เรื่องและภาพ : ปวีณ์กร สิมมา
เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเป็นอย่างมากเมื่อหลายเดือนก่อนเราได้เห็นเครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยแพร่โพสต์ว่าจะริเริ่มทำ SHAN REBELLION หรือ “เหล้ากบฏเงี้ยว” สุรากลั่นของกลุ่มนักเคลื่อนไหวจังหวัดแพร่ เพื่อช่วงชิงความหมายใหม่ของกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ที่ไม่สยบยอมต่อการกดขี่ขูดรีดจากการล่าอาณานิคมภายในของสยาม ก่อนที่จะพัฒนาชื่อต่อในชื่อ SHAN (ฉาน) สุรากลั่นชุมชนประวัติศาสตร์ที่ดื่มได้ ส่งผ่านเรื่องราวขบวนการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของเงี้ยวเมืองแพร่ในปี พ.ศ. 2445 ดื่มด่ำรสชาติของผู้ปกป้องความหวังและเสรี
กว่าที่จะได้ลิ้มลองรสชาตินั้นก็ใช้เวลาอยู่นานพอสมควร ด้วยข้อจำกัดและความอ่อนไหวทางภาษาที่รัฐเองเป็นกังวลใจ เหตุจากภาพกบฏเงี้ยวและถ้อยคำบนฉลากมีปัญหา จนวันนี้ “เหล้ากบฏเงี้ยว” ก็ยังไม่สามารถจัดจำหน่ายได้
ก่อนจะถึงวันที่เหล้ากบฏเงี้ยว หรือมีชื่อตามเครื่องหมานยการค้าในนาม “SHAN” จะสามารถผลิตและจำหน่ายได้โดยไร้อุปสรรคขวากหนาม เราเลยชักชวน 3 หัวเรือสำคัญของโปรเจ็กต์นี้ มิ้นต์-อนันตรัฐ สุวรรณรัตน์, ดิว-อาทิตย์ ขวัญยืน และ ไทด์-พิชชานนท์ เจริญวัฒนวิญญู มาพูดคุยถึงไอเดียแนวคิดประวัติศาสตร์บาดแผล ตลอดจนความผูกพันของคนแพร่ที่ขาดเหล้าไม่ได้ ขอแนะนำให้หาเครื่องดื่มดี ๆ สักแก้วจิบประกอบการอ่านไปด้วยจะได้อรรถรส
ที่มาที่ไปในการริเริ่มทำเหล้า SHAN มาได้ยังไง
มิ้นต์ : เกริ่นก่อนว่าเหล้านี้เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ และการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เรากลุ่มนักเคลื่อนไหวในนามเครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยได้มีการพูดคุยโปรเจ็คนี้ตั้งแต่ต้นปี 2565 แต่ยังหาจังหวะเริ่มต้นไม่ได้ด้วยภาระหน้าที่ของแต่ละคน ประมาณเดือนกรกฎาคม ช่วงที่เราติดโควิดมีเวลามากพอที่จะทบทวนและร่างโปรเจ็คทำเหล้าที่เป็นรูปเป็นร่างต่อกลุ่มอีกครั้ง ในตอนแรกเราคิดถึงการทำคราฟท์เบียร์ เพราะส่วนตัวชอบดื่มประเภทนี้อยู่แล้ว แต่หากจะทำคราฟท์เบียร์จริงจังก็ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงพอสมควร และยังมีหลายขั้นตอนเพราะต้องส่งไปทำต่างประเทศ เรากลับมาคิดถึงเหล้าแพร่ จาก ต.สะเอียบ อ.สอง นี้แหละตอบโจทย์ทั้งเรื่องรสชาติและคุณภาพซึ่งขึ้นชื่อรู้กันทั่วไปอยู่แล้ว เราจึงหยิบยกอัตลักษณ์ทางรสชาติของเหล้าแพร่ มารวมกับคอนเซ็ปต์ทางประวัติศาสตร์กบฏเงี้ยวตั้งใจทำให้เหล้าเป็นประวัติศาสตร์และอุดมการณ์ที่ดื่มได้ พร้อมกับตั้งความหวังว่ามันจะช่วยหล่อเลี้ยงขบวนการเคลื่อนไหวไปพร้อมกันได้อย่างจริงจัง พอคอนเซ็ปต์มันชัดก็นำเสนอเพื่อนในกลุ่ม เป็นจังหวะพอดีกับปีนี้ ( 24 กรกฎาคม 2565) ครบรอบ 120 ปี เหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่
หลายคนสงสัยว่าทำไมถึงใช้ชื่อเหล้ากบฏเงี้ยว หรือ เหล้า Shan Rebellion หากอ้างตามประวัติศาสตร์ล้านนา ‘เงี้ยว’ คือคำที่คนเมืองในล้านนา เรียกชื่อชาวไต หรือ ไทใหญ่ แล้วคำว่า Shan Rebellion ก็หมายถึงกบฏเงี้ยวในภาษาอังกฤษ เราเจาะจงใช้ชื่อเหล่านี้ เพราะต้องการช่วงชิงความหมายใหม่ทางประวัติศาสตร์กบฎเงี้ยวเมืองแพร่ จากประวัติศาสตร์การกำเนิดรัฐชาติที่ตีตราผู้ถูกกดขี่เป็นผู้ต่อต้านขัดขืน สิ่งเหล่านี้มันอยู่ที่ว่าใครเป็นผู้ให้ความหมายและจะปฎิบัติการยังไงกับคำเหล่านั้น แต่สำหรับเหล้ากบฏเงี้ยวนัยยะสำคัญของมัน คือความพยายามช่วงชิงความหมายใหม่ของคำว่ากบฎเงี้ยวในรูปแบบของเหล้าขาวเมืองแพร่นี้แหละ ฝรั่งเรียกเหล้าพวกนี้ว่า Spirit เราก็ยังชิงความหมายนี้อีกโดยระบุสโลแกนบนฉลากว่า Spirits of Shan-Phrae สื่อไปถึงสุรากลั่นชุมชนที่กลั่นจากจิตวิญญาณของกบฏเงี้ยวด้วยเช่นกัน
ในอดีตเรื่องราวของกบฎเงี้ยวเป็นอะไรที่คนแพร่ไม่อยากพูดถึง มันเป็นบาดแผลของคนแพร่ที่ถูกตีตราว่าเป็นเมืองผู้ร้ายก่อกบฎ ประวัติศาสตร์กระแสหลักเงี้ยวคือกบฎผู้กระด้างกระเดื่อง แต่สำหรับเราคือผู้ต่อต้านขัดขืนจากการถูกกดขี่จากสยามผู้ล่าอาณานิคมภายใน เราจึงต้องการให้เหล้ากบฏเงี้ยวช่วงชิงความหมายใหม่ของประวัติศาสตร์แผลเป็นที่ติดตัวคนเมืองแพร่-คนเงี้ยวญาติพี่น้องของเรานับร้อนปี ผ่านเหล้าแพร่ที่มีรสชาติและคุณภาพที่ขึ้นชื่อ พร้อมกับการใช้เหล้าเป็นสัญลักษณ์ของผู้ปกป้องความหวังและเสรีทุกหนแห่ง แน่นอนว่าเหล้ากบฏเงี้ยวอยู่เคียงข้างผู้ถูกกดขี่และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพ เราไม่ได้พูดเล่นหรือพูดให้ดูดีนะส่วนหนึ่งกำไรจากการขายนอกจากใช้หล่อเลี้ยงหุ้นส่วนนักกิจกรรมในจังหวัดแพร่ เราตั้งใจอยากจะกระจายเข้าสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวในประเทศตามวาระและโอกาสที่เอื้ออำนวยนี่เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ
ดิว : เราเคยทำเสื้อแต่เสื้อซื้อได้แค่ครั้งเดียวแล้วจบ แต่เหล้านั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการกินการดื่ม มันเป็นวัฒนธรรม และจะทำให้คนสนับสนุนเราได้ตลอด เราจะไม่ให้มีภาพของการบริจาค แต่ใครอยากสนับสนุนก็แค่ซื้อของทางเราเท่านั้นเอง
มิ้นต์ : ถ้าจะขยายความเพิ่มให้ชัดเจนเรื่องของที่มาที่ไปและความมุ่งหมายของโปรเจ็คเหล้ากบฏเงี้ยว เราต้องการพิสูจน์ว่าอุดมการณ์กินได้ ถ้าหากเรายังเชื่อมั่นในอุดมการณ์ เชื่อมั่นในแนวคิดเหล้าของเรา เชื่อมั่นว่ามันคือเหล้าของการต่อต้านขัดขืนและเป็นการช่วงชิงความหมายใหม่ของกบฎเงี้ยว
อีกหนึ่งนัยยะสำคัญที่เราอยากให้เหล้ากบฎเงี้ยว หรือเหล้า Shan มันขยายความไปมากกว่านั้น คือการทำให้เป็นสัญลักษณ์เหล้าของผู้ถูกกดขี่เป็นเหล้าของผู้ต่อต้านขัดขืน ไม่ใช่ความเป็นกบฎที่สยามยัดเยียดให้เรา เราอยากให้ผู้คนตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์กระแสหลักในตำรา โดยใช้เหล้ากบฏเงี้ยวนี้แหละตั้งขวดเป็นกระทู้บนโต๊ะเทใส่จอกแล้วนั่งวิพากษ์ร่วมกัน เรายังอยากขยายความเป็นกบฎเงี้ยว มันไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ความเป็นกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ แต่มันสามารถกลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้ต่อต้านขัดขืนทุกคนที่ยังมีความฝัน ความหวังที่จะเห็นสังคมนี้ดีขึ้น มีคนตีความหมายหลังจากเราทดลองปล่อยคอนเซ็ปต์ว่า “เหล้ากบฏเงี้ยว คือการปลดแอกในปลดแอก” ประโยคนี้ใช้เป็นประโยคจบได้เลยในเชิงอุดมการณ์ เราดีใจมากที่ผู้คนรับรู้ถึงความมุ่งหมายที่เราพยายามสื่อสาร ข้อแรก เราทำเหล้ากบฏเงี้ยว เพื่อสอดแทรก ในเชิงทางประวัติศาสตร์ ข้อที่สองเราต้องการให้เป็นสัญลักษณ์ของผู้ปกป้องความหวังและเสรี และข้อที่สาม เราต้องการปลดแอกจากเหล้านายทุนใหญ่ สนับสนุนการผลิตสุราประชาชน
ที่กล่าวมาทั้งหมดน่าจะเป็นจังหวะที่ลงตัวที่สุดของโปรเจคเหล้ากบฏเงี้ยวทั้งพลวัตทางสังคมและประวัติศาสตร์ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการริเริ่มคอนเซปต์ ประกอบกับในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา มีนักวิชาการหลายคนถกเถียงและนำเสนอประวัติศาสตร์กระแสรองของเมืองแพร่ที่ต่างไปจากประวัติศาสตร์ความเป็นราชาชาตินิยมในยุคของการสร้างรัฐชาติ โดยเฉพาะ อ.ชัยพงษ์ สำเนียง เป็นจังหวะเดียวกันที่ประวัติศาสตร์กระแสรองมันกลับคืนมาในอีกหลายแห่ง พร้อมกันกับกระแสธารความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศนี้ คนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษาสนใจย้อนกลับไปตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์การต่อต้านขัดขืนในอดีต ภาคเหนือเรามีกบฎเงี้ยว ภาคอีสานก็มีกบฏผู้มีบุญ และกบฏเจ้าแขกเจ็ดหัวเมืองในภาคใต้ แล้วเหตุการณ์มันเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันระหว่างที่รัชกาลที่ 5 พยายามรวบอำนาจ หรือนักประวัติศาสตร์เรียกว่าการล่าอาณานิคมภายใน ถ้าในประวัติศาสตร์กระแสหลักก็จะสอนให้เราเชื่อว่ามีภัยคุกคามจากต่างชาติและท่านรวมอำนาจเพื่อสร้างเป็นรัฐชาติเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของผืนแผ่นดินไทย เราอยากใช้โอกาสนี้ชวนทุกคนให้กลับไปตั้งคำถามใหม่ผ่านเหล้ากบฏเงี้ยว
ความผูกพันระหว่างคนแพร่กับเหล้า มันเป็นเรื่องที่ขาดกันไม่ได้
มิ้นต์ : ส่วนตัวเรานึกถึงคำหนึ่ง คือคำว่า “เหล้าไหไก่คู่” เป็นคำพูดที่คนเมือง-คนล้านนาเราพูดกันติดปากในพิธีกรรมเลี้ยงผี สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนว่าศาสนาผีและเหล้าขาวมันอยู่ในวิถีชีวิตผู้คน เวลาจะทำไร่ทำนาก็จะต้องเลี้ยงต้องบนผีเพื่อหวังให้ได้ผลผลิตดีฟ้าฝนเป็นใจหรือแม้แต่คุ้มโทษคุ้มภัย แม้แต่ทำของหายก็ยังบนบานผีเพื่อให้หาเจอ ติดสินบนด้วยเหล้าไหไก่คู่ อยากได้อะไรก็บนบานศาลกล่าว ดังนั้นเหล้ามันอยู่ในวัฒนธรรมและยึดโยงตั้งแต่เกิดจนตาย เกิดแก่เจ็บตายมันมีเหล้าอยู่ งานศพก็มีเหล้า ตูบผีก็มีเหล้า ผีไร่ผีนาที่คนเมืองเรียกว่าผีเจ้านา ผีเจ้าที่มีผีบริวาร ที่เลี้ยงไก่คู่ก็คือเจ้านาหนึ่งตัว และของผีบริวารหนึ่งตัว ตามความเชื่อของชาวบ้านเชื่อว่าธูปที่กำลังมอดดับลงคือเขากำลังกิน และถ้าธูปดับก็ลาเอากลับมากิน เหล้ามันจึงผูกพันในรูปแบบของพิธีกรรมในรูปแบบของความเชื่ออย่างศาสนาผีมาช้านาน บ้านเราเองนับถือพุทธ แต่ดูเหมือนว่าเราจะคลุกคลีไหว้ผีมากกว่าพระพุทธ จากประสบการณ์ส่วนตัวเหล้าแพร่ มันอยู่ในทุกโอกาสทุกเทศกาลทั้งสุขและโศก ผู้คนบ้านเมืองนี้เท่าที่รู้ต้มเหล้าเป็นกันทุกหมู่บ้าน มีเคล็ดลับและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่นี้เป็นความลุ่มรวยทางภูมิปัญญาของท้องถิ่น แต่กฎหมายทำให้เหล้า ทำให้วัฒนธรรมกินดื่มเหล้าขาวเป็นของเถื่อน
ไทด์ : แพร่เป็นเมืองที่มีความหลากวัฒนธรรมหลายประเพณี ปฎิเสธไม่ได้ว่ามีเหล้าเป็นส่วนหนึ่งในนั้น ซึ่งประเพณีต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนถูกสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงตัวเหล้าของแพร่ด้วยที่ถูกสืบทอดมาเช่นกัน จึงทำตัวเหล้าของแพร่นั้นมีทั้งรสชาติกับกลิ่นที่หลากหลาย ตามบริบทพื้นที่ชุมชนและวัฒนธรรมตามชุมชนนั้น ๆ
กระบวนการทำเหล้ายากง่ายยังไงบ้างกว่าจะออกมาเป็น เหล้า SHAN เหล้ากบฎเงี้ยว
มิ้นต์ : ต้องกลับไปที่สะเอียบเลย เพราะว่าเราเลือกเหล้าจากสะเอียบ ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ชาวบ้านเขาผลิตเหล้าขาวมานับร้อย ๆ ปี จากรุ่นสู่รุ่น ใช้น้ำจากภูเขาไฟในดินแดนสะเอียบ
ดิว: สะเอียบเป็นดินแดนภูเขาไฟเก่ามีบ่อน้ำหล่มด้ง คือน้ำจากป่าเข้าไปเก็บกักอยู่แล้วชาวบ้านต่อท่อลงมาเพื่อจะเอามากลั่นมาต้มกับตัวข้าวหม่า ข้าวเหนียว เพื่อที่จะมาหมักเหล้าต้มเหล้า นัยยะเดียวกับการใช้น้ำแร่ธรรมชาติ มันจึงดีกว่าเอาน้ำปะปามาทำ น้ำในพื้นที่สะเอียบมีสองอย่างคือหล่มด้งโดยตรงและดูดขึ้นมาจากน้ำยม รสชาติเหล้าก็แล้วแต่วัตถุดิบ ในตัวเหล้าก็จะมีข้าวเหนียว ความหอมก็ไม่เหมือนกัน ความกลมกล่อมก็ไม่เหมือนกัน สูตรเหล้าแต่ละสูตรก็ไม่เหมือนกัน ถ้าพูดถึงความยากง่ายของการทำเหล้าคือเราไม่มีทุนสร้างโรงงาน เราต้องหาผู้ประกอบการที่จะจับมือกัน แนวคิด หลักการ อุดมการณ์ก็ต้องสอดคล้องกัน ก่อนที่จะเป็นสะเอียบพอดีพี่ดิวเป็นลูกหลานสะเอียบ ทางเครือข่ายเลยตกลงกันเลือกโรงงานของอาพี่ดิวที่สะเอียบ เราก็เลยลงพื้นที่ไปหาโรงงานแต่ปัญหาคือเขาไม่พร้อมที่จะทำให้เรา ด้วยทั้งชื่อของเหล้า ทั้งอุดมการณ์ของเหล้า ซึ่งอาของพี่ดิวอยู่ในช่วงที่ตั้งตัวได้ทุกอย่างและกลัวผลกระทบกับโรงงาน เราจึงมาหารือกันใหม่แล้วไปหาอีกโรงงานหนึ่งรองลงมาจากโรงงานของอาพี่ดิว แต่คือต้องมีทุนตั้งต้นที่สูงมากในการทำ ซึ่งแนวคิดในการเลือกโรงงานของเราคือจะไม่เอาเจ้าใหญ่ และจะมีเจ้าอื่นที่เราไปเสนอแล้วแนวคิดไม่สอดคล้องกัน เราเลยพยายามค้นหาโรงงานในสะเอียบประมาณ 4 – 5 รอบ จนมาหยุดอยู่ที่โรงงานสุดท้ายนี้ที่ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ตัวนี้ เขามีแนวคิดและเราก็แบ่งปันแนวคิดของเราให้ฟัง ประกอบกับเขาเป็นผู้ประกอบการรายเล็กและพร้อมที่จะโตไปด้วยกัน ถ้าสินค้าเหล้าไปได้ดี เขาทำการผลิตและพวกเราทำการตลาด สาเหตุว่าทำไมเราถึงเลือกเจ้านี้ เพราะว่าอันดับแรกเขาไม่ใช่เจ้าใหญ่ในพื้นที่และเป็น Start up กำลังเริ่มโตและวัยใกล้เคียงกันและเขาไม่ได้กลัวเรื่องการเมือง
มิ้น : หลังจากได้เราชี้แจงว่าสิ่งที่เราทำคือเหล้าซึ่งเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ มันไม่ใช่เหล้าม็อบเขาก็เข้าใจแนวคิดเหล้าของเรา สองเรื่องปรับปรุงสูตรเหล้าให้มันเป็นอัตลักษณ์ พอชัดในอัตลักษณ์ของเหล้าเราทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เราก็อยากได้รสชาติที่มันดีขึ้น คืออัตลักษณ์ของเหล้าแพร่ยังอยู่แต่รสชาติมันก็ต้องดี กินแล้วต้องรู้สึกว้าว เหล้าขาวทำได้ดีถึงขนาดนี้ได้เลยหรอ ซึ่งต้องบอกว่าภูมิปัญญาชาวบ้านเหล้าที่เขาต้มเองมันดีมากมากอยู่แล้ว แต่ด้วยกฏหมาย และข้อจำกัดอะไรหลายอย่าง มันทำให้เหล้าไม่ได้เป็นเหล้าคุณภาพทั้งกลิ่นและรูปรสที่เขาอยากจะให้เป็น ต้นทุนก็จำกัด ซึ่งก็จะเชื่อมโยงไปที่สาเหตุทางกฏหมาย กฎกติกาที่กักขังความสร้างสรรค์ของผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยเฉพาะเหล้าในสะเอียบที่มีเยอะมากแทบทุกบ้านต้มเหล้ากินเอง กฏหมายระบุว่าเหล้าขาวต้องเป็นเหล้าขาวจะเป็นเหล้าสีไม่ได้ มีข้อจำกัดทางสรรพสามิตชัดเจน ข้อสามคือรสชาติ พี่มิ้นต์เป็นคนที่ชอบเบียร์มากกว่าเหล้า แต่พอมาทำเหล้าแล้ว เจ้านี้เป็นเหล้าที่พี่มิ้นต์กินแก้วต่อแก้วแล้วมันอร่อยมาก เลยคิดว่านี่แหละเป็นเหล้าที่เราตามหา ซึ่งเหล้านี้เป็นสูตรดั้งเดิมของเขา เขาไปเอาเหล้าที่เขาเก็บไว้มาให้เราทดลองชิม และเขาก็บอกว่าเราจะขายแบบนี้ใช่ไหม พอเราชิมแล้วมันเกิดความโอเคในแบบที่ว่าเราตามหาเหล้าแบบนี้ที่กินง่าย ไม่รู้สึกข่าบาดคอจนเกินไป ตอนแรกเราตั้งดีกรีไว้ที่ 40 เราต้องการรสชาติที่กินแล้วรู้เลยว่านี้คือเหล้าแพร่ และให้เข้าถึงคนได้มากที่สุด หลังจากนั้นเราก็มาใช้ตัวเทสเตอร์มาทดลองให้หลาย ๆ คนกิน ทั้งคนแก่ห้าสิบขึ้นไป ช่วงอายุสามสิบถึงสี่สิบ ต่ำกว่าสามสิบก็ชิมประมาณยี่สิบห้า เขาบอกเหมือนเหล้าที่เขาเคยกินสมัยเด็ก ๆ มันเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นเหล้าแพร่ ทุกคนบอกว่ามันเป็นเหล้าเถื่อน แต่เหล้าเถื่อนปัจจุบันมันขาดอัตลักษณ์ตรงนี้ไปนานแล้ว จริง ๆ เหล้าเถื่อนไม่จำเป็นต้องกินแล้วข่าที่สุด เข้มที่สุด เพราะเราเน้นที่รสชาติหอมหวานของข้าวเหนียวซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของสะเอียบ เหล้าคำน้ำคำ ยิ่งช่วยชูรสชาติ aftertaste ที่มีกลิ่นหอมของข้าวเหนียวชั้นดีที่เราตั้งใจคัดสรร และยังมีกลิ่นคาราเมลเล็กน้อย รสชาติจึงหอมหวานดื่มง่าย โดยที่เราอยากคงอัตลักษณ์ตรงนี้ไว้ของเหล้าสะเอียบ เมืองแพร่ สำหรับเหล้ากบฏเงี้ยวเราจะไม่แต่งกลิ่นพยายามเป็นอื่นเด็ดขาด
ดิว : กระบวนการทำเหล้ายากไหม จริง ๆ มันจะติดปัญหาอยู่ตรงผู้รับเรื่องเราก็คือ “สรรพสามิต” ถ้าพูดในเชิงที่ว่าเป็นประชาชนคนหนึ่งที่เข้าไปติดต่องานติดต่อราชการนั้น จะมีปัญหาตรงที่ว่าทางเขาให้ข้อมูลเราไม่ชัดเจน ข้อมูลในการทำเหล้าเขาไม่ได้บอกว่าเราต้องไปเตรียมเป็นขั้นเป็นตอนยังไง ปัญหาคือเราต้องไปหาข้อมูลเองว่าการจะทำเหล้าส่งสรรพสามิตเพื่อขออนุญาตจะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง เราเข้าไป ไปได้มาอย่างหนึ่งก็ตีกลับมา พอตีกลับมาก็ต้องวนเข้าไปหลาย ๆ รอบ ซึ่งสุดท้ายมามันก็ไม่จบ พอมันไม่จบก็กลายเป็นว่าเราต้องแก้เรื่อย ๆ ซึ่งเป็นระยะเวลานานและขาดความชัดเจน จริง ๆ แล้วระบบราชการควรต้องมีอะไรที่ชัดเจนกว่านี้ ถามว่ายากไหมถ้าในประสบการณ์ที่เดินเรื่องต้องบอกเลยว่ายากมาก ยากตรงระบบราชการ บอกเลยว่าเสียเวลา ในส่วนของภาษี แสตมป์ ก็ค่อนข้างถีบตัวสูง ประมาณ 30% คิดตามราคาเหล้า ทั้งราคา ดีกรีและขนาดขวดด้วย ในยุคที่ Otop เฟื่องฟู สมัยรัฐบาลทักษิณดึงเอาผู้ประกอบการณ์เหล้าเถื่อนเข้าไปในระบบและตั้งแสตมป์ภาษีไม่ถึง 10 บาท แล้วทีนี้ทุกคนมากวาดซื้อแสตมป์ไว้ พอจะขายครั้งหนึ่งก็เอาแสตมป์ตัวเองที่มีเอามาติดและก็ขาย แต่ระบบใหม่คือถ้าคุณจะปล่อยของจากโรงงานล็อตหนึ่งคุณต้องรีบมาซื้อแสตมป์ที่สรรพสามิตจังหวัด สมมติว่าจะปล่อยของ 100 กล่องก็ตีไปเลยว่ากล่องละกี่ขวด 35 ดีกรีตอนนี้ ราคาแสตมป์อยู่ที่ 40 กว่าบาท ต้นทุนมันสูงขึ้น ผู้ประกอบการหลาย ๆ เจ้าเลยไม่อยากอยู่ในระบบ อีกประเด็นหนึ่งอุปสรรคก็คือเรื่องของราคา ราคาสำคัญมาก เราเลือกขวดที่แตกต่างจากคนอื่น แต่ต้นทุนเราก็สูงขึ้น มันเป็นระบบตลาดของทุนนิยม คุณซื้อเยอะ กับคุณซื้อปลีกกับซื้อส่งราคาต่างกันมาก หนักกว่านั้นนายทุนสั่งผลิตขวดของตัวเองขึ้นมาเองเลย แต่เราต้องมาซื้อเองทั้งหมด คำนวณต้นทุนรวมกล่อง ขวด ภาษี ค่าขนส่ง ค่าดำเนินการ ทั้งหมดคือต้นทุนที่ผู้ประกอบการรายย่อยอย่างเราแบกรับ และต้องยอมแลกเพื่อให้ได้เหล้ากบฏเงี้ยวที่แตกต่างและมีคุณภาพ
มิ้นต์ : ราคาต่อขวดเหล้ากบฏเงี้ยว ขนาด 750 ml (ตามภาพตัวอย่างสินค้า) ของเราตั้งไว้ที่ 390 บาท เหล้าขาวราคานี้หลายคนฟังแล้วอาจตกใจ แต่คุณจะได้ดื่มเหล้าที่มีคุณค่าจากสตอรี่ทั้งหมดที่เราเล่ามาและยังได้เหล้าแพร่คุณภาพพรีเมี่ยมก็ต้องบอกว่าคุ้มค่า คุณค่าเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราพยายามนำเสนอทั้งรสชาติและเรื่องราวเพื่อให้ผู้คนเล็งเห็นคุณค่าของคราฟต์สุราไทยผลิตภัณฑ์เหล้าขาวที่เขาตั้งใจผลิตในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ถามว่าแพงไหม ราคาก็อาจจะไม่ได้แพงแต่ก็ไม่ได้ถูก ราคาอยู่ระดับกลาง ๆ ผู้คนยังเข้าถึงได้เมื่อเทียบกับระดับราคาเหล้าขาวพรีเมียมและสุราต่างประเทศประเภทเดียวกัน ในอนาคตเรามีแผนผลิตขวดเล็กขนาด 330 ml ที่ราคาลดลงต่ำกว่าร้อยบาทช่วยให้ทุกคนเข้าถึงได้มากขึ้นในขณะที่คุณภาพและสตอรี่ยังคงไว้อย่างแข็งแกร่งเช่นเดิม
ถ้าคุณสนับสนุนเหล้ากบฏเงี้ยว คุณจะได้เหล้าแพร่รสชาติดี ได้ร่วมช่วงชิงความหมายจากสตอรี่ประวัติศาสตร์ของกบฎเงี้ยว และยังได้เหล้าที่อยู่เคียงข้างผู้ถูกกดขี่ ยิ่งไปกว่านั้นคุณยังได้สนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กในท้องถิ่นที่ตั้งใจทำเหล้ามาเพื่อให้ทุกคนร่วมดื่มด่ำรสชาติของผู้ปกป้องควาทหวังและเสรี
การถูกห้ามใช้ถ้อยคำและภาพกบฎ เรามีความเห็นอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ้าง
มิ้นต์ : Shan Rebellion’ ฉลากแรกที่เราตั้งต้นทำกัน ถูกลดทอนโดยตัดคำว่า ‘Rebellion’ ที่หมายถึง ‘กบฏ’ ออกไป ซึ่งนี้เป็นความยากในการอยู่ในกรอบกติกาของกฏหมายรัฐไทย สรรพสามิตพื้นที่แจ้งว่าไม่ให้ใช้คำว่า Rebellion อัางตามประกาศของสรรพสามิต เพราะมันสื่อถึงการยุยงปลุกปั่นความรุนแรง เราจึงยอมตัด Rebellion ออกเหลือไว้แค่ ‘Shan’ จากนั้นเราส่งสรรพสามิตพิจารณาอีกรอบ พบปัญหาฉลากเป็นรูปกบฏเงี้ยวไม่ผ่านอีกอีก จริง ๆ รูปกบฏเงี้ยวนั้นบางคนกังวลเรื่องลิขสิทธิ์ แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ต้องสืบไปถึงต้นตอ เราพบว่ามันมีการอ้างจากหนังสือของพระรูปหนึ่งที่เขาเขียนเรื่องราวของกบฏเงี้ยว ก็คือไม่มีการอ้างเป็นเจ้าของ แต่มันปรากฏที่นั้นเป็นที่แรก มีนักวิชาการคนหนึ่งใช้เป็นภาพหน้าปกหนังสือเกี่ยวกับกบฏเงี้ยวก็อ้างอิงจากหนังสือของพระรูปนั้นมา เราก็เลยคิดว่ายากที่จะสืบตามหาเจ้าของ แต่พอสืบย้อนไปที่กฏหมายลิขสิทธิ์ถ้ามันเกิน 50 ปี ก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะฉะนั้นทางเราเริ่มมีความหวังว่า รูปนี้มันต้องใช้ได้และดัดแปลงได้ ซึ่งฉลากเก่าที่เป็นภาพกบฏเราดัดแปลงมาเป็นลายเส้นปากกา สรรพสามิตได้เตือนว่าฉลากภาพกบฏเงี้ยวข้างหน้าและข้อความบนฉลากข้างหลังไม่ผ่าน เรากลับมาแก้ไขและทำฉลากสำรองซึ่งเป็นรูปตัวมอมขึ้นมาเป็นฉลากที่สำรองส่งพิจารณาใหม่ แต่สำหรับข้อความด้านหลังฉลากที่เป็นอีกหนึ่งปัญหา เราก็ยังคงสงสัยว่าข้อความเหล่านี้ “ฉาน สุราประวัติศาสตร์ที่ดื่มได้ ให้เหล้าขาวบอกเล่าเรื่องราวขบวนการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของเงี้ยวเมืองแพร่ ในปีพุทธศักราช 2445 ร่วมดื่มด่ำรสชาติของผู้ปกป้องความหวังและเสรี” มันมีอะไรที่บิดเบือนประวัติศาสตร์หรือกล่าวโทษยุยงปลุกปั่นใคร เนื่องจากทางสรรพสามิตตีความว่าฉลากมันเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และมีข้อความที่คล้ายยุยงปลุกปั่น ผิดตามประกาศของสรรพสามิตและกระทรวงสาธารณสุข
ดิว : โดยแท้จริง พ.ร.บ. นี้เป็น พ.ร.บ.ของสาธารณสุข แต่สรรพสามิตกลับนำมาใช้แทน เราเลยมีความงงงันว่าทางนั้นคือสรรพสามิตแต่ทำไมกลับนำ พ.ร.บ. ของสาธารณสุขมาใช้เพื่อที่จะกำหนดฉลากกับเหล้าทั้งหมด ท้ายสุดทางเราประชุมกันว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเหล้าจะไม่สามารถออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้สักที จึงต้องนำเอาฉลากรูปมอม ส่งไปให้พิจารณาให้ผ่านก่อน ด้วยข้อจำกัดด้านต้นทุนทั้งแรงงาน เวลาและสายป่านที่ถ้าขัดขืนต่อเราจะยิ่งลำบาก ซึ่งเราก็เสียเวลาไปครึ่งปีแล้ว สำหรับเรื่องการออกแบบฉลาก ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการส่งพิจารณา รวมถึงการลงพื้นที่วิจัยและพัฒนาสูตรเหล้าด้วย ก็เลยมีมติกลุ่มในหมู่หุ้นส่วนให้ปรับแก้ไขฉลากเพื่อให้ผ่านการพิจารณาของสรรพสามิต แต่ให้คงไว้ในคุณค่าสตอรี่ของเหล้ากบฏเงี้ยวทุกประการ ซึ่งเราก็จะพยายามส่งต่อเรื่องราวคุณค่าและอุดมการณ์ทั้งหมดแม้ว่าจะไม่มีภาพกบฏเงี้ยวและข้อความบนฉลากที่ปรากฎคำว่า “เหล้ากบฏเงี้ยว” และ “Shan Rebellion” ก็ตาม
มิ้นต์ : ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ทางเราปล่อยตัวคอนเซ็ปโครงการเหล้าออกไป มีกระแสตอบรับดีและคนอยากซื้อทำให้รับรู้ได้ว่าโครงการเหล้าของเราสามารถไปต่อได้ เพียงแค่ขอให้ผ่านกระบวนการติดแสตมป์ตามกฎหมายนำออกจำหน่ายได้ก่อน เรายอมลดทอนรูปแบบของฉลากหลาย ๆ อย่างที่สรรพสามิตไม่ให้ผ่านออกทั้งหมด หากเปรียบเทียบกับเหล้าต่างประเทศที่สามารถใส่เรื่องราวของเหล้าลงบนฉลากได้อย่างน่าสนใจ หลายเจ้าอ่านเพลินได้อ่านประวัติศาสตร์ของแต่ละโรงเหล้า โดยรูปแบบของขวดและรวมถึงการออกแบบฉลากเหล้าของต่างประเทศมีความสร้างสรรค์เสรีและชูโรงมากไม่แพ้คำโปรยของรสชาติ เช่น เหล้าไวท์สปิริตในอังกฤษ เหล้าจินเจ้าดังที่ขึ้นชื่อของเค้ามีความเป็นมาแบบไหน สามารถเล่าเรื่องราวได้โดยไม่ถูกกำหนด แม้กระทั่งบอกสูตรผสมค็อกเทลแนะนำเลยก็มีให้เห็นบนขวด แต่รัฐไทยกลับมองว่าเป็นการทำโฆษณาชวนเชื่อให้คนมาซื้อเหล้า อีกทั้งกฎหมายก็ไม่ให้ขายผ่านออนไลน์อีก สิ่งเหล่านี้คือความยากที่ท้าทาย เมื่อมีใครสักคนอยากจะทำเหล้าที่มันมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ และอยากนำเสนออัตลักษณ์ของความเป็นเหล้าแพร่ ชูความเป็นเหล้าคราฟต์สปิริตนอกเหนือจากเหล้านายทุนใหญ่ในท้องตลาดทั่วไป ยากแค่ไหนเราก็ยังอยากจะทำเหล้าที่มีคุณภาพที่ทุกคนเข้าถึงคุณค่าความหมายและได้รับความสุขจากการดื่มด่ำนี้ให้ได้ แต่กลับโดนข้อจำกัดเรื่องทุนและเรื่องกฎหมายกักขังไว้ ทั้งหมดทั้งมวลมันเลยเป็นความยากของคนที่จะทำเหล้า เริ่มจากต้องประนีประนอมกับกติกาของรัฐไทยให้ได้ก่อน และในนามของกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยที่ทำเหล้ากบฎเงี้ยวก็หวังว่าปีหน้าฟ้าใหม่การเปลี่ยนแปลงจะมาถึง โดยเฉพาะกฏหมาย พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เราหวังว่าในอนาคตพ.ร.บ.นี้จะผ่าน ซึ่งมันจะทำให้เหล้ากบฎได้ผุดขึ้นมาจากใต้ดิน รวมทั้งเหล้าจากแหล่งอื่น ๆ ในประเทศนี้ด้วยเช่นกัน เรายินดีมากที่ได้เห็นเหล้าหลาย ๆ เจ้าผุดขึ้นมา เพื่อความหลากหลายและคนทำเหล้าจะยิ่งสนุกในการได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ เหล้าจะยิ่งพัฒนาขึ้นถ้ากฎหมายไม่กักขังเรา ปัจจุบันกฏหมายที่บังคับใช้ดูเหมือนความพยายามปิดกั้นเราไม่ให้เติบโตไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้เต็มศักยภาพและเป็นธรรม คล้ายกับว่าอยากให้อยู่ในกรอบกรงแสนจำกัด ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นก็ต้องย้อนกลับไปที่ตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดใครเป็นเจ้าตลาดบ้างมีกี่เจ้านั่นแหละต้นตอ ซึ่งอันที่จริงนายทุนก็เล่นในพื้นที่ของเขา เราก็เล่นในพื้นที่ของเรา ผู้บริโภคจะเป็นคนตัดสินเอง
ยกตัวอย่างล่าสุด 28-29 พ.ย. จังหวัดแพร่มีงาน ‘แพร่แข็งจด’ นี่เป็นครั้งแรกที่เมืองแพร่มีงานจัดรวมสุรากลั่นชุมชนเยอะขนาดนี้ ก็มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ไปปรับงานนี้ 50,000 บาท แล้วก็อย่างที่เราเคยตั้งคำถามว่าเหตุใดถึงไม่ชูเหล้าแพร่ทั้งที่เมืองแพร่เป็นเมืองเหล้า แต่ทำไมไม่เคยมีกิจกรรมเช่นนี้เกิดขึ้น มันอาจจะเป็นเรื่องของศีลธรรมอันดีหรือเป็นเรื่องของกฎหมายที่บังคับใช้หลายมาตราฐาน เราเคยเห็นงานเหล้าเบียร์ประกาศขึ้นป้ายโลโก้แผ่หราตามเทศกาล งานคอนเสิร์ตใหญ่ส่องไฟวิบวับทำไมถึงไม่ค่อยมีปัญหา เขาอาจจะอ้างว่าเป็นป้ายโลโก้น้ำดื่มที่ใช้ตกแต่งก็ได้ ในขณะที่การจัดงานสุรากลั่นชุมชนกันแบบนี้ทำไมต้องมีการร้องเรียนเกิดขึ้น แล้วสุราชุมชนจะเติบโตไปต่อกันได้ยังไง จะเอาทุนที่ไหนไปสู้พลิกแพลงแข่งขันในเชิงโฆษณาทุนเราน้อยมันสู้สนามนั้นยากอยู่แล้ว หันกลับมามองที่รัฐว่ามีความจริงใจสนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่เกิดจากวิสาหกิจชุมชนแค่ไหน แม้ท่าทีของบางหน่วยงานของรัฐจะดูเหมือนว่าพยายามสนับสนุนและพากันไปดูงานที่ต.สะเอียบ พร้อมกับโฆษณาว่าเมืองแพร่มีสุรากลั่นชุมชนของดีอยู่ที่นี่ แล้วยังไง คราวที่ประชาชนรวมกลุ่มจัดงานสุรากลั่นชุมชนกลับโดนกฎหมายขัดขวางการทำมาหากินที่จะต่อยอดไปถึงการพัฒนาสุรากลั่นชุมชนในประเทศซะอย่างนั่น เจ้าหน้าที่รัฐมักมองเรื่องการบังคับใช้กฎหมายว่าต้องห้ามและปราบปรามไว้ก่อน การส่งเสริมสนับสนุนไม่ค่อยจะมีให้เห็นกัน เพราะไม่ได้พิจารณาถึงการบังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติที่มีเรื่องของความเหมาะสมบริบทสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมท้องถิ่น กฎหมายไม่จำเป็นต้องห้ามหรือมีบทลงโทษรุนแรงตามจับปรับเสมอไป เจตนารมณ์ของกฎหมายก็เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ตรงนี้ถ้าแก้กฎหมายสุรามันก็ช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ ประชาชนมีช่องทางทำมาหากินมากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น รัฐได้ประโยชน์จากการจัดเก็บภาษีมากขึ้นแน่นอน ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ไม่ต้องเหนื่อยวิ่งหนีวิ่งไล่จับกันอย่างที่เห็น แต่ทำไมถึงไม่ยอมแก้กฎหมายใครกันที่เสียประโยชน์?
ในนามของเหล้ากบฎเงี้ยว เราก็อยากจะเป็นเสียงหนึ่งที่ร่วมส่งเสียงนี้ให้ดังไปถึงผู้มีอำนาจ ย้ำอีกครั้งว่าถ้าหน่วยงานรัฐจริงใจและจริงจังในการสนับสนุนสุรากลั่นชุมชนที่มีประชาชนเป็นเจ้าของจริง ก็ควรต้องปรับแก้กฎหมายที่เป็นธรรมและไม่ขัดขวางศักยภาพของผู้ประกอบการ พร้อมกับลดข้อจำกัดทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคของการสร้างสรรค์รสชาติและคุณภาพสุราไทย แน่นอนว่าเรายืนยันจะสนับสนุน พ.ร.บ. สุราก้าวหน้าจนกว่าจะผ่านสภาทุกยุคทุกสมัย เหล้ากบฎมันเป็นเหล้ากลุ่มนักเคลื่อนไหวจังหวัดแพร่ที่มีภาพแปะป้ายชัดเจนอยู่แล้วตรงกับจุดมุ่งหมายของเราเช่นกันที่อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนในประเด็นเรื่องของกฎหมายที่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการผลิตสุรากลั่นชุมชน
ดิว : ในประเด็นของ พ.ร.บ. สุราก้าวหน้านั้น ในนามของเครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยแพร่ เรารู้สึกเสียใจในเรื่องของการโหวต ส.ส. ในพื้นที่ ที่มีทั้งหมดอยู่ 4 คน โดยมีสส. ที่เห็นชอบอยู่คนเดียวก็คือ หมอนิยม อีกสองคนไม่เห็นชอบและคนสุดท้ายงดออกเสียง เราไปได้ยินคนน่านพูดบอกว่า เมืองแพร่เป็นเมืองทำเหล้า แล้ว พ.ร.บ. ตัวนี้เป็น พ.ร.บ. ที่สนับสนุนเหล้า แต่สส.ในพื้นที่กลับโหวตสวนทางกับความเป็นจริง วันที่โหวตเสร็จ เราเลยไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แสดงบทบาทสมมติอยู่หน้าสรรพสามิต จ.แพร่ เราก็ใช้เหล้ากบฎเงี้ยวแต่ในขวดนั้นไม่ใช่เหล้านะมันคือน้ำเปล่า เป็นขวดเดียวกับที่ติดฉลากรูปกบฏเงี้ยวที่ไม่ผ่านสรรพสามิตนี้แหละไปกรอกปากคนที่สวมบทเป็นส.ส. แพร่ที่ไม่ยอมโหวตให้ผ่าน แล้วถามว่าความเห็นของเคคนแพร่ เมืองเหล้าขาวส่วนใหญ่สนับสนุน พ.ร.บ. สุราก้าวหน้าแน่นอน คนแพร่อยากให้ผลักดันกฎหมายนี้จนผ่านเพราะว่าถ้าไปดูรายละเอียดโดยแท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องของการจัดเก็บรายได้อีก มันต้องอธิบายกันอีกเยอะ มันไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการณ์มองว่ามันจะเกิดคู่แข่งเยอะ ถ้าผู้ประกอบการมองว่าไม่อยากให้เกิดคู่แข่งเยอะ เรามองว่าต้องการที่จะผูกขาดหรือเปล่า คนรุ่นใหม่เขาก็อยากมีอาชีพมีทางเลือก ในเมื่อเขามีไอเดีย ก็เอาไอเดียตรงนั้นมาลงเล่นกับผลิตภัณฑ์ เพื่อเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และผู้บริโภคเท่านั้นเป็นผู้ตัดสินใจ จะซื้อไม่ซื้อ จะอุดหนุนยังไงก็แล้วแต่เขา เพราะฉะนั้นแล้วตามความคิดเห็นก็คือ มันอยู่แค่คนบางกลุ่มในสภา พอถึงเวลาแล้วคาดว่าฟ้าใหม่ปีหน้าถ้าเราได้สภาใหม่ขึ้นมา ร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้านี้ก็น่าจะเข้าไปอีกรอบ ถ้า พ.ร.บ. ตัวนี้ผ่านก็ต้องรอดูการเติบโต เพราะคิดว่ากระแสคนรุ่นใหม่น่าจะมีองค์ความรู้แปลกใหม่ ให้มาเล่นกับผลิตภัณฑ์ตัวนี้ หรืออาจจะเป็นตัวอื่นด้วยก็ได้ อาจจะไม่ใช่แค่เหล้าขาว อาจจะเป็นไวน์ หรือผลิตภัณฑ์แอลกอฮอร์เหมือนโซจู ที่เบาลงมา 5 % หรือ 13% ให้มันหลากหลาย เพราะว่าตลาดตอนนี้คนกินเหล้าไม่ใช่กินแค่สังสรรค์ บางทีกินเพื่อสังคม ถ้าเรามามองในแพร่ตอนนี้ ถามว่าผู้ประกอบการร้านเหล้ามีเยอะ แต่ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอร์มันจะค่อนไปทางนายทุนเพราะหาซื้อง่าย ตอบโจทย์กับร้านเหล้าเพราะว่ามันมีแรงจูงใจมีระบบของเขาว่าคุณซื้อเท่านี้ แล้วคุณก็จะได้จัดอีเวนต์ จัดลานเบียร์ มีสปอนเซอร์มีสาวเชียร์เบียร์ มีคอนเสิร์ตเข้ามา อันนี้คือทุนใหญ่ ซึ่งถ้าถามว่าผู้ประกอบการบ้านเรานั้นทำได้ไหม คงไม่ได้และยาก แต่ก็คาดว่าเปิดหัวมาแล้ว แพร่แข็งจด วงเล็บเป็นครั้งที่ 1 และคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นต่อไป ได้รับรู้มาว่ามีหลายคนพยายามผลักดัน ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่เกิดงานอย่างนั้น คิดว่าน่าจะมีงานต่อ ๆ ไป พี่คิดว่าเรากำลังสร้างคุณค่าใหม่ว่าผลิตภัณฑ์ชุมชนเราได้กินคราฟต์สุราดี จ่ายแล้วคุณได้สิ่งเหล่านี้กลับไป ต่างจากเหล้านายทุนที่ไม่ตอบโจทย์ตรงนั้น เรายอมสู้และเราหวังว่าผู้บริโภคจะเห็นคุณค่าในสิ่งเดียวกันนี้ คุณซื้อเหล้าไปคุณได้สนับสนุนหลายอย่างมาก คุณได้สนับสนุนท้องถิ่น สนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กที่เราไปจับมือเขามา เราอยากทำเหล้าShan เราจะใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘Shan’ แต่ลึก ๆ แล้วมันคือ ‘เหล้ากบฎเงี้ยว’ เรายืนยันที่จะใช่คำนี้ เพียงแต่ว่าคำว่าเหล้ากบฎเงี้ยวนั้นไม่ได้ปรากฎลงในฉลาก เรายังส่งต่อความหมายแม้จะไม่ปรากฎ แต่คาดว่าหากฟ้าใหม่ปีหน้า พ.ร.บ. ผ่าน รูปและถ้อยคำที่ถูกลดทอนออก จะกลับมา เพราะเราต้องการสัญลักษณ์นี้ให้มันสื่อถึงความหมายโดยตรงไปเลย
อยากฝากอะไร หรืออยากให้ติดตามความเคลื่อนไหวของเหล้า SHAN เหล้ากบฎเงี้ยว ติดตามได้ที่ไหน
มิ้นต์ : เรามีแผนที่จะทำการตลาดสื่อสารหลายช่องทาง สำหรับเหล้ากบฏเงี้ยว หรือ ชื่อตามเครื่องหมายการค้าว่า “Shan” เช่นช่องทางสื่อโซเชียลทั้ง Facebook TikTok แต่เพจเหล้ากบฏเงี้ยว โดยเฉพาะตอนนี้ยังไม่มีด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมายที่ต้องวางแผนการตลาดก่อนเผยแพร่ให้รัดกุม หากสนใจเรื่องราวของเหล้ากบฎเงี้ยว ให้ติดตามได้ที่ Hashtags #เหล้ากบฏเงี้ยว #เหล้าShan หรือถ้าอยากสอบถามข้อมูลได้ที่เพจเครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยแพร่จะมีแอดมินคอยให้ข้อมูล ขอทิ้งทายย้ำกันตรงนี้อยากจะฝากทุกคนไว้ว่าหากซื้อเหล้ากบฏเงี้ยว หรือ เหล้า Shan นี้ จะได้มากกว่าเหล้า เพราะเรามีเจตจำนงเสรีทำให้เหล้ากลายเป็นสัญลักษณ์ของอุดมการณ์และประวัติศาสตร์ที่ดื่มได้
ไทด์ : ปัจจุบันเหล้ามีสถานะเป็นสิ่งของมึนเมาทำลายสุขภาพ แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมดในอีกมุมมองหนึ่งของเครื่องดื่มนี้นั้นเป็นเหมือนสื่อกลางในการรวมกลุ่มผู้คนเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างกัน จากคนสู่คนไปถึงวัฒนธรรมหนึ่งสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง เหล้า Shan นั้นต้องการจะทำให้สถานะของเหล้าเป็นเครื่องดื่มที่จะสามารถบอกเล่าความเป็นมาของแต่ละชุมชนต่าง ๆ ได้ มากกว่าที่จะเป็นเครื่องดื่มมึนเมาเพียงเท่านั้น
พิมพ์ ลักษณารีย์ ดวงตาดำ อีกหนึ่งหุ้นส่วนของเหล้า SHAN เหล้าสร้างบทสนทนา และในบางครั้งทำให้เราพูดออกมาในสิ่งที่เราอยากพูด โดยไม่กลัวต่ออำนาจ เหล้าจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่ดิ้นรน ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันมาในทุกพื้นที่ เหล้าฉานจะเป็นเหมือนเพื่อนคนแพร่ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขทั้งในยามที่เหนื่อยล้า ช่วยฟังเสียงในใจที่เรียกร้อง ช่วยพูดแสดงออกในสิ่งที่อยากต่อต้าน เหล้าฉานจึงไม่ใช่แค่ตัวตนของกบฏเงี้ยว แต่เป็นตัวตนของการต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่ในสังคม
ดิว : ฝากเหล้าตัวนี้ด้วยครับ หากมีอะไรสงสัยหรือสนใจไปดูเพิ่มเติมในเพจได้เลยครับ
หลังจากที่สัมภาษณ์เสร็จทางทีมงานได้เอาเหล้าตัวอย่างสำหรับใช้ในการศึกษาวิจัยยังไม่มีจัดจำหน่ายมาให้ผู้สัมภาษณ์ อาร์ม-ปวีณ์กร สิมมา จิบเบา ๆ ก่อนจะถามว่าเป็นยังไงเมื่อได้ลิ้มรส
อาร์ม : มันไม่ได้ข่าขึ้นร้อนวูบวาบแบบเหล้าขาวปกติ แต่ความร้อนแรงมันยังอยู่ หากยังไม่ได้กินน้ำมันจะค่อย ๆ ขึ้นช้า ๆ อันนี้เป็นสูตรของเหล้า
มิ้นต์ : หากกินน้ำตามมันจะหวานขึ้น นี่แหละคือรสชาติของผู้ปกป้องความหวังและเสรีที่เราดื่มเข้าไป