Home Blog Page 200

“เราดูแลป่า เราถึงได้กินได้ใช้ ถ้าเราไม่ดูแลป่า เราก็ไม่มีกินมีใช้” เสียงจากราวป่า… ในวันมั่นคงทางอาหาร แต่ไม่มั่นคงด้านที่ดิน​

27/05/2022

บนเนื้อที่กว่า 10 ล้านไร่ของจังหวัดตาก ประมาณ 72 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่นั้นคือพื้นที่ป่า จัดเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน​

ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดตากชี้ว่า มีประชากรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ในจังหวัดตากถึง 6 กลุ่มด้วยกัน นี่อาจเป็นหนึ่งภาพสะท้อนว่าหากที่ใดมีกลุ่มชาติพันธุ์ ทรัพยากรธรรมชาติจะยังอุดมสมบูรณ์ ​

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2537 กรมป่าไม้ (ในขณะนั้น) ได้มีแผนประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่เงา โดยประกาศทับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมทั้งป่าสงวนแห่งชาติ ป่าท่าสองยาง จังหวัดตาก และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ประมาณ 257,650 ไร่ บางส่วนนั้นทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชนบ้านปางทอง และ บ้านแม่ปอคี อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก อันเป็นพื้นที่ชุมชนดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ​



Lanner ชวนฟังเสียงของ 2 เยาวชนปกาเกอะญอจากอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ในวันที่ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินและการจัดการทรัพยากรบนผืนดินผืนป่าของบรรพบุรุษ พวกเขากำลังต้องเผชิญกับการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงาและความกดดันจากนโยบายรัฐส่วนกลางที่จำกัดการทำกินในรูปแบบไร่หมุนเวียน ชวนสังคมตั้งคำถามถึงระบบการจัดการป่าไม้ไทย​

เรื่องและภาพ: พชร คำชำนาญ​

#ไร่หมุนเวียน​
#ชาติพันธุ์ก็คือคน​
#Lanner

“ครูตี๋”รับรางวัลสิ่งแวดล้อมโลก “Goldman Environmental Prize”

26/05/2022

“ครูตี๋”รับรางวัลสิ่งแวดล้อมโลก “Goldman Environmental Prize” หลังร่วมกับภาคประชาชนต้านระเบิดแก่งแม่น้ำโขงสำเร็จทำให้ระบบนิเวศรอดพ้นถูกทำลาย เจ้าตัวเผยไม่เป็นศัตรูใครชวนทุกฝ่ายร่วมฟื้นฟูสายน้ำ นักวิชาการชี้นำไปสู่การจัดการทรัพยากรด้วยธรรมาภิบาล​

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 เวลา 07.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย หรือเวลา 17.00 น.ของวันที่ 25 พฤษภาคม ตามเวลาของสหรัฐอเมริกา ​ จะมีพิธีมอบรางวัลสิ่งแวดล้อมโกลด์แมน(Goldman Environmental Prize )ประจำปี 2565 โดยการถ่ายทอดสดด้วยระบบออนไลน์ ซึ่ง 1 ใน 6 ของผู้ที่ได้รับรางวัลระดับโลกครั้งนี้คือนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงจนรัฐบาลไทยมีมติยกเลิกโครงการดังกล่าว​

ทั้งนี้โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงหรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ เริ่มต้นเมื่อปี 2543 โดยทางการจีนประกาศแผนการร่วมกับประเทศไทยและประเทศลุ่มน้ำโขงที่จะระเบิดแก่งแม่น้ำโขงระยะทาง 886 กิโลเมตรจากตอนใต้ของประเทศจีนไปถึงหลวงพระบางโดยลัดเลาะชายแดนไทยที่จังหวัดเชียงราย 97 กิโลเมตร เพื่อให้เรือสินค้าขนาด 500 ตันผ่านได้สะดวกทั้งปี เมื่อได้รับรู้ข้อมูลของโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ครูตี๋และประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำโขง รวมถึงพันธมิตรด้านต่างๆได้ร่วมกันคัดค้านโดยพยายามชี้ให้เห็นถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ รวมถึงความมั่นคงด้านเขตแดนที่อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงในเส้นเขตแดน ในที่สุดบริษัทผู้พัฒนาโครงการจากจีนได้เดินทางมาพบครูตี๋และชาวบ้านเพื่อหารือถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยได้หารือกับผู้บริหารจีนภายหลังจากที่มีข่าวการคัดค้านของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 คณะรัฐมนตรีไทยจึงมีมติยกเลิกโครงการดังกล่าว​

รางวัลด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกของ Goldman ได้พิจารณาจากตัวแทนของทวีปต่างๆ 6 ภูมิภาค โดยครูตี๋ได้รับการคัดเลือกในฐานะตัวแทนของทวีปเอเชีย ส่วนที่เหลือประกอบด้วย 1.Chima Williams นักกฏมายสิ่งแวดล้อมจากประเทศไนจีเรียซึ่งมีบทบาทสำคัญกรณีน้ำมันรั่วและมีการเรียกร้องให้บริษัทรับผิดชอบต่อชุมชน 2.Marjan Minnesma จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องออกกฎหมายด้านมาตรการป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ3.Julien Vincent จากประเทศออสเตรเลีย ที่รณรงค์ระดับรากหญ้าให้มีการตัดงบที่ให้กับอุตสาหกรรมถ่านหิน 4. Nalleli Cobo จากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งนำพันธมิตรในชุมชนให้เคลื่อนไหวเพื่อปิดสถานที่ขุดเจาะน้ำมันที่เป็นพิษในชุมชน 5.Alex Lucitante และ Alexandra Narvaez จากประเทศเอกวาดอร์เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวของชนพื้นเมืองเพื่อปกป้องดินแดนจากบรรพบุรุษของผู้คนจากการทำเหมืองทอง ​

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ให้สัมภาษณ์ถึงการได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า รางวัลเป็นสิ่งหนึ่งที่พาให้คนได้เห็นเรื่องราวแม่น้ำโขงผ่านผู้คนที่ทำเรื่องราวนี้ คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่คนท้องถิ่นที่ต่อสู้ได้มีพลังมากขึ้นผ่านการรับรู้ เพราะโลกถูกทำลายมากขึ้น ทั้งจีนและอเมริการู้จักเรา สุดท้ายเราต้องทำให้เขาเห็นว่ามนุษยอยู่ร่วมกันต้องช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่ช่วงชิงกัน แต่ต้องลดทอนความเห็นแก่ตัวและความอยากได้ ​

ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้สามารถระงับโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงได้ แต่ปัญหาใหญ่คือเรื่องเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่เป็นปัญหาใหญ่ไม่สามารถยับยั้งได้ นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ว่า ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาพูด แม่น้ำโขงจะถูกทำลายทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็น และแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำใหญ่มีผู้ที่เกี่ยวข้องมาก สิ่งที่เราขับเคลื่อนไปฝืนกระแสพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศ เราทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ได้ปลุกชีวิตของผู้คนที่ลุกขึ้นมาปกป้องร่วมกัน ​

“หากพูดถึงการเยียวยา ต้องเริ่มต้นต้องเยียวยาแม่น้ำก่อน ไม่ใช่เริ่มต้นจากเยียวยาคน หากเยียวยาแม่น้ำก็เป็นการเยียวยาคน เราต้องทำให้แม่น้ำไหลตามฤดูกาล หน้าแล้งเกิดเกาะดอน หน้าฝนน้ำท่วม ไม่ใช่คิดแต่เรื่องทำอย่างไรให้ปลากลับมา เราต้องฟื้นฟูให้ระบบนิเวศกลับมาทำหน้าที่ จึงต้องแก้ไขและเยียวยาแม่น้ำ”ครูตี๋ กล่าว​

เมื่อถามอีกว่าหนักใจหรือไม่ที่แม่น้ำโขงการเป็นสมรภูมิระหว่างสหรัฐฯและจีน ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า การเมืองบนแม่น้ำโขงไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เกิดมานับร้อยปีแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 4 ฝรั่งเศสเข้ามาสำรวจแม่น้ำโขงแต่การเมืองเปลี่ยนผ่านกันไปขึ้นอยู่กับใครมีอำนาจ อังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา เป็นการเมืองหาผลประโยชน็ ซึ่งปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้น คือการแสวงหาผลประโยชน์ของรัฐและทุน ปัจจุบันหลายประเทศเข้ามาก็ไม่แปลก แต่สิ่งหนึ่งที่เรายืนหยัดได้ในการต่อสู้มากว่า 20 ปีคือสิ่งที่เราพูดหรือดำเนินการร่วมกันเป็นเรื่องราวผลประโยชน์ของประชาชนริมแม่น้ำโขง ​

“คุณจะมี สหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น หรือประเทศไหนก็ตาม ถ้าเห็นว่าแม่น้ำโขงจำเป็นต้องอนุรักษ์หรือรักษาและฟื้นฟู คุณคือพันธมิตรของเรา ตรงนี้คือสิ่งสำคัญที่เราหยืดหยัดตลอด เราไม่ใด้ตั้งตัวเป็นศัตรูของใคร พวกเราคือผู้ปกป้องแม่น้ำโขง ดังนั้นใครที่ร่วมกับเราปกป้องแม่น้ำโขงเรารู้สึกยินดี”นายนิวัฒน์ กล่าว​

ขณะที่นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย และเคยได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize ปี 1994กล่าวว่า ครูตี๋ได้พิสูจน์ว่าช่วงเวลามากกว่า 20 ปี ที่ได้ทำงานปกป้องแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาร่วมกับชุมชนตลอดลุ่มน้ำและภาคส่วนต่างๆ ได้ทุ่มเทอุทิศพลังใจพลังกายพลังปัญญา เพื่อศึกษาค้นคว้าข้อมูลเรื่องความสำคัญของแม่น้ำโขง สื่อสารให้สังคมตระหนักรู้ว่าการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคประชาสังคมในการบริหารจัดการทรัพยากรแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน เป็นหลักการที่สำคัญที่ต้องผลักดันในระดับชาติและภูมิภาค​

“หลายปีที่ผ่านมา ครูตี๋ได้ประสานให้คณะกรรมมาธิการต่างๆ ของวุฒิสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงมาตรวจสอบการร้องเรียนของกลุ่มรักษ์เชียงของและชุมชนลุ่มน้ำโขง ผลกระทบต่อสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงชายแดน และความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน นับตั้งแต่มีการผลักดันโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพานิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งสองครั้ง คือ พศ.2545 และอีกครั้งช่วง พศ.2559-2563” นางเตือนใจ กล่าว​

นางเตือนใจกล่าวว่า ครูตี๋ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน ยืดหยัดอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งบริษัทจีน จึงได้มาขอพบขอข้อมูลจากกลุ่มรักษ์เชียงของ หากแม่น้ำโขงถูกผูกขาดโดยภาครัฐและธุรกิจเดินเรือพาณิชย์ ธุรกิจพลังงาน หายนะของธรรมชาติและคนตัวเล็กตัวน้อยคงมาถึงในไม่ช้า เป็นเรื่องยากมากที่จีนจะยอมยกเลิกโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง แต่ครูตี๋และเครือข่ายภาคประชาชนก็ทำได้สำเร็จ​

ดร. คาร์ล มิดเดิลตัน นักวิชาการด้านภูมิรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความพยายามอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของครูตี๋ ได้นำคนจำนวนมากทุกวัยทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ มาเรียนรู้คุณค่าและการปกป้องแม่น้ำโขง โดยเครือข่ายแม่น้ำโขงในประเทศไทย ได้ท้าทายต่อโครงการพัฒนาบนแม่น้ำโขง ดังเช่น โครงการระเบิดแก่งบนแม่น้ำโขงซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรี ยกเลิกโครงการ นี่คือ การอนุรักษ์ที่นำโดยรากหญ้า และนำไปสู่การจัดการทรัพยากรอย่างมีธรรมาภิบาล​

อนึ่งรางวัล Goldman Environmental Prize มอบรางวัลให้กับวีรบุรุษและวีรสตรีด้านสิ่งแวดล้อมจากแต่ละทวีปใน 6 ทวีปทุกปี เพื่อเชิดชูเกียรติแด่ความสำเร็จและความเป็นผู้นำของนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมระดับรากหญ้าจากทั่วโลกที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราทุกคนลงมือทำเพื่อปกป้องโลก ซึ่งรางวัลนี้ได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี 1989 ในซานฟรานซิสโกโดยนักการกุศลและผู้นำพลเมือง Rhoda และ Richard Goldman ตลอดช่วงเวลา 33 ปี รางวัล Goldman Environmental Prize ได้มอบรางวัลไปแล้วทั้งสิ้น 213 รายจาก 93 ประเทศ โดยประเทศไทยมีผู้ที่เคยได้รับรางวัล 2 คนคือ นางเตือนใจ ดีเทศน์ (1994) และนายพิสิทธิ์ ชาญเสนาะ (2002)​

#lanner

NU-Movement แสดง Performance Art รำลึกเหตุการณ์พฤษภา 35-53 จากฆาตกรสู่ผู้พิทักษ์ การชุมนุมที่ถูกแบ่งแยก และหยดเลือดสีแดงที่ถูกเช็ดล้าง ​

26/05/2022

วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เวลา 18.00 นาฬิกา กลุ่ม NU-Movement (กลุ่มเคลื่อนไหวในจังหวัดพิษณุโลก) ได้จัดกิจกรรมการแสดง Performance Art ในชื่อ “รำลึกเหตุการณ์พฤษภา35-53” ณ บริเวณลานสมเด็จฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2535 และในเดือนเดียวกันในปี 2553​

