพสําคัญของการเคลื่อนไหวของขบวนเครือข่ายต่าง ๆ ที่มีอยู่ และภาพอนาคตที่ควรจะเป็นต้องมากกว่า ‘สามประสาน’ การต่อสู้ต้องก้าวไปสู่การสร้างขบวนการที่ ‘จับต้องและสัมผัสได้’ และมีพลังร่วมกันมากยิ่งขึ้น ทุกคนต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและดีขึ้น แต่สิ่งที่ขัดขวางอยู่ในปัจจุบันคือ อำนาจรัฐและโครงสร้างที่ใหญ่โตและซับซ้อนเกินกว่าที่ชาวบ้านจะต่อกรได้

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องสร้าง ‘การเคลื่อนไหวแบบขบวน’ ที่รวมพลังจากทุกกลุ่ม เพื่อทำงานร่วมกันในรูปแบบที่จับต้องได้ การสร้างรัฐธรรมนูญที่สะท้อนความต้องการของทุกกลุ่มในสังคมคือก้าวแรกสำคัญที่ขบวนการประชาชนควรมุ่งหน้ารัฐธรรมนูญที่เป็นผลจากความร่วมมือในขบวนการประชาชน จะสามารถเชื่อมโยงประเด็นของกลุ่มต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ อย่างแท้จริง

อำนาจคนตัวเล็กตัวน้อย ถ้ากระจัดกระจายไปจะไม่เป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่ และถ้าจะยิ่งใหญ่ได้จริงคือ หนึ่ง อำนาจของคนตัวเล็กตัวน้อยอาจจะต้องเป็นอำนาจที่เป็นรูปธรรมและมีการจัดตั้งทางความคิดร่วมด้วย อย่างที่สอง เรื่องแนวร่วมที่ต้องขยายร่วมกันให้มันมากขึ้น ต้องจับมือกัน เพราะถ้าเรายังกระจัดกระจายกันอยู่ เราก็เหมือนเบี้ยหัวแตก ต่างคนต่างสู้ ตีกันคนละครั้ง ถ้าจะสู้ก็ต้องรวมกันสู้ รวมกันตี

นันทชาติ หนูศรีแก้ว จากเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เล่าถึงกระบวนการขับเคลื่อนของเครือข่ายที่มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ควบคู่กับการผลักดันเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรม โดยชี้ว่า แนวทางการทำงานของเครือข่ายเน้นการ ‘ไม่ทำแทนกัน แต่ทำงานร่วมกัน’ โดยเรียนรู้และยกระดับบทบาทของสมาชิกที่เผชิญปัญหาให้มีส่วนร่วมในการวางแผนและกำหนดทิศทางร่วมกัน เป็น ‘ขบวนการประชาชนที่มุ่งสร้างพลเมืองตื่นรู้’ พร้อมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในประเด็นที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิต และความเป็นธรรมในสังคม

อยากชวนกันมาสร้างพื้นที่ที่ประชาชนตื่นรู้ ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ ลุกขึ้นมากำหนดอนาคตของตนเอง ผ่านประสบการณ์ตรง ผ่านปัญหาเฉพาะหน้า และยกระดับไปให้ถึงกลไกเชิงนโยบายที่จะเกิดความยั่งยืน

ธีรเนตร ไชยสุวรรณ จากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กล่าวถึงบทบาทของพีมูฟที่เป็นขบวนการรวมตัวของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐในหลากหลายพื้นที่และปัญหา ไม่จำกัดเพียงชาวนา แต่รวมถึงผู้ที่เผชิญความอยุติธรรมในรูปแบบต่าง ๆ การต่อสู้ของพีมูฟกว่า 13 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้หยุดอยู่แค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ยังพยายาม ยกระดับไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย

แม้พีมูฟจะเป็นขบวนการระดับประเทศ แต่ธีรเนตรยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง เช่น การผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากกลุ่มและองค์กรต่าง ๆ การทำงานร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่ซับซ้อนและยากเกินกว่าจะดำเนินการได้ด้วยตัวพีมูฟเอง

สิ่งที่ทําอยู่ปัจจุบัน แม้จะเป็นกระบวนการที่ดูแซ้ําซาก แต่ว่าอีกมุมหนึ่งคือเราไปแสดงตัวตน พยายามผลักดันเรื่องราว ผลักดันการแก้ปัญหา การเสนอกฎหมาย เพื่อให้รัฐเห็นว่า ภาคประชาชนต้องเข้าไปอยู่ในสมการของภาครัฐให้จงได้ การทบทวีของพี่น้องมวลชน ผมก็ยังเชื่อแบบนั้น การสะสมทางความคิดบวกกับการจัดตั้งของแต่ละองค์กรเครือข่าย มันเป็นโอกาสที่เราทําได้ในอนาคตนะ

พรชิตา ฟ้าประทานไพร จากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวถึงการรวมตัวของประชาชนจากภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อปกป้องสิทธิในสิ่งแวดล้อมและชุมชน เครือข่ายทำหน้าที่ติดตามผลกระทบ พูดถึงการฟื้นฟูพื้นที่ และต่อสู้เพื่อยับยั้งโครงการเหมือง

การต่อสู้ของเครือข่ายไม่ได้จำกัดเฉพาะพื้นที่ที่มีเหมืองอยู่แล้ว แต่ยังรวมถึงการคัดค้านโครงการเหมืองในพื้นที่ใหม่ เช่น เหมืองแร่กะเบอะดิน ที่แม้ยังไม่มีการทำเหมือง แต่ชุมชนได้รวมตัวกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการพัฒนาที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต การต่อสู้เหล่านี้ไม่ได้จำกัดเพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่ยังเชื่อมโยงชุมชนในหลายภูมิภาคที่เผชิญปัญหาเหมือนกัน

พรชิตาเชื่อว่าในอนาคต หากเครือข่ายสามารถสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายและกฎหมายที่เป็นรูปธรรมและได้ สิ่งนี้ก็จะช่วยสร้างความชัดเจนและเพิ่มพลังให้กับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

วันนี้เราเห็นจุดร่วมเดียวกัน แต่ละประเด็นมีจุดมุ่งหมาย เป้าหมายเดียวกันคือ การที่ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน รวมไปถึงการมีประชาธิปไตยที่แท้จริงในประเทศนี้ ขบวนการไหน หรือพี่น้องกลุ่มไหนที่กำลังต่อสู้ หรือเจอประเด็นปัญหา ประเด็นความไม่เป็นธรรม ไม่เท่าเทียมในสังคม เราเป็นเพื่อนกัน

ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ จากสหภาพแรงงานบาริสต้า ตั้งคำถามสำคัญต่อขบวนการต่อสู้ทางสังคม ว่าเราจะแพ้หรือชนะนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราสื่อสารกับสังคมได้มากพอหรือไม่ แต่เป็นเพราะ ‘เราไม่มีอำนาจมากพอ’ ศุภลักษณ์ยกตัวอย่างการผลักดัน ร่างพรบ.คุ้มครองแรงงานลาคลอด 180 วัน ที่แม้ฝั่งแรงงานจะมีข้อมูลครบถ้วนจากนักวิชาการและหลักฐานจากสหภาพแรงงาน แต่ก็ยังถูกต่อต้านจากฝั่งนายทุนที่ไม่มีหลักฐานใด ๆ รองรับความกังวลของตนเอง แม้จะมีข้อมูลและความจริงอยู่ในมือ แต่การตัดสินใจยังถูกครอบงำด้วยอำนาจของกลุ่มนายทุนที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจรัฐ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การสื่อสารไม่เพียงพอ แต่เป็นเพราะโครงสร้างอำนาจที่ไม่ยุติธรรม ทำให้เสียงของประชาชนถูกเพิกเฉย

ศุภลักษณ์เสนอว่า โจทย์สำคัญของขบวนการแรงงานและการต่อสู้ทางสังคมคือ ‘จะเปลี่ยนมวลชนให้กลายเป็นอำนาจต่อรองได้อย่างไร’ เพื่อสร้างแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง และทิ้งท้ายว่า การเปลี่ยนแปลงไม่อาจเกิดขึ้นจากการร้องขอเพียงอย่างเดียว แต่ต้องผ่านการต่อสู้อย่างมีเป้าหมายชัดเจน การสื่อสารอาจเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างอำนาจต่อรองที่แข็งแกร่ง เพื่อชัยชนะในการต่อสู้ระยะยาว

มันไม่ได้มีสิ่งไหนได้มาด้วยการร้องขอ แต่ได้มาจากการต่อสู้ทั้งนั้น ถ้าเกิดเข้าใจแล้วว่าการต่อสู้นี้เราจะชนะได้ยังไง ก็ค่อย ๆ มาออกแบบกระบวนการร่วมกัน

คุณานนต์ คุณานุวัฒน์ นักศึกษาภาคเหนือ สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของขบวนการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2562 – 2563 ที่เคยเฟื่องฟู แต่กลับถูกลดทอนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยชี้ว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นผลจากกลไกที่มุ่งทำลายและควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชน ทั้งการออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิในการชุมนุม การจัดตั้งสหภาพ และการจัดการกับผู้ที่ลุกขึ้นสู้ในรูปแบบต่าง ๆ

ปัจจุบันนักศึกษาไม่ได้ถูกฆ่าด้วยอาวุธ แต่ถูก ‘ฆ่าความคิด’ และแช่แข็งในฐานะผู้เรียนรู้ที่ถูกทำให้เชื่อว่าปัญหานอกเหนือจากรั้วโรงเรียน รั้วมหาวิทยาลัยไม่เกี่ยวข้องกับพวกเขา ความตั้งใจนี้มุ่งสร้างความแยกส่วนในสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าผลจากปัญหาในสังคมจะมาถึงทุกคนไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังนั้นจึงเชื่อว่าการ ‘รวมตัว’ เพื่อสร้าง ‘อำนาจ’ ที่มากขึ้นคือคำตอบ การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือและการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความหวังและทิศทางให้กับคนรุ่นต่อไป

ทุกการต่อสู้ที่ผ่าน มันมีมูลค่าให้กับสังคม มันสร้างความหวัง สร้างวิธีการ ทำให้เรารู้ว่าจะไปยังไงต่อ เป็นการกรุยทางให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้จากการต่อสู้ก่อนหน้าอยู่เสมอ และการต่อสู้ในวันนี้ก็จะสร้างเส้นทางให้คนรุ่นหลังสามารถมองเห็นและมีความหวังต่อไปได้


“เราจะชนะศัตรูได้ ก็ต้องอาศัยมวลชนพี่น้องชาวนาชาวไร่ที่ถูกกดขี่ และเพื่อนมนุษย์ที่รักความเป็นธรรมเท่านั้น”, ใช่ วังตะกู ประธานสหพันธ์ชาวนาฯ ปี 2517

“ในบรรดาขวากหนามที่ต้องฝ่าฝันให้พ้นไปนั้น นอกจากสิ่งอื่น ๆ แล้ว มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ แนวความคิดที่ปลูกฝังให้คนยอมจำนนต่อสิ่งที่ดำรงอยู่ ในลักษณะของการสร้างรูปแบบกฎเกณฑ์ขึ้นมามอมเมาให้เชื่อว่า สิ่งที่ปรากฏอยู่ในสังคมคือความเป็นธรรม ผู้ที่ลุกขึ้นมาคัดค้านกฎเกณฑ์นั้นจึงถูกกล่าวหาจากฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชนว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นผู้คิดคดทรยศต่อประเทศ เป็นผู้ขายชาติ ที่แท้จริง แล้วบุคคลเหล่านี้คือผู้ที่เดินอยู่บนเส้นทางแห่งความยุติธรรมและความถูกต้อง เดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีงามกว่า เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ปราศจากการกดขี่ ขูดรีด เบียดเบียน บุคคลเหล่านี้กําลังเดินทางไปกับประชาชน ไปสู่อนาคตอันรุ่งโรจน์และสดใสในบั้นปลาย ส่วนผู้ที่กดขี่ขูดรีดก็กําลังเดินไปสู่เชิงตะกอนเผาศพของตัวเองและจะถูกลบหายไปจากเวทีประวัติศาสตร์ในที่สุด”, จำรัส ม่วงยาม ประธานสหพันธ์ชาวนาฯ คนสุดท้าย


ชาวนาและอนาคตสังคมไทย

ในช่วงท้ายของงาน ขบวนการประชาชนทุกกลุ่มต่างมาร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ โดยมีความตอนหนึ่งว่า

“เราเป็นผลิตผลของการลุกขึ้นสู้อันยาวนานหลายยุคสมัย ความทรงจำของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ยังคงเจิดจ้าและเป็นแสงสว่างเพื่อนำทางให้แก่พวกเราในการเดินทางไปสู่อนาคตที่งดงาม

สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย คือ ผลผลิตทางประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้ของสามัญชน ที่มีการก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 วัตถุประสงค์ ได้แก่ การพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาวนาชาวไร่ การแก้ไขความเดือดร้อนของชาวนาชาวไร่ ภายใต้คำขวัญ “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ” นำมาสู่การประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 และ พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ.2518

ตลอดเวลาที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ยังคงดำเนินมาตลอด และความเปลี่ยนแปลง     ดำเนินสหพันธ์ชาวนาฯ ของวิถีชีวิตชาวนาเกิดขึ้นอย่างไพศาล ชาวนาเลื่อนสถานะเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง ไม่ได้มีอาชีพหรือรายได้หลักเพียงการทำนา อย่างไรก็ตามภายใต้เศรษฐกิจทุนนิยมที่มีการผลิตล้นเกินท่ามกลางความเหลื่อมล้ำ ชาวนาชาวไร่คนทำงานทุกสาขาอาชีพ 99% สร้างความมั่งคั่งแก่ชนชั้นนำ 1% แรงงานรองรับความเสี่ยงจากการทำงานโดยไร้สวัสดิการที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิต ภายใต้ภูมิทัศน์การเมืองที่มีรัฐธรรมนูญจารีตที่รับรองการรัฐประหาร โครงสร้างวัฒนธรรมศักดินาราชูปถัมภ์อำมาตยาธิปไตย กลไกตุลาการนิติสงคราม

การจัดงานรำลึก ‘50 ปี สหพันธ์ชาวนาฯ’ จึงไม่ใช่เพียงโอกาสในการรำลึกประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้เลือนหายจากการลอยนวลพ้นผิดของผู้ก่ออาชญากรรม หากแต่เป็นการเรียนรู้จิตสำนึกทางการเมืองของชาวนา การจัดองค์กรการต่อสู้ของชาวนา รวมทั้งการสานต่อการลุกขึ้นสู้ของขบวนการที่อาจจะถูกลดทอนตัดตอนลงในช่วงประวัติศาสตร์ ด้วยการทำความเข้าใจสถานการณ์ภูมิทัศน์การเมืองร่วมสมัย และการแสวงหาแนวทางในการต่อสู้ในเงื่อนไขใหม่

ในโอกาสรำลึกสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย เราขอคารวะต่อจิตวิญญาณอันแสดงถึงเจตจำนงของพลังกรรมาชีพ กรรมกร ชาวนาชาวไร่ ที่เป็นพลังหลักในการเปลี่ยนแปลงสังคม ดังผู้นำสหพันธ์ชาวนาฯที่เสียสละชีวิตจากการต่อสู้ ได้มอบให้แก่เราไว้ เราไม่เคยลืมนายใช่ วังตะกู นายอินaถา ศรีบุญเรือง นายจำรัส ม่วงยาม ผู้นำชาวนาชาวไร่ของเราที่ได้เสียสละชีวิต

‘เรา’ เครือข่ายเพื่อสังคมทุกองค์กร จะร่วมกันสร้างนิยาม ‘ตัวตน’ ให้ครอบคลุมผู้ถูกกดทับให้กว้างที่สุด  ชาวนา ชาวไร่ คนจนข้ามรุ่น พลเมืองที่ถูกทอดทิ้ง ฯลฯ เพื่อที่จะได้ร่วมถักสาน ‘สายสัมพันธ์’ ใหม่ทางการเมืองในการแสวงหาแนวทางไปสู่อนาคตที่งดงามของทุกคนในสังคมไทย

ด้วยจิตคารวะ”

เมื่อจีนภิวัฒน์ในเชียงใหม่: ความกลัว ความท้าทาย และโอกาสของท้องถิ่น

เรื่อง: The Glocal – ท้องถิ่นเคลื่อนโลก


Summary

  • เชียงใหม่กลายเป็นปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยว ผู้อพยพ และการลงทุนจากจีน โดยมีปัจจัยดึงดูดหลายประการ เช่น ค่าครองชีพต่ำ สภาพแวดล้อมที่ดี และนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนและพำนักระยะยาว
  • การลงทุนของจีนในเชียงใหม่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว และการเกษตร ส่งผลให้เกิดการแข่งขันกับธุรกิจท้องถิ่นและความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
  • เกิดอคติและความกลัวต่อ “ทุนจีน” ในหมู่ประชาชนท้องถิ่น โดยมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ทั้งนี้ ผลสำรวจชี้ว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการควบคุมการลงทุนจากจีนให้มากขึ้น
  • มีข้อเสนอแนะจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในการจัดการกับสถานการณ์นี้ เช่น การเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อปกป้องผลประโยชน์ท้องถิ่น และการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างชุมชนท้องถิ่นและชาวจีน

ปัจจุบัน จังหวัดเชียงใหม่กลายเป็นปลายทางที่สำคัญของทั้งนักท่องเที่ยวและผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่ รวมทั้งการลงทุนจากจีนในจังหวัดเชียงใหม่ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ครอบคลุมหลายภาคส่วนทั้งอสังหาริมทรัพย์ ภาคบริการ และภาคเกษตร ในแง่หนึ่งแม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น แต่ก็สร้างความท้าทายและทัศนคติในแง่ลบต่อคนจีน สาเหตุจากการที่ทุนจีนเข้ามาแข่งขันกับธุรกิจท้องถิ่น รวมถึงการที่คนจีนส่วนน้อยบางกลุ่มเข้ามาก่ออาชญากรรม จึงเกิดคำถามที่ว่า จังหวัดเชียงใหม่จะสร้างสมดุลระหว่างการลงทุนจากต่างประเทศและการปกป้องผลประโยชน์ของคนในท้องถิ่นเชียงใหม่ ได้อย่างไร?

ทำไม ‘ผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่’ ถึงมาเชียงใหม่?

