เรื่อง: วรปรัชญ์ เมืองยศ

ตอนที่ 1 แล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ

เมื่อสยามคืบคลาน

จากการเข้ามามีส่วนในการเข้ามามีอำนาจในพื้นที่เชียงใหม่ของรัฐส่วนกลาง  และการเข้ามาของข้าหลวงพิเศษผู้มีอำนาจเต็มเฉกเช่นพระมหากษัตริย์ คือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต พ.ศ. 2428 นำมาสู่รูปแบบการเก็บภาษีอากรรูปแบบใหม่ จากการเก็บภาษีจากต้นหมาก ใบพลู จากเคยเก็บจากผลและใบมาเก็บเป็นต้น โดยไม่สนว่าต้นจะให้ผลหรือไม่ และต้องเปลี่ยนไปเป็นการเก็บแบบเงินจ่ายปีละครั้ง และจากการเก็บภาษีจากต้นหมากใบพลูที่สูงขึ้นทำให้การประมูลภาษีสูงขึ้น และเปิดโอกาสให้คนทั่วไปประมูลเพื่อเป็นนายภาษีอากรเพื่อผูกขาดการเก็บภาษีได้ ยิ่งประมูลภาษีหมาก พลูและให้ราคาสูงเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากรัฐสยามในการทำหน้าที่การเก็บภาษีจากชาวบ้าน

โดยการเก็บภาษีและการเสียประโยชน์ของเจ้านายฝ่ายเหนือและจากการขูดรีดชาวบ้าน จากรูปแบบการเก็บภาษีระบอบกรุงเทพฯ ข้างต้น ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ทุกข์ยากแก่อาณาราษฎรณ์เชียงใหม่ และกรณีที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดการกระทำที่เรียกว่ากบฏคือกรณีของน้อยวงศ์ ผู้ประมูลภาษีหมากพลูและมะพร้าวต้องจ่ายให้รัฐส่วนกลางถึง 41,000 รูปี ซึ่งมากกว่าอัตราประมูลภาษีเดิมของหนานทาผู้เป็นนายภาษีเดิมถึง 16,000 รูปี ด้วยอัตราการประมูลที่สูงจึงทำให้น้อยวงศ์ต้องเก็บภาษีสูงขึ้นตามไปด้วย ภาระจึงไปตกอยู่ที่ประชาชนชาวบ้านที่ต้องจ่ายภาษีที่สูงขึ้น และด้วยภาษีที่สูงขึ้นจึงทำให้มีชาวบ้าน 4 คนที่ไม่สามารถจ่ายเป็นเงินได้จึงขอจ่ายเป็นรูปแบบของผลผลิตทางเกษตร คือ       ‘หมาก’ แทนการจ่ายในรูปแบบเงิน แต่น้อยวงศ์ไม่ยอมรับข้อเสนอและได้จับกุมใส่ขื่อคาและประจาน ซึ่งมองเป็นการทารุณกรรมได้

การลงโทษและจับกุมประชาชนที่ด้วยเหตุผลที่เกิดจากการขูดรีดภาษีนั้นเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ชาวบ้านโกรธแค้นต่อการกระทำที่ทารุณ ประกอบกับการเก็บภาษีของระบอบกรุงเทพที่มีการเก็บภาษีที่สูงจนทำให้ประชาชนเกิดการปรับตัวไม่ทัน ชาวบ้านจึงรวมตัวกันไปปรึกษาพญาผาบที่ไม่พอใจกับการทารุณประชาชนเช่นกัน จึงส่งลูกน้องของตนไปถอดขื่อคาของชาวบ้านทั้ง 4 และขับไล่นายภาษีอากรจนทำให้นายภาษีอากรไม่พอใจ และเกิดความตึงเครียดกันขึ้นมาและมีการขู่นำกำลังทหารจากเมืองเชียงใหม่มาปราบปรามพญาผาบ

จากเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการรวมตัวกันของราษฎรณ์เข้าพึ่งบารมีของพญาผาบ และได้มีการนิมนต์พระมาทำพิธีไสยศาสตร์ให้อยู่ยงคงกระพัน ณ วัดฟ้ามุ่ย แขวงจ๊อม โดยมีครูบานาราต๊ะเป็นประธาน พร้อมกันนั้นก็ดื่มน้ำสาบาน และการตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าของพญาผาบ เริ่มมีการรวบรวมกำลังพลอย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น และกำลังพลมิใช่เพียงชาวบ้านชาวนาเพียงเท่านั้น แต่ยังมีผู้นำในพื้นที่ระดับแคว้นเป็นกำลังพลให้ด้วย จึงเกิดเป็นกองกำลังต่อต้านซึ่งทางรัฐสยามเรียกกันว่า ‘กบฏ’ ขึ้นมาทันที

ภาพ: วรปรัชญ์ เมืองยศ

ผู้ร้ายในสายตาผู้เสียผลประโยชน์และวีรบุรุษของผู้เสียผลประโยชน์?

พญาผาบ(ปราบสงคราม) หรือ หนานเต๋จ๊ะ อดีตแม่ทัพเชียงใหม่อำเภอสันทราย แขวงหนองจ๊อม ผู้นำปราบชาวชาวไทใหญ่ที่ก่อตัวเป็นกบฏแถบลุ่มน้ำสาละวิน จนได้รับชื่อ พญา นำหน้าตัว เป็นผู้นำการลุกฮือต่อต้านรูปแบบการเก็บภาษีตามระบอบกรุงเทพฯ ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นรูปแบบตะวันตกของรัชสมัยของรัชกาล 5  โดยเปลี่ยนแปลงผลผลิตทางการเกษตรไปเป็นการเก็บภาษีในรูปแบบของเงิน ซึ่งเป็นมูลเหตุของความขัดแย้งและการก่อการที่เรียกว่ากบฏภาษี, กบฏชาวนาหรือกบฏพญาผาบในปี พ.ศ. 2432

หากจะมองว่าพญาผาบเป็นวีรบุรุษหรือผู้ก่อการร้าย  เราต้องมาดูและวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ผลักดันให้เกิดวีรบุรุษหรือผู้ก่อการร้ายนามพญาผาบ สิ่งที่ก่อให้เกิดความครั่นคร้ามหวั่นไหวหรือเทิดทูนยกย่อง และส่งผลให้มุมมองที่มองบุคคลนามพญาผาบให้ต่างกันนั้น ในที่นี้คือเรื่องของผลประโยชน์ การถูกลดทอนบางสิ่งที่เป็นของตนไป หากจะกล่าวว่าผู้คนจะรู้สึกถึงความแปลกปลอมเมื่อความปกติธรรมดาที่เราอยู่กับมันจนชินมันเกิดความผิดปกติอะไรสักอย่าง ในมุมของชาวเชียงใหม่ในสมัยพญาผาบ สมัยของการรวมรัฐชาติและการเข้ามามีส่วนในเศรษฐกิจในล้านนาของกรุงเทพ การเข้ามาของข้าหลวงพิเศษคือพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าโสณบัณฑิต และระบบการเก็บภาษีของสยามเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตปกติประจำวันของชาวเชียงใหม่หายไป

จากเดิมเมื่อก่อนการเก็บภาษีของชาวล้านนานั้นเป็นผลผลิตทางการเกษตร แต่มากลับกลายเป็นการจ่ายในรูปแบบของเงินตรา ชาวบ้านจึงปรับตัวไม่ทันกับระบบนี้ และกอปรกับระบอบภาษีแบบกรุงเทพจึงกลายเป็นสิ่งที่ทำให้วิถีชีวิตปกติของชาวล้านนาเชียงใหม่หายไป การถูกเบียดเบียนและการเสียผลประโยชน์จากการใช้ชีวิตตรงนี้ ทำให้การลุกขึ้นมาต่อต้านระบอบกรุงเทพของพยาผาบเป็นวีรบุรุษในสายตาของเหล่าชาวบ้านชาวนาทั้งหลายและตอบสนองต่อความโกรธแค้นของชาวบ้าน รวมถึงในมุมมองเจ้านายฝ่ายเหนืออีกด้วย จากเหตุการณ์ที่อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือเสริมความรู้ท้องถิ่นล้านนาเรื่อง ‘วีรกรรมพญาผาบ(หนานเต๋จ๊ะ แห่งแขวนหนองจ๊อมสันทราย)’ ที่ว่าเชียงใหม่สูญเสียสัมปทานป่าไม้ทั้งหมดและทรัพยากรที่มีค่าให้แก่บริษัทต่างชาติคืออังกฤษ จากสถานการณ์ข้างต้น การเข้ามาของรูปแบบการปกครองใหม่ของรัชกาลที่ 5 จึงทำให้ทางกรุงเทพรวบรวมทรัพยากรและกิจการป่าไม้เหล่านี้ให้เป็นการจัดการของส่วนกลางทั้งหมด ทำให้เชียงใหม่สูญเสียผลประโยชน์ ณ จุดนี้

ด้วยสาเหตุนี้ที่ทำให้เจ้านายฝ่ายเหนือของเชียงใหม่ในสมัยของเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 (2413 – 2440) ไม่พอใจที่ต้องเสียประโยชน์ตรงส่วนนี้ จึงเฉยเมยต่อการลุกขึ้นมาต่อต้านขัดขืนของพญาผาบ กรุงเทพ เห็นได้จากการช่วยเหลืออยู่เบื้องหลังของเจ้าอินทวิชยานนท์เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ข้าหลวงพิเศษจากกรุงเทพขอกำลังในการปราบปรามการลุกฮือของพญาผาบที่บุกยึดเมืองฝาง แต่เจ้าฟ้าอินทวิชยานนท์กลับปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าพญาผาบเป็นผู้มีบุญคุณต่อบ้านเมือง ไม่สามารถปราบผู้ที่มีความดีความชอบต่อบ้านเมืองตนได้  ด้วยเหตุนี้สิ่งที่พญาผาบทำคือการเรียกร้อง ‘ความยุติธรรม’ ให้แก่ราษฎรที่ถูกข่มเหงรังแกและโดนกดขี่จากระบอบการปกครองใหม่ที่มา เรียกได้ว่าคือวีรบุรุษในสายตาของผู้คนในเชียงใหม่และเจ้านายฝ่ายเหนือที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการกดขี่ข่มเหงของระบอบเก็บภาษีแบบกรุงเทพ

แต่อีกในแง่มุมหนึ่งพญาผาบก็ถูกว่ามองว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบจากกรอบแว่นของส่วนกลางหรือกรุงเทพ พญาผาบเปรียบเหมือนจุดดำในผืนผ้าขาวเป็นความผิดปกติของระบอบการปกครองแบบใหม่ของกรุงเทพในพื้นที่เชียงใหม่ ตามกฎหมายคำว่า กบฏ คือความผิดทางอาญา ฐานเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และกำหนดโทษสำหรับผู้ก่อการกบฏให้จำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต และหากว่าตามกฎหมายของไทยการต่อต้านของพญาผาบที่ทำเพื่อความยุติธรรมให้แก่ชาวบ้าน ก็ดูจะเป็นลักษณะของคำว่า กบฏ ในมุมมองของกรุงเทพ ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

และแน่นอนด้วยเหตุจากยุทโธปกรณ์ที่ล้าสมัย และสถานการณ์ไม่เป็นใจในการทำการอารยะขัดขืนจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 – 20 กันยายน 2432 ที่พญาผาบได้ยกทัพบุกเมืองเชียงใหม่หมายฆ่าคนไทยภาคกลางกับพ่อค้าชาวจีน เกิดเหตุฝนตกหนักน้ำปิงท่วมท้นบริเวณวัดเกตุ และเกิดความไม่พร้อมเพรียงกันของคนของพญาผาบ ทำให้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2432 จึงแพ้ต่อกองกำลังที่ทางการส่งมาปราบด้วยยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยกว่า จึงถูกจับกุมและได้รับโทษประหารชีวิต 12 คน ระดับรองถูกเฆี่ยน 90 ทีอีก 15 คน และถูกพิจารณาโทษจำคุกตลอดชีวิต  นอกนั้นถูกเฆี่ยน 30 ทีและภาคทัณฑ์ไว้ ส่วนพญาผาบหลังจากพ่ายแพ้ต่อการปราบปรามก็ได้พาครอบครัวหลบหนีไปที่เมืองเชียงตุง และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเจ้าเมืองเชียงตุงพร้อมตั้งหลักที่เมืองโก เมืองบริวารของเมืองเชียงตุงซึ่งเจ้าเชียงตุงให้พญาผาบปกครอง

เมื่อได้สัมภาษณ์ผู้อยู่ในพื้นที่สันทราย แขวงหนองจ๊อม ชาวบ้านไม่ได้มองว่าพญาผาบเป็นกบฏ และจะโกรธมากหากใครบอกว่าเป็นกบฏ นาย ประสิทธิ เก่งกาจ ครูภูมิปัญญาภาษาวรรณกรรมล้านนาได้ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านแถบสันทรายมองพญาผาบเป็น ‘วีรบุรุษ’ เรื่องราวของพญาผาบที่เรียกร้องความยุติธรรมจากการเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม เป็นวีรกรรมที่ตกทอดมายังลูกหลาน เป็นวีรบุรุษของล้านนา และชาวบ้านภูมิใจในวีรกรรมนี้จนเกิดมาเป็นหอธรรมพญาผาบในเวลาต่อมา

ภาพ: วรปรัชญ์ เมืองยศ

จะเห็นได้ว่าการกระทำของพญาผาบได้รับคำว่า ‘กบฏ’ เป็นคำที่รัฐส่วนกลางยัดเยียดให้ มอบความหมายของผู้ก่อความไม่สงบและต่อต้านขัดขืนแก่พญาผาบ เพราะสถานการณ์อันไม่สงบที่สยามได้รับจากการลุกขึ้นมาต่อต้าน แต่ในมุมกลับกันพญาผาบเรียกได้ว่าเป็นวีรชนวีรบุรุษของชาวบ้านชาวนาที่โดนกดขี่จากระบอบการเก็บภาษีของกรุงเทพ และสุดท้ายการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมของพญาผาบ ก็ยังผลและสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความยุติธรรมแก่ชาวบ้านชาวเมืองเชียงใหม่ แม้จะเป็นผู้ก่อความไม่สงบในสายตาของรัฐส่วนกลางก็ตาม

เชิงอรรถ

  • นพคุณ ตันติกุล. วีรกรรมพญาผาบ (หนานเต๋จ๊ะ แห่งแขวงหนองจ๊อมทันทราย). เชียงใหม่: มิ่งขวัญ, 2546.
  • คนไกล วงนอก. (2566). พ.ศ.2432 พญาผาบผู้นำกบฏชาวนา ต่อสู้กับระบบกรุงเทพ. สืบค้น 16 ธันวาคม 2565. จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_87882
  • องอาจ เดชา. (2557). เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ยุคกบฏผญาผาบ ผ่านชีวิต ตัวตน ‘ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร’ สืบค้น 16 ธันวาคม 2565. จาก https://prachatai.com/journal/2014/10/55836