19/07/2022
นับจากการเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสมัยที่สอง หลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเน้นว่า รัฐบาลนี้จะมุ่งมั่นพัฒนาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง มีการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง แก้ไขปัญหาปากท้องและสร้างรายได้ให้ประชาชนให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนี้ จะมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ให้ทันการเปลี่ยนแปลง เสริมสร้างความเข้มแข็งและแก้ไขปัญหาที่ยังดำรงอยู่ของภาคส่วนต่าง ๆ ภายในประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันและมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนโยบายของรัฐบาลนี้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของชุมชนที่อาศัยอยูในเขตป่า อาทิ
แก้ไขกฎหมายป่าไม้ที่ซ้ำซ้อน เร่งคืนพื้นที่ป่า โดยการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าและสามารถทำกินได้อย่างเหมาะสม การปรับปรุงระบบที่ดินทำกินและลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน โดยจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรที่ยากไร้และเกษตรกร ตามหลักการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ การกระจายสิทธิการถือครองให้แก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รุกล้ำ และมีมาตรการป้องกันการเปลี่ยนมือไปอยู่ในครอบครองของผู้ที่มิใช่เกษตรกรและผู้ยากจน เร่งแก้ไขปัญหาเขตที่ดินทับซ้อนและแนวเขตพื้นที่ป่าที่ไม่ชัดเจน เพื่อลดข้อขัดแย้งระหวางประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ พัฒนากลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการจัดทำระบบการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายในการเพิ่มขีดความสามารถในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมและบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ทั้งระดับประเทศ รายสาขาและเชิงพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
นอกจากนั้น ประการสำคัญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ได้มีบทบัญญัติหลายมาตราที่เกี่ยวข้องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ซึ่งรัฐบาลนี้อ้างว่าเป็นฉบับแรกของประเทศที่จะต้องนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ภายในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน เช่น ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม “กระจายการถือครองที่ดินและการเข้าถึงทรัพยากร โดยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างเขตพื้นที่ป่าทับซ้อนพื้นที่ทำกินของประชาชน รับรองสิทธิชุมชนในการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน กำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์อย่างเป็นธรรมและกระจายการถือครองที่ดินในขนาดที่เหมาะสมต่อการประกอบอาชีพเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม…”
อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าเห็นว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา มิได้ดำเนินการตามคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ปี 2560 แต่อย่างใด โดยเฉพาะนโยบายที่มุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรมทางสังคม กลับยิ่งทวีความเหลื่อมล้ำให้คนจน เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องและกลุ่มทุน โดยมีประเด็นความล้มเหลวในด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างน้อย 10 ประเด็น ดังนี้
1. ใช้อำนาจเผด็จการออกกฎหมายป่าไม้ 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ภายใต้แนวคิดรัฐรวมศูนย์ เพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจชุมชน ดังจะเห็นได้ว่าแม้กฎหมายทั้ง 3 ฉบับจะกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อนุรักษ์ไม่ต่ำกว่า 4,000 ชุมชน เป็นจำนวนประชากรกว่า 10 ล้านคน แต่กลับเร่งรัดตราพระราชบัญญัติในช่วงการดำเนินงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และตัดขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่
2. สร้างกฎเกณฑ์ใหม่ในกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับข้างต้น ในการเป็นระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ ใช้หลัก “แพ้คัดออก” เช่น ออกข้อสอบแบบ “ตั้งข้อกล่าวหา” ว่าชุมชนในป่าคือผู้บุกรุก บีบรัดให้ชุมชนต้องหาหลักฐานมาต่อสู้ อ้างแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศที่ไม่สอดคล้องกับระบบวิถีชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรม ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนอาจถึงกาลอวสาน ประชาชนในพื้นที่กว่า 12,000 ไร่ที่ถูกตรวจยึดจะต้องสูญเสียที่ดินทำกินไปตลอดกาล ผลักดันให้ประชาชนอีกมากมายต้องกลายเป็นเกษตรกรไร้ที่ดิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตั้งหลักเกณฑ์ให้ประชาชนอยู่อาศัยในพื้นที่ภายใต้มาตรการควบคุม ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ปลูกป่า ปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอยู่อาศัยหรือทำกินตามแต่ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะกำหนด ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพื่อให้มีประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรได้น้อยที่สุด ในอนาคตอาจไม่มีประชาชนอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์แล้วหรือไม่
3. นโยบายทวงคืนผืนป่า ตลอดจนแนวทางการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ 25 เปอร์เซ็นต์ และป่าเศรษฐกิจ 15 เปอร์เซ็นต์ ตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้, การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน หรือ แผนแม่บทป่าไม้ นั้น มีกระบวนการที่เป็นความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ กล่าวคือ ปรากฏภาพการข่มขู่ คุกคาม กดดัน บังคับ การตัดฟันพืชผลอาสิน การใช้ปฏิบัติการทางทหาร ดังเช่นกรณีการใช้ปฏิบัติการยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร จับกุมชาวปกาเกอะญอบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดคดีความของคนจนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มีคดีความด้านป่าไม้เพิ่มขึ้นกว่า 46,600 คดี ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นประชาชนคนจน ผู้ยากไร้ หาใช่นายทุน
4. ตัดแขนตัดขา ขัดขวางการพัฒนาให้ชุมชนเข้าถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ภายหลังพื้นที่ป่ารูปแบบต่าง ๆ ประกาศทับเข้าไปในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่อาศัยมาก่อน การพัฒนาเส้นทางคมนาคม ไฟฟ้า ระบบชลประทานเพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น กลับถูกสกัดกั้นด้วยข้อกฎหมายด้านการอนุรักษ์ ขั้นตอนการดำเนินการล่าช้า ต้องขออนุญาตการดำเนินการจากหน่วยงานรัฐที่เต็มไปด้วยข้อกำหนดและกฎระเบียบมากมาย นั่นทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าต้องดำรงวิถีเฉกเช่นเป็นพลเมืองชั้นสองของสังคม เป็นเพียงหน่วยนับทางประชากร แต่ไร้ซึ่งสิทธิความเป็นพลเมือง
5. เจ้ากระทรวงไร้ความสามารถ ปล่อยให้ราชการประจำกำหนดนโยบายเหนือฝ่ายการเมือง กล่าวคือ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไร้ศักยภาพและขาดวิสัยทัศน์ในการสร้างจินตภาพใหม่ในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ขาดความละเอียดอ่อนในการวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไข ดังจะเห็นได้จากกรณีชุมชนปกาเกอะญอบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ถูกมองข้ามด้วยทัศนคติของรัฐมนตรีท่านนี้ ที่กล่าวอ้างว่าประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งพยายามลดทอนการต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชนด้วยการกล่าวอ้างว่ากรณีปัญหาของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ใช่สิทธิมนุษยชน แม้จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติไปแล้ว แต่ก็เป็นเพียงมรดกโลกที่ไร้ซึ่งศักดิ์ศรีและไม่ควรได้รับการเชิดหน้าชูตาในสังคมโลกแต่อย่างใด
6. ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินมีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายหลังการทำรัฐประหารปี 2557 และการขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่สองของประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวคือ ประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก มีกลุ่มทุนและบริษัทยักษ์ใหญ่สามารถถือครองที่ดินได้สูงสุดถึง 630,000 ไร่ ในขณะที่ประชาชนอีกประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ ไม่อาจเข้าถึงที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมายได้เลยแม้เพียงตารางนิ้วเดียว
7. รัฐบาลประยุทธ์ไม่มีแนวนโยบายที่จะทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกลไกว่าด้วยการเก็บภาษีที่ดิน ที่ภาคประชาชนพยายามผลักดันให้เกิดการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าเพื่อให้นายทุนผู้ถือครองที่ดินมากต้องกระจายที่ดินออกมาให้หน่วยงานด้านการกระจายการถือครองที่ดินจัดการ แต่กลับเป็นกลไกภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่อาจแก้ปัญหาได้ เปิดช่องทางให้นายทุนยังคงสามารถกว้านซื้อที่ดินและเลี่ยงการจ่ายภาษี และยิ่งทำให้งบประมาณขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เคยได้จากการเก็บภาษีที่ดินลดน้อยลงทุกวัน
8. การปฏิบัติงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 ผ่านมติคณะรัฐมนตรี ได้รับพื้นที่นำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 มาดำเนินการด้วยงบประมาณ 690 ล้านบาทนั้น กลับไม่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชน ยังคงใช้แนวคิดแบบสถาบันการเงินทั่วไปที่ค้ากำไรกับชาวบ้าน ขูดรีดดอกเบี้ยมหาศาลจากเกษตรกร ไม่สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมได้ และจะนำไปสู่การหลุดมือของที่ดินจากมือเกษตรกรอีกครั้ง
9. แนวคิดโฉนดชุมชนหรือสิทธิชุมชนที่ภาคประชาชนเคยได้ผลักดันนั้น กลับกลายเป็นโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่เป็นเสมือนซูเปอร์บอร์ดรวมศูนย์ควบคุมแนวทางการจัดการที่ดินทั้งประเทศ ปัญหาของโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนคือการที่ชุมชนจะต้องขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินหรือพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจากผู้ว่าราชการจังหวัด โฉนดชุมชนที่ควรจะเป็นนวัตกรรมการจัดการที่ดินนั้นกลับถูกตัดตอนด้วยหลักเกณฑ์และกฎระเบียบที่ทำให้การเข้าถึงที่ดินทำกินอันเป็นปัจจัยการผลิตนั้นเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัดจากภาคราชการ
10. รัฐบาลประยุทธ์เอื้อให้นายทุนทั้งไทยและต่างประเทศสามารถเข้าถึงที่ดินบนผืนแผ่นดินนี้ได้ด้วยหลักคิดมือใครยาวสาวได้สาวเอา มองเพียงเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ แต่ไม่เคยมองเห็นหยาดหยดน้ำตาของประชาชนผู้ไม่มีแม้แต่ที่อยู่อาศัยซุกหัวนอน ในขณะที่รัฐบาลประยุทธ์มีนโยบายฟื้นเศรษฐกิจด้วยการให้ต่างชาติเข้ามาเช่าที่ดินในประเทศไทยได้นั้น ประชาชนมากมายต้องถูกแย่งยึดที่ดินและทรัพยากร ในขณะที่รัฐบาลมีแนวนโยบายในการสร้างโครงการพัฒนาของรัฐขนาดใหญ่มากมาย ทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม เหมืองแร่ อ่างเก็บน้ำ โรงไฟฟ้า และอุโมงค์ผันน้ำ เสียงของประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกลับไม่ได้รับการรับฟัง
ตลอดระยะเวลา 8 ปี ประชาชนได้ร่วมกันส่งเสียงท่ามกลางหยาดน้ำตาไม่เคยแห้งเหือด กี่ชีวิตที่ต้องเป็นเหยื่อจากหลากหลายกฎหมายและนโยบายที่ทวีความเหลื่อมล้ำ ปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงที่ดินทำกินอันเป็นแหล่งปัจจัย 4 น่าเสียดายที่จนถึงวันนี้ เสียงเรียกร้องของผู้ทุกข์ยากเหล่านั้นกลับไม่เคยแทรกซึมลึกเข้าไปในจิตสำนึกของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี
ข้าพเจ้าต้องยืนยันอีกครั้งว่าทิศทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะนี้กำลังนำประเทศถอยหลังลงคลอง ยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าทุเลาลง ที่ดินและทรัพยากรคือหลังพิงสำคัญที่จะพาประชาชนรอดพ้นจากวิกฤตความหิวโหย หากรัฐบาลมีวิสัยทัศน์และให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ควรจะต้องหาแนวทางลดช่องว่างระหว่างชนชั้น โดยเฉพาะการเข้าถึงปัจจัยการผลิต ดังคำกล่าวที่ว่า “ที่ดินคือชีวิต” ขณะนี้รัฐบาลกำลังพรากชีวิตไปจากประชาชน จนถึงวันนี้เวลากว่า 3 ปีหลังการเลือกตั้ง และ 8 ปีหลังการทำรัฐประหาร ข้าพเจ้ายืนยันว่ารัฐบาลได้หมดสิ้นซึ่งความชอบธรรมในการบริหารประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เรื่องและภาพ : พชร คำชำนาญ
#อภิปรายไม่ไว้วางใจ
#สิทธิชุมชน
#ชาติพันธุ์ก็คือคน
#Lanner
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...