ในอดีตภูมิภาคอุษาคเนย์ ได้รับอิทธิพลจากการอพยพของประชากรจีนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน แต่เมื่อพิจารณาในช่วงยุคสมัยใหม่ อาจจะกล่าวได้ว่านโยบายการเปิดประเทศของจีนในปี ค.ศ.1978 (พ.ศ.2521) ที่นำโดย ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ มีผลอย่างมากต่อการเดินทางของชาวจีนออกนอกประเทศสู่ภูมิภาคนี้ เนื่องจากมีการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ปี ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) รัฐบาลจีนได้ออกประกาศเกี่ยวกับ “ระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการเดินทางเข้า-ออกประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนของพลเมืองจีน” ซึ่งประกาศฉบับนี้ได้ลดขั้นตอนเกี่ยวกับการยื่นขอเอกสารสำหรับผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศจีน ซึ่งทำให้การอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวจีนมีความสะดวกและง่ายดายมากขึ้นอย่างยิ่ง

กลุ่มผู้อพยพจีนที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในยุคสมัยใหม่ คือ ‘ผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่’ [‘新移民’ (Xin Yimin)] อันหมายถึงชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานออกนอกประเทศหลังนโยบายเปิดประเทศ คนจีนกลุ่มนี้มักมีการศึกษาสูง ประกอบอาชีพที่ใช้ทักษะ และย้ายถิ่นด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือการศึกษา พวกเขามีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงจีนกับโลกภายนอก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาของจีนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน

ตัวอย่างสถานการณ์ในประเทศอื่นๆ

อินโดนีเซีย – ในงานศึกษา Xin Yimin in Indonesia: A Growing Community That Faces New Challenges โดย Leo Suryadinata (2024) ชี้ว่าผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่ กำลังกลายเป็นชุมชนที่เติบโตขึ้นในอินโดนีเซีย แม้ว่าจะมีการพูดคุยกันอย่างแพร่หลายเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ทั่วโลก แต่นักวิชาการมักให้ความสนใจกับการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่า ข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับจำนวนผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่นั้นหายาก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ประมาณการอย่างคร่าวๆ ชี้ให้เห็นว่ามีผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่ประมาณ 10.3 ล้านคนทั่วโลกในปี ค.ศ.2008 โดยมีเพียง 20% เท่านั้นที่ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอินโดนีเซีย กระทรวงแรงงานรายงานว่ามีชาวจีน 24,800 คน ปี 2017 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ อย่างไรก็ตาม มีการโต้แย้งกันว่าจำนวนที่แท้จริงอาจสูงเป็น 2 เท่า

มาเลเซีย – ในงานศึกษา Xin Yimin in Malaysia: Trends and Implications โดย Ngeow Chow Bing (2022) ระบุว่าผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่ในมาเลเซียเพิ่มขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่ามีจำนวนประมาณ 82,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยนักศึกษา ผู้ย้ายถิ่นฐาน คนทำงาน และคู่สมรส แม้ว่าจำนวนผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่ที่ผิดกฎหมายจะลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าจำนวนโดยรวมจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่พบว่ามาเลเซียเป็นสถานที่ที่น่าอยู่ เนื่องจากมีชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ยังหมายความว่า พวกเขามักจะมีปฏิสัมพันธ์ที่ไม่สมดุลกับสังคมมาเลเซียในวงกว้าง ในขณะที่ชาวจีนมาเลเซียไม่ได้มองว่าผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่ เป็นภัยคุกคาม แต่ชาวมาเลเซียบางคนกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและความตึงเครียดทางเชื้อชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ ความกลัวเหล่านี้บางส่วนถูกกระตุ้นโดยข่าวปลอมต่อต้านผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่

ฝรั่งเศส – ในงานศึกษา Chinese Xin Yimin and Their Descendants in France: Claiming Belonging and Challenging the Host Country’s Integration Model โดย Ya-Han Chuang, Hélène Le Bail และ Aurore Merle (2020) ระบุว่าปัจจุบัน ชาวจีนเป็นพลเมืองที่มีจำนวนมากเป็นอันดับ 5 ของชาวต่างชาติที่อาศัยในฝรั่งเศส โดยในปี ค.ศ. 2016 มีจำนวน 100,400 คน และมีผู้อพยพทั้งหมด 104,100 คน ช่องทางการเข้าประเทศฝรั่งเศสอย่างถูกกฎหมายสำหรับคนจีนในปัจจุบัน คือ วีซ่านักเรียน แม้ว่าภาพในอุดมคติ ฝรั่งเศสคือประเทศที่คนต่างอยู่ร่วมกันในสังคมตั้งอยู่บนหลักการของความเสมอภาคและภราดรภาพ โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ แต่การเหยียดเชื้อชาติก็ยังมีให้เห็นโดยทั่วไป ทั้งนี้ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะจากการประกอบธุรกิจร้านอาหารและตลาดค้าส่ง กลับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดทัศนคติเชิงลบและความตึงเครียดจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้จะถูกมองว่า “ประสบความสำเร็จ” แต่ก็ยังมีอคติและการเลือกปฏิบัติต่อชาวจีนอยู่

ในงานศึกษาเรื่อง ‘ชาวจีนอพยพใหม่ในภาคเหนือ “กรณีศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่”’ โดยวิภาวรรณ สุนทรจามร (2023) ที่ทำการศึกษากลุ่มชาวจีนอพยพใหม่ที่พำนักอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการทำแบบสอบถาม 131 คน และสัมภาษณ์ในเชิงลึก 23 คน ช่วงระหว่างกลางปี พ.ศ.2562 – 2563 พบว่ามีชาวจีนอพยพใหม่ที่พำนักอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ในหลากหลายอาชีพ เช่น กลุ่มนักธุรกิจลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของกิจการธุรกิจโรงแรม โฮมสเตย์ บริษัทท่องเที่ยวร่วมทุน สถาบันการสอนภาษาจีน ร้านอาหารจีน ร้านกาแฟ รวมถึงกลุ่มผู้ปกครองที่ติดตามมาดูแลบุตรหลานเพื่อเข้าศึกษาต่อในเชียงใหม่ และกลุ่มคนสูงวัยที่มาใช้ชีวิตหลังเกษียณ เป็นต้น

ในงานศึกษาชิ้นนี้อ้างข้อมูลจากเว็บไซต์แนะนำการย้ายถิ่นของจีน www.vengavisa.com(威嘉出国网)ได้นำเสนอข้อมูลแนะนาชาวจีนให้มาใช้ชีวิตหลังเกษียณที่เชียงใหม่ เนื่องจากมีปัจจัยบวกในหลายด้านดังนี้  (1) มาตรการของรัฐบาลไทยที่ดึงดูดความสนใจของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน เพราะมีนโยบายยินดีให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านและใช้สิทธิถือวีซ่าเกษียณอายุเพื่อพำนักในประเทศไทยได้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ดีมาก เพราะหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ (2) ค่าครองชีพในประเทศไทยถูกมาก ค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยก็อยู่ในอัตราที่ต่ำ (3) สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และภูมิอากาศรอบข้าง สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขและสุขสบาย (4) อุตสาหกรรมการบริการของไทยมีคุณภาพดีและทั่วถึง (5) ราคาอสังหาริมทรัพย์ในไทยไม่แพงนักเมื่อเทียบกับจีน (6) การออกกาลังกายในไทย มีอากาศที่เหมาะสมในการออกกาลังกายประเภทนี้ตลอดทั้งปี (7) การรักษาพยาบาลของประเทศไทยมีคุณภาพสูงเท่ากับที่ยุโรป แต่เสียค่าใช้จ่ายเพียง 1 ใน 3 ของยุโรป

นอกจากนี้ ช่วงเดือนกันยายน 2567 สำนักข่าว AP เผยแพร่สกู๊ปข่าว เกี่ยวกับครอบครัวชาวจีนที่ย้ายจากบ้านเกิดมาพำนักที่จังหวัดเชียงใหม่ สกู๊ปข่าวชิ้นนี้ชี้ว่ากระแสการย้ายถิ่นฐานของชาวจีนเพื่อการศึกษาของบุตรหลานเริ่มมีมานานกว่าทศวรรษแล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้ปรากฏการณ์นี้ได้ทวีความเข้มข้นขึ้น แม้จะยังไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่ามีครอบครัวชาวจีนย้ายมาไทยด้วยจุดประสงค์นี้มากน้อยเพียงใด แต่เห็นได้ชัดว่าเชียงใหม่เป็นจุดหมายยอดนิยม ตามมาด้วยพัทยา ภูเก็ต และกรุงเทพฯ ครอบครัวชาวจีนที่เลือกเชียงใหม่แบ่งเป็นสองกลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือผู้ที่วางแผนการศึกษาของบุตรหลานอย่างรอบคอบล่วงหน้า ส่วนกลุ่มที่สองซึ่งมีจำนวนมากกว่า คือผู้ที่ต้องการหลีกหนีจากระบบการศึกษาที่เข้มงวดและแข่งขันสูงในจีน โรงเรียนนานาชาติในเชียงใหม่ดึงดูดครอบครัวเหล่านี้ด้วยค่าเล่าเรียนที่ต่ำกว่าโรงเรียนในเมืองใหญ่ของจีนอย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ อีกทั้งยังประหยัดกว่าการส่งบุตรหลานไปเรียนในประเทศอย่างสิงคโปร์หรือญี่ปุ่น ซึ่งมีทั้งค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพที่สูงกว่าประเทศไทยอย่างมาก

สถานการณ์ ‘ทุนจีน’ ในเชียงใหม่

นอกเหนือจากการท่องเที่ยวและการย้ายถิ่นฐานมาอยู่อาศัย เชียงใหม่กำลังกลายเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจที่ดึงดูดนักลงทุนชาวจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมืองนี้ได้เห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของการลงทุนจากจีนในหลากหลายภาคส่วน ตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงร้านอาหารและธุรกิจบริการ อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของเมืองเท่านั้น แต่ยังสร้างความท้าทายและความกังวลใหม่ๆ ให้กับชุมชนท้องถิ่น การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการท้องถิ่น ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก็สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนบางกลุ่ม นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบท้องถิ่นของนักลงทุนชาวจีนบางส่วน

ในงานศึกษาของวิภาวรรณ สุนทรจามร ที่ศึกษาในช่วงปี พ.ศ. 2562 – 2563 พบว่าคนจีนเข้ามาลงทุนระยะแรกในเชียงใหม่มี 2 ประเภท คือ ธุรกิจเอกชนขนาดเล็กและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ นักธุรกิจจีนนำแนวคิดการดำเนินธุรกิจแบบจีนมาใช้ในประเทศไทย โดยเฉพาะในเชียงใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ท้องถิ่น กลยุทธ์หลักที่ใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวคือการตัดราคาเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด ส่วนในด้านอสังหาริมทรัพย์ พวกเขามุ่งเน้นการลงทุนระยะยาว โดยหวังผลตอบแทนจากค่าเช่าและการเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สิน นอกจากนี้ ยังใช้วิธีการปั่นราคาและระบบการชำระเงินแบบงวดเพื่อสร้างกำไร ในเชียงใหม่ นักลงทุนจีนได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟ โดยใช้ร้านกาแฟเป็นพื้นที่รับรองลูกค้าสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย ที่น่าสนใจคือการลงทุนในโครงการหมู่บ้านสำหรับผู้เกษียณ โดยมองว่าเชียงใหม่มีศักยภาพสูงด้วยค่าครองชีพที่ต่ำ สภาพอากาศที่ดี และข้อกำหนดวีซ่าที่ไม่ซับซ้อน

