Home Blog Page 10

‘สูงวัยล้นหลาม’ ภาคเหนือเผชิญวิกฤตสังคมสูงวัย Complete-Aged Society

‘การสูงวัยของประชากร’ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเป็นประเด็นที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ กำลังให้ความสนใจ ในขณะที่ประชากรโลกกำลังเพิ่มช้าลง จำนวนและสัดส่วนของประชากรสูงอายุกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ขณะที่ประชากรไทยโดยรวมมีอัตราลดลง แต่ในทางกลับกันประชากรผู้สูงอายุกลับมีอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยดัชนีการสูงอายุของไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 82.6 ในปี 2557 เป็น 97 ในปี 2560 จนกระทั่งมีค่าเกิน 100 ในปี 2565 ซึ่งหมายถึงการมีจำนวนประชากรสูงอายุมากกว่าจำนวนประชากรวัยเด็ก

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลสถิติผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ พบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 13,064,929 คน หรือ 20.8% ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรไทยรวมทั้งประเทศ 65,061,190 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสููงอายุุอย่างสมบูรณ์ หรือ Complete-Aged Society (มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ) และคาดว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว (Super-aged society) ในปี 2583

สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อสำรวจลึกลงไปจะพบว่า แม้จำนวนผู้สูงอายุโดยรวมของภาคเหนือจะอยู่อันดับ 3 ของประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่น ๆ แต่ภาคเหนือกลับมีสัดส่วนผู้สูงอายุเทียบกับประชากรสูงที่สุดในประเทศ โดยในปี 2566 ภาคเหนือมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 2,674,301 คน คิดเป็น 23.39% ของจำนวนประชากรภาคเหนือทั้งหมด โดยจังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุสูงที่สุดคือ จังหวัดเชียงใหม่ 393,733 คน คิดเป็น 24.08% ของจำนวนประชากรจังหวัด รองลงมาคือ เชียงราย 271,888 คน (23.34%) และนครสวรรค์ 240,605 คน (23.59%) ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ เพชรบูรณ์ 204,676 คน (21.2%) ลำปาง 198,510 คน (28.01%)  พิษณุโลก 187,817 คน (22.36%) กำแพงเพชร 146,593 คน (20.84%) สุโขทัย 138,336 คน (23.97%) พิจิตร 124,302 คน (23.85%) พะเยา 118,978 คน (26.11%) แพร่ 116,898 คน (27.46%) น่าน 112,842 คน (23.96%) อุตรดิตถ์ 109,451 คน (24.96%) ลำพูน 108,205 คน (27.37%) ตาก 89,108 คน  (16.24%) อุทัยธานี 73,501 คน (22.84%) แม่ฮ่องสอน 38,858 คน (16.02%) ตัวเลขที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่า ภาคเหนือเองก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคม Complete-Aged Society แล้วเช่นกัน

บทบาทภาครัฐและข้อเสนอต่อการรับมือสังคมผู้สูงอายุ

ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา ‘ประเด็นผู้สูงอายุ’ กลายเป็นนโยบายระดับรัฐบาลครั้งแรกที่มีบทบัญญัติไว้ว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ จากนั้นมาก็มีการออกกฎหมาย นโยบาย และแผนงานต่าง ๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง อาทิ แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (2525-2544) ปฏิญญาผู้สูงอายุไทย 2542 แผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ 2546 (ฉบับแก้ไข 2553) และแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (2566-2580) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการวางแผนรับมือปัญหาผู้สูงอายุมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี แต่ประเทศไทยเองก็ยังเผชิญกับความท้าทายในการดูแลผู้สูงอายุจำนวนมากที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผ่านมา 

เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัยภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้แก่ เครือข่ายพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย และโครงการส่งเสริมพัฒนาการจัดการข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม เพื่อการเผยแพร่สาธารณะรองรับสังคมสูงวัย จึงได้ให้ข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุที่ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อรับมือต่อโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายประการ ได้แก่ 1. การปฏิรูปเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เดิมมีลักษณะเป็นเงินสงเคราะห์จากรัฐ ให้กลายเป็น ‘เงินบำนาญพื้นฐาน’ จำนวน 3,000 บาทต่อเดือนต่อคน 2. การสร้างหลักประกันรายได้ และส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานสูงวัย ให้มีการจ้างงานที่ยืดหยุ่น โดยภาครัฐเป็นหน่วยงานนำร่องในการจ้างงานผู้สูงอายุ 3. การปฏิรูประบบดูแลผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ และพัฒนาระบบการจัดการที่เป็นศูนย์บริการกลางสำหรับผู้สูงอายุ ‘1 ตำบล 1 ศูนย์บริการ’ 3. การปฏิรูปบทบาทขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มีขอบเขตที่ชัดเจน และทำงานได้อย่างเป็นเอกภาพ เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุในท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 4. การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อคนทุกกลุ่ม ทั้งสถานที่ส่วนบุคคล สถานที่สาธารณะ และระบบขนส่งสาธารณะ ให้มีสภาพเหมาะสมต่อการเดินทางสำหรับคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการ เพื่อให้เกิดลักษณะ ‘อยู่ดี’ ภายใต้หลักการออกแบบเพื่อมวลชน (universal design) และ 6. การสร้างเสริมศักยภาพผู้สูงอายุเท่าทันเทคโนโลยี และเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในยุคนี้ได้

ขณะเดียวกัน ศ. ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งวิจัยในประเด็นสังคมสูงวัยมาอย่างยาวนาน ก็ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิ่งที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อเตรียมความพร้อมรับสังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวไว้ ดังนี้

ประเด็นแรก ภาครัฐควรมีกลไกหรือพื้นที่เพื่อแสวงหาจุดที่ลงตัวในการกำหนดทิศทางของนโยบายการคุ้มครองทางสังคม นโยบายบำนาญ หรือนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจน 

ประเด็นที่สอง ภาครัฐควรผลักดันให้มีคณะกรรมการบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการประสานระบบอันหลากหลายของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ประสานนโยบายต่าง ๆ ในภาพรวมให้เกิดความสอดคล้องระหว่างกัน อาทิ หลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพสำหรับผู้สูงอายุไทย นโยบายบำนาญ และการออมเพื่อยามชราภาพ เป็นต้น รวมทั้งทำหน้าที่เชิงวิชาการและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรในอนาคต

ประเด็นที่สาม การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุผ่านแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุระยะที่ 3 ทั้งส่วนที่เป็นแผนระยะยาวและระยะปานกลาง ผ่านการเชื่อมโยงมิติของพื้นที่เข้ากับภาพของผู้สูงอายุที่กำหนดไว้ในแผนฯ ภายใต้แนวคิดการสูงวัยในถิ่นเดิม “ผู้สูงอายุทุกคนที่อาศัยในถิ่นที่อยู่ใด ๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม”

นอกจากนี้ เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมรับมือกับสังคมสูงวัยอย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐควรผลักดันท้องถิ่นด้านการเตรียมการรองรับสังคมสูงวัย โดยสิ่งที่สามารถทำได้ทันทีในระยะสั้นคือ การทำให้บทบาทหน้าที่ของ อปท. ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้ง “การส่งเสริมการพัฒนาผู้สูงอายุ” ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งสามารถดำเนินการผ่านกลไกคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติได้

อ้างอิง

Lanner Joy: ‘ลำลอง’ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยาก ‘ลองทำดู’ ให้บ้านที่ชื่อว่า ‘ลำปาง’ มีทางเลือกมากกว่าเดิม

เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น

ภาพ : ลำลอง – lamlong

เพิ่งผ่านพ้นไปหนึ่งสัปดาห์เต็ม ๆ กับ “เปิดม่านศรีชุม” ที่จัดไปแล้วเมื่อ 14 – 15 กันยายน 2567 ซึ่งกิจกรรมนี้เองเป็นส่วนหนึ่งของ “เปิดม่านเมืองลำปาง” โดยความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และเทศบาลนครลำปาง กลุ่มลำลอง และชุมชนวัดศรีชุม เพื่อชักชวนผู้คนมาร่วมกันเรียนรู้เกี่ยวกับ “ม่าน” อัตลักษณ์ที่สำคัญในจังหวัดลำปาง และทำให้เห็นว่าทุกคน ก็สามารถมีส่วนร่วมในงานสร้างสรรค์ได้ ไม่ว่ารูปแบบไหนก็ตาม

‘ม่าน’ หรือ “มล่าน” ในภาษาล้านนา หมายถึง พม่าหรือสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาในปัจจุบัน ซึ่งพม่ามีความผูกพันทางประวัติศาสตร์กับอาณาจักรล้านนามาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะจังหวัดลำปางซึ่งเป็นที่ตั้งรกรากของชาวพม่าที่เข้ามาเป็นแรงงาน รวมถึงทำการค้าไม้ในสมัยที่ลำปางเป็นศูนย์กลางการค้าไม้ที่รุ่งเรือง และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ปรากฎให้เห็นต่อมาได้อย่างชัดเจน ผ่านสถาปัตยกรรมวัดพม่าและสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่ได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งที่น่าสนใจของจังหวัดลำปางจนถึงปัจจุบัน 

ส่วน “วัดศรีชุม” เป็นวัดพม่าที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาวัดพม่าที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 31 แห่ง ตั้งอยู่บนถนนทิพย์วรรณ ตำบลสวนดอก อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2433 โดยคหบดีพม่าชื่อ อูโย ซึ่งติดตามชาวอังกฤษเข้ามาทำงานป่าไม้ในประเทศไทย ด้วยความเชื่อของคนพม่า เมื่อมีฐานะขึ้นมาจะต้องทำบุญด้วยการสร้างวัด จึงเป็นที่มาของการสร้างวัดศรีชุมแห่งนี้ขึ้น วัดศรีชุมได้รับการจดทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2524 และในปี พ.ศ. 2567 นี้ ลำลอง ได้พาทุกคนกลับไปสำรวจวัดศรีชุมอย่างละเอียดอีกครั้ง และร่วมจัดแสง-สีที่จะส่องสว่างให้เห็นถึงความสวยงามของประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่ผสมกลมกลืนระหว่างล้านนาและพม่าเข้าด้วยกัน แน่นอนว่านี่เป็นการโคจรมาเจอกันของความเก่ากับความใหม่ที่ลงตัว แต่ก็มีรายละเอียดที่แฝงอยู่ในนั้นมากกว่าแค่กิจกรรม แต่มันคือจังหวะที่ค่อย ๆ เติมเต็มเพื่อเชื่อมโยงผู้คนมาเปลี่ยนลำปางไปด้วยกัน

Lanner JOY เลยถือโอกาสนัดคุยกันเบา ๆ กับสมาชิกของลำลองทั้ง 3 คน คือ ก้าว-สรวิชญ์ หงษ์พาเวียน กิ๊ฟ-ญาณินท์ จอมวงศ์ และ ฟาง-พุทธรักษ์ สุทธดุก กลุ่มคนรุ่นใหม่ในลำปาง ซึ่งเป็นเบื้องหลังสำคัญในงานเปิดม่านเมืองลำปาง อีกทั้งยังเป็นคลื่นลูกใหม่ในการสร้างสรรค์กิจกรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนทุกช่วงวัยในลำปาง

ก่อนที่จะมาเป็นลำลอง ที่ผ่านมาแต่ละคนทำอะไรกันมาบ้าง

กิ๊ฟ : ก่อนหน้านี้เป็นกราฟิกดีไซน์อยู่ที่กรุงเทพฯ แต่พอโควิดระบาดทำให้เราจำเป็นต้องกลับบ้านที่ลำปาง ก่อนหน้านี้ยังไม่มีความคิดว่าจะกลับมาอยู่ลำปางเลย ด้วยความที่ว่าเราทำงานด้านกราฟิกออกแบบ เราไม่เห็นว่าบ้านตัวเองจะมีงานอะไรที่เราทำได้ ไม่มีงานรองรับกับทักษะของเรา

ฟาง : ฟางก็คล้ายกับกิ๊ฟนะ แต่ฟางทำงานที่เชียงใหม่มา แต่ช่วงโควิดก็ต้องกลับมาดูแลครอบครัวที่ลำปาง พอกลับมาก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรให้เราทำ เคว้งอยู่สักพัก เพราะลำปางเป็นเมืองเล็ก ๆ เงียบ ๆ และรู้สักว่ายังไม่มีพื้นที่สำหรับเรา

ก้าว : ตอนแรกที่กลับมาบ้านที่ลำปางไม่ได้ตั้งใจมาทำสื่อ แต่พออยู่ไปอยู่มากลายเป็นว่าเราเข้าไปอยู่ในชุมชนและได้ทำงานช่วยเหลือพัฒนาชุมชน จนได้มีโปรเจกต์ของ ThaiPBS ที่ให้ทำคลิปวิดีโอในชุมชนสั้น ๆ หลังจากงานนั้นทำให้ได้เริ่มทำงานสื่อทั่วลำปาง และได้ขยายเครือข่ายมากขึ้น เลยได้อยู่ลำปางยาว ๆ

แล้วมารวมกันเป็น ‘ลำลอง’ ได้ไง

กิ๊ฟ : พวกเราเริ่มต้นมาจากการเป็นเพื่อนกันมาก่อน เรียนอยู่ลําปางกัลยาณีเหมือนกัน และยังได้ทำคณะกรรมการนักเรียนร่วมกัน เรื่องสมัยเด็กมาก (ฮา) พอได้กลับมาลำปางอีกครั้งและเห็นว่าเพื่อนเราก็กลับมานี่หว่า ทำให้ได้มาคุยกันว่ามาหาอะไรทำกันเหอะ มันเลยเข้ากันได้ง่ายเพราะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ซึ่งเรารวมตัวกันเพราะเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คืออยากจะทำอะไรใหม่ ๆ  แบบว่าอยากทำให้ลำปางมันส่งเสียงได้ดังขึ้นก็ที่เป็น จากเดิมที่เป็นเมืองเงียบ ๆ ซึ่งตอนแรกเราวางลำลองไว้แค่ว่าเป็นสื่อนำทางให้ว่ามีกิจกรรมอะไร ตรงไหนในลำปางบ้าง แต่พอได้ทำงานที่เป็นโปรเจกต์ ‘Spark U ล้านนา’ ที่เป็นการออกแบบพื้นที่เรียนรู้ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้ทำงานสื่อและจัดอีเว้นท์ในลำปางค่ะ

แล้ว ‘ลำปาง’ มันเป็นยังไงสำหรับลำลอง?

กิ๊ฟ : สำหรับเราที่เคยไปทำงานในเมืองใหญ่ เวลาที่ได้กลับมาลำปางก็เหมือนการได้พักผ่อน แต่เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าสำหรับคนที่อยู่ที่นี่อยู่แล้ว มันดูเป็นการพักผ่อนเกินไปหรือเปล่า ทุกอย่างดูดำเนินไปอย่างช้า ๆ พอเราเริ่มอยู่นานขึ้นเราก็เกิดคำถามว่า แล้วเราจะอยู่ได้ยังไง

ฟาง : ใช่ ๆ พอเราได้กลับมาพักพอถึงจุดหนึ่งแล้ว เราก็ต้องหาอะไรทำต่อ เราไม่สามารถช้าไปกับเมืองได้ตลอด เราเลยต้องหาอะไรทำที่มันตอบโจทย์เราก่อน

กิ๊ฟ : ลำปางแทบไม่มีอะไรให้เราทำ เป็นเมืองเงียบ ๆ และรู้สักว่ายังไม่มีพื้นที่สำหรับพวกเรา ตอนแรกที่เรามาเจอกับก้าวเรารู้สึกว่าเราไม่รู้ข่าวสารอะไรในบ้านเราเลย มีอะไรเกิดขึ้นที่ไหน มีคนกลุ่มไหนอยู่ในลำปางบ้าง

เล่าให้ฟังหน่อยสิ ว่าช่วงแรก ๆ เป็นยังไงบ้าง 

กิ๊ฟ : ช่วงแรกที่เราเริ่มทำ พบว่าเขาจะรู้กันเองว่ามีการจัดกิจกรรมที่ไหนบ้าง แต่ที่เราสังเกตได้คือส่วนใหญ่จะเป็นงานของผู้ใหญ่ เช่น หน่วยงานของรัฐ กลุ่มข้าราชการ หรือหากจะเป็นงานเฉพาะกลุ่มก็จะมีแต่เพียงสมาชิกเท่านั้น ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปเข้าร่วม พอเราเป็นเด็กรุ่นใหม่ก็เลยมีความรู้สึกว่าไม่เป็นส่วนร่วมของกิจกรรมนั้น ๆ

บางงานผู้ใหญ่เขาก็มองว่าเขามีคนของเขามาเข้าร่วมอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีเด็ก ๆ หรือใคร ๆ มาร่วมงานก็ได้ หรือบางทีอาจมีความคิดที่ว่าเด็กอาจจะไม่ชอบกิจกรรมของผู้ใหญ่ งานผู้ใหญ่มันน่าเบื่อ มันเลยทำให้คนสองช่วงวัยห่างกันมากขึ้นและเมืองก็เงียบกว่าเดิม

ภาพนิทรรศการเดินเมืองถ่ายรูปเล่น

ก้าว : พอเราทำงานกับเพื่อน ๆ เราก็อยากจัดกิจกรรมที่รู้สึกสนุกไปกับมัน แต่บางทีการมีส่วนร่วมในคน Generation ของเรามันไม่ค่อยมีที่ทาง ไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวยังไงในกิจกรรมที่จัดขึ้น เราก็เลยออกแบบกิจกรรมที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และสามารถให้คนทุกช่วงวัยมามีส่วนร่วมด้วยกันได้ อย่างปีแรกที่ก้าวกลับมาช่วงประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหรี ในชุมชนท่ามะโอ (อำเภอเมืองลำปาง) พบว่าปีนั้นคนเยอะมาก พอปีถัดมาคนเริ่มลดลง ที่ลดลงเป็นเพราะผู้สูงอายุเริ่มเสียชีวิต เด็ก ๆ ก็เริ่มไม่มากัน ยิ่งปีที่มีโควิดก็ต้องงดจัด พอช่วงหลังโควิดก็ไม่มีคนมาร่วมเยอะ เราเลยต้องดึงคนในทุกช่วงวัยให้สามารถร่วมกิจกรรมของเราได้ ซึ่งเรารู้สึกว่าเราโหยหาการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างแหละ แต่จะทำอย่างไรให้คนรุ่นอื่นไม่ตกใจกับการเปลี่ยนแปลงมากเกินไป และการที่ได้มาทำงานกับผู้ใหญ่ในชุมชน บางทีดื้อกับผู้ใหญ่บ้างก็ได้นะ แต่การที่เราดื้อเราก็มีเป้าหมายคืออยากให้บ้านของเราน่าอยู่เหมือนกัน

ช่วงที่ผ่านมาเห็นบทความ ทำไมคน (ลำปาง) ไม่กลับบ้าน? ในเพจของลำลองเอง เลยอยากรู้ว่าในมุมของลำลองตอนนี้คิดว่าลำปางจะดีขึ้นหรือมีทางเลือกได้มากกว่านี้ไหม

ก้าว : ลำปางมันไม่ได้เป็นเมืองที่พร้อมให้เราเติบโต ถ้าเราไม่มีดินที่ดี บ้านที่อบอุ่น หรือมีสังคมที่ดีอยู่แล้ว ซึ่งต้องใช้ทุนค่อนข้างมากหากเทียบกับเมืองใหญ่ อย่างเช่นถ้าก้าวจะมารับจ้างล้างจานร้านก๋วยเตี๋ยวในลำปาง ก้าวจะต้องเจอกับค่าแรงที่ต่ำ และยังต้องเจอกับค่าใช้จ่ายแอบแฝงในเรื่องการเดินทางและอีกมาก หมายความว่าหากเด็กรุ่นใหม่จะกลับมาอยู่ลำปาง เมืองมันไม่ได้เอื้อให้คนรุ่นใหม่กลับมาตั้งต้นได้เลย ยกเว้นแต่จะกลับรับข้าราชการ แต่ถ้าเรามองการขับเคลื่อนเมืองในอนาคต เมืองที่มีแต่ข้าราชการมันคงไม่ตอบโจทย์กับภาคอุตสาหกรรมหรือการบริการ ทำให้ในมุมก้าวมองว่าลำปางยังเป็นเมืองที่ไร้ทิศทางอยู่

กิ๊ฟ : เราว่ามันไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่ามันจะดีขึ้นได้มากกว่านี้มั้ย และเรายังรู้สึกว่าการพัฒนาหลาย ๆ อย่างยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเร็ว ๆ นี้ อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะในการให้ลำปาง สามารถรองรับให้คนกลับบ้านมาทำงานได้ ในส่วนคนที่จะช่วยในเรื่องนี้ได้อย่างภาครัฐ ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องนี้ว่าจะต้องเปลี่ยนอย่างไรบ้าง ซึ่งหากยังไม่เข้าใจเมืองมันก็จะเดินไปช้า ๆ แบบนี้ แต่การทำลำลองนั้นก็เหมือนเป็นการแสดงให้เห็นว่ายังมีคนที่สนใจและอยากจะทำให้เมืองมันเปลี่ยนไปนะ มันต้องไม่เหมือนเดิมแบบที่เป็น ถือว่าตอนนี้เริ่มมีความหวังมากขึ้น ไม่มากก็น้อย

แล้วสิ่งที่ทำแล้วประทับใจ มีอะไรบ้าง

ก้าว : ก่อนเริ่มทำลำลองเราได้ตั้งสมมติฐานว่า พื้นที่ในลำปางยังขาดสื่อ หรือพื้นที่สื่อสารแบบไหนบ้าง เราเลยจัด เปิดบ้านแป๋งเมืองลำปาง ในการดึงคนให้เข้ามามีส่วนร่วม และถามความเห็นว่าอยากมีพื้นที่สื่อแบบไหน จนเกิดมาเป็นคอนเซ็ปของ ‘ลำลอง’ ที่มีความหมายว่า ลำปาง+ลองทำดู ซึ่งในช่วงปีแรกเราก็ได้ทำเรื่องวาระชาติพันธุ์ ที่เป็นการให้พี่น้องชาติพันธุ์ในลำปางได้สะท้อนปัญหาในพื้นที่ออกมา ต่อมาเรื่องดนตรีมาจากการที่ช่วงโควิดทำให้การแสดงดนตรีหายไป ก็เลยเกิดเป็นงาน ‘แสงเหนือ’ ที่เปิดให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ลำปางออกมาแสดงสดในพื้นที่สาธารณะ จนมาสู่งาน ‘ลำลองเฟส’ ที่เป็นการนำสิ่งที่เราคิดว่าควรมีเอาเข้าไปอยู่ในงาน โดยมีทั้งดนตรี Cover Dance ตลาดนัด การทำ Workshop ซึ่งงานนี้ได้บทเรียนที่ว่าพอเราเอาทุกอย่างมารวมกันมันทำให้สิ่งที่มีในงานไม่โดดเด่นสักอย่าง และยังดูซ้ำกับงานแสงเหนืออีกด้วย

พอเข้าสู่ปีที่สองของลำลอง เรามองว่ากิจกรรมของเราควรจะมีคนแถวสอง นั่นก็คือเด็ก ๆ เยาวชน จึงเกิดเป็นโปรเจกต์ ‘ลองยัง’ ที่เป็นการให้น้อง ๆ เยาวชนได้ลองคิดว่าอยากจะทำกิจกรรมอะไรในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งก็จะออกมาในรูปแบบงานเขียน ภาพและวิดีโอ ต่อมาทางเซ็นทรัลได้เห็นงานแสงเหนือแล้วเกิดสนใจ จึงได้ซื้อคอนเซ็ปแล้วนำไปจัดในพื้นที่ของเซ็นทรัล และล่าสุดงาน ‘เปิดม่านศรีชุม’ เป็นการเปิดให้คนทั่วไปได้รู้ว่าศิลปะวัฒนธรรมพม่าในลำปางสามารถต่อยอดอย่างไรได้บ้าง มีทั้งกิจกรรมเดินเมือง ทำ Workshop โคม และการจัดแสดงไฟที่วัดศรีชุม

ภาพบรรยากาศในงานเปิดม่านศรีชุม

ระหว่างการเดินทางของลำลองก็มีทั้งเพื่อนหายมิตรใหม่เพิ่มวนกันไป แต่จากวันแรกจนถึงวันนี้ก็รู้สึกได้ว่าคนข้างนอกมองมาที่ตัวเราก็สามารถรู้ได้เลยว่าเราเป็นใคร ทำอะไร มีกระบวนการทำงานอย่างไร อีกทั้งบางงานเราวางแผนไว้เล็ก ๆ แต่รูปแบบมันมักจะโตขึ้นเองตลอด ซึ่งโตในที่นี้ยังหมายถึงสิ่งที่ไม่เป็นไปตามแผนที่เราวางไว้

กิ๊ฟ : เรื่องผิดพลาดมันมีตลอดแหละ ตั้งแต่การจัดงานครั้งที่แรกจนถึงงานล่าสุด ซึ่งเรายังถือว่ามือใหม่กันมาก ๆ ได้เจอผู้คนใหม่ ๆ ทั้งเป็นมิตรและไม่เป็นมิตร อีกทั้งยังต้องร่วมงานกับอีกหลายภาคส่วน ซึ่งพอได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนเราก็ต่างเจออุปสรรค แต่สิ่งที่ได้ระหว่างทางคือเราได้สร้างเครือข่ายไว้ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกัน

สิ่งที่เราทำมันอาจจะดูใหม่มาก ๆ ในลำปาง แต่มันไม่ได้ใหม่สำหรับกรุงเทพฯ หรือในเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นได้ตลอด ด้วยความที่ลำปางมีผู้สูงอายุเยอะเขาก็จะไม่ค่อยชินกับอะไรแบบนี้ เลยทำให้หาคนเข้าใจค่อนข้างยาก คือมันก็มีคนที่อยากช่วยเราแต่เขาก็ไม่เข้าใจสิ่งที่เราจะทำขนาดนั้น หรือบางคนก็ไม่เข้าใจอะไรเราเลยก็มีเหมือนกัน

ฟาง : ตอนนี้ก็มีผู้ติดตามที่ติดตามเราตั้งแต่เริ่มแรก มางานล่าสุดแล้วก็ยังถามหางานต่อ ๆ ไปอีกก็มี และยังมีเครือข่ายผู้ประกอบการที่เขาเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นมิตรภาพที่ดี

แล้วงานล่าสุด “เปิดม่านเมืองลำปาง” เป็นยังไงบ้าง

กิ๊ฟ : มันเริ่มมาจาก CEA ที่อยากเปิดพื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ ที่เป็นเมืองรอง เขาก็ได้ติดต่อเรามาและเสนอไอเดียมาในการจัดงานที่แปลกใหม่ เราเลยเสนอประเด็นวัฒนธรรมพม่าในจังหวัดลำปาง เพราะในลำปางมีวัดพม่าเยอะที่สุดในประเทศไทย เลยวางแผนกันว่าจะจัดงานทั้งหมด 3 ครั้ง และวันสุดท้ายเป็นการแสดงแสงไฟที่วัดศรีชุม ซึ่งวันแรกก็จะเป็นการเดินเมือง เป้าหมายในตอนแรกจะให้คนภายนอกเข้ามาร่วมด้วย เป็นการพาทัวร์วัดพม่าทั้ง 5 วัด และเราก็เป็นคนวางโปรแกรมทั้งหมดในการนำเสนอวัด สิ่งที่มีให้กับผู้เข้าร่วมก็จะเป็นกระเป๋า ใบความรู้ และขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ การทำงานในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทำร่วมกับวัด แต่เรายังต้องทำร่วมกับชุมชนอีกด้วย ซึ่งก็เป็นครั้งแรกของเรา ต่อมาจะเป็นงานแสงโคมม่าน ซึ่งเป็นโคมล้านนาของพม่า โดยได้เครือข่ายจาก “ป่าน” (วีรศิษฎ์ ภู่สุวรรณ์) มาเป็นวิทยากรและมีความรู้เรื่องการทำโคมล้านนา และยังมีสตูดิโอ GHOM LANNA อยู่ที่ชุมชนท่ามะโอ ซึ่งป่านก็ได้คิดรูปแบบที่จะนำเสนอโคมม่านให้มีความน่าสนใจและได้ออกแบบนิทรรศการโคมที่ทำให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น โดยจัดเป็น Workshop โคมม่านแปดเหลี่ยม ให้คนที่เข้าร่วมได้ลองทำและมีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ในงานยังมีอาหารว่างพม่าให้ได้ร่วมรับประทานกัน

วีรศิษฎ์ ภู่สุวรรณ์ : วิทยากรสอนทำโคมล้านนา

ในช่วงวันเสาร์ – อาทิตย์คนก็เริ่มเยอะขึ้น โดยที่เราไม่ได้เริ่มโปรโมทอะไรมาก เพราะมีคนที่ตั้งใจมางานของเราจริง ๆ ทำให้เห็นได้ว่ามีคนสนใจเข้าร่วมสิ่งนี้ และวันสุดท้ายเป็นงานแสงไฟวัดศรีชุม เป็นการจัดอีเว้นท์ควบคู่กับการแสดงแสงไฟไปด้วย

ก้าว : เดิมที่ชุมชนศรีชุม จะมีผู้นำชุมชนเป็นผู้จัดงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งก็จะมีวิธีคิดที่แตกต่างไปจากลำลอง ในด้านของพิธีการ หรือความเป๊ะ ทำให้บางทีคนในชุมชนก็จะตกใจเมื่อมาเข้าร่วมงานของเรา แต่พอจะมีผู้ใหญ่มาเปิดงานก็ทำให้เราต้องดึงพิธีการบางอย่างกลับมาเพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้

คนที่เป็นเจ้าของพื้นที่หรือคนลำปาง ควรที่จะได้ซึมซับ เข้าใจ และถ่ายทอดมันต่อไป ด้วยตัวคนลำปางก่อน ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นว่าคนภายนอกมาซึมซับเสียก่อนและคนพื้นที่จะไม่เข้าใจมัน

ว้าวมาก แล้วจากผลตอบรับที่เกิดขึ้น ลำลองจะต่อยอดไปยังไงต่อ

ก้าว : จริง ๆ มันอยู่ในเนื้องานของเราอยู่แล้วว่าเราอยากจะสื่อสารอะไร ซึ่งลำลองเป็นทีมที่มีไอเดียและมี visual ชัด อันนี้จะเป็นข้อดีของทีม แต่เบื้องหลังกว่าจะชัดก็เถียงกันเยอะอยู่ กว่าจะได้ภาพที่มีเหมือนกัน อีกทั้งการจัดงานของเราแต่ละครั้งมันต้องให้เห็นว่าสามารถเปลี่ยนได้

กิ๊ฟ : เราว่าการสื่อสารมันค่อนข้างสำคัญในระดับหนึ่ง การที่เราจะสื่อสารได้ดี เราต้องเข้าใจก่อนว่าตัวเองอยากพูดอะไร จากนั้นถึงค่อยเข้าใจว่าเราอยากให้ผลจากการสื่อสารนั้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าไม่ว่าคนในพื้นที่ หรือเจ้าหน้าที่ ซึ่งเขาอาจจะยังไม่เข้าใจว่าตัวเองต้องการอะไร อยากสื่อสารอะไร และในภาพที่เขามองเราเขาก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าคนกลุ่มนี้มันทำไปทำไม มันจึงเป็นเรื่องของการเข้าใจและเรากำลังทำเป็นตัวอย่างให้เขาเข้าใจ ให้คนในสังคมแห่งนี้เห็นว่าสิ่งนี้มันทำได้ สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นได้นะ อย่างน้อยอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่มันจะค่อย ๆ เป็นไปทีละนิด ๆ ลำปางมันก็จะสนุกได้ สร้างสรรค์อะไรได้อีกเยอะ

แล้วคิดว่าลำปางจะดีกว่านี้ได้อีกไหม ถ้าดีมันจะได้แบบไหน?

ก้าว : สำหรับก้าว คิดว่าถ้าจะเปลี่ยนเลยคือ 1. ต้องถ่ายเลือด คือให้คนใหม่ ๆ เข้ามาอยู่ในเมือง นำวิธคิดใหม่ ๆ เข้ามา 2. ในเรื่องตึกเก่าในเมืองลำปางที่ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งก็ได้มีการคิดอยู่เหมือนกันว่าจะเอามาทำอะไรดี มันน่าต่อยอดมาก

กิ๊ฟ : อย่างเช่นร้านใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นหลังช่วงโควิด และยังเป็นคนรุ่นเดียวกับเรา เขาไม่ได้มาเพื่อเปิดร้านและขายสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่เขายังนำไอเดียใหม่ ๆ อย่างการนำตึกเก่ามาทำร้านใหม่ หรือเปลี่ยนอะไรที่มีอยู่ในพื้นที่ให้ใหม่กว่าเดิม แต่ก็ไม่ได้ทิ้งความเป็นลำปางไป เมื่อวาน (15 กันยายน 2567) ได้คุยกับ CEA และก็ได้ถามคำถามนี้กับตัวเองเหมือนกัน ซึ่งเราก็รู้สึกว่ามันจะดีขึ้นได้ แต่ก็จะดีขึ้นในแบบลำปาง ซึ่งบางคนยังมองว่าคำว่าดีขึ้นหรือจะเจริญขึ้นจะหมายถึงแบบเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่อย่างเดียว มันสามารถดีขึ้นได้ในแบบที่เป็นลำปางเอง”

ก้าว : ถ้ามันจะดีได้จริง ๆ ต่อให้มีการกระจายอำนาจมาที่ท้องถิ่น แต่ว่าวิธีคิดอยู่ในแบบเดิม มันจะไม่มีประโยชน์เลย ฉะนั้นมันจะดีไปแบบไหนมันก็จะได้เท่านั้นแหละ มันก็จะไม่มีอะไรแปลกใหม่ สิ่งที่อยากจะให้เปลี่ยนอยากจะให้คนลำปางแข็งแรงก่อน และเข้าใจว่าท้องถิ่นมีอำนาจหรือหน้าที่จัดการส่วนไหนได้บ้าง สิ่งไหนทำไม่ได้บ้าง คนลำปางยังต้องมีวิธีคิดเอง มีเครือข่าย ภาคประชาสังคมควรจะแข็งแรงก่อน เพื่อที่จะต่อรองความคิดของทางท้องถิ่น ลำปางจะต้องมีอำนาจที่สมดุลทั้งสองฝ่าย

ลำลองคาดหวังอยากจะทำต่อ จะมีอะไรให้ตื่นเต้นอีกไหม

กิ๊ฟ : อยากหาเครือข่าย คนที่มีไอเดียตรงกัน หรือเข้าใจว่าเราทำอะไรกัน ไม่ว่าในเชิง Workshop หรือกิจกรรมต่าง ๆ และอยากให้คนในพื้นที่มีไอเดียมากขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับเมืองของเรามากขึ้น

ก้าว : เราต้องหาผู้สนับสนุนที่เข้าใจเรา และยังอยากได้พื้นที่หนึ่งเป็นพื้นที่กลางรวม สำหรับแชร์การสื่อสารหรืออยากจะทดลองคอนเซ็ปเดียวกับเราในพื้นที่

กิ๊ฟ : เรารู้สึกว่าตอนนี้เริ่มมีกลุ่มคนเหมือนเรากระจายอยู่ทั่วประเทศ กลุ่มคนที่อยากจะพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง โดยไม่ได้กระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่เพียงอย่างเดียว เหมือนคนเห็นโอกาสในการเติบโต เริ่มเห็นอนาคตกันมากขึ้น อยากกลับไปอยู่บ้านกันมากขึ้น ประกอบกับการมีอินเทอร์เน็ตทำให้เราสามารถทำงานได้ทุกที่ อันนี้มันเป็นต้นทุนที่ดีเลยนะ

ถ้าบอกอะไรกับคนที่ไม่เคยรู้จักลำปางเลย ลำลองอยากจะบอกอะไรเขา

ฟาง : สำหรับฟางแล้วในลำปางมันยังมีอะไรเก่า ๆ ที่มีความหน้าสนใจ แต่ยังไม่ถูกเล่าออกมา เลยอยากชวนทุกคนมาซึมซับความเป็นลำปางในแบบของพวกเรา

กิ๊ฟ : ท้ายที่สุดแล้ว ลำปางถือว่าเป็นเมืองค่อนข้างใหม่สำหรับสายจัดกิจกรรม สำหรับคนภายนอกเราก็ยินดีที่คุณจะหันมาสนใจเมืองลำปางแห่งนี้ แม้ว่ามันจะเป็นเมืองทางผ่านแต่ก็มีสิ่งที่น่าสนใจเยอะ แต่ถ้าพูดถึงจะให้คนลำปางกลับมาพัฒนาบ้านกันเถอะ มันก็อาจจะไม่ได้สวยงามเช่นนั้น ซึ่งสิ่งนี้มันขึ้นกับโอกาสและจังหวะของแต่ละคนด้วย แต่เราคิดว่ามันยังมีความหวังสำหรับคนในจังหวัด แต่เราอาจจะต้องหามันให้เจอ

‘ห้วยหินลาดใน’ คนอยู่ป่า ปัญหาโลกรวน ดินโคลนถล่ม และวาทกรรมที่มีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์

เรื่อง: องอาจ เดชา

ที่มาภาพ : www.hinladnai.com

“บ้านห้วยหินลาดในที่ฉันรักและรู้จักมายี่สิบกว่าปี  เป็นชุมชนปกาเกอะญอ ที่มีประชากร 114 คน ผู้ดูแลป่าชุมชน 5,889 ไร่ และพื้นที่ทำกิน 1,632 ไร่ ในรูปวนเกษตร อาทิ ชา กาแฟ ผลไม้ ส่วนใหญ่ปลูกแซมกับไม้ป่า และนาดำอยู่บริเวณร่องห้วย ไร่หมุนเวียนกว่า 800 ไร่ แต่ใช้ประโยชน์ในรอบหมุนเวียนแต่ละปีเพียง 60 ไร่ และมีประชากรประชากรเพียงแค่ 114 คน 

เป็นหมู่บ้านที่มีพะตีซาเนาะ (ปรีชา ศิริ) ผู้นำทางความคิดรุ่นบุกเบิก เจ้าของรางวัล ‘วีรบุรุษผู้รักษาป่า’  (Forest Hero) จากการประชุมขององค์การสหประชาชาติเรื่องป่าไม้ ที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในปี 2556 และทุกคนทราบดีว่าชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน เคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่1 ปี 2542 ประเภทชุมชน และปี 2548 ได้รับรางวัลประเภท ‘รางวัล 5 ปีแห่งความยั่งยืน’ ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นรางวัล “สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน บ้านห้วยหินลาดใน ยังมีกลุ่มเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน มาช่วยสืบสานวิถีชีวิตให้เด็กๆ ทุกคืนวันพุธ ใต้ถุนบ้านของผู้อาวุโสจะดัดแปลงเป็นห้องเรียนภูมิปัญญา ทั้งด้านภาษา ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตคนอยู่กับป่าอย่างสมดุลยั่งยืน

และยังเป็นหมู่บ้านที่เชฟหลาย ๆ คน ได้แรงบันดาลใจ เพราะที่นี่เป็นเหมือนแหล่งความรู้จากคนทั่วทุกมุมโลกที่เคยมาห้วยหินลาดใน ด้วยเหตุผลมากมาย และเพื่อมาชิมน้ำผึ้งธรรมชาติ มีการจัดการหาน้ำผึ้งป่า น้ำผึ้งโพรง ชันโรง ชาอัสสัม และกาแฟใต้ร่มไม้โดยชุมชนเพื่อชุมชนมาตลอด” แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ เจ้าของสตูดิโอห่อจย่ามา (Studio Horjhama) และทำงานขับเคลื่อนเรื่องความมั่นคงทางอาหารกับพี่น้องชาติพันธุ์บ้านห้วยหินลาดในมายาวนาน ได้บันทึกเอาไว้ หลังเกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มหมู่บ้านห้วยหินลาดใน เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา

ที่มาภาพ : www.hinladnai.com

นั่นทำให้เรานึกไปถึงคำพูดพะตีปรีชา ศิริ ปราชญ์ปกาเกอะญอ ผู้นำธรรมชาติแห่งบ้านห้วยหินลาดใน ที่เอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงเปี่ยมสุข อารมณ์ดี เมื่อนานมาแล้ว

“ทุกวันนี้ เฮาถือว่าหมู่บ้านของเฮานั้นร่ำรวยแล้ว แต่ไม่ใช่ร่ำรวยเงินทอง แต่ร่ำรวยธรรมชาติ เฮามีทุกอย่าง มีดิน น้ำ ป่า มีอากาศ มีอาหาร ยาสมุนไพร เฮาอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไม่ต้องดิ้นรนเหมือนคนข้างนอก…” 

พะตีปรีชา ได้บอกเล่าที่มาชื่อหมู่บ้านห้วยหินลาดใน  ให้เราฟังอย่างน่าสนใจ 

“คือบริเวณนี้ เป็นต้นกำเนิดลำห้วยสำคัญ ๆ กว่า 14 ห้วย ที่ไหลมารวมกัน เราจึงเรียกบริเวณนี้ว่าแม่หินลาดโกล็ะ หรือ ห้วยหินลาดใน”

หมู่บ้านห้วยหินลาดใน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของ ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย  เป็นชุมชนชาติพันธุ์ ปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง เป็นชุมชนในหุบเขาที่แวดล้อมไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน อีกทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยน้อยใหญ่14 สาย และด้วยพลังของชุมชน จึงเกิดการอนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้ได้นับ 10,000 ไร่

“จริงๆ แล้ว กว่าเราจะดูแลป่า รักษาต้นน้ำเอาไว้ได้ แต่ก่อนนั้นเราต้องเจออุปสรรคปัญหามามากต่อมาก และยังได้ต่อสู้กันมายาวนานมาก” ชัยประเสริฐ พะโค ชาวบ้านห้วยหินลาดใน บอกกับเราในวันนั้น

ที่มาภาพ : www.hinladnai.com

ชุมชนแห่งนี้ ยังได้นำความเชื่อ พิธีกรรมและวัฒนธรรมชนเผ่ามาปรับใช้ในการดูแลป่าอีกทั้ง ชุมชนแห่งนี้ยังดำรงชีพด้วยวิถีเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีรูปแบบการผลิตของชาวบ้าน เป็นระบบเกษตรบนพื้นที่สูงที่ผสมผสานระหว่างความอุดมทรัพยากร และเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เข้าด้วยกัน อาชีพหลักของคนบ้านหินลาดใน ก็คือการทำนาขั้นบันได ทำไร่หมุนเวียน

“ในทุ่งนา ทุ่งไร่เราไม่ได้เพียงแค่ปลูกข้าวอย่างเดียวเท่านั้น แต่เรายังใช้พื้นที่นาปลูกพืชผัก เก็บกินได้ตลอดปี ไม่ว่า แตงกวา หัวเผือก หัวมัน ผักกาด งา ฟักทอง ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ จนเราพูดได้เต็มปากเลยว่า เราไม่ต้องพึ่งพาตลาดข้างนอก เพราะเราเอาทุ่งนาเอาไร่หมุนเวียนเป็นตลาดสด คนที่นี่จึงไม่เคยอดตาย…”

ที่มา www.hinladnai.com
ที่มา : www.tourismchiangrai.com

ครั้นว่างจากการทำนา ทำไร่ ชาวบ้านก็จะเก็บ “ชาป่า” ซึ่งเป็นชาที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงเป็นที่ต้องการของตลาด และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้านและเก็บได้ตลอดทั้งปี

การทำสวนชาของชุมชนแห่งนี้  จึงถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้แก่คนในหมู่บ้านอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และที่โดดเด่นมากก็คือ ชาที่เก็บกันนั้น เป็นชาที่ขึ้นเองตามธรรมชาติบริเวณเนินเขาสองฝากฝั่งลำห้วยมานานหลายชั่วเกิดอายุคนแล้ว ว่ากันว่า ชาเป็นชาพันธุ์พื้นเมือง ที่เหมาะสมสอดคล้องกับหุบห้วยแถบนี้เป็นอย่างมาก ปล่อยให้เติบโตขึ้นเอง ไม่จำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่มากนัก บางต้นใหญ่โตสูงท่วมหัว จนต้องแหงนมองดู

แต่เดิมนั้น ชาเป็นเพียงเครื่องดื่มรับรองแขกและดื่มกันภายในครอบครัว ต่อมาในสมัยพ่อทาดู เริ่มมีการเก็บเมี่ยงและทำเมี่ยงชาย แต่ประสบปัญหาเกี่ยวกับกรรมวิธีในการผลิตที่ยุ่งยาก ทำเมี่ยงขายได้เพียงสองปี จึงเริ่มหันมาเก็บชา ประกอบกับช่วงเวลานั้น ชาเริ่มเป็นที่นิยมของชาวเขาเผ่าม้ง คนจีนอพยพ และคนพื้นเมืองในละแวกใกล้เคียงในเขต อ.พร้าว ของ จ.เชียงใหม่

กระทั่งในช่วงปี พ.ศ.2516  ชาวจีนได้เข้ามาตั้งโรงชาภายในหมู่บ้านและรับซื้อชาดิบจากชาวบ้านในราคากิโลกรัมละ 4 – 5 บาท แต่การรับซื้อชาดิบดังกล่าวได้ถูกเอารัดเอาเปรียบ โรงชาตั้งได้ประมาณ 7 – 8 ปี ก็ได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น ในช่วงดังกล่าวชาวบ้านไม่สามารถขายผลผลิตได้ พะตีปรีชา ศิริ จึงได้เดินทางไปติดต่อเพื่อขายชา ให้กับชาวไทยลื้อที่บ้านดินดำ อ.แม่สรวย จ.เชียงรายแทน  หลังจากนั้นก็เริ่มขยายตลาดไปยัง อ.แม่จัน อ.แม่ขะจาน จนในที่สุดกลายมาเป็นตลาดที่สำคัญในปัจจุบัน

ชาป่าบ้านหินลาดในจึงเป็นที่ต้องการของตลาดและเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้านและเก็บได้ตลอดทั้งปี

พะตีปรีชา ศิริ ผู้นำธรรมชาติ บอกเล่าให้ฟังว่า ในแต่ละปีจะมีชาดิบออกจากหมู่บ้านกว่า 60,000 กิโลกรัม โดยชาหนึ่งต้นสามารถเก็บได้กว่าสามครั้งต่อปี โดยครั้งแรกจะเก็บในเดือน เมษายน เรียกว่า “ชาหัวปี” เป็นชาที่มีคุณภาพดีที่สุด และราคาดีที่สุด โดยจะตกประมาณกิโลกรัมละ 8 บาท หลังจากนั้นก็จะเริ่มเก็บชากลาง ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นชาที่แตกหน่อจากชาต้นเดิมหลังการเก็บชาหัวปีหมดไปแล้ว ซึ่งราคาจะตกประมาณกิโลกรัม 6 บาท และในช่วงสุดท้ายจะเป็นการเก็บชาเหมย หรือชาหน้าหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน ซึ่งปริมาณชามีน้อย แต่ราคาดีเท่าชาหัวปี

ปัจจุบัน ยังมีการขยายพันธุ์ชา  ควบคู่กับปลูกพันธุ์ไม้พันธุ์พืชผสมผสาน เช่น ไผ่หก หวาย มะแขว่น มะนาว พลับ มะขามป้อม มะเขือ แตง บวบ  ลำไยป่า มะม่วงป่า ผักกูด มะแคว้ง มะก่อ มะขม มะไฟ และอีกหลากหลายนานาพันธุ์นานาชนิด ที่สามารถเก็บขายสร้างรายได้ให้อีกทางหนึ่งด้วย

จู่ๆ เกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มหมู่บ้านเสียหายยับ

เมื่อช่วงสายของวันที่ 23 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา ขณะที่ฝนกำลังตกหนักมาอย่างต่อเนื่องข้ามวันข้ามคืน ก็เกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ไหลทะลักลงจากช่องเขา ลำห้วย เอ่อเข้าท่วมพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย อย่างรวดเร็วและรุนแรง พัดเศษซากต้นไม้ ดินโคลน ถล่มโรงเรียน บ้านเรือนชาวบ้านพังเสียหาย รวมไปถึงมีแต่สัตว์เลี้ยงสูญหาย รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ถูกน้ำพัดไปหลายคัน ทางเข้าหมู่บ้านยังไม่สามารถเข้าได้ เพราะต้นไม้ล้มขวางทางเข้า แต่ยังดีที่ไม่ชาวบ้านเสียชีวิต ชาวบ้านทุกคนปลอดภัย แต่หมู่บ้านเสียหายหนักมาก

The Active รายงานว่า ทศ – ชัยธวัช จอมติ ผู้นำชุมชนห้วยหินลาดใน ได้เปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า หนักที่สุดในรอบ 100 ปี เพราะหมู่บ้านหินลานในไม่เคยเจอเห็นการณ์แบบนี้มาก่อน ก่อนหน้านี้ในพื้นที่มีฝนตกต่อเนื่องหลายวัน แม้ชาวบ้านจะมีการเฝ้าระวัง และไม่ให้ลูกหลานไปโรงเรียนในวันนี้ แต่ก็ไม่คาดคิดว่ามวลน้ำที่ลงมาจะรุนแรงขนาดนี้

ผู้นำชุมชน บอกอีกว่า พื้นที่บ้านห้วยหินลาดใน ได้รับผลกระทบทั้งหมู่บ้าน โดยจุดที่หนักที่สุดคือบริเวณโรงเรียน ทางสัญจรถูกตัดขาด ไฟฟ้า และสัญญาณโทรศัพท์ไม่สามารถใช้การได้ ขณะที่ระบบประปาก็ได้รับความเสียหาย ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำได้ ส่วนความช่วยเหลือที่ต้องการเร่งด่วน คือ อาหารและน้ำดื่ม

แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ ตัวแทน ‘เครือข่ายเชียงใหม่-เชียงราย’ เล่าว่า ก่อนหน้านั้นเราได้ระดมทุนและของบริจาคช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมเชียงราย กำลังเดินทางพร้อมเสบียงอาหารไปช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยที่เชียงรายกันทั้งหมด 14 คันรถ แต่ระหว่างทางได้เผชิญกับฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลาก จนสามารถวิ่งผ่านเวียงป่าเป้าไปได้ 2 คัน ที่เหลือไปต่อไม่ได้ แล้วมารู้ข่าวว่าพี่น้องปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดในประสบกับน้ำป่าไหลหลากรุนแรง ก็พยายามหาทางจะเข้าไปช่วยเหลือกันอยู่

“ในเบื้องต้น ทีมงานของเรา ได้เข้าไปช่วยเหลือเร่งด่วนก่อน คือเอาเครื่องปั่นไฟกับเสบียง น้ำดื่มเข้าไปช่วยเหลือกันก่อน หลังจากนี้ เราคงต้องหาทางระดมความช่วยเหลือเยียวยากันต่อไป เพราะถือว่าเหตุการณ์ครั้งนี้หนักรุนแรงมาก มันพัดเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดเลย ทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ สัตว์เลี้ยงวัวควาย เป็ดไก่ไปหมด ชาวบ้านไม่เหลืออะไรเลย”

ระดมขอความช่วยเหลือเร่งด่วนให้พี่น้องชุมชนปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดใน

จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในชุมชนสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้แก่ บ้านห้วยหินลาดใน ซึ่งเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ไก้รับผลกระทบอย่างหนัก พวกเรามูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) และ สกน. จึงขอเปิดระดมความช่วยเหลือชุมชนโดยเร่งด่วนตามความต้องการของชุมชน ดังนี้

1. สิ่งของจำเป็นเร่งด่วน ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง เสื้อผ้า,ชุดชั้นในชาย-หญิงผ้าอนามัย, อุปกรณ์การอาบน้ำ, ถังน้ำ, ขันน้ำ, อุปกรณ์ทำความสะอาดทุกชนิด, รองเท้าบูต, มุ้ง, ยากันยุง, เครื่องครัวสามารถจัดส่งได้ที่ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ 77/1 ม.5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200

2. สนับสนุนความช่วยเหลือเป็นเงินทุน ทางบัญชี ธนาคารกรุงไทย 7870429139 ชื่อบัญชี: โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้รายได้น้อยในชนบท สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ

3. ร่วมเป็นอาสาสมัครทำความสะอาดสถานที่ โดยผู้ที่มีจิตอาสาและผู้เชี่ยวชาญในการกู้ภัย สามารถติดต่อไปได้ที่ : 0616629338 (ช้าง) 0654365800 (หนิง)

ชาวบ้านและเครือข่าย เร่งฟื้นฟูและเยียวยาชาวบ้านห้วยหินลาดใน

เร่งเคลียร์ ดินสไลด์ทางเข้าหมู่บ้านหินลาดใน

อนุชา ตาดี อาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเหลือ รายงานว่า เมื่อช่วงสายๆ วันที่ 26 ที่ผ่านมา มีรถแบ็คโฮเข้าเคลียร์พื้นที่ดินสไลด์เพื่อเปิดเส้นทางเข้าส่งความช่วยเหลือไปยังบ้านห้วยหินลาดใน ช่วงเที่ยงๆ ที่ผ่านมาหลังจากที่รถแบ็คโฮเข้าทำการเคลียร์เส้นทางเข้าหมู่บ้านตอนนี้สามารถเอาดินที่สไลด์ปิดทับเส้นทางจุดใหญ่ๆ ได้จำนวน 2 จุดจาก 10 จุด ได้ระยะทางทางประมาณ 400 เมตรจากปากทางเข้าหมู่บ้านเนื่องจากเมื่อวานมีฝนตกต่อเนื่องตลอดทั้งวันทำให้มีดินสไลด์ลงมาทับเส้นทางเพิ่มเติมหลายจุดทำให้การเปิดเส้นทางล่าช้าลงไปยิ่งกว่าเดิม

ชาวบ้านคาดว่าวันนี้จะสามารถเคลียร์เส้นทางเข้าไปได้ประมาณครึ่งทางและจะสามารถย้ายสิ่งของบริจาคจากบริเวณบากทางเข้าหมู่บ้านไปยังพื้นที่ลานจอด ฮ.ซึ่งเป็นบริเวณจุดครึ่งทางเข้าหมู่บ้านและในตอนนี้ชาวบ้านสามารถเปิดเส้นทางมอเตอร์ไซจากทางฝั่งในหมู่บ้านมายังบริเวณลานจอด ฮ.ได้แล้วและน่าจะสามารถขนสิ่งของช่วยเหลือเข้าไปในหมู่บ้านได้ง่ายยิ่งขึ้นในเย็นวันนี้

การเปิดเส้นทางเข้าหมู่บ้านตลอดทั้งเส้นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 วันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและฝนที่ตกลงในพื้นที่

เกิดดราม่า เมื่อนักวิชาการคนหนึ่งออกมาโพสต์อ้างว่าเหนือหมู่บ้านห้วยหินลาดใน เป็นเขาหัวโล้น ปลูกข้าวโพดและพืชเชิงเดี่ยว จึงทำให้ดินโคลนถล่มลงมา 

โดยเจ้าของเฟซบุ๊ค Sonthi Kotchawat โพสต์ภาพประกอบเป็นภาพดอยหัวโล้น ภาพไร่ข้าวโพด ประกอบข้อความว่า เจาะลึกที่ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียง ป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าต้น น้ำอุดมสมบูรณ์ ทำไมน้ำป่าไหลแรงพาดินโคลนและท่อนไม้ลงมาถล่มชุมชนดังกล่าว…หากเข้าไปสำรวจจะพบว่าพื้นที่ใกล้ๆชุม ชนดังกล่าวที่เป็นป่าต้นน้ำบางส่วนกลายเป็นเขาหัวโล้นอย่างกว้างขวาง หลายแห่งปลูกข้าวโพดและพืชเชิงเดี่ยว…น้ำป่าดินโคลนและท่อนไม้มาจากพื้นที่เหล่านี้

จนนำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่านักวิชาการคนนี้ เอารูปประกอบดอยหัวโล้น ไร่ข้าวโพดจากที่อื่นมาบิดเบือน ทั้งๆ ที่รอบๆ พื้นที่ชุมชนบ้านห้วยหินลาดในนั้นปกคลุมไปด้วยผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์

บูท จ้า : บ้านห้วยหินลาดในที่เอารูปมาแปะนั้นไม่มีดอยหัวโล้นนะครับ หมู่บ้านอยู่ในหุบเขามีต้นไม้เต็มไปหมดด้วย แต่เป็นทางน้ำจริงๆ

Suton Webut : ต้นน้ำหินลาดอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ตั้งหมู่บ้านครับ ป่าอุดมสมบูรณ์ จากตาน้ำสามสายไหลสบพาดผ่านกลางหมู่บ้าน ส่วนฝั่งที่เป็นเขาหัวโล้นอยู่คนละฝั่งตั้งอยู่ต่ำกว่าบ้านหินลาดใน ใช้ต้นน้ำคนละสาย บางส่วนใช้ร่วมกับปลายน้ำหินลาด ผมไม่เข้าใจ น้ำไหลย้อนขึ้นดอยได้อย่างไร ชาวบ้านเวลานี้ก็ลำบากอยู่แล้วยังต้องมาโดนโจมตีอะไรแบบนี้อีก

Teerasak Poontawee : ผมเคยเป็นครูอยู่ในพื้นที่นี่มา 16 ปี เห็นคนลงความคิดเห็นต่างๆ แล้วผมสงสารหมู่บ้านหินลาดในจัง เป็นหมู่บ้านอนุรักษ์รักษาป่ามาตลอดเป็นระยะยาวนานสืบต่อรุ่นต่อรุ่น ได้รับรางวัลในเรื่องการอนุรักษ์ระดับประเทศระดับต่างประเทศ ตั้งแต่สมัยพ่อหลวงปรีชา ศิริ ลูกเขาสืบทอดต่อ(ลูกศิษย์ผม)จนมาถึงรุ่นหลานๆ ในปัจจุบัน..สังคมบางส่วนประณามว่าสมน้ำหน้าทำลายป่าจึงรับชะตากรรมแบบคลิปที่เห็น.ทั้งๆที่เขารักษาป่ามาตลอด..อยากให้สังคมได้ทราบความจริงว่ารัศมี 3-5 ก.มรอบๆ ป่าโล่งเตียนทำไร่ข้าวโพด ฝนตกน้ำมาผ่าหมู่บ้านหินลาดแม้มีต้นไม้ก็เอาไม่อยู่ อยากให้หน่วยงานราชการหรือเอกชนเข้าไปช่วยพื้นฟูหมู่บ้านนี้โดยเฉพาะด้านจิตใจที่กระทำดีปฏิบัติดีมาตลอดแต่ได้รับตำหนิ

ป่าค่า ชิตี้ : แต่ทิศทางการไหลของน้ำมันคนละด้านนะครับ ถ้าดูใน maps ชุมชนเขาตั้งอยู่ต้นน้ำเลย ต้องดูภูมิศาสตร์และทิศทางการไหลของน้ำ ไม่ใช่ดูแค่ในแผนที่แล้วซึ่งมันสรุปไม่ได้หรอก อีกอย่างทำให้คนอื่นเข้าใจผิดไปด้วย

Kom Panyawat : สาเหตุหลักเกิดเพราะปรากฏการณ์เรือนกระจกครับ ซึ่งทุกคนมีส่วนทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ อย่าโทษแต่คนดอยสิครับ

ที่มา ทีมโดรนอาสา

นักเขียน นักวิชาการหลายคนออกมาโต้ว่าเป็นมุมมองที่บิดเบือนข้อมูลความจริง

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปล คอลัมน์นิสต์ เผยว่า การเกิดน้ำป่าและดินโคลนถล่มที่หินลาดในไม่เกี่ยวอะไรทั้งสิ้นกับเขาหัวโล้น ไร่ข้าวโพด หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ผู้สื่อข่าวสำนักหนึ่งหนึ่งและนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวอ้าง เพราะอยู่กันคนละสันเขาและระดับอยู่ต่ำกว่าจุดเกิดเหตุ และรูปที่นักวิชาการไป copy จากที่ไหนไม่รู้มาโพสต์มาโพสต์ประกอบเพื่อให้คนคล้อยตามก็ไม่เกี่ยวกัน

อุดร วงษ์ทับทิม นักเขียน นักแปล นักวิชาการอิสระ  เล่าว่า ปกาเกอะญอบ้านหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า มีแบบแผนการอนุรักษ์ป่าที่เยี่ยมยอดมาก ต้นไม้ใหญ่ยังเห็นได้ทั่วไป เป็นการอยู่กับป่า กินกับป่า รักษาดุลยภาพของระบบนิเวศไว้ได้เป็นอย่างดี ฝนที่ตกลงมาแบบ Rain bomb เช่นเดียวกับที่เมืองปาย น้ำป่าปริมาณมากจากภูเขาจะรุนแรงเชี่ยวกราก กวาดเอาสิ่งกีดขวางไปกับสายน้ำ

ในขณะที่ ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์  อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการภูมิวัฒนธรรม ประจำวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และรักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว.แม่แจ่ม ได้เปิดเผยว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นที่หินลาดในครั้งนี้ว่า ก่อนนั้น อาจารย์ชูพินิจ เกษมณี นักวิชาการอิสระ และที่ปรึกษาสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ได้เคยอธิบายเอาไว้ว่า “สิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าป่าที่อุดมสมบูรณ์จะไม่มีเหตุการณ์น้ำป่า  แต่นักวิชาการป่าไม้ต่างชาติเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า น้ำป่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากป่าดงดิบ หรือป่าที่อุดมสมบูรณ์ เหตุผลคือ ป่าดงดิบ/ป่าปฐมภูมิที่มีพรรณไม้หนาแน่น ปรกติผืนดินได้อุ้มน้ำไว้อย่างเต็มที่แล้ว เมื่อฝนตกในป่าประเภทนี้ ผืนดินไม่สามารถดูดซับน้ำได้มากนัก จึงไหลลงสู่พื้นที่ต่ำ ยิ่งฝนตกหนักต่อเนื่อง น้ำที่ไหลลงก็จะมีสภาพเป็นน้ำป่าที่รุนแรง ช่องทางน้ำธรรมชาติขนาดเล็กที่มีอยู่จึงระบายไม่ทัน น้ำป่าจึงใช้ถนนเป็นทางระบายโดยเร็ว”

จตุพร เทียรมา อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็ออกมาเตือนว่า อย่าเหมารวม กรณีมีข้อสังเกตจากนักวิชาการ ว่า ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้ลดลงจากปี 2565 เหลือเพียง 171,143.04 ไร่ เพราะการตัดไม้ทำลายป่า เปลี่ยนภูเขาเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ปีละเกือบ 200,000 ไร่ เป็นสาเหตุสำคัญของอุทกภัยและดินถล่มครั้งใหญ่ของ จ.เชียงราย, เชียงใหม่, ลำปาง, แพร่, น่าน และพะเยา

จตุพร เทียรมา ให้ข้อมูลในรายการ Flash Talk (24 ก.ย. 67) ว่า การทำเกษตรในแต่ละพื้นที่ ไม่เหมือนกัน บางจุดเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวบนพื้นที่สูง บางจุดเป็นพื้นที่เกษตร ที่ดูแลระบบนิเวศไปด้วย เช่น “ไร่หมุนเวียน” ซึ่งทำเกษตรและพักฟื้นพื้นที่ ให้ระบบนิเวศฟื้นฟู โครงสร้างการอุ้มน้ำใกล้เคียงกับระบบนิเวศในป่า ส่วนระบบ “ไร่เชิงเดี่ยว” จะต่างกัน เพราะเน้นปลูกพืชชนิดเดียว เช่น ปลูกข้าวโพดอย่างเดียว ทำซ้ำ ๆ การอุ้มน้ำหรือโครงสร้างของดินที่จะรับน้ำก็แตกต่างกัน อย่ามาเหมารวม ระบบไร่หมุนเวียน กับ ระบบพืชเชิงเดี่ยว คือความต่างของการใช้ที่ดินบนพื้นที่สูง 

ที่มา : the Active.net

จตุพร เชื่อว่า สาเหตุหลักของน้ำป่าไหลหลากที่เกิดขึ้น ไม่สามารถเหมารวมได้ว่า ชาวบ้านทุกพื้นที่ทำลายป่า เพราะชาวบ้านที่ห้วยหินลาดใน สร้างระบบจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างสมบูรณ์ แต่ที่เกินเงื่อนไขจะรับมือคือฝนที่ตกหนัก และแช่นานอยู่ในพื้นที่ คล้าย Rain Bomb ซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อนทำให้เมฆฝนไม่เคลื่อนตัวไปตกพื้นที่อื่น จนเกิดดินสไลด์ น้ำป่าไหลหลาก 

เช่นเดียวกัน สมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงา ก็สะท้อนความเห็นเอาไว้ว่า คืออันนี้งงว่าผู้คนแยกไม่ออกระหว่างน้ำป่าไหลหลากกับดินโคลนถล่ม  นี่เรายังต้องเถียงกันว่าการมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ย่อมเป็นการป้องกันหรือทุเลาปัญหาน้ำป่าไหลหลากหรือไม่กันอีกเหรอ ถ้าน้ำฝนปริมาณเท่ากันตกอยู่บนเขาที่หัวโล้นกับป่าที่สมบูรณ์มันจะเหมือนกันได้อย่างไร? ความสามารถในการดูดซับน้ำย่อมดีกว่าแน่นอนและยังทำให้ชะลอการไหลของน้ำได้อีกด้วย แต่แน่นอนว่าถ้าฝนหนักมากความสามารถเกินความสามารถของการอุ้มน้ำย่อมเกิดน้ำหลากได้เช่นกัน แต่เบากว่าแน่นอน  ส่วนดินโคลนถล่มนั้นเกิดขึ้นอยู่บนเงื่อนไขของความลาดชันและปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา เมื่อดินอิ่มน้ำเต็มที่จนถึงจุด Critical mass มันก็เกิดดินสไลด์ขึ้นที่ผู้คนจำนวนหนึ่งโต้แย้งกันอยู่ ไม่ทราบว่าเถียงกันเรื่องโคลนถล่มหรือน้ำป่า ไหลหลาก

สื่อสาธารณะโดนประชาสังคมยำเละ เมื่อนำเสนอข้อมูลด้านเดียว

กระแสประเด็นนี้ยังไม่หยุด เมื่อผู้สื่อข่าวสื่อโทรทัศน์สาธารณะช่องหนึ่ง ได้มีการทำสกู๊ปรายงานออกมานำเสนอ โดยระบุว่า ป่าต้นน้ำ เวียงป่าเป้า หาย ต้นเหตุน้ำป่ารุนแรง-ภูเขาหัวโล้น พื้นที่ปลูกเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว โดยมีการสัมภาษณ์นักวิชาการคนที่ออกมาโพสต์ข้อมูลผ่านสื่อโซเซียลมีเดียของตนเอง ซึ่งยังคงใช้ข้อมูลชุดเดิม ที่เหมารวม และมีอคติต่อชาติพันธุ์อยู่เหมือนเดิม จนทำให้ภาคประชาสังคม เครือข่ายชาติพันธุ์ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย 

จี้สื่อและนักวิชาการบางคนหยุดแปะป้าย ‘ไร่หมุนเวียน’ เป็นต้นตอน้ำป่าไหลหลาก และยุติผลิตซ้ำอคติต่อชาวชาติพันธุ์ 

26 ก.ย. 2567 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) ร่วมด้วยสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เรื่อง “จงหยุดพฤติกรรมแปะป้าย ‘ไร่หมุนเวียน’ เป็นสาเหตุน้ำป่าไหลหลากอย่างไร้สามัญสำนึก” เพื่อตอบโต้กรณีหลังจากมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ ปรากฏภาพน้ำท่วมชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน ม.7 ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เมื่อ 23 ก.ย. 2567 และมีผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนบางราย กล่าวหาว่าโดยโยงว่า ‘การทำไร่หมุนเวียน’ ที่เป็นวิถีวัฒนธรรมและการเกษตรดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ มีการตัดไม้ทำลายป่า และเป็นสาเหตุของน้ำป่าไหลหลาก และเกิดผลกระทบต่อคนเมือง

แถลงการณ์ระบุว่า ยกตัวอย่าง เพจเฟซบุ๊กหนึ่งใช้ภาพมุมสูงชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน ผูกกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวจนภูเขาหัวโล้น นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมบางคนเปิดตัวเลขการสูญเสียพื้นที่ป่า เหมารวมรูปแบบการเกษตรทุกประเภท และอ้างว่าประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในป่าเป็นต้นเหตุ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางรายนำภาพพิธีหยอดข้าวไร่มาวิจารณ์อย่างรุนแรง สื่อสาธารณะบางช่องให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง  

แถลงการณ์ระบุต่อว่า การกระทำลักษณะนี้ถือเป็นการซ้ำเติมปัญหาของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่มีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนมนุษย์ นำเสนอข้อมูลไม่อยู่บนฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง และหลักวิชาการ รวมถึงนำภาพของชุมชนไปใช้และสร้างความเสื่อมเสีย โดยไม่มีการขออนุญาตจากชุมชน

นอกจากนี้ การปฏิบัติงานและการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน และสื่ออื่นๆ กำลังสร้างอคติเหมารวมคนชาติพันธุ์โดยไม่แสวงหาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านจากในพื้นที่ สร้างผลกระทบต่อผู้ที่ไม่มีอำนาจต่อรอง และขาดความกล้าหาญในการนำเสนอต้นตอสาเหตุของปัญหา นำเสนอข้อมูลลักษณะจับแพะชนแกะหาแพะรับบาปในปัญหาสิ่งแวดล้อม

ย้ำ ‘ไร่หมุนเวียน’ เป็นเกษตรยั่งยืนที่รัฐยอมรับ

ข้อมูลจากแถลงการณ์ของ มพน. และ สกน. ระบุด้วยว่า ชุมชนห้วยหินลาดใน ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่แต่เดิมเคยถูกรัฐไทยใช้ทรัพยากรป่าจนเสื่อมโทรม และเป็นประชาชนชาวปกาเกอะญอในพื้นที่ฟื้นฟูป่าจนกลับมาอุดมสมบูรณ์ ร่วมคัดค้านการให้สัมปทานป่าไม้โดยรัฐ จนมีนโยบายป่าการสัมปทานในที่สุด ทั้งนี้ พื้นที่จัดการทรัพยากรของชุมชนทั้ง 10,279.7 ไร่ มีพื้นที่ป่าที่อุมดมสมบูรณ์มากถึง 8,635.37 ไร่ นอกนั้นคือพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่เป็นระบบการเกษตรเพื่อการสมดุลนิเวศ พื้นที่สวนวนเกษตร และพื้นที่อยู่อาศัย

การจัดการของชุมชนได้รับการยอมรับจากหลายหน่วยงานทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ รวมถึงชุมชนได้เป็นพื้นที่นำร่องประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง รวมถึงยังมีหลายงานวิจัยที่ยืนยันว่า ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน ดูดซับฝุ่นและคาร์บอน และยังสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมจนได้เป็นหนึ่งในรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืนของชาติที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยอมรับ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติในปี 2556 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ

แถลงการณ์ระบุต่อว่า การจัดการรูปธรรมที่ชุมชนบ้านห้วยหินลาดในเกิดขึ้นท่ามกลางความเหลื่อมล้ำในด้านคุณภาพชีวิต และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เข้าไม่ถึงสิทธิบรรพชน และเกิดขึ้นท่ามกลางแรงเสียดทานจากมายาคติทางสังคมที่อยากรักษาป่าแต่ต่อต้านคนดูแลป่าโดยชาวชาติพันธุ์ อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ในเว็บไซต์ https://www.lannernews.com/25092567-04/ 

ประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ได้ออกมาย้ำว่า ไม่ได้ต้องการให้นำเสนอข่าวเข้าข้างเรา ไม่ได้ต้องการให้นำเสนอข่าว เอาใจชาวบ้าน ไม่ต้องมาแก้ต่างให้เรา…เราแค่ต้องการให้นำเสนอความจริงให้รอบด้านและไม่ปล่อยให้นักวิชาการมาพิพากษาทำร้ายชาวบ้านอยู่ฝ่ายเดียวก็พอ

เช่นเดียวกับ วศินธร แสนสิงห์ ที่สนใจติดตามและศึกษาในประเด็นทรัพยากรฯ มานานหลายสิบปี ก็ได้ออกมาตำหนิสื่อมวลชนและนักวิชาการคนดังกล่าว ที่นำข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมานำเสนอ ว่า โพสต์แรกๆ ของนักวิชาการคนนี้ เอาภาพต่างเวลา ต่างสถานที่ มาเขียนลงคอนเทนต์เดียวกัน แล้วเอาภาพดาวเทียมในพื้นที่ติดกันมาเขียนอีก แต่พิกัดตำแหน่งหมู่บ้าน เส้นทางและทิศทางน้ำไหล เหนือ ใต้ ออก ตก ผิดเพี้ยนไปหมด ทั้งๆ ที่บ้านห้วยหินลาดในอยู่ต้นน้ำ ในขณะที่บ้านป่าตึง ที่ไปกล่าวหาว่าเขาปลูกข้าวโพดทำลายป่านั้นอยู่ต่ำลงมา 6-7 กม. แล้วไปสรุปว่าบ้านห้วยหินลาดในถูกโคลนถล่ม เพราะมีการทำไร่ข้าวโพดบนต้นน้ำ มันจะเป็นไปได้ยังไง

“ส่วนนักข่าวก็ยิ่งมั่ว แล้วก็ไปทำสกู๊ปมั่ว สื่ออื่นๆ ก็นำไปเผยแพร่มั่วๆ คนดูก็เลยมั่วตาม ทีนี้เลยมั่วกันไปหมด จนภาคประชาสังคมต้องมาคัดค้าน ส่วนจะมีฟ้องเอาผิดผู้กล่าวหาหรือไม่นั้น ซึ่งจริงๆ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการฟ้องนะ เพราะในด้านกลับกัน อาจจะทำให้นักวิชาการที่อุทิศตัวให้ประชาชนที่มักจะมีกรณีถูกฟ้องจากบรรษัทหรือหน่วยงานรัฐถูกฟ้องปิดปากได้ง่ายขึ้น ผมเลยเห็นว่าควรใช้พลังทางสังคมกดดันให้เขาออกมารับผิดชอบ ทั้งลุงนักวิชาการคนนั้น ทั้งสื่อที่ทำสกู๊ปนี้ออกมา โดยขอให้ทั้งสองแถลงการณ์ขอโทษออกสื่อทุกประเภท หรือจะทำเป็นหนังสือแถลงการณ์ขอโทษผ่านสื่อ 7 วัน 10 วัน หรืออะไรแบบไหนก็ว่าไป แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ชุมชนและเครือข่ายประชาสังคมว่าจะตกลงกันยังไง”

ล่าสุด ผศ. ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ออกมาเผย พร้อมภาพพื้นที่ป่าที่อยู่ล้อมรอบชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน ที่ทีมโดรนจิตอาสา บ้านหินลาดใน ได้บินสำรวจ โดยระบุว่า ดูกันชัดๆ ครับ สภาพจุดเกิดเหตุน้ำป่าและดินโคลนถล่มที่บ้านหินลาดใน จังหวัดเชียงราย จะเห็นได้ว่าสภาพพื้นที่เป็นเขาสูงชัน มีป่าสมบูรณ์มาก ลักษณะแบบนี้เป็นมีความเสี่ยงดินโคลนถล่มหากเกิดฝนตกหนักอยู่แล้ว และนักธรณีวิทยาอาจจะไขคำตอบได้ว่า ทำไมจึงเกิดน้ำป่าและดินโคลนถล่มที่หินลาดใน เพื่อหาทางป้องกันต่อไป

การเกิดน้ำป่าและดินโคลนถล่มที่หินลาดในไม่เกี่ยวอะไรทั้งสิ้นกับเขาหัวโล้น ไร่ข้าวโพด หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ผู้สื่อข่าวสำนักหนึ่งและนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวอ้าง เพราะอยู่กันคนละสันเขาและระดับอยู่ต่ำกว่าจุดเกิดเหตุ และรูปที่นักวิชาการไป copy จากที่ไหนไม่รู้มาโพสต์ประกอบเพื่อให้คนคล้อยตามก็ไม่เกี่ยวกัน

“ป่าที่บ้านหินลาดในสมบูรณ์มาก เพราะชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดในร่วมกันอนุรักษ์ตั้งแต่ยังไม่มีความคิดสีเขียวในสังคมไทย ทั้งนี้ก็เพราะวิถีชีวิตและโลกทัศน์ที่เคารพต่อธรรมชาติของชาวปกาเกอะญอ แม้ยุคสมัยเปลี่ยน แต่พวกเขาก็ไม่ได้เปลี่ยนตาม จนกระทั่งการอนุรักษ์ของชาวปกาเกอะญอบ้านหินลาดในเป็นที่ยอมรับทั้งระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับสากล”

ย้ำ ป่าบ้านห้วยหินลาดในที่ชาวบ้านรักษาเป็นป่าชุมชน ไม่ได้เหมือนผลไม้ที่ข้างในมีหนอนอย่างที่นักข่าวบรรยาย 

ผศ. ดร. ไชยณรงค์ บอกอีกว่า แม้นักข่าวและนักวิชาการจะไม่ได้กล่าวหาตรงๆ ว่าชาวปกาเกอะญอบ้านหินลาดในทำลายป่า ทำให้เกิดเขาหัวโล้นที่เป็นสาเหตุของภัยพิบัติ แต่ทั้งการเสนอข่าวของนักข่าวและการโพสต์ของนักวิขาการหลายโพสต์ส่อไปทางนั้น ซึ่งคนดูข่าวและคนอ่านโพสต์ก็เข้าใจอย่างนั้น เห็นได้จากข่าวของสำนักข่าวมีการนำไปอ้างอิงต่อ และโพสต์ของนักวิชาการมียอดไลค์ยอดแชร์จำนวนมาก รวมทั้งมีคอมเมนท์ที่ลามไปสู่การกล่าวหาคนบนพื้นที่สูงตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกข้าวโพดที่เป็นสาเหตุของอุทกภัยในภาคเหนือ ที่สมควรโดนผลกระทบ

“การรายงานข่าวและการโพสต์บิดเบือนข้อมูลจากจุดเล็กๆ ได้ผลิตซ้ำวาทกรรมชาวเขาทำลายป่าที่มีมานานในสังคมไทย ที่สร้างความเสียหายให้กับกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง และเป็นการป้ายสีให้คนบนพื้นที่สูงต้องตกเป็นแพะรับบาปสำหรับอุทกภัยในครั้งนี้ การเป็นผู้สื่อข่าวจำเป็นต้องไม่ทำงานเพราะความเชื่อบางประการ หรืออคติใดๆ จะละเลยการพิจารณาข้อเท็จจริงที่รอบด้านและไม่คำนึงผลที่จะตามมาไม่ได้ จึงต้องยึดจรรยาบรรณในการทำงาน ยิ่งเป็นสื่อสาธารณะ ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับเสียงของคนเล็กคนน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ คนชายขอบ ที่ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงและใช้สื่อ ซึ่งเป็นหลักการสื่อสาธารณะที่เป็นสากล

ส่วนการเป็นนักวิชาการ ก็ต้องใช้ความรู้ที่ตนมีอย่างสุดความสามารถเพื่อช่วยตอบปัญหาให้กับสังคม การจะโพสต์จะให้สัมภาษณ์ก็ต้องรู้จริง ถ้าไม่รู้จริง แต่เผยแพร่ขัอมูลหรือสัมภาษณ์โดยสรุปจากการดูแต่แผนที่กูเกิลแล้วมโน หรือเอารูปมาแปะเพื่อให้สังคมเข้าใจอีกแบบ ไม่แม้แต่จะศึกษาข้อมูลทั้งจากพื้นที่ หรืองานวิจัยที่ทำมากมายที่บ้านหินลาดใน รวมถึงการแยกแยะระหว่างไร่หมุนเวียนที่รัฐยังยอมรับว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมกับไร่จ้าวโพด ท่านก็ทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคม โดยเฉพาะการสร้างความแตกและความเกลียดชัง ซึ่งไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง”

Ae Korat ทีมอาสาสมัคร เครือข่ายเชียงใหม่-เชียงราย ได้บอกว่า ในฐานะอาสาสมัครผู้สังเกตการณ์และเรียนรู้ผ่านการพูดคุยกับพี่น้องชาวบ้าน  ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ขออนุญาตตั้งข้อสังเกตสั้นๆ ให้ช่วยกันคิดและศึกษาต่อในรายละเอียดเพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้าใจและแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไปดังนี้

– การเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตรซึ่งมีหลายระบบในชุมชนเขตนี้ที่มีทั้งไร่หมุนเวียน  นาข้าว โครงการหลวง พื้นที่ปลูกข้าวโพด (ทั้งในพื้นที่ประสบภัยพิบัติและพื้นที่ใกล้เคียงในระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำ) 

– ลักษณะการจัดการที่ดิน ป่าไม้ การเกษตรและระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ที่แตกต่างกันของแต่ละหมู่บ้าน

– ความแตกต่างทางชาติพันธุ์และความคิดความเชื่อในการจัดการทรัพยากร รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนผ่านในด้านต่างๆจากรุ่นสู่รุ่น (ปกาเกอะญอ ลาหู่ ลีซู คนเมืองพื้นราบ) 

– กฎหมายนโยบายที่มีผลกระทบกับการจัดการทรัพยากร ระบบการเกษตรและวิถีชีวิตของชุมชน

– ปริมาณน้ำฝนที่มากผิดปกติในปีนี้จากสภาวะโลกร้อน

– อากาศที่ชุ่มชื้นเนื่องจากความสมบูรณ์ของผืนป่าที่ทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่หินลาดในและหมู่บ้านใกล้เคียง (เฉพาะพื้นที่ป่าชุมชนบ้านหินลาดดูแลครอบคลุมเกือบ 2 หมื่นไร่) 

– สภาพดิน ภูมิประเทศและธรณีวิทยาที่เสี่ยงต่อดินสไลด์ 

– การปรับเส้นทางน้ำของบ้านหินลาดในเมื่อ 30 ปีก่อน (กรณีเฉพาะบ้านหินลาดใน)

ด้วยความรู้อันน้อยนิดของเราและได้เห็นนักต่างๆ ออกมาพูดมากมายหลายทิศทาง จึงอยากเสนอให้มีการศึกษาร่วมกันอย่างเป็นระบบของนักต่างๆ เหล่านั้นร่วมกับชุมชนในพื้นที่ เช่น นักวิชาการป่าไม้ นักวิชาการเกษตร นักธรณีวิทยา นักภูมิศาสตร์ นักอุทกวิทยา นักอุตุนิยมวิทยา นักพัฒนา นักมนุษยวิทยา นักชาติพันธุ์วิทยา นักสังคมวิทยา นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป มากกว่าจะชี้นิ้วว่าใครใดหนึ่งเป็นผู้ผิด โดยไม่มองว่าปัจจัยตัวแปรต่างๆ นั้นมีมากมายและมีความซับซ้อน และเราทุกคนควรรับผิดชอบโลกใบนี้ร่วมกัน

ร้อนยาว หนาวสั้น ฝนหนัก: แนวโน้มสภาพอากาศของไทยในสภาวะโลกรวน!!  

www.the101.world รายงานว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เกิดจากการที่ก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมากเกินขีดความสามารถที่ธรรมชาติจะดูดซับได้ทั้งหมด หมุดหมายสำคัญคือยุคอุตสาหกรรม ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ก๊าซเรือนกระจกสำคัญๆ ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก๊าซเหล่านี้ดูดซับและสะท้อนความร้อนสู่พื้นผิวโลก ทำให้อุณหภูมิร้อนกว่าปกติ หรือที่เรียกว่า‘ปรากฏการณ์เรือนกระจก’

กิจกรรมของมนุษย์ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกพุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว จากเคยคงระดับที่ 280 ppm (parts per million) เป็นเวลายาวนานหลายล้านปี ก็ทะลุเป็นระดับ 410 ppm ในปี 2019 ก่อนจะทุบสถิติใหม่ของมนุษยชาติในปี 2022 ด้วยระดับความเข้มข้นที่ 421 ppm หรือสูงกว่าระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 50%[1] ส่งผลให้ปรากฏการณ์เรือนกระจกทวีความรุนแรง โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนเกิดภาวะโลกร้อนและกระตุ้นให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนจากเดิม ไม่เพียงแค่อากาศร้อนผิดปกติ แต่ยังเกิดปรากฏการณ์และภัยพิบัติต่างๆ ในหลายพื้นที่บนโลกที่ทั้งผันผวน รุนแรง และคาดเดาได้ยาก

แน่นอนว่า ประเทศไทย ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยร้อนขึ้นอย่างชัดเจน โดยอุณหภูมิสูงสุด อุณหภูมิเฉลี่ย และอุณหภูมิต่ำสุดรายปีของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 0.96 0.92 และ 1.04 ตามลำดับ[2] และอุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกราว 2 องศาในปี 2050 หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยยังมีปริมาณมากเท่าในปัจจุบันและไม่มีนโยบายรับมือที่ดีพอ

นอกจากนี้ ปริมาณฝนของประเทศไทยก็มีความแปรปรวนมากขึ้นทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา โดยปริมาณฝนสะสมรายปีเพิ่มขึ้นในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย แต่ลดลงในภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งอันดามัน หากพิจารณาช่วงเวลาที่ฝนตกพบว่า ปริมาณฝนสะสมรายเดือนช่วงพฤศจิกายนถึงเมษายนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอัตรา 10.8 มิลลิเมตรต่อทศวรรษ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของมรสุมฤดูหนาวเอเชียในเวลาเดียวกัน ทำให้ไทยมีแนวโน้มเผชิญกับเหตุการณ์ฝนตกหนักถี่ขึ้นและบางพื้นที่ก็มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมฉับพลันมากขึ้นอีกด้วย

เพื่อคาดการณ์ระดับอุณหภูมิในอนาคต คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel of Climate Change: IPCC) ได้สร้างแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนำเสนอสมมติฐานหลากหลายรูปแบบใน ‘4 ฉากทัศน์’ แต่ละฉากทัศน์มีเส้นตัวแทนความเข้มข้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ RCP (Representative Concentration Pathways) ที่สะท้อนระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวโน้มอุณหภูมิ และความพยายามดำเนินนโยบายเพื่อรับมือวิกฤตของประชาคมโลก ตั้งแต่ปี 2000 จนถึง 2100 ดังนี้

ในฉากทัศน์ที่ถือว่าเป็นอุดมคติที่สุด (RCP2.6) ทุกประเทศร่วมมือผลักดันนโยบายภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) คาดการณ์ได้ว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิจะลดลงเหลือศูนย์ในปี 2080 และอุณหภูมิของประเทศไทยในปี 2100 จะสามารถควบคุมให้ไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.07 องศาเซลเซียสได้ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากที่สุด

ในฉากทัศน์ระดับกลาง (RCP4.5) การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จะถึงจุดพีคในปี 2050 อุณหภูมิประเทศไทยสูงขึ้น 2.05 องศาเซลเซียสในปี 2100

ในฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด (RCP8.5) เมื่อโลกไม่สามารถสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงปี 2050 จนความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 950 ppm ในปี 2100 พร้อมกับอุณหภูมิประเทศไทยที่ทะยานขึ้น 4.29 องศาเซลเซียส

ไทยเปราะบางต่อโลกรวน สูญเสียทั้งชีวิตคนและเศรษฐกิจ

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอีกเกือบ 100 ปี อาจดูเป็นเรื่องไกลตัวที่ยังไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมจนกลายเป็นวาระหลักของสังคมได้มากนัก แต่ในความเป็นจริงความเสียหายจากวิกฤตดังกล่าวได้ปรากฏให้เห็นแล้วตั้งแต่วันนี้และจะลุกลามขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยเป็นประเทศที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกตลอด 20 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะกระทบหนักขึ้นในอนาคต

เช่นเดียวกับ ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้โพสต์ในเพจ Thon Thamrongnawasawat ว่า ช่วงนี้ผมพูดเรื่องโลกร้อนหลายแห่ง คำถามจะคล้ายกัน ทำไม 5-6 ปีที่ผ่านมา เหมือนกับว่าภัยพิบัติเกิดขึ้นรัวๆ ถี่กว่าสมัยก่อน จึงทำภาพนี้มาอธิบายเพื่อนธรณ์ครับ

เริ่มจากช่องบบนซ้าย เป็นกราฟอุณหภูมิโลกจาก NASA จะเห็นว่าก่อนหน้านั้นโลกก็ร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่หลังปี 2000 ความร้อนชักเพิ่มเร็ว แล้วกลายเป็นพุ่งชันในช่วง 4-5 ปีจนถึงตอนนี้

มาดูภาพล่าง นั่นคือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในโลก นับเฉพาะที่สร้างความเสียหายเกิน 1 พันล้านเหรียญ (34,000 ล้านบาท) จะเห็นว่าจำนวนภัยพิบัติเพิ่มขึ้นเห็นได้ชัด โดยเฉพาะช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา 

เทียบให้ชัดๆ ปี93 มีภัยพิบัติ 5 ครั้ง 

ปี 2023 มีภัยพิบัติ 23 ครั้ง

สามสิบปี ภัยพิบัติเพิ่มขึ้น 4 เท่าเศษ !

มาถึงภาพสุดท้าย แผนที่ความเสี่ยงภัยพิบัติ ผมเอามาให้ดูเฉพาะแถวเมืองไทย เฮอริเคนคือไต้ฝุ่นและพายุหมุนทั้งหลาย เมืองไทยอยู่ด้านใน ไม่ได้รับผลกระทบจากไต้ฝุ่นเข้าโดยตรง แต่เราคือประเทศเสี่ยงมาก ๆ เรื่องน้ำท่วมจากฝนที่มาพร้อมพายุ 

จากทั้ง 3 ภาพ คงตอบได้ว่าภายในช่วงไม่กี่ปี ทำไมถึงมีภัยพิบัติมาถี่ๆ ปัญหาคือต่อไปมันจะถี่กว่านี้ เพราะนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกล้วนฟันธงตรงกันว่าโลกจะร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เกี่ยวกับว่าจะ net zero ปีไหน ? เพราะไม่ว่าจะทำยังไง ในช่วง 10-20 ปีต่อจากนี้ มีแต่โลกร้อนเป็นจรวด

การรับมือระยะสั้นเป็นเรื่องจำเป็น แต่การมองไปข้างหน้า เราต้องรับมือน้ำท่วมตรงนี้แบบนี้อีกกี่ครั้งในอนาคต ต้องเสียเงินอีกเท่าไหร่ในการซ่อมแซมฟื้นฟู มันอาจทำให้เราคิดได้ว่า หากอยากอยู่ตรงนี้ต่อไป มันคุ้มหรือไม่ที่จะสู้แบบไปตายเอาดาบหน้า 

มันคุ้มหรือไม่ในการกู้เงิน 20-30 ปีเพื่อมีบ้านสักหลัง มีกิจการสักอย่างในพื้นที่เสี่ยง ในยุคที่ภัยพิบัติมาถี่ขึ้นเรื่อยๆ การลงทุนที่รอบคอบ อาจต้องพิจารณาภัยพิบัติเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เช่นนั้น world economic forum คงไม่ยกให้ extreme weather เป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งของโลก

“จึงนำเรื่องนี้มาบอกเพื่อนธรณ์ให้ลองคิด มันอาจยากต่อความเข้าใจเนื่องจากไม่มีใครเคยอยู่ในยุคโลกเดือด คำสั่งสอนบางเรื่องของคุณปู่คุณตาในยุคก่อน อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในยุคนี้ แต่นี่แหละคือเรื่องที่ผมอยากเล่า เพื่อตอกย้ำว่า นอกจากเราต้องช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก ปลูกต้นไม้รักษาธรรมชาติ ฯลฯ สิ่งสำคัญคือเราต้องหาทางเอาตัวรอดให้ได้ ด้วยความเข้าใจโลกเดือดและวางแผนระยะยาวไว้ล่วงหน้าเพื่อรับมือ รับมือไม่จำเป็นต้องสู้เสมอไป รับมืออาจหมายถึงถอยได้เมื่อรู้ว่าภัยจะมาแน่และจะมามากขึ้น หรือแม้กระทั่งไม่ไปอยู่ในพื้นที่ซึ่งไงๆ ก็คงโดน เราคงไม่อยากพึ่งพี่ๆ กู้ภัยหรือน้ำใจจากการบริจาคตลอดไป ในยามที่โลกกำลังใกล้ลุกเป็นไฟครับ”

ในขณะที่เวบไซต์ ห้วยหินลาดใน www.hinladnai.com ก็รายงาน ทำไมถึงเกิดน้ำป่าไหลหลากที่หินลาดใน เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ต้นน้ำหินลาดในเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านที่นี่ป้องกันไฟป่าไม่ให้ไฟลามเข้ามาเป็นเวลาเกือบ 40 ปีติดต่อกัน ป่าจึงมีสภาพที่คล้ายๆฟองน้ำที่สามารถดูดซับปริมาณน้ำได้จำนวนมาก ประกอบกับต้นไม้ต้นใหญ่ๆมีเป็นจำนวนมากจึงสามารถคงเป็นสภาพที่เอื้อต่อการดูดซับน้ำได้อย่างดีตลอดหลายสิบปี

เนื่องจากปีนี้ปริมาณน้ำฝนมีจำนวนมากขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อนหน้านี้ ประมาณเที่ยงคืนวันที่ 22 กันยายน 2567 ฝนได้ตกลงมาอย่างหนักและตกติดต่อกันยาวนานไปจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2567 และยังตกต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ (วันที่ 26 กันยายน 2567) จากเหตุที่ฝนตกหนักและนานทำให้ปริมาณน้ำฝนมหาศาลลงมากยังป่าต้นน้ำบ้านหินลาดใน เดิมทีที่แห่งนี้ก็เก็บซับน้ำไว้อยู่แล้วก่อนหน้านี้ประกอบกับฝนได้ตกต่อเนื่องอีกจึงทำให้ปริมาณน้ำเกินมากเกินกว่าที่ป่าแห่งนี้จะรับไหว จึงทำให้ต้นไม้ซึ่งมีน้ำหนักมาก ดินที่อุ้มน้ำจำนวนมาก และอยู่บนลักษณะลาดเอียง ในที่สุดจึงไหลลงมาทั้งดิน น้ำ และต้นไม้ เท่านี้ยังไม่พอยังไหลลงมากั้นทางน้ำอีกพอน้ำถูกกั้นก็สะสมปริมาณมากขึ้นจนทะลักออกมาในลักษณะคล้ายกับเขื่อนที่แตกลงมาจึงปรากฏภาพอย่างที่เห็นกันในสื่อ

ที่มาภาพ : ทีมโดรนจิตอาสา

เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ยังเกิดขึ้นทั้งโลกด้วย ทั้งประเทศทางยุโรปและประเทศญี่ปุ่น สาเหตุหลักเนื่องจากภาวะโลกร้อน ตอนนี้อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงขึ้นประมาณ 1.1-1.5 องศา ทำให้การระเหยของน้ำมีปริมาณมากขึ้นควบแน่นเป็นก้อนเมฆที่ใหญ่ขึ้นจึงทำให้ฝนตกลงมาหนักขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน มากเกินกว่าที่กลไกธรรมชาติจะรองรับได้เป็นเหตุทำให้เกิดเหตุการณ์ที่บ้านหินลาดในขึ้นมา หลังจากนี้เป็นต้นไปคาดการว่าปริมาณฝนน่าจะมีมากขึ้นทุกปีเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจากการใช้ทรัพยากรด้วยความโลภของมนุษย์ในการตอบสนองความต้องการที่เกินกว่าความจำเป็น 

เพราะฉะนั้น เรื่องของสิ่งแวดล้อมจำเป็นที่ต้องทำเป็นลักษณะทุกที่ในวงกว้าง และเป็นเรื่องของคนทุกคน เพราะโลกใบนี้เป็นโลกของเราทุกคน และเป็นทั้งของสิ่งมีชีวิตอื่นๆนอกเหนือจากมนุษย์ด้วย

บทความของเวบไซต์ห้วยหินลาดใน คงเหมือนต้องการจะตอบคำถามของสื่อ ของสังคม รวมไปถึงนักวิชาการบางคนที่ชอบเหมารวมและแฝงไปด้วยอคติทางชาติพันธุ์ที่มักกล่าวอ้างลอยๆ ว่า เหตุน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่มในครั้งนี้นั้น มาจากการตัดไม้ทำลายป่า การถางไร่ เหนือหมู่บ้าน ซึ่งหลายคนมองว่า นี่เป็นการวิพากษ์ที่ให้ข้อมูลบิดเบือนผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ส่งผลทำให้ชุมชนแห่งนี้เสื่อมเสีย และไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยไม่ได้ดูบริบทภาพรวมของปัญหาหรือปรากฎการณ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นไปทั่วโลกในขณะนี้ 

ข้อมูลและอ้างอิง

  • ภาพประกอบ : *โจ้ หนังแลกลาบ,โพควา โปรดักชั่น นักสื่อสารชาติพันธุ์,ทีมอาสาสมัคร,ทีมโดรน จิตอาสา
  • ไทยต้องสูญเสียอะไรบ้าง หากการแก้ปัญหาโลกรวนยังไปไม่ถึงไหน?, www.the101.world, 3 Dec 2022
  • ทำไมถึงเกิดน้ำป่าไหลหลากที่หินลาดใน,www.hinladnai.com
  • ภาคประชาสังคมร้องสื่อหยุดแปะป้าย ‘ไร่หมุนเวียน’ เป็นต้นตอน้ำป่าไหลหลาก,ประชาไท, 26 กันยายน 2567
  • “ชีวิตพอเพียง” รวมเรื่องราว “นวัตกรรมการสร้างสุขภาพ” ที่ดำเนินชีวิตด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง : สำนักงานปฏิรูปสุขภาพแห่งชาติ(สปรส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขกระทรวงสาธารณสุข,ตุลาคม 2549                                         
  • “ห้วยหินลาดใน” หมู่บ้านของความสุข-ความพอเพียงแท้จริง มิใช่เสแสร้งแกล้งทำ, ประชาไท,องอาจ เดชา, 28 พฤศจิกายน 2549
  • IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change):https://www.ipcc.ch
  • NASA Climate Change:https://climate.nasa.gov
  • NOAA Global Climate Change Indicators:https://www.ncdc.noaa.gov/monitoring-references/faq/global-warming.php
  • https://www.mlit.go.jp:8088/river/pamphlet_jirei/kasen/gaiyou/panf/pdf/2024/kasengaiyou2024_1.pdf

อำลาด้วยอาลัย “เกริก อัครชิโนเรศ” : ชีวิตและการเดินทางจากร้านขายยาจีนย่านกาดหลวง สู่สำนักเรือนเดิมแห่ง มช.และห้องเรียนตั๋วเมือง ณ วัดพระสิงห์ เชียงใหม่

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

ผู้เขียนทราบข่าวคราวและติดตามอาการความเจ็บป่วยของ “เกริก อัครชิโนเรศ” มาระยะหนึ่งแล้วในฐานะคนที่พอรู้จักมักคุ้นท่านอยู่บ้างก็คงพอที่จะส่งมอบกำลังใจให้ด้วยความปรารถนาดีผ่านช่องทางกล่องข้อความ (Chat box) ของเฟซบุ๊คเพียงเท่านั้นและเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผู้เขียนก็ได้ทราบข่าวการเดินทางไกลจากไปอย่างไม่มีวันกลับของอดีตชายร่างใหญ่ พูดจาขึงขัง เสียงดังฟังชัดและสอดแทรกมุกตลกแสบสันให้ผู้เขียนได้เคยทั้งหัวเราะและเก็บเอาสิ่งที่ชายผู้นี้พูดในวงวิชาการและการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการในหลายกรรมหลายวาระกลับไปครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา

ชื่อของ “เกริก อัครชิโนเรศ” หรือนามลำลองที่แตกต่างกันไปสำหรับใครหลายต่อหลายคน ทั้งอาจารย์เกริก, พ่อครูเกริก, ครูเกริก!!!, ลุงเกริก , อ้ายเกริก , หรือที่แกชอบเรียกชื่อตัวเองแบบขำๆติดตลกในบางครั้งว่า “เก-ริก” แม้กระทั่งปู่เกริก ตลอดจนคำเรียกในทำนองทางลบอื่นใดที่มิใคร่สู้ดีมากนัก ซึ่งผู้เขียนเองก็คงไม่ปรารถนาใคร่อยากสรรหาเอาความมาว่าในข้อเขียนนี้ คำนำหน้านามหรือชื่อที่ถูกใช้เรียกขานจึงสะท้อนลักษณะสัมพันธ์ที่แต่ละปัจเจกบุคคลมีต่อชายผู้นี้ด้วยท่าทีที่แตกต่างกันไปซึ่งแน่นอนว่าคงมีทั้งรักและชังอันเป็นธรรมดาสามัญในโลกมนุษย์ แต่สำหรับผู้เขียนและข้อเขียนนี้ขอเลือกที่จะจัดวางตัวเองในฐานะ “มิตร” ที่อยากมุ่งพินิจพิเคราะห์ชีวิตและการเดินทางของ “สามัญชนคนธรรมดา” คนหนึ่งที่มีจุดเริ่มต้นชีวิตจากการเป็นลูกหลานกิจการร้านขายยาจีนแผนโบราณชื่อดังย่านกาดหลวงแล้วร่ำเรียนหนังสือมาทางด้านสาขาวิชาภาษาอังกฤษแต่กลับ “ข้ามห้วย” หรือข้ามบริบทและพื้นที่ความรู้มาสู่แวดวงวิชาการด้านล้านนาคดีซึ่งจะว่าในตำแหน่งแห่งที่ “อาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยก็มิใช่หรือผู้ให้ความสนใจแบบทั่วไปธรรมดาก็ไม่เชิง” ตลอดจนบทบาทในตอนท้ายเบื้องปลายชีวิตที่ “เกริก” ได้ใช้ความรู้ด้าน “ล้านนาคดีแบบสาธารณะ” ในพื้นที่ความรู้และปฏิบัติการด้านการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) ในฐานะครูสอนอักษรธัมม์ล้านนา (ตั๋วเมือง) และการคำนวณปั๊กกะตืนหรือปฏิทินแบบล้านนา ตลอดทั้งยังมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งชมรมปั๊กกะตืนล้านนา จังหวัดเชียงใหม่

ข้อเขียนนี้จะสำเร็จในระยะเวลาอันเร่งรีบไปไม่ได้หากปราศจากบทสนทนาบางประเด็นจากอาจารย์แสวง มาละแซม ที่ผู้เขียนเคารพรัก และคุณเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมมิตรสหายร่วมรบทางวิชาการและมิตรสหายสุภาพสตรีอาวุโสอีกสองท่านผู้ไม่ประสงค์จะออกนามที่สร้างบทสนทนาอย่างออกรถออกธาตุเพื่อช่วยคลี่คลายให้ผู้เขียนรู้จักอาจารย์เกริกมากขึ้น

ชีวิตและเส้นทางของเส้นทางของ “เกริก อัครชิโนเรศ” จากร้านยาจีนกาดหลวงสู่สำนักเรือนเดิม มช.

ชีวิตและจุดเริ่มต้นของการเดินทางของ “เกริก อัครชิโนเรศ” เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปี พ.ศ.2503 ที่ย่านกาดหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เขียนพอที่จะสืบสาวเรื่องราวของเขาพอได้ความมาว่าเป็นลูกหลานตระกูล “ลี้” หรือ “แซ่ลี้” โดยมีกิจการร้านยาจีนแผนโบราณที่ว่ากันว่าเป็นร้านชื่อดังของเมืองเชียงใหม่  ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญอย่างย่านกาดหลวงอันเป็นที่ผู้จักกันดีอย่าง “ร้านจิ๊บอังตึ้งโอสถ” “จิ๊บ” หมายถึง ส่วนรวม “อัง” หมายถึง ความสงบสุข และ “ตึ้ง” หมายถึง ศาลาที่พัก  โดยจุดเริ่มต้นของกิจการของครอบครัวของเกริก เริ่มตั้งต้นจากปู่ของเขาคือ นายมั่งฮุ้ง  แซ่ลี้ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น มั่น อัครชิโนเรศ อพยพมาจากประเทศจีนและมาอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาอพยพมาอยู่กับญาติที่เมืองเชียงใหม่ขณะอายุประมาณ 20 ปีเศษ เริ่มมาเช่าห้องแถวอยู่ถนนช้างม่อยใกล้ตลาดนวรัฐ ประกอบอาชีพขายผ้าต่อมาแต่งงานกับนางไซหง  แซ่ลั้ง       (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นจินดา) เดิมเช่าเปิดร้านอยู่บริเวณร้านสุจริตพานิช ถนนช้างม่อย ต่อมาย้ายมาเช่าฝั่งตรงกันข้ามซึ่งเป็นอาคารของขุนสมานเวชชกิจและเริ่มขายยาจีนซึ่งคาดว่าปู่ของเขาเองนี้มีความรู้ที่ติดตัวมาจากเมืองจีน

จุดเริ่มต้นของครอบครัว “เกริก อัครชิโรเรศ” จึงมีที่มาที่ไม่ได้ต่างจากครอบครัวคนจีนอื่น ๆ ในย่านกาดหลวงซึ่งมีประวัติการตั้งรกรากของครอบครัวและการเดินทางเข้ามาทำมาค้าขายในพื้นที่ภาคเหนือและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวเมืองสำคัญอย่างเชียงใหม่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (หลัง พ.ศ. 2484)  ทั้งนี้นายมั่งฮุ้งมาซื้อห้องแถวชั้นเดียวจำนวน 4 ห้องถัดจากที่เช่าเดิมไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของเถ้าแก่โอ๊ว และสร้างตึกเป็นร้านค้าขึ้นมา โดยมีช่างก่อสร้างชื่อ ช่างตินเป็นชาวเวียดนามที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ ช่างก่อสร้างเป็นช่างเวียดนามทั้งสิ้น มีฝีมือดีที่สุดในขณะนั้นนอกจากนายมั่งฮุ้ง  แซ่ลี้ จะขายยาจีนแล้ว ยังประกอบกิจการอื่นอีกหลายอย่าง คือ หุ้นกับเพื่อนค้าลำไย , หุ้นทำร้านดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ชื่อร้านไทยสงวน ขายเครื่องกระป๋องเป็นหลัก , ประมูลทำกิจการโรงฝิ่นหลายแห่งในภาคเหนือ , ทำโรงเหล้าที่อำเภอฝาง อำเภอพร้าว ภายหลังหุ้นทำแร่วูลแฟลมที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เป็นต้น   กิจการค้าขายที่ดำเนินการโดยปู่ของ “เกริก” นั้นได้ขยายและวางรากฐานความมั่งคั่งให้กับตระกูลในช่วงระยะเวลาต่อมาเมื่อ “มั่น อัครชิโนเรศ” ผู้เป็นปู่ของ “เกริก” เสียชีวิตลงโดยธุรกิจร้ายยาของเขาถูกเปลี่ยนมือไปสู่ลูกชายคนโตของครอบครัวนั่นคือนายเกรียง  อัครชิโนเรศ (บิดาของเกริก) ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบกิจการของร้านต่อมา ทั้งนี้นายเกรียงได้สมรสกับเพ็ญพรรณ อัครชิโนเรศ โดยมีเกริก อัครชิโนเรศเป็นบุตรคนแรก

เกริก อัครชิโนเรศ เริ่มต้นชีวิตทางการศึกษาในระบบเฉกเช่นเดียวกันลูกหลายคนจีนในย่านกาดหลวงหลายๆบ้านที่มักจะส่งบุตรหลานพวกเขาเข้าเรียนโรงเรียนเอกชนที่ดำเนินการโดยคนจีนในเชียงใหม่ เขาจึงสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาปีที่ 4 สมัยนั้น จากโรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุง จังหวัดเชียงใหม่และเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่จนสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 (มศ.5) จากนั้นได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยครูเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่จนสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรทางศึกษาชั้นสูง (ปก.ศ. สูง) และสำหรับการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาวิชาภาษาอังกฤษ จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2526  ขณะที่ชีวิตสมรมส่วนตัวของเกริกได้แต่งงานกับนางสายสมร อัครชิโนเรศ (นามสกุลเดิม บัวบาล) โดยมีบุตรสาว 1 คน คือ นางสาวกิรณา อัครชิโนเรศ ซึ่งร่ำเรียนจนสำเร็จการศึกษาทางด้านแพทย์แผนจีนมาจากทั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนโดยตรงที่น่าจะมีส่วนในการสนับสนุนกิจการร้านยาจีนแผนโบราณของครอบครัวเธออยู่ไม่มากก็น้อย

แม้ความรับรู้ที่มีต่อข้อมูลเกี่ยวกับประวัติชีวิตของ “เกริก อัครชิโนเรศ”โดยทั่วไปจะระบุว่าเขาจบการศึกษาจากสาขาวิชาภาษาอังกฤษ แต่ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนที่รู้จักชีวิตส่วนตัวของเขาว่า “เกริก”เป็นผู้ชื่นชอบที่จะลงเรียนในกระบวนวิชาที่เน้นทางด้านวรรณคดีอังกฤษมากเป็นพิเศษ ความรู้เกี่ยวกับภาษาและวรรณคดีอังกฤษจึงเป็นต้นทุนอย่างดีที่สามารถปูทางให้เขาขยับก้าว “ข้ามห้วย” เข้ามาสู่พื้นที่ความรู้ภาษาและวรรณกรรมล้านนาเป็นอย่างดี มากไปกว่านั้น จากการที่ผู้เขียนได้สนทนายังไม่เป็นทางการกับอาจารย์แสวง มาละแซมท่านได้เน้นย้ำให้กับผู้เขียน (ซึ่งผู้เขียนก็พอรู้เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่า) อาจารย์เกริกเป็นคนที่มีความรู้รอบตัวดีมาก ที่สำคัญทักษะทางด้านภาษาอังกฤษช่วยทำให้เขาสามารถเข้าถึงและทลายกำแพงภาษาผ่านการอ่านเอกสารต่างประเทศ โดยจะสังเกตเห็นได้จากวงเสวนาวิชาการหรือการพูดคุยในหลายกรรมหลายวาระเกริกนำเสนอประเด็นทางวิชาการหรือประเด็นสาธารณะ ก็มักจะสอดแทรกมุมมองความรู้จากต่างประเทศประกอบอยู่เสมอ ตลอดจนอาจมีทฤษฎีหรือวิธีคิดติดกลิ่นอายความคิดแบบตะวันตกประกบอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แม้ตัวเขาเองมักจะอธิบายอัตชีวประวัติแบบติดตลกอยู่เสมอว่าตัวเขานั้นละทิ้งวรรณคดีของเช็คสเปียร์หรือเชอร์ล็อกโฮมไปนานแล้วก็ตาม

ขณะที่การเรียนรู้และการสะสมองค์ความรู้ในด้านภาษาและวรรณกรรมล้านนาของเขาผ่านการเรียนรู้ตามอัธยาศัยและการเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นส่วนมาก โดยเกริก อัครชิโนเรศ เริ่มต้นเรียนอักษรธัมม์ล้านนากับอาจารย์บัญชา วงศ์ดาราวรรณ และอาจารย์จีรพันธ์ ปัญญานนท์ ที่วัดสวนดอก (พระอารามหลวง) หรือวัดบุปผารามอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และเรียนอักษรธัมม์ล้านนากับผู้ช่วยศาสตราจารย์ลมูล จันทน์หอม ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ในปีถัดมา (2542) ทั้งยังได้เรียนอักษรธัมม์ล้านนาและพิธีกรรมล้านนากับอาจารย์ดุสิต ชวชาติ ที่วัดลอยเคราะห์อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2543  แล้วจึงให้ความสนใจไปค่ำเรียนปักขทืนล้านนาหรือการคำนวณปฏิทินแบบล้านนากับพระอธิการประเสริฐ ปวโร ที่วัดหนองปลามัน อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงพ.ศ. 2544 – 2549 นอกจากการเรียนรู้กับครูบาอาจารย์ที่ผู้เขียนได้กล่าวไปในข้างต้น อาจารย์เกริกก็ยังพยายามที่จะศึกษาหาความรู้เรื่อง วันตามความเชื่อและปักขทืนล้านนา จากเอกสารของบูรพาจารย์ต่าง ๆ อาทิ ครูบาสิทธิ วัดหมื่นเงินกอง จังหวัดเชียงใหม่ พ่อหนานวัณณา (ฤทธิ์) จิตต์ศรัทธา จากจังหวัดพะเยา ท้าวพินิจสุขาการ พิทธาจารย์แห่งเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พ่อหนานบุญทา สุโรจน์ จังหวัดลำพูน และพ่อหนานขัตติยศ จังหวัดน่าน มานับตั้งแต่ปีพ.ศ 2547 ถึง 2554  พร้อมๆกับการทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยและเรียนรูกับศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ณ อาคารเรือนเดิม คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะลูกศิษย์ก้นกุฏิ

ผลงานวิจัยของเกริก อัครชิโนเรศ ภายใต้สำนักเรือนเดิม มช จึงเกิดขึ้นอย่างมากมายภายใต้การกำกับของศาสตราจารย์ ดร. อุดม รุ่งเรืองศรีที่คอยฝึกหัดขัดเกลาให้อาจารย์เกริกผลิตงานวิชาการขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทั้งในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยและนักวิจัยในหลากหลายโครงการอาทิโครงการวิจัย “การชําระปฏิทินและหนังสือปีใหมเมืองล้านนา” (ประกาศสงกรานต์) เมื่อ พ.ศ.  2546  โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสํานักงานสนับสนุนการวิจัยแหงชาติ (สกว.) และในปีพ.ศ 2547  ได้มีการดำเนิน โครงการวิจัย “การจัดตังศูนย์ข้อมูลธัมม์ใบลาน โดยชุมชนมีสวนรวม : กรณีศึกษา วัดสะลวงใน (สิทธิทรงธรรม) โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแหงชาติ ตลอดจนโครงการวิจัย “การศึกษาตัวตนและบทบาทของเจ้าหลวงสุวรรณคําแดง” เมื่อ พ.ศ. 2548  โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสํานักงานสนับสนุนการวิจัยแหงชาติ (สกว.)  และในปี 2550 งานการวิจัย เรื่อง การคํานวณและการทํานายวันฝนตกแบบล้านนา เทียบกบ ปริมาณน้ำฝน โดยได้รับทุนจากสํานักสงเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นอกจากนี้เกริก อัครชิโนเรศยังร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ในฐานะผู้จุดประกายและผลักดันงานเฉลิมฉลองวาระครบ 600 ปี ของพระญาติโลกราช ในเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี ราชพ.ศ 2552 โดย เกริก อัครชิโนเรศ ได้เริ่มเขียนบทความออกเผยแพร่โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนสังคมและส่วนราชการเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ทั้งยังเป็นผู้จัดหาเอกสารต้นฉบับเบื้องต้นทุกรายการให้กับศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี เพื่อเป็นวัตถุดิบในการจัดทำ E–Book อักษรธัมม์ล้านนา ได้แก่  e – 60 วรรณพิมพ์ล้านนา และโครงการ e – 120 วรรณลิขิตล้านนา ในปี พ.ศ.  2552  โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากสํานักงานส่งเสริม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแหงชาติ (สวทช.) ทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มและเสนอแนะให้ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี รวบรวมสำนวนล้านนาให้เป็นหมวดหมู ่ โดยอาจารย์เกริก อัครชิโนเรศเป็นผู้จัดทำบัตรคำสำนวนล้านนาให้กับศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรีได้นำไปเรียบเรียงซึ่งเป็นการจัดพิมพ์สำนวนล้านนาเป็นครั้งแรกในวงวิชาการล้านนาคดี รวมทั้งได้มีการ พิมพ์หนังสือ “สรรพ์นิพนธ์ล้านนาคดี”ออกเผยแพร่ใน ปี พ.ศ. 2545 และพิมพ์หนังสือ “Lan Na Reader” มอกม่วน ออกเผยแพร่ใน ปี 2552 อีกด้วย

เกริก  อัครชิโนเรศ ได้สั่งสมประสบการณ์การทำงานจากสำนักเรือนเดิม มช. ทั้งในฐานะคนเขียนบทความ บรรณาธิการหนังสือ ผู้ช่วยวิจัย นักวิจัย และหัวหน้าโครงการวิจัย สิ่งเหล่านี้ได้สร้างการเรียนรู้นอกระบบและการเรียนรู้แบบนำตนเอง (Self directed Learning)  ที่สร้างการหล่อหลอมกล่อมเกลาในความเป็นนักวิชาการให้กับเขาภายใต้การกำกับของอุดม รุ่งเรืองศรีกับผู้เป็นเจ้าสำนักด้านภาษาและวรรณกรรมล้านนา โดยต่อมาเบิกได้เลือกที่จะศึกษาในระดับปริญญาโท ที่คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่กลับไม่ได้เลือกที่จะศึกษาต่อในสาขาภาษาและวรรณกรรมล้านนาซึ่งเปิดสอนอยู่ในคณะดังกล่าวแต่อย่างใด ทว่าเลือกที่จะศึกษาในสาขาวิชาพุทธศาสนศึกษาและเลือกทำวิทยานิพนธ์ด้วยหัวข้อการศึกษาวิเคราะห์ติรัจฉานวิชาในพระพุทธศาสนาตามที่ปรากฏในเอกสารล้านนา ความสนใจของอาจารย์เกริกที่มีต่อประเด็นดังกล่าวเป็นไปเพื่อการสำรวจเนื้อหาเกี่ยวกับติรัจฉานวิชาที่ปรากฏในเอกสารโบราณของล้านนาและวิเคราะห์สาเหตุของการศึกษาและปฏิบัติตนที่เกี่ยวข้องกับติรัจฉานวิชาของพระภิกษุล้านนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งเลือกศึกษาจากเอกสารโบราณล้านนา อันได้แก่ พรหมชาลสูตร และสามัญญผลสูตร สำนวนล้านนาทุกฉบับซึ่งแน่นอนว่าวิทยานิพนธ์เล่มดังกล่าวนี้ส่วนหนึ่งใช้พื้นฐานประสบการณ์การอ่านและการตีความเอกสารล้านนาของเขาเองให้เป็นส่วนช่วยในการทำให้วิทยานิพนธ์เล่มนี้ประสบความสำเร็จภายใต้การดูแลจากเราบรรดาคณาจารย์ประจำหลักสูตรซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลิตองค์ความรู้และงานวิชาการด้านพระพุทธศาสนาในสังคมล้านนาอย่างผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิโรจน์ อินทนนท์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปรุตม์ บุญศรีตัน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร. เทพประวิณ จันทร์แรง 

ซึ่งในหน้ากิตติกรรมประกาศของวิทยานิพนธ์เล่มนี้อาจารย์เกริกได้ยกย่องและระบุให้ “ศาสตราจารย์ ดร. อุดม รุ่งเรืองศรี” มีฐานะเป็น “พ่อครู” ผู้ทำหน้าที่ทั้ง “พ่อ” และ“ครู” ผู้ให้คำแนะนำอย่างขันแข็งให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทครั้งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าการเดินทางเพื่อสร้างองค์ความรู้และงานวิชาการร่วมทางของเขาเองเกิดขึ้นภายใต้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับพระสงฆ์และหน้อยหนานหลากหลายท่าน อาทิ พระครูอนุสรณ์สีลขันธ์ พระครูศีลพิลาส ผู้ให้ความรู้และข้อมูลสำคัญ รวมไปถึงพระจตุพล จิตฺตสังวโร และพระศุภชัย ชยสุโภ ปิยมิตรผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุข มากไปกว่านี้กิตติกรรมประกาศในงานวิทยานิพนธ์ของเขายังชี้ให้เห็นความสัมพันธ์อันแนบแน่นที่มีกับกลุ่มคนหรือเครือข่ายการทำงานเพื่อการสร้างสรรค์ความรู้ทางด้านนั้นในคดีรวมถึงการสอนภาษาล้านนาของเขาเองในช่วงหลังทั้งคนอย่างพ่อครูดุสิต ชวชาติ ดร.ดิเรก อินจันทร์ รวมไปถึงอาจารย์สุเมธ สุกิน อาจารย์สนั่น ธรรมธิและอาจารย์ยุทธพร นาคสุขที่เป็นผู้ช่วยนักวิจัยให้กับโครงการวิจัยเกี่ยวกับการชำระปฏิทินของเขาอีกด้วย

หลังจากการเสียชีวิตของศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ในปี 2554 อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ ได้มีบทบาทหน้าที่ในการสานต่องานของท่าน นั่นคือ การจัดทำต้นฉบับสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ ฉบับเพิ่มเติม เล่ม 1 – 3 ของมูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด ตลอดจนได้มีการวางแผนจัดเตรียมและปรับปรุงพจนานุกรมล้านนา – ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง ตามคำสั่งเสียของศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี  อีกด้วย  นอกจากนี้เขายังได้มีการผลิตและเผยแพร่ปักขทืนล้านนา ปฏิทินตามความเชื่อ ร่วมกับ อาจารย์ดุสิต ชวชาติ อาจารย์สุเมธ สุกิน ดร.ยุทธพร นาคสุข พระจตุพล จิตฺตสํวโร และพระศุภชัย ชยสุโภนั่นเป็นการสืบทอดผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการวิจัยของเขาในประเด็นเรื่องการชำระปฏิทินล้านนาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เป็นต้นมาซึ่ง ที่ผ่านมาในแต่ละปีนั้น จะมียอดการจัดพิมพ์และเผยแพร่อย่างน้อยสองแสนฉบับต่อปี กระจายไปทั่วเขต 8 จังหวัดในภาคเหนือ นอกจากนี้อาจารย์เกริกยังได้มีการร่วมกับนายพิชัย แสงบุญ ผลิต Font อักขรธัมม์ล้านนาชื่อ Font LNTilok ออกเผยแพร่ในปี พ.ศ.  2549  โดยได้มีการใช้ในการพิมพ์อักขรธัมม์ล้านนาอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

นอกจากการทำงานวิชาการผ่านการวิจัยเพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ในรั้วกับมหาวิทยาลัยภายใต้การกำกับของศาสตราจารย์ดรอุดม รุ่งเรืองศรีแล้ว เกริก อัครชิโนเรศยังใช้เวลาไปกับการสอนอักขรธัมม์ล้านนามาเป็นเวลานานมากกว่าสองทศวรรษมาจนเกือบใกล้วันละสุดท้ายของชีวิต การถ่ายทอดองค์ความรู้ของเขาเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ไล่เรียงกันไปทั้งจากที่วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา โรงเรียนบาลีสาธิต วัดสวนดอก วัดลอยเคราะห์และพุทธสถาน เป็นต้น

เมื่อสถานะบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของสำนักเรือนเดิม มช. เริ่มคลี่คลายลงในการผลิตสร้างองค์ความรู้ด้านภาษาและวรรณกรรมล้านนา เกริก อัครชิโนเรศเองก็ได้เลือกที่จะจัดวางบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ผ่านการเป็นครูสอนอักขรล้านนาและการคำนวณปฏิทินล้านนาที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีลูกศิษย์ที่ผ่านการร่ำเรียนกว่าเขามากเป็นจำนวนหลายร้อยคน ทั้งนี้มีลูกศิษย์ที่รับราชการครูได้นำเอาความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนจึงทำให้อักษรธัมม์ล้านนา เผยแพร่ในวงกว้าง ซึ่งต่อมา ในปีพ.ศ 2547 เกริก ได้มีการเปิดสอน “การคำนวณปักขทืนล้านนา” ณ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาและสอนที่วัดสะลวงใน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และในปีพ.ศ 2548 สอนที่วัดอรัญญาวาส อำเภอเมือง จังหวัดน่าน การสอนการคำนวณปฏิทินล้านนาที่ว่านี้ยังเกิดขึ้นที่วัดลอยเคราะห์ พุทธสถานเชียงใหม่ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อีกด้วย

นอกจากนี้ เกริก อัครชิโนเรศยังได้เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับภาษา ด้วยการเป็นอาจารย์พิเศษให้กับสาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืนคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2,549-2559 ในกระบวนวิชาภูมิปัญญาไทย ในหัวข้อวิชา “ถอดรหัสภูมิปัญญาล้านนา” ให้กับนักศึกษาปริญญาโทมาเอาอย่างต่อเนื่องในจำนวนกว่า 12 รุ่น จากความเชี่ยวชาญด้านอักษรธัมม์ล้านนาจึงทำให้ นายเกริก อัครชิโนเรศ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น คณะกรรมการดำเนินงานจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นเหนือจากราชบัณฑิตยสภา ท่านยังได้รับรางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับพ.ศ.  2,558 ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นจากกระทรวงวัฒนธรรม  และได้รับรางวัลครูภูมิปัญญาเชียงใหม่เนื่องในวาระเฉลิมฉลอง 720 ปี เมืองเชียงใหม่จากภาคีเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา

โดยในช่วงบั้นปลายท้ายชีวิตเกริก อัครชิโนเรศยังคงทำหน้าที่เป็นอาจารย์และพ่อครูสำหรับใครต่อใครหลาย ๆ คนในการสร้างความรู้ด้านล้านนาคดีศึกษาให้เกิดการปฏิบัติการในพื้นที่สาธารณะในสังคมเมืองอย่างเชียงใหม่จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตผ่านการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการคำนวณการคำนวณปักกะตืนล้านนามาโดยตลอด ขณะเดียวกันก็มีผู้มาร่ำเรียนอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นวิชาที่ผู้เรียนเรียนจบไปแล้วแต่ก็ยังคงกลับมาเรียนอีกครั้ง เพราะต้องการนำเอาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ไปเผยแพร่จึงทำให้ปักขทืนล้านนาที่พิมพ์ออกเผยแพร่มีการปรับปรุงข้อมูลให้มีความถูกต้องอยู่เสมอ รวมถึงร่วมกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ กับชุมชนด้านวิชาการล้านนาที่มีขึ้นทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงในหลายรูปแบบจวบจนมีปัญหาสุขภาพและได้เดินทางจากไปอย่างไม่มีวันกลับดังปรากฏข่าวเป็นที่รับรู้โดยทั่วกัน

เรียนรู้และย้อนคิดชีวิต “เกริก อัครชิโนเรศ” เพื่ออ่านอนาคต “ล้านนาคดีศึกษา”

การที่คนธรรมดาสามัญซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวภูมิหลังของเขานั้น คงไม่ใช่ความสามัญธรรมดาในฐานะประชาชนคนชั้นกลางระดับล่างอย่างแน่นอนในสายตาของผู้เขียน ทว่าคือชนชั้นกลางระดับบน (อาจจะบนๆเลยก็ว่าได้) แต่เลือกที่จะทุ่มเทชีวิตและจิตวิญญาณก่อร่างสร้างความรู้ในพื้นที่วิชาการด้านล้านนาคดีได้ดีในระดับหนึ่งหรือระดับแนวหน้านั้น คงมีเหตุและผลที่มากไปกว่า “ความใจ๋ฮักใจ๋หุม” หรือความชื่นชอบส่วนตัวที่ผู้เขียนก็อยากชี้ชวนหรือเชิญชวนให้คนที่รู้จักกับ “เกริก” ร่วมคิดร่วมวิเคราะห์วิจารณ์ให้เห็นถึงแรงบันดาลใจหรือแรงขับในการทุ่มเทการทำงานเพื่อสร้างสรรค์ความรู้ด้านล้านนาคดี

แม้ความเข้าใจของผู้คนทั่วไปที่มีต่อประวัติศาสตร์สังคมล้านนาในมิติความรู้และภูมิปัญญาร่วมสมัยนั้น มักมีมุมมองและให้น้ำหนักที่มาของความรู้ด้านล้านนาคดีอย่างน้อยจาก 2 แหล่งพื้นที่ความรู้และตัวบุคคล ได้แก่ 1) ความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยที่อาศัยอาจารย์มหาวิทยาลัยในการทำหน้าที่ผลิตสร้างความรู้และสืบทอดความรู้เพื่อสร้างงานวิชาการผ่านการวิจัย การเขียนหนังสือหรือบทความ เป็นต้น 2) ความรู้จากวัดวาอารามที่อาศัยพระสงฆ์หรือหน้อยหนานในการทำหน้าที่ผลิตสร้างและสืบทอดความรู้เพื่อยกระดับหรือผ่านการจัดการให้เป็นงานวิชาการอีกชั้นหนึ่ง ทว่า ผู้เขียนมีความเห็นว่า ที่ผ่านมาในแวดวงวิชาการล้านนาคดีจะมีบุคคลอีกประเภทหนึ่งซึ่ง “ข้ามห้วย” หรือข้ามบริบทและพื้นที่ความรู้มาสู่แวดวงความรู้ที่ว่านี้นับตั้งแต่อดีต เช่น คุณไกรศรี นิมมานเหมินทร์ (ซึ่งเป็นนักธุรกิจ) , คุณสงวน โชติสุขรัตน์ (เป็นนักเขียน) ,  คุณบุญคิด วัชรศาสตร์ (เจ้าของโรงพิมพ์) รวมทั้งคุณเกริก อัครชิโนเรศ (ลูกหลานกิจการร้านบาจีนแผนโบราณ) ซึ่งน่าจะเป็นคนท้ายๆที่อยู่ในสายธารการทำงานทางวิชาการด้านล้านนาคดีในระดับทุ่มเทแรงกายแรงใจได้ในระดับเดียวกันนี้

ที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความคนรุ่นหลังทำได้ไม่เทียบเท่าคนรุ่นเก่าก่อน ทว่าบริบททางเศรษฐกิจสังคมในช่วงหลังๆมานี้ มีผลต่อการบีบบังคับทางเลือกให้เรามีได้ไม่มากนัก กล่าวคือ หากคุณคิดจะทำงานวิชาการและต้องทำงานดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนคุณก็ต้องมุ่งไปในทิศทางการเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยที่มีสังกัดในมหาวิทยาลัยเท่านั้นซึ่งแน่นอนว่าว่าทางเลือกดังกล่าวนี้ก็ต้องตามมาด้วยการถูกควบคุมด้วยเงื่อนไขการตีพิมพ์ผลงาน การผลิตงานวิจัยทเพื่อสร้างสรรค์ความรู้ที่ต้องสัมพันธ์เชิงอำนาจกับทิศทางด้านนโยบายของแหล่งทุนวิจัย แน่นอนว่างานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และล้านนาคดีในแบบที่คนรุ่นอาจารย์เกริกหรือสำนักเรือนเดิมเคยปฏิบัติมาก็ย่อมหาที่ทางและตำแหน่งแห่งที่ในการสร้างสรรค์ความรู้ภายใต้บริบทดังกล่าวได้อย่างจำกัดจำเขี่ย ในขณะอีกด้านหนึ่งหากคุณคิดจะทำธุรกิจหรือมีงานประจำอื่นๆทำอยู่แล้ว การจะปลีกเวลามาทำงานวิชาการด้านที่เรารักและชอบก็น่าจะสร้างเงื่อนไขให้รัดแขนขาตัวเองอย่างยิ่งในท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันและความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจสังคมอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

การอ่านชีวิตและการเดินทางของปัญญาชนล้านนาธรรมดาสามัญอย่าง “เกริก อัครชิโนเรศ” ที่เชื่อมโยงกับบริบททางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมวัฒนธรรม จึงอาจนำไปสู่การทำความเข้าใจในอีกหลายๆปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนของสังคมร่วมสมัย นี่จึงเป็นความมุ่งหวังลึกๆของข้อเขียนนี้ที่ผู้เขียนพยายามอยากจะให้เป็น

บทเรียนน้ำท่วมเชียงราย-เขื่อนกั้นน้ำโขงภัยธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ชี้ระบบเตือนภัยรัฐล้มเหลว

เรื่อง: องอาจ เดชา

หลังเกิดน้ำท่วมเชียงรายวิกฤติหนักในรอบหลายสิบปี เมื่อเกิดปรากฎการณ์โลกรวน ทำให้เกิดอิทธิพลพายุถล่มต่อเนื่อง ประกอบกับเมืองขยายตัว ทำให้สิ่งก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน ถนน สะพาน พอฝนตกหนัก ไหลบ่า ทำให้กลายเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำไหล รวมไปถึงกรณีการปล่อยน้ำจากเขื่อนกั้นน้ำโขงตอนบนของจีนลงมา ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ทำให้หลายพื้นที่หลายอำเภอที่ตั้งอยู่ริมน้ำโขง น้ำอิง ได้รับผลกระทบหนักมากยิ่งขึ้น จนทำให้ภาคประชาชน และนักวิชาการได้ออกมาถอดบทเรียนน้ำท่วม-เขื่อนกั้นน้ำโขง โดยเผยให้เห็นว่าภัยพิบัติในรอบปีนี้ เกิดจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ ชี้ระบบเตือนภัยของรัฐล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

เมื่อวันที่  26 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมดาวเจ็ดแฉก ที่ว่าการอำเภอเชียงของ จ.เชียงราย ได้มีการจัดเวทีสาธารณะ “บทเรียนและข้อเสนอนโยบายเพื่อการพัฒนาชุมชนลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน”  โดยมี นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานสถาบันองค์ความรู้โฮงเฮียนแม่น้ำของ กลุ่มรักษ์เชียงของ เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งมีผู้นำชุมชนลุ่มน้ำอิง-น้ำโขง สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง และเครือข่ายนักวิชาการแม่น้ำโขง (MAC) ประกอบด้วย ผศ.อภิสม อินทรลาวัณย์ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ศ.ทวนทอง จุฑาเกตุ สาขาวิชาประมง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผศ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เข้าร่วมแลกเปลี่ยน 

สอน เทพสมบัติ   ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าข่า ต.ป่าตาล อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ตัวแทนประชาคมน้ำอิงตอนกลาง บอกเล่าให้ฟังว่า บ้านป่าข่าตอนนี้จมน้ำมานาน 1 เดือนกว่าแล้ว ชาวบ้านหลายครอบครัวยังไม่สามารถเข้าบ้านได้เลย ถือว่าเป็นปีที่หนักหนาสาหัสที่สุด ท่วมพื้นที่เกษตร ทั้งนาข้าว บ่อปลา สัตว์เลี้ยงเสียหายหมด ปีนี้หมู่บ้านเรานั้นเหมือนล่มสลายไปแล้ว

“ทุกวันนี้ ชาวบ้านตื่นมา ต้องลุ้นว่าน้ำจะขึ้นจะลงเท่าใด ผมยืนงงๆ จนถึงทุกวันนี้ ว่าเราต้องสู้แบบไหน สู้สภาพชีวิตที่เจอภัยพิบัติ สภาพอากาศ ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนมาช่วยกันคิด หาวิธีช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบนี้กันแบบไหน  แล้วถ้ายังมีการสร้างเขื่อนปากแบง ชุมชนของเราอยู่ไม่ได้ คงจะสลายหมด บางหมู่บ้านต้องโยกย้ายหนีกันแน่ๆ”

สอน เทพสมบัติ   ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าข่า 

เตชะพัฒน์ มโนวงศ์ เลขาธิการสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง กล่าวว่า ธรรมชาติกำลังเตือนเรา ไม่ว่าจะเป็น  rain bomb  น้ำท่วม สาเหตุก็เพราะหลายพื้นที่ถูกบุกรุกด้วยพืชเศรษฐกิจ รวมไปถึงโครงการของรัฐที่เข้ามา ทำให้เกิดสถานการณ์ในขณะนี้ และทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ป่าหายไป ปลาลดลง จากเมื่อก่อน สมัยรุ่นพ่อแม่เราสามารถเลี้ยงดูลูกหลานได้เป็นสิบคน เพราะเรามีแม่น้ำผืนดินอุดมสมบูรณ์ แต่ตอนนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว

“ยกตัวอย่างบ้านผมอยู่ท้ายน้ำกว๊านพะเยา ได้รับผลกระทบน้ำท่วม อีกทั้งน้ำโขงยังหนุนสูง ทำให้ระบายน้ำช้าลงอีก ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็มาจากปัญหาการบริหารจัดการน้ำจากภาครัฐ มีการเปลี่ยนฝายชาวบ้านลดลง กลายเป็นประตูน้ำ ซึ่งยังส่งผลต่อการวางไข่ของปลา ทำให้พันธุ์ปลาเหลือเพียง 20 กว่าชนิด นอกจากนั้น ยังมีการทำถนน ทำรางรถไฟ ตัดผ่านแม่น้ำอีกหลายสายอีก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เราพยายามทำงานร่วมกับ อปท.ให้เขาได้รับรู้ข้อมูล และนำไปบรรจุในข้อบัญญัติท้องถิ่นรองรับ  ซึ่งสำคัญมากเพื่อจัดการบริหารแก้ไข  โดยมีการเชื่อมโยงองค์ความรู้กับนักวิชาการต่างๆ ด้วย เพื่อเป็นการยกระดับความร่วมมือกัน”

เตชะพัฒน์ มโนวงศ์ เลขาธิการสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง

บุญคง บุญวาส อดีตผู้ใหญ่บ้านปากอิงใต้ คนแรก ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า สิ่งที่เราเคยต่อสู้คัดค้านกันมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราหวั่นกลัวว่าจะเกิดผลกระทบ มาถึงตอนนี้มันได้เกิดขึ้นแล้ว ทำให้เราได้เห็นแล้วว่า น้ำโขงกำลังเปลี่ยนไป ความสมบูรณ์หายไป คนหาปลาหายไป ปลาหายไปเยอะ เยาวชนคนหนุ่มคนสาวก็ออกไปทำงานข้างนอกกันหมด เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรถึงจะให้แม่น้ำโขง และวิถีชีวิตชุมชนที่มันเริ่มหายไป กลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง

มานพ มณีรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านปากอิงใต้

มานพ มณีรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านปากอิงใต้ ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า บ้านปากอิงใต้ แต่เดิมเป็นชุมชนที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน แต่ตอนนี้กลายเป็นอาชีพที่ไม่แน่นอน ไม่มั่นคงอีกต่อไป เขื่อน ทำให้ระบบนิเวศและการผันผวนของพันธุ์ปลาเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

“จะเห็นว่า เขื่อนกั้นน้ำโขงตอนบนที่จีนทำให้วิถีชีวิตชาวบ้านเปลี่ยนไป จากแต่ก่อน มีเรือหาปลา 70-80 ลำ ตอนนี้เหลือ 7-8 ลำ แล้วยังทำให้พื้นที่ทำเกษตรริมน้ำ เกิดการพังทลายอีกด้วย นี่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนปากแบงยังได้รับผลกระทบหนักขนาดนี้ แล้วถ้าสร้างจะขนาดไหน  ตอนนี้เราพยายามสร้างเป็นชุมชนพึ่งพาตนเอง พยายามผลักดันโครงการเพื่อพัฒนาตัวเอง ผลักดันให้ให้เกิดการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ที่เราพยายามคือ เพาะพันธุ์ขยายพันธุ์ ปลาหลายชนิด ออกจำหน่ายไปยังชุมชนต่างๆ ตอนนี้เราทำไปได้ประมาณ 50% แล้ว”

นิรันดร์  กุนะ ผู้ใหญ่บ้านบ้านสบกก

นิรันดร์  กุนะ ผู้ใหญ่บ้านบ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กล่าวว่า ชุมชนบ้านสบกก ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนตอนบน รวมไปถึงโครงการเดินเรือพานิชย์ขนาดใหญ่ การสร้างท่าเรือฯการสร้างผนังกั้นตลิ่งพังทลาย และนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงแสน ซึ่งการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง เราไม่สามารถยังยั้งได้ ซึ่งหมู่บ้านเราได้รับผลกระทบมา 10-20 ปีมาแล้ว ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงตอนบนที่จีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเดินเรือ การหาปลา น้ำขึ้นลงผิดปกติ จนทำลายตลิ่งพังทรุดเสียหายหมด พืชผักที่อยู่ริมน้ำโขงไม่มีผักพื้นบ้านแล้ว การเปิดปิดน้ำเขื่อนของจีน ไม่เคยมีการแจ้งเตือนชุมชนลุ่มน้ำกันเลย ยกตัวอย่าง บ้านสบกก น้ำขึ้นคืนเดียวสูงถึง 2 เมตร ท่วมไร่ข้าวโพด พอสองวันน้ำลดแบบฮวบฮาบ ก็ทำตลิ่งพัง ดินสไลด์เสียหาย กระทบต่อเกษตรริมน้ำ

“ที่เรากังวลตอนนี้ก็คือ การสร้างเขื่อนปากแบง เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยมีการมาทำประชาคมหมู่บ้าน หรือเชิญเราไปร่วมเลย มารู้อีกที เขาก็ลงมือสร้างไปแล้ว ดังนั้น เราอยากจะให้เข้ามาประชาคมหมู่บ้าน ให้ประชาชนได้รับรู้เรื่องการพัฒนาด้วย ว่าเขาจะสร้างเขื่อนปากแบง น้ำจะเท้อถึงไหน คนส่วนน้อยรับทราบ และกลัวว่าน้ำจะเท้อมาถึงเชียงแสน จะถึงขนาดไหน ถ้าขึ้นมาจริง ๆ สร้างเขื่อนขึ้นมาจริง จะมีการอพยพหาที่ให้ชาวบ้านได้มั้ย ถ้าสูง 11 เมตร ถึงเชียงแสน มันจะต้องเท้อเข้าแม่น้ำสาขา ไปถึงเวียงแก่น เชียงของ เข้าท่วมพื้นที่การเกษตรแน่นอน แล้วรัฐบาล เอกชน เข้าไปถามประชาชนในพื้นที่ผลกระทบมั้ย  และถ้ามีการเยียวยา ก็ไม่ใช่การเยียวยาระยะสั้น ไม่ใช้รักษาแบบฉีดยาแล้วกลับบ้าน เพราะผลกระทบอยู่ชั่วลูกหลานระยะยาว แต่ทุกวันนี้ มันเหมือนปิดหูปิดตาชาวบ้าน”

ชวลิต บุญทัน ตัวแทนเกษตรกรบ้านห้วยลึก

ชวลิต บุญทัน ตัวแทนเกษตรกรบ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย บอกว่า ก่อนนั้น ในช่วงปี 2535 วิถีการหาปูหาปลายังเป็นปกติ ชาวบ้านทำประมง หาปลา หาไกหรือสาหร่ายแม่น้ำโขง และทำเกษตรริมน้ำโขง ในช่วงน้ำลด 2-3 เดือน ปลูกพืชผักไว้เป็นอาหาร เป็นรายได้ให้ชุมชน แต่มาถึงตอนนี้ หลังจากมีการสร้างเขื่อนตอนบนของจีน สถานการณ์ที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่า มันกระทบกับวิถีชุมชนของเรา กระทบต่อระบบนิเวศของน้ำอิง น้ำโขง กระทบต่อคนเชียงรายทั้งหมดด้วย เพราะคนเชียงรายส่วนใหญ่อาศัยอาหารจากคนริมฝั่งโขง

“หลังการสร้างเขื่อนตอนบนของจีน เราต้องเจอกับปัญหาน้ำขึ้นน้ำลงผิดปกติ จนทำให้กระทบต่อวิถีชาวประมง จากเดิมเคยมีเรือประมงหาปลา 50 ลำ ตอนนี้เหลือไม่กี่ลำ น้ำขึ้นมา ทำให้ไกหาย น้ำใสจนผิดปกติ และที่สำคัญ พันธุ์ปลา 100 กว่าชนิดนั้นหายไป เพราะฉะนั้น เราอยากจะต้องช่วยกันส่งเสียง โหยหาอนาคตให้กับลูกหลาน เราต้องกลับมาร่วมกันแก้ไขปัญหากันด้วยตนเอง โดยตอนนี้ เราเริ่มขยับมามาให้ชาวบ้านห้วยลึก มาทำเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรกัน อย่างตอนนี้ เราก็เริ่มตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ ปลูกส้มโอปลอดสาร เพาะพันธุ์ปลาคัง ถ้าเราทำสำเร็จ ก็จะเป็นโมเดลให้กับชุมชนริมแม่น้ำโขงกันต่อไป”

ถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชนลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน

ในช่วงบ่าย ได้มีเวทีการถอดบทเรียนการพัฒนาลุ่มน้ำอิง และบทสรุป ข้อเสนอนโยบายเพื่อการพัฒนาชุมชนลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน จากตัวแทนนักวิชาการ และตัวแทนภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กันด้วย

ผศ.อภิสม อินทรลาวัณย์ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า เราได้ก่อตั้งเครือข่ายนักวิชาการแม่น้ำโขง เหนือ-อิสาน จากการร่วมศึกษาได้เห็นความซับซ้อนปัญหา ทั้งเรื่องพลังงาน วิถีชีวิต  พันธุ์ปลา จากเครือข่ายของไทยและต่างประเทศ ทั้งประเทศ อเมริกา  จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์  ภายหลังการศึกษาสรุปได้ว่า เขื่อนไม่มีความจำเป็น เพราะไฟฟ้าแพงและไม่ใช่พลังงานสะอาด ตอนนี้เรามีไฟฟ้าล้นระบบ และมีเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่ต้นทุนถูกกว่าเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ การบอกว่าเป็นพลังงานสะอาดไม่ผลิตคาร์บอน แต่พบว่ากระทบสิ่งแวดล้อม สังคม กระทบทั้งหมดในลุ่มน้ำโขง

“ยกตัวอย่าง อเมริกา รื้อเขื่อนทิ้งเพื่อปลาแซลมอน เพราะว่ามันคืออาหารและความมั่นคงของอเมริกา ก็เหมือนกับที่ชาวบ้านเราที่พึ่งพาอาหารจากปลาแม่น้ำโขงนี่แหละ โดยใช้ระบบนิเวศเป็นฐานคิด  และออสเตรเลีย ก็ยอมซื้อระบบนิเวศคืนมา ด้วยการเวนคืน หรือนิวซีแลนด์ ก็ให้สิทธิแม่น้ำ มนุษย์จะไปละเมิดแม่น้ำไม่ได้ เป็นต้น”

ผศ.อภิสม อินทรลาวัณย์ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ผศ.สิตางศุ์  พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะนักวิจัย เราพบว่า ภัยพิบัติของประเทศไทย นอกจากภัยจากสึนามิแล้ว ภัยพิบัติอันดับต้นๆ ที่มีผู้เสียชีวิต ก็คือมาจากน้ำท่วมสูงมากและเกิดขึ้นบ่อยมาก โดยจังหวัดเชียงรายปีนี้ถือว่าเป็นฝนร้อยปี ท่วมมา 3 รอบ แต่แทบไม่มีการเตือนภัย มีการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำมาก ตอนที่กรมอุตุฯ เตือนนั้นน้ำไม่ท่วม แต่หลังจากนั้น น้ำท่วม  ซึ่งการที่ไม่มีข้อมูลฝนตก ทั้งต้นน้ำกก และน้ำสายที่อยู่ในเมียนมา แนวโน้มการเกิดภัยพิบัตินั้นคาดการณ์ยาก แต่ชัดเจนว่าความรุนแรงจะหนักกว่าที่ผ่านมา การรับมือในการจัดการน้ำในอนาคต ต้องดูว่าเราอยากจะปกป้องพื้นที่อะไรเป็นสำคัญตามลำดับ ซึ่งเราทำให้น้ำไม่ท่วมนั้น ทำไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้ คือ การป้องกันและบรรเทา

“จะเห็นได้ว่า การเตือนภัยที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่ได้รู้เพราะรัฐเตือนภัย แต่ทุกคนรู้เพราะสื่อโซเซียล รู้เพราะนักวิชาการในพื้นที่ รู้เพราะการตื่นตัวของภาคประชาชนด้วยกันเอง อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ฝายและประตูน้ำเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค เพราะไม่ใช่ว่ามีโครงสร้างแล้วจะจบ  เพราะเหนือพวกนั้นคือการบริหารจัดการ เราเปิดปิดมันให้พอดีกับจังหวะทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้สอดคล้องจะดีกว่านี้ได้หรือไม่ ใช้มันเถอะ ใช้มันอย่างชาญฉลาด สิ่งไหนดี เราก็รักษาเอาไว้ แต่ถ้าอันไหนไม่ดี เป็นอุปสรรค เราก็รื้อทิ้งได้ พังมันเถอะ  ”ผศ.สิตางศุ์ กล่าว

ผศ.สิตางศุ์ ยังกล่าวแนะนำภาครัฐทิ้งท้ายด้วยว่า  หยุดเรื่องการสร้างฝายหรือประตูระบายน้ำก่อนดีไหม แต่ไปติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ ระบบเตือนภัยก่อนดีไหม ดังนั้น กลไกภาคประชาคม จำเป็นต้องขับเคลื่อนกันต่อไป

ผศ.สิตางศุ์  พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ชี้ระบบการเตือนภัย การจัดการในช่วงวิกฤต ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ผศ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า อุทกภัยครั้งนี้ เป็นภัยพิบัติที่ผสมกันระหว่างภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ (natural disaster) ผสมกับภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์ (anthropogenic disaster) ภัยพิบัติปีนี้ จึงไม่ใช่ฝนตกหนักและพายุเท่านั้น แต่มีสาเหตุมาจากมนุษย์มาผสมกันพอดี ทำให้เกิดความรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ภัยพิบัติประเภทนี้ถือว่ารุนแรงมาก และมันจะเกิดรุนแรงมากขึ้น

“ยกตัวอย่างลุ่มน้ำอิงมี  40 ชุมชน เกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกพื้นที่ จากกว๊านพะเยาถึงบ้านปากอิงใต้ มีการทำเหมืองที่ต้นน้ำ การสร้างเขื่อน ประตูน้ำ ถนน สะพานที่แคบ และการบริหารจัดการน้ำที่ไร้ระบบ คือสาเหตุหลักของการเกิดภัยพิบัติ เพราะฉะนั้น เราต้องเรียกร้องให้รัฐเข้าจัดการเรื่องนี้ให้ได้ ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา หลายชุมชนพยายามสร้างระบบเตือนภัยพิบัติขึ้นมาเอง อย่างเช่น บ้านวังศิลา มีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน ช่วยบริหารจัดการ จนทำให้ลดความเสียหายลงได้ 50% พอช่วยตนเองแล้วยังได้ไปช่วยหมู่บ้านอื่นต่อไปด้วย หรือบ้านป่าข่า ก็ถือว่าน้ำท่วมหนักสุด แต่ชาวบ้านก็ระดมช่วยเหลือกัน นำรถแทรกเตอร์มาช่วยกู้ภัยกันเอง และที่บ้านปากอิงใต้ ชาวบ้านก็มีการเฝ้าระวังเตือนภัยรู้ล่วงหน้า 3 วัน โดยถ้าใช้ข้อมูลจากอำเภอนั้นไม่พอ ชาวบ้านจะเช็คระดับน้ำกันเอง จึงทำให้มีการอพยพชาวบ้านได้ทัน ซึ่งช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินลงได้ ซึ่งการที่เราในนามเครือข่ายนักวิชาการแม่น้ำโขง เหนือ-อิสาน ได้ดำเนินการใน 3 ชุมชนลุ่มน้ำอิง นี้ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ”

ผศ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ทางออก 3 ระยะเร่งด่วน แก้ปัญหาภัยพิบัติ

ทั้งนี้ ผศ.ไชยณรงค์ ได้มีข้อเสนอเพื่อจะไปให้พ้นจากภัยพิบัติ ต้องวาง 3 ระยะเร่งด่วน โดยระยะแรก ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ภัยพิบัติ โดยต้องเน้นในเรื่องการเตือนภัย การกู้ภัย และการฟื้นฟู ซึ่งก่อนนั้น มีแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่รัฐกลับอ่อนแอ สิ่งที่เราจะทำได้คือชุมชนลุกขึ้นมาจัดการภัยพิบัติด้วยตัวเอง

ระยะกลาง จำเป็นต้องรื้อผังเมือง การวางผังชุมชน ให้มีพื้นที่รับน้ำและทางระบายน้ำ การเจาะถนนให้น้ำไหล การสร้างสะพานใหม่ที่น้ำไหลได้ การบริหารจัดการน้ำที่ดี การรื้อประตูน้ำที่สร้างความเสียหายมากกว่าประโยชน์ทิ้งเสีย

 “ฝาย ประตูระบายน้ำ อันไหนไม่มีประโยชน์ก็ต้องรื้อ ถนนกั้นขวาง ถ้าทำได้ก็ต้องเจาะเป็นอุโมงค์น้ำลอดผ่านหรือไม่ก็รื้อ ผังเมือง ผังชุมชน อันไหนไปขวางทางน้ำ หรือทำให้เปลี่ยนทางน้ำก็ต้องรื้อผังกันใหม่ และในระยะยาว เราต้องมีแนวทางการพัฒนาแบบใหม่ คือการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะการพัฒนา ถ้าไม่ปรับตัวก็จะเกิดภัยพิบัติรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ถ้าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เราเรียกร้องต้องการให้จีนปล่อยน้ำโขงลงมาให้เป็นปกติได้ไหม อย่างน้อยก็ 30% ก็จะช่วยลดปัญหาภัยพิบัติลงได้”

ควรมีวิชาการจัดการภัยพิบัติระดับประถม-มหาวิทยาลัย

นอกจากนั้น ผศ.ไชยณรงค์ ยังขอเสนอให้มหาวิทยาลัยมีวิชาการจัดการภัยพิบัติ อาจเป็นวิชาเลือก หรือวิชาเลือก รวมไปถึงเสนอให้มีการสอนสังคมศึกษา สาระภูมิศาสตร์ สำหรับเด็กประถมและมัธยม และควรให้ความสำคัญกับเนื้อหาภัยพิบัติที่เข้มข้นกว่านี้ด้วย

อีกประเด็นหนึ่งที่ ผศ.ไชยณรงค์ เสนอ คือ ต้องแก้ พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแผนในการจัดการภัยพิบัติ และรับรองชุมชนในการจัดการภัยพิบัติ รวมไปถึงในแต่ละเมือง แต่ละชุมชนที่ประสบอุทกภัย ควรทำจดหมายเหตุของตน โดยรวบรวมข้อมูล ภาพ สิ่งของที่เป็นตัวแทนของความเสียหายจากอุทกภัย และลำดับเหตุการณ์สำคัญ ไว้ที่ศาลากลางหมู่บ้าน โรงเรียน วัด เพื่อเป็นศูนย์ศึกษาภัยพิบัติของชุมชนด้วย

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า การตรวจสอบโครงการเขื่อนปากแบง รัฐจะต้องตอบ และผู้พัฒนาโครงการต้องทำเอกสารอธิบายให้หมด ไม่เช่นนั้น กสม.จะไต่สวนสาธารณะ เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีแผนพัฒนาอย่างไร ต้องดูว่ายังมีช่องว่างตรงไหน เพราะคนลุ่มน้ำโขงจะได้รับผลกระทบ และกสม. สามารถตรวจสอบนิติบุคคลคนไทยได้ ผู้พัฒนาเป็นใคร เราจึงต้องตรวจสอบ รวมทั้งเงื่อนไขธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เพราะสถาบันการเงินต่างจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กสม.จะมีหนังสือไปธนาคารทุกแห่ง ว่ามีการตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

“กรณีเขื่อนปากแบง ผู้รับสัมปทานเป็นคนไทย เพราะฉะนั้น กสม.มีสิทธิอำนาจในการตรวจสอบการทำงานว่ามีผลกระทบต่อชุมชน มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เราจะศึกษาดูข้อกฎหมายระหว่างประเทศด้วยว่าจะใช้หลักความรับผิดชอบอย่างไร นอกจากนั้น เราจะใช้องค์ความรู้จากภาคประชาชน นำไปรายงานชี้แจงให้รัฐบาลได้รับรู้ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจในแต่ละโครงการนี้ด้วย”

จากน้ำท่วมถึงน้ำลดเชียงราย-เชียงใหม่ ‘เวลา’ สิ่งที่เราสูญเสียและต้องการมากที่สุด 

เรื่อง: กองบรรณาธิการ

ความเสียหายจากวิกฤตการณ์อุทกภัยที่ในภาคเหนือที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย. – ต.ค. 67 สร้างความเสียหายวงกว้างในหลายพื้นที่ โดยจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายเป็น 2 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์นี้หนักมากที่สุดซึ่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน (7 พ.ย.67) ข้อมูลจากศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ จังหวัดเชียงรายและ ปภ.จังหวัดเชียงใหม่รายงานว่ามีวิกฤตการณ์อุทกภัยในครั้งนี้สร้างความเสียหายต่อประชาชนประมาณ 1 แสนกว่าครัวเรือน (จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่รวมกัน)

ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เพียงระยะเวลาที่น้ำท่วมเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงการใช้ชีวิตของผู้คนที่ประสบปัญหาหลังน้ำลด และ ‘เวลา’ ที่สูญเสียไป และยังเป็นที่เราต้องการมากที่สุดในช่วงน้ำท่วมเช่นเดียวกัน

Lanner ชวนสำรวจ ไล่เรียงผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมทั้งก่อนและหลังในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย และการเยียวยาของรัฐที่ไม่เพียงพอทั้งในแง่กายภาพรวมไปถึงการฟื้นฟูด้านจิตใจ ที่ไม่แน่ไม่นอนว่า ‘เวลา’ อยู่ข้างใคร?

เวลาของความเสียหาย เหลือไว้เพียงความว่าง เริ่มใหม่ไปไม่ถูก

แม้สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันอาจจะเหมือนคลี่คลายไปแล้วโดยไม่ทิ้งรอยความเสียหายเหลืออยู่ แต่ในหลายพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมยังคงอยู่ในช่วงการเยียวยาทั้งสภาพบ้านเรือน อย่างในพื้นที่จังหวัดเชียงรายสถานการณ์น้ำท่วมนั้นคลี่คลายลงไปอย่างมากตั้งแต่กลางเดือนกันยายน แต่ถึงน้ำจะลดลงและไหลสู่ภาวะปกติแต่สิ่งที่เหลือไว้คือคลาบโคลนที่หนาเตอะ ในวันที่ 6 พ.ย. 67 ก็ยังคงเหลือโคลนไว้เป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ หากดูตามโซเชียลมีเดียของอาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเหล่อตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมในช่วงแรกอย่าง เพจมูลนิธิกระจกเงา เชียงราย หรือ ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ก็ยังคงเห็นการทำงานช่วยเหลือในการล้างบ้านอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

อาสาสมัครของมูลนิธิกระจกเงากำลังล้างบ้านบนโคลนในวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา (ภาพ: มูลนิธิกระจกเงา เชียงราย)

จากการพูดคุยกับ ธิดารัตน์ ชำนาญไพสณฑ์ ประชาชนในชุมชนไม้ลุงขน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เผยว่า ตนและคนในชุมชนได้รับผลกระทบหลังจากน้ำท่วมสร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและร่างกาย ถึงแม้น้ำจะลดแล้วแต่สิ่งของที่เสียไปไม่สามารถเอากลับมาได้ ซึ่งนอกจากสิ่งของที่เสียหายในด้ายกายภาพแล้ว ในด้านสภาพจิตใจของคนที่โดนผลกระทบจากน้ำท่วมนั้นมีความสิ้นหวังเป็นอย่างมาก เราได้พูดคุยกับเพื่อนบ้านในพื้นที่ตำบลแม่สายทีได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านขายสินค้านั้นเสียหายไปกับน้ำท่วมทั้งหมด บางบ้านที่เปิดร้านอาหารอุปกรณ์ครัวก็หายไปกับน้ำหมด ซึ่งส่งผลกระทบในด้านจิตใจเป็นอย่างมาก

“ไม่รู้ว่าจะตั้งตนยังไง จะเริ่มฟื้นฟูตรงไหน” 

ธิดารัตน์ เล่าว่าการเข้ามาช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่รัฐ จะเน้นในด้านกายภาพเป็นหลักมีการนำรถตักดินมาช่วยเคลียร์ถนนหน้าบ้าน หรือในช่วงที่น้ำประปาใช้ไม่ได้ก็มีกรมประปานำน้ำสะอาดมาให้ใช้ตามบ้าน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่เดินลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยตอนกลางคืน แต่ในด้านสภาพจิตใจนั้นยังไม่มีหน่วยงานรัฐเข้ามาทำการช่วยเหลือ ส่วนใหญ่จะเน้นให้กำลังใจด้วยกันเอง

ธิดารัตน์ ส่งท้ายว่า หากมีการฟื้นฟูสภาพบ้านเรือนหลังน้ำท่วมเรียบร้อย เรื่องหนึ่งที่สำคัญจริง ๆ หลังน้ำท่วมคือสภาพจิตใจของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ 

“คนที่สิ้นเนื้อประดาตัว เขาไม่รู้จะเริ่มนับหนึ่งยังไง”

หากมาดูในด้านของตัวเลขความเสียหายในจังหวัดเชียงราย จากการประเมินของ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม 2567 จังหวัดเชียงราย รายงานสถานการณ์อุทกภัย และดินถล่ม ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ข้อมูลสะสมระหว่างวันที่ 9 กันยายน – 24 ตุลาคม 2567 พบว่า 14 อำเภอ 66 ตำบล 591 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร (52 ชุมชน) โดยราษฎรได้รับผลกระทบเบื้องต้น 60,393 ครัวเรือน เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บ 3 ราย บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ (เสียหายทั้งหลัง) 201 หลัง ตลาดชุมชนเศรษฐกิจ ได้รับผลกระทบ 2 แห่ง ร้านค้า 92 แห่ง ผู้ประกอบการโรงงาน/ผู้ผลิตชุมชน 30 ราย (ได้แก่ ผู้ประกอบการโรงงาน 22 ราย และผู้ผลิตชุมชน 8 ราย (มูลค่าความเสียหายเฉพาะโรงงาน 54,678,200 บาท) พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบ 18,587 ไร่ ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 71,948 ตัว (ได้แก่ โค 1,200 ตัว กระบือ 176 ตัว สุกร 91 ตัว แพะ/แกะ 25 ตัว สัตว์ปีก 70,455 ตัว) สัตว์เลี้ยง 322 ตัว (ได้แก่ สุนัข 145 ตัว แมว 154 ตัว และอื่นๆ 23 ตัว) บ่อปลา 1,074.53 ไร่ ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับผลกระทบ ได้แก่ โรงเรียน 92 แห่ง ถนน 141 จุด คอสะพาน 5 จุด และ รพ.สต. 1 แห่ง

นอกจากจังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในจังหวัดเชียงใหม่ก็ต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมหนักเช่นเดียวกัน ถึงแม้ปัจจุบันน้ำในพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่จะลดลงและฟื้นฟูในหลายพื้นที่แล้ว แต่หากติดตามเพจอาสาสมัครในการทำความสะอาดบ้านอย่าง บ้านเตื่อมฝัน กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่ ก็ได้มีการติดตามฟื้นฟูบ้านที่ได้รับกระทบอย่างต่อเนื่องที่ล่าสุดในวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมาเป็นวันที่ทางกลุ่มได้ปิดภารกิจล้างบ้านและเริ่มต้นต่อในการฟื้นฟูบ้านที่เสียหาย 

นอกจากนี้จากการลงในพื้นที่เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมาในพื้นที่หมู่บ้านชุมชนรถไฟ จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงมีน้ำท่วมขังและส่งกลิ่นเหม็นเป็นอย่างมาก ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ในชุมชนไม่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านของตนได้ บางส่วนก็อพยพไปพักอาศัยกับญาติในพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วม แต่ก็มีชาวบ้านอีกหลายคนที่ไม่มีญาติที่สามารถไปอาศัยอยู่ได้จึงต้องมาใช้ชีวิตอยู่บนตลิ่งและถนนที่น้ำไม่ขัง โดยนำเต็นท์ขนาดใหญ่มากางโดยมีเครื่องครัวสำหรับทำอาหารไว้เป็นครัวขนาดย่อม และสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่พอใช้ได้วางกองรวม ๆ กัน กลางคืนก็จะนำมุ้งมากางเพื่อกันยุงและสัตว์มีพิษและนอนได้อย่างสบายใจ และชาวบ้านส่วนใหญ่กินและนอนในพื้นที่กว่าเกือบ 2 สัปดาห์

เต็นท์ขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านในชุมชนรถไฟใช้ชีวิตอยู่ในช่วงที่รอคอยหน่วยงานรัฐเข้ามาชดเชยและเยียวยาตัวบ้าน โดยในชุมชนมีเต็นท์ประเภทนี้ตั้งไว้อยู่ประมาณ 6-7 เต็นท์

อรพันธ์ อินทรโชติ ชาวบ้านในชุมชนรถไฟ จังหวัดเชียงใหม่ เผยว่า ชุมชนรถไฟไม่เคยเกิดน้ำท่วมมาก่อน ซึ่งในช่วงปี 2554 ที่น้ำท่วมหนักในจังหวัดเชียงใหม่ก็ท่วมเพียงไม่กี่วันและก็แห้งไปอย่างรวดเร็วส่วนในปี 2567 น้ำท่วมสูงและนานจนทำให้ตัวบ้านเสียหายเกือบทั้งหมดและหลังน้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่ ข้าวของในบ้านของตนนั้นไม่มีอะไรเหลืออยู่แล้ว ซึ่งก็มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือในด้านอาหารและการเยียวยาซึ่งปัจจุบันตนนั้นรอเงินในส่วนนี้อยู่ เพราะตนก็มองว่าน้ำท่วมเป็นปัญหาที่กระทบในวงกว้างได้รับผลกระทบหลายคน คนในชุมชนก็เกิดความเศร้ากัน แต่ก็มานั่งปรับทุกข์กันในเต็นท์ และในช่วงนี้อากาศเริ่มหนาวแต่ยังขาดพวกเครื่องนุ่งห่ม

“ไม่มีอะไรเหลือเลย ไม่รู้จะบรรยายยังไง ไม่รู้จะเอาอะไร”

สภาพบ้านของ อรพันธ์ ที่ไม่สามารถเข้าไปใช้ชีวิตได้

ข้อมูลจากศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 2-12  ต.ค. 67 เผยว่า มี 13 อำเภอ 87 ตำบล 667 หมู่บ้าน 76,350 ครัวเรือน  150,425 คน พืชไร่ 1,610 ไร่ นา 4,205 ไร่ พืชสวน 3,637 ไร่ ถนน 92 สาย สะพานและคอสะพาน 23 แห่ง บ่อปลา 206 บ่อ (ซึ่งเป็นเพีนงความเสียหายเบื้องต้น บางพื้นที่อยู่ระหว่างสำรวจเพิ่มเติม)

เยียวยาเท่าไหร่ก็ไม่พอหากผังเมืองและนโยบายยังแข็งตัว

หากมาดูที่การเยียวยาหลังน้ำท่วมของหน่วยงานรัฐจะพบว่า ในวันที่ 8 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. ได้พิจารณาเห็นชอบให้ปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือน้ำท่วมในอัตราเดียวกันทั้งหมดที่ครัวเรือนละ 9,000 บาท โดยมีวงเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 57 จังหวัด 3,045.52 ล้านบาท รวม 338,391 ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบัน (7 พ.ย. 67) มีผูัยื่นคำร้องทั้งหมด 306,738 ครัวเรือน โดย ปภ.ได้โอนเงินช่วยเหลือสำเร็จไปแล้ว 217,543 ครัวเรือน เป็นเงิน 1,957,823,000 บาท โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำร้องสูงที่สุดคือ จังหวัดเชียงใหม่ที่ยื่นไปกว่า 84,006 ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานรัฐได้โอนเงินไปแล้ว 36,669 ครัวเรือน เหลืออีก 47,337 ครัวเรือน ที่ยังคงรอคอยเวลาในเยียวยา และยื่นไปจังหวัดเชียงราย 36,104 ครัวเรือน โอนไปเงินไปแล้ว 31,474 ครัวเรือน

นอกจากเงินจำนวน 9,000 บาท กระทรวงมหาดไทยได้รายงานให้ ครม. รับทราบกรณีกรมบัญชีกลาง อนุมัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่ซึ่งประกาศเขตให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน สามารถใช้เงินทดรองราชการจ่ายเป็นค่าช่วยล้างดินโคลน รวมทั้งซากวัสดุต่าง ๆ ในที่อยู่อาศัยประชาชนซึ่งประสบอุทกภัยในอัตรา 10,000 บาทต่อหลัง โดยให้หน้าในการยื่นคำขอและลงพื้นที่สำรวจเปนของ อปท. ซึ่งเกณฑ์ในการให้เงินช่วยเหลือในการล้างโคลน 10,000 บาทนี้จะไม่รวมกับเงินที่รวมถึงที่อยู่อาศัยที่เสียหายทั้งหลัง หรือที่ส่วนราชการหรือส่วนอื่น ๆ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว หรือพูดให้เข้าง่ายก็คือถ้ามีอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือในการล้างโคลนก็จะไม่ได้รับเงินในส่วนนี้ ซึ่งปัจจุบันนโยบายล้างโคลนของกระทรวงมหาดไทยอยู่ในขั้นตอนดำเนินการให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบเงื่อนไข

“การเยียวยารัฐยังไม่เพียงพอหากเทียบกับทรัพย์สินที่ประชาชนต้องเสียไป” 

สิทธิชาติ สุขผลธรรม ประชาชนชาวเชียงใหม่ ผู้ก่อตั้งเพจ Chiang Mai Urban Cyclist: ปั่นรถถีบในเชียงใหม่ ได้พูดในเสวนา ชีวิตความหวัง และความอยู่รอดท่ามกลางภัยพิบัติสิ่งแวดล้อม ถึงการเยียวยาของหน่วยงานภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอหากเทียบกับทรัพย์สินที่ประชาชนต้องเสียไป เนื่องจากการประเมินภัยภิบัติของหน่วยงานรัฐนั้นประเมินจากความเสียหายของน้ำท่วมในอดีตหรือปีที่ผ่านมา ทำให้การเบิกงบประมาณในการใช้ในส่วนนี้ไม่เพียงพอและส่งผลให้การเยียวยาน้ำท่วมในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอ 

สิทธิชาติ สุขผลธรรม

สิทธิชาติ ได้พูดถึงมุมมองที่มีต่อการสร้างเมืองในปัจจุบันว่าเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจ หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นฐานในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจส่งผลให้วิธีการออกแบบเมืองในปัจจุบันนั้นจะสอดรับกับสิ่งเหล่านี้ ด้วยวิธีการออกแบบเมืองให้เป็นรูปแบบนี้ส่งผลให้คนนั้นเกิดวิถีชีวิตแบบปัจเจกเพิ่มมากขึ้น ด้วยวิถีแบบนี้ส่งผลให้คนนั้นเปราะบางกับภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วม ด้วยวิธีการแก้ไขปัญหาของรัฐในปัจจุบันก็จะเน้นในการแก้ปัญหาแบบปัจเจก แต่แม่น้ำนั้นกลับเป็นทรัพยากรที่แชร์ร่วมกันส่งผลให้การแก้ไขปัญหาก็จะแก้ไขเพียงพื้นที่ของตนเองและผลักน้ำไปพื้นที่อื่น ซึ่งวิธีการในการแก้ไขภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมนั้นไม่ควรจะแก้ไขที่ปัจเจกแต่ควรจะแก้ที่วิธีคิดของคนในการมองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องเผชิญร่วมกัน

ทรัพย์สินพัง แต่ใจต้องไม่พัง

นอกจากการเยียวยาด้านกายภาพที่เป็นเรื่องที่สำคัญของประชาชนที่รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่อีกหนึ่งสิ่งเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กันคือการเยียวยาสภาพจิตใจของประชาชนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกันในการปรับทุกข์ บำรุงสุข ให้ความเศร้าใจได้คลายลงไปหลังจากเจอความเสียหายอย่างหนักจากน้ำท่วม 

วัฒนา นาคประดิษฐ์ อาสารับฟังฟื้นฟูจิตใจของโครงการพลเมืองอาสาในช่วงสถานการณ์หลังน้ำท่วม ในวัดถ้ำผาจมพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เผยว่า ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่เป็นช่วงแรกของสถานการณ์น้ำท่วมผู้ที่รับความเสียหายจากน้ำท่วมมีอาการเศร้า มีอาการอยากฆ่าตัวตาย แต่พอได้พูดคุยกับอาสาสมัครที่เข้าไปรับฟังก็เหมือนเป็นการที่ผู้ประสบภัยได้ระบายความอึดอัดออกไป บวกกับด้วยที่วัดถ้ำผาจมนั้นตั้งเป็นศูนย์พักผิงสำหรับผู้อพยพจากน้ำท่วมทำให้มีคนมาอาศัยชั่วคราวเป็นจำนวนมาก ซึ่ง วัฒนา สังเกตุเห็นว่า ทุกคนที่อาศัยอยู่ในวัดถ้ำผาจมนั้นให้กำลังใจกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการแชร์ทุกข์สุขร่วมกัน

วัฒนา นาคประดิษฐ์ 

เธอยังเล่าต่อว่า ช่วงที่สถานการณ์น้ำท่วมในอำเภอแม่สายเริ่มคลี่คลายลงก็มีหน่วยงานรัฐอย่าง เทศบาลตำบลเวียงพางคำเข้ามาสำรวจความเสียหายและดำเนินการเรื่องการเยียวยา รวมไปถึงอาสาสมัครที่นำของมาบริจาค ทำให้ผู้ประสบภัยเห็นถึงความช่วยเหลือในหลาย ๆ ด้าน ส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่คลายกังวลมากขึ้นและความหนักใจในแง่กายภาพก็เบาลง ซึ่งถึงแม้จะมีความเศร้าอยู่แต่หลายคนก็มีความรู้สึกว่าชีวิตก็ต้องดำเนินไปต่อ

ในส่วนของการเยียวยาในด้านของการรับฟังสภาพจิตใจของทางภาครัฐ จากการลงเป็นอาสาสมัครของ วัฒนา เผยว่าตนยังไม่เคยพบเข้ามาทำงานในด้านนี้มากเพียงพอ ซึ่งในช่วงแรกของเหตุการณ์น้ำท่วมวัดถ้ำผาจมได้ติดต่อไปยัง มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) องค์กรต้นสังกัดของโครงการพลเมืองอาสา ว่าต้องการคนที่ทำงานเรื่องการเยียวยาด้านจิตใจ เนื่องจากเคยมีหน่วยงานสาธารณสุขจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่เข้ามาลงพื้นที่สำรวจแต่กลับพบว่าไม่มีชาวบ้านมีปัญหาด้านสภาพจิตใจหลังน้ำท่วม แต่ในมุมของตนที่ได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครเสียงที่ตนได้รับจากชาวบ้านนั้นกลับมีแต่ความเศร้าและความเสียใจซึ่งสวนทางกับสิ่งที่หน่วยงานรัฐบอก วัฒนามองว่าเรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่ภาครัฐไม่ได้คำนึงถึง และมองการช่วยเหลือเป็นเรื่องของการล้างบ้าน และการช่วยเหลือเชิงกายภาพเป็นหลัก 

วัฒนา เสนอว่า หน่วยงานรัฐควรมองว่าการรับฟังปัญหา ความเจ็บปวด ความเศร้า ความเสียหายหลังน้ำท่วมของผู้เสียหายยิ่งไวได้มากเท่าไหร่ก็จะเป็นเรื่องที่ดี รวมไปถึงการเข้าไปทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปทำงานช่วยเหลือประชาชนในช่วงอุทกภัยต้องมีวิธีการ และท้วงทำนองที่ต้อนรับไม่ใช่การตั้งโต๊ะแล้วให้ชาวบ้านต่อแถวเพื่อรับฟังปัญหา 

สายใจจากเพื่อนบ้าน เราคือมนุษย์ไม่ต่างกัน

วิกฤตอุทกภัยในภาคเหนือครั้งนี้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ชาวไทยเท่านั้น ยังมีชาวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้อีกด้วย และน้ำใจอาสาช่วยเหลือก็ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ชาวไทยเท่านั้นยังมีชาวต่างชาติหลายคนที่อาสาช่วยเหลือน้ำท่วมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเพื่อนบ้านชาวเมียนมาที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งพื้นที่เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่เพื่อนชาวไทยและเมียนมาสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น เนื่องจากมีชาวเมียนมาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากจากเหตุการณ์สงครามกลางเมืองในประเทศเมียนมา เมื่อชาวไทยยื่นมือช่วยเหลือชาวเมียนมาเมื่อเมียนมาเกิดวิกฤต เมื่อเกิดวิกฤตอุทกภัยในไทยชาวเมียนมาหลายคนก็ได้ลงแรงลงใจมาเป็นอาสาสมัครตอบแทนน้ำใจที่เคยมีให้กันมาตลอดเช่นเดียวกัน

อาสาสมัครทั้งชาวไทยและเมียนมาช่วยกันข้าวกล่องในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ที (นามสมมุติ) ชาวเมียนมา จากรัฐยะไข่ ได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ร้านสนิมทุน Sanimthoon Community Café ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. 67 ในการทำข้าวกล่องแจกจ่ายผู้ประสบภัยน้ำท่วม จากนั้นจึงเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครต่อที่บ้านเตื่อมฝันจนถึงปัจจุบันเพื่อช่วยทำความสะอาดบ้านหลังน้ำท่วม และลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในชุมชนคนจนเมืองบริเวณคลองแม่ข่า สาเหตุที่ตนตัดสินใจเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือเนื่องจากตนนั้นเห็นข่าวความรุนแรงของน้ำท่วมจึงต้องการช่วยเหลือ ประจวบเหมาะกับที่เห็นเครือข่ายเพื่อนชาวไทยในการเป็นอาสาสมัครตนจึงรีบสมัครเข้าไปเพื่อช่วยเหลือชาวไทยที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเช่นขาดน้ำอาหารและภัยอันตรายที่มาจากน้ำท่วม

“ผมเห็นข่าวน้ำท่วมในประเทศไทยแล้วเศร้ามาก เพราะสถานการณ์เหมือนรัฐยะไข่ที่น้ำท่วมทุกปีและเกิดความเสียหาย” ที กล่าวถึงความรู้สึกเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในเชียงใหม่ 

ด้าน ดิโอ (นามสมมุติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยชาวเมียนมา จากเมืองมะริด เขตตะนาวศรี และชวอน (นามสมมุติ) ผู้ช่วยวิจัยชาวเมียนมา จากเมืองทวาย เขตตะนาวศรี เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครตั้งแต่วันที่ 6 – 9 ต.ค. ที่ผ่านมา ในการช่วยเตรียมอาหารกล่องที่สนิมทุน Sanimthoon Community Café เพื่อแจกจ่ายให้พื้นที่ที่ต้องการช่วงน้ำท่วมกว่า 800 กล่องต่อวันตลอดช่วงวิกฤตน้ำท่วมในเชียงใหม่ จากนั้นจึงไปเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือชุมชนคนจนเมืองและคนไร้บ้านที่บ้านเตื่อมฝัน 

“พวกเราคือมนุษย์ พวกเราต้องช่วยเหลือกันเมื่อมีปัญหา การช่วยเหลือไม่เกี่ยวกับ สัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา หรือประวัติศาสตร์ แต่มาจากความเห็นอกเห็นใจและความเป็นมนุษย์” ดิโอ กล่าวถึงเหตุผลที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือน้ำท่วม 

ชวอน กล่าวว่า เมื่อเธอทราบเกี่ยวกับการเปิดรับอาสาสมัครช่วยน้ำท่วมจากเพื่อนชาวไทยเธอไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมทันที 

“ประเทศของฉันประสบปัญหาและวิกฤตมากมาย ฉันจึงเข้าใจเป็นอย่างดีถึงความยากลำบากและต้องเอาชนะปัญหาไปด้วยกัน ฉันจึงไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร”

ถึงแม้ ที ดิโอ และ ชวอน จะไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมแต่พวกเขาได้รับข่าวสารเรื่องน้ำท่วมจากโซเชียลมีเดียทั้งไทยและเมียนมา เพื่อนชาวไทย รวมถึงข่าวสารจากภาครัฐ เพื่อนพ้องชาวเมียนมากลุ่มนี้จึงลุกขึ้นมาเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือในวิกฤตครั้งนี้ นอกจากนี้อาสาสมัครชาวเมียนมาไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพียงเท่านั้น แต่ยังมีในพื้นที่อื่น ๆ อีกด้วยที่เข้าไปช่วยเหลือน้ำท่วม ที เสริมว่าในพื้นที่ลำพูนก็มีอาสาสมัครชาวเมียนมาประสานงานกับคนไทยคอยช่วยเหลือน้ำท่วมเช่นเดียวกัน

ไล่เรียงภาวะการณ์ ต้นน้ำท่วมถึงปลายน้ำลด

หลังจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่จังหวัดเชียงรายที่ผ่านมานั้นเมื่อประชาชนสูญเสียเวลาไปแล้วก็ย่อมต้องการเวลาในการฟื้นฟู สิ่งที่ผู้ประสบภัยต้องการที่สุดอย่างหนึ่งนอกจาก อาหาร เงินเยียวยา ความช่วยเหลือ นั่นคือ “เวลาที่หายไป” พูดคุยกับ สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม สาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อาสาสมัครในการล้างบ้านและผู้ประสบภัยในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย เพื่อชวนไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นน้ำท่วมถึงปลายน้ำลด  

สืบสกุล กิจนุกร

สืบสกุล เผยว่า คำเตือนหรือข้อความขนาดใหญ่ที่เราได้ในวิกฤตน้ำท่วมเมืองเชียงรายที่ผ่านมานั้นมีความเป็นนามธรรมเป็นอย่างมาก ข้อความที่ประชาชนได้รับคือน้ำจะเดินทางมาถึงตัวเมืองเชียงรายภายใน 6 ชั่วโมงและจะล้นตลิ่งในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าและเข้าสู่เวลาของวิกฤตน้ำท่วม ซึ่งสร้างความงุนงงให้แก่ประชาชนและในฐานะประชาชนคนหนึ่ง และเผยต่อว่าหากเกิดวิกฤตน้ำท่วมจะตระหนักได้ถึงว่ามวลน้ำกำลังจะมาถึงเมื่อไหร่นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การมีระบบแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมที่สามารถแจ้งได้ก่อนเวลาสามารถทำให้มีเวลาเตรียมการรับมือน้ำท่วมที่ดีตามมาด้วย หากระบบเตือนภัยไม่ดีเท่าที่ควรมันเท่ากับว่าคำเตือนที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับนั้นมันทำให้ทุกอย่างสายเกินกว่าจะรับมือ

เหตุนี้ทำให้ประชาชนไม่มีเวลามากพอในการเตรียมตัวสำหรับการรับมือน้ำ ยกเว้นเรื่องการยกของขึ้นที่สูงเนื่องจากคำเตือนของภาครัฐเป็นนามธรรม แต่ประชาชนต้องการรูปธรรม ถ้ามีระบบเตือนภัยที่ดีต้องทำให้ทราบว่ามีปริมาณน้ำล้นเท่าไหร่และระดับน้ำจะสูงขึ้นอีกกี่เมตรภายในกี่ชั่วโมง ประชาชนจะได้มีเวลาเตรียมตัวดีมากขึ้น  

‘ความทรงจำที่มีต่อน้ำท่วมในอดีต’ ของประชาชนเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจและตีความบนพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับความทรงจำของน้ำท่วมอดีต  เช่น ในเขตเกาะลอยแม่น้ำกกฝั่งขวาในปี 2537 เคยมีน้ำท่วมหนึ่งครั้งซึ่งเป็นเวลาผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี ซึ่งขณะนั้นน้ำท่วมเป็นเวลาวันสองวันและระดับไม่สูงมาก ไม่มีโคลน   สิ่งเหล่านี้คือความทรงจำในอดีตที่ผ่านมาผนวกกับระบบการเตือนภัยที่อ่อนแอ สืบสกุล อธิบายเพิ่มเติมว่าสิ่งที่ชาวบ้านได้ตอบสนองต่อน้ำท่วมนั้นก็คือการมองน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในเวลาที่เกิดขึ้นจริงกล่าวคือเมื่อเห็นน้ำมาแล้วถึงจะตัดสินใจว่า ประชาชนจึงจะใช้ความเชื่อและความทรงจำความเข้าใจมาเป็นตัวตัดสินใจว่าจะขนย้ายของขึ้นสูงหรืออพยพหรือไม่ เพราะฉะนั้นน้ำท่วมไม่ใช่ว่าชาวบ้านไม่มีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันน้ำท่วม แต่ความรู้ที่ประชาชนมีอยู่นั้นเป็นความเข้าใจคนละชุดกับนักวิชาการด้านภัยพิบัติ

เชียงรายคือเมืองเปราะบาง สืบสกุลได้พาย้อนเวลาไปในอดีตจะพบว่าเมืองเชียงรายมีความเปราะบางจากอดีตที่น้ำท่วมและเป็นประเด็นเรื่องเมืองเปราะบางในแง่ของประวัติศาสตร์ สืบสกุลได้กล่าวถึง อภิชิต ศิริชัย  นักวิชาการด้านประวัติศาสต์ท้องถิ่นเชียงราย ที่ได้นำเสนอในเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของภาคประชาสังคมในประเด็นประวัติศาสตร์ของแม่น้ำกกและการตั้งถิ่นฐานเมืองเชียงราย: จากอดีตสู่ปัจจุบัน  เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมาว่า ชื่อที่ตั้งชุมชนทั้งชุมชนเกาะลอย, ชุมชนร่องเสือเต้น ชุมชนกกโค้ง ชุมชนวังดิน บ้านแควหวาย ล้วนมีความสัมพันธ์กับน้ำท่วมมาโดยตลอด รวมไปถึงโรงแรมบางแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณแม่น้ำกกชาวบ้านระบุว่าบริเวณดังกล่าวเคยเป็นหนองน้ำมาก่อน

การจัดการภัยพิบัติมักจะถูกแบ่งตามช่วงเวลา ทั้งช่วงเตรียมการ ช่วงรับมือ และช่วงเวลาฟื้นฟู สืบสกุล ได้อธิบายว่าการจัดการในลักษณะนี้เป็นเวลาที่เดินเป็นเส้นตรงจากเหตุการณ์หนึ่งไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง ความเข้าใจของนักจัดการภัยพิบัติโดยทั่วไป ประชาชนโดยทั่วไป และหน่วยงานภาครัฐโดยทั่วไป มองว่าเวลาเกิดน้ำท่วมก็จะมองว่าเราต้องทำอย่างไร เวลาที่ต้องฟื้นฟูจะต้องทำอย่างไร และใช้เวลายาวนานเท่าไหร่ เพราะสุดท้ายแล้วจะสามารถจัดการภัยพิบัติได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและควบคุมเวลาได้ไปพร้อมๆ กัน ในทางกลับกันเหตุการณ์ภัยพิบัติใหญ่ครั้งนี้ได้ทำให้เราเห็นว่าเวลาของภัยพิบัติไม่ได้เดินเป็นเส้นตรงและที่สำคัญคือภัยพิบัติมันสามารถเกิดซ้ำได้ และในขณะที่กำลังฟื้นฟูเยียวยาอยู่นั้นอาจเกิดน้ำท่วมเป็นรอบที่สองและสามตามมาได้เสมอ

สืบสกุล เสริมว่าเวลาในการเผชิญวิกฤตและเวลาในการฟื้นฟูนั้นใช้ระยะเวลายาวนานจึงเป็นอีกเงื่อนไขที่ทำให้เวลาแม้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำและเดินเป็นเส้นตรงแต่การฟื้นฟูใช้เวลานานจึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงเรื่องของเวลาด้วย เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจและเห็นภาพกระบวนมากขึ้น เพราะน้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายครั้งนี้ไม่เพียงแค่น้ำแต่มีโคลนร่วมด้วย อีกทั้งยังมีขยะน้ำท่วมตามมาเช่นเดียวกัน

การให้ความช่วยเหลือของภาครัฐและภาคประชาสังคมใช้เวลาแตกต่างกัน  เวลาการทำงานของภาคประชาสังคมมักจะรวดเร็วกว่าภาครัฐ เพราะว่าภาครัฐเสียเวลาไปกับการทำงานด้านเอกสาร ระเบียบ กฎหมาย ที่ตายตัว ในขณะที่การทำงานของภาคประชาสังคมนั้นรวดเร็วเนื่องจากมีความยืดหยุ่นในด้านการจัดการ ดังนั้นแล้วการให้ความช่วยเหลือจึงเร็วกว่าและทำได้มากกว่าในด้านการเข้าถึงและช่วยเหลือผู้ประสบภัย  

นอกจากนี้ สืบสกุลยังได้พูดถึง เวลาในการฟื้นฟูของคนไม่เท่ากัน  กล่าวคือ เมื่อเกิดน้ำท่วม นักจัดการภัยพิบัติพยายามชี้ให้เห็นว่าเราจะต้องฟื้นฟูเมืองยังไง แต่หากมองให้ลึกขึ้นจะพบว่าเวลาของ คนรวย กับ คนจน นั้นไม่เท่ากัน จากประสบการณ์ของตนในการเป็นอาสาสมัครล้างบ้านในชุมชนเกาะลอยพบว่าบ้านของคนรวย สามารถระดมเอาทรัพยากร รถน้ำ กำลังคน รถขนขยะมาล้างทำความสะอาดบ้านของตนเองได้รวดเร็วและเสร็จก่อน แต่บ้านของคนจนและกลุ่มเปราะบางนั้นการล้างทำความสะอาดบ้านและขนขยะที่มากับน้ำท่วมของประชาชนกลุ่มนี้นั้นใช้เวลานานกว่า (ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. มาถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี) 

เวลาของภาคเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน สืบสกุล เล่าว่าตนได้มีโอกาสพูดคุยกับนักธุรกิจขนาดใหญ่คนหนึ่งในจังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่เวลาในการฟื้นฟูเร็วเพราะมีทุนในการจัดการความสกปรก ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) ใช้เวลานานกว่าในการฟื้นฟูธุรกิจของตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของเวลาของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ต้องได้รับการฟื้นฟูเยียวยาอย่างรวดเร็วเนื่องจากต้องแข่งกับฤดูกาลของการท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึงในช่วง high season ซึ่งเป็นเวลาที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัดเชียงราย ดังนั้น สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการคือการพยายามเปิดเมืองและต้องเร่งฟื้นฟูเมืองให้เสร็จภายในวันที่ 1 พ.ย. ปีนี้

ในขณะเดียวกันการฟื้นฟูในภาคการเกษตรกรรมจะเป็นอีกเวลาหนึ่ง กล่าวคือ ช่วงนี้เป็นเวลาของการทำนาปี แต่ถึงกระนั้น เกษตรกรไม่สามารถทำได้เนื่องจากวิกฤตน้ำท่วม สิ่งที่เกษตรกรต้องการคือการทำนาปรังซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนมกราคม ดังนั้นการเตรียมการ การสนับสนุน การเยียวยา และการฟื้นฟูต่อเกษตรกร ทุกภาคส่วนจะต้องสัมพันธ์กับเวลาของกิจกรรมภาคธุรกิจในทุก Sectors

เวลาในการทำงานกับเวลาในการฟื้นฟูบ้านทำให้ความซับซ้อนในการล้างบ้านมีมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องมอง กล่าวคือการล้างบ้านหรือทำความสะอาดบ้านภายหลังน้ำท่วมซึ่งในสถานการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการล้างน้ำสะอาดแต่เป็นการล้างคราบโคลนซึ่งใช้เวลาหลายรอบติดต่อเนื่องกันหลายวัน สืบสกุลเล่าว่า ในรอบที่หนึ่งต้องขนของออกจากบ้านซึ่งอาจใช้เวลาหลายวันแล้วแต่กรณี รอบที่สองต้องเอาโคลนออกจากตัวบ้านและห้องสำคัญต่าง ๆ เสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องครัว ห้องนั่งเล่น และรอบต่อไปต้องจัดการโคลนรอบตัวบ้าน โดยเริ่มจากการล้างโคลนออกต่อด้วยล้างน้ำยาความสะอาดเช่นนี้วนไปอีกหลายครั้ง ซึ่งยังไม่นับรวมข้าวของเครื่องใช้ที่คิดว่าเก็บกลับมาใช้ได้แล้วยังต้องใช้เวลาในการจัดหาเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้เข้ามาที่เดิมทีละชิ้น เพียงเท่านี้เป็นเรื่องที่ยากแล้วแต่จะยิ่งยากมากไปกว่าเดิมหากคุณเป็นคนที่ทำงานหาเช้ากินค่ำหรือรับจ้างรายวัน

สืบสกุล ได้เล่ากรณีของพนักงานที่ทำงานประจำที่มีแม่ป่วยเป็นโรคหัวใจซึ่งต้องหยุดงานเพื่อทำความสะอาดบ้าน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำสำเร็จได้พออาสาสมัครเข้าไปเจ้าของบ้านก็ขอว่านัดเป็นวันหยุดได้ไหมเพราะไม่สามารถลางานได้อีกแล้ว 

“หากหยุดงานเพื่อมาทำความสะอาดบ้านก็จะทำให้ไม่มีรายได้แต่หากไม่หยุดงานแล้วจะล้างบ้านเสร็จเมื่อไหร่ซึ่งเป็นการเพิ่มความเครียดและสร้างแรงกดดันให้กับผู้ประสบภัยและหากเป็นคนทำงานประจำแน่นอนว่าคุณสามารถลางานมาทำได้แต่ในบางกรณีของพนักงานที่ทำงานประจำลางานจนไม่รู้จะลายังไงได้อีก”

ในการฟื้นฟูในวิกฤตน้ำท่วมเชียงราย สืบสกุลเล่าว่า การฟื้นฟูทำเฉพาะเวลากลางวันตามเวลาราชการทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม   ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใดแต่ไม่เพียงพอ เนื่องจากเวลากลางคืนเป็นช่วงที่ว่างแต่ไม่มีการทำงานเลย เช่น ชุมชนเกาะลอยในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการฟื้นฟูนั้นอาสาสมัครทกคนเข้าไปช่วยไปตักขยะซึ่งต้องปิดกั้นเส้นทางในซอยดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยของคนสัญจรไปมา และความสะดวกในการปฏิบัติงาน แต่ปรากฎว่าได้ไปชะลอการเดินทางทั้งหมดภายในชุมชนทำให้เกิดรถติดตามมาอีกทั้งการให้ความช่วยเหลือได้ช้าตามไปด้วยก็เท่ากับว่าคุณเสียเวลามากขึ้น  

“อย่างที่เราได้ทำที่ผ่านมาคือตักขยะตอนกลางคืนเพราะว่าทุกคนหยุดการเคลื่อนไหวทั้งหมดซึ่งพบว่าสะดวกและทำได้เยอะกว่า เร็วกว่า ไม่มีการขีดกวางจราจร เช้าวันใหม่ เจ้าของบ้านที่อยู่ในชุมชนก็ไม่พบขยะกองใหม่แล้ว มันเป็นเวลาวันใหม่ที่ดีกว่าเดิม”

ในประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องของมิติของเวลาอีกเช่นกัน สืบสกลุเสริมว่าดังนั้นเวลาเกิดวิกฤตเราต้องทำงาน 24 ชั่วโมง และไม่ควรทำตามเวลาราชการเหมือนสถานการณ์ปกติ 

เวลาของผู้มีอำนาจกับเวลาของประชาชนที่ไม่เหมือนกัน  สืบสกุลได้ระบุถึงในกรณีของผู้ว่าจังหวัดเชียงรายที่รอเกษียณอายุราชการ (วันที่ 30 กันยายน 2567) แต่ในขณะเดียวกันประชาชนต้องการผู้มีอำนาจที่สามารถทุ่มเวลาให้กับการตัดสินใจแก้ไขปัญหาซึ่งผู้ว่าฯอาจจะทำงานจริงจังก็ได้ แต่เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ผู้ว่าราชการคนใหม่ก็จะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้งาน เรียนรู้สถานการณ์ และใช้เวลาในการตัดสินใจต่าง ๆ จนถึงทุกวันนี้ผ่านมาแล้วเรายังไม่มีผู้ว่าฯเป็นของตนเอง (ขณะนี้ รองปลัด มท. โชตินรินทร์ เกิดสม รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย) 

“ซึ่งผมคิดว่าเราเสียเวลาไปกับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ เราเลยต้องการผู้มีอำนาจตัดสินใจระดับจังหวัดที่มีเวลาและใช้เวลาอย่างเต็มที่และทุ่มเทให้กับเวลาในการทำงานขณะที่เกิดวิกฤต”

สุดท้ายสืบสกุลได้พูดถึง การเกิดวิกฤตน้ำท่วม “เวลา” เป็นสิ่งที่เรา “สูญเสีย” และ เป็นสิ่งที่เรา “ต้องการ” มากที่สุด การสูญเสีย ท้อแท้ สิ้นหวัง สิ่งที่เราเรียกว่า ขยะน้ำท่วม มันคือความทรงจำ ความรัก ความผูกพัน ของเราที่มีต่อสิ่งของเวลาตัดใจทิ้งหรือตั้งใจทิ้ง อย่างไรก็ตามก็คือการทิ้งเวลาเหล่านี้ไปในการที่จะฟื้นฟูย่อมต้องการเวลายาวนานอยู่แล้ว เเละก็ต้องการเวลาใหม่นั่นคือ “เวลาแห่งความหวัง” นิทรรศการ   “หมีเกย วาดหวัง ฟื้นฟู : เจียงฮายบ้านเฮา (LOST&FOUND) จึงได้มาทำหน้าที่ในการฟื้นฟูเวลาแห่งความหวังขึ้นมาใหม่หลังน้ำท่วม ตุ๊กตาเหล่านี้กำลังรอเจ้าของมารับกลับ แต่ช่วงเวลาระหว่างที่รอเจ้าของมารับในแง่หนึ่งก็คือกระบวนการในการจัดการ เก็บ ซัก ล้าง  ฉะนั้นแล้วเวลาแห่งความหวังเป็นเรื่องของกระบวนการในการทำงานให้ผู้คนมาร่วมกันมีส่วนร่วมกับสิ่งของที่ได้กลายเป็นอดีตแล้วเราไปชุบเวลาใหม่ขึ้นมาให้เป็นอนาคตได้อีกครั้ง

‘ผันน้ำยวม’ เมื่อแม่น้ำร้องไห้ บนการพัฒนาที่มองไม่เห็นชีวิต

0

เรื่อง: ธนพล สังข์ทอง, กชพรรณ ศรีบรรเทา

“เขาบอกแต่ว่าเราจะได้น้ำใช้ แต่เขาไม่เคยบอกว่าเราจะเสียอะไรไป..” เสียงจากชาวบ้านบ้านแม่งูด ผู้ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำยวมกล่าว

บ้านเรือนอาจต้องกลายเป็นสุสานใต้เขื่อน ที่ทำกินและสายน้ำแห่งชีวิตอาจถูกแทนที่ด้วยภูเขากองดิน ไร่นาอาจต้องจมดิ่งใต้ผืนน้ำ ‘โครงการผันน้ำยวม’ แผนพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่อย่างมหาศาล แต่กลับไร้การมีส่วนร่วมของประชน..

‘โครงการผันน้ำยม’ คืออะไร?

โครงการผันน้ำยวม’ คือโครงการขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน มูลค่ากว่า 88,745 ล้านบาท (ข้อมูลเดือนมีนาคม 2566) ที่มีเป้าหมายผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำยวมตอนล่างไปยังเขื่อนภูมิพลเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งประกอบด้วย เขื่อนกั้นแม่น้ำยวมความสูง 69 เมตร ในอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน อ่างเก็บน้ำขนาด 2,075 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 68 ล้านลูกบาศก์เมตร และสถานีสูบน้ำบ้านสบเงาพร้อมอาคารประกอบสำหรับสูบน้ำผ่านอุโมงค์คอนกรีตยาว  61 กิโลเมตร ที่เจาะทะลุผืนป่ารอยต่อ 3 จังหวัด ผ่านอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง และป่าสงวน 6 แห่ง มีจุดกองดินที่ขุดขึ้นจากอุโมงค์ 6 จุด และพื้นที่ปากอุโมงค์บริเวณบ้านแม่งูด ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ในรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้คาดการณ์ว่า งบประมาณในการก่อสร้างโครงการนี้อยู่ที่ประมาณ 71,000 ล้านบาท และใช้เวลาเตรียมโครงการประมาณ 9 ปี (พ.ศ. 2565 – 2573 เตรียมความพร้อม 1 ปี พ.ศ. 2565 ดำเนินการก่อสร้างปี พ.ศ. 2566-2573) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานวางท่อและเจาะอุโมงค์ผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง และป่าสงวน 6 แห่ง 

โครงการครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 4 อำเภอ 7 ตำบล 36 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลแม่วะหลวง, ตำบลแม่สวด, ตำบลกองก๋อย, และตำบลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมถึงตำบลนาเกียน, ตำบลอมก๋อย และตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

เอกสารจากกรมชลประทานระบุว่า โครงการนี้จะช่วยเติมน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรในฤดูแล้งกว่า 1.6 ล้านไร่ เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนภูมิพลเฉลี่ย 417 ล้านหน่วยต่อปี อีกทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณน้ำสำหรับการผลิตน้ำประปา สนับสนุนการประมงในเขื่อน และส่งเสริมการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานระบุว่า มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ‘ไม่เกิน 30 ราย’ (29 ราย) ขณะที่เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวินระบุว่า มีประชาชนจาก 36 หมู่บ้านที่ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ อีกทั้งยังชี้ว่าข้อมูลในรายงานมีความไม่ครบถ้วน

โครงการผันน้ำยวมมาจากไหน?

โครงการผันน้ำยวมไม่ใช่ไม่ใช่แนวคิดใหม่ เพราะตั้งแต่ปี 2538 โครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำได้เริ่มมีการวางแนวคิดขึ้นภายใต้การดูแลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) 

จนกระทั่งมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ในปี 2546-2549 โดยข้อค้นพบระบุว่า แนวทางที่เหมาะสมคือการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำยวมตอนล่างมายังเขื่อนภูมิพล แต่เนื่องจากงบประมาณที่สูงมาก โครงการจึงถูกระงับไว้ชั่วคราว

ต่อมาในปี 2559 โครงการนี้ถูกนำกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งเมื่อคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มอบหมายให้กรมชลประทานศึกษาความเป็นไปได้ของเส้นทางส่งน้ำที่เหมาะสมและทำการศึกษา EIA ใหม่ โดยครั้งนี้มี บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นผู้ดำเนินการศึกษา EIA

ปัจจุบัน รายงาน EIA เสร็จสิ้นแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 แต่ยังคงมีความกังขาจากประชาชนในพื้นที่และนักวิชาการหลายฝ่าย เกี่ยวกับเนื้อหาของรายงานที่อาจไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง รวมถึงเสียงสะท้อนจากชุมชนถึงความกังวลที่ไม่ได้รับการรับฟังหรือบันทึกไว้ในรายงานฉบับนี้

‘EIA ร้านลาบ’ ม่านหมอกแห่งความไม่โปร่งใสในโครงการผันน้ำยวม

แน่นอนว่าโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้จะต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่อย่างมาก  พื้นที่หมู่บ้านบริเวณที่จะสร้างเขื่อนจะต้องถูกน้ำท่วม พื้นที่ทำกินของชาวบ้านและลำธารบริเวณแนวอุโมงค์จะกลายเป็นภูเขากองดิน แต่การจัดทำรายงาน EIA กลับไม่ถูกต้อง เป็นไปอย่างเร่งรัด และขาดความโปร่งใส..

ย้อนกลับไปกลางปี 2563 แม้ว่ากรมชลประทานจะเชิญชวนให้ผู้แทนชุมชนเข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยเกี่ยวกับโครงการผันน้ำยวม แต่เนื่องจากสภาพถนนที่ยากลำบากในช่วงฤดูฝน และการขาดความชัดเจนในรายละเอียดของการประชุม รวมถึงความไม่มั่นใจว่าการรับประกันว่าข้อมูลการประชุมทั้งหมดจะมีบันทึกในรายงานหรือไม่ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ปฏิเสธการเข้าร่วม

แม้ผู้แทนชุมชนและชาวบ้านจะปฏิเสธการเข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้น แต่รายงาน EIA ที่เสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนเมษายน 2564 กลับระบุว่ามีการจัดประชุมและได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน โดยมีการนำชื่อ สกุล รูปภาพ และข้อมูลของชาวบ้านมาใช้ในรายงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ราวกับว่าทางเจ้าหน้าที่ได้จัดการประชุมผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน และผู้เข้าร่วมประชุมล้วนเข้าใจโครงการนี้อย่างดี พร้อมจะสนับสนุน ทำให้ดูเหมือนว่ากระบวนการมีส่วนร่วมได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว 

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงกลับเป็นไปในทางตรงข้าม เพราะชาวบ้านและแกนนำส่วนใหญ่ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ บางกลุ่มถูกอ้างชื่อลงในรายงาน ขณะที่บางคนออกมาเปิดเผยว่าภาพการเข้าร่วมครั้งนั้นเป็นเพียงการนัดพบในร้านกาแฟและรับประทานอาหารที่ร้านลาบ โดยเจ้าตัวยืนยันว่าไม่ได้อนุญาตให้นำรูปและข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในรายงาน EIA แต่อย่างใด จนเป็นที่มาของแฮชแท็ก ‘#EIAร้านลาบ ซึ่งเรียกร้องความโปร่งใสในกระบวนการจัดทำ EIA ของโครงการนี้

นอกจากนี้ การใช้ข้อมูลเก่าจาก EIA ฉบับก่อน ๆ มาจัดทำ ซึ่งขัดแย้งกับสภาพพื้นที่ในปัจจุบัน เช่น การแสดงข้อมูลของหมู่บ้านที่ไม่มีอยู่แล้ว การให้ข้อมูลต่อชาวบ้านตามแนวอุโมงค์ซึ่งใช้ภาษาที่แตกต่างกัน แต่สื่อสารให้ข้อมูลเพียงภาษาเดียว การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ทำเพราะกฎหมายกำหนดแต่กลับไม่ฟังเสียงคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่จริง การจัดมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีปัญหา EIA ที่ไร้ประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้ย่อมแสดงถึงการมองข้ามเสียงของชาวบ้านอย่างแท้จริง

EIA จบ ประชาชนไม่จบ เกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากนั้น?

แม้ว่าโครงการผันน้ำยวมจะผ่านการประเมิน EIA แล้ว แต่ประชาชนในพื้นที่ยังคงยืนหยัดคัดค้านโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 5-6 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา The Citizen.Plus รายงานว่า มีการประชุมเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำยวม – เงา – เมย – สาละวิน เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันของชุมชนที่มี ‘ความกังวล’ ต่อ ‘โครงการผันน้ำยวม’ หรือที่มีชื่อเต็มว่า “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล” โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 80 คนในทั้งสองวัน ซึ่งประกอบด้วยผู้นำชุมชน คณะทำงานจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ บ้านแม่งูด ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และบ้านแม่คะตวน ตำบลแม่คะตวน อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอนน 

ขณะเดียวกันในวันที่ 18 ตุลาคม 2566 เครือข่ายภาคประชาชน 3 จังหวัดได้ฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ โดยชี้ให้เห็นว่าขั้นตอนการดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมายและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงได้ขอให้ศาลปกครองออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในวันนั้น ตัวแทนชาวบ้านจำนวน 66 คนที่เดินทางมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ได้เข้ายื่นฟ้องคดีในนามของ ‘เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน’ ซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล โดยมีการฟ้องร้อง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน, คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ, สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, และคณะรัฐมนตรี โดยได้มอบหมายให้ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนดำเนินการคดีนี้

ต่อมาในวันที่ 20 มกราคม 2567 GreenNews รายงานว่า เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม – เงา – เมย – สาละวิน ได้ส่งตัวแทนยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ขณะลงพื้นที่เยือนเขื่อนแม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ “การเพิกถอนโครงการฯ – การเพิกถอนรายงาน EIA โครงการฯ – และการยุติทุกโครงการที่เกี่ยวข้อง” โดยเครือข่ายฯ ชี้ให้เห็นว่าโครงการดังกล่าว “ไม่จำเป็น – ไม่เหมาะสม – ไม่ผ่านการศึกษาอย่างรอบด้านตามหลักวิชาการและกฎหมาย – ส่งผลกระทบรุนแรง – และไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน” การยื่นหนังสือครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลา 13.00 น. ที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี วันไชย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสมาชิกชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอฮอดอีก 5 คน ร่วมเดินทางในฐานะตัวแทนของเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม – เงา – เมย – สาละวิน

โครงการผันน้ำยม ‘คุ้มค่า’ หรือ ‘ไม่คุ้มเสีย’ ?

Think Forward Center ได้วิเคราะห์ในรายงาน EIA และพบว่าโครงการนี้มีต้นทุนที่แบ่งออกเป็นสามส่วนหลัก ได้แก่ ต้นทุนค่าก่อสร้าง ต้นทุนค่าสูบน้ำ และต้นทุนค่าปฏิบัติงานและบำรุงรักษา

1. ต้นทุนค่าก่อสร้าง รวมถึงการสร้างอ่างเก็บน้ำต้นทางที่แม่น้ำยวมและการก่อสร้างอุโมงค์ โดยหากเฉลี่ยต้นทุนเป็นหน่วยต่อลูกบาศก์เมตร จะพบว่าต้นทุนค่าก่อสร้างเฉพาะสำหรับน้ำแต่ละลูกบาศก์เมตรที่ลอดผ่านอุโมงค์จะอยู่ที่ 4.21 บาท/ลบ.ม. (อัตราคิดลดที่ 9% ตามคำแนะนำของสภาพัฒน์)

2. ต้นทุนค่าสูบน้ำ เนื่องจากการผันน้ำในโครงการนี้จำเป็นต้องสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำไปขึ้นปากอุโมงค์ก่อน ทำให้เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นต้นทุนต่อลูกบาศก์เมตรประมาณ 1.66 บาท/ลบ.ม.

3. ผลผลิตไฟฟ้า การใช้น้ำผันมาเพื่อผลิตไฟฟ้าที่เขื่อนภูมิพล จะสร้างมูลค่ารายได้จากค่าไฟฟ้าราว 1,150 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 0.66 บาท/ลบ.ม. เมื่อนำมารวมกับต้นทุนปฏิบัติงานและบำรุงรักษาอีก 0.17 บาท/ลบ.ม. จะทำให้ต้นทุนรวมของน้ำในโครงการนี้สูงถึง 6.04 บาท/ลบ.ม.

หากใช้น้ำนี้สำหรับทำนาปรัง มูลค่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้น้ำในการเพาะปลูกจะมีค่าเพียง 2.11 บาท/ลบ.ม. (โดย EIA คำนวณจากการใช้น้ำที่ 1,106 ลบ.ม./ไร่) สะท้อนว่าโครงการนี้ “ไม่คุ้มค่า” เพราะต้นทุนน้ำอยู่ที่ 6.04 บาท/ลบ.ม. แต่สร้างประโยชน์ได้เพียง 2.11 บาท/ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าต้นทุนอย่างมาก

แม้จะคำนวณรวมประโยชน์จากการใช้น้ำในการผลิตน้ำประปาประมาณ 300 ล้าน ลบ.ม.ต่อปีและประโยชน์อื่น ๆ แล้ว ตัวเลขมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ของโครงการนี้ตามรายงาน EIA ยังอยู่ที่ -10,972 ล้านบาท (ที่อัตราคิดลด 9%) แสดงถึงการขาดทุนกว่า 11,000 ล้านบาท

สรุปได้ว่า การลงทุนในโครงการนี้เพื่อนำน้ำมาทำนาปรังไม่คุ้มค่าแน่นอน

ภาพ: Thaipost

19 ธันวาคม 2566 Thaipost รายงาน ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ โดยเฉพาะโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม ซึ่งมีประเด็นที่นักวิชาการชี้ว่า โครงการผันน้ำยวมที่มีมูลค่านับแสนล้านเสี่ยงต่อความผิดกฎหมาย สร้างภาระหนี้ให้แก่รัฐอย่างมหาศาล และอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน โดยระบุว่า สผ. ปล่อยผ่านการประเมิน EIA แม้การศึกษาความเป็นไปได้ (FS) ของโครงการยังไม่ผ่าน ขณะที่ชาวบ้านแสดงความกังวลและเรียกร้องให้กรมชลประทานชี้แจงข้อมูลใหม่ พร้อมเตรียมตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและทบทวนโครงการนี้ใน 3 ประเด็นหลัก

หาญณรงค์ เยาวเลิศ หนึ่งในอนุกรรมการฯ เปิดเผยว่า จากรายงาน EIA พบว่าโครงการนี้จะกั้นเขื่อนและสูบน้ำจากท้ายเขื่อนไปยังอุโมงค์ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่เคยมีการใช้งานในไทยและไม่น่าจะเหมาะสมในเชิงวิศวกรรม รายงานยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำในแม่น้ำยวม ไม่มีปริมาณน้ำรายวัน มีเพียงปริมาณน้ำเดิมที่ข้อมูลต่างไปแล้วเนื่องจากการใช้น้ำและที่ดินตลอดลุ่มน้ำยวมต่างไปจากเดิมแล้ว หากการสูบน้ำในปริมาณน้อยกว่า 1,835 ล้าน ลบ.ม./ปี จะทำให้การลงทุนของเอกชนขาดทุน เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีในแต่ละปีไม่เท่ากัน

ด้าน ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ควรตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบความคุ้มค่าและความเหมาะสมของโครงการนี้ ทั้งด้านวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์ โดยชี้ว่าการร่วมทุนรัฐ-เอกชน (PPP) ต้องพิจารณาข้อกฎหมายให้รอบคอบ เนื่องจากเสี่ยงต่อความไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากโครงการนี้ดำเนินไปโดยไม่มีการพิจารณาผลกระทบด้านหนี้สาธารณะ ไทยอาจเผชิญกับภาระหนี้ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในอนาคต

ผศ.ดร.ประชา ยังระบุว่า ภาระหนี้จากโครงการนี้อาจสูงมาก ซึ่งกรมชลประทานจำเป็นต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า การเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรจะเกิดขึ้นอย่างไร และตั้งคำถามว่าโครงการนี้เหมาะสมต่อการใช้น้ำเพื่อการทำนาปรังหรือไม่ ขณะที่การผลิตข้าวของไทยในปัจจุบันเกินกว่าความต้องการภายในประเทศ เราจึงอาจไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวให้มากขึ้น

ศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร นักวิชการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า การเสนอ PPP โดยกรมชลประทานอาจไม่เหมาะสม เนื่องจากภารกิจหลักของเอกชนคือผลตอบแทนจากการลงทุน การพิจารณาอนุมัติโครงการควรดำเนินตามปกติ โดยจัดงบประมาณประจำปีมากกว่าการร่วมทุน

ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร นักวิชาการจากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า พื้นที่หมู่บ้านแม่เงา อ.สบเมย ซึ่งจะตั้งสถานีสูบน้ำ และบ้านแม่งูด อ.ฮอด ที่เป็นปลายอุโมงค์นั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนของชาวกะเหรี่ยงที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำ รายงาน EIA ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยระบุเพียงสภาพทั่วไป ไม่ได้คำนึงถึงรายได้และทรัพยากรป่าที่ชาวบ้านพึ่งพา ซึ่งถือเป็นรายได้สำคัญประมาณ 33% ของครัวเรือนในพื้นที่ ทั้งนี้ ความกังวลต่อความปลอดภัยและการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นยังไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสม

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวต่อ BBC Thai เพิ่มเติมว่า โครงการนี้อาจทำลายป่าต้นน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสาละวิน และอาจไม่ส่งผลประโยชน์ต่อพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน รัฐจะต้องใช้จ่ายเพิ่มปีละประมาณ 2,400 ล้านบาทเพื่อค่าไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำในปริมาณ 1,700-1,800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ดังนั้น น้ำที่คาดว่าจะได้ไม่ใช่ได้มาฟรี ๆ

ด้าน ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหนึ่งในคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มีข้อกังขาเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะได้รับตามความต้องการ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ปริมาณฝนไม่แน่นอนในแต่ละปี

แม้ว่าในเชิงปริมาณน้ำ สิตางศุ์เห็นด้วยกับการผันน้ำจากแม่น้ำยวมเนื่องจากมีปริมาณน้ำมาก แต่สิตางศุ์เน้นย้ำว่าควรมีการศึกษาผลกระทบต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติอย่างโปร่งใส รวมถึงการเยียวยาและชดเชยที่เป็นธรรม หากรัฐจำเป็นต้องดำเนินโครงการ

อย่างไรก็ตาม สิตางศุ์เสนอทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องสร้างโครงการขนาดใหญ่ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบชลประทานจากปัจจุบันที่ 40% ให้เป็น 60% ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการโดยไม่ต้องผันน้ำผ่านป่า

ภาพ: ประชาไท

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประชาไท รายงานว่า คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวม ซึ่งมี ดร.ศิตางศุ์ พิลัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน และมีผู้เข้าร่วมหลากหลายฝ่าย รวมถึงเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน บริษัทที่ปรึกษา นักวิชาการ กลุ่มผู้ใช้น้ำ และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมประมาณ 70 คน

ดร.ประชา คุณธรรมดี จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความกังวลว่า การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องปริมาณน้ำ 1,795 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ตั้งเป้าจะผันเพื่อปลูกข้าว ซึ่งประเมินว่าจะสร้างผลประโยชน์มูลค่า 9,000 ล้านบาท แต่ประชาเห็นว่าเป็นตัวเลขที่อาจเกินจริง และไม่สอดคล้องกับการใช้จริงในการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการปลูกข้าวขาวในภาคกลางมักเกิดผลประโยชน์เพียงในบางปี ขณะที่ในปีอื่นๆ รัฐยังต้องใช้งบประมาณสนับสนุนอีกมหาศาล หากโครงการนี้เกิดขึ้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายประมาณปีละพันล้านถึง 3,100 ล้านบาท แต่หากปล่อยให้เอกชนดำเนินการ รัฐจะต้องรับผิดชอบการขาดทุนทั้งหมด ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าจะนำไปสู่การฟ้องร้องในอนาคต

นอกจากนี้ รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิชาการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เสริมว่า การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ โดยเฉพาะจากลุ่มน้ำขนาดใหญ่ เช่น การผันน้ำ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตรจากแม่น้ำยวม อาจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปริมาณน้ำที่แม่น้ำยวมในฤดูฝนนั้นมีระยะเวลาเพียง 5 วันเท่านั้นที่น้ำถึงระดับ 100 ลบ.ม. และในทางวิศวกรรม การสูบน้ำด้วยอัตรา 150 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อดันน้ำขึ้นไปที่ระดับ 150 เมตร อาจไม่ได้สร้างประโยชน์อย่างที่คาดหวัง

“เขาบอกแต่ว่าเราจะได้น้ำใช้ แต่เขาไม่เคยบอกว่าเราจะเสียอะไรไป..”

ผลงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้ โครงการศึกษาวิจัยและจัดตั้งคลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อมฯ ในรายวิชา การศึกษากฎหมายสิ่งแวดล้อมเชิงคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อ้างอิง

เชียงใหม่ เมืองสวย ไร้สาย ‘เมืองตู้ไฟ’ ที่ผลักไสคนพิการ

0

เรื่อง: ธนกฤต ศรีสมเพ็ชร, ธีระวีร์ คงแถวทอง

คนพิการมักเป็นกลุ่มแรกที่ถูกลืม และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ถูกนึกถึงในการพัฒนาทางเท้า

หากพูดถึงบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน หนึ่งในนั้นก็คงหนีไม่พ้นสิ่งที่เรียกว่า ‘ทางเท้า’ ซึ่งควรเป็นบริการที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ขณะเดียวกันการเดินบนทางเท้าก็ควรที่จะเป็นเรื่องง่ายและปลอดภัยสำหรับทุกคน แต่ในความเป็นจริงกลับต่างออกไป ทางเท้าของเรามักเต็มไปด้วยอุปสรรคที่สร้างความยากลำบากให้กับผู้สัญจรไปมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ ‘คนพิการ’ การเดินบนทางเท้าที่ไม่ราบเรียบและมีสิ่งกีดขวางอยู่ตลอดทางเป็นปัญหาที่อาจทำให้หลายคนรู้สึกหงุดหงิดใจ แต่สำหรับคนพิการ มันคือความลำบากที่มากขึ้นเป็นเท่าตัว หลายครั้งพวกเขาต้องอ้อมไกลกว่าคนอื่น บางครั้งต้องอ้อมเป็นกิโลเมตรเพื่อไปยังจุดหมายเดียวกัน หรือที่แย่กว่านั้น พวกเขาอาจไม่มีโอกาสเดินทางไปถึงจุดหมายได้เลย..

การมีสภาพแวดล้อมที่รองรับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมไม่ควรเป็นเพียงแค่เรื่องในอุดมคติ แต่ควรเป็นมาตรฐานของสังคม เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระและปลอดภัย แล้วทำไมในความเป็นจริงเราถึงยังไปไม่ถึงจุดนั้น?

เชียงใหม่ ‘เมืองเดินได้’ แต่ไม่ใช่ ‘เมืองเดินดี’

ภาพ: The Urbanis by UDDC

จากการวัด ‘Good Walk Score’ ซึ่งเป็นคะแนนที่สะท้อนถึงระดับศักยภาพการเดินของพื้นที่ โดย The Urbanis by UDDC หรือ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center) คำนวณจากสถานที่ดึงดูดการเดิน 6 ประเภท ได้แก่ 1. แหล่งงาน 2. สถานศึกษา 3. แหล่งจับจ่ายใช้สอย 4. พื้นที่นันทนาการ 5. สถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรม และ 6. สถานที่ขนส่งสาธารณะ พื้นที่ที่มีสถานที่เหล่านี้อยู่ในระยะเดินเท้าจำนวนมากจะมีคะแนนความเดินได้สูงกว่าบริเวณอื่นๆ จากการสำรวจพบว่า บริเวณเมืองเก่าของจังหวัดเชียงใหม่มี ‘Good Walk Score สูง’ แสดงถึงศักยภาพในการเป็น ‘เมืองเดินได้’

โดยถนนที่มีศักยภาพสูงในเขตเมืองเก่าของเชียงใหม่ ได้แก่ ได้แก่ ถนนท่าแพ ถนนราชดำเนิน ถนนช้างเผือก ถนนพระปกเกล้า ถนนสิงหราช ถนนช้างคลาน ถนนเจริญเมือง ถนนราชภาคินัย และถนนห้วยแก้ว

อย่างไรก็ตาม แม้เมืองเชียงใหม่จะเป็น ‘เมืองเดินได้’ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็น ‘เมืองเดินดี’ เพราะการมีสถานที่ต่างๆ ในระยะก้าวเดินไม่ใช่ตัวชี้วัดคุณภาพของการเดินเท้าเสมอไป โดยจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการจะเดินในเมืองเชียงใหม่ของ UDDC พบว่า คุณภาพการเดินเท้าในเมืองเชียงใหม่ยังคงมีข้อจำกัดและปัญหาบางประการ ไม่ว่าจะเป็นความกว้างเฉลี่ยของทางเท้าที่มีเพียง 1.2 เมตร ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับการเดินของผู้คนจำนวนมาก นอกจากนี้ บางพื้นที่ยังมีสิ่งกีดขวางที่ขัดขวางการเดิน ทำให้การเดินทางไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ทางเท้าอย่างแท้จริง..

เชียงใหม่ เมืองสวย ไร้สาย ในความไม่เท่าเทียมของคนพิการ

จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนคนพิการประเภทต่าง ๆ กว่า 57,347 คน ซึ่งคิดเป็น 2.60% ของจำนวนคนพิการทั่วประเทศ โดยในจำนวนนี้อยู่ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่มากที่สุดกว่า 5,005 คน คิดเป็น 0.23% ของคนพิการทั่วประเทศ แม้จังหวัดเชียงใหม่จะมีจำนวนคนพิการเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ และอันดับ 9 ของประเทศ แต่คุณภาพชีวิตของคนพิการในเมืองเชียงใหม่กลับไม่ได้รับการดูแลอย่างดีเท่าที่ควร ‘ปัญหาทางเท้า’ ยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญซึ่งผู้พิการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง

19 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ทีมกฎหมายสิ่งแวดล้อมและนักศึกษาในกระบวนวิชาคลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อม (Environmental Law Clinic CMU: ELC CMU) ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ลูกความในกรณีที่เกี่ยวข้องกับ ‘ตู้ไฟฟ้ากีดขวางทางเท้า’ บริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี สุริยา แสงแก้วฝั้น นักเรียกร้องสิทธิการได้รับบริการสาธารณะและผู้พิการที่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ช่วยเหลือในการเคลื่อนที่และสัญจรไปยังที่ต่างๆ ร่วมลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและให้สัมภาษณ์

จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทีมคลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อมได้เห็นถึงความยากลำบากในการใช้งานทางเท้าบริเวณถนนราชดำเนิน ซึ่งมีการติดตั้งตู้เหล็กลักษณะเหมือนตู้ใส่สายไฟฟ้าบนทางเท้าตลอดสาย ทำให้ผู้ที่ใช้ทางเท้าต้องเดินหลีกเลี่ยงตู้เหล็กดังกล่าว และส่วนมากต้องลงไปเดินบนถนน ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออันตรายทั้งต่อชีวิตและร่างกาย รวมถึงเป็นอุปสรรคในการใช้ทางเท้าอย่างสะดวก

ผลกระทบดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก ‘โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าเมืองใหญ่ ระยะที่ 1’ ซึ่งในเมืองเชียงใหม่ โครงการนี้มีชื่อว่า ‘โครงการเมืองเชียงใหม่ เมืองสวย ไร้สาย’ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการปรับปรุงภูมิทัศน์เมืองไม่ให้มีเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้า เพื่อให้มีความสวยงามในทัศนียภาพรอบตัวเมือง ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นเส้นทางสายวัฒนธรรมและมีวัด โบราณสถาน อีกทั้งยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย มีระยะทางดำเนินการรวม 23 กิโลเมตร โดยมีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการที่ปัจจุบันได้ดำเนินการจนใกล้จะเสร็จสิ้น ด้วยงบประมาณ 3,978 ล้านบาท

โดยการดำเนินงานแบ่งเป็น 1. ถนนคชสาร, ถนนมูลเมือง, ถนนชัยภูมิ  2. ถนนช้างหล่อ, ถนนราชเชียงแสน, ถนนมูลเมือง, ถนนบำรุงบุรี 3. ถนนราชภาคินัย, ถนนราชมรรคา 4. ถนนพระปกเกล้า, ถนนเวียงแก้ว, ถนนมูลเมือง, ถนนจ่าบ้าน, ถนนราชมรรคา 5. ถนนราชดำเนิน, ถนนสามล้าน 6. ถนนอารักษ์, ถนนบำรุงบุรี, ถนนศรีภูมิ 7. ถนนอัษฎาธร, ถนนมณีนพรัตน์, ถนนช้างเผือก, ถนนหัสดิเสวี, ถนนบุญเรืองฤทธิ์, ถนนมหิดล, ถนนทิพย์เนตร นอกจากนี้ ยังมีเพิ่มเติมอีกคือ บริเวณถนนทิพย์เนตร แยกประตูสวนปรุง (แสนปุง) ถึงสถานีไฟฟ้าเชียงใหม่ 6

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทีมคลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสุริยาเห็นว่า การติดตั้งตู้เหล็กในลักษณะนี้เป็นการกีดขวางทางเดินเท้า ซึ่งทำให้ผู้พิการไม่สามารถใช้ทางเท้าได้อย่างปลอดภัยและสะดวก อีกทั้งยังเป็นการจำกัดสิทธิการใช้ทางเดินเท้าบริเวณรอบคูเมืองสำหรับผู้พิการอย่างชัดเจน จึงมีความต้องการให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีการชี้แจงและหาแนวทางการแก้ไข เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าใช้ทางเท้าได้อย่างเท่าเทียม 

เชียงใหม่เมืองตู้ไฟสะท้อนอะไร?

ปัญหาตู้ไฟฟ้าขวางทางเดินเท้าที่เราเห็นในปัจจุบัน เป็นตัวอย่างหนึ่งของอุปสรรคที่เกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็น ‘สมาร์ทซิตี้’ ซึ่งควรจะเป็นเมืองที่ออกแบบและพัฒนาให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย การที่ตู้ไฟฟ้าถูกวางไว้ในตำแหน่งที่ขวางทางเดินเท้า ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความไม่สะดวกสำหรับผู้เดินเท้า แต่ยังเป็นอันตรายต่อผู้พิการ ผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ (Wheelchair) หรือผู้ที่ต้องการใช้เส้นทางสาธารณะอย่างปลอดภัย

การพัฒนาเมืองให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ไม่ควรมุ่งเน้นเพียงแค่การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นอยู่ ความต้องการ รวมถึงความปลอดภัยของประชาชนทุกกลุ่มด้วย การวางแผนและออกแบบพื้นที่สาธารณะต้องมีความรอบคอบและให้ความสำคัญกับการใช้งานจริงของประชาชนในทุกกลุ่ม เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างเท่าเทียม

การพัฒนาเมืองที่ดีนั้นไม่ควรนึกถึงเพียงแค่การพัฒนาและความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ควรพัฒนาเมืองโดยคำนึงถึงผู้ใช้งานทุกเพศ ทุกวัย และทุกคน ดังนั้น การพัฒนาเมืองจึงควรดำเนินการโดยคำนึงถึงทุกคนในสังคมอย่างแท้จริง

เสียงสะท้อนจากคนพิการถึงทางเท้าเชียงใหม่

การตั้งตู้ไฟฟ้าบนทางเท้าคือปัญหาของผู้พิการทุกคน

เสียงสะท้อนจาก สุริยา แสงแก้วฝั้น ผู้พิการและนักเรียกร้องสิทธิการได้รับบริการสาธารณะ ได้เน้นย้ำถึงปัญหาที่ผู้พิการต้องเผชิญเมื่อใช้ทางเท้าในเชียงใหม่ โดยสุริยาได้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาหลักๆ ของทางเท้าคือ ‘ความแคบ’ ซึ่งทำให้การเดินทางไม่สะดวกอยู่แล้ว การนำตู้ไฟฟ้ามาตั้งในตำแหน่งที่กีดขวางยิ่งทำให้ไม่สามารถใช้ทางเท้าได้เลย ส่งผลให้ผู้พิการต้องลงมาใช้ถนนร่วมกับรถยนต์ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่ออันตรายอย่างมากเข้าไปอีก 

สุริยากล่าวต่อว่า หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางเท้า เขาอาจจะเลือกไม่ใช้ทางเท้านั้นเลย เพราะไม่ว่าผู้พิการจะต้องการใช้ทางเท้าแค่ไหน ก็ไม่สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย

ถ้าเรามองพื้นที่ตรงนั้นเป็นทางสัญจรผ่านไปมา โดยเฉพาะเป็นทางสาธารณะ เพราะว่าเราจำเป็นต้องใช้  เราไม่ได้อยู่แต่ในบ้าน 24 ชั่วโมง มันเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เราจำเป็นต้องใช้พื้นที่ตรงนั้น แต่พื้นที่ตรงนั้นก็ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียงพอและปลอดภัยสำหรับตัวผมและผู้อื่น

ดังนั้น สุริยาจึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาดำเนินการปรับปรุงทางเท้าและถนนให้สะดวกและปลอดภัย เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียม โดยสุริยาย้ำว่า ‘การมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเดินทางของผู้พิการในสังคม’

Universal Design คือคำตอบ ทางออกของปัญหา ‘เมืองพิการ’

เราต้องออกแบบอย่าง Universal Design ออกแบบให้เป็นมิตรกับทุกคน

ภาพ: ELC CMU

จากโครงการ ‘การจัดเสวนาเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขต่อปัญหาตู้ไฟฟ้ากีดขวางทางเดินเท้า’ ที่จัดขึ้น ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา เกรียงไกร อรุโณทยานันท์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ได้กล่าวถึงความสำคัญของการออกแบบพื้นที่สาธารณะอย่าง Universal Design หรือการออกแบบที่เป็นมิตรกับทุกคน โดยเน้นว่า การออกแบบควรคำนึงถึงความสะดวกและการเข้าถึงของผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป ผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ ‘ผู้พิการ’ 

Universal Design’ หรือ ‘อารยสถาปัตย์’ เป็นหลักการออกแบบที่มุ่งหวังให้พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายและใช้งานได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม การนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ จะช่วยให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ โดยไม่รู้สึกถึงข้อจำกัดจากสภาพแวดล้อม เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีการพัฒนาเมืองตามหลัก Universal Design ทำให้ผู้พิการรู้สึกไม่พิการ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมได้รับการออกแบบมาอย่างรอบคอบ เพื่อรองรับความต้องการของทุกกลุ่ม ในขณะที่ประเทศไทย ยังมีปัญหาด้านการออกแบบที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องเผชิญกับความยากลำบากและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การออกแบบที่ไม่ดีทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อสร้างเมืองที่เป็นมิตรและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน

ปัจจุบัน องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้บัญญัติศัพท์ใหม่ที่เรียกว่า ‘การพัฒนายุคใหม่ต้องเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่ตกหล่นหรือทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ซึ่งยืนยันว่าการพัฒนาทุกระดับควรมีเป้าหมายในการไม่ทำให้ใครตกหล่นหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงหรือเปราะบาง เช่น คนพิการ

กลุ่มคนพิการในทุกวงทั่วโลกทุกการพัฒนาทั้งในอดีตและการออกแบบตึกอาคารสถานที่ คนพิการหรือมนุษย์ล้อทั้งหลายมักจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกลืม และที่น่าเศร้ากว่านั้นอีกคือ กลุ่มคนพิการก็มักเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะถูกนึกถึง

ในอดีต ประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา สังคมมักไม่คำนึงถึงความต้องการและสิทธิของคนพิการในการพัฒนาเมืองและสังคม ส่งผลให้เกิดช่องว่างในการเข้าถึงบริการและโอกาสต่าง ๆ สำหรับพวกเขา แต่ในยุคปัจจุบัน แนวทางการพัฒนาให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความเท่าเทียม โดยการออกแบบที่เอื้อต่อทุกคน รวมถึงการปรับปรุงนโยบายและกฎหมายเพื่อสนับสนุนสิทธิของคนพิการ ‘การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืนสำหรับทุกคนในสังคม

การออกแบบที่ไม่คำนึงถึงคนพิการกลายเป็นปัญหาที่มีความยาวนานในประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่สาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกให้สามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคน สภาพแวดล้อมที่ล้าหลังในไทยสะท้อนถึงการขาดการคิดถึงกลุ่มคนพิการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ

ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าในด้าน Universal Design ไม่เพียงแต่ไม่ลืมกลุ่มคนพิการ แต่ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพสำหรับทุกคน การออกแบบในลักษณะนี้มุ่งเน้นไปที่การทำให้ผู้คนทุกประเภทสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับการดูแลอย่างจริงจัง

การไม่ลืมและการให้ความสำคัญกับกลุ่มคนพิการในการพัฒนาเมืองและสังคมจึงเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นผลดีต่อกลุ่มคนพิการ แต่ยังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับประชาชน ‘ทุกคน’ ในสังคมด้วย

ผลงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้ โครงการศึกษาวิจัยและจัดตั้งคลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อมฯ ในรายวิชา การศึกษากฎหมายสิ่งแวดล้อมเชิงคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อ้างอิง

กรีนพีชเปิดแคมเปญ ‘ฮักภาคเหนือบ่เอาถ่านหิน’ ถึงเวลา ‘SCG’ ต้องปลดระวางถ่านหินและเคารพสิทธิมนุษยชน

เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา

ภาพ: วิศรุต แสนคำ

18 กันยายน 2567 เวลา 16.30 – 20.00 น. กรีนพีซ ประเทศไทย จัดกิจกรรม ‘ฮักภาคเหนือ บ่เอาถ่านหิน’ ณ ลานประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรณรงค์และสื่อสารถึงผลกระทบของโครงการเหมืองถ่านหินที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรียกร้องให้บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG หยุดแผนการรับซื้อถ่านหินจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และยุติโครงการเหมืองถ่านหินที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปางเพื่อเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการที่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเอกชนในประเทศไทยต้องเริ่มปลดระวางการใช้ถ่านหิน  ซึ่งถือเป็นแหล่งพลังงานที่ล้าสมัยและส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม การคงเดินหน้ากับการใช้ถ่านหินและการขยายโครงการเหมืองถ่านหินในภาคเหนือจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อชุมชนในพื้นที่ พร้อมสื่อสารต่อสาธารณะและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข 

ภายในงานมีการจัดกิจกรรมที่เน้นสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้พลังงานถ่านหิน อาทิ Performance Arts และกิจกรรมฮ้องขวัญ (สู่ขวัญ) โดยมีมาสคอต ‘น้องฟาดฝุ่น’ ช้างเผือกที่เคยสวยงาม แต่กำลังปนเปื้อนถูกทำลายจากโครงการเหมืองถ่านหิน นอกจากนี้ยังมีเสวนาในหัวข้อ ‘ถ้าฮักบ้านเฮา : ต้องเริ่มปลดระวางถ่านหินและเคารพสิทธิมนุษยชน’ ที่มุ่งเน้นการรับรู้ถึงผลกระทบจากถ่านหินและการดำเนินงานของธุรกิจที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGP) เพื่อปกป้อง เคารพ และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในหลายมิติ ดำเนินรายการโดย พชร คำชำนาญ จากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move)

ถ้าฮักบ้านเฮา : ต้องเริ่มปลดระวางถ่านหินและเคารพสิทธิมนุษยชน

เสวนาเริ่มต้นที่ มะลิวรรณ นาควิโรจน์ นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม และตัวแทนจากพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจาก ‘โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน’ ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง หนึ่งในพื้นที่ที่มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่

มะลิวรรณ นาควิโรจน์

มะลิวรรณ เล่าถึงประสบการณ์การอาศัยอยู่ห่างจากเหมืองถ่านหินเพียง 300 เมตร ด้วยการขยายตัวของเหมือง ทำให้มะลิวรรณและชุมชนต้องเผชิญกับปัญหาผระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง ฝุ่นจากการขุดเหมืองเข้ามาปกคลุมภายในหมู่บ้าน ซึมลึกเข้าไปถึงห้องครัว ห้องนอน หรือแม้กระทั่งจานอาหาร การเปิดหน้าดินเพื่อหาถ่านหินไม่เพียงสร้างฝุ่น แต่ยังปล่อยกลิ่นเหม็นจากการสันดาปของถ่านหิน และเสียงดังจากเครื่องจักรที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง รวมไปถึงแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดเหมืองที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างบ้านเรือน ทำให้บ้านเรือนสั่นสะเทือนและแตกร้าว อันนี้คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม

ด้านสุขภาพ มะลิวรรณระบุว่า ชาวบ้านในแม่เมาะต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งในบางช่วงทำให้ชาวบ้านทั้งอำเภอเจ็บป่วย มลภาวะจากการเผาไหม้ถ่านหินทำให้เกิดภาวะอากาศกด ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จนเกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ แต่กลับต้องใช้เวลามากกว่า 20 ปีในการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ว่า การเจ็บป่วยนั้นมาจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจริง ๆ

ด้านความล้มเหลวในการเยียวยาและปัญหาสิทธิในที่ดิน แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่และจัดหาที่ดินใหม่ให้ แต่จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านยังไม่ได้รับโฉนดที่ดินตามสัญญา ทั้ง ๆ ที่ต้องละทิ้งบ้านเกิดและวิถีชีวิตดั้งเดิม สิ่งนี้สะท้อนถึงการขาดความรับผิดชอบและการละเลยปัญหาของรัฐ ทั้งในด้านการเยียวยาผลกระทบทางสุขภาพและการจัดหาที่ดินอย่างเป็นธรรม

มะลิวรรณเน้นย้ำว่า การใช้พลังงานถ่านหินทำให้ผู้ประกอบการและกลุ่มทุนได้ประโยชน์ แต่ชาวบ้านรอบเหมืองและโรงไฟฟ้ากลับต้องเสียสละชีวิตและสุขภาพไปโดยไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม แม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่า ชาวบ้านเป็น ‘คนกลุ่มน้อย’ ที่ต้องเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่คำถามสำคัญคือ “ในเมื่อมองว่าเราเป็นคนกลุ่มน้อย ในเมื่อมองว่าเราจะต้องเป็นผู้เสียสละให้คนส่วนใหญ่ แล้วเหตุไฉนถึงรังแกคนกลุ่มน้อยอย่างเรา แล้วเหตุไฉนถึงปล่อยให้คนกลุ่มน้อยอย่างเราต้องออกมาเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะจริงใจแก้ปัญหาให้กลุ่มน้อยอย่างเรา ทั้ง ๆ ที่มันเป็นนโยบายของรัฐบาล มันเป็นธรรมอย่างไรที่ให้เรามาเป็นเหยื่อ เป็นเหยื่อด้วยการใช้คำว่า ‘ชนกลุ่มน้อย’ ถ้าถ่านหินต้นทุนถูก ทำไมชนกลุ่มน้อยอย่างเราถึงไม่ได้ถูกละเว้นเรื่องการเก็บค่าไฟ ทำไมคนกลุ่มน้อยอย่างเราต้องเสียค่าไฟเทียบเท่ากับคนกลุ่มใหญ่ที่ได้รับประโยชน์เล่า” มลิวรรณกล่าว

มะลิวรรณปิดท้ายด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจยุติการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน เนื่องจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน โดยชี้ให้เห็นว่า คนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลกระทบควรได้รับการดูแลและเยียวยา ไม่ใช่ถูกละเลยในนามของ ‘การเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่’

ถัดมาที่ สนอง อุ่นเรือง นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและตัวแทนจากพื้นที่แม่ทะ ซึ่งได้เล่าถึงประสบการณ์ที่เคยอาศัยอยู่ที่แม่เมาะ ก่อนย้ายมาที่อำเภอแม่ทะเนื่องจากผลกระทบจากเหมืองถ่านหินที่แม่เมาะ แต่กลับพบว่าที่แม่ทะกำลังเผชิญกับสถานการณ์คล้ายกัน สนองเน้นถึงความสำคัญของการปกป้องชุมชนและทรัพยากรในพื้นที่แม่ทะ ซึ่งมี

ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ดอยพระฌานและดอยม่อนธาตุ ที่เป็นพื้นที่ ‘unseen’ ของประเทศไทย

สนอง อุ่นเรือง

ที่ผ่านมา ชุมชนบ้านกิ่วและบ้านบอม ในอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปางได้รับงบประมาณเพื่อมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน หากอำเภอแม่ทะมีโครงการเหมืองถ่านหินเกิดขึ้นในพื้นที่ ชุมชนมีความกังวลเป็นอย่างมากถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

สนองอธิบายถึงผลกระทบจากเหมืองถ่านหิน ทั้งการทำลายแหล่งน้ำที่ชุมชนใช้ทำการเกษตร และการสร้างมลภาวะ เช่น ฝุ่นและคลื่นสั่นสะเทือนจากการระเบิดหน้าดิน ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งปลูกสร้างและแหล่งท่องเที่ยว สนองยังกล่าวถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนที่ถูกคุกคามจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหิน โดยวิถีการเก็บเห็ด ผักหวาน และไข่มดแดง รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ที่อาจต้องสูญหายไป

สนองทิ้งท้ายว่า ผลกระทบเหล่านี้ไม่เพียงกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสังคมและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว การค้า และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ธนกฤต โต้งฟ้า ตัวแทนจาก R2S ซึ่งสื่อสารเกี่ยวกับประเด็นสิทธิชนเผ่ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธนกฤตเล่าถึงประสบการณ์ของตนเองที่เกิดในหมู่บ้านคลิตี้ (ล่าง) จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งถูกละเมิดสิทธิจากการทำเหมืองแร่ตะกั่ว ได้รับผลกระทบจากการที่สารตะกั่วได้ปนเปื้อนลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นประหนึ่ง ‘ลำห้วยแห่งชีวิตเพียงสายเดียวที่หล่อเลี้ยงชุมชน’ ทำให้ธนกฤตและชุมชนเผชิญกับปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เกิด 

ธนกฤต โต้งฟ้า

ธนกฤตเล่าถึงเรื่องราวการต่อสู้ของชุมชนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งชุมชนฟ้องร้องและชนะคดีในศาล แต่ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูและเยียวยาอย่างเต็มที่และจริงจัง สิ่งที่เกิดขึ้นยังคงเป็นปัญหาสำหรับชุมชน นอกจากนี้ การฟื้นฟูที่ดำเนินการอยู่กลับใช้เงินภาษีของประชาชนแทนที่จะเป็นความรับผิดชอบของบริษัทผู้ก่อมลพิษ

ธนกฤต ซึ่งเป็นตัวแทนจากองค์กร R2S ได้นำเสนอกรณีนี้เพื่อสะท้อนถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง โดยย้ำว่าปัญหาดังกล่าวมีอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการทำเหมืองแร่ในภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เปราะบาง และมีทรัพยากรธรรมชาติสำคัญในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการต่อสู้กับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า การละเมิดสิทธิชนเผ่า และการกล่าวโทษชนเผ่าว่าทำลายป่า โดยเน้นประเด็นที่รัฐและกลุ่มทุนละเลยสิทธิและส่วนร่วมของชุมชนในการตัดสินใจเกี่ยวกับทรัพยากรและอนาคตของพวกเขา

ทั้งนี้ ธนกฤตยังได้กล่าวถึงหลักการหลักการชี้แนะของสหประชาชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) ที่รัฐไทยรับรองว่าจะนำไปปฏิบัติ ซึ่งเน้นให้รัฐมีหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน ภาคธุรกิจต้องเคารพสิทธิ และประชาชนมีสิทธิเข้าถึงกลไกเยียวยา แต่ยังมีข้อท้าทายในการบังคับใช้และความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ อาทิ แผน NAP ที่ออกมานั้นยังไม่ได้รับการบังคับใช้อย่างจริงจัง ทำให้ธุรกิจเอกชนยังคงละเมิดสิทธิประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ในประเด็นของ สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายผู้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองถ่านหินที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา สุมิตรชัยได้พบกับปัญหามากมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA)  ในประเทศไทย

สุมิตรชัย หัตถสาร

สุมิตรชัยระบุว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ภาระในการพิสูจน์ผลกระทบตกอยู่ที่ประชาชน ซึ่งต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากมาย ในกรณีของอมก๋อย ทีมของเขาพบว่ารายงาน EIA มีปัญหาหลายประการ ทั้งในเรื่องของ กระบวนการมีส่วนร่วมที่ไม่โปร่งใส รายชื่อชาวบ้านที่ปรากฏในรายงาน EIA ไม่ถูกต้อง มีการปลอมแปลงลายมือชื่อและลายนิ้วมือ ชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการเหมือง และบางครั้งถูกเรียกมาเพื่อแจกของโดยไม่ได้อธิบายถึงผลกระทบของเหมือง หรือ ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยรายงาน EIA ระบุว่าพื้นที่ที่จะทำเหมืองเป็นป่าเสื่อมโทรม ทั้งที่จริงเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งทำกินของชาวบ้าน

สุมิตรชัยและทีมงานใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลและหลักฐานเพื่อนำมาโต้แย้งรายงาน EIA ที่มีข้อบกพร่อง นำไปสู่การฟ้องคดีในปี 2565 โดยชี้ให้เห็นถึงความไม่ถูกต้องและการละเมิดสิทธิของชุมชน สุมิตรชัยชี้ให้เห็นว่ากระบวนการทำ EIA ในประเทศไทยมีปัญหา เนื่องจากผู้ประกอบการเป็นผู้จ้างที่ปรึกษามาทำรายงานเอง โดยสถิติล่าสุดระบุว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ไม่มีรายงาน EIA ฉบับใดที่ไม่ผ่านการอนุมัติ เวลาในการพิจารณารายงานก็จำกัดเพียง 45 วันเท่านั้น ทำให้การตรวจสอบอย่างละเอียดเป็นไปได้ยาก

การทำ EIA ควรเป็นเครื่องมือในการประเมินความเหมาะสมของโครงการ โดยพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน หากผลกระทบมีมากเกินไป โครงการควรถูกยับยั้ง อย่างไรก็ตาม กระบวนการในปัจจุบันกลับไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลที่อาจขาดความเข้าใจในภาษาและข้อมูลที่ซับซ้อน ทั้งนี้ ในรายงาน EIA ของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ระบุว่า ถ่านหินที่ขุดขึ้นมาจะถูกส่งไปยังโรงงานของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ที่จังหวัดลำปาง สุมิตรชัยและชุมชนจึงได้ตั้งคำถามต่อ SCG ว่าจะรับซื้อถ่านหินจากโครงการที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิชุมชนหรือไม่

สุมิตรชัยเน้นย้ำว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ การมีโครงการเหมืองแร่ในพื้นที่เหล่านี้ขัดแย้งกับหลักการรักษาสิ่งแวดล้อมและอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งภูมิภาค จึงเรียกร้องให้รัฐและประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับการปกป้องป่าต้นน้ำและสิทธิของชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น

เจษฎา กล่อมลีลา เยาวชนจากหมู่บ้านกะเหรี่ยงสะกออำเภออมก๋อย ศิลปินที่ทำเพลงเกี่ยวกับการคัดค้านเหมืองแร่ เล่าถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่พึ่งพาป่าเพื่อการดำรงชีพ ทำเกษตรและใช้น้ำจากธรรมชาติ หากมีเหมืองแร่เกิดขึ้น มันจะกระทบต่อสิ่งเหล่านี้อย่างรุนแรง เจษฎาจึงลุกขึ้นมาต่อสู้และใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการทำเหมือง

เจษฎา กล่อมลีลา

ใช่ ฉันอยู่กับป่า กินกับป่า ฉันทำมาหากิน ใช่ ฉันเป็นคนป่า คนดอย ป่าคือชีวิน ใช่ ฉันมีหัวใจ แต่คนบางกลุ่มมองฉันแค่เศษดิน ฉันจึงลุกขึ้นสู้ให้คนได้รู้ แต่เหมือนเขาไม่ได้ยิน ฉันถูกเผาบ้าน ถูกทำลายแหล่งทำมาหากิน ไล่ให้ฉันห่าง ข่มเหง น้ำตาไหลริน โลกมันโหดร้าย หรือว่าหัวใจคนที่มือทมิฬ ฉันตะโกนเท่าไหร่ ทำไมพวกเขาทำเหมือนว่าไม่ได้ยิน

ในบทเพลงของเจษฎาได้สะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวดของชนเผ่าพื้นเมืองที่ถูกมองว่าเป็นผู้ทำลายป่าและถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม เขาตั้งคำถามถึงความโหดร้ายของสังคมที่ไม่รับฟังเสียงเรียกร้องของชนเผ่า ในขณะที่รัฐและกลุ่มทุนกลับใช้อำนาจทำลายทรัพยากรป่าที่เป็นชีวิตของพวกเขา

เจษฎาทิ้งท้ายว่า จริง ๆ แล้วชนเผ่าพื้นเมืองรักษาป่ายิ่งกว่าคนอื่น เพราะป่าเป็นแหล่งทำมาหากินและดำรงชีพตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เจษฎาไม่อยากให้คนในสังคมมองว่าชนเผ่าพื้นเมืองเป็นผู้ทำลาย แต่กลับเป็นผู้ที่รักษาและพึ่งพิงป่ามาโดยตลอด

ชนกนันทน์ นันตะวัน กลุ่มสมดุลเชียงใหม่ ได้แชร์มุมมองเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อจัดการปัญหานี้ ชนกนันทน์กล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากหลายสาเหตุ รวมถึงการทำเหมืองแร่ โดยแสดงความกังวลว่า ชาติพันธุ์บนดอยมักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อมลพิษ ขณะที่ผู้ก่อมลพิษจริงๆ มักไม่ต้องรับผิดชอบ

ชนกนันทน์ นันตะวัน

ชนกนันทน์ชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยสิ่งที่ห่วงคือ การที่ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมักจะมาถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบทีหลัง ทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสในการปกป้องสิทธิของตนอย่างมีประสิทธิภาพ

ในประเด็นฝุ่น PM2.5 และการทำเหมืองถ่านหิน ชนกนันทน์อธิบายว่า แม้จะมีการพูดถึงปัญหานี้มาเป็นเวลานาน แต่การปล่อยมลพิษจากการทำเหมืองถ่านหินและอุตสาหกรรมยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ ชนกนันทน์ได้เน้นถึงความไม่เป็นธรรมในโครงสร้างการจัดการสิ่งแวดล้อมและกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและนโยบายของรัฐ โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบมักไม่มีโอกาสในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและปกป้องสิทธิของตน

สุดท้าย ชนกนันทน์เรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น รวมถึงการทำให้กฎหมายเกี่ยวกับอากาศสะอาดมีความสำคัญต่อสิทธิของชุมชนและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

พีรณัฐ วัฒนเสน นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาที่ภาคเอกชนหลายแห่งที่ยังคงใช้ถ่านหิน แม้ว่าจะมีพลังงานทดแทนที่สะอาดกว่าให้เลือกใช้แล้ว

พีรณัฐ วัฒนเสน

พีรณัฐยกตัวอย่างบริษัท SCG ที่ยังคงมีการใช้ถ่านหิน โดยเล่าถึงการรณรงค์ของกรีนพีซที่ส่งจดหมายถึง SCG ให้หยุดทำเหมืองถ่านหินในพื้นที่แม่ทะและไม่รับซื้อถ่านหินจากโครงการเหมืองถ่านหินในอำเภออมก๋อย เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้น พื้นที่เหมืองเหล่านี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากชาวบ้าน และบริษัท SCG มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ถ่านหินในสองพื้นที่สำคัญคือแม่ทะและอมก๋อย

การที่ SCG ได้รับรางวัลบริษัทต้นแบบด้านความยั่งยืนและสิทธิมนุษยชน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่บ่งบอกให้บริษัทฯต้องมีความรับผิดรับชอบต่อสังคม SCG ต้องประกาศแผนปลดระวางถ่านหินต่อสาธารณะชนโดยทันที และจะต้องไม่ดำเนินการโครงการเหมืองถ่านหินที่อาจจะละเมิดต่อสิทธิที่ดิน ชุมชน สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนอีก หาก SCG ยังคงเดินหน้าในโครงการเหมืองถ่านหิน รางวัลทั้งหมดที่ได้รับมาถือเป็นเพียงการฟอกเขียวเท่านั้น” พีรณัฐ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้สามารถร่วมลงชื่อเพื่อหยุดโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ จังหวัดลำปาง และโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ให้เกิดขึ้นอีกกับ #น้องฟาดฝุ่น ที่จะเป็นผู้พิทักษ์ไม่ให้เกิดโครงการเหมืองถ่านหินทั้งสองแห่งในภาคเหนือ เพื่อนำข้อเรียกร้องไปมอบให้ต่อ SCG ได้ที่ https://act.gp/coal-scg

หอมกลิ่นเอื้อง ยินเสียงซึง จึงคิดถึงคนช่างฝันแด่…จรัลล้านนา 23 ปีที่ลาจากไป

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

“….กลิ่นเอื้องเสียงซึงบรรเลงเคล้าคลอคร่าวซอเพลงหวาน

อย่าหลงสราญ ลืมบ้านก่อนเก่า

 ข้นแค้นยากจน ก็สุขใจล้น คนเมืองหมู่เฮา

อย่าให้ใครมาหยามเราอีกเลย…..”

ผู้เขียนชื่นชอบทั้งคำและความข้างต้นอันดึงมาจากตอนหนึ่งในเนื้อเพลงที่มีชื่อว่า ‘กลิ่นเอื้องเสียงซึง’ อีกหนึ่งผลงานเพลงที่เป็นฝีไม้ลายปากกาของ ‘จรัล มโนเพ็ชร’ ที่ถ่ายทอดฝากไว้ในแผ่นดินล้านนา ที่ทุกถ้อยคำและลำนำประโยคของเพลงดังกล่าวเสมือนว่าเขากำลังจะบอกอะไรไว้ให้กับพวกเราในฐานะ ‘ลูกหลานคนเมือง’ จากผลงานที่เขาฝากไว้ในแผ่นดินถิ่นล้านนาที่แม้ว่าภาษาและการเล่าเรื่องราวเนื้อหาในบทเพลงจะใช้ภาษาไทยภาคกลางเองก็ตาม ทั้งความหอมของกลิ่นดอกเอื้องและความไพเราะเพราะพริ้งของเสียงซึงนี้ ยังคงสถานะเป็นภาพแทนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยที่ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อย่าง จรัล มโนเพ็ชร บริบทแวดล้อมและต้นทุนวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นวัตถุดิบชั้นดีในการสร้างสรรค์ผลงานผ่านปรากฏการณ์ดนตรีล้านนาร่วมสมัยในรูปแบบของ ‘เพลงโฟล์คซองคำเมือง’ ที่แม้ว่าตัวเขานั้นเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยและเป็นตัวละครหลักในกระแสธารประวัติศาสตร์ดนตรีล้านนาร่วมสมัย ผู้คนในสังคมล้านนาก็ยังตรึงตราในภาพจำที่มีต่อศิลปินถิ่นเหนือผู้ยิ่งใหญ่อย่าง จรัล มโนเพ็ชร ว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทและความสำคัญต่อการสร้างสรรค์งานดนตรีแนวที่ว่านี้จนประสบผลสำเร็จในวงกว้างเป็นคนแรก ๆ จรัลจึงถือว่าเป็นนักรบทางวัฒนธรรมในแนวหน้าที่ในสังคมล้านนายุคแรกเริ่มที่ลงแรงเบิกพื้นที่เพื่อนำพาอัตลักษณ์ความเป็นถิ่นบ้านล้านนาผ่านสำเนียงการพูด ภาษาในคำร้องและท่วงทำนองของดนตรีให้กลายเป็นที่จดจำสำหรับผู้คนในภูมิภาคอื่น ๆ ตลอดจนมีชีวิตการทำงานผ่านการโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงผ่านทั้งหน้าจอเงินและจอแก้ว รวมทั้งเป็นเจ้าแรก ๆ ในล้านนาสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานด้านออแกไนซ์เพื่อการจัดการด้านศิลปวัฒนธรรม

ชีวิตของจรัลเติบโตขึ้นมาในท่ามกลางสายธารการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยที่มีผลทำให้งานเพลงของเขาได้สร้างการผสมผสานและการหยิบยืมวัฒนธรรมดนตรีตะวันตกเข้ามาเป็นองค์ประกอบในการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งด้านการใช้เครื่องดนตรีที่บรรเลงท่วงทำนองแบบตะวันตกมาผสมผสานกับเนื้อร้องภาษาคำเมืองจนได้มาซึ่งผลงานที่สะท้อนถึงภาพลักษณ์ ‘ความเป็นล้านนา’ และยังคงปรากฏอยู่ต่อสายตาและการรับรู้ของผู้คนทั่วไปในปัจจุบัน แม้ร่างกายและชีวิตของเขาได้ออกเดินทางไกล แต่จิตวิญญาณและการกระทำของเขายังคงปรากฏอยู่คู่ล้านนามานานมากกว่า 23 ปีแล้ว

‘จรัล มโนเพ็ชร’ : ชีวิตและผลงานในสายธารประวัติศาสตร์

การพูดถึงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติ ชีวิตและผลงานของจรัล มโนเพ็ชร นั้นมีอยู่อย่างหลากหลายและแพร่ขยายเป็นที่รับรู้ในวงกว้างในฐานะที่เขาคือศิลปินล้านนาผู้ยิ่งใหญ่ที่มีรูปแบบของการนำเสนอผลงานด้านศิลปะการแสดงได้หลายหลากรูปแบบทั้งการร้องเพลง การเล่นดนตรี การแต่งเพลงและการแสดง ผู้เขียนอยากเริ่มต้นให้ข้อมูลก่อนว่าชีวิตของจรัลถือกำเนิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่ทำอาชีพเป็นข้าราชการแขวงการทางจังหวัดเชียงใหม่ (ฝ่ายบิดา) ที่ผสมผสานความเป็นผู้รากมากดีเก่าอันสืบเชื้อเครือสายสกุลเจ้า ณ เชียงใหม่ (ฝ่ายมารดา) ซึ่งมีถิ่นฐานอาศัยอยู่แถววัดฟ่อนสร้อย ย่านกาดหรือตลาดประตูเชียงใหม่ภายในเขตสี่เหลี่ยมกำแพงล้อมรอบคูเมือง ครอบครัวมโนเพ็ชรเป็นครอบครัวใหญ่ที่ใช้ชีวิตด้วยวิถีที่เรียบง่ายและสมถะ ตามแบบวิถีชาวบ้านย่านเวียงเชียงใหม่แบบทั่วไป 

สำหรับ พ่อน้อยสิงห์แก้ว มโนเพ็ชร บิดาของจรัลนั้น ก็ได้ใช้ชีวิตสืบต่อมา โดยท่านถือว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถด้านงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในหลากหลายแขนงทั้งในด้านงานวาด งานปั้นและงานแกะสลักไม้ ซึ่งผู้คนในแวดวงศิลปวัฒนธรรมล้านนายุคหลังทศวรรษ 2540 ต่างก็รู้จักพ่อน้อยสิงห์แก้วเป็นอย่างดีในฐานะที่พ่อน้อยนั้นได้รัลเกียรติให้เป็นครูภูมิปัญญาด้านตุงและโคมของโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาร่วมกับแม่ครูบัวไหล คณะปัญญาซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้ริเริ่มทำธุรกิจโคมล้านนาในย่านบ้านเมืองสารต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จนกระทั้งพ่อน้อยสิงห์แก้วหรือพ่อครูสิงห์แก้ว มโนเพ็ชรมีลูกศิษย์ลูกหาทั่วจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับการยกย่องเป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 3 ด้านศิลปกรรม ศิลปะพื้นบ้านประเภทโคม-ตุง โดยความสามารถด้านศิลปกรรมของพ่อน้อยสิงห์แก้วที่กล่าวมานี้ย่อมมีส่วนที่จะถูกถ่ายทอดไปยังจรัลในช่วงวัยเด็กอย่างเข้มข้นในฐานะที่จรัลเองนั้นเป็นผู้ช่วยหรือลูกมือในการตัดช่อตัดตุงของพ่อน้อยสิงห์แก้วซึ่งได้ใช้ความสามารถหรือภูมิปัญญาแขนงดังกล่าวหารายได้พิเศษมาเลี้ยงดูครอบครัวเรื่อยมา

ภาพ: thenormalhero.co

ความสนใจด้านดนตรีของจรัลกลับเริ่มต้นจาก ‘ดนตรีฝรั่ง’ กล่าวคือ จรัลรู้จักและสัมผัสกับเครื่องดนตรีอย่างเปียโนเมื่อครั้งตอนเขาเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 การไปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่โบสถ์ในวันอาทิตย์กับมารดาของเขาซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ สิ่งดังกล่าวนี้มีผลทำให้จรัลได้มีโอกาสสัมผัส/เรียนรู้/ซึมซับท่วงทำนองเพลงสวด ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้จรัลสามารถแต่งเพลง ๆ หนึ่งขึ้นมา นั่นคือเพลงอุ๊ยคำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบทเพลงอันดับต้น ๆ ที่ได้รับความนิยมจากผู้ฟังอย่างสูงสุด โดยต่อมาจรัลก็ได้เริ่มรู้จักและเล่นดนตรีพื้นบ้านล้านนาอย่างซึงเมื่อเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-4 เล่นกีตาร์เมื่อเรียนชั้นประถมปีที่ 5-7 และตีขิมได้เมื่อเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ลำดับพัฒนาการการเล่นและฝึกหัดดนตรีของเขาเริ่มขยับขยายประเภทและชนิดมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นก็เพราะความรักและความสนใจที่มีต่อดนตรีจึงทำให้เขาฝึกเล่นดนตรีได้ตั้งแต่ตอนที่เขายังเป็นเด็กภายใต้การหนุนเสริมและสนับสนุนจากครอบครัว จนกระทั่งจรัลกลายเป็นเด็กที่มีความสามารถด้านดนตรีจนเป็นที่โดดเด่นขึ้นมาในโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นโดยที่จรัลได้รับโอกาสให้แสดงความสามารถทางด้านดนตรีอย่างเต็มที่และฝึกฝนดนตรีอย่างจริงจังก็เมื่อเขาอายุประมาณ 14 ปี ในช่วงเข้าเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคพายัพชั้นปีที่ 2 (จรัลเรียนก่อนเกณฑ์ 2 ปี) ซึ่งเป็นช่วงที่เขาสนใจดนตรีคันทรีจากตะวันตก เช่น ปีเตอร์ พอล แอนด์ แมรี่, ไซมอน แอนด์ การ์ฟังเกล, เลียวนาร์ด โคเฮน, บ๊อบ ดีแลน และโจน บาเอซ เป็นต้น

เมื่อจรัลเรียนในชั้นปีที่ 3 จรัลจึงเริ่มร้องเพลงเป็นอาชีพและได้ค่าจ้างจากการไปเล่นดนตรีตามงานต่าง ๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เขาจะเลือกเล่นเพลงคันทรีจากตะวันตกเป็นหลัก เนื่องจากจรัลมีพื้นฐานทางด้านดนตรี โดยการฝึกเล่นกีตาร์มาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับการที่เขาได้ฟังเพลงทางสถานีวิทยุในจังหวัดเชียงใหม่และจากมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในภาคเหนือ อีกทั้ง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อความรู้ความสามารถทางด้านดนตรีของจรัล ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเพลง การเล่นดนตรี รวมทั้งการขับร้องระหว่างที่เรียนอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ จรัลจึงได้ช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวด้วยการทำงานเพื่อหารายได้พิเศษ โดยเริ่มด้วยการรับจ้างร้องเพลงเล่นกีตาร์ที่ร้านอาหารและสถานบันเทิงประเภทคลับบาร์ในเมืองเชียงใหม่ แนวดนตรีที่จรัลชอบเป็นพิเศษคือ ดนตรีโฟล์ค คันทรี และบลูส์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการแต่งเพลงของเขา ซึ่งในบริบทของช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นช่วงการต่อต้านการทำสงครามของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามของเหล่าบรรดาปัญญาชนในสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา การต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลจักรวรรดินิยม ตลอดจนการตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยซึ่งทั้งวิถีชีวิตของพลเมืองกองทัพ GI และกระแสธารการต่อต้านในมิติการเมืองวัฒนธรรมที่มีขึ้นนี้ ล้วนถั่งโถมโหมกระแสกลายเป็นพายุหมุนทางวัฒนธรรมดนตรีแบบอเมริกันหรือวัฒนธรรมแบบประชานิยมที่เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยจนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าลักษณะเพลงโฟล์คซองคำเมืองของจรัล มโนเพ็ชรในระยะแรก ๆ เองก็มีกลิ่นอายแบบอเมริกันแบบ ‘หึ่ง ๆ’ อยู่ด้วยไม่น้อย

เมื่อจรัลสำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาบัญชี จากวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ เมื่อปี พ.ศ. 2516 แล้ว เป็นบริบทเดียวกันกับช่วงเวลาแห่งการผลิบานของประชาธิปไตยในใจชน มีผู้คนที่เป็นนักวิชาการหรือคนเดือนตุลาฯ หลาย ๆ ได้พยายามบอกเล่าประวัติศาสตร์และความทรงจำของช่วงเวลาที่ว่างนี้ พร้อมทั้งหาที่ทางให้จรัลมีตัวตนอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้เขียนเองก็ได้ฉุกคิดขึ้นมาในใจหลายกรรมหลายวาระแล้วว่า “ตกลงแกเข้าเขตงานในป่าหรือว่าอยู่เขตงานในเมืองวะ?” คำถามแบบตรงไปตรงมาของผู้เขียนแบบนี้ก็ยังไม่มีโอกาสได้ถามไถ่อย่างตรงไปตรงมากับคนที่เคยรู้จักกับ ‘จรัล’ ในมิติที่ว่ามานี้ได้ดีพอมากนัก แต่คิดว่าคงมิใช่สาระสำคัญของข้อเขียนนี้แต่อย่างใด (อ้างไว้ในฐานะ ‘เกร็ด’ ของประวัติศาสตร์และความทรงจำในวงเล่าจากพวกสหายเก่าเฉย ๆ ) เพราะต่อให้เป็นคนที่เข้าป่าหรือเข้าร่วม ก็หาได้คงสถานการณ์เป็นนักรบทางวัฒนธรรมของประชาชนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเสนอไป

เมื่อจบการศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพแล้ว จรัลได้เข้าทำงานที่แขวงการทางอำเภอพะเยา จังหวัดเชียงรายแล้วต่อมาจึงย้ายไปทำงานที่บริษัทไทยฟาร์มมิ่งและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรซึ่งจรัลเองก็ยังคงทำงานประจำควบคู่ไปกับการร้องเพลงที่ร้านอาหาร โรงแรมและคลับบาร์ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยต่อมาจรัชก็ได้รับจากการสนับสนุนของมานิด อัชวงศ์ ผู้ซึ่งชักชวนให้จรัลทำงานเพลงอย่างเป็นจริงเป็นจังและออกเทปเป็นครั้งแรกในชื่อชุด ‘โฟล์คซองคำเมืองชุดอมตะ 1 ในปี พ.ศ. 2520 แนวเพลงของจรัลที่ผลิตออกสู่ท้องตลาดจึงเป็นการเลือกหยิบและคัดสรรบทเพลงท้องถิ่นที่มีอยู่ก่อนแล้วมาใช้และยังมีการเขียนเนื้อร้องคำเมืองขึ้นมาอีกหลายเพลงโดยใช้แนวทางทำนองดนตรีจากเพลงฝรั่งที่จรัลฟังและเล่นมาก่อนหน้าซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วทั้งประเทศทั้งบทเพลงอุ๊ยคำ สาวมอเตอร์ไซค์ น้อยไจยา และเพลงพี่สาวครับ จรัลใช้กีตาร์และแมนโดลินมาใช้ทดแทนเสียงของซึง นอกจากนั้นยังใช้ขลุ่ยฝรั่งมาแทนเสียงขลุ่ยไทย อีกทั้งยังใช้เครื่องดนตรีสมัยใหม่อีกหลายชิ้นมาบรรเลงบทเพลงเก่าแก่ของล้านนาในแบบฉบับโฟล์คซองคำเมืองของเขา

แม้ว่าวงดนตรีของจรัล มโนเพ็ชรจึงนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยอาจมิใช่หัวหอกหรือแนวรบทางวัฒนธรรมแนวหน้าในฐานะผู้เริ่มเริ่มร้อง ‘โฟล์คซองคำเมือง’ แต่อย่างใด ทว่าอิทธิพลสำคัญที่มีต่อการสร้างสรรค์ผลงานเพลงของเขาและการจัดวางตำแหน่งการเล่นดนตรีของสมาชิกในวงที่มีเขาเป็นนักร้องนำและเล่นกีตาร์ตัวหลัก โดยมีน้องชายของเขา (เกษม ครรชิตและกิจจา) ทำหน้าที่เล่นแบ็คอัพให้ รวมทั้งมีนักร้องฝ่ายหญิงที่ร้องคู่ร่วมเป็นสมาชิกวงนั้น ก็ล้วนได้รับอิทธิพลทางดนตรีวงทรีโอแนวโฟล์คร็อกสัญชาติอมเริกันที่มีชื่อเสียงที่สุดวงหนึ่งในช่วงทศวรรษ 1960 – 1970 อย่าง Peter Paul & Mary โดยว่ากันว่าเพลง ‘อุ๊ยคำ’ ของจรัลก็มีส่วนดัดแปลงมาจากเพลง ‘Man Come into Egypt’  รวมทั้งท่อนอินโทรของหลาย ๆ เพลงที่ผู้เขียนพอจะรู้มาบ้างอย่างท่อนอินโทรเพลงสาวเชียงใหม่ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของข้อมูลที่ว่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าจรัล มโนเพ็ชรนั้นเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยที่แนบแน่นอยู่กับสายธารประวัติศาสตร์ดนตรีโลก โดยในยุคสมัยเดียวกันกับเขานั้นลักษณะของวงดนตรีแนวโฟล์คซองวงในเชียงใหม่และในเชียงรายซึ่งเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงก็มีรูปลักษณ์และการจัดวางตำแหน่งการเล่นดนตรี รวมถึงการมีสมาชิกเป็นนักร้องในวงเช่นเดียวกันกับวงดนตรีโฟล์คซองของ สมบูรณ์ บุญโรจน์ และเพื่อน (เจ้าของงานเพลงดัง ต๋ำรายา) วงแม่คำและวงคิงแอนด์ฮา ซึ่งเป็นวงดนตรีโฟล์คซองในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

ผลงานของจรัล มโนเพ็ชรมีความโดดเด่นในส่วนที่เขาสามารถนำเสนอเนื้อหาของบทเพลงได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั่นคือ การสอดใส่แง่มุมชีวิตทางสังคมที่ขับเน้นให้เห็นถึงความเป็นล้านนาและการใช้ภาษาคำเมืองเพื่อบอกเล่าประสบการณ์ทางวัฒนธรรมและชีวิตทางสังคมที่ตัวเขาเองได้เคยพบพาน ขณะเดียวกันผลงานเพลงของเขาก็ได้มีการเรียบเรียงเนื้อหาและฉากการนำเสนอเนื้อหานั้น ๆ ได้อย่างน่าติดตามโดยมีการเผยแพร่ออกมาในรูปของบทเพลงที่เรียบง่ายไพเราะน่าฟัง นอกจากนี้จรัลก็ยังเป็นคนกล้าที่จะคิดให้แตกต่างและกล้าที่จะสร้างสรรค์งานดนตรีซึ่งแตกต่างจากงานเก่า ๆ ทำให้บทเพลงเก่าแก่ของล้านนาที่จรัลนำกลับมา ‘ทำเพลงใหม่’  (ส่วนจะทำภายใต้ความรู้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนด้วยหรือไม่นั้นว่ากันอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้เขียนขอไม่อภิปรายที่นี้)  ให้กลับมาได้รับความสนใจจากวัยรุ่นในยุคสมัยนั้น โดยที่จรัลก็ได้รับการยกย่องและเป็นที่ยอมรับทั้งจากบุคคลทั่วไปหรือแม้แต่ในบรรดาศิลปินด้วยกันเองว่า เขาเป็นนักแต่งเพลงที่มีฝีมือยอดเยี่ยมโดยเฉพาะเพลงแนวบัลลาดที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนและท้องถิ่นล้านนาอันเป็นบ้านเกิดของเขา

จุดเด่นของโฟล์คซองคำเมืองแบบจรัลอยู่ที่การนำเครื่องดนตรีตะวันตกคือ การใช้เครื่องดนตรีประเภทกีตาร์มาดัดแปลงท่วงทำนองเพลงแบบตะวันตกและแต่งคำร้องภาษา ‘คำเมือง’ ร้อยเรียงลงไป ภายในเนื้อหาของบทเพลงจึงมีการนำเสนอสิ่งที่นักวิชาการหรือผู้สนใจศึกษาผลงานของจรัลเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น ‘อัตลักษณ์ทางสังคมของล้านนา’ ทว่าผู้เขียนกลับเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือชุดประสบการณ์และความทรงจำทางสังคมแห่งยุคสมัยที่หล่อหลอมกล่อมเกลาตัวตนและความเป็นคนอย่าง ‘จรัล’ ขึ้นมาผ่านภาษาท้องถิ่นในห้วงเวลาของวิกฤติการณ์ทางวัฒนธรรมที่ผู้คนในถิ่นฐานล้านนาลาจากบ้านเพื่อไปหางานทำในถิ่นที่ไกลห่างและการเข้ามาใหม่ของวัฒนธรรมต่างถิ่นในพื้นที่ทางสังคมเชียงใหม่ มอเตอร์ไซต์ยามาฮ่า ฮอนด้าหรือซูซูกิในช่วงการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตก็กำลังคืบคลานเข้ามาแทนที่วัฒนธรรมการปั่นรถถีบของป้อจายล้านนาที่น่าจะมีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้นก็คงเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนผ่านการบอกเล่าเรื่องราวในผลงานเพลงของจรัลได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเพลงพื้นบ้านอย่างเพลงซอในทำนองที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน (ไม่ใช่ช่างซอหรือศิลปินซอมือมาอาชีพ ก็สามารถจดจำและนำไปร้อง ตลอดจนอาศัยแนวทำนองไปสร้างสรรค์เป็นผลงานที่บรรเลงผ่านกีตาร์ได้) รวมไปถึงอาหารการกิน การแต่งกาย ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนล้านนาซึ่งเรียกรวม ๆ ว่า ‘คนเมือง’

ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 จรัลได้จัดคอนเสิร์ตครั้งสำคัญ คือ ‘ม่านไหมไยหมอก เป็นการตอกย้ำกระแสท้องถิ่นนิยมได้เป็นอย่างดี นอกจากจรัลจะนำเสนอผลงานเพลงของเขาซึ่งกลายเป็นภาพตัวแทนของความเป็นล้านนาในขณะนั้นแล้ว เขายังนำเสนอดนตรีล้านนาและการแสดงล้านนา ที่ผูกโยงกับประวัติศาสตร์ล้านนาได้อย่างน่าสนใจนั่นเป็นการเพิ่มพูนชื่อเสียงและการประสบความสำเร็จขั้นต้นในการเป็นศิลปินของจรัล ได้ทำให้เขาย้ายจากเชียงใหม่เพื่อไปใช้ชีวิตและทำงานอยู่กรุงเทพฯ ราวช่วงทศวรรษ 2530 ทั้งทำธุรกิจร้านอาหารและผลงานเพลง ตลอดจนเขายังรับงานแสดงภาพยนตร์และละคร ตลอดจนการแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์หรือละครเหล่านั้นอีกด้วย ผลงานที่ขยับขยายมากไปกว่าการเป็นนักร้องเพลงโฟล์คซองคำเมืองของเขาได้สร้างและเปิดโอกาสให้ตัวเขาเองได้รับรางวัลทั้งจากด้านการแสดงและจากการแต่งเพลงประกอบละครและภาพยนตร์อีกหลายรางวัล และมีบทบาทในการขับเคลื่อนงานศิลปะเพื่อสังคมท้องถิ่นในอีกหลากหลายแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานด้าน ‘ละครชุมชน’ ซึ่งผลงานทางดนตรีที่สำคัญของจรัล มโนเพ็ชรในด้านดนตรีล้านนาคือ ในปี พ.ศ. 2539 ธนาคารกรุงเทพได้จัดโครงการประพันธ์เพลงเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในชื่อ ‘จตุรภาคกาญจนาภิเษกสมโภช’ โดยมีครูดนตรีจากภูมิภาคต่าง ๆ ประพันธ์เพลงขึ้นใหม่เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในส่วนของจรัล ได้ประพันธ์เพลง ‘ฮ่มฟ้าปารมี’ ขึ้นนับว่าเป็นงานที่ทันสมัยมากในขณะนั้น ต่อมาจึงมีการประดิษฐ์ท่าฟ้อนขึ้นประกอบกับเพลง โดยเพลงนี้เป็นอีกเพลงหนึ่งที่เป็นที่นิยมบรรเลงในดนตรีล้านนาอย่างมาก ช่วงปี 2539 จรัลเริ่มมีแนวความคิดที่จะกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองเหนืออย่างจริงจังโดยการสร้าง ‘บ้านดวงดอกไม้’ ขึ้นที่บ้านทุ่งหลวง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน นอกจากนั้นเขายังเริ่มเขียนบท เล่าเรื่อง ขับร้องและแต่งเพลงประกอบในงาน 700 ปีนพบุรีศรีนครพิงค์ซึ่งจัดที่วัดสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้หลังจากที่ได้รวบรวมเครื่องดนตรีล้านนาไว้จำนวนมากหลังจากงานเชียงใหม่ 700 ปี โดยจรัลได้ซื้อที่ดิน 1 ไร่ที่อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เพื่อใช้เป็นที่ก่อสร้างหอศิลป์ฯ เชิดชูผลงานและเก็บรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ของศิลปินล้านนา โดยให้ชื่อว่า ‘หอศิลปสล่าเลาเลือง’ และในปีเดียวกันนี้ก็ได้สร้างบ้านหม้อคำตวงซึ่งมีห้องสตูดิโอส่วนตัวที่กรุงเทพฯ จากนั้นในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2541 ได้เปิดร้าน ‘สายหมอกกับดอกไม้’ ที่เชียงใหม่ ต่อจากนั้นในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งกลายเป็นช่วงท้ายของชีวิต จรัลได้กลับมาอยู่ทางเหนืออย่างถาวรเพื่อทำงานศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นอย่างเป็นจริงเป็นจัง จนกระทั่งกลางปี 2544 เป็นช่วงที่เขากำลังตั้งใจที่จะทำงานเพลงเนื่องในโอกาสที่โฟล์คซองคำเมืองของเขายืนยาวมาถึงปีที่ 25 โดยเขาตั้งใจใช้ชื่อว่า ‘25 ปี โฟล์คซองคำเมือง จรัล มโนเพ็ชร’ ซึ่งมีกำหมดการจัดแสดงงาน ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2544 แต่ในระหว่างของการเตรียมงานนี้เอง เมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544 จรัลได้เสียชีวิตลงแบบปัจจุบันทันด่วนอันเนื่องมาจากภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างฉับพลัน ที่บ้านดวงดอกไม้จังหวัดลำพูน 

เขียน ‘จรัล’  ใหม่ในฐานะศิลปินธรรมดาผู้ยิ่งใหญ่ในดวงใจสามัญชน

“…..สามกันยาเหล่าสาลิกาทั่วถิ่น
ต่างโบกโบยบินฮ่วมฮ้องเพลงสืบสาน
นับร้อยนับสิบดังกึกก้องกังวาน
แด่เธอผู้ช่างฝันแด่จรัลล้านนา…..”

         นกถิ่น โดย ประเสริฐ ศรีกิจรัตน์ วงไม้เมือง

แม้จรัล มโนเพ็ชรจะจากลาโลกนี้ไปกว่าสองทศวรรษโดยที่เขาถูกจดจำและจารึกไว้ในฐานะของศิลปินโฟล์คซองคำเมืองผู้ยิ่งใหญ่แห่งแผ่นล้านนา ขณะเดียวกันความตายของเขาซึ่งเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลได้ถูกทำให้กลายไปเป็นเรื่องของสังคมสาธารณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่กลุ่มแฟนเพลงและมิตรสหายที่ร่วมกับ ‘ผลิตซ้ำ’ ตัวตนของคนอย่างจรัล ว่าเป็นตัวแทนคนท้องถิ่นหรือนักรบทางวัฒนธรรมที่เคลื่อนไหวทางสังคมผู้รักและห่วงแหนอารยธรรมในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนซึ่งตายก่อนเวลาอันควร ชีวิตและเรื่องราวของเขาจึงได้กลายมาเป็นกระบวนการสำคัญที่ได้เปิด ‘พื้นที่’ ทางสังคมและวัฒนธรรมต่าง ๆ สำหรับผู้คนแสวงหาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมล้านนาได้เข้ามาเกาะเกี่ยวและยึดกุมตัวเขาไว้ในรูปแบบของสินค้า งานเพลงหรือตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของความเป็นล้านนาที่สื่อองค์กร รวมทั้งกลุ่มคนกลุ่มต่างๆ เข้ามาช่วงชิงสร้างการนิยามความหมายให้กับจรัล มโนเพ็ชร ผ่านกิจกรรมรำลึกต่าง ๆ โดยกิจกรรมเหล่านี้มีส่วนอย่างสำคัญที่ได้ผลิตซ้ำ/สร้าง ‘เรื่องเล่า’ ต่าง ๆ ตลอดจนการเคลื่อนไหวเพื่อจัดสร้างอนุสาวรีย์จรัล มโนเพ็ชรโดยกลุ่มนักวิชาการท้องถิ่นร่วมกับประชาชนคนเมืองเชียงใหม่ไว้ที่สวนสาธารณะสวนบวกหาดซึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามจดจำและสืบต่อเรื่องราวของจรัล (ตำนานจรัล) ไว้บนประวัติศาสตร์สังคมล้านนาในฐานะนักรบ/นักเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม ที่อาศัยงานเพลง ‘โฟล์คซองคำเมือง’ ควบคู่กับภาพลักษณ์ ‘ศิลปินคนเมือง’ ในการปรากฏแก่สายตาผู้ชมผู้ฟังเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเพื่อฉายภาพสังคมล้านนาออกสู่การรับรู้ของผู้คนในสังคม เขาได้มีการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในความเป็นคนเมืองของตนเองผ่านการแต่งกาย การสื่อสารกับผู้ชมการแสดงคอนเสิร์ตด้วยภาษาถิ่นภาคเหนือ (คำเมือง) ผลงานการแสดงซึ่งจรัลมักจะได้รับบทเด่นเป็นคนเมือง (เช่นในเรื่องด้วยเกล้า) และในด้านการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่จรัลได้กระทำมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ภาพลักษณ์ ‘ศิลปินคนเมือง’ ของจรัล มโนเพ็ชรเด่นชัดและกลายมาเป็นภาพแทนคนเมืองล้านนา “โฟล์คซองคำเมือง”และเรื่องราวของจรัลได้กลายมาเป็นตำนานที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนในสังคมในฐานะภาพตัวแทนของ ‘คนเมือง’  ขณะเดียวกันลักษณะที่น่าสนใจในบทเพลงของจรัลถูกมองว่าเป็นชัยชนะ (ที่แม้จะดูว่าไม่สมบูรณ์เสียทีเดียว) ของวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนาได้ถูกกักกันจนพ่ายแพ้ต่อกระแสแห่งวัฒนธรรมแห่งชาติจากส่วนกลาง ดังนั้นการร้องเพลงด้วยภาษาคำเมืองของจรัล (รวมถึงศิลปินล้านนาที่มีชื่อหลายๆคนในปัจจุบันด้วยมั้ง) คงสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะแสดงความเป็นอิสระและความเสมอภาคทางวัฒนธรรม ภาษาและความคิดของท้องถิ่น (ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล, 2531: 33) ขณะเดียวกันบทเพลงจรัล มโนเพ็ชรอันมีเนื้อหาบอกเล่าเรื่องราวของเมืองเหนือล้านนาและขับร้องเป็นภาษา ‘คำเมือง’ โดยนักร้องซึ่งเป็น ‘คนเมือง’ แล้ว เขายังมีความพยายาม ‘สำแดง’ ถึงความพยายามใช้อักษรที่เลียนแบบ ‘ตั๋วเมือง’ มาแสดงบนปกเทปอย่างจงใจ ไม่ว่าสิ่งนี้จะเป็นความตั้งใจในการเป็นต้นธารของการผลิต ‘ฟร้อนท์ล้านนา’ (Lanna Front) หรือไม่ ผู้เขียนมิอาจทราบได้ สิ่งนี้จึงเป็นการประกอบสร้างกันอย่างลงตัวของ ‘อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม’ ลงไปใน ‘สินค้า’ จากล้านนาอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

เรื่องราวที่ปรากฏผ่านผลงานและงานเพลงของจรัล มโนเพ็ชรยังคงเป็นสิ่งที่ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องผ่านการประกอบสร้างและการผลิตซ้ำด้วยชุดความรู้จากสถาบัน เครือข่ายและกลุ่มศิลปินที่มาจากหลากหลายกลุ่ม โดยผลผลิตที่ว่านี้คือ ‘เรื่องเล่า’ ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและงานของจรัลผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาในฐานะกระบวนการทางสังคมซึ่งทำหน้าที่ประกอบสร้างความทรงจำเพื่อให้เกิดการ ‘จารึกและจดจำ’ จรัล มโนเพ็ชรให้อยู่ในความทรงจำทางสังคมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนล้านนาซึ่งเรียกตัวเองว่า ‘คนเมือง’

ข้อเขียนนี้ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวผ่านการอ่านชีวิตของจรัลอย่างที่จรัลเป็นเพื่อนำเสนอวิธีการเขียนชีวิตของจรัลใหม่เพื่อให้ความทรงจำและการนิพนธ์เรื่องราวของเขาเป็นเยี่ยงอย่างอนุสาวรีย์ที่ตั้งไว้ใน ‘สวนบวกหาด’ อนุสาวรีย์ที่ผู้คนน้อยใหญ่ที่เป็นทั้งลูกศิษย์ลูกหา เป็นทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่ เป็นทั้งมิตรแก้วสหายคำ เป็นทั้งแฟนเพลง ตลอดจนผู้ที่ให้ความเคารพนับถือสามารถที่จะไปนั่งเคียงข้างถ่ายรูปร่วมกับ ‘จรัล มโนเพ็ชร’ ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในใจของพวกเขาได้ มากไปกว่านั้นอนุสาวรีย์ที่จัดวางจำลองของเขาไว้กลางสวนบวกหาดยังสะท้อนและเตือนใจให้เราเห็นว่า จรัลเป็นไอดอลสำหรับเราและศิลปินล้านนาได้ในทุกขณะ พวกเรามีความเป็นไปได้ที่จะสร้างสรรค์ผลงานและเป็นศิลปินได้เฉกเช่นเดียวกันกับจรัลหรือยิ่งใหญ่ไปมากกว่านั้น

แด่….จรัลล้านนา