เรื่อง: ทอฝัน กันทะมูล

ใกล้สิ้นปี หลายคนคงวางแผนเที่ยวช่วงเทศกาล แต่ชาวเชียงใหม่จำนวนไม่น้อยต้องวางแผนเตรียมตัวรับมือฝุ่นควัน ร่วมฟังเสียงชาวเชียงใหม่ที่ถูกรวบรวมมาจากบทความชิ้นนี้ได้ เพราะบ้านคุณอาจเป็นรายต่อไป


รูปถ่ายดอยสุเทพ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2564 /ทอฝัน กันทะมูล

เมื่อก่อน เชียงใหม่อากาศดีนะ

พอถึงฤดูหนาว แน่นอนว่าคนไทยมักจะมีรายชื่อที่เที่ยวผุดขึ้นมาไม่กี่ที่ หนึ่งในนั้นต้องเป็นเชียงใหม่แน่นอน เพราะเชียงใหม่มีเมืองมีความสโลว์ไลว์ฟ มีเสน่ห์ น่าเที่ยว แถมใกล้ป่า ใกล้ภูเขา และมีบรรยากาศหนาว ๆ ที่หาได้ยากในประเทศไทย แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความเข้าใจและความรู้สึกกับอากาศเชียงใหม่เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อภาพดอยสุเทพที่เลือนลาง ข่าวรายงานค่าคุณภาพอากาศและค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงขึ้นไม่ต่างจากกรุงเทพมหานคร



‘ค่าคุณภาพอากาศหรือ AQI วันที่ 1 ธันวาคม 2566 อยู่ในระดับสีส้ม 104 และค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 36.7 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร’ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้ตั้งค่ามาตราฐานไว้ที่ไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร นับว่าเป็นการต้อนรับเข้าเดือนธันวาคมอย่างอบอุ่นเลยทีเดียว แถมยังเป็นสัญญาณเตือนแรกสำหรับฝุ่นควันในระลอกใหม่นี้ เพราะไทยจะต้องเจอกับปรากฏการณ์ลานิญ่า ความแห้งแล้ง อากาศที่จะร้อนจัด หน่วยงานและนักวิชาการด้านฝุ่นต่างแสดงความเป็นห่วง พร้อมทั้งตั้งความหวังในแผนการจัดการฝุ่นในปีถัดไปนี้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี เชียงใหม่ก็ยังครองตำแหน่งมีผู้ป่วยทางเดินหายใจอันดับหนึ่งในประเทศไทย เพราะการสูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็กและมลพิษทางอากาศแม้เพียงจำนวนน้อยแต่ต่อเนื่องหลายปีก็ทำให้ป่วยได้ จากจังหวัดน่าเที่ยวและน่าอยู่ ตอนนี้คงกลายเป็นลานประหารแบบหนึ่งไปเสียแล้ว

เสียไปเท่าไหร่ กับคำว่าเดี๋ยวฝุ่นมาแล้วก็ไป

หากได้ลองถามพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย (คุณตาคุณยาย) ในจังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนไม่น้อยที่เห็นฝุ่นควันมาแต่เด็ก เมื่อเข้าฤดูหนาวเป็นช่วงของการจุดไฟ ส่วนหนึ่งคือเพื่อความอบอุ่น แต่พอเข้าฤดูร้อน เดือนมีนาคมเป็นต้นไป ส่วนใหญ่จะมีการใช้ไฟเพื่อการเกษตร การได้เห็นท้องฟ้ามัว ๆ เทา ๆ เป็นเพียงสัญญาณบอกว่าถึงฤดูเผาแล้ว แต่ไม่นานมันก็หมดไป แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้คือวิถีชีวิต เมื่อโลกเดินไปข้างหน้า ความรู้และข้อมูลมลพิษต่าง ๆ มีการรับรู้มากขึ้น รวมถึงแหล่งเกิดมลภาวะทั้งทางการจราจร การก่อสร้าง โรงงาน อุตสาหกรรม ไม่เว้นแต่การเกษตรที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มลพิษทางอากาศจึงกลายเป็นฆาตรกรเงียบอย่างรวดเร็ว

6,124.89 คือตัวเลขที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เป็นจำนวนเงินที่แต่ละครัวเรือนใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM2.5 ต่อปี ถ้างง ลองมาดูสิ่งของที่ต้องใช้เพื่อการป้องกันตัวเองดู อย่างแรก หน้ากากอนามัย ถ้าเป็นแบบสีเขียวที่ใช้ทางการแพทย์ไม่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือมลพิษทางอากาศได้ ต้องใช้แบบ N95 ที่ปัจจุบันมีขายทางออนไลน์ตกชิ้นละประมาณ 20 บาท สิ่งต่อมาที่ควรมีติดบ้านคือ เครื่องกรองอากาศ แบบมีคุณภาพราคาเริ่มต้น 2,000 บาท และไส้กรองที่ต้องเปลี่ยนทุก 3-6 เดือน อีกชิ้นละ 200 บาท เมื่อนับเพียงสองอย่างที่ต้องมีในช่วงฝุ่นที่ยาวนานเกือบ 4 เดือน เราจะเสียเงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 4,600 บาทต่อ 1 คน แต่ถ้าสภาพบ้านหรือห้อง ไม่ได้ปิดสนิท เครื่องกรองอากาศก็แทบไม่ได้ช่วยอะไร เสียเงินค่าปรับปรุงสถานที่ ทำห้องปลอดฝุ่น หรือแม้แต่ค่าไฟก็อย่าลืมคิดด้วยล่ะ ซ้ำถ้ามีคนใกล้ชิดหรือตัวเองที่เป็นกลุ่มเปราะบาง มีปัญหาทางเดินหายใจ หรือยังไม่เป็นก็ต้องหมั่นสังเกตอาการตัวเอง จะมีค่ารักษาพยาบาลหรือค่ายา ค่าที่ล้างจมูก ค่าทิชชู่ …เสียไปเท่าไหร่แล้วนะ


รูปถ่ายฝุ่นจากกระดาษกรอง /จ๋อมแจ๋ม

เมื่อฝุ่นคือฆาตรกรเงียบ เสียงจากคนอยู่เชียงใหม่เลยดังไม่พอ

“ตอนนั้นอยู่หอในมช. แล้วฝุ่นควันเยอมาก ทางม.ประกาศเรียนออนไลน์ แต่คนอยู่หอในไม่มีเครื่องฟอกอากาศ รับฝุ่นควันเต็ม ๆ มีการแจกหน้ากาก N95ให้ 1 อัน แต่ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร มีอาการเป็นไข้ยาวนานถึง 2 สัปดาห์ มีเลือดกำเดาไหลทุกเช้า” —ณัฏฐกานต์ 23 ปี



“เกิดที่เชียงใหม่ ชอบหน้าร้อนมาก เพราะเสน่ห์คือมันไม่ร้อนเกินไป แต่หลังจากอยู่ร่วมกับ PM มามากกว่า 10 ปี มีอาการผื่นขึ้นตามตัว คันทรมาน รู้สึกเสียใจที่มองท้องฟ้าแล้วเห็นแต่สีเทา ๆ อยากให้หน้าร้อนกลับมาเป็นหน้าที่มีความสุขมากกว่าความหวาดกลัว” —น้ำหวาน 33 ปี

“ตั้งแต่มาเป็นนักศึกษาเหมือนเอาสุขภาพมาแลก คงตัดสินใจทนอยู่จนเรียนจบแล้วหนีไปห่าง ๆ ฝุ่นซักที เจอทั้งฝุ่นทั้งราคาแมส ราคาเครื่องฟอกอากาศ รวมแล้วหลายหมื่น ทั้งที่เป็นนักศึกษาไม่มีรายได้ แต่เข้าใจว่าใคร ๆ ก็เจอ อดทนไปเถอะ แต่ผ่านไปเราก็รู้ว่าสุขภาพที่เสียไปมันเอากลับคืนมาไม่ได้ เริ่มทนไม่ได้ หายใจไม่ไหว แสบตาแสบจมูก ภูมิแพ้แรงขึ้น ร่างกายเพลียทุกวัน ฝุ่นที่เจอคือไม่มีคำว่าพัก กลางวันหนักกลางคืนหนักกว่า” —เหนือ 21 ปี

“พี่เข้ามาอยู่เชียงใหม่ตอนเรียน ปกติเป็นคนแข็งแรงนะ ไม่ค่อยเจ็บป่วย แต่ตอนนี้กำลังเรียนต่อ ก็กลายเป็นภูมิแพ้ซะงั้น หอที่อยู่ก็ต้องหามุ้งลวดมา ปิด ซีล หน้าต่างประตู ให้อากาศข้างนอกเข้ามาน้อยที่สุดในช่วงฝุ่น ต้องใช้เครื่องฟอกอากาศด้วย อัน3-4พันอ่ะ ยาแก้แพ้แบบที่ไม่ง่วงก็ตกเม็ดละ10-15บาท กินยาอมแก้ไอ น้ำเกลือล้างจมูก แมสN95อีก คือเสียทรัพยากรชีวิตที่เชียงใหม่หรือประเทศไทยเยอะมาก ในการมีชีวิตรอด เหมือนเราซื้ออากาศหายใจอ่ะ” — จ๋อมแจ๋ม 26 ปี


“ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นอะไรที่รุนแรงมากสำหรับผม เป็นปัญหาที่ใหญ่ ภาครัฐควรระดมการแก้ปัญหาให้ยั่งยืนโดยเร็ว เพราะมันเกิดขึ้นกับผมแล้ว และผมได้รับผลกระทบมันมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการรักษาที่เจ็บปวดและใช้เวลายาวนาน ปัญหาทางด้านการงานที่ผมต้องสูญเสียงานที่ใฝ่ฝันมาครับ และแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อทุก ๆ คนไม่ว่าจะมากหรือน้อย อยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับปัญหานี้และควรจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่าปลายเหตุครับ” —เบส 22 ปี ผู้ป่วยภาวะลมรั่วในปอด ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล (ตั้งแต่สิงหาคม 2566)


หลังจากที่ทอฝันได้เปิดประเด็นเกี่ยวกับปัญหามลพิษและ PM 2.5 ในพื้นที่รอบนอกเชียงใหม่แล้ว งานชิ้นนี้ทอฝันได้ติดตามเรื่องผลกระทบ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางฝุ่น และมลพิษในเมืองเชียงใหม่เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว


บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)