Home Blog Page 206

“มันมีประเด็นท้องถิ่นที่เราคิดว่าสามารถถูกทำให้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญในระดับชาติ แต่เป็นประเด็นที่ขึ้นมาจากท้องถิ่นได้ เช่น กระแสการพังทลายของประวัติศาสตร์จากส่วนกลาง หรือประวัติศาสตร์ที่ถูกส่วนกลางครอบงำ เราต้องผลักดันกันต่อให้มากและลึกซึ้งกว่านั้น

11/05/2022

ที่ผ่านมานอกกรุงเทพมันถูกจัดวางเหมือนเป็นข่าวต่างจังหวัด พอเป็นข่าวต่างจังหวัดมันก็จะรีบจบ ๆ แต่มันมีประเด็นอีกหลาย ๆ อย่างที่กำลังเกิดขึ้น เช่น การเกิดขึ้นของคนอีกรุ่นหนึ่งที่มีมูฟเมนต์การเคลื่อนไหว เราจะทำอย่างไรกันต่อ ​

ที่ผ่านมามีการพูดถึงการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในกรุงเทพเยอะ อธิบายคาแร็กเตอร์ว่าการเคลื่อนไหวของคนในภาคเหนือมันเหมือนกันหรือเปล่า อย่างในคณะราษฎรแรก ๆ เราเห็นเด็กผู้หญิงมาวิ่งแฮมทาโร่ ในขณะที่เชียงใหม่เป็นแบบนั้นหรือเปล่า ลำพูนเป็นแบบนั้นหรือเปล่า ลูกหลานชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่หรือเปล่า เขาอาจจะเป็นลูกหลานชาวบ้านก็ได้แต่ว่าเขาเผชิญปัญหาความยุ่งยากมาก ทำให้เขาต้องลุกขึ้นมาใช่หรือเปล่า พวกนี้มันยังไม่ถูกพูดถึง ถ้าเราพูดถึงเราจะเห็นสังคมที่มันกว้างขึ้นและลึกขึ้น”​

— สมชาย ปรีชาศิลปกุล​
ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่​

ความเห็นจากการพูดคุยระหว่างกองบรรณาธิการ Lanner กับนักคิด นักวิชาการและศิลปินภาคเหนือ เมื่อเดือนเมษายน 2565 ​

ภาพ: วรรณา แต้มทอง​

#lanner

วิจิตรศิลป์ส่งจดหมายสอบสวน เท็น ยศสุนทร ปมรณรงค์ ‘ปริญญาศักดินา’ ริมถนน​

11/05/2022

วันนี้ 11 พฤษภาคม เท็น-ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้โพสต์เฟสบุ๊คระบุว่าตนได้รับจดหมายจากหน่วยพัฒนาคุณภาพนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ ให้ดำเนินการตามวินัยและสอบสวนกรณีรณรงค์ ‘ปริญญาศักดินา’ โดยในโพสต์ระบุว่าเป็นการชูป้ายรณรงค์ริมถนนซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ​

โดยในจดหมายอ้างว่า ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ “ได้มีพฤติกรรมแสดงการก่อกวนในพื้นที่จัดงานพระราชทานปริญญาบัตร” เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 เข้าข่ายกระทำผิดวินัยนักศึกษา เป็นเหตุให้ต้องดำเนินการสอบวินัยนักศึกษายศสุนทรในวันที่ 12 พ.ค. ที่จะถึงนี้ เวลา 14.30 น. ณ ห้องประชุม FA2 ชั้น 3 อาคารสำนักงานคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่​

โดยยศสุนทรได้แสดงความคิดเห็นว่านี่เป็นการแสดงความคิดเห็นผ่านการชูป้าย ตั้งคำถามเกี่ยวกับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่เป็นวัฒนธรรมการศึกษาในระบบอุดมศึกษา ที่เป็นการผลิตซ้ำในเชิงอำนาจที่ผลิตซ้ำจากเชื้อพระวงศ์สู่บัณฑิตที่เชื่อมโยงกันในทางวัฒนธรรม​

“การชูป้ายของผมนั้นไม่สามารถทำให้พิธีกรรมเหล่านั้นหายไปได้อยู่แล้ว ซึ่งการแปะป้ายว่าผมนั้นเป็นผู้ก่อกวนในพิธีเหล่านั้นคงจะเป็นการด่วนสรุปเกินไป และการอ้างถึงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนั้น มีชอบธรรมหรือไม่ และการปฏิบัติต่อนักศึกษาเช่นนั้น สมควรแล้วหรือไม่กับแค่การแสดงความเห็นในที่สาธารณะ ทำไมมันถึงผิดและผิดอย่างไร”​

ทั้งนี้ยศสุนทรได้แสดงความคิดเห็นเรียกร้องให้การสอบสวนนี้ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ มีตัวแทนนักศึกษา ประชาชน อาจารย์ ร่วมเป็นสักขีพยาน ไม่ใช่กระบวนการสอบสวนในที่ลับตาตามเนื้อหาในจดหมาย เพื่อให้สังคมได้ตั้งคำถาม เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจในสังคม เป็นเรื่องสาธารณะ และชวนตั้งคำถามกับการดำเนินการสอบสวนวินัยครั้งนี้​

“ผมคิดว่ากรณีนี้นั้นสามารถตีมองได้หลายมิติมากกว่าที่มหาวิทยาลัยซึ่งก็เป็นกลุ่มอำนาจหนึ่งที่ยึดโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงอยากให้โอกาสนี้เป็นการเปิดพื้นที่เกี่ยวกับการพูดคุยถกเถียงแลกเปลี่ยนในทุกฝ่ายที่ไม่ได้มีแค่คนจากฝ่ายอำนาจนั้น”​

โดยในวันที่ 12 พฤษภาคม ที่จะมีการสอบวินัยของยศสุนทร ทางกลุ่ม Dude, Movie ได้มีการเชิญชวนในเฟสบุ๊คว่าทางกลุ่มจะทำการฉายเรื่อง Ai wei wei: Yours Truly (2019) ไปพร้อมๆ กันกับการสอบสวน และชวนให้ผู้ที่สนใจมาร่วมจับตาการสอบสวนไปด้วยกัน โดยสามารถมาร่วมได้ตั้งแต่ 14.00 น. เป็นต้นไปและยังสามารถร่วมกันฉายหนัง วิดีโอ ผลงานตัวเองที่อยากนำเสนอได้อีกด้วย โดยส่งไปที่ inbox ของเพจ Dude, movie​

รายละเอียดที่ https://www.facebook.com/…/a.3340184278…/660424415195793
#lanner

“ในทุกพื้นที่ควรจะมีสื่อเป็นของตัวเอง เพราะว่ามุมมองจะได้เป็นมุมมองของคนในพื้นที่เอง ปัญหาทุกอย่างจะได้ถูกสะท้อนออกมาจากมุมมองของตัวเอง คือพูดง่าย ๆ ว่าทุกพื้นที่ในโลก อำนาจในการกำหนดชีวิต กำหนดชะตากรรม การปกครอง มันควรจะออกมาจากพื้นที่นั้น ​

10/05/2022

คนทุกคนควรจะมีอำนาจในระดับหนึ่ง มีสิทธิในการปกครองตนเองระดับหนึ่ง แต่ว่าอำนาจทั้งหมดถ้ามันไปอยู่กับส่วนกลางหมด มันเท่ากับว่าสิทธิในการเป็นมนุษย์ของเรามันถูกลิดรอนไปตั้งแต่แรก และสื่อก็มีความสำคัญในจุดนี้มาก ในแง่หนึ่งนอกจากสะท้อนก็เป็นการปั้นแต่งมุมมองต่อตัวเราเองและต่อโลกด้วย”​

— ภัควดี วีระภาสพงษ์ ​
นักแปล​

ความเห็นจากการพูดคุยระหว่างกองบรรณาธิการ Lanner กับนักคิด นักวิชาการและศิลปินภาคเหนือ เมื่อเดือนเมษายน 2565 ​

ภาพ: วรรณา แต้มทอง​

#lanner

เปิดข้อโต้แย้งสารคดี ‘ประวัติศาสตร์นอกตำรา’: เมื่อ “สามกษัตริย์ไม่ได้ร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่”​

10/05/2022

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 ช่องยูทูป “ประวัติศาสตร์นอกตำรา” ได้เผยแพร่เนื้อหาสารคดี ในหัวข้อ “‘ส่องหลักฐาน’ 3 กษัตริย์ ไม่ได้ร่วมกันสร้างเชียงใหม่” โดยมีสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ เป็นผู้ดำเนินรายการและนำเสนอการศึกษาถึงประเด็นความเชื่อเรื่อง 3 กษัตริย์ ได้แก่ พญามังราย พญางำเมือง และพระร่วง มาร่วมกันสร้างเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1839 จนนำไปสู่การสร้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ขึ้นในปี พ.ศ. 2527 ว่าความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น Lanner เห็นว่าเนื้อหาสารคดีดังกล่าวมีความน่าสนใจ จึงสรุปเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอ​

สมฤทธิ์ ลือชัย เริ่มต้นโดยการตั้งข้อสังเกตว่า แม้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบ้านเมืองและระหว่างรัฐจะเป็นเรื่องปกติ แต่ความสัมพันธ์ที่นำมาสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า “มาสร้างบ้านสร้างเมืองเชียงใหม่” ดูจะเป็นเหตุการณ์ที่แปลกเป็นพิเศษ และไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ดินแดนแถบนี้ คือพญางำเมืองเดินทางมาจากพะเยา พระร่วงต้องเดินทางมาจากสุโขทัย เพียงเพื่อมาร่วมสร้างเมือง จึงอยากจะชวนตรวจสอบเหตุการณ์เรื่องราวของ “สามกษัตริย์” ว่ามีหลักฐานอะไรมายืนยันข้อเท็จจริง หรือถ้าไม่จริง แล้วมีหลักฐานอะไรยืนยัน จากนั้น รายการพยายามพิสูจน์หลักฐานใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ เอกสาร, ศิลาจารึก และหลักฐานแวดล้อมอื่น ๆ ​

📍 ไม่มีเอกสารประวัติศาสตร์ใดชี้ชัดว่าสามกษัตริย์ร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่​

สมฤทธิ์ได้เริ่มต้นในประเด็นเอกสารหลักฐานต่างๆ โดยกล่าวถึงเอกสารเก่าแก่ที่ชื่อว่า “มูลศาสนา” เขียนโดยท่านพุทธภูกามและพุทธญาณ พระสงฆ์รูปนี้เป็นพระของวัดสวนดอก ในหนังสือเล่มนี้ได้เขียนว่า ​

“วันหนึ่งพระยามังรายไปแอ่วที่ตีนดอยอุจฉุบรรพตคือว่าดอยละวะโพ้น พระยาเห็นดอยอันหนึ่งใหญ่กว้างงามนัก จักใคร่ตั้งเมือง…จึงให้แต่งเวียงวัดเอาทางยาวนั้น 1000 วา ทางกว้าง 900 วา แล้วจึงตั้งเรือนหลวง 20 ห้อง เสร็จบริบูรณ์ทุกอัน จึงให้นักปราชญ์ทั้งหลายพิจารณาดูเลิกวันยามอันเป็นมงคลแล้ว ก็ให้จัดพิธีขึ้นสู่เรือนหลวงในวันนั้น เมืองอันใหม่นี้จึงได้ชื่อว่าเชียงใหม่เพื่อเหตุนั้นแล..”​

หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเรื่องของพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่กล่าวถึงพญางำเมือง พระร่วง มาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ พูดง่ายๆ ไม่มีเรื่องของ “สามกษัตริย์สร้างเมืองเชียงใหม่” ​

สมฤทธิ์กล่าวถึงวัดสวนดอกว่า เป็นวัดที่พระเจ้ากือนาสร้างให้แก่ พระสุมนเถระ พระสงฆ์รูปนี้คือพระสงฆ์ที่มาจากสุโขทัย นำพุทธศาสนารามัญวงศ์จากสุโขทัย มาเผยแพร่ในล้านนาในเชียงใหม่ ตั้งแต่นั้นมาอิทธิพลของสุโขทัยก็มาแพร่หลายอยู่ในเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศิลปกรรม ศาสนา ตัวอักษร โดยเฉพาะตัวอักษรล้านนาที่เรียกว่าฟักขามก็ได้รับอิทธิพลมาจากอักษรสุโขทัย พูดง่ายๆ วัดสวนดอกมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสุโขทัย ใกล้ชิดกับพระร่วง ราชวงศ์พระร่วง แต่หนังสือมูลศาสนาซึ่งเขียนโดยพระภิกษุที่อยู่วัดนี้กลับไม่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างพญามังรายกับพระร่วง ว่ามาสร้างเมืองเชียงใหม่ด้วยกันเลย ​

และมีหนังสืออีกสองเล่มคือตำนานเชียงแสนกับตำนานเชียงรายเชียงแสน ซึ่งสองเล่มนี้ก็กล่าวถึงเรื่องของการสร้างเมืองเชียงใหม่ แต่ว่าไม่ได้กล่าวถึงสามกษัตริย์มาร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่เลย หนังสือทั้งสามเล่มนี้ระบุเพียงแต่เรื่องที่พญามังรายเท่านั้นที่สร้างเมืองเชียงใหม่ ​

เมื่อตรวจสอบแล้วเรื่องของความสัมพันธ์ของสามกษัตริย์ ไปปรากฏในเอกสารที่มีความสำคัญมากๆ ทางประวัติศาสตร์ล้านนาชื่อว่า “หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์” เขียนโดยพระรตนปัญญาเถระ วัดป่าแดงหลวง ซึ่งตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ หนังสือเขียนเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2071 ห่างจากเหตุการณ์พญามังรายสร้างเชียงใหม่ 232 ปีหนังสือเล่มนี้เขียนว่า​

“จากนั้นมาถึงปีกุน จุลศักราช 649 (พ.ศ. 1830) กษัตริย์สามพระองค์ก็คือ พระเจ้ามังราย หนึ่ง พระเจ้างำเมือง หนึ่งพระเจ้าโรจ หนึ่ง (หมายถึง พระร่วง) เป็นพระสหายกัน นัดประชุมกันในสถานที่นัดแนะการชนะ (ประตูชัย) ผูกมิตรภาพซึ่งกันและกันแน่นแฟ้น แล้วต่างก็เสด็จกลับเมืองของตนๆ ตำนานเดิมปรากฏดังนี้ จากนั้นพระองค์ทรงสร้างนครเชียงใหม่ในท้องที่ระหว่างภูเขาอุจฉุคิรี (ดอยสุเทพ) กับแม่น้ำพิงค์ เมื่อปีวอก จุลศักราช 685” ​

หมายความว่าหนังสือเล่มนี้พูดถึงพญามังราย พญางำเมือง พระร่วง ได้มาพบมาประชุมกัน แล้วก็ผูกมิตรกันจากนั้นก็กลับบ้านกลับเมืองไป ชินกาลมาลีปกรณ์ไม่ได้พูดถึงเรื่องของสามกษัตริย์มาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ แต่น่าสนใจที่พูดถึงเรื่องสามกษัตริย์มีความสัมพันธ์กันอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่มีเหตุมีผล เล่าเรื่องพญามังรายสร้างเมืองเชียงรายเสร็จ เข้าไปตีเมืองต่างๆ หลังจากนั้นก็แทรกข้อความนี้เข้ามาว่าสามกษัตริย์มาเจอกัน แล้วก็เป็นมิตรกัน แล้วก็แยกไปบ้านใครบ้านมัน ​

ข้อความให้น่าสงสัยเพราะพระรัตนปัญญาเถระเขียนไว้ชัดเจนตอนลงท้ายว่า “ตำนานเดิมว่าดังนี้” ก็หมายความว่าพระรัตนปัญญาเถระต้องไปเอาตำนานเดิมแทรกเข้ามา ซึ่งอันนี้น่าสงสัยว่าตำนานเดิมที่ทิ้งท้ายไว้คือเรื่องเล่าที่เชื่อกันไปตอนนั้น หรือมีตำนานเป็นเอกสารยืนยันจริงๆ ​

สมฤทธิ์ยังตั้งข้อสังเกตว่าตำนานนี้ ไปสอดคล้องกับเรื่องของสามบุคคลสำคัญใน “สามก๊ก” ก็คือเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย สาบานกันที่สวนดอกท้อ มันเป็นอิทธิพลสามก๊กหรือไม่ โดยล้านนาได้รับอิทธิพลจีนมากมาย ปีนักษัตรล้านนานก็ได้อิทธิพลจากจีน เพราะฉะนั้นก็ไม่แปลกที่อิทธิพลของสามก๊กจะเข้ามา ในเรื่องความผูกพันของสามคน แล้วก็กลายมาเป็นความผูกพันของสามกษัตริย์ที่ปรากฏในพงศาวดารของล้านนา​

ที่สำคัญคือชินกาลมาลีปกรณ์ เขียนหลังจากที่พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ 232 ปี ไม่ได้พูดว่าสามกษัตริย์มาร่วมสร้างเชียงใหม่ พูดแต่ว่าวันหนึ่งตีเมืองอะไรก็ไม่รู้ได้ แล้วมาเป็นมิตรกัน ก่อนแยกกันไป เอกสารในล้านนาทั้งหมดที่ยกมานี้ ก็ไม่ได้พูดว่าสามกษัตริย์มาสร้างเชียงใหม่ ​

สมฤทธิ์ชี้ว่า หนังสือ “ชินกาลมาลีปกรณ์” เขียนด้วยภาษาบาลี แต่ต้นฉบับดั้งเดิมนั้นต้องเป็นอักษรล้านนา เท่าที่ค้นเจอในปัจจุบัน ยังไม่เจอฉบับที่เป็นอักษรล้านนา แต่เท่าที่ค้นเจอมีอักษรขอมอยู่ 10 ฉบับ อักษรมอญ 1 ฉบับ เชื่อกันว่าอักษรมอญนั้นน่าจะเขียนในสมัยธนบุรี ​

ข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจก็คือ ฉบับที่เขียนด้วยอักษรขอมน่าจะเป็นฉบับที่มีการคัดลอกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หรืออย่างช้าที่สุดคือต้นรัตนโกสินทร์ เพราะในสมัยนั้นเอกสารหรือคัมภีร์ทางศาสนามักจะเขียนด้วยอักษรขอม พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 1 จึงมีรับสั่งให้แปรชินกาลมาลีปกรณ์ อักษรขอมมาเป็นภาษาไทย ​

สมฤทธิ์ระบุว่า หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์นี้ กล่าวถึงเรื่องประวัติพุทธศาสนา มาตั้งแต่สมัยพุทธกาลเรื่อยมาจนถึงล้านนา โดยได้แทรกเรื่องของประวัติศาสตร์บ้านเมืองในแถบนี้ เป็นหนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของวันเวลาที่บันทึกไว้นั้นค่อนข้างจะน่าเชื่อถือ และหนังสือเล่มนี้ก็ชี้เพียงว่าสามกษัตริย์มาเจอกันผูกมิตรกัน แต่ไม่ได้พูดว่ามาร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่แต่อย่างใด​

สมฤทธิ์ยังกล่าวถึงอีกประเด็นข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ไหมที่ข้อความที่ระบุเรื่องสามกษัตริย์มารู้จักกัน โผล่มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เพราะเป็นข้อความที่ถูกใส่เข้ามาในสมัยอยุธยา หรืออย่างช้าที่สุดคือต้นรัตนโกสินทร์ ในตอนที่มีการแปลงจากตัวอักษรล้านนาเป็นอักษรขอม เรื่องนี้ก็ต้องพิสูจน์จนกว่าเราจะเจอหลักฐานที่เป็นอักษรล้านนาจริงๆ ว่ามีการกล่าวถึงไหม ​

ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ของสามกษัตริย์ นักวิชาการทางประวัติศาสตร์อย่างสุจิตต์ วงษ์เทศ ชี้ว่าเป็นเรื่องของการขยายอำนาจของชุมชนที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน คือตระกูลภาษาไตไท การที่ขยายเขตอิทธิพลวัฒนธรรมตระกูลภาษานี้ ก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการค้าของภูมิภาคนี้ในตอนนั้น ​

สมฤทธิ์อ้างถึงความเห็นของสุจิตต์ ที่ได้ระบุว่า “เป็นวรรณกรรมคำบอกเล่าเกี่ยวกับการขยายอำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไตไทไปตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีป โดยผูกเรื่องมีนิยายให้สามกษัตริย์นัดพบกันด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง” เรื่องของสามกษัตริย์มาพบกันนั้นจึงมีลักษณะเป็นนิยาย เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาเพื่อที่จะอธิบายปรากฏการณ์ของความสัมพันธ์วัฒนธรรมตระกูลภาษาไตไทเท่านั้นเอง ​

📍 ตำนานสามกษัตริย์ดูเหมือนเพิ่งปรากฏในเอกสารที่เขียนช่วงต้นรัตนโกสินทร์​

เรื่องของสามกษัตริย์มาร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่อยู่ในเอกสารไหน เรื่องราวรายละเอียดที่ว่ามาปรากฏอยู่ในเอกสารชื่อว่า “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ในหนังสือเล่มนี้ได้บอกว่า “พญาพ้อยรำเพิงว่า กูจักสร้างบ้านแปงเมืองอันใหญ่แท้ ควรกูไปเชิญเอาพญางำเมือง พญาร่วงอันเป็นสหายกูมาควรชะแลว่าอั้น แล้วก็ใช้ไปเชิญเอาสหายตนคือพญางำเมือง พญาร่วงมาหั้นแล…” ​

หนังสืออีกเล่มหนึ่ง ที่ชื่อว่า “ตำนานสิบห้าราชวงศ์” คำว่าสิบห้าราชวงศ์แปลว่าสิบห้ารัชกาล ก็คือราชวงศ์มังรายที่ปกครองล้านนา ในหนังสือเล่มนี้ได้เขียนว่า “พญาพ้อยรำเพิงว่า กูจักสร้างบ้านแปงเมืองอันใหญ่แท้ ควรกูใช้ไปเชิญเอาพระยางำเมือง พระยาร่วงอันเป็นสหายกูมาควรชะแล วว่าอั้นแล้ว ก็ใช้ไปเชิญเอาสหายตนคือพระยางำเมือง พระยาร่วงมาหั้นแล…” ​

เห็นได้ว่าทั้งสองตำนานมีข้อความคล้ายคลึง หรือจะเรียกว่าเหมือนกันทุกคำ ทั้ง 2 ฉบับจึงคงจะคัดลอกมาจากต้นฉบับเดียวกัน และถ้าไปตรวจสอบถึงอายุเอกสาร ซึ่งก็มีอีกหลายฉบับที่ใช้คำว่า “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” มีอยู่ฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า ฉบับวัดพระงามของจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อตรวจสอบได้ระบุว่าเขียนเมื่อศักราช 1216 ซึ่งก็ตรงกับ พ.ศ. 2397 คือสมัยรัชกาลที่ 4 จะเป็นฉบับที่เก่าแก่ที่สุด และเชื่อกันว่าตำนานสองฉบับ คงจะคัดลอกมาจากฉบับนี้ ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น ​

เอกสารเหล่านี้ได้ให้รายละเอียดที่ไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้ คือบอกว่าสามกษัตริย์ร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่ น่าแปลกใจว่าเอกสารเก่าไปถึงชินกาลมาลีปกรณ์ และตำนานมูลศาสนา ไม่พูดถึงเรื่องสามกษัตริย์มาสร้างเชียงใหม่ แต่พอมาถึงสมัยเอกสารที่คัดลอกล่าสุดช่วงรัตนโกสินทร์นี้ ให้รายละเอียดเลยว่ากษัตริย์ทั้งสามมารวมกันสร้างเมืองเชียงใหม่ ทำไมข้อมูลมันถึงได้เพิ่มขึ้น มากขึ้น และจนกระทั่งละเอียดขึ้นในช่วงต้นรัตนโกสินทร์​

📍 จารึกวัดเชียงมั่น: ยังไม่ชัดเจนว่าข้อความในจารึกจริงหรือไม่ หลายจารึกก็ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริง​

หลักฐานหนึ่งที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์ของสามกษัตริย์ คือจารึกวัดเชียงมั่น จารึกหลักนี้ได้ระบุว่าเขียนในศักราช 943 หรือ พ.ศ. 2124 ในรัชสมัยของกษัตริย์พม่าที่ชื่อว่าสาวัตถีนรถามังช่อ โอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งในเวลานั้นเชียงใหม่ตกเป็นของพม่า แล้วก็มีการบูรณะวัดเชียงมั่น ในการบูรณะคราวนั้นถึงได้มีการสร้างจารึกเพื่อเป็นที่ระลึก​

ข้อความในจารึกได้กล่าวย้อนไปถึงอดีตของวัดเชียงมั่นว่า “ศักราช 658 (พ.ศ. 1839) ปีระวานสัน เดือนวิสาขะ… พญามังรายเจ้าแลพญางำเมือง พญาร่วง ทั้งสามตนตั้งห้อนอนในที่ชัยภูมิราชมณเฑียร ขุดคือ ก่อตรีบูรทั้งสี่ด้าน…”​

ข้อความที่กล่าวในจารึกยืนยันว่า ในวันสร้างเมืองเชียงใหม่มีสามกษัตริย์มาร่วมสร้าง แต่ว่าจารึกหลักนี้ได้เขียนชัดเจนว่า ทำขึ้นห่างจากเหตุการณ์ที่พญามังรายสร้างเชียงใหม่ 285 ปี ในเรื่องของจารึกนี้อาจจะมีทั้งข้อความที่จริงหรือไม่จริงก็ได้ จะต้องมีการตรวจสอบกับหลักฐานอื่นอีก ​

สมฤทธิ์ยังพิจารณาไปถึงตัวอย่างของอีกสองจารึก ได้แก่ จารึกวัดเชียงสา ที่เขียนโดยพระไชยเชษฐาธิราช ก่อนหน้านั้นเคยมาปกครองล้านนาแล้วก็ไปปกครองที่ล้านช้าง จารึกหลักนี้ได้เขียนชัดเจนว่าเขียนปี พ.ศ. 2096 เป็นการบูรณะเป็นการสร้างวัดเชียงสาซึ่งอยู่แถวเมืองเชียงของ จารึกหลักนี้ได้ระบุว่า “สมเด็จบรมบพิตรตนสถิตเสวยราชพิภพ ทั้งสองแผ่นดินล้านช้างล้านนา“​

จารึกวัดเชียงสาได้บอกว่าสมเด็จพระไชยเชษฐาเป็นกษัตริย์สองแผ่นดิน ล้านช้าง-ล้านนา แต่ประวัติศาสตร์ล้านนาระบุไว้ชัดเจนปี พ.ศ. 2096 เชียงใหม่อยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ที่ชื่อพระเมกุฎ เป็นทายาทของพญามังราย สายเมืองนาย หมายความว่าปีนั้น พระไชยเชษฐาเป็นกษัตริย์ล้านช้างจริง แต่ไม่ได้เป็นกษัตริย์ล้านนา นี่คือหลักฐานหนึ่งที่จารึกนั้นอาจระบุข้อความที่จะเชื่อว่าจริงหรือไม่จริง ยังต้องมีการตรวจสอบ ​

อีกจารึกหนึ่ง คือจารึกเขาสุมนกูฏของพญาลิไทที่สุโขทัย สร้างขึ้นเมื่อตอนที่พญาลิไทได้สร้างรอยพระพุทธบาทสี่รอย แล้วก็รอยหนึ่เอาไปประดิษฐานบนเขาที่เมืองสุโขทัย และเขาลูกนี้ก็ตั้งชื่อว่าเขาสุมนกูฏตามชื่อเขาสุมนกูฏในลังกา ข้อความในจารึกก็เขียนไว้ว่า “เขาอันนี้ชื่อสุมนกูฎบรรพต…เรียกชื่อดังอั้น เพื่อไปพิมพ์เอารอยตีนพระพุทธเจ้า อันเหยียบเหนือจอมเขาสุมนกูฎบรรพต… ในลังกาทวีปพู้น มาประดิษฐานไว้ เหนือจอมเขาอันนี้แล้ว…” ​

ข้อความในจารึกก็หมายความว่าพญาลิไทให้คนไปจำลองรอยพุทธบาทเขาสุมนกูฏที่ลังกา แล้วเอามาสร้าง ประดิษฐานที่สุโขทัย แต่ปรากฏว่ารอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดพังทอง เป็นรอยพระพุทธบาทที่ประดับด้วยมงคลร้อยแปดมีลวดลายประดับมากมาย ดังนั้นข้อความที่เขียนนจารึกก็ไม่เป็นจริง เพราะรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏในลังกา เป็นรอยพระพุทธบาทเปล่าไม่มีลวดลาย ไม่มีมงคลร้อยแปดประดับ เป็นแค่ร่องหินธรรมดา ในขณะที่รอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏสุโขทัยเต็มไปด้วยลวดลาย เต็มไปด้วยมงคลร้อยแปด ​

ในศิลาจารึกวัดเชียงมั่น แม้จะมีข้อความว่าสามกษัตริย์เคยมานอนที่นี่ หลายคนยืนยันว่านี่เป็นหลักฐานถึงการมาของสามกษัตริย์ แต่ศิลาจารึกเป็นแค่ข้อความ เป็นการสื่อสารหนึ่ง ซึ่งจะถูกจะผิดก็เกิดขึ้นได้ และที่น่าสนใจเรื่องของสามกษัตริย์ตอนนั้นคงจะแพร่หลายกันทั่ว เพราะก่อนหน้านั้นพระรัตนปัญญาเถระได้เขียนชินกาลมาลีปกรณ์ ก่อนหน้าที่จะมีการทำจารึกหลักนี้ 53 ปี ข้อความคล้ายกัน แต่มีการขยายข้อความมากขึ้น​

📍 ไม่มีหลักฐานแวดล้อม ที่บอกว่าสุโขทัยสร้างอิทธิพลต่อล้านนาในสมัยพญามังราย​

สมฤทธิ์พาผู้ชมไปต่อถึงประเด็นหลักฐานแวดล้อม ซึ่งจะมายืนยันเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในจารึกว่าเป็นจริงหรือไม่ คือเรื่องของศิลปกรรม ภาษา ศาสนา อาจะช่วยศึกษาว่าในสมัยของพญามังรายมีอิทธิพลของสุโขทัยเข้ามาจริงไหม​

ประเด็นแรก ความสัมพันธ์ของพญามังรายกับพระร่วง ถ้าเป็นจริง น่าสนใจว่าเหตุใดหลักฐานของสุโขทัยไม่เคยปรากฏ ไม่เคยบันทึกเรื่องราวความสัมพันธ์นี้ไว้เลย ถ้าพระร่วงต้องเดินทางมาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่กับพญามังราย ทำไมศิลาจารึก เอกสาร หรือหลักฐานอื่นๆ ในสุโขทัยไม่เคยบันทึกเรื่องนี้มาก่อน ​

ประเด็นที่สอง ถ้าความสัมพันธ์ของพระร่วงกับพญามังรายเป็นจริง จารึกหลักที่หนึ่ง ถ้าเราเชื่อว่าเขียนขึ้นโดยพ่อขุนรามคำแหง และเชื่อว่าพระร่วงที่ปรากฏในหลักฐานที่เชื่อกันว่ามาสร้างเมืองเชียงใหม่ร่วมกับพญามังรายคือคนเดียวกัน จารึกหลักที่หนึ่งควรจะมีหลักฐานอะไรยืนยันหรือกล่าวถึงเรื่องราวการมาสร้างเมืองเชียงใหม่ หรือแม้แต่เอ่ยถึงเมืองเชียงใหม่บ้าง ​

แต่ปรากฏว่าศิลาจารึกหลักที่หนึ่งไม่มีกล่าวถึงเมืองเชียงใหม่ โดยในตอนหนึ่งได้เล่าถึงบ้านเมืองทั้งสี่ทิศของสุโขทัย โดยเฉพาะมากล่าวถึงทิศตีนนอนหรือทิศเหนือ จารึกกล่าวว่า “ทิศตีนนอน รอดเมืองแพร่ เมืองม่าน เมืองน… เมืองพลัว พ้นฝั่งของ เมืองชวาเป็นที่แล้ว” ก็คือพูดถึงเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองปัว เมืองชวาก็คือเมืองเชียงทอง เมืองหลวงพระบาง ไม่พูดถึงเมืองเชียงใหม่ ​

ถ้าความสัมพันธ์ขนาดพระร่วงหรือพ่อขุนรามคำแหง เป็นมิตรกับพญามังรายขนาดต้องเสด็จมาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ ชื่อเมืองเชียงใหม่ยังไม่ปรากฏอยู่ในหลักฐานศิลาจารึกหลักนี้ ต่อให้หลังรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงก็ไม่ปรากฏชื่อเชียงใหม่ มีปรากฏชื่อพะเยา หรือลำพูน อย่างเช่นจารึกหลักที่สองของวัดศรีชุม ก็ไม่พูดถึงเมืองเชียงใหม่ รวมไปถึงจารึกของพญาลิไทซึ่งมีหลายหลักก็ไม่ได้กล่าวถึง ​

ยังมีเอกสารฉบับหนึ่งที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุโขทัยกับเชียงใหม่ ก็คือ “พงศาวดารเหนือ” ตอนที่เล่าตำนานพระร่วงเมืองศรีสัชนาลัย ว่าเป็นลูกของนางนาค พ่อนั้นเป็นกษัตริย์จากหริภุญชัย พระร่วงมีน้องชื่อพระลือซึ่งได้มาเป็นลูกเขยของเมืองเชียงใหม่ อันนี้จะเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับสุโขทัยที่กล่าวถึงเมืองเชียงใหม่ แต่อย่าลืมว่าพงศาวดารได้มีการชำระในสมัยรัชกาลที่ 1 เรื่องพระร่วงพระลือก็อาจจะเล่าลือกันมาในที่สุด ก็ผูกเรื่องให้กล่าวถึงเมืองเชียงใหม่ จึงยังเป็นเอกสารที่ไม่มีน้ำหนักพอ ​

ที่สำคัญพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทยในปี พ.ศ. 1826 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนพญามังรายสร้างเชียงใหม่ 13 ปี ถ้าพญามังรายกับพระร่วงเป็นสหายกัน เป็นกัลยาณมิตรที่แนบแน่นกันขนาดนี้ อักษรสุโขทัยก็ควรจะมาถึงเชียงใหม่ล้านนา แต่ปรากฏว่ากว่าอิทธิพลตัวอักษรสุโขทัยจะมาสู่ล้านนาก็เมื่อหลังจากปี พ.ศ. 1914 เมื่อพระสมุนเถระเอาพุทธศาสนารามัญวงศ์จากสุโขทัยมาล้านนา ​

ฉะนั้นที่บอกถึงความสัมพันธ์ตามที่เชื่อกันว่าพญามังรายกับพระร่วงเป็นมิตรกัน ไม่ปรากฏมีหลักฐานอื่นรองรับโดยเฉพาะเรื่องตัวอักษรก็ไม่รองรับ อักษรล้านนาเมื่อพญามังรายตีหริภุญชัยที่เป็นมอญได้ ล้านนาประดิษฐ์อักษรตัวเองโดยอาศัยตัวอักษรมอญ ถ้าคิดว่าพระร่วงกับพญามังรายเป็นมิตรกัน จะประดิษฐ์ทำไม ก็ไปเอาอักษรสุโขทัยมาใช้ไม่ดีกว่าหรือ เพราะตระกูลภาษาเดียวกันมันง่ายกว่า เป็นหลักฐานยืนยันว่าความสัมพันธ์นี้ไม่เป็นจริง ​

สุดท้ายเรามาดูในแง่ของศิลปกรรม ในเรื่องวัฒนธรรมต่างๆ ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าในสมัยของพญามังรายมีอิทธิพลของสุโขทัยมาถึงล้านนา มาถึงเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ศิลปกรรม ตัวอักษร ศาสนา ล้วนมาในสมัยพญากือนา คือหลังจากพระสุมนเถระนำสิ่งเหล่านี้จากสุโขทัยขึ้นมา หลังจากปี พ.ศ. 1914 ไม่ใช่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1839 ปีที่สร้างเชียงใหม่ ​

📍 ผังเมืองเชียงใหม่ไม่จำเป็นต้องมาจากสุโขทัย และพญามังรายกับพญางำเมืองก็อาจไม่ได้เป็นมิตรกัน ​

อีกประเด็นหนึ่ง คือฝ่ายที่สนับสนุนว่าสามกษัตริย์ร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่ จะยกเรื่องของผังเมืองเชียงใหม่มายืนยัน ผังเมืองเชียงใหม่เป็นลักษณะของสี่เหลี่ยมคล้ายกับผังเมืองสุโขทัย ฝ่ายสนับสนุนก็บอกว่าเป็นอิทธิพลของสุโขทัย อิทธิพลของพระร่วง ทำให้พญามังรายสร้างเมืองมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม แต่ประเด็นก็คือผังเมืองเชียงใหม่ที่เป็นสี่เหลี่ยม 1. สร้างมาตั้งแต่สมัยพญามังรายจริงหรือ 2. ผังเมืองอย่างนี้เป็นอิทธิพลของสุโขทัยจริงหรือ ​

ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ขยายกว้างขึ้นไป จะเห็นว่าเมืองพระนครของอาณาจักรขอม ก็มีลักษณะสี่เหลี่ยม เมืองพุกามอาณาจักรของพม่าก็มีลักษณะสี่เหลี่ยม เมืองจีนก็มีลักษณะสี่เหลี่ยม ฉะนั้นจะไปอ้างว่าเป็นเรื่องของสุโขทัยอย่างเดียวได้หรือ ที่สำคัญ เอกสารที่อ้างกันว่าสามกษัตริย์มาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ แล้วเอาเรื่องผังเมืองมาสนับสนุน มันขัดแย้งกัน เพราะในเอกสารนั้นบอกว่าการสร้างเมืองเชียงใหม่ สามกษัตริย์มาแนะนำเรื่องของขนาดเมือง พญามังรายอยากสร้างใหญ่ แต่พญางำเมืองกับพระร่วงเสนอให้สร้างเล็กลงมา เอกสารไม่ได้พูดถึงผังเมืองเลย​

ในเรื่องความสัมพันธ์ของพญามังรายกับพญางำเมือง ตำนานพื้นเมืองพะเยาได้กล่าวว่า “…ส่วนว่าเมืองพยาวก็ได้เป็นมิตรไมตรี กับด้วยเมืองเงินยางคือว่าเมืองเชียงแสน แต่เช่นขุนชื่นมาแลขุนจอมธัมม์สืบสายกันมา มาต่อเท้ารอดมังรายกับงำเมือง ย่อมเป็นมิตรไมตรีกันบ่ขาดแล…” เอกสารบอกว่าพญามังรายกับงำเมืองเป็นมิตรต่อกัน ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องของมิตรสัมพันธ์ที่สืบกันมาตั้งแต่บรรพชน ​

ในแง่ของตำนานพื้นเมืองเชียงแสนกลับกล่าวว่า พญามังรายนั้นเมื่อได้ครองเมืองแทนพ่อแล้ว พญามังรายก็เริ่มแผ่ขยายอิทธิพลด้วยการไปตีเมืองต่างๆ ส่วนหนึ่งก็คือไปตี “…เมืองเธริง ลอ เมืองพราน เมืองน่าน เมืองหลวง(พระบาง) สิ่งเดียวแล…” ยังกล่าวอีกว่า “…แม้ว่าพระญางามเมือง (งำเมือง) ผู้กินเมืองพระยาว พระญาสองตนนี้ ก็เป็นสหายกันแต่เช่นปู่มาแล ต่อเท้ามารอดพระญามังรายนี้ก็เป็นสหายกันแล แม้นว่าพระญางามเมือง คือพระยาว ก็มาพร้อมกับด้วยพระญามังรายแล…” ข้อความนี้หมายความว่าเมืองที่พญามังรายไปตีมาขึ้นตรงต่อเมืองเชียงราย ขึ้นตรงต่อพญามังราย รวมถึงพญางำเมืองพะเยาด้วย คำถามคือความเป็นมิตรทำไมต้องให้มาเป็นเมืองขึ้น ​

ส่วนในตำนานสิบห้าราชวงศ์และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวเพิ่มว่า พญามังรายพอตั้งเชียงรายได้เสร็จก็ไปตีเมืองในอาณัติของพะเยา แล้วสองเมืองนี้รบกันแล้ว แต่ว่าในที่สุดก็แยกกัน ด้วยอ้างว่าทั้งสองนั้นไม่เคยมีเวรต่อกันมาแต่อดีตชาติ ถ้าเป็นนิทานก็ฟังพอจะมีเหตุผล แต่ถ้ามองในแง่ของประวัติศาสตร์ จริงหรือที่เมื่อไปยึดดินแดนของหนึ่งแล้วในที่สุดก็ได้ดินแดนไป สิ่งที่ตามมาคือกษัตริย์ทั้งคู่จะมาเป็นมิตรกัน ไปยึดเอาดินแดนเขามาได้ แล้วปรากฏว่าจบลงด้วยการเป็นมิตรกัน มันจะเป็นเช่นนั้นหรือ หลังจากนั้นจะเห็นว่าพญางำเมืองดูมีสถานะที่ไม่ใช่เป็นมิตร เพราะเป็นมิตรมันต้องเท่ากัน ​

ในเอกสารล้านนา ยังบอกว่าหลังจากที่พญางำเมืองมาร่วมพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว ก็อยู่ที่เชียงใหม่เนี่ยไม่ได้กลับบ้าน พญามังรายหาเมียใหม่ให้พญางำเมือง เป็นเหตุให้ชายาของพญางำเมืองไม่พอใจ ยกทัพมาแล้วก็จะมาฆ่าชู้รักคนใหม่ของพญางำเมือง แต่ว่าระหว่างทางมาอกแตกตาย เรื่องฟังดูแล้วมันก็สนุกดี แต่มันสะท้อนว่าสถานะของพญาเมืองนั้นจริงหรือที่ว่าเป็นมิตรกับพญามังราย ในที่สุดเรื่องที่พญามังรายขยายอาณาเขตไปในดินแดนพะเยา เริ่มมาตั้งแต่สมัยที่ท่านได้เมืองเชียงราย ตั้งเมืองหิรัญนครเงินยางแล้ว หลังจากนั้นดูเหมือนว่าจะต้องการเมืองพะเยา และมาสำเร็จในสมัยทายาทคือพญาคำฟู ​

พญามังรายกับพญางำเมืองอาจจะเป็นมิตรได้ เพราะว่าเป็นรัฐเครือญาติ แต่หลักฐานที่ยกมาทั้งหมดนั้นดูเหมือนว่าพะเยาจะเป็นฐานะที่อยู่ในอันดับรอง ไม่ได้เป็นมิตรกัน ถ้าเป็นมิตรต้องเสมอกัน​

📍 สามกษัตริย์ร่วมต้านทัพมองโกล เรื่องเล่าสนุกที่ไม่น่าเป็นข้อเท็จจริง​

สมฤทธิ์ชี้ถึงประเด็นต่อมาว่า เรื่องความสัมพันธ์ของสามกษัตริย์จะมาเป็นมิตรหรือร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ ในเอกสารที่เขียนในยุคหลัง นักวิชาการส่วนใหญ่จะยืนยันถึงความสัมพันธ์นี้ แล้วก็ตีความความสัมพันธ์นี้ ยอมรับว่าความสัมพันธ์ของสามกษัตริย์นั้นมีจริง ตีความหมายว่าในเอกสารดั้งเดิมนั้นเขาไม่ได้อธิบายถึงเหตุผลที่ซ่อนอยู่หรือว่าเหตุผลลึกๆ นักวิชาการในรุ่นปัจจุบันนี้ก็ตีความใหม่ว่าการที่สามกษัตริย์มาสร้างความสัมพันธ์กันเพื่อต้านทัพมองโกล ​

ถ้าเราขยายการศึกษาประวัติศาสตร์กว้างออกไป ในช่วงการสร้างเมืองเชียงใหม่ปี พ.ศ. 1839 ก่อนหน้านั้นเกิดเหตุการณ์ใหญ่ พ.ศ. 1830 กองทัพมองโกลของราชวงศ์หยวน กุบไลข่านยกมายึดยูนนาน หลังจากนั้นปีพ.ศ. 1835 กองทัพมองโกลบุกไปตีพุกามแตก อาณาจักรพม่าที่ยิ่งใหญ่มากๆ พังพินาศเพราะฝีมือกองทัพมองโกล หลังจากนั้น 4 ปี พญามังรายตั้งเมืองเชียงใหม่ แล้วก็บังเอิญในชินกาลมาลีปกรณ์ระบุว่าสามกษัตริย์มาประชุมเป็นมิตรกันในปี พ.ศ. 1830 ซึ่งตรงกับปีที่กองทัพมองโกลบุกมาตียูนนาน ซึ่งเป็นอาณาจักรที่อยู่ใกล้กับอาณาจักรล้านนา เป็นที่มาที่ให้นักวิชาการในยุคปัจจุบันตีความว่าสามกษัตริย์มารวมกันเพื่อจะต้านทัพมองโกล​

ในเอกสารฝ่ายจีน พงศาวดารราชวงศ์หยวน บันทึกว่าในปี พ.ศ. 1835 กุบไลข่านสั่งกองทัพบุกไปตี “ปาไป่สีฟู่” ซึ่งเราเชื่อมาตลอดว่าคือเมืองเชียงใหม่ แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ ปี พ.ศ. 1835 เชียงใหม่ยังไม่เกิด ประเด็นนี้คือความเข้าใจผิด คำว่า “ปาไป่สีฟู่” หมายถึงกลุ่มชนชาติที่พูดภาษาตระกูลไตไทที่อยู่ใต้จีนทั้งหมด มองเป็นกลุ่มเดียวกัน “ปาไป่ซีฟู” จึงน่าจะหมายถึงอาณาจักรไทใหญ่ มากกว่าที่จะหมายถึงอาณาจักรโยนก-เชียงใหม่ ​

ทั้งหมดเป็นที่มาว่า กองทัพมองโกลจะบุกล้านนา สามกษัตริย์ต้องมาร่วมมือกัน ถ้าเรามองจากสถานการณ์แวดล้อมก็ดูจะสมเหตุสมผล แต่ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ที่เรียกว่าระยะยาวและเชิงลึก สามแคว้นนี้ไม่คณามือกองทัพมองโกล การร่วมมือกันนั้นไม่มีทางต้านทัพมองโกล แสดงว่าสามกษัตริย์สามแคว้นไม่รู้จักกองทัพมองโกล อาณาจักรพุกามที่ยิ่งใหญ่ตอนนั้นยังพังด้วยกองทัพมองโกล และปี 1839 ราชวงศ์หยวนส่งทูตไปเมืองพระนคร อาณาจักรเมืองพระนครที่ยิ่งใหญ่ยังไม่ใช้การศึกเลย แต่ใช้การทูต ​

ฉะนั้นถ้าราชวงศ์หยวนของกุบไลข่าน ต้องการแผ่อิทธิพลในดินแดนแถบนี้ เขาไม่ยกทัพมา เขาใช้การทูต การศึกจะใช้กับอาณาจักรที่พอที่จะสู้กันได้และไม่ยอมกองทัพมองโกล เพราะฉะนั้นสามกษัตริย์ที่ร่วมกันเพื่อจะต้านทัพมองโกล จึงเป็นเรื่องนิทานเล่าสนุกๆ เป็นไปไม่ได้ และราชวงศ์หยวน ถ้าคิดจะยึดสามแคว้น เขาใช้ทูตไม่กี่คนมาเจรจา แค่นั้นเขาก็คุ้มแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องการต้านทัพมองโกลจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีน้ำหนักเลย​

📍 “เมืองเชียงใหม่เป็นของพญามังราย สร้างโดยพญามังราย เพื่อพญามังราย”​

ในช่วงท้ายของสารคดี สมฤทธิ์สรุปว่า เมื่อตรวจสอบหลักฐานทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่าในแง่ของเอกสารตั้งแต่ ตำนานมูลศาสนา พื้นเมืองเชียงแสน พื้นเมืองเชียงรายเชียงแสน ไม่ได้พูดถึงเรื่องของสามกษัตริย์มาร่วมกันสร้างเชียงใหม่ เอกสารอีกชิ้นคือชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุไว้ชัดเจนว่าเขียนเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2071 ได้เขียนเรื่องของสามกษัตริย์มาเจอกัน แล้วมาเป็นมิตรกันก็เท่านั้น แต่ไม่ได้พูดว่าสามกษัตริย์ร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่​

เรื่องราวของสามกษัตริย์มาสร้างเมืองเชียงใหม่มาปรากฏในเอกสารที่มีการคัดลอกกันในยุคหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา เอกสารเหล่านี้จะรู้จักในนามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ หรือตำนานสิบห้าราชวงศ์ ซึ่งเอกสารเหล่านี้ได้เขียนข้อมูลอย่างละเอียดว่าสามกษัตริย์ร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่ จะสังเกตเห็นว่าตั้งแต่มูลศาสนาเรื่อยมา จนถึงเอกสารที่ชื่อว่าตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ข้อมูลเรื่องสามกษัตริย์จากไม่มีเลย เริ่มเป็นมิตรกัน และในที่สุดก็มาสร้างเมืองเชียงใหม่ เห็นได้ว่าข้อมูลมีการขยายเพิ่มเติมมากขึ้น นี่คือหลักฐานทางด้านเอกสาร ซึ่งต้องตั้งข้อสังเกตว่าเอกสารเหล่านี้ทำไมข้อมูลถึงขยายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารที่มีการคัดลอกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ​

ส่วนหลักฐานที่เป็นศิลาจารึก ซึ่งจะเชื่อได้ไม่ได้ยังต้องมีการตรวจสอบ แล้วจารึกวัดเชียงมั่นก็นำเอาข้อความที่ปรากฏอยู่ในชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งเขียนก่อนหน้านั้น 53 ปี และในยุคนั้นคนก็ต้องพูดกันถึงเรื่องของสามกษัตริย์ เอามาก็เท่านั้น ส่วนในหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ ก็ไม่ปรากฏหลักฐานอิทธิพลของสุโขทัยอยู่ในสมัยพญามังรายเลย​

ทั้งหมดจึงสรุปได้ว่าเรื่องราวของสามกษัตริย์มาสร้างเมืองเชียงใหม่ หลายคนแย้งว่าไม่ได้มาสร้าง แต่มาแสดงความคิดเห็น จะมายังไงก็ตาม ไม่มีน้ำหนักเลยว่าพญางำเมือง พระร่วง จะมาในวันสร้างเมืองเชียงใหม่ แต่ “เมืองเชียงใหม่เป็นของพญามังราย สร้างโดยพญามังราย เพื่อพญามังราย”​

#lanner​
#ประวัติศาสตร์นอกตำรา

ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เจียงใหม่ วางแผนขับเคลื่อนกิจกรรมเดือนพฤษภาคม​

09/05/2022

จากกระแสของการเลือกตั้งผู้ว่าที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ทางภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เจียงใหม่ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดย นักวิชาการ ภาคประชาสังคม เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการผลักดันและเรียกร้อง ให้จังหวัดเชียงใหม่สามารถเลือกตั้งผู้ว่าราชกาลจังหวัดได้เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด​

โดยทางเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เจียงใหม่ ได้หารือ ออกแบบกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งหมด 4 กิจกรรม คือ​

1.กิจกรรมเชิญหัวหน้าพรรคการเมือง เสนอนโยบายกระจายอำนาจ และแสดงทัศนะต่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ​
ในวันอาทิตย์ที่ 15 พ.ค. 2565 ​ เวลา 13.30-16.30 น. ณ ลานเอนกประสงค์โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ​ 17 พรรคการเมือง (ครั้งที่ 1) ​ รับผู้เข้าร่วม 100 คน และถ่ายทอดสดทางสื่อเทคโนโลยี ทุกช่องทางไป ทั่วประเทศ​

2.กิจกรรมคู่ขนานกับการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ​
โดยกิจกรรมภายในงานจะมีกิจกรรมหย่อนบัตรเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เสมือนจริง (และเลือกตั้งผ่านระบบออนไลน์) ​ คู่ขนานไปกับการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ​
นอกจากนี้จะมีการเดินขบวน ออกแถลงการณ์ประกาศเจตนารมย์ ,การแสดงทัศนะต่อการเลือกตั้งผู้ว่าเชียงใหม่ จากผู้แทนทุกกลุ่มอาชีพ ,นิทรรศการปัญหาในเชียงใหม่ที่แก้ไม่ได้ เป็นต้น​
โดยจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม ณ ลานเอนกประสงค์ประตูท่าแพ เวลา 16.00 -19.00 น.​

3.จัดทำเสื้อรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ และสติ๊กเกอร์เพื่อจำหน่ายทั่วประเทศ จัดหาทุนดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด จากการเลือกตั้ง​

4.จัดประกวดเรียงความ เรื่อง: ทำไมต้องเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และการประกวดภาพถ่ายที่เชื่อมโยงกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ (โดยรายละเอียดต่างๆ จะแจ้งให้ทราบต่อไป)​

โดยสามารถติดตามทุกๆ ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เจียงใหม่ ได้ที่ เพจ เลือกตั้งผู้ว่าฯ เจียงใหม่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ เจียงใหม่

พร้อมกันทั้งนี้กลุ่ม We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง ได้สร้างแคมเปญรณรงค์นี้ถึงพรรคการเมือง เพื่อผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เป็นนโยบายพรรคก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า มีเหตุผลมากมายที่เราควรเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้เอง เพื่อเกิดการแข่งขันเสนอนโยบายที่เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่,เกิดการกระจายทรัพยากรที่ทั่วถึง,ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่น เพื่อป้องกันการทุจริตได้ตลอดเวลา,จังหวัดได้คนที่เข้าใจปัญหาท้องถิ่นของตนอย่างแท้จริงและคนธรรมดามีสิทธิลงรับเลือกตั้ง,ตัดปัญหาผู้ว่าฯ ถูกโยกย้ายแบบตรวจสอบไม่ได้​

ภาพ: เพจ เลือกตั้งผู้ว่าฯ เจียงใหม่​

โดยสามารถเข้าชื่อได้ที่ Change.org/WeAllVoters​

#lanner

“ประเทศนี้ความสำคัญของสื่อมันไม่ใช่แค่ปัญหาที่สื่อนำเสนอ แต่มันคือสำนึกของตัวสำนักข่าว ผมเห็นว่าสิ่งที่มีความสำคัญของสำนึกตรงนี้มันต้องเกิดจากคำว่าสื่อของประชาชน ที่เป็นตัวแทนของการสะท้อน เปิดโปง เปิดเผย และวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เป็นปมปัญหาที่ประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ เผชิญอยู่ ซึ่งมีหลายมิติมาก ทั้งชีวิต การเมือง เศรษฐกิจ ความเข้าใจทางด้านประวัติศาสตร์

09/05/2022

ซึ่งผมคิดว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว สื่อประชาชนมีส่วนในการทำให้เกิดการพัฒนา การเปลี่ยนแปลง และทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในระบบประชาธิปไตยในลักษณะต่าง ๆ สื่อมันไม่ใช่แค่การรายงานข่าวเท่านั้น แต่มันหมายถึงการสร้าง content ให้สังคมได้ยินเสียงของคนที่ไม่เคยถูกได้ยิน ​

สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ สื่อทางด้านศิลปะวัฒนธรรม นิทรรศการต่าง ๆ รวมทั้งรูปแบบของสถาปัตยกรรม การจัดผังเมือง แม็กกาซีน ภาพยนตร์ ถูกกล่อมเกลาภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในสังคมที่ไม่มีประชาธิปไตย สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากสื่อภาคประชาชนจึงเป็นการตอบโต้และทำให้เห็นถึงมหันตภัยของสื่อเดิม เนื้อหาของมัน รวมทั้งทำให้เห็นถึงปัจจุบันของปัญหาที่ประชาชนหลาย ๆ กลุ่มประสบอยู่”​

— ​ ทัศนัย เศรษฐเสรี ​
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่​

ความเห็นจากการพูดคุยระหว่างกองบรรณาธิการ Lanner กับนักคิด นักวิชาการและศิลปินภาคเหนือ เมื่อเดือนเมษายน 2565 ​

ภาพ: วรรณา แต้มทอง​
#lanner

อานนท์ นำภา: เส้นทางใจทะนงจากนักเรียนกฎหมาย ทนายสิทธิฯ สู่ผู้เปิดข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์​

08/05/2022

5 พฤษภาคม 2565 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานปฐมนิเทศนักเรียนกฎหมายและนักกฎหมายใหม่ทั่วประเทศ โดยมี อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมทางการเมือง เป็นผู้กล่าวในหัวข้อ “ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง: อุดมคติ ประสบการณ์ และโลกแห่งความเป็นจริงจากมุมมองของนักกฎหมายคนหนึ่ง” ​

อานนท์เล่าประสบการณ์ของตนเอง จากความสนใจด้านกฎหมาย สู่การเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ที่พลิกผันจนกลายเป็นนักเคลื่อนไหวที่มีบทบาทในเริ่มต้นยกประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สู่สาธารณะ กระทั่งกลายเป็นจำเลยและผู้ต้องขังทางการเมือง เรื่องราวของเขาจึงเต็มไปด้วยสีสันและแง่มุม ชวนอ่านเรื่องราวที่เขาบอกเล่า​



ภาพ: จินตนา ประลองผล​

#อานนท์นำภา

HRDF และตัวแทนกลุ่มแรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญชาติ แถลงข่าวและยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ม.33 เรารักกัน

27/05/2022

27 พฤษภาคม เวลา 13.30 น. ณ ศาลปกครองกลาง แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ตัวแทนมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา HRDF และตัวแทนกลุ่มแรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญชาติ ได้แถลงข่าวและยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ม.33 เรารักกัน พร้อมแนบรายชื่อผู้สนับสนุนการฟ้องทั้งหมด 2,198 รายชื่อ​

สืบเนื่องจากกรณี โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชย ให้แก่ภาคประชาชนฯ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ.2563โดยการเสนอของกระทรวงแรงงาน ได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 มีข้อกำหนดให้ผู้มีสิทธิตามโครงการฯเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มี “สัญชาติไทย” เท่านั้น ส่งผลให้ผู้ประกันตนที่ “ไม่มีสัญชาติไทย” ไม่มีสิทธิรับการช่วยเหลือเยียวยา แม้เป็นผู้ประกันตน และได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดเช่นเดียวกับผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทย ตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติจึงดำเนินการร้องเรียนความไม่เป็นธรรมกรณีโครงการ ม.33 เรารักกัน เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติขัดต่อกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ภายหลัง ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยว่าโครงการ “ม.33 เรารักกัน” มิได้ขัดต่อ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคสาม ได้บัญญัติห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะความแตกต่างในเรื่อง “เชื้อชาติ” เท่านั้น มิได้หมายรวมถึง “สัญชาติ” ดังนั้น การที่โครงการฯ กำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิไว้ว่าต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้นจึงมิได้มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะความแตกต่างในเชื้อชาติ แต่ทั้งนี้ ตัวแทนผู้ประกันตนฯ ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่าโครงการ ม.33 เรารักกัน ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564​

ต่อมา 10 มกราคม 2565 ตัวแทนผู้ประกันตนฯ ได้รับแจ้งคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา โดยแจ้งว่าโครงการ “ม.33 เรารักกัน” เป็นโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี กรณีความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอื่น ด้วยเหตุนี้ตัวแทนผู้ประกันตนฯ จึงจะดำเนินการต่อไปโดยการยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ที่มีส่วนร่วมในการกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิตามโครงการฯที่ต้องมี “สัญชาติไทย” เท่านั้น เพื่อขอให้ศาลปกครอง ที่มีอำนาจอิสระ ตามแบบแม่บทประชาธิปไตย ในการพิจารณาและมีคำพิพากษาเพิกถอนการกระทำที่มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และกฎหมายสิทธิมนุษยชนมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อให้สร้างบรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms) ที่ให้มีการเคารพหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และสร้างรากฐานหลักการแบ่งแยกอำนาจที่มิยอมให้มีองค์กรหนึ่งองค์กรใดใช้อำนาจของรัฐ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) เพียงองค์กรเดียว​

ทั้งนี้ทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และตัวแทนกลุ่มแรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญชาติ ขอขอบคุณสื่อและมวลชนที่มาร่วมให้กำลังใจในการแถลงข่าวและยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ม.33 เรารักกันในครั้งนี้​



#อย่าทิ้งให้แรงงานข้ามชาติเดียวดาย​
#ม33เรารักกันแต่ฉันถูกลืม​
#Lanner

ยืนหยุดทรราชll สัปดาห์ที่ 2​

07/05/2022

วันนี้ 7 พฤษภาคม 2565 เวลา 17.00-18.12 น. กลุ่มพลเมืองเสมอกัน We, The People ได้จัดกิจกรรม #ยืนหยุดทรราชll บริเวณ ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยการยืนหยุดทรราชในครั้งนี้เป็นการยืนในสัปดาห์ที่ 2 ​

จุดประสงค์หลักของการยืนหยุดทรราชในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากที่รัฐได้มีการคุมขังประชาชนในระหว่างการสอบสวนและไม่มีสิทธิในการประกันตัว เพื่อเรียกร้องในเรื่องของสิทธิประกันตัวที่เป็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองตามหลักสิทธิมนุษยชน​

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา เก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักศึกษาวัย 23 ปี จากภาควิชารังสีเทคนิค คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล สมาชิกกลุ่ม โมกหลวงริมน้ำ ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 ในคดีมาตรา 112 จากเหตุปราศรัย #ทัวร์มูล่าผัว โดยในตอนนี้ มีผู้ต้องขังทางการเมือง ทั้งหมด 11 คน​

กิจกรรม #ยืนหยุดทรราชll จะจัดอย่างต่อเนื่องในทุกๆ วันเสาร์ เวลา 17.00-18.12 น. ที่ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ อย่างต่อเนื่องจนกว่าประชาชนที่ถูกคุมขังจะได้รับการปล่อยตัว​



ภาพ: Jarik Krobtong​

#หยุดละเมิดสิทธิประกันตัว​
#ยกเลิก112