เรื่อง: ธนัชชา โยธี/ Louder

  • ธนัชชา โยธี จาก Louder เล่าเรื่องโรงหนังเล็กๆ ใน อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2502 หรือ 64 ปีมาแล้ว
  • จากค่าตั๋วใบละ 50 สตางค์ ขยับขึ้นเป็น 50 บาท จากโรงหนังสังกะสีสู่มินิเธียเตอร์ และจากฟิล์ม 16 มม. ผ่านเตาฉาย สู่วันที่ต้องฉายหนังแข่งกับเว็บสตรีมมิ่ง
  • แม้ต้องสู้กับปัญหาสารพัดโดยเฉพาะในแง่ของธุรกิจ แต่เจ้าของโรงหนังยังยืนยันว่าจะฉายต่อไป เพราะที่นี่ไม่ใช่แค่โรงหนัง แต่เป็นความทรงจำของคนเดชอุดม

เริ่มต้นจากโรงหนังสังกะสี

ย้อนเวลากลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2504 เดชอุดมภาพยนตร์ ได้ถือกำเนิดขึ้นในฐานะโรงหนังแห่งแรกใน อ.เดชอุดม โดย ชวน เทียมสุวรรณ ผู้ก่อตั้งคนแรก

โรงหนังสังกะสี คืออีกฉายาของโรงหนังระดับอำเภอแห่งนี้ เนื่องจากการก่อสร้างใช้หลังคามุงด้วยสังกะสี เพราะเป็นวัสดุที่หาง่ายและไม่เสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้ ก่อนที่จะเปลี่ยนแบบการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2540 มาเป็นแบบอาคารปูนในปัจจุบัน

กิตติพงษ์ เทียมสุวรรณ ทายาทรุ่นที่2 ของโรงหนัง เดชอุดมเธียเตอร์

เดชอุดมภาพยนตร์เป็นโรงหนังขนาดใหญ่ที่จุผู้ชมได้ 800 ที่นั่ง ก่อนจะปรับตัวเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เดชอุดมมินิเธียเตอร์’ และเป็น ‘เดชอุดมเธียเตอร์’ ในปัจจุบันโดยแบ่งเป็น 2 โรง คือ โรง A และ โรง B เพื่อรองรับจำนวนหนังที่มีมากขึ้น

“ตอนนั้นขายตั๋วหนังราคา 50 สตางค์ ต่อมาก็ 1 บาท ผมเกิดมาในยุคที่มีธนบัตรใบละบาท 1 บาท แล้วปี 2540 ก็เปลี่ยนจากโรงล้อมสังกะสีมาเป็นแบบปัจจุบัน” กิตติพงษ์ เทียมสุวรรณ เจ้าของโรงภาพยนตร์และทายาทรุ่นที่ 2 กล่าว  

กิตติพงษ์เล่าเพิ่มเติมว่า “ สมัยก่อนรายได้ดีกว่าปัจจุบันนี้ ตอนนั้นฉายหนังหนึ่งรอบ โรงหนังเราบรรจุได้ 800 คน เก็บค่าตั๋วหนังคนละบาทก็ได้ 700 ถึง 800 บาทต่อรอบ การเก็บค่าตั๋วหนังใบละบาทในตอนนั้น เวลาเก็บไม่ได้เก็บเหมือนธนบัตรปัจจุบัน แต่จะยัดใส่ปี๊บเลยเพราะว่าถ้ามีคนเข้าชม 1,000 คน มันแปลว่าตั๋วหนัง ใบละ 1 บาท จะถูกขายออกทั้งหมด 1,000  ใบ ซึ่งเวลาต่อมาเราก็ขึ้นค่าตั๋วหนัง 3 บาท ถึง 4 บาท”

โรงหนังชุมชนกับราคาที่ต้องจ่าย

เทคโนโลยีในการฉายหนังนั้น เดิมทีเดชอุดมภาพยนตร์ฉายหนังด้วยฟิล์ม 16 มม. คือฟิล์มที่ผ่านช่องมีความกว้างแค่ 1.6 เซนติเมตร  ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นฟิล์ม 35 มม. เป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนหัวฉาย เปลี่ยนจอ เปลี่ยนเตาฉาย

“ปัญหาของเตาฉายคือมีควันเยอะ แสงไม่คงที่ บางครั้งหนังก็ดับบ้าง หนังก็มืดบ้าง ฟิล์มไหม้บ้าง ถ้าคนที่เคยดูหนังกลางแปลงก็จะเคยเห็นฟิล์มไหม้ ที่มันไหม้ก็เพราะว่าระบบมันไม่เสถียร เครื่องฉายหนังที่โรงหนังของเราทั้งเครื่อง 16 มม. และเครื่อง 35 มม. เป็นเครื่องที่มาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งราคาเครื่องใช้ในสมัยนั้นก็ไม่ถึง 10,000 บาทเราก็สามารถที่จะเก็บเงินได้ เพราะเราสามารถเก็บเงินบาทได้เยอะ” 

เมื่อเวลาผ่านไป ราคาต้นทุนที่ใช้ทำภาพยนตร์ผันตามเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น จากราคาเครื่องฉาย 10,000 บาท ขยับขึ้นเป็นราคาที่ต้องจ่ายเกือบ 10 ล้าน

“การเปลี่ยนหัวฉายเป็นหลอดซีนอน และได้เปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัลในปัจจุบัน เครื่องหนึ่งก็ประมาณ 2 ล้านบาท ระบบเสียงอีกประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งที่ฉายอยู่ทุกวันนี้เฉพาะค่าวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นระบบฉายมีมูลค่าประมาณ 5-6 ล้านบาท” กิตติพงษ์เล่าถึงภาระค่าใช้จ่ายของโรงหนังที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา 

ภายหลังมีคนสนใจในเครื่องฉายภาพยนตร์ที่เขากล่าวถึงในราคาต่างๆ แต่กิตติพงษ์กลับเลือกที่จะเก็บมันไว้เป็นความทรงจำและแบ่งปันให้คนอื่นได้ศึกษาเครื่องฉายหนัง 

“เครื่องฉายพวกนี้ก็มีคนมาถามซื้อแต่ผมก็ไม่ขาย ผมอยากเก็บไว้ให้คนอื่นได้ดู เพราะชีวิตคือการแบ่งปัน” 

แม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น แต่กิตติพงษ์ยืนยันที่จะดำเนินกิจการโรงหนังต่อ ด้วยความรู้สึกของการตอบแทนคุณ ชวน เทียมสุวรรณ และ เมี่ยวเต้ง พ่อแม่ผู้เป็นคนเบิกทางให้โรงหนัง อีกทั้งยังเป็นการตอบแทนบุญคุณของคนเดชอุดมที่ให้การสนับสนุนสถานที่ในตำนานแห่งนี้ ให้ดำรงอยู่ได้ยาวนานมาจวบจน 64 ปี

ยังต่อเติมความฝันในวันที่ขาดทุน

“โรงหนังนี้เป็นสิ่งที่คุณพ่อและคุณแม่สร้างมา ผมได้ทำในสิ่งที่หลายคนไม่มีโอกาสได้ทำ สิ่งที่ผมทำนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้กับบ้านเมือง ไม่ได้กำไรก็จริง ทรัพย์สินที่ได้มาในตอนนี้สุดท้ายมันมากกว่าสิ่งที่เราสูญเสียไป เรายอมรับว่าเราขาดทุน แต่มันมีมูลค่าทางจิตใจและสังคม ถึงจะมีคนดูน้อย แค่หนึ่งคนหรือสองคน เราก็ฉายตามปกติเพราะมันเป็นรอบที่เราต้องฉาย”

หนังบางเรื่องอาจมีกำไร แต่โดยรวมเขายอมรับว่าขาดทุน และปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนการฉายหนังในปัจจุบัน มีราคาที่สูงกว่าในอดีต คือ แอร์ การใช้แอร์ทำให้ต้นทุนในการฉายหนังเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าทำให้ต้นทุนกับผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่สัมพันธ์กัน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ของผู้คนที่หันไปดูหนังออนไลน์มากขึ้น ตามด้วยวิกฤตเศรษฐกิจที่พ่วงมากับวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด – 19 อย่างไรก็ตาม กิตติพงษ์ยืนยันว่าเดชอุดมเธียเตอร์จะยังดำเนินกิจการต่อไป

เดชอุดมเธียร์เตอร์พยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น โดยการอาศัยความรู้จากคนรุ่นใหม่ในการทำโฆษณา ซึ่งใช้ทั้งรถแห่ ทั้งใช้ ‘เฟซบุ๊กแฟนเพจ’ประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ปัจจุบันค่าตั๋วหนังที่นั่งละ 50 บาทและมีที่นั่งวีไอพี 70 บาท 10  ที่นั่ง ตอนนี้หนึ่งโรงลดที่นั่งจาก 250 ที่นั่งเป็น 120 ที่นั่ง เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19

“ผมว่าโรงหนังที่สวยแบบโรงหนังเดชอุดมเธียเตอร์ไม่มีอีกแล้ว ผมอยากให้โรงหนังนี้เป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้กับคนเมืองเดชฯ และคนที่มีโอกาสได้ผ่านมา เข้าถึงโรงหนังเดชอุดมเธียเตอร์ ที่เป็นโรงหนังที่อยู่คู่มากับอำเภอเดชอุดม”

กิตติพงษ์ ให้ความเห็นอย่างมีความหวังในอนาคตว่า เดชอุดมจะกลายเป็นทางผ่านมีทางเชื่อมต่อกับอำเภอต่างๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งโรงหนังก็คงอยู่ได้ เดชอุดมก็จะกลายเป็นเมืองที่ต้องมีแหล่งให้คนได้พักผ่อน ถ้ามีแหล่งพักผ่อนที่ดี ก็จะรู้สึกดีไปด้วย 

“ถ้ามาที่นี่แม้ว่ามีแต่โรงหนังอย่างเดียวขนมอะไรก็ไม่ได้ขายซึ่งผมก็ไม่เครียดเพราะสมัยโบราณผมก็ไม่ได้ขายขนมเราก็อยู่กันมาได้ เราเน้นบริการแบบเป็นกันเอง บริการเหมือนบ้าน รู้สึกปลอดภัย”

สถานที่แห่งความทรงจำ

ความคิดเห็นของผู้ชมที่มาดูหนังที่โรงหนังเดชอุดมเธียร์เตอร์หลายคนเล่าว่า เลือกมาดูที่โรงหนังแห่งนี้ก็เพราะมีความทรงจำกับที่นี่ เคยมาดูตั้งแต่สมัยเมื่อ 10 ปี ก่อน ตั้งแต่ตอนยังเป็นเด็ก บางคนก็เคยมากับครอบครัว บางคนก็มาใช้ช่วงเวลาพิเศษกับเพื่อน และคนรู้ใจ

‘โชค’ ชาวอำเภอบุณฑริก เล่าถึงการมาดูหนังที่เดชอุดมเธียร์เตอร์ว่า เขาทำงานที่เดชอุดม ดูหนังที่นี่มาหลายปีแล้ว เริ่มมาดูหนังที่โรงหนังเดชอุดมนี้เพราะลูกชายมาดูก่อนแล้วไปเล่าให้พ่อกับแม่ฟัง เขาจึงพาลูกมาดูอีกรอบ 

“ปกติก็ดูหนังไม่บ่อยเท่าไหร่ แต่จะเลือกดูหนังใหม่ๆ บางเรื่องที่สนใจ ส่วนมากก็มาดูที่โรงหนังเดชอุดม เพราะราคาถูกด้วยส่วนหนึ่ง และที่โรงหนังเดชอุดมก็มีรอบฉายหลายรอบที่ตรงกับเวลาว่าง บางครั้งก็พาลูกๆ มาดูหลังเลิกเรียน โรงหนังนี้ก็ดีระดับหนึ่ง สะอาดน่าดู และเป็นโรงหนังที่อยู่คู่กับเมืองเดชมานานแล้ว”

หมายเหตุ : ผลงานชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดย สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO