การเลือกตั้งนายก อบจ. ปี 2568 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันนี้ ถือเป็นอีกสถานการณ์สำคัญที่น่าจับตามอง เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้สามารถสะท้อนมุมมองของสังคมได้ในหลายด้านและยังทำให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการเมืองท้องถิ่นในอนาคตได้
‘Lanner’ สัมภาษณ์ ดร.วีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ถึงความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดพิจิตร โดยเขาได้อธิบายว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญต่อประชาธิปไตย เพราะเป็นรากฐานของการใช้อำนาจของประชาชน ซึ่งสามารถเลือกผู้บริหารและตัวแทนนิติบัญญัติของท้องถิ่นได้โดยตรง ทำให้การตัดสินใจสะท้อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างชัดเจน แตกต่างจากการเลือกตั้งระดับชาติที่มีลักษณะคล้าย “กล่องสุ่ม” เพราะประชาชนเลือกเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ว่าจะได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี
วีระอธิบายอีกว่า การวางรากฐานประเทศและพฤติกรรมของประชาชนในการเลือกตั้งสามารถสะท้อนจากการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ชัดเจนกว่าระดับชาติ เนื่องจากการเลือกตั้งระดับชาติในบางครั้งอาจได้รับอิทธิพลจากกระแสหรือโฆษณาโจมตีฝ่ายตรงข้ามในช่วงสุดท้าย ทำให้เกิด “สวิงโหวต” ได้ แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นการเลือกผู้นำที่ประชาชนในพื้นที่สามารถตัดสินใจได้โดยตรง ซึ่งประชาชนจะมุ่งเน้นไปยังผู้ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่นั้นๆ เช่น การนำงบประมาณมาพัฒนา สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก หรือแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้กับประชาชนได้
ทั้งนี้ วีระยังมองว่า สื่อกระแสหลัก เช่น ช่อง 3, 5, 7, และ 9 มักให้ความสนใจกับการเลือกตั้งระดับชาติมากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ ก็ถือว่ามีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีพรรคการเมืองระดับชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น พรรคเพื่อไทยที่ใช้กระแสของทักษิณ และพรรคก้าวไกลที่เน้นอุดมการณ์การเปลี่ยนแปลง สิ่งนี้ทำให้การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมีความสำคัญยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะมีผู้สมัครอิสระแล้ว ยังมีกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองระดับชาติด้วย ซึ่งส่งผลให้การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้เข้มข้นและมีความสำคัญอย่างมาก
หากต้องการเข้าใจพิจิตร ควรเริ่มจากการเข้าใจภูมิภาคเหนือตอนล่าง
การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในจังหวัดพิจิตรครั้งนี้ มีแนวโน้มที่น่าสนใจในเชิงการแข่งขัน แต่ยังคงอยู่ในกรอบของการเมืองแบบเดิม วีระกล่าวว่า หากต้องการเข้าใจพิจิตร ควรเริ่มจากการเข้าใจภูมิภาคเหนือตอนล่างที่เป็นเพื่อนบ้าน ได้แก่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และกำแพงเพชร พื้นที่เหล่านี้มีลักษณะความผูกพันกับ “บ้านใหญ่” แต่ไม่ได้เป็นการผูกขาดที่ชัดเจน ซึ่งส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่บ้านใหญ่หรือกลุ่มการเมืองในพื้นที่เดียวกันสามารถแบ่งออกมาแข่งขันกันเองได้
ตัวอย่างสถานการณ์การเลือกตั้งนายก อบจ. ในพิจิตร ที่สมัยก่อนหน้านี้มีผู้ชนะการเลือกตั้งคือ พ.ต.อ. กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ อดีตนายก อบจ. พิจิตร ตัวแทนจากบ้านใหญ่ตระกูลภัทรประสิทธิ์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากพี่ชายอย่าง นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร 4 สมัย และยังเคยมีบทบาทร่วมกับพรรคภูมิใจไทย แต่แล้วทั้งคู่ก็มีปัญหาภายในจน พ.ต.อ. กฤษฎา ได้แยกตัวออกไปร่วมกับพรรคอื่นในการเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งนี้แทน และนายประดิษฐ์เองก็ได้หันมาสนับสนุนลูกชายของน้องสาวอย่าง นายกฤษฏ์ เพ็ญสุภา อดีตผู้ช่วยเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ ในการลงสมัครเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งนี้ การแข่งขันนี้แสดงให้เห็นถึงการพยายามครอบครองพื้นที่การเมืองระดับจังหวัดอย่างชัดเจน
ทางเลือกที่สาม โอกาสสู่การเมืองท้องถิ่นยุคใหม่
ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง การเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงอยู่ภายใต้การเมืองแบบดั้งเดิมที่พึ่งพาการทำงานระดับพื้นที่และการคุมคะแนนเสียงในท้องถิ่น และด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างผู้เล่นหลักทั้งสองฝ่ายนี้ เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มี “ทางเลือกที่สาม” ให้ประชาชนได้พิจารณาเพิ่มเติม เพราะอาจช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนได้เลือกสิ่งที่แตกต่างจากตัวเลือกเดิมๆ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง พอตอนนี้เหลือแค่สองทางเลือก ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นเดียวกับ จังหวัดกำแพงเพชร ที่มีอัตราการไปใช้สิทธิ์เพียงประมาณ 38-40% วีระยกตัวอย่างว่า หากเขาเป็นคนพิจิตรที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แล้วเห็นแคนดิเดตแค่ 2 คนแบบนี้ก็คงไม่กลับแล้วเพราะว่าไม่ว่าได้ใครมาก็คงอีหรอบเดิม
“ความแตกต่างของการเมืองท้องถิ่นในโซนภาคเหนือตอนล่างจะต่างจากเหนือบนตรงที่ เหนือบนเช่น เชียงรายหรือเชียงใหม่ที่มีตระกูลหลักผูกขาด แต่ที่เหนือล่าง กลุ่มบ้านใหญ่มีโอกาสแข่งขันกันเอง และบ้านรองที่พร้อมจะแข่งขันกันด้วย หากพื้นที่ไหนมีบ้านใหญ่บ้านเดียว ก็อาจแตกออกเป็นสองสายเหมือนกรณีพิจิตร ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันในระดับพื้นที่ว่าจะได้ใครเป็นตัวแทน แต่ว่าความเข้มข้นในเชิงอุดมการณ์ก็ยังมีไม่มาก หรือเคยมีแล้วถดถอยลงไป ซึ่งสะท้อนผ่านการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งท้องถิ่นใน 29 จังหวัดที่จัดการเลือกตั้งไปแล้ว พบว่าแทบไม่มีจังหวัดไหนที่มีผู้มาใช้สิทธิ์เกิน 50% เลย”
ทั้งนี้วีระยังได้กล่าวถึงประเด็นการเลือกตั้งในระดับต่างๆ โดยเปรียบเทียบพฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ระบุว่า การเลือกตั้งระดับชาติแม้จะมีผู้มาใช้สิทธิถึง 75% แต่ยังมีผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิถึง 25% ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นเพียงการไม่กลับมาเลือกตั้ง แต่ยังรวมถึงคนที่ไม่สนใจออกมาใช้สิทธิด้วย ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากการไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าเท่านั้น แต่สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างในลักษณะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ที่มักจะมุ่งเน้นการเลือกตัวบุคคลมากกว่าอุดมการณ์เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในพื้นที่
การเลือกตั้งระดับชาติ มีเขตเลือกตั้งที่ขนาดเล็กกว่า จากการแบ่งจังหวัดออกเป็นหลายเขต แต่ในการเลือกตั้งท้องถิ่น อย่างการเลือกตั้งนายก อบจ. เขตเลือกตั้งมีขนาดใหญ่มากกว่า ซึ่งทำให้ต้องอาศัยการสร้างพันธมิตรระหว่างกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ จนเกิดเป็นพันธมิตรชั่วคราวขึ้น การแข่งขันในระดับนี้จึงมีความได้เปรียบสำหรับผู้ที่คร่ำหวอดในวงการการเมืองท้องถิ่นมากกว่าผู้สมัครที่เน้นอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นหลัก
“ในการเลือกตั้งท้องถิ่น มีความน่าสนใจตรงที่เวลาเราเลือกผู้นำในท้องถิ่น คนที่ได้มาอาจจะพัฒนาท้องถิ่นหรือสร้างประโยชน์ในพื้นที่ แต่ในเมืองรองที่ไม่มีโรงงาน ไม่มีอุตสาหกรรม หรือโอกาสงานเอกชน คนในพื้นที่เหล่านี้มักจะย้ายไปทำงานในเมืองใหญ่ เช่น ชลบุรี ระยอง หรือกรุงเทพฯ และปริมณฑล พวกเขามองว่า ต่อให้ทะเบียนบ้านอยู่ในต่างจังหวัด การกลับมาเลือกตั้งก็ไม่มีผลกระทบอะไรต่อตัวเขา เพราะสุดท้ายก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ และนักการเมืองที่เขาเลือกก็ยังคงทำงานในพื้นที่ที่เขาไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว นี่จึงเป็นสาเหตุให้หลายคนเลือกที่จะไม่กลับมาเลือกตั้งท้องถิ่น แต่กลับมาเฉพาะระดับชาติแทน เพราะระดับชาติยังมีผลต่อพวกเขามากกว่า”
การตัดสินใจเลือกตั้งของคนในแต่ละพื้นที่มักมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องออกไปทำงานหรือเรียนในพื้นที่อื่น เมื่อเทียบกับคนที่ยังคงอาศัยอยู่ในท้องถิ่น เช่น ผู้สูงอายุ และคนทำงานในภาคเกษตรกรรม กลุ่มคนเหล่านี้มักมีพฤติกรรมการเลือกตั้งที่แตกต่างจากกลุ่มชนชั้นกลางที่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนหรืองานรับจ้างทั่วไป ทำให้นักการเมืองคนไหนก็ตามที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุ และคนทำงานในภาคเกษตรกรรมได้จะมีความได้เปรียบในการเลือกตั้งท้องถิ่นสูง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่ใน 29 จังหวัด หาเสียงโดยใช้นโยบายที่เจาะกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น การให้บริการโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือสถานพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อย่างการฟอกไตในจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น นโยบายเหล่านี้ดึงดูดผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ย้ายถิ่นฐานไปไหน ต่างจากลูกหลานที่ย้ายออกไปทำงานในเมืองใหญ่ นักการเมืองจึงมุ่งเน้นนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของผู้ที่ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเลือกตั้ง
ถึงแม้ว่าหลังการเลือกตั้ง มักมีคำถามจากบางกลุ่มว่าเหตุใดผู้คนจึงไม่เลือกตัวเลือกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือการพัฒนาใหญ่ๆ คำตอบก็คือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางส่วนไม่มองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในขณะนั้น ทำให้นโยบายที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของกลุ่มคนในพื้นที่ยังคงเป็นสิ่งที่มีน้ำหนักมากกว่าในการตัดสินใจเลือกตั้ง
“กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นสามารถจับทางได้ดีในการเจาะกลุ่มผู้สูงอายุและคนทำงานในภาคเกษตรกรรม ซึ่งกลุ่มนี้เป็นฐานหลักของการเลือกตั้งท้องถิ่น คิดเป็นสัดส่วนผู้ใช้สิทธิประมาณ 40% ในแต่ละครั้ง การเลือกตั้งของกลุ่มคนเหล่านี้แตกต่างจากชนชั้นกลางในเมืองที่มักตัดสินใจเลือกตั้งในฐานะปัจเจกบุคคล แต่ในชนบทคนในเครือข่ายจะเลือกตั้งโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ และการช่วยเหลือในเครือข่ายเป็นหลัก นักการเมืองท้องถิ่นที่มักมุ่งดูแล และสร้างเครือข่ายเหล่านี้ให้แน่นแฟ้น โดยใช้วิธีการที่เรียกว่า จักรกลการเมือง ในการดึงคะแนนเสียง วิธีการนี้ทำให้สามารถคาดการณ์จำนวนคะแนนเสียงจากแต่ละหมู่บ้านและตำบลได้อย่างแม่นยำ รวมถึงวางแผนเจาะกลุ่มคะแนนเสียงจากพื้นที่เป้าหมายได้อย่างเป็นระบบ แม้ว่าลักษณะการเมืองเช่นนี้จะสะท้อนถึงความเป็นการเมืองแบบดั้งเดิมแต่มันไม่ใช่เก่าแบบเดิม”
อย่างไรก็ตาม การกล่าวโทษว่าการเลือกตั้งในท้องถิ่น ใช้เงินเป็นปัจจัยหลักในการชนะนั้น วีระชี้ว่าถือเป็นการมองปัญหาที่ผิวเผิน เพราะปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ วิธีมองประโยชน์ที่จะได้รับหลังการเลือกตั้งของประชาชน เพราะหากประชาชนมองว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น น้ำประปาสะอาด เป็นสิ่งสำคัญ และมีค่ามากกว่าจำนวนเงินที่ได้รับ ก็จะเลือกตามความคาดหวังนั้น แต่หากสิ่งเหล่านี้มีมูลค่าในสายตาพวกเขาน้อยกว่าเงิน 500, 800 หรือ 1,000 บาท ก็ยากที่จะโทษประชาชนได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ผู้สมัครได้เสนอมานั้น ไม่สามารถตอบโจทย์หรือดึงดูดพวกเขาได้มากพอ
“การมองว่าคนในชนบทหรือผู้สูงอายุเลือกตั้งด้วยเงินนั้นไม่ถูกต้องเสียทีเดียว หรือหากเป็นจริง อย่างน้อยก็ยังมีเหตุผลที่ชัดเจนกว่าการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ที่บางครั้งถูกชี้นำด้วยอารมณ์ และการปลุกกระแส ตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีกรณีที่การเผาป้ายหาเสียงในช่วงอาทิตย์สุดท้ายส่งผลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเปลี่ยนใจจากพรรคหนึ่งไปอีกพรรคหนึ่ง โดยไม่มีเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายหรือประโยชน์ที่แท้จริง ซึ่งสิ่งนี้อาจแย่กว่าการเลือกตั้งที่มีการใช้เงินด้วยซ้ำ เพราะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ที่จะได้รับหลังการเลือกตั้งเลย”