Home Blog Page 201

“What to Focus in the World Now”

25/05/2022

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดนิทรรศการภาพถ่าย “Focus In Life” พร้อมเสวนาหัวข้อ “What to Focus in the World Now” โดย “โทชิ คาซามะ” ช่างภาพชาวญี่ปุ่น ผู้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อใช้ภาพถ่ายในการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
.
.
นิทรรศการภาพถ่าย Focus In Life เปิดให้ชมระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม – 22 กรกฎาคม 2565 วันจันทร์ – วันเสาร์ เวลา 11:00 น – 19:00 น. ที่ Addict Art Studio ถนนศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ *เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ทัศนัยโพสต์ถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ที่ไร้มนุษยธรรมเรียกร้อง ‘ปล่อยตะวัน’​

24/05/2022

24 พฤษภาคม ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ที่ไร้มนุษยธรรมเรียกร้อง ‘ปล่อยตะวัน’ โดยรายละเอียดดังนี้​

“ถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้​

พวกท่านอยากกินเมื่อหิว ไม่อยากกินเพราะอาหารไม่ถูกปาก การที่พวกท่านจะกินหรือไม่กินอะไรนั้นวางบนฐานของความตะกละ แค่กินข้าวเที่ยงช้าไปสักชั่วโมง สองชั่วโมง คงจะหงุดหงุดกันแล้ว แค่อาหารเย็นชืดไม่ถูกปากไปหน่อยพวกท่านก็อาจเรียกพนักงานบริการมาทำโทษกันแล้ว​

เด็กตะวัน อดข้าวมาเดือนกว่า เธอไม่ได้อดข้าวเพราะไม่อยากกิน และไม่มีใครไปบังคับเธอให้กิน เพราะความเป็นห่วงว่าเธอจะหิวมากได้ด้วย การกินหรือไม่กินข้าวของเธอไม่ใช่มาจากความตะกละเหมือนพวกท่าน แต่มาจากเสรีภาพที่เธอทำให้ผม เรา และพวกท่านด้วย ได้เห็นว่าการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ที่ปราศจากความฝันเห็นสังคมอันดีงามนั้น เป็นสิ่งไร้ค่า​

ข้อเรียกร้องของเธอไม่ได้ไปก่อความวุ่นวายหรือทำให้ใครได้รับอันตราย แต่มันออกมาจากหัวใจของเธอและเพื่อนร่วมสังคมของเธอด้วยอีกเป็นจำนวนมาก ที่อยากให้ประเทศนี้น่าอยู่น่าอาศัยโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้มีความคิดร้ายใดเป็นเดิมทุนโดยทั้งสิ้น แต่พวกท่านจับเธอและเพื่อนร่วมฝันของเธอไปขังคุก​

สิ่งเดียวที่เธอจะทำให้พวกผู้ใหญ่อย่างท่านคิดได้ คือความกล้า ความกล้าที่แม้ชีวิตของเธอเองก็ไม่เสียดาย ความหิว ความอ่อนล้าของเธอก็ไม่อาจฉุดรั้งเจตจำนงอันแน่วแน่ที่จะทำให้พวกท่านมองเห็นถึงความตะกละของตัวเอง ความขลาดกลัวของตัวเองและความไร้ค่าของตัวพวกท่านเองด้วย​

ผมไม่คิดว่าการเดิมพันชีวิตของเธอคุ้มค่าที่จะไปปลุกเร้าความไร้มนุษยธรรมอำมหิตในตัวพวกท่านเลยแม้แต่นิดเดียว​

ปล่อยตะวัน​”

ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมทางการเมืองอายุ 20 ปี ถูกคุมขังจากกรณีการถูกเพิกถอนประกันตัวในชั้นสอบสวน เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ในคดีมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา จากกรณีที่ถูกกล่าวหาจากการไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จบริเวณตรงข้ามองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินและโพสต์และแชร์ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 โดยตะวันได้ประกาศอดอาหารเพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรม และเรียกร้องสิทธิประกันตัวออกมาสู้คดี จนถึงวันนี้จะอดอาหารมาแล้ว 35 วัน​

จากบันทึกการเยี่ยมของทนายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ระบุว่าตะวันมีสภาพที่อิดโรย หน้าซีด มีเลือดออกตามไรฟัน และไม่มีแรงในการเขียนหนังสือ นอกจากตะวันที่ประกาศอดอาหารประท้วงความยุติธรรมแล้วยังมี “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักศึกษาอายุ 23 ปี จาก กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ที่ถูกจับตามหมายจับและคุมขังระหว่างการสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว จากเหตุปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 22 เมษายน ข้อหามาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเก็ทได้ประกาศอดอาหารเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม​

ด้านภัควดี วีระภาสพงษ์และไพศาล จันปาน จะทำกิจกรรมเดินหยุดทรราชทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ใส่ชุดนักโทษเดินจากคลองเปรมไปที่ศาลอาญาในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 15.00 น.​

ภาพ: ประชาไท​

#คืนสิทธิในการประกันตัว​
#ยกเลิก112​
#Lannr

Lanner รายงานสถานการณ์การชุมนุม ​ #ต่อต้านร่างกฎหมายการรวมกลุ่มของประชาชน วันที่ 24 พฤษภาคม ช่วงเช้า​

24/05/2022

วันนี้ 24 พฤษภาคม เวลา 08.15 น. ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน เตรียมตั้งขบวนพร้อมเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาล ทวงถามข้อเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรียกเลิกร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มทุกฉบับ ในขณะที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังคน แผงเหล็ก และรั้วลวดหนามมาปิดกั้นเส้นทางแล้ว​

โดยขบวนฯ มีข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ดังที่ได้แถลงการณ์ไว้แล้วเมื่อวาน ดังนี้​

1. ให้มีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. ที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยทันที และยุติการเสนอกฎหมายควบคุมเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ​

2. ให้ทำข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. และกฎหมายควบคุมเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับอีก​

3. ให้การรับรองว่าจะไม่มีผู้ใดตกเป็นเป้าหมายการถูกคุกคาม การใช้ความรุนแรง ถูกจับกุมคุมขัง หรือถูกตั้งข้อหาต่อการที่ประชาชนใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมและแสดงออกโดยสันติ​

08.40 น. ขบวนฯ เดินเข้าประชิดรั้วลวดหนามบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ พร้อมกับโปรยกระดาษจำนวนมากที่มีข้อความอาทิ “ยกเลิกกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มทุกฉบับ” “พัฒนาสังคมยังไม่ดี ยังกดขี่การรวมกลุ่มประขาชน” “ขอรัฐสวัสดิการ แต่ได้กฎหมายสามานย์ควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน” “ทวงคืนเสรีภาพการรวมกลุ่ม” เป็นต้น​

ด้านผู้ปราศรัยยังยืนยันจะเดินขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาลผ่านเส้นทางนี้ โดยแจ้งว่าเจ้ากน้าที่ตำรวจยืนยันว่าเส้นทางดังกล่าวมีสถานที่สำคัญ จึงไม่สามารถเปิดเส้นทางสัญจรได้​

08.47 น. ขบวนฯ ประกาศเปลี่ยนเส้นทางการเดินขบวนไปทางถนนกรุงเกษม พร้อมกับยืนยันว่าการสกัดกั้นที่สะพานมัฆวานรังสรรค์จะเป็นจุดสุดท้ายที่ขบวนฯ ยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นได้​

“วันนี้มีการประชุม ครม. จะต้องมีการส่งตัวแทนจากนายกรัฐมนตรีมารับหนังสือและพูดคุยกับเรา ถ้าประยุทธ์มาเองได้จะดีมาก…ประยุทธ์ไม่สนใจความทุกข์ร้อนชองประชาชน ยืนอยู่บนความทุกข์ร้อนของประชาชน ฉะนั้นวันนี้กฎหมายฉบับนี้ต้องยกเลิกเท่านั้น” เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กล่าว​

09.07 น. ขบวนฯ เดินเข้ามาทางแยกนางเลิ้ง สู่ถนนพิษณุโลก ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำรั้วเหล็กปิดกั้นหน้าคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชมงคล พระนคร ท่ามกลางเสียงตะโกนจากขบวนฯ ว่า “ประยุทธ์…ออกไป”​

09.13 น. ขบวนฯ นำโดยกลุ่มคนใส่ชุดจิงโจ้ ได้เปิดแผงเหล็กชั้นแรก ในขณะที่ผู้ปราศรัยยังยืนยันว่าวันนี้มาอย่างสงบ สันติ และต้องการให้รัฐบาลมาเจรจากับประชาชน รับฟังปัญหา ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้อำนวยความสะดวก​

09.18 น. แผงเหล็กแนวที่สองถูกรื้อ ขณะที่ทีมเจรจากำลังพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ​

09.23 น. ขบวนฯ เคลื่อนเข้าประชิดแนวรั้วที่สาม บริเวณหน้าวังกรมหลวงชุมพร​

09.32 น. เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ประกาศนับถอยหลัง 5 นาที ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรื้อรั้ว ในขณะที่ขบวนฯ ได้เดินเข้าไปประชิดรั้วแนวที่สามแล้ว​

09.37 น. ขบวนฯ ช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดแนวรั้ว และเคลื่อนขบวนเข้าสู่แนวรั้วแนวสุดท้ายที่มีแนวลวดหนาม เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้นำกำลังมาตรึงไว้ข้างหลัง พร้อมกับรถจีโน่ เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศว่าการกระทำของขบวนฯ ขัดต่อกฎหมาย​

09.39 น. ขบวนฯ ประกาศให้เวลาเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาที ในการรื้อแนวรั้วลวดหนามเปิดทางให้ขบวนฯ ได้เจรจากับผู้แทนรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าวันนี้จะไม่มีการยอมกลับ ประชาชนคนธรรมดามาเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของตนเอง​

09.53 น. ขบวนฯ ประกาศยกระดับเข้าประชิดแนวรั้วลวดหนาม โดยผู้แทนรัฐบาลจะส่งคนเข้ามาเจรจากับขบวนฯ บนสะพานชมัยมรุเชฐ โดยผู้ปราศรัยกล่าวว่าต้องการให้บรรยากาศการเจรจาเป็นมิตร พี่น้องได้ล้อมวงคุยกันกับตัวแทนรัฐบาล ฉะนั้นนับถอยหลัง 15 นาที เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรื้อรั้วลวดหนามและแผงกั้นเหล็กออก หรือนำถอยร่นไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล​

10.10 น. แผงรั้วลวดหนามถูกรื้อ เหลือเพียงแผงรั้วเหล็ก ขบวนฯ ยังยืนยันว่าจะใช้พื้นที่บนสะพายชมัยมรุเชฐเป็นพื้นที่เจรจา ขณะที่ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง ได้กล่าวว่าการกระทำของขบวนฯ นำโดยสมบูรณ์ คำแหง ได้กระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากยังไม่ควบคุมมวลชนจำเป็นต้องใช้เจ้าที่ คฝ. เข้าดำเนินการ ส่วนขบวนฯ ได้นั่งลงกับพื้นแล้ว​

10.17 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศให้สื่อมวลชนถอยออกทางด้านข้างแล้ว ด้านผู้ปราศรัยกล่าวว่านี่คือการสร้างสถานการณ์ในการสลายการชุมนุม​

10.30 น. อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มาพบขบวนฯ ที่สะพานชมัยมรุเชฐ ​ เพื่อเจรจา โดยขบวนฯ ได้ส่งตัวแทนเจรจา นอกนั้นเป็นการนั่งล้อมวงเพื่อรับฟังการเจรจา​

10.55 น. อนุชารับหนังสือจากขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน พร้อมรับจะนำเรื่องเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรี แล้วแจ้งว่าจะ ครม.​

จะมีผลตอบรับหรือไม่ตอบรับอย่างไร ส่วนขบวนฯ ยืนยันปักหลักรอฟังแถลงจาก ครม.​



ภาพ: Chaiyawat S. Chanachai​

#lanner​
#NoNpoBill

Lanner รายงานสถานการณ์การชุมนุม ​ #ต่อต้านร่างกฎหมายการรวมกลุ่มของประชาชน วันที่ 24 พฤษภาคม ช่วงบ่าย​

24/05/2022

เวลา 13.07 น. ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ประกาศเรียกตั้งแถวอีกครั้ง ระบุว่าภายใน 13.30 น. ผู้แทนจากคณะรัฐมนตรีต้องออกมาชี้แจงความคืบหน้า หลังเมื่อช่วงเช้า อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มาเจรจาและรับหนังสือจากกลุ่มผู้เรียกร้อง​

ในขณะที่บนสะพานชมัยมรุเชฐยังคงมีแนวรั้วเหล็กกั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงนำกำลังบางส่วนเข้าตรึงพื้นที่บนสะพานชมัยมรุเชฐไว้ รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนประจำการอยู่ที่หน้าตึก ก.พ.ร.​

ผู้แทนขบวนฯ ยังปราศรัยว่าจากการสังเกตการณ์เมื่อช่วงเช้า พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งชูปืนขึ้นมา รวมถึงใช้ความรุนแรงกับประชาชน ยืนยันว่าขบวนฯ มาอย่างสงบ สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือเปิดประตูทุกบานเพื่อรับฟังเสียงของประชาชน ส่วนผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลไม่ต้องมาประกาศแล้วว่าประชาชนทำผิดกฎหมายประการใด เพราะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ​

13.30 น. มงคลชัย สมอุดร รองปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเจรจากับขบวนฯ ในขณะที่ประชาชนยังคงปราศรัยว่าให้มีการรื้อแผงเหล็ก หรือให้มงคลชัยออกจากแผงเหล็กมาชี้แจงกับขบวนฯ นอกแนวรั้ว​

หลังจากนั้น มงคลชัย ได้กลับเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล หลังชี้แจงกับขบวนฯ ว่าจะไปเรียนให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจงภายหลัง แต่ไม่ได้บอกว่าเมื่อไร​

13.45 น. อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่า เมื่อเช้าที่ผมมารับเรื่องจากพวกเรา สิ่งที่เราเรียดร้องก็เ็นไปตามที่ท่านพูด ผมรับเรื่องไปอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ได้นำเข้าชี้แจงต่อ ครม. ว่าพี่น้องมีข้อเรียดร้อง ครม. ก็รับทราบตามนี้ ขั้นตอนทางกฎหมายนั้นยังไม่ถึงเวลาที่กฎหมายจะคลอดออกมาหรือไม่ อย่างไร ยังอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นถึงจะมีการกำหนดออกมา ยังไม่รู้เลยว่าจะผ่านความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่​

นอกจากนั้นยังกล่าวว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ครม. รับทราบ สิ่งที่เราเรียกร้อง การยกเลิกกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร ยังไม่มีการนำกฎหมายนี้เดินหน้าหรือไม่ ส่วนการยกเลิกนั้นเป็นกระบวนการตามขั้นตอนการพิจารณา ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะผมเป็นประชาชนคนไทย​

สมบูรณ์ คำแหง ผู้แทนขบวนฯ ได้สรุปว่า เรายังบอกไม่ได้ว่า ครม. รับทราบแล้ว เพราะเป็นปากเปล่า ถ้ารับทราบจริงต้องมีลายลักษณ์อักษรออกมา ส่วนกระบวนการทางกฎหมายก็ยังไว้วางใจไม่ได้ว่ากฎหมายจะหยุดจริงหรือไม่ ซึ่งจริงๆ รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ เพราะอยู่ใน มติ ครม. ถ้าอยากแสดงความจริงใจต้องมีมติ ครม. ว่ายกเลิกไปเลย เท่ากับว่ากระบวนการยังดำเนินปกติ ย้อนแย้งกับที่ท่านบอกว่าจะไม่ดำเนินการแล้ว มันจะมีหลักประกันอะไรให้เรา มีเป็นลายลักษณ์อักษรไหมว่าจะไม่เดินหน้าต่อ​

ประมาณ 30 นาที กระบวนการชี้แจงก็แล้วเสร็จท่ามกลางความไม่พอใจในความไม่ชัดเจนของคณะรัฐมนตรี​

14.09 น. ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน สุภาภรณ์ มาลัยลอย ได้เป็นผู้แทนแถลงข่าวโต้กลับ สรุปความว่า กฎหมายฉบับนี้เกิดจากคำสั่งการของนายกรัฐมนตรี ไม่มีการมีส่วนร่วม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน หลังจากนั้นประชาชนไม่เห็นด้วย แต่รัฐบาลก็ยังดำเนินการต่อและยังมีมติ ครม. นำกฎหมายฟอกเงินเข้ามาเพิ่มความชอบธรรม และยังมีมติ ครม. อีกฉบับมาย้ำหลักการอีก นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมเราจึงมาอยู่จุดนี้ เพราะนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ริเริ่ม​

นอกจากนั้นยังกล่าวว่า ไม่ใช่มีประชาชนที่นี่เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย แม้แต่ต่างประเทศก็ยังมีความเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน หลายสถานทูตก็มีความเห็น จึงขอย้ำว่าเมื่อรัฐบาลนี้เดินหน้ากฎหมายฉบับนี้ จึงเป็นการเดินหน้าละเมิดสิทธิมนุษยชน​

ท้ายที่สุดขบวนฯ ได้ประกาศเรียกร้องให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดได้มารวมตัวกันเพื่อปักหลักเคลื่อนไหวยืดเยื้อต่อไปจนกว่าจะมีการยกเลิกกฎหมาย​

14.18 น. กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แสดงเจตนารมณ์ส่งถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยการปล่อยป้ายผ้าที่แขวนด้วยลูกโป่งสีขาวและดำ ปรากฏข้อความว่า “หยุดมรดก คสช. หยุด พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม”​

ต่อมาจึงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงคณะรัฐมนตรี โดยการวางดอกไม้จันทน์หน้าไวนิลรูปหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ​

“ไม่มีการชุมนุมไหนของประชาชนที่พ่ายแพ้ เราต้องมุ่งหวังถึงชัยชนะเสมอ วันนี้เราจะวางดอกไม้จันทน์ให้ประยุทธ์และพวก ต้องยกเลิกกฎหมายฉบับนี้อย่างเร็ว เราจะอยู่ไปเรื่อย ๆ และจะกลับไปที่หมู่บ้านราษฎร์ธรรมนูญ ไปปักหลัก ทำกิจกรรม และสาปส่งประยุทธ์อยู่ที่นั่น” เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้แทนขบวนฯ กล่าว​



ภาพ: Chaiyawat S. Chanachai​

#lanner​
#NoNpoBill

ระดมทุนฟื้นฟูสวนอัญญาและลานยิ้มการละคร หลังเผชิญวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 35 ปี​

24/05/2022

หลังจากที่น้ำได้ท่วมสวนอัญญาเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 และวันที่ 21 พ.ค. 2565 ได้มีน้ำป่าหลากเข้าท่วมสวนอัญญาอีกครั้ง รวมถึงชุมชนในซอยห้วยแก้ว3 หลายครัวเรือนก็ล้วนประสบภัยในครั้งนี้เช่นกัน และแน่นอนว่าหลายพื้นที่ในตัวเมืองเชียงใหม่ด้วย​

ในเบื้องต้น แม้ตอนนี้ระดับน้ำจะค่อย ๆ ลดลงแล้ว แต่ข่าวก็แจ้งมาว่าน้ำบนดอยสุเทพยังมีอยู่ และน่าจะหลากลงมาอีกถ้ามีฝนสะสมระลอกใหม่​
แต่ใน 2 วันนี้ก็ทำให้เกิดความเสียหายทั้งในสวนอัญญาและในส่วนของลานยิ้มการละครที่มีออฟฟิศตั้งอยู่ที่นี่ โดยเป็นน้ำท่วมที่หนักที่สุดในรอบ 35 ปี (รอบล่าสุดที่น้ำท่วมสูงที่สุด คือ ช่วงปี ​ พ.ศ. 2528-2529)​

โดยสวนอัญญามีความสำคัญ คือเป็นพื้นที่ที่เปิดให้นักกิจกรรม นักศึกษา ประชาชน มาใช้พื้นที่ได้ โดยเป็นผืนดินที่ครูองุ่น มาลิก ที่ได้ซื้อจากชาวบ้านเมื่อประมาณ พ.ศ. 2513 โดยสวนอัญญามีปญิธานจะให้เป็นสถานที่สาธารณะกุศลให้ลูกศิษย์ของครูองุ่นผู้มีความยากลำบากในเรื่องที่อยู่อาศัย มาพำนักในช่วงการศึกษา และได้ฝึกตนให้มีคุณค่าทางสังคม โดยในปี พ.ศ. 2531 ครูองุ่นได้ทำพินัยกรรมมอบผืนดินส่วนตัวนี้ให้กับมูลนิธิไชยวนา ก่อนที่ครูองุ่นจะจากไปในปี พ.ศ. 2533​

ในปี พ.ศ. 2558 – 2559 ได้มีการระดมทุนสร้างอาคารถาวรสำหรับทำกิจกรรมทางสังคมต่อไปในระยะยาว ใช้ชื่ออาคารว่า “เฮือนครูองุ่น มาลิก : หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ” ​

จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น ทางสวนอัญญาและกลุ่มลานยิ้มการละครได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ออฟฟิศ อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการแสดงละคร รวมถึงเครื่องครัวต่าง ๆ​
ทางสวนอัญญาและกลุ่มลานยิ้มการละครจึงขอความช่วยเหลือเบื้องต้นในการระดมทุนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายในครั้งนี้​

โดยทุกท่านสามารถสนับสนุนได้ทั้งสองช่องทางดังนี้​

1. สวนอัญญา​
ธนาคารกรุงเทพ เลขบัญชี 547-019-7765​
ชื่อบัญชี กัญญา ใหญ่ประสาน และ ชญาณิฐ สุนทรพิธ​

2. ลานยิ้มการละคร​
ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขบัญชี 793-271-2050​
หรือพร้อมเพย์ 088 307 0010 ชื่อบัญชี ประภัสสร คอนเมือง​

#ระดมทุน​
#lannercrowdfunding

แอมเนสตี้ชวนชาวเชียงใหม่รับชมนิทรรศกาลกาลภาพถ่ายจากช่างภาพชาวญี่ปุ่นผู้รณรงค์ยกเลิกโทษประหาร

24/05/2022

25 พฤษภาคม – 22 กรกฎาคม 2565 นี้ พบกันที่เชียงใหม่!​
Follow the event: https://fb.me/e/o0Gv5KQNs​

25 พฤษภาคม 2565 จะเป็นวันเปิดตัวรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิต ประจำปี 2564 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมกันทั่วโลก ทางสมาชิกแอมเนสตี้ ประเทศไทยที่เชียงใหม่จึงได้ร่วมกับ Addict Art Studio จัดกิจกรรมนิทรรศการภาพถ่าย “Focus In Life”​

พร้อมชวน “โทชิ คาซามะ” ช่างภาพชาวญี่ปุ่นผู้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อใช้ภาพถ่ายในการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต มาบรรยายในหัวข้อ “What to Focus in the World Now” เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในประเด็นโทษประหารชีวิตซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน คือ สิทธิในการมีชีวิต อีกทั้งโทษประหารยังเป็นการทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย​

ทั้งนี้แอมเนสตี้เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามพันธกรณีที่เคยให้ไว้ และขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่จะพิจารณายกเลิกโทษประหารชีวิต เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และที่สําคัญ เป็นการเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนในสังคมทุกๆ คน อีกทั้งขอร่วมเป็นกําลังใจให้รัฐบาลหามาตรการป้องกันอาชญากรรมต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ในประเด็นสิทธิมนุษยชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้สังคมไทยเกิดการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อกันและกัน ซึ่งจะส่งผลให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความสงบสุขและสันติอย่างแท้จริงต่อไป​

ดังนั้น Addict Art Studio จึงร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรม นิทรรศการภาพถ่าย “Focus In Life” เพื่อให้กิจกรรมนี้เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ จุดหนึ่งที่เชิญชวนให้คนในสังคมได้เกิดการเสวนาและคิดทบทวนในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนนี้ และตระหนักถึงความสําคัญของการเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง​

กำหนดการในวันเปิดตัว “Focus In Life” วันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2565 เวลา 16.30 น – 19.00 น ณ Addict Art Studio ถนนศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่​

17.30 น. เปิดลงทะเบียน​
18.00 น. กล่าวเปิดงานโดย ชำนาญ จันทร์เรือง สมาชิกแอมเนสตี้ ประเทศไทย​
18.15 น. ภาพรวมรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิต ประจำปี 2564​
โดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย​
18.30 น. ฟังบรรยายในหัวข้อ “What to Focus in the World Now”​
โดย “โทชิ คาซามะ” ช่างภาพชาวญี่ปุ่นผู้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อใช้ภาพถ่ายในการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต​
20.00 น. เปิดให้ชมนิทรรศการอย่างเป็นทางการ แลกเปลี่ยนตามอัธยาศัย​

นิทรรศการภาพถ่าย Focus In Life เปิดให้ชมระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม – 22 กรกฎาคม 2565 วันจันทร์ – วันเสาร์ เวลา 11:00 น – 19:00 น. ที่ Addict Art Studio ถนนศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่​

*เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย​

ภาพทรงจำพฤษภา’35 ในเชียงใหม่

24/05/2022

“ผมจําไม่ได้ เรื่องลําดับเหตุการณ์ แต่คิดว่า ถ้าดูจากพฤติกรรมตัวเองก็คงอยู่ในช่วงประมาณอาจจะ 15 – 20 พฤษภา หรือว่า 15 – 19 พฤษภา ปี 2535 ที่พูดอย่างนี้เพราะว่าตัวเองแบกกล้องไปไม่น่าจะเอาติดตัวไปทุกวัน อาจจะเป็น 2-3 วันที่ถ่ายเก็บไว้”​

ในโอกาสครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์พฤษภา 2535 Lanner มีโอกาสพูดคุยกับ นิวัตร สุวรรณพัฒนา อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยพายัพ และเป็นนักพัฒนาเอกชนอิสระด้านเพศและสุขภาพ ถึงการเคลื่อนไหวช่วงก่อนและหลัง พฤษภา’35 ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยนิวัตร ได้หยิบอัลบั้มภาพการชุมนุมช่วงพฤษภา ปี 2535 มาด้วยเพื่อเป็นประจักษ์พยานในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของคนเชียงใหม่ เพื่อย้ำเตือนให้รู้ว่าประวัติศาสตร์ในความเคลื่อนไหวไม่เคยหยุดนิ่ง ประชาชนยังคงต่อสู้รุ่นแล้วรุ่นเล่า พฤษภา ปี 2535 ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่บนถนนราชดำเนิน​

อ่าน 30 ปี พฤษภา’35 ในเชียงใหม่: คุยกับ นิวัตร สุวรรณพัฒนา NGOs รุ่นไล่สุจินดาที่ท่าแพ สู่การร่วมยืนหยุดทรราช ได้ที่ https://www.facebook.com/112806724745613/posts/pfbid0TxqSVSMxGrDL7jy8Q2d1jsLGg8rmdsnQnauSL5DBGGA5sstEtHoAMUpYcUcMDPzcl/?d=n​

“ภาพชุดนี้ที่รวมตัวกันที่จวนผู้ว่าฯ ตรงเชิงสะพานเนาวรัตน์ ตั้งขบวนเพื่อจะรณรงค์ ออกมาขับไล่ สุจินดากับพวก น่าจะเป็นเหตุการณ์ก่อนที่จะเกิดการปราบปรามรุนแรงวันที่ 17 พฤษภาคม

ในขบวนนี้เท่าที่จําได้ ในภาพก็จะมีคณะอาจารย์ที่ออกมาร่วมขบวน จําได้ว่ามี อาจารย์เครือมาศ วุฒิการณ์ ท่านเสียไปแล้ว เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีอาจารย์สุวิทย์ รุ่งวิสัย อาจารย์เบญจวรรณ ทองศิริ เป็นอาจารย์ฝั่งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ที่ออกมาเคลื่อนไหว”

“แล้วภาคกลางคืนก็จะเห็น มีอาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ หลายคนที่ออกมา ก็ขึ้นไฮด์ปาร์ค อาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ ถ้าผมจําไม่ผิด ผมคิดว่าระหว่างนั้น ผมได้มาคุยกับอาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล แกเพิ่งย้ายมาสอน ฉากที่ผมจํา คือคุยกันที่โรงอาหารคณะสังคม ผมจําบทสนทนาได้ไม่ถนัด แต่จําได้ว่า แกกังวลเรื่องการพาคนไปตาย เกรงว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรง เราก็จะเห็นอาจารย์ฝั่งสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ออกมาเยอะมาก แล้วก็พากันเดินขบวน

จากเชิงสะพานเนาวรัตน์มาจนถึงลานประตูท่าแพ ก็เริ่มล้อมวง แล้วก็ปักหลักเลยว่าจะตั้งเวทีประชาชน”

“ผมจําไม่ชัดเจนว่าเรียกว่าอะไร แต่คิดว่าเรียก “กําแพงข่าว” ก็คือช่วงนั้นสื่อถูกเซ็นเซอร์ ข่าวหนังสือพิมพ์คือดำหมด ทีวีก็ออกข่าวไม่ชัดเจน เราไม่ทราบสถานการณ์ต่าง ๆ วิธีการคือใช้วิธีส่งข่าวจากกรุงเทพฯ มา ส่งแฟกซ์มาที่เชียงใหม่แล้วเราก็เอามาเขียนข่าวมาอีกครั้ง ลงบนกระดาษแล้วเอามาติดบนกําแพงที่ท่าแพเลย

แล้วก็ประกาศว่าใครที่สนใจข่าวความเคลื่อนไหวสามารถมาเดินมาอ่านได้ เราเขียนข่าวกันทั้งคืน แล้วเริ่มทยอยติดตอนสามโมง ติดเสร็จคนก็ทยอยมายืนอ่าน มาติดตามข่าวสาร แล้วก็มาชุมนุมต่อ บางคนก็อยู่ยาวจนถึงค่ำเลย”

“แล้วก็จะมีคนเขียนป้ายประท้วงมาอยู่ด้วย ทีมที่เขียนผมจําได้ว่ามี กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา อยู่ด้วยกัน พี่เปิ้ล นันทา เบญจศิลารักษ์ เหมือนจําได้ว่า เหนื่อยมากแล้วออกมาซื้อโรตีกินกัน

ต่างคนต่างช่วยกันทํา ผมก็ช่วยทํา จําไม่ได้ว่าใครชวนกันมาเขียนบ้าง หาอาสามาก็ช่วยกันเขียน นั่งเขียนกันทั้งคืน อันนี้จะเป็นภาพที่เราอยากจะทําให้คนรู้ความเคลื่อนไหวผ่านป้ายด้วย”

“นี่จะเป็นภาพบรรยากาศของการเคลื่อนไหว ซึ่งมีพิธีกรรม เผาพริกเผาเกลือ ใช้หม้อไหชามที่มันแตกมา แล้วก็เอาเกลือพริกมาสาปแช่ง โดยทําพิธีโดยหญิงม่าย แล้วไล่สุจินดา เป็นการทําพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ ความเชื่อ แต่ว่าเป็นพิธีกรรมทางเหนือขับไล่ ซึ่งก็ตื่นตาตื่นใจมาก”

“มีไฮปาร์ค มีดนตรี ถ้าพูดง่าย ๆ ก็ใครอยากเล่นก็เล่นกัน ตอนนั้นจําได้ว่ามีโชว์หนึ่งน่าทึ่งมาก เค้าเรียกแกว่าอาจารย์เข้ม แกมาแสดง เค้าเรียกกระดูกสังคีต ก็คือ เอาไมค์มาก็คือเคาะ ใช้นิ้วเคาะกระดูก ตามเนื้อตัวออกมาเป็นเพลง ต้องตั้งใจฟังให้ฟัง แล้วก็เคาะ เคาะ เคาะ เคาะ ขบวนการเคลื่อนไหวช่วงนั้นรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน พอหลังทักษิณมาก็แตก กระจัดกระจาย แบ่งหลายฝักหลายฝ่าย”

“ตรงเวทีตอนนี้ปัจจุบันเป็นป้อมยาม ป้อมตํารวจ เพราะฉะนั้นจะคนทยอยมาก็จะมีภาพที่มีมอเตอร์ไซค์ ตอนนั้นไม่ต้องไปขอใช้สถานที่ ไม่มีใครมาห้าม จัดชุมนุมจัดได้เลย คนไปกันเยอะมาก เดี๋ยวนี้ไม่แจ้งการชุมนุมคือโดนหมด เพราะหลังจากนั้นถึงมีกฎหมายการชุมนุมเพื่อออกมาอ้างว่าเพื่อเอื้ออํานวยให้การชุมนุม จริง ๆ แล้วควบคุม”

เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม​
ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย​

#lanner