โดยทางกลุ่ม NU-Movement ต้องการสื่อให้เห็นถึงความต่อเนื่องของเหตุการณ์การชุมนุมขับไล่รัฐบาลทหารในเดือนพฤษภาคม ปี 2535 มาสู่เหตุการณ์ฆ่าสังหารใจกลางกรุงในเดือนพฤษภาคม ปี 2553 ​ ​ ​
หลังชุมนุมขับไล่รัฐบาลทหารที่สืบทอดอำนาจต่อจากคณะรัฐประหารนำโดย พล.อ.สุจินดา คราประยู หรือเหตุการณ์ที่เป็นที่รู้จักในชื่อเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงจนนำมาซึ่งการบาดเจ็บรวม 1,728 ราย และเสียชีวิตของผู้คนมากกว่า 44 ราย (ผลจากการรายงานของกระทรวงมหาไทย แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าตัวเลขจริงสูงกว่านั้นมาก)1 ​ หลังเหตุการณ์การชุมนุมครั้งดังกล่าว กองทัพถูกกดดันให้ออกจากการเมือง มีการอธิบายว่าสังคมไทยหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬกำลังก้าวสู่การเป็น “การเมืองที่ทหารไม่เป็นใหญ่” แบบเก่า พรรคการเมืองและภาคประชาสังคมกำลังจะเติบโต2 ทหารถูกกันออกจากเวทีการเมืองและถูกให้ภาพเป็น “ฆาตกร” จนถึงกลับมาคำกล่าวว่าตอนนั้นทหารใส่ชุดมาเดินบนถนนนี่ถึงกับโดนชี้หน้าด่า​

หลังเหตุการณ์การชุมนุมในปี 2535 ​ สื่อมวลชน ณ ขณะนั้นตั้งฉายาให้ว่า ม็อบมือถือ จากการสังเกตว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ใช้งานโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในเวลานั้น (ปี 2535) ทำให้เชื่อได้ว่าการชุมนุมในปี 2535 “กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง” และมีผลการศึกษาทางวิชาการออกมายืนยันว่า “ชนชั้นกลางเป็นพลังในการขับเคลื่อนสำคัญ” เหตุการณ์การชุมนุมครั้งดังกล่าวถูกให้ภาพไม่ใช่เพียงแค่การชุมนุมโดยชนชั้นกลางแต่คือ “โดยชนชั้นกลางในกรุงเทพ” ฉะนั้นสำนึกทางประวัติศาสตร์และภาพทางประวัติศาสตร์ที่ถูกฉายซ้ำไปมาคือการชุมนุมขับไล่ทหารในปี 2535การชุมนุมโดยชนชั้นกลางในกรุงเทพ ​

แต่ครั้นข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์การชุมนุนครั้งนั้นเป็นการชุมนุมที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมมีเฉพาะชนชั้นกลางในกรุงเทพจริงหรือ? เป็นคำที่ควรไถ่ถาม แต่จะไม่ขอตอบ ณ ที่นี้​
ความหวังและภาพฝันของสังคมไทยดำเนินมาสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกที่อยู่จนครบวาระเป็นครั้งแรก แต่ภาพฝันดังกล่าวถูกดับลงเมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจในปี 2549 กองทัพกลับเข้ามาในเวทีการเมืองไทยอีกครั้ง แต่ครั้งนี้กองทัพไม่ใช่ฆาตกรแต่กลับกลายมาเป็น “ผู้พิทักษ์” เห็นได้จากจากปฏิกิริยาของสังคมในเวลานั้น มีกระทั่งการมอบดอกกุหลาบให้กลุ่มทหารที่ออกมารัฐประหารยึดอำนาจ​

หลังการรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2549 และการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ได้ชื่อว่าเป็นพรรคนอมินีทักษิณ จนนำมาสู่การยุบพรรคพลังประชาชน และหลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่แกนนำคือพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการตั้งรัฐบาลได้ชื่อว่ารัฐบาลที่ตั้งในค่ายทหาร และต่อมาถูกชุมนุมขับไล่โดยกลุ่ม นปช หรือ “คนเสื้อแดง” จนเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาเลือด 2553” ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เปิดยุทธการกระชับวงล้อมพื้นที่ราชประสงค์เพื่อยุติการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 94 ราย จากรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) แต่หลังเหตุการณ์สังหารโหดคนเสื้อแดงในเดือนพฤษภาเลือด 2553 สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ ขณะนั้นได้เชิญชวนประชาชนชาวกรุงเทพมาทำความสะอาดครั้งยิ่งใหญ่ หรือ Big Cleaning Day หรือหากจะพูดให้ถูกก็คือกิจกรรมอำพรางความอำมหิตของรัฐบาลที่กระทำต่อประชาชน โดยป้ายสีให้ผู้ชุมนุมเสื้อแดงเป็นกลุ่มที่สกปรก และจัดกิจกรรมทำความสะอาดชะล้างครั้งนี้ขึ้นมา​

แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “คนเสื้อแดง” ที่เกิดขึ้นในปี 2550 โดยภาพของกลุ่มคนเสื้อแดงนี้มักถูกอธิบายว่าเป็น กลุ่มคนต่างจังหวัด สติปัญญาต่ำถูกหลอกง่ายและเป็นขี้ข้าของนักการเมือง จนมีการเรียกกลุ่มคนเสื้อแดงว่า “ควายแดง” เป็นสิ่งสกปรกที่มาแปดปื้นเมืองเทพอย่างกรุงเทพมหานคร ภาพการทำความสะอาด “เลือด” ที่ไหลนองพื้นเมืองเทพเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่า “คนต่างหวัดถูกให้ภาพเช่นไร และจะถูกจดจำเช่นไร” ประวัติศาสตร์ของการชุมนุมในปี 2553 กลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงจากการชุมนุมของม็อบมือถือปี 2535 ชีวิตและหยดเลือดที่ไหลนองพื้นเมืองเทพจึงไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่าเท่ากัน เป็นการบอกว่าเลือดหยดไหลเป็นเลือดที่ควรจดจำและหยดไหนที่ไม่ควรจดจำ​

รับชม Performance art ได้ที่ https://www.facebook.com/numovementt/videos/1149984185784744
เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย​
ภาพ: NU-Movement​

#Lanner

“Focus In Life”

26/05/2022

วานนี้ (25 พฤษภาคม 2565) เวลา 17.00 น. สมาชิกแอมเนสตี้ ประเทศไทยที่เชียงใหม่ร่วมกับ Addict Art Studio จัดกิจกรรมนิทรรศการภาพถ่าย “Focus In Life” เรื่องราวจากแดนประหาร โดย โทชิ คาซามะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นผู้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อใช้ภาพถ่ายในการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต มาบรรยายในหัวข้อ “What to Focus in the World Now” เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในประเด็นโทษประหารชีวิตซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน คือ สิทธิในการมีชีวิต อีกทั้งโทษประหารยังเป็นการทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย ​

ทั้งนี้ ทางแอมเนสตี้ได้เปิดตัวรายงานประจำปีเป็นวันแรก มีข้อมูลค้นพบว่า สถิติการประหารชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 20% เนื่องด้วยปัจจัยการผ่อนปรนของมาตรการโควิด-19 ​

ก่อนการบรรยายทางชำนาญ จันทร์เรือง สมาชิกแอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้กล่าวเปิดงาน และพูดถึงความสำคัญของการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต และย้ำจุดยืนว่าโทษประหารชีวิตนั้นเสมือนเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยอาศัยเครื่องมือทางกฎหมาย มองว่ากระบวนการที่จะชดเชยให้กับเหยื่อได้มากที่สุดคือกระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็วและเป็นธรรม​

ต่อมา ทางโทชิ คาซามะได้มาบรรยายต่อ กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพและรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต เล่าชุดภาพที่เกี่ยวกับนักโทษประหารชีวิตในทั่วโลก โดยโทชิมีข้อเสนอในเรื่องนี้ว่าควรเกิดกระบวนการยุติธรรมแบบฟื้นฟู คือแทนที่จะลงโทษให้จบ ๆ ไป ให้มาศึกษา ค้นหาว่าทำไมเขาถึงกระทำความผิด เราจะมีวิธีการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้อีกได้อย่างไร ​

นิทรรศการภาพถ่าย Focus In Life ยังเปิดให้ชมได้ในระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม – 22 กรกฎาคม 2565 วันจันทร์ – วันเสาร์ เวลา 11:00 น – 19:00 น. ที่ Addict Art Studio ถนนศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ **เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย​



ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย​

#lanner

สั่งฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 4 นักกิจกรรมจากแฟลชม็อบ#คนเชียงใหม่จะไม่ทน too จำเลยให้การปฏิเสธ ยืนยันขอต่อสู้คดี ​

26/05/2022

สั่งฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ธนาธร วิทยเบญจางค์, ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์, วัชรภัทร ธรรมจักร และศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ นักกิจกรรมเชียงใหม่ ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากแฟลชม็อบ #คนเชียงใหม่จะไม่ทนtoo เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 จำเลย 4 คนให้การปฏิเสธ ยืนยันขอต่อสู้คดี ​

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ศาลแขวงเชียงใหม่ พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีของธนาธร วิทยเบญจางค์, ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์, วัชรภัทร ธรรมจักร และศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ 4 นักกิจกรรม นักศึกษาและบัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามการทำกิจกรรม ชุมนุมหรือมั่วสุมในสถานที่แออัด ออกตามอำนาจใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการทำกิจกรรมแฟลชม็อบ #คนเชียงใหม่จะไม่ทนtoo บริเวณประตูท่าแพ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา, ให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดคุกคามประชาชน และให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563​

หลังจากที่ทั้ง 4 ราย เดินทางไปที่ศาลแขวงเชียงใหม่ ได้ถูกนำตัวเข้าไปควบคุมไว้ในห้องขังของศาล ผู้พิพากษาศาลแขวงทำการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาสอบถามจำเลยทั้ง 4 ว่ามีทนายความหรือไม่ จำเลยระบุว่ามีทนายความแล้ว ศาลได้สอบถามว่าจำเลยว่าจะให้การอย่างไรในคดีนี้ ทั้ง 4 ยืนยันขอให้การปฏิเสธเพื่อต่อสู้คดี

โดยคำฟ้องของพนักงานอัยการคดีศาลแขวง บรรยายว่า จากที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลกต้องประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ กรณี จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชน และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน นายกรัฐมนตรีจึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และมีการออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กําหนดให้ ข้อ 5 ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย​

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 เวลาประมาณ 16.00 – 18.30 น. จำเลยทั้งสี่ กับพวก ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีก 400 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการสืบสวนว่าเป็นผู้ใด ได้บังอาจร่วมกันชุมนุมทางการเมือง ทำกิจกรรม โดยการร่วมกันปราศรัยแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง พร้อมชูป้ายภาพแสดงข้อความ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ในลักษณะยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อยู่ใกล้ชิดแออัด มีการสนทนา หันหน้าเข้าหากัน ทำกิจกรรมระหว่างกันเป็นระยะเวลานาน โดยไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่ปลอดภัย และไม่มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อตามหลักการแพทย์ โดยไม่มีเหตุอันสมควรใดๆ ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ประตูท่าแพ​ พฤติการณ์ดังกล่าวอัยการเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด เรื่อง ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทํากิจกรรมหรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ​
จากนั้น ผู้พิพากษาศาลแขวงเชียงใหม่ได้แจ้งกับจำเลยทั้ง 4 ว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน เพียงแต่ให้สาบานตัวว่าจะเดินทางมาตามนัดหมายของศาลทุกครั้ง โดยศาลได้กำหนดวันนัดหมายคุ้มครองสิทธิ พร้อมกับนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 20 มิถุนาคม 2565 เวลา 09.00 น. ต่อไป​
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน​

#Lanner

ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งรับฟ้องคดี กรณีชาวบ้านกะเบอะดิน ฟ้องเพิกถอน EIA เหมืองถ่านหิน

26/05/2022

ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งรับฟ้องคดี กรณีชาวบ้านกะเบอะดิน ฟ้องเพิกถอน EIA เหมืองถ่านหิน หลังจากเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ชาวบ้านอมก๋อยและทนายความได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่และพวกอีก 2 คน ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำ ส.1/2565​

ต่อมาในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งรับฟ้องคดีของชาวบ้านอมก๋อยแล้ว ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล พร้อมทั้งมีคำสั่งเรียกบริษัทฯเข้ามาเป็นคู่กรณีโดยกำหนดให้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3​

ทั้งนี้ศาลได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ทำคำให้การแก้ฟ้อง และมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ทำคำชี้แจงคัดค้านคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาและแสดงพยานหลักฐานต่อศาล​

โดยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพจ กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์ ได้โพสต์ว่า ผู้นำในท้องถิ่นได้โทรมาบอกว่าบริษัทโทรหาผู้นำท้องถิ่นหลายรอบหลังจากที่ฟ้องศาลไป และได้บอกว่าจะเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่พร้อมทั้งให้ผู้นำท้องถิ่นร่วมถือหุ้น รวมถึงคนในชุมชนด้วย ทั้งยังกล่าวถึงชื่อผู้ฟ้องที่ไปฟ้องบริษัท ทำให้เขาเสียหาย และต้องเสียเงินโดยที่เขายังไม่ได้ทำอะไร (ไม่ได้พูดถึงความรุนแรงแต่อย่างใด) การฟ้องศาลปกครองครั้งนี้เพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับชุมชนบ้านกะเบอะดินและหมู่บ้านใกล้เคียงที่จะได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเรื่อง การสัญจร การขนส่งพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน มลพิษทางอากาศ อุบัติเหตุ ฯลฯ และความกังวลใจของคนในชุมชนอีกมากมายหากมีการสร้างเหมือง ไม่ได้ที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย รวมถึงหุ้นที่จะได้ร่วมกับบริษัทแต่อย่างใด ผู้ฟ้องและผู้สนับสนุนการฟ้องทั้ง 600 กว่าคนหวังอย่างยิ่งว่าจะได้รับความยุติธรรมครั้งนี้​

ภาพ: วรรณา แต้มทอง​

#กะเบอะดินดินแดนมหัศจรรย์​
#ไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย​
#Saveomkoi​
#Lanner

ร่วมสนับสนุนแรงงานข้ามชาติยื่นฟ้องหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ม.33 เรารักกัน 27 พฤษภาคม 13.00 น. ศาลปกครองกลาง แจ้งวัฒนะ​

26/05/2022

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา HRDF Anti-Labor Trafficking (HRDF) และตัวแทนผู้ประกันตน ได้แถลงเตรียมยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “ม.33 เรารักกัน” โดยขอเรียนเชิญสื่อและมวลชนทุกท่านมาร่วมเป็นกำลังใจ ให้พี่น้องแรงงานข้ามชาติของเราในการฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ม.33 เรารักกัน ร่วมกันจับตาอย่างใกล้ชิด ศาลจะรับฟ้องหรือไม่ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและตัวแทนผู้ประกันตน จึงมีกำหนดการไปยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้เพิกถอนฟ้องเพิกถอนการกำหนดคุณสมบัติสัญชาติไทย ในการเยียวยาผลกระทบจากโรคโควิด – 19 ตามโครงการม.33 เรารักกันในวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 นี้ เวลา 13.00 น. ที่ศาลปกครองกลาง แจ้งวัฒนะ​

ทั้งนี้ยังสามารถลงชื่อสนับสนุนทางผ่านช่องทางออนไลน์ได้ถึงเที่ยงคืนนี้ (26 พฤษภาคม) https://forms.gle/RfZLqabNGj1gp6NZ7​

อ่านข่าวตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 33 แรงงานข้ามชาติแถลงเตรียมยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ได้ที่ https://www.facebook.com/lanner2022/photos/124343680258584​

#อย่าทิ้งให้แรงงานข้ามชาติเดียวดาย​
#ม33เรารักกันแต่ฉันถูกลืม​
#Lanner

เทศกาลภาพยนตร์สารคดีอเมริกัน เชียงใหม่ American Documentary Film Festival in Chiang Mai 2022

25/05/2022

พบกับเทศกาลภาพยนตร์สารคดีอเมริกัน เชียงใหม่ American Documentary Film Festival in Chiang Mai 2022 ฉายหนังสารคดีคุณภาพเยี่ยม 9 เรื่อง พร้อมคำบรรยายภาษาไทย เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมฟรีทุกเรื่อง ไม่เสียค่าใช้จ่าย​

ในวันพฤหัสบดีที่ 26 ถึงวันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2565 ณ ห้องฉายภาพยนตร์ หอกลางเวียง ​ (หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เดิม) หลังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยตารางฉายภาพยนตร์มีดังนี้​

พฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม / May 26th​
17.00 น. Wrestle​
19.00 น. Runner​

ศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม / May 27th​
17.00 น. Q – Ball​
19.00 น. When Lambs Become Lion​

เสาร์ที่ 28 พฤษภาคม / May 28th​
15.00 น. Hamtramck, USA​
17.00 น. The Inventor​
19.00 น. งานเสวนาเรื่อง ‘สารคดียุคใหม่ – จากมุมมองของคนทำและผู้ชม’​

อาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม / May 29th​
15.00 น. Making Waves: The Art of Cinematic Sound​
17.00 น. CinemAbility: The Art of Inclusion​
19.00 น. Satan & Adam​

โดยสามารถอ่านข้อมูลรายละเอียดของหนังที่ฉายในงาน American Documentary Film Festival in Chiang mai 2022 https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2144606999044083&id=483799951791471&m_entstream_source=timeline&paipv=1​

สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 084-0296421​
จัดโดย สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ร่วมกับ Documentary Club กลุ่ม Dude, Movie และกลุ่มปันยามูฟวี่คลับ​

สนับสนุนกิจกรรมโดย หอกลางเวียง ศูนย์มรดกเมืองเชียงใหม่ – Chiang Mai City Heritage Centre และร้านหนังสือ Book Re:public​

#lanner

นักเรียนตั้งคำถามผ่าน #svkfact กรณีคลิปครูตัดผมนักเรียนกลางสนามฟุตบอล

25/05/2022

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม มีผู้เผยแพร่คลิปและรูปภาพครูตัดผมนักเรียน โดยระบุว่าเป็นโรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอสันป่าตอง โดยให้ข้อมูลว่าหลังเลิกแถวในตอนเช้าได้มีการเรียกเด็กนักเรียนชายเพื่อมาตรวจทรงผม ก่อนที่จะมีการตัดผมนักเรียนที่ยาวเกินกำหนด และหลังจากคลิปและรูปภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปในโลกออนไลน์ ทำให้มีผู้เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของโรงเรียนที่ละเมิดสิทธิเด็ก โดยมีความเห็นบางส่วนให้ความเห็นว่า การที่ครูตัดผมนักเรียนจนแหว่งมันไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ อีกทั้งยังทำให้เด็กเสียความมั่นใจ เป็นปมในใจและอาจจะทำให้เด็กไม่กล้าไปโรงเรียน ทั้งนี้ครูก็ไม่มีสิทธิ์ตัดผมนักเรียนอยู่ดีถึงจะเป็นกฎระเบียบของโรงเรียน การกระทำในครั้งนี้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของนักเรียน
.
โดยในความคิดเห็นได้มีนักเรียนจำนวนหนึ่งตั้งคำถามผ่าน twitter บนแฮชแท็ก #svkfact ถึงการตัดผมไปว่า “ทรงผมเกี่ยวอะไรกับการเรียนตัดผมแล้วได้เกรด 4 ไหม? ซึ่งคุณครูบอกว่าเกี่ยว เพราะว่าทรงผมมันอยู่ในกฎระเบียบของโรงเรียนถ้าใครไม่ทำตามก็ต้องโดนตัด ทุกวันนี้ต้องมีกฎมีระเบียบให้นักเรียนทำตาม”
.
ด้านกลุ่มลำพูนปลดแอกได้พสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คต่อกรณีนี้ดดยมีความเห็นว่า “โรงเรียนสันป่าตองกรรไกรคม ผู้ปกครองเดือด ร้องลำพูนปลดแอก ครูโรงเรียนกรรไกรคมวิทยา ในอำเภอสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ บังคับกร้อนผมนักเรียนชายต้อนรับเปิดเทอม เรื่องแดง ใช้ยามเฝ้าประตู ห้ามผู้ปกครองเข้าพบผู้บริหารเพื่อร้องเรียน ฉาวต่อ พบพฤติกรรมครูชายชอบตบหัว เต๊ะ เด็กร้องไห้ ขอให้หยุดแต่ไม่ฟัง เพื่อนถ่ายคลิปตอนโดนทำร้าย ถูกครูบังลบ ผู้ปกครองห่วงสภาพจิตใจเด็ก วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ก่อนพฤติกรรมอำนาจนิยมถูกใช้จนย่ามใจมากกว่านี้”
.
โดยสมาชิกกลุ่มลำพูนปลดแอกได้ให้ความคิดเห็นต่อกรณีกับสำนักข่าว Lanner ว่า”โรงเรียนส่วนใหญ่เมื่อเกิดเรื่องก็จะพยายามปกปิดเป็นความลับ เพราะกลัวสถานศึกษาของตนจะเสียชื่อเสียง แต่สถานศึกษาเป็นแต่อิฐแค่ปูน แต่นักเรียนคือสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ นักเรียนคือสิ่งประกอบที่จะบ่งบอกว่าสถานศึกษานั้นดีอย่างไร พฤติกรรมการละเมิดสิทธิและพยายามจัดการปัญหาให้เป็นเรื่องภายใน คือการพยายามสร้างกรงขังมาครอบนักเรียนไว้ ให้อยู่ในกรอบที่ผู้ใหญ่คิดว่าดี แต่สิ่งที่คิดว่าดีอาจละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ ฝากไปถึงเพื่อนๆ น้องๆ อย่าเชื่อตั้งแต่ครั้งแรกที่ฟังที่ดู จงพยายามตั้งคำถาม และค้นคว้าหาคำตอบ”
.
อย่างไรก็ดีตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คโดยระบุไว้ว่า “กระทรวงศึกษาธิการ ไม่มีระเบียบให้ครูลงโทษ ด้วยการตัดผม หรือใช้ความรุนแรง กับนักเรียน หากพบเห็นการลงโทษที่ไม่ถูกต้อง สามารถแจ้งมาที่ Moe safety center ได้ทุกกรณี”
.
#Lanner

บรรยากาศ “เดินหยุดขัง” จากเรือนจำคลองเปรมถึงศาลอาญา ถนนรัชดา​

25/05/2022

25 พฤษภาคม เวลา 14.45 น. ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้รวมตัวกันเพื่อร่วมกัน “เดินหยุดขัง” จากเรือนจำคลองเปรมถึงศาลอาญา ถนนรัชดา รวมเป็นระยะทางกว่า 6 กิโลเมตรเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทั้งหมด 11 คนด้วยกันได้แก่​

1. เวหา แสนชนชนะศึก ​ 2-3. คทาธรและคงเพชร สมาชิกกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 4. ปฏิมา ​ 5. “เพชร” พรพจน์ แจ้งกระจ่าง 6.เอกชัย หงส์กังวาน 7.“ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ 8. สมบัติ ทองย้อย 9. “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง 10-11. ใบปอ และ เนติพร กลุ่มทะลุงวัง​

การเดินหยุดขังมีประชาชนที่มาร่วมขบวนได้สวมเครื่องแบบนักโทษเพื่อแสดงออกถึงเพื่อนที่ถูกคุมขัง ถือดอกทานตะวัน เพื่อสื่อสารกรณีที่ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อดอาหารประท้วงสิทธิในการประกันตัว จนถึงวันนี้เป็นเวลา 36 วันที่ตะวันอดอาหารและอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ โดยเมื่อเดินทางมาถึงหน้าศาลอาญา รัชดาฯ ได้มีการคลุมหัวด้วยปี๊บแสดงออก และได้มีกิจกรรมยืนหยุดขังต่อเป็นเวลา 1.12 ชั่วโมง​



ภาพ: Chaiyawat S. Chanachai​

#หยุดละเมิดสิทธิประกันตัว​
#ยกเลิก112​
#Lanner