เรื่อง: ศิรสิทธิ์ เสนานุช/ The Isaan Record

อนุสาวรีย์พระแก้วอาสา (กองแสง) เจ้าเมืองด่านซ้าย ตั้งเด่นสง่า ณ ที่หน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย จ.เลย ขนาบคู่กับรูปปั้นช้างสองตัว พร้อมพวงมาลัย ดอกไม้และเครื่องดื่มอันเป็นเครื่องสักการะจากผู้ศรัทธาในคุณงามความดี

อีกด้านหนึ่งกลับมีเรื่องเล่าว่า เจ้าเมืองคนสุดท้ายของเมืองด่านซ้ายถูกกล่าวหาว่า “ทุจริต นำส่งเงินส่วยไม่ครบ จนต้องลี้ภัยและถึงแก่อนิจกรรมที่เมืองแก่นท้าว ประเทศลาว”

เรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นตราบาปถึงรุ่นลูกหลานที่ต้องการไขความจริงและต้องการคืนความยุติธรรมให้บรรพบุรุษ พวกเขาจึงเก็บรักษาสมบัติพัสฐานบางส่วนไว้ในพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างดี ขณะที่อีกจำนวนมากถูกทางการยึดไป

หอพิพิธภัณฑ์พระแก้วอาสา ณ วัดศรีภูมินาหอ อ.ด่านซ้าย จ.เลย 

เปิดพิพิธภัณฑ์แง้มความทรงจำเจ้าเมืองด่านซ้าย 

ประตูพิพิธภัณฑ์ถูกแง้มออก หลังจากทายาทรุ่นที่ 5 คือ ปิยณัฐ ศรีณรงฤทธิ์ วัย 61 ปี ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลพิพิธภัณธ์พระแก้วอาสาไขกุญแจที่ปิดไว้มาอย่างยาวนานออก ภายในพิพิธภัณฑ์ถูกตกแต่งอย่างเรียบง่าย แต่สะอาดสะอ้านไร้ฝุ่นผง เสมือนว่า มีผู้ดูแลความสะอาดอย่างใกล้ชิด 

เสื้อผ้าไหมสีดำงามวับ ซึ่งเชื่อว่า เป็นเสื้อที่เจ้าเมืองด่านซ้ายมักใส่ตอนออกว่าราชการ ถูกบรรจงเก็บไว้ในตู้กระจกอย่างงดงาม แม้จะผ่านไปกว่าร้อยปี แต่ความงามไม่เสื่อมคลาย ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของพระแก้วอาสาที่ยังคงเหลืออยู่ 

เสื้อผ้าไหมของพระแก้วอาสา เจ้าเมืองด่านซ้าย ที่เชื่อกันว่า มักใส่เวลาออกว่าราชการ 
ราชอาสน์ สำหรับเจ้าเมืองเพื่อนั่งว่าราชการ
“เหรียญปราบฮ่อ” รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างเหรียญนี้ขึ้นเพื่อมอบให้เป็นบำเหน็จ หลังจากมีความดีความชอบแก่ผู้ไปราชการทัพปราบปรามฮ่อ ซึ่งถูกเก็บไว้เป็นอย่างดีในพิพิธภัณฑ์พระแก้วอาสา

ปราบกบฏฮ่อได้เป็น “เจ้าเมืองด่านซ้าย”  

ย้อนกลับไปในช่วงรัชกาลที่ 5 เมืองด่านซ้ายขึ้นตรงกับมณฑลพิษณุโลก ท้าวกองแสงได้นำกองทัพไปร่วมรบกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี หลังจากกรำศึกจนปราบฮ่อสำเร็จจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระแก้วอาสา” เป็นเจ้าเมืองด่านซ้าย

ในหอพิพิธภัณฑ์พระแก้วอาสาแสงที่วัดศรีภูมินาหอระบุว่า ท้าวกองแสงเกิดเมื่อปี 2385 ณ เมืองด่านซ้าย (บ้านนาหอ) ในรัชกาลที่ 4 เป็นบุตรคนที่ 5 ของพระมหาณรงค์ (ท้าวคำสม) กับนางคำ เพียงตา 

ในวัยเด็ก พระแก้วอาสาเรียนหนังสือที่วัดศรีภูมิและวัดโพนชัย ศึกษาความรู้ด้านการปกครองจากบิดา เรียนวิชาการต่อสู้ ป้องกันตัว คาถาอาคมต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าทำให้อยู่ยงคงกระพัน ใช้หอกและง้าวแทงขึ้นขี่คอช้างเพื่อเคลื่อนพลไปปราบฮ่อ และมีความรู้ทางการแพทย์โดยเฉพาะการจอดกระดูก (การต่อกระดูก) 

ปิยณัฐ ศรีณรงฤทธิ์ ทายาทพระแก้วอาสารุ่นที่ 5 ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พระแก้วอาสา ณ วัดศรีภูมิ อ.ด่านซ้าย จ.เลย 

ข้อกล่าวหาส่งส่วยไม่ครบ จุดจบเจ้าเมืองด่านซ้าย

แม้จะไม่ถูกบันทึกในหอพิพิธภัณฑ์ แต่ก็เป็นที่รู้กันของชาวเมืองด่านซ้ายว่า เจ้าเมืองด่านซ้ายถูกกล่าวหาว่า “ยักยอกส่วย” จนทำให้ชีวิตพลิกผันระหกระเหินจากบ้านเกิดเมืองนอนไปลี้ภัยที่ประเทศลาว 

พัชรพล ศรีณรงฤทธิ์ ทายาทสายตรงของพระแก้วอาสา อธิบายว่า ข้อกล่าวหาเรื่องการส่งส่วยไม่ครบนั้นมีหลักฐานจากหอสมุดแห่งชาติว่า พระแก้วอาสาได้ไปต่อสู้คดีถึงกรุงเทพฯ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง 

“ถ้าคนกระทำผิดจริง ไม่น่าไปสู้คดี เพราะเสี่ยงต่อการถูกจับ แต่ไม่มีหลักฐานอื่นๆ ความจริงมันควรมีหลักฐานมากกว่านี้ แต่ก็ไม่มี” ทายาทรุ่นที่ 5 ของพระแก้วอาสาแสง กล่าวด้วยความสงสัย 

เขายังเล่าข้อมูลอีกว่า ขณะนั้นพระแก้วอาสา ไม่ได้เป็นผู้ไปส่งส่วยด้วยตัวเอง มีผู้รักษาการณ์แทนไปส่ง โดยมีการกล่าวโทษสมุบัญชีผู้ที่ดูแลเกี่ยวกับภาษีอากรของมณฑลพิษณุโลกครั้งนั้นด้วย 

พัชรพล  ศรีณรงฤทธิ์ ทายาทสายตรงของพระแก้วอาสา
ภาพขณะพระแก้วอาสา (ท้าวกองแสง) ขณะลี้ภัยไปที่ลาว ซึ่งขณะนั้นตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส

ลี้ภัยไปลาว – ตายในลาว 

ในพิพิธภัณฑ์ยังมีรูปพระแก้วอาสาขณะลี้ภัยอยู่ประเทศลาว ถูกแขวนขนาบคู่กับรูปครอบครัว ก่อนจะลี้ภัย 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังระบุประวัติของพระแก้วอาสาว่า ขณะที่เมืองด่านซ้ายตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส พระแก้วอาสากลับมาเป็นเจ้าเมืองด่านซ้ายอีกครั้ง และร่วมกับพระครูลุน (วัดหนามแท่ง) คหบดีเพียศรีวิเศษ (บ้านนาทุ่ม) จัดสร้างแผ่นศิลาจารีจำลองบันทึกตำนานพระธาตุศรีสองรักแทนแผ่นศิลาจารึกจริงที่ฝรั่งเศสนำไปไว้ที่เวียงจันทน์ 

ต่อมาพระแก้วอาสากลับไปอยู่บ้านหาดแดง เมืองแก่นท้าว ประเทศลาว และถึงแก่อนิจกรรมที่นั่นด้วยวัย 77 ปี

การถูกกล่าวหาว่า ทุจริตเป็นข้อกล่าวที่รุนแรงทำให้ลูกหลานรวมถึงชาวเมืองด่านซ้ายข้องใจ ภายหลังได้มีผู้ตามความจริง แต่ก็ยังไม่กระจ่างนัก

ธีระวัฒน์ แสนคำ นักวิชาการอิสระ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเล่าว่า เรื่องราวของพระแก้วอาสาถูกบันทึกไว้ในเอกสารที่มีในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ว่าด้วยการมีคดีความทุจริตเกี่ยวกับการยักยอกเงินส่งส่วยไม่ครบ แต่ข้อจำกัดคือ จดหมายถูกเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้บันทึก

“เมื่อรัฐเป็นคนบันทึกก็จะมองในส่วนที่มีรัฐได้ผลกระทบอะไร เกิดความเสียหายกับรัฐอย่างไร ตรงนี้อาจจะเชื่อได้ไม่เต็มที่นัก” นักวิชาการท้องถิ่นตั้งข้อสังเกต 

เขายังบอกอีกว่า ในยุคนั้นยังเป็นการปกครองแบบระบบ ‘กินเมือง’ เจ้าเมืองมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการเมืองตัวเอง เมื่อเมืองด่านซ้ายเป็นเมืองบริวารให้กับเมืองพิษณุโลก เจ้าเมืองจึงมีหน้าที่เก็บส่วยในพื้นที่ปกครองเพื่อนำส่งให้กับหัวเมืองใหญ่ 

“จุดเริ่มต้นของปัญหาก็เกิดจากจุดนี้ หลังจากส่วยถูกส่งไปยังราชสำนักก็มีการตรวจสอบแล้วพบว่า มีการยักยอกเงินส่วย ส่งส่วยไม่ครบ” ธีระวัฒน์ เล่าจากเอกสารที่ศึกษามา 

ธีรวัฒน์ แสนคำ นักวิชาการอิสระ ผู้สืบค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดเลยและใกล้เคียง

เอกสารรัฐขัดแย้งกับหลักฐานท้องถิ่น

เขากล่าวอีกว่า กรณีของพระแก้วอาสา จากข้อมูลหลักฐานที่เป็นเอกสารจดหมายเหตุและจากคำบอกเล่า อาจจะทั้งสอดคล้องและขัดแย้งหรือคู่ขนานกันไป โดยเฉพาะในความรู้สึกและความทรงจำก็มีความแตกต่าง 

“แม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะมีการกล่าวหาจริงว่าทุจริต แต่หลักฐานทางฝ่ายรัฐก็จะมีอคติ เพราะขัดแย้งกับกฎหมาย ส่วนท้องถิ่นเองก็จะมองผ่านความรู้สึก จารีต ธรรมเนียม การที่พระแก้วอาสาต้องคดี มีมลทิน จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่จริง อาจจะถูกหรือไม่ถูกก็ได้ ขึ้นอยู่ที่มุมมองว่าเราจะมองมุมไหน

“แต่ทั้งนั้นและทั้งนี้ก็ต้องเผื่อใจไว้ว่า ทุกอย่างมันคือประวัติศาสตร์ มันคืออดีตที่ผ่านมา เราไม่อาจจะล่วงรู้ไม่ว่าจะเป็นเอกสารราชการ บันทึกคำบอกเล่าที่สืบต่อมา คือมันไม่มีความถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นคดีมันอาจจะพลิกไปพลิกมา ข้อมูลพลิกไปพลิกมา ตราบใดที่การค้นพบเอกสาร การค้นคว้าเอกสารในระบบของการศึกษาประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยมันยังมีการค้นพบไปเรื่อยๆ เราอาจเจอข้อมูลที่มันชัดขึ้น ข้อมูลที่มันพลิกข้อมูลเก่าเรื่อยๆ” นักวิชาการท้องถิ่น กล่าว

รายการพัสดุในโรงเรียนอนุบาลด่านซ้าย ซึ่งเชื่อว่า เป็นหอโรงของเจ้าเมือง บันทึกไว้ว่า ได้ยึดที่ดินนี้มาจากพระแก้วอาสา

ด้วยความที่สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นักวิชาการคนนี้จึงพยายามรวมรวมหลักฐาน ทั้งพยานเอกสาร พยานวัตถุและสัมภาษณ์บุคคลเท่าที่พอจะจำได้ โดยจะตีพิมพ์เป็นหนังสือเร็วๆ นี้ 

เขาบอกว่า ได้ลองสืบหาชื่อเจ้าพนักงานที่ปรากฏในเอกสารของจดหมายเหตุก็พบว่า ในช่วงเดียวกันนั้นเจ้าพนักงานคนที่เซ็นต์รับเงินมีข้อหาทุจริตและถูกไล่ออกจากงานข้าราชการ

“ช่วงที่พระแก้วอาสาข้ามไปอยู่ที่ประเทศลาว การดำเนินคดีต่างๆ ก็ยุติ เพราะไม่มีคนสานต่อ มันเลยเป็นคดีค้างเติ่ง พอมาเจอหลักฐานชิ้นนี้ ผมเลยมันใจว่า นี่คือสาเหตุหนึ่งว่าทำไมเงินไม่ครบ ส่งไม่ครบ แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถไปย้อนดูว่า เจ้าหน้าที่ที่ทุจริตเรื่องอะไร แต่เราต้องค่อยๆ เผื่อใจไว้ เพราะว่า การศึกษาประวัติศาสตร์มันไม่มีสิ้นสุด” ปิยณัฐ ศรีณรงฤทธิ์ กล่าว 

แม้การสืบค้นหาความบริสุทธิ์ของพระแก้วอาสา (ท้าวกองแสง) จะยังไม่กระจ่างชัดนัก แต่คนในท้องถิ่นก็เชื่อว่า พระแก้วอาสาเป็นวีรบุรุษเมืองด่านซ้าย 

“ในฐานะที่เป็นทายาทสายตรงก็มีความภาคภูมิใจและมั่นใจว่าบรรพบุรุษของตัวเอง คือ พระแก้วอาสา ไม่ได้ขี้โกง เป็นคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นเกียรติยศ คือ ศักดิ์ศรีให้ลูกให้หลานมาเป็นร้อยๆ ปี” พัชรพล ศรีณรงฤทธิ์ กล่าวทิ้งกล่าว