ผู้เขียน: Radix 

การเกิดขึ้นของกรณี ‘หยก’ เด็กหญิงผมชมพูในชุดไปรเวทคนหนึ่งที่ตั้งคำถามถึงระบบอำนาจนิยมในสถานศึกษา นำมาสู่ข้อถกเถียงในสังคมไทยเรื่องการบังคับใส่ชุดนักเรียนและการแต่งกายไปรเวท นับเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่งจากล่างสู่ยอดของโครงสร้างอำนาจนิยมที่ฝังรากลึกในสถานศึกษา ผู้เขียนจึงอยากชวนมองรูปแบบปฏิบัติการเรียกร้องประชาธิปไตยอื่นๆ ที่นอกเหนือจากประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Democracy representative) หรือ “การเลือกตั้ง” 

“มีการเลือกตั้งแล้ว ก็เป็นประชาธิปไตยแล้ว” 

สูตรท่องจำของสังคมไทยที่มีต่อแนวคิดประชาธิปไตยว่าเป้าหมายของประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว “ประชาธิปไตยอันมีการเลือกตั้งเป็นวิถี” เป็นเพียงหนึ่งในหลายเครื่องมือที่จะนำพาไปสู่สังคมประชาธิปไตยเท่านั้น ทว่ายังมีอีกเครื่องมือหนึ่งที่เรียกว่า “Direct action” หรือ “ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า” อยู่ ซึ่งเป็นวิถีประชาธิปไตยแบบทางตรง (Direct democracy) 

“ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า (Direct action) ไม่ใช่การยืนยันอำนาจตามอำเภอใจของปัจเจกบุคคล แต่มันเป็นการจัดตั้งในแนวระนาบ และใช้กระบวนการแสวงหาฉันทามติ เพื่อต่อต้านความอยุติธรรมหรือพยายามสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าเดิม” 

– ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลอิสระ

Direct action หรือปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า อธิบายง่ายๆ คือการตัดคนกลาง สถาบันทางการเมือง และคำสั่งการแบบ Top down ออกไป แล้วท้าทายอำนาจนั้นโดยตรง เพื่อเปลี่ยนแปลงและต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรมในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่สามัญชนคนธรรมดาคนหนึ่งสามารถกระทำเพื่อท้าทายต่ออำนาจอยุติธรรมในสังคมได้โดยตรงทุกที่ทุกเวลา ต่างจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานรัฐ หรือการเขียนโครงการต่อแหล่งทุนเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาในสังคม และหากคนในสังคมพร้อมใจกันออกมาปฏิบัติการร่วมกันพลังการต่อสู้ก็จะสูงขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น การออกไปประท้วง, การนัดหยุดงาน (Strike) การยึดครอง (Occupy) หรือการท้าทายซึ่งหน้าต่อต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและ คฝ. เป็นต้น

ในกรณีของ ‘หยก’ จึงนับว่าเป็นปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าต่อกฎระเบียบของสถาบันการศึกษาที่ถูกบังคับใช้มายาวนาน และยังเป็นการท้าทายระบบอำนาจนิยมในสถานศึกษาที่กดทับนักเรียนไทยมาเป็นเวลานาน เช่นการแต่งชุดไปรเวทเพื่อปฏิเสธการบังคับใส่ชุดนักเรียน หรือการปฏิเสธการเข้าวิชาเรียนที่ “ใช้ไม่ได้จริง” ในปัจจุบันอย่างเช่นวิชาจริยธรรม

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าไม่ได้หมายถึงปฏิบัติการทางการเมืองหรือวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว หากแต่สามารถกระทำในเรื่องอื่นด้วย เช่น ปฏิบัติการทางอาหาร ยกตัวอย่างกลุ่ม ‘Food not Bomb’ ใน จ.เชียงใหม่ ที่เป็นการรวมตัวกันของสามัญชนคนธรรมดาที่ไม่แบ่งเชื้อชาติ เพื่อแจกอาหารให้กับคนไร้บ้าน โดยไม่ต้องรอหรือทำเรื่องถึงเจ้าหน้าท่ีรัฐให้เข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่สามารถรวมตัวกันปฏิบัติการทางตรงในการแก้ปัญหาที่เห็นอยู่ในสังคมได้ทันทีผ่านการการแบ่งงานกันทำ

ถึงที่สุดแล้ว ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้มีสูตรสำเร็จแบบตายตัวหรือผูกขาดด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง หากแต่เป็นการค้นหาวิธีการใหม่ๆ และพิกัดความเป็นไปได้อื่นๆ ด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อแสวงหาฉันทามติ (Consensus) ของคนในสังคมปัจจุบันนั้นๆ ซึ่ง ‘Direct action’ ก็นับเป็นหนึ่งในหลายเครื่องมือที่จะเรียกร้องให้สังคมเป็นประชาธิปไตย และต่อสู้กับระบบอำนาจนิยมในสังคมนั้นๆ

ภายใต้สภาวะทางสังคมที่ระบบอำนาจนิยมได้ชอนไชและหยั่งรากลึกไปทั่วสังคมไทย การเปลี่ยนแปลงด้วยระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป มันจำเป็นต้องควบคู่ไปกับการปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า หรือ ‘direct action’ จึงจะสามารถตัดรากของระบบอำนาจนิยมที่ฝั่งรากลึกในสังคมไทยได้

ข้อมูล

-คู่มือ “ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า”: https://actlab.protestista.com/direct-action-guide/

https://theanarchistlibrary.org/library/david-graeber-direct-action