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงการมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในเชียงใหม่ของนักลงทุนจีน และการใช้กลยุทธ์ที่หลากหลายเพื่อสร้างผลกำไรและขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดและการแข่งขันในท้องถิ่นในระยะยาว

แบบแผนการรุกคืบของ ‘ทุนจีน’ ในที่ต่างๆ

การก้าวสู่เวทีโลกของทุนจีนได้สร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในหลากหลายภูมิภาค เพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบอันซับซ้อนของปรากฏการณ์นี้ เราจำเป็นต้องพินิจพิเคราะห์ประสบการณ์จากดินแดนต่างๆ ที่เงินทุนจากแดนมังกรได้หยั่งรากลงไป โดยอาศัยข้อมูลเชิงลึกจากงานวิจัยที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ซึ่งจะช่วยฉายภาพให้เห็นถึงความหลากหลายและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของจีนในต่างแดน

ในงานศึกษา Contextualization of Chinese entrepreneurship research: an overview and some future research directions โดย Qihai Huang, Xueyuan Liu และ Jun Li (2019) ระบุว่าการขยายตัวของธุรกิจจีนในต่างประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่ปี 2014 การลงทุนโดยตรงของจีนในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ และขยายสู่การสร้างโรงงานแปรรูปในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในแอฟริกา โครงการ Belt and Road Initiative เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวนี้ ด้วยการเชื่อมโยงจีนกับประเทศอื่นๆ ผ่านโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุน สร้างโอกาสมากมายให้ธุรกิจจีนในต่างแดน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจีนยังเผชิญความท้าทาย โดยเฉพาะการขาดความคุ้นเคยกับประเทศเป้าหมายและระบบสถาบันที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ในหลายประเทศตามเส้นทาง Belt and Road การเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของธุรกิจจีนในต่างประเทศ

ในรายงาน ‘ESG Impacts of China’s Next-Generation Outbound Investments: Indonesia and Cambodia’ จัดทำโดย Rhodium Group (2023) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจโลกและจีนศึกษา เผยแพร่เมื่อปี 2023 ชี้ว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) รายงานฉบับล่าสุดได้ศึกษาวิเคราะห์การลงทุนของจีนในอินโดนีเซียและกัมพูชา ผ่านกรณีศึกษา 4 โครงการสำคัญ ผลการศึกษาพบว่า การลงทุนของจีนมีทั้งแง่บวกและลบต่อประเทศเจ้าบ้าน ในด้านสิ่งแวดล้อม บางโครงการ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่บางโครงการก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เช่น การทำลายป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติของกัมพูชา ด้านสังคม พบปัญหาเรื่องสิทธิแรงงานและการโยกย้ายถิ่นฐานของชุมชนในบางโครงการ โดยเฉพาะในกัมพูชา ขณะที่ด้านธรรมาภิบาล หลายบริษัทจีนยังขาดความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลและการรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

ดลวรรฒ สุนสุข นักวิจัยของ The Glocal ผู้ติดตามประเด็นเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า การเข้ามาของทุนจีนในเชียงใหม่ ระลอกหลังโควิด-19 อย่างมีนัยยะสำคัญ เห็นโอกาสเศรษฐกิจในเชียงใหม่ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวซบเซาอยู่ เข้ามาลงทุน หลังจากนั้นก็ใช้นอมินี ตั้งบริษัทและถือครองอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งการเข้ามาของทุนจีนรอบนี้ ได้กว้านซื้อธุรกิจ ขยายตัวออกไปในหลากหลายธุรกิจ อาทิ กลุ่มธุรกิจสุขภาพ ความงาม ขายสินค้าออนไลน์ อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ 

โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ มีการสร้างโครงการหมู่บ้านจัดสรรค์รองรับคนจีนโดยเฉพาะ ในเขตอำเภอ หางดง สันกำแพง รอบเมืองเชียงใหม่ และสร้างไชน่าทาวน์แห่งใหม่ รองรับเป็นบ้านแห่งที่ 2 ของชาวจีน นอกจากนี้ยังเข้ามารับก่อสร้างโครงการก่อสร้างช่วงต่อจากบริษัทรับเหมาไทยเพิ่มมากขึ้น

“พูดถึงสถานการณ์การครอบครองอสังหาริมทรัพย์ เราจะเห็นว่ากลุ่มทุนจีน รวมถึงชาวจีนชนชั้นกลาง ค่อนข้างมีแพทเทิร์นการซื้อที่มักจะซื้อในหมู่บ้าน ที่มีข้อมูลว่ามีชาวจีนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีเอเจนซีที่ทำการตลาดโดยตรงกับชาวจีน ชาวจีนกลุ่มนี้่ใช้ทุนทางวัฒนธรรมของตนเอง ในการสร้างกลุ่มเล็กๆ  ในหมู่บ้าน จนในบางแห่ง ทราบว่ามีอำนาจต่อรองกับนิติบุคคลของหมู่บ้าน โดยเฉพาะในโซนนอกเมือง อย่างเช่น สันกำแพง หรือสันทราย”

“กรณีดังกล่าว ถามว่ามันส่งผลกับคนไทยอย่างไร ผมเข้าใจว่าในระยะยาวเมื่อชาวจีนเพิ่มจำนวนผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรรมากขึ้น อาจส่งผลให้เกิดแพทเทิร์นแบบแรกคือคนไทยเองก็จะสามารถขายที่อยู่อาศัยให้กับคนจีนกลุ่มนี้ จะโดยสมัครใจหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่มันมีอุปสงค์ในการซื้อแน่ๆ กับอีกแบบหนึ่งคือในบางหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งทยอยเกิดขึ้นแล้ว คนไทยกลายเป็นคนส่วนน้อยในหมู่บ้านจัดสรร ที่มีแต่ชาวจีนอยู่อาศัย แม้จะครอบครองอสังหาฯ อย่างถูกกฎหมาย แต่ในแง่ของการเป็นเพื่อนบ้าน วัฒนธรรมและวิถีชีวิต ก็อาจสร้างความรำคาญให้กับคนไทยไม่น้อย ท้ายที่สุด หมู่บ้านจัดสรรหลายอย่างก็จะมีลักษณะที่จีนเป็นผู้คุมกติกาไปเลย” ดลวรรฒ กล่าว

มีความกังวลถ้าปล่อยให้ทุนจีนเข้ามาในเชียงใหม่ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตัว ผู้ประกอบการขายกิจการ จะถูกกลุ่มทุนจากจีนเข้ามากว้านซื้อ คล้ายกับหลวงพระบางประเทศลาว ที่ตอนนี้ในเมืองธุรกิจแทบทุกอย่างกลายเป็นของทุนจีน ภาครัฐควรเข้าไปโอบอุ้มหรือมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้มากกว่านี้

“ยังไม่นับถึงธุรกิจต่างๆ ในเชียงใหม่ ที่กลุ่มจีนชนชั้นกลางเข้ามาเห็นช่องในการทำธุรกิจมากขึ้น เราจะเห็นร้านกาแฟที่เจ้าของเป็นชาวจีนมากขึ้น ร้านอาหาร หรือแม้แต่ซุปเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ทั้งหมดนี้ส่งผลโดยตรงกับการที่ผู้ค้าในเชียงใหม่ต้องปรับตัว”

“อีกประเด็นที่น่าสนใจคือตัวโรงเรียนนานาชาติเองก็ต้องปรับตัวสูงมาก หลายโรงเรียนจำเป็นจะต้องเลือกทาร์เก็ตกรุ๊ปให้ชัดเจนไปเลยว่าคุณจะขายใคร ถ้าคุณอยากลงทุนกับเด็กจีน ในแง่หนึ่งก็เหมือนปิดโอกาสที่จะรับเด็กฝั่งตะวันตกไปเลย เพราะทั้งวิถีชีวิต และหลักสูตรนั้น ค่อนข้างจะแตกต่างกันชัดเจน” ดลวรรฒ ระบุ

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าอันที่จริงการลงทุนของคนต่างชาติควรจะเป็นเรื่องดีต่อเมืองที่ทุนหลั่งไหลเข้าไป แต่กลับกลายเป็นว่ากรณีทุนจีนไม่เป็นเช่นนั้น ไม่ค่อยตรงไปตรงมา เนื่องจากกฎหมายไทยยังไม่เปิดกว้าง เต็มไปด้วยข้อจำกัดไม่ว่าเรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ข้อห้ามอาชีพสงวน ระยะเวลาการพำนักในราชอาณาจักร ฯลฯ จึงมีลักษณะของการหลบเลี่ยงประกอบกิจการ ไล่ตั้งแต่ไกด์ทัวร์ศูนย์เหรียญ ล้งลำไย ร้านของที่ระลึก/ร้านอาหารจีน/โรงแรม วิธีที่ส่วนใหญ่ใช้คือ “จ้างนอมินี” จึงมักมีการเรียกว่า “ทุนจีนสีเทา”

“ปัญหาคือ เชียงใหม่ไม่ค่อยได้อะไรด้วย การจ้างงานไม่เกิด เพราะเขาก็ใช้คนของเขาเองที่พูดจีนได้คล่อง เวลาจ่ายเงินก็ให้โอนผ่านแอปพลิเคชันไปเข้าบัญชีที่ประเทศจีน เงินสดก็ไม่ได้หมุนเวียนอยู่ในไทยอย่างที่ควรเป็น ภาษีหลักๆ ก็ไม่น่าเก็บได้ พวกภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมไปถึงนิติบุคคลด้วย ยังไม่มีข้อมูลว่าภาษีระดับท้องถิ่น อย่างภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เทศบาลมีประสิทธิภาพจัดเก็บจากพวกนี้ได้มากน้อยแค่ไหน” ผศ.ดร.ณัฐกร กล่าว

“ถ้าจะเสนอให้ไล่จับก็ดูเหมือนจะชาตินิยมเกินไป ย้อนยุคกลับไปสมัยจอมพลสฤษดิ์ที่ออกมาตรการห้ามมิให้นำสินค้าที่ผลิตหรือมีกำเนิดในประเทศจีนคอมมิวนิสต์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ทั้งที่ยุคโลกาภิวัตน์ หลายเรื่องมันควรต้องเปิดให้ Free Flow นี่แหละ” ผศ.ดร.ณัฐกร กล่าว

“ต้องไม่ลืมว่าในบางแง่มุม คนจีนที่เข้ามาอยู่อาศัยในเชียงใหม่ก็ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจเชียงใหม่ได้เหมือนกัน ข้ามเรื่องการท่องเที่ยวไป เพราะเห็นชัดเจนช่วงก่อนสถานการณ์โควิดอยู่แล้ว ก็เช่น ธุรกิจคอนโดฯ ที่ลงทุนสร้างกันหลังน้ำท่วมกรุงเทพฯ หวังทำขายคนกรุงเทพฯ แต่ขายไม่ออก ก็ได้คนจีนนี่แหละที่แห่มาซื้อกัน เพราะที่ประเทศเค้าไม่ให้คนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เอาเงินมาลงทุนที่ไทยดีกว่า ซึ่งตรงนี่ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย ถ้าคอนโดนั้นมีคนต่างชาติซื้อรวมกันไม่เกิน 50% ของยูนิตที่มี ตรงนี้เหมือนคนจีนช่วยเข้ามาเติมเต็ม แต่กระนั้น พวกนี้บางส่วนก็เอาห้องมาปล่อยเช่ารายวันผ่าน Airbnb ทั้งที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ อันนี้คือผลเสีย ทำให้โรงแรมที่ขอใบอนุญาตถูกต้องขนาดเล็กๆ กลางๆ แข่งขันยาก เช่นเดียวกับการขยายตัวของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งพูดได้เต็มปากว่าบูมเพราะคนจีนนิยมส่งลูกหลานเข้ามาเรียน เพราะประหยัดกว่าเรียนอยู่ที่เมืองจีนอย่างน้อย 5 เท่าตัว มีลักษณะคล้ายกันคือ ให้ภรรยาเลี้ยงลูก ส่วนสามีก็ทำงานหาเงินส่งมา ใช้เราเป็นสปริงบอร์ดเพื่อจะไปประเทศชั้นนำต่อไป สังคมไทยแทบไม่ได้อะไรจากการมีส่วนช่วยสร้างคนกลุ่มนึ้ให้เติบโตขึ้นมาเลย” ผศ.ดร.ณัฐกร กล่าว

ความคิดเห็นจากผู้อยู่ในภาคธุรกิจต่างๆ ของเชียงใหม่ ที่มีต่อทุนจีน

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ คุณปุ๋ย อายุ 38 ปี นายหน้าอสังหาริมทรัมย์ เคยมีประสบการณ์ถูกชาวจีนหลอกใช้ให้หาอสังหาริมทรัพย์โดยบอกว่าจะนำไปเสนอให้นักลงทุนจีนรายใหญ่ แต่สุดท้ายเป็นการหลอกลวง และถูกมิจฉาชีพจีนแสร้งสนใจซื้อคอนโดหรู แล้วอ้างว่าจะโอนเงินจองให้แต่ก็ไม่ได้โอน

“ระบบการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจีนแตกต่างจากไทยอย่างมาก ทุนจีนมักใช้นายหน้าจีนโดยเฉพาะในการหาทรัพย์สิน ซึ่งมีบริษัทตัวแทนจีนกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย พวกเขามักใช้คนไทยหน้าตาเอเชียในการติดต่อหาทรัพย์สิน ความแตกต่างสำคัญอยู่ที่ระบบค่าคอมมิชชั่น ในไทย ผู้ขายเป็นคนจ่าย แต่ในระบบจีน ผู้ซื้อเป็นคนจ่าย และค่าคอมมิชชั่นของจีนสูงถึง 10% หรือมากกว่า ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ 3-5% ทำให้นายหน้าไทยแข่งขันได้ยากในกรณีขายให้ลูกค้าจีน นอกจากนี้คนจีนก็มักจะทำธุรกิจร่วมกันเท่านั้น ช่วงหลังคนไทยจึงแทรกเข้าไปยาก นอกจากนี้ยังมีเรื่องของภาษีและการจัดการโอนเงินระหว่างไทย-จีนที่ซับซ้อน ดังนั้น การร่วมงานกับนายหน้าชาวจีนจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับลูกค้าจีน” คุณปุ๋ย กล่าว

คุณปุ๋ยยังตั้งข้อสังเกตว่านักลงทุนจีนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่นายหน้ารายย่อยเท่านั้น มรการก้าวไปถึงขั้นเปิดบริษัทอสังหาริมทรัพย์เองโดยตรง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย พวกเขามักดำเนินกิจการโดยใช้ชื่อคนไทยเป็นผู้ถือครองกิจการ ในเชียงใหม่ มีนักธุรกิจจีนด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่มักไม่จดทะเบียนเป็นบริษัทอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่เชียงใหม่ นักลงทุนจีนเหล่านี้มักจะเริ่มต้นการลงทุนในพื้นที่ยอดนิยมอย่างกรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ตก่อน“ถ้าบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนขนาดใหญ่ ทุนหนา ให้บริการครบวงจร เข้ามาตลาดนี้จริงๆ นายหน้าและบริษัทเล็กๆ ทั้งไทยและจีนสู้ไม่ไหวแน่นอน” คุณปุ๋ย กล่าว

กลุ่มเกษตร คุณเบิ้ม ผู้ปลูกและอบลำไยอบแห้งส่งออก วัย 43 ปี เปิดเผยสถานการณ์น่าวิตกในตลาดลำไยเชียงใหม่ พ่อค้าชาวจีนได้คุมตลาดและกำหนดราคาลำไยทั้งสดและแห้งอย่างเบ็ดเสร็จ โดยเข้ามาควบคุมกระบวนการผลิตอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การรับซื้อไปจนถึงการอบแห้ง “เหมือนเขามาควบคุมการผลิตเอง คอยดูเราทำโน่นทำนี่ ปักหลักอยู่เป็นเดือน ๆ เลย” คุณเบิ้ม กล่าว

คุณเบิ้ม ชี้ว่าสภาพตลาดลำไยปัจจุบันขึ้นอยู่กับความต้องการของจีนเป็นหลัก เมื่อจีนต้องการนำเข้ามาก ราคาก็ดี แต่หากผลผลิตล้นตลาด ทั้งโรงงานอบลำไยและชาวสวนก็ประสบปัญหา อำนาจต่อรองทั้งหมดอยู่ในมือพ่อค้าจีน สะท้อนการพึ่งพาตลาดจีนอย่างมาก

“สภาพตลาดลำไยตอนนี้ พ่อค้าจีนเขาคุมไว้หมดทั้งลำไยสดและลำไยอบแห้ง ช่วงที่จีนเขาต้องการนำเข้ามาก ราคาก็ดี ทุกคนก็โอเค แต่ช่วงไหนที่ผลผลิตล้นตลาดเกินความต้องการเขา โรงงานอบลำไยหรือชาวสวนลำไยก็ลำบาก อำนาจต่อรองอยู่ในมือพ่อค้าจีนหมด” คุณเบิ้ม

กล่าวอาจจะกล่าวได้ว่า สถานการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการลำไยท้องถิ่น รวมถึงอุตสาหกรรมลำไยของเชียงใหม่โดยรวม การควบคุมตลาดโดยพ่อค้าต่างชาติอาจนำไปสู่การสูญเสียรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการส่งเสริมการกระจายตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป เพื่อลดการพึ่งพาตลาดเดียวและสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมลำไยของเชียงใหม่ในระยะยาว

“ตอนนี้ลำไยอบคือการแปรรูปลำไยที่ได้ราคาดีที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับตลาดจีนเป็นสำคัญ หากวันไหนเขาไม่รับซื้อ ลำไยไทยก็เจ๊งทั้งระบบ ควรหาวิธิการแปรรูปใหม่ ๆ หาตลาดใหม่ ๆ ผมก็อยากลองเอาไปทำเหล้า เบียร์ หรือไวน์ ตลาดจะได้มีมากกว่าส่งออกจีนประเทศเดียว” คุณเบิ้ม กล่าว

กลุ่มธุรกิจร้านค้าและภาคบริกาคุณปอ ผู้อยู่ในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม อายุ 29 ปี เล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ของธุรกิจร้านอาหารที่มีทุนจีนในจังหวัดท่องเที่ยวชื่อดังแห่งนี้ ตามคำบอกเล่าของคุณปอ ธุรกิจร้านอาหารที่มีเงินทุนจากประเทศจีนได้ดำเนินกิจการในเชียงใหม่มาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารจีนที่มีป้ายร้านเป็นภาษาจีน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นของนักลงทุนชาวจีน

การดำเนินธุรกิจของร้านอาหารทุนจีนในเชียงใหม่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายและที่อาจมีการใช้นอมินีคนไทยเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการอย่างไรก็ตาม คุณปอได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในย่านนิมมานเหมินทร์ ซึ่งเป็นย่านที่มีชื่อเสียงในเชียงใหม่ด้านร้านอาหาร คาเฟ่ และสถานบันเทิง ในปัจจุบัน มีนักลงทุนชาวจีนที่เปิดเผยตัวตนในการเป็นเจ้าของร้านอาหารกึ่งผับในย่านนี้ 

