เรื่อง: นุชนาถ เลิศสำโรง/ The Isaan Record

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 อรรถชัย อาจอุดม หรือ บาส นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี จะไม่ต้องเสี่ยงชีวิตเข้าช่วยนักเรียนหญิงที่ถูกไฟดูดขณะลุยน้ำท่วมออกจากโรงเรียน

แม้ต่อมา “บาส” จะกลายเป็น “ฮีโร่”  เพราะสามารถช่วยเหลือนักเรียนหญิงคนนั้นสำเร็จ แต่ตัวเองก็ได้รับบาดเจ็บจนต้องเข้าโรงพยาบาล 

เมื่อปี 2565 จังหวัดอุดรธานีมีเด็กนักเรียนชายและหญิงถูกไฟฟ้าดูดทั้งหมด  5 คน โดยเหตุเกิดบริเวณด้านหลังโรงเรียนสตรีราชินูทิศและบริเวณสี่แยกคอกม้า ถนนศรีชมชื่น 

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผู้คนต่างหวั่นวิตกและตั้งคำถามถึงการจัดการสายไฟในจังหวัดอุดรธานีและพื้นที่อื่นๆ 

ทัศนีย์ ใจซื่อ ชาวจังหวัดอุดรธานี เป็นคนหนึ่งที่ติดตามสถานการณ์นั้นผ่านทางทีวีและโซเชียลมีเดียอย่างใกล้ชิด หลังทราบข่าวเธอรู้สึกตกใจ เพราะไม่รู้ว่า เมื่อไหร่ภัยจะมาถึงตัว

“รู้สึกเศร้ามาก สงสารเด็ก ไม่รู้ว่าเกิดจากความบกพร่องของไฟฟ้าหรือเกิดจากอุบัติเหตุ”

สายไฟรุงรังอยากให้ลงดิน

ในฐานะคนอุดรธานีที่ต้องอยู่ในพื้นที่เธอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้า ควรป้องกันมากกว่านี้ 

“ไม่รู้ว่าไฟฟ้ารั่วตรงไหน แต่สำหรับประชาชนเวลาฝนตกก็จะต้องระมัดระวังตัวด้วย จะโทษแต่หน่วยงานไฟฟ้าอย่างเดียวก็ไม่ได้ เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฯ เป็นคนที่มีความรู้ก็ควรจะหาทางป้องกันให้ประชาชน” เธอเสนอแนะ พร้อมกับหันมองไปบนเสาไฟฟ้าแล้วเห็นสายไฟรกรุกรังตามบ้านเรือนและท้องถนน

“พอเห็นสายไฟฟ้าก็รู้สึกว่า มันรกรุงรัง ไม่รู้ว่าสายอะไร เป็นสายอะไรบ้าง ได้ยินข่าวมาว่า ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ มีนโยบายจะนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน แต่ไม่รู้จะทั้งจังหวัดอุดรธานีจะมีไหม”

บริเวณด้านหลังโรงเรียนสตรีราชินูทิศ ซึ่งเป็นจุดที่เกิดเหตุไฟฟ้าดูดนักเรียนหญิง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีเสียงของประชาชนจำนวนมากที่สะท้อนความรู้สึกคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะความรัดกุมของหน่วยงานไฟฟ้า 

วิภาวรรณ นาคเสน ชาวจังหวัดอุดรธานี ก็เป็นคนหนึ่งที่สะเทือนใจกับเหตุที่เกิดขึ้น เธอไม่ต้องการให้เกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีก เพราะผลที่เกิดขึ้นเป็นอันตรายต่อเด็ก 

“การไฟฟ้าฯ น่าจะมีแนวทางรัดกุมให้มากกว่านี้” เป็นแนวทางที่เธออยากเห็นและว่า “ไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงมีปัญหาในการจัดการไฟฟ้า ควรมีการตรวจสอบสายไฟรั่วหรือสายไฟว่า ขาดตรงไหน จะได้ไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้นอย่างที่ไม่คาดคิดอีก”

เมื่อทีมข่าว The Isaan Record ลงพื้นที่สำรวจสายไฟในตัวเมืองจังหวัดอุดรธานีพบว่า เสาไฟฟ้าบางต้น ตั้งตรงดี สายไฟค่อนข้างเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่สายไฟฟ้าบนถนนบางเส้นก็ไม่เป็นระเบียบ 

มองเป็นเรื่องปกติ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สถาพร แสนสนธิ นายช่างโยธาอาวุโส ประจำเทศบาลนครอุดรธานี มองว่า ถ้าเป็นช่วงฤดูร้อน เหตุการณ์เช่นนี้คงไม่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นช่วงฤดูฝนที่บริเวณดังกล่าวไม่สามารถระบายน้ำได้ทันทำให้เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น

“ภัย คือ ฝนตก น้ำท่วม ถ้าฝนไม่ตกหนักหรือน้ำไม่ท่วมขังบนท้องถนน และสามารถระบายน้ำทัน คงจะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้” นายช่างโยธาอาวุโส หน่วยงานเทศบาลนครอุดรธานี ให้ความคิดเห็นกับเรื่องนี้

