เรื่อง: นิธิพล ครองสำราญ Dot easterners/ Prachatai

รายงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges เผยแพร่ครั้งแรกทางเว็บไซต์ prachatai.com เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566

“อ่าวอุดม” หากได้ยินชื่อนี้คงอนุมานได้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ จนนำไปสู่การกลายเป็นชื่อของหมู่บ้านริมทะเลเล็กๆ ใน ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่ริมทะเลที่ประชาชนประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านกันเป็นส่วนใหญ่เมื่อครั้งอดีต ก่อนที่การพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐในยุค “โชติช่วงชัชวาลย์” ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นที่จากโครงการ Eastern Seaboard วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนเปลี่ยนไป ผลกระทบที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านั้นคือ ระบบนิเวศน์ทางทะเลได้ผันแปรอย่างไม่สามารถหวนคืนกลับมาได้ พื้นที่ชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งพื้นที่ทางทะเลที่มีทรัพยากรธรรมชาติอันหลากหลาย ปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นพื้นที่ของท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ท้ายที่สุด การประกาศให้สามจังหวัดในภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) นั่นจะมีความหมายว่า การพัฒนาหลังจากนี้ จะถูกกำหนดทิศทางโดยส่วนกลางจากโครงสร้างการบริหาร โดยขาดการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่

Dot easterners ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี นายกสมาคมประมงพื้นบ้าน จังหวัดชลบุรี และ อาทิตย์ ศรีปาน ประธานชมรมประมงพื้นบ้านอ่าวอุดม ในประเด็นความเปลี่ยนไปของบ้านอ่าวอุดม ไล่เรียงจากอดีตจนถึงปัจจุบัน การประเมินจากรัฐ ว่าด้วยพื้นที่อ่าวอุดม ไม่อยู่ในเขตของการได้รับการเยียวยาจากการสร้าง รวมถึงความการประเมินผลกระทบจากการประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของภาคตะวันออก ที่อาจส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ในอนาคต ภายใต้เจตจำนงค์การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ว่า “เราอยู่กับความกลัวมานาน จนเราไม่กลัวแล้ว”

อยากให้ช่วยกันฉายภาพว่าก่อนที่ท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรม Eastern Seaboard จะเข้ามา เมื่อก่อนที่เราใช้ชีวิตกันยังไงบ้างในชุมชนประมงบ้านอ่าวอุดม

อมรศักดิ์ : ก่อน Eastern Seaboard เนี่ยตรงนี้เป็นพื้นที่พระราชทานตั้งแต่สมัย ร.5 มาประพาสที่เกาะสีชัง และได้เสด็จมาที่อ่าวอุดม เมื่อก่อนชื่อว่าอ่าวกระสือ แต่พอท่านประพาสมาก็เห็นว่าอุดมสมบูรณ์ ทรัพย์ในดินสินในนาทั้งบกทั้งทะเลปรากฏว่าทรัพยากรมันอุดมสมบูรณ์มาก ท่านก็เลยเปลี่ยนชื่อจาก “อ่าวกระสือ” มาเป็น “อ่าวอุดม”

ถ้าเอาตั้งแต่โรงงานแรกก็คือ Thaioil สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ตอนนั้นยังเป็นแค่คลังเก็บน้ำมันอยู่ ยังไม่ได้มาเป็นอุตสาหกรรมเต็มตัวเท่าไหร่ พอมันมีความเจริญ คนก็แห่แหนกันเข้ามา ไม่อยากให้ลูกหลานลำบาก ก็ผลักดันให้เข้าทำงานอุตสาหกรรม คนทั้งใกล้ทั้งไกล พอมันเริ่มมีอุตสาหกรรมมาเรื่อยๆ สิ่งที่จะหลีกหนีไม่พ้นเลยก็คือ คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป อย่างที่พี่ง่อยพูด ทิศทางกระแสน้ำเปลี่ยน การเกิดตะกอนเลนที่เพิ่มมากขึ้น แล้วก็การอพยพของสัตว์น้ำที่เขาไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ การกัดเซาะที่เกิดความรุนแรงกระทบต่อชายหาดมากขึ้น เมื่อก่อนเราไม่เคยได้รับผลกระทบนี้ เราก็ได้รับ

สุดท้ายอันนี้ต้องเน้นเลยว่ากรมเจ้าท่าที่บอกว่าจะพยายามลดความรุนแรงของการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ไม่ได้ศึกษาระบบนิเวศน์ให้ถ่องแท้ เพราะฉะนั้นหลังจากเกิด ESB แล้วมันเกิดอะไรขึ้น เราสูญเสียพื้นที่ประมงลดลงไปอย่างมหาศาล ถ้าเปรียบเทียบเป็นตัวเลขชัดๆ สมมุติแต่ก่อนเรามีพื้นที่ทำประมง 100 ไร่ (100 เปอร์เซนต์)  แต่พอ ESB เกิดขึ้น พื้นที่ทำประมงเก็ลดลงมาเรื่อย จนถึงปี 2565 นี้ เราเหลือพื้นที่ทำประมงประมาณ 20 ไร่ หรือ 20 เปอร์เซนต์  ถามว่ารุนแรงไหม รุนแรงนะ ภาครัฐไม่เคยมองเรื่องนี้เลย กี่ยุค กี่สมัย กี่รัฐบาล ไม่เคยมองเรื่องนี้เลย รัฐบาลมองแต่เศรษฐกิจ  GDP ของประเทศ แต่รัฐบาลไม่เคยมอง GDP ความสุขเลย แล้วชาวบ้านจะอยู่กันยังไง อยู่กับสิ่งที่อันตราย อยู่แล้วไม่มีความสุข นี่คือหลักพื้นฐานเลย ซึ่งน่ากลัว ก็ต้องอาศัยเด็กเจนใหม่นี่แหละ นี่คือประเด็นที่จะขมวดก็คือ หนึ่งเราสูญเสียพื้นที่จากการพัฒนา สองพื้นที่เสื่อมโทรมมากขึ้น นี่เป็นปัจจัยหลัก ตัวแปรหลัก

อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี นายกสมาคมประมงพื้นบ้าน จังหวัดชลบุรี

พอ ESB เข้ามาการทำประมงเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง

อาทิตย์ : ผลกระทบโดยตรงพื้นที่หากินเราลดน้อยลงไป พอพื้นที่ลดลงก็เกิดการแก่งแย่งกันขึ้นเพราะเรือเยอะ บวกกับทรัพยากรในพื้นที่น้อยลง มีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง เพราะออกไปพื้นที่มันน้อย ก็กระทบกระทั่งกัน
อมรศักดิ์ : ไม่ได้กระทบกระทั่งเฉพาะกลุ่มอาชีพเดียวกัน เราก็กระทบกระทั่งกับภาคอุตสาหกรรมด้วย เพราะว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการทำ EIA ไม่มีการลงมาถามชาวบ้านว่าเราจะทำอย่างนี้ แล้วชาวบ้านเดือดร้อนไหม ที่ผ่านมาไม่มี เพิ่งมามีการทำ EIA หรือ EHIA เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ต้องยอมรับว่าเราก็กระทบกระทั่งกับอุตสาหกรรมและภาครัฐ ภาครัฐมองอะไรเขาก็จะมองมิติการพัฒนาองค์รวมของประเทศ  แต่เขาไม่ได้มองชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ว่าเขาได้รับผลกระทบอะไรบ้าง แล้วจะวางแผนแก้ไข ดูแลเขายังไง ซึ่งอันนี้ต้องฝากรัฐบาลต่อๆ ไป ถ้ายังเป็นอย่างนี้พัฒนาอยู่ด้านเดียวโดยรัฐ แต่อีกด้านไม่ถูกหยิบมาพัฒนาด้วย ผลกระทบก็จะแบบนี้ ชาวบ้านเขาก็จะเรียกร้องสิทธิที่เขาควรมี สิทธิขั้นพื้นฐานที่เขาสูญเสียไป โดยที่เขาไม่ได้เป็นคนกระทำเอง โดนคนอื่นกระทำโดยตลอด

อาทิตย์ ศรีปาน ประธานชมรมประมงพื้นบ้านอ่าวอุดม

เป็นเรื่องการคิดแทนคนในพื้นที่ว่าต้องการอะไร แล้วก็พอมันเกิดขึ้นในพื้นที่ ชาวบ้านก็ไม่ได้รับการเยียวยาซ้ำไปอีก

อมรศักดิ์ : เหมือนชุมชนประมงไม่มีตัวตนเลย

อาทิตย์ : ที่เขามาทำ EIA นี่ก็เพิ่ง 10 ปีมานี้เอง

อมรศักดิ์ : ใช่ 10 กว่าปีนี้เอง ถึงค่อยมีการมารับฟังความคิดเห็น แต่ความเป็นจริงแล้ว เหมือนเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ทำให้โรงงานสร้างขึ้นมาได้ คุณไม่ได้มีการมาถอดบทเรียนและนำไปแก้ไข ผมถามหน่อยว่า EIA มีกฎหมายควบคุมไหม ไม่มีนะ เพราะฉะนั้นคุณจะทำอะไรก็ได้ คุณจะเขียนอะไรก็ได้ แต่ถ้าคุณไม่ทำตามที่คุณเขียนล่ะ ผิดกฎหมายไหม ก็ไม่ผิดอีก มันก็ไม่ยุติธรรมไง ถึงต้องมีกฎหมายควบคุม คนคิดดีก็มี คนคิดไม่ดีก็มี นักวิชาการที่ดีก็มี นักวิชาการที่ไม่ดีก็มี เพราะฉะนั้นถ้าประเทศไทยเป็นแบบนี้เจริญอยู่ฝั่งเดียว แต่คนโดยรวมของประเทศมันจะเสื่อมไปเรื่อยๆ สิ่งแวดล้อมเวลาเสียแล้ว กู้กลับได้ไหม ก็อาจจะกู้ได้ แต่พอเป็นคนแล้ว ถ้านิสัยมันเสียไป กู้กลับยากนะ เดี๋ยวนี้คนเห็นแต่ตัวเลข เรื่องของเงินตรา แม้แต่กฎหมายก็ยังเอาผิดกับคนพวกนี้ไม่ได้ กฎหมายสิ่งแวดล้อมเราก็มี แต่บังคับใช้ได้ไหม ก็ไม่ได้

เรื่องราวนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรงไหม

อมรศักดิ์ : เกือบทุกกระทรวง ถ้าเรามองอย่างนี้ อย่างเราอยู่พื้นที่ทะเล หลายกรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่ทะเล ยกตัวอย่าง กรมประมง กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ ทหารเรือ กระทรวงพาณิชย์ เกือบทุกกระทรวงแหละ แต่ละกระทรวงก็จะมีกฎหมายของเขา ซึ่งไปแตะกันไม่ได้ คำถามคือ ทำไมคุณไม่ขมวดรวมให้เกิดการจัดการร่วมกันล่ะ

เป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันไหม ทำไมถึงต้องโยนกันไปกันมา

อมรศักดิ์ : ใช่ เวลาชาวบ้านต้องการจะปลูกบ้านที่ติดทะเล โอ้โห ขั้นตอนยุ่งยาก เยอะแยะมากมาย แต่เวลาบริษัท (อุตสาหกรรม) จะสร้างสะพานเทียบเรือ ทำไมมันแลง่ายนิดเดียว อันนี้ basic จริงๆ นะ คนตัวเล็กตัวน้อยได้รับผลกระทบทำนองนี้เกือบทุกจังหวัด เวลาชาวบ้านจะทำอะไรซักอย่างที่มันติดกับทะเล ติดกับแม่น้ำลำคลอง ทำยาก แต่พอเวลาเป็นผู้ประกอบการ แปปเดียวผ่านแล้ว พูดชวนให้คิด ไม่ได้ว่าใคร เอาข้อเท็จจริงมาพูด

แล้วตั้งแต่มีมติ ครม. ในรัฐบาล คสช. เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มาตั้งแต่ ปี 2558 และมีการยกเลิกผังเมืองเดิม ในพื้นที่ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

อมรศักดิ์ : เท้าความก่อนว่าที่นี่ถูกแบ่งเป็นหลายโซน มีน้ำตาลขีดขาว แดงก็มี เขียวอมเหลืองก็มีอยู่ในชุมชนนี้เยอะ ผังเมืองอ่าวอุดมมันมีหลายสี แต่ปัจจุบันทราบว่าตรงนี้ถูกประกาศเป็นผังเมืองสีม่วงแล้ว ภาคอุตสาหกรรมจะทำอะไรก็ได้  แล้วชาวบ้าน 300-400 กว่าหลังคาเรือน เขาจะทำอย่างไง คุณเอากฎหมายส่วนกลางมาครอบท้องถิ่น ควรถึงเวลากระจายอำนาจแล้วหรือยังที่รัฐบาลไหนก็ไม่รู้หลังจากปี 2565 ไป คุณจะกระจายอำนาจมาสู่ท้องถิ่นไหม

แม้แต่ผู้ว่าแต่ละจังหวัดผมก็อยากให้มันเป็นสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่คัดสรรเลือกขึ้นมาเอง ทำไมกรุงเทพฯ ถึงทำได้ แต่จังหวัดอื่นทำไม่ได้ เลือกตั้งผู้ว่าเนี่ย ส่วนกลางเวลามองอะไรต้องออกมาเป็นกลาง ต้องให้อำนาจและสิทธิของจังหวัดนั้นๆ เป็นคนออกกฎหมายลูก เพราะคนในจังหวัดนั้นๆ เขาเป็นผู้ที่ต้องอยู่กับมัน ถ้าคุณไปออกกฎหมายแล้วไม่ตรงกับวิถีชีวิตของจังหวัดนั้นๆ ก็เป็นการรังแกเขาโดยปริยาย ถึงเวลาแล้วที่คุณต้องกระจายอำนาจไปในแต่ละจังหวัดต่างๆ อย่างของผม ผมทำประมง เวลาออกกฎหมายประมง ก็ให้ส่วนกลางออก คนออกไม่ได้ใช้ คนโดนบังคับใช้ ไม่ได้มีส่วนร่วมในการออก แล้วจะสอดคล้องกันได้อย่างไง

กรณีที่ผังเมืองที่นี่ถูกเปลี่ยนเป็นสีม่วงแล้ว ในฐานะที่มีบ้านอยู่ตรงนี้มีข้อกังวลหรือความรู้สึกอย่างไรบ้าง 

อาทิตย์ : ข้อกังวลคือ เรากลัวว่าต่อไปจะไม่มีพื้นที่ให้ลูกหลานเราได้อยู่ตรงนี้ คิดว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าตอนนี้เทศบาลทั้งสามเทศบาลในพื้นที่ศรีราชา ขึ้นกับ EEC โดยตรง อย่างไงก็โดนแน่ๆ อยู่แล้วล่ะ

มีความเสี่ยงสูงที่จะโดนเวนคืนที่ดินใช่ไหม

อมรศักดิ์ : ก็ไม่รู้ว่า นั่งคุยกันอยู่วันนี้ พรุ่งนี้อาจจะประกาศเวนคืนก็ได้ เพื่อสร้างโรงงานหรือท่าเรืออะไรซักอย่าง อย่างที่บอกคือเวลามีโครงการพัฒนาอะไรจะมาจากข้างบน ไม่ได้ถูกผลักดันจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน ประเทศไทยย้อนแย้งตลอด จะมั่นคงได้ฐานมันต้องแข็งแรงก่อน ไม่ใช่ข้างบนใหญ่แต่ฐานข้างล่างเล็ก วันนึงก็ต้องล้มโครม ไม่รู้ว่าประเทศไทยจะล้มวันไหน ต้องยอมเจ็บปวดกันต่อไปเหรอ

อยากให้เล่าว่าการไม่ได้รับค่าเยียวยาของคนในพื้นที่เพราะอะไร รัฐประเมินว่าอย่างไรบ้าง ทำไมเราถึงไม่ได้รับผลกระทบในความหมายของรัฐ

อมรศักดิ์ : ถ้ามามองในมุมกว้างเรื่องการครอบพื้นที่ว่า เวลาคุณมาทำ EIA หรือ EHIA มาสำรวจเรื่องของสภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตอะไรอย่างนี้ ทำไมต้องตั้งธงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไว้อยู่ที่รัศมี 5 กิโลเมตรจากท่าเรือแฟลมฉบัง อันนี้ตลก ทะเลไม่ได้ถูกแบ่งแยกเขตอย่างชัดเจน สัตว์น้ำไม่รู้หรอก หรือกระแสน้ำมันไหลไป ตอนลอยกระทงเห็นกันชัดๆ ผมถามว่าไปลอยที่ปากน้ำเจ้าพระยา ทำไมกระทงมาถึงชลบุรี มาถึงระยอง ทำไมคุณไม่ห้ามกระทงให้อยู่แค่ปากน้ำเจ้าพระยา คุณห้ามไม่ได้ไง ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้นเวลาคุณจะทำโปรเจคใหญ่ๆ อย่างท่าเรือแหลมฉบัง คุณมาบอกว่าอ่าวอุดมไม่ได้รับผลกระทบ ในสมัยนั้นผมก็ร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้อยู่ ผมก็พูดแล้วว่ามันกระทบ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ทางตรงคืออะไร คือเราเสียพื้นที่ในการทำประมงแล้ว คุณจะมาบอกว่า เฮ้ย คนอ่าวอุดมห้ามไปทำประมงในเขตท่าเรือแหลมฉบังนะ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ไง กฎหมายไม่ได้ห้ามนี่ แล้วถามว่าพอมันเกิดอย่างนี้ เวลาคุณสร้างท่าเรือ อ่าวอุดมไม่ได้กระทบ พื้นที่ทำประมงของคนอ่าวหายไหม หายสิ ตรงหรือไม่ตรงไม่รู้ อ้อมหรือไม่อ้อม ไปตีความกันเอาเอง แต่ในอีกขณะหนึ่ง คนบางละมุง คนแหลมฉบัง กระทบตรงๆ แต่คุณห้ามได้ไหมล่ะว่าไม่ให้เขาเข้ามาหากินที่อ่าวอุดม ก็ห้ามไม่ได้หรอก แต่สิ่งที่เขาได้คือเงินเยียวยา แต่คนอ่าวอุดมเขาไม่ได้ อย่างที่ผมพูดไปเมื่อกี้ พื้นที่ก็ถูกแบ่งไปแล้ว เหลือพื้นที่อันน้อยนิด ยังต้องมาแบ่งทรัพยากรกันเพิ่มอีก ถามว่าภาครัฐมองว่าสมควรไหม 

อยากสะท้อนว่า คุณเอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัด การเยียวยาผลกระทบในรัศมี 5 กิโลเมตรนี้ (รัศมี 5 กิโลเมตรจากท่าเรือแหลมฉบัง) น้ำมันรั่วที่ระยอง คุณห้ามให้อยู่แค่ระยองได้ไหม อย่าข้ามเขตมาที่ชลบุรีก็เหมือนกัน เวลาคุณมาสำรวจ คุณบอกว่าทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อมจะไม่กระทบมาถึงอ่าวอุดม คุณเอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัด คุณก็จะใช้สูตรคำนวณของคุณ 1+1 เท่ากับ 2 ทำไม 1+1 จะเท่ากับ 4 บ้างไม่ได้ โลกมันเปลี่ยน ทำไมคุณทำอะไรที่อยู่ในกรอบอย่างเดียว

“ถ้าคุณมีจิตใจหรือแนวความคิดที่จะช่วยเหลือชาวบ้านจริงๆ มาช่วยคนอ่าวอุดม อาจจะไม่ต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ คนบางละมุง คนแหลมฉบัง โดน 100 เปอร์เซ็นต์ คุณก็ช่วยเขา 100 พื้นที่ไหนที่ว่ากระทบไม่มาก ก็แบ่งสัดส่วนลดหลั่นมาช่วยเขาบ้าง อันนี้ที่เราชวนพูดคุย เราไม่ได้มองที่บ้านเราอย่างเดียว เรามองว่าในอนาคตคุณไปทำที่ไหน คุณต้องมองเผื่อด้วย เอาตัวอย่างอย่างอ่าวอุดม หรือแหลมฉบังเป็นบทเรียน คุณมาครอบอย่างนี้ เดี๋ยวชาวบ้าน 3-4 หมู่บ้านมาทะเลาะที่อ่าวอุดมกันตายเลย ตอนนี้ก็เริ่มแล้ว แย่งพื้นที่ทำประมงกัน พอเขาไม่สามารถไปทำประมงบ้านเขาได้ เขาก็ต้องมาหากินบ้านคนอื่น แล้วบ้านเราเรือก็เยอะ ที่ก็น้อย แล้วเรือที่อื่นก็มา ก็ห้ามกันไม่ได้ เพราะทะเลมันที่สาธารณะ แต่เวลาคุณมาพูด คุณไม่เคยพูดถึงเรา เราจะนำเสนอแทบตายยังไง เขาก็ไม่นำไปแก้ไข” อมรศักดิ์ กล่าว

แต่แปลกอีกที่หนึ่งยกตัวอย่าง นาเกลือ พัทยาเหนือ กลับได้รับการเยียวยา ถ้าบอกในตรรกะรัศมี 5 กิโลเมตร พัทยาเกิน 5 กิโลเมตรแล้ว ผมตั้งคำถามกับท่าเรือแหลมฉบัง ฝากตอบโจทย์นี้ให้กับชาวบ้านให้เขารับรู้แล้วกัน จะมาอ้างว่าหาดมันต่อเนื่อง ก็อิงที่หาดอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมีน้ำทะเลไปอยู่ตรงไหนคุณก็ต้องดูแลคนที่เขาอยู่กับมันด้วย ยกตัวอย่างเช่นอากาศอย่างมลพิษหรือฝุ่น ไม่ได้ปลิวไปแค่รัศมี 5 กิโลเมตร ทะเลก็เหมือนกัน คุณเอาอะไรไปขีดในทะเลได้เหรอว่าอันนี้ทะเลของบ้านไหน สิ่งแวดล้อมทั้งหลายห้ามข้ามเขตกันนะ ห้ามได้ที่ไหน

ก่อนสัมภาษณ์ได้ยินคนพูดว่า “เราอยู่กับความกลัวมานาน จนเราไม่กลัวแล้ว” อยากให้ช่วยขยายความคำนี้หน่อย

อมรศักดิ์ : เมื่อก่อนเรากลัวหมดทุกอย่าง กลัวไม่มีกิน กลัวเราจะป่วยไหม กลัวลูกเราจะเป็นยังไง เราถึงยอมเขาหมด ทุกวันนี้สิ่งที่เรากลัวก็ทำร้ายเรา ถ้าเราไม่กลัวแล้วเราสู้กับมัน เราก็จะไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ อ่าวอุดมช่วงหลังๆ จะดีขึ้นอย่างหนึ่ง เวลามีการพัฒนาอะไรที่จะมาลงที่นี่จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน บริษัทที่นี่ส่วนใหญ่เน้นย้ำว่าจะเอาข้อมูลที่เราเดือดร้อนไปแก้จริงๆ ที่อื่นผมไม่รู้ แต่มีบางบริษัทก็รับฟังเราดี เวลาเราเดือดร้อน เราบอกที่ทำประมงเราหายไป คุณจะดูแลยังไง เขาก็จะเสนอให้ทำโครงการมา แล้วช่วงที่กำลังทำจะให้เขาช่วยเหลือยังไงได้บ้าง ไม่ใช่ว่าเราอยากได้เงินเขา องค์ประกอบไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว มันอยู่ที่ความจริงใจของผู้ประกอบการ เขาพูดมาแล้วว่าจะช่วย ซึ่งเขาก็ทำอย่างที่พูด แต่บริษัทยักษ์ใหญ่บอกจะช่วยอย่างนี้ พอถึงเวลาโครงการผ่านมุดหัวไปอยู่ไหนกันหมดก็ไม่รู้ ซึ่งเป็นส่วนน้อยที่ยังเหลวไหลอยู่ ยังไม่ค่อยโอเคกับชุมชน ถึงบอกไงว่าคำว่ากลัวจนเลิกกลัวแล้ว ไม่รู้จะกลัวเพื่ออะไร ถ้าเรายิ่งกลัว เหมือนคำโบราณบอก เต่าหดหัวอยู่ในกระดอง ตอนนี้เราเป็นเต่าที่ต้องชะโงกหัวมองตลอดเวลาว่าใครจะทำอะไรบ้าง ใครจะวิ่งจะเดินไปทิศไหนเราต้องรู้ ถ้ายิ่งกลัวก็ทำอะไรไม่ได้

คุณอาทิตย์รู้สึกอย่างไงบ้าง ในฐานะของคนที่อยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่แรก มีข้อเสนอจากประชาชนคนหนึ่งที่ทำประมงพื้นบ้าน ไหม

อาทิตย์ : ตอนนี้ข้อวิตกกังวลก็ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ เพราะว่าเราต้องดำเนินไปให้ได้คู่กับอุตสาหกรรม คนละครึ่งทาง ต้องอยู่ร่วมกัน ปรับตัวเข้าหากันให้ได้ 

อมรศักดิ์ : ขอเสริม องค์ประกอบมีสามส่วน อย่างเราที่เป็นชาวบ้านก็พูดในฐานะชาวบ้าน แล้วก็พูดถึงผู้ประกอบการว่าเราอยู่ร่วมกัน เราต้องดำรงชีวิตร่วมกันให้ได้ แล้วรัฐไปไหน นี่คือส่วนที่สาม ซึ่งรัฐเป็นตัวแทนของประชาชน ที่จะดูแลทั้งผู้ประกอบการและชาวบ้าน คือตัวแปรหลัก รัฐไปไหนทุกวันนี้ ต้องถามย้ำๆ

ในความรู้สึกเหมือนรัฐปล่อยให้เรากับผู้ประกอบการคุยกันเอง ซึ่งรัฐไม่ได้เข้ามาจัดการอะไรเลยถูกไหม

อมรศักดิ์ : ใช่ นี่แหละที่อยากให้สรุป เพราะเรารู้ เราพยายามพูดว่า มีสามองค์ประกอบ มีรัฐก็ต้องมีเอกชน มีเอกชนก็ต้องมีชุมชน มีชาวบ้าน ที่อื่นผมไม่รู้ แต่ที่นี่หลักๆ ชุมชนกับบริษัทจะคุยกันตลอด รัฐไปไหนผมไม่รู้

อาทิตย์ : เขาปล่อยให้เราคุยกันเอง แล้วรัฐไม่ได้เข้ามาทำอะไรเลย

อมรศักดิ์ : เชิญรัฐเข้ามาร่วมเป็นไตรภาคี รัฐก็ส่งใครมาก็ไม่รู้ ส่งมาแต่ละรอบก็ไม่ใช่คนเดิม การแก้ปัญหาไม่ต่อเนื่อง แค่ส่งมาให้ครบๆ เวลาเราจัดประชุมอะไรก็แล้วแต่ รอบแรกเป็น นาย ก. รอบสองเป็น นาย ข. ประชุม 10 รอบก็ส่งมาไม่ซ้ำ 10 คน ผมถามหน่อยว่าความต่อเนื่องมันอยู่ตรงไหน จะทำงานได้ไหมล่ะ เรื่องพื้นฐานที่รัฐไม่ยอมเปลี่ยน รัฐไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเลย (หัวเราะ)

ถ้าสามารถคุยกับคนที่แก้ไขเรื่องนี้ได้โดยตรงจะบอกกับเขาว่าอย่างไรบ้าง

อมรศักดิ์ : ยังมองไม่ออกว่าจะคุยกับใคร จริงๆ เราก็บอกไปเยอะ เรื่องคุณภาพชีวิต เรื่อง GDP ความสุข ไม่ได้มีแค่เรื่องตัวเลขอย่างเดียว มีหลายด้าน คุณจะแก้กลับมาได้ไหม ถ้ารัฐไม่วางระบบ ก็แก้ไม่ได้ ชาวบ้านเขาพร้อมที่จะแก้ แต่คนบริหารผมไม่รู้ใคร แล้วผมก็ไม่รู้ว่าจะคุยกับใคร ผมพูดจริงๆ ทุกวันนี้ผมยังมองไม่ออก ถึงจะตั้งตุ๊กตามาก็เถอะ เพราะผมยังมองนโยบายหรือว่าแนวความคิดนักการเมืองส่วนใหญ่ว่า เขาไม่ได้มองเราเป็นพื้นฐาน เขามองเราเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เขาก้าวขึ้นไปสู่ในจุดที่เขาต้องการ ผมมองแค่นั้น ถ้าเขามองว่าเราเป็นพวกเขา เขาก็จะแก้ปัญหา ส่วนน้อยที่ดีก็มี แต่ส่วนใหญ่เขาจะมองเราเป็นบันไดขั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราเลยมองไม่ออกว่าเราจะคุยกับใคร

“เราก็ยังมองไม่ออกว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปคือใคร ถ้าเป็นคนลักษณะเดิม สไตล์เดิมอย่างที่ผ่านมา ไม่ต้องไปคุย จงนอนแล้วฝันไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าทุกอย่างเริ่มที่ตัวเรา การที่จะแก้ปัญหาเราต้องแก้เอง ผมคุยกับตัวผมเองก่อน แล้วผมค่อยชวนคนที่สไตล์เดียวกับผมมาขับเคลื่อน ผมไม่คุยหรอกกับนายกฯ หรือผู้ว่าฯ ผมไม่อยากคุย” อมรศักดิ์ กล่าว

ต้องฝากสื่ออย่างนี้แหละ ผมมองคนเจนใหม่ตอนนี้ส่วนใหญ่ที่สัมผัสที่คุยกันมาแล้วก็ทำงานร่วมกัน คนเจนใหม่ที่ต้องยอมรับเลยคือตระหนักเรื่องคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม สื่อก็เป็นตัวหนึ่งที่ดึงให้คนรุ่นใหม่มาตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม