01/06/2022
ต้นไม้เขียวงาม ที่กำลังแตกผลิยอดใบอ่อน เหมือนกำลังส่งเสียงเชื้อเชิญให้เดินผ่าน เหมือนต้นไม้นับพัน หมื่น แสน ช่วยกันทำให้อากาศราวเจ็ดโมงครึ่ง วันอาทิตย์ ปลายเดือนพฤษภาคม เย็นสบายยิ่งขึ้น การเดินสบายๆ บนทางเดินเล็กๆ ที่แยกเข้าสู่แนวป่า จากข้างถนน ห่างจากเขตวัดพระธาตุดอยคำทางทิศใต้ ประมาณหนึ่งร้อยเมตร จึงรื่นรมย์ยิ่ง
ฝนห่าใหญ่ที่เทกระหน่ำมาหลายหน ทำให้พื้นดินชุ่มน้ำ ต้นไม้ ใบหญ้าระริกระรี้ เห็ดนานา ดอกกระเจียวป่า และแมลงหลายชนิด เหมือนเจตนาออกมาทักทายผู้เดินทางผ่าน เสียงจิ้งหรีด จักจั่น และนกน้อยใหญ่ ก็ช่วยขับกล่อมให้ยามเช้าของป่า ใต้ฟ้าสดสว่าง กระจ่างงามยิ่งขึ้น
ระยะทางราว 5 กิโลเมตร เดินลัดเลาะแนวเดินในป่า เข้าเขต ’บ้านบนสามัคคี’ เดินต่ออีกราว 2 กิโลเมตร ก็ถึงวัดอรัญญาวาส (วัดบ้านปง) เส้นทางเดินเท้าเรียบโล่ง เดินสบาย เพราะชาวบ้านละแวกนั้นใช้เดินทางไปมาเสมอ เพื่อหาของป่า หน่อไม้ เห็ด ผักหวานป่า แมลงนานาที่จะเลี้ยงชีพได้ หรือสัญจรผ่าน เพื่อการหลบลี้หนีจากการใช้ยวดยานพาหนะ ออกกำลังกาย หายใจสูดไอดิน กลิ่นป่า ให้เลือดในกายได้สูบฉีดไหลเวียนดียิ่งขึ้น
“ถ้านักศึกษาปีหนึ่งของมหาวิทยาลัยทั่วจังหวัด ปลูกต้นไม้ให้เชียงใหม่คนละต้น ปีหนึ่งๆ จะได้ต้นไม้นับหมื่นต้นเลยนะ”
“จะปลูกที่ไหนล่ะ”
“ประสานกับหน่วยงานรัฐ หาพื้นที่ปลูกได้ไม่ยากหรอก ถ้าปลูกไม้ดอก สี่ปีก็ออกดอกแล้ว ไม้ผล สี่ปีก็คงออกผลแล้วเช่นกัน”
“…”
“พอขึ้นปีสอง สาม สี่ จนเรียนจบ ทำงานแล้ว ก็กลับไปดูต้นไม้ที่ปลูกไว้ให้เชียงใหม่ มีครอบครัวแล้ว ก็พาคู่ชีวิต พาลูกมาดูต้นไม้นั้นได้ จะน่าภูมิใจมากไหม ที่เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เชียงใหม่ได้แบบนั้น”
“…”
“ช่วงวันหยุด ชวนนักศึกษาชวนกันมาเดินป่า สำรวจธรรมชาติ เลี่ยงห้าง เลี่ยงสังคมออนไลน์กันบ้าง ก็น่าจะดี”
ฉันนึกถึงบทสนทนากับเพื่อนผู้ร่วมเดินป่านับสิบคน ทั้งในคราวนี้ และครั้งก่อนๆ ในพื้นที่อื่น นึกถึงโครงการที่เคยริเริ่ม เชิญชวนนักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ราว 300 คน จากคณะศึกษาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ปลูกต้นไม้ราว 900 ต้น ในเขตคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่เหียะ เมื่อปี 2562 เป็นครั้งแรก
สถานการณ์โควิด 19 ที่เริ่มระบาดเมื่อต้นปี 2563 ทำให้โครงการชักชวนนักศึกษา และผู้สนใจปลูกต้นไม้ต้องชะงักงันไป จนปี 2565 ในวาระครบรอบ 144 ปี ชาตกาลครูบาเจ้าศรีวิชัย โครงการปลูกต้นไม้ให้เชียงใหม่ จึงมีโอกาสกลับมาอีกหน เป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการจรัลรำลึก, มูลนิธิสถาบันครูบาเจ้าศรีวิชัย, วัดพระธาตุดอยสุเทพ, เทศบาลตำบลสุเทพ, นักศึกษาสาขาวิชาหลักสูตรและการเรียนรู้ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกชุมชนในพื้นที่ จะร่วมกันปลูกต้นพญาเสือโคร่ง 144 ต้น หลังแนวบันไดนาคทั้งสองด้าน ที่ทอดขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ภายใต้โครงการ “จรัลรำลึก ตวยฮอยครูบา บูชาพระธาตุ”
หลังเดินไปด้านหลังวัด ลัดเลาะขึ้นไปตามบันไดซีเมนต์ 900 ขั้น ขึ้นไปสักการะ โลหะปราสาท ‘พระธาตุเจดีย์ศรีเมืองปง’ โลหะประสาทแห่งที่ 4 ของโลก แต่เป็นทรงล้านนาแห่งแรก ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาหลังวัดอรัญญาวาส อำเภอหางดง ชาวคณะเดินทางกลับตามเส้นทางเดิม กลับสู่ที่จอดรถหน้าวัดพระธาตุดอยคำ ระยะทางเดินเท้าทั้งหมด 14 กิโลเมตร ใช้เวลา 4 ชั่วโมงเศษ
“ถ้าได้กำหนดวันปลูกต้นไม้แน่นอนแล้ว จะแจ้งอีกครั้งเน่อเจ้า” ฉันบอกผู้ร่วมคณะเดินป่า ที่สนใจจะร่วมปลูกต้นพญาเสือโคร่ง ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ ในการเดินป่าทุกเช้าวันอาทิตย์อีกไม่เกินสามสี่ครั้ง ฉันน่าจะได้แจ้งกำหนดวันกับผู้สนใจ ปลูกต้นไม้ ชื่อพ้องกับปีเสือ ปีเกิดของครูบาศรีวิชัย ตนบุญผู้เป็นที่เคารพนับถือของชาวล้านนามาต่อเนื่องกว่าหนึ่งศตวรรษ
เรื่อง: เปีย วรรณา
ภาพ: มีทา มาส์ต
ติดตาม “ด้วยฮักจากล้านนา” ความเรียงบอกเล่าเรื่องราวปกิณกะจากแผ่นดินล้านนา โดย เปีย วรรณา ได้ทาง Lanner เป็นประจำทุกเดือน
Lanner เปิดพื้นที่สำหรับงานสื่อสารทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบทความ งานวิชาการ ความเรียง เรื่องสั้น บทกวี สารคดี photo essay ที่บอกเล่าเรื่องราวทางสังคมต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือและเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com ร่วมสร้างพื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าไปด้วยกัน
#lanner