Home Blog Page 3

‘แม่ฮ่องสอน’ วิมานจนของคนซวย

เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย


Summary 

  • แม่ฮ่องสอนถูกจัดอันดับเป็นจังหวัดที่มีคนจนเรื้อรังมากที่สุดในปี 2565 และเป็นจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุดอันดับต้นๆ กว่า 19 ปี 
  • รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในแม่ฮ่องสอนอยู่ที่ 15,496 บาทต่อเดือน ขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 12,816 บาทต่อเดือน 
  • ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ระบุว่าคนในแม่ฮ่องสอนต้องเผชิญกับความจนทั้งในด้านความเป็นอยู่ สุขภาพ การศึกษา และรายได้ 
  • ความยากจนของคนแม่ฮ่องสอนมีสาเหตุมาจากสภาพภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่สูง ทำให้ยากต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าหรือถนน รวมถึงปัญหาการศึกษาและปัญหาที่ดินทำกินที่สะสมมาเป็นเวลานาน
  • การประกาศพื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 84.65 ยังเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในจังหวัดและการพัฒนาเศรษฐกิจในมิติอื่นๆ  
  • การแก้ปัญหาความยากจนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนควรเริ่มต้นด้วย 1) ปฏิรูปที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตร 2) ซ่อมแซมถนนที่ชำรุดและก่อสร้างถนนเพิ่มเติม เพื่อเชื่อมต่อเศรษฐกิจภายในจังหวัดและระหว่างจังหวัด และ 3) ยกระดับจุดผ่อนปรนทางการค้าให้เป็นด่านข้ามแดนถาวร เพื่อส่งเสริมศักยภาพการเป็นเมืองชายแดนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

“ทุเรียน ผลไม้ที่มีราคาแพงไปปลูกในจังหวัดที่ยากจน มันแบบ…มันโครตน่าแย่งชิงเลยอ่ะ”1 

ข้อความข้างต้นนี้มาจากบทสัมภาษณ์ของ นฤเบศ กูโน ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องวิมานหนาม ที่เพิ่งออกฉายไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาและได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงบวกอย่างท่วมท้น ฉากชีวิตเรื่องราวของทั้งหมดถูกเล่าว่าเกิดขึ้นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน หนึ่งในจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย ฉะนั้นเรื่องราวของวิมานนามจึงไม่ใช่เพียงการต่อสู้เพื่อแย่งชิงการครอบครองสวนทุเรียนของสองตัวละคร แต่ยังเป็นการต่อสู้กันระหว่างคนสองคนเพื่อแย่งชิงสรวงสวรรค์ในดินแดนแห่งความจนนี้ด้วยเช่นกัน 

คำถามที่เราอาจต้องถามต่อจากบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับและเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดในวิมานหนาม คือ แม่ฮ่องสอนเป็นดินแดนแห่งความยากจนตามที่ว่าหรือไม่? และหากเป็นเช่นนั้นจริง เหตุใดคนแม่ฮ่องสอนถึงตกอยู่ใต้เงาแห่งความจน? ผมอยากเริ่มต้นจากคำถามแรกเสียก่อน จากนั้นผมอยากจะลองพาผู้อ่านไปสำรวจคำถามที่สอง เพื่อหวังว่าเราจะพอได้คำตอบของคำถามที่ผมได้ตั้งทิ้งไว้ตั้งแต่ชมภาพยนตร์จบ

วิมานจน 

แม้จะเคยถูกจัดอันดับให้เป็นจังหวัดที่มีความสุขที่สุดในประเทศไทย แต่ชาวแม่ฮ่องสอนกลับต้องอยู่ในวังวนของความจนในวิมานความสุขแห่งนี้ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดอันดับให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีคนจนเรื้อรังมากที่สุดในประเทศเมื่อปี 25652 และเป็นจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุดอันดับต้นๆ ของประเทศมาต่อเนื่องกว่า 19 ปี

รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, ท้องฟ้า, เมฆ, ปลูก

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

รายงานจากการประเมินของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอนระบุว่าศักยภาพการสร้างรายได้ต่อหัว (GPP per capita) ของคนแม่ฮ่องสอนก็อยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับจังหวัดรอบข้าง โดยอยู่ที่ประมาณ 65,650 บาทต่อหัว3 เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดรอบข้างอย่างจังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่ 135,991 บาท หรือกว่า 2 เท่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขณะที่จังหวัดตากมีมูลค่า 99,026 บาทต่อหัว ซึ่งก็ยังสูงกว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ที่มา: สำนักงานสถิติจังหวัดแม่ฮ่องสอน มกราคม 2567 

ขณะที่มูลค่าผลผลิตมวลรวม (GDP) ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอยู่ที่ประมาณ 15,797.48 ล้านบาท โดยมูลค่าส่วนใหญ่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาจากสินค้าเกษตรทั้งสิ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ในปี 2565 ที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้สูงกว่า 2 แสนตัน ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปัจจุบันเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม4 และหากเป็นข้าวโพดที่มีความชื้นเกิน 30% หรือขายเป็นฝักข้าวโพดสดราคาจะลดลงเหลือประมาณ 8-9 บาทต่อกิโล ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าเกษตรที่ราคาถูกมากเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าเกษตรชนิดอื่น

ในส่วนของรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะอยู่ที่ 15,496 บาทต่อเดือน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนจะอยู่ที่ 12,816 บาทต่อเดือน และมีหนี้สินเฉลี่ย 123,698 บาทต่อครัวเรือน5 หากสมมติเอาว่าครอบครัวหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีรายได้และรายจ่ายต่อเดือนเท่ากับค่าเฉลี่ยของแม่ฮ่องสอน นั่นหมายความว่าครอบครัวนี้จะต้องใช้เวลากว่า 3 ปี 8 เดือนเพื่อจะปลดหนี้สิ้น โดยมีเงื่อนไขว่าครอบครัวนี้ต้องใช้จ่ายไม่เกินค่าเฉลี่ยของรายจ่ายของค่าเฉลี่ยจังหวัด ต้องไม่ก่อหนี้สิ้นเพิ่มเติมอีกเลย และห้ามออมเงินเลยแม้แต่บาทเดียว หากครอบครัวนี้หวังจะปลดหนี้ให้หมดภายในเวลาไม่เกิน 4 ปี 

“พี่คงไม่กลับไปอยู่ที่บ้านแล้วแหละ พ่อแม่ก็เสียไปตั้งนานแล้ว พี่ไม่เหลือเหตุผลที่ต้องกลับไปแม่ฮ่องสอนอีกแล้ว ลูกพี่ก็เรียนที่นี่ (กาญจบุรี) จะให้พาเข้ากลับขี่รถข้ามดอยเพื่อไปโรงเรียนมันก็คงไม่ใช่เรื่อง” 

ข้อความข้างบนนี้คือ คำตอบของพี่เนย (นามสมมติ) ที่กล่าวขึ้นหลังจากผมถามว่าคิดจะกลับไปอยู่ “บ้าน” หรือไม่ พี่เนยแต่เดิมเป็นคนอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่อำเภอสบเมย และพบรักกับสามีที่ทำงานอยู่ที่จังหวัดตาก หลังจากแต่งงานพี่เนยและสามีก็ย้ายมาลงหลักปักฐานกันที่จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งสองช่วยกันดูแลธุรกิจก่อสร้างที่สามีก่อตั้งขึ้น ก่อนจะมีลูกสาวตัวน้อยที่กำลังเรียนมัธยมต้นอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี ตอนนี้จังหวัดกาญจนบุรีได้กลายเป็น “บ้านใหม่” ของพี่เนยไปแล้ว 

รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, ท้องฟ้า, เมฆ, ต้นไม้

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

แต่สำหรับบ้าน “วิมานหลังเก่า” ที่แม่ฮ่องสอน พี่เนยยังคงผูกพันธ์และมีญาติพี่น้องบางส่วนอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียงและอำเภอสบเมย เธอยังคงเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องอยู่บ่อยๆ แม้จะต้องทนนั่งรถนานกว่า 12 ชั่วโมงในการเดินทางแต่ละครั้ง

พี่เนยเล่าให้ฟังถึงชีวิตที่บ้านเก่าอย่างแม่สะเรียงว่า แต่เดิมแล้วที่บ้านประกอบอาชีพเกษตรกรปลูกข้าวนาปีอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียง พี่เนยต้องเดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์เก่าๆ ของพ่อผ่านดอยแม่สะเรียงเพื่อไปโรงเรียน ก่อนจะเล่าต่อพี่เนยแวะแสดงกริยาส่ายหัวเบาๆ พร้อมกับพูดว่า 

“ชีวิตพี่ตอนอยู่แม่สะเรียงมันไม่มีอะไรใกล้เคียงคำว่าสบายเลย” 

ชีวิตวัยเด็กสำหรับพี่เนยไม่ใช่ความทรงจำที่หอมหวานเหมือนละครที่ฉายภาพชนบทอันแสนสุขแต่อย่างใด พี่เนยไม่เคยเห็นแสงไฟจากหลอดไฟเลยจนกระทั่งย้ายมาอยู่อำเภอสบเมย พี่เนยอาศัยเปลวตะเกียงน้ำมันก๊าซเป็นแสงสว่างในยามค่ำคืนและแสงนั่นจะดับลงในเวลาเพียงไม่นานหลังจากจุด เนื่องจากราคาน้ำมันก๊าดในช่วงเวลานั้นค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของครอบครัวพี่เนย ที่เธอระบุว่าอยู่ในระดับ “จน”

วิมานของพี่เนยในวัยเด็กเป็นบ้านขนาดเล็ก หลังคามุงด้วยสังกะสี และผนังทำมาจากไม้ บ้านถูกล้อมไปด้วยนาที่เป็นทั้งสนามเด็กเล่นและที่ทำงานของเธอไปในเวลาเดียวกัน น้ำประปาไม่ใช่สิ่งที่พี่เนยรู้จักในวัยเด็ก คลองต่างหากที่เป็นดั่งประปาหมู่บ้านให้พี่เนยและเพื่อนบ้านใช้อุปโภค

รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, ท้องฟ้า, กระท่อม, อาคาร

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

พี่เนยจำไม่ได้แน่ชัดว่าพ่อแม่มีที่นากี่ไร่ แต่พี่เนยกลับยืนยันว่าครอบครัวของเธอตอนนั้นอยู่ในจุดที่พูดได้เต็มปากเลยว่าจน แต่ที่นาของครอบครัวพี่เนยมีมากกว่าหลายคนในหมู่บ้านทำให้เธอได้รับรู้ว่าจริงๆ แล้วมีคนจนกว่าครอบครัวเธออีกมาก พี่เนยเล่าให้ฟังว่าเพื่อนๆ เธอหลายคนในละแวกไม่ได้เรียนในระดับมัธยมต้นด้วยซ้ำ หลายคนต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา บางคนเดินทางออกไปทำงานที่จังหวัดลำพูนบ้างเชียงใหม่บ้าง  

“ความจนที่พี่บอกนี่ มันคือจนจริงๆ นะ ไม่ใช่จนแบบพอมีกิน” 

พี่เนยยังคงเน้นย้ำถึงความจนที่ตนเองเคยพบเห็นมาในวัยเด็ก สำหรับพี่เนยแล้วแม้บ้านหรือวิมานเดิมที่เธอเคยอาศัยจะมีภาพความสุขปะปนมาบ้างเมื่อย้อนถึง แต่ภาพความจนก็ไม่หลุดหายไปจากความทรงจำของเธอเลย ความจนของครอบครัวที่พี่เนยเล่าถึง ยังมาพร้อมกับความรู้สึกลำบากที่คงค้างอยู่ในมวลความรู้สึกของพี่เนย ความรู้สึกที่พี่เนยไม่อยากให้ลูกสาวของเธอต้องมาประสบให้ขุ่นเคืองเช่นที่เธอเคยประสบ

หลังจากฟังปากคำจากอดีตคนในวิมานแห่งความจนที่ย้ายออกไปจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อมา ผมอยากชวนมาฟังปากคำของคนนอกวิมานที่ได้ย้ายมาทำงานอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน 

พี่ตัง เจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) แห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน พี่ตังแต่เดิมเป็นคนกรุงเทพฯ เรียนจบปริญญาโทและเริ่มทำงานที่กรุงเทพฯ ก่อนจะย้ายไปทำงานที่เชียงราย และปัจจุบันย้ายมาทำงานในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ฉะนั้น พี่ตังจึงเป็นหนึ่งในคนที่จะบอกเล่า “ความต่าง” ระหว่างวิมานความจนแห่งนี้กับวิมานหลังอื่น

“กรุงเทพถ้าเทียบเป็นสเกลเศรษฐกิจต่างกันมาก ถ้าดู GDP รายได้ต่อครัวเรือน แม่ฮ่องสอนแทบจะยากจนที่สุด แต่กรุงเทพคือสูงสุด กรุงเทพฯ GDP มากกว่าแม่ฮ่องสอนเกือบ 250 เท่า อันนี้เทียบได้ซ้ายไปขวาเลย แม่ฮ่องสอนใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ประมาณ 8 เท่า แม่ฮ่องสอนมี 3 แสนคน ในขณะที่กรุงเทพฯ มีคน 10-11 ล้านคน กรุงเทพฯ มีคนมากกว่าแม่ฮ่องสอนประมาณ 40 เท่า 

ส่วนเชียงรายเป็นเมืองรองที่เรารู้สึกว่าค่อนข้างสะดวกสบายเลย ถ้าเปรียบเทียบจำนวนขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร และความหนาแน่น คือโอเคเลย เป็นเมืองที่น่าอยู่ มีห้างสรรพสินค้า มีความสะดวกสบาย แต่แม่ฮ่องสอนไม่มีห้าง ไม่มีโรงหนัง ไม่มีพวกแฟรนไชส์”

แม้จะพี่ตังจะมองเห็นความแตกต่างในการใช้ชีวิตระหว่างทั้ง 2 จังหวัดที่ได้กล่าวไปกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่พี่ตังค์ยังตั้งข้อสังเกตลงไปที่ความเฉพาะของเศรษฐกิจจังหวัดแม่ฮ่องสอน นั่นคือ

“ชาวเขา ชาวไร่ ชาวนา คนกลุ่มนี้จะเข้าถึงบริการในตัวเมืองยากและห่างไกลมาก ๆ คิดว่าเป็นส่วนที่ทำให้ GDP ค่อนข้างต่ำ ที่เกษตร (จังหวัดแม่ฮ่องสอน) สู้จังหวัดอื่นไม่ได้เพราะมีเรื่องของการขนส่ง ไม่ค่อยมีใครเขาขนอะไรมาแม่ฮ่องสอนกัน แม่ฮ่องสอนค่าขนส่งจะสูงมาก มันเป็นเมืองในหุบเขา เราไม่มีสินค้าทางการเกษตรที่มันโดดเด่น ประชากรน้อยด้วย แม่ฮ่องสอนมี 3 แสนคน ใน 3 แสนคน เป็นเกษตรกรไปแล้ว 80% ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่จะย้ายไปอยู่เมืองอื่นกัน”

จากข้อมูลของระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP)6 ผู้คนในแม่ฮ่องสอนต้องเผชิญกับความจน 4 ด้านด้วยกันประกอบด้วย 1) ด้านความเป็นอยู่ 2) ด้านสุขภาพ 3) ด้านการศึกษา และ 4) ด้านรายได้ ในจำนวนคนจนทั้ง 4 ด้าน คนจนด้านรายได้และความเป็นอยู่มีจำนวนตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลของจังหวัดอื่นในภาคเหนือตอนบนทั้งหมด ที่จำนวนคนจนด้านรายได้จะสูงกว่าคนจนด้านความเป็นอยู่หลายเท่าตัว  

ดัชนีชี้วัดความจนด้านความเป็นอยู่ที่ TPMAP ใช้ในการเก็บข้อมูล ประกอบด้วย 1) สภาพที่อยู่อาศัยและการย้ายที่อยู่ 2) การจัดเก็บขยะ 3) การถูกรบกวนจากมลพิษ 4) ความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติและอุบัติเหตุ 5 ) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 6) การเข้าถึงน้ำสำหรับบริโภคและอุปโภค 7) การเข้าถึงไฟฟ้าและใช้บริการไฟฟ้า 8) การเข้าถึงบริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต และ 7) การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ การที่แม่ฮ่องสอนมีจำนวนคนจนด้านรายได้และคนจนด้านความเป็นอยู่ใกล้เคียงกัน อาจทำให้เราอนุมานได้ว่า คนแม่ฮ่องสอนไม่ใช่เพียงมีรายได้น้อย แต่ยังต้องทนอยู่กับชีวิตที่ยากลำบากไปพร้อมกัน ขณะที่คนเหนือในจังหวัดอื่นๆ แม้จะมีรายได้น้อยแต่ความเป็นอยู่ของพวกเขาก็มิได้ลำบากเท่ากับคนแม่ฮ่องสอน

รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, ต้นไม้, ท้องฟ้า, ภูเขา

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

หากเราย้อนกลับไปทำความเข้าใจคำให้สัมภาษณ์ของพี่เนย เราอาจจะเห็นว่านอกจากเรื่องรายได้อันน้อยนิดของครอบครัวพี่เนย เธอยังกล่าวถึงความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของเธอและครอบครัวตลอดคำให้สัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าหรือน้ำประปาที่เดินทางไปไม่ถึงบ้านของเธอ หรือโรงเรียนที่ต้องขี่รถข้ามดอยกว่าจะไปถึง ทั้งหมดประกอบสร้างรวมกันจนทำให้แม่ฮ่องสอนเป็น “วิมานความจน” ในความทรงจำของพี่เนยไปเสีย

คนจน คนซวย 

ผมคิดว่าการได้ฟังชีวิตของพี่เนยร่วมกับข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอาจทำให้เราทุกคนพอจะเห็นภาพความจนของคนแม่ฮ่องสอน แต่เพราะอะไรล่ะที่ทำให้แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่จนเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ หรือพูดอย่างตรงไปตรงมา สาเหตุอะไรกันล่ะที่ทำให้คนแม่ฮ่องสอนต้องกลายเป็นคนจนที่จนแบบแสนสาหัส

คำตอบของคำถามนี้คงไม่ใช่เพราะคนแม่ฮ่องสอนไม่รู้จักบริหารค่าใช้จ่าย ไม่รู้จักเก็บเงิน หรือไม่รู้จักการลงทุน แบบที่เศรษฐีหัวแหลมขายปลาหมอ หรือ CEO บริษัทฟรีแลนซ์แห่งหนึ่งชอบพูดวนซ้ำไปว่าทั้งสามสิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้คนๆ หนึ่งจนหรือรวยได้

“สาเหตุที่ทำให้คนจน มันพูดได้มากมายหลากหลายแหละ คุณเป็นนักเศรษฐศาสตร์คุณก็จะตอบแบบหนึ่ง คุณเป็นพวกสังคมศาสตร์คุณก็จะตอบอีกแบบหนึ่ง แต่ผมสรุปได้สั้นๆ เลยนะ สาเหตุคือพวกเขาซวย” เป็นคนคำตอบที่ผมได้จากนักวิจัยเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งในระหว่างสนทนากันบนโต๊ะอาหาร (ไม่แน่ใจว่าแกอยู่ในสภาวะกึ่มๆ หรือเปล่า) ผมจดจำคำพูดนี้ได้ขึ้นใจ เพราะปกติเวลาสนทนาประเด็นเรื่องสาเหตุความจนกับใคร ทุกคนรวมถึงผมมักจะตอบว่าพวกเขาจนเพราะ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ซึ่งทั้งสองคำตอบก็คือเรื่องเดียวกัน แต่ผมว่าคำว่าซวยมันจี้ใจดำกว่า

“ความซวย” หรือจะพูดว่าปัญหาเชิงโครงสร้างก็ตามที ทั้งสองวางอยู่ฐานทางความคิดเดียวกันคือ “มีมือที่มองไม่เห็นกดให้คนต้องจนอยู่แบบนั้น” ซึ่งมือดังกล่าวอาจหมายถึงการขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ การไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ บริการสาธารณะเข้าไม่ถึง หรือกระทั่งการอยู่ในพื้นที่ที่เดินทางลำบาก อาจเป็นเรื่องตลกร้าย แต่ความซวยทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นคือ ความซวยที่คนแม่ฮ่องสอนต้องเผชิญอยู่ทุกวัน!

หากเราลองย้อนกลับไปดูข้อมูลคนจนด้านความเป็นอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องของ TPMAP ที่ผมยกขึ้นมากล่าวถึงก่อนหน้านี้ นี่แหละคือข้อมูลที่บอกว่าคนแม่ฮ่องสอน ซวยเพราะหากเรามองข้อมูลดังกล่าวในด้านกลับกัน ดัชนีชี้วัดคนจนด้านความเป็นอยู่ทั้งหมดคือ การกล่าวถึงคนที่ซวยเกิดในจังหวัดที่โครงสร้างพื้นฐาน (ถนน, น้ำประปา, ไฟฟ้า, สัญญาณโทรศัพท์/อินเทอร์เน็ต ฯ) มีไม่เพียงพอให้พวกเขาสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นไปได้ยากลำบากมาก เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดอย (ภูเขา) และพื้นที่สูง แม้จะเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของภาคเหนือ มีเนื้อที่ประมาณ 7,987,808 ไร่ แต่พื้นที่กว่า 85% (6,821,808 ไร่) เป็นพื้นที่ “ป่า” และพื้นที่ป่าเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติ ส่งผลให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานติดปัญหาทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และเชิงกฎหมาย อาจจะรวมถึงติดปัญหาเชิงศีลธรรมด้วยซ้ำหากมีการพัฒนาพื้นที่โดยวิธีการถ่างป่าสร้างถนนและเสาไฟฟ้า 

จากนี้ ผมจะขอแบ่งหัวข้อย่อยลงไปอีก เพื่อพาทุกคนไปสำรวจความซวยของคนแม่ฮ่องสอน ผ่านเรื่องเล่าของพี่ตัง สมาชิกวิมานความจนหน้าใหม่ ที่เราได้ฟังปากคำของเธอไปก่อนหน้านี้ และ อาฉู่ คนแม่ฮ่องสนอแต่กำเนิดและยังเป็นเจ้าของร้านกาแฟ Lola gallery drip Coffee ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ที่ทั้ง “เห็น” และ “สัมผัส” กับความซวยของคนแม่ฮ่องสอน

1. ไฟฟ้า

“สถานการณ์ช่วงนี้ วันนึงไฟดับ 3-4 รอบ เพราะ space มันไกลการส่งไฟจากเชียงใหม่มาแม่ฮ่องสอน มันต้องผ่านหลายภูเขา พอมันเกิดภัยพิบัติ บางคนอาจจะคิดว่า ไม่เป็นไรหรอก แม่ฮ่องสอนอยู่บนเขา แต่ไฟฟ้าไม่มามันก็ส่งผลกระทบ ใครที่ทำพวกของสด ใครเลี้ยงปลาในออกซิเจนก็ตายยกบ่อ มันโดนผลกระทบหมด” (อาฉู่)

อาฉู่ ในฐานะคนแม่ฮ่องสอนและในฐานะผู้ประกอบการที่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าในการประกอบอาชีพ เริ่มเล่าให้ฟังถึงปัญหาความไม่มั่นคงของระบบไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน 

แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าต่ำที่สุด เหตุที่หลายหมู่บ้านยังไม่อาจเข้าถึงไฟฟ้าได้ก็เนื่องจากด้วยข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ที่ยากต่อการสร้างและการซ่อมเสาส่งไฟฟ้า ประกอบกับระยะทางระหว่างหมู่บ้านต่างๆ ทำให้สูญเสียกำลังส่งไฟฟ้า นอกจากนั้นยังมีเกิดเหตุการณ์ต้นไม้ล้มทับเสาไฟฟ้าอยู่บ่อยครั้ง แต่ด้วยถนนที่คดเคี้ยวทำให้ยากต่อการซ่อมแซ่มเสาไฟฟ้าที่เสียหายทำให้เหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นเวลานานเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ไฟฟ้าจึงเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ในแม่ฮ่องสอนได้ยากมาก7  

คงไม่ต้องอธิบายให้มากความว่าไฟฟ้าสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไรและคนแม่ฮ่องสอนสามารถใช้ไฟฟ้าเพื่อต่อยอดสร้างรายได้ยังไงบ้าง แต่สำหรับแม่ฮ่องสอนระบบไฟฟ้ากลับไม่ครอบคลุมในหลายพื้นที่ ในปี 2566 มีจำนวนหมู่บ้านในแม่ฮ่องสอนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้ามากถึง 94 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้มีกว่า 69 หมู่บ้านที่ยังไม่การดำเนินโครงการใดๆ เพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้าให้หมู่บ้านเหล่านี้8

เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา แม่ฮ่องสอนต้องเร่งดำเนินโครงการนำร่องการขยายเขตไฟฟ้า เนื่องจากยังมีหลายหมู่บ้านที่ยังเข้าไม่ถึงระบบไฟฟ้า ในการดำเนินโครงการดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 5 หมู่บ้าน โดยมีครัวเรือนที่ยังไม่เข้าถึงไฟฟ้าในทั้ง 5 หมู่บ้านรวมกันกว่า 300 ครัวเรือน9 ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นเพียงโครงการ “นำร่อง” เท่านั้น นั่นเท่ากับว่ายังมีอีกหลายหมู่บ้านและหลายครัวเรือนยังไม่อาจเข้าถึงไฟฟ้าได้

2. ถนน 

“เรื่องโลจิสติกส์ การขนส่ง การบริการต่าง ๆ ผมสงสารคนแม่ฮ่องสอนมากเลยมันไม่มีทางเลือก ไม่มีสิทธิ์เลือก การเดินทางจากแม่ฮ่องสอนไปจังหวัดอื่น ๆ มันยาก มันเปลืองค่าน้ำมัน ต้องเสียอะไรหลาย ๆ อย่าง อันนี้พูดแค่ในเมือง ถ้าเป็นรอบนอกลำบากคือทุกที่ สำหรับผมมันเลือกอะไรไม่ได้แล้ว มันก็ต้องอยู่กับสภาพแบบนี้ คนแม่ฮ่องสอนแทบไม่เห็นปัญหานี้กันแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่หรือคนที่ทำงานแล้วต้องเดินทางบ่อย” (อาฉู่)

ไม่ใช่เพียงไฟฟ้า แต่ถนนและระบบขนส่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเองก็แลดูจะมีปัญหา เพราะจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่สูง การก่อสร้างหรือซ่อมแซมถนนจึงทำได้ยาก อาฉู่และพี่ตังได้เล่าต่อถึงผลกระทบของการเดินทางด้วยถนนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนไว้ ดังนี้ 

“ถ้าเป็นเรื่องการเดินทาง ความเท่าเทียมเรื่องการขนส่งเรายังไม่ได้รับ เวลาจะส่งของเขาจะบวกค่าขนส่งพื้นที่ทุรกันดาร การทำมาค้าขายออนไลน์ก็ต้องเสียเยอะกว่าคนอื่น น้ำมันก็แพงกว่าที่อื่น 1 บาท ค่าครองชีพ ผมคิดว่าสูงกว่าอยู่เชียงใหม่ อย่างรถตู้วิ่งได้วันนึงแค่ 3 เที่ยว” (อาฉู่)

“ที่เกษตรสู้จังหวัดอื่นไม่ได้เพราะมีเรื่องของการขนส่ง ไม่ค่อยมีใครเขาขนอะไรมาแม่ฮ่องสอนกัน แม่ฮ่องสอนค่าขนส่งจะสูงมาก มันเป็นเมืองในหุบเขา” (พี่ตัง)

ถนนทางหลวงในจังหวัดแม่ฮ่องสอนปัจจุบันมีความยาวรวมกันเพียง 615 กิโลเมตร10 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงความยาวถนนทางหลวงในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 251711 (ประมาณ 601.670 กม. ณ เวลานั้น) สำหรับประเทศไทยการสร้างถนนทางหลวงถือว่าเป็นด่านแรกของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อเศรษฐกิจระหว่างพื้นที่ต่างๆ เข้าหากัน ตั้งแต่เริ่มบุกเบิกการพัฒนาประเทศในปี 2504 ถนนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญอันดับหนึ่งในการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ12และจังหวัดต่างๆ13  

แต่สำหรับแม่ฮ่องสอนด้วยภูมิศาสตร์ที่สลับซับซ้อนและหลายพื้นที่เป็นพื้นที่ป่า จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่จะก่อสร้างถนน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนเสนอว่าปัญหาการคมนาคมโดยเฉพาะการคมนาคมทางถนนเป็นปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานและไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งปัญหาการคมนายังส่งผลกระทบท่องเที่ยว การค้า การลงทุนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นวงกว้าง โดยถนนทางหลวง 1095 สายหนองโค้ง–แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นถนนทางเศรษฐกิจเส้นสำคัญที่เชื่อมต่อจังหวัดเชียงใหม่กับแม่ฮ่องสอน แต่รถขนาดใหญ่กลับไม่สามารถสัญจรผ่านได้สะดวกนัก เนื่องจากถนนมีความสูงชันและคดเคี้ยวเป็นอย่างมาก ซ้ำในฤดูฝนถนนเส้นดังกล่าวและเส้นอื่นๆ ก็ได้รับความเสียหายจากปัญหาดินถล่ม14 ปัญหานี้ทำให้ถนนไม่อาจจะทำหน้าที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อเศรษฐกิจระหว่างที่ต่างๆ เข้าหากันได้อย่างที่ควรจะเป็น 

3. การศึกษา

การศึกษาถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นๆ ของแม่ฮ่องสอน จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรจังหวัดแม่ฮ่องสอนในปี 256515 พบว่า จากจำนวนการสำรวจแรงงานจำนวน 205,620 คน แม่ฮ่องสอนมีประกรที่อายุสูงกว่า 15 ปีแต่ไม่มีการศึกษาหรือจบการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมกว่า 91,296 คน จบการศึกษาระดับประถม 37,135 คน ระดับมัธยมต้น 31,167 คน และมัธยมปลาย 25,092 คน กล่าวคือคนแม่ฮ่องสอนที่อยู่ในวัยแรงงานจำนวนกว่า 1.2 แสนคนหรือเกินกว่าครึ่งมีระดับการศึกษาสูงสุดเพียงประถมศึกษา  

จากข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปีการศึกษา 256616 พบว่าเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 15 ปีมีสัดส่วนการเข้าถึงการศึกษามากกว่าร้อยละ 90 จากจำนวนเยาวชนที่มีสิทธิ์เข้ารับการศึกษา ในขณะที่เยาวชนที่อายุมากกว่า 15 ปีกลับมีสัดส่วนการเข้าถึงการศึกษาลดลงเหลือเพียงร้อยละ 79.46 เท่านั้น นอกจากนั้นจากผลการสอบ O-Net นักเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนทุกระดับชั้นมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าทั้งคะแนนเฉลี่ยรวมของทั้งประเทศและคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในภาคเหนือ และบางปีจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีคะแนน O-Net เฉลี่ยต่ำที่สุดในประเทศไทย

ในส่วนของจำนวนสถานศึกษา (โรงเรียน, วิทยาลัยอาชีว, มหาวิทยาลัย และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ) ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีจำนวนเพียง 532 แห่งทั่วทั้งจังหวัด ซึ่งน้อยมากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดเพื่อนบ้านอย่างจังหวัดเชียงใหม่ที่มีจำนวนสถานศึกษามากถึง 1,633 แห่ง17   

ขณะเดียวหลายโรงเรียนในแม่ฮ่องสอนยังประสบกับปัญหาขาดแคลนบุคคลากรและสื่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่เผชิญปัญหารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียน ขาดแคลนอาหารและสถานที่สอน หรือจำนวนครูที่ไม่เพียงพอ อันเนื่องมาจากการได้รับงบประมาณจัดสรรน้อยมาก18 องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยได้เปิดเผยรายงานช่องว่างการเรียนรู้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเน้นย้ำให้เห็นถึงปัญหาด้านการศึกษาที่มีมาอย่างยาวนานในแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องว่างทางการศึกษาในเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์19

“เราเคยได้ยินมาว่าจังหวัดไหนที่มีความจำเป็นน้อย เขาจะให้งบน้อย เหมือนงบประมาณประเทศไทยจะจัดสรรให้จังหวัดต่าง ๆ ตามจำนวนประชากร เวลามีคนน้อย งบที่ถูกจัดสรรมาก็จะน้อยตาม เราจึงไม่เห็นความพัฒนาของอะไรหลาย ๆ อย่าง” (พี่ตัง)

พี่เนยตั้งคำถามกับการจัดสรรงบประมาณให้แก่จังหวัดต่าง ๆ โดยอาศัยจำนวนประชากรเป็นเกณฑ์ ซึ่งส่งผลให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีจำนวนประชากรเบาบางได้รับการจัดสรรงบประมาณในจำนวนที่น้อยมาก ทำให้ไม่สามารถนำงบประมาณไปแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้เลย โดยเฉพาะปัญหาการศึกษาที่แลดูจะต้องการงบประมาณในการพัฒนาอยู่มาก

ในขณะเดียวกัน จากจำนวนประชากรของแม่ฮ่องสอนอยู่ที่ประมาณ 284,549 คน มีจำนวนประชากรที่เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยจำนวน 43,638 คน  คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 15.3 จึงทำให้อาจมีความเป็นไปได้สูงที่เด็ก ๆ จากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยจะเป็นกลุ่มที่มีช่องว่างทางการศึกษาสูงที่สุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน 

4. ที่ดินและพื้นที่ป่า

ถึงจะเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในภาคเหนือ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 84.65 เป็นพื้นที่ป่า หรือกว่า 6 ล้านไร่ ในขณะที่ที่ดินทำกินและอยู่อาศัยกลับมีเพียง 1 ล้านไร่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการอยู่อาศัยและการทำเกษตรอันเป็นอาชีพหลักของคนแม่ฮ่องสอน นอกจากนั้น หลายพื้นที่ยังถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติ ส่งผลชาวแม่ฮ่องสอนหลายคนต้องอาศัยและทำการเกษตรอยู่ในพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าและพื้นที่อุทยาน  

รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, ภูเขา, เมฆ, ธรรมชาติ

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

การพัฒนาพื้นที่ป่าและการขยายที่ดินทำกินมิอาจทำได้โดยง่าย เนื่องจากติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่าและอุทยาน การก่อสร้างถนนหรือเสาส่งไฟฟ้าหลายพื้นที่มิอาจดำเนินการได้ เนื่องจากการดำเนินโครงการในหลายพื้นที่เป็นพื้นที่ป่าที่ต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ 

นอกจากนั้นยังส่งผลให้คนแม่ฮ่องสอนหลายคนถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่า ปัญหาว่าด้วยเรื่องที่ดินและคดีเกี่ยวกับป่ามีมาอย่างยาวนานไม่ต่ำกว่า 30 ปี20

แม้ข้าวโพดที่เป็นสินค้าที่ผลิตได้มากที่สุดในแม่ฮ่องสอน แต่พื้นที่ปลูกข้าวโพดกลับมีอยู่เพียง 41,330 ไร่ คิดเป็นการใช้พื้นที่ไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด21 ทั้งที่สินค้าเกษตรเป็นสินค้าหลักที่ช่วยผยุงตัวเลข GDP ของจังหวัดให้ไม่ตกต่ำไปกว่านี้ ประกอบกับอาชีพส่วนใหญ่ของคนแม่ฮ่องสอนก็คือการทำเกษตร แต่กลับมีพื้นที่ให้พวกเขาทำเกษตรเพียงน้อยนิด พี่ตังเองในฐานะสมาชิกหน้าใหม่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็มองเห็นข้อสังเกตต่อการทำการเกษตรในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเธอกล่าวว่า

“แม่ฮ่องสอนมี 3 แสนคน ใน 3 แสนคน เป็นเกษตรกรไปแล้ว 80% ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่จะย้ายไปอยู่เมืองอื่นกัน” (พี่ตัง)

แม้ปริมาณพื้นที่ทำการเกษตรที่มีน้อย จนอาจนำไปสู่การโยกย้ายเพื่อตามหาโอกาสในทางเศรษฐกิจของคนรุ่นใหม่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่แล้วในช่วงการยึดอำนาจของ คสช. รัฐบาลยังดำเนินโครงการทวงคืนพื้นที่ป่าและการไล่ “จับคน” ที่รัฐบาลมองว่า “บุกรุกพื้นที่ป่า” โดยในปี 2557 ได้มีประกาศใช้คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เพื่อเข้ายึดที่ดินและไล่จับคน อาทิ เหตุการณ์เมื่ออวันที่ 25 สิงหาคม 2557 มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังบุกเข้าไปทำลายข้าวโพดที่ปลูกอยู่ในที่ดินของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและเกษตรกรอีก 2 คน โดยเจ้าที่อ้างอำนาจตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ทำให้ไม่มีการเข้ามาเจรจาพูดคุยกับเจ้าของไร่แต่อย่างใด หรือในวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 มีการประกาศว่าจะดำเนินการยึดที่ดินกว่า 1,500 ไร่ ในพื้นที่บ้านเลาวู อำเภอเวียงแหง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีสันนิษฐานว่าเป็นที่ดินทำกินของครอบครัวคนแม่ฮ่องสอนกว่า 150 ครอบครัว ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์คือผลลัพธ์ของการประกาศพื้นที่ป่าทับพื้นที่คน

การประกาศพื้นที่ป่าโดยภาครัฐจึงเป็นเสมือนการเอา “ป่า” มากักขัง “คนแม่ฮ่องสอน” รวมถึงยังเป็นเหมือนการกีดกันโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่มุ่งหวังให้คนแม่ฮ่องสอนได้ลืมตาอ้าปาก ราวกับว่าจะกักขังคนแม่ฮ่องสอนไว้ในวิมานแห่งความจนแห่งนี้ไปตลอดกาล 

ถึงเวลาพรมน้ำมนต์ล้างซวย! 

ข้อสังเกตตลอดคำสัมภาษณ์ของพี่ตังและอาฉู่ คือความกังวลที่ผู้พวกเขาทั้งสองมีต่อคนรุ่นใหม่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากโอากาสสำหรับคนรุ่นใหม่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนดูจะหายากขึ้นเรื่อย ๆ ในทัศนะของพวกเขา แต่สำหรับผมคนรุ่นใหม่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนกำลังเผชิญกับความซวย เช่นนั้นเราจะแก้ปัญหาความซวยให้กับคนแม่ฮ่องสอนและคนรุ่นใหม่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้อย่างไร

หากความซวยเป็นเรื่องเดียวกับปัญหาเชิงโครงสร้าง การพรมน้ำมนล้างซวยก็คงคล้ายกับการถอดรื้อโครงสร้างที่เป็นเป็นปัญหา เพื่อเปิดทางให้คนแม่ฮ่องสอนเดินออกจากวิมานแห่งความจนแห่งเสียที 

ฉะนั้น ผมจึงใคร่ที่จะรวบรวมข้อเสนอการแก้ไขปัญหาความยากจนของคนแม่ฮ่องสอนที่กระจัดกระจายอยู่ ให้รวมกันเป็นน้ำมนล้างซวยความจนเสียหน่อย

1. ปฎิรูปที่คืนที่ดินให้กับคนแม่ฮ่องสอน

การผลิตในภาคเกษตรถือเป็นหนึ่งในเครื่องจักรทางเศรษฐกิจของจังหวัดแม่ฮ่องสอนและแรงงานส่วนใหญ่ของจังหวัดก็ยังทำงานอยู่ในภาคเกษตร แต่เกษตรกรกลับมีที่ดินในการเพาะปลูกเพียงน้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็น “ป่า” พูดอย่างตรงไปตรงมา เราควรตั้งคำถามว่าพื้นที่เหล่านี้ยังควรมีสถานะเป็นป่าอยู่หรือไม่?

แรกเริ่มภาครัฐควรเริ่มต้นทำการสำรวจพื้นที่ป่าภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน (รวมถึงพื้นที่ป่าทั้งประเทศ) เสียใหม่ เพื่อตรวจสอบว่าพื้นที่ใดมีสภาพเป็นป่าจริงและเห็นสมควรให้มีการคงสภาพความเป็นป่าในทางกฎหมายไว้ และพื้นที่ไหนที่สิ้นสภาพความเป็นป่าแล้วหรือเห็นควรว่าพื้นที่ดังกล่าวควรได้รับการปฏิรูปภาครัฐควรเร่งจัดสรรที่ดินให้เป็นที่ดินทำกินและอนุมัติให้สามารถถือครองเป็นโฉนดได้ เพื่อให้เกิดการขยายพื้นที่การเกษตรออกไปให้กว้างมากขึ้น 

นอกจาก การปฏิรูปที่ดินจะทำให้เกษตรกรมีพื้นที่ในการทำการเกษตรมากขึ้นแล้ว การได้ถือครองโฉนดยังส่งผลให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาการผลิต ขณะเดียวกันการถือครองที่ดินแบบโฉนดยังเป็นการสร้าง “ความปลอดภัย” ในการถือครองที่ดิน เนื่องจากการถือครองแบบ สปก. ที่ดินพื้นนั้นยังถือว่าเป็นของรัฐอยู่ หากมีการประกาศพื้นที่ป่าหรือพื้นที่โครงการต่าง ๆ เอกสาร สปก. จะกลายเป็นเศษกระดาษทันที 

ฉะนั้น การทำให้แม่ฮ่องสอนสามารถผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มและเกษตรกรมีที่ดินเป็นของตนเอง น่าจะเป็นก้าวแรกในการรื้อสร้างวิมานแห่งความจนของคนแม่ฮ่องสอน

2. ถึงเวลาเดินทาง: การคมมนาคม คือด่านแรกแห่งการพัฒนา 

แม่ฮ่องสอนเป็นหนึ่งในจังหวัดที่เดินไปยากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ความยากลำบากต่อการสร้างและติดปัญหาเรื่องพื้นที่ป่า อย่างไรก็ตาม หากหวังจะรื้อโครงสร้างของวิมานความจนแห่งนี้ การสร้างทางเดินให้พวกเขาสามารถเดินออกมาได้ก็ควรเป็นสิ่งที่ภาครัฐสมควรจะทำมิใช่หรือ? 

สุพจน์ กลิ่นปราณีต ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอนเคยเสนอให้กลับมาเปิดเส้นทางการบินระหว่างกรุงเทพและแม่ฮ่องสอน พร้อมกับอนุญาตให้สายการบิน Low Cost สามารถเข้ามาให้บริการได้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อกระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวในจังแม่ฮ่องสอน22 

แม้จะมีสนามบินอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่กลับมีเพียงสายการบินเดียวที่ได้รับอนุญาตให้บินมาแม่ฮ่องสอน ซึ่งสอดคล้องกับข้อสังเกตของพี่ตังที่ข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า ราคาตั๋วเครื่องบินมาแม่ฮ่องสอนที่แพงมาก ๆ ก็เนื่องจากการอนุญาตให้มีเพียงสายการบินเดียว (การบินไทย) ที่สามารถบินมาลงที่แม่ฮ่องสอนได้ และนักท่องเที่ยวจะเดินทางมาแม่ฮ่องสอนก็เฉพาะช่วงเทศกาล

สุพจน์ ยังเสนอให้ภาครัฐเร่งซ่อมแซมถนนที่เสียหายและเร่งพัฒนาถนนในจังหวัดฮ่องสอนให้มีมากขึ้นและเชื่อมต่อกันมากกว่านี้ ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมเคยทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงข่ายเชื่อมโยงสะเมิง-แม่ฮ่องสอน ในมิติทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางหลวง ตั้งแต่ปี 2547 โดยเสนอแนวทางการสร้างไว้ 3 เส้นทาง ดังนี้ เส้นทาง C1 จากแม่ฮ่องสอน-สะเมิง ระยะทาง 73 กิโลเมตร เส้นทาง C2 จากแม่ฮ่องสอน-สะเมิง ระยะทาง 62.9 กิโลเมตร และเส้นทาง  C3 จากแม่ฮ่องสอน-สะเมิง ระยะทาง 54 กิโลเมตร วันนี้อาจถึงเวลาที่ต้องนำโครงการดังกล่าวกลับปัดฝุ่นศึกษาและนำไปดำเนินนโยบายจริงได้แล้ว

ข้อค้นพบหนึ่งที่น่าสนใจจากการศึกษาของกระทรวงคมนาคม คือ การเสนอให้มีการขุดเจาะอุโมงค์ในบางที่ที่มีความสูงชัน เพื่อแก้ปัญหาความยากลำบากในการก่อสร้างถนน23

นอกจากนั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เสนอให้เร่งสร้างถนนทั้งภายในจังหวัดและระหว่างแม่ฮ่องสอนกับจังหวัดอื่นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนแม่ฮ่องสอน และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เตรียมรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในแม่ฮ่องสอน

เปิดด่าน เปิดทางให้เป็นเมืองชายแดนเต็มตัว 

ถนนสำหรับคนแม่ฮ่องสอนยังมีบทบาทในการพัฒนาที่ไกลไปกว่าการเชื่อมต่อเศรษฐกิจของจังหวัดแม่ฮ่องสอนกับจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย แต่ยังหมายถึงการเชื่อมต่อและพัฒนาเศรษฐกิจข้ามชาติอีกด้วย ในการศึกษาเรื่อง การยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าบ้านห้วยต้นนุ่น และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดแม่ฮ่องสอน24 โดย ผศ.ดร. บุศรินทร์ เลิศเชาวลิตสกุล ได้เผยให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นของการตัดถนน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะเศรษฐกิจบริเวณ “ชายแดน” ซึ่งแม่ฮ่องสอนเรียกได้เลยว่าเป็นจังหวัดชายแดน เนื่องจากทุกอำเภอยกเว้นอำเภอปลายในจังหวัดแม่ฮ่องสอนอยู่ติดกับเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา 

การพัฒนาโครงการยกระดับจุดผ่อนปรนทางการค้าให้เป็นด่านผ่านแดนถาวรในบริเวณจุดผ่อนปรนการค้าห้วยต้นนุ่น อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีแนวคิดริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากจุดผ่อนปรนการค้าห้วยต้นนุ่นมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของแม่ฮ่องสอนได้ เนื่องจากจุดผ่อนปรนฯห้วยต้นนุ่นสามารถเชื่อมต่อไปยังเมืองสำคัญต่างๆ ของประเทศเมียนมาได้ โดยเฉพาะเมืองสำคัญหลายเมืองในรัฐกะยา และยังสามารถเชื่อมต่อไปจนถึงเมืองเนปิดอว์เมืองหลวงของเมียร์มาได้เช่นกัน 

กระทรวงพาณิชย์ของประเทศเมียนมาได้รายงานถึงมูลค่าการค้าชายแดนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในบริเวณช่องทางแม่แจ๊ะหรือบ้านมางตรงซึ่งตั้งอยู่ติดกับจุดผ่อนปรนการค้าห้วยต้นนุ่น โดยในระหว่างปี 2559 ถึง 2561 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกต่างพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากรัฐกะยาในประเทศเมียนมาเริ่มให้ความสำคัญกับการค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ประกอบการประกาศก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกล ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่ามูลค่าการค้าจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก 

การยกระดับจุดผ่อนปรนให้กลายเป็นด่านข้ามแดนถาวรยังจะเป็นการใช้ศักยภาพความเป็นเมืองชายแดนของแม่ฮ่องสอน ฉะนั้น หากหวังจะรื้อสร้างวิมานแห่งความจนของคนแม่ฮ่องสอน การเปิดทางให้เศรษฐกิจบริเวณชายแดนเกิดขึ้นได้จริง จึงอาจจะเป็นเสมือนการติดตั้งเครื่องเร่งความเร็วในการพัฒนาเศรษฐกิจของแม่ฮ่องสอน เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับชายแดนในอำเภอแม่สอดจังหวัดตาก ที่มูลค่าการค้าโดยรวมในบริเวณชายแดนแม่สอดมีสูงกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี25  

นอกจากน้ำมนต์ทั้ง 4 ชนิดที่ผมได้เสนอไป ยังมีน้ำมนต์หรือแนวนโยบายอื่นๆ อีกมากที่รัฐบาลทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นควรเร่งแก้ไข อาทิ การแก้ปัญหาด้านการศึกษา หรือการเร่งมอบสัญชาติให้กับกลุ่มชาติพันธุ์โดยเร็ว เป็นต้น ซึ่งการดำเนินนโยบายเหล่านี้คงอาศัยเวลาและความพยายามเป็นอย่างมาก แต่เพื่อรื้อถอนวิมานแห่งความจนของคนแม่ฮ่องสอน ก็คงถึงเวลาที่ต้องเริ่มลงมือทำกันแล้วล่ะ  

เราจะปล่อยไปให้คนแม่ฮ่องสอนอยู่ในวิมานแห่งความจนแบบนี้ไปจนถึงเมื่อไหร่?


อ้างอิง

  • [1] คุยเบื้องหลังที่มาศึกชิง ‘วิมานหนาม’ กับ ‘บอส กูโน’ ผู้กำกับ. https://www.youtube.com/watch?v=j56jS9GhCXU&t=5s
  • [2] รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2565  https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=14557 
  • [3] https://maehongson.moc.go.th/th/file/get/file/202403294547c1b4df7539e29e378d32783ee893104249.pdf 
  • [4] ราคาเฉลี่ยจากเว็บไซด์สมาคมพ่อค้าข้าวโพดและพืชพันธุ์ไทย (https://www.thaimaizeandproduce.org) ข้อมูลอัพเดทล่าสุดวันที่ 13 ธันวาคม 2567
  • [5] ข้อมูลจากสำนักงานสถิติจังหวัดแม่ฮ่องสอน (https://maehson.nso.go.th/) 
  • [6] ข้อมูลภาพรวมคนจนเป้าหมายในปี 2565 แม่ฮ่องสอนจากเว็บไซด์ Thai People Map and Analytics Platform ภายใต้การดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (https://www.tpmap.in.th/2566/58?stateWelfareCard=all) 
  • [7] ดูเพิ่มเติมใน มัชฌิมาศ เขียวคำ. (2563). กรณีศึกษาการใช้ระบบกักเก็บพลังงานชนิดล้อตุนกำลังเพื่อรักษาความถี่ของระบบไฟฟ้าขนาดเล็กแบบแยกโดดของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน.  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • [8] สรุปรายงานประจำปีจังหวัดแม่ฮ่องสอน 2566. https://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER7/DRAWER061/GENERAL/DATA0000/00000263.PDF
  • [9] https://www.maehongson.go.th/new/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AE%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5-9/ 
  • [10] ข้อมูลการคมนาคมจากเว็บไซด์จังหวัดแม่ฮ่องสอน (https://www.maehongson.go.th/new/การคมนาคม/)
  • [11] ข้อมูลจากแขวงทางเหลวงเชียงใหม่ที่ 1 (http://chiangmai1.doh.go.th/chiangmai1/content/page/page/36368)
  • [12] ดูเพิ่มเติมใน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2566). ไฮเวยาธิปไตย : อำนาจของถนนกับพลวัติการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
  • [13] ดูการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกผ่านการตัดถนนสุขุมวิท ใน อำพิกา สวัสดิ์วงศ์. (2545). ถนนสุขุมวิทกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกของประเทศไทย พ.ศ. 2477-2539. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • [14] กกร.แม่ฮ่องสอนเสนอปัญหาเศรษฐกิจ แนะเร่งแก้ระบบคมนาคม. https://thecitizen.plus/node/9182
  • [15] สำรวจภาวะการทำงานของประชากรจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไตรมาส 4/2565. https://maehson.nso.go.th/statistical-information-service/infographic-interactive/infographic/mae-hong-son-province-labor-force-survey-quarter-4-2022.html 
  • [16] ข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปีการศึกษา 2566. https://anyflip.com/duaae/cafw/basic
  • [17] ข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา ปีการศึกษา 2567 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ ใน https://edustatistics.moe.go.th/school50
  • [18] ดูเพิ่มเติมใน พีระยุทธ์ สุขสมบูรณ์. (2557). สภาพปัญหา และการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กบนพื้นที่สูง ที่มีความขาดแคลน: กรณีศึกษาโรงเรียนบ้านอุบโละเหนือ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. Community and Social Development Journal, 15(1), 27–36.
  • [19] ขจัดช่องว่างการเรียนรู้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน กรณีศึกษาการจัดการเรียนรู้โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน. https://www.unicef.org/thailand/media/9766/file/Closing%20the%20learning%20gap%20in%20Mae%20Hong%20Son%20TH.pdf
  • [20] ปรีชา พวงสมบัติ. (2558). ปัญหาของบทบัญญัติกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ดินในจังหวัดแม่ฮ่องสอน. https://library.coj.go.th/th/media/43952/media-43952.html
  • [21] สรุปประเภทการใช้ที่ดิน  จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ปี พ.ศ. 2564. http://www1.ldd.go.th/web_OLP/Lu_64/Lu64_N/MSH2564.htm
  • [22] กกร.แม่ฮ่องสอนเสนอปัญหาเศรษฐกิจ แนะเร่งแก้ระบบคมนาคม. https://thecitizen.plus/node/9182
  • [23] อ้างแล้ว
  • [24] บุศรินทร์ เลิศเชาวลิตสกุล. (2567). ด่าน ถนน คนบนพรมแดน: โครงสร้างพื้นฐานชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน. พิษณุโลก
  • [25] นักธุรกิจจับตาชายแดน ‘แม่สอด’ ชี้ ‘การค้า’ เดินหน้าต่อท่ามกลางสงคราม. https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1121408

JustPow ชวนสำรวจปัญหาโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2565-2573 กลุ่มบริษัทไหนได้โควต้าผลิตไฟฟ้าไปเท่าไหร่ และข้อสังเกตต่อโครงการฯ ทั้งสองรอบ

จากปัญหาโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน ปี 2565 – 2573 ที่พรรคประชาชนออกมาเรียกร้องถึงความไม่โปร่งใส จนมาสู่การที่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีคำสั่งไปถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ระงับการรับซื้อรอบเพิ่มเติม แต่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา กกพ. ก็ได้ออกประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 72 ราย รวมปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขาย 2,145.4 เมกะวัตต์

JustPow ชวนสำรวจความเป็นมาของโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2565 – 2573 พร้อมคำนวณว่ากลุ่มบริษัทไหนได้โควต้าการผลิตไฟฟ้าไปเท่าไรบ้างตามสัดส่วนการถือหุ้นทางตรง และข้อสังเกตต่อโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2565 – 2573 ทั้งสองรอบนี้

ที่มาที่ไปโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2565 – 2573 

แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นแผนแม่บทในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ได้ตั้งเป้าหมายให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 24.5 ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมดภายในปี 2580 ซึ่งจะมาจากพลังงานชีวมวล พลังงานชีวภาพ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ (ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ร้อยละ 17.35 ข้อมูล ณ กันยายน 2567) 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นำโดย ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีมติในเดือนสิงหาคม 2564 มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาแนวทางเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในช่วงปี 2564 – 2573 โดยกำหนดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ พร้อมเงื่อนไขว่าสามารถปรับเปลี่ยนปริมาณและเงื่อนไขการรับซื้อได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนอัตราการรับซื้อได้ 

จากมติดังกล่าว คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศ ระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 รวม 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งจะใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกที่พิจารณาถึงความพร้อมทั้งด้านราคา คุณสมบัติ และเทคนิคร่วมกัน โดยไม่ใช้วิธีการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) แต่ใช้รูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่จะกำหนดอัตรารับซื้อคงที่ตลอดอายุโครงการ ซึ่งการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจะเปิดรับซื้อในคราวเดียว ผู้สนใจเสนอขายไฟฟ้าจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะเลือกผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแบบใดและต้องการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปีใด ทั้งนี้ การเปิดรับคำเสนอขายไฟฟ้าจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-25 พฤศจิกายน 2565 รวมระยะเวลาเพียง 22 วันเท่านั้น ในรอบแรกนี้ มีเอกชนยื่นเสนอโครงการถึง 670 โครงการ รวมกำลังการผลิตที่เสนอขาย 17,400 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าปริมาณที่กำหนดถึง 3.3 เท่า กกพ. ได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำออกมาในวันที่ 25 มกราคม 2566 แต่ก่อนที่การจัดหาไฟฟ้ารอบแรกจะประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกเสร็จสิ้นนั้น ในวันที่ 9 มีนาคม 2566 กพช. ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ ได้มีมติเห็นชอบขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบเพิ่มเติมอีกจำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ โดยใช้อัตรารับซื้อเดิม ถัดมาในวันที่ 5 เมษายน 2566 กกพ. ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของ การรับซื้อไฟฟ้าในรอบแรกจำนวน 175 โครงการ จำนวน 4,852.26 เมกะวัตต์

จากนั้นเกิดคดีพิพาทระหว่างบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กับสำนักงาน กกพ. และคณะกรรมการ กกพ. ระหว่างกันยายน 2566 ถึง กันยายน 2567 กลุ่ม EA ยื่นฟ้องว่า กกพ. ออกคำสั่งโดยอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความโปร่งใส และไม่ยุติธรรม เนื่องจากโครงการของกลุ่มบริษัท EA ซึ่งได้แก่ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด บริษัท วินด์ ขอนแก่น 2 และบริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด เป็นผู้ไม่ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่านตามประกาศ กกพ. ทั้งนี้ ในการคัดเลือก กกพ. ไม่ได้ประกาศเกณฑ์การให้คะแนน

โดย 29 กันยายน 2566 ศาลปกครองเพชรบุรีมีคำสั่งทุเลาโครงการเสนอขายไฟฟ้าของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 หลังจากบริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ต่อมา 7 ธันวาคม 2566 ศาลปกครองเพชรบุรียกฟ้อง กกพ.

10 ตุลาคม 2566 บริษัท วินด์ ขอนแก่น 2 ร้อง กกพ.ต่อศาลปกครองกลาง ต่อมา 15 ตุลาคม 2566 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งระงับรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานหมุนเวียน กลุ่มพลังงานลม ขนาด 1,500 เมกะวัตต์ เป็นการชั่วคราว จากนั้น 14 มีนาคม 2567 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ผลประมูลซื้อไฟพลังงานลม

5 มีนาคม 2567 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาโครงการเสนอขายไฟฟ้า จากการที่บริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด ร้อง กกพ. จนเมื่อ 3 กันยายน 2567 บริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 ถอนฟ้อง

ข้อพิพาททางปกครองและคำสั่งของศาลปกครองที่ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังงานลม ทำให้ กกพ. จะต้องชะลอโครงการเพื่อรอความชัดเจนจากผลของการอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับดังกล่าว จนเมื่อข้อพิพาทที่เกี่ยวกับ 3 โครงการนี้ยุติแล้ว กกพ.จึงเดินหน้ากระบวนการรับซื้อไฟฟ้ารอบใหม่

ในช่วงที่ข้อพิพาทยังไม่ยุติ 31 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติ ให้จัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 เพิ่มเติม

21 กันยายน 2567 กกพ. ออกระเบียบ กกพ.ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) รวม 2,180 เมกะวัตต์

27 กันยายน 2567 กกพ.กำหนดเงื่อนไขโดยจะให้สิทธิ์กับกลุ่มผู้ที่เคยยื่นข้อเสนอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 จำนวน 198 ราย ซึ่งได้ผ่านเกณฑ์พร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ภายใต้โครงการ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกในโครงการดังกล่าว เนื่องจากการจัดหาไฟฟ้าได้ครบตามเป้าหมายแล้ว

โดยในการรับซื้อไฟฟ้าในรอบเพิ่มเติมได้กำหนดประเภทเชื้อเพลิงไว้ ดังนี้

  • พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เปิดรับ 2,632 เมกะวัตต์ (แบ่งโควต้าให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก 1,580 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป 1,052 เมกะวัตต์) 
  • พลังงานลม เปิดรับ 1,000 เมกะวัตต์ (แบ่งโควต้าให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก 600 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป 400 เมกะวัตต์) 
  • ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) จำนวน 6.5 เมกะวัตต์
  • ขยะอุตสาหกรรม จำนวน 30 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีคำสั่งไปถึง กกพ. ให้ระงับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในโครงการรอบเพิ่มเติมจำนวนที่มีการล็อคโควต้า 2,180 เมกะวัตต์ไว้ชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าโครงการดังกล่าวดำเนินการก่อนที่พีระพันธุ์จะเข้ารับตำแหน่ง และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสอดคล้องกับข้อเรียกร้องจากบุคคลภายนอก จึงมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินการจนกว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จต่อไป

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา กกพ. ก็ได้ออกประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือก​จำนวน 72 ราย รวมปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขาย ​2,145​.4​ เมกะวัตต์

โครงการพลังงานหมุนเวียนรอบแรก: ประกาศ 5,203 เมกะวัตต์ vs รับซื้อจริง 4,852.26 เมกะวัตต์

ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2565 – 2573 รอบแรก 5,203 เมกะวัตต์ ไม่ใช้วิธีการแข่งขันทางด้านราคา แต่ใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ซึ่งกระทรวงพลังงาน เป็นผู้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าในอนาคตของพลังงานแต่ละประเภท แบ่งได้ดังนี้

  1. ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) เปิดรับซื้อ 335 เมกะวัตต์ อัตรา 2.0724 บาท/หน่วย ระยะเวลาสัญญา 20 ปี
  2. พลังงานลม เปิดรับซื้อ 1,500 เมกะวัตต์ อัตรา 3.1014 บาท/หน่วย ระยะเวลา 25 ปี 
  3. พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับแบตเตอรี่ (Solar+BESS) เปิดรับซื้อ 1,000 เมกะวัตต์ อัตรา 2.8331 บาท/หน่วย ระยะเวลา 25 ปี 
  4. พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เปิดรับซื้อ 2,368 เมกะวัตต์ อัตรา 2.1679 บาท/หน่วย ระยะเวลา 25 ปี 

โดยผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายต้องรับและปฏิบัติตามอัตราค่าไฟฟ้าที่กำหนดตลอดอายุสัญญา มีเอกชนยื่นเสนอโครงการถึง 670 โครงการ และมีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 175 โครงการ ปริมาณที่รับซื้อจริง 4,852.26 เมกะวัตต์ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 350.74 เมกะวัตต์ เมื่อนำมาเปรียบเทียบตามประเภทพลังงาน พบว่า พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ได้รับความสนใจสูงสุด โดยมีผู้เสนอขายเต็มจำนวน 2,368 เมกะวัตต์ที่เปิดรับ ขณะที่ก๊าซชีวภาพ ไม่มีผู้ผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้เลย

ใครได้โควต้าพลังงานหมุนเวียนรอบแรก 4,852.26 เมกะวัตต์?

โครงการรับซื้อไฟฟ้าฯ รอบแรกคัดเลือกด้วยเกณฑ์ที่ออกโดย กกพ. กำหนดคุณสมบัติและความพร้อมด้านเทคนิค และเปิดให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า ในการประกาศผลการคัดเลือก เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ระบุรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก 175 โครงการ จากที่เสนอทั้งหมด 670 โครงการ

จากการสืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูลบริษัทเจ้าของโครงการ พบว่า โครงการจำนวนมากที่ผ่านการคัดเลือก อยู่ใน 24 บริษัท โดยสามารถจำแนกตามกลุ่มบริษัทที่ถือหุ้นทางตรง ได้ดังนี้ 

  1. กลุ่ม บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ผ่านคัดเลือก 31 โครงการ และมีโครงการที่ GULF ถือหุ้นร่วมกับบริษัทที่ไม่ระบุชื่ออีก 3 โครงการ
  2. กลุ่ม บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ผ่านคัดเลือก 19 โครงการ และมีโครงการที่ SUPER ถือหุ้นร่วมกับบริษัทที่ไม่ระบุชื่ออีก 1 โครงการ
  3. กลุ่ม บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) ผ่านคัดเลือก 18 โครงการ 
  4. กลุ่ม บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ผ่านคัดเลือก 17 โครงการ
  5. กลุ่มมิตรผล ผ่านคัดเลือก 16 โครงการ
  6. กลุ่ม บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) ผ่านคัดเลือก 9 โครงการ
  7. กลุ่ม บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) ผ่านคัดเลือก 7 โครงการ
  8. กลุ่ม บมจ. บีซีพีจี (BCPG) ผ่านคัดเลือก 5 โครงการ รวม 11.97 เมกะวัตต์
  9. กลุ่ม Blue Circle ร่วมกับกลุ่ม บมจ. Acciona Energía ผ่านคัดเลือก 5 โครงการ
  10. กลุ่ม บมจ.ไพร์ม โรด เพาเวอร์ (PRIME) ผ่านคัดเลือก 4 โครงการ และมีโครงการที่ PRIME ถือหุ้นร่วมกับบริษัท วีนา เอ็นเนอร์ยี โซล่าร์ (VENA) อีก 2 โครงการ
  11. กลุ่ม บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ผ่านคัดเลือก 3 โครงการ และมีโครงการที่ BGRIM ถือหุ้นร่วมกับบมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) อีก 9 โครงการ และโครงการที่ BGRIM ถือหุ้นร่วมกับบริษัทที่ไม่ระบุชื่ออีก 3 โครงการ
  12. บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ผ่านคัดเลือก 3 โครงการ และมีโครงการที่ WHAUP ถือหุ้นร่วมกับบริษัทกุริน เอ็นเนอร์ยี (Gurīn) อีก 2 โครงการ
  13. กลุ่ม บจ. พิจิตรไบโอเพาเวอร์ ผ่านคัดเลือก 3 โครงการ
  14. กลุ่ม บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ร่วมกับกลุ่ม บจ. พี.ซี.เอส.เอสเตท (GPSC&PCS) ผ่านคัดเลือก 2 โครงการ
  15. กลุ่ม บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ผ่านคัดเลือก 2 โครงการ
  16. บจ. สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล (BCC) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  17. บมจ. ซีเค พาวเวอร์ (CKP) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  18. บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ และมีโครงการที่ EA ถือหุ้นร่วมกับบมจ. ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) อีก 2 โครงการ
  19. บมจ. สหโคเจน (ชลบุรี) ซึ่งมี 3 บริษัทย่อยประกอบด้วย บมจ.ราชกรุ๊ป, บมจ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง และบริษัทที่ไม่ระบุชื่อ ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  20. บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ และมีโครงการที่ SCG ถือหุ้นร่วมกับ BGRIM อีก 9 โครงการ
  21. บจ. ทีทีดี โซลาร์ (TTD) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  22. บมจ. ไทยออยล์ ร่วมกับบริษัท ทรัพย์ทิพย์ ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  23. บจ. ยอดอาหาร ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  24. บจ. เรเดียนท์ พาวเวอร์ ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ

เมื่อคำนวณปริมาณไฟฟ้าของโครงการที่ได้รับคัดเลือกทั้งหมด 4,852.26 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของของกลุ่มบริษัทที่ถือหุ้นทางตรงในโครงการนั้น สามารถเรียงลำดับได้ ดังนี้

  1. กลุ่ม บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) 1,891.89 เมกะวัตต์ (38.99%)
  2. กลุ่ม บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) 832.40 เมกะวัตต์ (17.15%)
  3. กลุ่ม Blue Circle 218.69 เมกะวัตต์ (4.51%)
  4. กลุ่ม บมจ. Acciona Energía 217.81 เมกะวัตต์ (4.49%)
  5. บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) 211.84 เมกะวัตต์ (4.37%)
  6. กลุ่ม บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) 188.08 เมกะวัตต์ (3.88%)
  7. กลุ่ม บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) 170.50 เมกะวัตต์ (3.51%)
  8. กลุ่ม บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) 134.89 เมกะวัตต์ (2.78%)
  9. กลุ่ม บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) 119.70 เมกะวัตต์ (2.47%)
  10. กลุ่ม บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) 112.73 เมกะวัตต์ (2.32%)
  11. กลุ่ม บมจ.ไพร์ม โรด เพาเวอร์ (PRIME) 107.46 เมกะวัตต์ (2.21%)
  12. บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) 94 เมกะวัตต์ (1.94%)
  13. กลุ่มมิตรผล 92.35 เมกะวัตต์ (1.9%)
  14. กลุ่ม บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) 88.66 เมกะวัตต์ (1.83%)
  15. บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) 81 เมกะวัตต์ (1.67%)

นอกจากนี้ยังมี บริษัทที่เป็นผู้ถือหุ้นทางตรงร่วมกับบริษัทข้างต้น ซึ่งไม่ปรากฏชื่อในข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะ รวม 96.68 เมกะวัตต์ (1.99%) และบริษัทอื่นๆ ที่ได้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 1% รวม 193.58 เมกะวัตต์ (3.99%) มีจำนวน 16 บริษัท ประกอบด้วย

  • บริษัทกุริน เอ็นเนอร์ยี (Gurīn) 48.04 เมกะวัตต์ (0.99%)
  • บจ. วีนา เอ็นเนอร์ยี โซล่าร์ (ประเทศไทย) (VENA) 45.5 เมกะวัตต์ (0.94%)
  • บจ. พิจิตรไบโอเพาเวอร์ 17 เมกะวัตต์ (0.35%)
  • บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH) 13.95 เมกะวัตต์ (0.29%)
  • กลุ่ม บมจ. บีซีพีจี (BCPG) 11.97 เมกะวัตต์ (0.25%)
  • บมจ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) 10.44 เมกะวัตต์ (0.22%)
  • กลุ่ม บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) 8 เมกะวัตต์ (0.16%)
  • กลุ่ม บจ. พี.ซี.เอส.เอสเตท (PCS) 8 เมกะวัตต์ (0.16%)
  • บมจ. ซีเค พาวเวอร์ (CKP) 6 เมกะวัตต์ (0.12%)
  • บมจ. ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) 6 เมกะวัตต์ (0.12%)
  • บจ. เรเดียนท์ พาวเวอร์ 5 เมกะวัตต์ (0.1%)
  • บจ. ทีทีดี โซลาร์ (TTD) 4 เมกะวัตต์ (0.08%)
  • บมจ. ไทยออยล์ 3.2 เมกะวัตต์ (0.07%)
  • บจ. ทรัพย์ทิพย์ 3.2 เมกะวัตต์ (0.07%)
  • บจ. สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล (BCC) 2 เมกะวัตต์ (0.04%)
  • บจ. ยอดอาหาร 1.28 เมกะวัตต์ (0.03%)

หากแยกตามประเภทพลังงานที่เปิดรับซื้อไฟฟ้า จะพบว่า พลังงานลม มีผู้ผ่านการคัดเลือก 22 โครงการ จำนวน 1,490.2 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เมื่อแบ่งตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นทางตรงในโครงการนั้นๆ พบว่ากลุ่ม GULF ได้ไปมากที่สุด จำนวน 538.78 เมกะวัตต์ (36.15%) รองลงมาคือกลุ่ม Blue Circle จำนวน 218.69 เมกะวัตต์ (14.67%) กลุ่ม Acciona Energía 217.81 เมกะวัตต์ (14.62%) กลุ่ม GUNKUL จำนวน 180 เมกะวัตต์ (12.08%) EA 90 เมกะวัตต์ (6.04%) กลุ่ม WEH 89.7 เมกะวัตต์ (6.02%) กลุ่ม SUPER 40 เมกะวัตต์ (2.68%) กลุ่ม BGRIM 16 เมกะวัตต์ (1.07%) และกลุ่ม SSP 16 เมกะวัตต์ (1.07%) ไม่ระบุชื่อบริษัท 83.22 เมกะวัตต์ (5.58%)

พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับแบตเตอรี่ มีผู้ผ่านการคัดเลือก 24 โครงการ จำนวน 994.06 เมกะวัตต์ โดยมากกว่าครึ่งเป็นโครงการในกลุ่ม GULF ได้ไป 700.2 เมกะวัตต์ (70.44%) รองลงมาคือกลุ่ม GUNKUL 83.6 เมกะวัตต์ (8.41%) กลุ่ม SUPER 78 เมกะวัตต์ (7.85%) กลุ่ม PRIME 72.26 เมกะวัตต์ (7.27%) กลุ่ม WEH 30 เมกะวัตต์ (3.02%) กลุ่ม TSE 15 เมกะวัตต์ (1.51%) และ WHAUP 15 เมกะวัตต์ (1.51%)

พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน มีผู้ผ่านการคัดเลือก 129 โครงการ จำนวน 2,368 เมกะวัตต์ กลุ่มที่ได้รับคัดเลือกมากที่สุด ยังคงเป็นของกลุ่ม GULF ที่ได้ไป 652.91 เมกะวัตต์ (27.57%) ตามมาด้วยกลุ่ม GUNKUL 568.8 เมกะวัตต์ (24.02%) SCG 211.84 เมกะวัตต์ (8.95%) กลุ่ม SSP 154.5 เมกะวัตต์ (6.52%) กลุ่ม BGRIM 118.88 เมกะวัตต์ (5.02%) กลุ่ม ACE 112.73 เมกะวัตต์ (4.76%) กลุ่มมิตรผล 92.35 เมกะวัตต์ (3.9%) กลุ่ม TSE 73.66 เมกะวัตต์ (3.11%) กลุ่ม SUPER 70.08 เมกะวัตต์ (2.96%) WHAUP 66 เมกะวัตต์ (2.79%) Gurīn 48.04 เมกะวัตต์ (2.03%) VENA 45.5 เมกะวัตต์ (1.92%) กลุ่ม PRIME 35.2 เมกะวัตต์ (1.49%) กลุ่ม พิจิตรไบโอ 17 เมกะวัตต์ (0.72%) RATCH 13.95 เมกะวัตต์ (0.59%) ไม่ระบุชื่อบริษัท 13.46 เมกะวัตต์ (0.57%) กลุ่ม BCPG 11.97 เมกะวัตต์ (0.51%) SPI 10.44 เมกะวัตต์ (0.44%) กลุ่ม GPSC 8 เมกะวัตต์ (0.34%) กลุ่ม PCS 8 เมกะวัตต์ (0.34%) CKP 6 เมกะวัตต์ (0.25%) TFG 6 เมกะวัตต์ (0.25%) เรเดียนท์ 5 เมกะวัตต์ (0.21%) EA 4 เมกะวัตต์ (0.17%) TTD 4 เมกะวัตต์ (0.17%) ไทยออยล์ 3.2 เมกะวัตต์ (0.14%) ทรัพย์ทิพย์ 3.2 เมกะวัตต์ (0.14%) BCC 2 เมกะวัตต์ (0.08%) และยอดอาหาร 1 โครงการ 1.28 เมกะวัตต์ (0.05%)

จากข้อมูลข้างต้น จะพบว่ากลุ่ม GULF ได้รับการคัดเลือกสูงสุดถึง 34 โครงการ (รวมโครงการที่ GULF ถือหุ้นทั้งหมด 31 โครงการ และและโครงการที่ถือหุ้นร่วมกับบริษัทที่ไม่ปรากฏชื่อต่อสาธารณะ 3 โครงการ) รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นได้ 1,891.89 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 38.99 ของกำลังผลิตที่ได้รับการอนุมัติทั้งหมด และเมื่อดูตามประเภทพลังงาน จะพบว่าโครงการภายใต้กลุ่ม GULF ได้รับคัดเลือกทั้ง 3 ประเภทและมีปริมาณไฟฟ้าสูงที่สุดในทุกประเภทพลังงานอีกด้วย

โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบเพิ่มเติม 3,668.5 เมกะวัตต์ หลักเกณฑ์ใหม่และข้อสังเกตที่ควรจับตา

การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบเพิ่มเติมจำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ ตามมติ กพช. ครั้งที่ 2/2566 (ครั้งที่ 165) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 แม้จะดูเหมือนเป็นการตอบสนองเชิงนโยบายต่อเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียน แต่กลับเผยให้เห็นปัญหาในเชิงโครงสร้างของระบบบริหารจัดการพลังงานที่ยังมีข้อจำกัดในด้านความโปร่งใส ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรอบแรกที่มีข้อวิจารณ์เรื่องเกณฑ์การพิจารณาที่ไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนที่ใช้ในการคำนวณผู้คัดเลือก ซึ่งถูกตั้งคำถามต่อการใช้ดุลพินิจได้กว้างขวางในการคัดเลือก ว่า กกพ.จะให้เอกชนรายใดผ่านเข้ารอบบ้าง จนกลายเป็นประเด็นที่ กกพ. ถูกเอกชนฟ้องร้อง

การเปิดรับซื้อไฟฟ้ารอบเพิ่มเติมนี้ มีคำถามและข้อสังเกตหลายประเด็น ได้แก่ 

  1. ไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนที่ใช้ในการคัดเลือก เช่นเดียวกับการรับซื้อรอบแรก เปิดช่องให้มีการใช้ดุลพินิจได้กว้างขวางในการคัดเลือกว่าเอกชนรายใดจะได้รับคัดเลือก
  2. การกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า โดยใช้ราคาที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2565 โดยไม่ใช้วิธีการแข่งขันทางด้านราคา ทั้งที่ต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มถูกลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น องค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency) ประมาณการว่า ระหว่างปี 2553–2565 ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงถึงร้อยละ 83
  3. การให้สิทธิพิจารณากับผู้ที่เคยเข้าร่วมประมูลในโครงการรอบก่อนหน้าแต่ไม่ได้รับการคัดเลือก 198 รายก่อน ถูกตั้งคำถาม ถึงความโปร่งใสและความเสมอภาคในการเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาโครงการรายใหม่ที่มีศักยภาพได้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม
  4. การกำหนดระยะเวลาสัญญายาวนานถึง 25 ปี นอกจากจะพลาดโอกาสในการซื้อไฟฟ้าที่อาจมีต้นทุนถูกลงจากเทคโนโลยีใหม่แล้ว ยังมีความเสี่ยงจากประสิทธิภาพและคุณภาพของอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าที่อาจเสื่อมสภาพ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงกับความต่อเนื่องของการผลิตไฟฟ้าในระบบได้
  5. และสุดท้ายยังน่าสังเกตว่า เหตุใดจึงมีการกำหนดเงื่อนไขที่กีดกันรัฐวิสาหกิจ การตัดส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ไม่ให้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าได้ ทั้งที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วยต้นทุนไฟฟ้าที่ถูกกว่า เช่น กฟผ. ทำโครงการโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ที่เขื่อนสิรินธรได้ในปี 2564 และมีต้นทุนไฟฟ้าอยู่ที่ 1.5 บาท

แม้กระทรวงพลังงานให้เหตุผลว่า การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนตามระเบียบเดิมของ กกพ. ดังกล่าวจะทำให้เกิดการรับซื้อไฟฟ้าได้ต่อเนื่องและรวดเร็วขึ้นเพื่อตอบสนองเป้าหมายรัฐบาลที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และยืนยันว่า ช่วยแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง และจะไม่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล 

แต่จากข้อสังเกตต่อการรับซื้อไฟฟ้ารอบใหม่ข้างต้นจะเห็นได้ว่า แทนที่จะมีการประมูลแข่งขันอย่างเท่าเทียมและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่อาจมีเทคโนโลยีใหม่ซึ่งคุ้มค่ากว่าเข้ามา กระบวนการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนที่ผ่านมาและกำลังจะเกิดขึ้นอาจไม่สามารถทำให้ประชาชนจ่ายค่าไฟถูกลงได้ 

ใครได้โควต้าพลังงานหมุนเวียนรอบเพิ่มเติม 2,145.4 เมกะวัตต์?

วันที่ 16 ธันวาคม 2567 กกพ. ได้ออกประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือก โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบเพิ่มเติม 72 ราย ตามเงื่อนไขการล็อคโควต้า 2,168 เมกะวัตต์ให้ผู้ที่เคยเข้าร่วมประมูลในโครงการรอบก่อนหน้าแต่ไม่ได้รับการคัดเลือกมีสิทธิ์ยื่นก่อน โดยมีปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายรวม ​2,145​.4​ เมกะวัตต์ ต่ำกว่าโควต้าที่ล็อคไว้ 22.6 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลม​ จำนวน​ 8​ ราย​ รวม​ 565.40 เมกะวัตต์​ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน​ จำนวน​ 64​ ราย​ รวม ​1,580​ เมกะวัตต์

จากการสืบค้น และวิเคราะห์ข้อมูลบริษัทเจ้าของโครงการ พบว่า โครงการจำนวนมากที่ผ่านการคัดเลือกกระจุกตัวอยู่ใน 17 บริษัท โดยสามารถจำแนกตามกลุ่มบริษัทที่ถือหุ้นทางตรง ได้ดังนี้ 

  1. กลุ่ม บมจ. ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) ผ่านคัดเลือก 21 โครงการ 
  2. กลุ่ม บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ผ่านคัดเลือก 7 โครงการ
  3. กลุ่ม บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ผ่านคัดเลือก 5 โครงการ
  4. กลุ่ม บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ผ่านคัดเลือก 5 โครงการ และมีโครงการที่ EGCO ถือหุ้นร่วมกับ บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) อีก 6 โครงการ
  5. กลุ่ม บมจ. สหโคเจน (ชลบุรี) ซึ่งมี 3 บริษัทย่อยประกอบด้วย กลุ่ม บมจ.ราชกรุ๊ป, บมจ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง และบริษัทที่ไม่ระบุชื่อ ผ่านคัดเลือก 5 โครงการ
  6. บมจ. บางกอกกล๊าส ร่วมกับ บมจ. บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BG&BGC) ผ่านคัดเลือก 3 โครงการ
  7. กลุ่ม บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ร่วมกับบจ. พี.ซี.เอส.เอสเตท (GPSC&PCS) ผ่านคัดเลือก 3 โครงการ
  8. กลุ่มน้ำตาลราชบุรี ผ่านคัดเลือก 3 โครงการ
  9. บจ. พิจิตรไบโอเพาเวอร์ ผ่านคัดเลือก 3 โครงการ
  10. บจ. สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล (BCC) ผ่านคัดเลือก 2 โครงการ
  11. บมจ. อุบล ไบโอ เอทานอล (UBE) ผ่านคัดเลือก 2 โครงการ
  12. กลุ่ม บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ผ่านคัดเลือก 2 โครงการ
  13. บมจ. บ้านปู (BANPU) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  14. บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  15. บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ร่วมกับ บมจ. ไออาร์พีซี (GPSC&IRPC) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  16. บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ
  17. เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผ่านคัดเลือก 1 โครงการ

เมื่อคำนวณปริมาณไฟฟ้าของโครงการที่ได้รับคัดเลือกทั้งหมด 2,145.4 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของของกลุ่มบริษัทที่ถือหุ้นทางตรงในโครงการนั้น สามารถเรียงลำดับได้ ดังนี้

  1. กลุ่ม บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) 319 เมกะวัตต์ (14.87%)
  2. กลุ่ม บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) 307.85 เมกะวัตต์ (14.35%)
  3. กลุ่มอรุณานนท์ชัย ผู้ถือหุ้นหลักในกลุ่มน้ำตาลราชบุรี 197 เมกะวัตต์ (9.18%)
  4. กลุ่ม บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) 179.4 เมกะวัตต์ (8.36%)
  5. กลุ่ม บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH) 153.98 เมกะวัตต์ (7.18%)
  6. บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) 140.25 เมกะวัตต์ (6.54%)
  7. กลุ่ม บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) 136.1 เมกะวัตต์ (6.34%)
  8. กลุ่ม บมจ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) 115.21 เมกะวัตต์ (5.37%)
  9. กลุ่ม บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) 98.37 เมกะวัตต์ (4.59%)
  10. บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) 90 เมกะวัตต์ (4.2%)
  11. บมจ. อุบล ไบโอ เอทานอล (UBE) 90 เมกะวัตต์ (4.2%)
  12. เครือเจริญโภคภัณฑ์ 90 เมกะวัตต์ (4.2%)
  13. บจ. พี.ซี.เอส.เอสเตท (PCS) 57.82 เมกะวัตต์ (2.7%)
  14. กลุ่ม บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) 51.12 เมกะวัตต์ (2.38%)
  15. บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) 36.69 เมกะวัตต์ (1.71%)

นอกจากนี้ยังมี บริษัทที่เป็นผู้ถือหุ้นทางตรงร่วมกับบริษัทข้างต้น ซึ่งไม่ปรากฏชื่อในข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะ รวม 28.82 เมกะวัตต์ (1.34%) และบริษัทอื่นๆ ที่ได้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 1% รวม 53.8 เมกะวัตต์ (2.51%) มีจำนวน 6 บริษัท ประกอบด้วย

  • บจ. พิจิตรไบโอเพาเวอร์ 14 เมกะวัตต์ (0.65%)
  • บจ. สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล (BCC) 12 เมกะวัตต์ (0.56%)
  • บมจ. บางกอกกล๊าส (BG) 10.57 เมกะวัตต์ (0.49%)
  • บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) 8 เมกะวัตต์ (0.37%)
  • บมจ. บ้านปู (BANPU) 6.6 เมกะวัตต์ (0.31%)
  • บมจ. บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) 2.63 เมกะวัตต์ (0.12%)

หากแยกตามประเภทพลังงานที่เปิดรับซื้อไฟฟ้า จะพบว่า พลังงานลม มีผู้ผ่านการคัดเลือก 8 โครงการ จำนวน 565.4 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เมื่อแบ่งตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นทางตรงในโครงการนั้นๆ พบว่ากลุ่ม GUNKUL ได้ไปมากที่สุด จำนวน 284 เมกะวัตต์ (50.23%) รองลงมาคือกลุ่ม WEH จำนวน 179.4 เมกะวัตต์ (31.73%) EA 90 เมกะวัตต์ (15.92%) และกลุ่ม BGRIM จำนวน 12 เมกะวัตต์ (2.12%) 

พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน มีผู้ผ่านการคัดเลือก 64 โครงการ จำนวน 1,580 เมกะวัตต์ กลุ่มที่ได้รับคัดเลือกมากที่สุด เป็นของกลุ่ม EGCO ที่ได้ไป 307.85 เมกะวัตต์ (19.48%) ตามมาด้วยกลุ่มอรุณานนท์ชัย 197 เมกะวัตต์ (12.47%) กลุ่ม RATCH 153.98 เมกะวัตต์ (9.75%) TPIPP 140.25 เมกะวัตต์ (8.88%) กลุ่ม TSE 136.1 เมกะวัตต์ (8.61%) กลุ่ม SPI 115.21 เมกะวัตต์ (7.29%) กลุ่ม GPSC 98.37 เมกะวัตต์ (6.23%) กลุ่ม UBE 90 เมกะวัตต์ (5.7%) เครือเจริญโภคภัณฑ์ 90 เมกะวัตต์ (5.7%) กลุ่ม PCS 57.82 เมกะวัตต์ (3.66%) กลุ่ม TSE 136.1 เมกะวัตต์ (8.61%) กลุ่ม SPI 115.21 เมกะวัตต์ (7.29%) กลุ่ม GPSC 98.37 เมกะวัตต์ (6.23%) กลุ่ม BGRIM 39.12 เมกะวัตต์ (2.48%) IRPC 36.69 เมกะวัตต์ (2.32%) กลุ่ม GUNKUL 35 เมกะวัตต์ (2.22%) ไม่ระบุชื่อบริษัท 28.82 เมกะวัตต์ (1.82%) พิจิตรไบโอ 14 เมกะวัตต์ (0.89%) BCC 12 เมกะวัตต์ (0.76%) BG 10.57 เมกะวัตต์ (0.67%) WHAUP 8 เมกะวัตต์ (0.51%) BANPU 6.6 เมกะวัตต์ (0.42%) และ BGC 2.63 เมกะวัตต์ (0.17%)

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกทั้ง 2 รอบ พบว่า มี 12 บริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งสามารถวิเคราะห์ปริมาณไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นจากทั้งการรับซื้อทั้ง 2 รอบรวมกัน ได้ดังนี้

  • กลุ่ม บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ได้กำลังการผลิต รวม 1,151.4 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ได้กำลังการผลิต รวม 299.1 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) ได้กำลังการผลิต รวม 224.76 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ได้กำลังการผลิต รวม 186.01 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ได้กำลังการผลิต รวม 184 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH) ได้กำลังการผลิต รวม 167.93 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บมจ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) ได้กำลังการผลิต รวม 125.65 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ได้กำลังการผลิต รวม 106.37 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ได้กำลังการผลิต รวม 89 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บจ. พี.ซี.เอส.เอสเตท (PCS) ได้กำลังการผลิต รวม 65.82 เมกะวัตต์
  • กลุ่ม บจ. พิจิตรไบโอเพาเวอร์ ได้กำลังการผลิต รวม 31 เมกะวัตต์
  • บจ. สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล (BCC) ได้กำลังการผลิต รวม 14 เมกะวัตต์

โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบแรก และรอบเพิ่มเติมที่เพิ่งประกาศรายชื่อไป รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 2 รอบได้ 6,997.66 เมกะวัตต์ ในรอบแรก กลุ่ม GULF ได้กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นมากที่สุด และในรอบที่เพิ่มเติมนี้ กลุ่ม GUNKUL ก็ได้กำลังการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด เมื่อรวมกำลังการผลิตจากทั้ง 2 บริษัทจะพบว่ากลุ่ม GULF และกลุ่ม GUNKUL มีกำลังการผลิตที่ผ่านการคัดเลือก 3,043.29 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 43.49% ของกำลังการผลิตในโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้ง 2 รอบ ในขณะที่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ทั้ง 2 บริษัทก็ยังได้ประกาศจับมือร่วมในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียน โดยบริษัท กัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี จำกัด (Gulf Renewable Energy) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ GULF ได้เข้าร่วมทุนในบริษัทร่วมทุน Gulf Gunkul Corporation ในสัดส่วนเท่ากันที่ 50-50 อีกด้วย

ไม่เพียงแค่เรื่องหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก กำหนดอัตรารับซื้อคงที่ตลอดอายุโครงการ และระยะเวลาสัญญา เท่านั้นที่ทำให้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและยุติธรรม แต่การที่ภาครัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากเอกชนสูงถึง 6,997.66 เมกะวัตต์ ในขณะที่ภาคประชาชนที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และต้องการขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. จะต้องรอให้ กกพ.เปิดรับซื้อและเป็นผู้กำหนดปริมาณรับซื้อ ที่ผ่านมา กพช.กำหนดโควต้าเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป ในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน จำนวนรวม 90 เมกะวัตต์ ภายในเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2564-2573 ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณรับซื้อเต็ม 90 เมกะวัตต์แล้ว และต้องหยุดรับซื้อไฟฟ้าไปจนกว่าจะมีการเพิ่มโควต้าใหม่อีกครั้ง

จะเห็นได้ว่าแม้หลังคาจากภาคประชาชนจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ โดยจากการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปราว 4.06 ถึง 5 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อวันเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของตู้เย็นขนาดมาตรฐาน 1 เครื่องตลอดทั้งวัน แต่ปัจจุบันกลับพบว่า ภาครัฐนั้นกลับเอื้อให้แก่เอกชนมากกว่า ในขณะที่โซลาร์ภาคประชาชนกลับถูกล็อคไว้ด้วยกฎหมาย


เอกสารอ้างอิง

‘แข่งกันเอง-ตายไปเอง’ ภาพสะท้อนขนส่งสาธารณะภาคเหนือ: 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนรถโดยสารใน 17 จังหวัดภาคเหนือลดลงแค่ไหน?

เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา


Summary

  • ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566) จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางในภาคเหนือมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยลดลงจาก 17,308 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 11,852 คัน ในปี 2566 ซึ่งคิดเป็นการลดลงถึง 5,456 คัน (31.5%) ภายใน 5 ปี หรือลดลงเฉลี่ยปีละกว่า 6.3%
  • หากมองภาพรวมของภาคเหนือในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทุกจังหวัดในภูมิภาคต่างก็กำลังประสบกับสถานการณ์การลดลงของจำนวนรถโดยสารอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดที่เคยมีรถโดยสารมาก หรือจังหวัดที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้วก็ตาม
  • ในบรรดา 17 จังหวัดภาคเหนือ ‘จังหวัดน่าน’ ครองอันดับหนึ่งด้วยตัวเลขของจำนวนรถโดยสารที่ ‘ลดลงเกินครึ่งหนึ่ง’ ของจำนวนเดิมเดิมที่เคยมีในปี 2562 ขณะที่แม่ฮ่องสอน พะเยา และเพชรบูรณ์ เป็นอีกกลุ่มที่ประสบปัญหาในระดับใกล้เคียงกัน โดยลดลงเกือบ 50% ของจำนวนรถที่เคยให้บริการ สำหรับจังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่ ตัวเลขแสดงให้เห็นว่า จำนวนรถโดยสารลดลงราว 1 ใน 4 ของจำนวนที่เคยมี
  • อีกด้านหนึ่ง ‘จังหวัดตาก’ ครองอันดับสุดท้ายในสถานการณ์นี้ แม้จะลดลงในสัดส่วนที่น้อยที่สุดเพียง 22.5% แต่ตัวเลขก็ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัด เช่นเดียวกันกับเชียงรายและพิษณุโลก ซึ่งเป็นกลุ่มเมืองหลักภายในภูมิภาค ก็ยังไม่รอดพ้นจากสถานการณ์นี้ โดยรถโดยสารในสองจังหวัดนี้ลดลงไปกว่า 30% ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา ส่วน ‘แม่ฮ่องสอน’ ซึ่งมีจำนวนรถโดยสารน้อยที่สุดในภาคเหนือมาตั้งแต่ต้น ก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จนตัวเลขที่น้อยอยู่แล้วลดน้อยลงไปอีก

“ปล่อยให้แข่งขันกันเอง และล้มหายตายจากไป”

ประโยคนี้ไม่ได้สะท้อนเพียงแค่ความเป็นจริงของ ‘ระบบขนส่งสาธารณะ’ และ ‘กึ่งสาธารณะ’ ในเชียงใหม่ แต่ยังสะท้อนถึงภาพรวมของทุกจังหวัดในภาคเหนือที่กำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกัน.. ผู้ประกอบการขนส่งที่ค่อยๆ ลดจำนวนลง ส่งผลให้ระบบขนส่งสาธารณะในภูมิภาคนี้ค่อยๆ เลือนหายไปจากชีวิตผู้คน การพึ่งพา ‘รถส่วนตัว’ จึงกลายเป็นทางเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับประชาชนในหลายพื้นที่

ต่อเนื่องจากรายงาน เชียงใหม่เมืองยานยนต์ ถนนน้อย ไร้ขนส่งมวลชน คำถามที่น่าสนใจถัดมาคือ “แล้วสถานการณ์จริงของจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือเป็นยังไง? จะเหมือนเชียงใหม่หรือเปล่า?” เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ในรายงานนี้จึงจะขอชวนทุกคนมาสำรวจข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับ ‘จำนวนรถโดยสาร’ ของอีก 17 จังหวัดภาคเหนือ ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566) จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางของจังหวัดเหล่านี้ลดลงมากน้อยแค่ไหน?

จำนวนรถโดยสารในภาคเหนือ 2562 – 2566
ประเภทรถ25622563256425652566
รถโดยสารประจำทาง8,1237,0787,7187,8596,921
รถโดยสาไม่ประจำทาง9,1857,5005,8505,4414,931
รวม (คัน)17,30814,57813,56813,30011,852
ที่มา: กรมการขนส่งทางบก

หากพิจารณาข้อมูลจำนวนรถโดยสารในภาคเหนือตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ตามตารางข้างต้น เราจะพบกับความจริงที่น่าตกใจว่า ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566) จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางในภาคเหนือมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยลดลงจาก 17,308 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 11,852 คัน ในปี 2566 ซึ่งคิดเป็นการลดลงถึง 5,456 คัน (31.5%) ภายใน 5 ปี หรือลดลงเฉลี่ยปีละกว่า 6.3%

เมื่อเจาะลึกลงมาดูรายจังหวัด ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางใน 17 จังหวัดภาคเหนือ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยจังหวัดที่ประสบกับการลดลงมากที่สุด คือ ‘น่าน’ ซึ่งตัวเลขรถโดยสารลดลงจาก 414 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 219 คัน ในปี 2566 คิดเป็นการลดลงถึง 195 คัน (47.1%) หรือเฉลี่ยปีละ 9.4%

แม่ฮ่องสอน ครองอันดับสอง แม้จะเริ่มต้นด้วยจำนวนรถที่ค่อนข้างน้อยเพียง 179 คันในปี 2562 แต่ในปี 2566 จำนวนรถลดลงเหลือ 104 คัน ลดลงถึง 75 คัน (41.9%) หรือเฉลี่ยปีละ 8.4% เช่นเดียวกับ พะเยา ที่จำนวนรถโดยสารลดลงจาก 423 คัน เหลือเพียง 247 คัน คิดเป็นการลดลง 176 คัน (41.6%) หรือเฉลี่ยปีละ 8.3%

เพชรบูรณ์ อยู่ในอันดับสี่ ด้วยจำนวนรถที่ลดลงจาก 670 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 399 คันในปี 2566 ลดลง 271 คัน (40.5%) หรือเฉลี่ยปีละ 8.1% ขณะที่ เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดเมืองหลักของภาคเหนือ ก็ไม่สามารถหลีกหนีปัญหานี้ได้ แม้จะมีระบบขนส่งหลากหลาย แต่จำนวนรถโดยสารลดลงจาก 1,773 คัน เหลือเพียง 1,129 คัน คิดเป็นการลดลง 644 คัน (36.3%) หรือเฉลี่ยปีละ 7.3%

ในจังหวัดอื่นๆ เช่น แพร่ จำนวนรถลดลงจาก 377 คัน เหลือ 244 คัน คิดเป็นการลดลง 133 คัน (35.3%) หรือเฉลี่ยปีละ 7.1% ส่วน พิจิตร ลดลงจาก 268 คัน เหลือ 175 คัน หรือลดลง 93 คัน (34.7%) เฉลี่ยปีละ 6.9% เช่นเดียวกับ เชียงใหม่ ที่ลดลงจาก 7,301 คัน เหลือเพียง 4,770 คัน คิดเป็นการลดลงถึงกว่า 2,531 คัน (34.7%) หรือลดลงเฉลี่ยปีละ 6.9% และ สุโขทัย ลดลงจาก 444 คัน เหลือ 295 คัน คิดเป็นการลดลง 149 คัน (33.5%) หรือเฉลี่ยปีละ 6.7%

นครสวรรค์ ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคเหนือ ก็ประสบปัญหาเช่นกัน โดยจำนวนรถลดลงจาก 1,183 คัน เหลือเพียง 801 คัน ลดลง 382 คัน (32.3%) หรือเฉลี่ยปีละ 6.5% ส่วน กำแพงเพชร ลดลงจาก 509 คัน เหลือ 345 คัน หรือลดลง 164 คัน (32.2%) เฉลี่ยปีละ 6.4%

แม้กระทั่ง พิษณุโลก ซึ่งถือเป็นเมืองหลักที่สำคัญในภูมิภาค ก็เผชิญกับการลดลงถึง 27.8% (จาก 713 คัน เหลือ 515 คัน ลดลง 198 คัน) หรือเฉลี่ยปีละ 5.6% เช่นเดียวกับ อุทัยธานี ที่ลดลงจาก 418 คัน เหลือ 302 คัน ลดลง 116 คัน (27.8%) หรือเฉลี่ย 5.6% ต่อปี และ อุตรดิตถ์ ที่ลดลงในสัดส่วนใกล้เคียงกันคือ จาก 357 คันเหลือ 258 คัน ลดลง 99 คัน (27.7%) หรือเฉลี่ย 5.5% ต่อปี

สำหรับ ลำพูน จังหวัดอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งในภาคเหนือ ตัวเลขรถโดยสารลดลงจาก 439 คัน เหลือ 319 คัน คิดเป็นการลดลงจำนวน 120 คัน (27.3%) หรือเฉลี่ยปีละ 5.4% ขณะที่ ลำปาง ลดลงจาก 1,022 คัน เหลือเพียง 753 คัน หรือลดลง 269 คัน (26.3%) เฉลี่ยปีละ 5.3%

สุดท้ายคือ ตาก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนไทย-เมียนมา แม้จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่จำนวนรถโดยสารยังคงลดลงจาก 818 คัน เหลือ 634 คัน หรือลดลง 184 คัน (22.5%) เฉลี่ยปีละ 4.5%

จากภาพรวมจะเห็นได้ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเมืองหลักอย่างเชียงรายและพิษณุโลก หรือจังหวัดที่มีจำนวนรถโดยสารน้อยอย่างแม่ฮ่องสอน ทุกพื้นที่ต่างประสบกับการลดลงอย่างต่อเนื่องชัดเจน

โดยในบรรดา 17 จังหวัด ‘จังหวัดน่าน’ ครองอันดับหนึ่งด้วยตัวเลขของจำนวนรถโดยสารที่ ‘ลดลงเกินครึ่งหนึ่ง’ ของจำนวนเดิมเดิมที่เคยมีในปี 2562 ขณะที่แม่ฮ่องสอน พะเยา และเพชรบูรณ์ เป็นอีกกลุ่มที่ประสบปัญหาในระดับใกล้เคียงกัน โดยลดลงเกือบ 50% ของจำนวนรถที่เคยให้บริการ สำหรับจังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่ ตัวเลขแสดงให้เห็นว่า จำนวนรถโดยสารลดลงราว 1 ใน 4 ของจำนวนที่เคยมี

ในอีกด้านหนึ่ง ‘จังหวัดตาก’ ครองอันดับสุดท้ายในสถานการณ์นี้ แม้จะลดลงในสัดส่วนที่น้อยที่สุดเพียง 22.5% แต่ตัวเลขก็ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัด เช่นเดียวกันกับเชียงรายและพิษณุโลก ซึ่งเป็นกลุ่มเมืองหลักภายในภูมิภาค ก็ยังไม่รอดพ้นจากสถานการณ์นี้ โดยรถโดยสารในสองจังหวัดนี้ลดลงไปกว่า 30% ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา ส่วน ‘แม่ฮ่องสอน’ ซึ่งมีจำนวนรถโดยสารน้อยที่สุดในภาคเหนือมาตั้งแต่ต้น ก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จนตัวเลขที่น้อยอยู่แล้วลดน้อยลงไปอีก

ทำไมขนส่งสาธารณะในหลายที่ติดหล่ม-ถดถอย? 

ศุภกร ศิริสุนทร ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจในบทความ ‘กับดักทางความคิด ที่ทำให้ขนส่งสาธารณะไทยติดหล่ม’ ว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญมาจากการที่รัฐมองขนส่งสาธารณะเป็นเพียงแค่ ‘ธุรกิจบริการ’ การจัดการระบบขนส่งสาธารณะจึงมักถูกดำเนินการผ่านระบบสัมปทาน ซึ่งเน้นให้เอกชนเข้ามาประมูลแข่งขันกัน โดยรัฐไม่ได้เข้ามาจัดการหรือกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลที่ตามมาคือ ระบบขนส่งสาธารณะในไทยติดอยู่ในวังวนของคุณภาพที่ไม่สมดุลกับราคา ระบบที่พอมีคุณภาพดีมักมีค่าโดยสารที่แพงจนคนทั่วไปเอื้อมไม่ถึง ขณะที่ระบบที่ค่าโดยสารถูก คุณภาพการให้บริการกลับต่ำจนน่าผิดหวัง เพื่อให้เอกชนยังคงทำกำไรได้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบสัมปทานที่ไม่สามารถควบคุมราคาและคุณภาพได้อย่างเหมาะสม

ยิ่งไปกว่านั้น การควบคุมคุณภาพในด้านอื่นๆ เช่น ความถี่ของการให้บริการ หรือแม้แต่การปรับปรุงเส้นทางให้สอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชน ก็ทำได้ยากเช่นกัน

เมื่อผู้ประกอบการขนส่งทั้งสาธารณะและกึ่งสาธารณะทยอยล้มหายตายจากไป สิ่งที่หายตามไปด้วยคือ จำนวนรถโดยสารที่ลดลงอย่างน่าใจหาย ข้อมูลข้างต้นสะท้อนภาพที่ชัดเจนว่า รถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางในหลายพื้นที่เหล่านี้ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งที่บางจังหวัดมีจำนวนประชากรไม่น้อย และบางจังหวัดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ การมีรถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้นควรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการในการเดินทางของประชาชน

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่บริการเหล่านี้กำลังค่อยๆ ทยอยหายไปอย่างเงียบๆ หากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินเช่นนี้ต่อไป ในอนาคตเมื่อไม่มีขนส่งสาธารณะที่เพียงพอรองรับในการเดินทางในตัวเมือง สิ่งที่เราต้องเผชิญอาจหนีไม่พ้นปัญหารถติดเต็มถนนและมลพิษทางอากาศที่จะกลายเป็นวิถีชีวิตที่ทุกคนเลี่ยงไม่ได้..


อ้างอิง

‘MMN’ เปิดเวทีฟังเสียงคนย้ายถิ่น ร้องรัฐไทยต้องคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ

เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ Mekong Migration Network (MMN) จัดงานเสวนา “Neighbours in Need : การย้ายถิ่นจากเมียนมา” และนิทรรศการภาพถ่ายและเรื่องราวของแรงงานข้ามชาติ เพื่อสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบของสงครามกลางเมืองในเมียนมา และแนวทางในการส่งเสริมความปลอดภัยให้กับผู้ย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นฐานสากล (18 ธ.ค. 2568) ณ ห้องประชุมธนี พหลโยธิน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แจ็คกี้ พอลล็อค, ดร.ศิรดา เขมานิฐทัย, บราห์ม เพรส, อีฟ และวา กุ ชิ (ซ้ายไปขวา)

ในวงเสวนาได้มีการพูดถึงสถานการณ์เกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานจากเมียนมาในปัจจุบัน โดยมี แจ็คกี้ พอลล็อค ตัวแทนจาก MMN เป็นผู้ดำเนินรายการ

บราห์ม เพรส ผู้อำนวยการมูลนิธิ MAP Foundation

บราห์ม เพรส ผู้อำนวยการมูลนิธิ MAP Foundation เล่าถึงประเด็นหัวข้อการย้ายถิ่นแบบผสม และงานที่ไม่มั่นคง โดยยกตัวอย่างในภาคการเกษตรว่า ในการทำเกษตรของประเทศไทยเราต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติค่อนข้างเยอะ แต่ด้วยปัญหาในแง่กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อแรงงานข้ามชาติ และปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบในการทำงานเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อความมั่นคงในงานของแรงงานข้ามชาติในไทย

อีฟ ตัวแทนจากสมาคมแรงงานยองจีอู (YCOWA)

ด้าน อีฟ ตัวแทนจากสมาคมแรงงานยองจีอู (YCOWA) ได้กล่าวถึงผลกระทบต่อสภาพการจ้างงานในอำเภอแม่สอดว่า มีแรงงานข้ามชาติในแม่สอดที่ถูกกดขี่ และเอาเปรียบโดยที่เขาไม่สามารถต่อสู้กับปัญหานี้ได้ เพราะการที่แรงงานข้ามชาติไม่มีเอกสารมายืนยันสถานะ ทําให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในสวัสดิการต่างๆ ได้และต้องติดอยู่ในกับดักของการเป็นทาสในโลกสมัยใหม่ จนนําไปสู่การละเมิดสิทธิแรงงาน วนไปอยู่ในวงจรความยากจนต่อไป และเธอยังมองว่า สิ่งที่เราจะช่วยเหลือพวกเขาได้ คือการช่วยเหลือเขาทั้งในด้านมนุษยธรรม แล้วก็ในเชิงกฎหมาย

นอกจากนั้นในวงสนทนายังมีการพูดคุยและนำเสนอประเด็นที่ผู้ย้ายถิ่นฐานชาวเมียนมาต้องพบเจอในไทยจากการที่ไม่มีสัญชาติ พร้อมทั้งผลักดันให้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหานี้

วัศพล ลุงปัน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตัวแทนผู้ย้ายถิ่นฐานชาวเมียนมา

“พ่อแม่เราอพยพมาก่อนที่เขาจะมีเรา เราเกิดและโตมาในประเทศไทย เรียนหนังสือก็เรียนที่นี่ แต่เราเป็นคนที่ไม่มีสัญชาติ ไม่มีเลขบัตรประชาชน การทำธุรกรรมการเงินมันก็ยาก เราไม่สามารถเปิดบัญชีได้อย่างปกติ ถูกจำกัดให้เปิดได้แค่บัญชีออมทรัพย์ในโรงเรียนที่ฝากได้แต่ถอนออกมาใช้ไม่ได้ แล้วเรื่องการศึกษา ถ้าเราอยากกู้ยืมเพื่อการศึกษามันก็ทำไม่ได้ เพราะว่าเราไม่มีสัญชาติ เราอยากให้มีการแก้ไขกฎหมายตรงนี้ได้จริง อยากให้เราขอสัญชาติได้จริงโดยไม่ต้องใช้เงื่อนไขและเวลาเยอะขนาดนี้”

วัศพล ลุงปัน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตัวแทนผู้ย้ายถิ่นฐานชาวเมียนมาที่เข้าร่วมงานเล่าว่า เขาเกิดและโตในไทย มากว่า 22 ปี ปัจจุบันยังคงไร้สัญชาติ และถือบัตรผู้ไม่มีสัญชาติของไทย ด้วยเหตุผลนี้ทำให้การใช้ชีวิตในไทยของเขานั้นดำเนินไปด้วยความลำบาก ทั้งในแง่ของการที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานได้เท่าที่ควร ความยากลำบากในการทำธุรกรรมต่างๆ 

อาทิตย์ แผ่บุญ ผู้ย้ายถิ่นฐานชาวไทใหญ่ และผู้ประสานงานเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

“เข้ามาในเมืองไทยเกือบ 30 ปีแล้ว รู้สึกว่ามันยากมากกับการใช้ชีวิตในเมืองไทยโดยที่เราไม่มีสัญชาติ แม้เราจะมีบัตรที่ช่วยให้สามารถมีสิทธิเข้ารับสวัสดิการบางอย่าง เช่น การรักษาพยาบาล หรือการศึกษา แต่เรามองว่าความจำเป็นในการดำรงชีวิตของเรามันมีมากกว่านั้น”

อาทิตย์ แผ่บุญ ผู้ย้ายถิ่นฐานชาวไทใหญ่ และผู้ประสานงานเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เล่าคล้ายกันว่า ข้อจำกัดของผู้ย้ายถิ่นฐานในไทยส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการ ส่วนปัญหาที่เขามองว่าเป็นข้อจำกัดที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเขามากที่สุดคือการที่เขาต้องยืนยันตัวตนในเรื่องการเดินทาง เพราะว่ากฎหมายยังจำกัดสิทธิในการเดินทางของคนที่ไม่มีสัญชาติไทยอยู่ โดยเขาเล่าว่าในการเดินทางออกนอกจังหวัดที่อาศัยอยู่ เขาจะต้องยื่นขอใบอนุญาตเดินทางทุกครั้ง แม้จะไปแค่จังหวัดใกล้ๆ ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากเพราะต้องเสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปขอเอกสารค่อนข้างเยอะ

“สถานะของเราตอนนี้เราเป็นคนที่อยู่ในประเทศไทย ในราชอาณาจักร อย่างไม่ถูกกฎหมาย เราอยู่ได้ตามเงื่อนไขของ ครม. ซึ่งถ้าวันไหนที่เขายกเลิกขึ้นมา เราและกลุ่มคนไร้สัญชาติก็มีโอกาสที่จะถูกให้ออกจากประเทศได้ทุกเมื่อ ซึ่ง ถ้าถามว่าเราย้ายกลับประเทศต้นทางได้ไหม ตอนนี้เรากลับไปมันก็ไม่มีอะไรให้เราอีกแล้ว เราไม่เหลืออะไรเลย”

“ความคิดเห็นเกี่ยวกับมติครม. เมื่อ 29 ตุลาที่ผ่านมา เรามองว่ามันเป็นก้าวที่สำคัญ แล้วเราก็รู้สึกดีใจที่รัฐบาลมองเห็นและพยายามเร่งรัดแก้ไขปัญหานี้ เราก็รู้สึกว่ามีความหวังกับมัน แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันจะช้าแบบที่ผ่านมาหรือเปล่า เพราะเรารอมันมานานมากแล้วจริงๆ”

“ความหวังสูงสุดของเราคือการเป็นคนไทย เราอยู่ในสังคมนี้ เราเรียกที่นี่ว่าบ้าน เรามีครอบครัว มีทุกอย่างอยู่ที่นี่ แต่เรากลับไม่มีความมั่นคงอยู่ที่นี่เลย”   

ปากคำชาวนาชาวไร่ในความทรงจำ การต่อสู้ทางวัฒนธรรม ถึงราษฎรร่วมสมัย

เรียบเรียง : ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ

แม้การเกิดขึ้นของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในภาคเหนือจะมีปัจจัยทางด้านการต่อสู้เรื่องที่ดิน และการเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 แต่เสียงจากชาวบ้านร่วมสมัยแสดงอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เห็นมุมมองของชาวบ้านต่อการเกิดขึ้นของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่คือ 

ชาวไร่ชาวนาขโมยทั้งวัวควาย และที่หนักไปกว่าเก่าคือลักขโมยข้าวแช่ มันทุกข์ยากขนาดไหน ถ้าครอบครัวไหนข้าวไม่พอกิน ก็ต้องไปยืมข้าวเจ้าของนา ปัจจัยพวกนี้ผมคิดว่าเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่” สมศักดิ์ โยอินชัย ชาวนาภาคเหนือ เมื่อปี 2517 ช่วงการเกิดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ สมศักดิ์เรียนอยู่ชั้นประถม 7

เราจึงชวนมาทบทวนความทรงจำ ผ่านงานรำลึก 50 ปี ชาวนาชาวไร่เมื่อวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2567 ที่คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ จากบทบาทและการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ในพื้นที่ชนบท และนักเขียนบรรณาธิการและคนทำงานสร้างสรรค์ในพื้นที่เมืองทั้งรุ่นเก่าใหม่มาเล่าสู่กันฟังเพื่อส่งต่อการเคลื่อนไหวต่อไป

ความทรงจำของขบวนการชาวนาชาวไร่

รังสรรค์ แสนสองแคว สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า “การเคลื่อนไหวช่วง 14 ตุลาฯ เป็นเรื่องค่าเช่านา เหมืองแร่ มีอยู่สองที่ที่แม่วาง (เชียงใหม่) และแม่เลียง (ลำปาง) ช่วงนั้นผมไปเคลื่อนไหวหลายที่ ที่แม่สะปวด (ลำพูน) มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน และชนะจนสั่งเพิกถอนเขื่อนไป ผมก็ย้ายไปที่แม่เลียง ไปอยู่ประจำเป็นอาทิตย์ๆ มีการชุมนุมและมีการปะทะกันระหว่างชาวบ้านและคนในเหมือง จนมีคนเสียชีวิตเกือบ 10 คน หลังจากมีการเพิกถอนสัมปทาน ผู้นำเรา (ผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่) ก็ถูกยิงตาย”

รายงานข่าวลอบสังหารอินถา ศรีบุญเรือง ในหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ฉบับวันที่ 1-4 สิงหาคม 2518. อ้างอิงในบทความจากประชาไท https://prachatai.com

ในยุคสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ประเด็นที่หมู่เฮาได้คือ กฏหมายค่าเช่านาปี 2517 และยังใช้กันอยู่จนถึงทุกวันนี้ซึ่งเป็นคุณูปการของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ แต่กฏหมายอีกฉบับหนึ่งคือกฏหมาย สปก. (กฏหมายปฏิรูปที่ดิน) ที่ออกมาเมื่อปี 2542 ไม่ได้ทำตามเจตนารมณ์ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ที่เสนอไว้ เจตนารมณ์ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่คือการเอาที่ของเอกชนมาปฏิรูปให้เป็นของเกษตรกร กลไกของการออกกฎหมายของสปก. ไม่ได้มีชาวบ้านไปมีส่วนร่วม คือเอาที่ป่าเสื่อมโทรมไปให้ชาวนาชาวไร่ และไม่ได้ส่งเสริมพัฒนาที่ดิน จนตอนนี้ที่สปก. ส่วนใหญ่ตกอยู่ที่กลุ่มทุน

รังสรรค์ กล่าวถึงปัญหาของชาวนาที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงว่า หลัง 6 ตุลาฯ สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ส่วนหนึ่งขึ้นไปต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)  หลังออกจากป่า ขบวนการปฏิรูปที่ดินยังไม่ตาย เรารวมตัวกันเมื่อปี 2541 ปัญหาก็ไม่ต่างกับในอดีตเลย ยิ่งมีการหลุดมือของที่ดิน ปัญหาภาระหนี้สิน ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ ปัญหาการจัดการทรัพยากรถูกรวบอำนาจและตกอยู่ในมือของกลุ่มทุน 

“หลังจากนั้นเฮาก็เลยตั้งกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรขึ้นมาใหม่คือ แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือในปี 2541 ในช่วงนี้เราเคลื่อนไหวใน 4 จังหวัดภาคเหนือ มีโครงสร้างองค์กร ในปี 2542 เกิดเครือข่ายหลายเคลือข่ายในภาคเหนือ อย่างเครือข่ายป่าชุมชน และเกิดเป็นขบวนการยึดที่ดินเกิดขึ้นเมื่อปี 2543 เพราะลำพูน เชียงใหม่ลุกเป็นไฟ” รังสรรค์ กล่าว

ด้าน รศ.รังสรรค์ จันต๊ะ เล่าเพิ่มในบทบาทของนักศึกษา พวกเราเป็นนักศึกษาก็ออกพื้นที่ชนบทเพราะช่วง 14 ตุลาฯ เกิดการเคลื่อนไหวของนักศึกษา พวกเราไปลงพื้นที่ในหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ที่แม่เลียงก็ไป และรัฐก็เริ่มจัดการกับผู้นำชาวนา ฝั่งพวกผมหลายคน ก่อนช่วง 6 ตุลาฯ เลยตัดสินใจเข้าป่ากันหมด เข้าไป 5 ปี พรรคมีปัญหาหลายอย่างเลยตัดสินใจออกมา

จีรวรรณ โสดาวัฒน์ อดีตกลุ่มนักเรียนที่เคลื่อนไหวในนามมังกรน้อย ช่วง 14 ตุลาฯ -6 ตุลาฯ กล่าวว่า “จากบทเรียนที่ผ่านมามันมีผลต่อชีวิตมาก ช่วง 14 ตุลาฯ อยู่ มศ.1 ที่บ้านเป็นชาวนายากจน พ่อเป็นตัวแทนชาวนายากจนที่ต่อสู้ และได้รับความกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ หลายอย่างเช่น ต้มเหล้าขายเพื่อส่งลูก ค่าเทอมเขาก็เอาไม้แหลมมาแทงโอ่ง มันก็แตกหมด พอมีนักศึกษามาเผยแพร่สิทธิเสรีภาพ พ่อเราก็ไปกับเขาเพราะโดนกดมาเยอะมาก ตั้งแต่นั้นก็ไปทุกที่ในภาคเหนือกับนักศึกษา เพื่อเรียกร้องกฎหมายค่าเช่านาจนได้สมาชิกกว่าหมื่นครอบครัวในภาคเหนือ”

ช่วงอายุ 14-15 มาเล่นกับพวกนักศึกษาบ่อย เขาเลยพาไปฟังเพลงเพื่อชีวิต ฟังไฮปาร์ค อ่านหนังสือกัน และตั้งกลุ่มมังกรน้อยที่มีกัน 9 คน อันนี้คือการส่งต่อจากพี่ ๆ ต่อลูกหลานชาวนา เป็นเบ้าหลอมจนถึงปัจจุบัน หลังจาก 6 ตุลาฯ ก็อยู่ไม่ได้เพราะพ่อเป็นผู้นำชาวนา เราเลยตัดสินใจเข้าใจเข้าป่า

จากซ้าย รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.รังสรรค์ จันต๊ะ มหาวิทยาลัยแม่โจ้,รังสรรค์ แสนสองแคว สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ,จีรวรรณ โสดาวัฒน์ องค์กรด้านการพัฒนาสังคม, วิไล รัตนเวียงผา ชาวนา อ.ไชยปราการ เชียงใหม่, สมศักดิ์ โยอินชัย อดีตผู้แทนเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

สมศักดิ์ โยอินชัย อดีตผู้แทนเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าวอย่างแหลมคมว่า “ตอนนั้นอยู่ป.7 ปี 2517 และเข้ามศ.1 ตอนปี 2518 มองย้อนกลับไปตอนนั้นผมจำได้ว่าตอนนั้นนักศึกษาเข้าไปช่วยที่บ้านเยอะ คนตำบลตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ต จ.เชียงใหม่ อยากลองทบทวนดูว่าชาวนาชาวไร่มันเป็นยังไง มันมีเพลงจดหมายจากชาวนาที่มีความทุกข์ยาก สะท้อนหลายอย่างว่าชาวนาชาวไร่ยากลำยากมาก ชาวไร่ชาวนาขโมยทั้งวัวควาย และที่หนักไปกว่าเก่าคือลักขโมยข้าวแช่ มันทุกข์ยากขนาดไหน ถ้าครอบครัวไหนข้าวไม่พอกิน ก็ต้องไปยืมข้าวของเจ้าของนา ปัจจัยหนึ่งพวกนี้ผมคิดว่าเป็นปัจจัยหนึ่งในการเกิดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่”

สมศักดิ์ ยังกล่าวต่อว่า “อีกปัจจัยหนึ่งคือการเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มันเกิดสิทธิเสรีภาพมากขึ้น นักศึกษาเข้ามาช่วย โครงการชาวนาเห็นปัญหา เพราะกฏหมายค่าเช่านาอยู่แค่ภาคกลาง ยังไม่ขึ้นมาถึงภาคเหนือ จึงมีการเรียกร้อง และเกิดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่เกิดขึ้น ทำให้ชาวนามีข้าวกิน ชาวนาไม่ต้องลักข้าวแช่ ลูกเมียมีข้าวกิน และไม่ต้องไปยืมข้าวจากเจ้าที่ดิน เป็นคณูปการของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่”

วิไล รัตนเวียงผา ชาวนาจาก อ.ไชยปราการ เชียงใหม่ ยังเน้นย้ำถึงบทบาทของผู้หญิงในการต่อสู้ร่วมกับสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ “แต่ก่อนนี้พ่อเคยต่อสู้เรื่องชาวนา ข้าเจ้าอายุ 17 ปี แต่งงานแล้ว บ้านอยู่ใกล้เขตงาน เขต7/3 ข้าเจ้ามีหน้าที่ดูแลนักศึกษาที่ขึ้นไปอยู่บนดอย ส่งข้าว เอานักศึกษาหญิงเข้ามาซ่อนตัวในบ้าน จนถึงปัจจุบันนี้หลายคนมีความผูกพันซึ่งกันและกัน ในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการทำงานสิทธิในประชาธิปไตย สิทธิชุมชน สิทธิผู้หญิง เคยทำมากับมิตรสหาย เกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงผลประโยชน์ของผู้หญิง”

สมัยพรรคเพื่อไทยขึ้นมาหมู่เฮาก็มีบทบาทในการทำงาน แต่มีเวลาไม่มากในการทำได้ ทำให้เฮาสะท้อนว่า ผู้หญิงก็มีบทบาทมาก ข้าเจ้าก็ส่งข้าวขึ้นไปบนดอยและทำหลายๆ อย่างยากลำบากกันมาก เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนไปเยอะมากเพราะผู้หญิงก็เท่ากับผู้ชายมีความอบอุ่นใจ

การต่อสู้ทางวัฒนธรรม การต่อต้านระเบียบอำนาจจารีตจากชาวนาสู่ราษฎรร่วมสมัย

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งราษฎร์ กล่าวเริ่มนี้ในประเด็นการต่อสู้ทางวัฒนธรรม ว่ามีอยู่นานแล้ว ถ้าหากนำเอา ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ เป็นศูนย์กลางของเรื่อง ไล่ย้อนขึ้นไปว่ามีอะไรเกิดขึ้น ตั้งแต่อดีตจนถึงร่วมสมัย การต่อสู้ของสามัญชนมันเริ่มต้นมานานแล้วก่อน  14 ตุลาฯ จุดเริ่มต้นที่ให้ความสำคัญกับสามัญชนมีมาตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475  เพราะให้ความสำคัญกับเสรีภาพ ความเสมอภาพ และภราดรภาพ มันเป็นความฝันและหวังว่าจะเกิดขึ้น ในลักษณะที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่เป็นเช่นนั้น

หากย้อนขึ้นไปจาก 2475 ก็มีกบฏ 130, มีเทียนวรรณ, หมอบรัดเลย์ ที่สร้างวัฒนธรรมหนังสือ ซึ่งหากไม่มีวัฒนธรรมหนังสือก็ไม่มีการกระจายความเจริญ และความคิดเรื่องสามัญชน ฉะนั้น ถ้าดูความเป็นมาของสยาม คิดว่ามีความเป็นมาของมันในลักษณะที่น่าจะก้าวไปอย่างงอกงาม อย่างน้อยก็ใกล้เคียงกัน และขอให้มีเสรีภาพก่อน แต่ดูเหมือนว่าในประเทศนี้มีอยู่สองชนชั้น คือชนชั้นนำและชนชั้นตาม คนชนชั้นตามก็รวมอยู่กับคนผู้ใช้แรงงานและชาวไร่ชาวนา แต่ไม่อยากใช้คำว่าทาส เพราะมันก็ใช่

สมัยก่อนเท่าที่คุยกับสหายชาวนาชาวไร่เป็นเช่นไร สมัยนี้ก็เป็นเช่นนั้น และสมัยนี้ก็มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนมันยังไม่มีทุนผูกขาด ง่ายๆ ก็คือลักษณะของชาวนามันเปลี่ยนไป มันมีการใช้เกษตรพันธสัญญามันครอบงำและผูกขาด เมื่อก่อนเราต่อสู้กับนายทุน ขุนศึก ศักดินา แต่ในปัจจุบันนั้นมันเปลี่ยนไป นายทุนยังอยู่ มันจะเปลี่ยนไปก็ตรงที่นายทุนจะอยู่ข้างศักดินาหรือเปล่า แต่อยู่ข้างขุนศึกแน่ๆ  จิตร ภูมิศักดิ์เคยพูดในโฉมหน้าศักดินาไทยไว้ว่า

“ประวัติศาสตร์ของเรามันที่ผ่านมานั้นมันกล่าวถึงแต่ชนชั้นศักดินา”

ตอนนี้มันอาจจะเรียกว่าชนชั้นนำก็ได้..

สุชาติ กล่าวถึงบทบาทของสังคมศาสตร์ปริทัศน์ต่อการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นเรื่องชาวนาชาวไร่ไว้ว่า “สมัยที่ผมจบการศึกษาที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเคยมาสมัครเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนั้นมีอีกคนมาสมัครด้วย เขารับอีกคนหนึ่งซึ่งเขาจบปริญญาโท คนนั้นคือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากนั้นเลยเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของผม แล้วก็หันมาทำหนังสือ”

มาทำหนังสือที่สังคมศาสตร์ปริทัศน์มันทำให้ผมได้เรียนรู้สีสันใหม่ๆ หลายอย่าง ผมเข้ามาทำงานที่สังคมศาสตร์ปริทัศน์ช่วงปี 2511 อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ไปทำงานที่อื่นในอีกปีถัดมา จึงให้ผมทำงานแทน Identity ของสังคมศาสตร์ปริทัศน์มันคืออาจารย์สุลักษณ์ การเขียนบทบรรณาธิการที่ดุเดือด ผมเป็นใครมาจากไหนไม่รู้ ไม่เคยเรียนวารสาร แต่เคยทำหนังสือเล่มละบาทอยู่ตอนที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย อาจารย์สุลักษณ์ให้ผมเป็นบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์รุ่นที่สอง สิ่งที่อาจารย์สุลักษณ์สอนในฐานะที่แกเป็นบรรณาธิการคือเรื่อง “เสรีภาพ”

ผมเคยเสนอในช่วงเป็นบรรณาธิการครั้งแรกๆ คือ ฉบับชาวนา ปรึกษาหลายคนซึ่งเป็นนักวิชาการ ปรึกษากับมูลนิธิบูรณะชนบทที่มีอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ดูแลอยู่ ที่เป็นเหมือน NGOs ยุคแรกๆ ตอนนั้นอยากให้เป็นงานวิชาการ และมอบเงินทั้งหมดให้มูลนิธินี้ และอยากทำฉบับต่อมาคือ ฉบับกรรมกร

ภาพปกวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับพิเศษ “ชาวนาไทย” 2513

ผมทำอยู่สองฉบับ ปีแรกผมทำฉบับชาวนาไทย เมื่อเดือนกันยายน 2513 และอีกฉบับช่วงหลัง 14 ตุลาฯ เมื่อปี 2517 ผมทำหนังสืออีกสองเล่ม ผมอยากลองดูอาจารย์สุลักษณ์ว่าจะมีปฏิกริยาต่องานชิ้นนี้อย่างไร เพราะผมคิดว่าในเมื่อมันคือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ มันก็ต้องมองสังคมทั้งหมด บรรณาธิการคนแรกจะมองผมยังไงให้เสรีภาพกับผมจริงหรือเปล่า ผมก็เลยทำฉบับชาวนาอีกฉบับขึ้น เมื่อปี 2517 และอีกฉบับเป็นฉบับกรรมกร ผมก็รู้สึกว่าอาจารย์สุลักษณ์ให้เสรีภาพกับผมจริงๆ แกไม่เคยปิดกั้นผมเลย แม้แกจะเรียกตัวเองว่าอนุรักษณ์นิยมหัวก้าวหน้าก็ตาม

สิ่งที่ผมอยากจะพูดคือการต่อสู้ทางวัฒนธรรมมันมีอยู่ทุกครั้งในตอนรัฐประหาร คนที่รับรู้เกี่ยวกับการต่อสู้ในเรื่องอะไรมามันก็จะถูกตัดตอน เช่น บรรณารักษ์ห้องสมุดก็จะไม่นำหนังสือที่ถูกรัฐกล่าวหาว่าผิดนั้นเข้าห้องสมุด ร้ายแรงที่สุดคือช่วง 6 ตุลาฯ ก็เผาหนังสือเลย

เราไม่เคยรับรู้เลยว่าคนรุ่นก่อนต่อสู้อะไรกันมาก่อน การเมืองวัฒนธรรมของการทำหนังสือตั้งแต่ 2475 แถลงการณ์คณะราษฎร เค้าโครงเศรษฐกิจที่เป็นสมุดปกเหลือง ทศวรรษ 2490 ก็มีอักษรสาน์ ของสุภา ศิริมานนท์ ทศวรรษ 2500 ก็มีสำนักพิมพ์เกวียนทอง ที่พิมพ์ ปีศาจ (ของเสนีย์ เสาวพงษ์), ฟ้าบ่กั้น (ของลาว คำหอม) ประเด็นของนักเขียน กวีต่างๆ ที่ถูกตัดต่อความทรงจำมันทำให้การรับรู้ข้อมูลนั้นไม่สมบูรณ์ มันทำให้เห็นภาพแค่บางส่วน สุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าวตอนท้าย

เวียง-วชิระ บัวสนธ์ กล่าวเริ่มต้นว่า ช่วงวัยมัธยมเรียนอยู่ที่โรงเรียนชายล้วนที่จังหวัดพิษณุโลก สมัยมศ. 1 พวกเราจะพกหนังสืออยู่ 2-3 เล่ม เล่มแรกคือสรรพนิพนธ์เหมา มันถูกส่งเข้ามาแล้ว เราแบ่งกันอ่านเพื่อทำให้รักหนังสือ หลัง 14 ตุลาฯ ด้านศิลปวัฒนธรรมมันถูกทลาย มันทำให้ผมอ่านหนังสือมหาศาล

เวียง กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าสนใจคือในปี 2517 มันเกิดวงดนตรีคาราวาน และวรรณกรรมเพื่อชีวิต มันทำให้จิตวิญาณเปิดมาก แต่อย่างไรก็ตาม มันน่าเบื่อ เวลาพูดถึงคนยากไร้ก็มักจะมีภาพในหัวที่แบกจอบแบกเสียมมองเห็นแสงแรกของรุ่งอรุณ ซึ่งมันเป็นสัญลักษณ์ว่าสู้รบ ชัยชนะมันอยู่ข้างหน้า ตอนนั้นผมเคลิ้มเลย ถึงขนาดมีความฝันกันเลยว่า อยากขึ้นรถไฟจากพิษณุโลกมาที่สนามหลวง ยืนรอรับและปรบมือให้รุ่นพี่ที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง มันเป็นภาพที่เพ้อฝันมากๆ 

กระทั่งไม่กี่ปีต่อมาความฝันนั้นมันพังทลายต่อหน้าต่อตาเพราะมันเกิดป่าแตก พอหลังป่าแตกเราพบว่ารุ่นพี่จำนวนมาก ลืมอุดมการณ์ตนเอง คนรุ่นผมรังเกียจรุ่นพี่ และยิ่งน่ารังเกียจเข้าไปอีกเพราะพวกเขาไม่เคยนึกถึงกำพืดของตนเอง แต่พวกเราจะทำกันต่อสักระยะหนึ่งช่วงปี 2522-2524 ทำนิตยสารชื่ออาณาจักรวรรณกรรมในการสร้างพื้นที่ของตนเอง 

ภาพจากเสวนาจากซ้าย ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ รายการสภาความคิด, อธิคม คุณาวุฒิ Way Magazine,  สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งราษฎร์, เวียง วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน, สินา วิทยวิโรจน์ TUNE & Co, พัชชา ชัยมงคลทรัพย์ iLaw

บทบาทวรรณกรรมไทยร่วมสมัยในทัศนะของเวียง คนรุ่นผมในยุคต่อมาบทบาทของวรรณกรรมมันก็ไม่ค่อยโดดเด่น และวรรณกรรมส่วนใหญ่ทุกวันนี้มันก็ละเลยคนยากคนจนซึ่งมันกลายเป็นเรื่องของปัจเจก ทุกวันนี้คนยากคนจนก็ไม่ได้หาย แต่ถูกทำให้หายไปจากหน้ากระดาษ ผมเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเพนกวิน (พริษฐ์ ชีวารักษ์), รุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ทำไมพวกเขาไม่อ่านวรรณกรรมเพราะมันเชื่อมโยงกับเขาเลย อย่างน้อยก็ในทางอุดมการณ์

“วรรณกรรมไทยสมัยนี้มันไม่ได้ทำหน้าที่ในการสนับสนุนหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้ด้อยโอกาสทั้งหลาย”

อธิคม คุณาวุฒิ จาก Way Magazine เสริมในประเด็นทางวัฒนธรรมและการจินตนาการถึงชาวนาว่า ช่วงปี 2517-2519 ผู้นำชาวนาถูกลอบสังหารมาก ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งแถบชายแดน ผมจำได้ว่าการปิดเทอมของโรงเรียนมีอยู่สามครั้ง เทอมแรก ฤดูร้อน เทอมสอง ทำนา เทอมสาม เกี่ยวข้าว ผมเคยเข้ามาทำธุระกับพ่อที่กรุงเทพฯ มีคนในกรุงเทพฯ เป็นห่วงว่าทำไมถึงไม่ไปโรงเรียน ผมบอกไปว่าปิดเทอม เขาตอบกลับมาว่า ปิดเทอมอะไรในช่วงนี้ ผมบอกว่าปิดเทอมเกี่ยวข้าว เขาก็ไม่เข้าใจ

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นการรับรู้เรื่องชาวนายังไง ช่วงต้นปี 2520 ชีวิตของชาวนามันผนวกกลมกลืนกับวิถีชีวิตของผู้คน ชาวนาที่ผมรู้จักไม่ได้มีหน้าตาเศร้าหมอง ชาวนาที่ผมรู้จักก็เป็นครูที่โรงเรียน เพื่อนบ้านที่เปิดร้านขายอาหาร เพื่อนร่วมชั้นเรียน ผมจึงไม่ค่อยรู้สึกว่าวิถีชีวิตของชาวนามันแปลกแยก แปลกประหลาด หรือน่าสงสาร 

ขณะเดียวกัน วิชาเขียนจดหมาย ครูสั่งให้เขียนจดหมายเพื่อไปในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งโรงเรียนผมอยู่ที่แถบชายแดน ครูเน้นย้ำว่าเนื้อหาในจดหมายให้โน้มน้าวให้คนกลับมาเป็นพลเมืองดีของประเทศ จดหมายที่พวกผมเขียนตอนนั้นจะถูกส่งไปในพื้นที่สีชมพู พื้นที่สีแดง ให้กับเพื่อนวัยเดียวกัน ซึ่งมีจุดประสงค์คือไม่ให้ครอบครัวไปเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ (พคท.) นั่นแปลว่ามีชาวนาอีกพวกที่ผมไม่รู้จัก ว่าเขาเผชิญกับความทุกข์อีกแบบหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่งคือ วันดีคืนดีมีตำรวจตระเวณชายแดนมาร้องเพลงให้เราฟัง เป็นโฟล์คซองธรรมดาแต่แฝงไปด้วยอุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ เรื่องเหล่านี้มันเกิดคู่ขนานกันตอนอยู่ที่จังหวัดริมชายแดน ผมฟังเพลงเกี่ยวกับชาวนาครั้งแรกเมื่อปี 2522 จากวงแฮมเมอร์ ชื่อเพลงชาวนา มันเปิดโลกให้ผมเห็นว่าทำไมเราถึงต้องสงสารเขา วงแฮมเมอร์ใช้วิธีการในการไปหยิบเพลงในป่า มาสร้างเนื้อร้อง 

มุมมองของอธิคมในวัฒนธรรมดนตรีที่พูดถึงชาวนาชาวไร่ “ขนบของการเล่าเรื่องชาวนาของวงดนตรีเหล่านี้ จะให้ภาพว่าชาวนานั้นน่าสงสาร ช่างถูกอ่อนด้อย ช่างถูกกดขี่ เผชิญโศกนาฏกรรมที่ซ้ำซาก แต่ช่วงปี 2520 เราจะถูกเรียนในโรงเรียนว่า พื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะชาวเขามีการทำไร่เลื่อนลอย แนวคิดเรื่องป่าต้องปลอดคนเริ่มทำงาน และยิ่งทำงานอย่างทรงอนุภาพมากขึ้นจากเงื่อนไขทางการเมือง เพราะต้องต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จึงเป็นแนวคิดป่าปลอดคน”

ช่วงสมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่าภาค 1 เมื่อปี 2534  และ ภาค 2 ในสมัยคสช. มีจำนวนคดีระหว่างรัฐที่กระทำต่อชาวบ้าน 46,000 กว่าคดี และถูกอุ้มหายอีกเป็นจำนวนมาก นี่คือแนวนโยบายที่รัฐกระทำต่อชาวไร่ชาวนา 

มันสัมพันธ์กับเวทีที่แล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ lannernews.com ) ในการนิยามความหมายของชาวนา อาจารย์อรรถจักร์นิยามอย่างทรงพลังว่า “ชาวนาคือผู้ประกอบการ ซึ่งหมายถึงว่าชาวนาเป็นคนเสมอกับพวกเรา ไม่ใช่เรื่องเล่าในเพลงเพื่อชีวิตที่พยายามกดข่มในดูสงสาร และจำเป็นต้องสงเคราะห์อยู่ร่ำไป” อธิคม กล่าว

อธิคม กล่าวต่อ อะไรยึดโยงชาวนาให้เหมือนกับบุคคลทั่วไปก็คือเรื่องที่ดิน ความเหลื่อมล้ำ เรื่องการเข้าไม่ถึงทรัพยากร เข้าไม่ถึงทุน โดยการถูกรังแกจากทุน ถูกรังแกโดยพันธสัญญา จนกระทั่งเป็นผู้ร้ายเมื่อเกิด PM2.5 เราจะเห็นว่าเราร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน มีความเสมอกันและไม่มีใครเหนือกว่าใคร

สินา วิทยวิโรจน์ จาก TUNE & Co “ผมเป็นลูกหลานชาวนาที่มาเป็นชนชั้นกลางในเมือง ผมเติบโตในทศวรรษที่ 2530 ที่ไม่รู้ตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง เพราะเป็นจีนฝั่งหนึ่ง และลูกชาวนาที่ทิ้งนามา มาเป็นภารโรงอยู่ใน กฟผ. พ่อแม่เรียนธรรมศาสตร์เลยพาไปงาน 6 ตุลาฯ ซ้ำๆ เพราะไปเจอเพื่อน ไปอยู่หลายปี สิ่งนั้นก็ปลูกฝังมาที่ตัวผมมาจนทศวรรษที่ 2540 ซึ่งกำลังจะกลายเป็นวัยรุ่นที่สนใจการเมือง ไม่รู้จักชาวนา ไม่รู้จักชาวประมง ใช้ชีวิตไปเฉยๆ ถ่ายรูป เล่นดนตรี เราคิดว่ามันเป็นชีวิตจริงซึ่งไม่มีความจริงเลย”

กว่าจะตื่นก็จนกระทั่งในปี 2553 คนเสื้อแดงตายและถูกล้างเลือด 20 ปีเราไม่รู้อะไรเลย หลังจากนั้นก็เริ่มเชื่อมโยงกับตนเองในงานละครเรื่อง 6 ตุลาฯ ผมจึงมาเข้าใจว่า ปู่ย่าตายายที่เขาทิ้งนามา พ่อแม่ที่ต่อสู้ในเดือนตุลาฯ พวกเขาเก่งมากจริงๆ เพราะพวกเขาต่อสู้ในสิ่งที่ประวัติศาสตร์ลบเลือนมาตลอด จนทศวรรษ 2560 ก็เปลี่ยนความคิดไปมาก มันทำให้ผมตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นเพราะมีการเคลื่อนไหวของเยาวชน เป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะ 2475 ขบวนการชาวนาชาวไร่ และการเคลื่อนไหวเมื่อปี 2563-2564 มันคือเรื่องเดียวกัน มันเป็นสายธารต่อกัน มันเป็นเรื่องเล่าที่จำเป็นต้องระเบิดออก แม้การต่อสู้ในปี 2563 ต้องยอมรับว่ามันจบลงแล้ว และเราก็ทำงานต่อไป

คิดว่าความการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุมันจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะเราตื่นตัวทางการเมืองแล้วเมื่อปี 2563

แม้การต่อสู้จะจบไปแล้ว แต่ในแง่นึงมันยังไม่จบ การต่อสู้ในปี 2563-2564 มันมีพลังกับผมมาก ผมยังสนใจชาวนาชาวไร่ที่รัฐมาทำโครงการเรื่องเกษตรพันธสัญญาผมจึงวาดรูป และทำงานรณรงค์เพื่อร่วมขับเคลื่อนของ TUNE & Co และทำงานร่วมกันองค์กรอื่นๆ เช่น We Fair และ P-Move เพื่อทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการทำงานรณรงค์ และการสื่อสารต่อไป

ภาพวาดของสินาที่สินากล่าวถึง

พัชชา ชัยมงคลทรัพย์ iLaw กล่าวถึงความสนใจในการเมืองว่า มาสนใจการเมืองช่วงรัฐประหาร 2557 เขาเห็นความไม่เป็นเหตุเป็นผลของมัน เรื่องอำนาจนิยมที่ใกล้ตัวกับเราสมัยเรียนมหาวิทยาลัย  เราได้อ่านเรื่องราวของชาวบ้านที่ถูกไล่รื้อออกจากป่า เราเรียนจบก็เคยทำงานบริษัทให้นายทุน ก็คิดว่ามันไม่ใช่ตัวเรา เลยออกมาทำงาน iLAW และช่วงปี 2563 มีข้อเสนอหนึ่งขึ้นมาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ  เพื่อลบล้างผลพวงรัฐประการ ทาง  iLAW ก็เข้ามาทำตรงนี้ และทำอีกหลายๆ อย่าง เพื่อให้สังคมดีขึ้น เรามีความหวังกับตรงนี้

การต่อสู้เมื่อ 2563-2564 เราไม่รู้ว่าการต่อสู้เราแพ้จริงๆ หรือเปล่า เพราะรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ได้นับหนึ่ง และความตั้งใจของชนชั้นนำมีความต้องการที่สอดไส้ลงไปในกฎหมายที่บังคับกุมอำนาจ ยังไม่กล้า เพราะเขาก็กลัวประชาชนที่ยังส่งเสียงอยู่ทุกวันนี้ การที่เรายังส่งเสียงกันอยู่ ส่งต่อกันอยู่ เราสู้อะไรกันมาบ้าง มันทำให้ชนชั้นนำเขาไม่กล้าทำอะไรตามที่ใจปรารถนา

*หมายเหตุบทความนี้เรียบเรียงจาก เสวนาบทเรียนของสหพันธ์ชาวนาฯ : จากปากคำผู้ปฏิบัติงานโครงงานชาวนาฯ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเสวนาโดย รศ.รังสรรค์ จันต๊ะ มหาวิทยาลัยแม่โจ้,รังสรรค์ แสนสองแคว สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ,จีรวรรณ โสดาวัฒน์ องค์กรด้านการพัฒนาสังคม, วิไล รัตนเวียงผา ชาวนา อ.ไชยปราการ เชียงใหม่, สมศักดิ์ โยอินชัย อดีตผู้แทนเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

การต่อสู้ทางวัฒนธรรม การต่อต้านระเบียบอำนาจจารีตจากชาวนาสู่ราษฎรร่วมสมัย,  ดำเนินรายการโดยชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ รายการสภาความคิด, วิทยากร อธิคม คุณาวุฒิ Way Magazine,  สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งราษฎร์, เวียง วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน, สินา วิทยวิโรจน์ TUNE & Co, พัชชา ชัยมงคลทรัพย์ iLaw

นักกิจกรรม 311 กลุ่มทั่วโลก กดดัน ‘Airbus SE’ ยุติการลงทุนในเมียนมา หยุดสนับสนุนเผด็จการทหารพม่าทุกรูปแบบ

ภาพ: Blood Money – သွေးစွန်းငွေ

10 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล องค์กรปฏิวัติและองค์กรภาคประชาสังคมจากทั้งเมียนมา ไทย และนานาประเทศรวมกว่า 311 องค์กร พร้อมกลุ่มที่ไม่ประสงค์ออกนามอีก 72 กลุ่ม ได้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึง ดิโยม ฟอรี่ CEO ของ Airbus SE เรียกร้องให้ยุติการลงทุนในเมียนมา และหยุดความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมสงครามที่ก่อโดยเผด็จการทหารพม่าผ่านการลงทุนและการค้าชิ้นส่วนเครื่องบินกับ Aviation Industry Corporation of China (AVIC)

โดยจดหมายดังกล่าวระบุว่า หลังจากความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐประหารเมียนมาได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรรมสงครามอย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าถึงอาวุธและการสนับสนุนด้านเทคนิคจาก AVIC ที่จัดหาเครื่องบินทหารและการบำรุงรักษาหลักให้กับคณะรัฐประหารพม่า ทำให้การโจมตีทางอากาศที่มีเป้าหมายต่อพลเรือนยังดำเนินต่อไป

Airbus SE ถูกระบุว่าเป็นพันธมิตรสำคัญและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ AviChina Industry & Technology Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ AVIC โดย AviChina ผลิตเครื่องบิน K-8 และ Y-12 ที่ถูกใช้งานโดยกองทัพพม่าในการโจมตีพลเรือนตั้งแต่รัฐประหาร

สอดคล้องกันกับเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่เครือข่ายติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition) ได้เผยแพร่จดหมายของกลุ่มรณรงค์หยุดเงินเปื้อนเลือดแห่งเมียนมา (Blood Money Campaign) ซึ่งระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2021 AVIC ได้ให้การเข้าถึงอาวุธแก่กองทัพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเครื่องบินรบ และความช่วยเหลือด้านการบำรุงรักษา ซ่อมแซม และยกเครื่องที่เกี่ยวข้อง แม้จะมีการคว่ำบาตรอาวุธของสหภาพยุโรปและมีหลักฐานชัดเจนว่ากองทัพได้ก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

กองทัพเมียนมาได้ใช้เครื่องบินของ AVIC ในการโจมตีทางอากาศที่เข้มข้นขึ้น มีการโจมตีทางอากาศมากกว่า 7,186 ครั้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 1,873 ราย รวมถึงสตรีมีครรภ์และทารก

ไม่เพียงเท่านั้น กองทัพยังคงทิ้งระเบิดทางอากาศโจมตีบ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา งานแต่งงาน และค่ายพักพิงสำหรับผู้พลัดถิ่น การโจมตีทางอากาศเกิดขึ้นเกือบทุกวันในเมียนมา

“Airbus มีอำนาจต่อรองเหนือ AVIC ผ่านการลงทุนและพันธมิตรทางธุรกิจ Airbus เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในระดับนานาชาติของบริษัท AVIC อย่าง AviChina ดังนั้น Airbus จึงได้รับประโยชน์จากธุรกิจของ AVIC กับกองทัพเมียนมา และมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจทางธุรกิจของ AviChina  แอร์บัสได้ประโยชน์จากการร่วมทุนกับเอวิคและการจัดหาเทคโนโลยี ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ต่อการผลิตทางทหารของ AVIC” จดหมายระบุ

ดังนั้น ในจดหมายเปิดผนึกครั้งนี้ 311 องค์กร และ 72 กลุ่มภาคประชาสังคมฯ จึงได้เรียกร้องให้ Airbus SE ดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ใช้ข้อได้เปรียบทางธุรกิจในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่กดดัน AVIC ให้หยุดการโอนอาวุธและเครื่องบินรบทั้งหมดแก่กองทัพเมียนมา

2. ดำเนินการตรวจสอบความร่วมมือกับ AVIC และบริษัทในเครืออย่างเข้มงวด และเปิดเผยผลการตรวจสอบต่อสาธารณะ

3. ยุติความสัมพันธ์กับ AVIC หากยังดำเนินธุรกิจกับกองทัพเมียนมา

โดยองค์กรทั้งหมด 311 องค์แห่ง และ 72 กลุ่มที่ไม่ประสงค์ออกนามที่ร่วมลงนามมีดังนี้

นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ชาวเมียนมาได้จัดแคมเปญ #Airbus2Airstrike เพื่อกดดัน Airbus SE ผ่านการเดินขบวน ชูป้าย และการรณรงค์บนโซเชียลมีเดีย โดยเรียกร้องให้บริษัทใช้ความได้เปรียบทางธุรกิจเพื่อกดดัน AVIC ให้ยุติการค้าขายยุทโธปกรณ์แก่กองทัพพม่าด้วยเช่นกัน

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก Blood Money – သွေးစွန်းငွေ

‘แรงงานภาคเหนือ’ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เรียกร้องสิทธิและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ย้ำต้อง ‘ดำเนินการเชิงรุก’

18 ธันวาคม 2567 เนื่องใน ‘วันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล’ (International Migrants Day) เครือข่ายแรงงานภาคเหนือจัดกิจกรรมยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องสิทธิและการคุ้มครองที่เท่าเทียมสำหรับแรงงานข้ามชาติและแรงงานหญิงในประเทศไทย

วันนี้ (18 ธ.ค. 67) เวลา 10.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วยแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติหลากหลายอาชีพ ได้ยื่นข้อเสนอสำคัญผ่านจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องสิทธิและการคุ้มครองที่เท่าเทียมสำหรับแรงงานข้ามชาติและแรงงานหญิงในประเทศไทย โดยข้อเรียกร้องดังกล่าวครอบคลุมหลายประเด็นสำคัญ ทั้งการคุ้มครองสิทธิแรงงาน การปรับปรุงกฎหมาย และการยุติการส่งกลับผู้อพยพไปยังพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง โดยมีเนื้อหาดังนี้

ข้อเสนอ เนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล

วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็น “วันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล” (International Migrants Day) ซึ่งเป็นวันที่อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990  ได้รับการรับรองโดยองค์สหประชาชาติ เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญและคุณูปการของแรงงานข้ามชาติต่อการพัฒนา ทั้งประเทศต้นทาง ประเทศระหว่างทาง และประเทศปลายทาง และเพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ด้วยหลักการที่ตระหนักถึงสิทธิ และการได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมปราศจากการเลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว และเพศสภาพใดๆ ต่อแรงงานข้ามชาติ จากรัฐบาล และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

การอพยพเคลื่อนย้ายของแรงงานจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งเพื่อทำงานหรืออยู่อาศัยเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทั่วโลกมานานแล้ว สาเหตุหลักๆ ของการเคลื่อนย้ายแรงงานคือ ปัญหาเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติหรือความขาดแคลน สงครามหรือความขัดแย้งในประเทศของตนเอง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกต้องเคลื่อนย้ายออกจากถิ่นฐานของตัวเอง เพื่อให้ตนเองมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม

ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติจากประเทศต่างๆ เดินทางย้ายถิ่นเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงาน 4 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม  ทั้งที่ทำงานโดยมีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายกว่า 3 ล้านคน และกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบการขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานตามกฎหมายอีกกว่า 1 ล้านคน  ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาและการเติบโตด้านเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทย แต่ทว่าแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่กลับยังไม่ได้รับสิทธิและเข้าไม่ถึงการปกป้องคุ้มครองตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับแรงงานกำหนด เช่น ไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุดและวันลาตามที่กฎหมายกำหนด ต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่สมัครใจ เข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน

ในโอกาสนี้ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จึงได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่แรงงานข้ามชาติกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันอย่างเป็นรูปธรรม โดยต้องดำเนินการเชิงรุกในการกำหนดความคุ้มครองทางกฎหมายและมุ่งเน้นให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติด้วย ดังนี้

1. รัฐบาลต้องปรับโครงสร้างค่าจ้างให้เป็นไปตามหลักการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และกำหนดให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างทุกปีในอัตราที่สอดคล้องกับระดับค่าครองชีพโดยคำนวณจากอัตราเงินเฟ้อ + 3 เปอร์เซ็นต์ของอัตราค่าจ้าง และต้องเป็นค่าจ้างแบบถ้วนหน้าเท่ากันทั่วประเทศ  

2. รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่เป็นระบบและเป็นนโยบายระยะยาว 5 – 10 ปี โดยต้องเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน การไม่เลือกปฏิบัติ เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานและการอนุญาตให้อยู่และทำงานในประเทศ

3. รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO และดำเนินการต่อเนื่องหลังรับรองอนุสัญญา ดังนี้

3.1 อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และดำเนินการปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยเร่งด่วนเพื่อให้แรงงานทุกภาคส่วนมีอิสระในการรวมตัว จัดตั้ง หรือเข้าร่วม และการต่อรองกับนายจ้างด้วยการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้โดยไม่กระทบต่อการจ้างงาน

3.2 อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อส่งเสริมสิทธิของแรงงานทำงานบ้านและดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบต่าง ๆ  เพื่อส่งเสริมสิทธิของแรงงานทำงานบ้านโดยเร็วที่สุด และต้องมีกลไกเพื่อคุ้มครองแรงงานทำงานบ้านให้ได้รับสิทธิ และสวัสดิการ โดยเฉพาะแรงงานทำงานบ้านที่ต้องทำงานในบริเวณที่พักอาศัยของนายจ้างจะต้องได้รับการจัดหาที่พักและอาหารที่สะอาด ถูกหลักสุขอนามัย เพื่อความปลอดภัยและทำให้แรงงานได้พักผ่อนเพียงพอและมีศักยภาพในการทำงาน

4. รัฐบาลต้องปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพ เข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และกำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากที่มีการเข้าสู่ระบบประกันสังคม  และให้แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมที่ต้องการกลับประเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไป สามารถยื่นรับเงินจากกองทุนบำเหน็จชราภาพได้ทันที

5. รัฐบาลต้องรับรองสถานภาพทางกฎหมายของแรงงานที่มีรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายภายใต้ระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน และสร้างความคุ้มครองแรงงานทุกคนอย่างแท้จริง เช่น แรงงานทำงานบ้าน แรงงานพนักงานบริการ แรงงานสร้างสรรค์ แรงงานแพลตฟอร์ม ไรเดอร์ แรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี เป็นต้น โดยต้องดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายประกันสังคม กฎหมายกองทุนเงินทดแทน และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเพื่อให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน

6. รัฐบาลต้องยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.​ 2539 

7. รัฐบาลต้องส่งเสริมและสร้างหลักประกันการเข้าถึงการจ้างงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และความคุ้มครองแรงงานผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยกำหนดมาตรการการจ้างงาน สภาพแวดล้อมการทำงาน ที่ไม่แบ่งแยก ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นมิตรต่อแรงงานผู้มีความหลากหลาย เช่น ห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศ และนำพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

8. รัฐบาลต้องส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานหญิง โดยกำหนดให้การลาหยุดเนื่องจากเป็นวันที่มีประจำเดือนเป็นวันลาที่ได้รับค่าจ้าง และกำหนดให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการที่ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงได้ฟรี

9. สืบเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศเมียนมา ส่งผลให้มีผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นเครือข่ายแรงงานภาคเหนือจึงขอให้รัฐบาลยุติการกักขังและบังคับส่งกลับ ทั้งแรงงานและผู้อพยพจากประเทศเมียนมา รวมถึงการอนุญาตให้อยู่อาศัย ทำงาน เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และการเดินทาง โดยเร่งด่วน

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ

18 ธันวาคม 2567

เปิด 3 เหตุผล เลือกตั้งนายกอบจ.เพชรบูรณ์ ทำไม ‘อัครเดช’  แชมป์เก่ากินขาด 7 สมัยซ้อน

วานนี้ (15 ธ.ค. 67) การเลือกตั้งนายกอบจ.เพชรบูรณ์ ปิดฉากลงด้วยชัยชนะของ ‘อัครเดช ทองใจสด’ ผู้สมัครหมายเลข 1 อดีตนายกอบจ.เพชรบูรณ์ 6 สมัย ซึ่งคว้าตำแหน่งสมัยที่ 7 มาได้ด้วยคะแนนอย่างท่วมท้น โดยมีคะแนนนำคู่แข่งอย่าง ธิปไตย แสงรัก ผู้สมัครหมายเลข 2 อดีตผู้สมัคร ส.ส.เพชรบูรณ์ เขต 4 พรรคภูมิใจไทย แต่ครั้งนี้ลงในนามอิสระ และ จิรวิทย์ แก้วกำพล ผู้สมัครหมายเลข 3 อดีตข้าราชการ ถึงกว่า 200,000 คะแนน

จากการรายงานผลคะแนนอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (16 ธ.ค. 67) ซึ่งนับครบทั้ง 1,703 หน่วยเลือกตั้งใน 11 อำเภอ อัครเดช ทองใจสด ได้รับคะแนน 263,545 คะแนน ขณะที่ ธิปไตย แสงรัก ได้อันดับ 2 ด้วยคะแนน 38,705 คะแนน และ จิรวิทย์ แก้วกำพล ได้อันดับ 3 ด้วยคะแนน 8,376 คะแนน

สำหรับการชนะในการเลือกตั้งนายกอบจ.ครั้งนี้ของ อัครเดช ทองใจสด ที่เพชรบูรณ์ ถูกมองเช่นเดียวกันกับของชัยชนะอัจฉราที่ตาก ซึ่งถือว่า ‘ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเชิงการเมือง’ โดยหากวิเคราะห์ก็คงกล่าวได้ว่า อัครเดชเองก็ยังคงรักษาฐานเสียงเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งตากก็ยังคงเป็นขั้วเดิมที่ ‘อัจฉรา’ รองนายกอบจ.เก่าคว้าชัยชนะ ในเพชรบูรณ์ก็ยังคงเป็น ‘อัครเดช’ คนเดิมที่ครองตำแหน่งนายกอบจ.มาต่อเนื่องยาวนานถึง 6 สมัย และการได้รับชัยชนะในครั้งนี้จะทำให้เขากลายเป็นนายกอบจ. สมัยที่ 7

ขณะเดียวกัน อัครพงษ์ สิทธิ หนึ่งในประชาชนที่จับตาการเลือกตั้งนายกอบจ.จังหวัดเพชรบูรณ์มาโดยตลอด ได้ให้ความเห็นซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ Lanner เกี่ยวกับเหตุผลที่อัครเดชได้รับชัยชนะในศึกการเลือกตั้งอบจ. ครั้งนี้ไว้ด้วยชนะชนะขาดลอยกว่า 2 แสนคะแนน ดังนี้

1. การชิงลาออกจากตำแหน่งนายกอบจ.ก่อนครบกำหนดวาระเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเลือกตั้ง ทั้งทางด้านการเตรียมความพร้อมในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยอัครพงษ์มองว่า การทำแบบนี้จะทำให้ผู้ที่ลาออกก่อนมีเวลาเตรียมความพร้อมมากขึ้น มากกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นๆ

2.  การดำรงตำแหน่งนายกอบจ.มาอย่างยาวนานถึง 6 สมัยก่อนหน้านี้ การครองพื้นที่ทางการเมืองมาโดยตลอด ส่งผลให้อัครเดชมี ‘เครือข่าย’ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งกลุ่มประชาชนในพื้นที่ หรือแม้แต่องค์กรที่เคยได้เข้าไปดูแล อาทิ องค์กรส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่อาจจะมีผลประโยชน์เอื้อต่อกัน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะได้รับคะแนนนิยมในส่วนนี้เพิ่มเติม 

3. ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า ทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งอยู่นอกพื้นที่ เช่น ผู้ที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศไม่สามารถกลับมาเลือกตั้งในพื้นที่ได้ ปัญหานี้คาบเกี่ยวกับเรื่องเวลาการเลือกตั้งที่จัดในต้นปี หลังช่วงเทศกาลต่างๆ ได้ไม่นานนัก ทำให้หลายคนอาจมองว่าไม่คุ้มค่าแก่การเดินทางกลับมาเท่าไหร่นัก เนื่องจากหลังจากนั้นไม่นานก็จะมีการเลือกตั้ง ส.อบจ. อีกครั้งหนึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นสองขยักที่อาจเป็นภาระในแง่ค่าใช้จ่ายการเดินทางเพิ่มมากขึ้น เหตุผลนี้จึงไปสัมพันธ์กับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแท้จริงที่มีเพียงแค่ 2 – 3 แสนคน ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจริง 774,960 คน ด้วยซ้ำ

เปิด 3 เหตุผล ขั้วอำนาจเก่าตาก ชนะอบจ. ‘อัจฉรา ทวีเกื้อกูลกิจ’ สะใภ้สานต่ออดีตนายกฯ ‘ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ’

15 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ThaiPBS รายงานว่า วานนี้ (15 ธ.ค. 67) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก (นายกอบจ.ตาก) โดยมีผู้สมัครจำนวน 2 คน คือ ‘อัจฉรา ทวีเกื้อกุลกิจ’ อดีตรองนายกอบจ.ตาก หมายเลข 1 และ ‘พ.ต.ท.อนุรักษ์ จิรจิตร’ อดีตผู้ช่วยของ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและดิจิทัล (ดีอี)  หมายเลข 2

สำหรับในการเลือกตั้งฯ ครั้งนี้ พื้นที่จังหวัดตากมีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งสิ้น 404,695 คน กระจายอยู่ใน 684 หน่วยเลือกตั้ง

การเลือกตั้งฯ จบลงด้วยความดุเดือดและเข้มข้น หลังการนับคะแนนเสร็จสิ้น 100% ในช่วงเวลา 02.15 น. ของวันนี้ (16 ธ.ค. 67) ต่อมาช่วงบ่ายของวันเดียวกัน อบจ.ตาก ได้ประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการผ่านเฟซบุ๊ก องค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก ซึ่งผลปรากฏว่า อัจฉรา ทวีเกื้อกุลกิจ คว้าชัยด้วยคะแนน 98,601 คะแนน ทิ้งห่าง พ.ต.ท.อนุรักษ์ จิรจิตร ที่ได้รับ 88,327 คะแนน โดยคะแนนห่างกันกว่า 10,000 คะแนน

การเลือกตั้งฯ ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเลือกตั้งนายกอบจ.ทั่วไป แต่กลับถูกจับตามองว่าเป็น ‘สมรภูมิการเมือง’ ที่ท้าทายความมั่นคงของตระกูล ‘ทวีเกื้อกูลกิจ’ กับตำแหน่งทางการเมืองที่ยังเหลืออยู่ โดยมี อัจฉรา ทวีเกื้อกุลกิจ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘รองจอย’ อดีตรองนายกอบจ.ตาก เป็นผู้สมัครที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด

สำหรับเหตุผลที่อัจฉราได้รับชัยชนะในครั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าอาจมาจาก 3 เหตุผลหลักที่สำคัญ ดังนี้

1. การเป็น ‘บ้านใหญ่’ ขั้วอำนาจเดิม ‘อัจฉรา ทวีเกื้อกุลกิจ’ หรือ ‘รองจอย’ อดีตรองนายกอบจ.ตาก ผู้สมัครหมายเลข 1 ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นบุคคลที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากอัจฉราเป็นภรรยาของ ธนัสถ์ ทวีเกื้อกุลกิจ หรือ ‘ส.ส.เฟิร์ส’ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดตาก พรรคพลังประชารัฐ ที่เปลี่ยนสังกัดมาสู่พรรคภูมิใจไทย แต่ประสบความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง ปี 2566

การลงสมัครรับเลือกตั้งนายกอบจ.ตากของอัจฉราครั้งนี้จึงถือเป็น ‘ก้าวสำคัญ’ ในการรักษาฐานอำนาจของตระกูล ‘ทวีเกื้อกูลกิจ’ หลังจากที่ ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีตนายกอบจ.ตาก ผู้เป็นพ่อตา ประกาศลาออกจากตำแหน่งกะทันหัน ท่ามกลางข่าวลือเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ จึงถูกมองว่านี่คือการเปิดโอกาสให้ลูกสะใภ้ก้าวเข้ามาสานต่อเก้าอี้นายก อบจ. เพื่อรักษา ‘ปราการด่านสุดท้าย’ ในเวทีการเมืองของครอบครัว

สอดคล้องกับกับที่ อนุชา บุญถิ่น จากอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้งอบจ. WeWatch ให้สัมภาษณ์กับ Lanner ถึงเหตุผลที่อัจฉราสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งนายกอบจ.ครั้งนี้ต่อจาก ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ ไว้ว่า การเลือกที่จะ ‘ลาออกก่อนครบกำหนดวาระ’ ของณัฐวุฒินั้นถือเป็นหนึ่งใน ‘ยุทธวิธีการเมือง’ ที่จะถือโอกาสนี้ในการสานต่อเก้าอี้และตำแหน่งนายกอบจ.ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองเพียงไม่กี่ตำแหน่งที่เหลืออยู่นี้ให้แก่คนในครอบครัวต่อไป 

2. การมีฐานเสียงแข็งแกร่งจากหลายพื้นที่ ซึ่งมีเครือข่ายสนับสนุนที่เหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นจากฐานเสียงหลักในอำเภอวังเจ้าและอำเภอเมืองตาก โดยในอำเภอวังเจ้า ‘อัจฉรา’ ได้รับการสนับสนุนจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ประดาง, นาโบสถ์, และเชียงทอง รวมถึงการสนับสนุนจากกลุ่มท้องถิ่นอย่าง ‘ส.จ.แม่สุ่ม’ จันทรา อุดมโภชน์ ‘ส.จ.กิม’ กิติญา วงค์วาร รวมทั้ง ‘กำนันต้อง’ อนุรักษ์ นิลน้อย ซึ่งเป็นแนวรับที่แข็งแกร่งและยากที่จะฝ่าไปได้

ในส่วนของอำเภอเมืองตาก อัจฉรายังมีฐานเสียงสำคัญจากนายกอบต.วังประจบ, อบต.แม่ท้อ, อบต.โป่งแดง และ อบต.ป่ามะม่วง เป็นแนวร่วมสำคัญ โดยมีเครือข่ายพี่น้องในตำบลหนองบัวเหนือ ที่มั่นคงและพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่

ด้านอำเภอท่าสองยาง, อำเภอแม่ระมาด, และอำเภอบ้านตาก โดยเฉพาะฝั่งตากตะวันตก เป็นพื้นที่ที่ ส.ส.ภาคภูมิ บูลย์ประมุข หรือ ‘ส.ส.ปั้น’ ซึ่งเป็นผู้นำในพื้นที่จะมีบทบาทสำคัญในการชี้ทิศทางการเลือกตั้ง โดยจะเป็นตัวแปรที่สำคัญว่า ‘อัจฉรา’ จะได้เปรียบหรือไม่ ข้ามน้ำปิงมาซีกตากตะวันออก  มี เกรียงไกร แก้วแปง   หรือ ‘สจ.เกรียง’ ที่ขึ้นแท่นว่าที่รองนายกอบจ.ตาก ให้ทีมอัจฉรา ยิ่งควบแน่นและคราคล่ำไปด้วยแนวรับที่เหนียวหนึบ ยากที่จะเจาะผ่านไปได้

ในขณะที่อำเภอสามเงา กลุ่มท้องถิ่นในพื้นที่ได้ร่วมมือกับอบจ.ตาก ในการลงพื้นที่น้ำท่วม เพื่อมุ่งรักษาฐานเสียงของ ‘อัจฉรา’ ไว้ได้อย่างมั่นคง เรียกได้ว่า 4 อำเภอซีกตะวันออกของจังหวัดตากยากที่จะพ่ายแพ้

ทั้งนี้ ในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนตะวันตก อัจฉรายังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มต่าง ๆ เช่น ว่าที่ ร.ต.ประเสริฐ ปวงละคร นายกเทศมนตรีนครแม่สอด, อดีต ส.จ.อุ้มผาง จากสายฉัตรชัยลือนาม, และกลุ่มเก๊าใหม่ แซ่ย่าง อ.พบพระ พร้อมทั้ง ส.จ.ชัย นายจิรวัฒน์ มงคลจุฑาศรษฐ จากอำเภอแม่สอด ซึ่งทำให้ทีมของ ‘อัจฉรา’ ได้จัดตั้งแนวรับที่แข็งแกร่งในพื้นที่ตะวันตกของจังหวัดตาก

เช่นเดียวกันกับที่อนุชา กล่าวเพิ่มเติมไว้ว่า การมีเครือข่ายต่าง ๆ เช่น อสม. รวมทั้งการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้มากกว่านั้นก็เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้อัจฉราประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งฯ ครั้งนี้

ขณะเดียวกัน ฐานเสียงเองก็ถือว่ามีความสำคัญมากในการเลือกตั้งนายกอบจ. โดยอนุชามองว่า ระดับความเข้มข้นในการเลือกตั้งนายกอบจ.นั้นอาจมีไม่มากเท่ากับการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นระดับที่ใหญ่กว่า ดังนั้นการดึงผู้คนให้มารู้จักตัวผู้รับสมัครเลือกตั้งผ่านฐานเสียงซึ่งมาจากการสนับสนุนโดยเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันกับเหตุผลอื่นๆ ที่สนับสนุนให้อัจฉราชนะการเลือกตั้ง

3. จำนวนผู้ไปใช้สิทธิ์น้อยจากการไม่เห็นความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น และการไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญลำดับต้น ๆ เช่นเดียวกันกับการเลือกตั้งนายกอบจ.ในพื้นที่อื่นๆ โดยอนุชาได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ประเด็นนี้เกี่ยวข้องอย่างแน่นอนเนื่องจากหากมองในเรื่องของความคุ้มค่า การกลับไปเพื่อเลือกตั้งแค่อย่างเดียวอาจไม่คุ้มค่าเท่าไหร่นักสำหรับคนทำงานต่างจังหวัดหรือต่างอำเภอ

อย่างไรก็ดี แม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่การชนะในครั้งนี้ของอัจฉรา กลับถูกมองว่า ‘ไม่ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ’ โดยนักวิชาการให้ความเห็นว่า อัจฉรายังคงรักษาฐานเสียงเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทำให้ตากก็ยังคงเป็นขั้วเดิมที่ ‘อัจฉรา’ รองนายกอบจ.เก่าคว้าชัยชนะ

‘ภัทรพงษ์’ สส.พรรคประชาชน จี้รัฐบาลแพทองธาร หลังแถลง 90 วัน ไร้แผนรับมือฝุ่นพิษ

12 ธันวาคม 2567 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลงาน 90 วัน ในการทำงานของรัฐบาลแพทองธาร และมอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินในปีต่อไปภายใต้แคมเปญ “2568 โอกาสไทยทำได้จริง”

โดยผลงานที่แถลง ประกอบด้วย โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท, กฎหมายสมรสเท่าเทียม, แจกเงินชาวนา 1,000 บาท, พักหนี้เกษตรกร, ลดค่าน้ำ ค่าไฟ, รถไฟฟ้า 20 บาท, กระตุ้นท่องเที่ยวฟรีวีซา, แอ่วเหนือ 400 บาท, ตรึงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) อีก 1 ปี, บัตรประชาชนรักษาทุกที่

นอกจากนั้นยังระบุว่า นโยบายที่จะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในปี 2568 คือ การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว แก้ปัญหาอาชญากรรม-ปัญหายาเสพติด และเร่งนโยบายการแจกเงินดิจิทัล เฟส 2-3 จำนวน 10,000 บาท รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ การลดราคาพลังงาน และสาธารณูปโภค ไม่เพียงเท่านี้ รัฐบาลยังมุ่งยกระดับการทำเกษตรดั้งเดิมให้เป็นสมัยใหม่ และการขับเคลื่อนกองทุนหมู่บ้าน 

ภาพจาก Facebook Phattarapong Leelaphat – ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์

ด้าน ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ หรือ ‘สส.ตี๋’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เชียงใหม่เขต 8  พรรคประชาชน ได้ออกมาพูดถึง “แถลงผลงานที่ไม่มีผลงาน” 90 วันที่ไร้การเตรียมการรับมือ PM2.5 ของ รัฐบาลแพทองธาร ผ่าน Facebook Phattarapong Leelaphat – ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ในวันที่ 14 ธันวาคม 2567 โดยมองว่า รัฐบาลไม่มีมาตรการอย่างชัดเจน และนำเสนอมุมเดียวว่าลดพื้นที่เผาไหม้ในจังหวัดเชียงใหม่ได้ แต่กลับไม่พูดความจริงว่าพื้นที่เผาไหม้ทั้งประเทศนั้นเพิ่มขึ้น พร้อมยังบอกอีกว่าถ้ารัฐบาลมีเป้าหมายในการคืนสภาพอากาศที่ดีให้ประชาชนจริงๆ นายกฯ ควรต้องเปิดใจรับฟังมากกว่านี้ 

ในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 นั้น รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการและให้ความชัดเจนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้วางแผนล่วงหน้าตามมาตรการที่ชัดเจน แต่ผ่านมา 90 วัน รัฐบาลกลับไม่มีมาตรการใดๆ ที่ชัดเจนเลย และนายกฯ ยังเลือกที่จะนำเสนอข้อมูลในมุมเดียวที่ว่าสามารถลดพื้นที่เผาไหม้ในจังหวัดเชียงใหม่ลงได้ โดยไม่พูดประเด็นที่ว่า พื้นที่การเผาไหม้ในปี 2567 ของทั้งประเทศนั้นเพิ่มขึ้นจากปี 2566 และเป็นพื้นที่เผาไหม้การเกษตรกว่า 4 ล้านไร่

ทั้งนี้ สส.ภัทรพงษ์ มองว่า หากนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับสภาฯ และรับฟังมากกว่านี้ 90 วันที่ผ่านมาไม่มีทางสูญเปล่าแบบนี้ เพราะในวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลแพทองธาร ผมได้อภิปรายแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 อย่างชัดเจนทุกๆ ด้าน เป็นแผนปฏิบัติการอย่างชัดเจนว่าแต่ละเดือนต้องดำเนินการอะไรบ้าง นำเสนอภาพปัญหาการเผาไหม้ภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณในปี 2567 ของพืชที่มีการเผาไหม้หลักๆ 3 ชนิด คือ ข้าว อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ต้องมีการประกาศมาตรการล่วงหน้าเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการได้วางแผนปรับตัวได้ทัน แต่รัฐบาลกลับไม่ดำเนินการใดๆ เลย

(1) ข้าว รัฐบาลมีโครงการสนับสนุนชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ แต่กลับไม่มีการเพิ่มเงื่อนไขห้ามเผาเข้าไปในมาตรการนี้ ทั้งที่จะเป็นการเริ่มต้นเพิ่มแรงจูงใจ ลดการเผาไหม้ได้เป็นอย่างดี

(2) อ้อย ตอนนี้อ้อยเริ่มเปิดหีบแล้ว อ้อยเผาเข้าสู่โรงงานแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาบังคับใช้ นายกฯ กล่าวในการแถลงผลงานว่าต้องจริงจังมากขึ้นเรื่องการเผาอ้อย โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาลทราย แต่ถึงวันนี้ไม่มีการดำเนินการใดๆ สิ่งที่เห็นลางๆ มีเพียงสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่เสนอมาตรการสนับสนุนชาวสวนไร่อ้อยตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตันในการประชุม ครม.สัญจรเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน และขอให้รัฐบาลมีมติ ครม. ก่อนเปิดหีบอ้อยในฤดู 67/68 นี้ แต่รัฐบาลกลับนิ่งดูดาย และร่างระเบียบ กอน. ว่าด้วยการตัดและส่งอ้อยฯ ที่จะออกมาตรการปรับโรงงานที่รับอ้อยเผาต่อวันเกิน 25% 130 บาทต่อตัน ก็ยังอยู่ในชั้นรับฟังความคิดเห็น ทั้งๆที่อ้อยเปิดหีบกันไปแล้ว

(3) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นายกฯ ประกาศทุกครั้งว่าจะไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีที่มาจากการเผา แต่จนถึงวันนี้ยังเป็นเพียงคำพูดลอยๆ ไม่มีมาตรการใดออกมา ทั้งที่ตนชี้แนวทางชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรฐานบังคับข้าวโพดไม่เผาที่จะมีผลบังคับใช้ทั้งในประเทศและการนำเข้า ป้องกันปัญหาเรื่องการละเมิด National Treatment ปฏิบัติกับต่างประเทศอย่างไรก็ต้องปฏิบัติกับในประเทศอย่างนั้น แล้วออกหลักเกณฑ์การตรวจสอบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลอดห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิตอาหารสัตว์ หลังจากนั้นจึงออกประกาศนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบปลอดภาษีให้สอดคล้องกัน โดยให้มีการระบุ Geo-location ของแปลงเพาะปลูกเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ หรือการใช้ข้อยกเว้นการค้าเสรีของ WTO ข้อ B และ G ตนก็เคยเสนอไปแล้วในการอภิปรายทั่วไปเมื่อเดือนเมษายน 2567 เช่นกัน แต่ทั้งหมดนี้นายกฯ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร

ไม่ใช่เพียงภาคเกษตรเท่านั้นที่เราต้องเร่งดำเนินการ ภาคป่าไม้ก็ถูกเพิกเฉยไม่แพ้กัน โดยเฉพาะพื้นที่ป่าสงวนที่รัฐบาลตัดงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าภาพหลักในการดับไฟป่าในเขตป่าสงวน จาก อบต. ทั้งหมด 1,801 แห่ง ปัจจุบันได้งบประมาณเพียง 90 แห่งเท่านั้น ​

และสุดท้ายที่นายกฯ ได้พูดไว้ว่า จะคืนสุขภาพที่ดีให้ประชาชนคนไทยทุกคน แต่จนถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่มีมาตรการป้องกันหรือเฝ้าระวังโรคมะเร็งปอดจากปัญหา PM2.5 ทั้งที่ตนได้อภิปรายนำเสนอไปหลายต่อหลายครั้งว่าให้ทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยโรคที่ต้องเฝ้าระวังจาก PM2.5 ให้เพิ่มโรคมะเร็งปอดเข้าไปด้วย และเพิ่มสิทธิการตรวจมะเร็งปอดแบบ Low dose CT scan ให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบค่าฝุ่น PM2.5 มาเป็นเวลานาน

ทั้งหมดนี้หากรัฐบาลเปิดใจรับฟังและนำไปดำเนินการ วันนี้นายกฯ แพทองธารคงมีผลงานรัฐบาล 90 วันให้แถลงจริงๆ ไม่ใช่แค่จัดงานแถลงโดยไม่มีผลงาน เพื่อหนีการตอบกระทู้ในสภาแบบเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา