เรื่อง: พิชญ์สินี ชัยทวีธรรม/ Prachatai

หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges เผยแพร่ครั้งแรกทางเว็บไซต์ journalismbridges.com เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2566

กว่า 18 ปี หลังการปะทุขึ้นของความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้หรือปาตานี ตั้งแต่เหตุปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ “ค่ายปิเหล็ง” ในวันที่วันที่ 4 ม.ค. 2547 ตามด้วยเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ในปีเดียวกัน อย่างกรณีกรือเซะในเดือนเมษายนและตากใบในเดือนตุลาคม นำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก หลายคนมองว่าเป็นชนวนเหตุของความรุนแรงที่ตามมาเกือบ 2 ทศวรรษ

อย่างไรก็ตามไม่เพียงชีวิต แต่การอยู่ในพื้นที่เองท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวรวมทั้งกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ความมั่นคงมาอย่างยาวนานส่งผลต่อเสรีภาพในการดำเนินชีวิต ความหวาดระแวงและความรู้สึกไม่ปลอดภัย ทำให้คนจำนวนไม่น้อยออกไปใช้ชีวิตนอกพื้นที่ โดยเฉพาะการมาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ในโอกาสนี้จึงชวนพูดคุยกับเขาเหล่านั้นเพื่อเข้าใจแรงจูงใจ การใช้ชีวิต ความคิดและความฝันของเขากัน

ความไม่ปกติที่กลายเป็นเรื่องปกติ

นายูบางกอก (นามสมมุติ) หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ย้ายออกจากพื้นที่บ้านเกิดในจังหวัดปัตตานี มาใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพ 3 ปี กล่าวถึงแรงจูงใจที่ต้องออกจากพื้นที่ว่า หลังเหตุการณ์ตากใบ-กรือเซะ สถานการณ์ความรุนแรงมันเกิดบ่อยขึ้น เช่น ข้างบ้านตนเป็นสถานที่ราชการ เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการวางระเบิด กราดยิง ก็จะเกิดเหตุแทบทุกวัน จนต้องย้ายออกไปอยู่บ้านพ่อ ที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส แต่ย้ายไปก็เท่านั้น เพราะเป็นหมู่บ้านที่ทางรัฐเพ่งเล็งไว้ การปิดหมู่บ้าน การบุกจับที่ทำได้ทันทีเนื่องจากเป็นพื้นที่ใช้กฎอัยการศึก การลาดตระเวนก็เกิดขึ้นไปทั่วสามจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ช่วงปี 2547 จนตอนนี้มันกลายเป็นเรื่องปกติ

นายูบางกอก เล่าต่อว่า ตนมาจากพื้นที่สีแดงเข้ม และตนเองกับครอบครัว รวมถึงคนในชุมชนได้รับคำเตือนจากภาครัฐอยู่เสมอเรื่องการให้ที่พักพิงกับกลุ่มคนที่เรียกร้องเอกราชให้บ้านเกิดตัวเอง แม้ตัวพวกเขาจะไม่ได้เกี่ยวข้องก็ตาม แต่การเดินตรวจของทหารรอบหมู่บ้าน จนเดินเข้ามาในพื้นที่ของตนเองนั้นก็กลายเป็นเรื่องการตรวจตราที่ปกติไปแล้ว เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ต้องมาอยู่กรุงเทพ

“สถานการณ์ความรุนแรงมันสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด เวลาเราอยู่บ้านเราจะไม่ใส่หูฟังเล่นมือถือ ฟังเพลง หรือฟังอะไรทั้งนั้น เพราะต้องเตรียมตัวตลอดว่าจะต้องไปหลบใต้เตียงหากเกิดเหตุ”

นายูบางกองเล่าถึงความรุนแรงในพื้นที่ไม่ใ่ช่แค่สูญเสียชีวิตคนที่จากไป แต่ร่องรอยความรุนแรงยังมีผลต่อคนที่ยังอยู่ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตที่ไม่ปกติไม่สามารถทำเรื่องที่อยากทำ แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ เช่น การดูสื่อออนไลน์ก่อนเข้านอน

สถานการณ์ยิ่งซ้ำปัญหาเศรษฐกิจ จากเดิมที่เป็นปัจจัยที่ผลักดันคนย้ายถิ่นอยู่แล้ว

ตารางสะท้อนเหตุผลของการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ก่อนเหตุการณ์ปะทุในปี 47 จากบทความของ นิสากร กล้าณรงค์ เรื่องการย้ายถิ่นของแรงงานสตรี ในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปมาเลเซีย เผยแพร่ใน หนังสือหลากมุมมอง : ชายแดนใต้ โดย โครงการเผยแพร่ความรู้สู่สังคม ลำดับที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สะท้อนปัจจัยหลักในการก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานคือการจำกัดของการมีงานทำในหมู่บ้านและความไม่เพียงพอของรายได้ของครัวเรือน
นายูบางกอกเดินเล่นฟังเพลงที่สวนสาธารณะในกรุงเทพ

“ถ้าอยู่กรุงเทพเรายังสามารถใช้ชีวิตที่อิสระมากขึ้น ไม่ต้องกังวลเท่าตอนอยู่บ้านว่าจะเกิดเหตุอะไร ฟังเพลง เล่นโทรศัพท์ก่อนนอนได้ ก็โอเคละนะ” 

นายูบางกอก กล่าว พร้อมอธิบายถึงบริบทที่บ้านเกิด อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ความรุนแรงในพื้นที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตปกติ แต่บริบทที่แตกต่างกันคือการต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการหลบจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอด ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามใจชอบนักเมื่อเทียบกับกรุงเทพ

“การที่เขาปิดหมู่บ้านหลายแห่งในราญอรอบล่าสุด ไม่มีสัญญาณการแจ้งเตือนล่วงหน้าใดๆ ทหารสามารถปิดหมู่บ้านเราได้ทันที ก็ส่งผลให้คนในพื้นที่ไม่สามารถไปกรีดยาง ไปดูแลต้นทุเรียน สวนพืชผักเกษตรต่างๆ ก็ขาดรายได้ จะจ้างลูกจ้างก็จ้างค่าแรงก็ต่ำกว่าที่อื่น กระทบเศรษฐกิจไปหมดทั้ง 3 จังหวัดภาคใต้ มันก็มีผลให้ค่าแรง และเงินเดือนต่ำกว่าที่อื่น ก็ต้องย้ายไปทำงานจังหวัดอื่น เหมือนแรงงานหรือนักศึกษาจบใหม่ที่ต้องพลัดถิ่นในภาคอื่น ๆ เพราะรายได้ที่พื้นที่บ้านเรามันต่ำจนไม่รู้จะอยู่ยังไงให้รอดต่อเดือน”

นายูบางกอกเล่าถึงความเป็นอยู่ในพื้นที่สามจังหวัด ที่ต้องประสบกับการบุกปิดล้อมหมู่บ้านทันที ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน ส่งผลให้รายได้ครัวเรือนไม่มั่นคง เศรษฐกิจในพื้นที่เองก็ได้รับผลกระทบตามกัน

‘ราชการ’ ยังเป็นอาชีพในฝัน

“เมื่อเศรษฐกิจในพื้นที่ไม่เติบโตมากนัก อาชีพก็ไม่ได้หลากหลายตามไปด้วย จึงไม่แปลกหากครอบครัวจะคาดหวังให้ลูกหลานมีอาชีพที่มั่นคง เมื่อรวมกับนโยบายการใช้กฎอัยการศึก ทำให้สามารถเข้าจับหรือปิดหมู่บ้านได้ ก็ส่งผลให้อาชีพมีไม่มาก ตัวเลือกอาชีพที่มั่นคงและมีหลักประกันในชีวิตได้ก็หนีไม่พ้น อาชีพราชการ” เปอรมูดา (นามสมมุติ) อีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่ทำงานประจำของบริษัทเอกชนในกรุงเทพ เล่าถึงความคาดหวังของครอบครัวที่ปัตตานีและสภาพสังคมที่เป็นเหตุผลให้ตัวเขาเลือกมาใช้ชีวิตที่กรุงเทพมากกว่าการอยู่ที่บ้าน

“พื้นเพคนที่บ้านเขามีความหวังเรื่องการเป็นข้าราชการ เพราะการอยู่ตรงนั้นคนที่บ้านเขามองว่าการจะมีชีวิตที่ดี อยู่ได้อย่างไม่ลำบากไม่ยากจน ต้องเป็นข้าราชการ เพราะมันได้เรื่องหลักประกันเรื่องสุขภาพ เพราะที่บ้านไม่เห็นภาพอย่างเอกชน ที่มีการบริหารแบบที่อื่น ไม่มีแบบหาดใหญ่ กรุงเทพ มันเลยไม่มีภาพการทำงานที่เป็นระบบ ไม่มีประกันสังคม ทำงานเยอะเกินหน้าที่ มันก็ใช้ชีวิตได้ แต่ถ้าอยากยกระดับชีวิตตัวเองได้ ก็คงต้องราชการ และมันได้เกียรติจากการเป็นข้าราชการเพราะเรื่องหลักประกันสุขภาพ มันเลยไม่มีตัวเลือกเท่าไหร่ในอาชีพอื่นๆ คนรุ่นใหม่ๆ วัยมัธยมก็มองเห็นและเลือกที่จะไปเรียนจังหวัดอื่นแทน”

เปอรมูดา เล่าด้วยว่าเขาไม่สามารถออกบัตรเครดิตได้ แม้จะมีเอกสารครบถ้วน และเงื่อนไขการออกบัตรเครดิตโดยพื้นฐานเปอรมูดาก็มีครบถ้วน แต่ถูกปฏิเสธจากธนาคารสามครั้ง โดยทั้งสามครั้งเจ้าหน้าที่ถามถึงเงื่อนไขพิเศษอย่างการมีประวัติคดีความ ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่ได้มีประวัติเช่นนั้น จึงไม่มีคำอธิบายใดๆ ที่ชัดเจนว่าเหตุใดจึงไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้เขาไม่สามารถซื้อสินค้าที่ราคาสูงได้ ในขณะที่เพื่อนๆ ที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน เงื่อนไขพื้นฐานในการออกบัตรเครดิตผ่านเหมือนกัน สามารถออกบัตรเครดิตได้ง่ายดาย แต่เขาทำไม่ได้ และต้องยืมคนอื่นอีกที เปอรมูดาเล่าถึงความแตกต่างของพื้นที่ที่ใช้กฎหมายพิเศษอย่างกฎอัยการศึกเช่นนี้มีผลกระทบบางอย่างในการใช้ชีวิต ทาออกที่เขาคิดไว้คงต้องเป็นอาชีพราชการถึงจะทำบัตรเครดิตเพื่อซื้อของตามต้องการได้ เปอรมูดากล่าวว่านี่ก็เป็นการส่งเสริมให้เกิดอาชีพทางราชการว่ามีความมั่นคงมากกว่าอาชีพอื่น ซึ่งต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ที่มีตัวเลือกความหลากหลายทางอาชีพมากกว่าพื้นที่นี้

“อย่างตอนนี้คนรอบข้างคนก็มักจะเลือกสมัครนายสิบตำรวจ ใช้เวลาาน้อยกว่ามหาวิทยาลัย เรียนแค่ 1-2 ปีก็ได้บรรจุ ในอายุแค่ 20 มันก็สร้างความมั่นคงให้ทางบ้านได้เร็วกว่าปริญญาตรี” เปอรมูดา กล่าว

ไม่มีอาชีพที่ตอบโจทย์ ขณะที่ ‘เขตอุตสาหกรรม’ ในพื้นที่ก็ไม่สามารถดึงคนรุ่นใหม่อยากกลับไปทำงาน

เปอรมูดา กล่าวถึงการสร้างเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ว่า การสร้างพื้นที่เศรษฐกิจ แม้แต่ในปัตตานีเองก็มีการสร้างเขตอุตสาหกรรม แต่มองไม่เห็นว่าคนในพื้นที่จะได้ประโยชน์อะไร เพราะมันก็ไม่ใช่อาชีพที่คนในพื้นที่อยากทำหรือความฝัน ทำให้เป็นคนนอกพื้นที่มาทำงานขายแรงงานแทนคนในพื้นที่ จึงมองว่านโยบายเหล่านี้ก็ไม่สามารถดึงคนรุ่นใหม่ให้อยากกลับมาทำงาน อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจในเมืองก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไร เพราะงานเอกชนก็ไม่มีระบบ ค่าแรงก็ต่ำเหมือนเดิม มุมมองคนในพื้นที่ในการหางานเอกชนก็ไม่ได้เป็นระบบหรือมีอนาคตที่ดีกว่า

เปอรมูดาเองก็นับว่าเป็นครอบครัวที่ไม่ได้ลำบากมากนักในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ แต่การอยู่บ้านไม่ได้มีอาชีพที่ตอบโจทย์ความฝันของเขา มีเพียงงานลูกจ้างทั่วไป งานเอกชนที่เข้าไม่ถึงการพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบเหมือนจังหวัดอื่น ๆ เพราะคนในพื้นที่และเป็นเจ้าของธุรกิจเหล่านี้ก็มองไม่ได้รับโอกาสเรียนรู้สิ่งที่อยู่ข้างนอก การพัฒนาในพื้นที่ก็ช้าตามลงไป ยกเว้นการหลบกระสุน และตื่นตัวกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติเท่านั้นที่คนในพื้นที่ทำได้รวดเร็ว

ลูกจ้างรายได้ที่ไม่แน่นอน ธุรกิจก็ไม่บริหารเป็นระบบ โควิดมายิ่งซ้ำเติมปัญหา

สำหรับการจ้างงานในพื้นที่นั้น เปอรมูดา กล่าวว่า การเป็นลูกจ้างในพื้นที่รายได้ที่ไม่แน่นอน หรือโควิดเองก็ทำให้หลายร้านก็ปิดไป ทั้งร้านบ้านๆ จนไปถึงแฟรนไชส์ก็พังหมด เพราะไม่ได้มีเงินหมุนและแนวคิดที่บริหารร้านแบบพัฒนาแล้วแบบในกรุงเทพ อาจจะไม่ได้มีระบบอะไรเท่าร้านอื่นในกรุงเทพ แต่การอยู่กรุงเทพการแข่งขันมันสูง ร้านจำเป็นต้องสร้างระบบให้ร้านอยู่ได้ มันเลยทำให้แรงงานอย่างน้อยก็มีบ้านพัก การเดินทาง อาหาร เงินเดือนสูงกว่าตาม

เปอรมูดาอธิบายถึงสภาพเศรษฐกิจที่ จ.ปัตตานีว่า เมื่ออาชีพไม่มั่นคงและไม่หลากหลาย และเกิดวิกฤตทางสังคมบางอย่างขึ้นมา ตามร้านค้าหรืองานลูกจ้างประเภทต่างๆ เพราะขาดการพัฒนาองค์กร และเข้าไม่ถึงการพัฒนาเหล่านั้น นำมาสู่การเลิกจ้างมหาศาลในช่วงโควิดที่ผ่านมา รวมถึงการล้มของผู้ประกอบการที่ก็ไม่สามารถตั้งตัวได้เหมือนกัน ทำให้คนก็เลือกมาทำงานที่กรุงเทพ เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องโดนเลิกจ้างกระทันหันด้วย

ทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจ บวกกับความรุนแรงในพื้นที่และการที่รัฐยังใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา นอกจากเป็นการซ้ำเติมปัญหาในพื้นที่แล้ว อีกด้านยังเป็นปัจจัยผลักดันให้คนออกมาหางานทำจากนอกพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ตามการที่กรุงเทพฯ เป็นเป้าหมายในการเดินทางนั้น ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยที่มีแหล่งชุมชนที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมสอดคล้องหรือใกล้เคียงกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน ดังเช่น บทความของ นิฌามิล หะยีซะ ชื่อ ‘นายูดือแปราม : ชาวมลายูไกลบ้านในกรุงเทพฯ’ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เมื่อ 12 ม.ค. 2566 สนับสนุนปัจจัยนี้ โดยเฉพาะการเลือกใช้ชีวิตอยู่หน้ารามเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยเชิงภูมิวัฒนธรรม การเข้าถึงสถาบันอุดมศึกษา-มหาวิทยาลัยเปิด รวมถึงปัจจัยด้านการดำรงรักษาพรมแดนทางชาติพันธุ์ในฐานะที่เป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม ซึ่งความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มลายูกับศูนย์กลางบางกอกมีประวัติศาสตร์บันทึกมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยปลายคริสตศตวรรษที่ 18 หรือช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีการต้อนเชลยบางส่วนมาตั้งรกรากบริเวณทุ่งบางกะปิ เชลยเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการขุดคลองแสนแสบหรือที่ชาวมลายูเรียกว่า “ซูไงเซอญัป” ช่วงเวลานี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อร่างสร้างตัวของชุมชนมลายูในบางกอก โดยชาวมลายูพลัดถิ่นยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้ แต่จะถูกเรียกว่าเป็น “นายูบาเก๊าะ” หรือมลายูบางกอก