“แต่ในย่านนิมมานฯ ก็มีคนจีนเปิดหน้าว่าเปิดร้านอาหารกึ่งผับบ้างแล้ว ปีที่แล้ว (2567) เห็นมีออกข่าวใหญ่โตเลย ไม่ต้องมีนอมินี” คุณปอ กล่าว

คุณวรรณ อายุ 46 ปี ผู้อยู่ในธุรกิจเสริมความงามและสุขภาพ ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์การลงทุนของทุนจีนในอุตสาหกรรมความงามและสุขภาพในเชียงใหม่ ด้วยการอธิบายสถานการณ์ในคลินิกเสริมความงาม โดยระบุว่า อาจจะยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับทุนจีนได้แน่ชัด เนื่องจากจำกัดทางกฎหมายและวิชาชีพที่ยังคงเป็นเกราะป้องกันการเข้ามาของทุนต่างชาติในบางสาขาอาชีพ โดยเฉพาะในวงการแพทย์ของไทย

“สำหรับในแวดวงคลีนิคเสริมความงามในเชียงใหม่ เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพนี้ต้องเป็นแพทย์ที่มีใบอนุญาตจึงอาจยังไม่เห็นการเข้ามาของทุนจีนเท่าไรนัก” คุณวรรณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม คุณวรรณได้ชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวของทุนจีนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ที่แสดงให้เห็นว่าทุนจีนกำลังขยายอิทธิพลในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความงามและสุขภาพ โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่ต้องการใบอนุญาตวิชาชีพเฉพาะทาง

“เข้าใจว่าพวกฟิตเนสต่างๆ ตอนนี้ก็มีข่าวว่าทุนจีนกว๊านซื้อไปบ้างแล้ว ร้านทำเล็บในย่านนิมมานฯ นี่ก็เป็นนอมินี่ทุนจีนเป็นส่วนใหญ่แล้ว” คุณวรรณ กล่าว

คุณวรรณยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของคลินิกเสริมความงาม ปิดท้ายว่าแม้ปัจจุบัน ธุรกิจคลินิกเสริมความงามยังคงอยู่ในมือของผู้ประกอบการไทย เนื่องจากมีรายได้ที่ดีและข้อจำกัดทางกฎหมาย แต่ก็ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะหากทุนจีนเริ่มใช้กลยุทธ์การซื้อกิจการขนาดใหญ่หรือการผูกขาดตลาด

“ตอนนี้หมอไทยรายได้ดีอยู่แล้ว การเป็นนอมินีจีนน่าจะเป็นเรื่องยาก” คุณวรรณ กล่าว “แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ถ้าเขาเปลี่ยนรูปแบบเช่นการลงทุนกว๊านซื้อเป็นเรื่องเป็นราวแล้วผูกขาดไปเลย กินรวบไปเลย แบบนั้นจะน่ากลัวมาก”

คุณเอก อายุ 43 ปี ผู้อยู่ในวงการโลจิสติกส์ ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ที่น่าวิตกในอุตสาหกรรมการขนส่งและคลังสินค้าของเชียงใหม่ เขาชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของทุนจีนในภาคส่วนนี้ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการท้องถิ่นและระบบเศรษฐกิจโดยรวม

“นอกจากที่บริษัทขนส่งหลายแห่งจะเป็นของทุนจีนไปหมดแล้วตั้งแต่แบรนด์ใหญ่ ๆ ก็ยังพบว่าคนจีนได้เช่าโกดังเพื่อเก็บสินค้าในเชียงใหม่อยู่หลายแห่ง ทั้งเช่าแบบเปิดเผย หรือแบบนอมินีที่คนในวงการกู้รู้ๆ กัน” คุณเอก กล่าว

คุณเอกยังเล่าด้วยความกังวล สะท้อนให้เห็นถึงการครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทานของทุนจีน ตั้งแต่การจัดเก็บสินค้าไปจนถึงการขนส่ง และสะท้อนให้เห็นถึงการผูกขาดที่กำลังเกิดขึ้นในตลาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ค้าออนไลน์ชาวไทยในอนาคต สถานการณ์นี้นี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนส่งและคลังสินค้าเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นของเชียงใหม่ในวงกว้าง หากในอนาคตทุนจีนควบคุมทั้งแหล่งสินค้าต้นทางและระบบขนส่งอาจนำไปสู่การผูกขาดทางการค้า

“น่าเป็นห่วงบริษัทขนส่งสัญชาติไทย หรือแม้แต่คนค้าขายออนไลน์คนไทย ทั้งสินค้าต้นทาง การขนส่ง และโกดังต่างๆ อยู่ในมือทุนจีนเป็นส่วนใหญ่แล้ว” คุณเอก กล่าว “ช่วงนี้มันอาจยังไม่ส่งผลกระทบเพราะราคาค่าบริการหรือราคาสินค้ายังต่ำอยู่ แต่ถ้าเขาแห่ขึ้นราคาพร้อมกันเมื่อใดก็น่าห่วงทั้งระบบเลย”

‘อคติและความกลัว’ ต่อ ‘คนจีน-ทุนจีน’ ของชาวเชียงใหม่

ในโลกที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกลายเป็นเรื่องซับซ้อนและละเอียดอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงประเทศจีน ซึ่งกำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลก แต่ทำไมหลายประเทศถึงมี ‘อคติและความกลัวต่อจีน’ ทั้งในแง่ของประชาชน นักธุรกิจ และรัฐบาล ซึ่งคำตอบนั้นซับซ้อนและมีหลายมิติ

การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของจีนได้สร้างทั้งโอกาสและความท้าทาย ในขณะที่หลายประเทศได้รับประโยชน์จากการค้าและการลงทุนกับจีน แต่ก็มีความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมและการสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศเชิงรุกของจีน เช่น โครงการ Belt and Road Initiative ถูกมองว่าเป็นความพยายามในการขยายอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งสร้างความหวาดระแวงให้กับหลายประเทศ

ระบบการปกครองของจีนที่แตกต่างจากประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจและความขัดแย้ง รายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน โดยเฉพาะในกรณีซินเจียง ได้สร้างความกังวลในระดับนานาชาติและส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการขาดความเข้าใจซึ่งกันและกันยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ การนำเสนอข่าวเชิงลบเกี่ยวกับจีนในสื่อต่างประเทศมีส่วนในการหล่อหลอมมุมมองของสาธารณชน ขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์และความขัดแย้งในอดีตระหว่างจีนกับบางประเทศยังคงส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในปัจจุบัน

ช่วงปี พ.ศ. 2563 การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มต้นในจีนได้เพิ่มความตึงเครียดระหว่างประเทศ และยกระดับความไม่ไว้วางใจที่มีอยู่แล้วให้สูงขึ้น นอกจากนี้ การเติบโตของชุมชนจีนโพ้นทะเลในหลายประเทศยังนำมาซึ่งความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม

เมื่อโฟกัสเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ การที่คนเชียงใหม่มีอคติต่อชาวจีนและทุนจีนเป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนและมีหลายมิติ ซึ่งสะท้อนทั้งบริบทท้องถิ่นและแนวโน้มระดับโลก เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันโดดเด่น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การลงทุนจากจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยว การเปลี่ยนแปลงนี้ได้ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่ประชาชนท้องถิ่นด้วยเหตุผลหลายประการ ดังเช่น

ประการแรก มีความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจีนได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์เมือง เช่น การเพิ่มขึ้นของป้ายภาษาจีนและธุรกิจที่มุ่งเน้นลูกค้าชาวจีน ซึ่งอาจทำให้คนท้องถิ่นรู้สึกว่าเอกลักษณ์ของเมืองกำลังถูกคุกคาม

ประการที่สอง มีความกังวลด้านเศรษฐกิจ การลงทุนจากจีนในอสังหาริมทรัพย์ได้ส่งผลให้ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยในเชียงใหม่สูงขึ้น ทำให้คนท้องถิ่นหลายคนรู้สึกว่าถูกผลักออกจากตลาด นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการลงทุนเหล่านี้อาจไม่ได้ตกถึงมือคนท้องถิ่นอย่างทั่วถึง

ประการที่สาม ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากร การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างรวดเร็วและการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวได้สร้างความกดดันต่อทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศของเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่ชาวเชียงใหม่ให้ความสำคัญมาก

ประการที่สี่ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและพฤติกรรม บางครั้งพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวหรือนักลงทุนชาวจีนอาจถูกมองว่าไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานทางสังคมของท้องถิ่น ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิดและความขัดแย้ง

ทั้งนี้ข้อมูลจากชมรมมัคคุเทศก์รักษ์ล้านนา ที่ให้ไว้กับ Thai PBS เมื่อปี 2559 อนุมานได้ว่ากระแสอคติต่อคนจีนในเชียงใหม่อาจจะเริ่มต้นขึ้นเมื่องช่วงปี พ.ศ.2556-2557 ซึ่งเกิดมาจากสื่อโซเชียลมีเดียที่โพสต์ทั้งข้อความและภาพของนักท่องเที่ยวชาวจีนในแง่ลบ ทำให้คนไทยที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเลย หรือคิดว่าตัวเองไม่มีส่วนได้เสียอะไร เมื่อเห็นกระแสข่าวแบบนี้ ก็เริ่มมีอคติต่อนักท่องเที่ยวชาวจีนไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ช่วงหลัง จะสังเกตได้ว่าคนเชียงใหม่มีอคติและความกลัวต่อคนจีนในมิติของการเป็นผู้ลงทุนประกอบธุรกิจ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ทุนจีน”

The Glocal ได้ทำ “แบบสำรวจทัศนคติของคนไทยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ต่อทุนจีน” ทางออนไลน์ เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2567 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 30 คน อายุระหว่าง 19-62 ปี ประกอบอาชีพ อาทิ พนักงานบริษัท คนทำงานภาครัฐ เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น ได้ผลสำรวจที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

คุณคิดว่าการลงทุนของจีนในเชียงใหม่มีผลกระทบอย่างไร?
มองว่ามีทั้งบวกและลบ (56.7%)
มองว่ามีผลกระทบเชิงลบ (40%)
มองว่าไม่มีผลกระทบ (3.3%)
มองว่ามีผลกระทบเชิงบวก (0%)ระดับความกังวลของคุณต่อการเข้ามาของทุนจีนในเชียงใหม่ (1 = ไม่กังวลเลย, 5 = กังวลมาก)
3 (50%)
4 (23.3%)
5 (23.3%)
1 (3.3%)
2 (0%)

คิดว่าทุนจีนส่งผลต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นของเชียงใหม่อย่างไร?
แย่ลงมาก (43.3%)
ดีขึ้นเล็กน้อย (30%)
แย่ลงเล็กน้อย (20%)
ไม่เปลี่ยนแปลง (6.7%)
ดีขึ้นมาก (0%)

คุณคิดว่าทุนจีนมีผลกระทบต่อธุรกิจของคนไทยที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่หรือไม่?
มีผลกระทบมาก (60%)
มีผลกระทบบ้าง (30.5%)
ไม่แน่ใจ (6.7%)
ไม่มีผลกระทบ (3.3%)

ภาคส่วนใดได้รับผลกระทบจากทุนจีนมากที่สุด?
อสังหาริมทรัพย์ (40%)
การท่องเที่ยว (20%)
ร้านขายสินค้า (16.7%)
ทุกธุรกิจ (9.9%)
ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม (6.7%)
เกษตรกรรม (3.3%)

เห็นด้วยหรือไม่ว่าควรมีการควบคุมการลงทุนจากจีนในเชียงใหม่มากขึ้น?
เห็นด้วยอย่างยิ่ง (56.7%)
เห็นด้วย (43.3%)
เฉยๆ (0%)
ไม่เห็นด้วย (0%)
ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง (0%)

โอกาสของท้องถิ่นภายใต้กระแสจีนภิวัฒน์

ดลวรรฒ นักวิจัยของ The Glocal มองว่าการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว ผู้อยู่อาศัย และการลงทุนจากจีนในเชียงใหม่ไม่เพียงแต่นำมาซึ่งความท้าทาย แต่ยังสร้างโอกาสมากมายสำหรับท้องถิ่น หากมีการจัดการและวางแผนอย่างรอบคอบ เชียงใหม่สามารถใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเมืองได้

ด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจีนนำมาซึ่งรายได้มหาศาลสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวท้องถิ่น ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า และบริการนำเที่ยวสามารถปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดใหม่นี้ โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ท้องถิ่น การพัฒนาโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เน้นการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมจีนและล้านนาอาจเป็นจุดดึงดูดใหม่ที่น่าสนใจ

ในแง่ของผู้อยู่อาศัยชาวจีน พวกเขานำมาซึ่งทักษะ ความรู้ และเครือข่ายทางธุรกิจใหม่ ๆ สู่เชียงใหม่ การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการศึกษาระหว่างชุมชนท้องถิ่นและชุมชนจีนสามารถนำไปสู่นวัตกรรมและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าและบริการเฉพาะของชุมชนจีนยังสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่นได้

การลงทุนจากจีนสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจของเชียงใหม่ การร่วมทุนระหว่างนักลงทุนจีนและผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจท้องถิ่น นอกจากนี้ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ยังสามารถนำไปสู่การสร้างงานในภาคการก่อสร้างและบริการที่เกี่ยวข้อง

“อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้จำเป็นต้องมีการวางแผนที่รอบคอบ การมีส่วนร่วมของชุมชน และนโยบายที่สมดุลเพื่อให้แน่ใจว่าการพัฒนาจะเป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนของท้องถิ่นเชียงใหม่ ซึ่งก็ควรไปพูดถึงการมีกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็งด้วย” ดลวรรฒ นักวิจัยของ The Glocal กล่าว

แนะรัฐ-ท้องถิ่น ‘จับตา-ออกกฎระเบียบ’ สร้างภูมิคุ้มกันการอยู่ร่วมกัน

รศ.ดร.ทศพล ทรรศนพรรณ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอว่าหากเป็นมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมทุนจีนในจังหวัดเชียงใหม่นั้น ก็จะต้องเช็คตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ประเด็นแรก คือการเข้าเมืองนั้นเข้าเมืองมาในลักษณะใด เช่น เข้าเมืองมามาเพื่อท่องเที่ยว เข้าเมืองมาเพื่อเรียนหนังสือ หรือเข้ามาเพื่อทำงานหรือประกอบธุรกิจ ถ้าทำผิดประเภทก็สามารถตรวจสอบได้ซึ่งมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง

ประเด็นที่สอง คือเรื่องการทำงานของคนต่างด้าวลักษณะงานจะต้องดูว่าเนื้องานที่ได้มาซึ่งเงินหรือการทำงานของเขาเป็นการทำงานที่ตรงกับที่กฎหมายอนุญาตหรือไม่ หรือว่าทำงานในลักษณะงานที่ต้องห้าม ซึ่งเขาสงวนไว้ให้คนไทยแต่พอมาทำแล้วเกือบเป็นรายได้ขึ้นมาก็ควบคุมได้

ประเด็นที่สาม คือการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งตรงนี้จะมีลักษณะประเภท Sector ภาคการผลิตหรือภาคการบริการและภาคการพาณิชย์ต่าง ๆ อยู่ ซึ่งถ้าไม่ว่าจะอยู่ในภาคไหนก็จะมีกฎหมายเขียนไว้ก็สามารถควบคุมได้ว่าทำตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หรือการทำธุรกิจที่กฎหมายนั้นห้ามไว้ ซึ่งก็จะสืบเนื่องเรื่องการตั้งนิติบุคคลเพื่อมาดำเนินธุรกิจนั้น ได้ทำตามสัดส่วนการถือหุ้นที่กำหนดว่าจะต้องมีคนไทยถือหุ้นมากกว่าหรือไม่ หรือมีลักษณะนอมินีหรือว่าลักษณะเป็นการถือในลักษณะหุ้มลมทำนิติกรรมอำพรางก็สามารถตรวจสอบได้

ประเด็นที่สี่ คือจะต้องดูเรื่องของการเสียภาษีเพราะว่าจริง ๆ กฎหมายไม่ได้เขียนห้ามคนประเทศไหนไว้เป็นการเฉพาะ พอเปิดประเทศให้เขามาทำงานหรือลงทุนได้นั้น สิ่งที่ต้องทำก็คือจะต้องเสียภาษีเพราะฉะนั้นจะต้องตรวจสอบจากการเสียภาษี ว่าได้ทำตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หรือมีการหลบลี่ยงภาษี 

ประเด็นที่ห้า คือการตรวจสอบตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน จะต้องดูว่าธุรกิจหรือเงินที่มีอยู่หรือครอบครองอยู่นั้นมีลักษณะเชื่อมโยงหรือผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีคดีที่เกี่ยวพันกับอาชญากรรมอื่นๆ จะต้องสืบเส้นทางการเงินมาว่าเชื่อมโยงกับธุรกิจหรือเงินทุนหรือทรัพย์สิน ที่คนกลุ่มเหล่านี้ถือครองอยู่  ถ้าหากมีความเกี่ยวโยง และมีการตรวจสอบกฎหมายฟอกเงินก็จะมีความง่ายมาก ก็คือต้องมีการสันนิฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินที่ได้มานั้นน่าจะเข้ามาโดยผิดกฎหมาย เว้นแต่คนที่เป็นผู้ครอบครองสามารถพิสูจน์ได้ว่าเงินนั้นได้มาด้วยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอันนี้ก็เป็นผ่านภาระให้กับคนที่ถือของทรัพย์สินเงินทุนพวกนี้ เพราะว่าเขาจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าได้มาจากการทำธุรกิจที่ถูกกฎหมายไม่ได้ผิดกฎหมาย หรือไม่ได้หลีกเลี่ยงอะไรต่างๆ นานา 

นอกจากนี้ รศ.ดร.ทศพล ยังระบุว่า นอกนั้นก็เป็นหลักการ กฎหมายทั่วๆ ไป ต้องบอกว่าเป็นหลักการจริง ๆ มันไม่ได้มีกฎหมายที่ควบคุมคนจีนหรือทุนจีนโดยเฉพาะ เพราะว่ากฎหมายก็มีหลักการสำคัญว่าถ้าเปิดประเทศแล้ว ต้องปฏิบัติกับคนต่างด้าวที่เราเปิดให้เข้ามาก็ได้สิทธิอะไรไม่ต่างกับคนชาติถ้าอนุญาติก็จะเพ่งเล็งใครเป็นการเฉพาะ ด้วยเหตุว่าเป็นคนต่างด้าวมันต้องมีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดไว้ ว่าเรื่องนี้ควบคุมคนต่างด้าว  เรื่องนี้ไม่ควบคุมก็ต้องดูเขาตามหลักทั่วไปว่าเขาทำผิดกฎหมายเฉพาะหรือเปล่าแค่นั้นเอง

สมมติเปิดให้คนต่างด้าวทำอะไรได้ ก็ไม่ได้เพ่งเล็งเฉพาะคนจีน เพราะว่ามันก็จะหมายถึงว่าคนทุกสัญชาติบ้างก็จะเทาๆ กันหมด ตามหลักการที่เรียกว่า การปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nation – MEN) ก็คือถ้าเปิดประเทศให้กับประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization –  WTO) หรือประเทศที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางเศรษฐกิจใหม่ ถ้าเป็นสมาชิกก็จะได้สิทธิ์เหมือนกันทุกประเทศ ถ้าเปิดประเทศเข้ามาและอนุญาตแล้ว ก็ไม่ได้มีข้อห้ามกฎหมายคนต่างด้าวอะไรไว้ก็จะให้สิทธิเท่ากับคนในชาติ ก็คือคนไทยคนต่างด้าวได้สิทธิเท่ากัน ถ้าจะควบคุมเขา เข้าจับกุมเขาหรือดำเนินคดีเขาก็ต้องมีกฎหมายเฉพาะที่บอกว่าการกระทำอะไรผิดกฎหมายหรือไม่ผิดกฎหมาย

ถ้าเรื่องทุนจีนในเชียงใหม่อาจจะดูเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าหรือว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับเรื่องการผูกขาด จริง ๆ ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า ซึ่งมี 2 แบบ ก็คือ 1.ตรวจสอบการผูกขาดแนวราบ หมายความว่าในธุรกิจนี้เขาผูกขาดกันหมดจนไม่มีคนประกอบธุรกิจที่เหลืออีกเลยหรือไม่ หรือผูกขาดเพียงไม่กี่ราย อาจจะเป็นคนหลายคนแต่จริง ๆ แล้วเป็นกลุ่มทุนเดียวกันหรือไม่ ก็อาจจะตรวจสอบได้ในระดับนึง ซึ่งก็ไม่รู้ว่ากำลังของภาครัฐไทยมีถึงขนาดไหน 2.ตรวจสอบการผูกขาดแนวดิ่งหมายความว่าเขาทำธุรกิจแบบครบวงจร การควบคุมช่องทางการจัดจำหน่ายบริโภค ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำครบหมดเลยอยู่เพียงกลุ่มทุนกลุ่มเดียว ซึ่งก็เป็นการผูกขาดอีกแบบนึง เรื่องนี้ก็ต้องตรวจสอบที่ทำให้เกิดการผูกขาดแบบนี้เหมือนกัน

ซึ่งหมายความว่าถ้าตรวจสอบทุนจีนก็ต้องตรวจสอบ ทุนจากชาติอื่น ทุนไทยเช่นกัน หากเป็นเรื่องของการผูกขาด ทั้งนี้ต้องตรวจสอบเรื่องของการคอรัปชันว่าที่เขาทำหรือดำเนินกิจกรรมสีเทา หรือบางกลุ่มอาจจะทำผิดกฎหมาย ถ้าทำอยู่ในรัฐอื่นหรือในพื้นที่อื่น แน่นอนว่าทำได้โดยที่ไม่มีปัญหาย่อมต้องมีเจ้าหน้าที่ของรัฐรู้เห็นเป็นใจหรือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ อันนี้ก็ต้องตรวจสอบให้เห็นชัดเจน

ประเด็นสุดท้ายก็จะเชื่อมโยงกับเรื่องฟอกเงินว่าจะสุดท้ายการทำธุรกิจ เขาออกมาทำธุรกิจที่ถูกกฎหมาย เป็นการให้ประกันกู้ยืมเงิน หรือการลงทุน เงินนั้นชัดเจนว่ามาแบบช่องทางที่ถูกกฎหมายจริง แต่ว่าจริงๆ แล้ว เชื่อมโยงกับการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งมีฐานปฏิบัติการอยู่รายล้อมแถวชายแดนประเทศไทยหรือไม่ อันนี้ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนเพราะว่าถ้าเป็นเงินที่ได้มาจากการก่ออาชญากรรมนั้น ซึ่งมีผู้เสียหายถ้าเป็นผู้เสียหายที่เป็นคนไทยหมายความว่าเงินที่ต้องยึดกลับมาหรือบังคับคดีกลับมาเพื่อเยียวยาให้เหยื่อ มันถูกแปลงหรือให้กลายมาเป็นเงินที่เข้ามาฟอกในธุรกิจหรือทรัพย์สินต่างๆ อาจจะต้องมีการยึดแล้วก็นำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้เสียหายด้วย

ข้อเสนอจากรายงานของ Rhodium Group (2023) ก็ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนของจีนสามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ก็มาพร้อมความท้าทายด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่ต้องจัดการอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญเสนอแนะให้บริษัทจีนปรับปรุงการรายงานข้อมูลให้โปร่งใสมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลประเทศผู้รับการลงทุนควรเพิ่มการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อยกระดับมาตรฐานการลงทุนที่ยั่งยืน

โดยข้อเสนอแนะแนวทางเชิงนโยบายเพื่อปรับปรุงผลกระทบจากการลงทุนจากจีน ดังนี้:

1. ผู้ประกอบธุรกิจ บริษัท และผู้ลงทุนจากจีน ควรปรับปรุงความโปร่งใสและการรายงานข้อมูลด้านด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ของโครงการลงทุน โดยเฉพาะการเปิดเผยรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม

2. รัฐบาลของประเทศและท้องถิ่นผู้รับการลงทุนจากจีน ควรเพิ่มการกำกับดูแลด้านด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล สำหรับโครงการลงทุนต่างชาติ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

3. ควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนกับรัฐบาลของประเทศและท้องถิ่นผู้รับการลงทุนจากจีน เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ของการลงทุน FDI โดยอาจมีการพัฒนากรอบการประเมินและแนวปฏิบัติร่วมกัน

4. ภาคประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ ควรมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลกระทบของโครงการลงทุนจากจีน

5. ควรมีการพัฒนาระบบการจัดการข้อร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งปัญหาและได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม

แม้ว่ารายงานฉบับนี้จะไม่ได้เสนอมาตรการเฉพาะในการ “รับมือ” กับการลงทุนของคนจีนโดยตรง แต่ข้อเสนอแนะเหล่านี้มุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้ท้องถิ่นรับการลงทุนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนของจีน ในขณะเดียวกันก็ลดผลกระทบด้านลบต่างๆ ได้

ส่วนความคิดเห็นจาก ผู้ทำแบบสำรวจทัศนคติของคนไทยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ต่อทุนจีน 30 คน ก็มีมาตรการที่น่าสนใจ และสามารถนำมาประมวลเป็นตัวอย่างข้อเสนอได้ดังนี้

1. การควบคุมและกำกับดูแลการลงทุนจากต่างชาติ
– จำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนจีนไม่เกิน 20% ในธุรกิจบางประเภท หากเกินกว่านี้ ให้เก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูงขึ้น
– ออกกฎหมายที่ระบุประเภท ขนาด และจำนวนของธุรกิจที่อนุญาตให้มีการลงทุนจากต่างชาติ
– สงวนบางอาชีพหรือธุรกิจไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น
– ยกเลิกหรือจำกัดสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว (เช่น 99 ปี) สำหรับชาวต่างชาติ
– กำหนดเพดานการถือครองอสังหาริมทรัพย์สำหรับชาวต่างชาติ
– พิจารณาการตั้งกำแพงภาษีสำหรับการลงทุนจากต่างชาติในบางกรณี
– ปฏิบัติต่อนักลงทุนจีนเช่นเดียวกับนักลงทุนจากชาติอื่น ๆ
– ปิดช่องโหว่ทางกฎหมายที่อาจถูกใช้ประโยชน์โดยนักลงทุนต่างชาติ

2. การส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ของท้องถิ่น
– กำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนท้องถิ่นในธุรกิจที่มีการลงทุนจากต่างชาติ
– สร้างโปรแกรมฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานท้องถิ่น
– ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้วัตถุดิบและแรงงานท้องถิ่น
– สร้างอุดมการณ์และความภาคภูมิใจในการพัฒนาท้องถิ่น
– ส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาธุรกิจโดยคนท้องถิ่น
– กำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนในการออกใบอนุญาตทำงานสำหรับชาวต่างชาติ
– ควบคุมสัดส่วนของพนักงานต่างชาติในองค์กร

3. การเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย
– ตรวจสอบธุรกิจที่อาจเป็นนอมินีของนักลงทุนจีนอย่างเข้มงวด
– จัดตั้งระบบรางวัลนำจับสำหรับผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมาย
– ตรวจสอบรายได้และการเงินของธุรกิจต่างชาติอย่างสม่ำเสมอ
– ตรวจสอบหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติการลงทุนจากต่างชาติ
– สร้างระบบการรายงานและตรวจสอบที่โปร่งใสและเข้าถึงได้

สรุป

การเข้ามาของทุนจีนในเชียงใหม่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงในยุคโลกาภิวัตน์ แม้จะสร้างความท้าทายให้กับธุรกิจและชุมชนท้องถิ่น แต่หากมีการบริหารจัดการที่ดี ก็สามารถสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเมืองได้

จากข้อเสนอของผู้เชี่ยวชาญและประชาชนในพื้นที่ แนวทางสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างทุนจีนและท้องถิ่นควรเริ่มจากการเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ ทั้งด้านการเข้าเมือง การทำงานของคนต่างด้าว การประกอบธุรกิจ การเสียภาษี และการป้องกันการฟอกเงิน โดยเฉพาะการตรวจสอบการใช้นอมินีและการผูกขาดทางการค้า ควบคู่ไปกับการพัฒนากลไกการกำกับดูแลใหม่ ๆ เช่น การกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติ การจำกัดประเภทธุรกิจ การควบคุมการถือครองอสังหาริมทรัพย์ และการกำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนท้องถิ่น

ขณะเดียวกัน การส่งเสริมศักยภาพท้องถิ่นผ่านการพัฒนาทักษะแรงงาน การสนับสนุนผู้ประกอบการ และการสร้างความภาคภูมิใจในการพัฒนาท้องถิ่น ก็เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป พร้อมกับการสร้างระบบธรรมาภิบาลที่โปร่งใส โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและชุมชนในการติดตามตรวจสอบ และพัฒนาระบบการจัดการข้อร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ

ท้ายที่สุด การสร้างสมดุลระหว่างการเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติและการปกป้องผลประโยชน์ท้องถิ่น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการพัฒนากลไกการกำกับดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เชียงใหม่สามารถใช้ประโยชน์จากกระแสทุนจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน โดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์และความเป็นธรรมทางสังคม