Home Blog Page 207

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เราจะเห็นว่าฝ่ายที่มีอำนาจหรือผู้ที่ถืออำนาจรัฐนั้นได้ใช้วิธีการที่รุนแรง ไม่มีจริยธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง

07/05/2022

เนื่องจากว่ากระแสของผู้ที่รักความเป็นธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศขานรับอย่างมากมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ปล่อยผู้ที่บริสุทธิ์ทั้งหมด จากกระแสที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องจนทำให้ฝ่ายอำนาจรัฐนั้นต้องผ่อนสั้นผ่อนยาว แต่ว่าเมื่อปล่อยออกมาแล้วนั้นแล้วก็คิดว่าเขาจะสามารถควบคุมทำให้เข็ดขยาดได้​

รัฐพยายามที่จะกำราบปราบปรามลงโทษโบยตี ใช้วิธีการในการอุ้มจับขัง อ้างสาเหตุต่างๆ นานาเพื่อที่จะทำลายล้างขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ แต่หารู้ไม่สิ่งที่ทำลงไปนั้นมันเป็นการประจานความชั่วร้ายของตัวเค้าเอง ยิ่งทำให้คนทั้งหลายที่มีจิตใจเป็นกลางที่อาจจะมีเรื่องของมนุษยธรรมอยู่บ้างนั้น เอนเอียงเข้าหาคนรุ่นใหม่และผู้มีหัวใจประชาธิปไตย ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผู้ที่มีจิตใจรักความเป็นธรรมนั้นไม่สามารถรับได้ มันเกินขอบเขตเกินความพอดีไปมาก ใช้ทุกอย่างที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องมือเพื่อที่จะทำลายความคิดที่บริสุทธิ์และจริงใจเพื่อที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ​

ฉะนั้นเราในฐานะคนร่วมชะตากรรมที่ไม่เท่าเทียมเหมือนกันก็ไม่สามารถทนนิ่งดูรายได้ ก็ออกมารวมตัวกันเพื่อที่จะเป็นปากเสียงหนึ่งในการที่จะขับเคลื่อนให้เกิดความเท่าเทียม ให้ทุกๆ คนที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ถูกกระทำนั้นได้รับอิสรภาพอย่างแท้จริง”

สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย​
ศิลปิน​

กิจกรรม #ยืนหยุดทรราชll ​ โดยกลุ่มพลเมืองเสมอกัน We, The People จะจัดอย่างต่อเนื่องในทุกๆ วันเสาร์ เวลา 17.00-18.12 น. ที่ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ อย่างต่อเนื่องจนกว่าประชาชนที่ถูกคุมขังจะได้รับการปล่อยตัว​

ภาพ: วรรณา แต้มทอง​

#หยุดละเมิดสิทธิประกันตัว​
#ยกเลิก112

ชวนจับตา “คดีการเมือง” ในภาคเหนือช่วงเดือนพฤษภาคมนี้​

06/05/2022

ในเดือนพฤษภาคม 2565 ชวนติดตามสถานการณ์การดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองที่สืบเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวในช่วงปี 2563-2564 ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีคดีที่มีวันนัดของศาลในเดือนนี้ ได้แก่​

1. คดีมาตรา 112 ของ “รามิล” ศิวัญชลี นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรณีแสดง Performance Art เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดตรวจพยานหลักฐานคดีนี้ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 เวลา 9.00 น.​

2. คดีคาร์ม็อบจังหวัดกำแพงเพชร มีอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ อดีตผู้สมัคร นายก อบจ. กำแพงเพชร ของคณะก้าวหน้า ถูกฟ้องเป็นจำเลยในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ​ ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดสืบพยานคดีนี้ในวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2565 ตลอดทั้งวัน​

3. คดีดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ของพึ่งบุญ ใจเย็น ศิลปินช่างสัก กรณีตะโกนด่าตำรวจในระหว่างการชุมนุมที่ข่วงประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ศาลแขวงเชียงใหม่นัดสืบพยานคดีนี้ในวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2565 ตลอดทั้งวัน​

4. คดีมาตรา 112 กรณี 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่แสดงงานศิลปะคล้ายธงไม่มีสีน้ำเงิน ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดตรวจพยานหลักฐานคดีนี้ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 เวลา 9.00 น. ​

โดยสามารถติดตามคดีได้ที่ศาลตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว รวมถึงติดตามการรายงานความคืบหน้าของคดีต่าง ๆ ได้ที่เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ Lanner​

#lanner​
#คดีการเมือง

นิติศาสตร์ มช. จัดบรรยายพิเศษ “ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง” ปฐมนิเทศนักกฎหมายใหม่ทั่วประเทศ โดยอานนท์ นำภา

05/05/2022

วันนี้ 5 พฤษภาคม เวลา 15.00 น. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดบรรยายพิเศษ “ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง” อุดมคติ ประสบการณ์ และโลกแห่งความเป็นจริงจากมุมมองของนักกฎหมายคนหนึ่ง โดยอานนท์ นำภา ทนายสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นการปฐมนิเทศนักกฎหมายใหม่ทั่วประเทศ รวมถึงนักศึกษาที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย ในคณะนิติศาสตร์ รวมไปถึงผู้ที่กำลังเข้าสู่วิชาชีพกฎหมาย รวมไปถึงคนที่อยู่ในแวดวงวิชาการและวิชาชีพกฎหมาย เพื่อค้นหาความเป็นจริงของกฎหมายในสังคมไทย

ก่อนเริ่มการบรรยาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัทมน คงเจริญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดโดยมีใจความสำคัญ ตั้งคำถามถึงการเข้ามาเรียนกฎหมาย
“เราเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมจึงมาเรียนกฎหมาย คิดว่าจะร่ำรวย คิดว่าจะมีเกียรติ หรือคิดว่าจะผดุงความยุติธรรม อย่างนั้นหรือ หลายคนฝันใฝ่ตามทางที่ตัวเองต้องการ แต่ไม่ว่าจะหวังไว้อย่างไร อยากจะชวนทุกท่านที่ฟังที่ชมอยู่ในขณะนี้ ว่าความหวังเหล่านี้เป็นจริงได้อย่างนั้นหรือ ความจริงในแวดวงกฎหมายของไทยที่เป็นอยู่นั้นเป็นอย่างไร หลักการทางกฎหมายที่เราร่ำเรียนมา มันปรากฎขึ้นเป็นจริงในสังคมไทยมากน้อยเพียงใด ในวันนี้ได้รับเกียรติอย่างยิ่ง จากทนายน้อยๆ ผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุด นักกฎหมายที่สั่นสะเทือนวงการกฎหมายไทยอย่างยิ่งยวด คำกล่าวนี้ ไม่เกินจริงเลย ไม่ว่าผู้ที่พบเจอ ถ้าไม่รักเขา ไม่ศรัทธาเขา ​ ก็เกลียดและกลัวเกรงอิทธิพลของเขาเหละ ในชั่วโมงนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักทนายอานนท์ นำภา อุดมคติ ประสบการณ์ และโลกแห่งความเป็นจริงจากมุมมองของนักกฎหมายคนหนึ่ง”​

“ผมว่าอานนท์ มีคุณสมบัติสำคัญอยู่ 3 ประการสำคัญที่ทำให้สิ่งที่เขาจะพูดในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ และชวนให้นักกฎหมายได้คิดถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในอนาคต ประการแรกอานนท์เป็นนักกฎหมายที่เก่งมาก เขาเริ่มทำคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนตั้งแต่แรกเริ่มทำงาน ประเด็นที่ 2 อานนท์ เป็นทนายที่มีประสบการณ์ในการว่าความมากที่สุด ถ้าเทียบกับนักกฎหมายรุ่นราวคราวเดียวกัน เขาตั้งสำนักงานทนายความกองทุนราษฎรประสงค์ เพื่อรับทำคดีการเมือง ทำคดีชาวบ้านโดยเฉพาะ ประการที่ 3 อานนท์ก้าวข้ามพรมแดนของนักกฎหมายไปสู่นักเคลื่อนไหวทางสังคม เขาเชื่อมโยงบทบาทของนักกฎหมายกับขบวนการเคลื่อนไหว ซึ่งก็นำมาสู่การที่รัฐใช้กฎหมายเล่นงานเขา ถูกเปลี่ยนฐานะจากทนาย กลายเป็นจำเลย ใช้ชีวิตในเรือนจำกว่า 6 เดือน อานนท์จึงมีความเหมาะสมสำหรับการชวนคุยกับนักกฎหมายที่สนใจสังคม การพูดคุยถึงศักยภาพและข้อจำกัดของกฎหมายและนักกฎหมายในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม”​
สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในช่วงแรกของการบรรยาย

อานนท์ได้กล่าวถึงบริบทและเงื่อนไข ว่าตนถูกศาลวินิจฉัยว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่ล้มล้างการปกครอง จากการลุกขึ้นมาพูดเรื่องสถาบัน ปัจจุบันนี้ถูกสภาทนายความตั้งเรื่องเพิกถอนการว่าความจากการปราศัยเรื่องปฏิรูปสถาบัน ณ วันนี้ตนได้รับการประกันตัวจากคดี 112 จาก 12 คดี โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามพูดถึงสถาบันและศาล รวมถึงห้ามไปในที่ชุมนุม และถูกจำกัดการเดินทาง​

“ผมพูดในบรรยากาศที่คนรุ่นใหม่ถูกจองจับ 11 คน มีนักศึกษาที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยถูกคุมขัง และมีอีกหลายคนที่กำลังจะโดนเพิกถอนการประกันตัว หลายคนถูกควบคุมด้วยคำสั่งศาลว่าห้ามเข้าร่วมชุมนุม ตอนนี้ผมเองก็ยังใส่กำไลเท้า EM “​

“คนรุ่นใหม่เห็นภาพสังคมที่เสมอภาค มีสิทธิทางพลเมืองที่เท่าเทียมกันแล้ว แต่ยังไม่สามารถขายฝันนี้ให้ชนชั้นนำไทย รวมถึงนักเรียนนายร้อย พ่อแม่ผู้ปกครอง นักการเมือง พรรคการเมืองได้ คนที่ติดคุกในตอนนี้เขาก็ฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง ตะวันได้ประกาศอดอาหาร เพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรม และตอนนี้เก็ท (โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง) ก็ประกาศอดอาหารเพื่อประท้วงด้วยเช่นกัน คนรุ่นใหม่เหล่านี้เกิดและเติบโตมาในยุคที่เขาต้องท่องค่านิยม 12 ประการ แต่เขาก็ออกมาต่อต้าน อยากให้คนที่เรียนกฎหมายได้ศึกษาแนวคิดของพวกเราไปด้วย”​

ทั้งนี้ เนื้อหาสาระสำคัญที่อานนท์ได้มาบรรยายก็คือประสบการณ์ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนกฎหมาย การทำกิจกรรมนักศึกษา เป็นทนายในประเด็นสิทธิมนุษยชน ทำคดีการเมือง รวมทั้งการปราศัยปฏิรูปสถาบัน จนนำมาสู่การมีคดีความของตน นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม รวมไปถึงเรื่องของนักกฎหมายที่ออกมาร่วมต่อสู้ ​

“เราได้เห็นการรวมตัวของนักกฎหมายที่ออกมาทำงานเรื่องสิทธิ เห็นทนายอาวุโสออกมาว่าความร่วมกับน้องๆ เห็นคนในกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ข้างเรา คนที่เป็นรุ่นราวคราวเดียวกับเราอยู่ข้างเรา”​

โดยสาระสำคัญที่ยังไม่ได้กล่าวถึงจะถูกหยิบยกมาพูดถึงที่เพจ Lanner อีกครั้งแบบละเอียด​

#lanner​
#อานนท์นำภา

เชิญชวนรับชม Facebook Live 🔴 บรรยายพิเศษ “ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง” อุดมคติ ประสบการณ์ และโลกแห่งความเป็นจริงจากมุมมองของนักกฎหมายคนหนึ่ง

04/05/2022

ขอเชิญนักกฎหมายใหม่ทั่วประเทศที่กำลังเริ่มต้นเส้นทางชีวิตทางด้านกฎหมายร่วมรับฟังการปฐมนิเทศจากอานนท์ นำภา ทนายสิทธิมนุษยชน​

ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 เวลา 15.00 น. ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสามารถรับชมการบรรยายครั้งนี้แบบสด ๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกนี้ได้ที่ Lanner ตามวันและเวลาเดียวกัน​

#lanner
#อานนท์นำภา

“การยืนหยุดทรราชมันเป็นสิ่งหนึ่งที่เราสามารถที่จะแสดงออกได้ เราเห็นเหตุการณ์ที่มันไม่ปกติ ไม่เป็นธรรม

04/05/2022

แล้วก็เห็นคนที่โดนกระทำมันเหมือนโดนกลั่นแกล้ง ทุกคนที่โดนก็ยังเป็นเด็กๆ เป็นเหมือนลูกหลานเรา มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศเรา ว่าแบบอะไรวะ นี่แค่การแสดงออกทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นเองก็ยังสามารถเอาผิดได้แบบไม่แคร์เหตุผลอะไรเลย​

โทษที่ได้รับมันก็เยอะมาก มันหนักไปสำหรับเด็กๆ มันคือการเอาอนาคตของชาติไปกักขังทำไมถึงทำกันขนาดนี้ อนาคตของชาติยังมีประโยชน์ที่สามารถทำอะไรได้หลายอย่างที่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้ คือการแสดงออกไม่ผิดเป็นสิทธิเสรีภาพ สิ่งสำคัญที่ผู้มีอำนาจควรทำก็คือต้องรับฟังใช่ไหม รับฟังต้องมีการพูดคุยแล้วก็แลกเปลี่ยนไม่ใช่แบบว่าตัดช่องน้อยแต่พอตัวเลยคือว่าพูดไม่เข้าหูเอามันเข้าไปขังอะไรอย่างนี้เลยมันจะได้ไม่พูดไม่ทำอะไรอย่างนี้อีก​

การยืนหยุดทรราชเป็นสิ่งเดียวจริงๆ นะที่เราทำได้ในตอนนี้ เราก็เป็นคนทำงานแบบหาเช้ากินค่ำ อาจจะไม่มีเวลาออกไปเคลื่อนไหวซึ่งๆ หน้า เหมือนแบบเด็กๆ คนรุ่นใหม่ ที่เขาออกไปเป็นหน้าด่านอะไรแบบนี้ แอคชั่นอะไรที่มันอยู่ในพื้นที่เรา แล้วมันเป็นสิ่งที่แบบว่าเราทำได้เราก็พร้อมที่จะมา​”

พรพิศ ผักไหม
แม่ค้า​

กิจกรรม #ยืนหยุดทรราชll ​ โดยกลุ่มพลเมืองเสมอกัน We, The People จะจัดอย่างต่อเนื่องในทุกๆ วันเสาร์ เวลา 17.00-18.12 น. ที่ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ อย่างต่อเนื่องจนกว่าประชาชนที่ถูกคุมขังจะได้รับการปล่อยตัว​

ภาพ: วรรณา แต้มทอง​

#หยุดละเมิดสิทธิประกันตัว​
#ยกเลิก112

ตำรวจบุกบ้านนักกิจกรรมอุตรดิตถ์ปลดแอก ถ่ายรูปรถ บ้าน เช็คความเป็นอยู่​

03/05/2022

วันนี้ 3 พฤษภาคม เพจอุตรดิตถ์ปลดแอกได้โพสต์ว่าเมื่อช่วง 07.30 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปยังบ้านของ 1 ในสมาชิกกลุ่มอุตรดิตถ์ปลดแอก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บอกว่า มาตรวจความเรียบร้อยทั่วไปตามหน้าที่ เนื่องจากเป็นตำรวจสายตรวจ โดยเจ้าได้ที่ตำรวจได้ทำการ​

ได้ทำการถ่ายรูปรถ บ้าน และสอบถามว่าบ้านหลังนี้อยู่กันกี่คน โดยทางสมาชิกกลุ่มอุตรดิตถ์ปลดแอกได้ขอตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่ารูปที่ถ่ายมีเพียงแค่บ้านและรถของสมาชิกกลุ่มอุตรดิตถ์ปลดแอก โดยเจ้าหน้าที่พยายามเบี่ยงเบนที่จะไม่ลบรูปภาพที่ถ่ายไว้ จนสมาชิกกลุ่มอุตรดิตถ์ปลดแอกได้ทำการถ่ายคลิปวีดีโอเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานการคุกคาม จนเจ้าหน้าที่ตำรวจยอมลบรูปภาพที่ถ่ายไว้ทั้งหมด​

ด้านกลุ่มอุตรดิตถ์ปลดแอกให้ความเห็นเอาไว้ว่าการกระทำแบบนี้ตอกย้ำความเชื่อของประชาชนว่าไม่สามารถไว้วางใจตำรวจได้ และการกระทำลักษณะนี้เป็นการคุกคามประชาชน โดยได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดทำพฤติกรรมในลักษณะนี้​

จากการตอบถามเพิ่มเติมจากสมาชิกอุตรดิตถ์ปลดแอกได้ความเห็นว่า “รอบนี้เจ้าหน้าที่ไม่แสดงอำนาจ มาแบบงงๆ ตอบคำถามอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง พูดซ้ำไปมา มือไม้สั่น เหมือนไม่ได้เตรียมตัวมา มาแบบลับๆ ล่อๆ จอดรถไว้เยื้องหน้าบ้าน เดินย่องๆ เข้ามาในบ้าน มาถ่ายรูป ถ้าไม่มีคนในบ้านมาเห็นก็คงเดินออกไปแบบเงียบๆ ส่วนตัวมองว่าถ้าจะมาก็เข้ามาคุยแบบตรงไปตรงมาดีกว่า ไม่ใช่ลับๆ ล่อๆ แบบนี้”​

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน อัยการจังหวัดอุตรดิตถ์สั่งฟ้องคดี พรก.ฉุกเฉินฯ นายอนุรักษ์ แก้ไข อายุ 25 ปี พ่อค้าขายผลไม้ เหตุเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบอุตรดิตถ์ปลดแอก เมื่อ 15 สิงหาคม 2564 โดยนายอนุรักษ์คับข้องใจว่าทำไมถึงถูกดำเนินคดีคนเดียว ตนเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรม ก่อนศาลให้ประกันวางเงินจำนวน 20,000 บาท และตนพร้อมสู้คดี (ข้อมูลจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน https://bit.ly/37XY4oM )​

#Lanner

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือยื่นข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมกรสากล ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่​

03/05/2022

วันนี้ 3 พฤษภาคม เวลา 10.00 น. เครือข่ายแรงงานภาคเหนือยื่นข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมกรสากล ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ได้จัดกิจกรรม Worker Fest “เราทุกคน คือ คนงาน” ณ ข่วงประตูท่าแพ เชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชูข้อเรียกร้องของเครือข่ายทั้ง 11 ข้อ รวมถึงข้อเรียกร้องเพื่อค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาและส่งเสริมคุณค่าความสำคัญของคนงาน 7 ข้อ โดยภายในงานมีซุ้มกิจกรรม และการแสดงจากภาคีเครือข่ายอีกด้วย​

โดยในวันนี้ทางเครือข่ายแรงงานภาคเหนือได้นัดรวมตัวเพื่อยื่นข้อเรียกร้อง ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีตัวแทนจาก สำนักงานแรงงานจังหวัดเชียงใหม่, สำนักจัดหางาน, สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, สำนักงานประกันสังคม มารับข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ​

สามารถอ่านข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมกรสากล 2022 ของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ได้ที่ https://www.facebook.com/lanner2022/photos/a.114367541256198/115009857858633/​

#lanner
#เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ
#วันกรรมกรสากล

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือจัดกิจกรรม Worker Fest “เราทุกคน คือ คนงาน” ณ ข่วงประตูท่าแพ เชียงใหม่​

02/05/2022

วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จัดกิจกรรม Worker Fest “เราทุกคน คือ คนงาน” ณ ข่วงประตูท่าแพ เชียงใหม่ เนื่องในโอกาสวันแรงงานสากล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชู 11 ข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ เวทีเสวนา “ค่าแรงต่ำ จ้างงานไม่เป็นธรรม ขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติแสนแพง” การกล่าวแถลงการณ์ ตลอดจนซุ้มนิทรรศการ กิจกรรมเดิน Fasion Show การแสดงดนตรีจากเครือข่าย และรับชมคลิปวีดิโอเกี่ยวกับแรงงาน​

โดยข้อเรียกร้องทั้ง 11 ข้อ คือ 1. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาททั่วประเทศ 2. รับรองอนุสัญญา ILO 87, 98, 189 3. ทุกอาชีพต้องไก้เข้าประกันสังคม 4. ทุกอาชีพ ทุกรูปแบบการทำงานต้องได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานทุกฉบับ 5. ใบอนุญาตทำงานของคนงานข้ามชาติต้องมีอายุคราวละ 4 ปี 6. ยกระดับการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติเป็นระบบดิจิทัล 7. ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 8. รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า 9. ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค 10. ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการทำงานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร 11. สิทธิและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม​
ในเวทีเสวนา “ค่าแรงต่ำ จ้างงานไม่เป็นธรรม ขึ้นทะเบียบแรงงานข้ามชาติแสนแพง” มีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเป็นแรงงานในแต่ละภาคส่วน ได้แก่ ไรเดอร์ แรงงานภาคการเกษตร แรงงานก่อสร้าง แรงงานพนักงานบริการ แรงงานแม่บ้าน และแรงงานภาคประชาสังคม (สามารถอ่านเนื้อหาได้ที่ https://www.facebook.com/…/a.1143675412…/114679941224958 )​

พร้อมกันทั้งนี้เครือข่ายแรงงานภาคเหนือได้แถลงข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมกรสากล เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของคนทำงาน 7 ข้อ คือ ​

1. รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคโดยด่วน ​
2. ขอให้รัฐบาลนำหลักการการคำนวณค่าจ้างที่เป็นธรรมตามมาตรฐานแรงงานสากล ​
3. ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนงานทำงานบ้าน ​
4. ขอให้รัฐบาลปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยเร่งด่วน ​
5. ขอให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อแก้ไขนิยามของ “งาน” และ “แรงงาน” ให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ​
6. ขอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ ในระยาว เป็นแผน 5 ปี หรือ 10 ปี ​ โดยให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และแก้ไขพระราชกำหนดการทำงานของคนต่างด้าว ปี 2561 ​
7. ขอให้รัฐบาลยกเลิกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ​ และให้แก้ไข พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานภาคบริการ​

ทั้งนี้ยังมีการแสดง Sex work Fashion week การเดินแบบของพนักงานบริการและผู้ที่สนับสนุนสิทธิพนักงานบริการ ครั้งแรกในประเทศไทย โดยชูประเด็นส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของพนักงานบริการ เพื่อให้อาชีพของเรา มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับทุกอาชีพ และยกเลิกพรบป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 2539โดยได้เสียงตอบรับที่ดีจากประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี​



ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย​

#WorkerFest​
#เราทุกคนคือคนงาน ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​
#เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ​
#Lanner

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือแถลงข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมกรสากล 2022 พร้อมผลักดัน #เราทุกคนคือแรงงาน

02/05/2022

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ได้จัดกิจกรรม Worker Fest! เราทุกคน คือ คนงาน We All Are Workers โดยทางเครือข่ายแรงงานภาคเหนือได้มีการแถลงข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมกรสากล 2022 โดยมีเนื้อหาสำคัญดังต่อไปนี้​

ด้วยวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันกรรมกรสากล” ซึ่งเป็นวันที่คนทำงานทั่วโลกได้รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมของคนทำงาน เป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ สิทธิอันชอบธรรมที่คนทำงานสมควรได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนกลุ่มอื่น ๆในฐานะที่คนทำงานเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้าและทัดเทียมกับนานาประเทศ​

แต่ในช่วงสามปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันคนทำงานทุกสาขาอาชีพต้องเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้วันทำงานน้อยลงส่งผลให้มีรายได้ลดลง บางส่วนตกงาน โดยรัฐบาลไม่มีมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเหมาะสมและทั่วถึง ประกอบกับค่าครองชีพที่สูง เนื่องจากสินค้าอุปโภคและบริโภคต่างปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับรายได้และค่าจ้างของคนงานที่ลดลงเนื่องจากได้ผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ​ และทั้งนี้ในรอบสองปีที่ผ่านมาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่มีการปรับขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งฐานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันแทบไม่พอสำหรับเลี้ยงดูตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ และนอกจากนี้ยังพบว่ามีกลุ่มคนงานเปราะบางได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และถูกละเมิดในเรื่องวันหยุดประจำสัปดาห์ ​ ค่าจ้างในการทำงานในวันหยุดและวันลา ทำงานล่วงเวลาโดยไม่สมัครใจ รวมถึงไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของคนทำงาน เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ร่วมกับคนทำงานทุกสาขาอาชีพจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้​

1. รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคโดยด่วน ​
2. ขอให้รัฐบาลนำหลักการการคำนวณค่าจ้างที่เป็นธรรมตามมาตรฐานแรงงานสากล มาใช้เป็นหลักการการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบันโดยเสนอให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 492 บาทต่อวันและใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกันทั่วทั้งประเทศ โดยให้ดำเนินการและประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราใหม่ภายในปี 2565​
3. ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนงานทำงานบ้าน ​
4. ขอให้รัฐบาลปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยเร่งด่วน ในกรณีดังต่อไปนี้​
4.1 ออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ​
4.2 ปรับปรุงเงื่อนไขการเกิดสิทธิในกองทุนประกันสังคม โดยให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากที่มีการเข้าสู่ระบบประกันสังคม ​ ​
4.3 แก้ไขกฎกระทรวงการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยให้แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมที่ต้องการกลับประเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไปสามารถยื่นรับเงินจากกองทุนบำเหน็จชราภาพได้ทันที​
5. ขอให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อแก้ไขนิยามของ “งาน” และ “แรงงาน” ให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกวัย รวมถึงรูปแบบการทำงานที่มีความหลากหลายในการจ้างงาน อาทิ การจ้างงานแบบชิ้น (gig worker) เพื่อให้ แรงงานทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกวัย เช่น แรงงานภาคบริการ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ​ ลูกจ้างทำงานบ้าน คนทำงานแบบชิ้น (gig worker) ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายประกันสังคม กฎหมายกองทุนเงินทดแทน และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน​
6. ขอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ ในระยาว เป็นแผน 5 ปี หรือ 10 ปี ​ โดยให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และแก้ไขพระราชกำหนดการทำงานของคนต่างด้าว ปี 2561ในประเด็นต่อไปนี้​
6.1 ให้มีการจัดระบบการขึ้นทะเบียนของแรงงานข้ามชาติเป็นระบบดิจิทัล และเปิดขึ้นทะเบียนได้ตลอดเวลาเพื่อสะดวกต่อการดำเนินการของทั้งลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ ​ ​
6.2 ใบอนุญาตทำงานของคนงานควรปรับให้มีอายุคราวละ 4 ปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายและขั้นตอนการดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานทั้งลูกจ้าง นายจ้างและภาครัฐ ​
6.3 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานและเอกสารอื่น ทางภาครัฐควรกำหนดให้เหมาะสมกับรายได้ของแรงงานข้ามชาติ​
6.4 ให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตน​
6.5 ขยายอายุของแรงงานข้ามชาติให้สามารถทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี​
6.6 ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนดแนวทางปฏิบัติให้มีการอบรมอาชีพแรงงานข้ามชาติ ​ โดยระหว่างที่อบรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีค่าเบี้ยเลี้ยงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และหลังจากที่จบการอบรมแล้วให้ออกใบรับรองการผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถนำไปใช้ในการปรับค่าจ้างตามระดับการพัฒนาฝีมือแรงงานได้​
6.7 เปิดขึ้นทะเบียนผู้ติดตามเด็กที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย รวมทั้งผู้ติดตามที่เป็นผู้สูงอายุ​
และ 7. ขอให้รัฐบาลยกเลิกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ​ และให้แก้ไข พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานภาคบริการ​

#WorkerFest​
#เราทุกคนคือคนงาน ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​
#เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ​
#Lanner