แอมเนสตี้ เปิดตัวแคมเปญ “Protect the Protest” ปกป้องสิทธิในเสรีภาพการชุมนุม!​

19/07/2022

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เปิดตัวแคมเปญระดับโลกครั้งใหม่ เพื่อเผชิญหน้ากับความพยายามของรัฐที่ขยายตัวและเข้มข้นมากขึ้นในการบั่นทอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน อันได้แก่สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมที่ต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และยังขยายตัวไปในทั่วทุกภูมิภาคของโลก ​ ​

จากรัสเซียถึงศรีลังกา ฝรั่งเศสถึงเซเนกัล และอิหร่านถึงนิการากัว ทางการในประเทศต่างๆ ได้ใช้มาตรการเพิ่มขึ้นเพื่อปราบปรามการรวมตัวแสดงความเห็นต่าง ผู้ชุมนุมทั่วโลกกำลังเผชิญกับมาตรการกดดันครั้งสำคัญในหลายรูปแบบ ทั้งการประกาศใช้กฎหมายและมาตรการที่เพิ่มขึ้นเพื่อจำกัดสิทธิในเสรีภาพการชุมนุม การใช้กำลังโดยมิชอบ การเพิ่มการสอดแนมข้อมูลอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายในวงกว้างและเป็นรายบุคคล การสั่งปิดอินเตอร์เน็ต การเซ็นเซอร์ออนไลน์ การถูกข่มเหง และการถูกตีตรา ในเวลาเดียวกันกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบและถูกเลือกปฏิบัติต้องเผชิญกับอุปสรรคที่เพิ่มขึ้น ​ ​

แคมเปญ “Protect the Protest” (ปกป้องสิทธิในเสรีภาพการชุมนุม) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นการท้าทายต่อการโจมตีการชุมนุมโดยสงบ เป็นการยืนหยัดเพื่อคนที่ตกเป็นเป้าหมาย และสนับสนุนเจตจำนงในการต่อสู้ของขบวนการเพื่อสังคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชน ​ ​

ดร.แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการรวมตัวชุมนุมครั้งใหญ่สุดในรอบหลายทศวรรษ ขบวนการแบล็คไลฟ์แม็ทเทอร์ (Black Lives Matter) มีทู (Me Too) และขบวนการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนหลายล้านคนทั่วโลก ออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนนและทางออนไลน์ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมด้านเชื้อชาติและสภาพภูมิอากาศ ความเท่าเทียมและการหาเลี้ยงชีพ การยุติความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติทางเพศสภาพ ในที่อื่นๆ ประชาชนได้รวมตัวหลายพันคนต่อต้านความรุนแรงและการสังหารโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ การปราบปรามและการกดขี่ของรัฐ ​

“โดยแทบไม่มีข้อยกเว้น คลื่นมหาชนของผู้ชุมนุมเหล่านี้ ต้องเผชิญกับการตอบโต้ที่มุ่งขัดขวาง ปราบปราม และมักใช้ความรุนแรงของทางการ แทนที่จะสนับสนุนการใช้สิทธิในการชุมนุม รัฐบาลได้พยายามมากขึ้นที่จะปราบปรามพวกเขา ซึ่งเป็นเหตุให้พวกเราในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชนใหญ่สุดของโลก ได้เลือกใช้ขบวนการนี้เพื่อเปิดตัวการรณรงค์ครั้งนี้ ถึงเวลาที่จะต้องลุกฮือขึ้น และประกาศด้วยเสียงดังต่อผู้มีอำนาจ เพื่อให้ทราบว่าเรามีสิทธิในการชุมนุมประท้วงที่ไม่อาจพรากไปได้ เพื่อแสดงออกถึงความทุกข์ยาก และเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างเสรี จากการรวมตัวและอย่างเปิดเผย”​


กฎหมายจำกัดสิทธิ คำสั่งห้ามแบบเหมารวม และอำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉิน ​ ​

ปัญหานานัปการ ทั้งวิกฤตสิ่งแวดล้อม ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้นและภัยคุกคามต่อการดำรงชีพ การเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ และความรุนแรงบนฐานเพศสภาวะ ต่างทำให้การรวมตัวของมวลชนเป็นเรื่องจำเป็นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน รัฐบาลตอบโต้ด้วยการประกาศใช้กฎหมาย เพื่อใช้อำนาจควบคุมจำกัดสิทธิในการชุมนุมประท้วง ยกตัวอย่างเช่น เราต้องเผชิญกับคำสั่งห้ามการชุมนุมแบบเหมารวม อย่างในกรณีของกรีซและไซปรัส ในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในสหราชอาณาจักร มีการประกาศใช้ กฎหมายใหม่ ซึ่งให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งการสั่งห้ามการประท้วงที่ส่งเสียงดัง ส่วนใน เซเนกัล ทางการสั่งห้ามการเดินขบวนทางการเมืองที่ใจกลางเมืองดาการ์ ตั้งแต่ปี 2554 ทำให้ไม่มีการประท้วงใกล้กับอาคารที่ทำการของรัฐบาล ​ ​

รัฐบาลในทุกประเภทยังอ้างสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มการใช้อำนาจในการปราบปรามผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย ส่วนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก การประกาศ ‘สถานการณ์ควบคุมพิเศษ’ ของรัฐบาล ให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เพื่อสั่งห้ามการประท้วงในจังหวัดอีทูรีและคีวูเหนือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ​ ​

​การใส่ร้ายผู้ชุมนุม ​

รัฐบาลทั่วโลกต่างหาเหตุผลมาสนับสนุนการจำกัดสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยอ้างว่าเป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อย โดยการตีตราผู้ชุมนุม ใส่ร้ายพวกเขาว่าเป็น “ผู้สร้างปัญหา” “ผู้ก่อจลาจล” หรือแม้แต่ “ผู้ก่อการร้าย” การกล่าวหาผู้ชุมนุมเช่นนี้ ทำให้ทางการมีเหตุผลมาสนับสนุนการใช้แนวทางที่เข้มงวดอย่างสุดโต่ง อันนำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงที่มีเนื้อหาคลุมเครือและมีบทลงโทษที่รุนแรง และเป็นการใช้กฎหมายอย่างมิชอบ มีการใช้มาตรการควบคุมการชุมนุมอย่างเข้มงวด และการใช้มาตรการเพื่อป้องกันการประท้วงในรูปแบบต่าง ๆ ​ ​ ​

เราได้เห็นแนวปฏิบัติเช่นนี้ในฮ่องกง มีการใช้อำนาจโดยพลการตาม กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ และคำนิยามของ “ความมั่นคงแห่งชาติ” ที่มีเนื้อหาอันกว้างขวาง เป็นเหตุผลให้นำมาใช้เพื่อจำกัดการชุมนุม และอื่น ๆ ​

ในอินเดีย กฎหมายป้องกัน (การดำเนินงาน) ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (UAPA) และความผิดฐาน “ยุยงปลุกปั่น” ได้ถูกใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเอาผิดกับผู้ชุมนุมโดยสงบ นักข่าว และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ​

​ ​การใช้อุปกรณ์และยุทธวิธีทางทหารเพื่อควบคุมฝูงชน ​

แม้รัฐบาลจะใช้ยุทธวิธีที่ก้าวร้าวมาอย่างยาวนานเพื่อควบคุมการชุมนุม แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กองกำลังความมั่นคงได้เพิ่มการใช้กำลังมากขึ้น ​ ​

สิ่งที่เรียกว่าอาวุธที่ไม่รุนแรงถึงชีวิต (less lethal weapons) รวมทั้งไม้กระบอง สเปรย์พริก แก๊สน้ำตา ระเบิดแสง ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนยาง ได้ถูกเจ้าหน้าที่นำมาใช้อย่างมิชอบอย่างสม่ำเสมอ และตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกข้อมูลแนวโน้มที่มุ่งสู่การเพิ่มกำลังทหารในการรับมือกาชุมนุม รวมทั้งการใช้กำลังทหารและอุปกรณ์ของทหาร ในประเทศต่างๆ อย่าง ชิลี และ ฝรั่งเศส กองกำลังความมั่นคงในชุดปราบจลาจลเต็มรูปแบบ มักปฏิบัติงานโดยใช้รถหุ้มเกราะ เครื่องบินแบบที่ใช้ทางการทหาร โดรนเพื่อสอดแนมข้อมูล ปืนและอาวุธที่ทำลายล้างอย่างอื่น ระเบิดแสงและปืนใหญ่คลื่นเสียง ​

ใน เมียนมา ระหว่างการชุมนุมภายหลังจากการทำรัฐประหารปี 2564 กองทัพได้ใช้กำลังที่ทำให้อันตรายถึงชีวิตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ ส่งผลให้มีประชาชนกว่า 2,000 คนเสียชีวิต และมีผู้ถูกจับกุมกว่า 14,000 คนนับแต่กองทัพยึดอำนาจ ​ ​ ​


ความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติ ​ ​

ประชาชนที่เผชิญกับความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากเรื่องเชื้อชาติ เพศสภาพ รสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ ศาสนา อายุ ความพิการ อาชีพ สถานะทางสังคม เศรษฐกิจ หรือการเข้าเมือง ยังได้รับผลกระทบมากขึ้น จากการจำกัดสิทธิในการชุมนุมประท้วง และต้องเผชิญกับการปราบปรามที่รุนแรงขึ้น ​ ​

ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และผู้ที่มีความแตกต่างจากบรรทัดฐานทางเพศของสังคม (GenderNon-Conforming) ต่างต้องเผชิญกับความรุนแรงบนฐานเพศสภาวะ ถูกผลักให้อยู่ชายขอบ ต้องเผชิญกับบรรทัดฐานทางสังคมและกฎหมาย ในประเทศต่าง ๆ รวมทั้ง ซูดาน โคลอมเบีย และ เบลารุส ผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศจากการเข้าร่วมชุมนุมประท้วง ส่วนใน ตุรกี ทางการได้สั่งห้ามการเดินขบวนไพรด์มาหลายปีแล้ว ​ ​

ดร.แอกเนส คาลามาร์ด ยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้อีกว่า การรณรงค์ของเราเกิดขึ้นในจังหวะที่มีความวิกฤตอย่างยิ่ง สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมอันทรงคุณค่ากำลังถูกบั่นทอนลงอย่างรวดเร็ว และเราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขืนแนวทางนี้ให้ได้ ​


“ผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกสังหารในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราต้องทำงานเพื่อพวกเขา และต้องส่งเสียงเพื่อปกป้องสิทธิของเราในการพูดความจริงต่อผู้มีอำนาจ ผ่านการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนและทางออนไลน์”​



เอกสารสรุป “ปกป้องการชุมนุม!: เหตุใดเราจึงต้องรักษาสิทธิในเสรีภาพการชุมนุม” สามารถอ่านได้ที่ https://www.amnesty.org/en/documents/ACT30/5856/2022/en/​

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศคุ้มครองสิทธิในการชุมนุม โดยมีข้อบทหลายประการที่เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาของสนธิสัญญาระหว่างประเทศและภูมิภาค ซึ่งหากนำข้อบทเหล่านี้มาพิจารณารวมกัน จะให้ความคุ้มครองอย่างเป็นองค์รวมต่อการชุมนุม แม้ว่าสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมจะไม่ได้ถูกกำหนดเป็นสิทธิแยกต่างหากในสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนก็ตาม แต่เวลาที่ผู้คนเข้าร่วมในการชุมนุมทั้งในนามบุคคลหรือในนามกลุ่ม พวกเขากำลังใช้สิทธิต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบด้วย​

#สิทธิเสรีภาพ​
#Lanner

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง