เรื่องและภาพ : องอาจ เดชา
หมู่บ้านนาเลาใหม่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนลีซู ตั้งถิ่นฐานอยู่รอบดอยหลวงเชียงดาว ประกอบด้วย 3 หย่อมบ้าน ได้แก่ บ้านนาเลาใหม่ บ้านนาเลาเก่า และบ้านฟ้าสวย
ชุมชนบ้านนาเลาใหม่ เริ่มปรับมาทำท่องเที่ยวชุมชน ไม่นานมานี้ ด้วยวิวทิวทัศน์ที่งดงาม มองเห็นฉากดอยหลวงเชียงดาวตั้งตระหง่านโดดเด่นเบื้องหน้า จึงเริ่มปรับเป็นโฮมสเตย์ที่พักเรียบง่ายด้วยไม่ไผ่และตั้งชื่อว่า ‘ระเบียงดาว’ ซึ่งหลังจากนั้น มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอเชียงดาว
หลายครอบครัว มองเห็นว่าน่าจะเป็นพื้นที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ จึงเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตร มาเน้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เปิดให้นักท่องเที่ยวได้มาเยือน ตั้งแต่เดือน พ.ย.-ก.พ. ของทุกปี นอกจากนั้น ชาวบ้านยังมีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวบ้านนาเลาใหม่อีกด้วย
อะลูมิ เลายี่ปา ที่มาภาพ : องอาจ เดชา
อะลูมิ เลายี่ปา เป็นอีกคนที่เริ่มลงมือทำโฮมสเตย์ ชื่อ ‘บ้านพักเฮือนสุข’ เธอเกิดและเติบโตที่บ้านฟ้าสวย เธอบอกว่า ตอนเด็กๆ ก็ใช้ชีวิตอยู่บนดอยนี้ตลอด เริ่มเรียนหนังสือในชุมชน ตอนนั้นมีศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านฟ้าสวย จากนั้นย้ายมาที่โรงเรียนบ้านถ้ำ จนจบ ป.6 เข้าเรียนต่อระดับชั้นมัธยมที่เชียงดาววิทยาคม ก่อนที่จะลงไปเรียนปริญญาตรี สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
“ที่ตัดสินใจเรียนการท่องเที่ยว ไม่คิดอะไรมาก รู้แต่ว่าชอบเที่ยว ชอบเดินทาง แต่เริ่มคิดและถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนก็คือ ช่วงที่เรียนอยู่ชั้นปีสองปีสาม พอกลับมาบ้านในช่วงปิดเทอม ตอนนั้นพี่สาวกับพี่เขยเริ่มทำที่พักโฮมสเตย์ชื่อ ‘ระเบียงดาว’ ก็ได้อยู่ช่วยงาน แล้วรับจ้างเป็นคนนำทาง พานักท่องเที่ยวเดินขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาว ก็จะมีรายได้ครั้งหนึ่งประมาณ 1,000-2,000 บาท ตามแต่ละทริป ก็ได้เงินมาเป็นค่าเทอม ส่งตัวเองเรียนจนจบปริญญาตรี ในปี 2558”
เธอเป็นลีซูคนแรกของหมู่บ้านฟ้าสวย-นาเลาใหม่ที่เรียนจบปริญญาตรี พอเรียนจบอะลูมิตัดสินใจนำความรู้กลับบ้าน ก่อนที่จะเก็บเงินก้อนหนึ่ง ทำโฮมสเตย์ อยู่ใกล้ๆ ที่ของพี่สาว ทำให้เธอมีรายได้ตลอดช่วงฤดูหนาว
นโยบายทวงคืนผืนป่าคืบคลานความฝันถูกรื้อถอน
ภายหลังการรัฐประหารในปี 2557 โดย คสช. ได้มีคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๔/๒๕๕๗ เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้ หรือที่รู้จักใน ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ ซึ่งส่งผลสะเทือนทันทีที่ประกาศใช้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ซึ่งมีชีวิตสัมพันธ์กับป่า ได้รับผลกระทบจากการยึดคืนพื้นที่ หลายรายนั้นถูกจับกุมดำเนินคดี
ซึ่งภายหลังจากการประกาศใช้คำสั่งดังกล่าวในวันที่ 18-22 มกราคม 2562 ชุดหน่วยพญาเสือ หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานในเขตพื้นที่อำเภอเชียงดาว เข้าตรวจสอบบ้านพักนักท่องเที่ยว บริเวณบ้านนาเลาใหม่ แน่นอนว่าโฮมสเตย์ของอะลูมิก็ถูกรื้อไปด้วย ความฝันของเธอสูญสลาย แบบไม่ทันตั้งตัว โดยอ้างบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินบ้านนาเลาใหม่ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดเงื่อนไขการแจ้งครอบครองที่ดินในเขตป่าตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 การปลูกพืชเสพติด (ฝิ่น) และการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าซึ่งตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ให้คงเหลือบ้านพักนักท่องเที่ยว จำนวน 2 หลัง พื้นที่กางเต็นท์ 4 หลัง ระเบียงชมวิว 1 ระเบียง ส่งผลทำให้บ้านพักโฮมสเตย์ ระเบียงดาว ของพี่สาวอะลูมิถูกรื้อเหลือเพียง 2 หลัง
ภาพเหตุการณ์รื้อโฮมสเตย์บ้านนาเลาใหม่ ระหว่างวันที่ 18-22 มกราคม 2562
อะลูมิ บอกว่า เธอรู้สึกไม่ดีกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำไมไม่คุยกันดีๆ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านก็ไม่ได้ทำลายป่า ทำเพียงห้องพักในโซนหมู่บ้านเท่านั้น ตอนนั้นเธอและชาวบ้านหลายคนไปร้องเรียนหลายหน่วยงาน แต่ไม่เป็นผล ทำให้เธอและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ รวมตัวประท้วงปิดถนนทางเข้าหมู่บ้าน รวมไปถึงการร้องเรียนไปที่หน่วยงานของรัฐ และองค์กรสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง
นอกจากผลกระทบโดยตรงของนโยบายดังกล่าวยังส่งผลกระทบทางอ้อมที่ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ขัดแย้งกันเอง จากการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ในขณะที่กลุ่มหนึ่งนั้นถูกรื้อ ไม่ให้เปิดกิจการ แต่อนุญาตให้ชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกันทำกิจการได้เพียง 17 ราย จนเกิดความขัดแย้ง เพราะชาวบ้านที่เหลือมองว่า เป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับความเป็นธรรม
จนกระทั้งวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 มีการยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้มีตัวแทนจากบ้านนาเลาใหม่ จำนวน 22 คน โดยชาวบ้านระบุว่า ภายหลังคำสั่ง คสช. ได้มีการรื้อถอนบ้านพักโฮมสเตย์และให้เปิดโฮมสเตย์บ้านละ 2 หลัง และกางเต็นท์ได้ 4 หลังมีคำสั่งปิดหมู่บ้านนาเลาใหม่ ห้ามนักท่องเที่ยวเข้าพัก หรือแวะชม ซึ่งกำหนดให้ทำกิจการได้เพียง 17 ราย แต่ชาวบ้านที่เหลือทั้งหมด 24 รายกลับไม่ได้รับอนุญาติ ทำให้เกิดความแตกแยกในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้าน 24 รายเคยยื่นหนังสือหน่วยงานในพื้นที่คือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และนายอำเภอเชียงดาว แต่ต่างได้รับคำตอบว่าไม่มีสิทธิตัดสิน โดยการยื่นหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรมครั้งนี้ชาวบ้านต้องการความเป็นธรรมที่ชาวบ้านทั้งหมดควรจะได้รับสิทธ์ในการทำกิจการโฮมสเตย์ ให้ชาวบ้านจัดการบริหารกันเองตามเดิม เพื่อลดความขัดแย้งสร้างความสามัคคดีกันชุมชนอีกครั้งโดยไม่มีการแบ่งแยก
กรณีเจ้าหน้าที่รื้อโฮมสเตย์บางครอบครัวที่ถูกรื้อ ต้องอพยพลงมาอยู่ตัวอำเภอ ไปเปิดร้านคาราโอเกะแทน สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมล่มสลายหายไปด้วย
อาหมี่มะ เลายี่ปา เล่าว่า ก่อนหน้านั้น พ่อแม่และน้องสาว ทำโฮมสเตย์เล็กๆ โดยได้ทำการเช่าบ้านของชาวบ้านคนหนึ่งที่แต่เดิมเป็นบ้านเก่ามาปรับปรุงเป็นโฮมสเตย์
“แต่พอหลังจากเจ้าหน้าที่มีการเข้ามารื้อโฮมสเตย์กัน ชาวบ้านเริ่มมีปัญหาขัดแย้ง ทะเลาะกันเอง แตกกันเป็นสองกลุ่ม จนทำให้ครอบครัวของเรา เครียด ไม่อยากมีปัญหา จึงตัดสินใจพากันย้ายอพยพลงไปอยู่ในตัวอำเภอเชียงดาว แล้วไปทำร้านคาราโอเกะกันข้างล่าง แต่พอถึงฤดูทำไร่ ปลูกข้าว เราก็พากันขึ้นไปปลูกข้าวกันที่หมู่บ้านข้างบนกันอยู่ แต่หลักๆ ครอบครัวเราย้ายมาอยู่ข้างล่างกันหมดแล้ว”
เช่นเดียวกับ วุฒิชัย มงคลชัยวงศ์ ชาวบ้านฟ้าสวย เล่าว่า ตนมีพื้นที่อาศัยในบ้านนาเลาใหม่ด้วย ตอนแรกตั้งใจอยากจะทำโฮมสเตย์เหมือนกัน จำได้ว่า ตอนนั้น ผอ.สำนักบริหารที่ 16 ได้มาลงพื้นที่ออกสำรวจและประชุมชาวบ้าน ตนได้ลงชื่อขออนุญาตทำโฮมสเตย์ ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ของโครงการชีวมณฑลดอยเชียงดาว มาประชุมและบอกให้ระงับไว้ก่อน เพราะอยู่หย่อมบ้านฟ้าสวย ทั้งที่ตนก็มีพื้นที่ทำกินอยู่บ้านนี้เหมือนกัน
“ตอนนั้น ผมได้ซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เสาปูน หลังคา อะไรหมดไปเป็นแสนแล้ว จนถึงตอนนี้ ก็ยังรอลุ้นอยู่ว่าจะให้ผมทำโฮมสเตย์ได้เมื่อใด”
นโยบายทวงคืนผืนป่า ‘เพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน’
ดร.สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และคลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งศึกษาผลกระทบและเครื่องมือในการปฏิบัติตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบว่าในช่วงปี 2552-2556 กรมป่าไม้ดำเนินคดีกับชาวบ้านจำนวน 6,656 คดี แต่ในช่วงปี 2557-2558 มีจำนวนคดีถึง 9,231 คดี ส่วนการดำเนินคดีกับชาวบ้านของกรมอุทยานฯ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือในช่วงปี 2552-2556 ดำเนินคดีกับชาวบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตอนุรักษ์ประมาณ 5,000 คดี ขณะที่ในช่วงปี 2557-2559 มีประมาณ 6,000 คดี สรุปก็คือ การดำเนินคดีของกรมป่าไม้เพิ่มขึ้น 38 เปอร์เซ็นต์ และกรมอุทยานฯ เพิ่มขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์
สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จากการศึกษาพบว่า คสช. ผลักดันนโยบายทวงคืนผืนป่าโดยใช้ทั้งกฎหมายที่มีอยู่แล้วและคำสั่ง คสช. แต่สิ่งที่แตกต่างจากในอดีตคือ ประกาศสองฉบับกับแผนแม่บทหนึ่งแผน ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความรุนแรงมากขึ้น โดยคำสั่ง คสช. ได้เพิ่มตำรวจ ทหาร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และฝ่ายปกครอง เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย จากเดิมที่มีกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นสองหน่วยงานหลัก ขณะเดียวกัน คำสั่ง คสช. คาดโทษเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐบาลจากเลือกตั้ง เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีช่องทางในการปกป้องตัวเอง ทำให้การคาดโทษมีประสิทธิภาพ
“สิ่งที่ คสช.ทำ ถ้าเราดูเทียบกับงานศึกษากฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนในสมัยก่อน รูปแบบหลักๆ ของรัฐบาลเผด็จการในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนคือการตรากฎหมายโดยตรง จำกัดเสรีภาพโดยตรง ซึ่งมีในยุค คสช. เช่นกัน แต่สำหรับกฎหมายทวงคืนผืนป่า ไม่ได้ตรากฎหมายสารบัญญัติขึ้นมาเพิ่มโทษ หรือกำหนดสิทธิหน้าที่เพิ่มเติม สิ่งที่ทำคือ จัดโครงสร้างการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐใหม่ โดยเพิ่มอำนาจให้กับรัฐ และใช้กลไกและอำนาจที่มีอยู่ไปลดอำนาจประชาชน พอทำสองอันนี้ได้ ก็ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้น”
ดอยหลวง ไฟป่า ชีวมณฑล โฮมสเตย์ เด็กดื้อกับเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน
ต่อมา ในวันที่ 15 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ดอยเชียงดาว ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกจากยูเนสโก (UNESCO) โดยนับเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลลำดับที่ 5 ของไทย ทำให้ชาวบ้านนาเลาใหม่พยายามเรียนรู้และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลฐานทรัพยากรร่วมกันทุกหน่วยงานองค์กร โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการดูแลป่า การได้ขึ้นทะเบียนจัดตั้งให้ดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลครั้งนี้ ทุกคนต่างคาดหวังกันว่าจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ชาญพินิจ พันธุ์ยี่ปา ผู้ใหญ่บ้านนาเลาใหม่ บอกว่า การที่มีการประกาศให้ดอยหลวงเชียงดาว เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลนั้นเป็นสิ่งที่ดี
“แต่ปัญหาคือ ณ เวลานี้ ชาวบ้านยังไม่เข้าใจเลยว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑลนั้นคืออะไร ชาวบ้านจะตั้งรับอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่ทุกฝ่าย ต้องมาสร้างกระบวนการร่วมด้วยกัน ให้ป่าอยู่ได้ ดอยหลวงอยู่ได้ คนอยู่ได้ ไม่มีความขัดแย้งกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน”
อีกประเด็นสำคัญ พอเกิดปัญหาฝุ่นควันไฟป่าในพื้นที่ รัฐมักเหมารวมว่าชาวบ้านกลุ่มนี้ ทำลายป่า จนนำไปสู่การออกประกาศให้ปิดโฮมสเตย์ไม่มีกำหนดอีก ซึ่งกระทบต่อรายได้ โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ได้มีประกาศปิดดอยหลวงเชียงดาว ไม่มีกำหนด และจะกลับมาเปิดอีกครั้งจนกว่าจะแก้ไขปัญหาลักลอบเผาป่าบุกรุกล่าสัตว์จัดระเบียบโฮมสเตย์ เพื่อป้องกันความเสียหายพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่สำคัญของประเทศ
26 เมษายน 2567 อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ไฟป่าจนถึงปัจจุบัน (1 ตค. 66 – 25 เมย. 67) พบว่ามีจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์รวมทั้งสิ้น 43,290 จุด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งมีสถิติการเกิดไฟป่าสูงสุดขณะนี้อยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มีจุดความร้อนสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน พบจุดความร้อนสะสมแล้ว 197 จุด
โดยเมื่อ 25 เมษายน 2567 ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าบนพื้นที่ดอยนาง ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว ชุดดับไฟป่าสถานีดับไฟเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จำนวน 3 ชุดปฏิบัติการ พร้อมด้วย สมาชิกอส.อส.เชียงดาวที่ 6 ร่วมบูรณาการกับทีมงานฝ่ายปกครองท้องที่ ต.เมืองงาย ได้เข้าปฏิบัติการควบคุมไฟป่า เพื่อควบคุมไฟในพื้นที่ดอยนาง ตั้งแต่เวลา 21.00 น. โดยมีนายกฤตพล รชตเมธานนท์ นายอำเภอเชียงดาว ผอ.ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อำเภอเชียงดาว พร้อมด้วยปลัดอำเภอ ร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ต่อมา อรรถพล เจริญชันษา ได้ลงนามในประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงวันที่ 26 เมษายน 2567 ประกาศปิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อความสมบูรณ์และความหลากหลายด้านทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่สงวนชีวมณฑล โดยห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าไปในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวโดยมิได้รับอนุญาต ยกเว้นผู้ที่อยู่อาศัยหรือทำกิน ที่ได้มีการสำรวจการถือครองที่ดินไว้ตามมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการลักลอบเผาป่า การบุกรุกพื้นที่ป่า การล่าสัตว์ป่า ตลอดจนการจัดระเบียบที่พัก โฮมสเตย์ และการควบคุมการเข้าออกอย่างเหมาะสม เพื่อให้สภาพธรรมชาติได้ฟื้นฟูระบบนิเวศ และฟื้นตัวจากความเสียหาย โดยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สั่งการให้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยคณะทำงานด้านบังคับใช้กฎหมาย คณะทำงานด้านจัดที่ดินและการใช้ประโยชน์ คณะทำงานด้านฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางที่เหมาะสม สำหรับการบริหารจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวอย่างความเหมาะสม และยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ที่มาภาพ : องอาจ เดชา
บัณรส บัวคลี่ สื่อมวลชนอาวุโส และนักรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ วิเคราะห์ว่า ที่ผ่านมาในช่วงของการเกิดขึ้นของการทวงคืนผืนป่า เคยมีการจับกุมและรื้อถอนโฮมสเตย์ จากนั้นก็มีข่าวการเจรจาและจัดระเบียบหลายรอบ ล่าสุดหลังสงกรานต์ 2567 มีเหตุไฟป่าไหม้หลายจุดในเขตดอยหลวงเชียงดาว จนทำให้มีคำสั่งปิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการจัดระเบียบโฮมสเตย์
ปรัชญาแนวคิดของพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่มุ่งพัฒนาเขตอนุรักษ์อย่างยั่งยืนระหว่างนิเวศกับมนุษย์ มีพื้นที่ Core Zone อนุรักษ์อย่างเข้มข้น พื้นที่กันชน Buffer Zone ที่อนุญาตให้มีกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น รวมถึงพื้นที่เชื่อมโยง Transition Zone คล้ายๆ กับการจัดการมรดกโลก ซึ่งหากใช้กรอบที่ว่ามาสวมเข้ากับสิ่งที่เป็นอยู่จริง ชุมชนหมู่บ้านในเขตป่าน่าจะจัดอยู่ใน Buffer Zone ที่อนุญาตให้ทำกิจกรรมการท่องเที่ยว การพักแรมได้ ภายใต้แนวทางอนุรักษ์ ซึ่งเวลานี้แนวทางดังกล่าวก็ดำเนินอยู่ แต่ยังไม่สุด กล่าวคือ กรมอุทยานฯ เองก็ยังไม่คลอดกฎหมายลูกระเบียบต่างๆ รองรับสิทธิทำกินหรือประกอบอาชีพตามมาตรา 121 (รับรองสิทธิ) รวมถึงระเบียบปฏิบัติการทำโฮมสเตย์กิจการท่องเที่ยวต่างๆ ที่ทยอยบังคับใช้ ไล่ตามหลังความเติบโตด้านการท่องเที่ยว
“มันจึงเกิดความขัดแย้งขึ้นมาเป็นระยะๆ ตอนที่เจ้าหน้าที่จับกุมไล่รื้อโฮมสเตย์เมื่อปี 2561-2562 ในปีนั้นเกิดไฟป่ามากมายที่ดอยหลวงเชียงดาว ขนาดลามขึ้นยอดดอยซึ่งมันเป็นการสูญเสียใหญ่ของชาติทีเดียว โชคดีที่ไฟไม่ไปทำลายพืชพรรณเปราะบางบนยอด ทำให้สามารถฟื้นคืนกลับมาได้ แต่หากโชคไม่ดี ไฟในครั้งนั้นจะกลายเป็นไฟหายนะที่ทำลายพืชพรรณเฉพาะถิ่นกึ่งหิมาลัยที่มีอยู่แค่แห่งเดียวของประเทศไทยให้หายไปตลอดกาล ไฟที่เชียงดาวมีหลายสาเหตุ ซึ่งก็รวมถึงเคยมีไฟที่แกล้งจุดจากความไม่พอใจ ไฟสะท้อนความโกรธแค้น แม้หลายชุมชนคนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ ก็ยังเกิดมีเด็กดื้อแอบจุดไฟลักษณะที่ว่าเป็นไฟที่ไม่ควรเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไฟที่จุดเพื่อต่อรองโดยใช้ดอยหลวงเชียงดาวเป็นตัวประกัน ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกต่อไป”
บัณรส บอกอีกว่า ภาพอนาคตอำเภอเชียงดาว มีต้นทุนเดิมที่อุดมสมบูรณ์ ในแบบ Ecotourism destinations ระดับโลก แต่ต้องยอมรับว่ายังไปถึงขั้นนั้นไม่ได้เพราะยังติดปัญหาระเบียบขั้นตอนการบริหารจัดการภายใน ทั้ง ททท. ทั้งจังหวัดก็อยากพัฒนา ทั้งปรัชญาของพื้นที่สงวนชีวมณฑล ก็อยากเห็นการเชื่อมโยงแหล่งอนุรักษ์กับเศรษฐกิจยั่งยืนซึ่งก็ไม่หนีไปจาก Ecotourism และเศรษฐกิจสีเขียว จนบัดนี้ เป้าหมายร่วมกันของแต่ละฝ่ายยังไม่เกิดขึ้น สมควรที่จะต้องให้เกิดมี Master Plan ขึ้นมาสักแผนหนึ่ง ที่ฉายภาพร่วมกันให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในเขตพื้นที่มองเห็นด้วย ไหนๆ ก็ได้ตราของ UNESCO มาแล้ว ไปต่อให้ถึงเป้าหมายพื้นที่ท่องเที่ยวสีเขียวเชิงอนุรักษ์ระดับโลกเลยไหม? ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจสังคมวิถีชีวิตโดยรวมเท่านั้น เศรษฐกิจชุมชนระดับชาวบ้านอาจจะแก้ความขัดแย้งดั้งเดิม รวมถึงปัญหาไฟเกษตร ไฟป่า ไฟลักลอบ ไฟขัดแย้ง ได้ด้วย
กรมอุทยานฯ ชุมชน – ท้องถิ่น ลงนามเสนอมาตรการป้องกันไฟป่า และจัดระเบียบที่พักผู้ศึกษาธรรมชาติ ก่อนอนุญาตให้เปิดโฮมสเตย์อีกครั้ง
ด้วยเหตุนี้เอง กรมอุทยานฯ ได้ใช้มาตรการเข้มงวดขั้นสูงสุดประกาศปิดพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เนื่องจากมีการลักลอบจุดไฟเผาป่า ปัญหาที่พักโฮมสเตย์ที่เรื้อรัง ปัญหาการบุกรุกป่าที่เกิดขึ้นหลังปี 2554 ส่งผลให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไข แต่ยังมีเพียงบางกลุ่มที่ยังมีพฤติกรรมกระทำความผิด จึงต้องมีมาตรการทางกฎหมาย
เอนก อรุณโชติกาญจน์ ชาวบ้านนาเลาใหม่ และผู้ประกอบการโฮมสเตย์บ้านหมอกอรุณ อธิบายว่า เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ได้อนุญาตอย่างเป็นทางการ แต่ผ่อนผันให้เปิดชั่วคราว ซึ่งตอนที่ประชุมนั้น ตนไม่กล้าจะเสนอความเห็นอะไรมาก แต่ถ้าเป็นได้ตนอยากเรียกร้องให้เหมือนที่ผ่านมา เพราะปกติ ชาวบ้านที่ทำโฮมสเตย์จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปี หลังจากนั้น ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ก็จะเป็นช่วงเฝ้าระวังไฟป่าในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเป็นช่วงปรับปรุงซ่อมแซมโฮมสเตย์ไปด้วย หลังจากนั้น ก็จะเริ่มเปิดบริการที่พักตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีต่อไป แต่การประกาศห้ามเปิดโฮมสเตย์ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน
“เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านก็ไม่ได้ไปทำอะไรที่ผิดกฎระเบียบหรือบุกรุกป่าอะไรแล้ว พอเกิดไฟป่าไหม้รอบๆ ตีนดอย เราก็ไปช่วยกันจัดการดับไฟไม่ให้ลุกลามขึ้นไปบนดอย การทำโฮมสเตย์เราก็ทำกันในภายหมู่บ้าน ไม่ได้ไปกระทบอะไรกับพื้นที่ป่า ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งที่ดีเสียอีก ที่ชาวบ้านไม่ต้องไปทำไร่หรือบุกเบิกพื้นที่ทำกินกันเพิ่ม ถ้าสังเกตดูพื้นที่รอบๆ จะเห็นว่าตอนนี้ ชาวบ้านมีการลดพื้นที่ทำไร่ไปแล้วประมาณ 80% เพื่อมาทำโฮมสเตย์ และมีรายได้ตรงนี้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อเจ้าหน้าที่ ทำให้พื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นสีเขียว ป่าฟื้นขึ้นมาเองตามธรรมชาติ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ชาวบ้านเปิดโฮมสเตย์ให้เป็นปกติต่อไป ไม่ต้องมาปิดๆ เปิดๆ แบบนี้อีก”
ด้าน อะลูมิ บอกเล่าเพิ่มเติมกับประเด็นนี้ว่า ในที่ประชุมร่วมกันที่ผ่านมา ตนถือเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สมมติว่าเกิดเหตุการณ์ไฟป่าไหม้บนดอยอีก เจ้าหน้าที่เขาก็นำเป็นข้ออ้างและมีคำสั่งปิดโฮมสเตย์กันอีก การผ่อนผันให้เปิดโฮมสเตย์รอบนี้ ก็อนุญาตไปจนถึงกุมภาพันธ์เท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้น เราก็ไม่รู้สถานการณ์ว่ายังไงต่อไป
“ประเด็นปัญหาตอนนี้คือ ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่มักเอาเรื่องไฟป่ามาเป็นข้ออ้าง ซึ่งที่ผ่านมา กรณีเกิดไฟป่าไหม้ส่วนใหญไฟมันไหม้ลามมาจากพื้นที่อื่น แต่ชาวบ้านก็ช่วยกันดับไฟป่ากันอยู่แล้ว อย่างปีทีแล้ว ไฟไหม้แถวดอยนาง พอไฟไหม้จากที่ไหนไม่รู้ แต่ก็มาโทษว่าชาวบ้านนาเลาใหม่ รวมไปถึงคนข้างล่างก็ชอบเหมารวมว่าเป็นเพราะคนบ้านเรา สุดท้ายก็ประกาศปิดโฮมสเตย์ ตอนนี้ พอเกิดเหตุกาณ์อะไรขึ้นมา ไม่ว่าไฟป่า หรือน้ำท่วม ทุกคนก็มักโทษแต่คนดอย อะไรๆ ก็กล่าวหาคนดอยว่าเป็นตัวการ พอน้ำท่วม ก็บอกคนดอยตัดไม้ทำลายป่า พอไฟไหม้ ก็บอกคนดอยเผาป่า คือยังคงมีอคติต่อพี่น้องชนเผ่ากันอยู่เหมือนเดิม”
ส่งผลให้วันที่ 10 สิงหาคม 2567 กรมอุทยานฯ มีการจัดประชุมร่วมกับฝ่ายปกครอง และท้องถิ่นในอำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง รวมไปถคงคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ที่ทุกฝ่ายเห็นชอบตามข้อตกลงร่วมกันกำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติ ได้แก่ 1.การจัดการไฟป่า การจัดการพื้นที่บุกรุกใหม่หลังปี 2557 การจัดระเบียบที่พักผู้ศึกษาธรรมชาติ 2.การจัดการไฟป่า ขอให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการป้องกันไฟป่า โดยเฉพาะพื้นที่ทำกินที่ติดกับป่าให้ทำแนวกันไฟ หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามกฎระเบียบชุมชน 3.การจัดการพื้นที่บุกรุกหลังปี 2557 จะมีมาตรการแนวทางในการคืนพื้นที่ และฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม 4.การจัดระเบียบที่พักผู้ศึกษาธรรมชาติ ในระยะเร่งด่วนทุกฝ่ายเห็นชอบไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนรายของผู้จัดหาที่พักและจำนวนบ้านพัก จนกว่าจะมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งทุกฝ่ายได้ให้ความเห็นชอบและร่วมกันลงนามในบันทึกความร่วมมือดังกล่าว
เหตุการณ์คลี่คลาย โฮมสเตย์ฟื้นคืนมา ผ่านกลไกชาวบ้าน ตั้งกติกาชุมชนร่วมกัน
หลังการล็อคดาวน์โควิด-19 ถูกยกเลิก ทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน เริ่มผ่อนคลายลง ทำให้โฮมสเตย์ฟื้นตื่นขึ้นมาอีกครั้ง อะลูมิ ยังบอกอีกว่า ปัญหาทุกอย่างกำลังคลี่คลายลง และชาวบ้าน ชุมชนเริ่มเข้มแข็งมากขึ้น
“ตอนนี้ ความขัดแย้งของชาวบ้าน เริ่มลดลง ถกเถียงโต้แย้งกันในที่ประชุมแล้วก็จบ ไม่ชวนกันทะเลาะขัดแย้งกันข้างนอกอีกแล้ว ถือว่า ทุกคนได้บทเรียน เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เข้าใจกันแล้ว ไม่ต้องไปฟังเสียงยุแหย่จากคนข้างนอกเหมือนที่ผ่านมา ตอนนี้ชาวบ้านสามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหาภายในชุมชนกันได้แล้ว”
และ ชาญพินิจ ยังบอกต่อว่า เราต้องการให้ชาวบ้านทุกคน ทำมาหากินกันอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม จึงมีการประชุมหมู่บ้าน เพื่อร่วมกันสร้างกติกาชุมชนกันใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการทำโฮมสเตย์ของชุมชนลีซูบ้านนาเลาใหม่
“มติในที่ประชุมชาวบ้าน ให้ตั้งราคาค่าที่พักในอัตราเท่ากัน คือ ที่พักแบบบ้านหรือห้องพัก ให้คิดในราคาคนละ 650 บาท รวมอาหารเช้า และที่พักแบบเต็นท์นอน ให้คิดในราคาคนละ 550 บาท ถ้าเจ้าของโฮมสเตย์จะลดราคาต่ำกว่า ก็แล้วแต่ลูกค้ากับเจ้าของจะคุยกัน แต่ห้ามตั้งราคาเกินที่กำหนดไว้ ที่สำคัญคือให้มีการหัก 20 บาทต่อคน เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปเข้ากองทุนหมู่บ้าน เพื่อจะได้นำเงินก้อนนี้ไปช่วยกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน และสนับสนุนเรื่องการจัดการไฟในพื้นที่”
ภาพการประชุมหมู่บ้านเรื่องการบริหารกองทุนหมู่บ้าน ของกลุ่มผู้ประกอบการโฮมสเตย์
และล่าสุด เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2567 ในที่ประชุมหมู่บ้านเรื่องการบริหารกองทุนหมู่บ้าน ของกลุ่มผู้ประกอบการโฮมสเตย์ ซึ่งทุกคนเข้าใจและพร้อมให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี
“จากการเริ่มเปิดโฮมสเตย์ ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.-10 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา เราได้รับเงินจากการหักจากรายได้ 20 บาทต่อหัวต่อคน ก็ได้เงินประมาณ 50,000 บาท ซึ่งในที่ประชุมหมู่บ้าน มีมติกันครั้งนี้ว่า ให้นำเงินส่วนหนึ่งมาปรับปรุงซ่อมแซมถนนในหมู่บ้าน อีกส่วนหนึ่ง ก็จะเก็บไว้สำหรับกองทุนเฝ้าระวังไฟป่ารอบดอยหลวงกันต่อไป”
เรียนรู้ ปรับตัว กับโลกสมัยใหม่ ให้วิถีลีซูอยู่คู่กับการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน
ทุกวันนี้ อะลูมิ ตัดสินใจปรับลานหน้าบ้าน ให้กลายเป็นร้านอาหาร ของฝาก ร้านกาแฟ และจุดชมวิว เพื่อพยายามเรียนรู้และปรับตัว ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอด จึงได้ชวนพี่ๆ น้องๆ มาช่วยกันทำ ‘น้ำพริกลีซูนรก’ ขายในออนไลน์ สร้างรายได้ในระดับหนึ่ง
“เราใช้ล่าจวึ๊…เป็นพริกพันธุ์พื้นเมืองของลีซูดั้งเดิม จะมีเมล็ดอวบอ้วน เผ็ดไม่ธรรมดา ชาวบ้านจะปลูกไว้ตามบ้าน ตามไร่ ตามสันดอย เราเอามาทำ ‘ล่าจวึ๊ลูลู๊’ หรือน้ำพริกคั่วน้ำพริกนรกกินกันอยู่แล้ว ต่อมา เราทำน้ำพริกให้ลูกค้าที่มาพักโฮมสเตย์ แล้วลูกค้าชอบ ติดใจน้ำพริก ขอซื้อนำกลับไปบ้าน จากนั้น ก็จะมีลูกค้าประจำ สั่งซื้อจากเราทางออนไลน์ เราแพ็คใส่กระปุก จัดส่งให้ทางไปรษณีย์ได้ทั่วประเทศ”
‘ล่าจวึ๊ลูลู๊’ หรือน้ำพริกคั่วลีซู
อะลูมิ บอกย้ำว่า ตอนนี้ชาวบ้านมีความฝันร่วมกันว่า ถ้าเป็นไปได้ เราอยากให้ชุมชนของเราเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เพราะที่ผ่าน เราเจอกับวิกฤติปัญหามากมาย ทั้งปัญหาภายในชุมชนเอง และปัญหาจากคนภายนอก จากภาครัฐด้วย
เมล็ดถั่วลายเสือ
“มาถึงตรงนี้ เรามีกติกาชุมชนแล้ว ก็อยากให้พี่น้องชนเผ่าลีซูร่วมกันคิดเรื่องการท่องเที่ยวว่าทำอย่างไรให้มีความยั่งยืนจริงๆ ซึ่งในส่วนตัว อยากจะทำปฏิทินการท่องเที่ยวในชุมชนตลอดทั้งปี ว่าในแต่ละเดือน ชุมชนเรามีประเพณีวัฒนธรรมดีๆ อะไรบ้าง ที่จะนำเสนอให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเที่ยวชมกันตลอดทั้งปี”
ที่มาภาพ :องอาจ เดชา
อะลูมิ ยังบอกอีกว่า ในอนาคตอยากจะมี ‘ตลาดชุมชนคนลีซู’ โดยเปิดโอกาสให้พี่น้องลีซูทั้งหย่อมบ้านฟ้าสวย นาเลาเก่า นาเลาใหม่ นำผลผลิตการเกษตร พืชผัก ผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งทุกคนปลูกไว้กินในไร่กันอยู่แล้ว อย่างเช่น ข้าวไร่ข้าวดอย พริก ฟักเขียว ฟักทอง แตงกวา น้ำพริก รวมไปถึงเสื้อผ้า ถุงย่าม เครื่องดนตรีชนเผ่า ของดีๆ เหล่านี้เรามีอยู่แล้ว สามารถนำมาวางขายในตลาดชุมชนได้
ทั้งหมดคือทางออก หนทางความหวังของชาวบ้านลีซูนาเลาใหม่ ดอยหลวงเชียงดาว รวมไปถึงนโยบายรัฐ และความขัดแย้งที่รอการแก้ไขคลี่คลายไปในทางที่ดีและยั่งยืนต่อไป
มีความหวังแต่ยังหวั่น ชีวิตเหมือนอยู่บนเส้นด้าย เมื่อรัฐแอบดัน 2 พ.ร.ฎ.ให้ป่าปลอดคน!
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจาก “พ.ร.ฎ.ป่าอนุรักษ์” ได้มีการรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลแพทองธาร หยุดผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกาป่าอนุรักษ์เข้า ครม. เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจะทำให้มีประชาชนที่อยู่ในเขตป่าถูกไล่ออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก เพราะเนื้อในที่ซ่อนอยู่ของตัวบทกฎหมายสองตัวนี้คือให้ “ป่าปลอดคน”
อาลูมิ บอกเล่าด้วยสีหน้าวิตกกังวลว่า นี่เป็นกฎหมายลูกที่เขาต้องการบีบบังคับชนเผ่าทางอ้อม ให้เอาคนออกจากป่าเลย และบังคับให้คนอยู่กับป่าผิดตลอดเวลา
“มันเหมือนกับกฎหมายตัวนี้มันคุ้มครองสัตว์ แต่ไม่ได้คุ้มครองคนที่อยู่ในป่าเลย ถ้าเอามาใช้จริง มันจะทำลายคนดอยหมดเลย ไม่มีผลดีสำหรับคนในป่าเลย ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว บ้านนาเลาใหม่ ปัญหาเรื่องโฮมสเตย์นี้ ก็จะเป็นเรื่องเล็กไปเลย เพราะกฎหมายตัวนี้มันจะทำลายวิถีชุมชนดั้งเดิมทั้งหมด ตอนนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้ข่าวนี้ แต่สำหรับเราพร้อมที่จะลงไปประท้วงคัดค้านอย่างแน่นอน”
ในขณะที่ชีวิตยังต้องสู้ต่อไป ยังมีความหวัง แต่ลึกๆ ข้างใน อาลูมิก็ยังรู้สึกหวั่นๆ ในความไม่แน่นอนของวิถีคนอยู่กับป่า
“ชีวิตคนดอยของพวกเรานั้นเหมือนอยู่บนเส้นด้าย มันไม่มีอะไรแน่นอน ไม่รู้ว่าจะขาดเมื่อใด เพราะต้องขึ้นอยู่กับข้อระเบียบกฎหมายหรือนโยบายรัฐว่าจะออกคำสั่งมาอย่างไรอีก จะกระทบพี่น้องเราอย่างไรอีก”
ข้อมูลและอ้างอิง