แต่ถึงกระนั้นหน่วยงานภาครัฐก็ตระหนักถึงความสำคัญของชีวิตประชาชน ซึ่งเทศบาลฯ ได้เริ่มสำรวจบริเวณเสาไฟฟ้าที่อยู่ตามจุดบริเวณต่างๆ โดยเริ่มจากระดับพื้นที่ริมฟุตบาตรที่มีความต่ำ เส้นทางการระบายน้ำไหลไม่สะดวก น้ำท่วมขังพื้นที่ได้ง่ายและเสาไฟฟ้าที่ทำจากเหล็กเพื่อหาทางป้องกันแก้ไขปัญหาในอนาคต

สถาพร แสนสนธิ นายช่างโยธาอาวุโส หน่วยงานเทศบาลนครอุดรธานี

ติดตั้งระบบโซลาเซลล์แก้ปัญหาไฟดูด

นายช่างโยธา เสนอแนะว่า เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ควรจะตรวจสอบหาสาเหตุ ด้วยการเช็คระบบอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ดังนั้นเทศบาลนครอุดรธานีจึงติดตั้งระบบโซลาเซลล์แทนระบบไฟฟ้าบริเวณพื้นที่จุดเสี่ยงทั้งหมด ตั้งแต่หน้าถนนศรีชมชื่นถีงถนนศรีสุข 

“ปัจจุบันได้ติดตั้งระบบโซลาเซลล์เริ่มจากโรงเรียนที่เป็นจุดเกิดเหตุและสถานศึกษาสังกัดเขตเทศบาลนครอุดรธานีแล้ว 10% คาดว่าจะทำต่อเพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้น”

ทศบาลนครอุบลธานีได้เปลี่ยนจากระบบกระแสไฟฟ้ามาเป็นระบบโซลาเซลล์

ติดสติกเกอร์ “กรณีน้ำท่วม อันตรายห้ามเข้าใกล้”

ไม่เพียงเปลี่ยนระบบกระแสไฟฟ้า แต่เทศบาลนครอุดรธานีได้นำสติ๊กเกอร์สีเหลืองขนาดใหญ่มาติดตรงจุดบริเวณเสาไฟฟ้าระบบโซลาเซลล์มีข้อความเน้นเตือนประชาชนว่า “กรณีน้ำท่วม อันตรายห้ามเข้าใกล้  BEWARE ELECTRICITY”

หลังเกิดเหตุการไฟฟ้าฯ ได้ที่เปลี่ยนเป็นระบบโซลาเซลล์และมีสติ๊กเกอร์แสดงข้อความว่า
มีน้ำท่วม ไม่ให้เข้าใกล้

“ทางเทศบาลฯ ได้ติดสติ๊กเกอร์ไว้ตรงบริเวณเสาไฟฟ้า เพื่อบอกให้ประชาชนรับรู้ว่า อย่าเข้าใกล้ เพราะอาจจะมีอันตรายเพื่อให้กับประชาชนที่ไม่รู้ ไม่ให้ไปสัมผัสหรืออยู่ใกล้บริเวณตรงจุดนั้น”

ในฐานะหน่วยงานรายชการเขายังเสนอว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาในอนาคตหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรจะเป็นผู้รับผิดชอบและพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วยการนำไฟฟ้าลงใต้ดิน โดยเฉพาะบริเวณถนนโพศรีที่เกิดเหตุบ่อยครั้ง ปากกาวัดไฟ อุปกรณ์ช่วยชีวิตเบื้องต้น

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผศ.ดร.สมชาย สิริพัฒนากุล อาจารย์สาขา วิศวกรรมความปลอดภัยทางไฟฟ้าและเครื่องมือวัดทางไฟฟ้ามหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ให้ความสำคัญในเรื่องนี้และเสนอว่า เพื่อป้องกันอันตรายเมื่อมีน้ำท่วมอยากให้ประชาชนพกปากกาวัดไฟ เพื่อวัดกระแสไฟฟ้า 

“ปากกาวัดไฟอาจจะเป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ประชาชนควรจะให้ความสนใจและพกติดตัวไปได้ทุกที่ตลอดเวลา เพราะจะเป็นการช่วยเซฟชีวิตตัวเองเบื้องต้นได้”

ผศ.รศ.สมชาย  สิริพัฒนากุล อาจารย์ สาขาวิศวกรรมความปลอดภัยทางไฟฟ้าเครื่องมือวัดทางไฟฟ้า มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี

สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

นักวิชาการคนนี้ยังได้ฝากให้ข้อคิดแก่ประชาชนเพิ่มเติมในเรื่องที่ไม่ควรจะมองข้าม โดยเฉพาะเรื่องระบบไฟฟ้าที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตของมนุษย์ในการดำเนินชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนประมาท

“ระบบไฟฟ้าภายในบ้านเรือน ควรจะให้ช่างไฟฟ้าที่มีความชำนาญในการมาติดตั้งเดินระบบและถ้าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าพวกตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น ก็ควรจะมีการระบบสายดินเพื่อเชฟความปลอดภัย”

ไฟฟ้าดูดจึงถือเป็นภัยใกล้ตัวที่เกิดขี้นทุกปี ข้อมูลจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อปี 2554 ที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ มีผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟดูดสูงถึง 184 ราย ในช่วงเวลาประมาณ 45 วัน 

ทุกครั้งที่มีเหตุน้ำท่วมหลังจากนั้นจึงมีผู้เสียชีวิตทุกปี ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่มาพร้อมกับหน้าฝน

หมายเหตุ : ผลงานชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดย สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO