เรื่อง: The Glocal – ท้องถิ่นเคลื่อนโลก


Summary

  • เชียงใหม่กลายเป็นปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยว ผู้อพยพ และการลงทุนจากจีน โดยมีปัจจัยดึงดูดหลายประการ เช่น ค่าครองชีพต่ำ สภาพแวดล้อมที่ดี และนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนและพำนักระยะยาว
  • การลงทุนของจีนในเชียงใหม่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว และการเกษตร ส่งผลให้เกิดการแข่งขันกับธุรกิจท้องถิ่นและความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
  • เกิดอคติและความกลัวต่อ “ทุนจีน” ในหมู่ประชาชนท้องถิ่น โดยมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ทั้งนี้ ผลสำรวจชี้ว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการควบคุมการลงทุนจากจีนให้มากขึ้น
  • มีข้อเสนอแนะจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในการจัดการกับสถานการณ์นี้ เช่น การเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อปกป้องผลประโยชน์ท้องถิ่น และการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างชุมชนท้องถิ่นและชาวจีน

ปัจจุบัน จังหวัดเชียงใหม่กลายเป็นปลายทางที่สำคัญของทั้งนักท่องเที่ยวและผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่ รวมทั้งการลงทุนจากจีนในจังหวัดเชียงใหม่ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ครอบคลุมหลายภาคส่วนทั้งอสังหาริมทรัพย์ ภาคบริการ และภาคเกษตร ในแง่หนึ่งแม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น แต่ก็สร้างความท้าทายและทัศนคติในแง่ลบต่อคนจีน สาเหตุจากการที่ทุนจีนเข้ามาแข่งขันกับธุรกิจท้องถิ่น รวมถึงการที่คนจีนส่วนน้อยบางกลุ่มเข้ามาก่ออาชญากรรม จึงเกิดคำถามที่ว่า จังหวัดเชียงใหม่จะสร้างสมดุลระหว่างการลงทุนจากต่างประเทศและการปกป้องผลประโยชน์ของคนในท้องถิ่นเชียงใหม่ ได้อย่างไร?

ทำไม ‘ผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่’ ถึงมาเชียงใหม่?

ในอดีตภูมิภาคอุษาคเนย์ ได้รับอิทธิพลจากการอพยพของประชากรจีนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน แต่เมื่อพิจารณาในช่วงยุคสมัยใหม่ อาจจะกล่าวได้ว่านโยบายการเปิดประเทศของจีนในปี ค.ศ.1978 (พ.ศ.2521) ที่นำโดย ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ มีผลอย่างมากต่อการเดินทางของชาวจีนออกนอกประเทศสู่ภูมิภาคนี้ เนื่องจากมีการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ปี ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) รัฐบาลจีนได้ออกประกาศเกี่ยวกับ “ระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการเดินทางเข้า-ออกประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนของพลเมืองจีน” ซึ่งประกาศฉบับนี้ได้ลดขั้นตอนเกี่ยวกับการยื่นขอเอกสารสำหรับผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศจีน ซึ่งทำให้การอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวจีนมีความสะดวกและง่ายดายมากขึ้นอย่างยิ่ง

กลุ่มผู้อพยพจีนที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในยุคสมัยใหม่ คือ ‘ผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่’ [‘新移民’ (Xin Yimin)] อันหมายถึงชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานออกนอกประเทศหลังนโยบายเปิดประเทศ คนจีนกลุ่มนี้มักมีการศึกษาสูง ประกอบอาชีพที่ใช้ทักษะ และย้ายถิ่นด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือการศึกษา พวกเขามีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงจีนกับโลกภายนอก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาของจีนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน

ตัวอย่างสถานการณ์ในประเทศอื่นๆ

อินโดนีเซีย – ในงานศึกษา Xin Yimin in Indonesia: A Growing Community That Faces New Challenges โดย Leo Suryadinata (2024) ชี้ว่าผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่ กำลังกลายเป็นชุมชนที่เติบโตขึ้นในอินโดนีเซีย แม้ว่าจะมีการพูดคุยกันอย่างแพร่หลายเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ทั่วโลก แต่นักวิชาการมักให้ความสนใจกับการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่า ข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับจำนวนผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่นั้นหายาก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ประมาณการอย่างคร่าวๆ ชี้ให้เห็นว่ามีผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่ประมาณ 10.3 ล้านคนทั่วโลกในปี ค.ศ.2008 โดยมีเพียง 20% เท่านั้นที่ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอินโดนีเซีย กระทรวงแรงงานรายงานว่ามีชาวจีน 24,800 คน ปี 2017 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ อย่างไรก็ตาม มีการโต้แย้งกันว่าจำนวนที่แท้จริงอาจสูงเป็น 2 เท่า

มาเลเซีย – ในงานศึกษา Xin Yimin in Malaysia: Trends and Implications โดย Ngeow Chow Bing (2022) ระบุว่าผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่ในมาเลเซียเพิ่มขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่ามีจำนวนประมาณ 82,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยนักศึกษา ผู้ย้ายถิ่นฐาน คนทำงาน และคู่สมรส แม้ว่าจำนวนผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่ที่ผิดกฎหมายจะลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าจำนวนโดยรวมจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่พบว่ามาเลเซียเป็นสถานที่ที่น่าอยู่ เนื่องจากมีชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ยังหมายความว่า พวกเขามักจะมีปฏิสัมพันธ์ที่ไม่สมดุลกับสังคมมาเลเซียในวงกว้าง ในขณะที่ชาวจีนมาเลเซียไม่ได้มองว่าผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่ เป็นภัยคุกคาม แต่ชาวมาเลเซียบางคนกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและความตึงเครียดทางเชื้อชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ ความกลัวเหล่านี้บางส่วนถูกกระตุ้นโดยข่าวปลอมต่อต้านผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่

ฝรั่งเศส – ในงานศึกษา Chinese Xin Yimin and Their Descendants in France: Claiming Belonging and Challenging the Host Country’s Integration Model โดย Ya-Han Chuang, Hélène Le Bail และ Aurore Merle (2020) ระบุว่าปัจจุบัน ชาวจีนเป็นพลเมืองที่มีจำนวนมากเป็นอันดับ 5 ของชาวต่างชาติที่อาศัยในฝรั่งเศส โดยในปี ค.ศ. 2016 มีจำนวน 100,400 คน และมีผู้อพยพทั้งหมด 104,100 คน ช่องทางการเข้าประเทศฝรั่งเศสอย่างถูกกฎหมายสำหรับคนจีนในปัจจุบัน คือ วีซ่านักเรียน แม้ว่าภาพในอุดมคติ ฝรั่งเศสคือประเทศที่คนต่างอยู่ร่วมกันในสังคมตั้งอยู่บนหลักการของความเสมอภาคและภราดรภาพ โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ แต่การเหยียดเชื้อชาติก็ยังมีให้เห็นโดยทั่วไป ทั้งนี้ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของผู้อพยพชาวจีนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะจากการประกอบธุรกิจร้านอาหารและตลาดค้าส่ง กลับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดทัศนคติเชิงลบและความตึงเครียดจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้จะถูกมองว่า “ประสบความสำเร็จ” แต่ก็ยังมีอคติและการเลือกปฏิบัติต่อชาวจีนอยู่

ในงานศึกษาเรื่อง ‘ชาวจีนอพยพใหม่ในภาคเหนือ “กรณีศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่”’ โดยวิภาวรรณ สุนทรจามร (2023) ที่ทำการศึกษากลุ่มชาวจีนอพยพใหม่ที่พำนักอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการทำแบบสอบถาม 131 คน และสัมภาษณ์ในเชิงลึก 23 คน ช่วงระหว่างกลางปี พ.ศ.2562 – 2563 พบว่ามีชาวจีนอพยพใหม่ที่พำนักอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ในหลากหลายอาชีพ เช่น กลุ่มนักธุรกิจลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของกิจการธุรกิจโรงแรม โฮมสเตย์ บริษัทท่องเที่ยวร่วมทุน สถาบันการสอนภาษาจีน ร้านอาหารจีน ร้านกาแฟ รวมถึงกลุ่มผู้ปกครองที่ติดตามมาดูแลบุตรหลานเพื่อเข้าศึกษาต่อในเชียงใหม่ และกลุ่มคนสูงวัยที่มาใช้ชีวิตหลังเกษียณ เป็นต้น

ในงานศึกษาชิ้นนี้อ้างข้อมูลจากเว็บไซต์แนะนำการย้ายถิ่นของจีน www.vengavisa.com(威嘉出国网)ได้นำเสนอข้อมูลแนะนาชาวจีนให้มาใช้ชีวิตหลังเกษียณที่เชียงใหม่ เนื่องจากมีปัจจัยบวกในหลายด้านดังนี้  (1) มาตรการของรัฐบาลไทยที่ดึงดูดความสนใจของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน เพราะมีนโยบายยินดีให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านและใช้สิทธิถือวีซ่าเกษียณอายุเพื่อพำนักในประเทศไทยได้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ดีมาก เพราะหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ (2) ค่าครองชีพในประเทศไทยถูกมาก ค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยก็อยู่ในอัตราที่ต่ำ (3) สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และภูมิอากาศรอบข้าง สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขและสุขสบาย (4) อุตสาหกรรมการบริการของไทยมีคุณภาพดีและทั่วถึง (5) ราคาอสังหาริมทรัพย์ในไทยไม่แพงนักเมื่อเทียบกับจีน (6) การออกกาลังกายในไทย มีอากาศที่เหมาะสมในการออกกาลังกายประเภทนี้ตลอดทั้งปี (7) การรักษาพยาบาลของประเทศไทยมีคุณภาพสูงเท่ากับที่ยุโรป แต่เสียค่าใช้จ่ายเพียง 1 ใน 3 ของยุโรป

นอกจากนี้ ช่วงเดือนกันยายน 2567 สำนักข่าว AP เผยแพร่สกู๊ปข่าว เกี่ยวกับครอบครัวชาวจีนที่ย้ายจากบ้านเกิดมาพำนักที่จังหวัดเชียงใหม่ สกู๊ปข่าวชิ้นนี้ชี้ว่ากระแสการย้ายถิ่นฐานของชาวจีนเพื่อการศึกษาของบุตรหลานเริ่มมีมานานกว่าทศวรรษแล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้ปรากฏการณ์นี้ได้ทวีความเข้มข้นขึ้น แม้จะยังไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่ามีครอบครัวชาวจีนย้ายมาไทยด้วยจุดประสงค์นี้มากน้อยเพียงใด แต่เห็นได้ชัดว่าเชียงใหม่เป็นจุดหมายยอดนิยม ตามมาด้วยพัทยา ภูเก็ต และกรุงเทพฯ ครอบครัวชาวจีนที่เลือกเชียงใหม่แบ่งเป็นสองกลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือผู้ที่วางแผนการศึกษาของบุตรหลานอย่างรอบคอบล่วงหน้า ส่วนกลุ่มที่สองซึ่งมีจำนวนมากกว่า คือผู้ที่ต้องการหลีกหนีจากระบบการศึกษาที่เข้มงวดและแข่งขันสูงในจีน โรงเรียนนานาชาติในเชียงใหม่ดึงดูดครอบครัวเหล่านี้ด้วยค่าเล่าเรียนที่ต่ำกว่าโรงเรียนในเมืองใหญ่ของจีนอย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ อีกทั้งยังประหยัดกว่าการส่งบุตรหลานไปเรียนในประเทศอย่างสิงคโปร์หรือญี่ปุ่น ซึ่งมีทั้งค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพที่สูงกว่าประเทศไทยอย่างมาก

สถานการณ์ ‘ทุนจีน’ ในเชียงใหม่

นอกเหนือจากการท่องเที่ยวและการย้ายถิ่นฐานมาอยู่อาศัย เชียงใหม่กำลังกลายเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจที่ดึงดูดนักลงทุนชาวจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมืองนี้ได้เห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของการลงทุนจากจีนในหลากหลายภาคส่วน ตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงร้านอาหารและธุรกิจบริการ อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของเมืองเท่านั้น แต่ยังสร้างความท้าทายและความกังวลใหม่ๆ ให้กับชุมชนท้องถิ่น การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการท้องถิ่น ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก็สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนบางกลุ่ม นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบท้องถิ่นของนักลงทุนชาวจีนบางส่วน

ในงานศึกษาของวิภาวรรณ สุนทรจามร ที่ศึกษาในช่วงปี พ.ศ. 2562 – 2563 พบว่าคนจีนเข้ามาลงทุนระยะแรกในเชียงใหม่มี 2 ประเภท คือ ธุรกิจเอกชนขนาดเล็กและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ นักธุรกิจจีนนำแนวคิดการดำเนินธุรกิจแบบจีนมาใช้ในประเทศไทย โดยเฉพาะในเชียงใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ท้องถิ่น กลยุทธ์หลักที่ใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวคือการตัดราคาเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด ส่วนในด้านอสังหาริมทรัพย์ พวกเขามุ่งเน้นการลงทุนระยะยาว โดยหวังผลตอบแทนจากค่าเช่าและการเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สิน นอกจากนี้ ยังใช้วิธีการปั่นราคาและระบบการชำระเงินแบบงวดเพื่อสร้างกำไร ในเชียงใหม่ นักลงทุนจีนได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟ โดยใช้ร้านกาแฟเป็นพื้นที่รับรองลูกค้าสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย ที่น่าสนใจคือการลงทุนในโครงการหมู่บ้านสำหรับผู้เกษียณ โดยมองว่าเชียงใหม่มีศักยภาพสูงด้วยค่าครองชีพที่ต่ำ สภาพอากาศที่ดี และข้อกำหนดวีซ่าที่ไม่ซับซ้อน

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงการมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในเชียงใหม่ของนักลงทุนจีน และการใช้กลยุทธ์ที่หลากหลายเพื่อสร้างผลกำไรและขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดและการแข่งขันในท้องถิ่นในระยะยาว

แบบแผนการรุกคืบของ ‘ทุนจีน’ ในที่ต่างๆ

การก้าวสู่เวทีโลกของทุนจีนได้สร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในหลากหลายภูมิภาค เพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบอันซับซ้อนของปรากฏการณ์นี้ เราจำเป็นต้องพินิจพิเคราะห์ประสบการณ์จากดินแดนต่างๆ ที่เงินทุนจากแดนมังกรได้หยั่งรากลงไป โดยอาศัยข้อมูลเชิงลึกจากงานวิจัยที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ซึ่งจะช่วยฉายภาพให้เห็นถึงความหลากหลายและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของจีนในต่างแดน

ในงานศึกษา Contextualization of Chinese entrepreneurship research: an overview and some future research directions โดย Qihai Huang, Xueyuan Liu และ Jun Li (2019) ระบุว่าการขยายตัวของธุรกิจจีนในต่างประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่ปี 2014 การลงทุนโดยตรงของจีนในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ และขยายสู่การสร้างโรงงานแปรรูปในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในแอฟริกา โครงการ Belt and Road Initiative เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวนี้ ด้วยการเชื่อมโยงจีนกับประเทศอื่นๆ ผ่านโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุน สร้างโอกาสมากมายให้ธุรกิจจีนในต่างแดน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจีนยังเผชิญความท้าทาย โดยเฉพาะการขาดความคุ้นเคยกับประเทศเป้าหมายและระบบสถาบันที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ในหลายประเทศตามเส้นทาง Belt and Road การเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของธุรกิจจีนในต่างประเทศ

ในรายงาน ‘ESG Impacts of China’s Next-Generation Outbound Investments: Indonesia and Cambodia’ จัดทำโดย Rhodium Group (2023) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจโลกและจีนศึกษา เผยแพร่เมื่อปี 2023 ชี้ว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) รายงานฉบับล่าสุดได้ศึกษาวิเคราะห์การลงทุนของจีนในอินโดนีเซียและกัมพูชา ผ่านกรณีศึกษา 4 โครงการสำคัญ ผลการศึกษาพบว่า การลงทุนของจีนมีทั้งแง่บวกและลบต่อประเทศเจ้าบ้าน ในด้านสิ่งแวดล้อม บางโครงการ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่บางโครงการก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เช่น การทำลายป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติของกัมพูชา ด้านสังคม พบปัญหาเรื่องสิทธิแรงงานและการโยกย้ายถิ่นฐานของชุมชนในบางโครงการ โดยเฉพาะในกัมพูชา ขณะที่ด้านธรรมาภิบาล หลายบริษัทจีนยังขาดความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลและการรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

ดลวรรฒ สุนสุข นักวิจัยของ The Glocal ผู้ติดตามประเด็นเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า การเข้ามาของทุนจีนในเชียงใหม่ ระลอกหลังโควิด-19 อย่างมีนัยยะสำคัญ เห็นโอกาสเศรษฐกิจในเชียงใหม่ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวซบเซาอยู่ เข้ามาลงทุน หลังจากนั้นก็ใช้นอมินี ตั้งบริษัทและถือครองอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งการเข้ามาของทุนจีนรอบนี้ ได้กว้านซื้อธุรกิจ ขยายตัวออกไปในหลากหลายธุรกิจ อาทิ กลุ่มธุรกิจสุขภาพ ความงาม ขายสินค้าออนไลน์ อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ 

โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ มีการสร้างโครงการหมู่บ้านจัดสรรค์รองรับคนจีนโดยเฉพาะ ในเขตอำเภอ หางดง สันกำแพง รอบเมืองเชียงใหม่ และสร้างไชน่าทาวน์แห่งใหม่ รองรับเป็นบ้านแห่งที่ 2 ของชาวจีน นอกจากนี้ยังเข้ามารับก่อสร้างโครงการก่อสร้างช่วงต่อจากบริษัทรับเหมาไทยเพิ่มมากขึ้น

“พูดถึงสถานการณ์การครอบครองอสังหาริมทรัพย์ เราจะเห็นว่ากลุ่มทุนจีน รวมถึงชาวจีนชนชั้นกลาง ค่อนข้างมีแพทเทิร์นการซื้อที่มักจะซื้อในหมู่บ้าน ที่มีข้อมูลว่ามีชาวจีนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีเอเจนซีที่ทำการตลาดโดยตรงกับชาวจีน ชาวจีนกลุ่มนี้่ใช้ทุนทางวัฒนธรรมของตนเอง ในการสร้างกลุ่มเล็กๆ  ในหมู่บ้าน จนในบางแห่ง ทราบว่ามีอำนาจต่อรองกับนิติบุคคลของหมู่บ้าน โดยเฉพาะในโซนนอกเมือง อย่างเช่น สันกำแพง หรือสันทราย”

“กรณีดังกล่าว ถามว่ามันส่งผลกับคนไทยอย่างไร ผมเข้าใจว่าในระยะยาวเมื่อชาวจีนเพิ่มจำนวนผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรรมากขึ้น อาจส่งผลให้เกิดแพทเทิร์นแบบแรกคือคนไทยเองก็จะสามารถขายที่อยู่อาศัยให้กับคนจีนกลุ่มนี้ จะโดยสมัครใจหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่มันมีอุปสงค์ในการซื้อแน่ๆ กับอีกแบบหนึ่งคือในบางหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งทยอยเกิดขึ้นแล้ว คนไทยกลายเป็นคนส่วนน้อยในหมู่บ้านจัดสรร ที่มีแต่ชาวจีนอยู่อาศัย แม้จะครอบครองอสังหาฯ อย่างถูกกฎหมาย แต่ในแง่ของการเป็นเพื่อนบ้าน วัฒนธรรมและวิถีชีวิต ก็อาจสร้างความรำคาญให้กับคนไทยไม่น้อย ท้ายที่สุด หมู่บ้านจัดสรรหลายอย่างก็จะมีลักษณะที่จีนเป็นผู้คุมกติกาไปเลย” ดลวรรฒ กล่าว

มีความกังวลถ้าปล่อยให้ทุนจีนเข้ามาในเชียงใหม่ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตัว ผู้ประกอบการขายกิจการ จะถูกกลุ่มทุนจากจีนเข้ามากว้านซื้อ คล้ายกับหลวงพระบางประเทศลาว ที่ตอนนี้ในเมืองธุรกิจแทบทุกอย่างกลายเป็นของทุนจีน ภาครัฐควรเข้าไปโอบอุ้มหรือมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้มากกว่านี้

“ยังไม่นับถึงธุรกิจต่างๆ ในเชียงใหม่ ที่กลุ่มจีนชนชั้นกลางเข้ามาเห็นช่องในการทำธุรกิจมากขึ้น เราจะเห็นร้านกาแฟที่เจ้าของเป็นชาวจีนมากขึ้น ร้านอาหาร หรือแม้แต่ซุปเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ทั้งหมดนี้ส่งผลโดยตรงกับการที่ผู้ค้าในเชียงใหม่ต้องปรับตัว”

“อีกประเด็นที่น่าสนใจคือตัวโรงเรียนนานาชาติเองก็ต้องปรับตัวสูงมาก หลายโรงเรียนจำเป็นจะต้องเลือกทาร์เก็ตกรุ๊ปให้ชัดเจนไปเลยว่าคุณจะขายใคร ถ้าคุณอยากลงทุนกับเด็กจีน ในแง่หนึ่งก็เหมือนปิดโอกาสที่จะรับเด็กฝั่งตะวันตกไปเลย เพราะทั้งวิถีชีวิต และหลักสูตรนั้น ค่อนข้างจะแตกต่างกันชัดเจน” ดลวรรฒ ระบุ

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าอันที่จริงการลงทุนของคนต่างชาติควรจะเป็นเรื่องดีต่อเมืองที่ทุนหลั่งไหลเข้าไป แต่กลับกลายเป็นว่ากรณีทุนจีนไม่เป็นเช่นนั้น ไม่ค่อยตรงไปตรงมา เนื่องจากกฎหมายไทยยังไม่เปิดกว้าง เต็มไปด้วยข้อจำกัดไม่ว่าเรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ข้อห้ามอาชีพสงวน ระยะเวลาการพำนักในราชอาณาจักร ฯลฯ จึงมีลักษณะของการหลบเลี่ยงประกอบกิจการ ไล่ตั้งแต่ไกด์ทัวร์ศูนย์เหรียญ ล้งลำไย ร้านของที่ระลึก/ร้านอาหารจีน/โรงแรม วิธีที่ส่วนใหญ่ใช้คือ “จ้างนอมินี” จึงมักมีการเรียกว่า “ทุนจีนสีเทา”

“ปัญหาคือ เชียงใหม่ไม่ค่อยได้อะไรด้วย การจ้างงานไม่เกิด เพราะเขาก็ใช้คนของเขาเองที่พูดจีนได้คล่อง เวลาจ่ายเงินก็ให้โอนผ่านแอปพลิเคชันไปเข้าบัญชีที่ประเทศจีน เงินสดก็ไม่ได้หมุนเวียนอยู่ในไทยอย่างที่ควรเป็น ภาษีหลักๆ ก็ไม่น่าเก็บได้ พวกภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมไปถึงนิติบุคคลด้วย ยังไม่มีข้อมูลว่าภาษีระดับท้องถิ่น อย่างภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เทศบาลมีประสิทธิภาพจัดเก็บจากพวกนี้ได้มากน้อยแค่ไหน” ผศ.ดร.ณัฐกร กล่าว

“ถ้าจะเสนอให้ไล่จับก็ดูเหมือนจะชาตินิยมเกินไป ย้อนยุคกลับไปสมัยจอมพลสฤษดิ์ที่ออกมาตรการห้ามมิให้นำสินค้าที่ผลิตหรือมีกำเนิดในประเทศจีนคอมมิวนิสต์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ทั้งที่ยุคโลกาภิวัตน์ หลายเรื่องมันควรต้องเปิดให้ Free Flow นี่แหละ” ผศ.ดร.ณัฐกร กล่าว

“ต้องไม่ลืมว่าในบางแง่มุม คนจีนที่เข้ามาอยู่อาศัยในเชียงใหม่ก็ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจเชียงใหม่ได้เหมือนกัน ข้ามเรื่องการท่องเที่ยวไป เพราะเห็นชัดเจนช่วงก่อนสถานการณ์โควิดอยู่แล้ว ก็เช่น ธุรกิจคอนโดฯ ที่ลงทุนสร้างกันหลังน้ำท่วมกรุงเทพฯ หวังทำขายคนกรุงเทพฯ แต่ขายไม่ออก ก็ได้คนจีนนี่แหละที่แห่มาซื้อกัน เพราะที่ประเทศเค้าไม่ให้คนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เอาเงินมาลงทุนที่ไทยดีกว่า ซึ่งตรงนี่ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย ถ้าคอนโดนั้นมีคนต่างชาติซื้อรวมกันไม่เกิน 50% ของยูนิตที่มี ตรงนี้เหมือนคนจีนช่วยเข้ามาเติมเต็ม แต่กระนั้น พวกนี้บางส่วนก็เอาห้องมาปล่อยเช่ารายวันผ่าน Airbnb ทั้งที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ อันนี้คือผลเสีย ทำให้โรงแรมที่ขอใบอนุญาตถูกต้องขนาดเล็กๆ กลางๆ แข่งขันยาก เช่นเดียวกับการขยายตัวของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งพูดได้เต็มปากว่าบูมเพราะคนจีนนิยมส่งลูกหลานเข้ามาเรียน เพราะประหยัดกว่าเรียนอยู่ที่เมืองจีนอย่างน้อย 5 เท่าตัว มีลักษณะคล้ายกันคือ ให้ภรรยาเลี้ยงลูก ส่วนสามีก็ทำงานหาเงินส่งมา ใช้เราเป็นสปริงบอร์ดเพื่อจะไปประเทศชั้นนำต่อไป สังคมไทยแทบไม่ได้อะไรจากการมีส่วนช่วยสร้างคนกลุ่มนึ้ให้เติบโตขึ้นมาเลย” ผศ.ดร.ณัฐกร กล่าว

ความคิดเห็นจากผู้อยู่ในภาคธุรกิจต่างๆ ของเชียงใหม่ ที่มีต่อทุนจีน

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ คุณปุ๋ย อายุ 38 ปี นายหน้าอสังหาริมทรัมย์ เคยมีประสบการณ์ถูกชาวจีนหลอกใช้ให้หาอสังหาริมทรัพย์โดยบอกว่าจะนำไปเสนอให้นักลงทุนจีนรายใหญ่ แต่สุดท้ายเป็นการหลอกลวง และถูกมิจฉาชีพจีนแสร้งสนใจซื้อคอนโดหรู แล้วอ้างว่าจะโอนเงินจองให้แต่ก็ไม่ได้โอน

“ระบบการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจีนแตกต่างจากไทยอย่างมาก ทุนจีนมักใช้นายหน้าจีนโดยเฉพาะในการหาทรัพย์สิน ซึ่งมีบริษัทตัวแทนจีนกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย พวกเขามักใช้คนไทยหน้าตาเอเชียในการติดต่อหาทรัพย์สิน ความแตกต่างสำคัญอยู่ที่ระบบค่าคอมมิชชั่น ในไทย ผู้ขายเป็นคนจ่าย แต่ในระบบจีน ผู้ซื้อเป็นคนจ่าย และค่าคอมมิชชั่นของจีนสูงถึง 10% หรือมากกว่า ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ 3-5% ทำให้นายหน้าไทยแข่งขันได้ยากในกรณีขายให้ลูกค้าจีน นอกจากนี้คนจีนก็มักจะทำธุรกิจร่วมกันเท่านั้น ช่วงหลังคนไทยจึงแทรกเข้าไปยาก นอกจากนี้ยังมีเรื่องของภาษีและการจัดการโอนเงินระหว่างไทย-จีนที่ซับซ้อน ดังนั้น การร่วมงานกับนายหน้าชาวจีนจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับลูกค้าจีน” คุณปุ๋ย กล่าว

คุณปุ๋ยยังตั้งข้อสังเกตว่านักลงทุนจีนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่นายหน้ารายย่อยเท่านั้น มรการก้าวไปถึงขั้นเปิดบริษัทอสังหาริมทรัพย์เองโดยตรง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย พวกเขามักดำเนินกิจการโดยใช้ชื่อคนไทยเป็นผู้ถือครองกิจการ ในเชียงใหม่ มีนักธุรกิจจีนด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่มักไม่จดทะเบียนเป็นบริษัทอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่เชียงใหม่ นักลงทุนจีนเหล่านี้มักจะเริ่มต้นการลงทุนในพื้นที่ยอดนิยมอย่างกรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ตก่อน“ถ้าบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนขนาดใหญ่ ทุนหนา ให้บริการครบวงจร เข้ามาตลาดนี้จริงๆ นายหน้าและบริษัทเล็กๆ ทั้งไทยและจีนสู้ไม่ไหวแน่นอน” คุณปุ๋ย กล่าว

กลุ่มเกษตร คุณเบิ้ม ผู้ปลูกและอบลำไยอบแห้งส่งออก วัย 43 ปี เปิดเผยสถานการณ์น่าวิตกในตลาดลำไยเชียงใหม่ พ่อค้าชาวจีนได้คุมตลาดและกำหนดราคาลำไยทั้งสดและแห้งอย่างเบ็ดเสร็จ โดยเข้ามาควบคุมกระบวนการผลิตอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การรับซื้อไปจนถึงการอบแห้ง “เหมือนเขามาควบคุมการผลิตเอง คอยดูเราทำโน่นทำนี่ ปักหลักอยู่เป็นเดือน ๆ เลย” คุณเบิ้ม กล่าว

คุณเบิ้ม ชี้ว่าสภาพตลาดลำไยปัจจุบันขึ้นอยู่กับความต้องการของจีนเป็นหลัก เมื่อจีนต้องการนำเข้ามาก ราคาก็ดี แต่หากผลผลิตล้นตลาด ทั้งโรงงานอบลำไยและชาวสวนก็ประสบปัญหา อำนาจต่อรองทั้งหมดอยู่ในมือพ่อค้าจีน สะท้อนการพึ่งพาตลาดจีนอย่างมาก

“สภาพตลาดลำไยตอนนี้ พ่อค้าจีนเขาคุมไว้หมดทั้งลำไยสดและลำไยอบแห้ง ช่วงที่จีนเขาต้องการนำเข้ามาก ราคาก็ดี ทุกคนก็โอเค แต่ช่วงไหนที่ผลผลิตล้นตลาดเกินความต้องการเขา โรงงานอบลำไยหรือชาวสวนลำไยก็ลำบาก อำนาจต่อรองอยู่ในมือพ่อค้าจีนหมด” คุณเบิ้ม

กล่าวอาจจะกล่าวได้ว่า สถานการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการลำไยท้องถิ่น รวมถึงอุตสาหกรรมลำไยของเชียงใหม่โดยรวม การควบคุมตลาดโดยพ่อค้าต่างชาติอาจนำไปสู่การสูญเสียรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการส่งเสริมการกระจายตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป เพื่อลดการพึ่งพาตลาดเดียวและสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมลำไยของเชียงใหม่ในระยะยาว

“ตอนนี้ลำไยอบคือการแปรรูปลำไยที่ได้ราคาดีที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับตลาดจีนเป็นสำคัญ หากวันไหนเขาไม่รับซื้อ ลำไยไทยก็เจ๊งทั้งระบบ ควรหาวิธิการแปรรูปใหม่ ๆ หาตลาดใหม่ ๆ ผมก็อยากลองเอาไปทำเหล้า เบียร์ หรือไวน์ ตลาดจะได้มีมากกว่าส่งออกจีนประเทศเดียว” คุณเบิ้ม กล่าว

กลุ่มธุรกิจร้านค้าและภาคบริกาคุณปอ ผู้อยู่ในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม อายุ 29 ปี เล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ของธุรกิจร้านอาหารที่มีทุนจีนในจังหวัดท่องเที่ยวชื่อดังแห่งนี้ ตามคำบอกเล่าของคุณปอ ธุรกิจร้านอาหารที่มีเงินทุนจากประเทศจีนได้ดำเนินกิจการในเชียงใหม่มาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารจีนที่มีป้ายร้านเป็นภาษาจีน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นของนักลงทุนชาวจีน

การดำเนินธุรกิจของร้านอาหารทุนจีนในเชียงใหม่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายและที่อาจมีการใช้นอมินีคนไทยเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการอย่างไรก็ตาม คุณปอได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในย่านนิมมานเหมินทร์ ซึ่งเป็นย่านที่มีชื่อเสียงในเชียงใหม่ด้านร้านอาหาร คาเฟ่ และสถานบันเทิง ในปัจจุบัน มีนักลงทุนชาวจีนที่เปิดเผยตัวตนในการเป็นเจ้าของร้านอาหารกึ่งผับในย่านนี้ 

“แต่ในย่านนิมมานฯ ก็มีคนจีนเปิดหน้าว่าเปิดร้านอาหารกึ่งผับบ้างแล้ว ปีที่แล้ว (2567) เห็นมีออกข่าวใหญ่โตเลย ไม่ต้องมีนอมินี” คุณปอ กล่าว

คุณวรรณ อายุ 46 ปี ผู้อยู่ในธุรกิจเสริมความงามและสุขภาพ ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์การลงทุนของทุนจีนในอุตสาหกรรมความงามและสุขภาพในเชียงใหม่ ด้วยการอธิบายสถานการณ์ในคลินิกเสริมความงาม โดยระบุว่า อาจจะยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับทุนจีนได้แน่ชัด เนื่องจากจำกัดทางกฎหมายและวิชาชีพที่ยังคงเป็นเกราะป้องกันการเข้ามาของทุนต่างชาติในบางสาขาอาชีพ โดยเฉพาะในวงการแพทย์ของไทย

“สำหรับในแวดวงคลีนิคเสริมความงามในเชียงใหม่ เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพนี้ต้องเป็นแพทย์ที่มีใบอนุญาตจึงอาจยังไม่เห็นการเข้ามาของทุนจีนเท่าไรนัก” คุณวรรณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม คุณวรรณได้ชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวของทุนจีนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ที่แสดงให้เห็นว่าทุนจีนกำลังขยายอิทธิพลในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความงามและสุขภาพ โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่ต้องการใบอนุญาตวิชาชีพเฉพาะทาง

“เข้าใจว่าพวกฟิตเนสต่างๆ ตอนนี้ก็มีข่าวว่าทุนจีนกว๊านซื้อไปบ้างแล้ว ร้านทำเล็บในย่านนิมมานฯ นี่ก็เป็นนอมินี่ทุนจีนเป็นส่วนใหญ่แล้ว” คุณวรรณ กล่าว

คุณวรรณยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของคลินิกเสริมความงาม ปิดท้ายว่าแม้ปัจจุบัน ธุรกิจคลินิกเสริมความงามยังคงอยู่ในมือของผู้ประกอบการไทย เนื่องจากมีรายได้ที่ดีและข้อจำกัดทางกฎหมาย แต่ก็ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะหากทุนจีนเริ่มใช้กลยุทธ์การซื้อกิจการขนาดใหญ่หรือการผูกขาดตลาด

“ตอนนี้หมอไทยรายได้ดีอยู่แล้ว การเป็นนอมินีจีนน่าจะเป็นเรื่องยาก” คุณวรรณ กล่าว “แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ถ้าเขาเปลี่ยนรูปแบบเช่นการลงทุนกว๊านซื้อเป็นเรื่องเป็นราวแล้วผูกขาดไปเลย กินรวบไปเลย แบบนั้นจะน่ากลัวมาก”

คุณเอก อายุ 43 ปี ผู้อยู่ในวงการโลจิสติกส์ ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ที่น่าวิตกในอุตสาหกรรมการขนส่งและคลังสินค้าของเชียงใหม่ เขาชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของทุนจีนในภาคส่วนนี้ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการท้องถิ่นและระบบเศรษฐกิจโดยรวม

“นอกจากที่บริษัทขนส่งหลายแห่งจะเป็นของทุนจีนไปหมดแล้วตั้งแต่แบรนด์ใหญ่ ๆ ก็ยังพบว่าคนจีนได้เช่าโกดังเพื่อเก็บสินค้าในเชียงใหม่อยู่หลายแห่ง ทั้งเช่าแบบเปิดเผย หรือแบบนอมินีที่คนในวงการกู้รู้ๆ กัน” คุณเอก กล่าว

คุณเอกยังเล่าด้วยความกังวล สะท้อนให้เห็นถึงการครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทานของทุนจีน ตั้งแต่การจัดเก็บสินค้าไปจนถึงการขนส่ง และสะท้อนให้เห็นถึงการผูกขาดที่กำลังเกิดขึ้นในตลาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ค้าออนไลน์ชาวไทยในอนาคต สถานการณ์นี้นี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนส่งและคลังสินค้าเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นของเชียงใหม่ในวงกว้าง หากในอนาคตทุนจีนควบคุมทั้งแหล่งสินค้าต้นทางและระบบขนส่งอาจนำไปสู่การผูกขาดทางการค้า

“น่าเป็นห่วงบริษัทขนส่งสัญชาติไทย หรือแม้แต่คนค้าขายออนไลน์คนไทย ทั้งสินค้าต้นทาง การขนส่ง และโกดังต่างๆ อยู่ในมือทุนจีนเป็นส่วนใหญ่แล้ว” คุณเอก กล่าว “ช่วงนี้มันอาจยังไม่ส่งผลกระทบเพราะราคาค่าบริการหรือราคาสินค้ายังต่ำอยู่ แต่ถ้าเขาแห่ขึ้นราคาพร้อมกันเมื่อใดก็น่าห่วงทั้งระบบเลย”

‘อคติและความกลัว’ ต่อ ‘คนจีน-ทุนจีน’ ของชาวเชียงใหม่

ในโลกที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกลายเป็นเรื่องซับซ้อนและละเอียดอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงประเทศจีน ซึ่งกำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลก แต่ทำไมหลายประเทศถึงมี ‘อคติและความกลัวต่อจีน’ ทั้งในแง่ของประชาชน นักธุรกิจ และรัฐบาล ซึ่งคำตอบนั้นซับซ้อนและมีหลายมิติ

การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของจีนได้สร้างทั้งโอกาสและความท้าทาย ในขณะที่หลายประเทศได้รับประโยชน์จากการค้าและการลงทุนกับจีน แต่ก็มีความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมและการสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศเชิงรุกของจีน เช่น โครงการ Belt and Road Initiative ถูกมองว่าเป็นความพยายามในการขยายอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งสร้างความหวาดระแวงให้กับหลายประเทศ

ระบบการปกครองของจีนที่แตกต่างจากประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจและความขัดแย้ง รายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน โดยเฉพาะในกรณีซินเจียง ได้สร้างความกังวลในระดับนานาชาติและส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการขาดความเข้าใจซึ่งกันและกันยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ การนำเสนอข่าวเชิงลบเกี่ยวกับจีนในสื่อต่างประเทศมีส่วนในการหล่อหลอมมุมมองของสาธารณชน ขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์และความขัดแย้งในอดีตระหว่างจีนกับบางประเทศยังคงส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในปัจจุบัน

ช่วงปี พ.ศ. 2563 การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มต้นในจีนได้เพิ่มความตึงเครียดระหว่างประเทศ และยกระดับความไม่ไว้วางใจที่มีอยู่แล้วให้สูงขึ้น นอกจากนี้ การเติบโตของชุมชนจีนโพ้นทะเลในหลายประเทศยังนำมาซึ่งความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม

เมื่อโฟกัสเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ การที่คนเชียงใหม่มีอคติต่อชาวจีนและทุนจีนเป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนและมีหลายมิติ ซึ่งสะท้อนทั้งบริบทท้องถิ่นและแนวโน้มระดับโลก เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันโดดเด่น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การลงทุนจากจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยว การเปลี่ยนแปลงนี้ได้ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่ประชาชนท้องถิ่นด้วยเหตุผลหลายประการ ดังเช่น

ประการแรก มีความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจีนได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์เมือง เช่น การเพิ่มขึ้นของป้ายภาษาจีนและธุรกิจที่มุ่งเน้นลูกค้าชาวจีน ซึ่งอาจทำให้คนท้องถิ่นรู้สึกว่าเอกลักษณ์ของเมืองกำลังถูกคุกคาม

ประการที่สอง มีความกังวลด้านเศรษฐกิจ การลงทุนจากจีนในอสังหาริมทรัพย์ได้ส่งผลให้ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยในเชียงใหม่สูงขึ้น ทำให้คนท้องถิ่นหลายคนรู้สึกว่าถูกผลักออกจากตลาด นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการลงทุนเหล่านี้อาจไม่ได้ตกถึงมือคนท้องถิ่นอย่างทั่วถึง

ประการที่สาม ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากร การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างรวดเร็วและการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวได้สร้างความกดดันต่อทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศของเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่ชาวเชียงใหม่ให้ความสำคัญมาก

ประการที่สี่ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและพฤติกรรม บางครั้งพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวหรือนักลงทุนชาวจีนอาจถูกมองว่าไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานทางสังคมของท้องถิ่น ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิดและความขัดแย้ง

ทั้งนี้ข้อมูลจากชมรมมัคคุเทศก์รักษ์ล้านนา ที่ให้ไว้กับ Thai PBS เมื่อปี 2559 อนุมานได้ว่ากระแสอคติต่อคนจีนในเชียงใหม่อาจจะเริ่มต้นขึ้นเมื่องช่วงปี พ.ศ.2556-2557 ซึ่งเกิดมาจากสื่อโซเชียลมีเดียที่โพสต์ทั้งข้อความและภาพของนักท่องเที่ยวชาวจีนในแง่ลบ ทำให้คนไทยที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเลย หรือคิดว่าตัวเองไม่มีส่วนได้เสียอะไร เมื่อเห็นกระแสข่าวแบบนี้ ก็เริ่มมีอคติต่อนักท่องเที่ยวชาวจีนไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ช่วงหลัง จะสังเกตได้ว่าคนเชียงใหม่มีอคติและความกลัวต่อคนจีนในมิติของการเป็นผู้ลงทุนประกอบธุรกิจ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ทุนจีน”

The Glocal ได้ทำ “แบบสำรวจทัศนคติของคนไทยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ต่อทุนจีน” ทางออนไลน์ เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2567 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 30 คน อายุระหว่าง 19-62 ปี ประกอบอาชีพ อาทิ พนักงานบริษัท คนทำงานภาครัฐ เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น ได้ผลสำรวจที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

คุณคิดว่าการลงทุนของจีนในเชียงใหม่มีผลกระทบอย่างไร?
มองว่ามีทั้งบวกและลบ (56.7%)
มองว่ามีผลกระทบเชิงลบ (40%)
มองว่าไม่มีผลกระทบ (3.3%)
มองว่ามีผลกระทบเชิงบวก (0%)ระดับความกังวลของคุณต่อการเข้ามาของทุนจีนในเชียงใหม่ (1 = ไม่กังวลเลย, 5 = กังวลมาก)
3 (50%)
4 (23.3%)
5 (23.3%)
1 (3.3%)
2 (0%)

คิดว่าทุนจีนส่งผลต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นของเชียงใหม่อย่างไร?
แย่ลงมาก (43.3%)
ดีขึ้นเล็กน้อย (30%)
แย่ลงเล็กน้อย (20%)
ไม่เปลี่ยนแปลง (6.7%)
ดีขึ้นมาก (0%)

คุณคิดว่าทุนจีนมีผลกระทบต่อธุรกิจของคนไทยที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่หรือไม่?
มีผลกระทบมาก (60%)
มีผลกระทบบ้าง (30.5%)
ไม่แน่ใจ (6.7%)
ไม่มีผลกระทบ (3.3%)

ภาคส่วนใดได้รับผลกระทบจากทุนจีนมากที่สุด?
อสังหาริมทรัพย์ (40%)
การท่องเที่ยว (20%)
ร้านขายสินค้า (16.7%)
ทุกธุรกิจ (9.9%)
ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม (6.7%)
เกษตรกรรม (3.3%)

เห็นด้วยหรือไม่ว่าควรมีการควบคุมการลงทุนจากจีนในเชียงใหม่มากขึ้น?
เห็นด้วยอย่างยิ่ง (56.7%)
เห็นด้วย (43.3%)
เฉยๆ (0%)
ไม่เห็นด้วย (0%)
ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง (0%)

โอกาสของท้องถิ่นภายใต้กระแสจีนภิวัฒน์

ดลวรรฒ นักวิจัยของ The Glocal มองว่าการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว ผู้อยู่อาศัย และการลงทุนจากจีนในเชียงใหม่ไม่เพียงแต่นำมาซึ่งความท้าทาย แต่ยังสร้างโอกาสมากมายสำหรับท้องถิ่น หากมีการจัดการและวางแผนอย่างรอบคอบ เชียงใหม่สามารถใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเมืองได้

ด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจีนนำมาซึ่งรายได้มหาศาลสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวท้องถิ่น ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า และบริการนำเที่ยวสามารถปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดใหม่นี้ โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ท้องถิ่น การพัฒนาโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เน้นการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมจีนและล้านนาอาจเป็นจุดดึงดูดใหม่ที่น่าสนใจ

ในแง่ของผู้อยู่อาศัยชาวจีน พวกเขานำมาซึ่งทักษะ ความรู้ และเครือข่ายทางธุรกิจใหม่ ๆ สู่เชียงใหม่ การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการศึกษาระหว่างชุมชนท้องถิ่นและชุมชนจีนสามารถนำไปสู่นวัตกรรมและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าและบริการเฉพาะของชุมชนจีนยังสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่นได้

การลงทุนจากจีนสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจของเชียงใหม่ การร่วมทุนระหว่างนักลงทุนจีนและผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจท้องถิ่น นอกจากนี้ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ยังสามารถนำไปสู่การสร้างงานในภาคการก่อสร้างและบริการที่เกี่ยวข้อง

“อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้จำเป็นต้องมีการวางแผนที่รอบคอบ การมีส่วนร่วมของชุมชน และนโยบายที่สมดุลเพื่อให้แน่ใจว่าการพัฒนาจะเป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนของท้องถิ่นเชียงใหม่ ซึ่งก็ควรไปพูดถึงการมีกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็งด้วย” ดลวรรฒ นักวิจัยของ The Glocal กล่าว

แนะรัฐ-ท้องถิ่น ‘จับตา-ออกกฎระเบียบ’ สร้างภูมิคุ้มกันการอยู่ร่วมกัน

รศ.ดร.ทศพล ทรรศนพรรณ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอว่าหากเป็นมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมทุนจีนในจังหวัดเชียงใหม่นั้น ก็จะต้องเช็คตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ประเด็นแรก คือการเข้าเมืองนั้นเข้าเมืองมาในลักษณะใด เช่น เข้าเมืองมามาเพื่อท่องเที่ยว เข้าเมืองมาเพื่อเรียนหนังสือ หรือเข้ามาเพื่อทำงานหรือประกอบธุรกิจ ถ้าทำผิดประเภทก็สามารถตรวจสอบได้ซึ่งมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง

ประเด็นที่สอง คือเรื่องการทำงานของคนต่างด้าวลักษณะงานจะต้องดูว่าเนื้องานที่ได้มาซึ่งเงินหรือการทำงานของเขาเป็นการทำงานที่ตรงกับที่กฎหมายอนุญาตหรือไม่ หรือว่าทำงานในลักษณะงานที่ต้องห้าม ซึ่งเขาสงวนไว้ให้คนไทยแต่พอมาทำแล้วเกือบเป็นรายได้ขึ้นมาก็ควบคุมได้

ประเด็นที่สาม คือการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งตรงนี้จะมีลักษณะประเภท Sector ภาคการผลิตหรือภาคการบริการและภาคการพาณิชย์ต่าง ๆ อยู่ ซึ่งถ้าไม่ว่าจะอยู่ในภาคไหนก็จะมีกฎหมายเขียนไว้ก็สามารถควบคุมได้ว่าทำตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หรือการทำธุรกิจที่กฎหมายนั้นห้ามไว้ ซึ่งก็จะสืบเนื่องเรื่องการตั้งนิติบุคคลเพื่อมาดำเนินธุรกิจนั้น ได้ทำตามสัดส่วนการถือหุ้นที่กำหนดว่าจะต้องมีคนไทยถือหุ้นมากกว่าหรือไม่ หรือมีลักษณะนอมินีหรือว่าลักษณะเป็นการถือในลักษณะหุ้มลมทำนิติกรรมอำพรางก็สามารถตรวจสอบได้

ประเด็นที่สี่ คือจะต้องดูเรื่องของการเสียภาษีเพราะว่าจริง ๆ กฎหมายไม่ได้เขียนห้ามคนประเทศไหนไว้เป็นการเฉพาะ พอเปิดประเทศให้เขามาทำงานหรือลงทุนได้นั้น สิ่งที่ต้องทำก็คือจะต้องเสียภาษีเพราะฉะนั้นจะต้องตรวจสอบจากการเสียภาษี ว่าได้ทำตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หรือมีการหลบลี่ยงภาษี 

ประเด็นที่ห้า คือการตรวจสอบตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน จะต้องดูว่าธุรกิจหรือเงินที่มีอยู่หรือครอบครองอยู่นั้นมีลักษณะเชื่อมโยงหรือผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีคดีที่เกี่ยวพันกับอาชญากรรมอื่นๆ จะต้องสืบเส้นทางการเงินมาว่าเชื่อมโยงกับธุรกิจหรือเงินทุนหรือทรัพย์สิน ที่คนกลุ่มเหล่านี้ถือครองอยู่  ถ้าหากมีความเกี่ยวโยง และมีการตรวจสอบกฎหมายฟอกเงินก็จะมีความง่ายมาก ก็คือต้องมีการสันนิฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินที่ได้มานั้นน่าจะเข้ามาโดยผิดกฎหมาย เว้นแต่คนที่เป็นผู้ครอบครองสามารถพิสูจน์ได้ว่าเงินนั้นได้มาด้วยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอันนี้ก็เป็นผ่านภาระให้กับคนที่ถือของทรัพย์สินเงินทุนพวกนี้ เพราะว่าเขาจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าได้มาจากการทำธุรกิจที่ถูกกฎหมายไม่ได้ผิดกฎหมาย หรือไม่ได้หลีกเลี่ยงอะไรต่างๆ นานา 

นอกจากนี้ รศ.ดร.ทศพล ยังระบุว่า นอกนั้นก็เป็นหลักการ กฎหมายทั่วๆ ไป ต้องบอกว่าเป็นหลักการจริง ๆ มันไม่ได้มีกฎหมายที่ควบคุมคนจีนหรือทุนจีนโดยเฉพาะ เพราะว่ากฎหมายก็มีหลักการสำคัญว่าถ้าเปิดประเทศแล้ว ต้องปฏิบัติกับคนต่างด้าวที่เราเปิดให้เข้ามาก็ได้สิทธิอะไรไม่ต่างกับคนชาติถ้าอนุญาติก็จะเพ่งเล็งใครเป็นการเฉพาะ ด้วยเหตุว่าเป็นคนต่างด้าวมันต้องมีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดไว้ ว่าเรื่องนี้ควบคุมคนต่างด้าว  เรื่องนี้ไม่ควบคุมก็ต้องดูเขาตามหลักทั่วไปว่าเขาทำผิดกฎหมายเฉพาะหรือเปล่าแค่นั้นเอง

สมมติเปิดให้คนต่างด้าวทำอะไรได้ ก็ไม่ได้เพ่งเล็งเฉพาะคนจีน เพราะว่ามันก็จะหมายถึงว่าคนทุกสัญชาติบ้างก็จะเทาๆ กันหมด ตามหลักการที่เรียกว่า การปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nation – MEN) ก็คือถ้าเปิดประเทศให้กับประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization –  WTO) หรือประเทศที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางเศรษฐกิจใหม่ ถ้าเป็นสมาชิกก็จะได้สิทธิ์เหมือนกันทุกประเทศ ถ้าเปิดประเทศเข้ามาและอนุญาตแล้ว ก็ไม่ได้มีข้อห้ามกฎหมายคนต่างด้าวอะไรไว้ก็จะให้สิทธิเท่ากับคนในชาติ ก็คือคนไทยคนต่างด้าวได้สิทธิเท่ากัน ถ้าจะควบคุมเขา เข้าจับกุมเขาหรือดำเนินคดีเขาก็ต้องมีกฎหมายเฉพาะที่บอกว่าการกระทำอะไรผิดกฎหมายหรือไม่ผิดกฎหมาย

ถ้าเรื่องทุนจีนในเชียงใหม่อาจจะดูเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าหรือว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับเรื่องการผูกขาด จริง ๆ ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า ซึ่งมี 2 แบบ ก็คือ 1.ตรวจสอบการผูกขาดแนวราบ หมายความว่าในธุรกิจนี้เขาผูกขาดกันหมดจนไม่มีคนประกอบธุรกิจที่เหลืออีกเลยหรือไม่ หรือผูกขาดเพียงไม่กี่ราย อาจจะเป็นคนหลายคนแต่จริง ๆ แล้วเป็นกลุ่มทุนเดียวกันหรือไม่ ก็อาจจะตรวจสอบได้ในระดับนึง ซึ่งก็ไม่รู้ว่ากำลังของภาครัฐไทยมีถึงขนาดไหน 2.ตรวจสอบการผูกขาดแนวดิ่งหมายความว่าเขาทำธุรกิจแบบครบวงจร การควบคุมช่องทางการจัดจำหน่ายบริโภค ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำครบหมดเลยอยู่เพียงกลุ่มทุนกลุ่มเดียว ซึ่งก็เป็นการผูกขาดอีกแบบนึง เรื่องนี้ก็ต้องตรวจสอบที่ทำให้เกิดการผูกขาดแบบนี้เหมือนกัน

ซึ่งหมายความว่าถ้าตรวจสอบทุนจีนก็ต้องตรวจสอบ ทุนจากชาติอื่น ทุนไทยเช่นกัน หากเป็นเรื่องของการผูกขาด ทั้งนี้ต้องตรวจสอบเรื่องของการคอรัปชันว่าที่เขาทำหรือดำเนินกิจกรรมสีเทา หรือบางกลุ่มอาจจะทำผิดกฎหมาย ถ้าทำอยู่ในรัฐอื่นหรือในพื้นที่อื่น แน่นอนว่าทำได้โดยที่ไม่มีปัญหาย่อมต้องมีเจ้าหน้าที่ของรัฐรู้เห็นเป็นใจหรือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ อันนี้ก็ต้องตรวจสอบให้เห็นชัดเจน

ประเด็นสุดท้ายก็จะเชื่อมโยงกับเรื่องฟอกเงินว่าจะสุดท้ายการทำธุรกิจ เขาออกมาทำธุรกิจที่ถูกกฎหมาย เป็นการให้ประกันกู้ยืมเงิน หรือการลงทุน เงินนั้นชัดเจนว่ามาแบบช่องทางที่ถูกกฎหมายจริง แต่ว่าจริงๆ แล้ว เชื่อมโยงกับการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งมีฐานปฏิบัติการอยู่รายล้อมแถวชายแดนประเทศไทยหรือไม่ อันนี้ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนเพราะว่าถ้าเป็นเงินที่ได้มาจากการก่ออาชญากรรมนั้น ซึ่งมีผู้เสียหายถ้าเป็นผู้เสียหายที่เป็นคนไทยหมายความว่าเงินที่ต้องยึดกลับมาหรือบังคับคดีกลับมาเพื่อเยียวยาให้เหยื่อ มันถูกแปลงหรือให้กลายมาเป็นเงินที่เข้ามาฟอกในธุรกิจหรือทรัพย์สินต่างๆ อาจจะต้องมีการยึดแล้วก็นำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้เสียหายด้วย

ข้อเสนอจากรายงานของ Rhodium Group (2023) ก็ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนของจีนสามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ก็มาพร้อมความท้าทายด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่ต้องจัดการอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญเสนอแนะให้บริษัทจีนปรับปรุงการรายงานข้อมูลให้โปร่งใสมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลประเทศผู้รับการลงทุนควรเพิ่มการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อยกระดับมาตรฐานการลงทุนที่ยั่งยืน

โดยข้อเสนอแนะแนวทางเชิงนโยบายเพื่อปรับปรุงผลกระทบจากการลงทุนจากจีน ดังนี้:

1. ผู้ประกอบธุรกิจ บริษัท และผู้ลงทุนจากจีน ควรปรับปรุงความโปร่งใสและการรายงานข้อมูลด้านด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ของโครงการลงทุน โดยเฉพาะการเปิดเผยรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม

2. รัฐบาลของประเทศและท้องถิ่นผู้รับการลงทุนจากจีน ควรเพิ่มการกำกับดูแลด้านด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล สำหรับโครงการลงทุนต่างชาติ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

3. ควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนกับรัฐบาลของประเทศและท้องถิ่นผู้รับการลงทุนจากจีน เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ของการลงทุน FDI โดยอาจมีการพัฒนากรอบการประเมินและแนวปฏิบัติร่วมกัน

4. ภาคประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ ควรมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลกระทบของโครงการลงทุนจากจีน

5. ควรมีการพัฒนาระบบการจัดการข้อร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งปัญหาและได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม

แม้ว่ารายงานฉบับนี้จะไม่ได้เสนอมาตรการเฉพาะในการ “รับมือ” กับการลงทุนของคนจีนโดยตรง แต่ข้อเสนอแนะเหล่านี้มุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้ท้องถิ่นรับการลงทุนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนของจีน ในขณะเดียวกันก็ลดผลกระทบด้านลบต่างๆ ได้

ส่วนความคิดเห็นจาก ผู้ทำแบบสำรวจทัศนคติของคนไทยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ต่อทุนจีน 30 คน ก็มีมาตรการที่น่าสนใจ และสามารถนำมาประมวลเป็นตัวอย่างข้อเสนอได้ดังนี้

1. การควบคุมและกำกับดูแลการลงทุนจากต่างชาติ
– จำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนจีนไม่เกิน 20% ในธุรกิจบางประเภท หากเกินกว่านี้ ให้เก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูงขึ้น
– ออกกฎหมายที่ระบุประเภท ขนาด และจำนวนของธุรกิจที่อนุญาตให้มีการลงทุนจากต่างชาติ
– สงวนบางอาชีพหรือธุรกิจไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น
– ยกเลิกหรือจำกัดสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว (เช่น 99 ปี) สำหรับชาวต่างชาติ
– กำหนดเพดานการถือครองอสังหาริมทรัพย์สำหรับชาวต่างชาติ
– พิจารณาการตั้งกำแพงภาษีสำหรับการลงทุนจากต่างชาติในบางกรณี
– ปฏิบัติต่อนักลงทุนจีนเช่นเดียวกับนักลงทุนจากชาติอื่น ๆ
– ปิดช่องโหว่ทางกฎหมายที่อาจถูกใช้ประโยชน์โดยนักลงทุนต่างชาติ

2. การส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ของท้องถิ่น
– กำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนท้องถิ่นในธุรกิจที่มีการลงทุนจากต่างชาติ
– สร้างโปรแกรมฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานท้องถิ่น
– ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้วัตถุดิบและแรงงานท้องถิ่น
– สร้างอุดมการณ์และความภาคภูมิใจในการพัฒนาท้องถิ่น
– ส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาธุรกิจโดยคนท้องถิ่น
– กำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนในการออกใบอนุญาตทำงานสำหรับชาวต่างชาติ
– ควบคุมสัดส่วนของพนักงานต่างชาติในองค์กร

3. การเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย
– ตรวจสอบธุรกิจที่อาจเป็นนอมินีของนักลงทุนจีนอย่างเข้มงวด
– จัดตั้งระบบรางวัลนำจับสำหรับผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมาย
– ตรวจสอบรายได้และการเงินของธุรกิจต่างชาติอย่างสม่ำเสมอ
– ตรวจสอบหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติการลงทุนจากต่างชาติ
– สร้างระบบการรายงานและตรวจสอบที่โปร่งใสและเข้าถึงได้

สรุป

การเข้ามาของทุนจีนในเชียงใหม่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงในยุคโลกาภิวัตน์ แม้จะสร้างความท้าทายให้กับธุรกิจและชุมชนท้องถิ่น แต่หากมีการบริหารจัดการที่ดี ก็สามารถสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเมืองได้

จากข้อเสนอของผู้เชี่ยวชาญและประชาชนในพื้นที่ แนวทางสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างทุนจีนและท้องถิ่นควรเริ่มจากการเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ ทั้งด้านการเข้าเมือง การทำงานของคนต่างด้าว การประกอบธุรกิจ การเสียภาษี และการป้องกันการฟอกเงิน โดยเฉพาะการตรวจสอบการใช้นอมินีและการผูกขาดทางการค้า ควบคู่ไปกับการพัฒนากลไกการกำกับดูแลใหม่ ๆ เช่น การกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติ การจำกัดประเภทธุรกิจ การควบคุมการถือครองอสังหาริมทรัพย์ และการกำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนท้องถิ่น

ขณะเดียวกัน การส่งเสริมศักยภาพท้องถิ่นผ่านการพัฒนาทักษะแรงงาน การสนับสนุนผู้ประกอบการ และการสร้างความภาคภูมิใจในการพัฒนาท้องถิ่น ก็เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป พร้อมกับการสร้างระบบธรรมาภิบาลที่โปร่งใส โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและชุมชนในการติดตามตรวจสอบ และพัฒนาระบบการจัดการข้อร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ

ท้ายที่สุด การสร้างสมดุลระหว่างการเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติและการปกป้องผลประโยชน์ท้องถิ่น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการพัฒนากลไกการกำกับดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เชียงใหม่สามารถใช้ประโยชน์จากกระแสทุนจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน โดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์และความเป็นธรรมทางสังคม